PDA

View Full Version : ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๐


ลัก...ยิ้ม
15-07-2013, 16:20
คำนำ

ปกิณกธรรมหรือธรรมปกิณกะ แปลว่าธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งทุก ๆ ท่านที่ปฏิบัติธรรมก็สามารถแสดงธรรมปกิณกะของตนออกมาได้ทุกท่าน แต่หนังสือเล่มนี้ผมเน้นรวบรวมเอาเฉพาะธรรมปกิณกะของพระพุทธองค์ ที่ทรงตรัสสอนผมและเพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมของผมไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มาพิมพ์แจกให้กับผู้ศรัทธาได้ศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป โดยจิตของท่านชอบหรือพอใจตอนใด ก็ให้เอาตอนนั้นไปปฏิบัติให้เกิดผล ก็จะสามารถนำจิตของท่านให้พ้นทุกข์ได้ ไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติให้ได้หมดทุก ๆ ตอนหรือทุก ๆ ข้อ

เนื่องจากพระพุทธองค์มีพระพุทธญาณหรือสัพพัญญุตญาณ แต่พระองค์เดียวในโลกมนุษย์นี้ รวมทั้งยมโลก (อบายภูมิ ๔) เทวโลกและพรหมโลกด้วย สิ่งใดไม่จริงพระองค์จะไม่ตรัส ตรัสอย่างใดก็สามารถทำได้ตามที่ตรัส คำตรัสหรือคำสั่งสอนของพระองค์จึงเป็นอริยสัจทั้งสิ้น ผมเป็นเพียงผู้รวบรวมเอาแต่ปกิณกธรรมบางส่วน ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ มารวบรวมพิมพ์เป็นเล่ม เพราะยังมีเล่มที่ ๑๑ และ ๑๒ ต่อ ๆ ไป หมายความว่าเป็นธรรมปกิณกะ และพระธรรมที่ทรงตรัสสอนไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และ ๒๕๔๒ นั่นเอง

ปกิณกธรรมของพระพุทธองค์ ล้วนเป็นอุบายในการพิจารณาเพื่อละ ปล่อยวางขันธ์ ๕ หรือร่างกาย ว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา ด้วยอุบายต่าง ๆ มากมายหลายวิธี เพราะทรงทราบด้วยพุทธญาณของพระองค์ว่า บุคคลในโลกนี้ล้วนมีจริต – นิสัย และกรรมที่กระทำกันมาในอดีตแตกต่างกันมาก พระองค์จึงต้องสอนให้ถูกตรงตามจริต – นิสัย และกรรมของแต่ละบุคคล เมื่อบุคคลเหล่านั้นปฏิบัติตาม ก็เกิดมรรคผลตามลำดับจนถึงพระนิพพานได้

ลัก...ยิ้ม
16-07-2013, 14:12
สมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตรัสว่า ในปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ไม่มีแล้ว (ทรงหมายถึง บุคคลที่ฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ก็มีดวงตาเห็นธรรมในขณะนั้น ในวันนั้น หรือต่อหน้าพระองค์) มีแต่เฉพาะในสมัยที่ตถาคตยังทรงพระชนม์ชีพอยู่เท่านั้น หรือหมายความว่า บุคคลกลุ่มนั้นมีบารมีเต็มหรือกำลังใจเต็มแล้ว (อุคฆติตัญญู) ส่วนบุคคลในสมัยปัจจุบันนี้ (ทรงหมายถึง กลุ่มพวกเราที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อฤๅษี ที่ตั้งใจปฏิบัติกันอย่างจริงจัง) ยังมีบารมีไม่เต็ม หรือใกล้เต็มแล้ว (วิปจิตัญญู) จึงต้องอาศัยธรรมปกิณกะช่วย ซึ่งทรงเมตตาตรัสสอนไว้มากมายหลายวิธี ทุกวิธีหากนำมาปฏิบัติจริงจัง ย่อมมีผลทำให้จิตพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น ขอยกตัวอย่างเช่น

ก) จงอย่าคิดว่าตนเองดี ถ้ายังตัดสังโยชน์ยังไม่หมด ดีเมื่อไรก็ตายวันนั้น ยกเว้นพระอรหันต์ท่านยังมีชีวิตอยู่ได้

ข) หากเรายังมีชีวิตอยู่ อย่าหลงคิดว่าตนเองดี เพราะหากดีวันไหนก็ต้องตายวันนั้น (ทรงใช้สังโยชน์ ๑๐ เป็นหลักในการตัดสินว่าคำว่า.. ดีหรือยังไม่ดี

ปกิณกธรรมที่พระองค์ทรงตรัสสอนจึงเหมาะกับจริต – นิสัย และกรรมของแต่ละบุคคลที่ทำกันมาไม่เสมอกัน เรื่องนี้จึงละเอียดมาก เป็นอุบายตัดกรรมให้กับบุคคลเฉพาะกลุ่มก็มี เฉพาะบุคคลก็มี สุดแต่พระองค์จะโปรดเมตตาใคร ผมก็ขออธิบายไว้เพียงแค่นั้น

ลัก...ยิ้ม
17-07-2013, 11:41
ผมขอสรุปว่า หนังสือธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้นทั้ง ๙ เล่มนั้น คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นส่วนใหญ่ ของหลวงปู่ หลวงพ่อทั้งหลาย ซึ่งล้วนเป็นพระสาวกของพระองค์ ได้เมตตามาสอนเพื่อนผมและผมโดยตรง ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติธรรมเบื้องต้น (ขณะที่หลวงพ่อฤๅษียังมีชีวิตอยู่) ธรรมท่ามกลาง และธรรมเบื้องสูงมาตามลำดับ มีรายละเอียดอยู่ในนั้นทั้งสิ้น เล่มต่อ ๆ ไปจึงเป็นปกิณกธรรมเกือบทั้งสิ้น

ในที่สุดนี้ ผมขออาราธนาบารมีคุณของพระศรีรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ขอจงดลจิตท่านผู้อ่านธรรมปกิณกะที่ทรงตรัสไว้บางส่วนในเล่มนี้แล้วเข้าใจ นำไปปฏิบัติต่อ จงเกิดมรรคผลนิพพานด้วยกันทุกท่านเทอญ

ลัก...ยิ้ม
18-07-2013, 16:58
พรปีใหม่ของสมเด็จองค์ปฐม มีความสำคัญดังนี้


๑. ปีใหม่แล้ว ให้ดูว่ามีอะไรดีขึ้นกว่าเก่าบ้างไหมในการปฏิบัติธรรม จักเห็นได้ว่าขันธ์ ๕ ทุกอย่างเสื่อมหมด ไม่มีอะไรจักดีขึ้นมาได้เลย นับวันมีแต่แก่และเสื่อมลงทุกวัน จิตเราเคยยอมรับนับถือในความแก่ ความเสื่อมลงไปทุก ๆ ขณะนั้นบ้างหรือเปล่า ?

๒.เพราะเหตุใด ? ให้ถามจิต ให้จิตตอบ ก็จักเห็นอารมณ์จิตในบางขณะ ยังมีความดิ้นรน ฝืนสังขาร – ฝืนโลก – ฝืนธรรม งานบางอย่างทำไม่ไหวก็ยังอยากทำ เป็นต้น (กายแก่ลง แต่จิตมันไม่แก่) นั่นแหละเป็นวิภวตัณหา อันมีความต้องการให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงอย่างเก่า เพราะไม่เห็นว่าธรรมดาของร่างกาย เกิดขึ้นก็เสื่อมไปทุก ๆ ขณะ ไม่มีคำว่าเจริญขึ้นมาได้เลย ชีวิตจากปฐมวัยก้าวเข้าสู่มัชฌิมวัยแล้ว จักให้ถอยไปอยู่ในปฐมวัยอีกไม่ได้ และจากมัชฌิมวัยก็ก้าวเข้าสู่ปัจฉิมวัย ก็จักก้าวเรื่อยไปจนกระทั่งขันธ์ ๕ ถึงกาละ คือตายไปในที่สุด ไม่มีใครที่จักคงร่างกายนี้ให้อยู่ได้ตลอดกาล ตลอดสมัย นี่เป็นอริยสัจ

๓. การปฏิบัติจักต้องไม่ฝืนความจริงของขันธ์ ๕ การอยากให้ขันธ์ ๕ แข็งแรง มีสภาพทำงานได้คล่องเหมือนหนุ่ม ๆ สาว ๆ จุดนี้แหละ จักทำให้ต้องกลับมามีร่างกายใหม่ กล่าวคือแสวงหาภพหาชาติเกิดต่อไป ต้องระวังจุดนี้เอาไว้ให้ดี คอยหมั่นตรวจจิตเอาไว้ให้ดี ๆ สอนกันมามากแล้ว เร่งปฏิบัติให้ได้ด้วย

ลัก...ยิ้ม
19-07-2013, 09:51
๔. การตรัสสอนพระธรรม จบลงในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นการจบตามสมมุติทางโลก แต่ไม่จบตามสมมุติทางธรรม หากยังตัดสังโยชน์ ๑๐ ไม่หมด หรือตัดอุปาทานขันธ์ ๕ ยังไม่หมด หมายความว่าอารมณ์ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรายังอยู่ คิดว่าเป็นตัวกูของกู หรือยังไม่หมดสักกายทิฏฐิ ไม่หมดมานะกิเลส ดังนั้น ผู้ฉลาดมีปัญญา เขารู้ว่าขันธ์ ๕ นี้ แม้ไม่ยึด ตัดใดตัวหนึ่งใน ๕ ขันธ์นี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็สามารถจบกิจในพุทธศาสนาได้

๕. ขันธมารจักเล่นงานหนักในเวลานี้ ด้วยเหตุมุ่งจักทำเพื่อให้พ้นไปเสียจากขันธ์ ๕ กล่าวคือปรารถนาพระนิพพานเป็นที่ไป จึงเป็นเหตุให้ขันธมารและกิเลสมาร มุ่งเข้ามาเล่นงานผู้ปรารถนาจักไปพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้อย่างหนัก เพราะฉะนั้น ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจยอมรับสภาพกฎของกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่เข้ามาเล่นงานอย่างมีสติ – สัมปชัญญะ อย่าดื้อดึงกระทำตัวเหมือนคนพายเรือทวนน้ำ เพราะนั่นจักทำให้เหนื่อย เรือจักล่มอับปางเสียก่อนเปล่า ๆ ในเมื่อกฎของกรรมเข้ามาแรง ก็ไม่ต่างกับเกลียวคลื่นที่ถาโถมเข้ามา ทางที่พึงประคองตัวให้ไปตามน้ำคือ เสมือนหนึ่งกัปตันคอยประคองเรือไปตามเกลียวคลื่น ไม่ให้เรือล่ม ไม่ให้อับปางเป็นพอ

ลัก...ยิ้ม
23-07-2013, 12:30
๖. อย่าลืมทุกอย่างไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นมาได้ มันก็ดับได้ สภาวะกฎของกรรมก็เช่นกัน ไม่ช้าไม่นานก็ผ่านวาระไป ความเกิดขึ้นมีแล้ว ย่อมมีความดับเป็นธรรมดา ในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันหนีกฎไตรลักษณญาณไปไม่พ้นหรอก พิจารณาจุดนี้ให้ลงตัว แล้วจิตจักมีอารมณ์เยือกเย็นมาก เพราะจิตจักยอมรับกฎของธรรมดาและมีความสุขมาก

๗. เห็นใครตาย ให้เห็นเป็นธรรมดาของขันธ์ ๕ คำว่าเกิดมีที่ไหน คำว่าตายย่อมมีที่นั่น ยกเว้นแต่พระนิพพานเท่านั้น... ไม่มีที่เกิดที่ตาย ให้หมั่นพิจารณาขันธ์ ๕ เข้าไว้ จักได้ละได้เมื่อถึงที่สุดแห่งชีวิต เห็นใครที่ไหนตาย ให้น้อมเข้ามาหาตัวเองเอาไว้เสมอว่า ในไม่ช้าไม่นาน ขันธ์ ๕ อายตนะของเราก็เป็นอย่างนี้ จักได้ไม่มีความประมาทในชีวิต

ลัก...ยิ้ม
24-07-2013, 17:34
๘. ชีวิตของร่างกายก็ดี ทรัพย์สินก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงทั้งสิ้น การมีชีวิตหรือการมีทรัพย์สิน ก็เพียงสักแต่ว่ามีขึ้นแล้วก็ก้าวเข้าไปสู่ความเสื่อมทุก ๆ ขณะ แล้วในที่สุดร่างกายก็ตาย ทรัพย์สินทั้งหลายก็สลายไปหมด ให้กำหนดจิตดู จักมายึดติดกับร่างกายหรือติดกับทรัพย์สิน อันมีแต่ความเสื่อมทรุดโทรมไป เพื่อประโยชน์อันใดกัน พิจารณาถาม.. ให้จิตตอบ แล้วจักเกิดปัญญา ปล่อยวางร่างกายหรือทรัพย์สินภายนอกลงได้

๙. ร่างกายที่ยังคงอยู่ก็เพราะอาศัยสันตติ คือการสืบเนื่องไม่ขาดสายของธาตุทั้ง ๔ ซึ่งธาตุทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ให้กำหนดรู้สภาพของร่างกายตามความเป็นจริงอยู่เสมอ จิตจักได้ปลดจากร่างกายได้ในที่สุด ให้มองร่างกายตนเองเป็นสำคัญ แล้วมองร่างกายของคนอื่นเปรียบเทียบกัน จักเห็นความสกปรก ความไม่เที่ยง ความเสื่อมสลายตัวไปอย่างเห็นได้ชัด จุดนี้พยายามทรงอารมณ์พิจารณาเข้าไว้.. อย่าทิ้งอารมณ์ จึงจักเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงได้

ลัก...ยิ้ม
25-07-2013, 11:14
๑๐. เห็นกฎของกรรมแล้วให้เคารพในกฎของกรรมด้วย จิตจักได้วางความร้อนใจลงได้ เห็นทุกอย่างไม่น่าอยู่ ไม่น่าอาศัย โลกนี้ทั้งโลกเต็มไปด้วยกระแสของกฎของกรรม อันซึ่งเป็นมาแต่ไฟโมหะ โทสะ ราคะทั้งสิ้น มองให้ชัด ๆ พิจารณาน้อมจิตให้เห็นลึกลงไป หาเหตุหาผล ถึงเหตุถึงผลอันทำให้จิตของตนต้องมาจุติ ถ้าหากมองแล้วพบเหตุพบผลก็จักแก้ไขจิต ไม่ให้ต้องไปจุติต่อไปในภายหน้า และจักเห็นหนทางตัดตรงไปพระนิพพานได้

๑๑. ให้มองจิตของตนเอง จนรู้อารมณ์ของจิตของตนในแต่ละขณะจิต จักเห็นความหวั่นไหวแปรปรวนไปตามอายตนะต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา จุดนั้น.. จักทำให้สามารถพิฆาตกิเลสของตนเองลงได้ จุดนี้สำคัญมาก และต้องใช้สติสัมปชัญญะกำหนดรู้เป็นอย่างยิ่ง และจำได้ว่าจักต้องใจเย็นด้วยจึงจักได้ผล

ลัก...ยิ้ม
26-07-2013, 09:14
๑๒. อย่าสนใจว่าใครตายแล้วจักไปไหน ให้สนใจถามจิตตนเองว่า ถ้าตายตอนนี้จิตจักไปไหน เพราะชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ไม่มีใครหนีพ้น ให้เตรียมจิตพร้อมตายตลอดเวลา อย่าไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้าน ธรรมที่ผ่านไปแล้วเป็นอดีต ธรรมที่ยังเข้ามาไม่ถึงคืออนาคต ธรรมที่แท้จริงอันประสบอยู่ก็คือธรรมปัจจุบัน รักษาจิตให้เป็นสุขอยู่ในธรรมปัจจุบันนี้แหละ จึงจักเป็นของจริงและประเสริฐที่สุด

ลัก...ยิ้ม
29-07-2013, 09:32
๑๓. ขอให้อดทนต่ออุปสรรคทั้งปวง นักปฏิบัติเพื่อพระนิพพานจักต้องรู้ว่า กฎของกรรมจักต้องทยอยเข้ามาเล่นงานอย่างหนัก ในแต่ละนาทีของชีวิต.. การฝึกจิตให้เข้มแข็งจักต้องพึงมีในนักปฏิบัติเพื่อพระนิพพานทุกคน ในเมื่อเราอุทิศชีวิตและร่างกายเพื่อพระพุทธศาสนาแล้ว ให้มุ่งทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานอย่างจริงจัง อย่าหวังผลตอบแทนด้วยประการใด ๆ ทั้งปวง

ให้สอบจิตว่ายังมีจุดไหนหวังผลตอบแทนบ้าง ถ้ามีก็จงประมาณตนเองว่าเลวเกินไปเสียแล้ว เพราะพระนิพพานรับแต่คนหมดโกรธ หมดโลภ หมดหลงเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นพระนิพพานไม่รับ ยิ่งสุขภาพไม่ดี ยิ่งจักต้องเพิ่มความไม่ประมาทให้มากขึ้น หากวางร่างกายตนเองได้เสียอย่างเดียว ก็วางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด มรรคผลนิพพานอยู่ที่ตัดร่างกายได้จุดเดียว ก็ตัดได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง

ลัก...ยิ้ม
30-07-2013, 11:07
๑๔. อารมณ์หมดกำลังใจตัวเดียว ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเลวร้ายหมด ปัญหาที่เข้ามาถึงชีวิตของแต่ละคน ล้วนมาแต่กฎของกรรมซึ่งตนทำไว้เองในอดีตชาติทั้งสิ้น การรับกรรมอยู่ในเวลานี้ เป็นเพียงเศษผลของกรรมเท่านั้น อย่าพึงท้อแท้ใจ ให้พิจารณากฎของกรรม และชดใช้ไปด้วยขันติคืออดทนเป็นหลักใหญ่ แล้วกรรมเหล่านี้ก็จักผ่านไปได้ อย่าลืม ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่เที่ยง มันเคลื่อนไปอยู่เสมอทุก ๆ ขณะจิต เกิดแล้วตั้งอยู่ก็ดับไป กฎของกรรมทั้งหลายก็เช่นกัน บางครั้งชีวิตร่างกายของเรานี้แหละก็จักดับจากมันไป รักษาอารมณ์ของจิตไว้ให้ดี อย่าไปหวั่นไหวกับอาการเกิดดับของกรรมนั้น

ลัก...ยิ้ม
31-07-2013, 09:39
๑๕. ร่างกายไม่เที่ยง พยายามรักษากำลังใจให้เที่ยงด้วย เวลานี้ร่างกายมันป่วย ก็ให้คิดว่าใกล้ความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จงอย่าประมาทในชีวิต แล้วจงหมั่นพิจารณาปลดภาระทั้งหมด อย่าให้จิตติดข้องห่วงใยในกรณีใด ๆ ทั้งปวง โดยอุบายอันคิดว่า ขณะนี้ร่างกายมันจักตายแล้ว ความสะดวกปลอดโปร่งไร้กังวลของจิตมีความสำคัญมาก ให้กำหนดจุดหมายของจิตเข้าไว้ คือต้องการพระนิพพานเท่านั้น คือแน่วแน่ทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียวเข้าไว้เสมอ (ดั่งกรรมฐานโดยย่อว่า รู้ลม – รู้ตาย – รู้นิพพานนั่นเอง)

ลัก...ยิ้ม
02-08-2013, 14:12
๑๖. เรื่องสุขภาพของคุณหมอนั้น เป็นเครื่องเตือนให้เห็นภัยมรณะเช่นกัน ระมัดระวังสุขภาพเอาไว้เสียบ้างก็เป็นดี อย่าฝืนร่างกายให้มากนัก พึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าเอาการนอนน้อยเป็นบรรทัดฐานว่าเป็นของดีในการปฏิบัติ จุดนั้นยังไม่ใช่ของดี จักทำให้เบียดเบียนร่างกายของตนให้เกิดทุกขเวทนายิ่งขึ้น การนอนทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี ก็คือพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน และนอนอย่างนักปฏิบัติ คือหลับในฌาน หรือหลับในวิปัสสนาญาณ มิใช่นอนทิ้งนอนขว้างจักตายเสียเปล่า พิจารณาความพอดีของการยังอัตภาพให้เป็นไปด้วย ไม่ว่า กิน อยู่ หลับนอน นุ่งห่ม ยารักษาโรค ทุกอย่างลงตัวพอดี ก็ได้ชื่อว่าไม่เบียดเบียนตนเอง

๑๗. อย่าทิ้งการพิจารณา ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำจิตให้ยอมรับว่า รูปและนามตกอยู่ในสภาวะไตรลักษณญาณเหมือนกันหมด ให้จิตมีสติ – สัมปชัญญะ กำหนดรู้เท่าทันแล้วจิตจักมีอารมณ์เบา คลายจากการเกาะยึดเหนี่ยวอะไรทั้งหมด คือ มุ่งตัดรูป – นาม หรือขันธ์ ๕ ของตนเองเป็นสำคัญ ทั้งนี้จักต้องขึ้นอยู่กับกำลังใจ หรือบารมี ๑๐ เป็นสำคัญ ให้ตรวจสอบกำลังใจของตนเองเอาไว้ให้ดี

ลัก...ยิ้ม
05-08-2013, 14:04
๑๘. ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จุดนี้จักต้องพิจารณาให้หนัก และเอาจริงจึงจักวางภาระขันธ์ ๕ ไปได้ ถ้ายังไม่พิจารณาธาตุ ๔ อาการ ๓๒ ให้เห็นจริงจัง จิตก็จักเผลอไปเกาะขันธ์ ๕ ทันที ให้เห็นสภาวะของจิต ใกล้สิ่งไหนเกาะสิ่งนั้น สภาพของจิตยึดทุกสิ่งทุกอย่างที่ใกล้ตัวของมัน รับสัมผัสสิ่งดีก็ยึดดี รับสัมผัสสิ่งเลวก็ยึดเลว สภาพของจิตมีอารมณ์ชอบยึด

ให้รู้สภาวะของจิต ซึ่งยึดทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามากระทบจิต เมื่อเราปรารถนาจักหลุดพ้นเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพาน ก็จักปล่อยวางอารมณ์ของจิตที่ยึดมั่นถือมั่นมาแต่เดิมนั้นเสีย จุดนี้ให้ใช้ปัญญาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ และในที่สุดก็อนัตตาไปหมด พยายามชำระจิตอย่าให้เกาะทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ทำได้เมื่อไหร่จิตก็พ้นเมื่อนั้น

ลัก...ยิ้ม
06-08-2013, 09:22
๑๙. อย่าฝืนร่างกาย ให้อนุโลมตามเหตุตามผลของความเป็นจริง ฝืนเท่าไหร่ทุกข์มากเท่านั้น ปล่อยวางร่างกายให้อยู่ตามปกติสุข แล้วใช้จิตพิจารณาร่างกายนี้ด้วยปัญญาว่า มันไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ในมัน ไม่ช้าไม่นานเรากับมันก็ต้องจากกันแล้ว ตั้งใจไว้เลยว่าเราจักคบมันเป็นชาติสุดท้าย ตายจากกันเมื่อไหร่ก็ขอไปพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น

ทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด จักต้องพยายามมองให้เห็นและปลดทุกข์เสียให้ได้ อันฆราวาสยังมีขันธ์ ๕ จักให้สิ้นทุกข์เลยทีเดียวไม่ได้ ไม่เหมือนพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจบกิจแล้วยังมีชีวิตอยู่ได้ พวกเจ้าเป็นฆราวาสก็ทนไปก่อน รอใกล้จักนิพพานนั่นแหละ จักรู้จักคำว่าสิ้นทุกข์ แต่อย่าทิ้งการปฏิบัติธรรม จักต้องหมั่นทำกำลังใจให้เต็มเข้าไว้เสมอ

ลัก...ยิ้ม
08-08-2013, 12:01
๒๐. ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ในที่สุดร่างกายก็คืนกลับสู่สภาพเดิมของ ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ สลายตัวไป พยายามปลดร่างกาย หรือพิจารณาร่างกายของตนให้มาก ถ้าหากต้องการให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของการมีร่างกาย จงอย่าทิ้งการพิจารณาอาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ของร่างกาย รักษากำลังใจเข้าไว้ มรณานุสติอย่าทิ้งไปจากใจ

คนเราทุกคนตายแน่ สำหรับร่างกายกำหนดรู้เอาไว้ อย่าให้หลงมัวเมาอยู่กับศพเดินได้เหล่านี้ เห็นธรรมภายใน เห็นธรรมภายนอก มีความเสมอเท่ากันหมด สิ่งใดมีเกิดขึ้น.. สิ่งนั้นย่อมมีตายเป็นธรรมดา แล้วพิจารณาความโกรธ – โลภ – หลง จักมีประโยชน์กับเราได้อย่างไร ? ในเมื่อร่างกายอันเป็นที่รักยิ่งก็ยังเอาไปไม่ได้ การปรารถนาซึ่งความโกรธ – โลภ – หลง ไม่ได้ช่วยให้เราดีขึ้น อารมณ์เหล่านี้รังแต่จักนำเราไปสู่อบายภูมิ มีสัตว์นรกเป็นต้น ไม่ได้นำเราไปสู่สุคติภูมิเลย จุดนี้จงอย่าประมาทในอารมณ์ของจิต

ลัก...ยิ้ม
09-08-2013, 10:30
ให้หมั่นชำระล้างจิตเอาไว้ให้ผ่องใสเสมอ และอย่าน้อยใจในโชคชะตาของชีวิตว่าทุกข์หนัก มีทุกข์มากกว่าบุคคลอื่น ซึ่งเหล่านี้ไม่พึงโทษโคร เพราะเป็นผลจากกฎของกรรมอันเราได้ทำไว้เองทั้งสิ้น พิจารณาให้จิตยอมรับในกฎของกรรมเข้าไว้ จิตจักได้ไม่ดิ้นรน มีความสงบสุขและไม่พึงปรารถนาความเกิดอีกต่อไป เพราะหากเผลอพลาดไปเกิดอีก ก็จักพบทุกข์เยี่ยงนี้อีก กรรมอาจจักหนักกว่าเก่า เพราะทุกคนที่หนีกรรมไปพระนิพพานยังไม่มีใครหมดกรรมสักคนหนึ่ง กรรมเก่าในอดีตชาติทำไว้หนักหนาทั้งสิ้น ด้วยความที่ไม่เข้าถึงศีล ไม่เข้าถึงธรรม จึงเป็นเหตุให้สร้างกรรม สร้างบาปอันเป็นอกุศลไว้มาก ให้กำหนดรู้จุดนี้ไว้ให้ดี จักได้ไม่ประมาทในการสร้างความดี

ลัก...ยิ้ม
13-08-2013, 13:26
รักษาศีลให้ตั้งมั่น แล้วพึงรักษาธรรมให้ตั้งมั่นด้วย ศีลและธรรมเท่านั้นที่จักชำระจิตให้หลุดพ้นจากการถูกรบกวนด้วยอารมณ์ทั้งปวง อันเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องเกิดในที่ต่าง ๆ อีก ให้พิจารณากฎของกรรมที่เข้ามาเล่นงานขันธ์ ๕ อยู่ในชาติปัจจุบัน และจงอย่าคิดน้อยใจท้อแท้ต่อกฎของกรรม แล้วอย่าพึงคิดว่าตายแล้วก็แล้วกันไป จิตจักไปที่ไหนก็ช่างมัน.. อย่างนั้นจงอย่าได้มีขึ้นกับจิต ให้มีความอดทน มีสัจจะตั้งมั่น ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของการมีร่างกาย และตายเมื่อไหร่ให้มีพระนิพพานเป็นที่ไปเมื่อนั้น

ลัก...ยิ้ม
15-08-2013, 10:01
รักษากำลังใจตั้งมั่นอยู่ในความดี เรื่องการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้มีกิเลสกับผู้มีกิเลสย่อมเป็นของธรรมดา ขนาดพระอรหันต์หรือพระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ยังถูกนินทา เรื่องเหล่านี้พึงเห็นเป็นของธรรมดา สร้างอภัยทานให้เกิดขึ้นกับจิต แผ่เมตตาไปทั่วทั้งจักรวาล ตั้งสัจจะอธิษฐานเข้าไว้ จิตของเราจักไม่ตั้งตนเป็นศัตรูกับใคร.. ทำให้ได้จริง ๆ แล้วจิตจักไม่สนใจจริยาของบุคคลอื่น สุข – สงบ.. จิตไม่เร่าร้อน ความสุขก็จักเกิดขึ้นมาก

ให้ลองตั้งใจทำให้ได้จริง ๆ ดูสักชั่วโมง สองชั่วโมงในแต่ละวัน แล้วจักเห็นอานิสงส์ของการแผ่เมตตา หลังจากนั้นค่อยเพิ่มกำลังใจ.. รักษาอารมณ์นี้ไว้ให้ได้เป็นวัน ๆ แล้วจิตจักมีอารมณ์เยือกเย็นและเป็นสุขมากขึ้น ความขัดเคืองในอารมณ์จักไม่มี ใครชั่วใครดีก็เป็นกรรมเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล จิตของเราจักไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกรรมของเขาเลย จิตของเราจักมุ่งอย่างเดียวคือ สุขในพรหมวิหารธรรม

(หมายเหตุ : พรของพระองค์ในข้อนี้ยาวมาก เพราะทรงใช้บารมี ๑๐ เป็นหลักสำคัญในการตรัสสอน จนครบทั้ง ๑๐ บารมี เพื่อให้พวกเราได้เห็นคุณประโยชน์ของการใช้บารมี ๑๐ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติธรรม เพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ที่แยกเป็นข้อ ๆ นั้น เพราะเป็นคำตรัสสอนในแต่ละวัน ๆ ตามลำดับ คำตรัสสอนจึงเป็นปกิณกธรรมทั้งสิ้น)

ลัก...ยิ้ม
19-08-2013, 09:14
๒๑. ตัดกังวลภายในจิตลงให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้ปัญญาถามจิต ให้จิตตอบว่า จักกังวลกับชีวิตไปเพื่อประโยชน์อันใดกัน กลัวตายทำไมในเมื่อมอบกายถวายชีวิตเข้ามาในเขตพระพุทธศาสนาแล้ว จิตของเราได้ตั้งอยู่ในความดีตามคำสั่งสอน เพื่อละซึ่งกิเลสความโกรธ โลภ หลง จริงหรือเปล่า ? เรามีความตั้งใจจริงที่จักปฏิบัติธรรมเพื่อพระนิพพานแค่ไหน ? ถามจิตให้จิตตอบเข้าไว้เสมอ แล้วพร้อมหรือยังที่จักละซึ่งขันธ์ ๕ อันเป็นเหยื่อล่อของความทุกข์ เป็นเหยื่อล่อของตัณหา เราพิจารณาขันธ์ ๕ ให้เห็นตามความเป็นจริงพอแล้วหรือยัง จุดนี้จักต้องถามจิตให้จิตตนเองตอบ แล้วจักเป็นปัญญาให้เกิดรู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ ๕ นี้ จนวางภาระขันธ์ ๕ ของตนเองให้ได้อย่างเดียว ก็จักวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด และเป็นปัจจัยให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้โดยง่าย

ลัก...ยิ้ม
20-08-2013, 08:39
๒๒. อย่าสนใจจริยาของบุคคลอื่นให้จิตมันเร่าร้อนไปเพื่อประโยชน์อันใด ให้พยายามรักษาอารมณ์เยือกเย็นของจิตให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ ให้มาก และเป็นธรรมดาอยู่ดีที่จิตยังไม่เข้าถึงพระอนาคามีผล.. ความหวั่นไหวของจิตย่อมมีบ้าง แต่พยายามให้มั่นหวั่นไหวน้อยลง พยายามรักษาอารมณ์นี้ให้ทรงตัว ควบกับการพิจารณาขันธ์ ๕ หรือว่าร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมชั่วคราว มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีเสื่อมไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด ให้จิตยอมรับความจริงอยู่อย่างนี้ แล้วกิเลสต่าง ๆ ก็จักเบาบางลงไปได้

ลัก...ยิ้ม
21-08-2013, 09:01
๒๓. อย่าเพ่งโทษผู้อื่น ใครเขาจักทำอย่างไรก็เรื่องของเขา มุ่งเอากาย วาจา ใจของเราให้ดีก่อน ตราบใดที่ยังเห็นข้อบกพร่องของตนเอง หากจักเอ่ยปากตำหนิบุคคลผู้อื่น ให้รู้ตัวไว้ว่านั่นเราเลวแล้ว ไปรับเอาชั่วเอาเลวของเขาไว้แล้วนำมาตำหนิ นั่นแหละเราเลวกว่าเขา หากหวังความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ก็จงกำหนดรู้ข้อบกพร่องจุดนี้เอาไว้ให้ดี และให้ตั้งใจตั้งอารมณ์ให้ถูกต้อง เพียรเลิกเสียให้ได้จริง ๆ ในเรื่องของคนอื่น แล้วผลของการปฏิบัติจักตีวงแคบเข้ามา และเข้ามรรคผลนิพพานได้ง่าย อย่าเสียเวลากับคนอื่นโดยใช่เหตุ ชีวิตล่วงไป.. ความตายใกล้เข้ามาทุกที

ลัก...ยิ้ม
22-08-2013, 09:20
๒๔. ร่างกายนี้ ในไม่ช้าก็จักเป็นผีในป่าช้า ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง จักเห็นร่างกายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายที่สุด อันพึงที่จิตของเราควรจักละทิ้งไป การพิจารณาร่างกาย พยายามรักษากำลังใจให้สม่ำเสมอ อย่าทำจิตให้ตก คือเศร้าหมองไปกับธรรมที่พิจารณานั้น ให้รักษากำลังจิตให้เข้มแข็ง ยอมรับสภาพที่เสื่อมลงไปทุกขณะของร่างกาย แล้วหมั่นรักษาอารมณ์วางเฉยกับร่างกายตนเอง มันจักแก่ก็เชิญแก่ มันจักป่วยก็เชิญป่วย มันจักตายก็เชิญตาย อย่าไปทุกข์ร้อนกับมัน

ลัก...ยิ้ม
23-08-2013, 07:55
๒๕. ร่างกายที่จิตเราอาศัยอยู่ชั่วคราวนี้ ประกอบด้วยธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ ให้หมั่นกำหนดรู้ (เพราะไม่กำหนดก็ไม่รู้ จิตอาศัยอยู่จนชินด้วยความหลง) อย่าได้มี.. พิจารณาว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่มีในเราอยู่เสมอ ๆ พยายามทำให้ชิน จิตจักได้เป็นฌานในกายคตานุสติ และอสุภกรรมฐานควบไปถึงมรณาฯ กับอุปสมานุสติด้วย ให้หมั่นคิดไว้เสมอว่า ถ้าร่างกายนี้ตายเมื่อไหร่ จิตของเราปรารถนาอยู่อย่างเดียวคือไปพระนิพพาน แม้ร่างกายมันป่วย มันเจ็บ ก็ให้รู้ว่าวาระหรือโอกาสที่เราจักได้เข้าถึงพระนิพพานใกล้เข้ามาแล้ว เราใกล้สิ้นทุกข์แล้ว รักษาอารมณ์ปล่อยวางให้มาก" (อุเบกขาในร่างกาย.. ซึ่งเป็นอุเบกขาของบารมี ๑๐)" ความประมาทในชีวิตของร่างกาย เพราะความตายจักเข้ามาถึงเมื่อไหร่ก็ได้

ลัก...ยิ้ม
27-08-2013, 09:47
๒๖. อย่าทิ้งอารมณ์พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง (กรรมฐาน ๕ ซึ่งเวลาบวชพระ ท่านอุปัชฌาย์จะแนะนำผู้บวชให้พิจารณาเป็นสมถะและวิปัสสนาภาวนาเป็นปกติ) อาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ให้ไล่ไปไล่มาสลับกัน ตั้งแต่วันเกิดปฏิสนธิในครรภ์มารดา จนกระทั่งถึงวันตาย ธาตุ ๔ ก่อตัวมาอย่างไร ? สลายตัวไปอย่างไร ?

