เข้าระบบ

View Full Version : ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น


ป้านุช
17-09-2009, 15:00
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
เวทนา

จงทำจิตให้ยอมรับเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ว่าเป็นของธรรมดา แล้วพยายามลดการยึดเกาะในเวทนานั้น
ด้วยการระงับอาการของสังขาร คือ ไม่ปรุงแต่งธรรมนั้น ๆ นี้คือสัจธรรมของการมีร่างกาย
เมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีเจ็บ มีแก่ มีตายเป็นธรรมดา
จงวางอารมณ์ให้สงบ ยอมรับธรรมที่ยังต้องปรุงแต่งนี้ เพราะเป็นสิ่งที่หลีกหนีกันไม่พ้น

เมื่อมีการเกิดของร่างกายแล้ว
จงกำหนดรู้เอาไว้ว่า เป็นทุกข์ของการมีร่างกายอยู่เนือง ๆ พยายามทำจิตให้ยอมรับนับถือกฏของธรรมดา
แยกจิตออกมาอย่าให้ทุกข์ตามไปด้วย พยายามทรงอารมณ์จิตไว้ให้เป็นสังขารุเบกขาญาณ
แม้จักเป็นอ่อน ๆ ก็ควรจักพยายามซักซ้อมกันเอาไว้ อย่าให้จิตมีอารมณ์บ่น แม้แต่ในใจก็ใช้ไม่ได้
เพราะนั่นคือการเกิดอารมณ์ปฏิฆะ
และเป็นการคัดค้านสัจธรรมที่ฝืนความเป็นจริงของร่างกาย

ตั้งแต่นี้ต่อไปอาการสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาอันสืบเนื่องมาจากร่างกาย
จักเป็นครู เข้ามาทดสอบจิตของเจ้าอยู่เนือง ๆ ขอให้เตรียมใจสอบกันให้ดี ๆ

ถ้าลงธรรมดาไม่ได้ก็ถือว่าไม่ผ่านข้อสอบ ดูอารมณ์กระทบให้ดี ๆ
จักพอใจหรือไม่พอใจก็ใช้ไม่ได้ ต้องลงอุเบกขาญาณเข้าไว้ อาการสุขหรือทุกขเวทนานี้
ต้องนับเนื่องไปหมดทางอายตนะ ๖ ขอให้ดูอารมณ์ของจิตเข้าไว้ให้ดี ๆ

อนึ่ง การทบทวนธรรม (ธัมมวิจัย) ก็จงทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
และให้สังเกตอารมณ์ของจิตนั้นว่าเคลื่อนไหวไปได้อย่างไรบ้าง


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
18-09-2009, 16:59
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

กายทำงานทางโลก แต่จิตทำงานทางธรรม


ขอให้มั่นใจในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ เดินมรรคด้วยจิตอย่างไม่หยุดยั้ง ร่างกายจักทำอะไรอยู่ก็ตาม
จงกำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์พระกรรมฐานตลอดเวลา จักเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้

จงกำหนดรู้อยู่ให้เกิดความเคยชินอยู่เสมอ
เผลอบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง มันก็ต้องมีอยู่เป็นของธรรมดา
อย่าเพิ่งตำหนิตนว่าเลว จักทำให้จิตเสียกำลังใจ
เผลอบ้าง ฟุ้งบ้าง ง่วงนอนบ้าง ก็ลงตัวธรรมดา

ตั้งใจใหม่เมื่อระลึกได้
วาระหลังต่อสู้กับอารมณ์ใหม่ ทำบ่อย ๆ ก็เหมือนตักน้ำใส่ตุ่ม
เก็บเล็กเก็บน้อยทำให้น้ำเต็มตุ่มได้ฉันใด
การปฏิบัติธรรมก็สามารถเป็นสันตติเต็มจิตได้ฉันนั้น

แต่ควรจักระมัดระวังอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ ระงับเข้าไว้ไม่ให้มันมีกำลังแรงกล้า
ความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้น้ำในตุ่มเหือดแห้งได้ฉันใด
ไฟอารมณ์ก็สามารถทำจิตให้แห้งจากความดีได้ฉันนั้น

ขึ้นชื่อว่าความร้อนใจ พยายามระงับให้มันดับไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จักเร็วได้
ให้กระทำตามขั้นตอนที่ให้ไว้ แยกแยะอารมณ์ให้ถูกต้องก็แล้วกัน


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
21-09-2009, 16:20
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

มรณานุสติ

เจ้าจงหมั่นจำอารมณ์ตัดตายนั้นไว้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติครั้งต่อ ๆ ไป
ทางที่ดีอย่าเลือกตั้งอารมณ์นี้เฉพาะเวลา ควรตั้งไว้ให้จิตพร้อมอยู่เสมอตลอดเวลา
เพราะเป็นอารมณ์สละร่างกาย คลายความเกาะเวทนาลงไปได้เด็ดขาด

จิตกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ตลอดเวลา
อย่าพึงคิดว่าทำไม่ได้ จักต้องคิดว่าทำได้
ทุกอย่างสำเร็จลงได้ด้วยความเพียร



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
23-09-2009, 10:58
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

อย่ากลัวกิเลสมารและขันธมาร

อย่ากลัวการประจันหน้ากับขันธมารและกิเลสมาร
เพราะนั่นคือครูที่จักทดสอบอารมณ์จิตของพวกเจ้าว่า จักผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้หรือไม่

ขันธมารและกิเลสมารเป็นของจริงที่นักปฏิบัติกรรมฐานจักต้องลุยผ่านทุกคน
ถ้าชนะได้ก็ถึงพระนิพพาน
แต่ถ้าแพ้ก็ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป

อย่าหนีความจริง ขันธมารกับกิเลสมารเป็นของคู่มากับร่างกาย
ซึ่งมันได้ผูกจิตจองจำ กักขังเรามานานนับอสงไขยไม่ถ้วน อดทนต่อสู้เข้าไว้

ถ้าชาตินี้ยอมพ่ายแพ้แก่มัน ชาติต่อ ๆ ไปก็ไม่มีทางชนะมันได้
ทำกำลังใจให้เต็ม เมื่อรู้แล้วว่าร่างกายนี้มีแต่ทุกข์หาสุขไม่ได้
เป็นเหยื่อของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม
เราโง่หลงผูกติดกับร่างกายนี้มานาน หลงอารมณ์ที่เพลินไปกับกิเลสมารชาติแล้วชาติเล่า
อย่างไม่รู้เท่าทันความทุกข์อันเกิดจากขันธมารและกิเลสมารนั้น

มาบัดนี้พวกเจ้ารู้ทุกข์อันเกิดจากขันธมารและกิเลสมารมาพอสมควรแล้ว
จงรักษาอารมณ์ตัดตาย สละร่างกายนี้ทิ้งไป เพื่อเป็นฐานกำลังของจิต
ควบคู่กับอานาปานสติให้ทรงอยู่เสมอ ๆ
จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จักทำให้การเจริญสมณธรรมของพวกเจ้า
มีผลเจริญขึ้นตามลำดับ จงจำเอาไว้ให้ดี

ถ้าคราวใดขึ้นต้นตั้งอารมณ์นี้ไม่ถูก ก็ให้พิจารณาร่างกาย ไม่ว่าภายในหรือภายนอก
วัตถุธาตุใด ทรัพย์สินต่าง ๆ พังสลายไปหมด กล่าวคือพิจารณาไตรลักษณ์
เห็นทุกสิ่งทุกอย่างพังหมด ไม่มีอะไรเหลือ (อารมณ์อากิญจัญญายตนะฌาน)

จนในที่สุด หาสิ่งยึดถือมาเป็นสาระแก่นสารไม่ได้
โลกและขันธโลกมีความเสื่อมสลายไปในที่สุด ค่อย ๆ คิดพิจารณาจนจิตยอมรับ
แล้วจึงจับลมหายใจเข้าออก จนจิตเข้าถึงฌาน ให้จิตทรงตัวอยู่ระยะหนึ่ง
จึงหวนกลับมาจับวิปัสสนาญานตามความต้องการต่อไป

อย่าลืม ทำกรรมฐานทุกครั้ง ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาลก่อน
เป็นการทำอารมณ์จิตให้เยือกเย็นอยู่ในพรหมวิหาร ๔ จนเกิดวิสัยเคยชิน
ฝึกได้เมื่อไหร่แผ่เมตตาไปเมื่อนั้น มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ให้แก่จิตและกายของตนเอง และพร้อมกันนั้น มีให้แก่จิตและกายของบุคคลอื่นด้วย

