เข้าระบบ

View Full Version : มรณานุสติกรรมฐาน กับอย่ากลัวกิเลสมารและขันธมาร


ลัก...ยิ้ม
15-07-2010, 09:42
มรณานุสติกรรมฐาน กับอย่ากลัวกิเลสมารและขันธมาร


วันเสาร์ที่ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตามาสอนเรื่อง มรณานุสติกับอย่ากลัวกิเลสมารและขันธมาร มีความสำคัญ ดังนี้

๑. “เจ้าจงหมั่นจำอารมณ์ตัดตายนั้นไว้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติครั้งต่อ ๆ ไป ทางที่ดีอย่าเลือกตั้งอารมณ์นี้เฉพาะเวลา ควรตั้งไว้ให้จิตพร้อมอยู่เสมอตลอดเวลา เพราะเป็นอารมณ์สละร่างกาย คลายความเกาะเวทนาลงไปได้เด็ดขาด”

๒. “จิตกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ตลอดเวลา อย่าพึงคิดว่าทำไม่ได้ จักต้องคิดว่าทำได้ ทุกอย่างสำเร็จลงได้ด้วยความเพียร”

๓. “อย่ากลัวการประจัญหน้ากับขันธมารและกิเลสมาร เพราะนั่นคือครู ที่จักทดสอบอารมณ์จิตของพวกเจ้าว่า จักผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้หรือไม่ ขันธมารและกิเลสมารเป็นของจริง ที่นักปฏิบัติพระกรรมฐานจักต้องลุยผ่านทุกคน ถ้าชนะได้ก็ถึงพระนิพพาน แต่ถ้าแพ้ก็ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป อย่าหนีความจริง ขันธมารกับกิเลสมารเป็นของคู่มากับร่างกาย ซึ่งมันได้ผูกจิตจองจำ กักขังเรามานานนับอสงไขยกัปไม่ถ้วน อดทนต่อสู้เข้าไว้”

๔. “ถ้าชาตินี้ยอมพ่ายแพ้แก่มัน ชาติต่อ ๆ ไป ก็ไม่มีทางชนะมันได้ ทำกำลังใจให้เต็ม เมื่อรู้แล้วว่าร่างกายนี้มีแต่ทุกข์หาสุขไม่ได้ เป็นเหยื่อของกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรม เราโง่หลงผูกติดกับร่างกายนี้มานาน หลงอารมณ์ที่เพลินไปกับกิเลสมาร ชาติแล้วชาติเล่า อย่างไม่รู้เท่าทันความทุกข์ อันเกิดจากขันธมารและกิเลสมารนั้น”

๕. “มาบัดนี้ พวกเจ้ารู้ทุกข์ อันเกิดจากกิเลสมารและขันธมารมาพอสมควรแล้ว จงรักษาอารมณ์ตัดตาย สละร่างกายนี้ทิ้งไป เพื่อเป็นฐานกำลังของจิต ควบคู่กับอานาปานุสติให้ทรงอยู่เสมอ ๆ จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จักทำให้การเจริญสมณธรรมของพวกเจ้า มีผลเจริญขึ้นตามลำดับ จงจำเอาไว้ให้ดี”

๖. “ถ้าคราวใดขึ้นต้นตั้งอารมณ์นี้ไม่ถูก ก็ให้พิจารณาร่างกาย ไม่ว่าภายในหรือภายนอก วัตถุธาตุใด ๆ ทรัพย์สินต่าง ๆ พังสลายไปหมด กล่าวคือพิจารณาไตรลักษณ์ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างพังหมด ไม่มีอะไรเหลือ (อารมณ์อากิญจัญญายตนะฌาน) จนในที่สุด หาสิ่งยึดถือมาเป็นสาระแก่นสารไม่ได้ โลกและขันธโลกมีความเสื่อมสลายไปในที่สุด ค่อย ๆ คิดพิจารณาจนจิตยอมรับ แล้วจึงจับลมหายใจเข้าออก จนจิตเข้าถึงฌาน (หมายความว่า เริ่มต้นให้พิจารณาก่อนจนจิตสงบ แล้วจึงค่อยจับลมหายใจเข้าออก) ให้จิตทรงตัวอยู่ระยะหนึ่ง จึงหวนกลับมาจับวิปัสสนาญาณตามความต้องการต่อไป”

๗. “อย่าลืม ทำกรรมฐานทุกครั้ง ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาลก่อน เป็นการทำอารมณ์จิตให้เยือกเย็นอยู่ในพรหมวิหาร ๔ จนเกิดวิสัยเคยชิน ฝึกได้เมื่อไหร่ แผ่เมตตาไปเมื่อนั้น มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้แก่จิตและกายของตนเอง และพร้อมกันนั้นมีให้แก่จิตและกายของบุคคลอื่นด้วย”

๘. “อารมณ์พรหมวิหาร ๔ นี้ จะลดไฟโมหะ โทสะ ราคะ ให้เจือจางไปจากจิตได้ และในบางขณะที่ระลึกได้ ก็ควรจักนำพรหมวิหาร ๔ ขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้เป็นคุณแก่อารมณ์ของจิตอย่างเอนกอนันต์ด้วย”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com