View Full Version : สิ้นโลก เหลือธรรม
สายท่าขนุน
10-11-2009, 21:37
กระทู้นี้ ตั้งขึ้นจากเรื่องที่กัลยาณมิตรนำมาฝากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว
"ธรรมสวัสดี.......วันนี้วันพระ
มีเรื่องสิ้นโลก.....เหลือธรรมมาฝากกันค่ะ"
แต่ที่ไม่ได้นำไปลงไว้ในกระทู้ "อันเนื่องมาจากกัลยาณมิตร"
ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องของหลวงปู่เทสก์ ที่สมควรลงไว้เฉพาะต่างหาก
สายท่าขนุน
10-11-2009, 22:24
สิ้นโลก เหลือธรรม
โดย
http://i398.photobucket.com/albums/pp69/tidtou/b19c5f05.jpg
พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์
(เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
"โลก คือ จิตของคนเรา มาหลอกลวงจิต
ให้หลงในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง
แต่แล้วสิ่งเหล่านั้น เป็นแต่เพียงมายาเท่านั้น
เกิดมาแล้วก็สลาย แตกดับไปเป็นธรรมดาของมัน"
สายท่าขนุน
10-11-2009, 22:25
พระพุทธเจ้า ได้อุบัติเกิดขึ้นมาในโลก เป็นศาสดาเอกด้วยการตรัสรู้ชอบเองไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สอน แล้วก็นำเอาธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น มาสอนแก่มนุษย์ทั้งปวง ด้วยธรรมที่สอนนั้น สอนมีเหตุมีผลมิใช่ไม่มีเหตุมีผล เป็นของอัศจรรย์ สมควรที่ผู้ฟังทั้งหลายตรึกตรองแล้วเข้าใจได้ แลไม่ได้บังคับให้ผู้ใดมานับถือ แต่เมื่อผู้ฟังทั้งหลายมาฟังตรึกตรองตามเหตุผลแล้ว เห็นดี เห็นชอบ มีเหตุมีผล แล้วเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้ามานับถือด้วยตนเอง ซึ่งผิดจากศาสนาอื่นแลลัทธิอื่น บางลัทธิบางศาสนาอื่นซึ่งเขาห้ามไม่ให้วิจารณ์ศาสนาของเขา ส่วนพุทธศาสนาท้าให้วิจารณ์ได้เต็มที่เลย วิจารณ์เห็นเหตุ เห็นผล แน่ชัดด้วยตนเองแล้ว จึงนับถือด้วยความเป็นอิสระ แลเมื่อยอมรับนับถือแล้ว ความคิดความเห็นและการปฏิบัติก็จะเป็นไปในแนวเดียวกันทั้งหมด โดยมิได้บังคับหรือนัดแนะกันไว้ก่อนเลย หากแต่เป็นไปตามเหตุผลดังนี้คือ
ขั้นที่ ๑ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
“กมฺมสฺสกา กมฺมทายาทา กมฺมโยนี กมฺมพนฺธู กมฺมปฏิสรณา
ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ”
ทั้ง ๖ อย่างนี้ เชื่อมั่น แน่วแน่อยู่ในใจของตน ทุก ๆ คน ตลอดชีวิต
สายท่าขนุน
10-11-2009, 22:25
กมฺมสฺสกา คนเราเกิดขึ้นมา พอรู้ภาวะเดียงสาแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตากระทำแต่กรรมเรื่อยไป ไม่ด้วยกาย ก็ด้วยวาจา หรือด้วยใจ จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เรียกว่า กมฺมสฺสกา ๑
การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีผลทั้งนั้น ไม่ดีก็ชั่ว ไม่เป็นบาปก็เป็นบุญ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น กาย วาจา และใจ เกิดมาได้กระทำกรรมนั้น ๆ ไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ๆ สืบไป เรียกว่า กมฺมทายาทา ๑
ผลของกรรมดีย่อมนำเอากาย วาจา และจิตอันนี้ให้ไปเกิดเป็นสุขในโลกนี้แลโลกหน้า ผลของกรรมชั่วย่อมนำเอากาย วาจา และจิตอันนี้ให้ไปเกิดเป็นทุกข์ในโลกนี้แลโลกหน้าเรียกว่า กมฺมโยนี ๑
กรรมที่กาย วาจา และใจได้กระทำไว้ในภพก่อน บันดาลให้ในภพที่ตนเกิดแล้วให้เป็นไปต่าง ๆ นานาเรียกว่า กมฺมพนฺธู ๑
คนเราเกิดมาเพราะกรรมดังที่อธิบายมาแล้ว แล้วจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องมีการกระทำทั้งนั้น ไม่ทำดี ก็ทำชั่ว เพื่อการเลี้ยงชีพของตน เราต้องอาศัยกรรมนั้น ๆ เป็นเครื่องอยู่อาศัย ฉะนั้น กรรมนั้นจึงเรียกว่า กมฺมปฏิสรณา ๑
ฉะนั้น บุคคลเกิดมาจึงควรตัดสินใจของตนเองว่าเราจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว กรรมดีแลกรรมชั่วนั้นไม่ใช่เป็นของคนอื่น เป็นของเราเอง กรรมนี้เท่านั้นจะจำแนกแจกมนุษย์แลสัตว์ให้เป็นต่าง ๆ นานาได้ นอกจากกรรมแล้ว ใครแลสิ่งใดในโลกนี้จะมาจำแนกไม่ได้เลย จึงเรียกว่า กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ ๑
ทั้ง ๖ อย่างนี้ ย่อมเชื่อแนบแน่นอยู่ในใจของผู้นับถือพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิต
มนุษย์คนเราเกิดมาเพราะกรรมยังไม่สิ้นสุด กรรมเก่าที่นำให้มาเกิดนั่นแหละพาให้กระทำกรรมใหม่อีก กรรมใหม่นั้นแหละเป็นเหตุให้นำไปเกิดชาติหน้าเป็นกรรมเก่าอีก อธิบายว่า กรรมใหม่ในชาตินี้เป็นเหตุให้นำไปเกิดเป็นกรรมในชาติหน้าต่อไป
อนึ่ง กรรมทั้งหมดเกิดจาก กาย วาจา แลใจ สายเดียวกันทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่า กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ของกรรมด้วยกันแลกัน จึงเรียกว่า กมฺมพนฺธู
ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่อธิบายมาแล้ว ได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาหรือเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์เป็นขั้นแรก
สายท่าขนุน
12-11-2009, 20:14
ขั้นที่ ๒ จะต้องมีศีล ๕ ประจำอยู่ในตัวเป็นนิจ
ศีล ๕ นี้ เมื่อเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมแล้ว รักษาง่ายนิดเดียว เพราะศีล ๕ พระพุทธเจ้า พระองค์ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว เมื่องดเว้นจากการกระทำความชั่วแล้ว ก็เป็นอันว่ารักษาศีลเท่านั้นเอง บาปกรรม ความชั่วทั้งหมดที่คนเราหรือสัตว์ทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ในโลก ท่านประมวลไว้รวมกันอยู่ มี ๕ ข้อเท่านั้นเอง ใครจะทำอะไรหรือที่ไหน ก็มารวมลง ๕ ข้อนี้ทั้งนั้น
จิต เป็นตัวการของสิ่งทั้งปวงหมด ท่านจึงให้สำรวมจิต
จิตคิดงดเว้นที่จะฆ่าสัตว์ตัวเป็นให้ตาย ๑
จิตคิดงดเว้นที่จะลักขโมยของเขาที่เจ้าของหวงแหนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ๑
จิตคิดงดเว้นที่จะไม่ล่วงละเมิดผิดลูกเมียของคนอื่น ๑
จิตคิดงดเว้นที่จะไม่กล่าวคำเท็จ คำไม่จริงคำหยาบคายหรือวาจาส่อเสียดผู้อื่น ๑
จิตคิดที่จะไม่ดื่มสุราเมรัย น้ำดองของมึนเมา ๑
ทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าคนใดรักษาได้ ก็ได้ชื่อว่ารักษาศีล ๕ ได้ อันเป็นเหตุนำความสุขมาให้แก่หมู่มวลมนุษย์ทั้งปวง ถ้างดเว้นไม่ได้ ก็ได้ชื่อว่าคนนั้นไม่มีศีล อันจะเป็นเหตุให้นำความทุกข์เดือดร้อนมาให้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านจึงงดเว้นบาปกรรม ความชั่วทั้งปวงเหล่านี้ แล้วแนะนำสั่งสอนมวลมนุษย์ทั้งปวงให้งดเว้นทำตามด้วย
สายท่าขนุน
12-11-2009, 20:26
ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังได้อธิบายมาแล้ว
แลมีศีล ๕ เป็นเครื่องรักษา กาย วาจา แลใจ
ผู้นั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงพระพุทธศาสนาเป็นที่สอง
แล้วจึงตั้งใจชำระจิตใจของตนด้วยการทำสมาธิต่อไป
ถ้าไม่เข้าถึงหลักพระพุทธศาสนาแล้ว จะทำสมาธิชำระจิตของตนได้อย่างไร แม้แต่ความเห็นของตนก็ยังไม่ตรงต่อคำสอนของพระพุทธศาสนา เช่น เห็นว่ากรรมที่ตนกระทำแล้ว คนอื่นแลสิ่งอื่นเอาไปถ่ายทอดให้คนอื่นแลสิ่งอื่นได้ หรือกรรมที่ตนกระทำไว้แล้วให้คนอื่นเอาไปใช้ให้หมดสิ้นไปได้ อย่างนี้เป็นต้น
ศีล บางคนที่ว่าต้องรักษาที่กาย ที่วาจา ไม่ต้องไปรักษาที่ใจ ใจเป็นเรื่องของสมาธิต่างหาก กาย วาจา มันจะเป็นอะไร มันจะทำอะไร มันก็ไม่กระเทือนถึงสมาธิ ตกลงว่า กาย กับใจ แยกกันเป็นคนละอัน ตรงนี้ผู้เขียนไม่เข้าใจจริง ๆ เรื่องเหล่านี้พิจารณาเท่าไร ๆ ก็ไม่เข้าใจจริง ๆ ขอแสดงความโง่ออกมาสักนิดเถอะ
สมมติว่า คนจะไปฆ่าเขาหรือขโมยของเขา จำเป็นจิตจะต้องเกิดอกุศลบาปกรรมขึ้นมา แล้วจะต้องไปซุ่มแอบเพื่อไม่ให้เขาเห็น เมื่อได้โอกาสแล้ว จะต้องลงมือฆ่าหรือขโมยของของตามเจตนาของตนแต่เบื้องต้น การที่จิตคิดจะฆ่าหรือขโมยของเขาแล้วไปซุ่มอยู่นั้น ถึงแม้ศีลจะไม่ขาด แต่จิตนั้นเป็นอกุศล พร้อมแล้วทุกประการที่จะทำบาปมิใช่หรือ
ถ้าจิตอันนั้นมีสติรักษา สำรวมได้ไม่ให้กระทำ เลิกซุ่มเสีย ศีลก็จะไม่ขาด
ตกลงว่าใจเป็นตัวการ
ใจเป็นต้นเหตุที่จะทำให้ศีลขาดแลไม่ขาด
จะว่ารักษาศีลไม่ต้องรักษาใจได้อย่างไร
สายท่าขนุน
16-11-2009, 20:45
ท่านว่า รักษาศีล คือ รักษาที่กาย วาจา ใจ ๓ อย่างนี้ มิใช่หรือ
ในทางธรรม พระพุทธเจ้าก็เทศนาว่า
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจถึงก่อน สำเร็จแล้วด้วยใจ
จะพูด จะคุย ก็เกิดจากใจทั้งนั้น พูดถึงธรรมแล้ว ที่จะไม่พูดถึงเรื่องใจแล้วไม่มี คำว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน นั้นชัดเจนเลยทีเดียว ที่ว่า ธรรมทั้งหลาย นั้น หมายถึงการกระทำทุกอย่าง
ทำดีเรียกว่า กุศลธรรม ทำชั่วเรียกว่า อกุศลธรรม ทำไม่ดี ไม่ชั่ว เรียกว่า อพยากฤตธรรม เรียกย่อ ๆ เรียกว่า ทำบุญ ทำบาป หรือไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป (ข้อสุดท้ายนี้ ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่จะไม่ทำบาป ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง)
เมื่อผู้เขียนพิจารณาถึงเรื่องเหตุ ผล ในธรรมทั้งหลายแล้ว ที่ว่า ศีล ให้รักษาที่กายแลวาจา สมาธิ ให้รักษาที่ใจ ไม่ปรากฏเห็นมี ณ ที่ใด หากผู้เขียนจำตำราที่เขียนไว้ไม่เข้าใจ หรือตีความหมายของท่านไม่ถูก เพราะความโฉดเขลาเบาปัญญาของตนเอง ก็สุดวิสัย
พระพุทธองค์ยังทรงเทศนาให้พระผู้กระสันอยากสึกว่า พระวินัยในพระศาสนานี้มีมากนัก ข้าพระองค์ไม่สามารถจะรักษาให้บริบูรณ์ได้ ข้าพระองค์จะสึกละ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อย่าสึกเลย ถ้าพระวินัยมันมากนัก เธอจงรักษาเอาแต่ใจอันเดียวเถิด นี่แหละ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เอาแต่ใจอันเดียวซ้ำเป็นไร นี้เรารักษาศีล จะทิ้งใจเสีย แล้วจะรักษาศีลได้อย่างไร ผู้เขียนมืดแปดด้านเลยจริง ๆ
สายท่าขนุน
16-11-2009, 20:50
ฆราวาสผู้มีศรัทธาแก่กล้า จะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็ได้ แต่ศีล ๑๐ นั้น รักษาตลอดเวลาไม่ได้ ถ้าเรามีศรัทธา จะรักษาเป็นครั้งคราวนั้นได้ ส่วนศีล ๒๒๗ ก็เช่นเดียวกัน จะรักษาข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่ห้าม แต่อย่าไปสมาทานก็แล้วกัน
อย่างครั้งพระฆฏิการพรหมเสวยพระชาติเป็นฆฏิการบุรุษ เลี้ยงบิดามารดาตาบอดทั้งสองข้าง ทั้งสองข้าง ทั้งสองคน ด้วยการตีหม้อเอาไปแลกอาหารมาเลี้ยงบิดา มารดา ตาบอด อยู่มาวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าชื่อ กัสสปะ เสนาสนะของสงฆ์ไม่มีเครื่องมุง พระองค์ใช้ให้พระไปขอเครื่องมุงกับฆฏิการบุรุษ ฆฏิการบุรุษรื้อหลังคาบ้านถวายพระสงฆ์ทั้งหมด ในพรรษานั้น ฆฏิการบุรุษมุงด้วยอากาศตลอดพรรษา ฝนไม่รั่วเลย
สายท่าขนุน
18-11-2009, 22:15
วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินนิมนต์พระพุทธเจ้าชื่อ กัสสปะ เข้าไปเสวยในพระราชวัง พอเสร็จแล้วจึงได้อาราธนาขอนิมนต์ให้จำพรรษาในสวนพระราชอุทยาน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ขอถวายพระพร อาตมาภาพได้รับนิมนต์ของฆฏิการบุรุษก่อนแล้ว”
พระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสว่า “ข้าพระองค์เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายในแว่นแคว้นอันนี้มิใช่หรือ เมื่อข้าพระองค์นิมนต์ทำไมจึงไม่รับ ฆฏิการบุรุษมีดีอย่างไร”
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเล่าพฤติการณ์ของฆฏิการบุรุษถวายพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่ต้นจนอวสาน
เมื่อพระองค์ได้สดับแล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในฆฏิการบุรุษเป็นอันมาก จึงให้ราชบุรุษเอาเกวียนบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ มีข้าวสาร ถั่ว งา เนยใส เนยข้น เปรียง(น้ำมัน) เป็นต้น ไปให้แก่ฆฏิการบุรุษ
เมื่อฆฏิการบุรุษเห็นจึงถามว่า นั้นใครให้เอามา ราชบุรุษจึงบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้เอามาให้ท่าน
ฆฏิการบุรุษจึงบอกว่า ดีแล้วพระเจ้าแผ่นดินพระองค์มีภาระมาก เลี้ยงผู้คนเป็นจำนวนมาก เราหาเลี้ยงกับสามคนไม่ลำบากอะไร
ช่วยกราบบังคมทูลว่าของทั้งหมด เราขอถวายคืนให้พระเจ้าแผ่นดินไว้ตามเดิมก็แล้วกัน
สายท่าขนุน
18-11-2009, 22:22
ฆฏิการบุรุษเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า เพียงแค่ขุดดินมาปั้นหม้อก็ไม่ทำ อุตส่าห์ไปหา ขุยหนู ขุยตุ่น และตลิ่งที่มันพัง เอามาปั้นหม้อ ส่วนสิกขาบทที่หยาบกว่านั้น ทำไมผู้รักษาศีลจะละเว้นไม่ได้ (ขุย = ดินที่สัตว์เล็กขุดทิ้งไว้ที่ปากรู)
ศีล ๕ เป็นเสมือนท่านบัญญัติตราไว้สำหรับโลกนี้ ผู้จะทำดีต้องเว้นข้อห้าม ๕ ประการนี้ ผู้จะประพฤติความชั่วก็ทำตาม ๕ ข้อนี้เป็นหลักฐาน จะพ้นจาก ๕ ข้อนี้แล้วไม่มี
ผู้จะถึงพระไตรสรณาคมน์ ต้องถือหลัก ๕ ประการนี้ให้มั่นคง คือ
ไม่ประมาทพระพุทธเจ้า ๑ ไม่ประมาทพระธรรม ๑ ไม่ประมาทพระสงฆ์ ๑
ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
เชื่อว่าเราทำดีต้องได้ดี เราทำชั่วต้องได้ชั่ว
ไม่เชื่อว่าของภายนอกจะมาป้องกันภัยพิบัติเราได้ ๑
ไม่ทำบุญภายนอกพระพุทธศาสนา ๑
สายท่าขนุน
24-11-2009, 21:52
การเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ว่าเราทำดีย่อมได้ดี เราทำชั่วย่อมได้ความชั่ว ชัดเจนในใจของตนแล้ว ศีล ๕ ย่อมไหลมาเอง ๓ ข้อเบื้องต้นแลข้อหนึ่งเบื้องปลาย ไม่เป็นของสำคัญ
ฆราวาสต้องสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ถึงศีล ๑๐ แลศีล ๒๒๗ ฆราวาสก็รักษาได้เป็นข้อ ๆ แต่อย่าสมาทานก็แล้วกัน เพราะศีลคือข้อห้ามไม่ให้ทำบาป ฆราวาสก็ไม่มีข้อบังคับว่าไม่ให้ทำบาปเท่านั้นข้อเท่านี้ข้อ ถึงแม้พระภิกษุแลสามเณรก็เหมือนกัน ที่พระองค์บัญญัติไว้ ฆราวาสต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘ สามเณรต้องรักษาศีล ๑๐ ภิกษุต้องรักษาศีล ๒๒๗ นั้น พระองค์ทรงบัญญัติพอให้เป็นมาตรฐานเบื้องต้น ให้เป็นเครื่องหมายว่า ฆราวาส สามเณร ภิกษุ มีชั้นภูมิต่างกันอย่างนี้ ๆ เท่านั้น
ถ้าเห็นว่าบาปกรรมที่ตนทำลงแล้วจะต้องตกมาเป็นของเราเอง แล้วงดเว้นจากบาปกรรมนั้น ๆ จะมากเท่าไรยิ่งเป็นการดี ดังที่อธิบายมาแล้ว พระพุทธองค์ก็มิได้ห้าม ทรงห้ามแต่การกระทำความชั่วอย่างเดียว
สายท่าขนุน
24-11-2009, 21:59
เมื่อพูดถึงความชั่ว คือบาปแล้ว คนเกิดมาในโลกนี้เจอะเอามากเหลือเกิน แทบจะกระดิกตัวไม่ได้เลยทีเดียว กระดิกตัวไปที่ไหนก็เจอแต่บาปทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงสรุปให้พวกเราเห็นย่อ ๆ ไว้ดังนี้
ให้เข้าหาจิต จับจิตผู้คิด ผู้นึก ให้ได้เสียก่อน จิตมันคิดนึกอยากจะทำบาปทางกาย มันสั่งให้กายนี้ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ของคนอื่น สั่งให้กายนี้ไปประพฤติผิดในกาม จิตมันคิดนึกอยากจะทำบาปด้วยวาจา มันก็สั่งวาจาให้ไปกระทำบาป ด้วยการพูดเท็จ พูดคำหยาบคาย ด่าคนนั้นคนนี้ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล หาประโยชน์มิได้ จิตมันคิดนึกอยากจะทำความชั่วทางกาย ด้วยการกระทำกายอันนี้ให้เป็นคนบ้า มันก็ให้กายนี้เอาน้ำเมามากรอกใส่ปาก แล้วก็ดื่มลงไปในลำคอ กายก็จะแสดงฤทธิ์บ้าออกมาต่าง ๆ นานา
ตรงกันข้าม ถ้าจิตมันละอายจากบาป กลัวบาปกรรม เห็นโทษที่จิตคิดไปทำเช่นนั้น แล้วจิตไม่คิดนึกที่จะทำเช่นนั้นเสีย กายแลวาจาอันนี้ก็จะเป็นศีลขึ้นมา
นี่แหละ ถ้าผู้ใดเห็นจิตอันมีอยู่ในกาย แลวาจาอันนี้แล้ว แลจับจิตอันนี้ได้แล้ว จะเห็นบาปกรรมแลศีลธรรม ซึ่งอยู่ในโลกทั้งหมด บาปกรรม ศีล แลธรรม ย่อมเกิดจากจิตนี้อันเดียวเท่านั้น ถ้าจิตอันนี้ไม่มีเสียแล้ว บาปกรรม ศีล แลธรรม เหล่านั้นก็ไม่มี รักษาศีลต้องถือจิต รักษาจิตก่อน จึงรักษาศีลถูกตัวศีลแท้
สายท่าขนุน
30-11-2009, 21:11
ดังผู้เขียนเคยได้ยินพระบางรูปพูดว่า พระมีศีล ๒๒๗ ข้อ ฆราวาสมีศีล ๕ ข้อ ฆราวาสต้องรักษาศีลให้ดีนะ ถ้าไม่ดีมันขาดเอา ถ้าข้อหนึ่งก็คงยังเหลือ ๒ ข้อ ถ้าขาด ๔ ข้อก็คงยังเหลือข้อเดียว ถ้าขาด ๕ ข้อก็หมดกันเลย
ไม่เหมือนพระภิกษุท่านมีศีล ๒๒๗ ข้อ ถึงท่านขาด ๙๑๐ ข้อ ท่านก็ยังเหลืออยู่แยะนี่ แสดงว่าท่านองค์นั้นท่านรักษาศีลไม่ได้รักษาที่ใจ รักษาแต่กาย วาจา ๒ อย่างเท่านั้น ไม่ได้คิดว่า ใจผู้คิดล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้น ๆ เป็นบาป แล้วจึงบังคับให้กาย วาจาทำ ก็สนุกดีเหมือนกัน เอาศีลสิกขาบทนั้น ๆ มาอวดอ้างกันว่าใครจะมีศีลมากกว่ากัน
ความจริงแล้ว พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น ทรงบัญญัติเข้าถึงกาย วาจาและใจ
ที่แสดงออกมาทางกายแลวาจานั้น ส่อถึงจิตผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง แล้วจึงบังคับให้กาย แลวาจา กระทำตามต่างหาก ดังที่อธิบายมาแล้วในข้างต้น
สายท่าขนุน
30-11-2009, 21:17
พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ผู้ไม่รู้พระวินัยให้ปฏิบัติตามนั้น นับว่าเป็นบุญแก่พวกเราอักโขแล้ว ประพฤติสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป พระองค์ห้ามไว้ไม่ให้กระทำ เพื่อความดีของตนเองนั้นแหละ มิใช่เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น แลมิใช่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ เราหาที่พึ่งไม่ได้แล้ว พระองค์มาเป็นที่พึ่ง ชี้บอกทางให้ นับว่าเป็นบุญเหลือล้นแก่พวกเราแล้ว
ผู้รักษาศีลไม่เข้าถึงใจ ถึงจิตแล้ว รักษาศีลยาก หรือ รักษาศีลเป็น โคบาลกะ ว่า เมื่อไหร่หนอจะถึงเวลามืดค่ำ จะไล่โคเข้าคอก แล้วเราจะได้พักผ่อนนอนสบาย ไม่เข้าใจว่า
เรารักษาศีลเพื่อความบริสุทธิ์สะอาดของกาย วาจา แลใจ
รักษาได้นานเท่าไร มากเท่าไร ยิ่งสะอาดมากเท่านั้น
รักษาจนตลอดชีวิตได้ยิ่งดีใหญ่
เราจะได้ละความชั่วได้ในชาตินี้ไปเสียที
สายท่าขนุน
07-12-2009, 00:29
คนเราไม่รู้จักศีล (คือตัวของเรา) และไม่เข้าถึงศีล (คือข้องดเว้น ข้อห้ามไม่ให้ทำความชั่ว) จึงโทษพระองค์ว่า บัญญัติศีลไว้มากมาย สมาทานไม่ไหว มีคนบางคนพูดว่า บวชนานเท่าไร ดูพระวินัยมาก ๆ มีแต่ข้อห้าม นั่นก็เป็นอาบัติ นี่ก็เป็นอาบัติ
คำพูดของผู้เห็นเช่นนั้นนับว่าน่าสลดสังเวชมาก พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในเมืองไทยของเรา นับตั้งสองพันกว่าปีแล้ว แสงธรรมยังไม่ส่องถึงจิต ถึงใจของเขาเลย น่าสงสารจริง ๆ เหมือนกับเต่านอนเฝ้ากอบัว ไม่รู้จักกลิ่นดอกบัวเลย
เมื่อศีลเข้าถึงจิต เข้าถึงใจแล้ว เราไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวเราเอง ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใด ๆ ศีลต้องระวังสังวรอยู่ทุกอริยาบถ ไม่ให้ละเมิดทำความชั่ว แม้แต่จิตจะคิดวิตกว่าเราจะทำความชั่ว ก็รู้แล้ว แลจะละอายต่อความชั่วนั้น ๆ ทั้งที่คนทั้งหลายยังไม่ทันจะรู้ความวิตกของเรานั้นเลย
ความเกลียด โกรธ พยาบาท อาฆาต ทั้งหลายมันจะมีมาจากไหน เพราะหัวใจมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา เข้ามาอยู่เต็มไปหมดแล้วในหัวใจ
สายท่าขนุน
07-12-2009, 00:31
ศีล คือ ความปกติของกาย วาจา แลใจ
ถ้าใจไม่ปกติเสียแล้ว กาย วาจา มันจะปกติไม่ได้
เพราะกาย วาจา มันอยู่ในบังคับของจิต
ดังอธิบายมาแล้วแต่เบื้องต้น
เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการให้เข้าถึงศีลที่แท้จริง แลเข้าถึงพุทธศาสนาให้จริงจัง
พึงฝึกหัดจิตของตนให้เป็นสมาธิต่อไป
สายท่าขนุน
09-12-2009, 20:12
ขั้นที่ ๓ การฝึกหัดสมาธิ
ก็ไม่พ้นไปจากฝึกหัดกาย วาจาแลใจอีกนั่นแหละ ใครจะฝึกหัดโดยวิธีใด ๆ ก็แล้วแต่เถอะ ถ้าฝึกหัดสมาธิที่ถูกในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จำจะต้องฝึกหัดที่กาย วาจา แลใจ นี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะพระพุทธศาสนาที่สอน สอนที่ กาย วาจา แลใจ นี้อย่างเดียว ไม่ได้สอนที่อื่น ๓ อย่างนี้ ถ้ายังพูดถึงพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด หรือพูดถึงการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ตราบใด พูดถึงมรรค ผล นิพพาน อยู่ตราบใด ย่อมไม่พ้นจากกาย วาจา แลใจ ถ้ายังมีสมมุติบัญญัติอยู่ตราบใด ต้องพูดถึง กาย วาจา แลใจ อยู่ตราบนั้น ถ้ายังไม่ดับขันธ์เป็นอนุปาทิเสสนิพพานเมื่อใด จำจะต้องพูดถึงอยู่ตราบนั้น
ฝึกหัดสมาธิภาวนา นึกเอามรณานุสติเป็นอารมณ์ ให้นึกถึงความตายว่า เราจะต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะความตายเป็นที่สุดของชีวิตคนเรา เมื่อตายแล้วก็ทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด ไม่ว่าจะของรักและหวงแหนสักปานใด ต้องทอดทิ้งทั้งหมด การบริกรรมมรณานุสติเป็นอุบายที่สุดของอุบายทั้งปวง จะพิจารณาลมหายใจเข้า หายใจออก ในที่สุดก็ลงความตาย จะพิจารณาอสุภกรรมฐาน ในที่สุดก็ลงความตาย
สายท่าขนุน
09-12-2009, 20:16
เมื่อพิจารณาถึงความตายแล้ว มันมิอาลัยในสิ่งทั้งปวงหมดสิ้นจะคงเหลือแต่จิตอันเดียวนั้นแหละ ได้ชื่อว่าชำระจิตแล้ว แล้วจะมีขณะหนึ่ง จิตจะรวมเข้าเป็น สมาธิ คือจิตจะหยุดนิ่งเฉย ไม่คิด ไม่นึกอะไรทั้งหมด แต่รู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่เฉย จะนานเท่าไรก็ได้ ถ้าจิตนั้นมีพลังแก่กล้า
บางทีเมื่อชำระจิต ปราศจากอารมณ์ทั้งหมดแล้ว จะยังเหลือแต่จิตดังอธิบายมาแล้ว จิตจะรวมเข้า มีอาการวูบวาบเข้าไป แล้วจะเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ หลายอย่าง นั่นก็อย่าไปยึดเอา นั้นแหละเป็นตัวมารอย่างร้ายกาจ ถ้าไปยึดเอา สมาธิจะเสื่อมเสีย แต่คนทั้งหลายก็ไปยึดเอาอยู่นั้นแหละ เพราะเห็นเป็นของแปลกประหลาด แลบางอาจารย์ก็สอนให้ไปยึดถือเอาเป็นอารมณ์เสียด้วย จะเป็นเพราะท่านไม่เคยเป็น หรือท่านไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นมาร ก็ไม่ทราบ
สายท่าขนุน
16-12-2009, 00:51
บางคนฝึกหัดภาวนาสมาธิ ใช้คำบริกรรมว่า อานาปานุสติ โดยพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ต้องตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ต้องตาย ความตายของคนเรามีอยู่นิดเดียว มีเพียงแค่หายใจเข้า หายใจออก เท่านี้เอง แล้วพึงจับเอาแต่จิตนั้น ลมก็จะหายไปเองโดยไม่รู้ตัว จะยังเหลือแต่จิตใสสว่างแจ๋วอยู่ผู้เดียว จิตที่ใสสว่างนี้ ถ้ามีสติแก่กล้าจะอยู่ได้นาน ๆ ถ้าสติอ่อนจะไม่นาน หรือรวมเข้าภวังค์เลยก็ได้
สายท่าขนุน
16-12-2009, 00:55
จิตเข้าภวังค์นี้จะมีอาการหลายอย่าง อย่างหนึ่งเมื่อจิตจะรวม จิตน้อมเข้าไปยินดีพอใจกับสุขสงบที่จิตรวมนั้น แล้วจิตจะเข้าภวังค์ มีอาการเหมือนกับคนนอนหลับ หายเงียบเลย อยู่ได้นาน ๆ ตั้งเป็นหลายชั่วโมงก็มี บางคนขณะที่จิตเข้าภวังค์อยู่นั้น มันจะส่งไปเห็นนั่นเห็นนี่ต่าง ๆ นานา บางทีเป็นจริงบ้างไม่จริงบ้าง บางคนก็ไม่เห็นอะไร เงียบไปเฉย ๆ เมื่อถอนออกจากภวังค์มาแล้ว จำนิมิตนั้นได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนมีอาการวูบเข้าไปเปลี่ยนสภาพของจิตแล้วเฉยอยู่ มันเกิดหลายเรื่อง หลายอย่าง แล้วแต่อุปนิสัยของคน
สายท่าขนุน
18-12-2009, 20:15
ภวังค์นี้ถึงมิใช่หนทางให้พ้นจากทุกข์ก็จริงแล แต่มันเป็นหนทางให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ ผู้ฝึกหัดจะต้องเป็นไปเป็นขั้นแรก แลเราจะแต่งเอาไม่ให้เป็นก็ไม่ได้ ผู้ฝึกหัดสมาธิจะเป็นทุก ๆ คนถ้าสติอ่อน หมั่นเป็นบ่อย ๆ จนเคยชินแล้ว เห็นว่าไม่ใช่หนทางแล้ว มันหากแก้ตัวมันเองดอก ดีเหมือนกันนั่งหลับ มันเป็นเหตุให้ระงับจิตฟุ้งซ่านไปพักหนึ่ง ดีกว่าจิตไปฟุ้งซ่านหาโน่นหานี่ ตลอดวันค่ำคืนรุ่ง สิ่งทั้งปวง ถ้าเราไม่เห็นด้วยตัวเองแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เรารู้ไว้มาก ๆ แล้วภายหลังจะได้ไม่หลงอีก
สายท่าขนุน
18-12-2009, 20:22
บางคนฝึกหัดภาวนา กำหนดเอา อสุภะ เป็นอารมณ์ พิจารณาร่างกายตัวของเรา ให้เห็นเป็นอสุภะไปทั้งตัวเลย หรือพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นอสุภะก็ได้ เช่น พิจารณาผม ขน เล็บ หรือจะพิจารณาของภายในมี ตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น ให้เห็นเป็นปฏิกูลเปื่อยเน่า น่าพึงเกลียด เป็นของไม่งาม ให้พิจารณาจนเห็นชัด
เบื้องต้นพึงพิจารณาโดยอนุโลมเอาของภายนอกมาเทียบ เช่น เห็นคนตาย หรือสัตว์ตายขึ้นอืดอยู่เอามาเทียบกับตัวของเราว่า เราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันค่อยเห็นตัวของเราชัดขึ้นโดยลำดับ จนชัดขึ้นมาในใจ แล้วจะเกิดความสังเวชสลดใจ จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ นิ่งแน่วเป็นอารมณ์อันเดียว ถ้าสติอ่อนจิตจะน้อมเข้าไปยินดีกับความสงบสุข มันจะเข้าสู่ภวังค์ มีอาการดังอธิบายมาแล้วในเรื่อง มรณานุสติ แล อานาปานุสติ วางคำบริกรรมแล้วสงบนิ่งเฉยบางคนก็เกิดนิมิตต่าง ๆ นานา เกิดแสงสว่างเหมือนกับพระอาทิตย์ แลพระจันทร์ เห็นดวงดาว เห็นกระทั่งเทวดา หรือภูต ผี ปีศาจ แล้วหลงไปจับเอานิมิตนั้น ๆ สมาธิเลยเสื่อมหายไป
สายท่าขนุน
23-12-2009, 19:52
บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้ถือเอานิมิตนั้น เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น เช่น นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น
ไปถือเอาแสงภายนอก ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก ผู้อยากได้ชั้นได้ภูมิ เมื่ออาจารย์ถาม ก็แสดงถึงแสงอย่างนั้น แล้วก็ถือว่าตนถึงขั้นนั้นแล้ว แต่อาจารย์ไม่ถามถึงกิเลส แลตนก็ไม่รู้กิเลสของตนเลยว่ามันมีเท่าไร มันหมดไปเท่าไรแล้ว เดี๋ยวกิเลสคือโทสะ มันเกิดขึ้นมา หน้าแดงก่ำ มรรคผลนั้นเลยหายหมด การสอนให้จับเอานิมิต เกิดทีแรกแล้วทีหลังไม่เป็นอีกเด็ดขาด อย่างนี้มันจะเป็นของจริงได้อย่างไร นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร
สายท่าขนุน
23-12-2009, 19:57
จริงอยู่ คนภายนอกพระพุทธศาสนาก็ทำสมาธิได้มิใช่หรือ เช่น ฤๅษีชีไพร เป็นต้น
คนเหล่านี้เขาทำกันมาแต่พระพุทธเจ้าของเรายังไม่อุบัติขึ้นในโลก เขาทำก็ได้เพียงแค่ขั้นโลกิยฌานเท่านั้น
ส่วนโลกุตรสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนแต่พระองค์เดียว ไม่มีใครสอนได้ในโลก
ผู้เข้าถึงฌานสำคัญตนว่าเป็นสมาธิแล้ว ก็เลยพอใจยินดีในฌานนั้น ติดอยู่ในฌานนั้น
สายท่าขนุน
30-12-2009, 00:38
ฌาน กับ สมาธิ มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ผู้ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นเป็นอันเดียวกัน
เพราะ ฌาน แล สมาธิ สับเปลี่ยนกันได้ อารมณ์ก็อันเดียวกัน ต่างแต่การเข้าภวังค์ แลเข้าสมาธิเท่านั้น
เมื่อเข้าภวังค์ จะน้อมจิตลงสู่ความสงบสุขอย่างเดียวแล้วก็เข้าภวังค์เลย
ถ้าเข้าสมาธิ จิตจะกล้าแข็ง มีสติอยู่เป็นนิจ จะไม่ยอมน้อมจิตเข้าสู่ความสงบสุข
จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ช่าง แต่จิตนั้นจะพิจารณาอยู่ในธรรมอันเดียวอย่างนี้เรียกว่า สมาธิ
สายท่าขนุน
30-12-2009, 00:43
แท้จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงมิใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล
แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุก ๆ คน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวมเข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี
เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่
ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ของผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่
เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็จะต้องจมอยู่ปลัก
คือนิมิตนั้น นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส แลอุททกดาบส เป็นตัวอย่าง
ชื่อกระทู้ชวนให้นึกถึง ธรรมอันละเอียดปราณีตของหลวงปู่ลุน ณ เมืองอุบล
เล่าลือว่าท่านมีวาสนาทางธรรมอันหาได้ยากยิ่ง คือมีความชำนาญการปฏิบัติในทางพระอภิธรรม ปรมาจารย์นามอุโฆษด้านพระอภิธรรมอย่างอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ยังมากราบฝากตัวเป็นศิษย์
ลองพิจารณาข้อธรรมของหลวงปู่ดูนะครับ
๑. โลกก็บังธรรม ธรรมก็บังโลก อารมณ์ก็บังจิต จิตก็บังอารมณ์
๒. ถ้าอยากเห็นธรรม ก็ให้เพิกโลกออกให้หมด ถ้าอยากเห็นจิตก็เพิกอารมณ์ออกให้หมด
๓. ลำพังธรรมอย่างเดียว หรือจิตอย่างเดียว เป็นวิสังขาร คือนิพพาน ไม่ใช่สัตว์
๔. ถ้าโลกอย่างเดียว หรืออารมณ์อย่างเดียวก็เป็น อนุปาทินกะสังขาร ไม่ใช่สัตว์อีก
๕. สัตว์นั้นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยโลกกับธรรม อารมณ์กับจิต เพราะเหตุนั้นสัตว์จึงต้องมีหู มีตา มีจมูก มีลิ้น มีกาย และมีใจ
และอารมณ์ผสมเข้ากับจิต ถึงอรูปสัตว์ที่ไม่มีกายก็ต้องมีอารมณ์ผสมกับจิต จึงจะเรียกว่าสัตว์ ว่าคนได้ เป็นอุปาทินกะสังขาร
๖. โลกก็ดี อารมณ์ก็ดี เกิดดับอยู่เสมอ แต่ธรรมหรือจิตอันบริสุทธิ์นั้น ไม่เกิดไม่ดับ
๗. ถ้าเพิกโลกออกจากธรรม เพิกอารมณ์ออกจากจิตได้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะยกขึ้นสู่บัญญัติว่าเป็นสัตว์เป็นคน จึงบัญญัติว่าเป็น “นิพพาน”
สายท่าขนุน
05-01-2010, 21:41
ชื่อกระทู้ชวนให้นึกถึง ธรรมอันละเอียดปราณีตของหลวงปู่ลุน ณ เมืองอุบล
เล่าลือว่าท่านมีวาสนาทางธรรมอันหาได้ยากยิ่ง คือมีความชำนาญการปฏิบัติในทางพระอภิธรรม ปรมาจารย์นามอุโฆษด้านพระอภิธรรมอย่างอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ยังมากราบฝากตัวเป็นศิษย์
ลองพิจารณาข้อธรรมของหลวงปู่ดูนะครับ
...
