PDA

View Full Version : ลิงติดตัง ยิ่งดิ้นยิ่งรัดตัวเอง


ลัก...ยิ้ม
28-12-2010, 10:33
ลิงติดตัง ยิ่งดิ้นยิ่งรัดตัวเอง
ยิ่งเพิ่มทุกข์ (คือ อารมณ์ฟุ้งซ่าน)


สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. “อย่าทำจิตให้เหลวไหล คอยดูอารมณ์เอาไว้ให้ดี ๆ อารมณ์เซ็งหดหู่เป็นอารมณ์อันตราย และจงอย่าคำนึงถึงอนาคตในแง่ร้าย ให้ระลึกนึกถึงความตายเอาไว้เสมอ ชีวิตเป็นของไม่เที่ยงแต่ความตายเป็นของเที่ยง อารมณ์เศร้าหมองแม้แต่นิดเดียว ขอให้คิดดูตายแล้วจักไปไหน เข้าถึงพระนิพพานได้สมเจตนาที่ตั้งใจได้หรือไม่”

๒. “เวลานี้ผลของอกุศลกรรมเล่นงานเจ้าหนัก อย่าลืมแม้เหตุเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นกฎของกรรม” (ทรงหมายถึง เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมกับผม)

๓. “เจ้าจักเห็นได้ว่า การมีขันธ์ ๕ ทรงอยู่นั้น เป็นทุกข์ที่เจ้าต้องประสบกับความทุกข์อยู่ทุกวันนี้ เพราะความมัวเมาในขันธ์ ๕ เป็นเหตุ เห็นร่างกายของเรา เห็นร่างกายของเขา ก็มีความยึดมั่นถือมั่นว่ามีในเรา มีในเขา ทำให้เกิดอารมณ์พอใจและไม่พอใจในร่างกาย ทั้งภายในและภายนอกอยู่ตลอดเวลา เป็นอารมณ์โง่ ๆ ที่หลงอยู่ในร่างกาย และจิตมันก็หลอกอยู่ตลอดเวลาว่า ร่างกายนี้มันทรงตัวอยู่อย่างนั้น มันเสื่อมก็ไม่ยอมรับว่ามันเสื่อม มันแก่ก็ไม่ยอมรับว่ามันแก่ อารมณ์จิตมันหลอกตัวเองว่า ร่างกายนี้ทั้งภายนอกและภายใน จักอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย ทั้ง ๆ ที่ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง ร่างกายเราก็ดี ร่างกายเขาก็ดี มันไม่เที่ยง”

๔. “ตั้งแต่เกิดมานี่ เจ้าก็ประสบกับความพลัดพรากจากร่างกายของบุคคลอื่นก็มากแล้ว ไม่จากกันตอนเป็น ก็จากกันตอนตาย บุคคลใดเล่าที่จักสามารถอยู่ช่วยกิจการงานของเจ้าได้ตลอดกาลตลอดสมัย” (ก็ยอมรับว่า ไม่มี)

ลัก...ยิ้ม
28-12-2010, 14:22
๕. “เพราะฉะนั้น จงอย่าหนักใจ เพราะนี่เป็นกฎของกรรม (กฎของธรรมดา) จงปลงสังขารร่างกายทั้งภายในและภายนอกลงเสีย เห็นมันเกิดขึ้นแล้วต้องเสื่อมไปในท่ามกลาง มีความสลายตัวไปในที่สุด กิจการงานก็เช่นกัน ทำได้แต่เฉพาะที่มีขันธ์ ๕ อยู่เท่านั้น ถ้าหมดร่างกายเจ้ายังปรารถนาอยากจักกลับมาทำกิจการงานเช่นนี้อีกหรือ” (ก็ตอบว่า ไม่ปรารถนา)

