View Full Version : เล่าสู่กันฟัง ภาค ๓
:4672615: เล่าสู่กันฟัง มาถึงภาค ๓ แล้วค่ะ เนื่องจากถ้าต่อจากกระทู้เดิมก็เกรงว่าจะยาวหลายหน้า เลยมาตั้งกระทู้ใหม่อีก เป็นกระทู้ที่สาม
เถรีจะเก็บเอาในส่วนของคำสอนที่ไม่ได้ลงในเก็บตกมาให้อ่านกันนะคะ บางทีก็เป็นคำสอนเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำสอนที่พระอาจารย์ได้กล่าวไว้ปีก่อน ๆ (ก่อนที่เว็บวัดท่าขนุนนี้จะเกิดขึ้น) จะพยายามขุด งัดแงะ แคะ เกา หรือล้วงมาให้อ่านไปเรื่อย ๆ นะคะ
พระอาจารย์กล่าวสอนพระลูกศิษย์ว่า "ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม เราต้องคล่องตัว เวลาทำอะไร จะได้ไม่ไปขายหน้าคนอื่นเขา เดี๋ยวเขาจะว่าครูบาอาจารย์ไม่ได้อบรม เรื่องของการปฏิบัติอย่าให้ต้องบอก ต้องรักที่จะทำด้วยตัวเอง"
โยม : หนูรู้สึกว่าเบาสบายกว่าเมื่อก่อน
พระอาจารย์ : รักษาเอาไว้ ซ้อมประคอง ให้ความสนใจกับภายนอกให้น้อยที่สุด จะได้ไม่เสียเวลาคลายอารมณ์ออกมาสู่ข้างนอกให้เดือดร้อนแก่ตัวเอง
รับรู้อาการภายนอกเมื่อไร ก็เท่ากับรับทุกข์ แล้วก็เดือดร้อนฟุ้งซ่านอยู่คนเดียว คนอื่นเขาไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย
พระอาจารย์บอกกับผู้หญิงคนหนึ่งไปว่า พอเริ่มเข้าสู่วัยทอง ฮอร์โมนเริ่มขาด ก็เลยเหมือนคนหงุดหงิดง่าย แต่เถรีมองแล้วรู้สึกว่า เขาไม่ใช่แค่หงุดหงิดแต่เหมือนขาดสติเลย
พระอาจารย์หันมาบอกว่า "ไม่ต้องไปกลัว..ถ้าหากกำลังใจปฏิบัติมามั่นคงจริง ๆ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองจะไม่เป็นอย่างนั้น ในเมื่อรู้ทันเราก็ดับมันซะ"
พระอาจารย์กล่าวสอนพระว่า "เราเป็นพระ มีหน้าที่สอนชาวบ้านเขาละกิเลส แต่ถ้าตัวเองทำหยาบ ๆ ก็สอนเขาได้ไม่เต็มปาก"
พระอาจารย์เคยได้กล่าวให้ฟังว่า "หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านสอนว่า เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง ถ้าทำจริงทุกอย่างจะมีผล
ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ให้เกิดผลจริง ไม่ว่าจะทางโลกหรือทางธรรม ถ้าใครมีจิตใจที่มุ่งมั่น คือ ฉันทะเป็นปกติ วิริยะเป็นปกติ จิตตะเป็นปกติ วิมังสาเป็นปกติ ย่อมประสบความสำเร็จทุกคน"