ลึกซึ้งยิ่งนัก ต้องค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ พิจารณา:onion_love:
ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกว่าเรียนรู้เพิ่มอีก:onion_wink: ทั้งที่เป็นข้อความเดิม
สายท่าขนุน
05-01-2010, 21:49
ความรู้แลนิมิตต่าง ๆ เกิดจากคำบริกรรม เมื่อจิตรวมเข้าภวังค์แล้ว
คำบริกรรมมีมากมาย ท่านแสดงไว้ในตำรามีถึง ๔ อย่าง มีอนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น
ที่พระสาวกบางองค์บริกรรมแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ยังมีมากกว่านี้ แต่ท่านไม่ได้เอารวมไว้ในที่นี้ ยังมีมากกว่านั้น เช่น
องค์หนึ่งไปนั่งอยู่ริมสระน้ำ เห็นนกกระยางโฉบกินปลา ท่านไปจับเอามาเป็นคำบริกรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
คำบริกรรมแล้วแต่อัธยาศัยของบุคคล มันถูกกับอัธยาศัยของตนก็ใช้ได้ทั้งนั้น
ที่ท่านแสดงไว้ ๔๐ อย่างนั้น พอเป็นเบื้องต้นเฉย ๆ ดอก
ถึงผู้เขียนนำมาแสดงไว้ ๓ อย่างนั้น ก็พอเป็นบทเบื้องต้นข้อใหญ่ที่สำคัญ ๆ เท่านั้น
ผู้ภาวนาถ้าไม่ถูกจริตนิสัยของตนแล้ว จะเอาอะไรก็ได้ แต่ให้เอาอันเดียว
อย่าเอาหลายอย่างมันจะฟุ้งแลลังเลไม่ตั้งมั่นในคำบริกรรมของตน
สายท่าขนุน
05-01-2010, 21:52
คำบริกรรมนี้ให้เอาอันเดียว ถ้ามากอย่างจิตจะไม่รวม
เมื่อพิจารณาไป ๆ แล้ว จิตมันจะมารวมนิ่งเฉยอยู่คนเดียว แล้วให้วางคำบริกรรมนั้นเสีย
ให้จับเอาแต่จิตผู้นิ่งเฉยนั้น ถ้าไม่วางคำบริกรรมเดี๋ยวมันจะฟุ้งอีก จับจิตไม่ได้
ถึงฌาน แลสมาธิ ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดนิมิตแลความรู้ต่าง ๆ
แล้วไปจับเอานิมิตแลความรู้นั้น ไม่เข้ามาดูตัวผู้ที่ส่งออกไปดูนิมิตแลความรู้นั้น
เมื่อความรู้แลนิมิตนั้นหายไปแล้วจับเอาจิตไม่ได้
สายท่าขนุน
07-01-2010, 21:16
ใจ ๑ นิมิต ๑ ผู้ส่งออกไปดูนิมิต ๑ สามอย่างนี้ให้สังเกตให้ดี
เมื่อนิมิตแลความรู้เกิดขึ้น อาการทั้งสามอย่างนี้จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน
ถ้าจับ ใจ คือ ผู้รู้ ไม่ได้ เมื่อนิมิตและความรู้นั้นหายไป ผู้รู้อันนั้นก็หายไปด้วยแล้วจะจับเอาตัวผู้รู้นั้นไม่ได้สักที
สายท่าขนุน
07-01-2010, 21:41
คำบริกรรม ก็ต้องการให้จิตรวมเข้าอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อจิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ววางคำบริกรรมนั้นเสีย จับเอาแต่ผู้รู้อันเดียวก็ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ตาม ผู้บริกรรมภาวนาทั้งหลาย ขอให้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน บริกรรมอันเดียวกัน แต่เวลามันรวมเข้าเป็นภวังค์ แลเป็นสมาธิมันต่างกัน คือว่า
บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ จนแน่ชัดว่าเราต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งตายแล้วไปคนเดียว สิ่งทั้งปวงละทิ้งหมด แม้แต่ปิยชนของเราเอาไปด้วยก็ไม่ได้ เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นแล้ว จิตจะเพ่งแต่ความตายอย่างเดียว จะไม่เกี่ยวข้องถึงเรื่องอื่นทั้งหมดแล้วจิตจะรวมเข้าเป็นภวังค์หายเงียบ ไม่รู้สึกตัวสักพักหนึ่ง หรือรวมเข้าเป็นภวังค์วูบวาบคล้ายกับคนนอนหลับ แล้วเกิดความรู้ตัวอยู่อีกโลกหนึ่ง (โลกของจิต) แล้วมีความรู้เห็นทุกอย่างเหมือนกับความรู้เห็นที่อยู่ในโลกนี้ แต่มันยิ่งกว่าโลกนี้ แลจะเทียบกับโลกนี้ไม่ได้ เป็นแต่รู้สึกได้ในเมื่อจิตนั้นยังไม่ออกจาภวังค์ หรือจิตมีอาการดังกล่าวแล้วเข้าไปนิ่งเฉยอยู่ไม่มีอารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด นอกจากความนิ่งเฉยอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า จิตรวมเข้าเป็น ภวังค์
สายท่าขนุน
11-01-2010, 23:04
บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตาย ดังอธิบายแล้วแต่เบื้องต้น แต่คราวนี้เวลามันจะรวมเข้าเป็นสมาธิ มันจะต้องตั้งสติให้กล้าหาญ เข้มแข็งไม่ยอมให้จิตเข้าสู่ภวังค์ได้ พิจารณา มรณานุสติ ถึงเหตุแห่งความเกิดว่า มันเกิดอย่างไร พิจารณาถึงความตายว่า มันตายอย่างไร ตายแล้วไปเป็นอะไร จนความรู้แจ่มแจ้งชัดขึ้นมาในใจ จนจิตเกิดความปราโมทย์ร่าเริงอยู่กับความปราโมทย์นั้น (จะไม่มีปีติ ปีติเป็นอาการของฌาน) อย่างนี้เรียกว่า สมาธิ
สายท่าขนุน
11-01-2010, 23:10
ฌาน แล สมาธิ พิจารณาคำบริกรรมอันเดียวกัน แต่จิตที่มันเข้าไปมันต่างกัน ฌาน รวมเข้าไปเป็นภวังค์ ให้นึกน้อมเอาอารมณ์อันเดียวคือ ความตาย แลเพื่อความสงบอย่างเดียวแล้วเป็นภวังค์ ส่วน สมาธิ นั้น ตั้งสติให้กล้าแข็ง พิจารณาความตายให้เห็นชัดตามเป็นจริงทุกสิ่ง จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง ขอแต่ให้เห็นชัดก็แล้วกัน แต่ด้วยจิตที่แน่วแน่พิจารณาอารมณ์อันนั้น มันเลยกลายเป็นสมาธิไปในตัว เกิดความรู้ชัดขึ้นมา เกิดปราโมทย์ร่าเริงในธรรมที่ตนพิจารณาอยู่นั้น แจ่มแจ้งอยู่ในที่เดียวแลคนเดียว จะพิจารณาไปรอบ ๆ ข้าง ก็จะมาชัดแจ้งในที่เดียว หายสงสัยหมด
สายท่าขนุน
14-01-2010, 19:36
ฌาน แล สมาธิ บริกรรมอันเดียวกัน แต่มันเป็นฌาน แลเป็นสมาธิต่างกันดังอธิบายมานี้ พอเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติ นอกเหนือจากคำว่าบริกรรมที่อธิบายแล้ว จะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ได้ แต่มันเป็นฌาน แลสมาธิ จะต่างกันตรงที่มันจะรวมไปเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดไม่ต้องไปถือเอาคำที่ฌาน ภวังค์ แลสมาธิ ให้พิจารณาเอาแต่อาการของจิตที่รวมเข้าไปมีอาการต่างกันอย่างไร ดังได้อธิบายมาแล้ว ก็จะเห็นชัดเลยทีเดียว
สายท่าขนุน
14-01-2010, 19:40
ผู้ทำฌานได้ชำนาญคล่องแคล่ว จะเข้าจะออกเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว ถ้าหากผู้นั้นเคยบำเพ็ญมาแล้วแต่ชาติก่อน ก็จะทำอภินิหารได้ตามความต้องการของตน เป็นต้นว่า มีความรู้เห็นนิมิตตนเองแลคนอื่น เคยได้เป็นบิดา มารดา เป็นบุตร ธิดา แลสามี ภรรยา หรือเคยได้จองเวรจองกรรม อาฆาต บาดหมางแก่กันและกันมาแล้วแต่ชาติก่อน เรียกว่า อตีตังสญาณ อตีตังสญาณนี้ บางทีบอกชื่อแลสถานที่ที่เคยกระทำมาแล้วนั้นพร้อมเลยทีเดียว
สายท่าขนุน
19-01-2010, 22:43
บางทีก็เห็นนิมิตแลความรู้ขึ้นมาว่าตนเอง แลคนอื่น มีญาติพี่น้องเราเป็นต้น ที่มีชีวิตอยู่ จะต้องตายวันนั้นวันนี้ หรือปีนั้นปีนี้ หรือจะได้โชคลาภ หรือเป็นทุกข์จนอย่างนั้น ๆ
เมื่อถึงกำหนดเวลาก็เป็นจริงอย่างที่รู้เห็นนั้นจริง ๆ นี้เรียกว่า “อนาคตังสญาณ”
สายท่าขนุน
19-01-2010, 22:53
อาสวักขยญาณ ท่านว่า ความรู้เห็นในอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ข้อนี้ผู้เขียนขอวินิจฉัยไว้สักนิดเถอะ เพราะกังขามานานแล้ว ถ้าแปลว่าความรู้ความเห็นของท่านผู้นั้น ๆ ท่านทำให้สิ้นอาสวะไปแล้วก็ยังจะเข้าใจบ้าง เพราะญาณก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี เกิดจากฌานทั้งนั้น และในนั้นก็บอกชัดอยู่แล้ว ฌาน ถ้าแปลว่า ความรู้เห็นอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ก็แสดงว่า ได้ฌานแล้วทำหน้าที่แทนมัคคสมังคีในมัคค์นั้นได้เลย ถ้าพูดอย่างนี้มันตรงกันข้ามกับที่ว่า มัคคสมังคี เป็นเครื่องประหารกิเลสแต่ละมัคค์
สายท่าขนุน
27-01-2010, 22:15
ญาณ ๓ เกิดจากฌาน ฌานดีแต่รู้เห็นคนอื่น สิ่งอื่น ส่วนกิเลสภายในใจของตนหาได้รู้ไม่
ญาณ ๓ ก็ดี หรือบรรดาญาณทุกอย่าง
ไม่เคยได้ยินท่านกล่าวไว้ที่ไหนเลยว่า “ญาณประหาร” มีแต่ “มัคคประหาร” ทั้งนั้น
มีแต่ อาสวักขยญาณ นี้แหละที่แปลว่าวิชาความรู้ อันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป
จึงเป็นที่น่าสงสัยยิ่งนัก ท่านผู้รู้ทั้งหลายกรุณาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ด้วย
ถ้าเห็นว่าไม่ตรงตามผู้เขียนแล้ว โปรดจดหมายส่งไปที่ที่อยู่ของผู้เขียนข้างต้นด้วย จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง
สายท่าขนุน
27-01-2010, 22:19
อาสวักขยญาณ มิได้เกิดจากฌาน ฌานเป็นโลกียะทั้งหมดตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ
เพราะโลกุตตรฌาน ไม่เห็นท่านแสดงไว้ว่ามีองค์เท่านั้นเท่านี้
ท่านผู้เข้าเป็นโลกุตตระต่างหาก จึงเรียกฌาน เป็นโลกุตตระตามท่าน
เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงเรียกว่าทรงพระขรรค์ นี่ก็ฉันใด
ถ้าแปลว่า รู้จักท่านที่ทำกิเลสอาสวะให้สิ้นไป ก็ยังจะเข้าใจบ้าง
สายท่าขนุน
29-01-2010, 19:14
อนึ่ง ท่านยังแยกฌานออกเป็นภวังค์ มี ๓ คือ ภวังคุบาท ๑ ภวังคจรณะ ๑ ภวังคุปัจเฉทะ ๑
ตามลักษณะของจิตที่รวมเข้าไปเป็นภวังค์
ส่วนสมาธิก็แยกออกเป็นสมาธิ ดังอธิบายมาข้างต้นเป็น ๓ เหมือนกัน
คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑
สายท่าขนุน
29-01-2010, 19:17
ส่วนการละกิเลสท่านก็แสดงไว้ ไม่ใช่ละกิเลส เป็นแต่กรณีข่มกิเลสของตนไว้ไม่ให้มันเกิดขึ้นด้วยองค์ฌานนั้น ๆ
ส่วนการละกิเลสของสมาธิท่านแสดงไว้ว่า พระโสดาบัน ละกิเลส ได้ ๓ คือ
ละสักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑
พระสกทาคามี ละได้ ๓ ตัวเบื้องต้นและยังทำให้ราคะเบาบางลงอีก
พระอนาคามี ละได้ ๓ ตัวเบื้องต้นนั้นได้เด็ดขาดแล้วยังละกามราคะและปฏิฆะให้หมดไปอีกด้วย
นี้แสดงว่าฌานเป็นโลกิยะโดยแท้ ส่วนสมาธิเป็นโลกุตตระ ละกิเลสได้ตามลำดับ ดังอธิบายมาแล้ว
สายท่าขนุน
02-02-2010, 23:05
ฌาน ถึงแม้เป็นโลกิยะก็จริงแล แต่ผู้ฝึกหัดทำสมาธิจำเป็นจะต้องผ่านฌานนี้เสียก่อน
เพราะฌาน แลสมาธิมันกลับกันได้ ด้วยอุบายแยบคายของตนเอง ผู้จะไม่ผ่านฌาน แลสมาธิ ทั้งสองนี้ไม่มี
ฝึกหัดจิตอันเดียวกัน บริกรรมภาวนาอันเดียวกัน หนีไม่พ้นฌาน แลสมาธิ เป็นอันขาด
ฌาน แลสมาธิ เบื้องต้นเป็นสนามฝึกหัดของจิตของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย
พระโยคาวจรเจ้าฝึกหัดฌาน แลสมาธิทั้ง ๒ อย่างนี้ ให้ชำนิชำนาญ
รู้จักผิด รู้จักถูก ละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว จึงจะทำวิปัสสนาให้เป็นไปได้
วิปัสสนามิใช่เป็นของง่ายเลย ดังคนทั้งหลายเข้าใจกันนั้น
จิตรวมเข้ามาเป็นฌาน แลสมาธิ เป็นบางครั้งบางคราว ก็โมเมเอาว่า
ตนได้ขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว ไม่ทราบว่าถึงขั้นไหน เป็นฌาน หรือเป็นสมาธิ คุยฟุ้งเลย
ทีหลังสมาธิเสื่อมแล้วเข้าไม่ถูก
สายท่าขนุน
02-02-2010, 23:09
สมาธิ ก็มีลีลามากน่าดูเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนฌาน
เหมือนกับเล่นกีฬา คนหนึ่งเล่นเพื่อความมัวเมา แต่คนหนึ่งเล่นเพื่อสุขภาพอนามัย
สมาธิ นั้นเมื่อจิตรวมเข้าไป ก็รู้ว่าจิตรวมเข้าไปรู้อยู่ตลอด
เวลาจิตจะหยาบ แลละเอียดสักเท่าไร สติย่อมรวมเข้าไปรู้อยู่ตลอด
เวลาจิตจะหยาบอยู่ มันรู้อยู่แต่ภายนอก เมื่อจิตมันละเอียดเข้าไป มันก็รู้อยู่ทั้งภายนอก แลภายใน
ไม่หลงไปตามอาการของจิตของตน รู้ทั้งที่จิตเป็นธรรมแลจิตปะปนไปกับโลก
ไม่เห็นไปหน้าเดียว อย่างที่เขาพูดว่า หลงโลก หลงธรรม นั่นเอง
ผู้เห็นอย่างนี้แล้ว จิตก็จะเป็นกลาง วางอารมณ์ทั้งหมดเฉยได้ จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้
เมื่อจะทำก็ทำแต่สิ่งที่ควร สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำสุ่มสี่สุ่มห้า
สมาธิเป็นลักษณะของผู้ใหญ่ผู้รู้เดียงสา
กระทำฌานเป็นลักษณะของเด็กผู้ไม่รู้เดียงสากระทำ
สายท่าขนุน
04-02-2010, 22:39
นิมิตแลความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมาธินั้น นอกจากดังได้อธิบายมาในฌานในเบื้องต้นแล้ว
มันอาจเกิดความรู้เห็นอรรถเป็นคาถาหรือเป็นเสียงไม่มีตัวตน หรือเป็นเสียงพร้อมทั้งตัวตนขึ้นมาก็ได้
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเครื่องเตือนตัวเองแลคนอื่นให้ระวังอันจะเกิดภัยในข้างหน้า
หรือเตือนว่าสิ่งที่ตนทำมานั้นผิด หรือถูกก็ได้
นิมิตแลความรู้อันเกิดจากสมาธิภาวนานี้ จึงนับว่าเป็นของสำคัญมากทีเดียว
เป็นเครื่องมือของนักบริหารทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
สายท่าขนุน
04-02-2010, 22:43
นิมิต แลความรู้ ดังอธิบายมานั้น เมื่อจะเกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติ ย่อมเกิดในเวลาจิตเป็นอุปจารสมาธิ
แต่ตัวเองไม่รู้ว่าเป็นอุปจารสมาธิ แลรู้ได้ในขณะยืนอยู่ก็ได้ นั่งทำสมาธิก็ได้
นอนอยู่ในท่าทำสมาธิก็ได้ แม้แต่เดินไปมาอยู่ก็รู้ได้เหมือนกัน
มีหลายท่านหลายคนซึ่งไม่เคยไปที่วัดของผู้เขียนเลยสักหนเดียว แต่รู้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว
ว่า ที่นั้น ๆ เป็นรูปร่างลักษณะอย่างนั้น ๆ เมื่อไปถึงแล้วเห็นสถานที่ต่าง ๆ ไม่ผิดเลยสักอย่างเดียว
ดังได้เห็นนิมิตไว้แต่ก่อน อันนี้จะเป็นเพราะฌาน สมาธิของเขา
หรือเพราะบุญบารมีของเขาซึ่งเคยได้ไปมาอยู่แล้วแต่ก่อน ก็ไม่ทราบได้
เมื่อถามท่านเหล่านั้นว่าเคยทำฌาน สมาธิแลภาวนาหรือไม่ ก็บอกปฏิเสธทั้งนั้น
สายท่าขนุน
08-02-2010, 22:53
นิมิต แลความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นกระท่อนกระแท่น ไม่ติดต่อกัน แลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
เพราะผู้เข้าสมาธิไม่ชำนาญ พอเข้าเป็นอุปจารสมาธิก็เกิดขึ้นแล้ว ดังได้อธิบายมาแล้วในเบื้องต้น
ไม่เหมือนท่านที่ชำนาญ ท่านที่ชำนาญแล้วท่านจะต้องเข้าสมาธิให้ถึง อัปปนาสมาธิ
แล้วจึงถอนออกมาอยู่แค่ อุปจารสมาธิ
เมื่อต้องการจะรู้จะเห็นเหตุการณ์อะไรท่านจึงวิตกถึง(คิดถึง)เรื่องนั้น เมื่อวิตกขึ้นแล้วท่านก็วางเฉย
เมื่อเหตุการณ์อะไรจะเกิดมันก็เกิดขึ้น เมื่อมันไม่มีมันก็จะไม่เกิด
เมื่อมันเกิดขึ้นเรื่องนั้น แน่นอนที่สุด เป็นจริงทุกอย่าง
สายท่าขนุน
08-02-2010, 22:56
ไม่เหมือนคนเราในสมัยนี้ ทำฌาน ทำสมาธิยังไม่ทันจะเกิด เอาความอยากไปข่มแล้ว
ความอยากจะเห็น อยากรู้นั้นต่าง ๆ นานา เมื่อมันไม่เห็นสิ่งที่ตนต้องการ ก็เลิกล้มความเพียรเสีย
หาว่าตนไม่มีบุญวาสนาอะไรไปต่าง ๆ นานา ความจริงตนกระทำนั้นมันถูกหนทางแล้ว
มันได้แค่นั้นก็นับว่าดีอักโขแล้ว พึงยินดีพอใจกับที่ตนได้นั้นก็ดีแล้ว
จะไปแข่งบุญวาสนากับท่านที่ได้บำเพ็ญมาแต่ก่อนไม่ได้
แข่งเรือแข่งพายยังพอแข่งได้ แข่งบุญวาสนานี้ไม่ได้เลยเด็ดขาด
บางท่านบำเพ็ญเพียรมาสักเท่าไร ๆ นิมิตแลความรู้ต่าง ๆ ไม่เกิดเลย
ทำไม่ท้อถอย ท่านสามารถบรรลุผลได้เหมือนกัน
ท่านที่ได้จตุปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ กับผู้ที่ท่านไม่ได้เลย
ถึงพระนิพพานแล้วก็เป็นอันเดียวกัน ไม่เห็นแตกต่างกันตรงไหน
สายท่าขนุน
11-02-2010, 21:50
คำบริกรรมนี้ ถ้าผู้ภาวนายังไม่ชำนาญ ต้องถือเป็นหลัก ภาวนาครั้งใดต้องใช้คำบริกรรมเสียก่อน
จะภาวนาโดยไม่ใช้คำบริกรรมไม่ได้ คำบริกรรมที่ดีที่สุด คือ มรณานุสติ
พิจารณาความตายแล้วไม่มีอะไรเหลือหลอ
ถ้าผู้ภาวนาชำนาญแล้วจะพิจารณาอะไรก็ได้ หรือจะไม่ใช้คำบริกรรมเลยก็ได้
ที่พิจารณาเอาแต่อารมณ์ของกรรมฐานเลยก็ได้ จิตมันจะมารวมเอง
สายท่าขนุน
11-02-2010, 21:53
คำบริกรรมนี้ เมื่อบริกรรมไปนาน ๆ เข้าชักจะขี้เกียจ ไม่อยากพิจารณาเสีย
จะเอาแต่ความสงบอย่างเดียว เพราะเข้าใจว่าตนเก่งพอแล้ว
แท้จริงนั้นคือความประมาท ถึงแม้วิปัสสนาก็ไม่พ้นจากมรณานุสตินี้เหมือนกัน
แต่วิปัสสนาพิจารณาให้เห็นแจ้งชัดทั้งที่เกิดขึ้น แลดับไป ด้วยเหตุปัจจัยนั้น ๆ ของสิ่งทั้งปวง
ส่วนฌาน แลสมาธินั้น พิจารณาเหมือนกันแต่เห็นบางส่วน
ไม่เห็นแจ้งชัดตลอดพร้อมด้วยเหตุปัจจัยของมัน
แต่ผู้ภาวนาทั้งหลายก็เข้าใจว่าตนเห็นตลอดแล้ว
สายท่าขนุน
17-02-2010, 20:35
ตัวอย่าง ดังยายแก่คนหนึ่งภาวนา บอกว่าตนเห็นตลอดแล้ว
ทุกอย่างมันเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น แม้แต่ตัวของเรานี้ก็จะต้องแตกดับ
แกภาวนาจนรับประทานอาหารอยู่ จิตรวมเข้าภวังค์จนลืมรับประทานอาหาร
นั่งตรงมองอยู่เฉย ๆ ต้มน้ำร้อนถวายพระ นั่งเฝ้ากาน้ำร้อนอยู่จนน้ำร้อนเดือดแห้งหมด
วันหนึ่ง แกนั่งภาวนาอยู่ ปรากฏว่าตัวแกไปนอนขวางทางรถยนต์อยู่
ขณะนั้นปรากฏว่ารถยนต์วิ่งปรูดมา แกก็คิดว่าตายแล้วเวลานี้ ในใจบอกว่าตายเป็นตาย
ที่ไหนได้ พอรถวิ่งมาใกล้ ๆ จวนจะถึงจริง ๆ แกลุกขึ้นทันที
นี่แหละ..ความถือว่าตัวตนเข้าไปลี้อยู่ลึกซึ้งมาก
ขนาดภาวนาจิตรวมเข้าจนไม่รู้ตัวภายนอกแล้ว ความถือภายในมันยังมีอยู่
สายท่าขนุน
17-02-2010, 20:38
มรณานุสสติ
ต้องพิจารณาให้ชำนิชำนาญ แลพิจารณาให้บ่อย ๆ จนให้เห็นความเกิดขึ้น แลความดับ
เมื่อดับไปแล้วมันไปเป็นอะไร จนเห็นเป็นสภาพธรรมดา ตามเป็นจริงของมัน
จนเชื่อมั่นในใจของตนเองว่าเราจะไม่หวั่นไหวต่อความตายละ
สายท่าขนุน
22-02-2010, 20:01
กายแลจิต หรือรูปกับนามก็ว่า แยกกันเกิด แลแยกกันดับ
ฉะนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อท่านมีทุกขเวทนาทางกาย
ท่านจึงแยกจิตออกจากกาย แล้วจึงเป็นสุข
สายท่าขนุน
22-02-2010, 20:08
เมื่อจะเกิด สัมภาวะธาตุของบิดามารดาประสมกันก่อน หรือเรียกว่าน้ำเชื้อ
หรือเรียกว่าสเปอร์มาโตซัวกับไข่ประสมกันก่อน แล้วจิตปฏิสนธิจึ่งเข้ามาเกาะ
ถ้าธาตุของบิดามารดาประสมกันไม่ได้สัดส่วนกัน เช่น อีกฝ่ายหนึ่งเสีย
เป็นต้นว่า มันแดง หรือ สีมันไม่ปกติ ก็ประสมกันไม่ติด แล้วปฏิสนธิจิตก็ตั้งไม่ติด
เรียกว่า รูปเกิดก่อน แล้วจิตจึงมาเข้าปฏิสนธิภายหลัง
สายท่าขนุน
03-03-2010, 20:12
เวลาดับ จิตดับก่อน กายจึงดับภายหลัง
พึงเห็นเช่นคนตาย จิตดับหมดความรู้สึกแล้ว แต่กายยังอุ่น เซลล์หรือประสาทยังมีอยู่
คนตายแล้วกลับฟื้นคืนมา ยังใช้เซลล์หรือประสาทนั้นได้ตามเดิม
เมื่อจิตเข้ามาครองร่างกายอันนี้แล้ว จิตจึงเข้าไปยึดร่างกายอันนี้หมดทุกชิ้นทุกส่วน
ว่าเป็นของกู ๆ แม้ที่สุด ร่างกายอันนี้จะแตกดับตายไปแล้ว
มันก็ยังถือว่าของกู ๆ ๆ อยู่นั่นเอง
พึงเห็นเช่นพวกเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ได้เสวยกรรมตายที่ตนได้กระทำไว้แต่ยังเป็นมนุษย์อยู่
ไปเกิดเป็น อทิสมานสกาย เช่น ภูต ผี ปีศาจ หรือเทวบุตร เทวดา เป็นต้น
เมื่อเขาเหล่านั้นจะแสดงให้คนเห็น ก็จะแสดงอาการที่เคยเป็นอยู่แต่ก่อนนั้นแหละ
เช่น เคยทำชั่ว จิตใจเศร้าหมอง กายสกปรก
หรือเคยทำความดี จิตใจสะอาด ร่างกายงดงามสมบูรณ์
ก็จะแสดงอย่างนั้น ๆ ให้คนเห็น
สายท่าขนุน
03-03-2010, 20:16
แม้ที่สุดสัตว์ตายไปตกนรก ก็แสดงภูมินรกนั้นให้คนเห็นชัดเจนเลยทีเดียว
แต่แท้จริงแล้วภพภูมิของเหล่านั้น มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้ดอก
เพราะเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตกับกรรมที่เขาได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น
มนุษย์คนเรานี้เกิดมาแล้ว มายึดถือเอาร่างกายอันนี้ว่าเป็นของกู
มันแน่นหนาลึกซึ้งถึงขนาดนี้
ท่านผู้ฉลาดมาชำระจิตด้วยการทำสมาธิภาวนา ให้จิตสะอาดบริสุทธิ์แล้ว
จนเข้าถึงความเป็นกลางได้ ไม่มีอดีต อนาคต วางเฉยได้
เข้าถึงใจนั่นแลจึงพ้นจากสรรพกิเลสทั้งปวงได้
สายท่าขนุน
08-03-2010, 20:17
สมาธิ เป็นเรื่องของจิต แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องของวาจา แลกายด้วย
เพราะจิตมีแล้ว กายแลวาจา จะต้องมี เมื่อจิตมีแล้ว ความวิตกคือ วาจา จะต้องมี
ความวิตกนั้นและวาจามีแล้ว มันจะต้องวิ่งแส่ส่ายไปในรูปธรรม
ที่เป็นของสัตว์ และมนุษย์ทั้งหลาย แลสิ่งสารพัดวัตถุทั้งปวง
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ จิตจะหาที่เกาะเกี่ยวไม่ได้
จิตของคนเรา ไม่ว่าหยาบ และละเอียด นับแต่กามาพจรภูมิ รูปาพจรภูมิ แลอรูปาพจรภูมิ
ต้องมีรูปธรรมเป็นเครื่องอยู่ด้วยกันทั้งนั้น มีอาตนะ ภายในภายนอก
มีสัมผัสอยู่เป็นนิจ มีผู้รู้อยู่เสมอ
แม้แต่อรูปาพจรจิต ก็มีอรูปจิตนั้นแหละเป็นเครื่องอยู่
อรูปจิตนี้ผู้ได้อรูปฌานแล้ว จะเห็นอรูปจิตด้วยอายตนะภายในของตนเองอย่างชัดทีเดียว
สายท่าขนุน
08-03-2010, 20:19
อายตนะภายใน ในที่นี้มิได้หมายเอาอายตนะภายในคือ หู ตา จมูก ลิ้น กายแลใจ อย่างที่ท่านแสดงไว้นั้น
แต่หมายเอาอายตนะภายในของใจ คือ หมายเอาผู้ละ อายตนะภาย ใน มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้หมดแล้ว
แต่ยังมีอายตนะภายในของใจยังมีอยู่อีก อย่างที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส อันเป็นทิพย์
เช่น เมื่อตาเห็น ก็มิได้เอาตาธรรมดานี้ไปเห็น แต่เอาตาของใจไปดู
รูปที่ตาของใจเห็นนั้น ก็มิใช่รูปที่ตาธรรมดาเห็นอยู่นี้ แต่เป็นรูปที่ตาใจเห็นต่างหาก
เสียง กลิ่น รส สัมผัส แลอารมณ์ ก็เหมือนกัน
สายท่าขนุน
12-03-2010, 16:21
อายตนะภายในของใจนี้ เมื่อสัมผัสเข้าแล้ว
จะซาบซึ้งยิ่งกว่าอายตนะภายในดังที่ว่ามานั้นมากเป็นทวีคูณ
แลจะสัมผัสเฉพาะตนเองเท่านั้น คนอื่นหารู้ได้ไม่
อายตนะภายในของจิตนี้พูดยาก
ผู้ไม่ได้ภาวนาจนเห็นจิตใจของตนเสียก่อนแล้ว จะพูดเท่าไร ๆ ก็ไม่เข้าใจ
จะใช้ภาษาคำพูดของคนเราธรรมดาเป็นสื่อสารนี้ยาก
จะเข้าใจไม่ได้ ต้องใช้อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบจึงจะพอเข้าใจได้
สายท่าขนุน
12-03-2010, 16:26
เหตุนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายผู้ไม่ชำนาญในการปฏิปทา จึงปฏิบัติไม่ค่อยลงรอยกัน
ทั้ง ๆ ที่ปฏิบัติใช้คำบริกรรมอย่างเดียวกัน
ถ้าเป็นพระคณาจารย์ผู้ใหญ่เสียแล้ว มีลูกศิษย์ลูกหามาก ๆ ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย
ฉะนั้นจึงควรยึดเอาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่ตั้ง
เราปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่
แบบตำราเป็นบรรทัดเครื่องวัดให้เราดำเนินตาม มิใช่ต่างคนต่างปฏิบัติ
พุทธศาสนาคำสอนอันเดียวกัน พระศาสดาองค์เดียวกัน
แต่สาวกผู้ปฏิบัติไปคนละทางกัน
เป็นที่น่าอับอายขายขี้หน้าอย่างยิ่ง
สายท่าขนุน
23-03-2010, 19:39
อายตนะภายในที่ว่ามานี้ มันเป็นของหลอกลวงเหมือนกัน จะเชื่อมันเป็นของจริงเป็นของจังทั้งหมดไม่ได้ ของทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้จะต้องเป็นของจริงบ้าง ของปลอมบ้าง ด้วยกันทั้งนั้น
สรรพสังขารทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด ไม่ว่าสิ่งสารพัดวัตถุ สัตว์ มนุษย์ ทั้งปวง ล้วนแล้วแต่เป็นของหลอกลวงกันทั้งนั้น
สายท่าขนุน
23-03-2010, 19:42
โลก คือ จิต ของคนเรา มาหลอกลวงจิตให้หลงในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง
แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงมายาเท่านั้น เกิดมาแล้วก็สลาย แตกดับไปเป็นธรรมดาของมัน
เช่น มนุษย์เกิดมาจากธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเป็นก้อนอันหนึ่ง เขาเรียกกันว่า ก้อนธาตุ
จิตมนุษย์เข้าไปยึดถือเอา จึงสมมติเรียกว่า เป็นมนุษย์ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นหนุ่ม เป็นสาว
แต่งงานกันมีลูกออกมา หลงรักหลงใคร่
แล้วก็โกรธเกลียดชังกัน เบียดเบียน ฆ่าฟัน อิจฉาริษยา ซึ่งกันและกัน
ส่วนอาชีพการงานก็เหมือนกัน เกิดมาในโลกกับเขาแล้วจะไม่ทำก็อยู่กับเขาไม่ได้
ต้องกระทำ ทำมาค้าขาย หรือกสิกรรมกสิกร หรือเป็นข้าราชการ
ทำไปจนวันตายก็ไม่จบไม่สิ้น คนนี้ตายไปแล้วคนใหม่เกิดมาตั้งต้นทำอีก
ยังไม่ทันหมดทันสิ้นก็ตายไปอีกแล้ว
สายท่าขนุน
28-03-2010, 22:46
ตราบใดโลกนี้ยังมีอยู่ มนุษย์คนเราก็เกิดมาทำอยู่อย่างนี้ร่ำไปทุก ๆ คน
เมื่อตายไปแล้วก็ไม่มีใครหอบเอาสิ่งที่ตนกระทำไว้นั้นไปด้วยสักคนเดียว
แม้แต่ร่างกายก็ทอดทิ้ง เว้นแต่ กรรมดี แลกรรมชั่ว ที่ตนทำไว้เท่านั้น
ที่ตามจิตใจของตนไป
โลกจิต ที่มีวิญญาณครองยังหลอกจิตได้ ไม่เห็นแปลกอะไรเลยแม้ที่สุด
โลกที่หาวิญญาณครองไม่ได้ ก็ยังหลอกจิตเลย
เราจะเห็นได้จากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น ป่า ดง พงไพร ต้นไม้ประกอบด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด
เกิดในดงงดงาม เขียวชะอุ่ม ประกอบด้วยกิ่ง ก้าน ดอก ผล
เป็นช่อระย้าเรียงลำดับเป็นระเบียบเรียบร้อย ยิ่งกว่าคนเอาไปประดับตกแต่งไว้
ใครเห็นแล้วก็นิยมชมว่าสวยงาม
ส่วนผาเล่า ก็มีชะโงกเงื้อมงุ้ม เป็นตุ่มเป็นต่อม มีชะง่อน ชะเงื้อม เพิงผา
ดูน่าอัศจรรย์ เป็นหลั่นเป็นถ้องแถวดังคนเอามาเรียงลำดับให้วิจิตรงดงาม
สายท่าขนุน
28-03-2010, 22:48
ส่วนแม่น้ำลำธารซึ่งตกลงแต่ที่สูงแล้วก็ไหลลงสู่ที่ต่ำ
เป็นลำธารมีแง่มีมุม เป็นลุ่มเป็นดอน มีน้ำไหลวนเวียน
มีหมู่มัจฉาปลาหลากหลายพันธุ์ว่ายวนเป็นหมู่ ๆ
ดูแล้วก็จับใจ ดูไปเพลินไป ทำให้ใจหลงใหลไปตาม ๆ กัน
ดูแล้วเหมือนของเหล่านั้นจะเป็นจริงเป็นจัง
เดี๋ยว ๆ ของเหล่านั้นก็อันตรธาน หายจากความทรงจำของเรา
หรือมิฉะนั้นคนเราก็จักต้องอันตรธาน หายจากสิ่งเหล่านั้น
ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในโลกนี้สักอันเดียว เป็นอนิจจังทั้งสิ้น
