PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๗


เถรี
21-08-2014, 13:18
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ตามความถนัดของเรา

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ วันนี้มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งนอนอยู่โรงพยาบาล ก็คือคุณเฟิร์ส ปรากฏว่าเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไปเครียด ไปกังวลอยู่กับอาการเจ็บป่วยของตนเอง เรียกง่าย ๆ ว่าอยู่ในสภาพกินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียทีที่ฝึกปฏิบัติไปเสียมากมาย

ก่อนหน้านี้เวลาอาตมาป่วยหนัก ๆ ก็เคยมีคำถามว่า “แล้วทำอย่างไรถึงเหมือนกับคนไม่ป่วย ?” ก็ต้องบอกว่าสามารถทำได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ ประการแรกก็คือ ถ้าหากว่าเราฝึกปฏิบัติกรรมฐานจนกำลังใจคล่องตัว สามารถทรงฌานได้ทุกเวลาตามที่ต้องการ เราสามารถอาศัยกำลังของฌานหลบเวทนาทางร่างกาย เมื่อถึงเวลาเราเข้าฌานสมาบัติเสีย จิตกับประสาทแยกเป็นคนละส่วนกัน ก็ไม่รับรู้อาการเวทนาทางร่างกายที่เกิดขึ้น

อีกวิธีหนึ่งก็คือพิจารณาให้เห็นอย่างชัดเจนว่าร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เมื่อเห็นชัดก็จะเกิดความเบื่อหน่าย อยากจะไปเสียให้พ้น เมื่อเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น แทนที่จะไปโอดโอยกับอาการเจ็บป่วย ก็จะเกิดความปีติยินดีขึ้นมาว่า เราจะได้ไปพ้นจากร่างกายนี้แล้ว

ดังนั้น..การที่ญาติโยมทั้งหลายฝึกปฏิบัติธรรมมา สิ่งที่สำคัญที่สุดได้กล่าวไปเมื่อวานนี้ก็คือ ต้องสามารถใช้งานจริงได้ ถ้าไม่สามารถที่จะใช้งานจริงได้ ถึงเวลาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นหนัก ๆ เราจะมัวแต่ทุกข์ทรมานและกลัดกลุ้มอยู่กับอาการเวทนาทางร่างกาย สภาพจิตอาจจะเศร้าหมองและเผลอ เกิดตายลงไปตอนนั้นเราก็ตกสู่อบายภูมิ

เถรี
22-08-2014, 11:41
เมื่อท่านทั้งหลายภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคลายกำลังใจลงมา แล้วพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เกิดจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันเป็นเรือนร่าง ให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น

ส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน เรียกว่าธาตุดิน ประกอบด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก เส้นเอ็น อวัยวะภายในภายนอกใหญ่น้อยทั้งหลายที่จับต้องได้ นี่เป็นส่วนของธาตุดิน เราแยกเอาไว้ด้านหนึ่ง

ส่วนที่เอิบอาบชุ่มชื้นอยู่ในร่างกายของเราเป็นธาตุน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ นี่เป็นส่วนของธาตุน้ำ เราแยกไปอีกด้านหนึ่ง

ส่วนที่พัดไปมาในร่างกายของเรา เรียกว่าธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่อยู่ในช่องว่างของร่างกาย เช่น ช่องหู ช่องจมูก ลมที่ค้างอยู่ในท้องในไส้ที่เรียกว่าแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย ที่เรียกว่าความดันโลหิต เหล่านี้เป็นธาตุลม เราแยกไว้อีกด้านหนึ่ง

ส่วนที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ช่วยในการย่อยอาหาร หรือ ทำให้เกิดความกระวนกระวายเมื่อป่วยไข้ เรียกว่าธาตุไฟ เราแยกเอาไว้อีกด้านหนึ่ง

กองที่หนึ่งเป็นดิน กองที่สองเป็นน้ำ กองที่สามเป็นลม กองที่สี่เป็นไฟ เมื่อแยกออกมาแล้วตัวเราอยู่ตรงไหน ? ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเลยแม้แต่นิดเดียว เมื่อจับมาขยำรวมกัน ปั้นขึ้นมาใหม่ มีหัว หู แขน ขา หน้า ตา ตัวเราคือจิตที่ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวตามบุญตามกรรมที่ได้สร้างมา เราก็ไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา

ถึงเวลาอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายก็ปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ ก็จะมีสภาพดังที่เห็นก็คือ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะไปโอดโอยอยู่กับการเจ็บไข้ เพราะสภาพจิตไม่ได้ตัด ไม่ได้ละ ไม่ได้เห็นความเป็นจริงว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มิหนำซ้ำกำลังสมาธิยังไม่สามารถที่จะช่วยเหลือรักษาตนเองได้ ก็กลายเป็นอาการป่วยไข้รุมเร้า ท้ายสุดจิตใจก็เศร้าหมอง รัก โลภ โกรธ หลง ก็กลุ้มรุมเข้ามา ถ้าตายตอนช่วงนั้นโอกาสที่จะลงอบายภูมิมีสูงมาก

จึงเป็นเรื่องที่ญาติโยมทั้งหลายต้องถือไว้เป็นบทเรียนว่า การปฏิบัติธรรมต้องต้องนำมาใช้งานจริงได้ เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาต้องให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมดา เราเกิดมามีร่างกายก็ต้องเจ็บอย่างนี้ ต้องป่วยอย่างนี้ แต่ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาเจ็บป่วยอย่างนี้ จะมีแก่เราแค่ชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น ถ้าหากว่าตายลงไปเมื่อไรเราขอไปอยู่ที่พระนิพพานแห่งเดียว

เถรี
24-08-2014, 09:01
เมื่อกำลังใจของเรากำหนดคิดพิจารณามาถึงจุดนี้ ก็ให้นึกถึงภาพองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จะอยู่บนพระนิพพานก็ดี หรือว่าอยู่ในห้วงนึกของเราก็ตาม ว่านั่นคือพุทธนิมิตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่บนพระนิพพาน ถ้าหากว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยจนหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือว่าทนทุกขเวทนาไม่ไหวตายลงไปก็ตาม เราขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานแห่งเดียว

หลังจากนั้น..ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ ก็กำหนดดูกำหนดรู้ลมหายใจไป ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ ก็กำหนดคำภาวนาไปด้วย ถ้าลมหายใจเบาลงหรือว่าหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดรู้ว่าเป็นอย่างนั้น อย่าดิ้นรนกลับมาหายใจใหม่ ขณะเดียวกันก็อย่าอยากให้หมดจากลมหายใจไปเช่นกัน เรามีหน้าที่ตามดูตามรู้อาการของทางร่างกาย ไม่มีหน้าที่ไปบังคับปรุงแต่งใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าทำดังนี้ได้ สมาธิของเราก็จะก้าวสู่จุดที่สูงยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งสามารถแยกจิตกับประสาทออกเป็นคนละส่วนกัน ถ้าสามารถทำได้คล่องตัวเมื่อไร การเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเราเลย

ลำดับต่อไป ขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)