พระอาจารย์กล่าวถึงภาษิตจีนบทหนึ่งให้ฟังว่า "จิตใจทำร้ายคนไม่ควรมี แต่จิตใจระวังคนไม่อาจจะละเลย"
เวลาที่มีอาหารอยู่ตรงหน้า พระอาจารย์สอนว่า "ถ้าเราภาวนาและทรงฌานให้คล่อง จะไม่รู้สึกอยากกิน ถ้าอารมณ์ใจอยู่กับการภาวนา อยู่กับฌานสมาบัติ พวกอาการต่าง ๆ ทางร่างกาย เราแทบไม่รับรู้เลย"
พระอาจารย์กล่าวสอนในเรื่องการงานและการปฏิบัติว่า "เริ่มต้นแล้วถ้ายังไม่เสร็จ...เลิกไม่ได้ ต้องทำให้เสร็จ การปฏิบัติถ้าหากว่าสำเร็จ จะมีปีติเกิดขึ้น เพราะรู้สึกว่าคุ้มค่ากับที่เราทำ"
พระอาจารย์กล่าวให้ฟังว่า "บางคนทำเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองทำ ทำตามอารมณ์ตัวเอง นึกอยากจะทำก็ทำ เพราะคิดว่าดี โดยไม่ได้คิดว่าจะส่งผลกระทบต่อส่วนรวมเท่าไร คนทั้งหลายเหล่านี้ถ้ามีมาก ส่วนรวมก็จะเดือดร้อนมาก"
พระอาจารย์ท่านกล่าวว่า "ระเบียบคือระเบียบ ถ้าเราไม่ผ่อนผัน ไม่กี่ทีก็จะเข้าที่ แต่ถ้าเราไปผ่อนผันตั้งแต่แรก ๆ ก็จะหย่อนยานไปเรื่อย ๆ"
พระอาจารย์บอกว่า "คนที่มีเส้นผมหนา ส่วนใหญ่มีพื้นฐานนิสัยค่อนข้างแข็ง มักดื้อ พวกนี้เวลาเราจะทำอะไรต้องใช้เหตุใช้ผล ไปใช้อารมณ์กับเขาไม่ได้ โบราณเขาบอกไว้ไม่ผิดหรอก
ส่วนพวกที่มีเส้นผมละเอียดอ่อนเหมือนเส้นไหม เดี๋ยวนี้หายาก รุ่นพวกเรานี่รุ่นดื้อทั้งนั้น..!"
พระอาจารย์เคยท่องกลอนบทหนึ่งให้ฟังว่า
พวกลิงค่างกลางป่าจับมามัด.........สารพัดฝึกได้ดังใจหมาย
เกิดเป็นคนครูเพียรสอนแทบตาย....ถ้าเอาดีไม่ได้ก็อายลิง.!
มีคนนำหนังสือคำสอนของหลวงปู่ดู่ มาถวายพระอาจารย์ ท่านจึงกล่าวว่า "หลวงปู่ดู่ท่านเป็นพระบริสุทธิ์จริง ๆ ใครบอกว่าท่านจะมาเกิดใหม่ อาตมาไม่เชื่อ"
ถาม : ท่านนิพพานแล้วหรือครับ?
ตอบ : ไปนานแล้ว
ช่วงปีใหม่ มีคนส่งข้อความ Happy New Year มาหาพระอาจารย์แทบทุกนาที ท่านบอกว่า "เขาส่งความสุขมาแท้ ๆ แต่ทำไมอาตมาจึงเครียดได้ ? ก็เขาส่งมานาทีละข้อความ อาตมาต้องมาลบจนมือหงิก โดยเฉพาะพวกไม่รู้กาลเทศะ แสดงว่าขาดสัปปุริสธรรมอย่างรุนแรงเลย
สัปปุริสธรรม เป็นธรรมของสัตบุรุษ คือ บุคคลที่เป็นคนดี จะมีอยู่ข้อหนึ่งก็คือ กาลัญญุตา ภาษาไทยแปลว่า รู้กาลเทศะ ขนาดสี่ทุ่มกว่ายังโทรมา Happy New Year คิดว่าตัวเองไม่นอน แล้วคนอื่นต้องไม่นอนด้วยหรือ..?!"