ให้พิจารณาให้เห็นชัด จุดนี้จักเป็นการตัดรูปในพระพุทธศาสนาได้ เป็นตัวปัญญาที่จักนำไปสู่อารมณ์จิตที่ยอมรับนับถือว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีในเราอย่างแท้จริง แล้วจักเห็นร่างกายเป็นเหยื่อล่อของตัณหา รวมไปถึงการพิจารณาอายตนะหกด้วย ยิ่งจักเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นไม่ใช่เรา แยกจิตผู้รู้นี้ให้ออกมาเป็นเอกเทศ ปล่อยวางกองสังขารลงให้หมด ไม่ว่าจักเป็นจิตสังขาร หรือกายสังขาร นั่นแหละจักเป็นอารมณ์จิตที่ว่างจากกิเลสอย่างแท้จริง

แม้จักเป็นการว่างชั่วคราว.. ก็พึงที่จักซักซ้อมเข้าไว้ให้จิตเคยชิน ทำให้บ่อย ๆ เมื่อสภาพการตายที่แท้จริงเข้ามาถึง จิตก็จักละจากขันธ์ ๕ มุ่งสู่พระนิพพานตามปรารถนาทันที อนึ่ง พยายามตัดเรื่องภายนอกออกให้มากที่สุด อย่าไปห่วงใครทั้งหมด รักษาอารมณ์ของจิต อย่าให้ตกเป็นทาสของนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ ให้ตั้งใจเจริญกรรมฐานให้จิตทรงตัวให้นานที่สุดเท่าที่จักทำได้

ลัก...ยิ้ม
29-08-2013, 09:28
๒๗. ว่างจากกิจการงานเมื่อไหร่.. ให้ตั้งใจพิจารณาร่างกายเมื่อนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ร่างกายนี้เต็มไปด้วยภาระและนำทุกข์มาให้ จึงพึงละเสียให้ได้จากร่างกายอันเต็มไปด้วยภาระและทุกข์นี้ (เป็นวิปัสสนาญาณข้อที่ ๖) รักษากำลังใจเข้าไว้ ให้ตั้งมั่นในเรื่องของการพิจารณาร่างกายนี้ เพราะมีความสำคัญยิ่งกว่างานใดทั้งปวง

บุคคลใดพิจารณาธรรมข้อนี้จนเข้าใจดีแล้ว บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้มีธุระน้อยทางโลกได้ตามลำดับ และเห็นความสำคัญของพระธรรมว่า มีคุณค่าอย่างหาสิ่งอื่นใดจะมาเทียบได้ ความไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในความตายก็จะมีมากขึ้นเพียงนั้น นิพพานสมบัติก็จะมีมากขึ้นตามส่วนของความไม่ประมาท และเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มี ๘๔,๐๐๐ บท ซึ่งเป็นอริยสัจ ผู้ใดปฏิบัติตามก็สามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น แต่ทรงตรัสสรุปไว้เหลือเพียงแค่ประโยคเดียวว่า ขอให้ทุกคนจงพร้อมอยู่ในความไม่ประมาทเถิด

ลัก...ยิ้ม
30-08-2013, 09:31
ปกิณกธรรม.. เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๐

๑. ร่างกายของคนเราไม่มีอะไรดี เพราะไม่มีความยั่งยืนคงทนแม้แต่อย่างหนึ่ง ในอาการ ๓๒ ที่เข้ามาประชุมกันเป็นร่างกายนี้ สร้างมาจากธาตุ ๔ ที่เข้ามารวมตัวกัน มีความย่อหย่อนอยู่ตลอดเวลา ความพร่องย่อมก่อให้เกิดความไม่สบายในร่างกายอยู่เสมอ จุดนี้พิจารณาให้เข้าถึงกฎไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยงของร่างกายอยู่ตลอดเวลา จักเป็นเหตุให้จิตคลายความเกาะติดในร่างกาย และเบื่อหน่ายในการมีร่างกาย

แต่พึงระมัดระวัง อย่าให้อารมณ์เบื่อเกิดขึ้นมากจนเกินไป จักเป็นเหตุให้เกิดความกลัดกลุ้มเป็นโทษแก่จิต และจักเป็นเหตุให้เสียผลของการปฏิบัติธรรมสืบไปเบื้องหน้า จักต้องคอยประคองจิตอย่าให้เศร้าหมอง หรือยินดีในธรรมมากจนเกินไป เอาจิตให้อยู่ในระดับสายกลาง ไม่เครียด ไม่หย่อน ปฏิบัติไปอย่างสบาย ๆ จึงจักมีปัญญาแทงตลอดในธรรมทั้งหลายได้ดี

เรื่องของคนอื่นให้ปล่อยวางไปเสียจากจิต เพราะกรรมใครกรรมมัน ให้คิดเสียว่าเราช่วยเขาไม่ได้ เพราะในเรื่องของจิตใจจักต้องปฏิบัติกันเอาเอง ใครทำใครได้ และจงพยายามกันเรื่องของคนอื่นออกไป ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ สร้างความสงบสุขให้กับจิต จิตสงบมากเท่าไหร่ ปัญญาก็เกิดมากขึ้นเท่านั้น

ลัก...ยิ้ม
02-09-2013, 13:45
๒. ร่างกายคือธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ มาประชุมกันชั่วคราว ที่สุดของร่างกายคืออนัตตา มีความสลายตัวไปในที่สุด อย่ายึดถือร่างกายของตนเองเป็นสรณะ อย่ายึดถือร่างกายคนอื่นเป็นสรณะ เพราะในโลกนี้ไม่มีร่างกายของใครจักเป็นที่พึ่งของใคร เมื่อถึงที่สุดแห่งวาระของการแตกดับของร่างกายนี้มาถึง จงหมั่นกำหนดจิตชำระล้างความเกาะติดในร่างกายของตนเอง และร่างกายของคนอื่น ด้วยกำลังของศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นพระธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์เป็นสรณะ ปฏิบัติตามแล้วจักรู้ตามความเป็นจริงของกองสังขารทั้งปวง และหมั่นปล่อยวางอารมณ์ที่เกาะติดร่างกายนี้ลงเสีย

ลัก...ยิ้ม
03-09-2013, 08:55
๓. อย่ากังวลใจกับสภาวะสงครามใหญ่ และอุทกภัยที่จักเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ให้ตั้งจิตมั่นคงในศีล สมาธิ ปัญญา ชำระกิเลสในขณะนี้ให้ลดน้อยหรือสิ้นยังจักดีกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของอนาคต ชีวิตของพวกเจ้าเองก็ยังไม่เที่ยง มันอาจจักตายลงไปในขณะจิตนี้ก็ได้ เรื่องสงครามหลังกึ่งพุทธกาลนั้นมีแน่ ทุกอย่างเป็นไปตามพุทธพยากรณ์ขององค์สมเด็จปัจจุบัน แต่จิตไม่ควรจักตื่นตกใจให้มากเกินไป ให้ปลงเสียว่า ถ้ากฎของกรรมมีอยู่ ให้ชีวิตของร่างกายจักต้องทรงอยู่ และมีอันจักต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้น ภัยอย่างนี้เลี่ยงไม่ได้ เราพึงเตรียมจิตเตรียมใจรับสภาวะกฎของกรรมอย่างไรดี จุดนี้ต่างหากที่พึงจักสนใจ เมื่อภัยพิบัติมาถึงเข้าจริง ๆ ในเวลานั้น ถ้าหากกฎของกรรมมีอันทำให้ถึงตาย ก็พึงเตรียมจิตเตรียมใจทิ้งขันธ์ ๕ เพื่อเข้าสู่พระนิพพานอย่างเดียว อะไรจักเกิดมันก็ต้องเกิด อย่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงเสียอย่างเดียว ตัวสติก็คุมจิตให้มีสัมปชัญญะได้

เรื่องหนีไม่จำต้องหนีไปไหน เพราะภัยที่จักเกิดขึ้นกับผู้ใด ไปที่ไหนก็หนีไม่พ้นภัยนั้น ๆ ยกเว้นเสียจากผู้ที่ทำจิตได้เข้าสู่พระนิพพานแล้ว ภัยทั้งหลายเหล่าใดก็เข้าถึงผู้นั้นมิได้ เพราะฉะนั้น..ผู้มีชีวิตอยู่ในกึ่งพุทธันดรนี้ จึงพึงเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างยิ่ง ควรเร่งรัดในศีล สมาธิ ปัญญา ให้ตั้งมั่นอยู่ในจิต แล้วชีวิตจักรอดพ้นจากความตาย หากโชคดีละขันธ์ ๕ ได้ ก็ถึงซึ่งพระนิพพาน พ้นทุกข์ก่อนได้เห็นภัยพิบัติก็ยิ่งดี

ลัก...ยิ้ม
04-09-2013, 09:09
(ต้นเหตุ เพราะมีคนเอาเทปของหลวงปู่ดาบสมาเปิดฟัง ในเทปนั้นกล่าวว่า มีเทวดามาเล่าให้ท่านฟังความว่า จะมีสงครามใหญ่และเรื่องน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ขนาดกลายเป็นทะเลรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงด้วย ภาคใต้แผ่นดินจมหายไปหลายส่วน ภาคเหนือจะมีแผ่นดินไหวและแผ่นดินแยก ฟังแล้ววิตกจริต โมหะจริตก็เกิด สมเด็จองค์ปฐมฯ จึงเมตตามาตรัสสอนความว่า หนีภัยในโลกนี้หนีไม่พ้นหรอก เพราะเป็นกฎของกรรมซึ่งเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย ทรงให้เอาเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง (อนาคตธรรม) มาพิจารณาให้เกิดประโยชน์ เพื่อเร่งรัดการปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อจะได้พ้นไปเสียจากโลกและขันธโลก (ขันธ์ ๕ หรือร่างกาย) เสียให้เร็วที่สุด ด้วยความไม่ประมาทในความตาย จงอย่าตีตนไปก่อนไข้ สำหรับตัวผม ขออนุญาตธัมมวิจัยเรื่องนี้ไว้ดังนี้

ก) เหตุที่เกิด เกิดเมื่อ ๓ ก.พ. ๒๕๔๐ หลังหลวงพ่อฤๅษีทิ้งขันธ์ ๕ ไปแล้ว ๕ ปีกว่า ผมเองไม่เคยรู้จักหลวงปู่ดาบส และไม่เคยสนใจเทปและคำสอนของท่าน มีหลายคนนำมาให้ผมอ่าน ผมอ่านแค่ ๒ – ๓ หน้า แล้วก็ทิ้งไปไม่สนใจอีกจนถึงปัจจุบันนี้

ลัก...ยิ้ม
05-09-2013, 11:42
ข) ในเทปที่ว่าเทวดามาเล่าให้ฟังนั้น ให้ถามจิตเราและให้จิตเราตอบ ว่าเทวดานั้นหมดกิเลสแล้วหรือยัง เทวดามี ๒ พวก พวกแรกเป็นโดยบังเอิญ ไม่มีคุณธรรมของเทวดาเลย คือไม่มีหิริ-โอตตัปปะ ก่อนตายจิตบังเอิญไปเกาะบุญ ก็เลยโชคดีไม่ไปสู่อบายภูมิ ๔ มีนรก เป็นต้น

เทวดาพวกหลังท่านเป็นโดยมีคุณธรรมของเทวดา คือมีหิริ-โอตตัปปะ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะรู้ว่า เทวดาองค์นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นพวกแรก เพราะผมทำหน้าที่ตอบปัญหาธรรมมา ๑๖ ปีกว่าแล้ว มีคนเอาคำถามแบบนี้มาถามผมหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ระบุวัน เวลา สถานที่ชัดเจน มันก็เหลวไหลไร้สาระทั้งสิ้น ผมก็ตอบไปว่ากรุงเทพฯ น้ำก็ท่วมอยู่เป็นปกติ เพราะฝนตกใหญ่ครั้งใดน้ำท่วมทุกที แต่ความจริงไม่ใช่เป็นแค่น้ำขังเท่านั้น เครื่องสูบน้ำไม่ทันน้ำก็ขัง เพราะแผ่นดินของกรุงเทพฯ ทรุดลงทุกปีจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินไป ปัจจุบันสูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ถึง ๑ เมตร เวลาหน้าน้ำ น้ำทะเลหนุน.. น้ำก็ท่วมอยู่เป็นปกติธรรมดา จงอย่าไปสนใจข่าวลือที่ไร้สาระเหล่านั้น

ลัก...ยิ้ม
06-09-2013, 12:45
ค) เรื่องสงครามใหญ่ทรงตรัสไว้จริง มิได้ตรัสว่าเป็นสงครามโลก และมิได้ระบุวันเวลาไว้แน่นอน คำว่าอีกหน่อยมีความหมายลึกซึ้งมาก เพราะถ้าเป็นเทวดาชั้นจาตุฯ ท่านบอกว่าอีก ๒ – ๓ วัน ก็หมายความว่าอีก ๑๐๐ ถึง ๑๕๐ ปีของโลกมนุษย์ เพราะหนึ่งวันของท่านเท่ากับ ๕๐ ปีโลกมนุษย์ ถ้าเทวดาชั้นดาวดึงส์มาบอกว่าอีก ๒ – ๓ วัน ก็คืออีก ๒๐๐ ถึง ๓๐๐ ปีโลกมนุษย์ เพราะหนึ่งวันของท่านเท่ากับ ๑๐๐ ปีโลกมนุษย์ หากพรหมท่านบอกละก็ไม่รู้อีกกี่แสนกี่ล้านปีทีเดียว โปรดใช้ปัญญากันหน่อย

ลัก...ยิ้ม
09-09-2013, 09:14
ง) ใครจะว่าก็ตาม ควรจะเชื่อแต่ที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ท่านตรัสดีที่สุด เพราะไม่จริงพระองค์จะไม่ตรัส ตรัสอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น.. ไม่เป็นอย่างอื่น ทุกคำพูดของพระองค์ล้วนเป็นอริยสัจทั้งสิ้น จุดนี้ผมจำได้ว่า สมเด็จองค์ปฐมฯ ทรงตรัสไว้ชัดว่า พระพุทธบาทจำลองที่ทรงให้สร้างไว้ที่วัดท่าซุงอยู่หน้าโบสถ์เก่านั้น จะมีอายุอยู่คู่กับวัดท่าซุงครบ ๕,๐๐๐ ปี และสมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตรัสว่า พุทธศาสนาของพระองค์นี้จะทรงอยู่ในประเทศไทยครบ ๕,๐๐๐ ปีเป็นต้น นี่ก็แค่ ๒๕๕๒ ปีเท่านั้น แล้วจะวิตกจริตกันไปถึงไหน

ลัก...ยิ้ม
10-09-2013, 08:57
๔. ร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ มารวมกันเป็นเหยื่อล่อของกิเลส เป็นเหยื่อล่อของตัณหา หากปรารถนาจักทิ้งร่างกาย ต้องการมรรคผลนิพพาน ก็จงอย่าทิ้งการพิจารณาร่างกาย (ด้วยกายคตาฯ อสุภกรรมฐาน และมรณาฯ อุปสมานุสติ) สร้างความเบื่อหน่ายในร่างกายให้เกิดอย่างจริงจัง (ด้วยวิปัสสนาญาณ ๙) รวมทั้งไม่ปรารถนาการเกิดในภพชาติใด ๆ อีก ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายสำหรับชีวิต มีเพียงจุดเดียวเท่านั้น คือละ – ปล่อยวางไม่เกาะติดกังวลกับสิ่งใด ๆ อีก

มีงานทำก็ทำไปไม่กังวล ปล่อยวาง ถือว่าทำเพียงหน้าที่เท่านั้น อย่าไปเกาะติดให้เป็นกังวล โจทย์จิตไว้ให้พร้อมทุกเมื่อ เมื่อจักละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไปพระนิพพานจุดเดียว อะไรจักเกิดขึ้นก็ปล่อยวาง ทำเพียงหน้าที่ไม่ห่วงใย ไม่กังวล แม้แต่กายสังขารของตนเองจักดับสิ้นไป ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นอาการ ๓๒ ธาตุ ๔ จนเห็นชัด จนจิตคลายความเกาะติดในร่างกาย ไม่เห็นความสำคัญของร่างกาย สักเพียงแต่ว่ายังอัตภาพให้เป็นไปตามกรรมเท่านั้น มันจักพังเมื่อไหร่.. ให้จิตพร้อมยอมรับการพังนั้นทุกเมื่อ ไม่ดิ้นรนเดือดร้อนไปกับมัน จิตจับอารมณ์รักพระนิพพานให้แนบแน่นอย่างเดียวก็เป็นพอ

ลัก...ยิ้ม
11-09-2013, 09:22
๕. ร่างกายเป็นของที่น่ากลัว ให้กลัวตรงหาความเที่ยงในร่างกายไม่ได้เลย (เหมือนกับผีหลอก) และเป็นบ่อเกิดแห่งทุกขเวทนาทั้งหมด (วิปัสสนาญาณข้อ ๓) ให้กำหนดรู้โทษของร่างกาย (วิปัสสนาญาณข้อ ๔) อันมีอายตนะรับสัมผัสให้เกิดเวทนาทั้งหลาย (วิญญาณของขันธ์ ๕) อย่าได้มัวเมาอยู่ หลงอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ (ซึ่งไม่เที่ยง ใครยึดก็เป็นทุกข์) ให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วจึงจักวางความเกาะติดในเวทนาลงได้ทั้งปวง

อนึ่ง การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอย่าทิ้ง เพราะจุดนี้จักทำให้มีสติสัมปชัญญะยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วให้ใจเย็น ๆ อย่าเร่งรีบอย่างคนใจร้อน และประการสุดท้าย ให้ตัดความกังวลทุกอย่างทิ้งไป จึงจักเจริญพระกรรมฐานได้ดี ให้พยายามตัดแม้กระทั่งความกังวลในร่างกายหรือขันธ์ ๕ ที่มีอาการไม่ดีอยู่นี้ มรณานุสติเป็นหลักใหญ่ที่ใช้ตัดความเกาะติดในร่างกายได้เป็นอย่างดี.. อย่าทิ้ง รวมทั้งอุปสมานุสติกรรมฐาน เอาจิตตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า ตายเมื่อไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น แล้วพึงตัดหมายกำหนดการที่จักท่องไปในที่ต่าง ๆ เสียด้วย

อย่างบางคนคิดจักไปเชียงใหม่ ใจก็เกาะอยู่แต่เชียงใหม่ ไม่ทันได้ไปเกิดตายเสียก่อน ก็ต้องไปเกิดที่เชียงใหม่ตามจิตที่จุตินั้น ถ้าคิดจะไปไหนก็เอาเพียงแต่แค่คิด รู้แล้วทิ้งไปเสียก่อน เป็นเพียงหมายกำหนดการเท่านั้น ให้ดูตรงขณะจิตนี้หรือขณะจิตหน้า ชีวิตก็อาจจักตายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พึงเอาจิตเกาะพระนิพพานให้แนบแน่น ตายเดี๋ยวนี้ก็ไปพระนิพพานได้เลย จิตจักได้ไม่ไหลไปทางอื่น

ลัก...ยิ้ม
16-09-2013, 10:50
๖. อย่ากังวลใจในทุกขเวทนาของร่างกาย ให้กำหนดรู้ ดูเอาไว้เป็นครูสอนจิตตนเอง อย่าให้มาหลงในร่างกายอันเต็มไปด้วยทุกขเวทนาอย่างนี้อีก (คนส่วนใหญ่มักจะไม่กำหนด จึงไม่รู้ว่ากายนี้เป็นทุกข์ อยู่กับมันจนชิน ทุกขสัจหรือทุกข์ของกาย ต้องกำหนดรู้ จึงจะรู้ว่ามันเป็นทุกข์) ถ้าเรากำหนดรู้ว่ากายกับเวทนาของกายนี้.. เต็มไปด้วยความทุกข์บ่อย ๆ จิตก็จักบังเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย (ใช้พิจารณาวิปัสสนาญาณ ๙ ข้อ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ กลับไปกลับมาจนเกิดนิพพิทาญาณ) ไม่ปรารถนาจักมีร่างกายอันเต็มไปด้วยทุกขเวทนาอย่างนี้อีกต่อไป

ให้กำหนดจิตจนตั้งมั่นว่า หากร่างกายนี้มีอันเป็นไปเมื่อไหร่ จุดที่เราต้องการไปคือพระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น กำหนดปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งทุกขเวทนาของร่างกาย สักแต่ว่าให้มันเป็นไป มันไม่ใช่ของเรา มันไม่มีในเรา เราไม่มีในร่างกาย แยกอาการ ๓๒ เข้าไว้ แล้วจิตจักยอมรับนับถือความจริงของร่างกายยิ่ง ๆ ขึ้นไป จิตจักคลายความเกาะยึดในร่างกายลงได้ในที่สุด

ลัก...ยิ้ม
18-09-2013, 08:50
๗. ร่างกายเป็นรังของโรค จุดนี้พิจารณาธาตุ ๔ ที่พร่องอยู่เป็นหลัก ให้เห็นสภาวะของร่างกายตามความเป็นจริง แล้วจักสร้างความเบื่อหน่ายในร่างกายให้เกิดขึ้นได้ อย่าละจากอารมณ์พิจารณาธาตุ ๔ โดยใช้อิทธิบาท ๔ มีฉันทะ หรือมีความพอใจในการพิจารณาธาตุ ๔ อยู่เสมอ มีวิริยะ คือความเพียร กำหนดรู้ว่า ธาตุดินของกายมีอะไรบ้าง ? ธาตุน้ำมีอะไรบ้าง ? ธาตุไฟมีอะไรบ้าง ? ธาตุลมมีอะไรบ้าง ? มีจิตตะ คือเอาจิตจดจ่ออยู่กับการพิจารณาธาตุ ๔ ทั้งภายนอกและภายในตามความเป็นจริง จักเห็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตลอดเวลา เป็นสันตติ และมีวิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อแก้ไขอารมณ์ที่ยังเกาะติดร่างกาย หรืออุปาทานขันธ์ ๕ หรือสักกายทิฏฐิ (ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย) ให้ลด ละ ปล่อยวางร่างกายลงให้ได้ จากอุบายพิจารณาร่างกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ ล้วนแต่สกปรก ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ยึดถืออะไรไม่ได้เลย เพียรมากพักน้อยก็จบเร็ว เพียรน้อยพักมากก็จบช้า

ลัก...ยิ้ม
20-09-2013, 12:11
๘. ร่างกายไม่ดีก็เป็นเป็นปกติของร่างกาย การป่วยของร่างกายเป็นการเตือนให้เห็นถึงความตาย มรณานุสติอย่าทิ้ง เพราะเป็นนิพพานสมบัติ ยิ่งคิดถึงความตายถี่มากเท่าไหร่ ความประมาทในธรรม หรือในกรรมทั้งปวงก็ลดน้อยลงมาเท่านั้น.. ยิ่งใกล้พระนิพพานมากขึ้นเท่านั้น ปัญหาทุกชนิดทั้งทางโลกและทางธรรมจะบรรเทาลงได้อย่างอัศจรรย์ หากใช้มรณานุสติถามจิตตนเอง.. ให้จิตมันตอบ หากกายเกิดตายในขณะนี้แกจักไปไหน ทุกอย่างจะสงบลงทันที จิตจะกลับมามีสติ – สัมปชัญญะใหม่ และตอบทันทีว่าจะไปพระนิพพาน

กรรมฐานกองนี้ต้องใช้เป็นปกติ ตั้งแต่พระโสดาบันยันถึงพระอรหันต์ (พระโสดาบันนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้า – ออก) กรรมฐานกองนี้จักทำให้ไม่เผลอสติ จักได้เตือนจิตตนให้นึกถึงร่างกายตามความเป็นจริงอยู่เสมอ ว่าไม่มีใครที่มีร่างกายแล้วหนีพ้นความตายไปได้ พิจารณาเข้าไว้ให้จิตทรงตัว แล้วกำหนดจุดหมายตั้งมั่น คือพระนิพพานเข้าไว้แล้วที่สุดก็จักไปได้ตามนั้น (ด้วยอุบายสั้น ๆ ว่า รู้ลม - รู้ตาย – รู้นิพพาน)

จำไว้อย่าเสียดายอะไรในโลกทั้งหมด หากยังมีชีวิตอยู่การทำบุญทำทานจักต้องมี เพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมีให้เต็มอยู่เสมอ โดยเฉพาะทานบารมีถ้าเต็มก็ตัดความโลภได้ จงอย่าทิ้งการทำบุญทำทาน มีมากทำมาก มีน้อยทำน้อยตามกำลังใจ และอย่าเบียดเบียนตนเอง อย่าเบียดเบียนผู้อื่น การทำอย่าหวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ให้มุ่งทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้นเป็นสำคัญ จึงจักจัดว่าเป็นบุญสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ลัก...ยิ้ม
23-09-2013, 12:00
๙. อย่าทำตนเป็นคนไร้ปัญญา พิจารณาบ้างไม่พิจารณาบ้าง แล้วจักหาจิตทรงตัวมาจากไหน จำไว้อย่าทิ้งอารมณ์พิจารณา คิดน้อย ๆ ค่อย ๆ คิด คิดบ่อย ๆ แล้วจิตมันจักชิน ความทรงตัวในการตัดร่างกายมันจักมีขึ้นมาได้ จุดนี้จักต้องมีความเพียรสูง ต้องพยายามทำให้เกิดความทรงตัวเข้าไว้ ในวันหนึ่งเริ่มจาก ๑ นาทีย่อมทำได้ แต่อย่าเครียด ให้ค่อย ๆ ทำกันไป พิจารณาพอจิตมีอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ จิตยอมรับความเป็นจริงของร่างกาย จิตก็จักมีความสงบ ไม่ดิ้นรนทะยานอยากในสิ่งที่เกินวิสัย ถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ ความสุขจักเกิดขึ้นแก่จิตมาก

ลัก...ยิ้ม
24-09-2013, 12:02
๑๐. อย่าสนใจในกรรมของบุคคลอื่น ให้สนใจในกรรมของตนเอง กรรมแปลว่าการกระทำทางกาย วาจา ใจของเราเองนี้ คนอื่นเขาจักทำกรรมอันใด จักมาเนื่องถึงเรา ถ้าเราไม่รับเสียอย่างเดียว เขาจักเล่นงานเราได้ก็เพียงแค่กรรมเก่าเท่านั้น พอหมดเขตวาระของกฎของกรรมแล้ว กรรมเหล่านั้นจักทำอะไรเราต่อไปไม่ได้ ถ้าหากเขายังกระทำต่อไป กรรมเหล่านั้นนั่นแหละจักเข้าตัวเขาเอง

จำไว้ว่าเขาด่า เขานินทา เขาใส่ร้าย หรือกระทำใด ๆ มาก็ดี ถ้าหากกรรมนั้นเราไม่เคยกระทำมาก่อน กรรมทั้งหลายก็จักไม่มาเข้าถึงเราเป็นอันขาด ไม่ต้องไปโทษใคร จักต้องโทษตัวของเราเอง ถ้าชาติก่อน ๆ ไม่เคยทำกรรมเหล่านี้เข้าไว้ กรรมเหล่านี้จักเกิดขึ้นกับเราไม่ได้เลย

ต่อไปก็ให้ตั้งใจตัดกรรม คือไม่ต่อกรรมหรือจองเวรกับใครอีก ให้เจริญพรหมวิหาร ๔ ให้มาก ๆ ตั้งกำลังใจแผ่เมตตาไปในทิศทั้งปวง ว่าเราจักไม่เป็นศัตรูกับใคร ใครจักเป็นศัตรูกับเราก็เรื่องของเขา ไม่ต้องเอาจิตไปเกาะการกระทำของบุคคลอื่น ให้เอาจิตดูการกระทำของกาย วาจา ใจของตนเองเป็นสำคัญ อย่าให้ไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ลัก...ยิ้ม
25-09-2013, 09:52
๑๑.ร่างกายของเราหรือร่างกายของใครก็ไม่มีคำว่าจีรังยั่งยืน มีเกิดเมื่อไหร่ก็มีตายเมื่อนั้น อย่าไปฝืนกฎธรรมดาของร่างกาย ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็บำรุงรักษาไปตามหน้าที่ แต่จิตจักต้องไม่ลืมความจริงว่า ร่างกายนี้ต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา อารมณ์ของจิตอันเนื่องด้วยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เช่นกัน เกิดแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาเช่นกัน จิตเพียงแต่กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา แล้วพยายามรักษาอารมณ์วางเฉยเข้าไว้ ให้เห็นทุกอย่างไม่เที่ยงเป็นของธรรมดา

อย่าไปกังวลกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้มากนัก ให้ใช้เวลาพิจารณาจิตของตนเองจักดีกว่า ได้ประโยชน์มากกว่า พยายามรักษาอารมณ์พิจารณาขันธ์ ๕ ให้เข้มแข็งเข้าไว้.. ความเป็นพระอรหันต์เป็นของไม่ไกล ถ้าหากมีสติกำหนดรู้และทำจิตให้วางเฉยให้ได้ในเหตุการณ์ทั้งหมด จุดสำคัญคือ พยายามรักษาอารมณ์ให้เยือกเย็น จิตจักมีความเบาโปร่งสบาย ๆ พรหมวิหาร ๔ อย่าทิ้งไปจากจิต

ลัก...ยิ้ม
01-10-2013, 09:13
๑๒. ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ให้จงหนัก จิตจึงจักตัดราคะกับปฏิฆะได้ ในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดาของโลก มีลาภ – เสื่อมลาภ มียศ - เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราได้ ก็ด้วยเรามีร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเครื่องรองรับ จึงต้องพิจารณาละตัดให้ได้ซึ่งขันธ์ ๕ เท่านั้น (ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา) ก็จักพ้นทุกข์จากอารมณ์พอใจและไม่พอใจ เมื่อโลกธรรม ๘ ประการเข้ามากระทบจิต จงพยายามกำหนดรู้ทุกสิ่งในโลกไม่เที่ยง ยึดเมื่อไหร่เกิดทุกข์เมื่อนั้น ให้ชำระจิตปล่อยวางสภาวะโลกที่ไม่เที่ยงไปเสียดีกว่า จุดนั้นจักทำให้เข้าถึงพระนิพพานได้ง่าย

ลัก...ยิ้ม
02-10-2013, 09:51
๑๓. อย่าห่วงใยเรื่องในอนาคต ให้รักษาอารมณ์จิตอยู่ในปัจจุบันเป็นดีที่สุด เช่น เตรียมเสบียงไว้เมื่อยามมีน้ำท่วมวัด หรือยามมีสงครามนั้น ก็พึงทำไปเป็นเพียงแต่หน้าที่ เตรียมได้ก็พึงเตรียมแต่พอดีในทางสายกลาง เพราะชีวิตจัดอยู่ถึงช่วงนั้นหรือไม่ก็อย่าไปคำนึง ทำปัจจุบันให้ดีพร้อม คือดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ พยายามสงบใจ สงบปาก สงบคำให้มาก อย่าตำหนิบุคคลอื่นว่าเลว ให้ดูกาย วาจา ใจของตนเอง อย่าให้เลวกว่าเขาเอาไว้เสมอ อย่ามองโทษ (เพ่งโทษ) บุคคลภายนอก ให้มองโทษอันเกิดขึ้นแก่กาย วาจา ใจของตนเองเป็นสำคัญ

ลัก...ยิ้ม
08-10-2013, 10:28
๑๔.ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง หากมุ่งจักไปพระนิพพาน จักต้องรู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง รู้ว่ารูปมีลักษณะอย่างไร ให้รู้จริง ๆ มิใช่สักแต่ว่ารู้แค่สัญญา ให้รู้ด้วยการพิจารณารูปด้วยปัญญา และรู้จักการละรูปละนามนั่นแหละ จึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ แล้วให้หมั่นตรวจสอบจิตดูว่า บกพร่องในเรื่องบารมีหรือกำลังใจตรงไหนบ้าง ต้องให้รู้ต้องให้เห็นจุดบกพร่องจริง ๆ แล้วจึงจักแก้ไขได้ การแก้ไขก็จักต้องเอาจริง แก้ไขจริง ๆ ด้วย ความตั้งใจจริงจุดนั้นนั่นแหละ กำลังใจจึงจักเต็มได้ (วิริยะ - ขันติ – สัจจะโดยมีปัญญาคุม)

การปฏิบัติธรรมอย่าให้ได้แค่คำพูด.. นั่นไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงแค่สัญญา จักต้องสอบจิตให้ลึกลงไปโดยไม่เข้าข้างตนเอง แล้วจักเห็นความบกพร่อง คือจุดบอดของการปฏิบัติของตนเอง จุดนั้นเห็นแล้วให้รับความจริงแล้วจึงจักแก้ไขได้

ลัก...ยิ้ม
10-10-2013, 11:07
๑๕. ข่าวใครว่าอย่างไรปล่อยให้เป็นเรื่องของข่าว อย่าไปสนใจกรรมของใครมากไปกว่าสนใจกรรมของตนเอง เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่จักต้องเร่งรัดปฏิบัติเอาจริงกัน เพราะฉะนั้น จักต้องสำรวมกาย วาจา ใจของตนเองให้เต็มความสามารถ ใครจักนินทา – สรรเสริญใครที่ไหน หรือใครจักนินทา – สรรเสริญเรา ก็จงอย่าหวั่นไหวไปตามคำเหล่านั้น.. ปล่อยวางเสียให้หมด มามุ่งปฏิบัติเอาจริงกันเสียที ให้สอบจิตดูว่า ที่แล้ว ๆ มาเอาดีกันไม่ได้ เพราะความไม่เอาจริงคือขาดสัจจะบารมีกัน

เพราะฉะนั้น หากต้องการมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ให้ตรวจสอบบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วน ว่าขาดตกบกพร่องตรงไหนบ้าง ? แก้ไขจุดนั้นนั่นแหละจึงจักไปได้ การสำรวจจิต สำรวจบารมี ๑๐ จงอย่าหลอกตนเอง มรรคผลอันใดได้หรือไม่ได้ให้ตอบตัวเองอย่างจริงจัง แล้วมุ่งแก้ไขอย่างจริงจัง ก็จักสำเร็จในมรรคผลนั้น อย่าทิ้งกรรมฐานแก้จริตทั้ง ๖ และอย่าทิ้งสังโยชน์ อย่าบกพร่องในบารมี ๑๐ เดินจิตอยู่ในศีล – สมาธิ – ปัญญา แล้วจักเข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย

ลัก...ยิ้ม
11-10-2013, 11:17
๑๖. ร่างกายของคนเรามีอายุขัยกันทุกรูป - นาม และต้องแตกดับทุกรูป – นาม อย่าประมาทในชีวิต อย่ามัวเมากับลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุขให้มากจนเกินไป หมั่นสร้างความดีในทาน – ศีล – ภาวนา ตัดโลภ – โกรธ – หลง ไปสู่พระนิพพานกันดีกว่า

อย่าไปมีอารมณ์ขุ่นมัวกับการกระทบ พยายามลงกฎธรรมดา กฎของกรรมให้มาก ๆ แล้วอย่าไปกำหนดลิขิตชีวิตของใคร เพราะแม้แต่ชีวิตร่างกายของตนเองก็ยังกำหนดไม่ได้เลย ทุกชีวิตมาตามกรรมแล้วก็ไปตามกรรม เพราะฉะนั้น อย่าไปยุ่งกับกรรมของใคร ให้มุ่งชำระกรรมของกาย วาจา ใจของตนเองให้บริสุทธิ์ ตัดกรรมให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมจิตเตรียมใจไปพระนิพพานดีกว่า

ลัก...ยิ้ม
15-10-2013, 09:42
๑๗. ให้ใช้เวลาพิจารณาร่างกาย อาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ให้มาก รวมทั้งเวทนาที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ของจิตด้วย จุดนี้จักได้ประโยชน์ของการปล่อยวางดับทุกข์ได้ และการพิจารณาจักต้องต่อเนื่อง นอกจากใช้อานาปานุสติคุมจิตแล้ว ให้ใช้สัจจานุโลมิกญาณย้อนไปย้อนมา พิจารณาธรรมภายนอกน้อมเข้ามาเป็นธรรมภายในบ้าง ทบทวนอารมณ์ตั้งแต่สมัยยังเป็นโลกียชนเข้ามาสู่อารมณ์ของพระโสดาบันบ้าง คือทบทวนสังโยชน์ไล่มา ตรวจสอบดูกาย วาจา ใจว่าบกพร่องตรงไหนบ้าง ตรวจบารมี ๑๐ ไล่มาตามลำดับบ้าง ตรวจสอบพรหมวิหาร ๔ บ้าง อย่าหยุดการพิจารณา ถามให้จิตตอบ ยังบกพร่องจุดไหนแก้ไขจุดนั้น แล้วจิตจักมีกำลังไปได้เร็ว

ลัก...ยิ้ม
18-10-2013, 17:53
๑๘. ให้พิจารณาร่างกายนี้เป็นทุกข์ การละได้ซึ่งร่างกายนี้เป็นสุข สุขที่สุดคือ ทำให้แจ้งถึงซึ่งพระนิพพาน เหตุการณ์ภายนอกจักเป็นอย่างไร.. รู้แค่ให้รู้ไว้ แต่ให้พิจารณาธรรมภายใน คือการละซึ่งสักกายทิฏฐิ และละจากอุปาทานขันธ์ของตนเองเข้าไว้ให้ดี เห็นความสำคัญของการละได้ซึ่งกิเลสแห่งตนเป็นใหญ่ อย่าให้เหตุการณ์ภายนอกเข้ามาทำลายมรรคผลนิพพาน การเตรียมตนเพื่อความอยู่รอดแห่งภัยพิบัติ จักจากอุทกภัยก็ดี จากภัยสงครามก็ดี เตรียมได้เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต ถ้าหากยังอยู่ได้ก็เป็นการบรรเทาทุกขเวทนากันไป แต่ถ้าหากชีวิตจักสิ้น ก็ยังจิตให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน เหตุการณ์ข้างหน้าไม่เที่ยง เพราะกฎของกรรมย่อมลิขิตชีวิตของคนแต่ละคนเข้าไว้แล้วอยู่เสมอ เรื่องนี้พึงทำจิตเข้าไว้อยู่รอดก็ได้ ตายไปก็สบายดี

ลัก...ยิ้ม
21-10-2013, 10:24
๑๙. ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ปล่อยวางขันธ์ ๕ ให้เห็นทุกอย่างเป็นของธรรมดา เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีสาระอันใดที่จักเกาะยึดเอามาเป็นสรณะได้ ให้พิจารณาจนจิตยอมรับความจริง จนจิตนิ่ง และเกิดความสุขอันเกิดขึ้นจากการยอมรับความจริงในการพิจารณานั้น ๆ ให้จำไว้เสมอว่า ร่างกายนี้มิใช่เรา เราไม่มีในร่างกาย กายนี้เป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกัน เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่กับความสกปรก ความเสื่อม แล้วในที่สุดก็ดับไป อย่าลืมทุกสิ่งทุกอย่างในไตรภพ มีเกิดขึ้นก็ต้องมีดับเป็นธรรมดา มีอยู่ที่เดียวเท่านั้นที่ไม่เกิดไม่ดับคือพระนิพพาน จงรักษากำลังใจอยู่จุดเดียวคือพระนิพพาน

ลัก...ยิ้ม
24-10-2013, 14:04
๒๐. ไม่ต้องดิ้นรนถึงความตาย (อยากตายเร็ว อยากตายช้า) เพราะจักอย่างไรการมีร่างกายก็มีความตายไปในที่สุดอยู่แล้ว เพียงแต่กำหนดรู้ความเกิดความดับตามความเป็นจริง เตรียมพร้อมที่จักไปพระนิพพานให้ได้ทุก ๆ ขณะ แล้วสำรวมจิตอย่าให้มีความห่วงหรือกังวลในสิ่งใด ๆ ทั้งปวง พยายามตัดความกังวลออกไปให้ได้ ทุก ๆ ขณะจิตให้จำไว้ว่า ห่วงหรือกังวลด้วยเหตุใดแม้แต่นิดเดียว ก็ไปพระนิพพานไม่ได้

ลัก...ยิ้ม
25-10-2013, 13:54
๒๑. ร่างกายเวลานี้มีทุกขเวทนา ก็ให้กำหนดทุกขเวทนานี้มิใช่ของจิต มันสักแต่ว่ามีอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้น พยายามรักษาอารมณ์ของจิตอย่าให้ปรุงแต่งไป ให้ตั้งมั่นเห็นสภาวะของขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง พิจารณาให้มากจักเกิดปัญญา หลีกเลี่ยงการคบกับคนมาก เพราะคุยกับคนมีกิเลส มักจูงจิตให้หวั่นไหวไปตามกิเลส แม้กระทั่งจักสนทนากันด้วยธรรมะ ก็ยังมีกิเลสเป็นเครื่องนำหน้า ให้ดูวาระจิตของตนเองเอาไว้ให้ดี

ลัก...ยิ้ม
28-10-2013, 09:32
๒๒. ให้หมั่นพิจารณาร่างกายโดยเอนกปริยาย รวมไปถึงการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ โดยอาศัยร่างกายนี้เป็นต้นเหตุ ให้แยกส่วนอาการ ๓๒ ออกจักได้เห็นชัด ๆ ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา ไม่มีในใครทั้งหมด เพราะในที่สุดก็อนัตตาเหมือนกันหมด ดังนั้น จักมานั่งติดอยู่กับอารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจ โดยอาศัยร่างกายเป็นต้นเหตุจักได้ประโยชน์อะไร

ให้ถามและให้จิตตนเองตอบตามความเป็นจริง แล้วในที่สุดจักละหรือตัดได้ ปล่อยวางได้ เหตุการณ์ของชีวิตประจำวันทั้งหมด ให้พิจารณาลงตรงทุกข์ตัวเดียว ยิ่งเห็นความเหนื่อยมากจากการทำงาน ก็จักเห็นความทุกข์เบียดเบียนจิตมากขึ้น จิตก็จักดิ้นรนหาทางออกมากขึ้นเท่านั้น อย่าลืม ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็นอริยสัจ ผู้นั้นเห็นพระธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ร่างกายของตถาคตมิใช่พระพุทธเจ้า ความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม หรือจิตผู้ทรงธรรม

ลัก...ยิ้ม
29-10-2013, 09:07
๒๓. ร่างกายไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ให้พยายามพิจารณารูปขันธ์นามขันธ์ให้มาก พยายามตัดกังวลให้ได้เป็นระยะ ๆ แม้จักตัดไม่ได้เด็ดขาดก็ให้เพียรพยายาม ถามจิตตนเองดูเสมอ ถ้าละไม่ได้จักไปพระนิพพานได้อย่างไร ? การไปพระนิพพาน.. จักต้องละหมดในรูปในนามที่จิตของตนเองอาศัยอยู่นี้ และหมั่นกำหนดรู้รูปนามไม่มีในเรา เราไม่มีในรูปนาม พยายามตัดให้ได้ วางอารมณ์ให้ถูก แล้วความหนักใจในการตัดกิเลสก็จักเบาใจลงได้มาก เพราะเห็นช่องแนวทางจักพ้นทุกข์ได้อย่างชัดเจน เพียงแต่จักต้องฝึกตัวสติคือตัวรู้ให้ทรงตัวเข้าไว้ ใหม่ ๆ ก็เป็นสัญญา หนักเข้าพิจารณาให้จิตมันชิน ก็จักเกิดเป็นปัญญา.. ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้เอง

ลัก...ยิ้ม
30-10-2013, 09:10
๒๔. ร่างกายนี้ไม่ใช่เราและไม่มีในใครด้วย ถ้าคลายห่วงร่างกายของตนเองได้ ก็จักพลอยคลายห่วงร่างกายของบุคคลอื่นได้เช่นกัน ให้พิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง บางครั้งแม้จักเผลอไปบ้าง ลืมไปบ้างก็เป็นของธรรมดา เรื่องของวจีกรรมก็เช่นกัน เผลอบ้าง ลืมบ้าง ก็ขอขมาแล้วพยายามตั้งต้นใหม่ ฝึกจิตควบคุมวาจาให้จงได้ ถ้าไม่ทิ้งความเพียร กาย วาจา ใจ ก็เรียบร้อยลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จักตัดสิ่งไหนก็จักมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางอยู่เสมอ เรื่องนี้ต้องให้เห็นเป็นของธรรมดา เพราะถ้าไม่มีข้อสอบ จักรู้ได้อย่างไรว่าสอบผ่าน จำเอาไว้ให้ดี

ลัก...ยิ้ม
01-11-2013, 11:25
พระธรรม ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๐

สมเด็จองค์ปฐมฯ ทรงตรัสสอนปกิณกธรรม ในเดือนนี้ มีความสำคัญดังนี้

๑. ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกันเท่านั้น อย่าไปคิดการมุ่งหวังอยู่รอดปลอดภัยของร่างกาย ให้หวังความอยู่รอดปลอดภัยของจิต กล่าวคือจิตที่ละความกังวลได้แล้วจากร่างกายนั่นแหละ.. เป็นความปลอดภัยของจิต

