View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕
ขอให้ทุกท่านนั่งในท่าที่สบายของตัว ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามความถนัดของเรา
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นการปฏิบัติธรรมวันที่สองของต้นเดือนกรกฎาคมของพวกเรา เมื่อวานได้กล่าวถึงพื้นฐานความดีเบื้องต้น ก็คือศีลไปแล้ว สำหรับวันนี้จะกล่าวถึงเรื่องของสมาธิ ก็คือสิ่งที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่
สมาธินั้นเป็นพื้นฐานใหญ่ที่จะสร้างปัญญาให้เกิด ก่อนที่ปัญญาจะเกิด สมาธิที่ทรงตัวตั้งมั่น ก็ยังมีอำนาจที่จะกดกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ให้ระงับลงไปได้ชั่วคราวด้วย การทรงสมาธิจึงสามารถทำให้เราปลอดภัยจากกิเลสได้ในระดับหนึ่ง จนกว่าสมาธินั้นจะคลายตัวลง กิเลสจึงงอกงามเหมือนเดิม
ในการที่เราจะปฏิบัติสมาธิภาวนานั้น สิ่งที่ลืมไม่ได้เลย คือ ลมหายใจเข้าออก เพราะว่าลมหายใจเข้าออกนั้นเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สมาธิของเราทรงตัวตั้งมั่นได้ สมาธินั้นประกอบไปด้วยขณิกสมาธิ คือ อารมณ์ที่ทรงตัวเป็นสมาธิเพียงเล็กน้อย ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
อุปจารสมาธิ อารมณ์ที่ทรงสมาธิเริ่มแนบแน่นขึ้น แต่ว่ายังไม่ทรงตัวมั่นคง และอัปปนาสมาธิ สมาธิที่ทรงตัวแนบแน่น ตั้งแต่ระดับปฐมฌานขึ้นไป จนกระทั่งเป็นฌาน ๔ หรือสมาบัติ ๘ ก็ตาม
ในส่วนของขณิกสมาธินั้น จะขอเว้นไว้ไม่กล่าวถึง เพราะว่าพวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่กระทำได้ทั้งสิ้น จะมากล่าวถึงในส่วนของอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งสมาธินั้นในระดับขั้นต้น จะต้องดูองค์ประกอบ ๕ อย่าง คือ วิตก ความคิดนึกตรึกอยู่ว่าเราจะภาวนา วิจาร อารมณ์ที่ตามดูตามรู้ว่าตอนนี้ลมหายใจของเราเข้า ลมหายใจของเราออก จะแรงจะเบา จะยาวจะสั้น ก็รู้อยู่ ใช้คำภาวนาอย่างไรก็รู้อยู่
ปีติ เกิดอาการต่าง ๆ ๕ ประการ ประการใดประการหนึ่งขึ้น ก็คือ ขณิกาปีติ รู้สึกขนลุกเป็นพัก ๆ ขุททกาปีติ มีน้ำตาไหล โอกกันติกาปีติ ร่างกายโยกไปโยกมา หรือว่าดิ้นตึงตังโครมครามเหมือนปลุกพระ อุเพ็งคาปีติ ร่างกายลอยขึ้นพ้นพื้น บางทีก็ลอยไปไกล ๆ ถ้าสมาธิจะเริ่มคลายตัวเมื่อไร ก็จะลอยกลับมายังที่เดิม ลงนั่งในท่าเดิมตั้งแต่ต้นทุกประการ และผรณาปีติ มีความรู้สึกซาบซ่าน บางทีก็รู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่วเป็นรู มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ไหลออกจากร่างกายมามากมาย บางทีก็รู้สึกว่าร่างกายแตกระเบิดกลายเป็นผงไปเลยก็มี นี่ก็คือส่วนประกอบส่วนหนึ่งของสมาธิภาวนา ถ้าหากมาถึงระดับนี้สภาพจิตของท่านจะเป็นอุปจารสมาธิแล้ว
ลำดับต่อไปก็คือสุข เมื่อสมาธิทรงตัวแนบแน่นขึ้น รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นกองไฟแผดเผาเราอยู่ตลอดเวลา โดนอำนาจของสมาธิกดดับลง เราจะรู้สึกว่าความสุข สงบเยือกเย็น อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ได้มีขึ้นในใจของเรา หลายท่านเข้าใจผิดว่าบรรลุธรรมแล้ว ซึ่งความจริงยังเข้าไม่ถึงอัปปนาสมาธิขั้นแรกเลย อัปปนาสมาธิต้องมีองค์ประกอบสุดท้ายคือ เอกัคตารมณ์ เอกัคตารมณ์นั้น คืออารมณ์ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว จดจ่อแน่วแน่อยู่กับการตามดูตามรู้ลมหายใจและคำภาวนาของตน
ถ้าเรามีองค์ประกอบครบทั้ง ๕ ประการคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคตารมณ์ แปลว่า อารมณ์ของเราก้าวเข้าสู่ระดับอัปปนาสมาธิขั้นต้น คือ ปฐมฌานแล้ว บุคคลที่ก้าวเข้ามาถึงระดับนี้ มีสิทธิ์ทรงความเป็นพระโสดาบันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ต้องใช้ปัญญาประกอบด้วย
เนื่องเพราะว่า เมื่อความสุข ความสงบเยือกเย็นเกิดขึ้นแก่ตัวเรา ถ้าเราจะใช้ปัญญาประกอบด้วยการคิดต่อไปว่า ตัวเราที่เป็นโลกียฌานขั้นต้นเท่านั้น ยังมีความสุขเยือกเย็นขนาดนี้ บุคคลที่ทรงฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หรือสมาบัติ ๘ จะมีความสุขขนาดไหน ? แล้วบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ ที่มีความสุขเยือกเย็นด้วยอำนาจของโลกียฌานนั้น พระโสดาบันที่ท่านเป็นโลกุตระ ก้าวขึ้นสู่เหนือโลกแล้ว ไม่ลงสู่อบายภูมิอย่างแน่นอนแล้ว ท่านจะมีความสุขขนาดไหนต่อความปลอดภัยในชีวิต ต่อความปลอดภัยในคติของตน ?
