PDA

View Full Version : ศึกษาธรรมที่เป็นคุณ


ลัก...ยิ้ม
08-02-2011, 08:59
ศึกษาธรรมที่เป็นคุณ
ดีกว่าศึกษาธรรมที่เป็นโทษ


สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. “ศึกษาธรรมที่เป็นคุณดีกว่าศึกษาธรรมที่เป็นโทษ อย่าคิดค้นหาความชั่วที่คนอื่น ให้คิดค้นหาความชั่วที่จิตตนเอง ละวางเสียทีสำหรับบทความที่เป็นโทษ อันเป็นบาปกรรมที่ผู้ใดทำไว้ ผู้นั้นย่อมได้รับผลตอบสนองอย่างแน่นอน”

๒. “พวกเจ้าใฝ่ดีต้องการจักไปพระนิพพาน จักมานั่งค้นหาธรรมอันเป็นอกุศลนั้นอยู่ทำไม ขณะที่พบบทความชั่วนั้น จิตก็จดจ่ออยู่กับความชั่วนั้น เกิดตายตอนนั้นขึ้นมาจักไปพระนิพพานได้หรือ”

๓. “จงอย่าค้นหาความชั่วที่ผู้อื่น ให้ศึกษาแต่ความดีตามพุทธบัญญัติเท่านั้นจักดีเสียกว่า แล้วเพียรค้นหาความชั่วที่จิตตนเองให้สิ้นซากไปเสียยังจักดีกว่า มัวแต่ไปค้นหาความชั่วของบุคคลอื่น ก็ได้ชื่อว่าจิตของพวกเจ้าไปติดความชั่วของบุคคลอื่น จึงเท่ากับนำเอาความชั่วของบุคคลอื่นมาใส่ใจตนแล้วนะ”

๔. “ให้ตัดกรรม การติดตามขุดคุ้ยความชั่วของผู้อื่นเป็นการต่อกรรม และจงอย่าไปคิดตำหนิจริยาของผู้อื่น เพราะจิตเขาเจริญในธรรมระดับไหน ย่อมรู้และเข้าใจในธรรมได้แค่ระดับนั้นเป็นธรรมดา เอาเขาเป็นครูทดสอบจิตของเราดีกว่า เวลานี้พวกเจ้าก็สอบตกทั้งสองคน”

๕. “ให้รู้จักคำว่าอภัยทาน คำว่าอภัยคือ ไม่เอากรรมชั่วของเขามาเก็บไว้ในใจของเรา ปล่อยวางกรรมของเขาไปเสียจากอารมณ์ของเรา”

๖. “คำว่าอภัยทาน มิใช่จักต้องเข้าไปนอบน้อม พูดดี ทำดีกับเขา เพียงแต่ปล่อยวางกรรมชั่วของเขาให้หลุดออกไปจากใจ อุเบกขาหรือวางเฉยในกรรมชั่วของเขา เพราะกฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอและให้ผลไม่ผิดตัวด้วย”

๗. “พวกเจ้าพึงมีจิตอ่อนโยน มีมุทิตาไม่เข้าไปซ้ำเติมคือ ไม่ไปสืบเสาะความชั่วของเขา แล้วนำมาเป็นการทำร้ายซ้ำเติมเขาอีก จงมีความเมตตากรุณาเข้าไว้ สงสารเขาเพราะที่เขาสร้างกรรมขึ้นมาทำร้ายตนเอง ให้ต้องรับทุกข์ทรมานต่อไปในภายหน้านานนับอเนกชาติ”

๘. “ให้พวกเจ้ารู้จักใคร่ครวญถึงพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ให้เข้าใจ จะได้วางเฉยหรืออุเบกขา ไม่ไปเดือดร้อนกับกรรมของใคร ให้ศึกษาจุดนี้เข้าไว้ จะได้เคารพกฎของกรรม จักคิด จักพูด จักทำอะไร ให้ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ เพราะกรรมในกรรมหรือกฎของกรรมนั้นลึกซึ้งยิ่งนัก”

๙. “เรื่องของสงฆ์จงอย่าไปยุ่ง สงฆ์ย่อมระบุอาบัติของสงฆ์ให้คณะสงฆ์ กรรมการสงฆ์ทราบได้”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com