มีคำพูดหนึ่งที่เรามักได้ยินพระอาจารย์ พูดอยู่เป็นประจำ ก็คือ "หมาเห่า ไมค์หอน เมียหึง เป็นเรื่องธรรมชาติ ห้ามหมาเห่าก็พอ ๆ กับห้ามคนนินทา ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามนั้น"
พระอาจารย์เคยท่องบทกลอน ของวิสา คัญทัพ ให้ฟังว่า
มีทุกข์ในเรือนกาย.........มีความตายในดวงตา
น้ำนมแห่งมารดา...........ในสายเลือดยังเหือดหาย
ทุกคำคือชีวิต...............ทุกชีวิตอันเรียงราย
คือพรหมอันเกิดกาย........มาร่วมถิ่นแผ่นดินเดียว ฯลฯ
พระอาจารย์เคยกล่าวให้ฟังว่า
รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้ รู้แท้เอาไว้ทั้งแก้และกัน
หลวงพ่อสอนน้องคนหนึ่งว่า "ต้นหอม...ต้องพยายามทำอะไรให้เป็นหลาย ๆ อย่าง โบราณเขาบอกว่าพอทำเป็นแล้ว ไม่ขอข้าวเรากินหรอก แต่อาจจะช่วยให้เรามีข้าวกิน"
มีคนนำหนังสือประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มาถวายให้พระอาจารย์ มีจุดหนึ่งที่พระอาจารย์ท่านกล่าวให้ฟัง
" บุญถ้าเจ้าไม่เคยสร้างไว้ ใครที่ไหนเล่าจะมาช่วยได้ ลูกเอ๋ย..."
เขาบอกว่าเป็นโอวาทของสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆัง ขอบอกว่าเป็นโอวาทของร่างทรง ไม่ใช่ของสมเด็จท่านได้กล่าวเอาไว้
ถาม : โลกธรรมที่กล่าวไม่จริง ทำไมนักปฏิบัติ จึงไม่ต้องไปแก้ตัว
ตอบ : ถ้ายังโง่ไปสนใจอยู่และไปแก้ตัว แสดงว่ายังปล่อยวางไม่ได้
พระอาจารย์สอนน้องคนหนึ่งในเรื่องการเรียนว่า "เรียนให้จริงเท่ากับที่เราเล่น ความจริงจังเป็นสัจจะ เอาจริงเอาจังกับชีวิต เป็นสัจจะบารมี"
หลวงพ่อมองไปที่ผู้หญิงคนหนึ่ง เธอกำลังอุ้มลูกตัวน้อย ๆ อยู่ แล้วท่านก็กล่าวให้ฟังว่า
"บางทีรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก สิ่งที่คนอื่นเขาไขว่คว้าแสวงหา เราไม่เอายังไม่พอ ยังเห็นโทษของมันอีก ไม่ได้เห็นแค่ตอนนี้ แต่เห็นยาวเลยว่าภาระเท่าไรที่เราจะต้องแบกไว้ แล้วก็เลยกลายเป็นกลัวไป
อันนี้หรือเปล่าที่เขาเรียกว่าวิสัยทัศน์ ทัศน์กันชนิดข้ามชาติข้ามภพ..!"
เมื่อคุณสุรจิตรนำปัจจัยสร้างพระชำระหนี้สงฆ์มาถวายให้พระอาจารย์
คุณสุรจิตร : ทำบุญสร้างพระครับ
พระอาจารย์ : ทำตัวให้เป็นพระเองจะดีที่สุด
พระอาจารย์กล่าวว่า "ในเรื่องของการปฏิบัติพอไปถึงจุดหนึ่ง ญาณทัสนะจะเกิดขึ้น(ญาณคือเครื่องรู้ที่ปรากฏขึ้น) ถ้าหากว่าหยุดไม่อยู่ จะพาให้ฟุ้งซ่านได้เพราะรู้ไปทุกเรื่อง..!"
