PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๗


เถรี
24-10-2014, 17:22
ทุกคนขยับนั่งในท่าที่สบายของตนเอง ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ตามที่เราถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ จะขอกล่าวถึงพื้นฐานของการปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัติภาวนาของพวกเรานั้น พื้นฐานสำคัญก็คือศีล ๕ ข้อ หรือว่ากรรมบถ ๑๐ หรือศีล ๘ ตามที่เรายึดถือ ให้ทุกคนทบทวนสิกขาบทของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ถ้ามีการบกพร่องอยู่ ก็ให้ตั้งใจว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจะรักษาศีลหรือกรรมบถของเรา ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกข้อ ตั้งใจไว้ว่า เราจะไม่ละเมิดด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิด และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดในศีลหรือกรรมบถนั้น ๆ

หลังจากนั้นให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไปจนสุด หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมาจนสุด การที่จะหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้นให้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามความต้องการของร่างกายระยะนั้น อย่าไปบังคับลมหายใจ

ลำดับถัดไปก็คือ ให้ตัดความกังวลทุกอย่างออกไปจากใจเสีย ตอนนี้เราอยู่ปฏิบัติธรรมในสถานที่นี้ เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่นหรือว่าเกิดขึ้นในสถานที่อื่น เราไม่สามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวแก้ไขได้อยู่แล้ว หรือถ้ามีเครื่องมือสื่อสาร เพื่อเป็นการตัดกังวล ก็ให้ปิดเครื่องไปชั่วคราวในระหว่างที่ปฏิบัติ

ลำดับต่อไปก็ให้พิจารณาว่า กำลังใจของเราตอนนี้สะอาด ปราศจากนิวรณ์หรือไม่ ? นิวรณ์ทั้ง ๕ อย่างนั้นประกอบไปด้วยกามฉันทะ ความยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสัมผัสระหว่างเพศ พยาบาท คือความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผู้อื่น ถีนมิทธะ ประกอบไปด้วยความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติ อุทธัจจกุกกุจจะ มีความฟุ้งซ่าน หงุดหงิดรำคาญใจ จนปฏิบัติไม่ได้ และวิจิกิจฉา มีความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ว่าจะเกิดผลจริงหรือไม่

ถ้าหากว่ามีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งอยู่ ก็ให้เร่งขับไล่ออกจากใจของเราไป วิธีไล่นิวรณ์ที่ดีที่สุดก็คือ เอาความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก เมื่อความรู้สึกของเราทรงตัว นิวรณ์ต่าง ๆ ก็จะกินใจของเราไม่ได้

เถรี
28-10-2014, 11:29
ลำดับต่อไป ก็ให้ตั้งกำลังใจของเราว่า การปฏิบัติครั้งนี้ เราจะใช้ระยะเวลาเท่าไร ก็คืออาจจะกำหนดไว้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง หรือ ๑ ชั่วโมง การที่เราต้องตั้งกำลังใจเอาไว้ในลักษณะที่เป็นเวลาแน่นอน ก็เพื่อควบคุมตัวของเราเองว่า ถ้ายังไม่ถึงเวลาเราจะไม่เลิก ไม่อย่างนั้นเวลากระทบกระทั่งอะไรขึ้น เราก็จะพาลเลิกเอาง่าย ๆ

ขอให้ทุกคนทราบว่า ถ้าเราตั้งเวลาไว้แล้วไม่สามารถทำตามได้ ก็เป็นการที่เรามีข้อบกพร่องในสัจจบารมี ดังนั้น..เท่ากับเป็นการบังคับตนเองในด้านหนึ่ง ว่าต้องทำให้ครบตามเวลาที่กำหนดเอาไว้ แต่อย่ากำหนดเวลานานจนเกินไป ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ ๆ ๕ นาที ก็นานมากแล้ว

ถ้าหากว่าเป็นผู้ปฏิบัติมานานแล้ว จะเป็นครึ่งชั่วโมง ๔๕ นาทีหรือ ๑ ชั่วโมงก็ตาม ถึงสามารถทำได้นาน แต่ก็อย่าฝืนให้นานจนเกินไป เพราะการปฏิบัติสมาธิภาวนาก็เหมือนกับการทำงาน ถ้าเราโหมทำงานมาก ๆ ในวันเดียว วันถัดไปก็อาจจะทำงานไม่ไหว เป็นต้น

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกคนตั้งใจแผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพ ทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า ตั้งใจว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วโลก ขอให้สรรพชีวิตทั้งหลายล่วงพ้นจากกองทุกข์ ท่านที่มีความสุขก็ขอให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป

การกำหนดแผ่เมตตานั้นเป็นการรักษากำลังใจของเราให้ชุ่มเย็น ไม่แห้งแล้ง ทำให้อยากจะปฏิบัติ ถ้าหากว่ารักษากำลังใจของเราได้อย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ การที่เราปฏิบัติภาวนาก็จะสามารถทรงอารมณ์ได้เร็ว แต่ถ้าหากว่ากำลังใจไม่ทรงตัว ก็ให้ทุกคนดึงความรู้สึกกลับมาที่ลมหายใจเข้าออก มาที่คำภาวนาใหม่ แล้วตามดูตามรู้ลมหายใจต่อไป

เถรี
29-10-2014, 20:09
ทุกคนต้องจำให้แม่นว่า ลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานสตินั้น เป็นพื้นฐานใหญ่ของกองกรรมฐานทั้งปวง ถ้าขาดลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติภาวนาของเราจะไม่มีผล โดยเฉพาะจะไม่มีกำลังในการตัดกิเลส เราจึงไม่สามารถที่จะทิ้งลมหายใจเข้าออกได้

เมื่อลมหายใจเข้าออกทรงตัว แผ่เมตตาจนเต็มที่แล้ว ก็ให้ทุกคนคลายกำลังใจออกมาพิจารณา ให้เห็นความไม่เที่ยงของร่างกายนี้ ว่ามีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ ประกอบไปด้วยทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย ทุกข์จากการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น

และท้ายที่สุด ร่างกายนี้ก็ไม่สามารถที่จะรักษาเอาไว้ให้มั่นคงยั่งยืนได้ ต้องเสื่อมสลายตายพัง กลับคืนเป็นสมบัติของโลกไปตามเดิม ไม่มีอะไรเป็นตัวตนยึดถือมั่นหมายได้ ตัวเราก็เป็นเช่นนี้ คนอื่นก็เป็นเช่นนี้ เมื่อเห็นชัดเจนว่าร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ก็เอาจิตเกาะภาพพระหรือเกาะพระนิพพานไว้ ตั้งใจว่าถ้าเราตายลงไปเพราะหมดอายุขัยก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ จนถึงแก่ชีวิตก็ดี เราขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานแห่งเดียว

ลำดับต่อจากนั้น ถ้าหากว่ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ก็กำหนดดู กำหนดรู้ ลมหายใจเข้าออกของเรา ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ ก็กำหนดคำภาวนาควบไปด้วย ถ้าลมหายใจเบาลงหรือหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดรู้ว่า ขณะนี้เป็นเช่นนั้น ขอให้ทุกคนรักษากำลังใจเช่นนี้เอาไว้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)