อารมณ์พรหมวิหาร ๔ นี้ จะลดไฟโมหะ โทสะ ราคะให้เจือจางไปจากจิตได้
และในบางขณะที่ระลึกได้ ก็ควรจักนำพรหมวิหาร ๔ ขึ้นมาพิจารณา
เพื่อให้เป็นคุณแก่อารมณ์ของจิตอย่างเอนกอนันต์ด้วย


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
28-09-2009, 16:49
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

การรู้สภาวะที่แท้จริงของร่างกายในปัจจุบัน คือ อริยสัจ

๑.การรู้สภาวะที่แท้จริงของร่างกายในธรรมปัจจุบัน คือ อริยสัจ
เป็นทุกขสัจที่พระอริยเจ้าจักต้องยอมรับนับถือ

สภาวะที่แท้จริงของร่างกายไม่มีใครเขาฝืนมันได้ ยิ่งฝืนมากเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น
ร่างกายมันเป็นไปตามสภาวะปกติของมัน คือ ทำงานหนักมากเกินกำลัง
มันก็เสื่อมโทรมให้เห็นปรากฏชัด เป็นเวทนาอยู่ภายใน

หากจิตรับทราบเวทนานั้นแล้ว วางเป็นสังขารุเบกขาญาณ
คือยอมรับสภาพของร่างกายในขณะนั้น ๆ จิตก็จักไม่ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากสภาวะนั้น ซึ่งไม่มีใครพ้นไปได้

เมื่อยอมรับจิตก็จักมีความสุข ด้วยเห็นร่างกายนี้มีความเสื่อมไปตามปกติของมัน


๒.ประการสำคัญต้องรู้อยู่เสมอว่า ร่างกายนี้มิใช่เรา มิใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา
จิตก็จักผ่อนคลายจากความยึดเกาะในเวทนานั้น
ดังนั้นการกำหนดรู้ว่าร่างกายเสื่อมนั้นเป็นของจริง จิตก็ควรจักยอมรับความจริงนั้น ๆ


๓.ในเมื่อรู้ก็สมควรพัก ดูความเสื่อมและเห็นความดับไปของความเสื่อมนั้น
เมื่อร่างกายได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว ก็จักเห็นความไม่เที่ยงของร่างกายอย่างชัดเจน


๔.บุคคลผู้รู้จริงจักไม่ฝืนสภาพของร่างกาย
กล่าวคือ ไม่มีความเบียดเบียนร่างกายให้เกินไปกว่ากฎธรรมดา
ผู้เห็นทุกข์จริงจะไม่ฝืน และไม่เพิ่มทุกข์ให้กับตนเอง


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
30-09-2009, 14:16
๕.กฎธรรมดาคืออะไร

อย่างร่างกายแก่ก็ไม่ฝืนความแก่
อย่างสตรีแก่แต่ไม่ยอมแก่ ไปผ่าตัดเสริมสาว
ทำร่างกายให้เจ็บปวดก็เป็นการเบียดเบียน
หรือคนเจ็บป่วยมีหนทางรักษาแต่ฝืนกฎธรรมดา
ไม่ยอมรักษา ไม่ยอมใช้ยา ไม่ยอมหาหมอ ก็เบียดเบียนร่างกาย
อย่างร่างกายเสื่อม ต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ จิตไม่รู้เท่าทัน ถือทิฐิ
นั่งนาน ยืนนาน เดินนาน นอนนาน ก็ฝืนกฎธรรมดา คือเบียดเบียนร่างกายเช่นกัน


๖.คำว่าสังขารุเบกขาญาณ ต้องแปลว่า วางเฉยอย่างรู้เท่าทันในกองสังขารทั้งปวง
คือ ยอมรับกฎธรรมดาอันเป็นความจริงของสภาพร่างกาย


๗.อย่าคิดว่าเกิดมาชาตินี้ขอมีร่างกายเป็นชาติสุดท้าย แล้วตะบี้ตะบันใช้งานมันไปอย่างไม่มีปัญญา
ร่างกายถูกเบียดเบียนเท่าไหร่ จิตอาศัยเป็นเครื่องอยู่ ก็จักมีเวทนาที่ถูกเบียดเบียนเท่านั้น


๘.จักต้องรู้จักกฎธรรมดาของร่างกาย จิตจึงจักอยู่เป็นสุขได้
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ร่างกายมันมีความสกปรก ต้องอาบน้ำชำระล้างทุกวัน
จิตเหมือนคนอยู่ในบ้าน บ้านสกปรกตามกฎธรรมดาของโลก
ถ้าไม่เช็ด ไม่ล้าง ไม่ถูให้สะอาด คนอยู่จักหาความสบายใจได้หรือไม่
ร่างกายก็เช่นกัน กฎธรรมดามันเป็นอย่างนั้น
ถ้าฝืนกฎธรรมดาไม่อาบน้ำให้มัน จิตก็ทุกข์ไม่สบายใจเช่นกัน


๙.นี่คือธรรมในธรรมของร่างกาย
ที่เจ้าจักต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่อารมณ์สังขารุเบกขาญาณที่ถูกต้อง
โดยไม่ฝืนกฎธรรมดาของร่างกาย...

ป้านุช
02-10-2009, 12:48
๑๐.จำไว้ว่าธรรมของตถาคต
ต้องเป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจ
ยอมรับกฏธรรมดาของร่างกายและจิตใจ

* ทุกข์ของร่างกาย หรือโรคของร่างกาย ระงับได้ก็พึงระงับอย่างรู้เท่าทัน
* ทุกข์ของจิตใจ หรือโรคของจิตใจ อันได้แก่สังโยชน์ ๑๐
ก็จักต้องกำหนดรู้กฎธรรมดาของอารมณ์ที่มีสังโยชน์นั้น ๆ

แล้วพึงอาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต
เป็นยารักษาโรคหรือทุกข์ของจิตใจ ให้หายขาดจากโรคนั้น ๆ


๑๑.อารมณ์กำหนดรู้จักต้องมี รู้ร่างกาย รู้จิตใจ รู้ระงับ รู้รักษา ให้ตรงจุดที่เป็นโรค
จิตก็จักเป็นสุข หมดความเบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจ

ป้านุช
02-10-2009, 13:07
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ทุกสิ่งในโลก พระองค์จับเอาเป็นธรรมได้หมด

ผู้มีธรรมประจำอยู่ในจิต ย่อมมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมได้หมด
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้าเข้าใจ

สมถะ คือ ธรรมดาในธรรมนั้น ๆ
วิปัสสนา คือ ทุกข์หรืออริยสัจอันเป็นกฎของธรรมนั้น ๆ

ดังนั้น ท่านจึงหยิบยกขึ้นมาอุปมาอุปไมยเป็นคำสอนได้ เพราะเข้าใจและรู้แจ้งเห็นจริง

ธรรมดาในธรรมดา เห็นทุกข์ในธรรมดานั้น ๆ
ธรรมดาของโลกไม่เที่ยง ยึดเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น

อย่าคิดสงสัยในธรรม จงคิดพิจารณาในธรรม จักเห็นความจริงของกฎของธรรมทั้งปวง

เห็นทุกขสัจในทุก ๆ เรื่องที่ตถาคตกับพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ๆ ตลอดจนพระสาวกแสดงมา
จิตพวกเจ้าจงกำหนดรู้ว่า ทุกข์ทั้งหลายนั้นมีจริง ให้ยอมรับในทุกข์นั้น ๆ
สร้างความเบื่อหน่ายทุกข์ให้เกิด จนจิตคลายจากอารมณ์กำหนัดในการเกาะทุกข์นั้น ๆ ลงได้ในที่สุด

บุคคลผู้มองไม่เห็นทุกข์ ก็มักจักไม่ยอมรับว่าทุกข์นั้นมีจริง
เป็นของจริงที่สิงอยู่ในจิตของผู้มากด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม
จึงทำให้มีอารมณ์กำหนัด ไปยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดจากไฟโมหะ โทสะ ราคะ นั้น ๆ

เมื่อมองไม่เห็นทุกข์ จิตจึงไม่ยอมวางทุกข์ ตกเป็นทาสของอารมณ์
ด้วยไม่เห็นของจริงอันเป็นกฎของกรรม หรืออริยสัจนั้น ๆ

จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
08-10-2009, 13:23
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ทุกสิ่งในโลก พระองค์จับเอาเป็นธรรมได้หมด (๒)

จงอย่าประมาทในธรรมเป็นอันขาด
พวกเจ้าจงจำเอาไว้ เผลอมากเท่าไหร่ประมาทมากเท่านั้น

ดูอารมณ์ของจิต ให้คงไว้ในพระกรรมฐานให้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้

เวลานี้พวกเจ้าประหนึ่งกำลังทำสงครามยื้อแย่งพื้นที่ของจิต
โลกธรรมหรือโลกียวิสัยมันครอบครองจิตของเจ้ามานาน ต้องหมั่นพยายามสร้างเสริมกองทัพธรรม
หรือโลกุตระวิสัยให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของจิตให้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เพื่อเป็นการขับไล่กองทัพโลกียวิสัยนั้นให้ถอยออกไปจากจิตให้ได้มากที่สุด

อย่าเผลอให้บ่อยนัก
กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม มันเหมือนครอบครองเป็นเจ้าถิ่นอยู่
มันก็จักยึดทำเลพื้นที่ของจิตได้อย่างชำนาญเกมการรบ
พวกเจ้าต้องดูอารมณ์จิตไว้ให้ดี ๆ อดทนกัดฟันต่อสู้กับเจ้าถิ่นเดิม
ด้วยการเกาะอารมณ์พระกรรมฐานเข้าไว้อย่างแนบแน่น
เผลอให้น้อยที่สุด สักวันหนึ่งชัยชนะก็จักเป็นของพวกเจ้า


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
08-10-2009, 13:45
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ภาพจักชัดหรือไม่ชัดไม่สำคัญ (๑)
ขอให้ใช้อารมณ์ปักตรงต่อพระนิพพานก็แล้วกัน

ร่างกายยิ่งเหนื่อยมากเท่าไหร่ ก็สมควรจักยิ่งซ้อมตาย ทิ้งร่างกายมากขึ้นเท่านั้น
อารมณ์จับภาพพระนิพพานแม้จักไม่แจ่มใสตามปกติ
ก็จงพยายามกำหนดจิตขึ้นมาอยู่บนวิมานแห่งนี้

ภาพจักชัดหรือไม่ชัดไม่สำคัญ ขอให้ใช้อารมณ์ปักตรงต่อพระนิพพานก็แล้วกัน

กิจการงานที่เจ้าทำ ก็ถือได้ว่าเป็นกิจพระพุทธศาสนา
จงมีความภูมิใจหากร่างกายมันจักตายลง ในขณะเหน็ดเหนื่อยในหน้าที่การงานนี้
ก็ถือว่าเพื่อพระพุทธศาสนา เป็นความดีที่เจ้าได้ทำอยู่ ตายก็ตายอยู่กับความดี
จักตายครั้งสุดท้ายเพื่อพระนิพพานหรือเพื่อความไม่เกิดไม่ดับอีก

อย่าทำงานเหนื่อยแล้วทำจิตให้บ่น
ทำเช่นนั้นเจ้าจักขาดทุน การบ่นเป็นอารมณ์ปฏิฆะ จัดเป็นอารมณ์ไม่พอใจ
จงดูและกำหนดรู้ให้ดี ๆ จึงจักละซึ่งอารมณ์กามฉันทะและปฏิฆะได้

พยายามละอารมณ์บ่นให้ได้มากที่สุด
ไม่ว่าจักเป็นมโนกรรมหรือวจีกรรม บ่นเมื่อไหร่ถือว่าเจ้าพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ปฏิฆะเมื่อนั้น
เวลานี้รบกับอารมณ์ จักต้องตั้งใจต่อสู้กับอารมณ์ของจิตให้ดี ๆ
ไม่ใช่สู้แบบไม่รู้จักหน้าค่าตาของศัตรู จักถูกเขาเอาดาบฟันตายอยู่รอมร่อแล้ว
ยังมองไม่เห็นภัยของศัตรูอีก

แยกแยะอารมณ์ให้ถูกตลอดวันตลอดเวลาอย่าเผลอ
จักบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ อารมณ์ของตน ตนเองไม่รู้ แล้วจักให้ใครที่ไหนช่วยรู้ได้
เมื่อรู้เองไม่ได้ ก็แก้ไขอารมณ์จิตของตนเองไม่ได้เหมือนกัน
ชาตินี้ทั้งชาติเจ้าอย่าหวังได้พระอนาคามีผลเลย
ก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป อย่างนี้จักดีหรือ


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
12-10-2009, 14:17
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ภาพจักชัดหรือไม่ชัดไม่สำคัญ (๒)
ขอให้ใช้อารมณ์ปักตรงต่อพระนิพพานก็แล้วกัน

กลัวการเกิดให้มาก ๆ อย่ากลัวความตาย อย่ากลัวความเหนื่อย
อย่ากลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอริยสัจ
เป็นทุกขสัจของการมีอัตภาพร่างกาย เป็นกฎของธรรมดา

จงกำหนดจิตยอมรับกฎของธรรมดาหรืออริยสัจนี้เป็นชาติสุดท้าย
ให้รู้จักเข็ดทุกข์อยู่ในจิต ไม่ขอกลับมาเกิดให้พบทุกข์เยี่ยงนี้อีก

อย่าบ่นเมื่อทุกข์มาเยือน อย่าลิงโลดเมื่อสุขทางโลกมาเยือน
จงพยายามทรงอารมณ์จิตให้เบื่อหน่ายในอารมณ์กามฉันทะและปฏิฆะนั้น ๆ
และทรงพรหมวิหาร ๔ ให้จิตมีกำลังวางทุกข์วางสุขนั้น ๆ
โดยมีความรัก ความสงสารจิตของตนเองเป็นประการสำคัญ

หมั่นทรงอารมณ์เฉยเข้าไว้
ใหม่ ๆ เฉยบ้าง ไหวบ้างก็อย่าท้อใจ
เฉยน้อย ๆ จักเป็นเฉยใหญ่ได้ในภายภาคหน้า
จนกระทั่งเข้าสู่สังขารุเบกขาญาณได้ในที่สุด

อย่าลืมนึกถึงความตายเข้าไว้เสมอ ๆ
เป็นการตัดอารมณ์กามฉันทะและปฏิฆะเข้าไว้
หากเจ้าคิดว่าร่างกายจักตายในขณะจิตนี้เสียอย่าง อารมณ์ก็จักระงับได้ง่าย
เพราะมัวแต่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ตายไปก็ไม่ถึงพระนิพพาน

อย่าลืมคิดตามนี้ให้จิตมันชิน
จักได้คลายความประมาทในธรรมที่เข้ามากระทบได้


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
14-10-2009, 14:53
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ให้เลิกบ่นเพราะเป็นอารมณ์ปฏิฆะ

ในเมื่อเจ้ากำหนดรู้ได้ว่า อารมณ์ใดเป็นอารมณ์ที่ตกเป็นทาสของนิวรณ์เข้ามารบกวน
ก็จงหมั่นระงับนิวรณ์นั้น ในทุกครั้งที่กำหนดรู้ว่ามีอารมณ์ในขณะจิตนั้นลงด้วยเถิด


ต้องทำการระงับให้บ่อย ๆ จักได้มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของจิตที่ตกเป็นทาสของนิวรณ์เข้ารบกวน
ระงับได้มากเท่าไหร่ ผลของการปฏิบัติจักได้มากขึ้นเท่านั้น



อารมณ์ใดที่เกิดขึ้นกับจิต เจ้าต้องหมั่นกำหนดรู้
อย่าคิดปล่อยอารมณ์ไปโดยคิดว่าไม่เป็นไร นั่นคือการประมาทในธรรมโดยแท้


โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์หลงที่คิดว่าไม่เป็นไร เรายังจักไม่ถึงที่ตาย
แล้วเที่ยวส่งจิตออกไปว่าคนนั้นคนนี้ ตำหนิกรรมของผู้อื่นไปตามความไม่ชอบใจ
สรรเสริญคนโน้นที ไปยุ่งก้าวก่ายกับกฎของกรรมของผู้อื่น