ร่างกายที่เห็นอยู่นี้สักเพียงแต่ว่ารูปเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานรูปนี้ก็หมดไป ตายไป สลายไป หากจิตยังกำหนัด ตัดรูปไม่ได้ เมื่อร่างกายนี้มันพังแล้ว จิตก็จักแสวงหาภพหาชาติเป็นแดนเกิดต่อไป

รูปเก่าดับไป.. รูปใหม่เกิดมา ก็ทุกข์เหมือนเก่า คือเกิดแล้วก็แก่ ก็เจ็บ มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความปรารถนาไม่สมหวัง แล้วก็มีความตายไปในที่สุด แล้วจิตที่ยังตัดรูปไม่ได้ การเกิดมากเท่าไหร่ก็พบกับความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น พิจารณาให้ดี ๆ รักษากำลังใจให้ตั้งมั่น อย่าท้อแท้

ลัก...ยิ้ม
06-11-2013, 10:15
๒.ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา.. จุดนี้จักต้องย้ำและพิจารณาให้หนัก จักได้ไม่มีความหวั่นไหวเมื่อมรณภัยมาถึงร่างกาย การให้รู้การเกิดการดับของร่างกาย เห็นธาตุ เห็นสิ่งปฏิกูลของร่างกาย ก็เพื่อให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ที่มีร่างกายเกิดขึ้นอย่างนี้ เสื่อมอยู่อย่างนี้ แล้วในที่สุดก็ดับไปอย่างนี้

ขันธ์ ๕ อายตนะ สัมผัส เกิด เสื่อม ดับ อยู่ตลอดเวลา เห็นได้ด้วยตาปัญญาตามความเป็นจริง จิตไม่ต้องไปปรุงแต่งตามสังขาร จักเห็นได้ว่ามันเกิดแล้วมันก็ดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา ให้จิตอยู่เฉย ๆ ตามรู้ก็จักเห็นสภาวะของขันธ์ ๕ ได้ตามความเป็นจริง กายจักทำงานอะไรก็ช่าง ให้จิตคอยดูอารมณ์ของจิตของตนเองอยู่ทุก ๆ ขณะจิต แล้วในที่สุดจิตก็จักเข้มแข็งขึ้นมาตามลำดับ คำว่าไม่เผลอก็จักเกิดขึ้นได้ที่ตรงนี้ แล้วคำว่าจบกิจในพระพุทธศาสนาก็จักเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ลัก...ยิ้ม
08-11-2013, 09:01
๓. เรื่องของร่างกายมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่มีใครเป็นที่พึ่งของใครในแง่ของร่างกายไปได้ตลอดกาลตลอดสมัย เพราะในที่สุดก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายกันทั้งสิ้น อย่าไปหวังพึ่งอันใดกับร่างกาย ให้พิจารณาร่างกายของตนเองให้ดี แล้วจักเข้าใจตามความเป็นจริงว่า แม้แต่ร่างกายของตัวเราเองก็ยังหวังพึ่งอันใดมิได้ พิจารณาไปเถอะ จักพบว่าร่างกายที่อาศัยอยู่นี้พังแน่นอน แม้โลกนี้ทั้งโลกก็พังหมด ไม่มีอะไรเหลือ ให้พิจารณาตามความเป็นจริง จักเห็นความยึดถืออะไรไม่ได้เลย

ลัก...ยิ้ม
11-11-2013, 09:23
๔. คนเรียนมากรู้มาก มิใช่ว่าจักตัดกิเลสได้มากหรอกนะเจ้า เพราะการเรียนการรู้ คือการจำวิชาต่าง ๆ ด้วยสัญญา.. ยังมิใช่ปัญญา คือการคิด พิจารณาใคร่ครวญ.. เรื่องของร่างกายหรือขันธ์ ๕ ไปตามความเป็นจริง แล้วละ ปล่อยวาง ตัดได้ซึ่งกิเลส นั่นแหละจึงจักปฏิบัติได้จริง

ถ้าได้แต่ความรู้.. จำเอาไปพูด เอาไปคุย นั่นยังไม่ใช่ของจริง รู้ตามปริยัติหรือผู้เรียนพระไตรปิฎก รู้มากแต่ไม่นำไปปฏิบัติ เอาแต่ความรู้ไปพูด ก็ไม่เกิดผลประโยชน์กับจิตของตนแม้แต่นิดเดียว การรู้มากโดยไม่ปฏิบัตินี่แหละ ทำให้บุคคลผู้นั้นมีมานะกิเลสมาก การรู้นั้นเป็นของดี แต่ต้องนำการรู้นั้นไปปฏิบัติให้เกิดในกาย วาจา ใจของตนด้วย จึงจักเป็นของจริง

ลัก...ยิ้ม
14-11-2013, 09:44
๕. เรื่องสุขภาพร่างกายพึงระมัดระวังเอาไว้บ้าง เพราะชีวิตยังไม่สิ้น จิตยังจักต้องอาศัยร่างกายนี้อยู่เพื่อประกอบความดี เพื่อยังจิตให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานให้ได้ในชาติปัจจุบันนี้ ในขณะที่ยังมีร่างกายนี้อยู่ ก็พึงไม่เบียดเบียนร่างกายของตนเองด้วย และไม่มัวเมาในความสุขความทุกข์อันเกิดขึ้นแก่ร่างกายของตนเอง หรือสุข – ทุกข์ของบุคคลอื่นด้วย โจทก์จิตตนเองไว้เสมอ เตรียมพร้อมที่จักวางทุกสิ่ง ลด ละ เพื่อจุดสุดท้ายของชีวิตเข้ามาถึงร่างกาย อย่าให้จิตติดกังวลแม้แต่นิดหนึ่งในสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตตั้งมั่นอยู่ที่เดียวคือพระนิพพาน จุดนั่นแหละเจ้าจักได้ที่พึ่งของจิตอย่างแท้จริง ไม่ต้องไปเกิดไปตายที่ไหนอีก

ลัก...ยิ้ม
15-11-2013, 11:43
๖. ร่างกายนี้เมื่อวิญญาณไปปราศแล้ว (จิตวิญญาณออกจากร่างกายแล้ว) ก็เสมือนหนึ่งท่อนไม้ที่ถูกทับถมลงพื้นปฐพี บุคคลใดจักให้จิตเป็นสุข ก็จงพิจารณาร่างกายอันยังมีลมหายใจอยู่นี้ ให้มีความรู้สึกเสมือนซากศพอยู่ตลอดเวลา (แต่จิตไม่เศร้าหมอง) เพราะโดยนัยแล้ว ร่างกายนี้ทำการสลายตัว.. ทรุดโทรมไปสู่ความตายทุก ๆ ขณะจิต แต่ที่ยังเห็นอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยสันตติที่สืบเนื่องต่อกันไม่ขาดสาย

บุคคลใดเห็นความเกิดตายของร่างกายอยู่อย่างนี้ บุคคลนั้นย่อมจักมีความไม่ประมาทในชีวิต และพยายามทรงจิตอยู่ในความดี จงสังวรไว้ว่า การมีร่างกายอยู่นี้เป็นการอยู่กับความตายทุก ๆ ขณะจิต ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง และความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย อย่าคิดไปว่าเบื้องหน้าในอนาคตเราจึงจักตาย ให้รู้สึกไว้เสมอว่าเราอาจจักตายเดี๋ยวนี้เข้าไว้เสมอ เพราะคนที่ตายก็ตายอยู่ในขณะจิตนี้ คือในปัจจุบันธรรมเท่านั้น

ลัก...ยิ้ม
19-11-2013, 08:43
๗.การจักปฏิบัติแก้กิเลสจุดไหน ให้ระวังกิเลสจุดนั้นจักเล่นงานอย่างหนัก เรื่องนี้ต้องศึกษากันให้มาก และอย่าท้อถอยต่ออุปสรรค ให้ยกบารมี ๑๐ ขึ้นมาเป็นกำลังใจ เพียรปฏิบัติเพื่อลด ละ ตัดกิเลสเหล่านั้นไปนั่นแหละจึงจักพ้นไปได้ อดทนให้มากกับภัยจากภายนอกที่เข้ามากระทบจิตใจ หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ถือว่าเป็นกฎของกรรม จงมีความวางเฉยเข้าไว้เสมอ อย่าไปต่อกรรมให้มันยืดยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด อย่าไปแก้ปัญหาที่ผู้อื่น.. ให้แก้ที่ตนเองเสมอ แล้วจิตจักรู้หนทางให้หลุดพ้นออกจากความทุกข์ของจิตได้

ลัก...ยิ้ม
20-11-2013, 08:53
๘.เรื่องการทำความดี อุปสรรคย่อมมีมากเป็นธรรมดา แต่จงอย่าหวั่นไหว ให้เห็นเป็นเรื่องโลกธรรม โดยเฉพาะคำนินทากับสรรเสริญ ซึ่งมิได้ช่วยให้เราเลวเราดีไปตามนั้น เราจักเลวหรือดีก็อยู่ที่ผลของการปฏิบัติธรรมของเราเอง

ให้จิตหันมาสนใจเตรียมพร้อมรับสภาวะของการตายอยู่เสมอ อย่าไปสนใจเรื่องภายนอกให้มากนัก ทุกอย่างเหมือนกับละครฉากหนึ่ง ละครของโลกมีโศก – มีทุกข์ – สุขปน ในที่สุดทุกคนต่างก็ไม่พ้นความตาย มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ให้จิตกำหนดรู้เท่าทันเข้าไว้เสมอ เรื่องการละซึ่งกิเลส – ตัณหา – อุปาทาน – อกุศลกรรม จิตเราเท่านั้นเป็นผู้รู้ว่าละได้มากน้อยแค่ไหน ให้ระวังอย่าให้กิเลสมันหลอกเรา ตรงที่เรายังละไม่ได้จริงแต่จิตหลงคิดว่าได้แล้ว ให้ระมัดระวังจุดนี้เอาไว้ให้ดี

ลัก...ยิ้ม
21-11-2013, 07:53
๙. ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกนี้ไปได้ก็จริงอยู่ แต่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจัย ๔ ก็เป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต คนมีที่ดินก็จงอย่าคิดขายเสียหมด ถ้าไม่จำเป็นก็จงอย่าเพิ่งขาย เพราะหลังจากนี้ไปอีก ๓ – ๔ ปี คนมีที่ดินจักเป็นเศรษฐีจากราคาที่ดิน จักมีค่ามาก

คำว่าเตรียมการอยู่ในระดับของคฤหัสถ์นั้นพึงมีได้ เป็นการไม่ประมาทในชีวิต แต่จิตพร้อมที่จักละ – วางในสมบัติของโลกได้ทันที เพราะรู้อยู่กับจิตเสมอว่า แม้ร่างกายที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราวนี้ เป็นสมบัติของโลกที่เราหวงแหนเป็นที่สุด เราก็พร้อมที่จักละ – วางได้ทันทีเมื่อความตายมาถึง ขอให้พวกเจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ทั้งยามมีชีวิตอยู่และหาไม่ในชีวิตแล้ว พิจารณาจุดนี้เข้าไว้ให้ดี แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าสะสมจนเกินความพอดีในปัจจัย ๔ ก็แล้วกัน เอาแค่มีไว้ใช้ในยามฉุกเฉินด้วยความไม่ประมาทก็พอแล้ว

ลัก...ยิ้ม
25-11-2013, 09:29
๑๐. ร่างกายมันไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงเกิดขึ้นชั่วคราว – ตั้งอยู่และดับไป ร่างกายของใครก็ตาม เกิดขึ้นมาแล้วไม่ตายไม่มี ให้ทำจิตให้ยอมรับนับถือความตายให้มั่นคง ตายนั้นตายแน่ ไม่มีใครหนีพ้น จิตจึงต้องซ้อมตายและพร้อมตายอยู่เสมอ รู้ลม – รู้ตาย – รู้นิพพาน ตายแล้วจิตเราก็ไปพระนิพพาน จึงไม่ควรกลัวความตาย จงอย่าประมาทในชีวิตก็แล้วกัน ดังนั้น..ให้พิจารณามรณานุสติควบอุปสมานุสติให้มาก กรรมฐานบทนี้ทิ้งไม่ได้ ทิ้งเมื่อไหร่ลืมตัวเมื่อนั้น ประมาทเมื่อนั้น และอารมณ์จิตจักเลวเมื่อนั้นด้วย

ลัก...ยิ้ม
27-11-2013, 09:39
๑๑. ให้ดูร่างกายที่ไม่เป็นแก่นสารและหาความเที่ยงไม่ได้ นอกจากจักต้องหายา – หาอาหาร – หาเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัยให้แล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดกระทบอารมณ์ทั้งหลาย พอใจบ้าง – ไม่พอใจบ้าง ทำให้จิตขาดความสงบ ต้นเหตุล้วนเกิดขึ้นจากร่างกายเป็นเหตุ ดังนั้นการจักละได้ซึ่งร่างกาย ต้องมองเห็นโทษของการมีร่างกายเอาไว้ด้วย

ลัก...ยิ้ม
28-11-2013, 09:02
๑๒. ให้พิจารณาโทษของอายตนะภายนอก ทำให้เกิดอารมณ์ติดรูป – กลิ่น – เสียง - สัมผัส – ธรรมารมณ์ แล้วให้เห็นโทษของการติดอายตนะภายใน ตา – หู – จมูก – ลิ้น – กาย – ใจ เห็นอารมณ์พอใจและไม่พอใจ ชวนให้เกิดอยู่ร่ำไป พยายามละให้ได้ ปล่อยวางให้ได้ ใช้ปัญญาหยั่งลึกลงไป แล้วจึงจักออกจากรูป – นามได้

ลัก...ยิ้ม
02-12-2013, 11:40
๑๓.ชีวิตล่วงไป ๆ ความตายก็ใกล้เข้ามา ขอจงอย่ามีความประมาทในชีวิต คิดเอาไว้เสมอว่า ความตายจักเข้ามาถึงในขณะจิตนี้ไว้ตลอดเวลา แล้วดูความโกรธ – โลภ – หลงน้อยลงหรือไม่ ? ในเมื่อร่างกายนี้จักตายแล้ว จักไปมัวนั่งโกรธ – โลภ - หลงเพื่อประโยชน์อะไร ?

จิตนั้นรู้แสนรู้ว่า ไฟภายใน ๓ กอง หรือขี้ ๓ กองนี้มันไม่มีอะไรดี แต่จิตก็ยังหวงขี้ ๓ กองนี้อยู่ ไม่ยอมละ – ปล่อย – วาง เพราะขาดปัญญา หากไฟ ๓ กองนี้ยังมีอยู่กับจิต จิตนั้นก็โง่ทุกที มันทำปัญญาให้ถอยหลังอยู่เสมอ หรือโง่ทุกครั้งที่ไฟลุก หากยังผ่านจุดนี้ไม่ได้ ก็คงยังต้องเกิด – ตาย กันอีกต่อไปไม่รู้จบ วิธีปฏิบัติเพื่อละ ปล่อยวางอารมณ์ทั้ง ๓ นี้ ก็รู้อยู่คือ ทาน – ศีล – ภาวนา หรือ ศีล – สมาธิ – ปัญญา แต่ขาดความเพียร ที่พึ่งอันสุดท้ายอยู่ที่ตัวเราเอง หากเราไม่พยายามก็ไม่มีใครจักช่วยเราได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นเพียงผู้ชี้แนะทางปฏิบัติให้เท่านั้น เราจักต้องเพียรปฏิบัติด้วยตนเองจึงจักมีผล กรรมใครกรรมมันทั้งสิ้น

ลัก...ยิ้ม
06-12-2013, 14:34
๑๔. ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ให้เห็นความตายอยู่เป็นปกติ ทุกชีวิตเหมือนกันหมด มีเกิดเป็นเบื้องต้น มีเสื่อมเป็นท่ามกลาง มีความตายเป็นที่สุด พยายามฟอกจิต อย่าให้ยึดถือร่างกายของตนเองหรือของใคร ๆ ทั้งหมด ให้จิตมีสติตั้งมั่นเข้าไว้ ให้รู้เข้าไว้ แล้วจิตจักเป็นสุข

พิจารณาจุดนี้ให้มาก ๆ แล้วจักวางภาระที่หนักใจอยู่ในเวลานี้ลงไปได้มาก คนทำกรรมมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น ทำดีก็ตาย ทำไม่ดีก็ตาย แต่ให้มีสติระลึกไว้เสมอว่า เราจักทำเพื่อพระนิพพานเอาไว้เสมอ จักได้ไม่ตั้งจิตไปไหนอื่น ซึ่งจัดเป็นความเลวของจิต รู้แล้วให้รีบกลับมาสู่หนทางของศีล – สมาธิ – ปัญญาโดยไว รักษาอารมณ์เพื่อพระนิพพานเข้าไว้ให้ได้เสมอ

ลัก...ยิ้ม
12-12-2013, 09:48
๑๕.ให้มองเห็นกายในกายอยู่เนือง ๆ เช่น เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ปอด หัวใจ พังพืด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารเก่า อาหารใหม่ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เปลวมัน มันข้น น้ำมูก ไขข้อ เยื่อในกระดูก น้ำตา น้ำลาย ต่าง ๆ เหล่านี้มองให้คล่อง เห็นให้ชัด แล้วจักเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเองและผู้อื่น คลายความกังวลในร่างกายของตนเองและผู้อื่นลงได้ มีแต่ทางนี้สายเดียวเท่านั้นที่จักหลุดพ้นไปได้

การปฏิบัติละขันธ์ ๕ ก็จักต้องพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างจริงจัง จักต้องรักษากำลังใจ ทำให้การพิจารณาขันธ์ ๕ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป โดยใช้บารมี ๑๐ ช่วย มีวิริยะ ขันติ สัจจะ โดยมีปัญญาบารมีเป็นตัวคุมเป็นสำคัญ

ลัก...ยิ้ม
16-12-2013, 09:45
๑๖. นอกจากพิจารณาเรื่องของร่างกายแล้ว.. ให้พิจารณาจิตใจของตนเองด้วย ร่างกายสักเพียงแต่ว่าร่างกาย จิตใจก็สักแต่เพียงว่าจิตใจ ทำงานร่วมกันแต่คนละอย่าง.. ไม่ใช่อย่างเดียวกัน พิจารณาแยกกันตรงนี้ให้ดี โดยใช้หลักของมหาสติปัฏฐาน ๔ มีสติกำหนดรู้อยู่กับกาย เวทนา จิตและธรรม

สองตัวแรกเป็นเรื่องของกายหรือกายสังขาร สองตัวหลังเป็นเรื่องของจิตหรือเจตสิก (อารมณ์ของจิต) หรือจิตสังขาร ทั้งกายและจิตต่างก็ไม่เที่ยง เกิดดับ ๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติ ผู้รู้หรือผู้ไปรู้เรื่องของกายและอารมณ์ของจิตคือตัวเรา (ใจ) เป็นผู้รู้สันตติภายนอก (กายสังขาร) กับสันตติภายใน (จิตสังขาร หรืออารมณ์ของจิต หรือเจตสิก) ผู้รู้คือใจ

ลัก...ยิ้ม
17-12-2013, 09:35
๑๗. ร่างกายไม่มีแก่นสารอันควรที่จักยึดมั่นถือมั่นตามความรู้สึกก็จริงอยู่ แต่เมื่อพวกเจ้ายังมีกิเลสอยู่ เมื่อพิจารณาไล่อารมณ์ที่ยังมีกิเลสอยู่ ไล่ไปไล่มาก็ยังไปติดอยู่กับร่างกายอยู่ดี เลยทำให้รู้สึกท้อใจเพราะขาดปัญญาบารมี จึงไม่รู้จักปลดความเกาะติดในร่างกายให้ได้ ความจริงก็คือยังอ่อนการพิจารณาร่างกาย และยังอ่อนการพิจารณาอารมณ์ ให้สอบให้ลึก ๆ จักพบต้นเหตุของการเกาะติด อย่าทิ้งอริยสัจ กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุก็แล้วกัน

การพิจารณาจงมุ่งเน้นดูร่างกายของตนเองเป็นสำคัญว่ามันมีอะไรดีบ้าง ? มันใช่เราหรือไม่ ? ตายแล้วเอามันไปได้ไหม ? เรายังปรารถนาร่างกายอย่างนี้อีกหรือไม่ ? อยากให้ร่างกายมันทรงตัวไหม ? ยังอยากจักมีร่างกายอยู่อีกไหม ? ถามให้จิตมันตอบแล้วพิจารณาอารมณ์เกาะติด จิตยังโลภอะไรอยู่หรือไม่ ? จิตยังหลงติดอันใดอยู่หรือไม่ ? จิตยังโกรธ ไม่พอใจอะไรอยู่หรือไม่ ? สอบเข้าไปให้ได้ความจริง นั่นแหละจึงจักตัด ละ วางได้

ลัก...ยิ้ม
20-12-2013, 12:03
๑๘. ทำจิตให้เหมือนดูหนังดูละครผ่านไปแล้วก็ผ่านเลย หรือทำจิตให้เหมือนกระจกเงา อะไรผ่านเข้ามาก็เห็นหมด แต่เมื่อเลยไปแล้วกระจกเงาก็ไม่ได้ยึดภาพเหล่านั้นไว้เลย จำไว้.. จงเป็นเพียงผู้ดู ที่แล้ว ๆ มาพวกเจ้าลงไปแสดงร่วมกับเขาด้วย จึงเป็นการขาดทุนอย่างยิ่ง

อยู่ในโลกไม่มีใครพ้นจากโลกธรรม ๘ ไปได้ พระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ทุกองค์ก็ดี ยังถูกนินทาใส่ร้ายป้ายสี แล้วพวกเจ้าเป็นใคร ทำไมจักไม่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ให้มองเห็นว่ามันเป็นธรรมดาของชาวโลก จิตก็จักปล่อยวางโลกธรรมนี้ลงได้ และให้รู้กฎของกรรม ให้ยอมรับนับถือกฎของกรรม อย่าไปตำหนิใครว่าเลวหรือชั่ว นั่นเป็นเพราะอกุศลกรรมเข้าครอบงำ จิตเขาเห็นดีอย่างนั้น จึงทำไปตามอำนาจของกรรมที่เป็นอกุศล

กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ ใครทำอย่างไรย่อมได้อย่างนั้น หากพวกเจ้ามิได้เคยสร้างกรรมเหล่านี้ไว้ก่อนในอดีต วิบากกรรมนั้นจักเกิดกับพวกเจ้านั้นเป็นไปไม่ได้ ขอให้อดทน ไม่ช้ากฎของกรรมก็ย่อมจักคลายตัวไปเอง โลกเสื่อมมากเท่าไหร่ ทุกข์ก็มากขึ้นเท่านั้น แต่อย่าพึงห่วงวิตกกังวลให้มาก รักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุขอยู่ในปัจจุบันดีกว่า เตรียมพร้อมด้วยความไม่ประมาท ซ้อมตายเอาไว้เสมอ รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน พลาดท่าขึ้นมาจักได้ทิ้งร่างกายไปพระนิพพานได้ทันท่วงที

ลัก...ยิ้ม
02-01-2014, 12:22
๑๙. ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ให้จิตทำความรู้เช่นนี้เอาไว้เสมอ แล้วให้พิจารณาไปถึงสิ่งภายนอก คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ไม่ใช่ของเราเช่นกัน มันเป็นเพียงสภาวธรรม จักยึดถืออันใดให้เที่ยงได้ โลกธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ เกิดแล้วก็ดับ เอาอะไรจีรังยั่งยืนไม่ได้ ให้ตรวจสอบจิตของตนเองดู เกาะติดข้อไหนมากที่สุด ก็จงเพียรละซึ่งข้อนั้น อนึ่ง ทุกคนในเวลานี้นั้น ล้วนแต่มีกรรมที่เป็นอกุศลเข้ามาเล่นงาน ขอให้อดทนเข้าไว้ จนกว่ากฎของกรรมจักถึงเวลาคลายตัวลงไปเอง

ลัก...ยิ้ม
06-01-2014, 11:00
๒๐. อย่าเพ่งโทษบุคคลผู้อื่น ให้ดูแต่อารมณ์จิตของตนเอง ใครดีใครชั่วก็เรื่องของเขา ดูอารมณ์จิตของตนเอง อย่าไปดีไปชั่วกับชาวบ้านเขา จิตของเรายังเอาดีไม่ได้ จักไปให้คนอื่นเขาดีได้อย่างไร อย่าลืม ความดีที่สูงสุดคือพระนิพพาน ฆราวาสยังมีลมหายใจอยู่ยังเอาดีไม่ได้ แล้วยังไปว่าคนอื่นเขาว่าเลว นั่นแสดงว่าเราก็ไปเลวตามเขา

อย่าลืม.. คนดีเขาไม่ด่าคน ไม่เสียดสีคน ไม่นินทาคน อย่าไปห่วงใครว่าทำให้อารมณ์ใจของเรามันเลว ตัวเราจิตเรามันไม่ดีเอง ที่ไปเก็บเอาคำสรรเสริญคำนินทานั้นมายึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ลองทำให้จริง ๆ ซิ พิจารณาร่างกายไปตามความเป็นจริง ให้จิตมันมีสติระลึกได้อยู่เสมอ อะไรที่จักมาเป็นเราเป็นของเรานั้นไม่มี ที่ไปหลงยึดอยู่ก็เพราะความโง่นั้นเอง

ลัก...ยิ้ม
07-01-2014, 10:42
ปกิณกธรรม...เดือนเมษายน ๒๕๔๐

สมเด็จองค์ปฐมฯ ทรงตรัสสอนปกิณกธรรม ธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำไปสู่ความหลุดพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น มีความสำคัญดังนี้

๑. ร่างกายที่ไม่มีแก่นสารอยู่นี้ เป็นเครื่องผูกสัตว์ให้หลงใหล ยึดเป็นอัตตาตัวตนเราเขา โดยไม่รู้ความจริงว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มันเป็นบ่วงล่อให้จิตของสัตว์โลกหลงติดอยู่ในรูปในนามนี้ หรือแม้กระทั่งหลงอยู่ในกายพรหม – เทวดา – นางฟ้า ก็ยังเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่ดี

ถ้าต้องการพ้นจากเครื่องผูกสัตว์ก็จักต้องพิจารณาร่างกายให้หนัก รูปสักแต่ว่ารูป นามอันได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็สักแต่ว่านาม อย่าลืมว่าการดูรูป เพิกรูปอย่างเดียวไม่พอ เพราะรูปเกิดดับมากี่ภพกี่ชาติแล้วก็ยังจุติอยู่ ยังมีนามพาให้ปฏิสนธิหรือจุติอยู่ร่ำไป จักต้องพิจารณานามให้หนักด้วย ทำความรู้จักรูปให้จริงจัง ทำความรู้จักนามให้จริงจัง แล้วปล่อยวางให้หมด นั่นแหละจึงจักถึงซึ่งพระนิพพานได้ และจงอย่าทิ้งอานาปานุสติ สมถะจุดนี้ทำให้จิตทรงตัว

ลัก...ยิ้ม
08-01-2014, 15:11
๒. ให้ดูอารมณ์ที่เกิดดับ จักทุกข์ก็ดี จักสุขก็ดี มันไม่มีอะไรเที่ยง จิตถ้าปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้น ไม่เกาะไม่ยึดเอาไว้ ทุกข์ – สุขก็เพียงแต่เกิดขึ้น – ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเท่านั้น หาสาระอะไรไม่ได้ พิจารณาให้เห็นเวทนา – สัญญา – สังขาร – วิญญาณให้ชัด แล้วจึงจักปล่อยวางได้ ดูได้ทั้งวัน ไม่ว่ายืน – เดิน – นั่ง – นอน ขอเพียงแต่ให้มีสติกำหนดรู้ตามดูอารมณ์ทั้งวันก็แล้วกัน เมื่อวางการพิจารณาก็อย่าลืมกำหนดรู้อานาปานุสติด้วย จุดนี้สำคัญมาก เพราะจักทำให้จิตทรงตัวและระงับเวทนาของกายได้บางขณะ

ลัก...ยิ้ม
15-01-2014, 11:13
๓. การป่วยเจ็บของร่างกาย สาเหตุมาจากกฎของกรรม ปาณาติบาตเข้ามาแทรกอย่างหนึ่ง และเป็นธรรมดาของร่างกายที่มีธาตุ ๔ มาประชุมกันอันไม่เที่ยงอีกอย่างหนึ่ง เช่น โรคหิวเป็นต้น นี่แหละให้เห็นโทษของการมีร่างกาย อันมีเกิดเป็นเบื้องต้น มีเสื่อมไปในท่ามกลาง และที่สุดก็คืออนัตตาได้แก่ตายไปในที่สุด ร่างกายของใครหรือแม้แต่ของเราก็เป็นอย่างนี้ อย่ามุ่งหวังการอยู่รอดหรือทรงตัวของร่างกาย ให้เอาความจริงของร่างกายเตือนจิตของตนเองไว้เสมอ (เช่นวิปัสสนาญาณ ๙ ข้อที่ ๑ - ๒ – ๓ และ ๔) จิตจักได้ไม่เหลิงยึดมั่นถือมั่นในร่างกายจนเกินไป

ลัก...ยิ้ม
20-01-2014, 14:12
๔. ให้คอยดูจิต คือตรวจดูอารมรณ์ของจิตโดยมีสติ - สัมปชัญญะควบคุม อันจะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของกิเลสได้ชัด จุดนี้แหละที่พึงจักสนใจให้มาก เพราะจิตเห็นจิตคือมรรค การเห็นหนทางพ้นทุกข์ก็อยู่ที่จิตดวงนี้ ถ้ามัวแต่ไปมองคนอื่น ไปสนใจจริยาของผู้อื่นก็เอาดีไม่ได้ แต่ถ้าหากตรวจจิตสอบจิต สอบอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอ จุดนี้เอาดีได้ เพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ ทุกอย่างสำเร็จที่ดวงจิตนี้

อันจักทำอย่างไรให้จิตเป็นจิตผู้รู้ เห็นแจ้งตามความเป็นจริง มิใช่เป็นจิตผู้โง่เขลา หลงอยู่ในวัฏสงสารเช่นทุกวันนี้ จักต้องพิจารณาตามความเป็นจริงให้มากแล้วจักพ้นทุกข์ได้ จำไว้..โลกแก้ไม่ได้ ให้แก้ที่จิตของตนเอง เพื่อให้พ้นไปเสียจากโลกนี้จักดีเสียกว่า เพราะนั่นเป็นหนทางที่ถูกต้องและไปเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง

ลัก...ยิ้ม
24-01-2014, 14:19
๕. บัณฑิตคือผู้รู้ ย่อมรู้จักเอาตัวเองรอดก่อน จึงจักไปโปรดบุคคลอื่นให้รอด พระตถาคตเจ้าเป็นแบบฉบับทุก ๆ พุทธันดร ทรงปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ก่อน จึงค่อยออกโปรดเวไนยสัตว์ แก้จิตของตนให้หลุดออกจากบ่วงกามตัณหา - ภวตัณหา - วิภวตัณหา หลุดจากรัก - โลภ - โกรธ - หลง จึงนำผลของการปฏิบัติอันได้แล้วกับจิตของตนเอง ออกมาเผยแพร่ประกาศเป็นสัจธรรม คือคำสั่งสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น พระอริยสงฆ์สาวกอันเป็นบัณฑิต ผู้รู้ตามก็รับหน้าที่เป็นพุทธบุตรสืบทอดตลอดกันมา จนกว่าจักสิ้นวาระของอายุพระพุทธศาสนาในแต่ละพุทธันดร

บุตรของตถาคตมี ๔ เหล่า คือ ภิกษุ - ภิกษุณี - อุบาสก - อุบาสิกา เวลานี้ภิกษุณีหมดไปจากพุทธันดรนี้ แต่จักมีเหล่าเดียรถีย์อ้างขึ้นมาให้มีภิกษุณีให้ได้ คงเหลือแต่ ภิกษุ - อุบาสก - อุบาสิกา อันการเข้าถึงพระพุทธศาสนาก็สุดแล้วแต่การปฏิบัติของแต่ละคน กรรมคือการกระทำขึ้นอยู่กับบารมี คือกำลังใจของแต่ละคนนั้น ๆ ทุก ๆ พุทธันดรก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่มีใครทำแทนกันได้ ทุกคนมีกรรมคือการกระทำเป็นของตนเองทั้งสิ้น ผู้ใดหมั่นตรวจสอบศีล - สมาธิ - ปัญญา หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยจิตของตนเอง มิใช่ไปตรวจที่ผู้อื่น ผู้นั่นย่อมมีพระนิพพานเป็นที่ไป และผู้นั้นแหละเป็นลูกตถาคตอย่างแท้จริง

อะไรมากระทบ... อายตนะยังมีก็ต้องรับรู้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้หมั่นเอาเหตุที่มากระทบนั้น.. พิจารณาให้เข้าสู่ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปล่อยวางให้ได้ด้วยปัญญา อย่าไปแก้โลก ให้แก้ที่จิตของตนเอง แล้วจักถึงฝั่งพระนิพพานได้ง่าย

ลัก...ยิ้ม
28-01-2014, 17:16
๖. ดูร่างกายให้ถนัด มีใครเป็นเจ้าของร่างกายได้ตลอดกาลตลอดสมัยไหม ? บุคคลผู้หลงติดอยู่กับร่างกาย ตายแล้วก็เกิดแสวงหาร่างกาย แสวงหาภพ - ชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จงพยายามมองให้เห็นชัดว่า อันที่จริงนั้นจิตติดอะไรแน่ ถ้าหากมองไม่เห็นก็แก้ไม่ได้ จักต้องพยายามสำรวจจิตของตนให้เห็นชัดอยู่เสมอ จึงจักสมบูรณ์ด้วยสมาธิ คือความตั้งใจมั่นที่จักสอบจิต และมีปัญญามองเห็นทุกอย่างที่จิตไปติดนั้นตามความเป็นจริง จุดนั้นแหละจึงจักละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหาน

ลัก...ยิ้ม
03-02-2014, 10:42
๗. อย่าท้อถอยในงานที่ทำอยู่ ทุกอย่างให้ตั้งใจต่อสู้เพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อพระนิพพานให้เต็มที่ คือเต็มกำลังใจของเรา งานภายนอกหรืองานทางโลก ซึ่งต่างคนต่างก็มีหน้าที่ของตน ก็พยายามทำให้เต็มความสามารถของแต่ละคน แต่พร้อมที่จะละ - ปล่อย - วางได้ทันทีเมื่อความตายมาถึง และงานภายใน คืองานสมถะ - วิปัสสนาธุระ ก็ทำให้เต็มกำลังใจ งานทั้ง ๒ ประการนี้อย่าให้ขาดตกบกพร่อง จึงจักได้ชื่อว่ากำลังใจเต็ม

คนอื่นจักเป็นอย่างไรอย่าไปสนใจ อย่าไปห้ามกรรมหรือสนใจในกรรมของใคร ให้ดูการกระทำของกาย – วาจา - ใจของตนเอง พึงกำหนดรู้อยู่ในศีล - สมาธิ - ปัญญาตลอดเวลา ใครกระทำผิดศีล - สมาธิ - ปัญญา อย่าไปโกรธเขา ให้พึงมีเมตตาให้มาก ๆ ให้คิดว่าคนเราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ได้ก็แสนยาก นี่โชคดีมากที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และได้พบพระอริยสงฆ์ หากไม่สามารถรักษาศีล - สมาธิ - ปัญญาไว้ให้ได้ ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ที่อบายภูมิ ให้รู้สึกสงสารพวกเหล่านี้ด้วยเมตตาจริง ๆ อย่าเอาความรู้สึกสมน้ำหน้าเข้าไปเจือปน ความเกลียดชัง อารมณ์ปฏิฆะก็จักเกิดขึ้นแทนเมตตา

ให้พิจารณาเรื่องเมตตาและพรหมวิหาร ๔ ให้มาก ๆ แล้วจิตจักมีอารมณ์เยือกเย็นขึ้นได้ การปฏิบัติก็จักเข้าถึงมรรคผลได้เร็ว แต่พึงระมัดระวัง คำว่าการมีพรหมวิหาร ๔ ให้แก่ตัวเองนั้น.. ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ผู้ใดเข้าใจอย่างนั้นจักแปลคำสอนของตถาคตผิด ให้พิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจักรู้ชัดว่า พรหมวิหาร ๔ เกิดขึ้นกับจิตตนเองเป็นอย่างไร ? ความเห็นแก่ตัว หรือมัจฉริยะ ความตระหนี่ขี้เหนียวเป็นอย่างไร ? ให้สังเกตว่า พรหมวิหาร ๔ เกิดขึ้นกับจิตแล้วจักเยือกเย็นมาก แต่ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นกับจิตเมื่อไหร่ก็จักเร่าร้อนเมื่อนั้น พิจารณาแยกออกมาให้ได้

ลัก...ยิ้ม
07-02-2014, 14:05
๘. ให้มองทุกอย่างเป็นกรรมฐาน คุมสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้ไว้เท่านั้นว่า ทุกอย่างในโลกเข้าสู่พระไตรลักษณ์หมด โลกนี้ทั้งโลกที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ อย่าหวังความจีรังยั่งยืนในโลกนี้หรือในไตรภพ มีที่เดียวเท่านั้นที่เที่ยงคือแดนพระนิพพาน

แต่บุคคลที่จักไปดินแดนนี้ได้ จักต้องทำพระนิพพานให้เกิดแก่จิต เพราะพระนิพพานเขาเอาจิตไปกัน จิตที่ตัดกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหานนั่นแหละ คือผู้มีพระนิพพานเป็นที่ไป พระนิพพานเป็นสุขที่สุด เพราะไม่มีชาติภพให้ต้องกลับมาหรือเคลื่อนไปจุติอีก พิจารณาธรรมทั้งหลายที่เข้ามากระทบให้ดี ทุกเรื่องล้วนทำให้เกิดทุกข์ หากเอาเป็นกรรมฐาน จักได้ประโยชน์จากการกระทบนั้นอย่างมหาศาล เพราะถ้าหากจะละซึ่งความโกรธ ก็จักมีคนมายั่วให้โกรธด้วยวิธีการต่าง ๆ หากจิตเราหวั่นไหว โกรธตอบก็สอบตก หากกระทบแล้วปล่อยวางได้ก็สอบได้

ทำนองเดียวกัน คนจักละความโลภ ก็จักมีคนมาล้างผลาญทรัพย์สินที่เราอุตส่าห์อดออมมาให้หมดไป มารผจญตัวนี้จักแรง เผลอ ๆ อาจหมดตัวก็ได้ เป็นการทดสอบกำลังใจว่าตัดโลภได้หรือไม่ ถ้าจิตวางได้ก็จักไม่ห่วงใยในชีวิตมากเกินไป เห็นว่าการเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็พอจักยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ถ้าวางไม่ได้ จิตที่เดือดร้อนอยากจักแสวงหาทรัพย์ มาเป็นหลักประกันชีวิตให้อยู่อย่างสุขสบาย ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้

สมบัติของโลกที่เรารักที่สุด ก็คือร่างกายที่จิตเราอาศัยอยู่ชั่วคราวนี้ ก็ยังเอาไปไม่ได้ คนที่หนักอยู่ในความหลงก็จักมีเหตุทำให้ความหลงมากขึ้น เช่น หลงรูป ก็จักมีรูปสวยมามอมเมาทำให้หลง หลงเสียงไพเราะ - หลงกลิ่นหอม - หลงรสอร่อย - หลงสัมผัสที่นุ่มนวล - หลงอารมณ์ตนเอง มาทดสอบอารมณ์จิตอยู่เสมอ นี้เป็นธรรมดาของนักปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา จักต้องได้พบได้เจอ เพราะเป็นของจริง เป็นอริยสัจที่เป็นกฎของกรรมที่จักต้องยอมรับนับถือ

ทุกอย่างจักเป็นความจริง ต้องถูกกระทบก่อนแล้วหมดความหวั่นไหว ลงตัวธรรมดาหมด พิจารณาให้ได้ วางอารมณ์ให้ถูก แล้วแต่ละคนจักได้ประโยชน์ในทางจิต อันส่งผลให้ได้ผลในทางธรรมปฏิบัติมาก

