View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔
ทุกคนนั่งในท่าสบายของตัวเองจ้ะ กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไว้ที่ลมหายใจ หายใจเข้ากำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออกกำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาหรือพิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่เราถนัด
โดยเฉพาะกรรมฐานกองเก่าของเราอย่าทิ้ง ถ้ายังทำไม่ถึงที่สุดให้ทำกองนั้นไปเรื่อย ถ้าถึงที่สุดแล้วจะเปลี่ยนกองใหม่ ก็ต้องทบทวนกองเก่าเสียก่อน ไม่อย่างนั้นแล้วอาจจะได้หน้าลืมหลัง ขาดความคล่องตัวในการปฏิบัติได้
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันที่สองของเดือน พวกเราทั้งหมดที่ปฏิบัตินั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ถ้าหากว่าทำ ๗ วันแล้วไม่ได้ ๗ เดือนแล้วไม่ได้ ๗ ปีแล้วไม่ได้ เราต้องทบทวนแล้วว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ?
การที่จะทบทวนนั้นให้เริ่มต้นที่ศีล ศีลทุกสิกขาบทของเราต้องบริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทำ ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นทำ ถ้าเราระมัดระวังศีลจนทรงตัวเป็นปกติได้ แปลว่าสมาธิของเราเริ่มมั่นคงแล้ว ก็ให้จับลมหายใจพร้อมกับคำภาวนาหรือภาพพระ หรือดวงกสิณที่เราชอบ
การที่การปฏิบัติต้องควบกับลมหายใจเข้าออก เพราะอานาปานสตินั้นเป็นพื้นฐานใหญ่ของกรรมฐานทั้งปวง กรรมฐานกองใดก็ตาม ถ้าไม่มีอานาปานสติประกอบด้วย กรรมฐานกองนั้นยากที่จะทรงตัวมั่นคงได้
เมื่อเรามีศีลทรงตัวเป็นปกติ จะภาวนากำหนดลมหายใจเข้าออกพร้อมคำภาวนาที่เราชอบก็ได้ การภาวนานั้นอย่าบังคับลมหายใจของตนเอง ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ร่างกายต้องการหายใจแรง หายใจเบา หายใจยาว หายใจสั้นก็ปล่อยไป เรามีหน้าที่กำหนดความรู้สึกทั้งหมดรู้ตามเข้าไป รู้ตามอออกมาเท่านั้น
แต่มีบุคคลบางจำพวกที่สมาธิเริ่มทรงตัวในระดับหนึ่งแล้ว ทันทีที่คิดภาวนา สมาธิก็จะวิ่งเข้าไปสู่ระดับที่ตนเองชำนาญ ทำให้บางท่านรู้สึกว่าเหมือนกับตนเองบังคับลมหายใจเข้าออก นั่นขอยืนยันว่าไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นความคล่องตัวในการทรงสมาธิของตน ทำให้ก้าวสู่ระดับสมาธิที่สูงขึ้นไปจากปกติได้ทันที จึงทำให้รู้สึกเหมือนกับลมหายใจเบาลง โดยที่เราไปบังคับให้เบา แต่ไม่ใช่..นั่นเบาเพราะเรามีความคล่องตัวในการปฏิบัติต่างหาก
เมื่อศีลของเราทรงตัว สมาธิตั้งมั่นแล้ว จะอยู่ในลักษณะดำเนินไประยะหนึ่ง และสมาธิก็จะคลายออกมาเอง ไปต่อไม่ได้แล้ว ยืนระยะไม่อยู่แล้ว เมื่อสมาธิคลายออกมาให้เรารีบพิจารณาวิปัสสนาญาณ ก็คือ อย่างน้อย ๆ ต้องเห็นว่าสภาพร่างกายของเราก็ดี สภาพร่างกายของคนอื่นก็ดี วัตถุธาตุสิ่งของทั้งหลายในโลกนี้ก็ดี มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด
ระหว่างที่ดำรงอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างก้อนหิน ต้นไม้ เรือนโรง ก็ยังมีสภาวทุกข์ คือ ค่อย ๆ เสื่อมไปตามสภาพ และท้ายสุดก็ไม่มีอะไรทรงตัวให้ยึดถือมั่นหมายได้ เสื่อมสลายตายพัง คืนเป็นสมบัติของโลกไปตามเดิม
เราต้องพิจารณาดังนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำแล้วย้ำอีก โดยเบื่อหน่ายไม่ได้ จนกว่าสภาพจิตจะยอมรับอย่างแท้จริง รู้เห็นอย่างแท้จริงว่าเป็นอย่างนั้น เมื่อเราคิดว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราเมื่อไร สภาพจิตจะไม่เถียงเลย มีแต่ยอมรับโดยส่วนเดียว ถ้าเป็นดังนี้จึงจะถือว่าใช้ได้
ถ้าเราไม่รีบพิจารณา เมื่อสมาธิคลายออกมาก็จะฟุ้งซ่านไปในรัก โลภ โกรธ หลง โดยเอากำลังของสมาธินั้นแหละเป็นพื้นฐานในการฟุ้งซ่าน ดังนั้น..นักปฏิบัติส่วนหนึ่งจะพบกับความทุกข์ยากลำบากมาก เพราะไม่รู้ว่าตนเองทำผิดวิธี ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านหลังจากนั่งสมาธิแล้ว