๖. “ก็จงตั้งใจไว้ว่า ภาระของร่างกายอันมีกิจการงานอย่างนี้เป็นต้น ถ้าหากข้าพเจ้าตายจากชาตินี้แล้ว จักไม่ขอกลับมามีร่างกายอีกต่อไป คิดเอาไว้อย่างนี้ให้เป็นประจำตั้งจิตตรงพระนิพพานเอาไว้เสมอ ๆ จักทำได้ไหม” (ก็รับว่า ทำได้)

๗. “อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายในกิจการงาน ตราบใดที่ยังมีร่างกายทรงอยู่ ก็จงทำงานไปตามหน้าที่ อย่าให้บกพร่อง คำว่าไม่บกพร่องในที่นี้ คือ ตั้งใจทำเป็นชาติสุดท้าย รักษากำลังใจให้เต็ม เพราะกิจการงานทุกอย่าง เจ้าจงทำโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ นอกจากพระนิพพานจุดเดียว”

ลัก...ยิ้ม
29-12-2010, 08:41
๘. “คำว่ากิจการงาน เมื่อทำแล้ว คำว่าไม่เหน็ดเหนื่อยนั้นย่อมไม่มี แต่คนฉลาดเขาจักนำความเหน็ดเหนื่อยในการทำกิจการงานมาพิจารณาเข้าหาไตรลักษณ์ เข้าหาอริยสัจ หาประโยชน์จากการงาน เป็นวิปัสสนากรรมฐานได้ตลอดเวลาเรียกว่า รู้จักหาผลกำไรจากกิจการงาน” (ก็ขออาราธนาบารมีของพระองค์ ได้โปรดเมตตาคุมจิตให้คิดได้ตามนี้ด้วยเถิด)

๙. “ก่อนอื่นเจ้าจักต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ควบคำภาวนาไว้เสมอ ๆ เป็นการระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านไว้ก่อน เจริญอานาปานุสติให้จิตทรงตัวมีกำลังเข้าไว้ แล้วหมั่นกำหนดภาพพระเข้าไว้ อย่าทิ้งภาพพระท่าน จักเป็นองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ทำจุดนี้ให้ได้ก่อน แล้วพระท่านก็จักมาสงเคราะห์เจ้าเองตามลำดับ อย่าเหลวไหล เที่ยวปล่อยอารมณ์ให้ฟุ้งซ่านตามเหตุที่เกิดผ่านไปแล้ว (เป็นอดีตแล้ว) จักขาดทุนเสียเปล่า ๆ เรื่องมันผ่านไปแล้ว ยังแก้ไขอันใดไม่ได้ ก็จงอย่าเอาจิตไปผูกพันให้มากนัก เหตุเหล่านั้นเป็นความทุกข์ แต่การทรงจิตให้อยู่ในกรรมฐานนั้น เป็นเหตุแห่งการพ้นทุกข์”

๑๐. “ก็สุดแต่เจ้าจักเลือกเอา จักปฏิบัติทางไหนดี หวังว่าไม่ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งหาความโง่เข้าใส่ตัวนะเพราะเจ้าไม่เห็นธรรมดา ไม่ยอมรับความไม่เที่ยง จิตก็เลยทุกข์เพราะความไม่เที่ยงนั้น พิจารณาให้ดี ๆ วางอารมณ์จิตเสียใหม่ อย่าให้ขาดทุน คิดให้เป็น ทุกอย่างหนีกฏธรรมดาไปไม่พ้น ตั้งอารมณ์เสียใหม่ให้ได้ตามที่แนะนำมาแล้ว แล้วเจ้าจักบรรเทาทุกข์ทั้งปวงลงได้มาก”

ลัก...ยิ้ม
30-12-2010, 09:49
ธัมมวิจัยจากพระธรรมคำสอนเรื่องนี้ ขอแยกเป็นข้อ ๆ เพื่อจดจำได้ง่าย ดังนี้