ลัก...ยิ้ม
10-02-2014, 08:55
๙. อย่าไปตำหนิกรรมของใคร ใครจักปฏิบัติกันอย่างไรเป็นเรื่องของเขา รู้แล้วเห็นแล้วว่าไม่ตรงพุทธพจน์หรือไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ตรงกับสังโยชน์ ๑๐ ประการ ก็ให้ปล่อยวางเสีย หันมาดูตัวอย่างของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพียรปฏิบัติให้ได้ตามท่านนั่นแหละจักถูกต้องกว่า แต่อย่าไปวัดรอยเท้าท่านว่าจักได้เท่าท่าน

ให้ดูกำลังของศีลด้วย คำว่าศีลพระ ๒๒๗ แม้พวกเจ้าจักได้ศึกษามาบ้างแล้ว แต่ก็ยังผิวเผิน ไม่เหมือนท่านผู้รักษาศีลจนศีลรักษา แม้แต่อภิสมาจาร ท่านก็ยังรู้ครบแล้ว จิตของท่านย่อมละเอียดมากไปตามขั้นของศีลนั้น ๆ อย่าตีตนเสมอท่านเป็นอันขาด

ขอให้อดทนทำหน้าที่นี้ต่อไป เพื่อช่วยเกื้อกูลพระพุทธศาสนา อย่าท้อถอย อุปสรรคต่าง ๆ จักสลายตัวไปในไม่ช้า ขอเพียงให้พวกเจ้ามีกำลังใจตั้งมั่นในอารมณ์เพื่อพระนิพพาน ทำทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น ทุกคนต่างมีหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลพระพุทธศาสนา ทำไปเถิด แม้จักเหมือนปิดทองหลังพระ ความดีอันนี้ไม่มีสูญหาย

อย่างคุณหมอทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมก็เช่นกัน เป็นการเกื้อกูลคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น..จงรักษาความดีให้เหมือนเกลือรักษาความเค็ม อย่าลืมการตำหนิคนเป็นความไม่ดี การนินทาคนเป็นความไม่ดี อย่าให้มีเกิดขึ้นแก่จิตของพวกเจ้า อย่าเอาแต่เพียงให้ธรรมะแก่ผู้อื่น สังโยชน์ของตนเองยังเหลือคั่งค้างอยู่แค่ไหน พึงเร่งรัดปฏิบัติให้ได้ด้วย

ลัก...ยิ้ม
13-02-2014, 11:37
๑๐. ให้เห็นความเกิดความดับของสังขาร เห็นทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กายสังขารก็ดี จิตสังขารก็ดี มีแต่ความเปลี่ยนแปลง จิตยึดเมื่อไหร่ทุกข์ก็เกิดเมื่อนั้น ให้พยายามปลดอารมณ์ที่ไปเกาะติดทุกข์เหล่านี้เสีย ร่างกายไม่เที่ยง ร่างกายเป็นทุกข์ แล้วที่สุดร่างกายนี้ก็เป็นอนัตตา พิจารณาไปแล้วให้ปล่อยวาง อย่านึกท้อถอย เพราะนั่นเป็นการทำให้จิตตกลงไป เป็นเหตุให้หมดกำลังใจ จุดนี้เรียกว่าจิตยังไม่ยอมรับกฎของธรรมดา ถ้าบุคคลที่มีปัญญา พิจารณาแล้วจักยอมรับนับถือกฎของธรรมดาของร่างกาย ก็จักปล่อยวางร่างกายให้เป็นสักแต่ว่าร่างกาย ปกติอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้เป็นปกติของมัน ใจเราให้สักแต่ว่าเป็นใจของเรา อย่าให้มันไปทุกข์ด้วยกับร่างกาย

ลัก...ยิ้ม
24-02-2014, 14:38
๑๑. เรื่องอะไรจักเกิดก็ย่อมเกิดตามกรรมตามวาระ พวกเจ้าอย่าไปยึดถือว่า ในโลกนี้จักมีอะไรเป็นความเที่ยงเลย ทุกอย่างเป็นอนิจจัง - ทุกขัง - อนัตตาทั้งสิ้น ถ้าหากยึดว่าเที่ยงก็จักเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที ให้ทำจิตให้สบาย ๆ เห็นทุกอย่างพังหมดเข้าไว้เสมอ แม้กระทั่งร่างกายของตนเอง

เช่นในวันนี้เป็นวันสงกรานต์ (๑๓ เมษายน ๒๕๔๐) ทางวัดมีการทำบุญและมีพิธีสะเดาะเคราะห์ ผู้มีศรัทธาต่างก็ตั้งใจมาทำบุญและร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ แต่ก็มีเคราะห์เสียก่อน รถยางแตกทำให้เกิดอุบัติเหตุ อันเป็นเหตุที่ไม่รู้มาก่อน มีคนเสียชีวิตไป ๓ คน คนทั้งหมดที่เสียชีวิตเขาไปดี เพราะจิตอยู่ในบุญกุศลมาโดยตลอด แต่ที่ต้องตายเพราะเป็นอุปฆาตกรรมเข้ามาให้ผล

นี่ก็เป็นธรรมดาของกรรมที่เที่ยงเสมอ คนทำดีมาโดยตลอดก็หนีวาระกฎของกรรมไม่พ้น ดูแต่ในพุทธันดรนี้ ผู้เป็นพระโสดาบันก็ยังถูกฆ่าตาย หรือพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายก็ยังถูกฆ่าตาย แต่บุคคลเหล่านั้นตายแต่ร่างกาย จิตของท่านไม่ตายก็ไปตามกรรมที่ได้กระทำอยู่ พระโสดาบันไม่มีคำว่าสู่อบายภูมิ ๔ พระอรหันต์ท่านก็ไปพระนิพพาน บุคคลทั้ง ๓ ที่ได้รับอุบัติเหตุก็เช่นกัน คำว่าอบายภูมิ ๔ ไม่มีสำหรับบุคคลเหล่านี้ ให้พวกเจ้าดูไว้เป็นตัวอย่าง

ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง และการตายก็ตายแต่เพียงร่างกาย จิตนั้นไม่มีวันตาย จิตต้องไปเสวยสุขหรือเสวยทุกข์ตามกรรม คือการกระทำของตนเองไปตามวาระนั้น ๆ ทุกคนที่เข้ามาปฏิบัติมักจักกล่าวว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกคนมักจักทำจิตให้ยอมรับธรรมดา.. คือความตายอันจักเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้นั้นไม่ได้ กล่าวคือ จิตไม่ได้รับการซักซ้อมให้ทิ้งร่างกายอย่างเพียงพอ ยิ่งเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับร่างกายถึงแก่ความตาย จิตที่อ่อนการซักซ้อมจึงเข้าพระนิพพานไม่ได้ เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาทในอุบัติเหตุ พึงซักซ้อมเข้าไว้ให้ได้เสมอ เพื่อให้จิตมันชิน (รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน)

ลัก...ยิ้ม
28-02-2014, 14:06
๑๒. การทำบุญแล้วเกาะบุญก็มีผลตามนั้น เช่น สร้างศาลาวัดก็ดี ห้องกรรมฐานก็ดี แม้สร้างพระพุทธรูปไว้กับวัดต่าง ๆ ก็ดี หากจิตเกาะบุญในสิ่งที่ตนเองสร้าง มีอารมณ์จิตเกาะไม่วาง เมื่อกายตายไป จิตมีสิทธิ์เกิดเป็นภูมิเทวดาได้ทั้งสิ้น หากทำบุญแล้วจิตไม่เกาะบุญ จิตต้องการพระนิพพานจุดเดียว จุดนี้จัดเป็นบุญใหญ่ที่สุดในพุทธศาสนา อนึ่ง ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ แต่ผู้รับไม่บริสุทธิ์ ผลบุญที่ได้ก็ไม่เต็ม แต่ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ด้วย ทำโดยไม่หวังผลตอบแทนด้วย หวังทำเพื่อหลุดพ้น หรือพระนิพพานจุดเดียว จัดเป็นขั้นปรมัตถบารมี จุดนั้นได้ชื่อว่าทำเพื่อมรรคผลนิพพาน

ลัก...ยิ้ม
04-03-2014, 14:02
๑๓. ให้เห็นตัวธรรมดาให้มาก คนไม่มีศีลก็ไม่มีศีลเป็นปกติ อย่าไปกังวลกับใคร ให้ห่วงใจตนเองดีกว่า ให้พิจารณากฎของกรรมซึ่งเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย ดังนั้นหากไม่ใช่หน้าที่ของเรา ก็จงอย่าไปขวางกรรมของใคร เพราะจักเป็นโอกาสให้กรรมนั้นเข้าตัวเองได้ อุปมาเหมือนดั่งรถจักชนคน ๆ หนึ่ง เราเข้าไปผลักเขาให้กระเด็นออกนอกทางรถ แต่ตัวเรากลับไปอยู่ในทิศทางรถแทน กรรมก็เช่นกัน ให้ดูจิตของเราเอาไว้ให้ดีก็แล้วกัน

ลัก...ยิ้ม
05-03-2014, 09:29
๑๔. ร่างกายเป็นศัตรูใหญ่ของเรา ถ้าไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว ทุกข์ของการเกิด - แก่ - เจ็บ - ตาย - พลัดพรากจากของรักของชอบใจ - มีความปรารถนาไม่สมหวังก็จักไม่มี ปกติของร่างกายก็เป็นอยู่อย่างนี้ มีเกิดเป็นเบื้องต้น มีเสื่อมเป็นท่ามกลาง และมีความสลายตัวไปในที่สุด แต่จิตของเราไปหลงยึดเกาะอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยงและสกปรกของร่างกายนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณารูป อันหมายถึงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ มีอายตนะสัมผัสและพิจารณานามทั้ง ๔ อันมีเวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดได้ก็เนื่องจากรูปเป็นเหตุทั้งสิ้น พิจารณาจุดนี้เอาไว้ให้ดี อยากจักพ้นจากร่างกาย ไม่ศึกษาร่างกายให้ถ่องแท้ก็พ้นไปไม่ได้

ลัก...ยิ้ม
06-03-2014, 09:05
๑๕. ให้ดูความเสื่อมไปของร่างกาย ถอยหลังจากความเป็นเด็กขึ้นมาจนถึงวันนี้ มีอะไรมันทรงตัวบ้าง จุดนี้จักเห็นความเสื่อมชัด แล้วให้สอบดูว่าจิตยังมีความพอใจอยู่ในร่างกายตรงไหนบ้าง แล้วเอาปัญญาพิจารณาในจุดที่พอใจนั้น ถามและตอบให้จิตคลายความพอใจลง ด้วยเห็นธรรมะตามความเป็นจริง แล้วให้เห็นความเสื่อมของร่างกายนี้เป็นของธรรมดา ให้ย้อนถอยหลังไปกี่ภพกี่ชาติ ก็ต้องพบกับสภาพอย่างนี้ ให้ถอยหน้า - ถอยหลัง ให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาของร่างกาย เมื่อเห็นอยู่ รู้อยู่ จิตก็จักปล่อยวางลงได้ในที่สุด

ลัก...ยิ้ม
24-03-2014, 15:42
๑๖. ท่านพระ... พูดถูกตรงที่ว่า การจบกิจของท่านยังมีความละเอียดไม่พอเท่ากับที่พระสอนพวกเจ้า จุดนี้เป็นเรื่องจริง เพราะแต่ละองค์ก็มาแต่ละทาง คือ กรรมที่จักบรรลุไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ที่เท่ากันคือท่านตัดกิเลสได้หมดตามสังโยชน์ ๑๐ ประการเป็นสมุจเฉทปหานเท่านั้น

เรื่องกฎของกรรมนี้เป็นธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่บุคคลธรรมดา ๆ จักพึงเข้าใจได้ แต่หากมีความเชื่อหรือศรัทธาในพระองค์ โดยจิตไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้นั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือ เป็นสัมมาทิฏฐิเต็มกำลังใจ (ตัวสัมมาทิฏฐิ คือตัวปัญญาในพระพุทธศาสนา)

เรื่องนี้หลวงพ่อฤๅษีท่านเคยพูดไว้ว่า “คนผิดคนถูกไม่มี คนชั่วคนเลวคนดีไม่มี มีแต่คนที่มาตามกรรม แล้วก็ไปตามกรรม ทุกชีวิตเดินเข้าสู่ความตายเหมือนกันหมด” และที่สมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตรัสเกี่ยวกับท่านเทวทัตว่า “เรารักเทวทัตเท่ากับพระราหุล ลูกของเรา" เหตุเพราะพระพุทธองค์และหลวงพ่อฤๅษีมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอัปมัญญา ท่านมองคนในแง่ดี จิตบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส - ตัณหา - อุปาทาน และอกุศลกรรม หมดอคติ ๔ มองทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การเจริญพระกรรมฐานตัดสังโยชน์ตั้งแต่เบื้องต้นยันเบื้องปลาย ไม่มีใครเขาทิ้งพรหมวิหาร ๔ กัน เพราะพรหมวิหาร ๔ เลี้ยงทั้งศีล - สมาธิ - ปัญญา เป็นกำลังใหญ่ทำให้เข้าถึงพระอรหัตผลได้ง่าย เพราะฉะนั้น จึงพึงทรงจิตให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ อยู่เสมอ อนึ่ง จักตัดกิเลสตัวไหน ให้ใช้พรหมวิหาร ๔ ควบคู่กันไป จักเป็นกำลังใหญ่ให้ตัดกิเลสได้โดยง่าย

ยกตัวอย่าง เช่น การรักษาศีล ๕ ข้อแรก ห้ามฆ่าสัตว์ หากไม่มีเมตตาความรัก ไม่มีกรุณาความสงสาร ไม่มีมุทิตาจิตอ่อนโยน ไม่มีอุเบกขาวางเฉย สมมุติว่าอยากกินไก่ หากมีอุเบกขาวางเฉยกับความอยากนั้น ก็มีจิตอ่อนโยนไม่ยอมฆ่าไก่นั้น มีความกรุณาสงสารก็ฆ่าไก่ไม่ลง มีเมตตารักแล้วก็ฆ่าไม่ลง ในขณะเดียวกันผลสะท้อนกลับมาหาตัวเรา ไม่ต้องตกนรกไปชดใช้กรรมที่ฆ่าไก่นั้น ก็เทียบเท่ากับเรามีพรหมวิหาร ๔ ให้กับตนเองด้วย นี่เป็นอุปมาอุปมัยสำหรับศีลเบื้องต้นข้อแรก ข้ออื่น ๆ ก็พิจารณาโดยอาศัยหลักของพรหมวิหาร ๔ กลับไปกลับมาเช่นกัน เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา ก็ให้พิจารณาไปเช่นนี้เหมือนกัน แล้วจักทำให้ตัดกิเลสได้ง่าย

ลัก...ยิ้ม
02-04-2014, 14:41
๑๗. อย่าสนใจกับจริยาหรือปัญหาของผู้อื่น เพราะปัญหาของตนเองก็มากพอแล้ว ให้มองลงตรงกฎธรรมดา เรื่องของโลก เรื่องของคนที่ยังมีกิเลสอยู่ก็เป็นเช่นนี้แหละ แม้แต่พวกเจ้าเอง ตราบใดที่ยังเข้าไม่ถึงซึ่งพระนิพพานเพียงใด ก็ยังได้ชื่อว่ายังมีกิเลสอยู่ จงอย่าคิดว่าตนเองดีแล้ว ตนเองสามารถแก้ปัญหาให้กับบุคคลอื่นได้ นั่นจัดว่าเป็นความหลง

ความจริงจักต้องพยายามแก้จริตของตนเองให้ได้ อย่าไปคิดแก้จริตผู้อื่น หนักตัวไหนก็ฟันตัวนั้นก่อน โดยอาศัยอริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ส่วนใหญ่มักเผลอไปถนอมกิเลส กลัวกิเลสจักเศร้าหมอง มัวแต่เกาะกิเลส ประคับประคองกิเลส ไม่กล้าสังหารกิเลส ให้มองลึกลงไป ที่ยังตัดกิเลสไม่ได้ เพราะยังมีอาลัยอาวรณ์ในขันธ์ ๕ เป็นเหตุ กลัวความทุกข์ กลัวความลำบาก กลัวอดอยาก กลัวขาดเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของร่างกาย มีความห่วงในร่างกายมากว่าห่วงสภาพของจิตใจ นักปฏิบัติตัดตัวนี้ไม่ได้ก็ไม่มีทางเอาดีได้

แล้วจงจำไว้ว่า จิตของใครก็ไม่สำคัญเท่าจิตของเรา และจิตของเราถ้าไม่รักษาให้มันมีความผ่องใส ใครที่ไหนจักมาช่วยรักษาให้มันผ่องใสได้นั้นไม่มี บางครั้งคนอื่นอาจจักทำให้เราชื่นใจ มีความสุขในคำสนทนาธรรม แต่นั้นไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงความสุขชั่วคราว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สุขนั้นอยู่ไม่นาน ไม่เหมือนกับเราปฏิบัติได้ด้วยตนเอง สุขทั้งกาย-วาจา-ใจ นั่นแหละจึงจักเป็นของจริงที่เลิศประเสริฐแท้ จำไว้..ตัวรู้ไม่ใช่ตัวปฏิบัติ ตัวปฏิบัติให้มรรคผลเกิดจริงตามตัวรู้ นั่นแหละจึงจักเป็นของจริง

ลัก...ยิ้ม
04-04-2014, 10:44
๑๘. อย่าไปจริงจังกับชีวิตให้มากนัก ทำใจให้สบาย ๆ เสียบ้าง เพราะไม่มีงานใดในโลกที่ทำแล้วเสร็จบริบูรณ์โดยไม่ต้องทำใหม่อีก ความจริงแล้ว อารมณ์เสียดายก็ดี อารมณ์กังวลในสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งงานที่ยังคั่งค้างอยู่ก็ดี ก็คือนิวรณ์ข้อที่ ๑ และ ๒ นั่นเอง หากระงับมันไม่ได้ ก็ทำปัญญาของเราให้ถอยหลัง คือโง่ทุกครั้งที่ยังมีอารมณ์ ๒ ตัวนี้เกิด

เมื่อพิจารณาร่างกายแล้วอย่าลืมพิจารณาอารมณ์ของจิตด้วย ๒ อย่างจักต้องทำควบคู่กันไป หมั่นถามจิตให้จิตตอบอยู่เสมอ เป็นการสอนตนเอง ไม่ไปมุ่งสอนผู้อื่น เวลาเราทุกข์ก็ทุกข์คนเดียว เวลาเราตายร่างกายมันพังเราก็ตายคนเดียว เพราะฉะนั้นตนจักต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้นในวาระของชีวิต พิจารณาถึงเรื่องนี้ให้มากจักเกิดประโยชน์ใหญ่ในภายหน้า

ลัก...ยิ้ม
08-04-2014, 14:02
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม

สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราและไม่ใช่ของใคร มันเป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกัน เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่มีร่างกายของใครที่จักจีรังยั่งยืน ทุกสภาวะของร่างกายเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรหวังการทรงตัวของร่างกาย เพราะหวังไปอย่างไร ที่สุดของร่างกายก็เป็นอนัตตา สลายตัวไปในที่สุด จึงไม่ควรหวังความเที่ยงแท้แน่นอนของร่างกายของตนหรือของใครเป็นอันขาด พิจารณาให้มากด้วย การดูร่างกายของตนเป็นที่ตั้ง ละร่างกายของตนได้ ก็ละร่างกายของคนอื่นได้หมด

ลัก...ยิ้ม
18-04-2014, 12:10
๒. เรื่องอนาคตอย่าไปกังวล ให้รักษาจิตอยู่ในปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่จักดีได้ นั่นแหละจึงจักเป็นการถูกต้อง พยายามอย่าห่วงหน้าห่วงหลัง ตัดความกังวลออกไปให้ได้มากที่สุด ตัวนี้เป็นอารมณ์ถ่วงความเจริญของจิต ที่จักเจริญพระกรรมฐานให้ถึงขั้นปล่อย-ละ-วางกายสังขาร เป็นอารมณ์ที่อันตรายที่สุดตัวหนึ่ง เมื่อมีความกังวลเกิดให้รีบหาเหตุแห่งความกังวลนั้น พิจารณาไปให้ถึงที่สุดของเหตุแห่งความกังวลนั้น จิตก็จักยอมรับในกฎของความเป็นจริง อย่าลืมการเจริญพระกรรมฐานทุกจุด จักต้องหาความเป็นจริงอยู่เสมอ นี่คืออริยสัจ

ลัก...ยิ้ม
29-04-2014, 13:56
๓. เมื่อได้ข่าวว่าจะมีหลวงพี่บางองค์สึกออกไปจากวัด ให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้อยู่ในเขตผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่อหมดบุญก็จักร้อนผ้าเหลือง อยู่ไม่ได้หรอก เรื่องเหล่านี้อย่าไปกังวล อย่าห่วงว่าวัดท่าซุงจักอยู่ไม่ได้ เรื่องของวัดท่าซุงอยู่ในความดูแลของพระตถาคตเจ้าทุกพระองค์ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องกฎของกรรม จุดนี้ต้องทำใจเอาไว้บ้าง อย่าวิตกกังวลให้มากเกินไป ทุกอย่างล้วนเป็นของธรรมดา เพราะสมมุติสงฆ์เหล่านี้ ยังมิใช่พระอริยเจ้า พระอริยเจ้าท่านเป็นได้ที่คุณธรรมของจิต ที่ตัดสังโยชน์ได้เป็นสมุจเฉทปหาน พระเป็นที่จิต มิได้เป็นที่ร่างกาย เป็นแล้วทรงตัว จึงไม่มีใครที่จักมาสึกความเป็นพระอริยเจ้าไปได้ ขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย

ลัก...ยิ้ม
06-05-2014, 11:27
๔. ความเป็นพระอรหันต์ ท่านมีสติ - สัมปชัญญะสมบูรณ์ คือไม่เผลอในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ดังนั้น..การขาดสติไปมีอารมณ์ราคะ - โทสะ - โมหะ จึงไม่มีแล้วในท่าน เพราะตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการขาดหมดแล้ว กิเลสเหล่านั้นก็กำเริบไม่ได้อีก การรู้สภาวะธาตุ ๔ ไม่เที่ยง ธาตุที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ธาตุลม ลมเป็นอาหารของผู้มีร่างกายหรือผัสสาหาร

ดังนั้น การกำหนดรู้อานาปานุสติ จึงทำให้เห็นความเกิด - ดับได้ชัดมาก เห็นสันตติของร่างกายได้ชัดด้วยปัญญา ขาดลมเข้าหรือลมออกก็ตาย และการรู้ลมทำให้จิตสงบ เป็นสุข จิตเข้าถึงฌานสมาบัติได้โดยง่าย ส่วนการกำหนดภาพกสิณกองใดกองหนึ่งก็ดี การกำหนดคำภาวนาประการใดประการหนึ่งก็ดี เป็นเพียงนิมิตหรืออุบายโยงจิต ทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือตั้งใจมั่นอยู่ในภาพหรือคำภาวนานั้น ๆ แต่ตัวจริง ๆ ที่ทำงานอยู่คือลมหายใจเข้า - ออก ดังนั้น..การทำภาพกสิณหรือคำภาวนา ก็สามารถทำจิตให้เข้าถึงฌานสมาบัติ และสามารถทำให้จิตสงบขึ้นได้ตามลำดับของฌานที่ได้นั้น ๆ เรื่องนี้ให้จำไว้

พระอรหันต์หรือพระอริยสาวกจักทำจิตให้ไม่ว่างจากฌาน พระตถาคตเจ้าหรือพระอรหันต์สาวกเจริญฌานเพื่อความอยู่เป็นสุขของจิต เพื่อระงับกายสังขาร เพื่อระงับทุกขเวทนาจาก รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ถูกเพิกด้วยฌานในขณะที่ท่านต้องการ การเข้ารูปฌานและอรูปฌานจึงเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นสภาวธรรม ที่เกิดแล้วดับเป็นธรรมดาเท่านั้นเอง แต่จิตจักไปยึดมั่นถือมั่นในฌานสมาบัติ ติดสุขอยู่ในฌานอยู่ร่ำไปนั้นไม่มี (ท่านมีสติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ จึงไม่มีเผลอ ที่จักไปยึดสภาวะที่ไม่เที่ยง อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้มาเป็นของท่านอีก) แต่จำเป็นต้องรู้ต้องศึกษา เพราะทิ้งอานาปาฯ ก็เท่ากับทิ้งฐานความมั่นคงของจิต ไม่รู้จักความสงบของจิต เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตลอดชีวิต

ทำจริง ๆ ไม่ยากหรอก ขอจงอย่าเครียด ทำเล่น ๆ รู้ลมบ้าง รู้คำภาวนาบ้าง รู้ภาพกสิณบ้าง พิจารณาบ้าง สลับกันไปให้จิตพอสบาย ๆ ไม่นานก็เข้าถึงฌานสมาบัติได้เอง เวลาปฏิบัติไม่จำเป็นจักต้องรู้ลม แล้วต้องรู้คำภาวนา รู้ภาพกสิณ รู้สีไปในทีเดียวกัน ทำอย่างนั้นจักหนักเกินไป ให้รู้อย่างใดอย่างหนึ่งพอสบาย ๆ จิตก็เข้าถึงฌานได้ อย่างที่กล่าวมา รู้ภาพกสิณอย่างเดียว อานาปาฯ ก็ควบอยู่ในตัว รู้คำภาวนาอย่างเดียว อานาปาฯ ก็ควบอยู่ในตัว ทำไปเพลิน ๆ จิตก็เข้าถึงฌานสมาบัติได้ จิตจักมีความสงบ มีความสุข หรือแม้แต่พิจารณาอยู่ นั่นสมถะก็ควบคุมอยู่ในจิต มีสมาธิ ไม่ฟุ้งไปในอารมณ์อื่น พอจิตเป็นสุข จิตหยุดพิจารณาตรงนั้น จิตเข้าถึงฌานสมาบัติ ถ้าไม่ลืมตรงนั้น ถ้าหากรู้ลมต่อ หรือกำหนดคำภาวนา หรือภาพกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตจักสงบเป็นสุขมาก และเข้าถึงฌานสมาบัติได้โดยง่าย

ลัก...ยิ้ม
14-05-2014, 17:17
๕. วันนี้ทั้งวัน ไม่ต้องไปดูอื่นไกล ให้พิจารณากายตนเอง และอารมณ์อันปรากฏแก่จิตตนเองเป็นสำคัญ ดูให้เห็นความโกรธ - โลภ - หลง อันปรากฏแก่จิต ด้วยเหตุที่ยึดขันธ์ ๕ นี้ สร้างความทุกข์มาให้นับชาติไม่ถ้วน อารมณ์เหล่านี้พาจิตให้ไปจุติด้วยทุกข์ หรือสุขอันเป็นโลกียวิสัย ตลอดกาลตลอดสมัยที่จิตถูกจองจำอยู่ในมัน (ขันธ์ ๕ หรือร่างกาย) ให้รู้ความเกิด โดยระงับจิตสังขารไม่ให้ไปปรุงแต่งกับความเกิดแห่งอารมณ์นั้น ๆ พิจารณาให้เห็นโทษ แล้วจิตจักปล่อยวางอารมณ์เหล่านี้ไปเอง ทุกอย่างต้องอาศัยตัวรู้ คือสติ - สัมปชัญญะ คอยดู คอยรู้ อารมณ์ของจิตอย่างรู้เท่าทันทุก ๆ ขณะจิต คือธรรมปัจจุบันนั่นแหละ จึงจักพ้นไปได้ อยากพ้นเกิด - พ้นตาย อย่าไปคิดว่ายาก เพราะทุกข์ย่อมล่วงพ้นได้ด้วยความเพียร แล้วจงอย่าคิดว่าง่าย เพราะจักประมาทเกินไป เวลาของทุกคนเหลือน้อยนิด อย่าไปคิดว่าทำอะไรจักต้องสมความปรารถนาอยู่เสมอ จำไว้ว่าความปรารถนาไม่สมหวังนั้นเป็นทุกข์ อย่าไปตั้งกฎเกณฑ์ด้วยกิเลส อยากจักต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะนั่นเป็นอารมณ์ของความทะยานอยากอย่างแท้จริง (เป็นตัวตัณหาแท้ ๆ )

ลัก...ยิ้ม
19-05-2014, 08:54
๖. อย่าไปทุกข์กับเหตุการณ์ที่แวดล้อมอยู่นี้ ให้ถือว่าเหตุกระทบนั้นเป็นครู ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ให้เห็นเป็นแค่สภาวธรรม อย่าไปใส่ใจว่าอะไรในโลกนี้จักจีรังยั่งยืน แม้แต่ขันธ์ ๕ ของใครหรือของตนเอง เพราะนั่นเป็นอารมณ์ภวตัณหา ทุกสิ่งทุกอย่างมีอนัตตา พังหรือตายในที่สุดเหมือนกันหมด ให้เตรียมตัวเตรียมใจ พร้อมรับสถานการณ์เกิด - เสื่อม - ดับอยู่เสมอ พยายามทำจิตให้ปล่อยวางอยู่เสมอ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นกฎของธรรมดาหมด บุคคลซึ่งจักทำจิตให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน จักต้องปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ทุกเมื่อ และจงทำทุกอย่างตามหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ ให้ทำความดีด้วยความเต็มใจ แต่ไม่ติดอยู่ในความดีนั้นๆ

ลัก...ยิ้ม
26-05-2014, 11:26
๗. เรื่องของอารมณ์ให้สังเกตว่า หากร่างกายเครียด คือเหน็ดเหนื่อยจากการงานแล้วพักผ่อนไม่พอเพียง เมื่อมีอะไรมากระทบ มักโกรธง่าย โมโหง่าย มีปฏิฆะง่าย เพราะฉะนั้น ให้สังเกตกายกับจิตอิงกันไป ยกเว้นพระอรหันต์เท่านั้น จิตท่านพ้นอำนาจของกิเลสแล้ว อะไรเกิดขึ้นกับกายก็เป็นเรื่องของกาย อะไรเกิดขึ้นกับจิตก็เป็นเรื่องของจิต ไม่เกี่ยวกัน ท่านรู้และแยก กาย - เวทนา - จิต - ธรรมเป็นอัตโนมัติ เพราะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ส่วนพระอริยะต่ำกว่านั้น ยังแยกได้ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จักต้องหาความพอดีให้พบระหว่างกายกับจิต ให้กายได้พักให้พอ เพราะมันสัมพันธ์เกี่ยวกับอารมณ์ของจิตด้วย การปฏิบัติจักก้าวหน้าหรือไม่.. อยู่ที่เราฉลาดรู้เท่าทันกายกับจิตนี้ด้วย

ลัก...ยิ้ม
29-05-2014, 10:53
๘. ให้เห็นอารมณ์จิตดิ้นรนของคนที่มีความโกรธ - พยาบาท - อาฆาต - ริษยา - ปองร้าย เสมือนหนึ่งเห็นไฟแล้วพึงหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ หากเราหลีกเลี่ยง วางเฉยเข้าไว้ แล้วพยายามแผ่เมตตาให้มาก ๆ ทำจิตให้เยือกเย็นเหมือนกับพระพุทธรูป พวกนี้ก็จักยิ่งดิ้นรนเร่งโหมไฟภายในของตนให้มากขึ้นเป็นธรรมดา จักต้องแก้ที่ใจเรา รักษาอารมณ์จิตให้เยือกเย็น อุปมาดั่งกับไฟมาต้องมือ เราต้องรีบชักมือหนีไฟ จิตของเราก็ต้องฉันนั้น อย่าไปร้อนกับไฟของเขา ปล่อยให้ไฟเผาไหม้เขาแต่เพียงผู้เดียว และให้ยอมรับในกฎของกรรม อุปสรรคใด ๆ ที่เกิดกับเรา ล้วนเป็นเศษกรรมในอดีตที่เราเคยทำไว้ทั้งสิ้น จำไว้..กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าไม่ยอมรับเรื่องก็ไม่จบ ให้ทำใจให้ยอมรับเสีย จิตสงบเย็นลงก็จบ ใครจักแกล้ง จักทำอะไรก็เรื่องของเขา.. กรรมของเขา อย่าไปคิดราวี หรือต่อกรรมให้เสียเวลาปฏิบัติธรรม ทุกอย่างจักสงบได้ด้วยการละ - ปล่อยวางเท่านั้น ให้อดทน เพราะไม่นานกฎของกรรมจักคลายตัวไปเอง อย่าวิตกอะไรให้มาก อย่าไปคิดแก้ไขใคร ให้แก้ไขใจของตนเอง เรื่องราวทั้งหมดก็จักจบไปเอง

ลัก...ยิ้ม
09-06-2014, 10:36
๙. จงอย่าประมาทในชีวิต ให้คิดถึงความตาย เพื่อให้จิตพร้อมรับความตายไว้เสมอ คนเรามักจักหลงลืมความตาย ประมาทในความตาย พอร่างกายสุขสบายสักหน่อย ก็มักจักมีความประมาทในชีวิต จึงต้องคอยเตือนจิตไว้เสมอ ให้หมั่นพิจารณารูป - เวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณ ว่าไม่ใช่เราให้ละเอียดลงไปตามลำดับ โดยพิจารณาแยกออกทีละอย่าง ๆ ให้ถึงที่สุดของรูป - เวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณ จนกระทั่งจิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา จนจิตสงบเยือกเย็น และปล่อยวางในขันธ์ ๕ นี้ จักต้องใช้ความเพียรพิจารณาเอาเอง จึงจักเกิดปัญญาตัดกิเลสได้

หมู่นี้อากาศร้อนก็จริงอยู่เพราะเป็นหน้าร้อน แต่ก็ยังร้อนน้อยกว่าความรุ่มร้อนในจิตของพวกเจ้า โดยเฉพาะตอนถูกกระทบด้วยโลกธรรม ๘ ตัวนินทาและความทุกข์.. อยู่ในโลกไม่มีใครหนีพ้นโลกธรรมไปได้ ให้เห็นเป็นธรรมดา ต้องหมั่นปลงขันธ์ ๕ ตนเองให้มาก ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อวางอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้ ขันธ์ ๕ ของบุคคลอื่น สัตว์อื่น วัตถุธาตุใด ๆ ก็ไร้ความหมาย เมื่อนั้นแหละ จิตจักถึงซึ่งพระนิพพานได้อย่างแท้จริง

ลัก...ยิ้ม
13-06-2014, 08:40
๑๐. ให้ดูสังขารร่างกายที่มันเกิดขึ้นแล้ว มันก็เสื่อมไป เดินไปหาความสลายตัวอยู่ตลอดเวลา แม้แต่สังขารของจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาก็เช่นกัน มันหาความเที่ยงไม่ได้ (หมายถึงอารมณ์จิตซึ่งไม่เที่ยง เกิด - ดับ ๆ อยู่เสมอ) ยึดถือมาเป็นเรา เป็นของเราก็ไม่ได้ จึงต้องปล่อยวางให้มันเกิดดับไปตามสภาวธรรม อย่าได้ไปฝืนกฎของความเป็นจริง (อย่าฝืนโลก อย่าฝืนธรรม) ให้เห็นกายสังขาร จิตสังขารเกิดดับเป็นธรรมดา ไม่ยึดไม่ถือ จิตก็จักมีความผ่องใส ลงตัวธรรมดาได้ อุปาทานขันธ์ ๕ ก็จักเบาบาง มองให้ถึงที่สุดด้วยปัญญา ก็จักพ้นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ พระนิพพานจึงปรากฏแก่จิตได้อย่างมั่นคง ด้วยการปล่อยวางกายสังขาร จิตสังขาร (กายสังขารคือกายกับเวทนาเกิดดับ ๆ อยู่เป็นสันตติ จิตสังขาร คืออารมณ์ของจิต และธรรมะหรือพระธรรมก็เกิด - ดับ ๆ อยู่เป็นสันตติ)

การยังมีชีวิตอยู่.. ก็ดูแลร่างกายไปเพียงหน้าที่แค่ยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น จิตที่จักยินดีในการอยู่ก็ไม่มี เพราะเห็นเป็นเพียงสภาวธรรม แต่ในขณะเดียวกัน ความขุ่นข้องหมองใจในอันที่ขันธ์ ๕ จักพังก็ไม่มี เพราะเห็นเป็นเพียงสภาวธรรมเท่านั้น จิตพร้อมอยู่ในการหลุดพ้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อเข้าใจแล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่าทำได้แล้ว นั่นเป็นเพียงความรู้อันเกิดจากสัญญาเท่านั้น จักต้องนำความเข้าใจหรือตัวรู้นี้ไปละให้จิตถึงที่สุดอีกที และจำไว้บุคคลใดที่เข้าถึงแล้ว ตัวโลภ - ตัวโกรธ - ตัวหลงนั้น จักไม่มีกำเริบอยู่ในจิตอีกเลย

ลัก...ยิ้ม
17-06-2014, 08:53
๑๑. ก่อนเจริญพระกรรมฐาน หลวงพ่อฤๅษีท่านให้อธิษฐานจิตเป็นภาษาบาลีว่า อิมาหัง ภควา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจัชชามิ ซึ่งมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอให้สัจจะต่อพระพุทธองค์ว่า ข้าฯ ขอมอบกายถวายชีวิตกับพระองค์และศาสนาของพระองค์ตลอดชีวิต แต่มีบุคคลท่านหนึ่งอธิษฐานความว่า ข้าพเจ้าขอให้สัจจะต่อพระองค์ว่า ข้าพเจ้าจะพยายามทำความดีในพระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุดให้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งจัดว่าเป็นสัจจะบารมี โดยมีปัญญาบารมีคุมโดยแท้ ไม่อธิษฐานผูกมัดใจตนเอง โดยใช้คำว่าจะพยายาม ทำได้แค่ไหนตามกำลังใจแห่งตน ก็ได้แค่นั้น เป็นตัวปัญญาแท้ในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุกท่านต่างก็บรรลุจบกิจในพุทธศาสนาด้วยทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทาด้วยก้นทั้งสิ้น

การใช้คำว่าจะพยายามทำความดีในพระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุดนั้น เป็นทางสายกลาง คือไม่ตึงไป ไม่หย่อนไปนั่นเอง หากจะเพิ่มอธิษฐานบารมีเข้าไปอีกหน่อยจะสมบูรณ์แบบคือ ข้าพเจ้าจะพยายามทำความดีในพระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด โดยจะทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว.. ประโยคนี้จัดเป็นอธิษฐานบารมีเต็มกำลังใจทันที คือมีมรณานุสติกับอุปสมานุสติ ซึ่งเท่ากับตัดอวิชชา หรือสังโยชน์ข้อที่ ๑๐ ไปในตัวเสร็จ

จิตมีสภาพรู้กับเร็ว เป็นอกาลิโก หากจิตเป็นฌานในมรณาฯ บวกอุปสมานุสติ กายพังเมื่อไหร่ จิตก็เร็วไปตามที่จิตเกาะอยู่ชนิดแกะไม่ออกเป็นอัตโนมัติ เป็นอกาลิโกเช่นกัน จิตเกาะนิพพานซึ่งเที่ยงแล้วเกาะได้ และเป็นแดนสุดยอดของความสุขในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นเป้าหมายสุดท้ายที่ทุกท่านมุ่งหมาย อธิษฐานบารมีเต็มมีผลบุญใหญ่สุดประมาณด้วยเหตุนี้

ลัก...ยิ้ม
23-06-2014, 08:42
สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้

กว่าจักบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้เต็มได้ถึงจุดนี้ จักต้องผ่านการปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌานมาอย่างโชกโชน เพราะทุกจริตสามารถทำได้ทั้งสิ้น การไปเสวยสุขหรือติดสุขอยู่ในอรูปฌาน อันทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมนั้นจึงเป็นของธรรมดา และเป็นไปได้ เพราะในอดีตทุกคนเกิดเป็นพรหมมาก็มาก สุดแต่ว่าก่อนกายจะพัง จิตทรงอยู่ในกำลังของฌานระดับไหน จิตมันก็ชินหลุดไปอยู่จุดนั้นได้โดยไม่ตั้งใจ หรือไม่ต้องกำหนดจิตไป.. จิตมันชินแต่อดีตก็หลุดไปเอง

ตถาคตรู้จุดนี้ จึงจัดอรูปฌานและรูปฌานให้อยู่ในสังโยชน์ ๑๐ เบื้องสูง เพราะหากผู้ปฏิบัติยังเป็นโลกียฌานอยู่ จิตก็จักติดสุขอยู่ในฌานทั้ง ๒ นั้นอย่างถอนจิตไม่ขึ้น วิธีถอนการเกาะติดสุข.. ต้องพิจารณาเข้าหาไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยงของฌานทั้งสองนั้น ซึ่งเกิดจากลมหายใจหรืออานาปานุสติ อันเป็นฐานใหญ่ของฌานสมาบัติ การเกาะลมหายใจเข้า - ออก ก็เท่ากับยังเกาะร่างกายหรืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ เพราะลมหายใจคือที่อาศัยของร่างกาย เป็นอาหารของกาย ซึ่งแท้ที่จริงคือธาตุ ๔ ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ เข้ามาประชุมกัน การเกาะลมหายใจ.. จึงยังเป็นแดนเกิดในรูปพรหมและอรูปพรหมได้ง่าย

