เข้าระบบ

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗


เถรี
27-07-2014, 11:54
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนเอง ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติทั้งหมดเอาไว้เฉพาะหน้า คือให้ความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นการปฏิบัติธรรมวันที่ ๒ ของเดือนนี้ วันนี้จะกล่าวถึงเรื่องที่ใกล้ชิดกับเราที่สุด ก็คือร่างกายของเรานี้เอง ถ้าแยกแยะร่างกายนี้ออกก็จะมีส่วนประกอบอยู่ ๕ ส่วน ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือที่เรียกรวมกันว่าขันธ์ ๕ หรือการรวมอยู่ของสิ่ง ๕ ประการ

รูป คือ ร่างกายนี้ ซึ่งประกอบขึ้นจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราว เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง เมื่อถึงเวลา รถยนต์คันนั้นหมดอายุการใช้งาน เราซึ่งเป็นจิตอาศัยอยู่ในรถยนต์คันนี้ ก็ต้องทิ้งรถเก่าไปหารถใหม่ ซึ่งก็จะได้ตามบุญตามกรรมที่เราสร้างเอาไว้

เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเป็นกลาง ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญา คือ ความรู้ได้หมายจำต่าง ๆ สังขาร คือ ความนึกคิดปรุงแต่งของใจ วิญญาณ คือ ความรู้สึกที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทร่างกายเช่น เจ็บ ป่วย หนาว ร้อน หิวกระหาย เป็นต้น

ร่างกายที่เราอาศัยอยู่นี้ เกิดขึ้นมาได้เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ ทำให้เรายึดถือมั่นหมายในร่างกายนี้ ในเมื่อเรายึดถือมั่นหมายก็ทำให้เกาะติดอยู่กับที่ ในเมื่อเกาะติดอยู่กับที่ก็ต้องเกิดมา เมื่อเกิดมามีร่างกายนี้แล้ว เรื่องของความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นของแถมที่มากับร่างกาย แต่เราก็มักจะไปยึดว่านี่เป็นความสุข เราชอบใจ นี่เป็นความทุกข์ เราไม่ชอบใจ นี่เป็นความไม่สุขไม่ทุกข์ เราเฉย ๆ

สัญญาคือความรู้ได้หมายจำนั้น ก็สามารถที่จะเสื่อมสิ้นไปตามสภาพสังขาร ถ้าหากว่ากายสังขารไม่ดี สมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือว่าสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น ความจำของเราก็ไม่ดี มีการเปลี่ยนแปลง มีความทุกข์เป็นปกติ

เถรี
28-07-2014, 06:09
สังขารคือจิตสังขารเป็นตัวอันตรายที่สุด เพราะว่าวิญญาณ ความรู้สึกเจ็บป่วย หนาวร้อน หิวกระหาย ที่เกิดกับร่างกายนั้น เราต้องแบ่งกำลังใจออกเป็นชอบ ไม่ชอบหรือเฉย ๆ เช่นกัน แต่ว่าทั้งหมดนี้เกิดจากการปรุงแต่งของใจ

ถ้าหากว่าตาเห็นรูป เราสามารถหยุดความคิดไว้ได้ ไม่ไปนึกคิดปรุงแต่งว่า นี่เป็นหญิง นี่เป็นชาย นี่เป็นคน นี่เป็นสัตว์ ความรักชอบเกลียดชังต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เรียกง่าย ๆ ว่าสักแต่เห็นว่าเป็นรูป

เวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ถ้าหากว่าเราสักแต่รับรู้เอาไว้ ว่านี่เป็นความสุข นี่เป็นความทุกข์ นี่เป็นความไม่สุขไม่ทุกข์ สภาพจิตเราก็จะเฉย ๆ ไม่ได้ไปปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือว่าวางเฉยต่อสิ่งนั้น

สัญญา ความรู้ได้หมายจำ เราก็มักจะจำเอาเรื่องที่ดี ที่มีความสุข ผลักดันเอาเรื่องที่ไม่ดีหรือที่มีความทุกข์ให้ห่างออกไป ถ้าหากว่าเราสักแต่ว่าเป็นผู้รับรู้ มีสติสัมปชัญญะอยู่กับปัจจุบันธรรมเฉพาะหน้า ไม่ปรุงแต่งไปในอดีตซึ่งจะมีแต่จะหวนหาอาลัย หรือไม่ปรุงแต่งไปในอนาคตซึ่งเป็นการเพ้อฝันวุ่นวาย อยู่กับลมหายใจเฉพาะหน้า สัญญาก็ทำอันตรายใด ๆ เราไม่ได้

วิญญาณก็เช่นกัน ถ้าหากว่าเรากำหนดรู้ว่าตอนนี้ความเจ็บเกิดขึ้น สักแต่ว่ารู้ ไม่ไปคิดว่าความเจ็บเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบใจ หรือเรากำหนดรู้ว่าตอนนี้สัมผัสที่อ่อนนุ่มหรือว่าสิ่งที่เย็นสบายเกิดขึ้น ถ้าเราสักแต่ว่ารับรู้ ไม่ไปยินดียินร้าย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำอันตรายเราได้

ดังนั้น..ทุกท่านจะเห็นว่าจริง ๆ แล้วขันธ์ ๕ ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดจากการปรุงแต่งของจิตสังขารตัวเดียว ทำให้เกิดความรักชอบเกลียดชังขึ้นมา ซึ่งเป็นสาเหตุของรัก โลภ โกรธ หลง แล้วเราก็จะไปยึดในสิ่งที่ชอบใจ และผลักไสสิ่งที่ไม่ชอบใจ แต่ว่าก็เป็นการยึดทั้งสองฝ่าย ก็คือยึดว่าสิ่งนี้ดี เราต้องการ ยึดว่าสิ่งนี้ไม่ดี เราไม่ต้องการ เป็นต้น

เถรี
29-07-2014, 13:15
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเราสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น บริหารร่างกายไปตามหน้าที่ ถึงเวลาจะเสื่อมสลายตายพังไปอย่างไร เราก็ไม่ไปดิ้นรนกระวนกระวาย ถ้าหากว่ามีชีวิตอยู่ก็อาศัยร่างกายนี้สร้างบุญ สร้างบารมี ถ้าตายลงไป เราก็ขอไปอยู่พระนิพพานที่เดียว ถ้าสภาพจิตของเราไม่ยึดในร่างกายนี้ ก็ย่อมไม่ไปยินดียึดถือในร่างกายของคนอื่น ก็ไม่ไปยินดียึดถือในร่างกายของสัตว์อื่น ไม่ไปยึดถือในสิ่งต่าง ๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ถ้าอย่างนั้นเราก็มีสิทธิ์จะล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)