สายท่าขนุน
31-03-2010, 19:43
เมื่อของในโลกนี้เป็นของหลอกลวงได้ ธรรม ธรรมที่เป็นโลกีย์ ก็หลอกลวงได้เหมือนกัน
เราจะเห็นได้จากการนั่งสมาธิภาวนา เมื่อจิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ ตกใจผวา เหมือนกับมีคนมาผลัก
บางทีมีเสียงเปรี้ยงเหมือนเสียงฟ้าผ่าลงมาก็มี บางทีกายของเราแตกออกเป็นซีก ๆ ก็มี
บางทีมีแสงสว่างจ้าขึ้นมาเห็นสิ่งต่าง ๆ เข้าใจว่าเป็นจริงเป็นจัง
พอลืมตาขึ้นหายหมด สารพัดแต่มันจะเกิด
บางทีพอจิตจะรวมเข้าไป ปรากฏเห็นภูต ผี ปิศาจ ทำเป็นหน้ายักษ์ หน้ามารมา
เลยกลัววิ่งหนี เลยเสียสติเป็นบ้าไป
ก็มีธรรมที่ยังเป็นโลกีย์อยู่ ก็หลอกลวงได้ เช่นเดียวกับโลก ๆ เรานี้แหละ
สายท่าขนุน
31-03-2010, 19:45
บางทีเราพิจารณาร่างกายอันนี้ให้เป็นอสุภะ
เมื่อใจเราน้อมเชื่อมั่นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันเลยเกิดอสุภะขึ้นมา
เปื่อยเน่าเฟะไปทั้งตัวเลย
แต่แท้ที่จริงแล้ว ร่างกายมันก็เป็นอสุภะธรรมดา ๆ เท่าที่มันมีอยู่นั่นแหละ
แต่เราเข้าใจผิด หลงไปเชื่อตามจิตมันหลอก เลยหลงเชื่อว่าเป็นอสุภะจริง ๆ
ไปยึดถือเอาจนเหม็นติดไม้ติดมือติดตัว ไปไหนก็มีแต่กลิ่นอสุภะทั้งนั้น
สายท่าขนุน
04-04-2010, 01:35
จิตที่เราฝึกหัดให้เข้าถึงธรรมแล้ว แต่ธรรมนั้นมันยังเป็นโลกียะอยู่ มันหลอกได้เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าจึงเทศนาว่า จิตหลอกจิต เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าจิตหลอกจิต
เรื่องเหล่านี้ มันยากเหมือนกัน ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของจิต เรื่องของใจ
จิต กับ ใจ มันคนละอันกัน ดังภาษาชาวบ้านที่พูดกันว่า ใจ ๆ นั่นแหละ
ใจ เขาหมายเอาของที่เป็นกลางกลางอะไรทั้งหมดที่เป็นของกลางแล้ว เขาเรียกว่า ใจ ทั้งนั้น
สายท่าขนุน
04-04-2010, 01:36
คราวนี้มาพูดถึงเรื่อง จิต คือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
สัญญา อารมณ์ร้อยแปดพันเก้า ไม่มีที่สิ้นสุด นั่นเป็นเรื่องของ จิต
ตามความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว จิต กับ ใจ มักจะเป็นอันเดียวกัน
ดังพูดออกมาเมื่อไม่สบายว่า ไม่สบายใจ จิตใจหงุดหงิด ดังนี้ เป็นต้น
ถ้าสบายใจก็บอกว่า จิตใจมันปลอดโปร่งโล่งไปหมด
สายท่าขนุน
06-04-2010, 22:56
จิต แล ใจ แยกออกไว้เป็นคนละส่วนกัน
บางทีท่านก็เรียกว่าจิตเป็นของผ่องใสอยู่เป็นจริง แต่อาคันตุกะกิเลสจรมา ทำให้จิตเศร้าหมองต่างหาก
หรือบางทีท่านก็ว่า จิตเป็นของเศร้าหมอง จิตนี้เป็นของผ่องใส สะอาด หลายอย่างต่าง ๆ นานา
ทำให้ผู้ศึกษาเรื่อง จิต เรื่อง ใจ ยุ่งกันไปหมด
สายท่าขนุน
06-04-2010, 22:57
จิต นี้ถ้าเราจะพิจารณาด้วยสามัญสำนึกแล้ว มันให้คิด ให้นึก ให้ปรุง ให้แต่ง ไปต่าง ๆ นานา
สารพัดร้อยแปดพันอย่าง ยากที่บุคคลจะห้ามให้อยู่ในอำนาจของตนได้
แม้ที่สุดแต่นอนหลับไปแล้ว ยังปรุงแต่งท่องเที่ยวไปเลย อย่างเราเรียกว่า ฝัน
ปรุงแต่งไปทำธุรกิจการงานต่าง ๆ ทำสวน ทำนา ไปค้าขาย หาเงิน หาทอง อาชีพต่าง ๆ
หรืออาฆาตบาดหมางฆ่าฟันกัน เป็นต้น
สายท่าขนุน
08-04-2010, 20:16
สังเกตว่ากระทู้นี้ จะมีขาประจำเพียงไม่กี่ท่านที่อ่านทันทีสม่ำเสมอ
นอกนั้น เห็นว่าค่อย ๆ ทยอยเข้ามาอ่านอย่างช้า ๆ
จึงไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะพิมพ์มากเกินไปหรือถี่เกินไป แต่ละคราว หรือเปล่า
หรือเป็นเพราะบทความนี้ เป็นที่แพร่หลายมาก ทำให้ได้อ่านกันอยู่แล้ว
หากท่านใด มีข้อคิดเห็นต่อการลงบทความนี้...
ขอให้ช่วยเมตตาบอกกล่าวกันแนะนำกันบ้าง:onion_love:
นอกจากนี้ จะขอแนะนำให้อ่านบทความนี้จากกระทู้นี้:8f337f1c:
...ไม่เพียงเพราะยายสายที่นำบทความมาลง ได้ประโยชน์มากมายเท่านั้น
แต่ที่กระทู้นี้ ท่านพี่สุธรรมท่านเมตตาตรวจสอบข้อความให้
...อย่างชนิดที่แม้อ่านจากต้นฉบับก็ไม่สามารถเทียบได้
ดังตัวอย่างด้านล่าง
จึงขอกราบขอบพระคุณท่านพี่เป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ:875328cc:
บทความที่นำมาลงเพิ่งผ่านไปได้ประมาณ ๑ ใน ๔ เท่านั้น
ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการค่อย ๆ ซึมซาบข้อพระธรรม...
แนะนำให้ค่อย ๆ ทยอยอ่านไปเรื่อย ๆ:onion_wink: ก็จะไม่สมทบกันมากเกินไป อาจทำให้รู้สึกลังเลที่จะอ่านได้
เมื่อต้องการจะรู้จะเห็นเหตุการณ์อะไรท่านจึงวิตกถึง(คิดถึง)เรื่องนั้น เมื่อวิตกขึ้นแล้วท่านก็วางเฉย
คำอธิบายเพิ่มเติม
ที่ไหนได้ พอรถวิ่งมาใกล้ ๆ จวนจะถึงจริง ๆ แกลุกขึ้นทันที
นี่แหละ..ความถือว่าตัวตนเข้าไปลี้อยู่ลึกซึ้งมาก
ตัดแบ่งวรรคตอน ขึ้นบรรทัดใหม่ทำให้อ่านได้เข้าใจถูกต้องดีขึ้น
ถ้าธาตุของบิดามารดาประสมกันไม่ได้สัดส่วนกัน เช่น อีกฝ่ายหนึ่งเสีย
เป็นต้นว่า มันแดง หรือ สีมันไม่ปกติ ก็ประสมกันไม่ติด แล้วปฏิสนธิจน(เอาคำว่า "จน" ออกไป)จิตก็ตั้งไม่ติด
ต้นฉบับพิมพ์ผิด แต่คนนำมาลงไม่ทราบว่าผิด
จิตของคนเรา ไม่ว่าหยาบ และละเอียด นับแต่กามาพจรภูมิ รูปาพจรภูมิ แลอรูปาพจรภูมิ
ต้องมีรูปธรรมเป็นเครื่องอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
ต้นฉบับพิมพ์ไม่ครบ และคนนำมาลงไม่สังเกตเห็น
บางทีเราพิจารณาร่างกายอันนี้ให้เป็นอสุภะ
เมื่อใจเราน้อมเชื่อมั่นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันเลยเกิดอสุภะขึ้นมา
เสริมรูปประโยคให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น (ต้นฉบับอาจพิมพ์ตกหล่น)
สายท่าขนุน
12-04-2010, 18:38
ถ้าเราฝึกหัด จิต ของตนที่ดิ้นรนนี้ให้สงบอยู่เป็นหนึ่งได้แล้ว
เราจะมองเห็นจิตที่เป็นหนึ่งนั้น เป็นหนึ่งอยู่ต่างหาก
กิเลส มีโทสะ เป็นต้นนั้น อยู่อันหนึ่งต่างหาก
จิต กับ กิเลส มิใช่อันเดียวกัน
ถ้าอันเดียวกันแล้ว ใครในโลกนี้จะทำให้บริสุทธิ์ได้
จิต เป็นผู้ไปปรุงแต่งเอา กิเลส มาไว้ที่จิตต่างหาก
แล้วก็ไม่รู้ว่าอันใดเป็นจิต อันใดเป็นกิเลส
พระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสว่า
จิตฺตํ ปภสฺสรํ อาคนฺตุเกหิ กิเลเสหิ
จิตเป็นของผ่องใสอยู่ทุกเมื่อ กิเลสเป็นอาคันตุกะจรมาต่างหาก
นี้ก็แสดงว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดแล้ว
สายท่าขนุน
12-04-2010, 18:40
ของในโลกนี้ต้องประสมกันทั้งหมดจึงเป็น โลก ของอันเดียวมีแต่ ธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ผู้เห็นธรรมเป็นของหลายอย่างต่าง ๆ กัน ผู้นั้นได้ชื่อว่ายังเข้าไม่ถึงธรรม
นัยหนึ่ง เหมือนกับน้ำเป็นของใสสะอาด เมื่อบุคคลนำเอาสีมาประสม ย่อมมีสีต่าง ๆ เช่น เอาสีแดงมาประสมน้ำก็เลยเป็นสีแดงไป เมื่อเอาสีดำมาประสมน้ำก็เลยเป็นสีดำไป สุดแท้แต่จะเอาสีอะไรมาประสม น้ำก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นสีนั้น ๆ แท้จริงแล้วน้ำเป็นของใสสะอาดอยู่ตามเดิม
หากผู้มีปัญหา สามารถกลั่นกรองเอาน้ำออกมาได้ น้ำก็ใสสะอาดเป็นปกติอยู่ตามเดิม สีเป็นเครื่องประสมน้ำให้เป็นไปต่าง ๆ
สายท่าขนุน
20-04-2010, 18:35
น้ำ เป็นของมีประโยชน์มาก สามารถชำระของสกปรกสิ่งโสโครกทั้งปวงให้สะอาดได้ ความสะอาดของตนมีอยู่แล้ว ยังสามารถแทรกซึมเข้าไปในสิ่งโสโครกทั้งปวง ชำระเอาสิ่งโสโครกเหล่านั้นออกมาได้ นี่ก็ฉันใด
ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมสามารถกลั่นกรองเอาจิตของตนที่ปะปนกับกิเลสออกมาได้ฉันนั้น
สายท่าขนุน
20-04-2010, 18:37
คราวนี้มาพูดกันถึงเรื่อง จิต กับ ใจ ให้เข้าใจกันก่อน
จึงค่อยพูดกันถึงเรื่องกิเลส อันเกิดจากจิตต่อไป
จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง สังขาร สัญญาอารมณ์ทั้งหมด เกิดจากจิต
เมื่อพูดถึงจิตแล้วไม่นิ่งเฉยได้เลย แม้ที่สุดเรานอนอยู่ก็ปรุงแต่งไปร้อยแปดพันเก้า
อย่างที่เราเรียกว่า ฝัน นั่นเอง
จิต ไม่มีการนิ่งเฉยได้ จิตนอนหลับไม่เป็น แลไม่มีกลางคืน กลางวันเสียด้วย
ที่นอนหลับนั้นมิใช่จิต กายต่างหาก มันเหนื่อยจึงพักผ่อน
จิต เป็นของไม่มีตัวตน แทรกซึมเข้าไปอยู่ได้ในที่ทุกสถาน
แม้แต่ภูเขาหนาทึบก็ยังแทรกเข้าไป แทรกทะลุปรุโปร่งได้เลย
จิต นี้มีอภินิหารมาก เหลือที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดได้
สายท่าขนุน
27-04-2010, 20:14
ใจ คือผู้เป็นกลาง ๆ ในสิ่งทั้งปวงหมด ใจก็ไม่มีตัวตนอีกนั่นแหละ
มีแต่ผู้รู้อยู่เฉย ๆ แต่ไม่มีอาการไป อาการมา อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี บุญแลบาปก็ไม่มี นอกแลในก็ไม่มี
กลางอยู่ตรงไหน ใจก็อยู่ตรงนั้น ใจ หมายความเป็นกลาง ๆ
ดังภาษาชาวบ้านเขาเรียกกันว่า ใจมือ ก็หมายเอาท่ามกลางมือ ใจเท้า ก็หมายเอาท่ามกลางเท้า
แม้ที่สุดเมื่อถามถึงใจคนเราก็ต้องชี้เข้าท่ามกลางหน้าอก
แต่แท้จริงแล้วที่นั่นไม่ใช่ใจ นั่นเป็นแต่หทัยวัตถุ
เครื่องสูบฉีดเลือดที่เสียแล้วกลับเป็นของดีให้ไปหล่อเลี้ยงสิ่งต่าง ๆ ในสรรพางค์ร่างกายเท่านั้น
ตัว ใจแท้ มิใช่วัตถุ เป็นนามธรรม
สายท่าขนุน
27-04-2010, 20:17
จิต กับ ใจ โดยความหมายแล้วก็อันเดียวกัน ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า
จิตอันใด ใจก็อันนั้น ใจอันใด จิตก็อันนั้น
จิต กับ ใจ เป็นไวพจน์ของกันแลกัน ดังพุทธภาษิตว่า จิตตํ ทนตํ สุขาวหํ
จิตที่ฝึกหัดดีแล้วนำความสุขมาให้ หรือ
มโนปุพพํ คมาธมมา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน เป็นต้น
แต่โดยส่วนมากท่านจะพูดถึงเรื่องจิตเป็นส่วนมาก
เช่น เรื่องพระอภิธัมม์จะพูดแต่เรื่องจิตเจตสิกทั้งนั้น
จะเป็นเพราะจิตทำงานมากกว่าใจ ไม่ว่าจะเรื่องของกิเลส
หรือเรื่องของการชำระกิเลส (คือปัญญา) เป็นหน้าที่ของจิตทั้งนั้น
กิเลสมิใช่จิต จิตไม่ใช่กิเลส
แต่จิตไปยึดเอากิเลสมาปรุงแต่งให้เป็นกิเลส
ถ้าจิตกับกิเลสเป็นอันเดียวกันแล้ว
ใครในโลกนี้จะชำระกิเลสให้หมดได้
สายท่าขนุน
05-05-2010, 02:08
จิต แล กิเลส เป็นแต่นามธรรมเท่านั้น หาได้มีตัวมีตนไม่
จิตที่ส่งไปทางตา หู เป็นต้น ก็มิใช่ตา หู เป็นกิเลส แต่จิตกระทบกับอายตนะจึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลสเท่านั้น
เมื่อตาเป็นต้น กระทบกับรูป ให้เกิดความรู้สึกแล้วความรู้สึกนั้นก็หายไป
จิตไปตามเก็บเอาความรู้สึกนั้นมาเป็นอารมณ์จึงเกิดกิเลส ดีแลชั่ว รักแลชัง ต่างหาก
ผู้ไม่เข้าใจ ไปหลงว่าจิตเป็นกิเลส ไปแก้แต่จิต ตัวกิเลสไม่ไปแก้ ไม่ไปแยกเอาจิตให้ออกจากกิเลส
อย่างนี้แก้เท่าไร ๆ ก็แก้ไม่ออก เพราะแก้ไม่ถูกจุดสำคัญของจิต
จิตไปหลงยึดเอาสิ่งสารพัดวัตถุเครื่องใช้ต่าง ๆ มาเป็นของกู ๆ ติดมั่นอยู่ในสิ่งนั้น ๆ มันเลยเป็นกิเลส
สายท่าขนุน
05-05-2010, 02:16
เป็นต้นว่า เรือกสวน ไร่นา ทรัพย์สิน เงินทอง วัตถุต่าง ๆ
แม้ที่สุดแต่บุตร ธิดา สามี ภรรยา พี่ ป้า น้า อา เป็นที่สุด ว่าเป็นของกู ๆ จิตเลยเป็นกิเลส
แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นอยู่อย่างไร มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
มันหาได้ไปเป็นตามความหลงยึดมั่นถือมั่นของเราไม่
ดังภรรยาสามีของเรา หลงยึดมั่นถือมั่น สำคัญว่าเป็นของเราจริง ๆ
ราวกับว่าเอาหัวใจของเขามาไว้ในหัวใจของเราเลยทีเดียว
เวลาเขาคิดจะทำมิจฉาจาร เขาไม่ได้บอกเราเลยสักนิดเดียว
พอรู้เรื่องเราเกิดความทุกข์ระทมใจแทบตาย
นี่ก็เพราะ ความหลง ไม่เห็นตามความเป็นจริงของมันนั่นเอง
ยิ่งเป็นสิ่งที่หาวิญญาณไม่ได้เสียแล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่
เช่น เพชร นิล จินดา ราคามาก ๆ เก็บใส่ตู้ใส่หีบไว้แน่นหนา กลัวขโมยจะมาลักเอาไป
แต่ตัวมันเองหาได้รู้สึกอะไรไม่ ใครมาลักมาขโมยเอาไปก็ไม่มีความรู้สึก
จะโวยวายก็ตัวเจ้าของผู้ไปยึดมั่นถือมั่นนี้ต่างหาก
กิเลสตัวผู้ยึดถือนี้มันช่างร้ายกาจจริง ๆ
ไม่ว่าอะไรทั้งหมด มันเข้าไปยึดถือเอาเลย แล้วก็ฝังตัวรุกเข้าไปจนถอนไม่ขึ้น
สายท่าขนุน
10-05-2010, 19:33
จิต ใจ แล กิเลส มีความหมายดังได้อธิบายมานี้
จิต ผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมไว้ให้ดีแล้ว มีแต่จะนำให้กิเลสมาทับถมถ่ายเดียว
ตรงกันข้าม ถ้าผู้ได้ฝึกฝนอบรม จิต ไว้ดีแล้ว ก็จะเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาล
เพราะจิตเป็นผู้แส่ส่ายแสวงหากิเลสใส่ตัวเอง
พร้อม ๆ กันนั้น ก็เป็นผู้แสวงหาปัญญามาให้ตัวอีกด้วย
สายท่าขนุน
10-05-2010, 19:37
บ่อเกิดกิเลสของจิต ก็ไม่พ้นจากอายตนะทั้ง ๖ ซึ่งจิตเคยใช้อยู่ประจำแล้ว
อายตนะทั้ง ๖ นี้ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของจิต เท่ากับแก้วสารพัดนึกของจิตก็ว่าได้
จะใช้ให้ไปดูรูปที่สดสวยงดงามสักปานใดก็ได้ ตา ก็ไม่อั้น ตามัว ตาเสีย ไปหาแว่นมาใส่ก็ยังได้
หู ก็ยิ่งใช้ได้ดีใหญ่เลย ตาหลับแล้วหูยังได้ฟัง ได้ยินสบายเลย
จมูก ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องไปยืมเอาตา แลหู มาดมกลิ่นแทน
แต่จมูกจะต้องรับหน้าที่คนเดียว ดมกลิ่นเหม็น กลิ่นหอมด้วยตนเองทั้งนั้น
ลิ้น ก็ไม่ต้องเกี่ยวให้ตา หู จมูกมาทำหน้าที่รับรสแทนเลย
พอป้อนอะไรเข้าในปากเท่านั้นแหละ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ลิ้นจะต้องรับหน้าที่รับรู้ว่า
รสเผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยว อร่อย แลไม่อร่อยทันที
กาย ก็รับรู้ว่าสัมผัสอันนี้นิ่มนวล อ่อน แข็ง อะไรต่าง ๆ
ยิ่ง ใจ แล้ว มโนสัมผัส รู้ คิดนึกอะไรต่อมิอะไรด้วยตนเอง
ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องด้วยอายตนะทั้ง ๕ หรือ จิตใด ๆ ทั้งสิ้น
เป็นหน้าที่ของใจโดยเฉพาะเลยทีเดียว
สายท่าขนุน
20-05-2010, 14:06
สิ่งทั้ง ๕-๖ นี้เป็นของเก่า เคยรับใช้จิตมานานแล้วจนคล่องแคล่วทีเดียว
แต่ให้ระวังหน่อย ของเก่าเราเคยใช้มา ให้ความสุขสบายมานานนั้นมันอาจทำพิษให้เราเมื่อไรก็ได้
ดังโบราณท่านกล่าวไว้ว่า ข้าเก่า งูเห่า เมียรัก ไม่ควรไว้วางใจ
ของ ๓ อย่างนี้ มันอาจทำพิษให้เราเมื่อไรก็ได้
สายท่าขนุน
20-05-2010, 14:09
เมื่ออธิบายให้เข้าใจถึงเรื่อง จิต แล ใจ พร้อมด้วย กิเลส เครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ผู้ต้องการที่จะกำจัดกิเลสให้พ้น ออกจากจิตของตน
พึงหัดสมาธิให้ชำนาญเสียก่อน จึงแยกจิต แยกกิเลสออกจากกันได้
ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จิตแลกิเลสจะเป็นอันเดียวกันเลย ไม่ทราบว่าจะแยกอย่างไรกันออก
ถ้ามีสมาธิแลชำนาญแล้ว การแยกจิตแลกิเลสออกจากกันจะค่อยง่ายขึ้น
คือ จิตตั้งมั่นในอารมณ์อันเดียวแล้วเรียกว่า สมาธิ สมาธิไม่มีอาการส่งส่ายไปภายนอก
นั้นเป็นที่ตั้งฐานของการต่อสู้กับกิเลสจิต
ที่มันส่งส่ายไปหาอารมณ์ภายนอกนั้น มันส่งส่ายไปหากิเลส
สายท่าขนุน
22-05-2010, 20:02
ถ้าหากเรากำหนดรู้เท่าทันอย่าให้มันไปหมายมั่นสัญญา จดจำแลปรุงแต่ง
ให้มีแต่เพียงรู้เฉย ๆ กิเลสมันก็จะไม่เกิดขึ้น
เพราะจิตนี้กว่าจะเกิดกิเลสขึ้น มันต้องจดจำ ดำริ ปรุงแต่ง มันจึงเกิดขึ้น
ถ้าเพียงแต่รู้เฉย ๆ กิเลสไม่มี เช่น ตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น มันก็ไม่เกิดกิเลสอะไร
สายท่าขนุน
22-05-2010, 20:04
ถ้าตาเห็นรูป จดจำว่าเป็นหญิง เป็นชาย ว่าดำ ว่าขาว สวย แลไม่สวย
แล้วดำริ ปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา มันก็เกิดกิเลสตามเราปรุงแต่ง
จึงมาทับถมจิตเราที่ผ่องใสอยู่แล้วให้เศร้าหมองไป
สมาธิเลยเสื่อม กิเลสเลยเข้ารุมล้อม
หูฟังเสียงก็เช่นเดียวกัน เมื่อหูฟังเสียงก็สักแต่ฟัง
อย่าไปจดจำหรือดำริ ปรุงแต่งในเสียงนั้น ๆ ฟังแล้วก็ผ่านไป ๆ
มันก็จะไม่เกิดกิเลสอะไร
เหมือนกับเราฟังเสียงนก เสียงกา หรือเสียงน้ำตก เป็นต้น
ส่วนอายตนะอื่น ๆ นอกนั้น มีจมูกเป็นต้น ก็ทำนองเดียวกัน
สายท่าขนุน
26-05-2010, 18:26
เมื่อเราฝึกหัดสมาธิให้ชำนิชำนาญแล้ว เวลาอายตนะทั้งหลายมีตาเห็นรูป เป็นต้น
จะกำหนดจิตให้เข้าถึงสมาธิ แล้วจิตก็จะมองเห็นรูปสักแต่ว่ารูปเฉย ๆ
จะไม่จดจำว่ารูปเป็นหญิง เป็นชาย เป็นหนุ่ม เป็นแก่ ขาวแลดำ สวย แลไม่สวย
แล้วก็ไม่ดำริปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา กิเลสก็จะไม่เกิดในที่นั้น ๆ
การชำระจิตอย่างที่ว่ามานี้ เป็นแต่ชำระได้ชั่วคราว เพราะเหตุทำสมาธิให้มั่นคงชำนิชำนาญ
ถ้าสมาธิไม่มีกำลังแล้ว ไม่ได้ผลเลย
ถ้าชำระจิตให้สะอาดหมดจริงจังแล้ว ต้องทำวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
สายท่าขนุน
26-05-2010, 18:29
ฌาน สมาธิ ใช้นามธรรมพิจารณารูปอย่างเดียวกัน
แต่ต่างกันในความหมายแลความประสงค์
ฌาน แลสมาธิ ดังอธิบายมาแล้ว จะอธิบายซ้ำอีกเล็กน้อย เพื่อทวนความจำ
ฌาน พิจารณาด้วยนามธรรม คือ จิต เอาไปเพ่งรูปธรรม คือ เช่น เพ่งร่างกายอันนี้ให้เห็นเป็นธาตุ ๔
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม จิตน้อมเชื่อมั่นว่าตัวของเราเป็นสิ่งนั้นจริง ๆ จนเกิดภาพเป็นดินขึ้นมาจริง ๆ
บางทีตนเองพิจารณาเห็นภาพหลอกลวง ว่าเป็นสิ่งนั้นจริง ๆ จนกลัว
เลยเกิดวิปริตจิตเป็นบ้าก็มี แลยังมีอาการมากกว่านี้อีกแยะ นี้เป็นเรื่องของ ฌาน
สายท่าขนุน
03-06-2010, 23:06
เรื่องของ สมาธิ ก็พิจารณาอย่างนั้นเหมือนกัน แต่พิจารณาเป็น ๒ นัย
คือ ไม่เห็นแต่ภายใน เห็นทั้งภายนอกด้วย เห็นภายใน คือเห็นแบบฌาน
เห็นว่าร่างกายของเราเป็นอสุภะ เปื่อยเน่าเป็นของน่าเกลียด
ความเห็นอีกอันหนึ่งว่ามันจะน่าเกลียดอะไร เราอยู่ด้วยกันมาแต่ไหนแต่ไรมา เราก็ไม่เห็นเป็นอะไร
มันเป็นอสุภะก็ของธรรมดาของร่างกาย มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแต่ไรมาแล้ว
นี่เป็นความเห็นของผู้ฝึกหัดสมาธิ
สายท่าขนุน
03-06-2010, 23:08
เรื่องของ วิทยาศาสตร์ ก็พิจารณาอย่างนั้น พิจารณาจนนิ่งแน่วลงสู่เรื่องนั้นจริง ๆ
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่รู้เรื่องเหล่านั้น เช่น พิจารณากายวิภาค เห็นเรื่องของกายมนุษย์คนเรา
มีชิ้นส่วนประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างนี้ ๆ
แล้วก็บันทึกไว้เป็นตำราเรียนกันต่อ ๆ ไปนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์
ดีเหมือนกัน ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์ เราเกิดมาก็ไม่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้
วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสร้างโลก ของผู้ยังติดอยู่ในโลก ยังไม่เบื่อ
บางคนอายุตั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่อยากตาย ยังขออยู่ไปอีกสัก ๕๐๖๐ ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์สร้างโลกยังไม่จบ ตายไปแล้วคนอื่นเกิดมาสร้างใหม่อีก
ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย มาสร้างโลก อย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น
สายท่าขนุน
16-06-2010, 13:18
นักวิทยาศาสตร์ส่วนมากมักเห็นว่าตายแล้วก็หมดเรื่องไปเรื่องหนึ่ง
หรือเราเคยเป็นอะไร มีวิทยฐานะเช่นไรอยู่ในโลกนี้
ตายไปแล้วก็จะเป็นอยู่อย่างเคยไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นทำกรรมอยู่นั่นเอง
เช่น เขาแต่งมนุษย์เพศชายให้เป็นหญิงได้ ดังนี้ เป็นต้น
เขาเชื่อว่ากรรมคือ ตัวมนุษย์ วิทยาศาสตร์เองเป็นผู้แต่งคน ไม่ใช่กรรม
คือบุญแลบาป เป็นของไม่มีตัวตน ของไม่มีตัวตน
จะมาทำของที่มีตัวตนได้อย่างไร
สายท่าขนุน
16-06-2010, 13:21
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านเหล่านั้น เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม
เราเกิดมาเวียนว่ายตายเกิด นับเป็นอเนกอนันตชาติเพราะกรรมเก่า
เกิดมาใช้กรรมเก่ายังไม่หมดสิ้น ทำกรรมใหม่อีกแล้ว เป็นอย่างนี้ตลอดภพตลอดชาติ
ท่านเรียกว่า วัฏฏะ ๓ เกิดมาเรียกว่า วิปากวัฏฏ์ เกิดจากวิบากของกรรม
เกิดมาแล้วต้องประกอบกรรม ไม่ทำดีก็ทำชั่ว เรียกว่า กัมมวัฏฏ์
การประกอบกรรมมันต้องมีเจตนา เจตนานั้นเป็นกิเลส เรียกว่า กิเลสวัฏฏ์
ผลของกิเลสนั้นเรียกว่า วิปากวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ กลับมาเกิดอีก
วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบจักสิ้นสักที
ผู้รู้ทั้งหลายท่านเห็นโทษของความเกิด เบื่อหน่ายในความเกิด
หาวิธีไม่ให้เกิดอีกด้วยการหัดทำฌาน สมาธิ แลเจริญปัญญา
วิปัสสนา รู้แจ้งแทงตลอด เห็นตามสภาพเป็นตามธรรมดาของมัน
ปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงหมด จิตใจสะอาด
กลายมาเป็นใจ กิเลสตามไม่ทัน
สายท่าขนุน
23-06-2010, 20:04
วิทยาศาสตร์เพ่งพิจารณาจนเห็นชัดแจ้งตามเป็นจริง แต่เป็นรูปธรรม เป็นของภายนอก
แล้วบันทึกเป็นตำราสอนกันต่อ ๆ ไป ส่วนในทางธรรม ต้องฝึกหัดทำ ฌาน สมาธิ แลปัญญาวิปัสสนา
รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้น ๆ ที่เป็นรูปธรรมทั้งเป็นนามธรรมด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์
และไม่สามารถจะบันทึกออกมาเป็นรูปธรรมได้ แต่พูดรู้เรื่องกันได้ในพวกผู้ปฏิบัติด้วยกัน
นักพูดธรรมะจงระวัง พูดถึงเรื่อง ฌาน กลับเป็นสมาธิ แลวิทยาศาสตร์เสีย เลยไม่รู้ตัว
เมื่อพูดถึงเรื่อง สมาธิ เลยกลายเป็นฌาน แลวิทยาศาสตร์ไปฉิบ ของทั้ง ๓ อย่างนี้ใกล้กันมาก
สายท่าขนุน
23-06-2010, 20:08
นักปฏิบัติทั้งหลายใจร้อน เรียกว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือตายก่อนเกิด
ทำความสงบ บริกรรม ภาวนา ใจยังไม่เป็นสมาธิ อยากจะรู้จะเห็นสิ่งต่าง ๆ
เลยนึกปรุงแต่งไปตามมติของตน แลมันก็เป็นตามนั้นจริง ๆ
ถึงแม้ถึงขั้นสมาธิภาวนาแล้ว ผู้ไม่ชำนาญในสมาธิภาวนาของตน
ก็ยังปรุงแต่งไปได้ เลยสำคัญว่าตนเกิดความรู้จากภาวนา
ถ้านักปฏิบัติจริงแล้วจะไม่อยากรู้อย่างนั้น มีแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำสมาธิให้จิตสงบอย่างเดียว
มันจะเกิดความรู้อะไรหรือไม่ก็ตาม ถือว่าสมาธิความสงบเป็นของสำคัญ
สมาธิความสงบมั่นคงดีแล้ว ปัญญาความรู้อะไรต่าง ๆ มันจะไปไหนพ้น
อุปมาเหมือนไฟยังไม่ดับ แสงสว่างแลความร้อนย่อมมี
สายท่าขนุน
02-07-2010, 19:03
ผู้ทำสมาธิมั่นคงดีแล้ว ไม่อะไรทั้งหมด ขยันทำแต่สมาธิ ทั้งกลางวัน แลกลางคืน
ไม่คิดถึงความเหนื่อยยากลำบากอะไร ขอให้ได้สมาธิแล้วก็พอ นั้นได้ชื่อว่า นักปฏิบัติ โดยแท้
ในที่นี้ผู้เขียนอยากจะแสดง ฌาน กับ สมาธิ ให้เห็นความแตกต่างกัน พอเป็นนิทัศน์สักเล็กน้อย
ฌาน แล สมาธิ มิใช่อันเดียวกัน ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านก็แสดงว่า ฌานอันหนึ่ง สมาธิอันหนึ่ง
เพราะท่านแสดงองค์ฌานแลการละก็ต่างกัน ถึงฌาน แลสมาธิ จะใช้คำบริกรรมอย่างเดียวกัน
แต่การพิจารณามันแตกต่างกัน ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว แม้ความรู้ก็ต่างกัน ตัวอย่างเช่น
สายท่าขนุน
02-07-2010, 19:06
พิจารณาความตาย
ฌาน พิจารณาแต่ตาย ๆ อย่างเดียว จนจิตนิ่งแน่ลงเป็นฌาน รวมเข้าเป็นภวังค์
บางทีก็นิ่งเฉยไม่รู้ตัว อย่างนี้เรียกว่า นั่งหลับ ได้เป็นนาน ๆ ตั้งหลายชั่วโมงก็มี
บางทีนิ่งเฉยอยู่ ยินดีกับความสุขสงบของฌานนั้น ๆ ตั้งหลายชั่วโมงก็มี
พูดง่าย ๆ จิตใจที่บริกรรมภาวนานึกน้อมเอาแต่คำบริกรรมนั้นอย่างเดียว
แล้วน้อมเอาจิตนั้นให้เข้าสู่ภวังค์ คือ สุขสงบอย่างเดียว จนจิตเข้าสู่ภวังค์
จะหายหรือไม่หายเงียบก็ตาม เรียกว่า ฌาน
หรือจะพิจารณาของภายนอก เช่น ดิน หรือ น้ำ-ไฟ-ลม ก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เพ่งพิจารณาเพื่อน้อมจิตให้รวมเข้าเป็นภวังค์ทั้งนั้น
แล้วก็ยินดีพอใจกับความสุขสงบอย่างเดียว
สายท่าขนุน
12-07-2010, 18:54
ฌาน แปลว่า เพ่ง คือจะเพ่งเอาดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอารมณ์ ของภายนอก
หรือเอาของภายในกายของตัวเอง หรือจะเพ่งจิตเป็นอารมณ์ก็ตามได้ชื่อว่า เพ่ง ด้วยกันทั้งนั้น
จิตที่เพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ไปเอาอารมณ์อื่นมาเกี่ยวข้อง นั่นแหละ เป็นการข่มกิเลสด้วยฌาน
ฌาน เมื่อจิตถอนออกจากฌานแล้ว กิเลสที่มีอยู่ก็ฟูขึ้นตามเดิม
ท่านอธิบายไว้ชัดเลยว่า ฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑
สายท่าขนุน
12-07-2010, 18:56
เมื่อจะเป็นฌานที่ดี ภวังคุบาท ภวังคจรณะ ภวังคุปัจเฉท
เมื่อเข้าถึงฌานแล้วละกิเลสได้ ๕ คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑
(แท้จริงเป็นเพียงแต่ ข่ม มิใช่ละ) แต่ท่านไม่ได้อธิบายไว้ว่าฌานอะไร ละกิเลสได้เท่าไร
นักปฏิบัติโปรดได้พิจารณาด้วย ถ้าเห็นในที่ใดแล้ว กรุณาบอกไปยังผู้เขียนด้วย ผู้เขียนยินดีฟังเสมอ
สายท่าขนุน
16-07-2010, 18:53
ความรู้อันเกิดจากฌานนั้น ถ้าผู้นั้นเคยได้บำเพ็ญมาแต่ชาติก่อนก็จะเกิดความรู้ต่าง ๆ นานา หลายอย่าง
แต่ความรู้นั้นมักจะเป็นไปในการส่งออกไปข้างนอก โดยมาจับเอาจิตผู้ส่งออกไปรู้