แต่ในแง่ของวิปัสสนากรรมฐาน เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจเข้า - ออกนั่นแหละ เป็นเหตุให้ใจมีอารมณ์จิตละเอียดขึ้น มีสติ - สัมปชัญญะสมบูรณ์ขึ้น อย่างเช่น ร่างกายนี้เมื่อวิญญาณไปปราศแล้ว (ปราศจากวิญญาณแล้ว) กายก็ไม่ต้องอาศัยลมหายใจเข้า - ออกอีก ดังนั้น การรู้ความไม่เที่ยงของกองสังขารแห่งกาย อันเนื่องจากลมหายใจเข้า - ออกนี้ ทำให้ไม่มีความประมาทในชีวิต เป็นเหตุให้เข้าถึงซึ่งอรหัตผลได้โดยง่าย

ลัก...ยิ้ม
07-07-2014, 09:14
๑๒. ที่เจ้าสงสัยว่า การปฏิบัติพระกรรมฐาน ในเมื่อรู้ว่ารูปฌานและอรูปฌานเป็นเหตุทำให้จิตติดสุขในฌาน มีผลทำให้ต้องเกิดเป็นพรหมและอรูปพรหมได้ แล้วข้ามการรู้เรื่องฌานทั้ง ๒ ไปเลยไม่ได้หรือ ? ทรงตรัสว่า ข้ามไปไม่ได้หรอก เพราะร่างกายอาศัยอยู่ได้ด้วยลมหายใจเข้า - ออก คนเกิดมาจนกระทั่งตายไป หากไม่รู้จักคิด ตายไปก็ยังไม่รู้จักลมหายใจเข้า - ออกก็มี และที่เจ้าพิจารณาว่าคนเรานี่อยู่กับความสกปรกตลอดเวลา ที่ต้องอาบน้ำ -แปรงฟัน - ชำระสิ่งโสโครกอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตต้องการความสะอาด คนที่ไม่รู้มองไม่เห็นความสกปรกของร่างกาย ก็ทำความสะอาดให้ร่างกายตั้งแต่วันเกิดไปจนถึงวันตาย แต่ก็ยังไม่เห็นความสกปรกของร่ายกายก็มีมาก

การบริโภคอาหารก็เช่นกัน เห็นแต่ความอร่อย ติดในรสของอาหาร กินอิ่มทุกมื้อคิดว่าเป็นสุขดี แต่ไม่เคยเห็นความสกปรก - ความเสื่อม - ความไม่เที่ยงของอาหารและของร่างกาย จนกระทั่งตายแล้วกลับมาเกิดใหม่อยู่อย่างนั้น ไม่หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ไปได้ ก็มีอยู่จำนวนมากสุดประมาณได้ ด้วยเหตุเหล่านี้แหละ จึงจำเป็นที่จักต้องรู้ รู้ถึงพ้นได้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่พ้น จักพ้นรูป - พ้นนาม - พ้นกาย - พ้นจิต ก็ต้องเรียนรู้ ศึกษาของจริงกันอย่างนี้แหละ พระพุทธศาสนาแปลว่าผู้รู้ รู้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยมรรคผล ถึงซึ่งตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้ จึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล พิสูจน์ได้ทุกกาลทุกเวลา

ลัก...ยิ้ม
14-07-2014, 11:48
๑๓. อย่าฝืนโลก อย่าฝืนธรรม แล้วจิตจักเป็นสุข อยู่ในโลกทุกคนต้องมีงานทำ แต่อย่าแบกงาน เพราะงานทางโลกเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีใครทำเสร็จได้จริง แม้อยู่วัดก็อย่าแบกวัด เพราะงานของวัดก็ไม่มีใครทำเสร็จได้จริง เหตุที่จิตยังเร่าร้อนอยู่ เพราะการไปหลงอยู่กับอายตนะที่เข้ามากระทบใจ อันเป็นกฎของธรรมดาซึ่งห้ามไม่ได้ (ห้ามไม่ให้อายตนะภายนอกกระทบกับอายตนะภายในไม่ได้) จึงเสมือนหนึ่งใจเราอยู่ในดงของกิเลส อยู่ในทางกลางของกิเลส มิใช่อยู่ไกลจากกิเลสแต่อย่างใด เพราะเรายังมีอายตนะทั้ง ๖ ทำงานได้ดีอยู่เป็นปกติ ทุกอย่างที่เข้ามากระทบ จึงล้วนเป็นกฎของธรรมดา - กฎของกรรมหรืออริยสัจทั้งสิ้น

ใครจักมาอย่างไร ใครจักไปอย่างไร ใครจักทำอะไร - พูดอะไร - คิดอะไร ก็นับว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น อย่าลืมกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เป็นกรรมลิขิต ซึ่งเราเองเป็นผู้กระทำไว้ก่อนในอดีตทั้งสิ้น ดังนั้น จักทำอะไร พึงพิจารณาเรื่องกฎของกรรมนี้ให้รอบคอบ จิตจักได้เลือกสรรทำแต่กรรมดี ๆ ยิ่งกรรมที่จักนำไปสู่พระนิพพานนั้น พึงทำอยู่ในขอบเขตของศีล - สมาธิ - ปัญญาเท่านั้น จุดนี้พึงหมั่นเพียรให้มาก ๆ เวลานี้อย่าไปดูเหตุภายนอก ให้รับรู้ว่าเป็นธรรมดาของการมีอายตนะ จิตจำเป็นต้องรับรู้ รับรู้แล้วก็เพียรปล่อยวางให้ออกไปจากจิตให้ได้มากที่สุด อย่าฝืนธรรมแล้วจิตจักเป็นสุข เรื่องบุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเข้ามาวุ่นวายอยู่ในเวลานี้ อย่าไปห่วงให้มาก ไม่นานเขาจักแพ้ภัยตัวเองไปเอง

ลัก...ยิ้ม
16-07-2014, 08:57
๑๔. ไปงานศพ จงอย่าไปกราบศพ ให้กราบสัจธรรม กราบพระธรรม ให้พิจารณามรณานุสติให้มาก เพราะไม่ช้าไม่นาน กายผู้อื่นหรือกายเรา ก็หนีความตายไปไม่พ้น จักต้องมีสภาพอย่างเช่นรายนี้ และให้เห็นธรรมปัจจุบันว่า หากชีวิตยังอยู่ เราจักบำรุงรักษากายเพียงแต่ยังอัตภาพให้เป็นไปในทางสายกลาง ไม่เบียดเบียนกาย ไม่เบียดเบียนจิตให้เกินพอดี นั่นแหละจึงจักเรียกว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ได้ผล พิจารณาธรรมเหล่านี้ไว้ระหว่างยังมีชีวิตอยู่ อยู่ให้มีความสุขในมัชฌิมาปฏิปทา และไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าร่างกายจักต้องตายอยู่เสมอ รักษาธรรมเหล่านี้ไว้ให้ได้กับจิต และให้ทรงตัว กิเลสทุกตัวจักระงับได้หมด ปรารถนานิพพานก็จักต้องหมั่นชำระจิตเพื่อพระนิพพานด้วย

ลัก...ยิ้ม
22-07-2014, 09:02
๑๕. ธรรมของตถาคตจักต้องหยุดอารมณ์จิตให้ได้ก่อน จึงจักเห็นการเคลื่อนไหวของกิเลสได้ชัดเจน การทำจิตให้สงบตั้งมั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างคนกำลังวิ่งหรือเดินเร็ว ๆ อะไรผ่านมากระทบมองไม่ใคร่เห็น ต่างกับคนที่ยืนอยู่กับที่ มีอะไรมากระทบก็มองเห็นได้ชัดกว่ามาก จิตหวั่นไหวมากยิ่งมองสภาวะกระทบไม่ชัดเจน แต่จิตหวั่นไหวน้อยหรือไม่หวั่นไหวเลย ย่อมมองอะไรได้ชัดเจน และเข้าใจได้ดี การปฏิบัติธรรมฉันใดก็ฉันนั้น

สุขภาพของตนเองก็เช่นกัน จงอย่าห่วงใยให้มากนัก เพราะหนีความจริงในสัทธรรม ๕ ไม่พ้น ให้พิจารณาอยู่อย่างนี้จึงจักนำจิตให้พ้นทุกข์ได้ ต้องพิจารณาให้ลึกลงไป ๆ จิตจึงจักเกิดปัญญาไม่ใช่เกิดแต่สัญญา ความจำที่ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ลืม ตัวปัญญาเท่านั้น จึงจักตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ ดังนั้น..จงอย่าห่วงกายให้มากนัก ให้ห่วงจิตเป็นหลักสำคัญ อย่าไปห่วงกาย - ห่วงจิตผู้อื่น พ้นทุกข์ไม่ได้ ให้ห่วงจิต ดูอารมณ์จิตของตนเอง ไม่ให้ประมาทในชีวิต รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน จำไว้..อย่าห่วงใคร ตัดกังวลออกไปให้หมด จิตจึงจักผ่องใสขึ้นมาได้

ลัก...ยิ้ม
23-07-2014, 11:53
๑๖. อยากจักละซึ่งสังขาร ก็จักต้องเพียรหาความจริงของสังขาร ให้เห็นความเสื่อมเป็นของธรรมดา และเห็นโลกทั้งโลกล้วนมีสภาพเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยงและสลายตัวไปในที่สุด จงหมั่นพิจารณาให้ถึงที่สุดของความทุกข์แล้วปล่อยวางด้วยปัญญา อย่าวางด้วยสัญญาเพราะจักวางไม่จริง ใหม่ ๆ อาจจักเป็นของยาก เพราะอารมณ์ตัดตัวนี้ยังไม่ทรงด้วย ต้องเอาจริง และคอยละ-ตัด-วางอยู่ตลอดเวลา อย่าให้จิตเผลอออกนอกทาง แต่ก็ยังจักมีเผลอเป็นธรรมดา เผลอก็ตั้งต้นใหม่ ๆ ต้องต่อสู้ให้จริง.. ทำให้จิตมันชินในการละซึ่งกิเลส ประการสำคัญจงอย่าประมาทในชีวิต ยิ่งรู้ว่าร่างกายกำลังไม่ดีก็ยิ่งจักต้องพร้อม ซ้อมตาย พร้อมตายอยู่เสมอที่จักละ - ปล่อย - วางอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ในทุกขณะจิต

ลัก...ยิ้ม
29-07-2014, 09:09
๑๗. น้ำตาที่ไหลเพราะความปรารถนาไม่สมหวัง หรือเพราะพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ในการเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานนี้ มีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ (คล้ายเทศน์โปรดท่านปฏาจาราเถรี) ในทุกพุทธันดรย่อมมีคนแบบนี้เช่นกัน และผู้ที่ไม่เข้าถึงธรรมอีกมากมาย ยังต้องเสียน้ำตาเพราะเหตุทั้งสองประการนี้ จึงกล่าวได้ว่า ทุกชีวิตย่อมผ่านความรันทดเยี่ยงนี้ เหมือนกันมาแต่อเนกชาติที่จุติผ่าน ๆ กันมา และนานนักกว่าจักบำเพ็ญบารมีจนถึงขั้นจิตมีความเข้มแข็ง ยอมรับสภาพอริยสัจตามความเป็นจริง ตราบนั้นบุคคลผู้บำเพ็ญบารมีมาดีแล้วตามลำดับ จึงจักเลิกหลั่งน้ำตาด้วยเหตุทั้งสองประการนี้ลงได้ และอย่าคิดว่าเป็นของง่าย เรื่องอย่างนี้จักตัดได้โดยฉับพลันนั้นเป็นของยาก จักต้องพิจารณาอริยสัจอย่างถ่องแท้นั่นแหละ และที่สำคัญต้องอย่าทิ้งความเพียรด้วย

ลัก...ยิ้ม
30-07-2014, 09:16
๑๘. เรื่องของสังขารทั้งสอง กายกับจิต หาความเที่ยงไม่ได้แม้แต่สักนาทีหนึ่ง ให้พิจารณาตามความเป็นจริง ดูให้เป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นกฎของธรรมดา แล้วในที่สุดขันธ์ ๕ ก็มีอันต้องสลายตัวไป คือเป็นอนัตตาหรือตายไปในที่สุด จึงพึงละให้ได้จากการเกาะยึดขันธ์ ๕ หรือสังขารกายกับจิตนี้ อันมีความเกิดเป็นเบื้องต้น มีความแปรปรวนในท่ามกลาง มีความสลายตัวไปในที่สุด มองให้เห็นโทษของการติดอยู่ในขันธ์ ๕ มองให้เห็นคุณของการหลุดออกจากขันธ์ ๕ และรู้ว่าขันธ์ ๕ จองจำเรามานับชาติไม่ถ้วน ไม่ต่างกับนักโทษต้องโซ่ตรวน ต้องคิดดิ้นรนให้หลุดพ้นด้วยความเพียร โดยพยายามมองดูขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงให้พบ

จุดนี้ใครที่ไหนเล่าจักช่วยให้พวกเจ้าหลุดพ้นไปได้ กิเลสมักสอนจิตให้ห่วงคนโน้น - คนนี้ ใยถึงไม่ห่วงตัวเองบ้างเล่า ? มองหาความจริงให้พบ อย่าให้ความห่วงหรือความสงสารที่เป็นกิเลสลากเอาไปกิน จงปล่อยวางเถิด ให้ดู ให้รู้สึกแต่ว่า กองสังขารมีแต่เกิด - เสื่อม - ดับเป็นของธรรมดา แม้แต่กายกับจิตสังขารของพวกเจ้าเอง ก็มีสภาพเช่นนั้นเหมือนกัน เวลาของชีวิตนั้นเหลือน้อย จักอยู่ทำความเพียรเพื่อใครดี ? สงสารตัวเองหรือสงสารคนอื่นดี ? ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วย อย่าไปห่วงใคร ดูตัวเองให้มั่นคงในศีล - สมาธิ - ปัญญา ชำระจิตของตนให้ได้ซึ่งมรรคผลนิพพานอันแท้จริงดีกว่า

ลัก...ยิ้ม
31-07-2014, 08:58
๑๙. ไม่ว่ากรณีใด ๆ ถ้าหากตั้งความหวังไว้มาก ก็จักผิดหวังมาก เพราะการตั้งความหวังนั้น ทำให้จิตเร่าร้อน เร่งเร้าอยากให้เป็นเช่นที่หวัง ก็เป็นการเบียดเบียนจิตและกายตนเอง จุดนี้เป็นอารมณ์หลง หลงคิดว่าจักเอาสมบัติของโลกไปได้ โดยเฉพาะหลงติดในร่างกายตนเอง อันเป็นการเพิ่มสักกายทิฏฐิ

แต่ถ้าหากไม่ตั้งความหวังจักเอาสมบัติของโลกและขันธโลกไปด้วย เพราะรู้ชัดว่าเอาไปไม่ได้ มันหาใช่เรา หาใช่ของเราไม่ จิตก็จักเยือกเย็น - ไม่ดิ้นรน - ไม่ห่วง - ไม่กังวล ด้วยประการทั้งปวง จิตมีความไม่ประมาทในชีวิต พร้อมตายและซ้อมตาย เพื่อเอาจิตคือตัวเราไปพระนิพพานอยู่เสมอ ด้วยอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ ยอมรับความเป็นจริงของโลก และขันธโลกว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ที่สุด เป็นอนัตตาทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นกฎของกรรม - เป็นกฎธรรมดา - เป็นอริยสัจ มันเที่ยงของมันอยู่อย่างนี้ หากเราไม่เคยทำกรรมนี้มาก่อน ก็จักไม่พบกับกรรมเหล่านี้เลย

การปฏิบัติต้องเดินสายกลาง ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ทำด้วยอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ ได้แค่ไหนก็พอใจแค่นั้น จึงต้องพยายามรักษาอารมณ์ให้เยือกเย็นไว้เสมอ คอยดูอารมณ์ของจิตให้ดี จักเห็นอารมณ์ที่ไหวไปตามอายตนะตลอดเวลา เมื่อรู้ก็ให้ใช้กรรมฐานแก้จริต ให้ถูกต้องตามอารมณ์ตลอดเวลาเช่นกัน การทรงอานาปานุสติ จึงต้องทรงตลอดเวลา เพราะเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ คุมจิตไม่ให้คิดชั่วไปตามอายตนะ จุดนี้ต้องมีสัจจะ ตั้งใจทำจริง ด้วยความเพียร – ความอดทน หรือมีวิริยะ - ขันติ - สัจจะ โดยมีปัญญาบารมีคุม ทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว เพราะตราบใดที่จิตยังเข้าไม่ถึงพระนิพพาน ก็จงอย่าหลงคิดว่าตัวเองดีเป็นอันขาด

ลัก...ยิ้ม
01-08-2014, 13:39
(พระธรรมที่ทรงตรัสสอนในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม


สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. พิจารณากฎของกรรมให้มาก อย่าฝืนกฎของกรรม จักทำให้จิตเห็นทุกข์มากยิ่งขึ้น และจงเตือนตนไว้เสมอ กรรมเหล่าใดถ้าหากตนเองไม่เคยได้ก่อไว้ กรรมเหล่านั้นจักเข้ามาสนองตนเองไม่ได้เลย พิจารณาทุกข์อันเกิดจากผลแห่งกฎของกรรมให้ผลให้เห็นชัด ๆ ต่อไปจักได้สำรวมกาย - วาจา - ใจ ให้มากขึ้น กรรมใหม่จักได้ไม่ก่อกันอีกต่อไป กรรมเท่าที่ตามมาสนองก็ชดใช้เขาไป ทำได้อย่างนี้จิตจักคลายจากความทุกข์ ความสงบของจิตจักมีมากขึ้น เพราะการยอมรับนับถือกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ และถ้าหากสำรวมกาย - วาจา - ใจให้สงบจากการไม่สร้างกรรมชั่วใหม่แล้ว จิตก็จักมีกำลังใจมาทางด้านปฏิบัติธรรม เพื่อพระนิพานได้ดีเป็นอันมาก

ลัก...ยิ้ม
04-08-2014, 09:20
๒. ให้พิจารณาเรื่องศีล ๓ ขั้นให้มาก ๆ ไม่ว่ารักษาศีลโดยไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง อันเป็นการสำรวมกายให้เรียบร้อย ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ทางวาจา ไม่ยินดีด้วยเมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว ทางด้านจิตใจ แล้วศีลที่กล่าวมาก็ให้รักษาอยู่ในกำลังใจของตน ศีล ๕ ก็ให้เป็นปกติในศีล ๕ ทั้งกาย - วาจา - ใจ ศีล ๘ ก็ให้เป็นปกติในศีล ๘ ทั้งกาย – วาจา - ใจ ศีล ๒๒๗ เป็นศีลของพระ ก็ให้ดูท่านพระ...เป็นตัวอย่าง ท่านรักษาไว้ดีแล้วทั้งทางกาย - วาจา - ใจ

การปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย จุดนี้เป็นบ่อเกิดเบื้องต้นของสัมมาทิฏฐิ อันนำไปสู่สมาธิ อันเป็นโลกุตรสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ ด้วยกำลังของศีลที่มั่นคง (อธิศีล) เมื่อสมาธิไม่เสื่อมก็นำไปสู่ปัญญา (สัมมาปัญญา) ใช้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ก็จักตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้ นักปฏิบัติทุกคนจักต้องให้ความสำคัญแก่ศีล รักษาศีลให้เป็นชีวิตจิตใจ ปฏิบัติไปจนเป็นอธิศีลเมื่อไหร่ ก็ถึงพระโสดาบัน เป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา คำว่าอบายภูมิ ๔ จักไม่เป็นที่ไปสำหรับบุคคลผู้นั้นอีก

ลัก...ยิ้ม
06-08-2014, 13:59
๓. ร่างกายไม่มีสาระแก่นสารใด ๆ ที่จักยึดถือได้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ให้พิจารณาร่างกายโดยแยกเป็นธาตุ ๔ ให้มาก แยกส่วนอาการ ๓๒ ฝึกฝนให้จิตทรงตัว ค่อย ๆ คิด ต้องฝึกฝนจิตให้คิดเหมือนกับสมัยที่ฝึกการคิดรักษาศีล ทำอย่างไรนั่นแหละ เรียกว่าพยายามทำให้จิตรู้จักใช้ปัญญา ไม่ใช่เอาแต่สัญญาความทรงจำอย่างเดียวจักไม่ได้ผล

อย่างกรณีคุณหมอก็เช่นกัน ที่บอกว่าไม่ไหวในเรื่องกายคตาและอสุภะ ให้รู้ว่านั่นเป็นสัญญา แล้วก็มีจุดหนึ่งที่มีเหตุทำให้คิดไม่ค่อยจักได้ คือกำลังใจยังไม่เต็ม คือเข้าไม่ถึงธรรมส่วนนี้นี่เอง คือจิตยังไม่มีกำลัง จุดนี้จักต้องรู้จักฝึกฝนจิตให้รักการพิจารณาร่างกาย อย่าปล่อยให้จิตไหลลงสู่เบื้องต่ำไปเรื่อย ๆ จักขาดทุน

คนเราถ้ามัวแต่ประมาท.. ไม่รีบเพียรฝึกฝนจิตให้ตัดสังโยชน์ที่คั่งค้างอยู่ คิดแต่ว่าจักรอบารมีเก่าเข้ามาถึงเอง บางครั้งก็อาจจักสายเกินไป กล่าวคือมีกรรมเข้ามาตัดรอนให้ชีวิตต้องตายไปเสียก่อน ไปเกิดเป็นพรหม เป็นเทวดาก็ไม่สิ้นทุกข์ หรือกลับมาเกิดเป็นคนก็ทุกข์ใหญ่ หรือโชคร้ายไปสู่อบายภูมิ ๔ ยิ่งทุกข์มหาศาล
การฝึกฝนจิตให้รู้จักคิด หรือธัมมวิจยะ เรื่องของร่างกายตามความเป็นจริง ตามคำสั่งสอนที่กล่าวไว้มากมายหลายวิธี เป็นการเสริมปัญญาบารมีให้เต็มอยู่ในธรรมปัจจุบัน มีความเพียร – ความอดทน - อดกลั้น ต่อคลื่นอารมณ์ที่เข้ามากระทบ มีสัจจะตั้งใจจะทำอะไรก็พยายามให้เป็นไปตามนั้นเสมอ ทำความดีทุกอย่างโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว ทำทุกอย่างโดยมีปัญญาคุม ไม่ปล่อยให้จิตลอยไปลอยมา เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือสุดแต่คลื่นจักพาไปทางไหน เรือจักจมเมื่อไหร่ก็ได้

จิตคนเราก็เช่นกัน คนฉลาดเขาจักไม่ทิ้งบารมี ๑๐ กันด้วยเหตุนี้ อย่ามุ่งจักเอาแต่ทางลัดด้วยกำลังของ มโนมยิทธิ ให้หมั่นถามจิตตนเองดู ภาพกสิณพระนิพานทรงตัวอยู่ได้ทั้งวันหรือเปล่า ถ้ายังไม่ได้ทั้งวันแล้วคิดว่าตายแล้วไปได้แน่ ก็ประมาทเกินไป เมื่อรู้ตัวว่ายังทำไม่ได้ ก็พึงเร่งตัดสังโยชน์ให้มาก ๆ อยากพ้นขันธ์ ๕ ก็จักต้องพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างจริงจัง ถ้าไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ก็พ้นจากขันธ์ ๕ ไม่ได้

ลัก...ยิ้ม
13-08-2014, 09:15
๔. ร่างกายไม่ใช่เรา จุดนี้จักต้องพิจารณาบ่อย ๆ เพื่อให้จิตทรงตัว เป็นการตัดสักกายทิฏฐิเบื้องสูง มิใช่สักเพียงแต่ว่าพิจารณาความตายให้จิตทรงตัวเท่านั้น อารมณ์ยอมรับความตายที่มีกันมาแต่พระโสดาบัน ยังเป็นอารมณ์หยาบอยู่เพราะยังยึดนั่นเกาะนี่ หากแต่การพิจารณาร่างกายเป็นธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ ประกอบด้วยปฏิกูลคือ สิ่งสกปรกที่สุดของร่างกายเป็นอสุภะ หรือนวสี ๙ จุดนี้หมั่นเจริญเพื่อการลด - ละ ในการยึดมั่นถือมั่นเป็นอารมณ์ละเอียด

ทุกคนที่ปรารถนาละขันธ์ ๕ ให้ได้อย่างจริงจัง จักต้องทำจุดนี้ให้มาก ๆ ของเหล่านี้มองเห็นกันไม่ยาก แต่การที่จักทรงจิตอยู่ให้มั่นคง.. มิใช่ของง่าย และขอให้ทุกคนจงอย่าประมาทในกรรม ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง.. ความตายเป็นของเที่ยง บางขณะเผลอไปแล้วก็ตั้งต้นใหม่ อย่าตำหนิตนว่าเลว วัดกำลังใจเข้าไว้เสมอ ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำเลยในแต่ละวัน นั่นและจัดว่าเลวแท้

ลัก...ยิ้ม
14-08-2014, 08:34
๕. ให้ใจเย็น ๆ กฎของกรรมทั้งหลายจะค่อย ๆ คลายตัวไปในไม่ช้า และให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างเป็นอนัตตา สลายตัวไปหมด ถ้าหากไปยึดเข้าไว้ก็เป็นทุกข์ ให้ปล่อยวางโดยพิจารณาขันธ์ ๕ ของตัวเองเป็นหลักใหญ่ การพ้นทุกข์อยู่ที่จิตของเราเอง มิใช่ไปพ้นทุกข์ที่บุคคลอื่น ให้พิจารณาจิตของตนเอง อย่าไปแก้ไขจิตของบุคคลอื่น เรื่องของร่างกายมันก็เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ที่สุดก็เป็นอนัตตา อย่าไปยึดถือร่างกาย ถ้าหากต้องการพระนิพพานก็จงละไปให้ถึงที่สุด พิจารณาอาการ ๓๒ ให้จิตทรงตัว แล้วการตัดร่างกายจักง่ายเข้า มุ่งตัดร่างกายของตนเองเป็นสำคัญ

ถ้าหากตัดร่างกายของตนเองได้แล้ว ร่างกายของบุคคลอื่นก็จักตัดได้เอง อย่าไปห่วงใคร งานทุกอย่างทำตามหน้าที่ โดยพยายามอย่าเอาจิตไปเกาะ.. ทำเสร็จแล้วก็แล้วดับไป การทำงานของร่างกายก็เหมือนกับการมีชีวิตอยู่ นั่นเป็นหน้าที่ของมัน แล้วในที่สุดงานก็ดี ชีวิตของร่างกายก็ดี ย่อมถึงกาลอนัตตาไปในที่สุด เราทำงาน หรือมีชีวิตอยู่เพื่อรอความตายเท่านั้น ให้มีความรู้สึกเอาไว้เสมอ ความตายมาถึงเมื่อไหร่ จุดที่จิตเราต้องการคือพระนิพพานเท่านั้น ในยามปกติจึงพึงทำกาย - วาจา - ใจให้พร้อมอยู่ในศีล - สมาธิ - ปัญญา เพื่อพระนิพพานด้วย

ลัก...ยิ้ม
18-08-2014, 17:18
๖. ถ้าจิตฟุ้งซ่านให้พยายามจับอานาปาฯ เข้าไว้ รวมทั้งใช้ปัญญาพิจารณากฎของกรรมตามความเป็นจริง (กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ) ถ้าหากจิตยังละสักกายทิฏฐิไม่ได้ ก็ย่อมยังมีอารมณ์ โกรธ - โลภ - หลง อยู่เป็นธรรมดา และชอบทำอะไรตามใจตนเองเป็นใหญ่อย่างนี้ทุกคน และก็เป็นธรรมดาอีกที่อยากให้ทุกคนตามใจเรา บางครั้งทำอะไรให้ใครก็ยังหวังผลตอบแทนอยู่ในใจ มิใช่ทำเพื่อพระนิพพาน ก็เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละ ทุกอย่างล้วนอยู่ในตัวสักกายทิฏฐิ ซึ่งแปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เนื่องด้วยร่างกาย ซึ่งเมื่อรู้แล้วก็พึงละเสีย อย่าคิดว่ายาก หากตั้งใจละให้จริงก็จักละได้

ลัก...ยิ้ม
19-08-2014, 08:46
๗. ติดตรงไหนให้ตัดตรงนั้น ให้มองทุกสิ่งไม่เที่ยง - เป็นทุกข์ - เป็นอนัตตา แล้วก็เห็นโลกทั้งโลกเป็นอยู่อย่างนั้น ยึดถืออันใดมิได้ จิตหวนเข้ามาพึ่งหรือยึดสิ่งที่เที่ยงแล้ว คือคุณพระรัตนตรัย ยึดพระธรรมคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้า เจริญจิตให้มั่นคงอยู่ในศีล - สมาธิ - ปัญญา หรือ ทาน-ศีล-ภาวนา มุ่งหวังพระนิพพานจุดเดียว เอาบารมี ๑๐ เสริมเป็นกำลังใจให้เต็มอยู่เสมอ พิจารณาดูสุขในโลกียวิสัย จุดไหนที่ยังเกาะอยู่หาต้นเหตุให้พบแล้วแก้ไขเสีย ถามจิตให้จิตตอบ เรื่องนี้มิใช่จักเตือนแต่เจ้าเท่านั้น แม้แต่คุณหมอเองก็ตาม ติดอยู่จุดไหนให้พิจารณาจุดนั้นถึงที่สุด แล้วจักพบแต่ความสุขที่มั่นคงของจิต อันเป็นผลที่ได้จากการปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ภายนอก หรือจากบุคคลอื่นเลย อย่าลืม ติดตรงไหน ให้ตัดตรงนั้น

ลัก...ยิ้ม
21-08-2014, 08:35
๘. ร่างกายไม่มีแก่นสารสาระก็จริงอยู่ แต่การดำรงอัตภาพให้เป็นไปในช่วงที่มีชีวิตอยู่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้จิตที่อาศัยกายอยู่มีความสุขได้ด้วย การเดินสายกลาง.. ไม่เบียดเบียนร่างกายตนเองด้วย ไม่เบียดเบียนจิตใจของตนเองด้วย ไม่สร้างกิเลสคือ ความทะยานอยากให้เกิดขึ้นในรสอาหารมากจนเกินไปด้วย หากแต่ให้คำนึงถึงสุขภาพของร่างกายเป็นสำคัญ

เรื่องนี้เป็นความละเอียดอ่อนของจิต เพราะจิตรู้ จิตอาศัยอยู่ในเรือนคือร่างกายนี้ ยิ่งเรียนรู้ศึกษาเรื่องธาตุ ๖ (ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ - อากาศ และวิญญาณธาตุ) ศึกษาอาการ ๓๒ พร้อมแล้ว เห็นการประชุมธาตุการทำงานของอาการ ๓๒ วิญญาณธาตุคืออายตนะทั้ง ๖ หรือประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ของร่างกาย เพราะความหลง - โกรธ - โลภ ไม่มี วิญญาณธาตุหรือายตนะ ก็ไม่เบียดเบียนกายกับจิต เห็น - รู้การทำงานของธาตุของอาการ ๓๒ เป็นไปตามปกติหน้าที่ ร่างกายก็สบาย จิตก็สบาย จักมีการเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างก็ตามกฎของกรรม อันเป็นวิบากกรรมในอดีตชาติตามมาให้ผล ล้วนเป็นกฎธรรมดาของร่างกาย (สัทธรรม ๕) การดำรงชีวิตอยู่ของอัตภาพร่างกาย ตถาคตจึงกล่าวถึงปัจจัย ๔ หรือ ปัจจเวกขณ์ ๔ ให้ภิกษุสงฆ์ได้พิจารณาเพื่อกายเป็นสุข จิตเป็นสุขในมัชฌิมาปฏิปทา ๔ อย่างนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เพื่อรักษาร่างกายไว้เพื่อประกอบความดี คือเพียรเพื่อมรรคผลนิพพานแห่งจิตของตนเท่านั้น เป็นประการสำคัญ

ลัก...ยิ้ม
22-08-2014, 08:34
๙. ให้ถือทุกอย่างเป็นกรรมฐาน ห้ามบ่นถึงสุขภาพไม่ดี ห้ามบ่นถึงโชคชะตาไม่ดี เพราะทุกอย่างล้วนเป็นครูทดสอบอารมณ์จิตของตน ทุกคนที่ปรารถนาจักไปพระนิพพาน ก็จักต้องมีข้อทดสอบทยอยเข้ามากระทบอยู่เนือง ๆ ให้พิจารณาเข้าหาทุกข์ อันเป็นอริยสัจ กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ อันเป็นตัวปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญ

พิจารณาเข้าหาสัทธรรมทั้ง ๕ ซึ่งทุกคนจักต้องพบ คือความปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ หากจิตไม่ยอมรับ.. จิตก็จักดิ้นรน ก็ยิ่งเพิ่มทุกข์ให้กับจิตตนเองเป็นธรรมดา ให้พิจารณาตามเหตุตามผลตามความเป็นจริง จิตที่ยอมรับในกฎของกรรมก็จักคลายความเดือดร้อนลงได้มาก คือรู้อย่างผู้มีปัญญา ฉลาดในธรรม รู้ว่าสิ่งใดเป็นบุญกุศล สิ่งใดเป็นบาปอกุศล รู้แล้วยอมรับในกฎของกรรม กฎของธรรมดาอันเป็นอริยสัจ จิตก็จักไม่ปรุงแต่ง หรือหวั่นไหวไปในกรรมนั้น ๆ ทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด จิตก็สงบเป็นสุข เป็นอัพยากตธรรม หรืออัพยากตาธรรมา จำไว้พระตถาคตเจ้าทั้งหลายสอนให้พ้นทุกข์ ด้วยการให้รู้จักตัวทุกข์จึงจักพ้นทุกข์ได้ มิใช่สอนให้หนีทุกข์ และไม่รู้จักตัวทุกข์ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ ก็คือ อริยสัจหรือกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุนั่นเอง

ลัก...ยิ้ม
27-08-2014, 09:01
๑๐. ร่างกายที่ประกอบด้วยกายกับจิต คือตู้พระไตรปิฎกแสดงธรรมอยู่ตลอดเวลา พวกเจ้ามีปัญญาก็เห็น ไม่มีปัญญาก็ไม่เห็น เช่น มีความไม่เที่ยงอยู่เป็นปกติ กาย - เวทนา อารมณ์ของจิต และธรรมะที่เป็นสมมติธรรม ล้วนเกิด - ดับ ๆ เป็นสันตติธรรม เกิด - ดับ ๆ อยู่อย่างนั้น ยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์ ผู้รู้ไปรู้ธรรมเกิด - ดับ หรือธรรมไม่เที่ยงทั้ง ๔ นี้ก็คือตัวเรา หรือจิตใจ หรือจุติวิญญาณที่มาอาศัยร่างกายที่ไม่เที่ยงนี้อยู่ชั่วคราวตามกฎของกรรม แล้วเห็นความตายของร่างกายนี้เป็นธรรมดา ทุกชีวิตหนีความตายไม่พ้น ให้พิจารณาไปจนจิตปล่อยวางร่างกาย เบื่อหน่ายในร่างกาย แล้วตั้งใจมั่นว่าจักไม่กลับมามีร่างกายอย่างนี้อีกต่อไป ในแนวทางของวิปัสสนาญาณ ๙ หรือตามปกิณกธรรมที่ให้ไว้มากมายหลายวิธี ล้วนเป็นอุบายในการพิจารณาเพื่อละ ปล่อย – วางร่างกาย หรือขันธ์ ๕ ว่ามันหาใช่เรา หาใช่ของเราไม่

จิตเราชอบอุบายใดก็ให้เร่งรัดปฏิบัติตามอุบายนั้น ๆ โดยมีสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัด ซึ่งหากเข้าใจก็คือมุ่งให้เกิดอธิศีล-อธิจิต และอธิปัญญาตามลำดับนั่นเอง และมีบารมี ๑๐ เป็นเครื่องช่วย มีอานาปานุสติที่จักต้องเจริญอยู่ตลอดเวลา เพื่อระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ ทำจิตให้สงบเป็นสุข ช่วยระงับเวทนาของกายไปด้วยในตัว พิจารณากายคตาฯ ควบอสุภกรรมฐาน และมรณาฯ ควบอุปสมานุสติอยู่เสมอ ด้วยความไม่ประมาทในชีวิต จิตใครจิตมัน จักต้องรีบปฏิบัติธรรมให้เห็นผลที่จิตของตนเอง เพราะธรรมของตถาคตเป็นปัจจัตตัง ทุกอย่างมุ่งหวังพระนิพพานเป็นหลักใหญ่ แต่อย่าคิดเอาตัวรอดแต่ผู้เดียว ในพุทธศาสนาจักเกื้อกูลกันเป็นทอด ๆ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา ไม่ใช่สอนให้เห็นแก่ตัว แต่ที่สำคัญ จักต้องตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ข้อแรกให้ได้ก่อน คือพ้นจากอบายภูมิ ๔ จิตเป็นพระโสดาบันแล้วจึงจักออกประกาศพระพุทธศาสนาได้ เพราะจักไม่สอนผิด ไม่พูดผิด ๆ ในพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต ไม่สงสัยในธรรมของตถาคตเรื่องพระนิพพานแล้ว จิตรู้แค่ไหนก็สอนแค่นั้น ไม่เดาส่ง ไม่คาดคะเนเอาแบบโหร ไม่แสดงธรรมที่ยังไม่มีในตนเป็นอันขาด

ลัก...ยิ้ม
01-09-2014, 11:39
๑๑. อย่าไปเอาวิชา - ความรู้ - ศักดิ์ศรี - ฐานะ - ตระกูล มาเป็นเครื่องตัดกิเลส เพราะนั่นเป็นเพียงสิ่งภายนอก มิใช่ตัวจิตแท้ ๆ ถ้าไปยึดถือเอาก็เป็นมานะกิเลส ให้พิจารณาถึงตัวจิตล้วน ๆ วิชาความรู้นั้นเกิดจากสัญญา แต่วิชาในพุทธศาสนา คนที่ไม่ได้ศึกษาวิชาทางโลกมาเลย เช่น ชาวนา - ชาวสวน – ชาวไร่ มาศึกษาวิชาทางธรรม ก็ยังจบกิจได้ โดยอาศัยปัญญาตัดกิเลสในจิตของตนเอง คือธรรมภายในอันมี ศีล – สมาธิ - ปัญญา ซึ่งเป็นธรรมภายใน หรือ ทาน - ศีล - ภาวนา ซึ่งเป็นปฏิบัติบูชา เป็นกรรมหรือการกระทำทาง กาย - วาจา - ใจ ของตนเอง หาได้เกี่ยวกับ วิชา - ความรู้ - ศักดิ์ศรี - ฐานะ หรือตระกูลแม้แต่อันใด

ดังนั้น จงอย่าไปติดแม้อันใดอันหนึ่งที่ว่ามานี้ เพราะปุถุชนมีความทะเยอทะยานอยาก ไม่รู้จักพอในสิ่งเหล่านี้ (จิตพร่องอยู่เป็นนิจ เพราะตกเป็นทาสของตัณหา) กล่าวคือ อยากมีวิชาดี - ความรู้ดี - ศักดิ์ศรีดี - ฐานะดี และตระกูลดี จักดีแค่ไหนก็ยังไม่รู้จักพอ ยังจักขอให้ดีกว่าบุคคลอื่น จำไว้..ในการปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น จงอย่าหวังผลตอบแทนในการกระทำความดีทั้งหมด แม้แต่คำว่าขอบใจหรือคำสรรเสริญ เรามุ่งทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว หากทำได้จิตจักเป็นสุขเป็นที่สุด อย่าไปเอาอารมณ์ของปุถุชนมาเป็นอารมณ์ของตน เพราะปุถุชนทำอะไรนิดหนึ่งก็หวังผลตอบแทนเป็นธรรมดา และคำว่าทำดีแล้วจงอย่าติดดี ก็คือการกระทำดีที่เป็นกุศล แล้วไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่คำสรรเสริญจากบุคคลภายนอก แต่ก็ต้องไม่สรรเสริญตนเองด้วย