มัวแต่มีอารมณ์ยินดียินร้ายในกรรมของบุคคลอื่น ทำให้เสียผลของการปฏิบัติ
เขาดีหรือเขาเลวก็ไม่ได้มาช่วยให้จิตของเจ้าดีขึ้น
ถ้าหากละเลยไม่สนใจผลของการปฏิบัติ มัวแต่มองผลของกรรมของบุคคลอื่น
สังขารุเบกขาญาณก็เกิดขึ้นได้ยาก

อย่าลืมอารมณ์ใครก็ไม่สำคัญ สำคัญที่อารมณ์จิตของเรา
พยายามดูอารมณ์ของตนเองเข้าไว้เป็นสำคัญ

อารมณ์คนอื่นดูแล้วละไปจากอารมณ์ของเราโดยเร็ว
ให้ลงตัวปกติในธรรมของบุคคลนั้น ๆ อย่าใช้อารมณ์ของเราเข้าไปปรุงแต่งธรรม
มันจักทำให้อารมณ์จิตของเราเสีย ทำให้เกิดอารมณ์ตำหนิกรรม ไม่มากก็น้อย

จงระมัดระวังให้มาก ดูอารมณ์จิตตัวนี้เอาไว้ให้ดี ๆ ที่เอาดีกันไม่ค่อยจักได้
ก็เพราะมัวแต่สนใจอารมณ์ของบุคคลอื่นนี่แหละ

ขาดอุเบกขารมณ์เป็นสำคัญ พรหมวิหาร ๔ ขาดตัวปลาย อีก ๓ ตัวกำลังก็ยังอ่อน
เจ้าจงหมั่นพยายามเจริญพรหมวิหาร ๔ ให้มาก ไม่ใช่ท่องจำ
ต้องหมั่นเอามาคิดพิจารณาทุกครั้งที่จิตเสวยอารมณ์ที่เบียดเบียนตนเอง
ต้องรู้ด้วย จำด้วย และทำด้วยในพรหมวิหาร ๔ อย่าจำแค่ตัวหนังสือ จักหาผลได้ยาก
พรหมธรรมทำไม่ได้ ก็เป็นพระอนาคามีไม่ได้ จักหวังอะไรกับพระอรหัตผล


จงหมั่นทำไปอย่าละความเพียรและห้ามบ่นท้อแท้ด้วย
กิเลสมันไหลออกมาทางวาจา ยิ่งบ่นยิ่งเพิ่มอารมณ์ จักมีประโยชน์อันใด
เลิกจริยานี้เสียที


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
19-10-2009, 16:32
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

จิตเหมือนเด็ก ชอบของเล่นใหม่ ๆ และวิธีแก้ไข
สภาพของจิตมันจักตื่นเต้นกับงานชิ้นใหม่ ๆ จึงฟุ้งไม่รู้จักหยุด เช่นเดียวกับการเจริญพระกรรมฐาน
หากได้ภาพกสิณใหม่ ๆ เจ้าก็มักจักชมชอบเล่นอยู่อย่างนั้น
แต่พอไประยะหนึ่ง จิตก็จักคลายจากอารมณ์การชมชอบนั้น

งานก็เช่นกัน สักระยะหนึ่งก็จักลงตัวเบื่อหน่าย
นี่หากเจ้าสามารถเบื่อกิเลสได้เยี่ยงนี้บ้าง ก็จักดีมาก

หากจักกล่าวไปตามความเป็นจริงแล้ว งานทุกอย่างไม่ใช่ของใหม่
ในชาติก่อน ๆ เจ้าก็เคยทำงานเหล่านี้มาแล้ว และบุคคลอื่น ๆ ก็เคยทำงานเหล่านี้มาแล้ว
ชีวิตร่างกายมันหายไป ก่อนที่งานเหล่านั้นมันก็จักหายไปบ้าง จิตมันก็หลงวนเวียนติดงาน
กลับมาเกิด แล้วทำอีก ชอบบ้าง เบื่อบ้าง หลงบ้างอยู่เยี่ยงนี้ตลอดกาลตลอดสมัย

กิเลสก็เช่นกัน เป็นกิเลสตัวเก่า ไม่มีอะไรนอกเหนือไปกว่าโมหะ โทสะ ราคะ
แต่จิตไม่รู้เท่าทันจึงหลงติดอยู่ในบ่วงกิเลส ยังอารมณ์ให้เกิดชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง
เบื่อบ้าง อยากบ้าง แต่ไม่รู้จักเบื่อจริง ๆ เพื่อคลายกำหนัดในกิเลสทั้งปวง

นี่เป็นเพราะเจ้าไม่รู้เท่าทันอารมณ์ของจิต รู้ไม่เท่าทันสภาวะของไตรลักษณญาณ
จึงได้ตื่นเต้นอยู่กับของใหม่ ๆ อยู่เรื่อย แม้จักเป็นวิหารทานก็ตาม ภาพกสิณก็ตาม อย่าตื่นหลงของใหม่ จนหลงลืมความตาย

มรณะภัยที่จักมาเยือนได้ได้ทุกขณะจิต
ระงับความฟุ้งซ่านไม่อยู่ก็เท่ากับประมาท เพราะอารมณ์จิตไม่เกาะพระนิพพานเข้าไว้
จิตมีกิเลสโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยากให้ภาพกสิณนั้นมันทรงตัวอยู่เช่นนั้นตลอดไป
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างเกิด ดับเป็นปกติ

บุคคลผู้ฉลาดนำภาพกสิณเกิด ดับ มาพิจารณาเป็นวิปัสสนา
จนอารมณ์จิตสบาย แล้วจึงกำหนดอานาปานัสสติขึ้นมาใหม่ และกำหนดภาพกสิณขึ้นใหม่
ทำอยู่เยี่ยงนี้จึงไม่รู้จักเบื่อในภาพกสิณนั้น ๆ

งานก็เช่นกัน ที่เจ้าฟุ้งอยู่นี้ เพราะใช้จิตทำงานไปล่วงหน้า
ซึ่งงานเหล่านี้ต้องอาศัยร่างกายเป็นตัวทำ โดยมีจิตบงการอยู่เบื้องหลัง
ทำงานให้มีสติอยู่กับงานเฉพาะหน้าเท่านั้น จิตจึงจักเป็นสุข ไม่เบื่องาน
อย่าวาดแผนงานไปในอนาคต จงอยู่กับงานปัจจุบัน จิตก็จักไม่ฟุ้งซ่าน
เจ้าเห็นสาเหตุของอารมณ์ที่เกิดหรือยัง

ความใจร้อนตัวนี้แหละที่ทำให้อารมณ์ของเจ้าเสียทั้งงานทางโลกและทางธรรม
มรรคยังไม่ทันเดิน ก็ครุ่นคิดไปถึงผลเสียแล้ว งานทุกอย่างย่อมมีขั้นตอน เมื่อใจร้อนก็เสร็จไม่ทันใจเจ้า
ทั้งงานทางโลกและงานทางธรรม อารมณ์ท้อแท้เบื่อหน่ายก็เกิดขึ้น
เจ้าเห็นจุดด่างพร้อยของจิตจุดนี้หรือยัง

เมื่อเห็น ก็จงหมั่นแก้ไข กำหนดรู้ลมหายใจให้มาก ๆ อารมณ์จักได้ไม่ฟุ้งซ่านไปในธรรม
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงค่อย ๆ ทำไปอย่าใจร้อน เตือนจิตตนเองเอาไว้ให้ดี ๆ
ละอารมณ์อย่างนี้ไม่ได้ ก็เอาดีไม่ได้เช่นกัน สาเหตุนี้คือต้นเหตุของอารมณ์เบื่องานทั้งทางโลกและทางธรรม
เจ้าจงหมั่นแก้ไข

หมั่นพิจารณาพรหมวิหาร ๔ ซึ่งเป็นกรรมฐานซึ่งทำให้จิตเยือกเย็น
สลับกันไปกับภาพกสิณพระ โดยอาศัยอานาปานัสสติเป็นพื้นฐาน ทำให้จิตทรงตัว
และจงหมั่นคิดถึงความตาย กันความประมาทเข้าไว้เสมอ ๆ

จงพยายามพิจารณาให้เห็นสภาพที่แท้จริงของร่างกาย
นอกจากความเสื่อมและสกปรกแล้ว มันยังตายได้ทุกขณะจิต และจงคิดอยู่เสมอ
งานทางโลกหรือกิเลสก็ดี เราจักเพียรทำไปตามหน้าที่ งานทางโลกทำไป การเพียรละกิเลสก็ทำไป

