PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๘


เถรี
24-06-2015, 17:17
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ สำหรับวันนี้ขอกล่าวถึงเรื่องของกิเลสหยาบ ที่คอยขวางกั้นการทำความดีของพวกเรา ก็คือ นิวรณ์ ๕ อย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย กามฉันทะ คือ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ พยาบาท ความโกรธเกลียด อาฆาตแค้นคนอื่น ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติ อุทธัจจกุกกุจจะ ความหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติว่าจะมีผลจริงหรือไม่มี

ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นเครื่องกั้นใจของเราไม่ให้เข้าถึงความดี เพราะว่าเมื่อกิเลสทั้งหลายนี้อยู่ จิตใจของเราก็ไม่ผ่องใส ไม่สงบนิ่งเพียงพอ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสมาธิระดับฌานได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ปกติแล้วนอนเนื่องอยู่ในใจของเราตลอดเวลา แต่ปรากฏชัดขึ้นมาเพราะว่าสภาพจิตของเราเริ่มนิ่ง เมื่อสภาพจิตเริ่มนิ่ง นิวรณ์ต่าง ๆ ที่เคยนอนนิ่งอยู่เหมือนกับขยะที่อยู่ใต้น้ำ เมื่อน้ำเริ่มใสขึ้น เราก็มองเห็นว่าใต้น้ำนั้นมีขยะอะไรบ้าง

แต่ท่านที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็มักจะไปเครียด ว่าทำไมเราตั้งใจปฏิบัติแล้ว กามราคะถึงเกิดขึ้น โทสะถึงเกิดขึ้น ความง่วงเหงาหาวนอนขี้เกียจปฏิบัติจึงเกิดขึ้น ความหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ไม่สามารถภาวนาได้ทำไมถึงปรากฏขึ้น ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มั่นคงอยู่ในจิตใจ ทำไมถึงเกิดขึ้น

ถ้าท่านทั้งหลายไม่เสียเวลาไปดูว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร พอรู้สึกว่าอารมณ์ใจของเราฟุ้งออกไปจากการภาวนา ก็ให้ดึงกลับมาที่ลมหายใจเข้าออกเสียใหม่ ตามดูตามรู้ลมหายใจกันใหม่ พอเผลอสติหลุดไปในนิวรณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งอีก ก็รีบดึงกลับมาใหม่ แรก ๆ ก็ต้องอาศัยการชักคะเย่อกัน เพราะว่าเราดึงกลับมาก็จะโดนลากกลับไป จนกระทั่งกำลังสมาธิของเราเริ่มสูงขึ้น เราก็สามารถจะดึงกลับมาอยู่กันเราได้นานขึ้น

เถรี
25-06-2015, 17:27
พอเราตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกได้สัก ๕ คู่ ๑๐ คู่ต่อเนื่องกัน กำลังสมาธิเริ่มทรงตัว นิวรณ์ต่าง ๆ ก็จะถอยห่างไป กินใจของเราไม่ได้ ถ้าสมาธิทรงตัวถึงปฐมฌานละเอียด ก็จะก้าวข้ามนิวรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ไปโดยอัตโนมัติ เราก็จะตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกแบบสะดวกสบาย บางทีก็เป็นไปโดยไม่ต้องบังคับ จะตามดูลมสัมผัสกี่ฐานก็จับได้ชัดเจน จะกำหนดภาวนาอย่างไรก็ตามรู้ได้ชัดเจน ถ้าอย่างนี้ก็แปลว่าท่านทั้งหลาย สามารถที่จะชนะนิวรณ์ซึ่งเป็นกิเลสหยาบได้ชั่วคราว

เมื่อชนะได้แล้วก็ได้โปรดระมัดระวัง อย่าให้นิวรณ์กลับมามีอำนาจเหนือใจของเราอีก ก็แปลว่าเราต้องใช้สติ ใช้สมาธิ ประคับประคองรักษาอารมณ์ใจที่เราทำได้ หรือกำลังฌาน กำลังสมาธิที่เราทำได้ ไม่ให้หลุดลอยคล้อยเคลื่อนไปยังที่อื่น ถ้าหากว่าหลุดไปก็รีบดึงกลับมาให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นแล้วกิเลสที่โดนกดอยู่ นิวรณ์ที่โดนกดอยู่ เมื่อตีกลับมาได้ก็จะมีอาการรุนแรงกว่าเดิม

นิวรณ์ถือว่าเป็นเครื่องวัดกำลังใจของเราว่าใจเรามีคุณภาพหรือไม่ ในแต่ละวันควรจะทบทวนอยู่บ่อย ๆ ว่า ขณะนี้กำลังใจของเรามีนิวรณ์ ๕ อย่างนี้อยู่หรือไม่ ? ถ้าหากว่าไม่มี แปลว่าจิตของเรามีคุณภาพที่ดี แต่ถ้ามีนิวรณ์ ๕ อยู่ ก็แปลว่าสภาพจิตใจของเราไม่มีคุณภาพ ตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายต่ำ ทำให้จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน ไหลไปตาม รัก โลภ โกรธ หลง ได้โดยง่าย

ดังนั้น..การที่จะก้าวข้ามนิวรณ์ทั้ง ๕ อย่าง ก็ต้องดึงจิตของเรามาอยู่กับลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งสมาธิทรงตัว ก็จะสามารถก้าวข้ามไปได้โดยง่าย

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)