ลัก...ยิ้ม
04-09-2014, 09:03
๑๒. คุณหมอสบสันต์มีโอกาสบวช ก็นับว่าโชคดี เพราะโอกาสอย่างนี้หาได้ยาก การปฏิบัติของคุณหมอก็ไม่ทิ้งกรรมฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เต็มตัว ทั้งกาย - วาจา - ใจ เมื่อเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ก็เป็นโชคดี เพราะโอกาสอำนวย หนทางทุกอย่างเปิดช่องให้สะดวกหมด แต่สำหรับคุณหมอสมศักดิ์นั้น โอกาสยังไม่มี การบวชเป็นเรื่องของบุญวาสนาบารมีด้วย อยู่ที่ความพร้อมของกายหรือครอบครัวด้วย เมื่อคุณหมอยังไม่สะดวกก็บวชใจไปพลาง ๆ ก่อน ตัดสังโยชน์ ๑๐ ได้ขาด ก็เป็นพระอรหันต์ได้เช่นกัน ทุกอย่างเป็นบุญกรรมที่ทำเอาไว้ก่อนในอดีต การบวชใจบวชได้ทุกคน แต่การบวชกายนั้นมีได้แต่เฉพาะบางคนเท่านั้น

ลัก...ยิ้ม
11-09-2014, 09:44
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม

สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. ร่างกายไม่มีสาระแก่นสารก็จริงอยู่ แต่ถ้าใช้ให้เป็นก็เป็นประโยชน์ได้ อย่างใช้ร่างกายไปสร้างความดีก็เป็นกุศล เรียกว่าใช้ร่างกายไปในทางที่ถูก เป็นหนทางของการสร้างบารมี แต่ถ้ากำลังใจเลว ก็ใช้ร่างกายไปทำบาปเป็นอกุศล ทั้งนี้ทั้งนั้น คนเราหรือร่างกายจักทำเลวหรือดีได้ ก็อยู่ที่จิตเป็นผู้บงการ เพราะฉะนั้น จงดูอารมณ์จิตของตนเองเอาไว้ให้ดี อย่าให้กรรมอกุศลเข้ามาครอบงำจิต ให้พิจารณาร่างกายย้อนไปย้อนมาจนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว จนกระทั่งแก่ จนกระทั่งตาย ร่างกายนี้หาความเที่ยงไม่ได้เลย มีแต่ความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แม้เวทนาก็เหมือนกัน แต่เด็กมาก็เคยเจ็บ - ป่วยอยู่เสมอ มันก็ไม่เที่ยง มันเป็นได้มันก็หายได้ เป็น ๆ หาย ๆ ป่วยก็เป็นทุกขเวทนา พอหายก็เหมือนกับเป็นสุขเวทนา แต่จริง ๆ มันทุกข์น้อยลงเท่านั้นเอง

หากคิดให้ดี ๆ ร่างกายนี้ไม่มีเวลาสุขจริงเลย มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย แสดงธรรมที่ไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา หากจิตพิจารณาบ่อย ๆ ทำอย่างต่อเนื่องก็จักเห็นสันตติธรรม เห็นกายมันเกิด - ดับ ๆ อยู่เหมือนกับสายน้ำไหล ไม่มีเวลาหยุด ระหว่างที่กายยังไม่ตาย ก็ต้องเป็นภาระดูแลมัน (ภาราหะเว ปัญจักขันธา) ให้ร่างกายเป็นสุขในทางสายกลาง พอยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป คือสบายเกินไป หรืออยู่อย่างเบียดเบียนร่างกายเกินไป จักต้องอยู่ในความพอดีโดยอาศัยพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักในการปฏิบัติ

ลัก...ยิ้ม
16-09-2014, 17:01
๒. อย่าไปแก้กรรมของใคร อย่าไปรับกรรมของใคร ให้ปล่อยวาง กรรมใครกรรมมัน เพราะทุกคนต่างก็มีกรรมหนักที่จักต้องเลี้ยงดูร่างกายตนเองและครอบครัวซึ่งหนักอยู่แล้ว หากขาดปัญญาก็มักจักไปยุ่งกับกรรมของผู้อื่น ในบางครั้งทั้ง ๆ ที่มีเจตนาดี หากไปทำกรรมที่เป็นโทษ โดยคิดว่ามันไม่เป็นโทษ ก็ยังเป็นโทษอยู่ดี อนึ่ง.. จงอย่าไปบังคับศรัทธาของผู้อื่น เพราะการศรัทธาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ให้จิตปล่อยวางกรรมของผู้อื่นด้วยปัญญา อย่าเอาแค่สัญญา

ลัก...ยิ้ม
18-09-2014, 10:41
๓. อย่าเศร้าใจ อย่าเสียใจ เมื่อถูกกระทบโดยอายตนสัมผัส ให้เห็นทุกอย่างเป็นครูหรือบทเรียนสอนใจ ปรับจิตให้เห็นธรรมดาในเรื่องของทุกเรื่องไป ให้เอาเรื่องที่เข้ามากระทบนั้นเป็นพระกรรมฐานทั้งหมด และอย่าไปโทษใครว่าทำให้เราเป็นทุกข์ ให้โทษความโง่ของเราเองที่หลงเกิดมามีขันธ์ ๕ ทำให้ต้องพบกับความทุกข์กับสัทธรรมทั้ง ๕ อย่างหนีไม่พ้น ทุกๆ ครั้งที่เกิดมามีร่างกาย ใช้ปัญญาให้ยอมรับกฎของกรรมอันเป็นอริยสัจ ทำจิตของเราให้ผ่องใส บริสุทธิ์ใจเข้าไว้กับทุก ๆ คน จักทำให้เข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย

ลัก...ยิ้ม
23-09-2014, 16:50
๔. ร่างกายไม่มีสาระแก่นสาร แต่เหตุไฉนจึงเป็นที่ผูกพันของจิตมาเป็นอสงไขยกัปนับไม่ถ้วน หากไม่หมั่นพิจารณาร่างกาย จักออกจากกองสังขารนี้ได้อย่างไรกัน ขอพวกเจ้าจงอย่าขี้เกียจ แม้จิตมันจักคร้าน ไม่ขยัน ก็ให้พยายามพิจารณาวันละนิด วันละหน่อย เหมือนดังสมัยรักษาศีล ตั้งใจไม่ให้ศีลขาด - ศีลด่าง - ศีลพร่อง ก็ระมัดระวังอยู่ การพิจารณาร่างกายก็เช่นกัน หรือแม้แต่การพิจารณาอารมณ์จิตก็เช่นกัน มีอะไรมากระทบจิต ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นแก่จิต ลักษณะอาการของความทุกข์ย่อมกำหนดรู้ได้ เพราะเป็นเครื่องเสียดแทง เมื่อรู้ก็พึงหมั่นละ - ปล่อย - วางอารมณ์ที่เป็นทุกข์ให้ออกไปจากจิต ต้องค่อย ๆ ทำไป มิใช่จักฝึกได้กันในวันสองวันเท่านั้น

อย่าลืม พระสาวกกว่าจักบรรลุได้ต้องอาศัยเวลาบำเพ็ญบารมีตั้งหนึ่งอสงไขยกำไรแสนกัป พวกเจ้าแม้จักบำเพ็ญบารมีตามท่านฤๅษีมามากก็จริงอยู่ แต่ก็เพิ่งจักมาลาพุทธภูมิตามท่านฤๅษีในชาตินี้ พุทธภูมิที่บำเพ็ญมาไม่ได้บำเพ็ญเพื่อเป็นพระอริยเจ้า เมื่อลาพุทธภูมิก็ต้องมาขึ้นต้นกันใหม่ แม้อารมณ์พุทธภูมิจักเข้มข้นกว่าพระสาวกก็ตาม การรู้มากก็มิใช่ว่าจักดีเสมอไป เพราะจับหนทางไม่ถูก เรียกว่ากรรมฐาน ๔๐ กองนั้น ตั้งท่าว่าจักชอบหมดทุกกอง เลยจับอะไรไม่ถูก เรียกว่าส่วนใหญ่รู้ดี แต่จิตยังเข้าไม่ถึงความดีอย่างแท้จริง คือ การกำหนดรู้ตัดสังโยชน์ ๑๐ ยังมีกำลังอ่อนไป จึงจำเป็นต้องหมั่นฝึกฝนการพิจารณาร่างกาย และอารมณ์ของจิตที่เข้ามากระทบให้เกิดทุกข์ขึ้นบ่อย ๆ

มาถึงจุดนี้แล้วก็จักเห็นว่า เกาะสุขก็เป็นทุกข์ เพราะสุขทางโลกก็ไม่เที่ยง หากไม่เข้าใจจุดนี้ จิตก็จักมีอุปาทาน หลงแสวงหาสุขที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ ซึ่งต่างกับสภาวะจิตที่เข้าถึงพระนิพพาน ไม่สุข - ไม่ทุกข์ ไม่เกิด - ไม่ดับ เป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง กล่าวคือกิเลสทั้งปวงไม่มีเข้ามากล้ำกลายในจิต จิตไม่มีอาการเสียดแทงหรือหวั่นไหวด้วยประการทั้งปวง (มีผู้เข้าใจผิดเป็นอันมากว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์สาวกก็ดี เป็นผู้ไกลจากกิเลส) พึงพิจารณาจุดนี้ให้ดี เห็นอารมณ์แล้ว หมั่นสอบจิต สำรวมจิต ระมัดระวังจิต หากรู้ไม่เท่าทันก็สอบตกอยู่เป็นธรรมดา จงอย่าละความเพียรเสียอย่างเดียว แล้วที่สุดจิตจักรู้หนทางหลุดพ้นได้เอง

ลัก...ยิ้ม
29-09-2014, 10:39
๕. มองเห็นโทษของทุกขเวทนาแล้ว ก็พึงมองไปถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นด้วย เมื่อเห็นต้นเหตุ คือสมุทัยนั่นแหละ จึงพึงแก้ที่ต้นเหตุ ไม่มีทุกข์อันใดหรือโทษอันใดที่รู้ต้นเหตุแล้ว จิตนั้นจักล่วงทุกข์ไม่ได้ นอกเสียจากว่าเป็นอาภัพพบุคคล ที่ธรรมะของตถาคตเจ้าทั้งหลายโปรดไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกำลังใจอย่างเดียวเท่านั้น หากบุคคลใดเดินให้ตรงทางของ ศีล - สมาธิ - ปัญญา หรือมรรค ๘ แล้ว จึงจักล่วงทุกข์ไปได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกำลังใจอย่างเดียว แม้ร่างกายจักไม่ดี ก็ขอให้รักษากำลังใจให้ดีไว้ก็แล้วกัน

ลัก...ยิ้ม
01-10-2014, 11:22
๖. มองทุกสิ่งทุกอย่างในโลกก็ไม่เที่ยง ยึดถือเข้าก็เป็นทุกข์ ทุกอย่างที่สุดเป็นอนัตตา โลกนี้ทั้งโลกในที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ อย่าคิดหวังพึ่งโลกอีกต่อไป และให้พิจารณาตัด - ปล่อย - วางอุปาทานขันธ์ ๕ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ กฎของกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อน ก็ให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกรรมใดที่จิตเราไม่เคยก่อไว้ในอดีต วิบากนั้น ๆ จักเกิดขึ้นกับเรานั้นเป็นไปไม่ได้ ที่เป็นทุกข์นั้นเพราะจิตมันฝืน ไม่ยอมรับนับถือกฎของกรรมจึงทำให้ทุกข์ ต้องฝึกฝนอบรมจิต อย่าให้ดิ้นรนไปฝืนโลกฝืนธรรมแล้วจิตจักเป็นสุข โดยการยอมรับนับถือกฎของธรรม กฎธรรมดาของขันธ์ ๕ ทุกอย่างล้วนเป็นธรรมดาทั้งสิ้น สิ่งใดไม่ดีอย่าจำมาทำร้ายจิตของตนเอง ทิ้งออกไปให้หมด ตั้งหน้าตั้งตาเดินไปตามศีล - สมาธิ - ปัญญาอย่างไม่หยุดยั้ง อย่าท้อถอย แล้วสักวันหนึ่งก็จักถึงจุดหมายปลายทางได้เอง

ลัก...ยิ้ม
03-10-2014, 10:11
๗. ร่างกายไม่มีแก่นสารก็จริงอยู่ แต่เมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนร่างกาย ก็จำเป็นที่จักต้องหาทางรักษาเพื่อบรรเทาทุกขเวทนาของร่างกาย จักได้ไม่ส่งผลมาถึงจิต ทำให้จิตพลอยถูกเบียดเบียนไปด้วย ให้พยายามแยกกาย - เวทนา - จิต – ธรรม ออกจากกัน ว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องของกาย สิ่งไหนเป็นเรื่องของจิต ให้ตั้งใจทำให้ดี อย่าท้อแท้กับเหตุใด ๆ ทั้งปวง ให้พิจารณาลงตัวธรรมดาเสียให้ได้ แล้วทุกอย่างก็จักไม่เป็นเรื่องที่สร้างความหนักใจให้

เรื่องนี้ให้ดูท่านพระ... เป็นตัวอย่าง ร่างกายของท่านไม่ดี ท่านยิ่งตัดใจวางขันธ์ ๕ ให้มากขึ้น จิตอยู่ในอารมณ์สักแต่ว่าให้มันเป็นไปตามเรื่องของขันธ์ ๕ เท่านั้น จิตของท่านจึงเป็นสุข ร่างกายยิ่งใกล้จักพังยิ่งเป็นสุขใหญ่ แต่มิใช่แกล้งให้มันพัง จิตท่านมีเมตตากับร่างกายตนเองมาก แต่ในขณะเดียวกัน อารมณ์วางเฉยในร่างกายก็ทรงตัว.. เป็นเอกัคตารมณ์

ลัก...ยิ้ม
06-10-2014, 15:06
๘. ร่างกายไม่ดีย่อมพาจิตให้ไม่ดีไปด้วย มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ร่างกายไม่ดี.. จิตใจไม่เกี่ยวเกาะร่างกาย จิตของท่านดีอยู่เสมอ อารมณ์ของท่านไม่มีไหลขึ้นไหลลง จิตคงที่ไม่มีความหวั่นไหวไปกับร่างกาย เพราะฉะนั้น..เจ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ จึงยังมีอารมณ์ไหลขึ้นไหลลง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ยิ่งวันไหนร่างกายแย่ จักเห็นอารมณ์ของจิตแย่ตามชัด ก็นับว่าเป็นปกติธรรมอยู่ เพราะผู้มีอารมณ์จิตไม่ไหลขึ้นไหลลง มีอยู่แต่พระอรหันต์เท่านั้น เวลานี้พวกเจ้าให้สังเกตท่านพระ...ให้ดี ปฏิปทาจริยาของท่านจักเป็นครูสอนพวกเจ้าสืบไป

ลัก...ยิ้ม
07-10-2014, 11:17
๙. งานทางโลกทำเท่าไหร่ไม่รู้จักจบ ต่างกับงานทางธรรมทำแล้วมีทางจบ ไม่ต้องกลับมาทำแล้วทำอีก และจงหมั่นพยายามปล่อยวางความกังวลใจในเรื่องทุกเรื่องลงเสีย ด้วยการพิจารณาให้เห็นทุกข์ และเห็นธรรมดาในเรื่องนั้น ๆ อย่าเอาจิตไปเกาะงานให้มากนัก ให้พิจารณาลงตัวธรรมดาเข้าไว้ เพราะนี่แหละคือความปรารถนาที่ไม่สมหวัง มันเป็นของธรรมดา พึงวางอารมณ์ให้อยู่ในความดี และเห็นเป็นกฎของกรรมลงเสีย จิตก็จักไม่ดิ้นรนฝืนโลก ฝืนธรรมให้เกิดความทุกข์ จิตปล่อยวางทุกอย่างลงตัวธรรมดาหมด ความสุขก็จักเกิดขึ้นได้ ให้พิจารณาค้นหาความจริงให้พบ น้อมจิตพิจารณาลงไป อย่าทิ้งอารมณ์แล้วจักเห็นหนทางไปได้ดีในการปฏิบัตินี้

ลัก...ยิ้ม
09-10-2014, 10:20
๑๐. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้ เป็นของใครก็ไม่รู้ มันเป็นสมบัติของโลก ซึ่งไม่มีใครเอาไปได้ อย่าไปดูว่ามันดีหรือมันเลว ให้เห็นมันเป็นธรรมดาทุกอย่าง จักแก่ จักเจ็บ จักตายด้วยโรค หรือด้วยเหตุประการใดก็เป็นธรรมดา อย่าไปวิตกอย่าไปกังวลให้มากนัก ร่างกายจักเป็นเช่นไรก็เป็นเรื่องธรรมดา ให้ใช้จิตพิจารณาคำว่าธรรมดาเข้าไว้ จิตจักไม่ดิ้นรน.. เยือกเย็นทุกอย่าง ความสุขจักเกิดขึ้นกับจิตมาก.. หากรักษาอารมณ์ที่เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมเข้าไว้ ที่สุดแม้แต่ความตาย จักเข้ามาถึงร่างกายก็ยังเป็นของธรรมดา

ลัก...ยิ้ม
13-10-2014, 10:00
๑๑. ให้ดูร่างกายที่ไม่เที่ยงเข้าไว้ แล้วก็ให้ดูจิตที่มีอารมณ์ไม่เที่ยงเข้าไว้ แล้วหวนดูความปรารถนา หรือความทะยานอยากของจิตเข้าไว้ ใครจักเป็นผู้ดับความกระหาย หรือความทะยานอยาก หรือความปรารถนาของจิตได้ ถ้าดับด้วยการสนองตัณหาก็คือกิเลส ถ้าดับด้วยปัญญาก็จักเห็นแนวทางความสุขของจิตชัด ไม่มีความทะยานอยากด้วยกิเลส ไม่มีการสนองกิเลส จิตเห็นธรรมดาของอารมณ์ เห็นช่องทางที่จักไปให้พ้นได้จากวัฏสงสาร อย่าท้อถอย อย่าอ่อนแอ อะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย อะไรเกิดขึ้นกับอารมณ์ นั่นเป็นของธรรมดา.. ปล่อยวางไปให้ถึงที่สุด ปล่อยวางด้วยปัญญาอันตั้งมั่นมาจากสมาธิ อันเกิดมาแต่ศีลบริสุทธิ์เท่านั้น ทำกำลังใจให้เต็มเข้าไว้ เรื่องของการปฏิบัติไม่มีใครช่วยใครได้ สำคัญอยู่ที่กำลังของตนเองเป็นสำคัญ

ลัก...ยิ้ม
21-10-2014, 09:34
๑๒. อย่ากังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งปวง ทำจิตให้สบาย ๆ ให้เห็นกฎของกรรมให้ชัด อย่าทำจิตให้เดือดร้อน ดูกรรมดี กรรมที่เป็นกุศลเข้ามาก็ส่งผลดีให้ (เป็นธรรมดา) อย่าให้หลงใหล ดูกรรมชั่ว กรรมที่เป็นอกุศลเข้ามาก็ส่งผลให้เป็นผลเสียเข้ามา (เป็นธรรมดา) ไม่ว่าทางด้านกาย - วาจา - ใจ ก็ให้เห็นเป็นของธรรมดา โลกนี้ทั้งโลกหาความเที่ยง หาความสงบไม่ได้ กำหนดจิตปล่อยวางโลกให้ได้มากที่สุดแล้วจิตจักเป็นสุข แต่ไม่ใช่ไม่รู้เท่าทันโลกเลยนะ ให้รู้แจ้งโลก จึงวางโลกได้ ไม่ว่าจักเป็นโลกภายนอกหรือโลกภายใน อะไรมันเกิดก็ให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา แล้วหมั่นดูจุดยืน คือกระทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานเอาไว้ให้ดี จิตจักได้มั่นคง ไม่อ่อนไหวง่าย เห็นทางไปพระนิพพานได้อย่างชัดเจนแจ่มใส อย่าลืมพระนิพพาน เขาเอาใจไปกัน..ใช่เอากายไปกัน อย่าห่วงร่างกายให้มากนัก และจงอย่าประมาทในกรรมทั้งหลายทั้งปวง เตือนเพียงเท่านี้แล้วนำไปพิจารณาเอาเอง

ลัก...ยิ้ม
29-10-2014, 10:45
๑๓. เห็นโทษของการเกิดนั้นเป็นของดี ให้พิจารณาย้อนไปว่า การเกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก จักทุกข์มากขนาดไหน ? พิจารณาย้อนไปให้เห็นชัดถึงตัวโทษของการเกิดอารมณ์ รัก - โลภ - โกรธ - หลงนั้น ๆ มีผลอย่างไร ? ทุกอย่างล้วนเป็นอริยสัจ กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุทั้งสิ้น ใครทำใครได้ กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอและให้ผลไม่ผิดตัวด้วย จุดนี้หมั่นพิจารณาให้มาก การพูดการอ่านเท่าไหร่ก็ไม่ละเอียดเท่ากับการใช้จิตพิจารณาเอาเอง ให้จิตของเรารู้เอง ใครจักมาบอกเราให้รู้สัก ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ก็สู้เรารู้ด้วยจิตของเราเองครั้งเดียวไม่ได้ ตถาคตไม่จำเป็นต้องตรัสให้มากไปกว่านี้ ตรัสเพียงเท่านี้ก็สามารถนำไปพิจารณาปฏิบัติได้แล้ว

ลัก...ยิ้ม
03-11-2014, 11:26
๑๔. การนินทาว่าร้ายคนอื่น จิตของผู้นั้นจักร้อนรุ่มเป็นที่สุด พิจารณาจุดนี้ให้มาก พยายามรักษากาย - วาจา - ใจให้สงบเป็นสุขเป็นสิ่งที่ดี คิดไว้เสมอว่ากรรมของใครก็กรรมของมัน เตือนใจไว้เสมอ อย่าไปสนใจกับกรรมของผู้อื่น ใครจักด่าจักนินทาก็เรื่องของเขา เรามิได้ดี หรือเลวไปกับคำด่าคำนินทาของเขา ดีหรือเลวอยู่ที่ศีล - สมาธิ - ปัญญา ของกาย - วาจา - ใจของเราเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับบุคคลอื่นเลย ให้มีสติกำหนดรู้จุดนี้เอาไว้ให้ดี จักไปพระนิพพานต้องผ่านจุดนี้ให้ได้ ดูภายในคือกาย - วาจา - ใจของตน อย่าให้บกพร่องในศีล-สมาธิ-ปัญญา แม้แต่ชั่วขณะจิตหนึ่ง ดูภายนอกคือกาย-วาจา-ใจของบุคคลอื่น ปล่อยวางให้มากที่สุดเพราะไม่เกี่ยวกันเลย พยายามพิจารณาให้ลงตัวธรรมดา เห็นธรรมดาของร่างกาย เห็นธรรมดาของโลกธรรม ๘ เห็นธรรมดาของอารมณ์ให้มาก.. จิตจักได้ไม่ดิ้นรน เยือกเย็นลง เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง ไม่ทวนกระแสโลก (ไม่ฝืนโลก) ไม่ทวนกระแสธรรม (ไม่ฝืนธรรม) ทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด วางอารมณ์ให้ถูกแล้วจิตจักเป็นสุข ยังมีชีวิตอยู่ก็ทำหน้าที่ทุกอย่างให้ครบด้วยกำลังใจเต็ม เพื่อพระนิพพานจุดเดียว

ลัก...ยิ้ม
06-11-2014, 12:58
๑๕. อย่าไปขวางกรรมหรือแก้กรรมของใคร ปล่อยวางทุกอย่างให้เป็นไปตามกรรม แม้แต่สภาพของร่างกายตนเองก็เช่นกัน ดูความเกิด ดูความดับของร่างกายเป็นของธรรมดา ไม่ควรอาลัยใยดีหรือกังวลให้มากจนเกินไป มองร่างกายตามสภาพความเป็นจริง แล้วปล่อยวางด้วยปัญญาให้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ หากร่างกายเราเกิดมีอาการเจ็บป่วยขึ้น จงคิดว่าเราอาจโชคดี รีบตัดร่างกายทิ้งไปให้ได้ เราก็ถึงซึ่งพระนิพพานได้เช่นกัน

ขอจงอย่าประมาทในชีวิต และอย่ากลัวความตาย เพราะถ้าไม่ตายก็เข้าถึงซึ่งพระนิพพานอย่างถาวรไม่ได้ เมื่อวาระนั้นมาถึง จงอย่าห่วงอะไรทั้งหมด ให้ตัดใจวางภาระและพันธะหน้าที่ทั้งหมด ทั้งภายนอกและภายใน เพราะมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้ จิตมุ่งสู่พระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น (รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน)

ลัก...ยิ้ม
10-11-2014, 09:04
๑๖. เมื่อสอบถามอารมณ์จิตของพระ.... ที่ท่านวางอารมณ์สังขารุเบกขาญาณได้จริงแล้วมีความว่า หากมีผู้หญิงมาสนใจตัวท่าน ของใช้ส่วนตัวท่าน แม้แต่ห้องนอน - ห้องน้ำของท่านจนเกินพอดี ท่านจะคิดอย่างไร ? ท่านตอบว่าแม้แต่ร่างกายหรือ รูป - เวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณ ยังไม่ใช่ของเรา เราคือจิต แล้วห้องน้ำ - ห้องนอน สิ่งภายนอกกาย จะเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร การวางอารมณ์วางเฉย หรือสังขารุเบกขาญาณ คือวางทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกายว่า หาใช่เรา หาใช่ของเราไม่ โดยไม่มีอารมณ์ฝืนกระแสโลก ไม่ฝืนกระแสธรรม มองทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด จิตก็จะไม่เป็นทุกข์

ท่านสอนให้ดูจิตที่เป็นดวงแก้วใสสว่าง ๆ นั่นแหละ คือเราดูอยู่เพียงอย่างเดียว หากยังมีอารมณ์ฝืนโลก - ฝืนธรรมอยู่ ก็ไม่แน่ว่าจะไปพระนิพพานได้ จึงต้องไม่มีอารมณ์ฝืนโลก ฝืนธรรม เหมือนว่ายตามน้ำ ไม่ว่ายทวนน้ำ โลกจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของโลก ให้รักษาอารมณ์จิตอย่างเดียว เพื่อไปให้ถึงพระนิพพานให้ได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างของพระที่ท่านหมดความยึดมั่นถือมั่น ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก รวมทั้งร่างกายที่จิตท่านอาศัยอยู่ว่า ไม่ใช่ท่าน ไม่ได้เป็นของท่าน รู้ชัดว่าไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้ ทุกอย่างในโลกเป็นเพียงแค่สภาวธรรมที่เกิดดับ ๆ อย่างเป็นสันตติธรรม ทุกอย่างในโลกจึงเป็นแค่สมมุติธรรมที่แสดงอยู่ ล่อจิตที่โง่ (มีอวิชชา) ให้ติดและหลงใหลอยู่กับมัน หากวางจุดนี้ได้ก็จบกิจในพระพุทธศาสนา

ลัก...ยิ้ม
12-11-2014, 09:04
๑๗. ให้มีจิตระลึกไว้เสมอว่า ร่างกายนี้จักต้องตายอยู่เสมอ อาจจักตายเดี๋ยวนี้ หรือขณะจิตข้างหน้านี้ก็ได้ อย่ามีความประมาทในชีวิต แล้วจงหมั่นพยายามเลี่ยงให้พ้นซึ่งอารมณ์เศร้าหมองของจิต ให้พิจารณาลงตัวธรรมดาเสียให้หมด ได้เมื่อไหร่ก็เป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น ร่างกายที่เห็นอยู่นี้ อย่าไปคิดว่ามันจักอยู่นาน เพียรพิจารณาถึงความอนัตตาอยู่เสมอ ร่างกายภายนอก สัตว์ - วัตถุธาตุทั้งหลายก็เช่นกัน ที่สุดก็อนัตตาเหมือนกันหมด โลกนี้ทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ จักพึงยึดถือสิ่งใดกับโลกเล่า ถามจิตให้จิตตอบ และให้ยอมรับทุกอย่างตามความเป็นจริง อย่างเช่น ทำงานอะไรก็ให้เอาความสุขกาย - สุขใจเป็นที่ตั้ง และทำด้วยความเต็มใจไม่หวังผลตอบแทนในโลกธรรมทั้งปวง มีอารมณ์หวังเพียงอย่างเดียวคือทำเพื่อการละ การตัดซึ่งความโกรธ – โลภ - หลง นั่นคือการเข้าใจถึงซึ่งกำลังใจเต็ม การกระทำนั้นได้ชื่อว่าทำเพื่อพระนิพพาน ตรัสไว้เพียงสั้น ๆ แค่นี้ แล้วนำไปพิจารณาและปฏิบัติให้ดี

ลัก...ยิ้ม
14-11-2014, 09:42
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม

๑. จงอาศัยการกระทบให้เป็นประโยชน์ของการตัดกิเลส เห็นทุกข์มากเท่าไหร่ ยิ่งเบื่อทุกข์มากขึ้นเท่านั้น จิตจักปล่อยวางทุกข์ลงได้ในที่สุด แต่ต้องอาศัยปัญญาพิจารณาประกอบไปด้วย มิฉะนั้น เห็นทุกข์จักเกาะทุกข์ก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ ถ้าหากมีปัญญาก็จักปล่อยวาง เนื่องด้วยเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง การที่จักพ้นทุกข์ได้ จักต้องรู้จักพิจารณาใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่เสมอ จึงจักปล่อยวางได้

ลัก...ยิ้ม
17-11-2014, 08:39
๒. พิจารณาร่างกาย พิจารณาอารมณ์ ทุกอย่างเกิดขึ้น - ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป อย่าเอาความไม่เที่ยงมาเกาะติดอยู่ในจิตให้เป็นทุกข์ พยายามรักษาอารมณ์เกาะพระนิพพานให้มาก ๆ อย่าห่วงใคร อย่ากังวลกับเหตุการณ์ใด ๆ ทั้งปวง ตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อพระศาสนา เพื่อพระนิพพานจุดเดียว ปล่อยวางเรื่องภายนอกลงเสียบ้าง แม้ชั่วขณะหนึ่งก็ยังดี เพราะยังไม่ใช่พระอนาคามีผล การเจริญพระกรรมฐานต้องหมั่นฝึกให้ได้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ ก็ให้จิตจับมาเป็นกรรมฐานให้ได้ การเผลอนั้นย่อมยังมีอยู่เป็นธรรมดา พยายามประคองจิตอย่าให้หวั่นไหวกับเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบมากนัก แล้วจักมีความสุขขึ้นในจิต

ลัก...ยิ้ม
26-11-2014, 16:54
๔. มองเห็นร่างกายแล้ว ให้ดูอารมณ์ของจิตว่ายึดเกาะร่างกายในส่วนไหนบ้าง การมีอาการถูกกระทบกระทั่งใจ ก็เนื่องด้วยร่างกายเป็นเหตุ ใครจักเกลียด - จักโกรธ - จักกล้ว - จักติ - จักชม ก็เนื่องด้วยร่างกายเป็นต้นเหตุทั้งสิ้น ดังนั้น..การพิจารณารูปและนาม จักต้องย้อนไปย้อนมา จึงจักเกิดปัญญารู้เท่าทันรูป - นาม ตามความเป็นจริงได้ จงอย่าละความเพียรในการปฏิบัติ พึงเร่งรัดกำลังใจขอตนให้ตั้งมั่นอยู่ในการพิจารณารูป - นามอยู่เสมอ นั่นแหละคือหนทางที่จักไปพระนิพพานได้

ลัก...ยิ้ม
01-12-2014, 08:40
๕. การป้องกันคุณไสยทำร้ายกายและจิตให้ไม่สงบ จักต้องไม่มีอารมณ์ปฏิฆะหรือโกรธ เพราะการภาวนาคาถาต่าง ๆ เพียงเพื่อป้องกันเท่านั้น เจ้าไม่ได้ต่อสู้เพื่อทำร้ายเขา ให้ทำจิตให้สงบ ไม่คิดเป็นศัตรูกับใครเข้าไว้ อย่าโกรธ อย่าอาฆาต ภาวนาเพื่อป้องกันเท่านั้นเป็นพอ และจำไว้ว่า อย่าใช้บารมีของตนเองในขณะที่ภาวนาต่อสู้ ให้กำหนดจิตขอบารมีพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ หรือพระอริยสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ จักทำให้เจ้าปลอดภัยจากอำนาจคุณไสยทั้งปวง และจงอย่าคิดว่าตนเองเก่ง ถ้าคิดว่าตนเองเก่งเมื่อไหร่ ดีเมื่อไหร่ พระทุกองค์ก็จักไม่ช่วยเจ้า

ลัก...ยิ้ม
03-12-2014, 15:26
๖. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้เป็นสมบัติของโลก ไม่มีใครสามารถเอาไปได้ โลกนี้ทั้งโลกกอปรไปด้วยธาตุ ๔ ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง มีความสลายตัวไปในที่สุด เจ้าจักยึดถือร่างกายเป็นสรณะที่พึ่งไม่ได้ จักยึดถืออะไรในโลกเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ พิจารณาถึงจุดนี้ ฝึกฝนจิตให้รู้จักกับคำว่าธรรมดาให้มาก และยอมรับคำว่าธรรมดาให้มาก และจงรู้จักคำว่าไม่เบียดเบียนร่างกายตนเองให้มากจนเกินไป และรู้จักเมตตาร่างกายตนเองด้วย เพื่อความอยู่เป็นสุขของจิต ผู้อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ และอย่ากังวลกับสิ่งภายนอกให้มาก จงเป็นผู้มีธุระน้อย หาความพอดีให้กับกายและจิตให้มาก ๆ จึงจักพบกับความสุขอย่างแท้จริง

ลัก...ยิ้ม
09-12-2014, 12:02
๗. การอาศัยความกระทบกระทั่งของอารมณ์ เป็นเครื่องวัดกำลังใจที่จักตัดกิเลส นั่นแหละเป็นของจริง ได้ก็รู้ ตกก็รู้ ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา อะไรที่เข้ามาในชีวิตก็จักต้องทนได้ เพราะต้องการที่จักไปพระนิพพาน ต้องทนได้กับทุก ๆ สภาวะ ให้ตรวจบารมี ๑๐ เข้าไว้ ขาดตัวใดตัวหนึ่งก็ต้องทำตัวนั้นให้เต็ม อย่าให้พร่องแม้แต่หนึ่งนาที แล้วการเจริญพระกรรมฐานก็จักคล่องตัวเอง ทำกำลังใจให้สงบ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจักดีขึ้นเอง อย่าหวั่นไหวในการกระทบ สิ่งใดรู้ว่าแพ้ก็ให้แพ้ไป ตั้งกำลังใจกันใหม่ แผ่เมตตาให้มาก ๆ การปฏิบัติอย่าเครียด คือเอาจริงเอาจังเกินไป อารมณ์ต้องเบา ๆ สบาย ๆ จงอย่าสนใจกรรมหรือการกระทำของผู้อื่น ให้ดูแต่กรรมของตนเองเป็นที่ตั้ง ดูกาย – วาจา - ใจของตนเอง เพียรให้อยู่ในศีล – สมาธิ - ปัญญาเท่านั้น อารมณ์เผลอย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา ได้สติก็ตั้งต้นดึงเข้ามาใหม่

ลัก...ยิ้ม
15-12-2014, 14:29
๘. เหตุการณ์บ้านเมืองเวลานี้ไม่ดี ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าใครดีใครเลว เพราะกฎของกรรมเป็นของตายตัว จึงมิใช่ของแปลก เป็นเรื่องธรรมดาของกฎของกรรม นักปฏิบัติเพื่อต้องการพ้นทุกข์ จงเห็นกฎของธรรมดาเหล่านี้ให้มาก และยอมรับนับถือกฎของธรรมดาด้วย จิตจึงจักสงบเย็นลง ไม่โทษเขาหรือโทษใคร ให้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงไว้เสมอ และจงอย่าได้มีความประมาทในชีวิต พร้อมตายและซ้อมตาย เพื่อเอาจิตเข้าสู่พระนิพพานไว้ด้วยความไม่ประมาท ให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาให้มาก แล้วจิตจักเป็นสุข

ลัก...ยิ้ม
17-12-2014, 09:40
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนกันยายน ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม


สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. สถานการณ์บ้านเมืองก็เสื่อมลงทุกวัน แต่ให้พึงเห็นเป็นกฎของกรรมที่ไม่สามารถจักหลีกเลี่ยงได้ ให้เห็นทุกข์ของการเกิดมาในโลกมนุษย์นี้ กรรมทั้งหลายที่เกิดเนื่องด้วยความไม่รู้จักพอของมนุษยชาติ ด้วยจิตที่พร่องอยู่ในความโลภ - โกรธ - หลง มนุษย์จึงทำปัญหาให้เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย นี่เป็นกฎของธรรมดา อย่าไปโทษว่าใครดี ใครเลว ตราบใดที่จิตยังเข้าไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังนับว่ายังดีไม่พอ เพราะฉะนั้น..จักตำหนิใคร ให้ดูจิตของตนเองเสียก่อน เพราะจิตของตนเองยังเอาดีไม่ได้ ก็ไม่พึงไปติคนอื่นเขา ให้พิจารณาลงตัวธรรมดาเสียให้ได้ แล้วอย่าไปแก้จิตของคนอื่น ให้แก้จิตของตนเองอยู่นี้ให้ดีให้พอ แค่นั้นจิตก็จักเป็นสุข และเป็นที่พอใจของตถาคตเจ้าแล้ว

ลัก...ยิ้ม
24-12-2014, 10:44
๒. ในกรณีเรื่องอาหารอันเป็นคุณแก่ร่างกาย และเป็นโทษแก่ร่างกาย จิตละเอียดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นชัดมากเท่านั้น พระอรหันต์ท่านไม่ฉันเพราะอารมณ์โลภในรสของอาหาร หรือไม่ฉันเพราะเสียดายในอาหารที่จักเสียหรือเน่าแล้ว ท่านฉันเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป กล่าวคือเพื่อร่างกายมีสุขภาพอนามัยดี ไม่บังเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาเบียดเบียนจิตผู้อาศัยอยู่ในกายนี้ เรื่องเหล่านี้คุณหมอน่าจักเข้าใจดี เพราะรู้หลักโภชนาในฐานะของความเป็นหมอ แต่จุดหนึ่งที่คุณหมอไม่รู้ก็คือ ร่างกายพร่องหรือขาดสิ่งใดบ้าง ต่างกับท่านพระ... ซึ่งจิตท่านละเอียดมาก เป็นผลจากการปฏิบัติของท่าน ทำให้ท่านไม่เบียดเบียนร่างกาย มิใช่ท่านเลือกฉัน กรณีนี้คุณหมอพึงต้องพิจารณาด้วย ร่างกายเมื่อบริโภคอาหารถูกกับสุขภาพ มีอนามัยพร้อม ร่างกายนี้ไม่มีเวทนาของทุกข์อันเกิดจากโภชนาการเป็นโทษ จิตที่อาศัยกายอยู่ก็เป็นสุข พร้อมที่จักปฏิบัติธรรมได้ผลสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา จำไว้ว่าพระอรหันต์ท่านไม่เบียดเบียนจิตใจ และไม่เบียดเบียนร่างกายของท่านด้วย

ลัก...ยิ้ม
29-12-2014, 12:00
๓. ให้ดูร่างกายเข้าไว้ อย่าวางใจว่ามันจักดีขึ้นมาเป็นอันขาด การกินยาหรืออาหารก็แค่ระงับทุกขเวทนา หรือยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น อย่าพึงคิดว่าจักสามารถช่วยให้พ้นเจ็บพ้นตายได้ จุดนี้จักต้องสำรวจใจทุกครั้งที่กินอาหารและกินยาดูว่าหลงในรสหรือไม่ จักพอใจหรือไม่พอใจก็ผิดทั้งคู่ เช่นหลงคิดว่ากินยาแล้วเราจักไม่ตาย หรือหลงจักหาอาหารรสอร่อยอย่างนี้กินอีกหรือไม่ จุดทั้งหลายต่าง ๆ เหล่านี้จักต้องสำรวจใจ จึงจักทำให้จิตมีความละเอียดขึ้น