๑. “อารมณ์ฟุ้งซ่านหรือฟุ้งเลว ออกนอกโอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ข้อ คือ ให้ละกรรมชั่ว ให้ทำแต่กรรมดี ให้ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ หากขัดแม้ข้อใดข้อหนึ่ง จัดเป็นฟุ้งเลวทั้งสิ้น”

๒. “การมีร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์อยู่แล้วด้วยกันทุกคน แต่โง่ไม่เห็น เช่น


๒.๑ ภาราหะเว ปัญจักขันธา ภาระที่มีอยู่กับร่างกายเป็นภาระอันหนักยิ่ง มีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูมันตลอดเวลา เหมือนคนเลี้ยงลูกอ่อน หรือคนติดคุกที่แสนจะสกปรกและไม่เที่ยง


๒.๒ สัทธรรม ๕ คือ เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องป่วย ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบ มีความปรารถนาไม่สมหวัง และในที่สุดก็ต้องตาย ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ล้วนแต่เป็นทุกข์


๒.๓ พระธรรมท่านแสดงธรรมให้เราเห็นตลอดเวลา

ก) เรื่องทุกข์ เพราะความไม่เที่ยงของขันธ์ ๕ หรือร่างกายทั้งภายนอก คือ ร่างกายคนอื่น และทั้งภายใน คือ ร่างกายตนเอง

ข) เรื่องไตรลักษณ์ คน สัตว์ วัตถุธาตุใด ๆ ในโลกมนุษย์ แม้เทวโลกและพรหมโลก และขันธโลก (ร่างกายหรือขันธ์ ๕) ก็ตกอยู่ภายใต้กฏของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง ใครยึดถือก็เป็นทุกข์ เพราะในที่สุดล้วนเป็นอนัตตา หรือตาย หรือพัง หรือสลายตัวไปในที่สุด เหมือนกับจริง ๆ แล้วมันไม่มีตัวตนนั่นเอง

ลัก...ยิ้ม
04-01-2011, 09:09
๓. คนฉลาดเมื่อพบความจริง หรืออริยสัจที่พระองค์ทรงตรัสไว้ ก็สามารถจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามากระทบทางอายตนะสัมผัสทั้งหก มาเป็นพระธรรมได้หมด โดยการพิจารณาเข้าหาทุกข์ หาไตรลักษณ์ หาวิปัสสนาญาณ ๙ โดยใช้อริยสัจ (กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ) เป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหาได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

๔. หลักสำคัญในการปฏิบัติ คือ อานาปานุสติ ซึ่งเป็นฐานใหญ่ที่ทำให้จิตมีสติ สงบเป็นสุข (มีสมาธิหรือฌาน) และเกิดปัญญา พิจารณาตัดกิเลสให้ขาดได้ในที่สุด

๕. ทรงเน้นอานาปานุสติควบคำภาวนา เพื่อระงับอารมณ์ฟุ้งซ่าน และกำหนดภาพพระไว้เสมอ ด้วยความไม่ประมาทในความตาย จะคิด จะทำอะไร ให้คิดว่าอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายทั้งสิ้น คือ มีอานาปาควบมรณา ควบอุปสมานุสติไว้เสมอ หรือรู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน เป็นอุบายสั้น ๆ ย่อ ๆ แต่เป็นทางเข้าสู่พระนิพพานได้ง่าย ๆ

๖. ไม่มีใครสามารถทำงานทางโลกเสร็จ เพราะงานทางโลกเป็นไตรลักษณ์ คนฉลาดเขาคิดว่าขอทำเป็นครั้งสุดท้าย หากกายพังก็ขอไปพระนิพพานจุดเดียว

๗. จิตเป็นทุกข์เพราะไม่ยอมรับกฎของกรรม ไม่เห็นตัวธรรมดาของโลกภายนอก (กายผู้อื่น) ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จิตที่ฟุ้งซ่านยิ่งดิ้นก็ยิ่งทุกข์ เหมือนกับลิงติดตัง


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com