PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันศุกร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓


เถรี
12-10-2010, 12:47
ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัวเอง ถ้าหากว่าคับแคบไปหน่อย ก็ขยับ ๆ แบ่งปันกันไป สำหรับวันนี้เป็นวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติธรรมวันแรกของของเดือนตุลาคม

เดือนนี้เป็นเดือนที่พระจะออกพรรษากันแล้ว เท่าที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วในช่วงพรรษา จะเป็นช่วงที่พระท่านตั้งใจปฏิบัติ โดยเฉพาะท่านที่ตั้งใจว่า เมื่อออกพรรษาแล้วจะสึกหาลาเพศไป ก็จะทุ่มเทให้กับการปฏิบัติมากกว่าเวลาปกติ

ตัวเราที่เป็นฆราวาส โดยส่วนใหญ่ก็มีที่ตั้งใจทำความดีในช่วงเข้าพรรษา อย่างเช่นว่า งดการดื่มสุราเมรัยในช่วงตลอดพรรษา ๓ เดือน เป็นต้น พวกเราทุกคนที่เป็นนักปฏิบัติ ก็มีจำนวนมากที่อาศัยช่วงระยะเวลานี้ ปฏิบัติธรรมในระดับที่สูงขึ้นไป อย่างเช่นว่า บางท่านตั้งใจรักษาศีลแปดตลอดพรรษา เป็นต้น

เหลือเวลาอีกแค่ประมาณ ๓ อาทิตย์จะออกพรรษา ก็แปลว่า เวลาที่ผ่านมาประมาณ ๒ เดือนเศษ ๆ นั้น ทุกท่านได้ก้าวผ่านระยะเวลาที่ตั้งใจทำความดีมาเกินครึ่งแล้ว แต่พวกเรามีการสังเกตตนเองบ้างหรือไม่ว่า กำลังใจของเราตอนนี้ กับกำลังใจแรกเริ่มตอนเข้าพรรษาใหม่ ๆ มีความต่างกันเท่าไร ?

ยังคงมุ่งมั่น วิริยะบากบั่น ไม่ท้อถอยเหมือนเดิม หรือว่าเริ่มรามือแล้ว ไม่ค่อยเข้มงวดกับตัวเองเหมือนตอนที่ตั้งใจไว้แต่แรก หรือบางท่านก็โดนกิเลสกลบกลืนไปเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถจะสร้างความดีให้ครบพรรษาได้

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องรู้จักประเมินตนเอง ตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึง อิทธิบาท ๔ คือ องค์ธรรมที่สร้างความสำเร็จแก่เราทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อธรรม ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทะ มีความยินดีพอใจที่จะกระทำงานนั้น ๆ อย่างเช่น พอใจที่จะปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น

เถรี
12-10-2010, 12:50
๒. วิริยะ มีความพากเพียร บากบั่น ไม่ท้อถอย เพื่อที่จะก้าวเข้าไปถึงจุดหมายที่ตนเองได้วางเอาไว้

๓.จิตตะ มีกำลังใจปักมั่นต่อเป้าหมาย ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันไปทางไหน จนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการที่ได้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรก

๔.วิมังสา มีการไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ว่าเราตั้งใจจะทำอะไร ตอนนี้เราทำได้แค่ไหน ณ ปัจจุบันนี้เรายืนอยู่ตรงจุดใด มีผลงานที่ผ่านมามากน้อยเท่าไร ยังห่างไกลต่อเป้าประสงค์ที่มุ่งไว้มากน้อยเท่าไร และที่สำคัญที่สุด ยังคงมุ่งมั่นตรงต่อเป้าหมายเหมือนเดิมหรือไม่ ? หรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ไม่มีคนอื่นประเมินให้เราได้ นอกจากตัวเราต้องรู้จักประเมินตนเอง เพื่อจะได้แก้ไขจุดบกพร่องที่มีอยู่ สร้างความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นกับการปฏิบัติของเรา

เราต้องประเมินตนเองตามหลักวิมังสา โดยปราศจากอคติ คือไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป ดีก็ให้บอกว่าดี ไม่ดีก็ให้บอกว่าไม่ดี จะดีมากหรือว่าดีน้อยหรือหาความดีไม่ได้เลย ก็ต้องว่ากันตามความเป็นจริง

ถ้าเราไม่ยอมรับความเป็นจริง เราก็ไม่สามารถที่จะประเมินตนเองได้ถูกต้อง และไม่สามารถจะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ จึงเป็นเรื่องที่ญาติโยมทุกท่านจำเป็นต้องตระหนักรู้ และทำการดูตนเอง เพื่อที่จะได้แก้ไขให้ก้าวขึ้นไปสู่กำลังใจในระดับที่สูงกว่านี้

เถรี
14-10-2010, 01:31
ในเรื่องของการปฏิบัตินั้น ปัจจุบันทุกท่านรู้ในส่วนของทฤษฎี คือในด้านปริยัติธรรมมากเพียงพอแล้ว หลายท่านก็มากเกินไปแล้วด้วย จนกลายเป็นความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

ตอนนี้ก็เหลือแต่ว่า ทำอย่างไรที่เราจะเร่งพากเพียรปฏิบัติให้เกิดผล เมื่อเกิดผลแล้วจะนำไปบอกต่อกับใคร ก็จะมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าผู้บอกได้พิสูจน์ทราบด้วยการปฏิบัติจนเห็นผลเองแล้ว

แต่ถ้าหากว่าเรายังทำไม่ได้แล้วนำไปสอนคนอื่น ก็จะบังเกิดโทษหลายประการ อย่างเช่นว่า สอนไม่ถูกต้อง หรือว่า ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ เพราะกล่าวไปก็ไม่ตรงกับอารมณ์ปฏิบัติจริง เป็นต้น