ไม่เหมือนกับตามองเห็นรูป แต่ตาไม่เคยเห็นตาตนเองเลย เช่น รู้เห็นอดีต อนาคตของตนเองแลคนอื่น
ว่าตนเองแลคนนั้นคนนี้เคยมีชาติภูมิเป็นอยู่อย่างนั้น อย่างนี้ เคยมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างนั้นอย่างนี้
แต่ไม่ทราบว่าลำดับภพชาติแลในระหว่างนั้นได้เป็นอะไร ดังนี้เป็นต้น
แต่หาได้รู้รายละเอียดไปถึงตัวเราแลคนนั้นได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้ไปเกิดเช่นนั้นไม่
แลเมื่อจะรู้จะเห็นก็ต้องจิตเข้าถึงภวังค์ มีอาการคล้าย ๆ กับคนจะนอนหลับเคลิ้มไป หรือหายเงียบไปเลย
แล้วเกิดความรู้ขึ้นในขณะจิตเดียวเท่านั้น
สายท่าขนุน
16-07-2010, 18:55
สมาธิ นั้นจะจับเอาคำบริกรรมของฌานดังอธิบายมาแล้วนั้นก็ได้
หรือจับเอาอันอื่นที่มาปรากฏแก่จิตของตนก็ได้ เช่น เดินไปเห็นเขาทำทารุณกรรมแก่สัตว์ เป็นต้น
แล้วจับเอามาพิจารณาจนเห็นชัดแจ้งว่า มนุษย์แลสัตว์เกิดมามีแต่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
สัตว์ตัวน้อยแลมีอำนาจน้อยย่อมเป็นเหยื่อของการเบียดเบียนของสัตว์ตัวใหญ่แลมีอำนาจมากอยู่อย่างนี้
หาได้มีที่สิ้นสุดไม่ ตราบใดโลกนี้ยังเป็นโลกอยู่
แล้วเกิดมีความสลดสังเวชในสัตว์เหล่านั้นพร้อมทั้งตัวของเรา ซึ่งก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งของโลกเหมือนกับเขา
จิตก็สลดหดหู่เหมือนขนไก่ถูกไฟฉะนั้น แล้วก็รวมเข้ามาเป็นสมาธิ
สายท่าขนุน
19-07-2010, 19:24
พูดง่าย ๆ เรียกว่า ฌาน พิจารณาบริกรรมเพ่งพยายามเพื่อให้จิตรวม
เมื่อจิตรวมแล้วก็ยินดีกับสุขสงบของฌานนั้น ไม่อยากพิจารณาธรรมอะไรอีก
สมาธิ ก็พิจารณาเช่นเดียวกัน แต่พิจารณาให้เห็นสิ่งนั้น ๆ ให้เห็นสภาพตามเป็นจริงของมันอย่างไร
จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง มีแต่เพ่งพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของมันก็แล้วกัน
ด้วยอำนาจจิตที่แน่วแน่ในอารมณ์นั้นอันเดียวนั้นแหละ
จิตเลยเป็นสมาธิไปในตัวมีลักษณะเหมือนกับนั่งสงบอยู่คนเดียว แต่จิตยังฟุ้งซ่านอยู่
ขยับออกไปนั่งอยู่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอากาศโปร่งดี จิตใจก็เบิกบาน
แล้วอารมณ์ภายในจิตก็หายหมด ไม่วุ่นวาย ฉะนั้น
สายท่าขนุน
19-07-2010, 19:27
เมื่อมันจะเกิดความรู้อะไรขึ้นมาในที่นั้น มันก็เกิดขึ้นมาอย่างฌานนั้นแหละ แม้นไม่หลงลืมตัว รู้แลเห็นอย่างคนนั่งดูปลาหรืออะไรว่ายอยู่ในตู้กระจกฉะนั้น
แลเมื่อ อย่างพระโมคคัลลานะ ท่านลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต มีปากเท่ารูเข็ม ท่านอดยิ้มไม่ได้ ท่านจึงยิ้มอยู่คนเดียว
หมู่ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงถามท่าน ท่านก็ไม่บอก แล้วบอกว่าท่านทั้งหลายจะรู้เรื่องนี้ในสำนักของพระพุทธเจ้า
เมื่อไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต
มีปากเท่ารูเข็ม กินอะไรเท่าไรก็ไม่อิ่ม”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดีแล้ว ๆ โมคคัลลานะเป็นสักขีของเรา เปรตตัวนี้เราเห็นแต่เมื่อเราตรัสรู้ใหม่ ๆ วันนี้โมคคัลลานะเป็นสักขีพยานของเรา”
สายท่าขนุน
23-07-2010, 19:38
สมาธิ เมื่อจะเข้าต้องมีสมาธิเป็นเครื่องวัด
เมื่อจิตฝึกหัดยังไม่ชำนาญ มักจะรวมได้เป็นครั้งเป็นคราวนิด ๆ หน่อย ๆ เรียกว่า ขณิกสมาธิ
ถ้าหากฝึกหัดจิตค่อยชำนาญหน่อย จิตจะรวมเป็นสมาธิอยู่ได้นาน ๆ หน่อยเรียกว่า อุปจารสมาธิ
ถ้าฝึกหัดจิตได้เต็มที่แล้ว จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิเต็มที่เลยเรียกว่า อัปปนาสมาธิ
แต่จิตจะเกิดรู้แต่เฉพาะจิตที่เป็นอุปจารสมาธิเท่านั้น สมาธิจะไม่เกิดเลย
แลเมื่อเกิดก็มักเกิดเป็นไปเพื่อเตือนแลสอนตนเองเป็นส่วนมาก
เช่น ปรากฏเห็นเป็นอุโบสถใหญ่มีพระสงฆ์เป็นอันมากเข้าประชุมกันอยู่
อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราถูกต้องดีแล้ว
หรือปรากฏเห็นว่าทางอันรกขรุขระ มีพระคลุมจีวรไม่เรียบร้อย หรือเปลือยกายเดินอยู่
อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราผิดทาง หรือไม่เรียบร้อยตามมรรคปฏิบัติดังนี้เป็นต้น
สายท่าขนุน
23-07-2010, 19:41
การละกิเลสท่านก็แสดงไว้ว่า
พระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑
พระสกทาคามี ละกิเลสเบื้องต้นได้ ๓ เหมือนกัน กับทำกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ให้เบาบางลงอีก
พระอนาคามี ก็ละกิเลส ๓ เบื้องต้นนั้นได้ แล้วยังละกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ได้เด็ดขาดอีกด้วย
พระอรหันต์ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ เบื้องต้นได้แล้ว
ยังละรูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ ได้อีกด้วย
ฌาน แล สมาธิ ถึงแม้ว่าจะบริกรรมภาวนาอันเดียวกัน แต่การพิจารณามันต่างกัน
แลเวลาเข้าเป็นองค์ฌาน แลสมาธิ มันก็ต่างกัน ความรู้ความเห็นก็ต่างกัน ดังได้อธิบายมานี้
สายท่าขนุน
27-07-2010, 18:04
ฌาน แล สมาธิ ทั้งสองนี้ ผู้ฝึกหัดกรรมฐานทั้งหลายจะไม่ให้เกิดไม่ได้
มันหากเกิดเป็นคู่กันอย่างนั้นเอง แล้วมันก็กลับกันได้เหมือนกัน
บางทีจิตรวมเข้าเป็นฌานแล้วเห็นโทษของฌาน พิจารณากลับเป็นสมาธิไปก็มี
บางทีฝึกหัดสมาธิไป ๆ สติอ่อนรวมเข้าเป็นฌานไปก็มี
ฌาน แล สมาธิ มันหากเป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันแลกันอยู่อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“ผู้ใดไม่มีฌานผู้นั้นไม่มีสมาธิ ผู้ใดไม่มีสมาธิผู้นั้นก็ไม่มีฌานเหมือนกัน”
เพราะฌานแลสมาธิฝึกหัดสายเดียวกัน คือเข้าถึงจิตเหมือนกัน เป็นแต่ผู้ฝึกหัดต่างกันเท่านั้น
บางท่านกลัวนักกลัวหนา กลัวฌานตายแล้วจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก
แต่หารู้ไม่ว่าฌานเป็นอย่างไร จิตอย่างไรมันจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก
สายท่าขนุน
27-07-2010, 18:08
ผู้ต้องการจะชำระจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากกิเลสทั้งปวง
จะต้องชำระจิตนี้แหละ ไม่ต้องไปชำระที่ ใจ หรอก
เมื่อชำระที่ จิต แล้ว ใจ มันก็สะอาดได้เอง
เพราะ จิต แส่ส่ายไปแสวงหากิเลสมาเศร้าหมองด้วยตนเอง
เมื่อชำระ จิต ให้ใสสะอาดแล้วก็จะกลายมาเป็น ใจ ไปในตัว
สายท่าขนุน
04-08-2010, 21:42
นักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติเข้าถึงจิตถึงใจแล้ว
ถึงไม่ได้เรียนให้รู้ชื่อของกิเลสตัวนั้นว่า ชื่ออย่างนั้น ๆ
แต่รู้ด้วยตนเองว่า ทำอย่างนั้น จิต มันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน
คิดอย่างนั้นจิตมันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน
เมื่อเห็นโทษของมันแล้ว มันจะต้องหาอุบายชำระด้วยตนเอง
มิใช่ไปรู้กิเลสทั้งหมด แล้วจึงชำระให้หมดสิ้นไป
สายท่าขนุน
04-08-2010, 21:46
เมื่อครั้งปฐมกาล พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธเจ้า แลพระสาวกทั้งหลายออกประกาศพระศาสนา
ท่านที่ได้บรรลุธรรมทั้งหลายส่วนมากก็คงไม่ได้ศึกษาธรรมอะไรกัน เท่าไรนัก
เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น ได้ฟังธรรมโดยย่อจากพระอัสสชิว่า
ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าเทศนาให้ดับต้นเหตุ
เพียงเท่านี้อุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) ก็มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว
เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาหลายครั้งหลายหนเข้า พระสาวกทั้งหลายจดจำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น
จึงมีการเล่าเรียนกันสืบต่อ ๆ กันไป พระพุทธศาสนาจึงแพร่หลายกว้างขวางมาโดยลำดับ
สายท่าขนุน
11-08-2010, 17:32
พระอานนท์ พระอนุชาผู้ติดตามพระพุทธเจ้า
จดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แม่นยำ จนได้ฉายาว่าเป็นพหูสูต ไม่มีใครเทียบเท่า
เทศนาสั่งสอนลูกศิษย์ให้ได้สำเร็จมัคค์ผล นิพพาน มาแล้วมากต่อมาก
แต่ตัวท่านเองได้เพียงแค่พระโสดาบันขั้นต้นเท่านั้น
ตอนพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสงฆ์อรหันต์สาวกทั้งหลายพร้อมกันทำสังคายนา
ในการนี้จะขาดพระอานนท์ไม่ได้ เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูต
แต่ยังขัดข้องอยู่ที่พระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์
สงฆ์ทั้งหลายจึงเตือนพระอานนท์ว่าให้เร่งทำความเพียรเข้า
พรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายจะได้ทำสังคายนา
ในคืนวันนั้น ท่านได้เร่งความเพียรตลอดคืน ธรรมที่ได้สดับมาแต่สำนักพระพุทธเจ้ามีเท่าใด
นำมาพิจารณาคิดค้นจนหมดสิ้น ก็ไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ ก็แล้วเถิด
แล้วล้มพระเศียรเอนกายลงนอน พระเศียรยังไม่ทันแตะพระเขนยเลย
จิตก็รวมสู่มัคคสมังคี ปัญญาก็ตัดสิ้นได้เด็ดขาดว่าบรรลุพระอรหันต์แล้ว
สายท่าขนุน
11-08-2010, 17:34
ผู้มีปัญญาพิจารณาคิดค้นเหตุผลในสิ่งนั้น ๆ แล้วปล่อยวาง
ทำจิตให้เป็นกลางในสิ่งทั้งปวงได้ ย่อมจะเกิดความรู้ในธรรมนั้น ๆ ได้ไม่มากก็น้อย
ดังท่านพระอานนท์เป็นต้น
สายท่าขนุน
16-08-2010, 20:58
กิจในพระพุทธศาสนานี้มี ๒ อย่าง ผู้บวชมาละกิจของฆราวาสแล้วจำเป็นต้องทำ คือ
สมถะ (คือ ฌาน แลสมาธิ ๑ วิปัสสนา ๑ ฌาน แลสมาธิได้อธิบายมามากแล้ว
คราวนี้มาฟังเรื่องของ วิปัสสนา ต่อไป
ผู้เจริญฌาน แลสมาธิจนชำนิชำนาญ จนทำจิตของตนให้อยู่ในบังคับตนได้
จะเข้าฌาน แลสมาธิเมื่อใดก็ได้ จะอยู่ได้นานเท่าใด
จะพิจารณาฌานให้เป็นสมาธิก็ได้ จะพิจารณาสมาธิให้เป็นฌานก็ได้
จนกลายเป็นเครื่องเล่นของผู้ปฏิบัติไป
การพิจารณาฌาน แลสมาธิให้ชำนาญนี้เป็นการฝึกหัดวิปัสสนาไปในตัว
เพราะฌาน แลสมาธิก็พิจารณารูป-นาม อันเดียวกันกับวิปัสสนา
พิจารณาความแตกดับ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา อย่างเดียวกัน
แต่ฌาน แลสมาธิ มีความรู้ขั้นต่ำ พิจารณาไม่รอบคอบ เห็นเป็นส่วนน้อยแล้วก็รวมเสีย
ไม่สามารถรู้ได้ทั่วถึงทั้งหมด ท่านจึงไม่เรียกว่าวิปัสสนา
สายท่าขนุน
16-08-2010, 21:05
เปรียบเหมือนมะม่วงสุกหวาน เบื้องต้นเป็นลูกมีรสขม โตขึ้นมาหน่อยมีรสฝาด
โตขึ้นอีกมีรสเปรี้ยว โตขึ้นมาอีกมีรสมัน โตขึ้นมาจึงจะมีรสหวาน
รสทั้งหมดตั้งต้นแต่รสขมจนกระทั่งรสหวาน มันจะเก็บเอามารวมไว้ในที่เดียว
มะม่วงนั้นจึงจะได้ชื่อว่ามีรสดี นี้ก็ฉันนั้น
เหมาะแล้วฌานพระสังคาหกาจารย์เจ้าท่านไม่เรียกว่าวิปัสสนา เพราะเป็นของเสื่อมได้
วิปัสสนานั้น ไม่ว่าจะพิจารณาคำบริกรรม หรือธรรมทั้งหลาย มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นต้น
พิจารณาให้รู้แจ้งตามเป็นจริงของมันแล้วปล่อยวาง แล้วเข้าอยู่เป็นกลางวางเฉย เรียกว่า วิปัสสนา
วิปัสสนา แปลว่ารู้แจ้ง เห็นจริงตามสภาพ ของมัน
สายท่าขนุน
19-08-2010, 20:47
วิปัสสนานี้พิจารณาจนชำนิชำนาญแก่กล้า จนเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แลธรรมมารมณ์ทั้งหลาย ทั้งภายนอก แลภายใน
เห็นเป็น อนิจจัง ของไม่เที่ยงจีรังถาวรยั่งยืน เกิดมาแล้วก็แปรปรวน
ผลที่สุดก็ดับสูญหายไปตามสภาพของมัน
สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นรองรับเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นจึงต้องทน ทุกข์ ทรมานอยู่ตลอดเวลา
สิ่งทั้งปวงไม่ว่ารูปธรรม แลนามธรรม เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเป็นไปตามสภาพของมัน
ใครจะห้ามปรามอย่างไร ๆ ย่อมไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งหมด
มิใช่ของไม่มี ของมีอยู่ แต่ห้ามมันไม่ได้ จึงเรียกว่า อนัตตา
สายท่าขนุน
19-08-2010, 20:50
ผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย เมื่ออายตนะภายในแลภายนอกมากระทบกันเข้า มีความรู้สึกเกิดขึ้น
ย่อมพิจารณาเป็น ไตรลักษณญาณ อย่างนี้ทุกขณะ ไม่ว่าอิริยาบถใด ๆ ทั้งหมด
ถ้าพิจารณาจนชำนิชำนาญแล้วมันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติของมันเอง
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ช่องว่างอันจะเกิดกิเลส มีราคะ เป็นต้น มันจะเกิดขึ้นในจิตใจได้อย่างไร
ด้วยอำนาจผู้เจริญฌาน-สมาธิ แลวิปัสสนานี้แหละจนชำนิชำนาญแก่กล้าเพียงพอแล้ว
จึงทำให้เกิด มัคคสมังคี
สายท่าขนุน
25-08-2010, 17:29
มัคคสมังคี มิใช่จิตที่รวมเข้าเป็นภวังค์อย่างฌาน
แลมิใช่จิตที่รวมเข้าเป็นสมาธิอย่างสมาธิ แต่จะรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวเหมือนกัน
ในเมื่อวิปัสสนาพิจารณาค้นคว้าเหตุผลภายนอกในเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนตามเป็นจริง ไม่เคลือบแคลงสงสัยแล้ว
จิตก็รวมเอา องค์มัคค์ อันเดียว ในขณะที่จิตเดียว แล้วก็ถอนออกมาจากนั้น
แล้วก็เดินไปตามกามาพจรจิตแต่มีความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หลงไปตามกามารมณ์เช่นเมื่อก่อน
มัคคจิต นี้ท่านแสดงไว้ว่าแต่ละมัคค์จะเกิดหนเดียว แล้วจะไม่เกิดอีกเด็ดขาด
ต่อนั้น ผู้ได้ ปฐมมัคค์ แล้วก็เจริญวิปัสสนาตามที่ตนได้เจริญมาแล้วแต่เบื้องต้น
วิปัสสนาจะรู้เห็นแจ้งสักปานใดก็เห็นตามของเก่าไม่ได้ชื่อว่าเป็นมัคคสมังคี
เหมือนกับความฝันตื่นจากนอนแล้วเล่าความฝันได้ถูกต้อง แต่มิใช่ฝันฉะนั้น
สายท่าขนุน
25-08-2010, 17:32
หากมัคคสมังคีที่สูงขึ้นไปโดยลำดับจะเกิดขึ้น ก็ด้วยปัญญาอันแก่กล้า
เจริญมัคค์ให้คล่องแคล่วจนชำนาญแล้ว มันเกิดเองของมันต่างหาก ใครจะแต่งเอาไม่ได้
แต่ละภูมิพระอริยมรรคจะเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดว่าได้ขั้นนั้น ๆ แต่จะรู้จักด้วยตนเองเท่านั้น
คนอื่นจะรู้ด้วยไม่ได้จะรู้ก็ต่อเมื่อถึงมรรคนั้น ๆ แล้วเท่านั้น
การจะรู้ด้วยอภิญญา หรือผู้มีภูมิสูงกว่า หรือด้วยการสังเกตก็ได้ แต่ข้อสุดท้ายนี้ไม่แน่เหมือนกัน
สายท่าขนุน
01-09-2010, 18:42
นักปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเรียนมาก หรือน้อย หรือเรียนเฉพาะกรรมฐานที่ตนจะต้องพิจารณาก็ตาม
เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว จะต้องทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด
เพ่งพิจารณาแต่เฉพาะกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นเฉพาะอย่างเดียว จึงจะรวมลงเป็นเอกัคคตารมณ์ได้
จะเรียนมากหรือเรียนเอาแต่เฉพาะกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นก็ตาม
ก็เพื่อทำจิตให้เป็นสมาธิเอกัคคตารมณ์อันเดียวดังท่านที่เจริญวิปัสสนา
ถึงแม้จิตจะแส่ส่ายตามสภาพวิสัยของมันซึ่งบุคคลยังมีชีวิตอยู่
แต่ก็รู้เท่าทันเห็นตามพระไตรลักษณ์ ไม่หลงใหลตามมัน
สายท่าขนุน
01-09-2010, 18:46
อารมณ์ที่พบผ่านมาไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย แล ใจก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคของการทำฌาน สมาธิ ทั้งนั้น
ตกลงว่า อายตนะที่เราได้มาในตัวของเรานี้เป็นภัยแก่การทำฌาน-สมาธิ ของเราเท่านั้น
ผู้พิจารณาเห็นโทษดังนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในอารมณ์นั้น ๆ
เห็นจิตที่สงบจากอารมณ์นั้น แล้วจิตจะรวมเข้าเป็นเอกัคคตารมณ์สงบนิ่งเฉยอยู่คนเดียว
เมื่อจิตถอนออกมาแล้วก็จะวิ่งตามวิสัยของมันอีก แล้วเห็นโทษของมัน
สละถอนออกจากอารมณ์นั้นอีก ทำจิตให้เข้าสู่เอกัคคตาอีก
ทำอย่างนี้จนจิตคล่องแคล่วชำนิชำนาญ
จนเห็นว่าอารมณ์ทั้งปวงสักแต่ว่าอารมณ์เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปตามสภาพของมัน จิตก็อยู่พอจิตต่างหาก
จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต แต่อาศัยจิตเข้าไปยึดเอา อารมณ์จึงเกิด
เมื่อขาดตอนกันอย่างนี้ จิตก็จะอยู่วิเวกคนเดียว กลายเป็น ใจ ขึ้นมาทันที
สายท่าขนุน
17-09-2010, 17:52
ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าพูดว่าลึกแลกว้าง ก็ลึกแลกว้าง เพราะผู้นั้นทำตนไม่ให้เข้าถึงใจ เมื่อจะพูดก็พูดแค่อาการของใจ (คือจิต)
จิต คิดนึกปรุงแต่งอย่างไร ก็พูดไปตามอาการอย่างนั้น แต่จับตัว ใจ (คือผู้เป็นกลางนิ่งเฉย) ไม่ได้
อุปมาเหมือนกับคนตามรอยโค ตามไปเถิดตามไปวันค่ำคืนรุ่ง เมื่อยังไม่เห็นตัวของมันแลจับตัวมันอย่างไรไม่ได้ ก็ตามอยู่นั่นแหละ
ถ้าตามไปถึงตัวมันแลจับตัวมันได้แล้ว ไม่ต้องไปแกะรอยมันอีก
สายท่าขนุน
17-09-2010, 17:56
ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ที่ว่าลึกซึ้งแลกว้างขวางนั้น
เพราะเราไม่ทำ จิต ให้เข้าถึง ใจ ตามแต่อาการของใจ (คือจิต) จึงไม่มีที่สิ้นสุดได้
ดังท่านแสดงไว้ในพระอภิธรรมว่า
จิตเป็นกามาพจร จิตเป็นรูปาพจร จิตเป็นอรูปาพจร แลจิตเป็นโลกุดร
เพื่อให้รู้แลเข้าใจว่าอาการของจิตมันเป็นอาการอย่างนั้น ๆ
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติไม่หลงตามอาการของมันต่างหาก
แต่ผู้ท่องบ่นจดจำได้แล้ว เลยไปติดอยู่เพียงแค่นั้น
จึงไม่เข้าถึงตัว ใจ สักที มันก็เลยเป็นของลึกซึ้งแลกว้างขวาง
เรียนเท่าไรก็ไม่รู้จักจบสิ้นสักที
สายท่าขนุน
22-09-2010, 19:53
ดูเหมือนพระพุทธเจ้าจะสอนพวกเราว่า เราได้เคยตามรอยโคมาแล้วนับเป็นอเนกชาติ
ถึงแม้ในชาติปัจจุบันเราได้เกิดมาเป็นสิทธัตถะ เราก็ตามอยู่ถึง ๖ ปี จึงได้พบตัวโค (คือใจ)
ถ้าจะพูดว่าแคบก็แคบ แคบในที่นี้มิได้หมายความว่าที่มันไม่มี แลของมันไม่มี
ของกว้าง ๆ นั้นแหละ จับแต่หัวใจของมัน หรือข้อสำคัญของมัน จึงเรียกว่า แคบ
เช่น จิตของคนเรา มันคือ จิต แลของตัวเราเอง ไม่รู้จักหยุดจักยั้งสักที เรียกว่ากว้าง
ผู้มาเห็นโทษของจิตว้าวุ่นวายส่งส่าย มันเป็นทุกข์ แล้วมาพิจารณา
เรื่องอารมณ์มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของจิตผู้คิดนึกไปตามอารมณ์ออกไปไว้ส่วนหนึ่ง
เอาจิตออกไปไว้ส่วนหนึ่ง เมื่อเอาจิตแยกออกไปจากอารมณ์แล้ว
จิตก็จะอยู่คนเดียวแล้วมาเป็นใจ อารมณ์ก็หายสูญไปโดยไม่รู้ตัว
สายท่าขนุน
22-09-2010, 19:55
คราวนี้จะเห็นได้ชัดเลยทีเดียวว่า สรรพกิเลสทั้งปวงและโทษทุกข์ทั้งหลายที่มนุษย์คนเราพากันได้เสวยอยู่นี้
ล้วนแต่จิตผู้เดียวเป็นผู้หามาใส่ถ้าจิตไม่ไปหามาใส่แล้ว จิตก็จะกลายเป็นใจ
ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง อยู่เป็นสุขโดยส่วนเดียว
เหมือนต้นกล้วยไม่มีแก่น แกะกาบไป ๆ ผลที่สุดเลยหาแก่นไม่ได้ มีแต่กาบอย่างเดียว
ผู้ภาวนาทั้งหลายล้วนแต่แกะกาบหาแก่นแท้ของธรรมทั้งนั้น
ผู้หาแก่นของธรรมแต่แกะกาบไม่หมดจึงไม่เห็นธรรม
สายท่าขนุน
05-10-2010, 19:24
ผู้ภาวนายังไม่ถึงจิตถึงใจพากันกลัวนักกลัวหนาว่า
เมื่อจิตเข้าถึงใจแล้วจะไม่ทำให้เกิดความรู้อะไรต่าง ๆ
เมื่อไม่เกิดความรู้ ความสิ้นทุกข์มันจะมีมาแต่ไหน มันก็โง่เท่านั้นเอง
แม้พระผู้ใหญ่บางท่านก็พูดกับผู้เขียนเองเช่นนี้เหมือนกัน
ผู้เขียนเคยได้อธิบายแล้วว่า จิตเป็นผู้ส่งส่ายหาอารมณ์ต่าง ๆ มาครอบงำจิต
เมื่อจิตเห็นโทษของอารมณ์นั้น ๆ แล้ว จิตสละอารมณ์นั้นเสีย
แล้วเข้ามารวมเป็นหนึ่ง เลยกลายเป็นใจ
มิใช่เข้ามาอยู่เป็นใจเลยโดยมิได้ตรึกตรองพิจารณาให้รอบคอบ
เรียกว่า พิจารณาเหตุผลทุกแง่มุมจนถึงพระไตรลักษณ์ ไม่มีที่ไปแล้วจึงเข้าถึง
เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าไม่มีปัญญาได้อย่างไร
ก็มีปัญญาตามชั้นตามภูมิของตนนั้นเอง
สายท่าขนุน
05-10-2010, 19:28
ดังได้อธิบายมาแล้วว่า
จิตเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ถ้าไม่มีจิตกิเลสมันจะมีมาแต่ไหน
ทั้งเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ถ้าหาจิตไม่ได้แล้วจะไปคิดปรุงแต่ง หาปัญญามาที่ไหน
เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเพราะจิตส่งส่ายไม่เข้าถึงใจ คือความเป็นกลาง
เป็นเหตุให้เกิดปัญญาเพราะจิตส่งส่ายไปในที่ต่าง ๆ แล้วรวมเข้ามาลงในพระไตรลักษณ์
แล้วหยุดนิ่งเฉย รู้ตัวอยู่ว่านิ่งเฉย เข้าถึงใจ
สายท่าขนุน
08-10-2010, 17:39
เหมือนกับตัวไหม เขาเลี้ยงด้วยหม่อน โตขึ้นโดยลำดับ จนกลายมาเป็นบุ้ง
แก่แล้วชักใยหุ้มตัวมันเอง เขาเรียกว่า ดักแด้ แก่เข้าแล้วเจาะรังออกมา เขาเรียกว่าแมลงบี้
ออกไข่ตั้งเยอะแยะ นับเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตัว ฉันใด จิตก็ฉันนั้น
เมื่อมันรวมตัวเข้าเป็นใจแล้ว จะไม่มีอาการอะไรทั้งหมด
เมื่อมันออกจากใจมาแล้ว มันจะมีอาการมากมายเหลือจะประมาณ
(แต่ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านจะไม่ยอมให้มันออกไปเที่ยวเกิดอีก ประหารในที่เดียวเลย)
สรรพกิเลสของมนุษย์ผู้ไม่ได้ทำสมาธิภาวนา จิตยังวุ่นอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ก็เหมือนกับลูกแมลงบี้ที่เกิดจากแม่ตัวเดียว มีลูกนับเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตัวฉะนั้น
สายท่าขนุน
08-10-2010, 17:41
สรุปแล้ว กิเลสทั้งหลายของมนุษย์เรานี้เกิดจากจิตแต่ผู้เดียว
เมื่อสัมปยุตไปด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ คือ ภายนอก ๖ มีรูป เสียง เป็นต้น
อายตนะภายใน ๖ มีตา หู เป็นต้น กระทบกัน แล้วก็เกิดผัสสะขึ้นมา
แล้วก็แผ่ออกเป็นลูกหลาน ลุกลามไปทั่วทั้งโลก
ให้เกิดความยินดียินร้าย ความรัก ความชัง เกลียด โกรธ
แล้วประหัตประหารฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ทำให้โลกนี้วุ่นวายไปหมด
สายท่าขนุน
13-10-2010, 18:22
เมื่อรู้เช่นนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรระวังสังวรอย่าให้จิตไปสัมปยุตด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ เหล่านั้น
ทำใจให้เป็นกลางวางเฉยอยู่คนเดียว ถึงแม้จิตจะใช้อายตนะทั้งหลายเป็นเครื่องเที่ยว
ก็ให้ระวังใจไว้ อย่าให้หลงตามจิต
สายท่าขนุน
13-10-2010, 18:24
เมื่อใจไม่หลงตามจิต เพราะใจรู้เท่าเข้าใจอาการของจิต
ว่าจิตเป็นผู้นำอารมณ์ให้ปรุงแต่งวุ่นวาย
ใจก็จะอยู่คนเดียวตามธรรมชาติของใจ เมื่อใจเป็นธรรมชาติของมันแล้ว
จิตจะปรุงจะแต่งก็เข้าไม่ถึงใจ เพราะใจไม่มีอาการไปแลอาการมา ไม่มีนอกแลใน
ไม่มีความยินดีแลยินร้าย ปล่อยวางเฉยในสิ่งทั้งปวงแล้ว จิตก็จะขวยเขินไปเอง
สายท่าขนุน
18-10-2010, 17:27
นักปฏิบัติเมื่อเห็นชัดเจนตามเป็นจริงดังได้อธิบายมานี้แล้ว
จะเห็นสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม แลนามธรรมทั้งหลาย เห็นเป็นแต่สักว่า สภาวธรรม เท่านั้น
เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย หมดเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น ไม่มีอะไรจะเป็นจริงเป็นจังเลย
แล้วแผ่นดินคือกายผืนแผ่นเล็ก ๆ อันนี้ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ก็จะบรรจุเต็มไปด้วยธรรมทั้งหมด
ตามองออกไปเห็นรูป ก็จะเห็นเป็นสักแต่รูปธรรมเท่านั้น ไม่เห็นเป็นอย่างอื่น
หูได้ฟังเสียง ก็จะเห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น จะไม่เป็นอย่างอื่น
จมูกถูกกลิ่น ลิ้นถูกรส กายถูกสัมผัส ใจมีอารมณ์เกิดขึ้น ก็สักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น
มิใช่สัตว์ ตัวตน เรา เขา หรืออะไรทั้งสิ้น
สายท่าขนุน
18-10-2010, 17:29
คนไทยทั้งประเทศ เมื่อได้แผ่นดินคนละผืนเล็ก ๆ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อันนี้แล้ว
ตั้งใจรักษาแผ่นดินอันนี้ให้เป็นธรรม เมื่อต่างคนต่างรักษาแผ่นดินของตนให้เป็นธรรมแล้ว
ประเทศไทยก็จะกลายเป็นแผ่นดินธรรมไปทั้งหมด
คราวนี้ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะสบายไม่ต้องลำบาก.
สายท่าขนุน
29-10-2010, 17:28
สิ้นโลก เหลือธรรม
(ภาคปลาย)
โดย
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น
อย่าถือว่าเป็นของเรา
ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร
ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม
สายท่าขนุน
29-10-2010, 17:44
พากันมาฟังความเสื่อมฉิบหายของโลกต่อไป
โลก คือ ความเสื่อมอันจะต้องถึงแก่ความฉิบหายในวันหนึ่งข้างหน้า เขาจึงเรียกว่าโลก
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วคำว่า โลก ก็จะไม่มี โลกเกิดจากวัตถุอันหนึ่งซึ่งเป็นก้อนเล็ก ๆ
อันเกิดจากฟองมหาสมุทรที่กระทบกันแล้วกลายเป็นก้อนเล็ก ๆ ขึ้นก่อน
จะเรียกว่าอะไรก็เรียกไม่ถูก เรียกว่าธาตุอันหนึ่งก็แล้วกัน
คือหมายถึงวัตถุธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเอง เป็นเอง
แล้วค่อยขยายกว้างใหญ่ไพศาลจรดขอบเขตแม่น้ำและมหาสมุทรทั้งสี่
โดยมีจักรวาลเป็นขอบเขต แล้วค่อยปริออกมาเป็นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ
แปรสภาพเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ กัน มีอวัยวะครบบริบูรณ์
แล้วมีจิตวิญญาณซึ่งคุ้นเคยเป็นกันเองเข้ามาครอบครองทำหน้าที่บังคับบัญชาธาตุนั้น ๆ
ให้เป็นไปตามวัตถุของโลก ซึ่งเราเรียกกันว่า คน นั่นเอง
สายท่าขนุน