เคยเอาคลิปวีดีโอมายากลให้พระอาจารย์ดู เป็นคลิปที่ชาวญี่ปุ่นชื่อ คิริว เอามือล้วงผ่านโต๊ะกระจกเพื่อไปหยิบเหรียญ ตอนนั้นเถรีคิดว่าเป็นฤทธิ์ของอากาสกสิณ
พระอาจารย์ท่านบอกว่า "ไม่จำเป็นต้องเป็นอากาสกสิณ อาโปกสิณก็ทำได้ มันอยู่ที่ความคล่องตัว
ถ้าเป็นอาโปกสิณก็ล้วงผ่านน้ำ แต่ถ้าเป็นอากาสกสิณก็ล้วงผ่านอากาศ ไม่จำเป็นต้องเป็นอากาสกสิณอย่างเดียว"
แล้วท่านก็กล่าวว่า "ถ้าได้กสิณสักกอง เอาไปทำมาหากินได้ครึกครื้นเลย
รู้จริงสิ่งเดียวอาจ..........มีมั่ง
เลี้ยงชีพช้าอยู่ร้อย........ชั่วลื้อเหลนหลาน "
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "ครูบาเทือง ตอนที่ท่านรุ่งสุด ๆ สังฆทานต้นละล้าน คนจองเท่าอายุ อย่างตอนอายุ ๓๓ ก็จอง ๓๓ ต้น ๓๓ ล้าน"
หลวงพี่เอ (พระมหานันทวัฒน์ เขมธมฺโม) เล่าให้ฟังว่า "ตอนไปกราบครูบาเทือง ท่านให้โอวาทก่อนกลับว่า จำไว้นะลูกเอ๋ย..เรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาวุ่นวาย อย่าให้มันเข้ามาในใจเรา เรื่องรกใจเอากองไว้ข้างนอก สี่ห้องหัวใจของเราต้องว่างนะลูก"
เคยถามพระอาจารย์ท่านว่า มีประคำชนิดใดบ้างที่ท่านไม่มี (เพราะทราบมาว่าท่านเคยสะสมประคำมาก่อน)
ท่านบอกว่า "ไม่มีทุกชนิด เพราะตอนนี้ไม่เหลือเลย"
แล้วท่านจึงมาเฉลยว่า ประคำที่ท่านเคยมี ได้แก่ จันทน์แดง จันทน์ขาว จันทน์หอม กฤษณา สารคาม ทานาคา นิล
แก้วกุหลาบ เปลือกหอยมุก อำพัน หวาย งิ้วดำ ฯลฯ
พระอาจารย์เคยกล่าวให้ฟังว่า พวกอาหารเสริม วิตามินบำรุงสุขภาพต่าง ๆ ที่ขายได้เพราะอะไรรู้ไหม ? เพราะคนกลัวตาย ในเมื่อคนกลัวตาย ก็มักจะแสวงหาสิ่งที่ช่วยได้ เลยทำให้กิจการเหล่านี้รุ่งเรือง
อะไรก็ตามที่เสนอมา ทำให้สุขภาพดีขึ้น ไม่ป่วย ไม่แก่ ใคร ๆ ก็อยากได้ แต่..มันจริงหรือ ?
พระอาจารย์บอกว่า "คนเราถ้าไม่กลัวตายเสียอย่าง ก็ไม่มีอะไรให้เรากลัวแล้ว"
เคยมีคนมาถามเรื่องสมเด็จพระสิกขีทศพล พระอาจารย์ท่านบอกว่า "สมเด็จพระสิกขีทศพล มีมาแล้ว ๕ พระองค์
อย่าไปรู้เรื่องพวกนี้เลย แต่ถ้าเสือกไปรู้..ก็ต้องรู้ให้จริง..!"
พระอาจารย์เคยกล่าวสอนพระลูกศิษย์ว่า "ระเบียบวัดก็ดี วินัยหรือศีลพระก็ตาม เป็นเพียงแค่ส่วนหยาบภายนอกที่เอาไว้ควบคุมกาย วาจา ของเราให้ดี เพื่อที่จะเปิดทางเข้าสู่ความละเอียดข้างใน
ถ้าหากว่าเราทำไม่ได้ โอกาสที่จะเข้าถึงส่วนละเอียดที่เป็นธรรมในใจเราก็จะไม่มี เพราะฉะนั้น..อย่ามองข้ามเป็นอันขาด ถ้าเรามองข้ามเมื่อไร โอกาสที่จะเข้าถึงธรรมก็ยาก เพราะจิตของเราหยาบเกินไป..!"
