PDA

View Full Version : พิษภัยของสัญญาที่ไม่เที่ยง


ลัก...ยิ้ม
25-11-2010, 08:43
พิษภัยของสัญญาที่ไม่เที่ยง

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

๑. เรื่องของสัญญาความจำของชาวโลก มักจักไม่เที่ยง ฟังอะไรไม่ถ่องแท้ เข้าใจไม่ตลอด ก็มักจำความอะไรผิด ๆ แล้วนำไปพูดต่อในทางที่ผิด จึงทำให้คนที่ฟังต่อ ๆ ไปเข้าใจผิดอย่างมากมาย แต่นั่นก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับการฟังพระธรรมคำสั่งสอน แล้วตีความหมายผิด ๆ เอาสัญญาความจำที่ไม่เที่ยงมาตู่คำสอน และเอาปัญญาที่มีอยู่ในตน ตีความหมายเอาตามความคิดเห็น อันเป็นอุปาทานส่วนตัวมาบังหน้า แล้วนำธรรมนั้นออกไปเผยแพร่กระจายออกสู่สาธารณชน คนฟังก็จำธรรมนั้นโดยการฟังที่คล้อยตาม จุดนี้ซิ อันตราย”

๒. “คนมักจักพูดโอ้อวดธรรมที่ไม่มีในตน โดยมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้เลิศประเสริฐ ในการเข้าใจพุทธพจน์บทพระบาลี อ้างพระธรรมคำสั่งสอนว่า เป็นคำตรัสของพระตถาคตเจ้าขึ้นนำหน้า แต่ในภายหลังที่อรรถาธิบายก็มักจักสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตน ตีความหมายของธรรมนั้นตามอุปาทานแห่งตน กล่าวเป็นเชิงโอ้อวดตนว่าเข้าถึงในธรรมนั้น ๆ”

๓. “ที่ตถาคตกล่าวมานี้ ก็เพื่อให้พวกเจ้าสำรวมจิต หรืออารมณ์ที่ทะนงตนว่าเป็นผู้เข้าถึงธรรมเอาไว้ให้ดี ๆ อย่าหลงตัวหลงตนคิดว่าดีแล้วเป็นอันขาด จักทำให้จิตพลาดจากความดีไปอย่างน่าเสียดายอย่างยิ่ง"

๔. “พูดมากเท่าใด ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น จงพิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จักพูดทุกครั้ง เล็งเห็นสาระหรือประโยชน์ในการพูดแต่ละครั้งด้วย อย่าพูดให้เสียเปล่าหรือพูดให้เป็นโทษ เป็นที่เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น คุมจุดนี้เอาไว้ให้ดี ๆ ชาวโลกหมองใจฆ่ากันตาย ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเพราะวจีกรรมมามากต่อมากแล้ว”

๕. “เมื่อห้ามปากแล้วก็มาห้ามใจ การห้ามปากและห้ามใจก็ดี จงห้ามที่ตนเอง อย่าไปห้ามที่บุคคลอื่น เรื่องของการห้ามใจคือ ให้พิจารณาอารมณ์คิดดูว่า ขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นมีอารมณ์ที่เป็นสาระหรือประโยชน์ในความคิดหรือความสงบนั้นบ้างไหม เป็นคุณหรือเป็นโทษ เบียดเบียนตนเองหรือไม่ เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นหรือไม่ อารมณ์ใดถ้าหากตกเป็นทาสของกิเลส จักโกรธ โลภ หลงก็ตาม อารมณ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นโทษและเบียดเบียน จักต้องหมั่นรู้ธรรมของจิตอยู่เสมอ จึงจักแก้อารมณ์กิเลสได้”

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com (http://www.tangnipparn.com)