01-11-2010, 20:01
แต่ละคนหรือตัวตนที่สมมติว่าคนนี้ ก็จะต้องเสื่อมสลายไปในวันหนึ่งข้างหน้าเช่นเดียวกัน
แม้ในเดี๋ยวนี้ คนหรือที่เรียกว่ามนุษย์สัตว์โลกหรือมนุษย์โลกก็กำลังเสื่อมไปอยู่ทุกวัน ๆ
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จพระโพธิญาณใหม่ ๆ
มนุษย์ชาวโลกนี้มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี ระยะเวลาผ่านไป ๑๐๐ ปี อายุคนจะลดน้อยถอยลงมาปีหนึ่ง
ปัจจุบันนี้ พระพุทธองค์นิพพานไปได้ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีแล้ว อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงคงเหลือประมาณ ๗๕ ปี
ถ้าคำนวณตามแบบนี้ อายุของมนุษย์ก็เสื่อมเร็วนักหนา อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงไปอย่างนี้เรื่อย ๆ
จนกระทั่งเหลือ ๑๐ ปี ก็มีครอบครัว เป็นผัวเมียสืบพันธุ์กัน
แม้สัตว์เดรัจฉานอื่น ๆ ก็เสื่อมลงโดยลำดับเช่นเดียวกันกับมนุษย์
ดินฟ้าอากาศก็เปลี่ยนแปลง แปรปรวนเป็นไปต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เกิดกลียุคฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ
สัตว์ตัวใหญ่ที่มีอิทธิพลก็ทำลายสัตว์ตัวน้อย ให้ล้มตายหายสูญเป็นอันมาก
มนุษย์จะกลายเป็นคนไม่มีพ่อแม่พี่น้อง หรือญาติวงศ์ซึ่งกันและกัน
เมื่อเห็นหน้ากันและกันก็จับไม้ค้อนก้อนดินขึ้นมากลายเป็นศาสตราวุธประหัตประหารฆ่ากันตายเป็นหมู่ ๆ
เรื่องศีลธรรมไม่ต้องพูดถึงเลย แม่น้ำลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึง ก็เหือดแห้งเป็นตอน ๆ
ฝนไม่ตกเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ปี มีแต่เสียงฟ้าร้องครืน ๆ แต่ไม่มีฝนตกเลย
สายท่าขนุน
01-11-2010, 20:06
เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำในทะเลอันใหญ่โตกว้างขวางและลึกจนประมาณมิได้ ก็เหือดแห้งกลายเป็นทะเลทราย
ปลาตัวหนึ่งซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า ติมังคละ ก็นอนตายอยู่บนกองทราย
และโดยอำนาจของแดดเผาผลาญ ทำให้ปลาตัวนั้นมีน้ำไหลออกมาบังเกิดเป็นไฟลุกท่วมท้น
ทำให้มนุษย์โลกทั้งหลายฉิบหายเป็นจุณวิจุณ เขาเรียกว่าไฟบรรลัยโลก
โลกนี้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นอัชฌัตตากาศอันว่างเปล่า
สัตว์ที่มีวิญญาณก็จะขึ้นไปเกิดในภพของพรหมชั้นอาภัสสระ ซึ่งไฟนั้นไหม้ไม่ถึง
สายท่าขนุน
04-11-2010, 12:17
ในหนังสือไตรโลกวิตถารท่านกล่าวว่า
โลกนี้ทั้งหมดจะต้องฉิบหายโดยอาการ ๓ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ๓ ประการนี้เป็นเหตุ
สัตว์หนาไปด้วยราคะ โลกนี้จะต้องฉิบหายด้วยน้ำ
สัตว์หนาไปด้วยโทสะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยไฟ
สัตว์หนาไปด้วยโมหะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยลม
โลกจะต้องฉิบหายด้วยการบรรลัยโลกกันอยู่อย่างนี้ ในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ
สายท่าขนุน
04-11-2010, 12:26
ไฟบรรลัยโลกเล็ก ๆ ที่เกิดในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ นี้ มีปัญหาน่าพิจารณา
น้ำราคะอันมีอยู่ในมนุษย์ชาวโลก แต่ละคนมีอยู่น้อยนิดเดียว
ทำไมท่านแสดงว่าสามารถท่วมโลกได้จนเป็นน้ำบรรลัยโลก
โทสะและโมหะก็เหมือนกัน อยู่ในตัวมนุษย์โลกซึ่งมองไม่เห็น
ทำไมจึงแสดงฤทธิ์ใหญ่โตจนไหม้โลก และพัดเอาโลกจนฉิบหาย
ขอนักปราชญ์เจ้าจงใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้
เห็นจะไม่ท่วมโลกและเผาโลกให้ฉิบหายเป็นกัปเป็นกัลป์ดังว่านั้นก็ได้
พวกเราชาวโลกผู้มีน้ำและไฟหรือลมอยู่ในตัวนิดหน่อยนี้คงจะมองเห็นฤทธิ์เดช
เรื่องของทั้ง ๓ นี้ ว่ามีฤทธิ์เดชเพียงใด ราคะคือความกำหนัดยินดีในสิ่งสารพัด
วัตถุทั้งปวงมีผัวเมียเป็นต้น มันท่วมท้นอยู่ในอกโดยความรักใคร่อันหาประมาณมิได้
โทสะคือไฟกองเล็ก ๆ นี้ก็เหมือนกัน มันไหม้เผาผลาญสัตว์มนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
โมหะก็เช่นเดียวกัน มันพัดเอาฝุ่นละอองกิเลสภายนอกและภายใน
มาท่วมทับหัวอกของคนจนมืดมิด ให้เข้าใจว่า สิ่งที่ผิดเป็นถูก
ของ ๓ อย่างนี้มีฤทธิ์เดชมหาศาล สามารถทำลายโลกให้เป็นกัปกัลป์ได้
และกัปนั้นท่านไม่ได้แสดงว่ามีอายุเวียนมาสักเท่าไร
เป็นแต่แสดงว่าเป็นกัปเล็ก ๆ ในระหว่างกัปใหญ่
เห็นจะเพราะน้ำราคะ ไฟโทสะ ลมโมหะ ท่วมโลกและเผาผลาญโลกนี้ไม่หมดสิ้น
ท่านถึงไม่แสดงถี่ถ้วน เพียงแต่พูดเปรย ๆ เพื่อให้นักปราชญ์ผู้มีปรีชาเอามาคิด เพื่อไม่ให้หลงผิด ๆ ถูก ๆ
รู้จักชัดแจ้งโดยใจของตนเอง ชัดแจ้งด้วยใจของตน แล้วนำมาพิจารณาเฉพาะตน ๆ
สายท่าขนุน
09-11-2010, 12:09
ความฉิบหายของโลกเป็นมาอย่างนี้แล้ว ๆ เล่า ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
พระบรมโพธิสัตว์ผู้ซึ่งท่านได้บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศมาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว
ชาวสวรรค์ทั้งปวงเล็งเห็นว่าโลกนี้วุ่นวายเดือดร้อนกันมาก จึงได้ไปทูลเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะตระกูลศากยราช
เมื่อคลอดออกจากครรภ์ของพระมารดาแล้ว เสด็จย่างพระบาทได้เจ็ดก้าว
ทรงแลดูทิศทั้งสี่แล้วเปล่งอาสภิวาจาว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมึ เราจะเป็นเลิศในโลก
สายท่าขนุน
09-11-2010, 12:13
เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นมาก็ได้เสวยความสุขอันเลิศ
จนกระทั่งเสด็จหนีออกบรรพชา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง ๖ พรรษา
จึงได้ค้นพบพระอริยสัจธรรมสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพระพุทธองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงทรงพิจารณามองเห็นสัตว์โลกที่เดือดร้อนวุ่นวาย
ด้วยไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องครอบครองหัวใจ จึงเป็นเหตุให้เกิดการอิจฉาริษยา
ฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ เป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่ตลอดกาล
และด้วยอาศัยพระเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงของพระพุทธองค์ที่ทรงมีต่อมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลาย
จึงทรงเทศนาสั่งสอนสัตว์นิกรทั้งหลายให้เข้าถึงธรรมะ ให้มีศีลธรรมประจำตนของแต่ละคน ๆ
เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดกาล ดั่งที่พระองค์ทรงเทศนาธรรมโลกบาล
คือธรรมอันเป็นเครื่องคุ้มครองสัตว์โลก มี ๒ อย่าง คือ หิริ และ โอตตัปปะ
สายท่าขนุน
15-11-2010, 17:55
แต่มนุษย์ชาวโลกทั้งหลายกลับเห็นว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาทีหลังโลก ท่านต้องคุ้มครองเราซิ
ไม่ให้มีอันตรายและเดือดร้อนวุ่นวายถึงจะถูก
สายท่าขนุน
15-11-2010, 17:59
ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่สอนให้มนุษย์เป็นทาสกรรมซึ่งกันและกัน
แต่พระองค์ทรงสอนให้มนุษย์มีอิสระคุ้มครองตัวเองแต่ละคน จึงจะอยู่เย็นเป็นสุข
ถ้าพระองค์ทรงสอนให้เป็นทาสกรรมซึ่งกันและกัน
เหมือนกับตำรวจและทหารต้องอยู่เวรเข้ายามรักษาเหตุการณ์อยู่ทุกเมื่อแล้ว
โลกนี้ก็จะดูเดือดร้อนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดกาล
แต่พระองค์ทรงสอนหัวใจคนทุกคนให้รักษาตนเองโดยมีหิริ-โอตตัปปะ
คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ถ้าทุก ๆ คน มีธรรมสองอย่างนี้อยู่ในหัวใจแล้ว
ก็จะไม่มีเวรมีภัยและการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
มนุษย์คือโลกเล็ก ๆ นี้ก็จะอยู่เป็นสุขตลอดกาล
แล้วโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลก็จะพลอยอยู่เย็นเป็นสุขไปด้วย
สายท่าขนุน
19-11-2010, 19:41
เป็นวิสัยธรรมดาของโลกที่จะต้องมีความเห็นเข้าข้างตัวเอง คือ เห็นว่า
พระพุทธเจ้าจะต้องคุ้มครองรักษาโลกเหมือนกับตำรวจรักษาเหตุการณ์ฉะนั้น
เหตุนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมแล้วจึงทรงสอนมนุษย์ชาวโลก
ให้มีศีลธรรมเกิดขึ้นในใจของตนแต่ละคน
มนุษย์จึงจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้ในโลกนี้ทั้งหมด
โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้เกิดขึ้นมาก่อน แล้วธรรมจึงค่อยเกิดขึ้นภายหลัง
ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า โลกธรรมแปด
โลกเกิดขึ้นที่ใดธรรมต้องเกิดขึ้นที่นั่น ถ้าโลกไม่เกิดธรรมก็ไม่มี
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโลกธรรมแปดนั้น
หมายถึงโลกธรรม ๔ คู่ มีอาการ ๘ อย่างคือ
มีลาภ-เสื่อมลาภ ๑
มียศ-เสื่อมยศ ๑
มีสรรเสริญ-นินทา ๑
มีสุข-ทุกข์ ๑
สายท่าขนุน
19-11-2010, 19:48
เมื่อโลกเกิดขึ้นแล้ว พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงไปเหนือโลก
ตัวอย่างเช่น ความได้ในสิ่งสารพัดทั้งปวงเรียกว่า ลาภเกิดขึ้น
มนุษย์ได้ลาภก็เกิดความพอใจยินดี แล้วก็ไม่อยากให้ลาภเสื่อมเสียไป
และเมื่อลาภเสื่อมเสียไป ก็เกิดความเดือดร้อนตีโพยตีพาย
วุ่นวายกระสับกระส่ายไม่เป็นอันจะกินจะนอน
นั้นเรียกว่า โลก โดยแท้ พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกแท้ คือ
แสดงความได้ลาภ-เสื่อมลาภ ให้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นธรรมดาของโลก
แต่ไหนแต่ไรมาโลกนี้ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น เราจะถือว่าของกู ๆ ไม่ได้
ถ้ายึดถือว่าของกู ๆ อยู่ร่ำไป เมื่อลาภเสื่อมไปมันจึงเป็นทุกข์เดือดร้อนกลุ้มใจ
นั่นแสดงให้เห็นชัดเลยว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของตน มันจึงเสื่อมไปหายไป
ถ้ามันเป็นของเราแล้วไซร้ มันจะหายไปที่ไหนได้
ท่านจึงว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของตนของตัว มันจึงต้องเป็นไปตามอัตภาพอันแท้จริงของมัน
จึงเรียกว่าพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกให้เห็นโลกเป็นธรรมนั่นเอง
สายท่าขนุน
24-11-2010, 20:12
ความได้ยศ-เสื่อมยศ ก็เช่นเดียวกัน
ได้ยศคือความยกย่องว่าเป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีเกียรติ มีอำนาจหน้าที่ มีชื่อเสียง
จิตก็พองตัวขึ้นไปตามคำว่า ยศ นั้น หลงยึดว่าเป็นของตัวจริง ๆ จัง ๆ
ธรรมดาความยกย่องของคนทั้งหลายแต่ละจิตละใจก็ไม่เหมือนกัน
เขาเห็นดีเห็นงามในความมียศศักดิ์ของตนด้วยประการต่าง ๆ เขาก็ยกยอชมเชยด้วยความจริงใจ
แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาอันน่ารังเกียจของตนที่แสดงออกมาด้วยอำนาจของยศศักดิ์
เขาก็จำเป็นต้องเสแสร้งแกล้งปฏิบัติไปด้วยความเกรงกลัว
ตนกลับไปยึดถือยศศักดิ์นั้นว่าเป็นของจริงของจัง
เมื่อมันเสื่อมหายไป ความเกรงใจจากคนอื่นก็หมดไปด้วย
ตนเองก็กลับโทมนัสน้อยใจ ไม่เป็นอันหลับอันนอน อันอยู่อันกิน
แท้จริงแล้วความได้ยศ-เสื่อมยศนี้ เป็นของมีอยู่ในโลกแต่ไหนแต่ไรมาเช่นนี้ ตั้งแต่เรายังไม่เกิดมา
พระพุทธองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลก ให้เห็นว่า
ได้ยศ-เสื่อมยศนี้เป็นของมีอยู่ในโลก มิใช่ของใครทั้งหมด
ถ้าผู้ใดยึดถือเอาของเหล่านั้นย่อมเป็นทุกข์ไม่มีสิ้นสุด
ให้เห็นว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของใครทั้งหมด
มันหากเป็นจริงอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา
สายท่าขนุน
07-12-2010, 20:57
สรรเสริญ-นินทา ความสรรเสริญและนินทาก็เช่นเดียวกัน ในตัวคนคนเดียวนั่นแหละ
เมื่อเขาเห็นกิริยาอาการต่าง ๆ ที่น่าชมน่าชอบ เขาก็ยกยอสรรเสริญชมเชย
แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาที่น่ารังเกียจ เขาก็ติเตียน
คนผู้เดียวกันนั่นแหละมีทั้งสรรเสริญและนินทา มันจะมีความแน่นอนที่ไหน
อันคำสรรเสริญและนินทาเป็นของไม่มีขอบเขตจำกัด
แต่คนในโลกนี้โดยมากเมื่อได้รับสรรเสริญจากมนุษย์ชาวโลกทั้งหลายที่เขายกให้ ก็เข้าใจว่าเป็นของตนของตัวจริง ๆ จัง ๆ
อันสรรเสริญไม่มีตัวตนหรอก มีแต่ลม ๆแล้ง ๆ หาแก่นสารไม่ได้ แต่เรากลับไปหลงว่าเป็นตัวเป็นตนจริง ๆ
ไปหลงหอบเอาลม ๆ แล้ง ๆ มาใส่ตนเข้า ก็เลยพองตัวอิ่มตัวไปตามความยึดถือนั้น
ไปถือเอาเงาเป็นตัวเป็นจริงเป็นจัง แต่เงาเป็นของไม่มีตัว
เมื่อเงาหายไปก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ โทมนัสน้อยใจไปตามอาการต่าง ๆ ตามวิสัยของโลก
แท้จริงสรรเสริญ-นินทา มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา ก่อนที่เราจะเกิดมาเสียอีก
พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามนุษย์โง่เขลาหลงไปยึดถือเอาสิ่งไม่แน่นอนมาเป็นของแน่นอน จึงเดือดร้อนกันอย่างนี้
แล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมทับลงเหนือโลกอันไม่มีแก่นสารนี้ ให้เห็นชัดลงไปว่ามันไม่ใช่ของตัวของตน
เป็นแต่ลม ๆ แล้ง ๆ สรรเสริญเป็นภัยอันร้ายกาจแก่มนุษย์ชาวโลกอย่างนี้
แล้วก็ทรงสอนมนุษย์ชาวโลกให้เห็นตามเป็นจริงว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นอนัตตา จะสูญหายไปเมื่อไรก็ได้
มนุษย์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่พระองค์ทรงสอนแล้ว ก็จะคลายความทุกข์เบาบางลงไปบ้าง
แต่มิได้หมายความว่า โลกธรรมนั้นจะหายสูญไปจากโลกนี้เสียเมื่อไร
เป็นแต่ผู้พิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่ว่ามาแล้ว ทุกข์ทั้งหลายก็จะเบาบางลงเป็นครั้งคราว
เพราะโลกนี้ก็ยังคงเป็นโลกอยู่ตามเดิม ธรรมก็ยังคงเป็นธรรมอยู่ตามเดิม
แต่ธรรมสามารถแก้ไขโลกได้บางครั้งบางคราว เพราะโลกนี้ยังหนาแน่นด้วยกิเลสทั้ง ๘ ประการอยู่เป็นนิจ
ความเดือดร้อนเป็นโลก ความเห็นแจ้งเป็นธรรม ทั้งสองอย่างเป็นเครื่องปรับปรุงเป็นคู่กันไปอยู่อย่างนี้
เมื่อกิเลสหนาแน่นก็เป็นโลก เมื่อกิเลสเบาบางก็เป็นธรรม
สายท่าขนุน
17-12-2010, 16:52
มีสุข ทุกข์ ทุกข์เป็นของอันโลกไม่ชอบ แต่ก็เป็นธรรมดาด้วยโลกที่เกิดมาในทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่นั่นเอง
ความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของโลกโดยทั่วไป ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นจึงเดือดร้อน เมื่อความสุขหายไปจึงไม่เป็นที่ปรารถนา
แต่แท้ที่จริงความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นแล้วหายไปนั้น มันหากเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
เราเกิดมาทีหลังโลก เราจึงมาตื่นทุกข์ตื่นสุขว่าเป็นของตนของตัว ยึดมั่นสำคัญว่าเป็นจริง เป็นจัง
เมื่อทุกข์เกิดขึ้นสุขหายไป จึงเดือดร้อนกระวนกระวาย หาที่พึ่งอะไรก็ไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่าโลกอันนี้มีแต่ทุกข์ไม่มีสุขเลย
สายท่าขนุน
17-12-2010, 16:55
ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นเหตุให้พระองค์พิจารณาจนเห็นตามสภาพความเป็นจริง แล้วทรงเบื่อหน่ายคลายจากทุกข์นั้น
จึงทรงเห็นพระอริยสัจธรรมแล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมลงเหนือทุกข์-สุข ให้เห็นว่า
โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น อย่าถือว่าเป็นของเรา ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร
ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม
ทรงรู้แจ้งแทงตลอดว่าอันนั้นเป็นธรรม โลกธรรมจึงอยู่เคียงกัน ดังนี้
สายท่าขนุน
29-12-2010, 18:55
ความเป็นอยู่ของโลกทั้งหมดเมื่อประมวลเข้ามาแล้วก็มี ๔ คู่ ๘ ประการ ดั่งอธิบายมาแล้ว
ไม่นอกเหนือไปจาก ธรรม ๔ คู่ ๘ ประการนี้ โลกเกิดมาเมื่อไร ก็ต้องเจอธรรม ๔ คู่ ๘ ประการนี้เมื่อนั้น อยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาก็เพื่อมาแก้ทุกข์ ๔ คู่ ๘ ประการนี้ทั้งนั้น
พระองค์จึงตรัสว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ธรรมนี้เป็นของเก่าแก่แต่ไหนแต่ไรมา
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็มาตรัสรู้ในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าจะมีคำถามว่า
พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในโลกก็เอาของเก่าที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ตรัสไว้แล้วแต่เมื่อก่อนมาตรัสรู้หรือ
วิสัชนาว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นของที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน
และไม่มีครูบาอาจารย์สอนเลย พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองต่างหาก
ไม่เหมือนความรู้ที่เกิดจากปริยัติ ความรู้อันเกิดจากปริยัติไม่ชัดแจ้งเห็นจริงในธรรมนั้น ๆ
ส่วนธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของ ปจฺจตตํ รู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครบอกเล่า และก็หายสงสัยในธรรมนั้น ๆ
แต่เมื่อรู้แล้วมันไปตรงกับธรรมที่พระองค์ทรงเทศนาไว้แต่ก่อน เช่น
ทุกข์เป็นของแจ้งชัดประจักษ์ในใจ สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อละสมุทัยก็ดำเนินตามมรรคและถึงนิโรธ
ตรงกันเป๋งกับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แต่ก่อน ๆ โน้น จึงเป็นเหตุให้เข้าถึงอริยสัจ
ไม่เหมือนกับคนผู้เห็นตามบัญญัติที่พระองค์ตรัสไว้แล้ว และจดจำเอาตามตำรามาพูด
แต่ไม่เห็นจริงตามตำราในธรรมนั้น ๆ ด้วยใจตนเอง
สายท่าขนุน
29-12-2010, 19:02
เมื่อโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีการใช้จ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของซึ่งกันและกัน จึงจะอยู่ได้
เหตุนั้นรัฐบาลจึงคิดเอาวัตถุธาตุคือโลหะแข็ง ๆ มาทำเป็นรูปแบน ๆ กลม ๆ
แล้วจารึกตัวเลขลงบนแผ่นโลหะนั้นเป็นเลขสิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง
ที่เรียกว่า เหรียญสิบบาท ยี่สิบบาท ร้อยบาท เป็นต้น
หรือเอากระดาษอย่างดีมาจัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แล้วใส่ตัวเลขลงไปเป็น สิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง
ตามความต้องการแล้ว เรียกว่า ธนบัตร
เอาไว้ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน
เมื่อมีเงินจะซื้อวัตถุสิ่งของอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ
คนที่ต้องการเงินเขาก็เอาวัตถุสิ่งของ อีกคนหนึ่งต้องการธนบัตรที่มีราคาเท่ากัน
ก็จะเป็นวัตถุหรือเงินตราก็ช่าง เรียกว่า ได้
แต่เมื่อได้วัตถุมาเงินก็หายไป เมื่อได้เงินมาวัตถุก็หายไป
เรียกว่าได้ลาภเสื่อมลาภพร้อมกันทีเดียว
สายท่าขนุน
05-01-2011, 18:34
โลกอันนี้เป็นอยู่อย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา คนหลงมัวเมาในวัตถุและเงินตรา ก็คิดว่าตนได้มา ตนเสียไป
ก็แสดงอาการชอบใจแลเสียใจไปตามสิ่งของนั้น ๆ พระพุทธเจ้าทรงเห็นโลกเดือดร้อนวุ่นวายด้วยประการนี้
และด้วยอาศัยความเมตตามหากรุณาอย่างยิ่ง ที่ทรงมีต่อบรรดาสัตว์ทั้งหลาย
พระองค์จึงทรงชี้เหตุเหล่านั้นว่า เป็นทุกข์เดือดร้อนเมื่อของเหล่านั้นหายไป เป็นสุขสบายเมื่อได้ของเหล่านั้นมา
ไม่เห็นตามเป็นจริงในสิ่งเหล่านั้น เมื่อเกิดเป็นทุกข์เดือดร้อนกระสับกระส่ายในใจของตน
ก็เป็นเหตุให้แสดงอาการดิ้นรนไปภายนอกด้วยอากัปกิริยาต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เดือดร้อนวุ่นวายทั่วไปหมดทั้งโลก
เหตุนั้น พระองค์จึงทรงสอนให้เข้าถึง “ใจ” เพราะมนุษย์มีใจด้วยกันทุกคนสามารถที่จะรู้ได้
ผู้มีปัญญารู้ตามที่พระองค์ทรงสอนว่า ความได้ลาภ-เสื่อมลาภ มีพร้อม ๆ กันในขณะเดียวกัน
จึงไม่มีใครได้ใครเสีย ได้ก็เพราะมัวเมา เสียก็เพราะมัวเมาในกิเลสเหล่านั้น
ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งตามนัยที่พระองค์ทรงสอน จึงสร่างจากความมืดมนเหล่านั้น
พอจะบรรเทาทุกข์ลงได้บ้าง แต่มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงตามเป็นจริง
แล้วจะบรรเทาทุกข์ได้ทั้งหมดเป็นธรรมล้วน ๆ ก็หาไม่ เพราะโลกนี้มันมืดมนเหลือเกิน
พอจะสว่างขึ้นนิดหน่อย กิเลสมันก็คุมเข้ามาอีก โลกนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา
พระองค์ลงมาตรัสรู้ในโลกอันมืดมนก็ด้วยทรงเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นมันเป็นความทุกข์ของสัตว์โลก
จึงได้ลงมาตรัสรู้ในหมู่ชุมชนเหล่านั้น ถ้าโลกไม่มี กิเลสไม่มีพระองค์ก็คงไม่ได้เสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกนี้
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ที่ลงมาตรัสรู้ในโลกนี้ก็ในทำนองเดียวกัน ทรงเล็งเห็นโลกอย่างเดียวกัน
คือ ทรงเห็นความเดือดร้อนวุ่นวายเพราะมนุษย์ไม่มีปัญญาพิจารณาเห็นโลกตามเป็นจริงดังกล่าวมาแล้ว
สายท่าขนุน
11-01-2011, 19:45
พระองค์ทรงสอนให้พวกมนุษย์ที่มัวเมาอยู่ในโลกเหล่านั้น เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยใจของตนเองว่าเป็นทุกข์
เพราะไม่เข้าใจรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวะของโลกดังอธิบายมาแล้ว บางคนพอรู้บ้างก็สร่างจากความมัวเมา
เพราะรู้แจ้งตามเป็นจริงตามปัญญาของตน ๆ แต่บางคนก็มืดมิดไม่เข้าใจของเหล่านี้ตามเป็นจริงเอาเสียเลยก็มีมากมาย
ทุกข์ของโลกจึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสรู้ในโลก และก็อาศัยความเมตตากรุณาอย่างเดียวนี้ด้วยกันทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ที่ทรงปรารถนาจะมาตรัสรู้ในโลก ก็โดยทำนองเดียวกันนี้
หรือจะกล่าวว่าโลกเกิดขึ้นก่อนแล้ววุ่นวายกระสับกระส่ายเดือดร้อน ด้วยประการอย่างนี้
จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก เรียกว่า โลกเกิดก่อนธรรม ก็ว่าได้
สายท่าขนุน
11-01-2011, 19:51
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่จะลงมาตรัสรู้ตามยุคตามสมัยของพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าในยุคนั้น สมัยนั้น อายุประมาณเท่านั้นเท่านี้
สมควรจะได้รับฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์
พระองค์จึงได้อุบัติขึ้นมาเทศนาสั่งสอนนิกรสัตว์ทั่วโลก
เมื่อเทศนาสั่งสอนแล้วจนเข้าพระนิพพาน
บางพระองค์ก็ได้ไว้ศาสนา อย่างพระโคดมบรมครูของพวกเราทั้งหลาย
พระองค์ทรงไว้ศาสนาเมื่อนิพพานแล้ว ๕,๐๐๐ ปี
เพื่ออนุชนรุ่นหลังที่ยังเหลือหลอจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป
บางพระองค์ก็ไม่ได้ไว้พระศาสนา
อย่างพระศรีอารยเมตไตรยทรงมีพระชนมายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เป็นต้น
เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงสั่งสอนมนุษย์สัตว์นิกรอยู่จนพระชนม์ได้ ๘๐,๐๐๐ ปี
ก็เสด็จปรินิพพานแล้วก็ไม่ได้ทรงไว้พุทธศาสนาอีกต่อไป
เพราะพระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าสัตว์ผู้จะมาศึกษาพระธรรมวินัยของพระองค์
ได้หมดไปไม่เหลือหลอแล้ว ผู้สมควรจะได้มรรคผลนิพพานสิ้นไปหมดเท่านั้น
สายท่าขนุน
17-01-2011, 18:52
โลกวินาศย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฏจักรดังอธิยายมาแล้วแต่ต้นตลอดกัปป์ตลอดกัลป์
หาความเที่ยงถาวรไม่มีสักอย่างเดียว
แต่คนผู้มีอายุสั้นหลงใหลในสิ่งที่ตนได้ตนเสีย ก็เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ร่ำไป
แท้ที่จริงสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา
ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นความเสื่อมความเสียตามนัยที่พระองค์ทรงสอน
เห็นเป็นของน่าเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด แล้วละโลกนี้เขาถึงพระนิพพานจนหาประมาณมิได้
ผู้ไม่มีปัญญาก็จมอยู่ในวัฏสงสารมากมายเหลือที่จะคณานับ โลกเป็นที่คุมขังของผู้เขลาเบาปัญญา
แต่ผู้มีปัญญาแล้วไม่อาจสามารถคุมขังเขาได้ โลกเป็นของเกิดดับอยู่ทุกขณะ
ธรรมอุบัติขึ้นมาให้รู้แจ้งเห็นจริงในโลกนั้น ๆ แล้วตั้งอยู่มั่นคงถาวรต่อไป เรียกว่า โลกเกิด-ดับ
ธรรมเกิดขึ้นตั้งอยู่ถาวรเป็นนิจจังเพราะไม่ตั้งอยู่ในสังขตธรรม ธรรมเป็นของไม่มีตัวตน
แต่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ที่หัวใจของคน คนรู้แล้วตั้งมั่นตลอดกาล
ถึงคนจะไม่รู้เท่าทันแต่ธรรมนั้นก็ตั้งอยู่เป็นนิจกาล เป็นแต่ไม่มีใครรู้ใครสอนธรรมนั้นออกมาแสดงแก่คนทั้งหลาย
ถึงแม้พระพุทธองค์จะนิพพานไปแล้ว แต่ธรรมนั้นก็ยังตั้งอยู่คู่ฟ้าแผ่นดิน จึงเรียกว่า อมตะ
โลกเป็นของเสื่อมฉิบหายดังกล่าวมาแล้ว เพราะตั้งอยู่ในสังขตธรรม มีอันจะต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
ธรรมที่พระองค์ทรงสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงเข้าถึงหัวใจคนเป็นของไม่มีตัวตนเป็นอนิจจัง ไม่ได้ตั้งอยู่เป็นกลาง ๆ
ถึงคนนั้นจะตายไป แต่ธรรมก็ยังมีอยู่เช่นนั้น จึงเรียกว่า สิ้นโลก เหลือธรรม ด้วยประการฉะนี้.