พระอาจารย์กล่าวว่า "งานทุกอย่าง ถ้าเราทำแล้วใส่สติลงไปเฉพาะหน้า ก็เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น
แม้กระทั่งการล้างถ้วยล้างชาม มือไม้เคลื่อนไหวอย่างไร น้ำกระทบมืออย่างไร กำหนดรู้เอาไว้ ถือเป็นกรรมฐานทั้งหมด แต่ว่าพวกเราเองไม่ได้ใส่ใจตรงนั้น มักจะไปคิดว่าต้องมานั่งอย่างเป็นทางการถึงจะเป็นกรรมฐาน ถ้ายังต้องมารอนั่ง ชาตินี้เอาดีได้ยาก..!"
พระอาจารย์มักสอนเสมอว่า จงทำตัวเป็นผู้ใหม่อยู่เสมอ อย่าทำตัวเป็นผู้คุ้นชิน สร้างความเป็นกันเอง โดยเฉพาะเป็นกันเองกับพระ ถ้าเป็นกันเองกับพระเมื่อไร จะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์
"อย่าไปถือว่าเรามีสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น ถ้าคิดอย่างนั้นความชั่วจะเข้ามาได้ง่าย เพราะว่านอกจากจะปราศจากความเกรงใจแล้ว ถึงเวลาอาจจะล่วงเกินครูบาอาจารย์โดยไม่รู้ตัว "
ช่วงที่กลุ่มเสื้อหลากสีพากันมาชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ มีเสียงตะโกนโหวกเหวกดังมาเรื่อย ๆ เถรีจึงกล่าวกับหลวงพี่สมพงษ์ว่า "รู้สึกว่าเสียงนี้เหมือนเสียงหมาหอนไหมคะ ?"
พระอาจารย์จึงบอกว่า "อย่าไปเปรียบเทียบอย่างนั้น ถ้าไปเปรียบเทียบอย่างนั้น ก็ยังเป็นความผิดชอบชั่วดีอยู่ ต้องให้เห็นว่าปกติของเขาที่เป็นอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นมานะ ยกตัวเองขึ้นมา
เรื่องของธรรมะนั้นละเอียดมาก เผลอหน่อยเดียวกิเลสจะหลอกว่าเราดีกว่าเขา"
พระอาจารย์มักกล่าวอยู่เสมอว่า "ขัดถ้วยขัดจานยังสามารถทำให้เงาและสะอาดได้ แต่ขัดคอคนไม่ได้อะไรสักอย่าง นอกจากได้เรื่อง..!"
พระอาจารย์บอกว่า "ของใช้ทุกอย่าง จะมีพลังงานของคนที่ใช้แฝงอยู่ "
ลัก...ยิ้ม
21-07-2010, 18:10
พระอาจารย์เคยท่องกลอนบทหนึ่งให้ฟังว่า
พวกลิงค่างกลางป่าจับมามัด.........สารพัดฝึกได้ดังใจหมาย
เกิดเป็นคนครูเพียรสอนแทบตาย....ถ้าเอาดีไม่ได้ก็อายลิง.!
:onion_emoticons-18::875328cc::875328cc::onion_emoticons-18:
พระอาจารย์กล่าวว่า "ในเรื่องการปฏิบัตินั้น ถ้าปลดไม่ได้ วางไม่ลง ก้าวไม่พ้น ก็ยังทำให้ต้องติด"
พระอาจารย์เคยบอกว่า "ผู้หญิงกับผู้ชายคบค้าสมาคมกันไป น้อยรายที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกันได้ โดยที่ไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง"
ถาม : อ่านหนังสือเรื่อง ศิวาราตรี นางเอกในเรื่องชื่อ เจ้าหญิงยามาระตี ยุพดีขวัญฟ้า นายิกาแห่งดาราพราย นายิกา แปลว่า อะไรคะ ?
