PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๘


เถรี
18-06-2015, 13:31
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒-๓ ครั้งเพื่อระบายลมหยาบออกให้หมด หลังจากนั้นปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติ หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เราถนัดมาแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็น พุทโธ สัมมาอะระหัง นะมะพะธะ พองหนอยุบหนอ อิติสุคะโต หรือตัวบทพระคาถาใด ๆ ก็ได้

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่อยากกล่าวถึง ก็คือ การปฏิบัตินั้นเราต้องหวังผลจริง ๆ เพราะการปฏิบัติถ้าไม่หวังผล สักแต่ว่าทำ ทำในลักษณะที่บางสำนวนกล่าวว่า ทำแบบแก้บน ก็คือไม่จริงจัง ทำเล่น ๆ ถ้าเป็นลักษณะอย่างนั้น โอกาสที่เราจะได้ดี คือมีโอกาสชนะกิเลสจะน้อยมาก ดังนั้น..การปฏิบัติของเรานั้นต้องทุ่มเทจริงจัง อย่างที่เราได้กล่าวไว้ตอนสมาทานพระกรรมฐานว่า มอบกายถวายชีวิต

ในเมื่อเรามอบกายถวายชีวิต ก็แปลว่า ต่อให้ยากลำบากถึงแก่ความตายลงไป เราก็จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าทุกท่านสามารถมอบกายถวายชีวิตจริง ๆ โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคผลก็อยู่แค่เอื้อม เพราะคนที่จะมอบกายถวายชีวิตได้ ก็แปลว่าไม่ห่วงใยไม่อาลัยในชีวิตนี้แล้ว ในเมื่อไม่ห่วงใยไม่อาลัยในชีวิตนี้ ก็แปลว่าเราไม่ได้ห่วงใยร่างกายซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์นี้ เมื่อเราไม่ห่วงใยร่างกายก็แปลว่าจิตของเราถอนห่างออกมาจากความยินดีและพอใจ ทั้งในร่างกายของตนเองและของคนอื่น สิ่งที่จะร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับวัฏสงสารนี้ก็แทบจะหาไม่ได้ เพราะว่าไม่มีอะไรที่เรารักเกินไปกว่าร่างกายนี้อีก ถ้าท่านทั้งหลายจะรัก ก็ขอให้รักตนเองในลักษณะที่ว่า เราต้องการนำพาตนเองให้พ้นทุกข์

การจะนำพาตนเองให้พ้นทุกข์ ก็ต้องทุ่มเทในการปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ หรือเรื่องของปัญญา โดยเฉพาะในระดับของพวกเรานี้ ให้เน้นในเรื่องของสมาธิเอาไว้ เนื่องจากว่าส่วนใหญ่รักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ก็เหลือแต่ว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างสมาธิภาวนาของเราให้เข้มข้นเข้มแข็ง จนทรงเป็นอัปปนาสมาธิได้ ก็แปลว่าในแต่ละวัน เราต้องรักษาอารมณ์ใจให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

การที่เราทุกข์อยู่นี้ ส่วนใหญ่ทุกข์เพราะความคิดตนเอง ก็คือไปคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว หรือคิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งการหวนหาอาลัยในอดีต หรือการฟุ้งซ่านไปในอนาคต พอคิดก็เริ่มทุกข์แล้ว ถ้าเราจะพ้นจากจุดนี้ได้ก็ต้องอยู่กับปัจจุบัน การที่เราจะอยู่กับปัจจุบันที่ดีที่สุด ก็คืออยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับคำภาวนาของเรา

เถรี
19-06-2015, 13:58
ทำไมเราถึงต้องอยู่กับปัจจุบัน ? เพราะว่าอดีตผ่านไปแล้ว เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ถ้าเปรียบเป็นรถยนต์ รถไฟ ก็เป็นรถที่ออกจากท่า ออกจากสถานีไปนานแล้ว เราไม่สามารถที่จะขึ้นได้ ในส่วนของอนาคตนั้น ถึงฟุ้งซ่านไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะเหมือนกับรถที่ยังมาไม่ถึงสถานี เรายังไม่สามารถที่จะอาศัยไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ก็มีแต่ต้องขึ้นรถคันที่อยู่ตรงหน้าของเรา ก็คือเดี๋ยวนี้ ตอนนี้เท่านั้น ก็แปลว่าท่านทั้งหลายถ้าสามารถอยู่กับลมหายใจเข้าออกได้ ความทุกข์ก็หมดไปแล้วเกินครึ่ง เหตุที่ความทุกข์หมดไปแล้วเกินครึ่ง เพราะว่าเราหยุดการคิด หยุดการปรุงแต่งลงได้

เมื่อไม่ไปคิด ไม่ไปปรุงแต่ง ไม่ไปฟุ้งซ่าน เราก็ไม่ทุกข์ยากเร่าร้อน เหลือเพียงสภาวทุกข์ที่เกิดกับร่างกายนี้เท่านั้น ในเมื่อเราเห็นทุกข์ชัดอย่างนั้น เราก็จะถอนความพอใจในร่างกายของตนเองออกมาได้ ในเมื่อไม่พอใจในร่างกายของตนเอง ก็ย่อมไม่พอใจในร่างกายของคนอื่นด้วย เมื่อเราไม่พอใจทั้งร่างกายตนเองและร่างกายคนอื่น เราก็ไม่พอใจในการที่จะมาเกิดในโลกนี้ด้วย ถ้าอยู่ในสภาพอย่างนี้ ย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะมาฉุด มารั้ง มาดึง ให้เราต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้อีก เราก็สามารถที่จะล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

ดังนั้น การที่ให้ท่านทั้งหลายเน้นในเรื่องสมาธิภาวนา ก็เพื่อให้เกิดอัปปนาสมาธิ มีกำลังเพียงพอที่จะต่อสู้และตัดละกิเลสต่าง ๆ ได้ แต่ว่าหลายท่านยังขาดความคล่องตัว เมื่อถึงเวลาสมาธิทรงตัวเต็มที่แล้ว กำลังใจก็จะคลายออกมาเอง ถึงตอนนั้นเราต้องรีบหาวิปัสสนาญาณให้สภาพจิตมีงานคิด มีงานทำ ไม่อย่างนั้นสภาพจิตก็จะเอากำลังที่เรานั่งสมาธิได้ไปฟุ้งซ่าน ซึ่งจะฟุ้งได้รุนแรงมาก เพราะว่ามีกำลัง มีความเข้มแข็งจากสมาธิภาวนาของเรานั่นเอง

ในการที่ท่านจะพิจารณาวิปัสสนาญาณนั้น ก็ดูได้ทั้งอริยสัจ ก็คือมองทุกข์ให้เห็น หาทุกข์ให้เจอ ละเว้นการกระทำที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์นั้น ความทุกข์ก็ไม่เกิด หรือว่าดูในลักษณะของสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์ คือสภาพที่คนและสัตว์ทั้งหมดจะต้องพบ จะต้องเห็น จะต้องเป็น ได้แก่ อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุธาตุ เป็นสิ่งของ ก็ต้องทนอยู่กับสภาพความเสื่อมสลายนี้ อนัตตา ความไม่สามารถจะยึดถือเป็นตัวตนเราเขาได้ เพราะไม่ว่าจะร่างกายของเรา ร่างกายของคนอื่น ตลอดจนวัตถุธาตุ สิ่งของ บ้าน เรือน โรง และโลกนี้ก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ถ้าเราสามารถดูในลักษณะอย่างนี้ได้ จิตเราก็จะถอนจากความยินดี ความพอใจในร่างกายนี้ ความพอใจในร่างกายคนอื่น ความพอใจในโลกนี้ ในเมื่อเราไม่มีความปรารถนาในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราย่อมสามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่พระนิพพานได้

ลำดับต่อไป ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)