PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖


เถรี
05-01-2014, 19:33
ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่สบายของตนเอง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ให้ใช้คำภาวนาที่เรามีความถนัดมาแต่ดั้งเดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติต้นเดือนครั้งสุดท้ายและวันสุดท้ายของปี ๒๕๕๖ นี้ ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ไม่ค่อยจะดีนัก แต่ญาติโยมทั้งหลายก็ยังมาปฏิบัติธรรมกันมาก ถือว่าท่านทั้งหลายมีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในระดับที่ยอมมอบกายถวายชีวิต ดังที่เราได้ปฏิญาณในตอนสมาทานพระกรรมฐานจริง ๆ

ในสถานการณ์แบบนี้เราย่อมต้องมีความห่วง ความกังวลเป็นธรรมดา อย่างเช่นว่าการเดินทางกลับจากที่นี้จะมีความสะดวกหรือไม่ ? จะมีความปลอดภัยหรือไม่ ? เรือนชานบ้านช่องของเราตอนนี้เป็นอย่างไร ? สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องบอกว่าครูบาอาจารย์ท่านแนะนำให้ทิ้งให้หมด ท่านใช้คำว่า ปลิโพธะ หรือเรียกง่าย ๆ ปลิโพธิ คือความกังวลในเรื่องอื่น ๆ ตัดออกจากใจของเราเสีย เรื่องที่ยังมาไม่ถึงเป็นอนาคต คิดไปก็ไร้ประโยชน์ เรื่องที่ผ่านมาแล้วเป็นอดีต คิดไปก็ไร้ประโยชน์ เราต้องทำปัจจุบันของเรา คือตอนนี้ เดี๋ยวนี้ให้ดีที่สุด

เมื่อตัดความกังวลออกจากใจแล้ว ก็ให้พิจารณาดูว่า ตอนนี้กำลังใจของเรามีนิวรณ์ คือกิเลสหยาบที่กั้นไม่ให้เข้าถึงความดีทั้ง ๕ อย่างอยู่หรือไม่ ? ถ้านิวรณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ แสดงว่าสภาพจิตของเราไร้คุณภาพ ถ้าไม่มีนิวรณ์ ๕ ก็แสดงว่าสภาพจิตของเราอย่างน้อยก็ทรงตัวอยู่ในระดับดี

นิวรณ์ทั้ง ๕ ได้แก่ กามฉันทะ ความยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เป็นต้น ถ้าจิตไปประหวัดถึงเมื่อไร แปลว่าคุณภาพของใจเราเสียไปแล้ว พยาบาท ความนึกโกรธเกลียดอาฆาตผู้อื่น อย่างเช่นว่าบรรดาผู้ที่มาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทำให้รถติด ทำให้เราต้องเดือดร้อน แล้วไปโกรธเกลียดอาฆาตแค้นเขา ถ้ามีอย่างนี้อยู่แสดงว่านิวรณ์ ๕ ครองใจเราอย่างเต็มที่ ต้องรีบขับไล่ออกไปเสีย

ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนตลอดจนกระทั่งความขี้เกียจปฏิบัติ อย่าให้มีขึ้นในใจของเราได้ อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญใจ ถ้ามีอยู่ในใจของเรา อารมณ์ไม่สามารถที่จะทรงตัวเป็นสมาธิระดับสูงขึ้นไปได้ และข้อสุดท้ายคือวิจิกิจฉา ลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยก็ดี ลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องขับไล่ออกจากใจเราเสียให้หมด

เถรี
06-01-2014, 21:54
หลังจากนั้นต้องตั้งกำลังใจของเราให้แน่วแน่ มั่นคงต่องานที่ทำ คือการภาวนา ต่อเป้าหมายที่ต้องการคือพระนิพพาน ต้องแน่วแน่มั่นคง จริงจัง จริงใจในการภาวนา อย่างเช่นตั้งใจว่า เราจะจับลมหายใจเข้าออกโดยไม่คิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดเลยให้ครบ ๒๐ คู่ ก็ต้องทำให้ครบ ๒๐ คู่ให้ได้ ตั้งใจว่าเราตายแล้วจะไปพระนิพพาน ก็ต้องกระทำกาย วาจา ใจของเราทุกอย่างให้เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

ถ้าเราตั้งกำลังใจอย่างนี้แล้ว ดูลมหายใจเข้าออกไปครู่หนึ่ง เมื่อกำลังใจเริ่มมั่นคง ก็ให้แผ่เมตตาออกไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งใจว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วโลก สรรพสัตว์ทั้งหลายท่านใดตกอยู่ห้วงทุกข์ กองทุกข์ ขอให้พวกท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงล่วงพ้นจากความทุกข์ ท่านใดที่มีความสุขก็ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป การแผ่เมตตาจะทำให้อารมณ์ของเราสงบ เยือกเย็น สนับสนุนศีลของเราให้สมบูรณ์บริบูรณ์ได้ง่ายขึ้น ทำให้กำลังใจของเราชุ่มชื่น เบิกบาน ไม่รู้สึกแห้งแล้ง มีความอยากจะปฏิบัติธรรมมากขึ้น

ลำดับต่อไปสิ่งที่เราจำต้องระลึกถึง ก็คือ ความตายที่จะมาถึงเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราหายใจเข้าไม่หายใจออก ความตายก็มาถึงแล้ว เราหายใจออกไม่หายใจเข้า ความตายก็จะมาถึงเช่นกัน ในเมื่อความตายอยู่แค่ปลายจมูกของเรานี่เอง ถ้าเราตายแล้วลงอบายภูมิก็แปลว่าขาดทุนย่อยยับ แม้กระทั่งเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ยังต้องทนทุกข์อยู่ อย่างเช่นการที่ลำบากเดือดร้อนจากสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันของเรา

ดังนั้น..ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาที่มีความทุกข์เช่นนี้เราไม่พึงปรารถนาอีก เทวโลก พรหมโลก ที่พ้นทุกข์ชั่วคราวเพียงชั่วคราวเราก็ไม่ต้องการ ทำใจปลดจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แม้กระทั่งอัตภาพร่างกายนี้เราก็ไม่ต้องการ เราต้องการอยู่อย่างเดียวคือพระนิพพาน

หลังจากนั้นให้กำหนดภาพพระองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารัก เราชอบมากที่สุด หายใจเข้าให้ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าไปพร้อมกับคำภาวนา หายใจออกให้ภาพพระไหลออกมาพร้อมกับคำภาวนา พยายามตามดู ตามรู้ลมหายใจเข้าออกลักษณะอย่างนี้ ถ้าลมหายใจเบาลงให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง ถ้าลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดภาพพระไว้เฉย ๆ ตั้งใจว่านั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่บนพระนิพพาน ถ้าเราหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี เกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ดี เราขอมาอยู่ที่พระนิพพานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเดียวเท่านั้น ให้ทุกคนรักษากำลังใจของตนเอาไว้อย่างนี้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)