เมื่อจิตมีกำลังจากการสร้างสมาธิของเรา เวลาฟุ้งซ่านเราก็เอาไม่อยู่ เกิดความทุกข์ความกลุ้มใจ และคิดว่ายิ่งปฏิบัติ กิเลสรัก โลภ โกรธ หลงยิ่งมากขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่ กิเลสมีอยู่เท่าเดิม แต่เราไปใช้กำลังสมาธิช่วยในการฟุ้งซ่าน ก็เลยดูเหมือนกิเลสมีกำลังกล้าแข็ง มีพรรคพวกมีกำลังมากขึ้น สามารถทำร้ายเราได้มากขึ้น เป็นต้น
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นที่เราจะต้องสังวรณ์ระวังเอาไว้ เพราะปฏิบัติมานานแล้วไม่ได้ผล เราจำเป็นต้องทบทวนว่ามีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง
เมื่อเรามีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่น ถึงเวลาคลายออกมาพิจารณา การพิจารณานั้นจิตก็จะดิ่งลึกลงไปตามลำดับ จนในที่สุดก็จะกลายเป็นสมาธิตามเดิม เราก็มีหน้าที่ตามดูตามรู้ในสมาธินั้นเท่านั้น เมื่อสภาพจิตดำเนินไปถึงที่สุดของสมาธิ ก็จะกลับคลายออกมาใหม่ เราก็รีบพิจารณาต่อ
ดังนั้น..สมถกรรมฐานที่สร้างสมาธิให้เกิด และวิปัสสนากรรมฐานที่สร้างปัญญาให้เกิด มีความจำเป็นที่จะต้องทำร่วมกันไปถึงจะก้าวหน้า เพราะทั้งสองอย่างเหมือนคนที่ผูกเท้าติดกัน เมื่อก้าวเท้าซ้ายไปสุดแล้ว ถ้ายังดื้อจะก้าวต่อ ก็จะโดนสิ่งที่ผูกอยู่นั้นรั้งกลับ ไม่สามารถที่จะก้าวต่อไปได้ เราจึงจำเป็นต้องก้าวเท้าขวา จึงจะก้าวต่อไปได้
เมื่อก้าวเท้าขวาสุด ก็ไม่สามารถที่จะก้าวต่อได้อีก นอกจากจะก้าวเท้าซ้ายไปเท่านั้น การปฏิบัติของเราก็เช่นกัน เมื่อทรงสมถภาวนาจนเต็มที่แล้ว ก็ให้พิจารณาในวิปัสสนาภาวนา เมื่อพิจารณาวิปัสสนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ก็จะย้อนกลับมาสมถะเองโดยอัตโนมัติ
ถ้าเราทำดังนี้ความก้าวหน้าก็จะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าผิดไปจากนี้เมื่อไร นอกจากจะไม่ก้าวหน้าแล้ว บางทีพอฟุ้งซ่านมาก ๆ แล้ว เราอาจจะท้อถอย เบื่อหน่าย เลิกปฏิบัติไปเลย นั่นเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น..ในการปฏิบัติของทุกคน ความจริงแล้วเรามีพื้นฐานกันเพียงพอ รู้ทุกอย่างว่าต้องทำอย่างไร เพียงแต่ต้องมีสติ สมาธิ และปัญญาเท่าทันกับกิเลสเท่านั้น
เพราะว่ากิเลสนั้นจะสอดแทรกเข้ามาทุกเวลา ทุกนาทีที่มีโอกาส จะมาชักมาจูงจนเราเสียคนในการปฏิบัติ เราจะต้องรับมือได้ทันท่วงที การที่จะรับมือกิเลสได้ทันท่วงทีนั้น อย่างน้อยต้องทรงปฐมฌานละเอียดได้คล่องตัว
ดังนั้น..งานในวันนี้ของพวกเราก็คือให้ทุกคนภาวนา พยายามที่จะทรงกำลังใจของเราอยู่ในระดับของปฐมฌานละเอียดให้ได้ แต่ไม่ใช่ไปตามจี้ว่าแต่ละระดับขั้นตอนเป็นอย่างไร ให้เรามีหน้าที่ภาวนา ส่วนผลจะเกิดอย่างไรก็แล้วแต่ที่สมาธิจะเป็นไป ถ้าเราปล่อยวางอย่างนี้ได้ สมาธิจะทรงตัวได้เร็ว
เมื่อทรงเป็นปฐมฌานละเอียดได้ สติ สมาธิจะจดจ่ออยู่กับปัจจุบันธรรมเบื้องหน้า ทำให้เรารู้เท่าทันว่ารัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดขึ้นอย่างไร กิเลสมารจะมาในลีลาไหน เพื่อที่จะชักจูงเราให้ผิดทาง เราก็จะได้รับมือและแก้ไขได้ทัน
ลำดับต่อจากนี้ไป ให้ทุกท่านตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา หรือผู้ใดชำนาญในการกำหนดภาพพระ กำหนดดวงกสิณก็กำหนดไป ใครถนัดมโนมยิทธิยกใจขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพานก็กระทำไป ให้รักษาอารมณ์เอาไว้ดังนี้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔
ชินเชาวน์
10-04-2012, 23:21
สามารถรับชมได้ที่
http://www.sapanboon.com/vdo/demo.php?filename=2554-06-04
ป.ล.
- สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
- ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด !
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.