PDA

View Full Version : ครูพักลักจำ


เถรี
04-01-2011, 09:20
อาตมาไม่เคยเรียนหมอนวด แต่ป่วยบ่อยจนรู้วิธีนวดเอง กลายเป็นครูพักลักจำ

ที่มาของคำว่า "ครูพักลักจำ" ก็คือ สมัยก่อนเวลาเราเดินทางไปต่างบ้านต่างเมือง สภาพสังคมยังเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมาก แขกไปใครมาถึงไม่รู้จัก ก็ร้องทักทายเชื้อเชิญขึ้นบ้าน เชิญรับประทานอาหาร ถ้าไปต่างบ้านต่างเมืองก็มีการให้ที่พักอาศัยด้วย

บางบ้านท่านมีวิชาแล้วหวง ความหวงวิชา เกิดจากสองสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกคือ ต้องการคนดีที่มีความสามารถจริง ๆ มารับสืบทอดไป ประการที่สอง กลัวว่าถ้าลูกศิษย์รู้เท่าแล้วจะคิดล้างครู จึงต้องมีการขยักวิชาสำคัญเอาไว้

บรรดาท่านทั้งหลายที่ต้องการวิชา ก็จะไปขอพักอาศัยอยู่ด้วย พอเห็นเขาทำอย่างไรก็แอบจำมาใช้ ถึงเวลาตัวเองก็ไปสอนคนอื่นต่อ สอนถึงแก่นก็ไม่ได้ เพราะแค่ไปแอบดูเขาแล้วจำเอามา เขาจึงได้ใช้ว่า "ครูพักลักจำ"

ตอนแรกอาตมาก็สงสัยว่าครูพักลักจำจะเก่งขนาดนั้นเชียวหรือ ? ก็ต้องมาดูพี่ชายของอาตมาเอง พี่วิเชียร..พี่ชายคนโตเขาเรียนเกี่ยวกับการซ่อมจักรยาน สมัยก่อนจะเป็นจักรยานคันโต มีอานตรงกลาง เหมาะที่จะใช้บรรทุกของหนัก ๆ

มีวิชาหนึ่งที่พี่เขาขาดอยู่ ก็คือการเชื่อมโลหะ เขาก็เลยใช้วิธีสังเกตดูว่าช่างคนไหนทำเป็น รอจังหวะที่เขาเชื่อมโลหะ แล้วขอเขาเข้าไปใช้ห้องน้ำในบ้านตอนนั้น ขาเข้าก็ดูแวบหนึ่ง ขาออกก็ดูแวบหนึ่ง แล้วจำเอามาทำ แค่นั้นเอง ไม่ได้หยุดจ้องดูให้คนเขาสงสัยด้วยว่ากำลังมาขโมยวิชา..!

เถรี
04-01-2011, 09:34
แต่ถ้าสุดยอดครูพักลักจำต้องเป็นหลวงพ่อวัดท่าซุง หลวงพ่อท่านชอบดนตรีไทยโดยเฉพาะวงมโหรี พวกเครื่องสายปี่พาทย์มอญ จะมีเพลงหนึ่งที่ท่านไปขอเรียนแล้วเขาไม่สอน เพราะถือว่าเป็นทีเด็ดของเขา พอเวลาขึ้นเพลงนี้คนจะต้องแห่กันมาฟัง

หลังจากที่ท่านบวชพระแล้ว มีโอกาสไปงานศพงานหนึ่ง ซึ่งลูกหลานเจ้าของบ้านไปเรียกมโหรีวงนี้มาเล่น ท่านบอกว่า "ตอนพระเข้าบ้านเขาตีรับพระหนึ่งชุด พอพระสวดเสร็จเขาก็ตีรับอีกหนึ่งชุด ตอนพระฉันก็ตีอีกหนึ่งชุด ครั้งที่สองข้าก็จำได้หมดแล้ว พอซ้ำสามก็จำขึ้นใจเลย"

ถาม : ครูพักลักจำต้องอาศัยทักษะพิเศษอะไรหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ยิ่งไม่รู้หนังสือจะยิ่งจำแม่น เพราะว่าไม่ต้องอาศัยตำราช่วย ความจำของคนเริ่มเสื่อมทันทีที่มีการจารึกพระไตรปิฎกลงใบลาน เพราะถือว่าไม่ต้องท่อง จำตรงไหนไม่ได้ก็ไปเปิดตำราอ่านเอา

สมัยก่อนเขาท่องจำกันมาสืบเป็นทอด ๆ พระอานนท์จำได้ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อาจจะเป็น ๖๓,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ด้วยกระมัง เพราะพระอานนท์ท่านชำนาญทางด้านพระสูตรและอภิธรรม ส่วนพระอุบาลีท่านชำนาญพระวินัยมากกว่า พระอานนท์จึงให้พระอุบาลีวิสัชนาพระวินัย ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นั่นอาศัยแค่ความจำ

ยกตัวอย่างที่ชัด ก็คือ พระครูน้อย (พระครูสังฆรักษ์วิฑูรย์ จนฺทวํโส) วัดท่าขนุน ท่านไม่เก่งภาษาไทย สามารถอ่านได้ เขียนได้ แต่ถ้าให้ท่านเขียนภาษาไทยหน้าหนึ่ง วันหนึ่งเสร็จก็ถือว่าสุดยอดแล้ว เพราะฉะนั้น..ท่านใช้วิธีจำเอา ถ้าอาตมาหาเบอร์โทรใครไม่ได้ก็จะตะโกนถามท่าน สะดวกพอ ๆ กับถาม ๑๓ สมัยก่อนเลย

เพราะฉะนั้น..คนที่ไม่รู้หนังสือจะจำแม่นกว่า เพราะไม่สามารถจะใช้การจด คนโบราณเขาไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ความจำจะดีเป็นพิเศษ โยมแม่ของอาตมาไม่เคยเรียนหนังสือเลย แต่ใครซื้อของแล้วติดค้างเท่าไร วันไหนมาจ่ายคืนเท่าไร เหลือค้างอีกเท่าไร ท่านจำได้แม่นมาก ส่วนโยมพ่อทำไร่ยาสูบ คนงาน ๔๐ กว่าคน จำเป็นต้องมีเครื่องช่วยจำ ท่านไม่ได้เรียนหนังสือ แต่สามารถทำบัญชีได้ ท่านจะขีด ๆ เขียน ๆ เป็นสัญลักษณ์เฉพาะตน คนอื่นดูไม่รู้เรื่องหรอก แต่ท่านดูรู้ว่า คนงานคนไหนทำงานกี่วัน ขาดกี่วัน จะต้องจ่ายค่าแรงเท่าไร ท่านรู้หมด


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงเย็น ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