ตอบ : นายิกา คือ ผู้นำที่เป็นหญิง ผู้นำที่เป็นชายเขาเรียกว่านายก นายิกาแห่งดาราพราย คือ หญิงผู้งามกว่าดวงดาวทั้งปวง ถ้าเปรียบไปแล้วคือพระจันทร์
ยุวดี (บาลี) แปลว่า หญิงสาวผู้อ่อนวัย ถ้าสันสกฤต จะเป็น ยุพดี
อย่างคำว่า วิบูล เป็นบาลี ถ้าสันสกฤตจะเป็นไพบูลย์
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่ชอบตัดสินใจแทนใคร เพราะว่าถ้าตัดสินใจแทนเขาแล้ว เขาก็จะตัดสินใจเองไม่ได้เสียที
พระอาจารย์บอกว่า "ถ้าเราไล่กั้นกิเลสได้ทัน ได้รวดเร็ว อย่างอื่นก็จะช้าหมดสำหรับเรา"
ขณะที่เถรีกำลังอุ้มเด็กน้อยคนหนึ่ง น้องเขาก็กลัว ร้องขึ้นมา พระอาจารย์ท่านก็บอกว่า "บอกแล้วว่า ถ้ายังแก่ไม่พออย่าไปอุ้มเด็ก พ่อแม่วัยรุ่นเลี้ยงลูกแล้วลูกจะร้องตลอด เพราะร่างกายมีไฟฟ้าสถิตเยอะ ไฟธาตุยังมากอยู่ ทำให้รบกวนเด็ก ทำให้เด็กไม่สบายตัว เลยร้องออกมา
ต้องแก่พอแล้วจึงไปอุ้ม จะเห็นว่าเด็ก ๆ ติดปู่ย่าตายายมากกว่า เพราะไฟธาตุท่านใกล้จะหมดแล้ว เด็กอยู่ด้วยแล้วสบายตัวมากกว่า"
พระอาจารย์มักเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่มารับสังฆทานที่บ้านอนุสาวรีย์ ตอนกลางคืนจะมีเสียงดังรบกวนตลอด เสียงเพลงคาราโอเกะบ้าง เสียงขุดเจาะก่อสร้างบ้าง ฯลฯ ทำให้นอนไม่หลับ ร่างกายอ่อนเพลียไม่ได้พักผ่อน
ท่านบอกว่า "งานอะไรก็ตามที่เราทำเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะในส่วนของความดี มารเขายิ่งต้องขวางให้มากเป็นพิเศษ ก็เลยกลายเป็นอะไรที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถึงทำอะไรมากไม่ได้ กวนไม่ให้นอนเขาก็ยังเอา"
ในเรื่องการเรียนนั้น พระอาจารย์ท่านบอกว่า "ถ้าอาจารย์ผู้สอนมีอะไรที่มากกว่าของเรา เราต้องตะเกียกตะกายคว้าเอามาให้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นฐานของสมาธิ เห็นชัดเลยว่าจะเรียนดีกว่าคนที่ไม่มีสมาธิ
อย่าหนีของยาก ของยากที่สุดถ้าเราทำได้ ของอื่นก็ไม่มีอะไรยากแล้ว"
ในเรื่องของกรรมที่ผูกพันในอดีตนั้น พระอาจารย์ท่านสอนว่า "ถ้าหากว่าเราเชื่อในผลกรรม เชื่อเฉย ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากมีการสนองตอบ คล้อยตามเขาเมื่อไร ทุกอย่างจะพังบรรลัยทันที..!
ถ้าในชาติปัจจุบันเราไปเออออห่อหมกกับเขา ว่าในอดีตเคยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยกันมาก่อน เดี๋ยวจะเป็นเรื่อง เพราะว่าแรงกรรมที่รออยู่นั้น จะฉวยโอกาสฉุด..ชัก..ดึง..ลาก ทุกอย่างจะไปตามกันหมด ฉะนั้น..เรื่องในอดีตชาติไม่ได้เกี่ยวกับเราแล้ว ในชาติปัจจุบันนี้แค่รับรู้ไว้ก็พอ"
พระอาจารย์ท่านบอกว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วท่านแก้ไขได้ ไม่ใช่เพราะว่าท่านเก่ง แต่ท่านคิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ถ้าเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นจะแก้ไขอย่างไร ?
