PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗


เถรี
16-08-2014, 13:14
ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่สบายของตัวเอง ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ วันนี้อยากจะพูดถึงเรื่องของการปฏิบัติของเราว่า ที่ทำ ๆ กันมานั้น เราควรจะนำไปใช้งานได้ในสถานการณ์จริง ก็แปลว่าถ้า รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นในระหว่างวัน เราต้องสามารถระงับยับยั้งได้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีอำนาจเหนือกว่าเรา เพราะถ้า รัก โลภ โกรธ หลง มีอำนาจเหนือกว่าเราเมื่อไร ก็จะมายึด มาแทรก มาสิง ในจิตในใจของเรา ทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง ขุ่นมัว เต็มไปด้วยความเร่าร้อน กระวนกระวาย มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา

การที่เราจะสามารถนำเอาหลักการปฏิบัติไปใช้งานจริงได้ ก็ต้องเป็นผู้มีสติ อยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้า การที่จะมีสติอยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้าได้ก็คือ เราต้องอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา การที่เราจะรักษาลมหายใจเข้าออกของเราเอาไว้ให้ได้ตลอดทั้งวันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทรงอารมณ์ภาวนาให้ได้ อย่างน้อยปฐมฌานละเอียดขึ้นไป ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง

เมื่อเราทรงปฐมฌานละเอียดได้ สภาพร่างกายของเราจะรู้ลมหายใจเองโดยอัตโนมัติ เราแค่เอาสติสัมปชัญญะคอยควบคุมการรู้ลมอัตโนมัติของร่างกายเอาไว้ ก็แปลว่าเราอยู่ในปฐมฌานละเอียดแล้ว การที่เราทรงปฐมฌานละเอียดได้ ตราบใดที่ยังไม่หลุดออกไป ตราบนั้น รัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า การที่เราสามารถทรงฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ มารจะมองไม่เห็น

คำว่า "มารจะมองไม่เห็น" ก็เพราะว่า สภาพจิตของเราผ่องใส จน รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเสนามารเกาะไม่ติด ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่มีสาเหตุที่จะชักจูงมารเข้ามาอยู่ในใจของเรา จึงกล่าวได้ว่ามารนั้นมองไม่เห็น

เถรี
18-08-2014, 13:06
หลายท่านอาจจะคิดว่า ในเรื่องของการทรงฌานนั้น เป็นการติดในสังโยชน์ของรูปราคะ หรืออรูปราคะ ถ้าไปหวั่นเกรงตรงจุดนั้นอยู่ ก็ไม่ต้องทำความดีอะไรกัน อันดับแรก ต้องทรงฌานให้ได้ก่อน เมื่อทรงฌานได้แล้ว เราก็เอากำลังฌานนั้นเกาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเกาะพระนิพพานแทน ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่ได้ไปยึดติดเพลิดเพลินอยู่ในความสุขของอารมณ์ในฌานสมาบัตินั้น ถ้าเราตั้งใจไว้ว่าตายเมื่อไรเราขอมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานด้วย ก็ยิ่งเป็นการประกันความเสี่ยงว่า เราไม่ได้ยึดอยู่ในสังโยชน์ใหญ่ทั้ง ๒ ข้อดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ดังนั้น..ในเรื่องของฌานสมาบัติ จำเป็นที่นักปฏิบัติทุกคนต้องทำให้มี ให้เกิดแก่ตัวให้ได้ อย่างต่ำสุดต้องเป็นปฐมฌานละเอียด เพื่อจะได้มีกำลังตัดกิเลสระดับพระโสดาบันและพระสกทาคามี แต่ถ้าจะตัดกิเลสในระดับพระอนาคามีขึ้นไป ต้องทรงฌาน ๔ ได้คล่องตัว ไม่อย่างนั้นกำลังจะไม่เพียงพอที่จะกด รัก โลภ โกรธ หลง ให้นิ่งสนิทจริง ๆ ได้

ในเรื่องของการปฏิบัติ ทุกคนจำเป็นจะต้องทนลำบาก ต้องพากเพียร เหนื่อยยากอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งอารมณ์จิตอารมณ์ใจสามารถทรงฌานได้ทุกเวลาตามที่ตนต้องการได้ จึงจะเรียกว่าพอที่จะอาศัยได้ แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ ถ้าเรายังมีความประมาทอยู่เมื่อไร ก็อาจจะเผลอสติ ไปยึดเกาะว่าการทรงฌานได้นั้นเป็นสิ่งที่เลิศแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็จะเป็นการยึดในสังโยชน์ใหญ่ ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นได้

หน้าที่ของเราในวันนี้ จึงเป็นหน้าที่ซึ่งเราต้องเพียรพยายาม ในการทรงฌานระดับใดระดับหนึ่งให้ได้ ต่ำสุดให้เป็นปฐมฌานละเอียด ถ้าจะสูงสุดเป็นฌาน ๔ หรืออรูปฌาน ๔ ได้เลยก็ยิ่งดี แล้วนำเอากำลังของฌานนั้นไปเกาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเกาะพระนิพพาน ตั้งใจว่าตายเมื่อไรเราขออยู่กับพระองค์ท่านที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น แล้วจะภาวนาหรือพิจารณาอย่างไรของเราก็ให้เป็นไปตามอัธยาศัย หรือเป็นไปตามกองกรรมฐานที่เรายึดถือมาแต่ดั้งเดิม

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกคนตั้งใจภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา



พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)