สายท่าขนุน
17-01-2011, 19:07
สิ้นโลก เหลือธรรม
(นัยที่สอง)
โดย
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
"การพิจารณากาย-เวทนา-จิต-ธรรม
ให้เห็นเป็นสักแต่ว่านั้นไม่ใช่ของง่าย
เพราะมันเป็นการลบสมมติบัญญัติของเดิมทั้งหมด
ที่เห็นเป็นสักแต่ว่านั้น มันเป็นบัญญัติสมมติใหม่
ซึ่งเกิดจากสติปัฏฐาน ถ้าผู้ปฏิบัติพิจารณาได้อย่างนี้
มันก็จะละการถือตน ถือตัว ถือเขา ถือเรา ให้หมดสิ้นไปจากใจได้
นี้เป็นเบื้องต้นของสติปัฏฐาน"
สายท่าขนุน
24-01-2011, 18:17
สิ้นโลก เหลือธรรม
(นัยที่สอง)
โดย
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(เทสก์ เทสรังสี)
บทนำ
บัดนี้จะได้บรรยายเรื่องความสิ้นไปแห่งโลกโดยมีธรรมเข้ามาอุดหนุน
แท้ที่จริงผู้บรรยายเรื่องสิ้นโลกเหลือธรรมนัยแรกกับนัยที่สองนี้ก็เป็นคนเดียวกันนั่นแหละ
เพียงแต่เปลี่ยนสำนวนโวหารไปอีกอย่างหนึ่ง โดยนัยแรกบรรยายสรุปธรรมทั้งหมด
ส่วนนัยที่สองนี้บรรยายเรื่องโลกสิ้นไปตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด
ยังเหลือแต่เพียงธรรมล้วน ๆ เป็นอมตะ ไม่เกิดไม่ดับ
ขอผู้อ่านโปรดพิจารณาสำนวนหลังนี้ด้วยว่าจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
จะกล่าวถึงเรื่องโลกและธรรมว่ามันผิดแผกกันอย่างไร โลกที่สิ้นไปเป็นอย่างไร ธรรมที่ยังเหลืออยู่นั้นเป็นอย่างไร
สายท่าขนุน
24-01-2011, 18:20
โลก ในที่นี้คือ ดิน ฟ้า อากาศ รวมทั้งแผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ที่เกิดเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วจักรวาล
เรียกว่า โลกธาตุ
มนุษย์ทั้งหลายที่พูดจาภาษาต่าง ๆ กัน ลักษณะท่าทาง ผิวพรรณ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกัน
ถือลัทธิศาสนาต่าง ๆ กัน มนุษย์ที่มีอยู่บนผิวแผ่นดินนี้ทั้งหมดเรียกว่า มนุษยโลก
สายท่าขนุน
03-03-2011, 11:48
โลกมีอยู่สองอย่างที่เรียกว่า โลกธาตุหนึ่ง และมนุษย์โลกหนึ่ง ดังอธิบายมาแล้วนี้
ส่วนมนุษย์โลกได้แก่คนทั่วไปนั้น บุญกรรมตกแต่งให้มาเกิด
ทั้งสองอย่างนี้เรียกว่า โลก
มีอาชีพคือประกอบด้วยอาหาร *อย่างเดียวกัน ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็อย่างเดียวกัน
ถ้าจะกล่าวว่าโลก คือความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสิ่งเหล่านั้น
หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า โลกคือการลอยอยู่ท่ามกลางความหมุนเวียนก็ได้
สายท่าขนุน
03-03-2011, 11:53
คนเราเกิดมาได้อวัยวะน้อยใหญ่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย แข้งขา มือเท้าครบครันบริบูรณ์ โดยไม่มีใครตบแต่ง
แต่กรรมนั่นแหละเป็นผู้แต่งมาสำหรับรองรับซึ่งโลกธาตุภายนอก หรืออายตนะภายนอกก็เรียก
เช่น ตาคอยรับรูปภายนอก หูคอยรับเสียงภายนอก เป็นต้น ให้เกิดความยินดี พอใจ หรือความไม่ยินดีพอใจในสิ่งนั้น ๆ
เรียกว่าโลกภายในเกิดมาสำหรับไว้รองรับโลกภายนอก ดังอธิบายมานั้น
ผู้เขียนเป็นผู้เรียนน้อย ศึกษาน้อย พูดธรรมก็แบบพื้น ๆ ตามภาษาตลาดชาวบ้าน เพื่อประสงค์ให้อ่านแล้วเข้าใจง่าย
เพราะคนส่วนมากมีโอกาสได้เรียนน้อยศึกษาน้อย ขอท่านผู้รู้นักปราชญ์ทั้งหลายจงอภัยให้แก่ผู้เขียนด้วย
แต่ทางด้านประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติ ทั้งภายในและภายนอก ผู้เขียนเข้าใจว่ามีมากพอสมควร
ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นได้ประสบด้วยตนเองมาแล้วทั้งนั้น
หากท่านผู้อ่านต้องการรู้ ผู้เขียนจะได้อธิบายเป็นเรื่อง ๆ เพื่อความเข้าใจชัดแจ้งต่อไป
สายท่าขนุน
03-03-2011, 12:01
พระพุทธเจ้าเกิดมาในยุคใดสมัยใดในโลกนี้
พระองค์ทรงมีความเมตตาเอ็นดูสงสารสัตว์โลกที่ไม่รู้จักว่าโลกหรือธรรม
พระองค์จึงทรงแสดงให้มนุษย์ชาวโลกเห็นธรรมตามวิสัยวาสนาของบุคคล
ไม่ให้ปะปนสับสนวุ่นวายซึ่งกันและกัน
และให้ยึดเอาธรรมที่เห็นแล้วนั้นเป็นหลักที่พึ่งอาศัย
กำจัดโลกที่เข้ามาแทรกในธรรมให้ออกไปจากธรรม
ให้คงเหลือแต่ธรรมล้วน ๆ เรียกว่า สิ้นโลก-เหลือธรรม
สายท่าขนุน
15-03-2011, 19:08
คุณพระรัตนตรัย
พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องคุณของพระรัตนตรัย ดังจะอธิบายพอสังเขป
พระรัตนตรัยมีคุณอเนกเหลือที่จะคณานับ
ทรงสอนให้มนุษย์เอาใจไปยึดไว้ในคุณของพระรัตนตรัย ดังนี้
อรหํ สมฺมาสมฺพทโธ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบด้วยประการอย่างนี้ ๆ
ทรงเป็นผู้แจกธรรมด้วยความรู้ที่เป็นพระอรหันต์และตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง
คำว่าตรัสรู้เองโดยชอบนั้น หมายความว่า ชอบด้วยเหตุผลและศีลธรรม
อันเป็นเหตุให้นำผู้ปฏิบัติตามที่พระองค์สอนไว้นั้นเข้าถึงสวรรค์ พระนิพพาน เหลือที่จะคณานับ
จึงกล่าวว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
ภควา ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแจกไว้นั้นมีมากมายหลายประการนับไม่ถ้วน
แต่พอจะประมวลมาแจกแจงแสดงให้เห็นได้ตามหลักพระพุทธศาสนา
สายท่าขนุน
15-03-2011, 19:14
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
คำว่า ดี ในที่นี้ หมายความว่า ดีเลิศประเสริฐสุดที่มนุษย์จะสามารถทำได้
ดีด้วยเหตุด้วยผล อันมนุษย์ปุถุชนสามารถฟังได้ เข้าใจได้ตามความเป็นจริง
แล้วสามารถนำมาปฏิบัติให้สมควรแก่อัธยาศัย ซึ่งเป็นไปในทางสวรรค์และพระนิพพาน
พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยอรรถและพยัญชนะครบครันบริบูรณ์
ซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลายในโลกไม่สามารถจะคัดค้านได้ว่าเป็นของไม่จริงไม่แท้
อรรถและพยัญชนะที่พระองค์ทรงแสดงสอนไว้แล้วนั้น
คือธรรมที่แปลว่าของจริงของแท้
ทำ คือการกระทำกิจธุระภาระทั้งหมดที่โลกพากันกระทำอยู่นั้น
ธรรมเนียม คือประเพณีอันดีงามที่โลกถือปฏิบัติมาโดยลำดับ
ธรรมดา คือ คำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วนั่นเอง
ธรรม แปลว่าธรรมชาติซึ่งเกิดเองแล้วก็ย่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา
สายท่าขนุน
15-03-2011, 19:20
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระองค์ที่เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น
มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามศีลสิกขาบทนั้น ๆ ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ คือ
๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม
กระทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต
๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ประกอบแต่กรรมที่เป็นกุศล
งดเว้นจากกรรมไม่ดีทั้งปวง
๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาเสียก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติตรง
ต่อความบริสุทธิ์คือพระนิพพาน
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
เพื่อขัดเกลากิเลสอันเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ สิ้นภพ สิ้นชาติ
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติเป็นใหญ่
เป็นเจ้าของแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า อุปมาเปรียบเสมือนบุคคลได้สมบัติอันล้ำค่ามาแล้ว
มีสิทธิ์ที่จะปกป้องรักษาสมบัตินั้นไว้ด้วยตนเอง ใครจะมาประมาทดูหมิ่นดูถูกไม่ได้
จะต้องสกัดกั้นด้วยปัญญาและวาทะอันเฉียบแหลม เพื่อให้ผู้นั้นกลับใจมาเป็นพวกพ้องของตน
สายท่าขนุน
22-03-2011, 18:49
ศีล
พระพุทธเจ้าทรงจำแนกศีลออกเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ตลอดถึงศีล ๒๒๗
ศีล ๕ มี ๕ ข้อ จำแนกออกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
- ห้ามฆ่าสัตว์
- ห้ามลักทรัพย์ของคนอื่น
- ห้ามประพฤติผิดมิจฉาจารในบุตร ภรรยา สามีของคนอื่น
- ห้ามพูดคำเท็จ คำไม่จริง ล่อลวงผู้อื่น
- ห้ามดื่มสุราของมัวเมา อันเป็นเหตุให้เสียสติ
สายท่าขนุน
22-03-2011, 19:01
ศีล ๘ มี ๘ ข้อ ก็อธิบายทำนองเดียวกัน แต่มีพิสดารในข้อ ๓ ที่ห้ามไม่ให้ประพฤติเมถุนธรรม
ซึ่งข้อนี้เป็นกรรมของปุถุชนทั่วไปที่มักหลงใหลในกิจอันนั้นไม่รู้จักอิ่มจักเบื่อ
แม้ที่สุดแต่สัตว์ตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ มียุงและแมลงวัน เป็นต้น ก็ประพฤติในกามกิจเช่นเดียวกันนี้
ผู้ที่งดเว้นจากเมถุนธรรมอันเป็นกรรมสิ่งเลวร้ายที่เป็นพื้นฐานของโลกนี้ได้
ท่านจึงเปรียบไว้สำหรับพรหมที่ไม่มีคู่ครอง
ผู้เห็นโทษในกามคุณเมถุนธรรมดังว่านี้แล้ว ตั้งจิตคิดงดเว้นแม้เป็นครั้งคราว
เช่นผู้ตั้งใจสมาทานศีล ๘ ไม่นอนกับภรรยา- สามี ชั่วคืนหนึ่งหรือสองคืน
ก็ได้ชื่อว่าประพฤติดุจเดียวกับพรหม
ข้อ ๖ งดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาลหลังพระอาทิตย์ล่วงไปแล้ว
ข้อ ๗ เว้นจากการลูบไล้ทาตัวด้วยเครื่องหอม เครื่องปรุงแต่ง
และการร้องรำขับร้อง ประโคมดนตรี ทั้งความยินดีในการดูแลและฟัง
ข้อสุดท้ายที่ ๘ งดเว้นจากการนั่งนอนเบาะหมอนที่ยัดด้วยนุ่นหรือสำลี
ข้อห้ามทั้งสามข้อเบื้องปลายนี้ล้วนเป็นเหตุสนับสนุนให้คิดถึงความสุขสบาย
และเกิดความยินดีในกามคุณ ๕ ทั้งสิ้น
สายท่าขนุน
24-03-2011, 12:21
ศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ดังอธิบายมาแล้วนั้นเป็นกฎที่จะเลือกสรรให้คนถือความดี ประพฤติดี
เป็นธรรมเครื่องกลั่นกรองคนผู้ต้องการจะเป็นคนดี เป็นธรรมของผู้หวังพ้นทุกข์เช่นนี้แต่ไหนแต่ไรมา
พร้อมกับโลกเกิดพวกฤๅษีชีไพรที่พากันประพฤติพรหมจรรย์กันเป็นหมู่ ๆ ถึง ๑,๐๐๐ คน ๑๐,๐๐๐ คน
ตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก ก็ตั้งฐานอยู่ในธรรม ๕ ประการ ๘ ประการนี้ทั้งนั้น
ธรรมเหล่านี้จึงว่าเป็นเครื่องกลั่นกรองมนุษย์ออกจากโลกโดยแท้
สายท่าขนุน
24-03-2011, 12:24
ศีล ๕ ศีล ๘ นี้มีอยู่ในโลกนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาในโลกนี้หรือไม่ ธรรมทั้ง ๕ ข้อ และธรรมทั้ง ๘ ข้อนี้ก็มีอยู่เช่นเดิม
พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาเห็นธรรมเหล่านั้นแล้วปฏิบัติตาม
ดังนั้นพระองค์จึงตรัสว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ธรรมทั้งหลายในโลกนี้เป็นของเก่า
พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาในโลกหรือไม่ก็ตาม ธรรมเป็นของจริงของแท้ ไม่แปรผันไปตามโลก
หากมีอยู่ เป็นอยู่เช่นนั้นดังกล่าวแล้ว
สายท่าขนุน
05-04-2011, 18:27
ศีล ๑๐ เพิ่มสาระสำคัญขึ้นอีกหนึ่งข้อสำหรับสามเณร
ที่มีศรัทธาจะได้ปฏิบัติตามศากยบุตรพุทธชิโนรส
ด้วยเห็นโทษในอาชีพของฆราวาส ที่ต้องมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนซึ่งเงินตรา
จึงออกมาปฏิบัติพระธรรม ไม่หันเหไปตามจิตของฆราวาสเช่นเดิม
ตั้งมั่นอยู่ในพรหมจรรย์ เป็นทางให้เกิดในสวรรค์ พระนิพพาน โดยแท้
สายท่าขนุน
05-04-2011, 18:31
ศีล ๒๒๗ พระองค์ทรงจำแนกแจกไว้เป็นหมู่เป็นหมวด
ล้วนแล้วแต่จะเป็นเครื่องมือกลั่นกรองโลกออกจากธรรมทั้งนั้น
เช่น ปาราชิก ๔ ห้ามภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา
กระทำเสพสมกิจกรรมอันเลวทรามของโลก ดังกล่าวไว้เบื้องต้น เป็นข้อแรก
สำหรับกิจอื่นก็มี อทินนาทาน ลักของเขา ซึ่งก็จัดเข้าในหมวดปาราชิกเช่นเดียวกัน
ฆ่ามนุษย์และการพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม คือกล่าวอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตน
บาปกรรมสี่ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงห้ามภิกษุในพระพุทธศาสนากระทำโดยเด็ดขาด
หากภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีจิตหันเหไปทำกรรมสี่อย่างดังกล่าวมาเช่นว่านี้
พระองค์ทรงลงพระพุทธอาญาฆ่าผู้นั้นด้วยอาบัติปาราชิก ไม่ปรานีเลย
สายท่าขนุน
08-04-2011, 12:12
อาบัติสังฆาทิเสสมี ๑๓ ข้อ
เริ่มด้วยภิกษุผู้มีเจตนาทำให้น้ำอสุจิของตนเคลื่อนเป็นอาบัติสังฆาทิเสสข้อที่หนึ่ง
ภิกษุผู้งดเว้นจากกามคุณเมถุนสังโยคดังกล่าวมาแล้ว ยังมีจิตประหวัดคิดถึงสิ่งที่เคยทำมา
แต่ไม่สามารถประกอบกิจนั้นได้ ด้วยใจที่ใคร่ในความกำหนัดต้องการสัมผัสกายหญิง
เพื่อลดหย่อนผ่อนคลายความกำหนัดนั้นให้มีเพียงสัมผัส ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ ๒
อาบัติสังฆาทิเสสมี ๑๓ ข้อ
อธิบายมาเพียงสองข้อย่อ ๆ พอเข้าใจในเนื้อเรื่อง ถ้าอธิบายมาทุกข้อก็จะเปลืองกระดาษ
ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ แม้ข้อใดข้อหนึ่ง ต้องออกจากอาบัตินั้นด้วยกรรมวิธี มีอยู่ปริวาสกรรมเป็นต้น
แล้วอยู่ประพฤติมานัตอีก ๖ วัน จึงขออัพภาน
เป็นอันว่าพ้นจากข้อหาของหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ หมู่ยอมให้อยู่ร่วมกันได้
สายท่าขนุน
08-04-2011, 12:17
พระวินัยสิกขาบททุกข้อที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ว่ามีโทษอย่างนั้น ๆ
ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีจิตหันเหไปล่วงละเมิดสิกขาบทใดตั้งแต่สังฆาทิเสสเป็นต้นไป
ย่อมพ้นไปจากอาบัตินั้น ๆ ได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังแสดงไว้นั้น
แต่มิใช่จะหมายความว่าภิกษุนั้นจะพ้นไปจากบาปกรรมนั้น ๆ ด้วยวิธีแสดงอาบัติก็หาไม่
บาปก็คงยังเป็นบาปอยู่ตามเดิม การแสดงอาบัติเป็นเพียงพิธีกรรมของสงฆ์
เพื่อให้พ้นจากความครหาของหมู่เพื่อนพรหมจรรย์
พระธรรมวินัยของพระองค์ที่ทรงจำแนกออกจากโลกนี้มีมากมายหลายอย่าง
สำหรับภิกษุที่มีมากมายถึง ๒๒๗ ข้อนั้นนับว่าเป็นอักโขอยู่
แต่ถ้าภิกษุรูปใดประพฤติตามสิกขาบทนั้น ๆ ได้แล้ว
ก็เชื่อได้เลยว่าพ้นจากโลกหรือธรรมพอสมควร
สายท่าขนุน
20-04-2011, 11:43
สมาธิ
เรื่องของสมาธิเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าศีลโดยลำดับ
เพราะเรื่องสมาธิเป็นเรื่องของจิตใจโดยเฉพาะ
เป็นเรื่องของการชำระบาปคือกิเลสที่เศร้าหมองในใจให้หมดไปโดยลำดับ
การชำระจิตใจนี้ จำเป็นต้องละรูป คือ วัตถุของอารมณ์ ให้ยังเหลือแต่อารมณ์ของรูป
วิธีอบรมสมาธินั้นท่านแสดงไว้เป็นสองนัย คือการอบรมสมาธิโดยตรง
และโดยวิธีทำฌานให้เกิดขึ้น เบื้องต้นจะกล่าวถึงเรื่องของฌาน
สายท่าขนุน
20-04-2011, 11:53
วิธีการทำฌานให้เกิดขึ้นนั้นจะเป็นวิธีที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ
เพราะได้ทราบว่าวิธีทำฌานนี้มีพวกฤๅษีชีไพรอบรมกันมาก
แต่เข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนาและเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำสมาธิ
ซึ่งจัดเป็นสมาธิโดยตรง จึงจะขอกล่าวถึงเรื่องของฌานก่อน
ปฐมฌาน ท่านแสดงว่ามีองค์ ๕ คือ
- วิตก ความตรึกในอารมณ์ของฌาน
- วิจาร ความเพ่งพิจารณาอารมณ์ของฌานจนเห็นชัดแล้วเกิดปีติขึ้นและความสุขก็มีมา
- ปีติ
- สุข
- เอกัคตา
ทุติยฌาน คงเหลือเพียงองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคตา
ตติยฌาน ละปีติเสียได้ ยังเหลือแต่สุขกับเอกัคตา
จตุตถฌาน ละสุขเสียได้ ยังเหลือแต่อุเบกขากับเอกัคตา
สายท่าขนุน
22-04-2011, 18:39
ฌานทั้งสี่ดังกล่าวมานั้น ท่านว่าเป็นฌานล้วน ๆ ไม่จัดเป็นสมาธิ
แต่ถ้าเรียกใหม่ว่า เอกัคตาในฌานทั้งสามเบื้องต้นอันเป็นที่สุดของฌานนั้น ๆ
จัดเข้าเป็นอารมณ์ของสมาธิคือ ขณิกสมาธินั่นเอง
หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสมาธิเป็นที่สุดของฌานทั้งสี่ก็ได้
เพราะฌานเป็นอุปสรรคของสมาธิ
แต่เมื่อจิตเข้าถึงเอกัคตาแล้ว องค์ฌานทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องหายไปหมด
ยังเหลือแต่เอกัคตาเพียงอย่างเดียว
สายท่าขนุน
22-04-2011, 18:46
เรื่องฌานกับสมาธินั้น เท่าที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมา แต่ไม่ทราบว่าจากพระสูตรไหน
จำได้แต่ใจความว่า พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดไม่มีฌานผู้นั้นไม่มีสมาธิ ผู้ใดไม่มีสมาธิผู้นั้นไม่มีฌาน ดังนี้
แสดงว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงสมาธิกับฌานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ฌานเป็นเรื่องพิจารณาอารมณ์ของจิต หรือจะเรียกว่า ส่งนอก ก็ได้ คือนอกจากจิตใจนั้นเอง
ส่วนสมาธิคือ การเพ่งเอารูป ซึ่งเป็นบ่อเกิดของอารมณ์
และอารมณ์ของรูปให้เห็นชัดเจนทั้งหกอย่าง
แล้วละถอนอารมณ์นั้นเสีย
สายท่าขนุน
26-04-2011, 18:29
ฌาน คือ เพ่งเอาแต่อาการของจิตอย่างเดียว
ให้เป็นอารมณ์อันเดียวแล้วไม่พิจารณาอะไรทั้งสิ้น
เพ่งเอาแต่ความสงบนั้นเป็นพื้น
แต่สมาธิหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เพ่งเข้าถึงจิตผู้นึกคิดและส่งส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ให้เกิดความยินดียินร้าย
โดยมีสติควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา
จะคิดนึกอะไรส่งส่ายไปอย่างไรก็ควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา จิตย่อมเผลอไม่ได้
ฌานกับสมาธิมันจึงผิดแผกกันตรงนี้
สายท่าขนุน
26-04-2011, 18:34
จตุตถฌาน มีอารมณ์ ๒ คือ เอกัคตากับอุเบกขา ซึ่งจะก้าวขึ้นไปสู่อารมณ์อากาศ
เมื่อพิจารณาอุเบกขาอยู่ จิตสังขารช่างผู้สร้างโลก ก็วิ่งออกมารับอาสา
สร้างอุเบกขาให้เป็นความสุขเวิ้งว้าง แล้วก็สร้างให้เกิดวิญญาณ
แล้วก็ดับวิญญาณซึ่งเรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ
คือสร้างจิตสร้างวิญญาณ สร้างสัญญาให้เล็กลง จนดับสัญญา
ความดับสัญญาเวทนานั้นเลยถือว่าพระนิพพาน
แท้ที่จริงไม่ใช่จิตตัง แต่เป็นสัญญาเวทนาหยุดทำงานเฉย ๆ
ถ้าจิตดับที่ไหนจะออกจากนิโรธได้
อันนี้จิตยังมีอยู่ เป็นแต่อาการจิตหยุดทำงาน
หากเราจะเรียกว่า สัญญาสังขารและสรรพกิเลสทั้งหลายหยุดทำงาน
เหมือนกับข้าราชการทำงานเครียดมา ๕ วัน
พอถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์ แล้วก็หยุดทำงาน
เพื่อคลายความเครียดนั้น
วันที่ ๘ คือวันจันทร์จะต้องทำงานต่อจะดีไหม
สายท่าขนุน
03-05-2011, 20:41
ฌานและสมาธิ
จะขอพูดในเรื่องฌานและสมาธิอีก เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น แต่จะพูดเป็นภาษาตลาดพื้นบ้านนี้เอง
ขอท่านผู้มีปัญญาจงอดโทษแก่ผู้เรียนน้อย ศึกษาน้อย จดจำไม่ทั่วถึง และศึกษาจากครูบาอาจารย์ อาจผิดพลาดไปก็ได้
เรื่องฌานและสมาธินั้นเป็นคู่กันมาเพราะเดินสายเดียวกัน คือ จิต นั้นเอง เหมือนเงากับตัวจริง เมื่อมีตัวจริงก็ย่อมมีเงา
เงานั้นบางทีก็หายไปเพราะไม่มีไฟและแสงอาทิตย์ส่อง ส่วนตัวจริงนั้นจะมีเงาหรือไม่มีเงาตัวจริงก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
เงาของตัวจริงในที่นี้ก็หมายถึงจิต เช่น วิญญาณและสังขาร ตลอดถึงสัญญาและเวทนาเป็นต้น
เมื่อจิตสังขารเข้ามารับอาสาปรุงแต่งให้เล็กลงและน้อยลงที่สุด ความสำคัญนั้นก็เป็นไปตามแท้จริง
เรื่องวิญญาณและสัญญาเวทนาก็มีอยู่เท่าเดิมนั่นแหละ ไม่เล็กไม่โต
แต่สังขารปรุงแต่งให้เล็กตามต้องการ จนสัญญาและเวทนาดับหายไป ก็เข้าใจว่าจิตดับ
แท้จริงแล้วไม่ใช่จิตดับ แต่เป็นตัวสังขารปรุงแต่ง ถ้าจิตดับแล้วนิโรธก็จะออกมาทำงานอะไรเล่า
ดังกล่าวแล้ว ฌานมีอาการเพ่งเอาแต่อาการของจิตอย่างเดียว
ไม่มีการพิจารณานอก-ใน-ดี-ชั่ว-หยาบ-ละเอียด สิ่งที่ควรและไม่ควร
เพ่งจนกระทั่งอารมณ์น้อยลงจนอาการของจิตดับ
สมาธินั้นเพ่งเอาแต่ตัวจิตที่เดียว จิตจะคิดดี-ชั่ว-หยาบ-ละเอียด สิ่งที่ควรหรือไม่ควร
สติควบคุมรู้เท่าอยู่เสมอ บางทีสติเผลอไปเป็นเหตุให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ
ประกอบด้วยการถือตนถือตัวเป็นอัตตามีมานะขึ้น ไม่เชื่อคำคน ดื้อรั้นเฉพาะตนคนเดียว
เมื่อสติควบคุมจิตอยู่นั้นรู้ตัวว่าหันเหออกนอกลู่นอกทาง ตั้งสติให้มั่นเข้า พิจารณาให้ชัดเจนลงไป
มิจฉาทิฏฐิก็จะหายวับไป เกิดสัมมาทิฏฐิเดินตามมรรคมีองค์ ๘
เมื่อสติมีที่จิตควบคุมใจให้มั่นคง จะปลงปัญญาเห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มิจฉาทิฏฐิก็จะหายวับไปในที่นั่นเอง
สายท่าขนุน
06-05-2011, 18:53
ฌาน คือ เพ่งเอาแต่อารมณ์ของจิตดังกล่าวแล้ว
บางท่านเพ่งเอาแต่อารมณ์ของรูปเลยเข้าใจว่าเป็นรูป
เช่น เพ่งเอาดวงแก้วหรือพระไว้ที่หน้าอก
แล้วสังขารออกไปปรุงแต่งให้เป็นไปตามความต้องการของตน
เช่น ให้รูปใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง จนเพ่งให้เป็นรูปต่าง ๆ นานา สารพัดที่จะเกิดขึ้น
แล้วเอาอาการของรูปนั้นว่าเป็นมรรคเป็นผลตามความต้องการของตน
แท้ที่จริงแล้วมิใช่มรรคผลหรอก มรรคผลไม่มีภาพ ภาพเป็นเรื่องของฌาน
อภิญญา ๕ ก็เป็นเรื่องของฌานทั้งนั้น มรรคไม่มีภาพ และอภิญญาต่าง ๆ
มีแต่พิจารณาเห็นชัดตามความเป็นจริง แล้วแสดงความจริงอันนั้นให้เกิดขึ้นในใจล้วน ๆ
เช่น เห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ เห็นสมุทัยว่าเป็นสมุทัย นิโรธและมรรคเห็นเป็นนิโรธและมรรค ตามความเป็นจริง