กำหนดรู้ว่างานและกิเลสไม่ใช่ของใหม่ ล้วนแต่เป็นของเก่าที่เราพบมาแล้วอย่างจำเจ
ควรทำจิตให้พ้นเสียที อย่าผูกพันกับมันให้มากนัก

งานทางโลกรู้ สักแต่ว่ามีร่างกายก็ต้องทำมันไป กิเลสที่เข้ากระทบก็รู้
สักแต่ว่ามีร่างกายมันก็ต้องกระทบเป็นธรรมดา จิตพร้อมที่จักปล่อยวางงานทางโลก
เมื่อร่างกายมันพังลงไป ยิ่งกิเลส ยิ่งสมควรพร้อมที่จักละ แม้ร่างกายยังไม่พังลงไปก็ตาม
อย่าเอาจิตไปผูกพัน ให้รักษาอารมณ์จิตเอาไว้ให้ดี ๆ


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
21-10-2009, 18:45
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ศรัทธาคือขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ในพุทธศาสนา

จงหมั่นสร้างความศรัทธาและเลื่อมใสในธรรมให้เกิดแก่จิตของตนเองเข้าไว้
ด้วยการพิจารณาเห็นคุณประโยชน์ของสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน
จักได้มีกำลังเสริมสร้างอิทธิบาท ๔ ให้เข้มข้นขึ้นในจิต
และจักเห็นคุณค่าของพระธรรม เมื่อจิตสามารถเดินมรรคได้ตามกำลังที่พิจารณาธรรมนั้น ๆ


ตถาคตและพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์
ต่างก็อาศัยความศรัทธาและเลื่อมใส เป็นกำลังพิจารณาวิโมกขธรรม
และนำธรรมนั้นไปสอนแก่ผู้มีศรัทธาและเลื่อมใสเท่านั้น มรรคผลจึงจักเกิดขึ้นได้


เพราะฉะนั้น เจ้าจงศึกษากำลังศรัทธาและเลื่อมใสของจิตที่มีต่อพระธรรมให้ดี ๆ
และดูศึกษากำลังศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของบุคคลภายนอกด้วย
อย่าขัดศรัทธา หรือทำลายความเลื่อมใสของเขาเป็นอันขาด
จงส่งเสริมและสนับสนุนบุคคลเหล่านั้น เพื่อเป็นกำลังให้พระศาสนาต่อไป


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
26-10-2009, 13:39
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ข้อคิดจากพระธรรม

ศูนย์ปฏิบัติพระกรรมฐานมี ๒ แห่ง คือภายนอกกับภายใน
ภายนอก หมายถึงศูนย์ทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่อยู่ตามวัดและบ้านคน รวมทั้งสถานที่ต่าง ๆ ที่สมมติขึ้นมา
ภายใน มีอยู่แล้วที่จิตของเราทุก ๆ คน คือจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
ท่านแนะให้ดูอารมณ์ของจิตตนเองอย่างเดียว


จุดนี้แหละ คือศูนย์การปฏิบัติพระกรรมฐานที่แท้จริง
ที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราปฏิบัติ เพราะมีอยู่แล้วทุก ๆ คนที่ตัวเรา ทรงหมายถึงกายกับจิต
พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน ๘๔,๐๐๐ บท ก็ล้วนอยู่แค่กายกับจิตเท่านั้น
จึงเสมือนเรามีตู้พระไตรปิฎกอยู่แล้วทุกคน แต่ขาดปัญญาที่จะศึกษาปฏิบัติให้พบความจริงคือ อริยสัจ เท่านั้น


จุดมุ่งหมายของศูนย์นี้ ก็เพื่อมุ่งตัดสักกายทิฏฐิ
ซึ่งแปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย ตัดได้ก็จบกิจในพุทธศาสนา


วิธีปฏิบัติ ก็มุ่งตรงตัดด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา (อริยมรรค ๘)
ทาน ศีล ภาวนา (ปฏิบัติบูชา) และโอวาทปาฏิโมกข์ (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ)
สิ่งใดที่ขัดต่อหลักปฏิบัติดังกล่าวแล้ว จงอย่าทำ


จงพร้อมอยู่ในความไม่ประมาทตลอดเวลา
เผลอเมื่อไหร่ประมาทเมื่อนั้น แค่ไม่ประมาทอย่างเดียวก็จบพระไตรปิฎกแล้ว


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
27-10-2009, 16:59
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


การระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านและวิตกจริต ๑

การวิตกกังวลทำให้สติสัมปชัญญะบกพร่อง
เจ้านึกอยู่แต่ว่าจักทำงานโน้น งานนี้ จิตถูกส่งไปตามงานที่คิด จึงลืมงานปัจจุบันไปเสียสนิท



งานบางอย่างไม่ควรที่จักนำมาคิดล่วงหน้า
ควรแก้ไขอยู่แต่ในธรรมปัจจุบัน คิดแก้ไขหรือวางแผนไปล่วงหน้ารังแต่จักเสียอารมณ์

เจ้าต้องหัดวางอารมณ์ที่ฟุ้งซ่านเรื่องงานภายนอกทิ้งไป ในขณะที่เวลานั้นเป็นชั่วโมงเจริญพระกรรมฐาน

ต้องทำงานภายใน เป็นการระงับนิวรณ์ ๕ ซึ่งต้องระงับกันอยู่ตลอดเวลา
ในเวลาก็ต้องระงับ นอกเวลาก็ต้องระงับ รู้ตัวหรือไม่ว่าฟุ้งซ่านมากไป


นี่เป็นเพราะเจ้าลืมลมหายใจเข้าออก จิตจึงไม่มีกำลังบังคับอารมณ์สติสัมปชัญญะจึงเสื่อมทรามลงไป
อารมณ์ที่คิดไปล่วงหน้าและหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่ผ่านไปเบื้องหลัง จักต้องหมั่นสลัดทิ้งไป
ต้องแก้ไขอารมณ์เหล่านี้ลงให้ได้ มิฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐานจักไม่มีผลเท่าที่ควรจักได้


พยายามให้จิตคิดอยู่เสมอว่า ถ้าฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น มันจักตายหรือไม่ตาย
เกิดตายในขณะฟุ้งซ่าน ก็เท่ากับเสียท่ากิเลส ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในหน้าที่การงานอย่างนี้อีก


เหนื่อยหรือไม่เหนื่อย คำว่าการมีขันธ์ ๕ แล้วจักไม่เหนื่อยนั้นไม่มี
เจ้าต้องการจักไม่มีขันธ์ ๕ อีก ก็จงหมั่นระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านนี้ทิ้งไป


ดอกสว่านหักก็จงเคารพในความไม่เที่ยงในฝีมือของเจ้าเอง
ธรรมะเหล่านี้เป็นของธรรมดา มิพึงจักนำมาคิดให้ฟุ้งซ่าน
เรื่องคุณปอจักเอาของมาให้ก็เป็นเรื่องของอนาคตซึ่งไม่เที่ยง ชีวิตของเจ้าทั้งสองคน
คนใดคนหนึ่งอาจจักแตกดับก่อนที่อนาคตนั้นจักมาถึงก็เป็นได้ ใยจึงไปคิดให้ฟุ้งไกลนักเล่า

และจงอย่าขัดศรัทธาของคน จงทำตนให้เป็นผู้รับที่ดี สิ่งใดควรรับก็รับ ควรจ่ายให้ทานก็จงจ่าย

สิ่งใดรับไม่ได้จักเป็นโทษ ก็ชี้แจงเขาไปโดยตรง บุคคลทั่วไปย่อมมีเหตุผลของตนเอง
หากเจ้าชี้แจงเหตุผลให้เขาฟัง เขาย่อมจักเข้าใจ อย่าวิตกให้ไกลเกินไป


ต้นเหตุจากมีคนจะเอาของมาให้ใช้ส่วนตัวมากเกินเหตุ
เพราะไม่เห็นทุกข์หรือปัญหาที่จะพึงเกิดขึ้นภายหลัง จิตจึงฟุ้งซ่านเป็นของธรรมดา

ธรรมของตถาคตมิใช่ของเนิ่นช้า (จะ) ละสิ่งใด สิ่งนั้นจักมากระทบจิต เพื่อทดสอบอารมณ์อยู่ตลอดเวลา
ยินดีก็แพ้ต่อกิเลส ยินร้ายไม่พอใจก็แพ้ต่อกิเลส
ตถาคตจึงกล่าวว่าให้ชี้แจงเหตุผลให้เขาทราบ