"ภาษิตจีนเขาบอกว่า รุกขึ้นหน้าหนึ่งก้าว ต้องถางทางถอยหนึ่งวา
พวกเราต้องหัดมองในมุมกว้าง ไม่ใช่คิดแต่ในด้านที่จะได้อย่างเดียว ต้องคิดเผื่อถึงตอนที่เราจะเสียด้วย เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง"
พระอาจารย์เคยพูดเกี่ยวกับอารมณ์เบื่อ หรือที่เรียกว่านิพพิทาญาณไว้ว่า "ถ้าหากไม่มีกำลังของสมาธิมาช่วยหนุน อารมณ์นี้จะอยู่กับเรานานมาก หากมีกำลังสมาธิเพียงพอ จะทำให้เกิดปัญญา แล้วจะทำให้ก้าวล่วงข้ามผ่านไปได้"
มีคณะหนึ่งมาปรึกษาพระอาจารย์ เนื่องจากเขามีปัญหาไม่ลงรอยกับคนในกลุ่ม พระอาจารย์บอกว่า "สงบศึกไม่ได้แสดงว่ายังแบกตัวกู ของกูไว้เยอะ ยิ่งแบกนานก็ยิ่งทุกข์มาก ถ้าเลิกแบกก็ทุกข์น้อย เรากำลังแบกมานะ แบกอวิชชาไว้จนเต็มบ่า มีอยู่อย่างเดียวคือ มีอะไรก็ประนีประนอมกัน ใครวางได้ก่อนก็สบายก่อน"
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "พอปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เรื่องที่อยากรู้เหมือนก่อนนี้ไม่ค่อยจะมี เราจะค่อย ๆ เบื่อไปเอง แต่พอถึงเวลานั้นสารพัดเรื่องที่เคยอยากรู้กลับประดังกันเข้ามา
ที่แปลกก็คือ ตอนที่อยากได้ไม่มา มักจะมาตอนที่หมดอยากแล้ว เพราะฉะนั้นเราวางกำลังใจอย่างไรให้หมดอยากไว ๆ แล้วทุกอย่างจะไหลมาเทมาเอง"
พระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า คนแต่งงานแล้วกับคนยังไม่แต่ง เขามองต่างกัน "โกวเล้งเคยเปรียบเอาไว้ คนหนึ่งอยู่ในป้อมปราการ มองออกมาข้างนอกเห็นชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนยอดไม้ เขาก็อิจฉา ว่าที่ตรงนั้นสบาย ลมก็เย็น มองเห็นอะไรหมดทุกอย่าง ทำอย่างไรเราจะได้ไปนั่งอยู่ตรงนั้นบ้าง?
ชายคนที่อยู่บนยอดไม้มองเข้ามาเห็นคนข้างในป้อมปราการ ก็คิดว่าคนข้างในสบาย อยู่ข้างในปลอดภัยกว่า ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับใคร มีกินมีใช้ตลอด ทำอย่างไรเราจะได้เข้าไปอยู่ข้างในนั้นบ้าง?
