PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


เถรี
21-12-2014, 11:49
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เราถนัดมาแต่เดิม ถ้ารู้สึกว่าเผลอสติไปคิดถึงเรื่องอื่น เมื่อรู้ตัวก็ให้รีบดึงกลับมาที่ลมหายใจเสียใหม่

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ วันนี้มีผู้ถามเกี่ยวกับเรื่องของการใช้เครื่องรางของขลังให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะว่าไปแล้วในเรื่องของวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังนั้น โบราณาจารย์ท่านสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการสอนให้เราปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

เพราะว่าการใช้วัตถุมงคลจะมีข้อห้ามข้อปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็คือศีล มีคาถาในการอาราธนา นั่นคือการที่ให้เราสร้างสมาธิให้เกิดขึ้น ส่วนปัญญานั้น ถ้าเราเห็นทุกข์เห็นโทษว่า การดำรงชีวิตอยู่มีแต่โทษภัยที่น่ากลัว ทำให้เราหาวัตถุมงคลมาคุ้มครองตนเอง ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยเภทภัยต่าง ๆ ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของเราอีกแล้ว ถ้าหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือว่าเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ดี เราขอไปอยู่ที่พระนิพพานแห่งเดียว ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าท่านใช้ปัญญาในการใช้เครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลด้วย

ส่วนตัวของอาตมาเองนั้นมักจะใช้ในลักษณะของการจับภาพวัตถุมงคลเป็นกสิณ ถ้าตามที่เคยทำมา เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งรัตนบัลลังก์ขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวรัตนบัลลังก์นั้นประกอบขึ้นมาจากแหวนจักรพรรดิและมีดหมอชาตรี เบื้องบนก็คือธงมหาพิชัยสงคราม หลังจากนั้นก็กราบอาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมเสด็จประทับนั่งยังรัตนบัลลังก์นั้น ซึ่งฐานของรัตนบัลลังก์นั้นครอบคลุมกายของเราไว้ทั้งหมด หลังจากนั้นก็อาราธนาวัตถุมงคลอื่น ๆ ที่ติดตัวอยู่ อย่างเช่นว่า พระสมเด็จคำข้าวอาราธนาไว้ที่หน้าผาก พระสมเด็จหางหมากอาราธนาไว้ที่ปาก พระหลวงปู่ปานเอาไว้ที่หน้าอก พระรอดเอาไว้ที่ท้อง ศีรษะด้านหลังมีพระสมเด็จ วัดระฆัง บ่าทั้งสองข้างก็คือพระผงสุพรรณและพระซุ้มกอ กลางหลังก็จะเป็นพระสมเด็จ วัดเกศไชโย ตลอดแนวของร่างกายของเรา ถ้านั่งลงก็จะมีวัตถุมงคลต่าง ๆ ครอบคลุมอยู่ ตรงบริเวณเท้าก็คือเสือหลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย เป็นต้น

เมื่อถึงเวลาภาวนาไป ถ้ากลัวกำลังใจจะฟุ้งซ่าน ก็ค่อย ๆ กำหนดภาพวัตถุมงคลแต่ละจุด อย่างเช่นว่า หายใจเข้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมสว่างครอบคลุมกายของเราเอาไว้ หายใจออกภาพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมสว่างครอบคลุมกายเรา หายใจเข้าพระสมเด็จคำข้าวสว่างขึ้น หายใจออกพระสมเด็จคำข้าวสว่างขึ้น หายใจเข้าพระสมเด็จหางหมากสว่างขึ้น หายใจออกพระสมเด็จหางหมากสว่างขึ้น เป็นต้น

เถรี
22-12-2014, 08:59
ถ้าหากสภาพจิตของเราจดจ่ออยู่เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการปลุกเสกวัตถุมงคลไปในตัวแล้ว ยังเป็นการที่สภาพจิตของเราเกาะอยู่กับคุณพระรัตนตรัย ไม่ฟุ้งซ่านไปกับนิวรณ์ต่าง ๆ ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายพกวัตถุมงคลชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม ท่านก็สามารถที่จะทำเช่นนี้ได้ ถ้ากำหนดภาพหลาย ๆ อย่างให้ชัดเจนพร้อมกันไม่ได้ ก็ให้ท่านทั้งหลายกำหนดทีละอย่างเดียวก่อน เมื่อได้ชัดเจนแจ่มใสแล้วค่อยขยับไปอย่างที่สอง อย่างที่สาม จนเกิดความคล่องตัวแล้ว ต่อให้เราพกวัตถุมงคลอยู่เป็นสิบ ๆ อย่าง เราก็สามารถกำหนดภาพให้ชัดเจนเอาไว้ได้ เท่ากับว่าเราปฏิบัติในกสิณในพุทธานุสติ ในสังฆานุสติ

คำว่า "กสิณ" ก็คือการกำหนดภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพของวัตถุที่เป็นองค์กสิณก็ดี ภาพของพระก็ดี ถือว่าจัดอยู่ในหมวดกสิณทั้งนั้น พุทธานุสติก็คือวัตถุมงคลส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธอยู่แล้ว สังฆานุสติก็คือวัตถุมงคลบางอย่างที่เป็นรูปของครูบาอาจารย์ที่เราเคารพกราบไหว้เป็นปกติอยู่ ถ้าระลึกถึงคำสอนของท่านก็ได้ในส่วนของธัมมานุสติด้วย ถ้าหากว่ามีข้อห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ก็ถือว่าเป็นสีลานุสติด้วย ดังนี้เป็นต้น

ถ้าทำดังนี้ก็จะได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายใช้วัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลัง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างที่ญาติโยมได้ถามมา

ลำดับต่อไปขอให้ท่านทั้งหลาย ตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)