รักษาอารมณ์ใจให้เป็นกุศล
เพื่อประโยชน์สุขของผู้ให้ทาน เขาจักได้รับผลใหญ่ด้วยจิตของเจ้าที่เป็นกุศลนั้น



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
28-10-2009, 20:25
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

การระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านและวิตกจริต ๒

เรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน เจ้าเห็นทุกข์เห็นโทษตามที่ตถาคตและทุกองค์ตลอดจนท่านฤๅษีเฝ้าพร่ำสอน
แต่เจ้าจักให้บุคคลอื่นเห็นทุกข์ เห็นโทษของการบริโภคอาหารเหมือนกับเจ้าย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น จงดูเจตนาที่เขาหวังดีกับเจ้าเป็นสำคัญ


บุคคลผู้ยังเกาะติดอยู่ในกายมาก ก็ย่อมคิดที่จักบำรุงกายนั้นเพื่อให้ทรงอยู่ตลอดเวลา
นี่เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่เขาห่วงกายเรา จึงเฝ้าบำรุงบำเรอ คิดว่ามันจักทรงตัว
นี่เป็นความดีของเขาที่มีเมตตาต่อร่างกายเจ้า
นั่นเป็นธรรมดาของเขาที่เจ้าควรจักยอมรับกฎธรรมดานั้น


มาศึกษาทางด้านจิตของเจ้าเอง
กลับมาคิดมากจนขาดเมตตาจิตของเจ้าเอง เอามาป็นอารมณ์ฟุ้งหาจุดลงไม่ได้
นี่เป็นโทษใหญ่ แม้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา แต่กายนี้มันก็ยังทรงอยู่ในปัจจุบัน
การต้องการบริโภคอาหารก็ยังมีอยู่เป็นปกติของผู้ยังมีกายอยู่ ก็เป็นกฎธรรมดาอีกนั่นแหละ


แม้เจ้าจักพยายามละกามคุณอยู่
แต่ควรกำหนดรู้ว่า การมีร่างกายก็ยังจักต้องเกี่ยวข้องอยู่กับกามคุณ ๕
การละต้องดูอารมณ์จิตเป็นสำคัญ
อย่างกรณีอาหารและเครื่องอุปโภคที่เขาจักนำมาให้ ก็จงดูอารมณ์ของใจเป็นสำคัญ
ถ้าหากยังฟุ้งอยู่ด้วยความยินดีหรือไม่ยินดี ก็นับว่าอารมณ์ยังเลวอยู่
ขาดเมตตาจิตต่อจิตของตนเอง จึงยังอารมณ์ให้หวั่นไหวอยู่
และอารมณ์นั้นก็สร้างทุกข์ให้เกิด อย่างนี้เสียผลของการปฏิบัติหรือไม่


การคิดให้สับสน
นำเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามาหลายเรื่อง ทำให้อารมณ์จิตวุ่นวาย หาความสงบมิได้
จุดนี้ขอให้เจ้าพิจารณาให้ดี ๆ อย่าสักแต่ว่าเรื่องภายนอก
แม้กระทั่งธรรมภายในก็เช่นกัน จับโน่นวางนี่

กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง หากไม่ขึ้นต้นด้วยอานาปานัสสติให้ทรงตัวเสียก่อนแล้ว
จิตเจ้าก็ไปคว้าหมวดโน้นนิด หมวดนี้หน่อย ก็ทำให้อารมณ์จิตสับสนวุ่นวาย สุดท้ายก็เอาอะไรดีไม่ได้


ธรรมะไปสายเดียวกันก็จริงอยู่ เอโกธัมโมนั้นถูกต้อง
แต่จิตของเจ้าไม่ฉลาดพอ จึงไม่รู้เท่าทันอารมณ์ จับโน่นนิด คิดนี่หน่อย
เลยฟุ้งไปเสียก่อนที่จักได้ดี ปรับอารมณ์ตรงนี้เสียใหม่

พยายามบังคับจิตให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
ควบสมถะภาวนากองใดกองหนึ่ง ให้ถึงที่สุดเสียก่อนทุกครั้ง
จิตจักได้มีกำลังต่อสู้กับกิเลส

มิฉะนั้น เจ้าก็ต้องย่ำเท้าอยู่อย่างนี้ หาความก้าวหน้าในมรรคผลของการปฏิบัติไม่ได้


ตั้งใจให้จริง อย่าทิ้งความตั้งใจทำจริง เพื่อมรรคผลนิพพานเป็นสำคัญ
ต้องจดจำเอาไว้เสมอ จักได้พ้นทุกข์ของจิตเสียที


อย่าลืม สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
ถ้าอยากให้อารมณ์จิตเป็นสุขและไม่ฟุ้งซ่าน จงอยู่ในธรรมปัจจุบัน
อย่ายุ่งกับธรรมในอดีตและธรรมในอนาคต อย่าจับปลาหลายตัว
ให้จับทีละตัวแบบกรรมฐาน ๔๐ ทำให้ดีที่สุดกองเดียวก่อน


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
30-10-2009, 11:15
คำสอนหลวงพ่อฤๅษี ๑ ส.ค.๒๕๓๖

มนุษย์หัวแถว ยังไม่ดีเท่าเทวดา นางฟ้าท้ายแถว

เรื่องท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ นั้น ใครจะไหว้หรือไม่ไหว้ พวกเอ็งก็ไปไหว้ท่านก็แล้วกัน
วัดท่าซุงนี้อยู่ได้ด้วยพระ พรหม เทวดา นางฟ้า ท่านช่วยสงเคราะห์อยู่เบื้องหลัง
พระคุณของท่านทั้งหลายตอบแทนเท่าไรก็ไม่หมด
เป็นคนจงอย่าลืมตัว มนุษย์หัวแถวยังไม่ดีเท่าเทวดา นางฟ้าท้ายแถว
ท่านเป็นผู้ไม่มีขันธ์ ๕ ไม่สกปรก ไม่ร้อน ไม่หนาว ไม่หิวกระหาย และขี้ก็ไม่เหม็นอย่างเรา ๆ


มีสมมติสงฆ์บางองค์ไม่ยอมกราบท้าวมหาราชทั้ง ๔ เพราะคิดด้วยความหลงผิด จิตเป็นมิจฉาทิฏฐิว่า
ท่านมีศีลไม่ครบ ๒๒๗ ฉันแน่กว่า เพราะฉันมีศีล ๒๒๗
จิตผู้ใดก็ตาม ที่เริ่มต้นด้วยมิจฉาทิฏฐิ อะไร ๆ ที่ตามมาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิหมด


ข้อเท็จจริง
แม้เทวดาชั้นยามาและดุสิต ท่านมีศีลพระครบ ๒๒๗
เทวดาและพรหมที่เป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอนาคามี ท่านจะอยู่ชั้นใด ท่านก็มีศีล ๒๒๗ ครบ
ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ล้วนแต่เป็นอนาคามีทุกองค์ รวมทั้งพระยายมราชและพระอินทร์ด้วย
เทวดา นางฟ้าที่วัดท่าซุงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ท่านเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง คือพระอนาคามีกันทั้งนั้น


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
04-11-2009, 18:20
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


การต่อสู้กับอารมณ์นิวรณ์ที่เข้ามาสิงใจ

ฟังเรื่องราวของใครมากระทบหู ก็จงหมั่นดูอารมณ์จิตของตนเองไว้
จับตาดูว่าฟังแล้วอารมณ์อันใดเกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ
ที่เอาดีกันไม่ได้ก็คือ ไม่ค่อยจักรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ
โกรธจนชิน รักจนชิน ห่วงจนชิน กลัวจนชิน
เลยไม่รู้ว่าอารมณ์อะไรเป็นอะไร
อย่างนี้ทำกรรมฐานไปจนร่างกายตายแล้วตายอีกหลายตลบก็ไม่รู้เรื่อง


หรือบางขณะก็รู้อยู่ว่าอารมณ์ใดเกิด แต่จิตไม่คิดแก้ไข
ปล่อยอารมณ์ให้ตกอยู่ในนิวรณ์อยู่อย่างนั้น ก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน


การต่อสู้กับอารมณ์นิวรณ์ที่เข้ามาสิงใจ
จักต้องมีความเพียรแก้ไขอารมณ์นั้น ๆ อย่างขันติอดทน มีความตั้งใจจริง
เหมือนจอมทัพที่เห็นข้าศึก ก็ตั้งใจเคลื่อนทัพเข้าประจัญ รบราฆ่าฟัน
เพื่อมุ่งหวังในชัยชนะทุกครา มิใช่ทำจิตเป็นผู้ไม่แกล้วกล้า
เห็นข้าศึกมาก็ง่วงเหงาซึมเซาอยู่แต่ในกระดอง ไม่กล้าคิดที่จักออกมาโรมรันศัตรู
แล้วอย่างนี้ เมื่อไหร่จิตเจ้าจักรู้จักชนะนิวรณ์ได้เล่า


ตั้งอารมณ์ของจิตเสียใหม่นะ
พยายามแข็งใจเอากรรมฐานแก้จริตเข้าสู้ทุกครั้งที่อารมณ์ตกเป็นทาสของนิวรณ์


จงหมั่นกำหนดรู้อารมณ์ที่เป็นกิเลสอันเกิดขึ้นแก่จิต แม้สักนิดหนึ่งก็ต้องรีบแก้ไข
อย่าปล่อยให้อารมณ์นั้นลุกลามไปใหญ่โต ต้องอดทน ข่มใจ อดกลั้นต่อความชั่วของอารมณ์ของจิตตน


จงตั้งใจทำความเพียร ละอารมณ์ที่เป็นกิเลสตั้งแต่เวลานี้ไป
หากเจ้ามีความท้อถอยคราวใด จงคิดอยู่เสมอว่า ร่างกายนี้กำลังจักตายอยู่ในวินาทีข้างหน้านี้
จักได้คลายความประมาทในธรรมลงได้ เวลาและความตายไม่คอยใคร


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
09-11-2009, 15:15
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


การหลับอย่างผู้ไม่ประมาท

ร่างกายต้องการพักผ่อน ประสาททุกส่วนเสื่อมหมด จิตไม่มีกำลังที่จักแข็งขืนปฏิกิริยาของร่างกายได้
มันเป็นธรรมดาที่จิตพลอยอยากพักผ่อน หรืออยากหลับไปด้วย


เมื่อฝืนไม่ได้เยี่ยงนี้ก็จงอย่าฝืน หากแต่ก่อนที่จักหลับจงปลงมรณาควบอุปสมานุสสติให้ตั้งมั่น พยายามระเบิดกายหยาบทิ้งไป
ให้เห็นกายในนั่งหลับอยู่บนพระนิพพาน หรือไม่ก็ปลงอสุภจนกายหยาบละลายไป
กลายเป็นกายนิพพานขึ้นแทน กำหนดนั่งหลับอยู่บนพระนิพพานต่อหน้าพระก็ได้


จงคิดเอาไว้ก่อน ฟังคำสอนของท่านฤๅษีก็ได้ หรือไม่ก็คิดเอาขณะนั่งลงไปยังวิหาร ๑๐๐ เมตรก็ได้
โดยเห็นจิตหรืออทิสมานกาย นั่งอยู่บนวิมานที่พระนิพพานแทน


จงรู้เอาไว้ว่า ขณะใดนิวรณ์ ๕ เข้าแทรกแซงอารมณ์ของจิต ก็ถือว่าจิตนั้นถูกเบียดเบียนให้ตกอยู่ภายใต้ความประมาท
และขณะใดร่างกายตกอยู่ภายใต้อาการของความเสื่อม ทุกข์อันเป็นปกติของร่างกายก็สร้างความเบียดเบียนให้เกิดแก่อารมณ์ของจิต
ก็ถือว่าจิตนั้นถูกเบียดเบียนให้ตกอยู่ภายใต้ความประมาทเช่นกัน


ดังนั้น ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงอรหัตผล จึงยังไม่หมดสิ้นความเบียดเบียน จึงเท่ากับมีความประมาทในธรรม
อารมณ์ย่อมตกเป็นทาสของขันธมาร และกิเลสมารอยู่เป็นธรรมดาไม่มากก็น้อย
เจ้าจงหมั่นละความประมาทลงด้วยประการฉะนี้เถิด


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
11-11-2009, 11:56
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


อารมณ์มัจฉริยะ (ความตระหนี่-ขี้เหนียว)
กับเวลาและความตายไม่คอยใคร


เจ้าอยู่กับโลกก็จำเป็นจักต้องรู้ธรรมของโลกด้วย แต่รู้เพียงสักว่ารู้
จักได้รู้เท่าทันโลก แต่ไม่ติดอยู่ในธรรมของโลก
มิใช่อะไร ๆ ก็ไม่รู้ ก็ต้องตกเป็นทาสของความโง่ คือไม่รู้อยู่ร่ำไป

จงอย่าเสียดายเงิน เสียดายเวลา ซึ่งไม่เที่ยง
หากจักนำมาเปรียบเทียบกับการที่ต้องเสียอารมณ์ไปเพราะเหตุเหล่านั้น
เป็นการเบียดเบียนจิตตนเอง ขาดเมตตาจิตตนเอง ทำร้ายจิตตนเองโดยความโง่
ให้ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญ ในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ทั้งทางโลกและทางธรรม


อารมณ์มัจฉริยะ ความตระหนี่ขี้เหนียว ก็คือ อารมณ์หวงเงิน ทอง ทรัพย์สินต่าง ๆ
ให้ระมัดระวังอารมณ์นี้เอาไว้ให้ดี ๆ จงหมั่นกำหนดรู้เข้าไว้ มีลาภ เสื่อมลาภ
มีทรัพย์สินเงินทอง สักวันหนึ่งก็เสื่อมไป เป็นธรรมดาของกฎของธรรมชาวโลก

ทุกอย่างหนีสันตติไม่พ้น หนีกฎของไตรลักษณ์ไม่พ้น
มีเกิด มีเสื่อม มีดับเป็นธรรมดา เจ้าจงอย่าเกาะยึดอารมณ์นี้
รู้เท่าทันไตรลักษณ์เข้าไว้ จิตจักได้สบายใจ


นี่แหละอารมณ์มัจฉริยะ ขี้เหนียว ตระหนี่แม้แต่เวลาจึงเป็นทุกข์ เพราะเวลาซึ่งหาความเที่ยงไม่ได้
เมื่อเวลาไม่เที่ยง เจ้าไปยึดเวลาจึงสร้างทุกข์ให้กับจิตและกายของเจ้าเอง
เหตุเพราะจิตเจ้าไม่อยู่ในธรรมปัจจุบัน
ตั้งความปรารถนาจักกลับมาทำงานในเวลาแห่งอนาคต
แต่กิจปัจจุบันของเจ้ายังทำไม่เสร็จ เวลามันไม่คอยท่า ก็เคลื่อนไปอยู่เรื่อย
กิจปัจจุบันทำไม่ดี จิตก็ไม่ดี จดจ่ออยู่แต่กิจในอนาคต สุดท้ายจึงเหลวหมดด้วยประการทั้งปวง


นี่เป็นธรรมภายนอก ซึ่งเจ้าสามารถจักนำมาเป็นบทเรียนสอนธรรมภายในให้แก่จิตของตนเองได้
เวลานี้ความฟุ้งซ่านเกิด จิตของเจ้าก็ย่อมอยู่ในธรรมปัจจุบันเช่นกัน
มัวแต่ไปพะวงถึงธรรมในอนาคตซึ่งยังมาไม่ถึง กิจปัจจุบันทำไม่ดี เจ้ารู้เวลาที่เคลื่อนที่ไปหรือไม่
ความตายกำลังเข้ามาใกล้ทุกที จิตฟุ้งคือจิตมีอารมณ์ประมาท เสียดายเวลา แต่ไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็น
ปล่อยเวลาให้เคลื่อนไปในปัจจุบัน มัวแต่พะวงอยู่ในธรรมอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
สุดท้ายก็คว้าอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว อย่างนี้ดีนะหรือ

เมื่อรู้ว่าไม่ดี คิดไม่ถูก ก็จงหมั่นปรับปรุงแก้ไขอารมณ์ของใจเสียใหม่
เพื่อให้เข้าใจและรู้จักใช้เวลาในธรรมปัจจุบัน ให้เป็นประโยชน์สืบไป


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
12-11-2009, 12:54
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