เมื่อเราประเมินตนเองแล้ว เห็นจุดบกพร่อง อย่างเช่นว่า เริ่มท้อถอย เริ่มรามือ ไม่ได้เร่งรัดการทำความดีเหมือนตอนช่วงเข้าพรรษาใหม่ ๆ หรือว่าตอนช่วงเริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ หรือสำหรับหลายท่านคือตอนช่วงที่เคยพบหลวงพ่อวัดท่าซุงใหม่ ๆ ก็ให้เร่งรัดการปฏิบัติของตนเองให้ได้ในระดับนั้น

ในเมื่อรู้เห็นข้อบกพร่องก็สามารถที่จะแก้ไขได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่า การดูที่ตัว แก้ที่ตัว ถึงจะถูกหลัก บุคคลอื่นเป็นส่วนหนึ่งของโลก ปัญหาของบุคคลอื่นก็เป็นปัญหาของโลกด้วย ขึ้นชื่อว่าโลกแล้ว ใหญ่เกินไป หนักเกินไปกว่าที่เราจะแบกไหว

เราจึงต้องดูที่ตัวแก้ไขที่ตัวเราเท่านั้น โดยเฉพาะดูใจของเราให้เห็นว่า ปัจจุบันนี้ในใจของเรามีความดีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องสร้างให้มีขึ้นมา ความดีที่ว่าคือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง ถ้ามีอยู่แล้วก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ให้ดูว่าใจของเรามีความชั่วอยู่หรือไม่ ถ้ามีอยู่ก็ให้ขับไล่ออกไป วิธีขับไล่ก็คือเข้าหา ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง ถ้าความดีเกาะอยู่ในใจของเรา ความชั่วก็เข้ามาไม่ได้ เมื่อขับไล่ออกไปได้แล้ว ก็ให้ระมัดระวังไว้ อย่าให้ความชั่วนั้นเข้ามาได้อีก

เถรี
14-10-2010, 19:52
ดังนั้น..ในเบื้องต้นของการปฏิบัติ ความมีสัมปชัญญะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เราจะได้ตามดูตามรู้ตัวเอง เพื่อจะได้รู้ถึงความขาดตกบกพร่องของเราว่าเป็นอย่างไร แล้วจะได้เสริมสร้างให้ครบถ้วนสมบูรณ์

ในเรื่องของการปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องอยู่ในลักษณะของ อัตตนา โจทยัตตานัง กล่าวโทษโจทย์ตนเองไว้เสมอ อย่าหลงผิดคิดว่าเราดีแล้ว ขณะเดียวกันก็อย่าประณามว่าเราหาความดีไม่ได้ เพราะจะทำให้กำลังใจของเราท้อถอย

ให้เราเปรียบเทียบการปฏิบัติแต่แรกเริ่มกับในปัจจุบันนี้ เราก็จะเห็นความก้าวหน้าอย่างน้อยระดับหนึ่ง อย่างเช่น จากเป็นบุคคลที่ไม่มีศีลเลย ก็เริ่มรักษาศีลได้บ้าง หลายท่านก็รักษาศีลได้ครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์ จากบุคคลที่ไม่เคยหัดปฏิบัติสมาธิภาวนา ก็เริ่มปฏิบัติรักษากำลังใจให้ทรงตัวได้บ้าง

บางท่านก็สามารถทรงตัวจนเป็นอัปปนาสมาธิ คือตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปได้ ถ้าดูอย่างนี้เราจะเห็นความก้าวหน้าของตน ทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

โดยเฉพาะหลักสำคัญที่สุดคือลมหายใจเข้าออก เราไม่สามารถที่จะทิ้งได้ ทิ้งลมหายใจเข้าออกเมื่อไรความฟุ้งซ่านจะมาเยือนทันที แล้วกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมทั้งหลายก็จะกระหน่ำซ้ำเติมเรา

การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจึงเป็นพื้นฐานที่ใหญ่ยิ่ง สามารถสร้างความมั่นคงให้เกิดแก่ใจของเราได้ แล้วสามารถที่จะใช้กำลังนั้น ไปช่วยในการใช้ปัญญาพิจารณาตัดกิเลส

การปฏิบัติของพวกเราทุกคน จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จะใช้คำภาวนาหรือพิจารณาอย่างไรก็ได้ตามอัธยาศัย หายใจเข้ากำหนดรู้ตามไปตั้งแต่ต้นจนปลาย หายใจออกกำหนดรู้ตามไปตั้งแต่ต้นจนปลาย ถ้าคิดถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงกำลังใจกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกใหม่

ให้ทุกท่านรักษาอานาปานสติคือ การกำหนดสติรับรู้ ตามรู้ถึงลมหายใจเข้าออกเอาไว้ดังนี้ พร้อมกับใช้คำภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญานบอกว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓

เถรี
14-10-2010, 19:55
หลังจากออกกรรมฐานแล้ว พระอาจารย์กล่าวว่า "ในการปฏิบัติ บางทีเรารักษากำลังใจได้ไม่ดีนัก เพราะว่าสภาพร่างกายของเราแย่ ขาดการพักผ่อน เป็นต้น

ส่วนนั้นอย่าไปหนักใจ เพราะว่าเป็นธรรมดาของร่างกาย สมาธิของเราขึ้นอยู่กับร่างกายมาก ถ้าร่างกายไม่ไหว สมาธิก็ไม่ค่อยทรงตัว

ดังนั้น..ในช่วงกลางคืน ส่วนใหญ่แล้วการปฏิบัติก็ให้นอนยาวไปเลย กำหนดใจเกาะพระเอาไว้ ตั้งใจว่าถ้าตายลงไป เราขอไปพระนิพพานที่เดียว"