แล้วพระสกิทาคามี ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง อ่อนจางบางเบาลงไปมากกว่าพระโสดาบันหลายเท่า จะมีความสุขขนาดไหน ? พระอนาคามีที่ละทั้งราคะและโทสะอย่างสิ้นเชิงแล้ว รอเวลาตรัสรู้เข้าสู่พระนิพพาน ไม่ต้องลงมาเวียนว่ายตายเกิดอีก จะมีความสุขขนาดไหน ? แล้วพระอรหันต์ที่ท่านหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงจากกองทุกข์ทั้งปวง จะมีความสุขยิ่งขึ้นไปขนาดไหน ?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นจอมพระอรหันต์ทั้งปวง พระองค์ท่านมีความสามารถเหนือกว่าพระอรหันต์ทั่วไปจนนับประมาณไม่ได้ จะมีความสุขขนาดไหน ? เราใช้แค่ปัญญาเล็กน้อยนี้ตามดูตามมองไป เราก็จะเห็นคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลายอย่างชัดเจน จิตของเราก็จะเกิดความเคารพในคุณของพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้น ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ
เราก็ใช้ปัญญาต่อไปอีกนิดหนึ่งว่า ตัวเรานี้เกิดมาแล้วจะต้องตายอย่างแน่นอน ตัวเราก็ตาย คนอื่นก็ตาย สัตว์อื่นก็ตาย ในเมื่อเราก้าวไปสู่ความตายอย่างแน่นอนเช่นนี้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาใหม่ เพื่อพบกับความทุกข์อย่างนี้เราไม่พึงปรารถนาอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน
เมื่อกำลังใจของเรามาถึงตรงจุดนี้ กำลังก็จะจดจ่อ แน่วแน่ มีความรักพระนิพพานเต็มอยู่ในจิตในใจของเรา ก็แปลว่าอำนาจสมาธิที่เราก้าวเข้ามา แม้เป็นเพียงอัปปนาสมาธิขั้นต้น ก็ยังมีอานิสงส์ถึงปานนี้ เราแค่ใช้ปัญญาประกอบเข้าไป ก็สามารถที่จะปิดอบายภูมิได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องเพราะว่าก่อนจะก้าวมาถึงขั้นนี้ เรามีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว มีสมาธิทรงตัวตั้งมั่นถึงระดับปฐมฌานเป็นอย่างน้อย และเห็นคุณพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าเราไม่ปรารถนาการเกิด เราต้องการพระนิพพาน กำลังจิตของเราก็จะตัด จะละ ในส่วนที่รกรุงรังทั้งปวง มุ่งสู่พระนิพพานโดยตรง ไม่คดเคี้ยวลดเลี้ยวออกนอกทางไปไหน
บุคคลที่ทรงอัปปนาสมาธิในระดับฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่กำลังสมาธินั้นสูงกว่า การตัดละมีได้มากกว่า ถ้าหากว่าท่านทรงฌาน ๔ ก็สามารถตัดกิเลสตั้งแต่ระดับพระอนาคามีขึ้นไปถึงพระอรหันต์ได้ ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราต้องไปศึกษาเพิ่มเติมกันในภายหลัง
สำหรับตอนนี้ก็ให้ทุกคนเอาใจจดจ่อ ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกของตน ว่าลมหายใจตอนนี้แรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ภาวนาว่าอย่างไร หรือกำหนดจับภาพพระไว้อย่างไร อย่าลืมเอาจิตสุดท้ายเกาะพระนิพพานเอาไว้ ตั้งใจว่าถ้าเราหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ตายลงไปก็ดี เราขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานแห่งเดียว ให้ทุกคนเอากำลังใจจดจ่อตั้งมั่นไว้อย่างนี้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕
(ถอดจากเสียงเป็นตัวอักษรโดยเถรีและคะน้า)
ชินเชาวน์
21-12-2013, 15:08
สามารถรับชมได้ที่
http://www.sapanboon.com/vdo/demo.php?filename=2555-06-30
ป.ล.
- สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
- ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด !
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.