ซึ่งใคร ๆ จะคัดค้านไม่ได้ ว่าทุกข์ไม่เป็นทุกข์ สมุทัยไม่ใช่สมุทัย นิโรธมิใช่นิโรธ มรรคไม่ใช่มรรค
ปราชญ์ในโลกนี้ทั้งหมดไม่มีใครจะคัดค้านเช่นว่านี้ เพราะเห็นจริงทุกสิ่งที่ตนเห็นแล้ว
มรรคที่พระองค์แสดงไว้เบื้องต้น คือ โสดาบันบุคคลท่านละสักกายทิฏฐิ
คือความถือตนถือตัวว่าเป็นตนเป็นตัวจนเป็นอัตตา
แล้วก็ละความเห็นอันนั้นพร้อมทั้งละรูปที่ถือนั้นด้วย วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาสก็เช่นเดียวกัน
มรรคคือการละสิ่งที่ตนถือ คือรูปนั้นเองและละความถือของรูปนั้นคือจิตตนเอง
สมกับที่พุทธศาสนาสอนว่า
เมื่อยังเป็นตนเป็นตัวอยู่ แล้วเห็นสิ่งที่ตนยึดถืออยู่นั้นว่าไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว
แล้วก็ละพร้อมทั้งความถือด้วย เรียกง่าย ๆ ว่าละรูปละนามจนหมดกิเลส
สายท่าขนุน
09-05-2011, 18:20
ฌานนี้ถ้าจะพูดว่าเป็นของปฏิบัติง่ายก็ง่าย คือเพ่งเอาแต่อารมณ์ของจิต อารมณ์อื่นไม่มีแล้ว
เมื่อละอารมณ์ของจิตแล้วก็หมดเรื่องไป
สายท่าขนุน
09-05-2011, 18:27
ส่วนสมาธินั้นเป็นของยากยิ่งนัก คือจิตคิดค้นหาเหตุผลของจิต
นึกคิดร้อยแปดประการว่า จิตจะรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง
เหมือนคนขุดโพรง แมลงเม่าเห็นแสงสว่างก็กรูกันออกมาบินว่อนทั่วไป
ออกมาสลัดปีกเป็นภักษาของสัตว์ทั่วไป ก็มากมายหลายประการ เรียกว่า หมดทั้งโลกก็ว่าได้
กว่าจิตจะเห็นแจ้งแทงตลอดปรุโปร่ง ด้วยใจของตนเองแน่ชัดว่าสิ่งเหล่านั้นไร้สาระ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วละให้หมดสิ้นไปได้ ไม่ใช่ของง่ายทีเดียว
แต่สำหรับจิตผู้เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เชี่ยวชาญในนโยบายต่าง ๆ
ที่ผู้เขียนเรียกว่า ผู้มีแยบคายภายในนี้เอง จะต้องเห็นโทษ ละทิ้งสิ่งเหล่านั้น
ด้วยแยบคายของตนเองโดยเด็ดขาด คือละที่ใจอย่างเดียวแล้วก็หมดเรื่อง
กิเลสไม่ใช่ของยาก ว่าเป็นของง่ายก็ง่ายนิดเดียว คือละที่ใจอย่างเดียวแล้วก็หมดเรื่อง
กิเลสไม่ใช่ของมาก มีอยู่ในใจเข้าไปยึดถือในสิ่งเหล่านั้น
เมื่อละอุปาทานแล้ว กิเลสก็หมดไป ยังเหลือแต่ใจใสสะอาดอยู่ผู้เดียว
สายท่าขนุน
12-05-2011, 18:47
ฌานสมาบัติและสมาธิ
เรื่องฌานสมาบัตินี้ ทุก ๆ คนย่อมปรารถนาอย่างยิ่ง
แม้สมัยก่อนพุทธศาสนาไม่มีในโลก พวกฤๅษีชีไพรก็ได้ทำกันแล้วเป็นหมู่ ๆ
ในสมัยเมื่อพระองค์ยังเป็นพระสิทธัตถราชกุมารแสวงหาพระโพธิญาณอยู่นั้น
พระองค์ได้ทดลองวิชาทั้งหลายที่ทรงศึกษาเล่าเรียนมาจากอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่าง ๆ ในสมัยนั้น
ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ พระองค์ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านอาฬารดาบส
ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางวิชาแขนงนี้ จึงเสด็จเข้าไปขออาศัยฝากตัวเป็นศิษย์
เรียนรู้วิชากับสองอาจารย์นั้นจนสำเร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี
แล้วก็ได้ทดลองกระทำตามจนแน่ชัดว่าทางนี้มิใช่ทางตรัสรู้แน่แล้ว
แม้ว่าท่านอาจารย์ทั้งสองจะยกย่องว่ามีความรู้ความสามารถเทียบเท่าอาจารย์ได้
แต่พระองค์ก็เสด็จลาจากท่านอาจารย์ทั้งสองเที่ยวหาวิเวก
ทำความเพียรภาวนาทางจิตโดยลำพังพระองค์เอง
ทรงหวนระลึกได้ว่าเมื่อครั้งทรงพระเยาว์เป็นพระราชกุมารน้อย ๆ
พวกศากยราชทั้งหลายได้พาพระองค์ไปในพระราชพิธีแรกนาขวัญ
แล้วทอดทิ้งพระองค์ไว้ใต้โคนต้นหว้าเพียงลำพังพระองค์เดียว
ขณะนั้นพระองค์ได้ทำสมาธิจนเป็นไปภายในจิต ทรงกำหนดพิจารณาอานาปานสติ
จนเห็นแจ้งชัดว่า กายนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยแห่งลม
เมื่อลมขาดสูญไป กายนี้ก็เป็นของว่างเปล่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย
แต่จิตยังคงเหลืออยู่เป็นผู้รับบาปกรรมและนำให้ไปเกิดในภพชาติต่าง ๆ
เมื่อพระองค์ทอดทิ้งกายโดยแยบคายอันชอบแล้ว ยังเหลือแต่จิตอย่างเดียว
จิตจึงรวมเข้าเป็นเอกัคคตา ถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ
เวลานั้นตะวันบ่ายไปแล้ว แต่เงาของต้นหว้าก็ยังตั้งตรงอยู่
พวกศากยราชทั้งหลายที่พากันมานะด้วยเห็นว่าพระองค์เป็นพระกุมารน้อยอายุยังอ่อน
ไม่เคยกราบไหว้พระองค์ ต่างก็พากันแห่มากราบไหว้พระองค์ทั้งสิ้น
เมื่อระลึกได้ดังนั้น พระองค์จึงทรงพิจารณาว่าทางนี้จะเป็นทางตรัสรู้กระมัง
ต่อนั้นไปพระองค์จึงบำเพ็ญอานาปานสติ จึงถึงพระสัมมาโพธิญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
สายท่าขนุน
27-05-2011, 17:57
ฌานที่พระองค์ทรงบำเพ็ญกับฤๅษีทั้งสองนั้น เป็นโลกิยฌานก็จริง
แต่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายที่เชี่ยวชาญฉลาดในด้านจิตใจ มีพระอนาคามีเป็นต้น
ท่านก็ยังทรงเล่นเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่แน่แล้ว ไม่เล่นอยู่ในโลกิยธรรม
จะไปอยู่ที่ไหน โลกุตรธรรมเป็นของจริงของแท้จะเอามาเล่นอย่างไร
เขาเล่นหนังตะลุง พระเอกนางเอกลิเก ละคร ก็ล้วนเอาของเทียมมาเล่นกันทั้งนั้น
พระเอกนางเอกมิใช่ตัวจริง แต่สมมติเอาต่างหาก
สายท่าขนุน
27-05-2011, 17:59
ตามเรื่องว่าพระพุทธเจ้าก่อนเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ชมฌานเป็นการใหญ่
เข้านิโรธสมาบัติ ออกจากนิโรธแล้วถอยออกไปจนถึงปฐมฌาน
แล้วกลับเข้าสู่ปฐมฌานอีกจนถึงจตุตถฌาน ไป ๆ มา ๆ อยู่
เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้วพระองค์จึงนิพพาน ในระหว่างกามาวจร
คือ จิตเที่ยวในกามาวจรกับรูปาวจร แต่อารมณ์ของกามาวจรและอารมณ์ของรูปาวจร
ก็มิได้ทำให้จิตใจพระองค์หลงใหลไปตาม เพราะพระองค์รู้โลกทั้งสามแล้วแต่เมื่อครั้งตรัสรู้ใหม่ ๆ
ยิ่งทำใจพระองค์ให้ทรงผ่องใสยิ่งขึ้น เพราะเห็นชัดแจ้งแทงตลอด
ในเรื่องอารมณ์ของกามาวจรและรูปาวจร อันเป็นเหตุให้โลกทั้งหลายวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด
สมกับที่พระอานนท์ชมเชยพระพุทธเจ้าว่า
“น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ในระหว่างกองกิเลสทั้งปวง
ซึ่งมีพร้อมอยู่แล้วในโลกนี้คือกามาวจรและรูปาวจรนั้นเอง”
หรือจะเรียกในมนุษยโลกและเทวโลกก็ได้
สายท่าขนุน
01-06-2011, 18:33
นิโรธสมาบัติกับสมาธิมิใช่อย่างเดียวกัน
นิโรธสมาบัติเข้าไปโดยลำดับเพ่งเอาอารมณ์ของฌานอย่างเดียว ไม่พิจารณาอะไร
จนดับสัญญาและเวทนาเรียกว่าเข้านิโรธ
ส่วนสมาธิคือเพ่งเอาจิตผู้คิดผู้นึก รู้สึกสิ่งต่าง ๆ ว่าดี ชั่ว ว่าหยาบ ละเอียด ว่าสิ่งที่ควรละควรถอน
ซึ่งมีสติเป็นผู้ควบคุมอยู่ เป็นวิสัยของผู้ยังไม่ตาย วิญญาณจะรู้สึกสัมผัสต่าง ๆ
จึงจำเป็นจะพิจารณาให้รู้เหตุผลสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นจริงอย่างไร
ผู้พิจารณาเห็นโทษว่าสิ่งนั้น ๆ เกิดขึ้นแล้วดับเป็นธรรมดา ของเหล่านี้เกิดดับไม่รู้แล้วรู้รอด
เมื่อท่านพิจารณาเห็นชัดแจ้งในใจของตนในธรรมะที่ท่านพิจารณาอยู่
จนเกิดปราโมทย์ความเพลินในธรรมนั้น ๆ เรียกว่า สมาธิ
สายท่าขนุน
01-06-2011, 18:34
มีเรื่องเล่าว่า พระพากุละ เมื่อท่านสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ท่านไปเข้าสมาบัติอยู่ในที่แจ้งแห่งหนึ่ง
สหายเก่าของท่านเมื่อครั้งเป็นฆราวาสอยู่เดินมาในที่นั้น
เห็นท่านนั่งเข้าสมาบัติอยู่จึงถามท่านว่า ท่านทำอะไร
พระพากุละก็ไม่ตอบ แล้วสหายเก่าคนนั้นจึงเดินเลยไป
เมื่อท่านนั่งสมาธิพอสมควรแล้ว ท่านจึงออกจากสมาบัติ แล้วเดินไปพบสหายเก่าของท่าน
เขาจึงถามท่านว่า เราได้ยินอยู่แต่เราไม่พูด เราเสวยธรรมะที่ควรเสวย
เป็นอันว่านิโรธสมาบัติเป็นโลกีย์ ผู้ฝึกหัดแล้วย่อมเข้าใจได้เสมอ
ส่วนสมาธิเป็นธรรมชั้นสูงควรแก่อริยภูมิจึงจะเข้าได้
สายท่าขนุน
07-06-2011, 19:30
มีชายคนหนึ่งชื่อบุษณะ คิดอยากจะภาวนากรรมฐานอย่างฤๅษี อยู่ดี ๆ ก็ไปอยู่ป่าคนเดียว ฝึกหัดกรรมฐานแบบพิจารณาธาตุทั้ง ๔พิจารณาแต่ละธาตุตั้งเดือนกว่า
มาวันหนึ่ง ฝนตกใหญ่น้ำหลากมาจากภูเขาท่วมตัวจนถึงคอ แกไม่รู้สึกตัวเลย จนกระทั่งน้ำแห้งแล้วเห็นฟองน้ำและขยะไหลมาที่คอ แกจึงรู้สึกว่าน้ำท่วมถึงคอ (ดีไม่ท่วมจมูก)
ไม่ทราบว่าอยู่กี่วัน ผอมแห้งยังเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก แกจึงคลานออกมาถึงบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่งซึ่งติดกับชายป่า เจ้าของบ้านเห็นเข้าจึงลงไปอุ้มขึ้นมาอาบน้ำให้แล้วเอาผ้ามาเปลี่ยนให้ใหม่ บำรุงอาหารให้ราว ๓-๔ วัน แล้วเจ้าของบ้านจึงส่งไปหาพ่อแม่
ต่อมาทีหลัง แกจึงบวชในพระพุทธศาสนา ได้ตามมาจำพรรษาในวัดหินหมากเป้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ บอกเบอร์ชะมัดอย่าบอกใคร (เห็นจะเป็นบางครั้ง)
เมื่อมาอยู่วัดหินหมากเป้งที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ผู้เขียนห้ามไม่ให้บอกเบอร์ (หวย) เด็ดขาดถ้าบอกจะไม่ให้อยู่วัด
เขาก็เชื่อฟังโดยดี ออกพรรษาแล้วจึงกลับไปบ้านเดิม และได้ข่าวท่านไปสร้างวัดที่ท่านทำความเพียรแต่ก่อนนั้นเอง แต่มีหมู่เพื่อนไม่มากนัก
สายท่าขนุน
13-06-2011, 19:08
เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยวอินโดนีเซีย ได้ไปพักที่เขาสมาลัง
เป็นภูเขาไฟควันตลบอยู่บนยอดเขา เขาเรียกว่า เขาคิชฌกูฏ
ตอนเช้าและตอนบ่ายจะเห็นควันโขมงอยู่บนยอดเขา เชิงเขาจะมีลาวาเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด
ไม่ทราบว่ากี่พันกี่หมื่นปีมาแล้วที่เป็นอยู่เช่นนี้
เย็นวันหนึ่งมีคนมาหาที่วัด แล้วพูดเรื่องภูเขาและเรื่องที่เขาไปภาวนา
อยู่ในป่าแห่งหนึ่งข้างทางที่เขาชี้ให้ดูนั่นเอง
เขาบอกว่า แบกกล้วยไปเครือหนึ่งหวังว่าจะกินวันละลูก ร้อยวันก็หมดพอดี
แล้วเขาก็นั่งภาวนาอยู่แถวนั้น ทีแรกก็กลัวสัตว์ร้ายมี งู เสือ หมี เป็นต้น
แต่ภาวนามาได้ ๒-๓ วัน สัตว์เหล่านั้นก็มาหายั้วเยี้ยเลยไม่กลัว
เห็นเป็นมิตรสหายอันดีต่อกัน เขาไม่ได้บอกว่านะไปอยู่ป่ากี่วัน
และไม่ได้บอกลูกเมียทางบ้านให้ทราบด้วย
เขาภาวนาเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้กลับเข้าไปบ้าน
มองเห็นบ้านและลูกเมียเป็นอะไรไม่ทราบ คิดกลัวไปหมด
อยู่มาราว ๓-๔ วัน สัญญาอันนั้นก็กลับเข้ามาเห็นลูกเมียเป็นปกติ
สายท่าขนุน
13-06-2011, 19:09
มีเรื่องเล่าว่า ลูกพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง รักษาศีลเคร่งครัดมาก
เมื่อเห็นประชาชนประพฤติเหลวไหลไม่ประพฤติเป็นธรรม ท่านจึงคิดเบื่อหน่ายหนีเข้าป่าคนเดียว
และบอกว่าห้าร้อยปีจะกลับมาเพื่อฟื้นฟูศาสนาให้เจริญตามเดิม คนอินโดนีเซียเชื่อจนบัดนี้
เวลาก็ล่วงเลยมาห้าร้อยปีกว่าแล้ว ก็ไม่เห็นพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นกลับมาสักที
แต่คนอินโดนีเซียเชื่ออยู่อย่างนั้น และคอยวันคืนมาของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นเพื่อฟื้นฟูศาสนาให้เจริญ
สายท่าขนุน
20-06-2011, 18:15
จิต - ใจ
จะขอย้อนพูดถึงเรื่อง จิต-ใจ อีกทีหนึ่ง เพราะจิต-ใจ เป็นของละเอียดมาก
บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินคำสองคำนี้เลยก็ได้ เมื่อไม่เคยได้ยินได้ฟังก็จะหาว่าผู้เขียนพูดเพ้อเจ้อ
แต่แท้ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องจิต-ใจ ว่าเป็นของสำคัญมาก
เมื่อพูดถึงเรื่องกิเลสทั้งหลายก็จะพูดถึงแต่เรื่องจิต-ใจทั้งนั้น
ว่ากิเลสเกิดจากจิต-ใจ กิเลสจะดับก็เพราะดับได้ที่จิต-ใจนี้แห่งเดียวเท่านั้น
กิเลสเป็นของไม่มีตัวตน เป็นนามธรรมล้วน ๆ แต่เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแก่ใคร เมื่อใดแล้ว
ผู้นั้นจะต้องแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา เช่น โทสะ เป็นต้น
เมื่อเกิดจากจิต-ใจ ผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะต้องแสดงสีหน้าพิกลต่าง ๆ
เรามาพิจารณาว่าใครเป็นผู้ทำให้สีหน้าพิกลไปต่าง ๆ
เมื่อจิตเป็นผู้ทำให้เป็นเช่นนั้น เราเอาสติข่มจิตผู้ทำนั้นไว้ให้ได้
ก็จะสามารถระงับโทสะนั้นได้อย่างปลิดทิ้ง
อย่างนี้กิเลสคือโทสะนั้นมิใช่เป็นของมีตัวหรือ
สายท่าขนุน
20-06-2011, 18:18
จิต-สติ-กิเลส
เมื่อจะพูดถึงเรื่องจิต-ใจ ก็จะต้องพูดถึงสติผู้ควบคุมจิตและผู้รักษาจิตโดยเฉพาะ
ส่วนกิเลสคือความเศร้าหมองของจิต จะขอพูดถึงเรื่องสามอย่างนี้เท่านั้นแหละ
นอกจากนี้จะไม่พูด ถ้าพูดไปก็จะฟั่นเฝือมากเป็นเหตุให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญได้
โดยเฉพาะผู้เขียนเป็นคนเรียนน้อยรู้น้อยไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง
จึงจะขอพูดถึงเฉพาะแต่เรื่องที่ปฏิบัติอยู่นี้เป็นหลักใหญ่
และเป็นประธานของการปฏิบัติซึ่งก็มีอยู่เพียงสามอย่างเท่านั้นแหละ
ฉะนั้นจึงอยากให้ผู้อ่าน ผู้ฟัง ได้เข้าใจถึงเรื่องสามอย่างนี้บ้างโดยเฉพาะ
จึงจะเข้าใจหนังสือเล่มนี้ดี ถ้าไม่รู้เรื่องสามอย่างนี้แล้ว ก็จะหาว่าผู้เขียนพูดเพ้อเจ้อไปก็ได้
สายท่าขนุน
22-06-2011, 19:18
จิต คือ ผู้คิดผู้นึกในอารมณ์ต่าง ๆ ที่รวมเรียกว่า กิเลส อันเป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมองนั่นเอง
จึงต้องฝึกหัดให้มีสติระวังควบคุมจิต ให้รู้เท่าทันจิต ซึ่งคำนี้เป็นโวหารของพระกรรมฐานโดยเฉพาะ
คำว่า รู้เท่า คือ สติรู้จิตอยู่ไม่ขาดไม่เกินยิ่งหย่อนกว่ากัน สติกับจิตเท่า ๆ กันนั่นเอง
คำว่า รู้ทัน คือสติทันจิตว่าคิดนึกอะไร พอจิตคิดนึก สติก็รู้สึกทันที เรียกว่า รู้ทัน
แต่ถ้าจิตคิดแล้วจึงรู้นี้เรียกว่า รู้ตาม อย่างนี้เรียกว่า ไม่ทันจิต
ถ้าทันจิตแล้ว พอจิตคิดนึก สติจะรู้ทันที ไม่ก่อนไม่หลัง ความคิดของจิตก็จะสงบทันที นิ่งเฉย
สติควบคุมจิตนิ่งอยู่แต่ผู้เดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนี้เป็นยอดแห่งความสุขที่วิเวก
การที่จะทำสติให้ได้อย่างนี้ จะต้องพร้อมด้วยกายวิเวกและจิตวิเวกอย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อสติเห็นจิตคุมจิตอยู่แล้ว ความปลอดโปร่งแห่งจิตจะหาที่สุดไม่ได้
ความรู้ต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน ย่อมเกิดจากสติควบคุมจิตนี้ทั้งนั้น
ฉะนั้น สติควบคุมจิต จึงเป็นยอดแห่งความปรารถนาของผู้ปฏิบัติกรรมฐานโดยแท้
สายท่าขนุน
24-06-2011, 18:46
คราวนี้จะพูดถึงเรื่อง อารมณ์ของจิต หรือจิตส่งนอก ก็เรียก
จิตที่ส่งออกไปนอกกายมีหกสายใหญ่ ๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จิตส่งนอกมันออกไปจากทวารหกสายนี้ทั้งนั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีเด็ดขาด
สายท่าขนุน
24-06-2011, 18:57
ส่วนคำว่า จิตส่งใน คือในของจิต หมายความว่าส่งออกจากจิตนั่นเอง
โดยที่ไม่ได้ส่งออกไปตามอายตนะทั้งหก
เช่น ส่งจิตไปเห็นรูปเทวบุตร เทวดา หรือภาพภูติผีปีศาจต่าง ๆ นานา เป็นต้น
อย่างนี้เรียกว่า ส่งใน คือ ส่งอยู่ในจิตนั่นเอง
จิตที่ส่งไปตามอารมณ์ภายใน (หรือจะเรียกว่า ส่งใน ก็ใช่)
การที่จิตส่งในนี้เป็นของสำคัญมากเพราะอาจจะเป็นเหตุให้เกิดวิปริตต่าง ๆ
ที่เรียกว่าเสียสติก็เป็นได้
ผู้ฝึกหัดจิตต้องการจับเอาตัวจิต แต่กลับไปจับเอาอารมณ์ที่ส่งออกไปนอกจิต
จึงไม่ได้จิตสักที โดยสำคัญว่าอันนั้นก็จิต อันนี้ก็จิต
แท้ที่จริงแล้วเป็นอาการของจิตหรืออารมณ์ของจิตทั้งนั้น
อย่างที่ท่านเรียกว่า สำคัญเปลือกเป็นแก่นจึงไม่ได้แก่นสักที
เมื่อผู้รู้เช่นนั้นแล้ว ตั้งสติไว้ให้แน่วแน่ คุ้มครองจิตไว้ได้แล้ว
อารมณ์ของจิตเกิดขึ้นเมื่อใดก็ทันจิตทุกเมื่อ
รู้เท่าจิตทุกเวลา อารมณ์ที่ว่านี้คืออาการที่จิตเกิดขึ้นเมื่อใดก็ทันจิตทุกเมื่อ
รู้เท่าจิตทุกเวลา อารมณ์ที่ว่านั้นคือการที่จิตปรุงแต่งก็หายวับไปทันที
ยังเหลืออยู่แต่สติควบคุมจิต ส่วนกิเลสทั้งหลายที่มีมากมายเหลือที่จะคณานับนั้น
เมื่อสติจับจิตตรงนี้ได้แล้ว กิเลสเหล่านั้นก็จะหายวับไปทันที
ที่ว่ากิเลสเกิดจากจิตก็คือเกิดตรงนี้เอง
กิเลสดับจากจิตก็เพราะดับตรงนี้ได้นั่นเอง
เรียกอีกสำนวนหนึ่งว่า เกิดกับดับพร้อม นั้นเอง
ที่พระองค์ตรัสว่ากิเลสทั้งปวงเกิดจากจิตในที่เดียว
จิตคือผู้คิด ผู้นึกหรือผู้ปรุงแต่ง
ถ้าไม่คิดกิเลสทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น
อย่างสำนวนโวหารพระกรรมฐานท่านว่า สติรู้เท่าทันจิต นั่นเอง
เมื่อสติรู้เท่าทันจิตแล้ว กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นก็จะหายวับทันที
สายท่าขนุน
29-06-2011, 18:03
ดังตัวอย่างเช่นความโกรธเกิดขึ้นแก่ผู้ใด
ความโกรธเกิดขึ้นแล้วจึงรู้ จึงเรียกว่าไม่รู้เท่ารู้ทัน
ถ้ารู้เท่าทันแล้ว พอจิตคิดโกรธ สติตามรู้เท่าทัน ความโกรธนั้นก็จะหายไป
สายท่าขนุน
29-06-2011, 18:05
ผู้ซึ่งจะรู้เท่าทันได้ดังว่านั้นจะต้องประกอบด้วยกายวิเวกและจิตวิเวก
กายวิเวกคือ ต้องอยู่คนเดียวจริง ๆ ไม่คิดไม่นึกถึงคนนั้นคนนี้
สงบจากสิ่งทั้งปวงหมด จึงเรียกกายวิเวก
ส่วนจิตวิเวกนั้น จิตต้องเข้าถึงอัปปนาสมาธิ ที่เรียกว่า จิตเป็นเอกวิเวกอยู่คนเดียว
นั้นแหละจึงจะรู้ได้ว่ากายกับจิตควบคุมซึ่งกันและกัน
สายท่าขนุน
14-07-2011, 18:29
บรรดาลูกศิษย์ของพราหมณ์พาวรีทั้งสิบหกคน
ซึ่งพระอาจารย์ได้คิดค้นตั้งปัญหาอันลึกซึ้งคัมภีรภาพให้คนละปัญหา
เพื่อนำไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า
ลูกศิษย์ทั้งสิบหกคนของพราหมณ์พาวรีนี้ ก็ได้รับการอบรม
ปฏิบัติตามหลักวิชาการของพราหมณีวงศ์จนชำนิชำนาญแคล่วคล่องมาแล้วทั้งนั้น
เมื่อพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ตั้งปัญหาให้ไปทูลถามพระพุทธองค์
มาณพทั้งสิบหกคนจึงเดินทางไปยังสำนักของพระพุทธองค์
เพื่อกราบทูลถามปัญหานั้น ๆ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรม
วิสัชนาแก้ปัญหานั้น ๆ ของศิษย์พราหมณ์พาวรีจนครบทั้งสิบหกคน
แต่ละคนล้วนตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์
ก็เกิดรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมนั้น ๆ ได้บรรลุอรหัตผลทุกท่าน
ยกเว้นปิงคิยมาณพ มัวพะวงคิดถึงแต่อาจารย์พราหมณ์พาวรีว่า
ไม่ได้ฟังธรรมคำสอนอันลึกซึ้งละเอียดจากพระพุทธองค์
ทั้งวาจาวาทะถ้อยคำของพระองค์ก็สละสลวยเป็นของน่าฟัง
ธรรมของพระองค์นี้เป็นสิ่งสมควรแก่ผู้มีปัญญา
ที่สามารถพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้โดยแท้
เสียดายจริง ๆ ที่อาจารย์ของเราไม่ได้มาฟัง
ด้วยจิตของปิงคิยมาณพส่งไปหาอาจารย์อยู่อย่างนั้น
จึงไม่ได้สำเร็จอรหันต์พร้อมเพื่อนในคราวนั้น
ต่อมาภายหลังเมื่อได้ฟังธรรมโอวาทจากพระพุทธองค์อีก
จึงได้สำเร็จบรรลุอรหัตผล
บรรดาศิษย์ทั้งสิบหกรวมทั้งอาจารย์จึงได้ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระองค์
แล้วพระองค์ก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ความว่า
ท่านจงเป็นภิกขุมาเถิด ธรรมวินัยของเราตรัสไว้ดีแล้ว
สายท่าขนุน
18-07-2011, 20:41
กิเลสทั้งหลายที่ว่ามีมากมาย เวลาจะดับ ก็ดับที่ตรงนี้แห่งเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปหาดับในที่ต่าง ๆ ทั่วไป
พระพุทธศาสนาท่านสอนให้ดับที่ต้นตอบ่อเกิดของกิเลส กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นก็จะดับหมด
ถ้าจะกล่าวว่า พระพุทธศาสนาเป็นของกว้างก็กว้าง
กล่าวคือท่านสอนเรื่องจิตที่ส่งส่ายไปตามอารมณ์หาที่สุดมิได้ คือหาประมาณที่สุดไม่ได้นั่นเอง
ถ้าจะว่าเป็นของแคบก็แคบนิดเดียว
คือเมื่อสติควบคุมจิตได้แล้ว หาต้นตอที่เกิดของกิเลสได้แล้ว กิเลสก็ดับ ณ ที่นั้นเอง
สายท่าขนุน
18-07-2011, 20:53
โอ้อนิจจาน่าสงสารพระภิกษุที่บวชมาไม่ถึง ๔-๕ พรรษา
ก็อยากจะเป็นพระคณาจารย์สอนพระกรรมฐานเสียแล้ว
แต่พระกรรมฐานห้าอย่างที่พระอุปัชฌาย์สอนให้ตนเบื้องต้นตอนบวชก็ยังพิจารณาไม่ได้
แล้วจะไปสอนคนอื่นได้อย่างไร
ผู้ที่จะเป็นพระคณาจารย์สอนกรรมฐานได้นั้นตนเองจะต้องฝึกหัดสมาธิให้ได้
ขณิก-อุปจาร-อัปปนาสมาธิเสียก่อน
ถ้าปฏิบัติไม่ได้อย่างว่านั้นแล้ว ขืนไปสอนเขาเดี๋ยวจะถูกลูกศิษย์หลอกเอา
บางทีอาจารย์เรียกลูกศิษย์มาอบรมกรรมฐานแล้วถามว่าจิตเป็นอย่างไร
ลูกศิษย์ก็จะบรรยายอย่างกว้างขวางว่าจิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ฝ่ายอาจารย์หลงเชื่อเพราะตนเองไม่เคยเป็นมาก่อน
ขณิก-อุปจาร-อัปปนา สมาธิก็ไม่รู้จัก
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะเสริมลูกศิษย์คนนั้นว่าดีแล้ว ถูกแล้ว
ลูกศิษย์คนอื่น ๆ เมื่อได้ยินได้ฟังอาจารย์พูดเช่นนั้น ส่งเสริมอย่างนั้น
ต่างก็ริที่จะสรรหาคำพูดต่าง ๆ มาพรรณนาให้อาจารย์หลงเชื่อ
อาจารย์ก็จะส่งเสริมลูกศิษย์คนนั้นต่อไปว่าได้สำเร็จมรรคผลชั้นนั้น ชั้นนี้ ภูมินั้น ภูมินี้
แล้วก็จะไปโฆษณาตนเองว่าฉันได้สำเร็จมรรคผล
สิ่งเหล่านี้ผู้เขียนได้เคยประสบมาแล้ว
สายท่าขนุน
26-07-2011, 12:26
มีผู้หญิงคนหนึ่งเคยเป็นหัวหน้าอบรมสั่งสอนกรรมฐานเขามาเป็นเวลาตั้งสิบกว่าปี
ต่อมาภายหลังได้ไปอบรมกรรมฐานแบบยุบหนอพองหนอ คือ กายปัพพะดี ๆ นี่เอง