ลัก...ยิ้ม
05-01-2015, 10:35
๔. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้ ไม่ช้าไม่นานเมื่อมีวิญญาณไปปราศแล้ว ก็เสมือนหนึ่งท่อนไม้ถูกทิ้งให้ทับถมจมปฐพี สภาพของร่างกายของใครก็เหมือนกันหมด แม้แต่ร่างกายของเราเอง แล้วในที่สุดก็เน่าเปื่อยผุพังไป พิจารณาให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาให้ได้ แล้วจิตจักพร้อมที่จักวางร่างกายในทุก ๆ ขณะจิต คำว่าทุก ๆ ขณะจิต ไม่ได้หมายความว่าใกล้จักตายถึงจักวาง หรือมีลางมรณภัยใกล้เข้ามาถึงจึงจักวาง อย่างนั้นไม่ใช่ของจริง ประมาทเกินไป จักต้องพึงวางร่างกายให้ได้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ปกติสุขอยู่นี้แล้ว พิจารณาให้เห็นความตาย ความไม่เที่ยงอยู่ทุก ๆ ขณะจิต ทำจิตให้พร้อมปล่อยวางร่างกายให้ได้ทุกเมื่อ นั่นแหละจึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้โดยง่าย

ลัก...ยิ้ม
06-01-2015, 08:42
๕. ร่างกายมิใช่ของเราก็จริงอยู่ แต่พึงพิจารณาน้อมจิต ให้เห็นร่างกายตามความเป็นจริง เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็จัดว่าเห็นเช่นกัน แต่ยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอาการ ๓๒ และธาตุ ๔ นั้น จึงเป็นเหตุให้ละ – ปล่อย - วางไม่ได้ หมั่นพิจารณาร่างกายให้มาก เพราะจุดนี้เป็นจุดใหญ่อันนำไปสู่ความพ้นทุกข์

ลัก...ยิ้ม
08-01-2015, 10:37
๖. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้มีความไม่เที่ยงอยู่เป็นนิจ แต่ตราบใดที่มันยังไม่ตาย ก็มีความจำเป็นจักต้องดูแลไปตามหน้าที่ แต่มิใช่ห่วงใยให้มากจนเกินไป ให้ทำจิตวางอารมณ์พอสบาย ๆ จักได้ไม่ทุกข์ ไม่กังวลจนเกินไป แล้วทำทุกอย่างไปตามหน้าที่ รักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุขก็เป็นพอ ดูอนาคต ดูได้ เตรียมได้ แต่ไม่ควรกังวล รักษาจิตให้อยู่กับปัจจุบันเท่านั้นเป็นพอ พอหรือไม่พอให้ดูอารมณ์ดิ้นรนของจิต ผู้รู้ ผู้ไม่ประมาท จักพร้อมทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่เขาไม่ทุกข์ อะไรเกิดก็พร้อมรับทั้งกาย – วาจา - ใจ ด้วยความรู้และความไม่ประมาทนั้น

ลัก...ยิ้ม
09-01-2015, 11:13
๗. ร่างกายพังหรือจิตพังกันแน่ ให้สังเกตเวลารับทุกขเวทนา หรือแม้แต่สนทนา แยกอาการนี้ให้ถูก ถ้าหากความตายเข้ามาถึง ร่างกายพังแต่จิตไม่พัง แต่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เวลาได้รับความกระทบกระทั่งทางอายตนะ จิตนี้แหละทำท่าจะพัง คือทนไม่ไหวไปทุกที เรียกว่าไม่รู้เท่าทันอารมณ์ของกิเลส ที่ปรุงไปตามกิเลสในขณะจิตนั้น ๆ ถ้าหากรู้เท่าทันเสียแล้วก็ปล่อยวาง กระทบแล้วก็ดับไป ไม่รู้สึกเศร้าเสียใจ ทุกข์ใจ หรือสุขใจแม้แต่ประการใด ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมดา จิตก็ไม่พัง กำหนดรู้ความสงบสุขของจิตเอาไว้ให้ดี แล้วจักเห็นหนทางวางเฉยในปฏิฆะและราคะได้

ลัก...ยิ้ม
12-01-2015, 15:06
๘. เหตุการณ์ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ขอจงอย่าเบื่อหน่ายเพราะเป็นเรื่องธรรมดา เป็นวาระของกฎของกรรมจักให้ผล ซึ่งเลี่ยงอย่างไรก็ไม่พ้นไปได้ ให้พิจารณาให้ชัด แล้วจักได้ประโยชน์จากกฎของกรรมอันนี้เป็นอันมาก มองธรรมภายนอกแล้วน้อมเข้ามาเป็นธรรมภายใน พิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจักได้ประโยชน์เป็นอันมาก

อนึ่ง..ให้เลี่ยงการตำหนิกรรมของบุคคลอื่นให้มาก ๆ เพราะไม่มีใครอยากเป็นคนเลว คนที่เขาได้กระทำการหลงผิดไป ก็ด้วยอกุศลกรรมเข้าครอบงำ เห็นผิดเป็นชอบ คิดว่าดีจึงทำไปตามนั้น บุคคลเหล่านี้น่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง พิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจิตจักเป็นสุข วางกรรมภายนอกลงเสีย แล้วจักได้ระมัดระวังกรรมภายในให้ดีขึ้นด้วย อย่าละความเพียรในการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน

ลัก...ยิ้ม
14-01-2015, 16:00
๙. อย่าเอาความดีไปแลกกับความชั่ว ใครเขาอยากชั่วก็ให้เขาชั่วไปแต่เพียงผู้เดียว ให้ดูตัวอย่างท่านพระ... เป็นหลัก ท่านอบรมจิตของท่านดีแล้ว จึงไม่เก็บความชั่ว และไม่โต้ตอบความชั่วด้วยอารมณ์จิตชั่วทั้งปวง พึงดูแล้วพึงปฏิบัติตามให้ได้ จิตจักได้เป็นสุข ใครดี - ใครเลว จิตที่อบรมดีแล้วไม่ยุ่งเกี่ยวกับกรรมของผู้ใด จึงเป็นสุขอย่างบรมสุข มองทุกอย่างตามความเป็นจริง พิจารณากฎของกรรมอันเป็นปัจจัตตังให้ชัดเจน แล้วจักวางอารมณ์เป็นอุเบกขารมณ์ได้มาก

ลัก...ยิ้ม
20-01-2015, 10:47
๑๐. อย่าสนใจในจริยาของผู้อื่น แต่พึงให้เห็นธรรมดาของบุคคลผู้นั้น เพื่อประโยชน์ของการปล่อยวางให้เป็นไปในปกติธรรม กรรมใคร - กรรมมัน คนถ้ามีดีอยู่บ้างก็เกื้อหนุนส่งเสริม แต่ถ้าไม่ดี หรือดีน้อยแต่ชั่วมาก ก็ปล่อยวาง คนที่ไม่มีชั่วเลย มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นจึงเป็นผู้มีดีหมดจดสมบูรณ์ นอกนั้นแม้กระทั่งพวกเจ้าเอง ก็จงอย่าพึงคิดเข้าข้างตนเองว่าดีแล้วเป็นอันขาด เพราะฉะนั้น จงเป็นผู้โจทย์ตนเองเอาไว้ดีกว่า อย่าไปตำหนิผู้อื่นอันหาประโยชน์ไม่ได้ ดูแต่ชั่ว แก้ความเลวของ กาย – วาจา - ใจ ของตนเองนั่นแหละ ได้ประโยชน์มากกว่า แล้วจักพบหนทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ลัก...ยิ้ม
22-01-2015, 09:48
๑๑. เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเปลี่ยนแปลงให้มาก ไม่ว่าภายใน - ภายนอกก็เหมือนกัน ไม่ว่าทั้งร่างกายและจิตใจ หรืออารมณ์ก็ไม่เที่ยง (สัพเพสังขารา อนิจจา) เห็นอันใดจักให้ได้ดังใจนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ทุกอย่าง มีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่กับความเสื่อม แล้วก็ดับไป เมื่อหาความเที่ยงไม่ได้ดังนี้แล้ว จักหาความปรารถนาที่สมหวังมาจากไหน มองทุกอย่างให้เป็นสภาวธรรม ยอมรับตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวาง จิตก็จักเป็นสุข จิตที่ยอมรับทุกอย่างตามความเป็นจริง จิตนั้นย่อมจักไม่ดิ้นรน กล่าวคือไม่เดือดร้อนไปด้วยประการใด ๆ ทั้งปวง (สัพเพธัมมา อนัตตา)

ลัก...ยิ้ม
23-01-2015, 12:22
๑๒. ให้เห็นความปรารถนาไม่สมหวังเป็นเรื่องธรรมดา จงอย่าผิดหวังหรือเสียใจ อันเป็นอารมณ์ความเศร้าหมองของจิต จุดนี้เมื่อกำหนดรู้แล้ว ให้พิจารณาลงตัวธรรมดา ความผิดหวังหรือเสียใจก็ไม่มีให้เห็น เป็นธรรมดาให้หมด ทุกสิ่งในโลกตั้งความหวังไว้ไม่ได้ ถ้าเราเอาจิตไปหวังผู้ใดนั้นเป็นการหาทุกข์ใส่จิตแล้ว ตั้งความหวังเมื่อไหร่ ทุกข์ก็เกิดขึ้นกับจิตเมื่อนั้น เพราะอาการของการผิดหวังย่อมมีตามมาเป็นธรรมดา

ลัก...ยิ้ม
26-01-2015, 11:50
๑๓. เกิดอารมณ์สงสัยว่า เวลาพระองค์จะโปรดใคร ทรงตั้งความหวังไว้หรือไม่ ? ทรงตรัสว่า พระตถาคตเจ้าทุกพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูวิสัย ย่อมรู้ด้วยพุทธญาณในการตรวจดูอุปนิสัยของสัตว์โลก รู้ล่วงหน้าว่า บุคคลใดจักบรรลุธรรมในวันนี้หรือวันหน้า โดยมิต้องตั้งความหวัง รู้โดยหน้าที่ กล่าวคือเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ จักต้องกระทำอย่างนี้ คำว่ารู้ผิดพลาดไม่มีในพระพุทธเจ้า ซึ่งกรณีนี้พุทธสาวกรู้ได้ไม่ครบ

แม้แต่พุทธันดรนี้พระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านพระสารีบุตร ยังให้ลูกชายนายช่างทองเจริญกรรมฐานผิดกอง กล่าวคือไม่ถูกจริตจึงไม่มีผล เรื่องนี้มิใช่ตำหนิกัน เพียงแต่ให้รู้ว่าสัพพัญญูวิสัยกับวิสัยของสาวกนั้นผิดกัน ให้ดูปฏิปทาพระอรหันต์ที่ท่านรู้จริง ท่านจักถ่อมตนเสมอ และคิดเสมอว่าความผิดอาจจักเกิดขึ้นได้ กรณีนี้พวกเจ้าพึงสังวรจิตเอาไว้ด้วย อย่าทะนงตนว่าทำอะไรจักไม่ผิดพลาดเลยนั้นหาสมควรไม่ ให้ดูท่านพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง จักได้ปรามจิต..ไม่คิดหลงตนจนเกินไป

ลัก...ยิ้ม
29-01-2015, 09:35
๑๔. อภัยจริงหรือไม่ ให้สังเกตตอนจิตถูกกระทบแล้วยังหวั่นไหวอยู่หรือไม่ หากจิตเกาะไม่ปล่อยวาง นั่นแหละคือการอภัยไม่จริง ถ้าจิตปล่อยวางไม่เอาเรื่องเหล่านี้มาคิด มาจำ หรือปรุงแต่ง ตรงนั่นแหละคืออภัยทานที่แท้จริง แต่อภัยทานจักเกิดขึ้นได้ก็ด้วยพิจารณากฎของกรรม คือทุกขสัจ หรืออริยสัจตามความเป็นจริง เห็นการยึดคือการเกาะติดสัญญา แล้วปรุงแต่งเป็นความเศร้าหมอง คือทุกข์เกิดขึ้นแก่จิตแล้ว เห็นเหล่านี้ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดเกิดขึ้นแก่จิตของตนเอง นั่นแหละจึงจักปล่อยวางสัญญาต่าง ๆ ลงได้สนิท อภัยทานเกิดได้ด้วยอาศัยปัญญาตรงนี้

พิจารณาสิ่งที่เห็นด้วยอายตนะ.. เกิดแล้วก็ดับ นั่นมิใช่ตัวตนของเรา และมิใช่ตัวตนของใคร มีเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา ยึดถืออะไรไม่ได้ในอายตนะนี้ รูป – เวทนา – สัญญา – สังขาร - วิญญาณไม่เที่ยง ยึดเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น ให้ปล่อยวางลงด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมด้วยปัญญา พิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบ ความปล่อยวางก็จักเกิดขึ้นแก่จิตของผู้รู้ของตนเอง อยู่ในจิตนี่แหละ ความสุขความสงบก็จักเกิดขึ้นมาก ภัยภายนอก ภัยภายใน คุกคามอย่างไรก็ไม่ถึงจิต เรื่องของเขาก็เรื่องของเขา เรื่องขันธ์ ๕ ก็เรื่องขันธ์ ๕ เรื่องของเราก็คือจิตเท่านั้น รักษาจิตของเราให้อยู่ในธรรมเพื่อพระนิพพาน มุ่งตัดกิเลสเพื่อหลุดพ้นจากบ่วงมารเท่านั้นเป็นพอ อย่าคิดไปแก้กรรมภายนอก แก้กรรมในจิตด้วยจิตของตนเองเท่านั้นเป็นพอ หมดกรรมเมื่อไหร่ก็ถึงซึ่งพระนิพพานเมื่อนั้น นิพพานัง ปรมังสูญญัง นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง จิตพระอรหันต์ว่างจากกรรมที่เป็นกิเลสทั้งปวง จึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้

ลัก...ยิ้ม
30-01-2015, 09:28
๑๕. ให้ทำใจให้สบาย ๆ อย่าห่วงกังวลถึงเหตุการณ์ภายหน้าว่าเป็นอย่างไร ทุกอย่างล้วนเป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น จงดูแลตนเองให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพของจิตใจ ไม่มีใครที่จักช่วยเราได้นอกจากตัวของตนเอง ฝึกฝนจิตเอาไว้ให้ดี ให้พร้อมรับกับสถานการณ์ทุกรูปแบบ อย่าคิดว่าในชีวิตจักไม่เจอกับสิ่งที่เลวร้าย เวลานี้ทั่วโลกต่างประสบกับภัยพิบัติต่าง ๆ นานา รวมทั้งข่าวมรณภัย ตายหมู่คราวละมาก ๆ มีให้เห็นให้ฟังอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จักประมาทเป็นอันขาด และให้นึกอยู่เสมอว่าความตายเป็นของจริง ซึ่งไม่มีใครที่มีร่างกายจักหนีได้พ้น พวกเจ้าเองก็เช่นกัน ทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่ควรประมาทในกรรมเป็นอันขาด

ลัก...ยิ้ม
05-02-2015, 11:12
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนตุลาคม ๒๕๔๐)
ปกิณกธรรม

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้มีความสำคัญดังนี้

๑. มองร่างกายให้เป็นคุณบ้าง เพราะการมีร่างกายทำให้รู้ทุกข์อันเกิดจากร่างกาย ได้เห็นความรัก - โลภ - โกรธ - หลง อันเนื่องจากจิตที่เกาะติดร่างกายนี้ เพราะหากมองในมุมที่เป็นโทษอย่างเดียว เห็นว่าจิตต้องตกเป็นทาสรับใช้ร่างกาย หิวก็ต้องหาอาหารให้ หนาวหรือร้อนก็ต้องหาผ้าห่มอันประทังได้กับสภาพของอากาศให้ หรือในสาธารณูปโภค ทุกอย่างจิตต้องหาเพื่อร่างกายหมดทุกอย่าง ถ้าคิดอย่างนี้ในบางขณะ อารมณ์จิตก็จักเกิดนิพพิทาญาณ เบื่อหน่าย เศร้าหมองได้ พิจารณาให้ลงตัวธรรมดา ให้เห็นธรรมดาที่จิตยอมรับสภาพของร่างกายตามความเป็นจริงให้ได้ ตรงนั้นแหละที่จิตจักไม่เบื่อหน่าย มีแต่ร่างกาย เห็นสภาพที่แท้จริงของร่างกาย จิตเป็นสุขและไม่ทุกข์กับสภาพที่แท้จริงของร่างกาย หรืออันใดในโลกอีกเลย

(หมายถึงเหตุการณ์พิจารณาจุดนี้ คล้าย ๆ กับตอนพิจารณาอาหารเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา จิตจะเบื่ออาหารมาก บางคนกินไม่ลง กินไม่ได้ เพราะเห็นอาหารเป็นของสกปรก เป็นหนอนก็กินไม่ได้ เมื่อจิตเกิดปัญญายอมรับความจริงเรื่องอาหาร ว่าอาหารทุก ๆ ชนิดก็มาจากสิ่งสกปรกก่อนทั้งสิ้น จิตก็ยอมรับสภาพความเป็นจริงของอาหาร เห็นเป็นของธรรมดาหมด คือพิจารณาอาหารจากสวยงามเป็นไม่สวยงาม.. สุภะเป็นอสุภะ แล้วก็พิจารณาย้อนกลับจากอสุภะเป็นสุภะ จากผ้าสวยงามจนเป็นผ้าขี้ริ้ว แล้วพิจารณาย้อนกลับ ผ้าขี้ริ้วก็มาจากผ้าที่สวยงามก่อนทั้งสิ้น หากเข้าใจด้วยปัญญา ไม่ใช่เข้าใจแต่สัญญา ประเดี๋ยวก็ลืมแล้ว จะมองเห็น..ของเก่าทุกอย่างก็มาจากของใหม่ทั้งสิ้น เรื่องนี้หากเห็นด้วยปัญญาแล้ว จะพิจารณาได้ไม่รู้จบหรือจบยาก)

ลัก...ยิ้ม
06-02-2015, 14:11
๒. การเห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์ หาต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ก็จักรู้วิธีพ้นทุกข์ได้ ด้วยการละ - ปล่อย - วางที่จิตของตนเอง นั่นแหละจึงจักเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง หากเห็นทุกข์แล้ว ไม่ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา แก้ทุกข์แล้ว ก็จักพิจารณาไปไม่ถึงที่สุดของทุกข์ได้ด้วยปัญญา ก็จักละ-ปล่อย-วางทุกข์ไม่ได้ แต่กลับติดอยู่ในทุกข์ (ปัญหา) เพราะจิตไม่ยอมละ – ปล่อย - วาง ทำไปอีกกี่แสนชาติก็ไม่พ้นทุกข์

จำไว้..อย่าทิ้งอริยสัจ ต้องอาศัยกำลังใจคือบารมี (บารมี ๑๐) ให้เต็มพร้อมอยู่ในจิตปัจจุบันเสมอ รักษาศีล - สมาธิ - ปัญญา ให้พร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จักเป็นหนทางดับทุกข์ หรือมรรคปฏิปทาตามความเป็นจริง ถ้ากำลังใจไม่พร่อง เพียรอยู่เป็นปกติ ทุกอย่างก็เป็นของไม่ยาก พระนิพพานก็เป็นของที่ไม่ไกล ให้มุ่งดูกิเลสของจิตตนเป็นสำคัญ อย่าไปมุ่งดูบุคคลอื่น ให้วัดตัวตัดความโกรธ – โลภ - หลงของตนเองทุกวัน อย่าไปวัดของคนอื่น

ลัก...ยิ้ม
10-02-2015, 10:41
๓. การพิจารณาให้เข้าสู่อริยสัจอยู่เสมอ เห็นทุกอย่างในโลกไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ยึดถือเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ให้พิจารณาอย่างจริง ๆ จัง ๆ จึงจักตัดความเกาะติดได้ ถ้าไม่ขยันพิจารณาหรือขาดความเพียร กิเลสก็จักพอกหนาขึ้นทุกวัน ๆ จนในที่สุดเมื่อขันธ์ ๕ จะพังลง ก็ไม่สามารถที่จักแก้ไขอารมณ์กิเลสเหล่านั้นได้ ก็ไปไม่ถึงพระนิพพาน ก็ต้องโทษตนเองที่ประมาท ขาดความเพียร ไม่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ตั้งแต่ตอนนั้น

บารมี ๑๐, สังโยชน์ ๑๐ จึงต้องพร้อมวัด - ตรวจ - สอบอารมณ์จิตอยู่เสมอ มีมรณาฯ และอุปสมานุสติ คล่องตัวคล่องจิตด้วยความไม่ประมาทในชีวิต หากต้องการความเจริญของจิต ให้หมั่นสำรวจความบกพร่องของศีล - สมาธิ - ปัญญาของตนเองอยู่เสมอ ไม่ต้องดูความดี ให้ดูแต่ความชั่ว หากละความชั่วได้หมดก็ถึงซึ่งความดีได้เอง ความดีที่สุดคือพระนิพพาน อย่าลืมตั้งอารมณ์ให้ถึงที่สุดของความดีในพระพุทธศาสนาให้ได้ จักได้มีจุดหมายปลายทางไว้เตือนสติ ไม่ให้บกพร่องในศีล - สมาธิ - ปัญญาอยู่เสมอ

ลัก...ยิ้ม
13-02-2015, 11:43
๔. การตั้งอารมณ์ให้ดีที่สุดในพุทธศาสตร์ไว้เสมอ ด้วยอุบายย่อ ๆ ว่า รู้ลม – รู้ตาย - รู้นิพพานนั่นเอง มีสติกำหนดรู้อยู่เสมอว่า หากลมหายใจหยุด ความตายก็เกิด จิตก็มุ่งตรงสู่พระนิพพานจุดเดียว (ทวารทั้ง ๖, ประตูทั้ง ๖, อายตนะ ๖) ให้พยายามลงอารมณ์สักแต่ว่าเท่านั้น ให้มีสติระลึกเข้าไว้อยู่เสมอว่า ทุกสิ่งมิใช่บุคคล - ตัวตนเรา - เขา เป็นเพียงแค่สภาวธรรมหรือกรรม ไม่เที่ยง เกิด - ดับ ๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติธรรม มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง ให้มองเป็นธรรมดาให้มากที่สุด แล้วจิตจักวางลงได้ในคำว่าสักแต่ว่า

ลัก...ยิ้ม
17-02-2015, 09:17
๕. ให้พิจารณาความไม่เที่ยงเข้าไว้เสมอ ๆ จักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นลงได้ด้วยประการทั้งปวง แม้จักยังไม่สนิท ก็บรรเทาสักกายทิฏฐิลงได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่าลืมคำว่า สักกายทิฏฐิ มีเป็นขั้น ๆ หยาบ - กลาง - ละเอียด จากปุถุชนมาสู่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ก็เนื่องจากการเห็นทุกข์ในความไม่เที่ยงไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์ แล้วในที่สุดความตายเข้ามาถึงก็เป็นทุกข์ ต่างคนต่างปฏิบัติไปก็เข้าสู่อริยสัจตามระดับจิตนั้น ๆ เห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นโทษ จึงพิจารณาสักกายทิฏฐิ เพื่อปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์นั้นลงเสีย อย่าลืม ละที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จที่ใจ ถ้าหากจิตหรือใจดีเสียอย่างเดียว กาย - วาจา ซึ่งเป็นบ่าวก็จักดีตามไปด้วย เดินมรรคด้วยจิต ทำให้ถูกทาง แล้วจักเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ง่าย

ลัก...ยิ้ม
26-02-2015, 17:57
๖. ให้พิจารณาอายุของร่างกายที่มากขึ้นทุกวัน ความตายก็ใกล้เข้ามาทุกที จงอย่ามีความประมาทในชีวิต และให้เห็นทุกข์ของการมีชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนจากภัยนานาประการ เรื่องเหล่านี้มิใช่ของแปลกหรือของใหม่แต่อย่างไร เป็นภัยที่อยู่คู่กับโลกมานานแล้ว ในทุก ๆ พุทธันดรก็เจอมาอย่างนี้ อย่าไปหวังแก้โลก อย่าไปหลงปรุงแต่งตามโลก ให้เห็นตัณหา ๓ ประการ ที่ครอบงำโลกให้วุ่นวายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มองทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางโลกเสียด้วยความเห็นทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายินดี ไม่น่ายินร้ายแม้แต่นิดเดียว

ลัก...ยิ้ม
05-03-2015, 15:30
๗. การปฏิบัติจงอย่าสนใจจริยาผู้อื่น ให้มองอารมณ์จิตตนเองเข้าไว้เป็นสำคัญ เพราะตนเองปรารถนาจักไปพระนิพพาน จึงต้องฝึกจิตให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แม้ในไตรภพให้หมดจด เพราะการไปพระนิพพาน จิตติดอะไรแม้แต่อย่างเดียวก็ไปไม่ถึงพระนิพพาน การปฏิบัติต้องเอาจริงเอาจังจึงจักไปได้ แต่ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ก็ให้พิจารณาปัจจัย ๔ เป็นสิ่งจำเป็นที่จักต้องยังอัตภาพให้เป็นไป สักแต่ว่าเป็นเครื่องอยู่ สักแต่ว่าเป็นเครื่องอาศัย แล้วอยู่อย่างพิจารณาให้เห็นชัดว่า ร่างกายหรือวัตถุธาตุทั้งหมดมีคำว่าเสื่อมและอนัตตาไปในที่สุด จิตก็คลายความเกาะติด จิตมีความสุขสงบ เมื่อถึงวาระร่างกายจักพัง การตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ภายนอกรวมตัว หรือแม้แต่ร่างกายก็ตัดไม่ยาก เนื่องด้วยพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นตามความเป็นจริงแล้วด้วยปัญญา และไม่มีความประมาทในชีวิต

ลัก...ยิ้ม
06-03-2015, 13:40
๘. พิจารณาร่างกาย พิจารณาเวทนา โดยย้อนกลับไปกลับมา ไม่มีร่างกายก็ย่อมไม่มีเวทนา ไม่มีเวทนาก็ย่อมไม่มีร่างกาย แล้วให้เห็นปกติของรูปและนามซึ่งอาศัยซึ่งกันและกัน พิจารณาให้ลึกลงไปจักเห็นความไม่มีในเรา ในรูปและนามได้ชัดเจน เราคือจิตที่ถูกกิเลสห่อหุ้ม ให้หลงติดอยู่ในรูปในนามอย่างนี้ มานานนับอสงไขยกัปไม่ถ้วน หากไม่พิจารณาให้เห็นชัดเจนลงไปในรูปและนาม ก็จักตัดความติดอยู่ไม่ได้ และเมื่อตัดไม่ได้ก็ไปพระนิพพานไม่ได้ ธรรมที่กล่าวมานี้มิใช่สาธารณะ หากตนเองยังทำไม่ได้ ก็ไม่พึงพูดออกไปเพื่อแนะนำบุคคลอื่น ตราบจนกว่าตัวเองจักได้จริง นั่นแหละสมควรพูดได้

ลัก...ยิ้ม
12-03-2015, 13:41
๙. ให้เห็นร่างกายนี้มีปกติธรรม คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ในความเสื่อม แล้วก็ดับไป ทุกอย่างหาแก่นสารอันใดไม่ได้ การอาศัยร่างกายอยู่ ก็เพียงแค่ยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยดำริว่าจักไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นด้วย แล้วมองร่างกายนี้ให้เป็นเช่นสุสานฝังศพ ฝังเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ เพราะการเกิดมีเท่าไหร่ การตายก็มีเท่านั้น เกิดกับตายจึงเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย

ถ้าหากจิตติดอยู่กับธาตุอายตนะขันธ์ก็ยังต้องเกิด ต้องตายอยู่กับร่างกายนี้อีกนับชาติไม่ถ้วน ให้ถามแล้วให้จิตตอบ เข็ดจริงหรือ ถ้าหากยังมีความอาลัยในชีวิตหรือในร่างกายนี้ ก็ยังเข็ดไม่จริง เรื่องการปล่อยวางการเกาะร่างกาย ขึ้นอยู่กับจิตที่จักพิจารณา ขึ้นอยู่กับสติ - สัมปชัญญะกำหนดรู้อยู่เสมอ ๆ ว่า ธาตุ อายตนะ ขันธ์นี้ไม่มีในเรา ไม่ใช่เรา จักต้องเอาจริง แต่มิใช่เคร่งเครียดจนเป็นเหตุให้หนักใจ และมีความเบาใจ มีความเข้าใจในบทพระธรรมคำสั่งสอนเพียงพอแล้ว สามารถปฏิบัติได้ตามคำสั่งสอนนั้น ๆ

ลัก...ยิ้ม
17-03-2015, 10:54
๑๐. ดูคนทุกคนที่มีลีลาชีวิตต่าง ๆ กันไป ให้เห็นเป็นกฎของกรรม และทุกอย่างเป็นของธรรมดา ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้น อย่าถืออะไรมาเป็นสาระที่จริงจังของชีวิต ในยามนี้มีชีวิตอยู่ก็ให้เกื้อหนุนกันไป ด้วยความสงสาร และมีความเมตตาปรานี เป็นการทำจิตให้อ่อนโยนและทำให้เป็นผู้มีมิตรมาก แต่จำไว้ว่าอย่าเบียดเบียนตนเองมากจนเกินไป การกระทำทุกอย่างให้อยู่ในสายกลาง คือไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ให้มีจิตเมตตาหวังดีกับคนทั้งโลกหรือสัตว์ทั้งโลก ความหวังดีไม่จำเป็นที่ต้องจักให้เป็นวัตถุ การรักษาศีลและกรรมบถ ๑๐ อันบริบูรณ์ ก็คือการหวังดีกับคนและสัตว์ทั้งโลกแล้ว ถ้าหากรักษาได้ อย่าขวางทางบุญและบาปของใคร เพราะพื้นฐานของจิตใจของแต่ละคนเกี่ยวกับบุญและบาปมีต่างกัน ไม่เท่ากัน จิตเมื่อจักวางในจริยาของบุคคลอื่น ก็จักต้องใช้ปัญญาพิจารณาจุดนี้ให้มาก ๆ ลงตัวธรรมดาให้ได้ แล้วจิตจึงจักปล่อยวางกรรมของคนอื่น ๆ ลงได้ ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมเลว

ลัก...ยิ้ม
26-03-2015, 11:39
๑๑. ให้เห็นการเกิดและการตายเป็นของคู่กัน เกิดเท่าไหร่ตายหมดเท่านั้น การตายจึงเป็นของธรรมดา แม้พวกเจ้าเองก็เช่นกัน ยังมีความประมาทในความตายแฝงอยู่มาก ให้สอบจิตตนเองดูจักรู้ว่า ใน ๒๔ ชั่วโมงระลึกนึกถึงความตายอย่างยอมรับความจริงได้สักกี่ครั้ง การนึกถึงความตายอย่างนกแก้วนกขุนทองนั้น หาประโยชน์ได้น้อย เพราะเป็นสัญญาล้วน ๆ จำไว้..มรณานุสติกรรมฐานเป็นฐานใหญ่ ที่จักนำจิตตนเองให้เข้าถึงความไม่ประมาทได้โดยง่าย และเป็นตัวเร่งรัดความเพียร ด้วยเห็นค่าของเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ ชีวิตจริง ๆ ดั่งเช่นเปลวเทียน วูบ ๆ วาบ ๆ แล้วก็ดับหายไป เกิดใหม่ก็ดับอีก หากไม่เร่งรัดปัญญาให้เกิด ก็ยังจักต้องเกิดอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน

ลัก...ยิ้ม
02-04-2015, 10:55
๑๒. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้มิใช่ของจริง ตัวจริง ๆ คือจิต ให้พิจารณาแยกส่วนออกมาให้ได้ ร่างกายนี้สักเพียงแต่ว่าเป็นที่อยู่อาศัย เสมือนบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานจิตวิญญาณก็จักออกจากร่างกายนี้ไป ทุกร่างกายมีความตายไปในที่สุดเหมือนกัน แล้วพิจารณาการอยู่ของร่างกาย ทุกลมหายใจเข้า - ออกคือทุกข์ เนื่องด้วยความไม่เที่ยง หาอันใดทรงตัวไม่ได้ พิจารณาให้เห็นชัดจึงจักวางร่างกายลงได้ในที่สุด เรื่องของบ้านเมือง เรื่องของเศรษฐกิจเวลานี้สับสนวุ่นวาย ให้พิจารณาเห็นเป็นธรรมดา เพราะดวงเมืองไทยเป็นอย่างนี้เอง จักต้องทำใจให้ยอมรับสถานการณ์ให้ได้ทุก ๆ สภาพ เพราะล้วนแล้วเป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น

ลัก...ยิ้ม
07-04-2015, 16:13
๑๓. ให้ดูวิริยบารมี เพราะยังมีความขี้เกียจอยู่เป็นอันมาก ให้โจทย์จิตเข้าไว้ให้ดี ๆ อย่าไปเสียเวลากับจริยาของผู้อื่น ใครจักเป็นอย่างไรก็ช่าง พิจารณาโลกก็เท่านี้ หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ประการสำคัญคือประคองจิตตนเองให้พ้นไปเท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ การสงเคราะห์ผู้อื่นเป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น กระทำแล้วก็ให้ผ่านไป อย่าเอาจิตไปเกาะกรรมของเขา มองให้เห็นธรรมดา แก้โลกไม่มีสิ้นสุด ให้แก้ที่จิตใจตนเองเป็นสิ้นสุดได้ พยายามปลดสิ่งที่เกาะติดอยู่ในใจลงให้ได้มากที่สุด เท่าที่จักมากได้ วางภาระและพันธะลงเสียให้เป็นสักแต่ว่าหน้าที่เท่านั้น จิตจักได้ไม่เป็นทุกข์ ประเด็นที่สำคัญอันจักต้องให้เห็นชัดคือพิจารณากฎของกรรม ให้ยอมรับนับถือในกฎของกรรม จุดนั้นจึงจักถึงซึ่งจิตเป็นสุขและสงบได้

ลัก...ยิ้ม
10-04-2015, 10:33
๑๔. เวลานี้ดวงเมืองกำลังร้อน จึงมีเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปทุกหย่อมหญ้า เวลานี้ไม่มีอะไรแก้ไข ให้นิ่งเฉยสงบเข้าไว้เป็นดีที่สุด เหมือนสถานการณ์ของบ้านเมือง (ทรงตรัสไว้เมื่อ ๒๕ ต.ค. ๒๕๔๐ ปัจจุบันดวงเมืองก็กำลังร้อน ตั้งแต่ ๘ เม.ย. จนถึงวันนี้ ๑๐ เม.ย. ๒๕๕๒ ห่างกัน ๑๒ ปี) ภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ อยู่เฉย ๆ ไม่ลงทุนทำอะไรเลยดีกว่า สถานการณ์ของวัดก็เช่นกัน ทั้งดวงเมืองและดวงวัด เพราะเวลานี้กฎของกรรมกำลังให้ผลหนัก ความผันผวนย่อมเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่ไม่ควรที่จักหวั่นไหว รักษาจิตให้สงบ ให้เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดาเข้าไว้ รักษาอะไรไม่สำคัญเท่ารักษาจิตใจของตนเอง ดูจุดนี้เอาไว้ให้ดี รักษาอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในกุศล ดีกว่าปล่อยให้ตกอยู่ในห้วงของอกุศล ปล่อยวาง กรรมใครกรรมมันให้ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้ง เห็นชัดในกฎของกรรมจุดนั้นแหละ จึงจักปล่อยวางกรรมใครกรรมมันได้ ความสุขจักเกิดขึ้นแก่จิตใจของตนอย่างแท้จริง

ลัก...ยิ้ม
17-04-2015, 17:18
๑๕. การทำบุญทำทานแล้วพิจารณาถึงบุญและทานนั้น อันทำเพื่อพระนิพพานโดยไม่หวังผลตอบแทน จัดเป็นจาคานุสติด้วยและอุปสมานุสติด้วย อารมณ์อยู่กับกุศล ซึ่งดีกว่าปล่อยจิตคิดถึงแต่ความชั่ว - ความเลว แม้แต่ผู้อื่นเขาทำบุญ ทำทานก็ให้เห็นเป็นธรรมดา เห็นแล้วให้ยินดีด้วย แล้วปล่อยวาง จิตจักได้บริโภคอารมณ์ที่ไม่เป็นพิษ เพราะปกติจิตมักจักไหลลงสู่อารมณ์ที่เป็นกิเลส จิตชินกับความเลวมากกว่าความดี เวลานี้เราจักมาละความเลวกันก็จักต้องละกันที่จิต ฝึกจิตให้ชินอยู่กับทาน - ศีล - ภาวนา ให้ติดดีมากกว่าติดเลว ให้สอบอารมณ์ของจิตไว้เสมอ อย่าคิดว่าบุญ - ทานไม่ติดแล้ว ฉันไม่เกาะทั้ง ๆ ที่จิตยังติดเลวอยู่อีกมากมาย หากบุญ - ทานทำแล้วไม่เกาะ แม้เห็นผู้อื่นทำแล้ว โง่ - หยิ่ง ไม่เกาะ ไม่ยินดีด้วย จิตก็ยิ่งเศร้าหมองปานนั้น ทำบุญทำทานแล้วก็เหมือนไม่มีผล เพราะจิตไม่ยินดีกับบุญกับทานนั้น จึงเท่ากับจิตติดบาปอกุศล นับว่าขาดทุนแท้ ๆ พระอรหันต์ท่านยังทำบุญ ทำทานด้วยความยินดีกับบุญและทานนั้น จิตเป็นสุข คำว่าไม่เกาะของพระอรหันต์คือ ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ในโลกธรรม ๘ จิตไม่เกาะบุญบาปในที่นี้ เนื่องด้วยผลบุญผลบาปไม่สามารถให้ผลแก่จิตใจของท่านอีก แล้วพวกเจ้าเล่า ? จิตยังข้องอยู่ในบาปอกุศลอยู่เป็นอันมาก หากพูดว่าไม่ติดในบุญ ในทาน ทั้งที่จิตยังติดบาปกุศลอยู่ การทำบุญ ทำทานแล้วก็เหมือนไม่ได้ทำ

จงเอาอย่างพระอรหันต์ ท่านยังไม่ทิ้งจาคานุสติกรรมฐาน อภัยทานอันเป็นทานภายในสูงสุดในธรรมทาน เกิดขึ้นด้วยพรหมวิหาร ๔ เป็นอัปมัญญา พระอรหันต์ไม่ข้องอยู่ในบาปอกุศลของบุคคลรอบข้าง เพราะท่านมีอภัยทานอยู่ในจิตเสมอ แล้วพวกเจ้ามีแล้วหรือยัง ? เพราะฉะนั้น จงอย่างประมาทในอกุศลกรรม พยายามรักษาจิตให้ผ่องใสไว้ด้วยการระลึกนึกถึง การทำบุญ - ทำทาน - รักษาศีล - เจริญภาวนาด้วยจิตที่ยินดี ทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว ดีกว่าปล่อยให้จิตตกเป็นทาสของบาปอกุศล

ลัก...ยิ้ม
23-04-2015, 10:28
๑๖. พรุ่งนี้ ครบรอบปีวันมรณภาพของท่านฤๅษี (๓๐ ต.ค. ๓๕) พึงถวายสังฆทานให้ท่าน ระลึกนึกถึงในพระคุณอันหาที่สุดมิได้ของท่านฤๅษีที่มีต่อพวกเจ้า พยายามทำจิตให้สงบเยือกเย็นให้ถึงที่สุด ทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว พิจารณาตามบารมี ๑๐ ควบกับพรหมวิหาร ๔ แล้วจิตจักเจริญขึ้นได้มาก หากเพียรอย่างต่อเนื่อง พระนิพพานก็อยู่ไม่ไกล

ลัก...ยิ้ม
24-04-2015, 09:56
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้มีความสำคัญดังนี้
๑. ชีวิต - สุขภาพของร่างกายย่อมกำหนดไม่ได้ที่จักให้เที่ยง เพราะมีความแปรปรวนอยู่เป็นธรรมดา ดูแต่กระแสจิตหรืออารมณ์จิต ฝึกแล้วฝึกอีกก็ยังยากที่จักกำหนดได้ การฝึกร่างกายอย่างนักกีฬา ฝึกได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ไม่ช้าโรคชราก็มาเยือน ร่างกายก็ทรุดโทรมลง ต่างกับจิตใจยิ่งฝึกยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งมีความอดทนผ่องใสยิ่งกว่าอื่นใด ไม่ได้เสื่อมลงอย่างร่างกาย สำคัญอยู่ที่เวลาฝึกจิตใจให้อดทนเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ ที่ไม่เพียงพอเพราะจิตยึดเกาะเวทนาของร่างกายมากเกินไป ให้ใช้ปัญญาเป็นตัวปลดจึงจักปล่อยวางได้ และการที่จักดูว่าวางได้หรือไม่ได้ ก็ให้เอาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นของร่างกายนี้แหละเป็นตัววัด

