เข้าระบบ

View Full Version : อย่าเฉยอย่างลิง ที่กลัวไม้เรียว


ลัก...ยิ้ม
22-02-2011, 15:23
อย่าเฉยอย่างลิง ที่กลัวไม้เรียว

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้มีความสำคัญดังนี้

๑. “ขอให้พวกเจ้ายุติกรรมที่จักจองเวรกับบุคคล ที่มาก่อกวนการทำงานให้กับพระพุทธศาสนาในวัดท่าซุงของพวกเจ้าลงเสียให้ได้ จงให้อภัยแก่เขาเพราะในไม่ช้าผลของกรรมที่เขาทำเอาไว้ จักสนองเขาเองในภายหน้า เพลานี้จิตของเขาไม่มีความสุข เป็นทุกข์เพราะไฟโมหะ โทสะ โลภะเผาผลาญ”

๒. “พวกเจ้าจงยังจิตให้สงบอยู่ในธัมมวิจยะต่อไปเถิด อริยสัจหรือกฎของกรรมเที่ยงแท้อยู่เสมอ ขอให้ไตร่ตรองจุดนี้ให้ดี ๆ สร้างอภัยทานให้เกิด จิตจักมีความสงบ เยือกเย็นและจักยอมรับนับถือในกฎของกรรม จิตจักไม่เป็นเวรเป็นภัยแก่ตนเอง คือ รักษาอารมณ์ของตนไว้ให้สงบสุขด้วยพรหมวิหาร ๔ ไม่เบียดเบียนตนเองทั้งทางกาย วาจา ใจ ก็จักพลอยไม่เบียดเบียนกาย วาจา ใจของผู้อื่นด้วย"

๓. “รักษาพรหมวิหาร ๔ เอาไว้ให้ดี ๆ ที่ให้พวกเจ้าวางเฉยกันไว้ใน ๒-๓ วันนี้ เพื่อให้รู้จักข่มใจอยู่ในตัวอุเบกขาบ้าง ถ้าไม่สั่งอย่างนั้น ก็จักไม่รู้จักอุเบกขากันเลย” (ก็ยอมรับว่า เฉยได้ตามคำสั่งเท่านั้น แค่ได้ชั่วคราว)

๔. “นั่นเป็นเพียงระงับชั่วคราว ยังไม่ใช่ของจริง เพราะยังไม่ถูกกระทบกระทั่ง เพียงแต่ให้รู้ว่าระงับให้สงบแล้ว แล้วเป็นสุขอย่างนี้แหละ” (ก็นึกถึงลิงที่ถูกฝึกให้อยู่นิ่ง ๆ เพราะกลัวไม้เรียว สภาพจิตในขณะนี้ก็เป็นอย่างนั้น)

๕. ทรงตรัสว่า “ถูกต้อง ใหม่ ๆ ลิงจักไม่ยอมเฉย ที่ต้องยืนเฉย ๆ เพราะกลัวไม้เรียว แต่พอนาน ๆ ไปถูกขนาบเข้าบ่อย ๆ ลิงก็รู้ว่า นี่เขาสั่งให้ยืนเฉย ๆ แต่พวกเจ้าเป็นมนุษย์ต้องรู้จักใช้ปัญญา มิใช่จักมายืนเฉย ๆ อย่างลิงกลัวไม้เรียวไม่ได้ คือการรู้จักระงับอารมณ์ไม่ให้ดิ้นรนไปในเรื่องต่าง ๆ ใหม่ ๆ ก็ไม่รู้ว่าเฉยจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร (อย่างลิง) เมื่อถูกสั่งให้เฉย ควรจักพิจารณาตามไปว่า อารมณ์เฉยนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์” (ให้รู้ด้วยตนเอง และยอมรับว่าเป็นสุข)

๖. “เมื่อเป็นสุข ควรจักเฉยต่อไปไหม ให้ถามตนเองอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ทำตัวเหมือนลิง คิดแต่กลัวไม้เรียวอย่างเดียว ต้องใช้ความเพียรบวกปัญญา ให้จิตมันยอมรับความจริงจนวางเฉยได้ในทุก ๆ กรณี นี่เรียกว่าอุเบกขาทั้งกาย วาจา ใจโดยยอมรับกฎของกรรม อภัยทานเกิดที่ตรงนี้”

๗. “บุคคลหากพรหมวิหาร ๔ ทรงได้ไม่เต็มทั้ง ๔ ตัว คำว่าจักอภัยทานให้แก่ผู้ใดนั้นเป็นของไม่จริง เพราะยังเป็นผู้ไม่รู้จักอภัยทานให้แก่กาย วาจา ใจของตนเองก่อน ขอให้พวกเจ้ารู้จุดนี้ให้ดี ๆ”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com