คนแต่งงานกับคนไม่แต่งงานเขามองต่างกัน ทำนองที่เขาว่า "คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า"
พระอาจารย์บอกว่า "ในเรื่องคุณไสยนั้น ถ้าเราภาวนาให้กำลังใจทรงตัวแค่ในระดับปฐมฌาน พวกผีหรือไสยศาสตร์ก็ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว เขาจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราเผลอ เพราะฉะนั้น..เมื่อเรายังเผลอเป็นปกติ เราก็ต้องอาราธนาบารมีพระ อาราธนาวัตถุมงคลให้คุ้มครองเราเป็นประจำทุกวัน"
ถาม : ลาภ กับ โลภ ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : ลาภ ได้มาเองแม้จะไม่ต้องการ
....... โลภ ถ้าต้องการแล้วไม่ได้ แม้ผิดกฎหมายและศีลธรรมก็จะเอาให้ได้
นักปฏิบัติที่ยังไม่ทันลงมือทำ ก็เป็นกังวลว่าตนเองจะทำอย่างนั้นได้หรือไม่ ทำแล้วจะออกมาเป็นแบบไหน หรือกลัวว่าถ้าทำแล้วจะออกมาไม่ดี วิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้ทำ
ท่านพระอาจารย์เคยเปรียบเทียบว่า "ประเภทที่ยังไม่ทันจะกินแล้วไปห่วงว่าอิ่มหรือเปล่า เมื่อไรจะได้กินกับเขาเสียที"
พระอาจารย์เคยบอกว่า "บุคคลที่ยอมลำบากโดยที่ไม่ห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จัดว่าเป็นปรมัตถบารมี แต่บุคคลที่เป็นปรมัตถบารมีแล้วจะมีปัญญาเฉลียวฉลาดด้วย เขาจะรู้ว่าแค่ไหน ขนาดไหน จึงพอเหมาะพอควร"
พระอาจารย์บอกว่า "การที่เราต้องการให้คนอื่นมาสนใจเรา มาให้ความสำคัญกับเรา เป็นสักกายทิฐิมานะเต็ม ๆ เลย"
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า เคยหนักมากที่สุด ๖๓.๕ กิโลกรัม ตอนช่วงที่ท่านยังเป็นทหารอยู่
"เป็นคนที่น้ำหนักขึ้นยากมาก ไม่มีใครอยากชกด้วย เพราะเป็นนักมวยทหารรุ่นไลท์เวทคนเดียวที่ไม่ต้องลดน้ำหนักและไม่ต้องเพิ่มน้ำหนัก พอดีเป๊ะ แรงดีไม่มีตก
ก่อนบวชสองปี ก็ตั้งใจรักษาศีลแปด จะได้เคยชินกับการอดข้าวเย็น ผลปรากฏว่าน้ำหนักหาย เหลือ ๕๔ กิโลกรัม แปลว่าหายไปทีเดียว ๙ กิโลครึ่ง
จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา ๒๕ ปีแล้ว ได้คืนมาตั้ง ๒ กิโลกรัม..!"
พระอาจารย์ท่านกล่าวในเรื่องอาหารว่า "ร่างกายเราต้องการอาหารเพื่อยังอัตภาพเท่านั้น ส่วนที่ต้องการอาหารหน้าตาสวย ๆ น่ารับประทาน รสชาติอร่อย ติดลิ้น นั่นเป็นกิเลสต้องการ
แม้กระทั่งกินเราก็ต้องระวัง"
ในเรื่องการปฏิบัติ พระอาจารย์บอกว่า "ถ้าทำไปแล้วไม่หวัง..จะได้ผลเร็ว แต่ถ้าทำไปแล้วหวัง..จะได้ยาก
เวลาทำต้องลืม ถ้าไม่ลืมเดี๋ยวจะไปฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเป้าหมาย จิตใจเลยไม่รวมตัวสักที"
พระอาจารย์เคยสอนเรื่องการใช้ภาษาไทย
หลงใหล....ใช้สระไอไม้ม้วน
หลับไหล.....ใช้สระไอไม้มลาย
"ไหล" คำนี้คือการที่ทำอะไรโดยไม่รู้ตัว เช่น ไหลตาย คือตายโดยไม่รู้ตัว
ส่วน "หลับไหล" คือ การละเมอทำนั่นทำนี่ บางคนตื่นขึ้นมาหุงข้าว ทำกับข้าวเสร็จก็หลับต่อ
แต่สมัยนี้เห็นเขียนเป็น "หลับใหล" กันหมดแล้ว..!"
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.