ลัก...ยิ้ม
29-04-2015, 11:21
๒. อย่ากังวลเรื่องสิ่งของ ต้องใจเย็นเพราะเป็นปกติธรรมของการเกิดเป็นมนุษย์ ไม่หาก็ไม่มีเครื่องอยู่ หาแล้วคำว่าพอดีก็ไม่ค่อยจักมี ส่วนใหญ่ให้รู้สึกว่าขาดและเกินพอดีมากกว่า การนึกเบื่อนั้นนึกได้ แต่จงอย่าเบื่อผสมความทุกข์เพราะขาดปัญญา ต้องเบื่อแล้วปล่อยวาง เห็นเป็นเรื่องธรรมดาไม่ทุกข์ จึงจักเป็นการวางอารมณ์ที่ถูกต้อง จึงต้องหมั่นพิจารณาอารมณ์ของจิต ให้ทราบความจริงว่า ที่อึดอัดขัดข้องอยู่นี้เป็นด้วยเหตุประการใด อย่าให้โมหะจริตหรือวิตกจริตครอบงำจิตให้มากเกินไป พิจารณาให้ลงตัวให้ได้ แล้วจิตจักมีความสุขเกิดขึ้นได้ อย่าให้ความกังวลใด ๆ มาเป็นตัวถ่วงความเจริญของจิต ใช้อริยสัจให้รู้ว่าจิตที่เสื่อมมีอะไรเป็นต้นเหตุ ให้รู้ว่าจิตที่เจริญมีอะไรเป็นต้นเหตุเช่นกัน อย่าให้จิตตกอยู่ในกระแสของโลกนานเกินไป พยายามให้จิตอยู่ในโลกพระนิพพานนานเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น

ลัก...ยิ้ม
07-05-2015, 15:47
๓. ดูร่างกายมันโทรมลงทุกวัน ให้เห็นความตายใกล้เข้ามาทุกที จงอย่ามีความประมาทในชีวิต ให้คิดอยู่เสมอว่า ความตายจักเข้ามาถึงชีวิตได้เสมอ แล้วจงอย่าทำความรู้สึกเสียดายชีวิต เพราะหนีความตายไปไม่พ้น ร่างกายเท่านั้นที่ตาย ตัวเราคือจิตไม่มีวันตาย การเจ็บป่วยนี่แหละเป็นการวัดกำลังใจตนเองว่า ละ - วางร่างกายได้ขนาดไหน การรักษาจำเป็นต้องมีเพื่อระงับเวทนาตามหน้าที่ แต่จิตไม่กังวลห่วงใยในร่างกาย ให้ทำความรู้สึกเหมือนเราดูแลเด็กตามหน้าที่ แต่ใจทุกข์ร้อนในเด็กนั้นไม่มี หมายความว่ามีปัญญายอมรับความจริงเกี่ยวกับการมีร่างกาย ว่ามันก็ต้องเป็นธรรมดาอย่างนี้เอง (เกิด - แก่ - เจ็บ - ตายเป็นของธรรมดา) จิตจึงจักคลายหรือวางความวิตกกังวลลงได้ ถ้ากิเลสตัณหาไม่สิ้นไปจากจิตเพียงใด ละจากภพนี้ก็ไปสู่ภพหน้าอีก ให้ตั้งใจเอาไว้เลยว่าต่อไปคำว่าภพชาติจักไม่มีกับเราอีก มีมรณาฯ บวกอุปสมานุสติมั่นคงอยู่กับจิตตลอดเวลา

ลัก...ยิ้ม
20-05-2015, 16:56
๔. อย่าฝืนโลก อย่าฝืนธรรม แล้วจิตจักเป็นสุข ให้สังเกตอารมณ์ของจิต มักจักฝืนความจริงอยู่เสมอ แม้กำลังป่วย ๆ อยู่นี้ กิเลสยังหลอกว่าพรุ่งนี้ - มะรืนนี้ หรือประเดี๋ยวก็หาย จิตมันหลอกเก่งมาก การเตรียมพร้อมที่จักไปพระนิพพาน จักต้องเห็นร่างกายพังได้ตลอดเวลา รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน มีมรณาฯ และอุปสมานุสติทรงตัวตลอดเวลา มิใช่จักทำแต่เฉพาะตอนมีร่างกายเจ็บป่วยเท่านั้น นั่นแหละจึงจักไปพระนิพพานได้

ลัก...ยิ้ม
21-05-2015, 11:36
๕. อย่าตีตนไปก่อนไข้ แต่การไม่ประมาทนั้นเป็นของดี เพราะชีวิตของคนเรานั้นสั้นนิดเดียว (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับภพอื่น ๆ) ให้พิจารณาชีวิตตามความเป็นจริง แล้วจักเห็นสิ่งที่เป็นความตายแฝงอยู่ทุกลมหายใจเข้า - ออก แต่ในยามปกติร่างกายอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุ ๔ คนเราจึงไม่มีความรู้สึกตามความเป็นจริง มีแต่ความรู้สึกสบาย ไม่เคยคิดว่ามันจักแปรปรวน ทั้ง ๆ ที่ร่างกายก็แปรปรวนของมันอยู่เป็นปกติตลอดเวลา ความโง่เข้ามาบดบังจิตทำให้มองความจริงไม่เห็น ต่อนี้ไปจักต้องคอยดูให้มาก ๆ เมื่อถึงเวลาละร่างกาย จิตจักได้ปล่อยวางได้

ลัก...ยิ้ม
27-05-2015, 17:17
๖. อย่าย่นย่อต่อการสร้างความดี ให้ทำจิตให้มั่นคงไว้เสมอ ทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน นอกจากพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น ให้โจทย์จิตเอาไว้เสมอ มองชั่วแก้ชั่วเท่านั้น ความดีก็จักเข้ามาถึงเอง เรื่องประการอื่น ๆ จงอย่ากังวลและห่วงใยให้มากนัก ทุกอย่างให้ทำเป็นหน้าที่เท่าที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ นอกเหนือจากนั้นก็รักษากำลังใจให้เสมอต้นเสมอปลาย อย่าท้อแท้ เพราะอุปสรรคทั้งหลายที่เข้าทดสอบจิตนี้แหละเป็นครู

ลัก...ยิ้ม
28-05-2015, 14:03
๗. รักษากาย - วาจา - ใจ ให้เป็นสุข มีความผ่องใส ให้แน่วแน่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพาน คือการกระทำกาย - วาจา - ใจ ให้อยู่ในกรอบของศีล - สมาธิ - ปัญญา แล้วใครที่ไหนอื่นก็ไม่สำคัญเท่ากาย วาจา ใจ ของตนเอง อย่าไปเพ่งโทษตำหนิใครที่ไหนอื่น ให้เพ่งโทษตำหนิกาย - วาจา - ใจ ของตนเองเข้าไว้ จักได้ประโยชน์กว่า

เรื่องทุกข์จากการเลี้ยงลูก คุณหมอเลี้ยงเขาได้แค่ตัวเท่านั้น จิตใจหาเลี้ยงกันได้ไม่ ทุกอย่างล้วนแต่เป็นกฎของกรรมเป็นเครื่องชี้ ไม่มีใครทำเอาไว้หรอก กฎของกรรมมีแต่ตัวเราเองทำเอาไว้แต่อดีตทั้งสิ้น ให้พิจารณาแล้วจงยอมรับนับถือในกฎของกรรม ยิ่งคุณหมอมุ่งต้องการหนีกรรมเพื่อพระนิพพานในชาตินี้ เจ้ากรรมนายเวรก็มุ่งตามทวงตามขอ เพื่อให้ชดใช้หนี้กรรมเป็นของธรรมดา หากคุณหมอได้ทิพจักขุญาณ จักสามารถเห็นเจ้ากรรมนายเวร ผู้ให้โทษทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หรือให้โทษทางเจ็บไข้ได้ป่วย เขามายืนทวงหนี้กรรมกันเป็นทิวแถว ที่คุณหมอกำลังโดนอยู่นี้ยังเบา หากคุณหมอไปเผลอเกิดอีกชาติละก็ จักถูกกฎของกรรมเล่นงานหนักยิ่งกว่าชาตินี้อีก ให้พิจารณาดูเอาเถิด รักษากาย - วาจา - ใจ ให้มั่นคง อย่าได้ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เข้ามารุมเร้า รักษากำลังใจให้ตั้งมั่น อดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้

ลัก...ยิ้ม
18-06-2015, 18:11
๘. ร่างกายที่เห็น ๆ อยู่นี้เป็นของใครก็ไม่รู้ ดูให้ถนัด ๆ จักเห็นสภาวะธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอากาศธาตุและวิญญาณธาตุเข้ามาอาศัยอยู่เท่านั้น เป็นสมบัติของโลกซึ่งไม่มีใครสามารถจักเอาไปได้ ถ้าหากยังหลงติดอยู่ในร่างกาย ก็เท่ากับถูกจองจำอยู่ในโลกไม่มีที่สิ้นสุด ไป ๆ มา ๆ เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่กับร่างกาย ไม่มีทางหลุดพ้นออกไปได้

ในเมื่อพวกเจ้าต้องการถึงที่สุดของตัณหา ก็จงพิจารณาร่างกายให้ปรากฏชัดถึงอาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สิ่งเหล่านี้เป็นของใคร ของเราหรือ ยึดได้ไหม พิจารณา..อย่าสักแต่ว่ารู้อย่างเดียว จิตยังไม่แจ้งแทงตลอด จิตรู้แต่ก็ยังไม่วางร่างกาย ยังคงยึดมั่นถือมั่นอยู่ จักต้องให้แจ้งแทงตลอดขึ้นมาในจิตนั่นแหละ จึงจักวางร่างกายลงได้อย่างสนิท (รู้แค่สัญญาเท่ากับรู้ไม่จริง เดี๋ยวก็ลืม รู้จริงต้องรู้ด้วยปัญญา)

อนึ่ง..ในวันนี้เจ้าได้ทำกระทงถวายให้แก่ท่านพระ...เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา แล้วใส่เงิน ๑๐๘ บาท เป็นการทำพิธีสะเดาะเคราะห์รับพระเสวยอายุทั้งปี เรื่องนี้เป็นผลดีมาก แต่ต่อไปให้ทำทุกปี ปีละครั้ง จักได้ต่อเนื่องกันไป

ลัก...ยิ้ม
19-06-2015, 17:53
๙.เรื่องของร่างกาย ต้องหมั่นดูหาความจริงเอาไว้เสมอ จักได้มีปัญญาเกิดขึ้นกับจิต มิใช่ท่องจำเอาเป็นเพียงสัญญา รู้สักเพียงแต่ว่ารู้แค่สัญญาก็วางอะไรไม่ได้เลย (ทรงตรัสสอนอุบายไว้มากมายหลายวิธี ตามจริตนิสัยของคนซึ่งทำกรรมมาไม่เหมือนกัน ใครพอใจวิธีใดก็หมั่นพิจารณาวิธีนั้น) ให้มองชีวิตร่างกายที่เห็นอยู่นี้มันเป็นของใครก็ไม่รู้ มันคืออะไรกันแน่ เป็นของเราหรือของใคร เที่ยงหรือไม่เที่ยง สกปรกหรือสะอาด ควรยึดหรือไม่ควรยึด ดูให้ชัด ๆ จึงจักต้องฝึกสติสัมปชัญญะ (สติ - สมาธิ - ปัญญา หรือสมถะวิปัสสนา ความจริงมันก็ตัวเดียวกัน) จิตมันชินอยู่กับกิเลสมานานแสนนานจึงต้องใช้ปัญญาหาความจริงให้พบว่า ร่างกายชีวิตมันหลอกเรา หรือว่าอารมณ์จิตของเราหลอกเราเอง ดูให้ชัด ๆ หมั่นดูบ่อย ๆ จึงจักวางอุปาทานขันธ์ลงได้ ฝึกจิตให้หมั่นดูกาย พิจารณาชีวิตให้เห็นถึงที่สุดของความทุกข์ นั่นแหละจึงจักวางทุกข์ลงได้ การฝึกต้องไม่ใจร้อน ให้ค่อยๆ ฝึกจิตไป แต่ก็อย่าแชเชือน ปล่อยปละละเลย ให้กรรมฐานว่าไปจากจิต (ไม่ตึง ไม่หย่อนไป ให้เดินสายกลาง) จะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ให้ดูอารมณ์จิตเอาไว้ด้วย

ลัก...ยิ้ม
26-06-2015, 17:04
๑๐.ร่างกายมันเสื่อมลงทุกวัน นี่แหละอริยสัจหรือความจริงของร่างกาย ซึ่งทุกรูปทุกนามเหมือนกันหมด ไม่มีใครหนีความจริงไปได้ ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้ดูร่างกายตามความเป็นจริงอยู่เสมอ พิจารณาให้เห็นอยู่เนือง ๆ จนกระทั่งจิตวางร่างกายให้เป็นไปตามกฎของธรรมดา การอยู่จักต้องดูแลรักษาไปตามหน้าที่ แต่ถ้าหากมันตายจิตก็ไม่ผูกพัน ไม่ฝืนโลก ไม่ฝืนธรรม พร้อมที่จักปล่อยวางได้ในทันทีทันใด จุดนี้สำคัญมาก หากประมาทไม่หมั่นฝึก หมั่นซ้อมให้ชำนาญให้ผ่านจุดนี้ การจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานก็เป็นของยาก พิจารณาวันละเล็กวันละน้อย ให้จิตมันชินอยู่กับการพิจารณาร่างกาย ทำบ่อย ๆ ฝึกจิตให้เห็นความเป็นจริงของร่างกาย จิตก็จักคลายการเกาะติดร่างกายลงได้ทีละน้อย จนในที่สุดจักปล่อยวางร่างกายลงได้สนิท จงอย่าทิ้งความพยายาม (ความเพียรหรือวิริยบารมี) ก็แล้วกัน ทำไปแล้วจักเห็นผลเอง เฉพาะตัวของใครของมัน (ธรรมของตถาคตเป็นปัจจัตตัง ถึงแล้วจะรู้เอง)

ลัก...ยิ้ม
30-06-2015, 16:54
๑๑. อย่ากังวลกับชะตากรรมของใครทั้งปวง หัดปล่อยวางด้วยการตรวจดูความกังวลของจิตอยู่เสมอ แล้วหาเหตุหาผลให้จิตยอมรับถึงกฎของความเป็นจริง คือไม่มีใครสามารถหนีกฎของกรรมได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าคน สัตว์ วัตถุธาตุ ไม่มีอันใดทรงตัวได้เลย แม้ร่างกายที่จิตเราอาศัยชั่วคราว จิตคือเรา จึงยึดถืออะไรในโลกซึ่งไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ได้สักอย่างเดียว

พิจารณาถามตอบ หาเหตุหาผลให้พบ จิตจักเป็นผู้รู้ มีปัญญา มีสติสัมปชัญญะ จิตก็จักไม่ไปผูกพันกับโลกและขันธโลกให้เกิดทุกข์อีก จิตจักวางได้เองเป็นอัตโนมัติ (พระธรรมเปรียบประดุจเหมือนแพ ช่วยพยุงเราไม่ให้จมน้ำตาย พาเราไปให้ถึงฝั่ง เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ไม่มีใครแบกแพเอาไปด้วย หรือไม่จำเป็นต้องแบกแพไปด้วย)

ลัก...ยิ้ม
03-07-2015, 10:42
๑๒. มองทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ล้วนไม่เที่ยง ให้เห็นเป็นธรรมดา ความกังวลใจก็จักไม่มี การจักไปพระนิพพานต้องเห็นธรรมดาให้มาก และยอมรับนับถือให้มากด้วย ให้เห็นธรรมดาภายในด้วย (สันตติภายในคืออารมณ์จิตและพระธรรม เกิดดับอยู่เสมอ) เห็นธรรมดาภายนอกด้วย (สันตติภายนอกคือร่างกายกับเวทนาเกิดดับ ๆ อยู่เสมอ) พิจารณาธรรมดาให้มาก ๆ จิตจึงจักวางได้ เช่นร่างกายนี้ไม่ใช่แก่นสารก็จริงอยู่ แต่ในยามนี้กิเลสยังไม่สิ้น อายุขัยก็ยังไม่หมด จิตนี้อาศัยร่างกายอยู่เสมือนเรือนแพที่จำเป็นต้องอาศัยเพื่อข้ามฝั่ง การยังอัตภาพให้เป็นไป จึงยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จักไม่เป็นที่เบียดเบียนแก่จิตผู้อาศัย ร่างกายสุขจิตก็สุข ถ้าร่างกายเป็นทุกข์จิตก็เป็นสุขยาก ยกเว้นพระอรหันต์เท่านั้น ที่ท่านสุขอย่างอุกฤษฏ์ เพราะท่านแยกจิต แยกกาย แยกเวทนา แยกธรรมออกจากกันได้สนิทเท่านั้น

การแยกกาย เวทนา จิต ธรรมมาจากไหน ก็มาจากการพิจารณาธาตุ ๔ อาการ ๓๒ อันทำให้เกิดเวทนาในรูปแบบต่าง ๆ หรือจากการพิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ก็ทำให้เข้าใจในเวทนาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เมื่อพิจารณาไป ๆ พอจิตละเอียดลงก็ปล่อยวางกาย เวทนา จิต ธรรมให้ลงเหลือสักแต่ว่าเท่านั้น จากการพิจารณาธรรมจุดนี้หนักเข้า จักเห็นธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่เรา จิตอยู่ส่วนจิต กายอยู่ส่วนกาย เวทนาอยู่ส่วนเวทนา ธรรมอยู่ส่วนธรรม เห็นแจ้งแทงตลอดก็เรียกว่าถึงฝั่งพระนิพพาน พิจารณาเข้าไว้ อย่าละซึ่งความเพียร แล้วโอกาสจักไปพระนิพพานก็เป็นของไม่ยาก

ลัก...ยิ้ม
09-07-2015, 11:51
๑๓. อย่าสนใจกรรมของบุคคลอื่น ให้พิจารณาลงตัวธรรมดาให้หมด ไม่มีใครหนีกฎของกรรมไปได้พ้น ถ้ายังไม่เข้าถึงพระนิพพานเพียงใด ก็ชื่อว่ายังไม่หมดกรรมเพียงนั้น ใครจักว่าการไปพระนิพพานเป็นของง่ายก็พึงอย่าไปคัดค้าน เพราะนั่นเขายังไม่รู้จักการไปพระนิพพานจริง แล้วจงอย่าไปเถียงเขา เพราะยากหรือง่ายของใครก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่แต่จิตของเราเท่านั้น ว่าไปได้ง่ายหรือไปได้ยาก แล้วใครตายแล้วไปพระนิพพานได้หรือไม่ได้ จงอย่ายืนยัน เพราะเวลานี้ไม่มีใครรับรองธรรมเหล่านี้ ท่านฤๅษีก็ได้ไปพระนิพพานแล้ว พูดไปก็สองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ใครไปได้แค่ไหนก็เรื่องของเขา หันมาเอาจิตของตนเองให้ไปได้เสียก่อนเป็นดี

ลัก...ยิ้ม
15-07-2015, 14:13
๑๔. พระอรหันต์ท่านไม่เบียดเบียน กาย วาจา ใจ ตนเองแล้ว จึงไม่เบียดเบียนกาย วาจา ใจ ของบุคคลอื่น พวกเจ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็พึงปฏิบัติตามท่านผู้จบกิจเหล่านั้น เรื่องความเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่ จงอย่ารับรองตนเอง ให้พยายามปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยมัชฌิมาปฏิปทาตามท่านผู้เป็นพระอริยเจ้าเหล่านั้นก็เป็นพอ ทำอะไรให้นึกถึงความพอดีเข้าไว้ แต่อย่าดีตามกิเลสในจิตของตน ให้ดีตามศีล สมาธิ ปัญญา และดีให้เหมาะให้ควรแก่เหตุ แก่ผล แก่สังคมที่ตนอยู่นั้น ๆ ด้วย คือไม่ขัดต่อระเบียบของสังคมและกฎหมายด้วย

ตราบใดที่ยังมีร่างกายและอยู่ในวงสังคม จักเป็นชาวโลกหรือชาววัดก็ดีล้วนแล้วแต่เป็นสังคม มีกฎเกณฑ์ มีระเบียบวินัย มีกฎหมายปกครองทั้งสิ้น การอยู่อย่างมีระเบียบวินัยตามกฎที่เขาให้จักมีความสุข ไม่เป็นที่ขัดแข้งกับผู้ปกครอง ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้อยู่ในที่สมควร

ลัก...ยิ้ม
24-07-2015, 13:41
๑๕. ทำกำลังใจให้สบาย ๆ แล้วหมั่นทำกำลังใจให้เต็ม มองเจตนาของจิตให้ทราบชัดว่า ขณะจิตนี้หรือทุก ๆ ขณะจิตที่ทำกิจทุก ๆ อย่างนี้ ทำเพื่ออะไร ให้มุ่งทำกิจทั้งภายนอกและภายในเพื่อพระนิพพานนั่นแหละสมควร เพราะที่สุดของชีวิตก็คือความตาย ตายแล้วก็ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้สักคน ที่สุดของโลกแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ จึงจักเอาอะไรมาเป็นที่พึ่งได้เล่า นอกจากพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคตซึ่งเที่ยงแล้ว ไม่เสื่อม ไม่ดับตลอดกาล เป็นที่พึ่งได้ จุดนี้ต้องทำกำลังใจให้เต็มอยู่เสมอ วันนี้ให้ดูกำลังใจเกี่ยวกับกิจเพื่อพระนิพพานอย่างเดียว ว่ามั่นคงดีอยู่หรือพร่องลง เป็นเพราะประการใดบ้าง แล้วจักเห็นประโยชน์ของการดูกำลังใจตรงนี้

ลัก...ยิ้ม
29-07-2015, 16:54
๑๖. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้เป็นสมบัติของโลก ไม่มีใครเอาไปได้ ไม่ใช่ของเราหรือของใคร จงอย่าไปคิดว่าจักตายเร็วหรือตายช้า (อยากให้ตายเร็วหรือตายช้าเป็นตัวตัณหา) อารมณ์ที่ถูกต้องจักต้องเห็นร่างกายอยู่ในธรรมปัจจุบัน เห็นตัวเกิดตัวดับอยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติ เห็นความตายเป็นของเที่ยง ไม่มีใครหนีพ้น จึงไม่จำเป็นที่จักต้องดิ้นรน ใครที่ยังกลัวตายจึงเป็นอารมณ์หลงที่ฝืนโลกฝืนธรรม ทำจิตให้เศร้าหมอง เป็นทุกข์ อารมณ์จิตที่ถูกต้องคืออารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาในสัทธรรม ๕ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา) เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต พร้อมตายและซ้อมตายอยู่เป็นปกติธรรม กายพังเมื่อไหร่.. จิตเข้าถึงพระนิพพานเมื่อนั้น หรือจิตเกาะพระนิพพานตลอดเวลาที่มีสติกำหนดรู้ จุดนี้ผู้ไม่เผลอไม่พลาดเลยคือพระอรหันต์เท่านั้น

ลัก...ยิ้ม
31-07-2015, 11:58
๑๗. นิพพานัง ปรมังสุขขัง คำภาวนาประโยคนี้ให้เตือนใจเตือนสติตนเองเอาไว้อยู่เสมอ จักได้ไม่ลืมจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ ดังนั้น..การปฏิบัติธรรมแล้วเห็นทุกข์ได้ตามความเป็นจริงจึงเป็นการถูกต้อง เพราะหากไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้ต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ จุดนี้ก็คือเห็นอริยสัจนั่นเอง อริยสัจคือตัวปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ต่างก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ และพระสาวกทุกองค์ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจ มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ทรงตรัสสั้น ๆ เท่านี้ เพื่อให้เอาไปคิดพิจารณาให้มาก แล้วจักเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง และละ หรือตัดสังโยชน์ได้ในที่สุด

ลัก...ยิ้ม
11-08-2015, 16:59
๑๘. การไปพระนิพพานไม่ใช่ของง่าย การตั้งปรารถนาว่าจักไปพระนิพพานนั้น ใคร ๆ ก็สามารถตั้งได้ แต่การที่จักไปพระนิพพานได้นั้น จักต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อละความโกรธ โลภ หลง หากละได้ก็ไปได้ ละไม่ได้ก็ไปไม่ได้ นักปฏิบัติย่อมรู้อยู่แก่ใจตนเอง คนละได้จริงเขาไม่โอ้อวด และไม่มีใครเขารับรองตนเองด้วย แล้วจงอย่าไปรับรองคนอื่นด้วย ส่วนการยกย่องกันย่อมมี เป็นการให้กำลังใจ แต่การนินทาให้ร้ายไม่มี ถ้าจำเป็นต้องพูดก็พูดโดยธรรม จิตที่เป็นอคตินั้นไม่มี นั่นแหละเป็นวิสัยของพระอริยเจ้า

ลัก...ยิ้ม
17-08-2015, 17:56
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. พิจารณาตัวธรรมดาให้มาก ๆ อย่าพิจารณาเพียงแค่ผิวเผิน จักต้องพิจารณาให้ลึกลงไป ให้ละเอียดลงไป จนกระทั่งจิตมันยอมรับในธรรมดานั้น เมื่อถึงที่สุดของจิตที่ยอมรับธรรมดา จิตจักไม่ดิ้นรน มีความสุขอย่างอุกฤษฏ์ สุขในทุก ๆ สภาพ แม้หน้าที่การงานจักเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็สักแต่ว่าหน้าที่การงานเท่านั้น จิตหาได้มีความเร่าร้อนหรือดิ้นรนไปด้วยไม่ จุดนี้จักต้องดูจิตให้ดี ๆ พิจารณาอารมณ์ของจิตให้จงหนัก

ลัก...ยิ้ม
19-08-2015, 11:29
๒. อย่าไปมุ่งเอาชนะใคร ให้ชนะใจของตนเองเท่านั้นเป็นพอ อะไรเกิดขึ้นกับเราให้อดทนเข้าไว้ ไม่ช้าไม่นานทุกอย่างก็จักสงบไปเอง จำไว้..ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ใครจักนินทาว่าร้าย จงอย่าไปต่อกรรมกับเขา อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น การสนทนาพาดพิงถึงใครให้ระมัดระวังให้มาก เพราะจักมีคนคอยจับผิด ถ้าไม่สำรวมก็จักเป็นการสร้างศัตรูให้เกิดโดยไม่ตั้งใจ

ลัก...ยิ้ม
25-08-2015, 11:34
๓. อย่ากังวลใจในเหตุการณ์ข้างหน้า ทำอะไรอย่าคาใจ (เพราะเป็นอารมณ์กังวลใจ เป็นวิจิกิจฉา) ไม่ว่างานใด ๆ ที่ทำ ให้รักษากำลังใจให้เสมอกันว่า ทำเพื่อพระพุทธศาสนา ทำเพื่อพระนิพพาน เช่น ฟังวิกฤติการณ์ของบ้านเมืองแล้ว ทำให้จิตยอมรับธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ไม่มีที่ใดในโลกจักหนีกฎธรรมดาอันนี้ได้พ้น ขันธโลกเป็นอย่างไร โลกภายนอกก็เป็นอย่างนั้น มีเกิด - แก่ - เจ็บ - ตายเหมือน ๆ กันหมด อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องผิดธรรมดา

ลัก...ยิ้ม
02-09-2015, 11:23
๔. ดูเขา ดูเรา ให้เห็นความทุกข์ ในโลกนี้ไม่มีใครเขามีความสุขจริง ๆ หรอก ยกเว้นพระอรหันต์ แต่ท่านก็สุขเพียงจิตของท่านเท่านั้น ร่างกายก็ยังทุกข์อยู่เป็นธรรมดา แต่จิตไม่ทุกข์ไปกับร่างกายตนเองและร่างกายผู้อื่น เนื่องด้วยมาจากการพิจารณาร่างกายว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเพียงเรือนให้อาศัยอยู่ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาก็ทิ้งบ้านที่อาศัยไปโดยไม่มีความห่วงใย หรือมีความกังวลใด ๆ ทั้งสิ้น จุดนี้ก็มาจากการพิจารณาร่างกายที่อาศัยอยู่ชั่วคราวว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ จนชิน จิตเป็นเพียงผู้มาอาศัยอยู่ จิตก็ปลดร่างกาย เพราะรู้ตามความเป็นจริงของร่างกายว่า รูป - เวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เกิด - ดับ ๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติธรรม มันไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา อารมณ์เกาะติดในขันธ์ ๕ จึงไม่มีในพระอรหันต์ รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ สักแต่เพียงแต่ว่าอาศัย ไม่เกาะติดในร่างกายนั้น จิตท่านรู้อยู่ ตื่นอยู่อย่างนี้แหละ เรียกว่าจิตพ้นจากโลกและขันธโลก ตกสู่กระแสพระนิพพานอย่างแท้จริง

เรื่องของจิตไม่มีใครช่วยใครได้ ตถาคตเป็นเพียงผู้แนะนำเท่านั้น ทำได้หรือไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติเอง จงอย่าประมาท และหมั่นตรวจสอบจิตของตนเอง ว่าการปฏิบัติของตนนั้นถึงจริงหรือยัง ละอารมณ์ ๓ โลภ - โกรธ - หลงได้แค่ไหน ละตัณหา ๓ ได้หรือยัง สังโยชน์ ๑๐ ประการหมดหรือยัง

ลัก...ยิ้ม
04-09-2015, 10:07
๕. งานธุดงค์ก็ผ่านไปแล้ว เป็นงานที่นำคนมาเพื่อสร้างความดีในมรรคผลของการปฏิบัติ เป็นการบำเพ็ญกุศลหมู่ ในข้อวัตรปฏิบัติของธุดงค์ จัดเป็นอุบายของการโน้มน้าวจิตคนให้เข้ามาสู่ความดี ผลจักได้มาก - น้อยสุดแต่วิริยะ - ขันติ - สัจจะบารมี โดยมีปัญญาบารมีคุมของแต่ละคนซึ่งมีมาไม่เสมอกัน จัดว่าเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องไปได้เช่นกัน สำหรับพวกอยู่วัดก็ดี ไปวัดแต่ไม่สะดวกที่จะเข้าธุดงค์ก็ดี หากเข้าใจมีปัญญา ก็สามารถปฏิบัติธุดงค์ได้ เพราะมีให้เลือกถึง ๑๓ ข้อ ผู้มีปัญญาสามารถเลือกเอามาปฏิบัติได้ไม่ยาก

ลัก...ยิ้ม
09-09-2015, 13:08
๖. ดูร่างกายตนเองแล้ว ดูร่างกายผู้อื่นด้วย การพิจารณาจักต้องย้อนไปย้อนมา จึงจักวางความโกรธ – โลภ - หลงได้ อย่ามองด้านเดียวจักขาดทุน แล้วให้พิจารณาหาความจริงของชีวิตว่า เกิด - แก่ - เจ็บ - ตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์จริงไหม ที่ทุกข์นั้นเป็นเพราะจิตเราไปฝืนความจริง คือฝืนโลกฝืนธรรมเป็นต้นเหตุหรือเปล่า ถ้าจิตเราไม่ฝืนความจริง ยอมรับทุกข์ของการมีร่างกายตามความเป็นจริง จิตก็จักวางร่างกายหรืออุปาทานขันธ์ ๕ ลงได้ ไม่ต้องการขันธ์ ๕ อีก อยู่ที่ความเพียรตัวเดียว รู้แล้วแต่ไม่ยอมรับก็เท่ากับยังไม่รู้จริง หากรู้จริงจิตก็วางเฉยได้ (เฉยในทุกเรื่องของร่างกายด้วยปัญญา มิใช่เฉยแบบควาย) ในที่สุดสังขารุเบกขาญาณก็เกิด จุดนั้นจิตดวงนี้ก็จักพ้นเกิดพ้นตาย รู้แล้วก็จงอย่าประมาท เพราะการรู้ยังมิใช่การปฏิบัติ เป็นเพียงแค่สัญญา จักต้องเพียรปฏิบัติให้เกิดผลอย่างทรงตัว หมายความว่าปฏิบัติได้จนชำนาญเป็นอัตโนมัติ จึงจักเรียกได้ว่าการปฏิบัติตัดกิเลสได้เข้าถึงเป็นสมุจเฉทปหาน

ลัก...ยิ้ม
16-09-2015, 11:12
๗. พยายามชำระจิตที่ติดข้องอยู่ในอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ ด้วยการเห็นความเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ และดับไปของอารมณ์ น้อมจิตมาอยู่ที่ปัจจุบันธรรมเนือง ๆ (เสมอ ๆ) แล้วจักเห็นความไม่เป็นสาระของอารมณ์ ไม่ว่าจักเกิดขึ้นด้วยการกระทบของอายตนะภายในหรือภายนอกก็ดี จิตจักรู้เท่าทัน และปล่อยวางความพอใจและไม่พอใจลงได้โดยง่าย ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริง ทำอะไร - พูดอะไร คิดอะไรให้รู้เท่าทันความเป็นจริงอยู่เสมอ แล้วจิตจักเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ง่าย ถ้าทำได้ ความเดือดเนื้อร้อนใจก็จักน้อยลง จิตจักเยือกเย็นขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามที่มุ่งเอาดีเพื่อมรรคผลนิพพาน จักต้องทำอย่างนี้เหมือนกันหมด

ลัก...ยิ้ม
22-09-2015, 17:55
๘. จิตตามหาสติปัฏฐานสูตรคือ เอาจิตให้มีสติคอยดูอารมณ์ของจิต แล้วกำหนดรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง จิตนั้นแหละจักเกิดความสงบ - เยือกเย็น สักแต่ว่าเห็นอยู่ – รู้อยู่ ไม่ติดอยู่ทั้งภายนอกและภายใน เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเครื่องอยู่ที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น เห็นจริงแจ้งจริงก็วางได้จริง ๆ มิใช่สักแต่ว่าเป็นความเข้าใจ หรือรู้เพียงแค่สัญญาเท่านั้น

ลัก...ยิ้ม
23-09-2015, 11:37
๙. พิจารณากฎของกรรมให้มาก และพิจารณากรรมใครกรรมมันให้มาก รวมทั้งศึกษาวิสัยของคน ให้เห็นธรรมดาในแต่ละวิสัยนั้น แล้วไม่ต้องไปแก้ใคร ให้แก้วิสัยของตนเองเป็นสำคัญ กรรมของคนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน อย่าไปทุกข์ตา - ทุกข์ใจกับกรรมของใครเขาเลย ดูแต่กรรมของตนเองดีกว่า

ถ้าหากจักมุ่งไปพระนิพพานให้ได้ในชาติปัจจุบัน จักต้องปลดทุกข์ที่เนื่องด้วยกรรมของคนอื่นให้หมดไป กล่าวคือกระทบด้วยอายตนะภายนอก เห็นแต่ความไม่เที่ยง เกิดขึ้น - เสื่อมลง แล้วก็ดับไป แล้วจักต้องปลดทุกข์เนื่องด้วยกรรมของตนเอง คืออายตนะภายใน ด้วยเห็นแต่ความไม่เที่ยง เกิดขึ้น แปรปรวน แล้วก็ดับไปเช่นกัน การไปพระนิพพานจักต้องมุ่งชำระจิตของตนเอง ไม่ให้ติดอยู่ในกรรม ไม่ว่าจักเนื่องด้วยกุศลหรืออกุศล พึงปล่อยวางอยู่ในจิตตลอดเวลา ในยามที่มีชีวิตอยู่ การงานในหน้าที่มีอยู่เท่าใด ก็จงทำไปตามหน้าที่อย่าพึงหลีกเลี่ยง ให้ทำไปให้เต็มความสามารถ ทำแล้วจิตไม่เกาะ ปล่อยวางทันทีที่พ้นจากหน้าที่มา

เรื่องของอายตนะก็เช่นกัน ขันธ์ ๕ ก็เช่นกัน รู้-เห็น-ได้ยิน-สัมผัส-ลิ้มรสไปตามหน้าที่ ผ่านไปแล้วก็ปล่อยวางทันทีเมื่อพ้นจากหน้าที่มา จงอย่าสร้างความเบื่อหน่ายแต่อย่างเดียว จุดนั้นยังเป็นความเศร้าหมองของจิต พึงเจริญไปให้ถึงการพิจารณาลงตัวธรรมดา แล้วความเบื่อหน่ายท้อแท้จักหายไป จิตจักมีความผ่องใส... ด้วยความยอมรับนับถือกฎของกรรมมากขึ้นตามลำดับ จนถึงที่สุดก็วาง... เป็นสังขารุเบกขาญาณได้

ลัก...ยิ้ม
28-09-2015, 11:16
๑๐. งานที่ไม่เหนื่อยไม่ทุกข์ย่อมไม่มี ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ถ้าหากต้องการพ้นทุกข์ก็จักต้องเจริญจิตไปให้ถึงการละ - การปลด - การปล่อยวางขันธ์ ๕ ลงได้อย่างสิ้นเชิง เช่น อย่ากังวลใจในการทำงาน เพราะจักไม่ให้มีความผิดพลาดเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่พึงระมัดระวังในความผิดพลาดต่อไปในภายหน้า อย่าให้มีความผิดพลาดอีก ในการปฏิบัติพระกรรมฐานก็เช่นกัน ผิดบ้าง พลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่ไม่ผิดพลาดเลยมีแต่พระตถาคตเจ้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นจงอย่าเสียใจ เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่พึงเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น จักได้ผิดพลาดน้อยลงไป

ลัก...ยิ้ม
02-10-2015, 09:48
๑๑. การเหน็ดเหนื่อยของร่างกายก็เป็นธรรมดาของผู้มีร่างกาย ให้ตั้งใจว่าจักขอเหนื่อยเป็นครั้งสุดท้าย ชาติสุดท้าย กายตายเมื่อไหร่จิตเรามุ่งไปพระนิพพานจุดเดียว มีมรณาฯ และอุปสมานุสติมั่นคง จักได้ไม่ต้องมาเกิดให้มีร่างกาย อันต้องทำงานให้เหนื่อยอย่างนี้อีก แต่ในขณะเดียวกัน จงอย่ามีความเศร้าหมองหรือความกังวลของจิต เพราะสภาวการณ์ต่าง ๆ อันเป็นไปด้วยเหตุของกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น ไม่มีใครฝืนได้ ทุกข์แค่ไหนก็ให้กำหนดรู้แล้วปล่อยวาง เพราะกรรมเหล่านี้ไม่สามารถแก้ได้ จงทำใจให้ยอมรับความเป็นจริง อย่าหนักใจเมื่อถูกกระทบ ต้องทำใจให้ยอมรับ พิจารณาด้วยปัญญาลงเป็นธรรมดาทั้งหมด ด้วยอารมณ์เบา ๆ และสบาย ๆ

ลัก...ยิ้ม
06-10-2015, 11:20
๑๒. อย่าสนใจอารมณ์ของคนอื่น ให้ดูอารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ จงเพียรรักษาอารมณ์ให้สงบ ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่เข้ามากระทบทั้งภายในและภายนอก ใครจักว่าอย่างไรอย่าไปสนใจ เพราะไม่สามารถจักไปห้ามปากใครไม่ให้พูดได้ ดูแต่อารมณ์ของจิต ดูกรรม การกระทำของกาย - วาจา - ใจ แห่งตนเองนี้ ไม่ให้ละเมิดศีล - สมาธิ - ปัญญา เท่านั้นเป็นพอ อย่าให้ไหลไปตามโลกนิยม จงอย่าเป็นไปตามลมปากคนอื่น ให้เป็นตัวของตัวเองที่มีจุดยืนอย่างแน่นอนว่า กระทำทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อพระนิพพาน จงวางจิตของตนเองให้เป็นกลาง อย่าไปมีอารมณ์ชื่นชอบ (พอใจ) หรือชิงชัง (ไม่พอใจ) ตามเขา

หากร่างกายเหน็ดเหนื่อย มีเวทนาจากการงาน ก็จงเอาเวทนานั้นมาพิจารณาว่า เวทนานี้เป็นของกาย มิใช่ของเราหรือของจิต แยกเวทนาให้ออกจากจิตด้วยปัญญา มาถึงจุดนี้อย่าไปมองภายนอก ให้ความสำคัญกับภายใน คือดูขันธ์ ๕ ให้มาก ทำความรู้จักกับขันธ์ ๕ ตนเองให้ดี รู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่รู้ด้วยสัญญา (ทรงให้ใช้มหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นหลักสำคัญ แยกกาย - เวทนา – จิต และธรรมออกจากกัน ๒ ข้อแรกเป็นเรื่องของกาย ๒ ข้อหลังเป็นเรื่องของจิต)