เข้าระบบ

View Full Version : ธรรมที่เกิดในโลกนี้ ล้วนเป็นอริยสัจ


ลัก...ยิ้ม
13-09-2011, 08:23
ธรรมที่เกิดในโลกนี้ ล้วนเป็นอริยสัจ

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

๑. “การพิจารณาอริยสัจ ต้องพิจารณาให้ถึงที่สุดของความทุกข์ แล้วจักเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากกลับมามีขันธ์ ๕ ให้ต้องได้รับทุกข์อีก”

๒. “จิตจักวางทุกข์ เมื่อเห็นธรรมดาของการมีขันธ์ ๕ ก็ต้องพบทุกข์อยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด”

๓. “เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบ ปรารถนาไม่สมหวัง การกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจนั้นเป็นทุกข์”

๔. “การมีขันธ์ ๕ ย่อมหนีไม่พ้นสภาวะเช่นนี้ เจ้าจงพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายให้ถึงที่สุด แล้วจิตจักวางอารมณ์ที่เกาะติดร่างกาย เกาะติดทุกข์ไปได้ในที่สุด”

๕. “อย่าท้อใจ ตายเมื่อไหร่ไม่ขอกลับมามีภพชาติอีก ตั้งใจไปพระนิพพานจุดเดียว แล้วอย่าลืมควบคุมอารมณ์ อย่าให้ตกอยู่ในราคะ โทสะ โมหะ ให้มากนัก”

๖. “ใครเขาจักติจักว่าอย่างไรก็เรื่องของเขา ทำจิตของเราให้เป็นปกติก็แล้วกัน จิตปกติคือจิตสงบปราศจากอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่ถือเอามาเป็นสาระติดข้องอยู่ในอารมณ์ให้เห็นธรรมดาในคำที่เกิดขึ้น ถ้อยคำนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หาสารประโยชน์อันใดมิได้”

๗. “เอาจิตรอดเข้าไว้เป็นประการสำคัญ โดยเฉพาะจิตของตนเองนั่นแหละเป็นหลักใหญ่ มิใช่ไปกังวลเรื่องจิตของใครอื่น จิตของเราคิดเป็นกุศลหรืออกุศลก็พึงรู้เข้าไว้ และพึงแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ถูกที่ควรด้วย”

๘. “และอย่าทิ้งการตรวจสอบอารมณ์ของจิตว่า เบียดเบียนตนเองหรือเปล่า เบียดเบียนผู้อื่นหรือเปล่า เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นหรือเปล่า ความสงบของอารมณ์จะสมบูรณ์แบบ ก็จักต้องไม่เบียดเบียนทั้ง ๓ ประการนี้”

๙. “ทำบุญเพื่อพระนิพพานก็ต้องทำจิตเพื่อนิพพานด้วย คือทำดีแต่ไม่คิดดี และรู้ว่าสิ่งไหนดี รู้ว่าสิ่งไหนไม่ดี แล้วไม่ทำอารมณ์ให้ไปเกาะทั้งดีและทั้งไม่ดี วางจิตให้อยู่ตรงกลางแบบสบาย ๆ นั่นแหละ คือการทำจิตเพื่อพระนิพพาน”

๑๐. “ให้เห็นธรรมในธรรม เห็นจิตในจิต เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาไปให้ได้เป็นปกติ แล้วเจ้าจักพบความจริงในสภาวะธรรมล้วน ๆ อันไม่มีอันใดมาปกปิดนั่นแหละ จิตจักเห็นสภาพธรรมโดยปราศจากอารมณ์ปรุงแต่งธรรม จุดนั้นแหละจักทำให้เจ้ามีความสุขสงบของจิต”

๑๑. “การปฏิบัติหากหวังความคืบหน้าของจิต อย่าทิ้งหลักพิจารณาอริยสัจ”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com (http://www.tangnipparn.com)