แล้วก็กลับไปโฆษณาให้เพื่อนเก่า ๆ ฟังว่ามาทำกรรมฐานกับฉันเถิด ทำแบบพุทโธไม่ได้ผลหรอก
มาอบรมแบบยุบหนอ-พองหนอดีกว่า เจ็ดวันเท่านั้นจะทำให้สำเร็จมรรคผล
เพื่อน ๆ ได้ยินเข้าเขาเบื่อไม่อยากฟัง แต่ก็ทนฟังแกพูดเพ้อเจ้อไปอย่างนั้นแหละ
ต่อมาผู้เขียนได้เรียกตัวมาถามว่า คุณอบรมกรรมฐานอย่างไรจึงได้สำเร็จมรรคผลเร็วนัก
แกกลับปฏิเสธเป็นชุลมุนว่า อบรมตามอย่างอาจารย์สอนนั่นแหละ
นี้เป็นตัวอย่าง เรื่องการสำเร็จมรรคผล พูดอวดอุตตริมนุสสธรรมไปทั่วบ้านทั่วเมืองเช่นนี้
ถ้าเป็นจริงอย่างแกว่า ผู้หญิงก็จะเป็นอรหันต์กันไปหมดนะซิ ต่อจากนั้นแกจึงค่อยสงบลง
สายท่าขนุน
26-07-2011, 12:32
การฝึกกรรมฐานแบบพม่า คือ ยุบหนอ พองหนอ หมายเอาลมหายใจเข้า-ออก นั่นเอง
ต่อมาสอนให้กำหนดเอาอิริยาบถ เช่น เมื่อก้าวเท้าไปข้างหน้า กำหนดว่า ก้าวหนอ-ก้าวหนอ อย่างนี้เป็นต้น
ผู้เขียนรู้สึกสงสารจริง ๆ อุตส่าห์ไปเรียนกรรมฐานถึงประเทศพม่า
มาสอนในเมืองไทยกลับมาก็สอนเรื่องเก่านั่นเอง
แท้ที่จริงแล้วสติปัฏฐานภาวนาที่สามเณรน้อย ๆ เรียนจากนักธรรมตรี
ท่องบ่นจดจำกันจนปากเปียกปากแฉะว่าสติปัฏฐานสี่ให้พิจารณา
กาย เห็นสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนา เห็นสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเวทนาปัสสนาสติปัฏฐาน
จิต เห็นสักแต่ว่าเป็นจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธรรม ไม่ใช่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
สายท่าขนุน
01-08-2011, 11:54
การพิจารณากาย-เวทนา-จิต-ธรรม ให้เห็นเป็นสักแต่ว่านั้นไม่ใช่ของง่าย เพราะมันเป็นการลบสมมติบัญญัติของเดิมทั้งหมด
ที่เห็นเป็นสักแต่ว่านั้นมันเป็นบัญญัติสมมติใหม่ซึ่งเกิดจากสติปัฏฐาน
ถ้าผู้ปฏิบัติพิจารณาได้อย่างนี้มันก็จะละการถือตน ถือตัว ถือเรา ถือเขา ให้หมดสิ้นไปจากใจได้นี้เป็นเบื้องต้นของสติปัฏฐานดังกล่าวแล้ว
ที่พากันไปเรียนมาจากประเทศพม่านั้นได้ความเข้าใจอย่างนี้หรือไม่ ถ้าไม่ได้มันก็เป็นเพียงอนุมานกรรมฐานธรรมดา ๆ เท่านั้นเอง คือยุบหนอ-พองหนอ กำหนดลมหายใจเข้าออก
กายก็เห็นเป็นเพียงอาการก้าวไปคือขาของเรานั่นเอง ก้าวไปก็คงรู้เห็นเป็นเพียงแค่นั้น มันไม่เข้าถึงสติปัฏฐานดังที่สามเณรน้อยเรียนนักธรรมท่องบ่นจดจำมาจากตำรา
สติปัฏฐานทั้งสี่นี้ถ้าผู้ภาวนาไม่ถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จะพิจารณาอย่างไร ๆ ก็ไม่เป็นสติปัฏฐานอยู่นั่นเอง ถึงจะไปเรียนมาจากประเทศพม่าก็ตามเถิด เท่านั้นแหละ
สติปัฏฐานภาวนาพระพุทธองค์สอนไม่ให้ไปเรียนที่อื่น ให้เราเอาที่กาย-เวทนา-จิต-ธรรม นี้เอง
เมื่อจะเกิดความรู้ความเข้าใจ ก็รู้ที่กาย-เวทนา-จิต-ธรรม นี้แหละ
สายท่าขนุน
01-08-2011, 11:57
พระคณาจารย์กรรมฐานทั้งหลายควรระวังหน่อย
การที่จะเป็นพระคณาจารย์เขานั้น เรามันจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติให้เป็นเสียก่อน
เพียงแต่เรียนรู้ แต่ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น มีโดยส่วนมาก
กรรมฐานมันมีอาการพิสดารมาก
โดยมากพระกรรมฐานที่มีอายุพรรษา ๒๐๓๐ พรรษา แต่รักษาพรหมจรรย์ไม่ได้นั้น
เป็นเพราะปฏิบัติกรรมฐานไม่ถึงจิต ไม่ใช่เหตุรักผู้หญิงอย่างเดียว
แต่เป็นเพราะปฏิบัติกรรมฐานไม่มีหลัก คงได้แต่เงาดังที่ได้อธิบายมาแล้ว
ในผลที่สุดแม้แต่เงาก็จับตัวไว้ไม่ได้ มันก็เลยเบื่อเท่านั้นเอง
จึงรักษาพรหมจรรย์ไว้ไม่ได้
สายท่าขนุน
04-08-2011, 19:03
เรื่องการบำเพ็ญสมาธินั้น พระองค์แสดงเข้าถึงจิตใจโดยตรง เมื่อแสดงให้แก่พระสาวกองค์ใดองค์หนึ่ง ทรงพิจารณาถึงนิสัยวาสนาของบุคคลนั้น ๆ ว่าเคยบำเพ็ญมาอย่างไร พระองค์ก็แสดงถึงจุดนั้นเลย ท่านผู้ฟังก็พิจารณาตามถึงเหตุผล จนรู้ด้วยตนเองชัดแจ้งประจักษ์ในใจของตนเอง จึงถึงมรรคผลเป็นองค์ ๆ ไป
ดังพระจูฬปันถกะ ผู้เรียนหนังสือยาก พี่ชายให้เรียน ๔ บาทพระคาถา จน ๓ เดือนล่วงไปแล้วก็ไม่ได้อะไร จึงขับหนีออกจากสำนักของตน เมื่อหนีไปพบพระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่า “ทำไมจึงหนีมา” ก็เล่าเหตุการณ์ให้พระพุทธเจ้าฟัง พระพุทธเจ้าจึงว่า “ มา ณ ที่นี้ เราจะสอนกรรมฐานให้ง่าย ๆ” แล้วยื่นผ้าขาวให้ท่อนหนึ่งและให้ท่องว่า “รโชหรณํ ๆ”
เมื่อขยี้ผ้าไปโดยพิจารณาเห็นผ้านั้นค่อย ๆ สกปรกขึ้น ๆ โดยลำดับ จิตใจของท่านเกิดสลดสังเวช ท่านจึงได้บรรลุอรหัตผลและมีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้น หมอชีวกโกมารภัจนิมนต์พระองค์พร้อมด้วยพระสาวกไปรับบิณฑบาตที่บ้าน พระองค์มองไปไม่เห็นพระจุฬปันถกะ จึงว่าพระสงฆ์ยังมาไม่หมด จึงให้ไปตามที่วัด
คนไปตามจึงเรียกพระจุฬปันถกะ พระทั้งวัดก็ขานเป็นคำเดียวกันขึ้น คนไปนิมนต์จึงกลับมากราบทูลพระพุทธเจ้าว่าพระมีมากมายหลากหลาย ข้าพระพุทธเจ้าเรียกพระจุฬปันถกะก็ขานรับกันหมด พระพุทธเจ้าจึงแนะนำว่า องค์ใดขานก่อนจงจับชายจีวรองค์นั้นให้มา ณ ที่นี้ เมื่อคนใช้ทำดังกล่าวก็ได้พระจูฬปันถกะเข้าไปในที่สมาคมดังนี้เป็นต้น
ถึงองค์อื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพระองค์พิจารณาถึงนิสัยวาสนาที่เขาเคยทำมาแต่เมื่อก่อนแล้ว พระองค์ก็สอนธรรมะ บทบาทคาถาแก่ท่านองค์นั้นเป็นเรื่อง ๆ ไป ท่านเหล่านั้นเมื่อพิจารณาตามคำสอนของพระองค์ ก็รู้ชัดแจ้งในธรรมนั้น ๆ ด้วยใจของตนเอง จึงสำเร็จมรรคผลนิพพานมากมาย แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็มิได้วิวาทซึ่งกันและกันด้วยทิฐิมานะ มีสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ด้วยวิหารธรรมเป็นสุขตลอดกาล
หมายเหตุ : ทดลองแก้ไขรูปแบบของข้อความ อันอาจจะทำให้อ่านได้สะดวกขึ้น
สายท่าขนุน
04-08-2011, 19:04
มีภาษิตโบราณภาคอีสานสอนไว้ว่า
คนสามบ้านกินน้ำบ่อเดียว เทียวทางเดียวไม่เหยียบรอยกัน
สายท่าขนุน
08-08-2011, 21:34
หมายเหตุ : ทดลองแก้ไขรูปแบบของข้อความ อันอาจจะทำให้อ่านได้สะดวกขึ้น
กราบขอบพระคุณค่ะ:875328cc:
เนื้อความยังมีอีกไม่กี่หน้า แต่ขึ้นหัวข้อใหม่พอดี จึงจะลองจัดข้อความตามรูปแบบตามที่ท่านพี่แนะนำมาค่ะ
โดยอาจจัดตามความเหมาะสม เช่นเป็นเรื่องเล่า เป็นต้น
สายท่าขนุน
11-08-2011, 18:22
ปัญญาวิปัสสนา
วิปัสสนาเป็นยอดเยี่ยมของปัญญาในพระพุทธศาสนา เป็นคู่กับสมถะคือสมาธินั่นเอง
ท่านผู้รู้บางท่านถือว่าสมถะเป็นเรื่องหนึ่ง วิปัสสนาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้เจริญสมถะไม่ต้องเจริญวิปัสสนา เมื่อเจริญสมถะแก่กล้าแล้ว จึงค่อยเจริญวิปัสสนา ความข้อนั้นไม่จริง
ตามความเป็นมา ผู้เจริญสมถะมักต้องเจริญวิปัสสนาเป็นคู่กันไป เช่น เจริญสมถะต้องพิจารณาธาตุ ๔ อินทรีย์ ๖ เป็นต้น
ในขณะที่เจริญสมถะมันต้องมีอารมณ์กระทบกระเทือน จำเป็นต้องใช้วิปัสสนาคือพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงจะละอารมณ์นั้นได้ เจริญสมถะมันต้องมีอารมณ์ขัดข้องบางอย่างบางประการเหลือวิสัยสมถะที่จะแก้ได้ จำเป็นที่จะต้องใช้วิปัสสนาหรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฟาดฟันอารมณ์ให้ขาดกระจุยไป สมถะจึงจะตั้งอยู่ได้ ถ้าใช้แต่สมถะเพียงอย่างเดียว กว่าจะเจริญวิปัสสนา สมถะก็เสื่อมหมดแล้ว
สายท่าขนุน
11-08-2011, 18:24
ท่านอุปมาอุปไมยไว้น่าฟังว่า นักรบสมัยก่อนเป็นผู้เชี่ยวชาญอาจหาญในกลวิธีออกรบข้าศึกแล้วก็กลับเข้าสู่พระนคร ปิดประตูค่ายคูหอรบให้มั่นคง บำรุงกำลังทหารและอาหารให้สมบูรณ์เพียงพอแล้วจึงออกต่อสู้รบอีก นี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด
สายท่าขนุน
18-08-2011, 19:06
วิปัสสนาปัญญาในพระพุทธศาสนาเป็นวิชาอันสูงสุดใช้คู่กับสมถะตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด
ถ้าไม่มีสมถะ ปัญญาวิปัสสนาก็ไม่เจริญ แต่ถ้ามีปัญญาวิปัสสนาไม่มีสมถะ ปัญญาก็ทู่
ขอให้ผู้ทำความเพียรพิจารณาดูขณะใดที่เจริญสมถะให้แก่กล้า วิปัสสนาเป็นไปเอง
โดยพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้าเวลาใดสมถะอ่อน ปัญญาวิปัสสนาก็ทื่อ
ตั้งแต่ต้นเจริญสมถะ มีสมถะเข้มแข็ง ปัญญาวิปัสสนาจึงจะก้าวหน้า
สมถะและวิปัสสนาจะคู่กันไปจนตลอดถึงที่สุดของพรหมจรรย์
สายท่าขนุน
18-08-2011, 19:10
วิปัสสนาเป็นปัญญาขั้นเด็ดขาด จึงอาจก้าวล่วงพ้นโลกีย์วิสัยไปได้
ดังเห็นในเรื่องจิตติดขัดในอารมณ์เล็กน้อยจะปล่อยวางก็ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิปัสสนาอย่างเด็ดขาด
คือให้มีวิปัสสนาและความสละชีวิตเป็นที่สุด จึงละอารมณ์นั้น ๆ ได้
วิปัสสนาเป็นปัญญาอันยอดเยี่ยมในพระพุทธศาสนา ผู้เจริญวิปัสสนาจะต้องละชีวิตพร้อมด้วย
วิปัสสนาอันเด็ดเดี่ยวเรียกว่า ทำจิตให้กล้าหาญ ละทิ้งสละโลกไม่อาลัยอาวรณ์
เป็นคำสอนอันเด็ดเดี่ยวที่เหนือโลก
สายท่าขนุน
23-08-2011, 22:13
ขอสรุปใจความย่อ ๆ ในหนังสือเล่มนี้ว่า พระคณาจารย์ทั้งหลายที่ได้ศึกษาเรื่องจิต-ใจ ยังไม่เข้าใจแจ้งชัด ขอได้โปรดอย่าไปสอนสานุศิษย์ทั้งหลาย เพราะอาจเป็นบ้าเป็นบอไปก็ได้ ขายขี้หน้าพาหิรกะภายนอกศาสนา เพราะศาสนาพุทธสอนให้เข้าถึงจิต-ใจ แต่ผู้สอนไม่เข้าถึงจิต-ใจ จึงทำให้ลูกศิษย์เห็นผิด เกิดวิปลาสเป็นบ้าไปต่าง ๆ นานา แล้วก็ทอดทิ้งให้ระเกะระกะอยู่ทั่วไป ผู้เขียนได้ประสบเรื่องนี้มามากแล้ว ถ้าผู้นั้นยังพอมีสติอยู่ ก็พอพูดกันรู้เรื่องบ้าง ถ้าเป็นมาก ก็พูดไม่รู้เรื่องกัน แล้วก็เลยพากันทอดทิ้งกันหมด น่าสงสารจริง ๆ
พุทธศาสนาสอนให้เข้าถึงจิต-ใจ ให้มีสติควบคุมจิตของตนให้เป็นคนดีเรียบร้อย แต่ว่าผู้สอนกลับสอนตรงกันข้าม จึงเป็นหนทางให้เสื่อมพุทธศาสนา คนภายนอกก็เลยพากันเห็นว่าพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นบ้า
สายท่าขนุน
23-08-2011, 22:18
พุทธศาสนาแท้สอนให้เข้าถึงจิต-ใจ
จิตคือผู้คิด ผู้นึก ผู้ส่งส่ายไปในสิ่งต่าง ๆ เรียกว่า จิต
ใจคือผู้อยู่เฉย ๆ ตั้งอยู่ในท่ามกลางสิ่งทั้งปวงไม่มีดี-ชั่ว ไม่คิดหยาบ-ละเอียด
ให้นึกก็ได้ให้คิดก็ได้ แต่เรื่องเหล่านั้นเป็นของวุ่นวาย จึงให้อยู่เฉย ๆ ไม่คิดนึกอะไรเลย เรียกว่า ใจ
สายท่าขนุน
26-08-2011, 21:08
อาการของจิตได้แก่ ความคิดส่งส่ายวุ่นวายไปในที่ทั้งปวงจนไม่มีขอบเขต
อาการของจิตนี้จะเรียกว่า ปัญญาก็ได้ หรือเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิก็ได้
ถ้าสติควบคุมให้อยู่ในขอบเขตของสติก็เรียกว่า ปัญญา ตามภาษาของพระกัมมัฏฐาน
เรียกว่า รู้ทัน คือจิตจะคิดอย่างไรในสิ่งใด สติก็ตามทัน
หรือจะเรียกว่า รู้เท่า ก็ได้ คือจิตคิดเรื่องอะไร สติก็รู้ทัน ไม่เกินไม่ยิ่งไม่หย่อน
เมื่อสติรู้เท่า รู้ทัน เรื่องเหล่านั้นก็ระงับหายไป
สายท่าขนุน
26-08-2011, 21:11
ถ้าสติรู้ไม่เท่า ไม่ทันจิต จิตคิดส่งส่ายมากกว่าสติ สติตามไม่ทันจึงเป็นเหตุให้วุ่นวายในอารมณ์ทั้งปวง
ถ้าสติรู้ทัน รู้เท่าแล้ว จิตก็หยุดเพียงแค่นั้น เมื่อทิฏฐิจะเกิดขึ้น ก็เพราะสติไม่รู้เท่า
รู้เท่าแล้ว จิตก็หยุดเพียงแค่นั้น เมื่อทิฏฐิจะเกิดขึ้น ก็เพราะสติไม่รู้เท่า รู้ทันจิตนี้เอง
จึงเป็นเหตุให้เกิดมานะทิฏฐิ ถือตน ถือตัว อวดดี ถือรั้น เอาแต่จิตของตนข้างเดียว
อย่างนี้เรียกว่าทิฏฐิจะเกิดก็เกิดที่นั่นดังกล่าวแล้ว
สายท่าขนุน
02-09-2011, 19:32
เมื่อรู้ว่าพระพุทธศาสนาสอนให้เข้าถึงจิต ถึงใจ
ผู้มีสติควบคุมทันจิต เห็นเรื่องวุ่นวายทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วนั้น
จึงยอมสละทิ้งสิ่งเหล่านั้นเสีย ให้เหลือแต่จิตกับสติสองอันเท่านั้น
จิตก็จะเป็นเอกัคคตามีอารมณ์อันเดียว
เมื่อจิตมีอารมณ์อันเดียวแล้ว ก็จะรวมเข้าเป็นใจ ดังกล่าวมาแล้ว
สายท่าขนุน
02-09-2011, 19:32
ใจมีอารมณ์อันเดียวดังว่ามานี้ ยากที่ผู้ศึกษามากจะเข้าใจได้
เพราะจิตอันเดียวจะไปรู้เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างไร (ที่เรียกว่าปัญญานั่นเอง)
เหตุนั้น ผู้ศึกษามากจึงไม่สามารถทำจิตให้เป็นอารมณ์อันเดียวได้
เพราะความไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นได้
แต่ผู้ฝึกหัดจิตจนเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ได้แล้วย่อมชอบใจ
ทำให้ถึงสมาธิเป็นเอกัคคตารมณ์บ่อย ๆ
สายท่าขนุน
07-09-2011, 19:39
บทสรุป
คำว่า สิ้นโลก เหลือธรรม เป็นสำนวนในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ขอยืมมาพูดชั่วคราว
แท้ที่จริงโลกก็ไม่ไปไหน ธรรมก็คงมีอยู่อย่างนั้นตามเดิม
ถ้าไม่มีโลกเป็นพื้นฐาน ธรรมก็ไม่เกิดขึ้นได้
สายท่าขนุน
07-09-2011, 19:42
พระพุทธเจ้าทรงอุบัติมาตรัสรู้ในโลก โลกก็มีอยู่แล้ว แต่มันปะปนอยู่กับธรรม
คนทั่วไปแยกออกจากกันไม่ได้ จึงได้ใช้ปะปนกันไป
พระพุทธองค์จึงทรงแยกจำแนกออกให้รู้ว่า
โลกเป็นอย่างไร ธรรมเป็นอย่างไร
สายท่าขนุน
12-09-2011, 19:09
พระพุทธองค์ทรงรู้ดีว่าโลกเขาอยู่กันอย่างไร
ซึ่งโลกนี้จะอยู่ได้ก็ต้องมีคู่ครอง เป็นภรรยาสามีซึ่งกันและกัน
สมรักสมรู้เป็นคู่กันเหมือนกับมีจิตใจดวงเดียวกัน
โลกคู่นี้แหละ เมื่อต่างใช้หน้าที่ของตนไม่ถูกเมื่อไร
ก็จะต้องทะเลาะกันวิวาทซึ่งกันและกัน
เช่น สามีก็ว่ากิจการงานของฉันมากมายในการหาเลี้ยงครอบครัว
ฝ่ายภรรยาก็ว่างานของฉันก็มากเหมือนกัน
บ้านทั้งบ้านเป็นภาระของฉันเพียงคนเดียว
เลยใช้สิทธิ์ยุ่งกันไปหมด จนเป็นเรื่องทะเลาะกัน
แตกแยกกันไปคนละทาง
สายท่าขนุน
12-09-2011, 19:13
พระองค์จึงทรงสอนให้รู้จักหน้าที่ของตน
เช่น สอนสามีให้รู้จักหน้าที่ของสามีที่ดีแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง
ภรรยาก็เช่นเดียวกัน บุตรธิดาก็เหมือนกัน
แม้ที่สุดกับพวกข้าทาสบริวารก็ให้รู้จักหน้าที่ของตน
ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามสมควรแก่ฐานะตน
แล้วโลกก็จะอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป
สายท่าขนุน
26-09-2011, 20:17
สรุปความว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติมาในโลกนี้แล้ว
ทรงพัฒนาทั้งโลกและธรรมเป็นของคู่กันไป
แต่ทางโลกมีกิเลสตัณหาหุ้มห่ออยู่มากจนไม่สามารถที่จะเปลื้องออกได้
โลกจึงเจริญไม่ทันธรรม
ส่วนธรรมนั้นถึงจะมีกิเลสตัณหาปะปนอยู่บ้าง
แต่คนส่วนมากพากันพยายามแก้ไขให้น้อยลง ธรรมจึงเจริญรุดหน้า
ผู้มีธรรมอยู่ในใจแล้ว โลกย่อมค่อยจางหายไปจากจิตใจคนนั้น
ธรรมจึงเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นในจิตใจคนนั้น
เรื่องนี้จะยกตัวอย่างให้ดู
สายท่าขนุน
26-09-2011, 20:23
มีเถ้าแก่คนหนึ่ง เป็นคหบดีที่นับหน้าถือตาของบุคคลทั่วไปในอำเภอหนึ่ง
เพราะแกเป็นผู้นำคนทั้งอำเภอ พอชรามากขึ้นก็มีศรัทธาออกบวช
แล้วยกที่สวนที่แกรักษาอยู่นั้นให้เป็นที่วัด
ภรรยาก็ไปบวชชีอยู่ด้วยแล้วก็ตามปฏิบัติพระผู้เป็นสามีของแก
นอกจากนั้นยังทำอาหารตักบาตรพระทั่วไปที่เดินผ่านมาหน้าวัดทุกวัน
ฝ่ายลูกสาวก็เป็นคนดีมีศรัทธามากเช่นกัน
พอถึงวันขึ้นปีใหม่จะมานิมนต์พระทุกวัดที่มีอยู่ในเขตอำเภอนั้น
ทำบุญบังสุกุลเป็นให้หลวงเตี่ย
ผู้เขียนก็เป็นรูปหนึ่งที่ถูกนิมนต์ไปในงานนั้นด้วย
แต่ผู้เขียนโชคดีที่ได้ขึ้นไปบนกุฏิแก แกกำลังป่วยเป็นอัมพาตนอนอยู่กับที่ลุกไม่ได้
สายท่าขนุน
05-10-2011, 20:08
ผู้เขียนได้ไปเห็นแล้วเกิดความเอ็นดูเมตตาสงสารแกมาก รู้จักแกในนามที่เคยเป็นอุบาสกคนสำคัญของอำเภอนั้น ผู้เขียนจึงถามว่า หลวงเตี่ยนอนเป็นอัมพาตอยู่อย่างนี้ หลวงเตี่ยคิดอย่างไร ปรารถนาอะไร
แกบวชมาได้มากกว่าผู้เขียน ๕ พรรษา แกตอบว่า ผมสละหมดแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง เงินทองทรัพย์สมบัติแบ่งแจกลูกหลานหมดแล้ว ผมตั้งหน้าแต่จะบำเพ็ญภาวนา ปรารถนาเอาพระนิพพานอย่างเดียว
สายท่าขนุน
05-10-2011, 20:09
ผู้เขียนตอบว่า พระนิพพานไม่ได้อยู่ในเรื่องสิ่งเหล่านั้น พระนิพพานแท้คืออยู่ที่ใจอันเดียว ผู้เห็นโทษในใจ-จิตที่คิดเกี่ยวข้องพัวพันในสิ่งต่าง ๆ แล้วละทิ้งสิ่งเหล่านั้นเสีย จึงจะเห็นพระนิพพาน ถ้าไม่ละสิ่งเหล่านั้นจะไม่เห็นพระนิพพานเด็ดขาด
สายท่าขนุน
11-10-2011, 18:19
แกถามผู้เขียนอีกว่า ทำอย่างไรจึงจะสละได้ ให้ยังเหลือแต่ใจอันเดียว
ผู้เขียนตอบว่า ต้องทำสมาธิภาวนา สละทุกสิ่งทุกอย่างจนเหลือแต่ใจอันเดียวนั่นแหละ
จึงจะเห็นพระนิพพานแน่ชัดในใจของตน แล้วจะยินดีพอใจในการเห็นนั้นอยู่
จิตเป็นเอกวิเวกอยู่คนเดียวอย่างนั้น นั่นเรียกว่าผู้เห็นทางพระนิพพานแล้ว
สายท่าขนุน
11-10-2011, 18:21
พอดีหลังจากนั้นเป็นพิธีบังสุกุลเป็นให้แกแล้ว ผู้เขียนก็เดินทางกลับวัด
แกก็ได้ลองปฏิบัติตามที่ผู้เขียนแนะนำจนเกิดความรู้ความเข้าใจ
สามารถพูดธรรมได้เป็นเรื่องราว
ลูกสาวของแกคนหนึ่งก็ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน
พอได้ยินหลวงเตี่ยพูดเรื่องธรรมก็ชอบใจ นั่งฟังจนมืดค่ำจึงกลับบ้าน
สายท่าขนุน
31-10-2011, 19:16
คืนวันต่อมาจิตของหลวงเตี่ยเป็นสมาธิอย่างไรก็ไม่ทราบ
รุ่งเช้าขึ้นมา มีคนไปตามผู้เขียนที่วัดบอกว่า
อาจารย์ไปหาหลวงเตี่ยเร็ว ๆ หลวงเตี่ยแกเดือดร้อน จะลาสึกวันนี้แหละ
ผู้เขียนบอกว่า
บอกแกด้วยว่าอย่าเพิ่งสึก ให้รอก่อน
สายท่าขนุน
31-10-2011, 19:18
ผู้เขียนฉันจังหันแล้วจึงรีบเดินทางไปเยี่ยม
กุฏิที่แกอยู่มีสองชั้น ลูกกรงก็สองชั้น
เมื่อไปถึงชั้นนอก ผู้เขียนจึงเรียก
หลวงเตี่ยเป็นอย่างไร
สายท่าขนุน
01-11-2011, 18:53
พอได้ยินเสียงผู้เขียนเท่านั้นแหละ ความเดือดร้อนของแกก็หายไปจากใจหมด
พอเข้าไปนั่งใกล้ ๆ แกจึงบอกว่า
ผมหายแล้ว ที่ผมคิดไปต่าง ๆ นานา เดี๋ยวนี้ผมหายสบายดีแล้ว
สายท่าขนุน
01-11-2011, 18:57
แกจึงเล่าความละเอียดให้ฟังว่า
ผมนอนกลางคืนนอนไม่หลับ ได้ยินเสียงไก่ขัน
เมื่อก่อนมันว่า 'เอ้กอี๊เอ้ก-เอ้ก' แต่เมื่อคืนมันไม่เป็นอย่างนั้น
มันว่า 'จิตเจ้าเป็นเอกแล้ว ๆ'
ตุ๊กแกเมื่อก่อนมันร้องว่า 'ตุ๊กแก ๆ'
แต่เมื่อคืนมันร้องว่า 'ตัวเจ้าแก่แล้ว ๆ'
ผมเอาเรื่องนี้ไปพูดให้ลูกสาวฟัง เลยเดือดร้อนขึ้นมาว่า
เราเอาธรรมไปพูดให้เขาฟัง ผมเป็นอาบัติแล้วกระมัง
จึงคิดว่าจะสึก พอได้ยินเสียงอาจารย์มาพูดอยู่ข้างนอก
ความวิตกนั้นจึงหายวับไปหมดแล้ว ผมสบายดีแล้ว
สายท่าขนุน
21-11-2011, 20:21
ผู้เขียนจึงอธิบายให้แกฟังว่า เรื่องธรรม มันต้องพูดไปอย่างนั้นแหละจึงจะรู้เรื่องกัน
มันไม่เป็นอาบัติหรอก
เราไม่ได้ตั้งใจจะพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมเพื่อหวังลาภผลใด ๆ ทั้งหมด
แต่เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน
สายท่าขนุน
21-11-2011, 20:24
คืนต่อมาแกนอนไม่หลับอีก
ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้า พระกัสสปะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร
เสด็จมาเทศน์โปรดไพเราะเหลือเกิน องค์นั้นเสด็จไปแล้ว องค์นี้เสด็จมาแทน
แล้วก็ได้เอาไปพูดให้ลูกสาวฟังอีก ลูกสาวชอบใจใหญ่นั่งฟังจนค่ำ
พอลูกสาวกลับไปแล้ว ความวิตกเดือดร้อนเกิดขึ้นอีกอย่างคราวก่อน
ว่าตายแล้ว กูตาย บวชมาหวังจะรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์
กลับมาพูดอย่างนี้เป็นอาบัติอีกแล้ว จึงคิดจะสึกวันนี้แหละ
สายท่าขนุน
27-11-2011, 14:28
พอผู้เขียนไปถึงได้พูดความจริงให้ฟังว่า
การปฏิบัติมันต้องเอาความจริงมาเล่าสู่กันฟัง จึงจะรู้เรื่อง
พูดให้ฟังหลายเรื่องหลายอย่างจนแกหายสงสัย
แล้วผู้เขียนก็มีกิจธุระที่จะต้องจากไปในวันนั้นเอง
ไปจำพรรษาคนละจังหวัดกัน
สายท่าขนุน
27-11-2011, 14:31
ออกพรรษาแล้ว ได้ทราบข่าวแกมรณภาพแล้ว
ระหว่างที่ป่วยอยู่นั้น ลูก ๆ ได้ไปนิมนต์พระคณาจารย์หลายองค์มาเทศน์ให้ฟัง ก็ไม่ถึงใจแก
แต่แกฟังไปอย่างนั้นแหละ แกพูดถึงผู้เขียนจนกระทั่งวันตาย
นิสัยแกเป็นคนเชื่อตนเอง คิดนึกอย่างไรมักจะเป็นผลสำเร็จ
แกชอบทำตามใจของแกจนได้สำเร็จประโยชน์จริง ๆ
น่าเสียดายที่ผู้เขียนได้อบรมแกเพียงสามครั้งเท่านั้น แต่ไม่ได้อบรมวิปัสสนาต่อ
เลยไม่ทราบว่าจิตของแกเป็นอย่างไรเมื่อตายไปแล้ว
สายท่าขนุน
30-11-2011, 20:24
นี่แหละ คำว่า “สิ้นโลก เหลือธรรม”
คือเมื่อธรรมเกิดขึ้นที่ใจแล้ว เรื่องโลกเลยกลายเป็นธรรมไปหมด
ดังเช่นเสียงตุ๊กแกร้อง หรือไก่ขันเป็นต้น ก็เป็นธรรมไปหมด สิ่งอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อธรรมเกิดขึ้นที่ใจแล้ว เรื่องโลกก็ค่อย ๆ หายไป ๆ เรื่องสิ้นโลก เหลือธรรม ดังบรรยายมาเป็นอย่างนี้
แต่ความเป็นจริงโลกก็ยังเป็นโลก ธรรมก็ยังเป็นธรรมอยู่ตามเดิมนั่นเอง
เรื่องธรรมเป็นอย่างนี้แหละ ถ้าปฏิบัติไม่เป็นไปด้วยกันแล้วจะไม่เชื่อเลย
คนที่ปฏิบัติเป็นไปด้วยกันแล้วจะนั่งชนเข่าคุยกันได้เลย วันยันค่ำก็อยู่ได้
แต่ถ้าคนหนึ่งไม่มีธรรมอีกคนหนึ่งมีธรรม พูดกันประเดี๋ยวเดียวก็แตกแยกไปคนละฝ่าย ไม่สนุกเลย
นักปฏิบัติทั้งหลายต้องปฏิบัติให้เข้าถึงอุปจาร-อัปปนาสมาธิ แล้วพูดคุยกันจึงจะรู้เรื่องกันดี
ธรรมเป็นของเกิดจากใจแต่ละคน
เมื่อพูดธรรมออกมาก็จะพูดออกจากใจแท้ของตน
จึงเป็นเรื่องสนุกมาก…
สายท่าขนุน
30-11-2011, 20:24
-จบ-
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.