การพึ่งตนเองด้วยปัญญา
กับการตัดกรรมของพระฉันนะ


ให้เจ้ารู้อยู่แต่ในธรรมปัจจุบัน
เจ้าพึงศึกษาและเรียนรู้เข้าไว้ เพื่อจักทำให้อารมณ์จิตเป็นสุข
ธรรมนี้เพื่อช่วยอารมณ์จิตของเจ้าเอง เหมือนกับที่สมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตัดกรรมให้กับพระฉันนะ
ให้ละจากธรรมในอดีต ที่เป็นสหชาติกับพระองค์ลงเสีย
ให้ละจากธรรมอนาคตทั้งหมด ที่มุ่งหวังจากพระทุกองค์ในความเกื้อกูลเนื่องด้วยความเป็นสหชาตินั้น

พระฉันนะยึดอดีตไม่ได้ เพราะขันธ์ ๕ ขององค์สมเด็จพระจอมไตรทรงปรินิพพานไปแล้ว
จักยึดอนาคตเพื่อพึ่งใครก็ไม่ได้ เพราะถูกสั่งลงพรหมทัณฑ์ คือ อยู่แต่ผู้เดียว
จึงอยู่กับธรรมปัจจุบันอันเดียวดายนั้น เป็นการบีบบังคับให้พระฉันนะต้องพึ่งตนเอง


การคิดและพิจารณาธรรมอยู่ในปัจจุบันนั้น คือ การพึ่งตนเองด้วยปัญญา โดยยึดอริยสัจ คือ ทุกขสัจเป็นที่ตั้ง
ในที่สุดพระฉันนะก็จบกิจได้ด้วยธรรมปัจจุบันนั้น เห็นภาพสภาพความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ที่เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ยึดถืออะไรไม่ได้
เห็นสภาพความเป็นจริงของกิเลสที่เป็นเจ้านาย ครอบงำอารมณ์ของจิตที่ทำให้ตกเป็นทาสของมัน
ทำให้จิตเคลื่อนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อพิจารณาถึงที่สุด พระฉันนะก็หมดทุกข์
เห็นองค์สมเด็จพระจอมไตรอยู่ที่พระนิพพานอย่างชัดเจน


ดังนั้น เมื่อบรรลุถึงธรรมวิมุติแล้ว พระฉันนะก็คิดถึงคุณและโทษของการอยู่ว่า
จักมีประโยชน์หรือไม่ เมื่อเห็นว่าเป็นโทษก็ยอมละทิ้งขันธ์ ๕ เพื่อนิพพานไปดังกล่าว
ตถาคตจักถามเจ้าดูว่า พระฉันนะฆ่าตัวตาย เพราะอาลัยหรือไม่อาลัยในขันธ์ ๕ (ตอบว่า ไม่อาลัย )
ใช่ เพราะท่านหมดอารมณ์ที่จักอาลัยแล้ว ต่างกับคนที่ฆ่าตัวตายเพราะมีอารมณ์ไม่รักก็ชัง
จึงไม่พ้นทุกข์ ตถาคตยกเรื่องนี้ให้เจ้าได้คิดพิจารณา

พระที่ท่านได้พระอรหัตผล เพราะตัดความรักอาลัยในขันธ์ ๕ หมดจากอารมณ์เบียดเบียนกายและจิตแล้ว จึงพ้นทุกข์
ขอให้เจ้าศึกษาธรรมในปัจจุบันให้ดี ๆ ละจากธรรมที่เป็นอดีตและอนาคตเสีย


มีชีวิตอยู่อย่าหนีปัญหา เพราะหนีไม่พ้น หากกายยังอยู่ ปัญหาของโลกก็เป็นธรรมดาของโลก
จะพ้นได้ เมื่อตัดอารมณ์พอใจกับไม่พอใจได้เด็ดขาดแล้ว


หากยังตัดอารมณ์พอใจกับไม่พอใจไม่ได้ จงอย่าเอาอดีตที่ผ่านมาแล้ว และอนาคตซึ่งยังไม่ถึงมาครุ่นคิด
เพราะล้วนเป็นทุกข์ของจิต ต้องอยู่ในปัจจุบันธรรม



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
13-11-2009, 15:15
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


จงอยู่กับธรรมปัจจุบันให้มาก ๆ


คำนึงถึงธรรมปัจจุบันให้มาก ละธรรมในอดีตและอนาคตลงเสียก่อน
พึ่งตนเองให้มาก ๆ เพื่อการเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง อย่าพอใจแค่พระโสดาบันจักไม่พ้นทุกข์


กาลเวลาล่วงไป ชีวิตมันใกล้ความตายทุกขณะจิต
ไม่ทำความเพียรตั้งแต่วาระนี้แล้วจักไปทำความเพียรเอาที่ตรงไหน
ธรรมะของตถาคตมิใช่ของเนิ่นช้า อย่าท้อถอยกับการกระทบกระทั่งของอารมณ์
เพราะเป็นธรรมดา จักละธรรมอันเป็นอกุศลประการใด
ธรรมที่เป็นอกุศลประการนั้นก็จักเข้ามาทดสอบจิตอยู่เสมอ


จงลงตัวธรรมดาเข้าไว้
ธรรมดาของตถาคตตรัสคือ เกิดแล้วดับไปตามสภาวธรรมของโลก
ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วดับไป จงทำจิตให้ยอมรับธรรมนั้น


อย่ายึด เกาะติดธรรมที่ชอบใจและไม่ชอบใจ
เพราะอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้จิตของเจ้าพ้นทุกข์ได้เลย


จงอยู่กับธรรมปัจจุบันให้มาก ๆ เคารพกฎของธรรม อันมีเกิดแล้วดับไปเป็นปกติ
ในที่สุดสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เกาะยึดเมื่อไหร่ ทุกข์เมื่อนั้น


ทุกอย่างเคลื่อนไป จงยอมรับความเคลื่อนไปอยู่อย่างนั้น
อย่าปรุงแต่งธรรม สิ่งใดยังไม่เกิดก็จงอย่าครุ่นคิดปรุงแต่งธรรมนั้น ทุกอย่างมีแต่ปัจจุบัน
ถ้าจิตเจ้าไม่เข้าใจในธรรมปัจจุบัน ก็ต้องทุกข์อยู่กับอดีตและอนาคตธรรมอยู่ร่ำไป จักมีประโยชน์อันใด


การเข้าถึงพระนิพพาน ก็ต้องอาศัยรู้อารมณ์จิตให้อยู่ในธรรมปัจจุบันนี้
ความเป็นพระอรหัตผลก็เป็นของไม่ไกล จงพิจารณาธรรมนี้ให้ดี ๆ



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
15-11-2009, 17:14
คำสอนพระอานนท์ ๑๔ ส.ค.๒๕๓๖


อายาตนะภายในกับอายาตนะภายนอก
และธรรมสมมุติไปสู่ธรรมวิมุติ


ตาเห็นรูป ตาเป็นอายตนะภายในไม่เที่ยงก็เป็นของร้อน
นอกจากนั้น ตาก็จะเสื่อมไปตามสภาพของขันธ์ ๕
และสายตาที่สัมผัสรูปต่าง ๆ ก็ไม่สามารถมองรูปหนึ่งรูปใดได้นาน ๆ สายตาก็ต้องเคลื่อนไป
จึงไม่เที่ยง ในที่สุดสายตาของขันธ์ ๕ ก็ดับไปเป็นอนัตตา


รูปเป็นอายตนะภายนอก ก็ไม่เที่ยง จึงเป็นของร้อนเช่นกัน
รูปอาศัยดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบขึ้นมาเป็นรูป มีวิญญาณธาตุและอากาศธาตุเข้ามาผสม
ณ ที่นี้หมายถึงรูปคนและสัตว์เป็นสำคัญ รูปเหล่านี้อาศัยอยู่ได้ในความไม่เที่ยง


ดูแต่ลมหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก รูปก็ดับ
เมื่อในที่สุดธาตุลมดับแล้ว ธาตุไฟดับตาม ธาตุน้ำก็ละลายธาตุดิน
จนตกอยู่ในสภาพอนิจจังและอนัตตาไปในที่สุด จึงจัดว่าเป็นของร้อน
ตามที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสสอนไว้ดังนี้

"จงพิจารณากำหนดรู้อายตนะภายในและภายนอกอยู่อย่างนี้ให้เนือง ๆ
จิตจักได้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในอายตนะนั้นเป็นของร้อน
เพราะมีความไม่เที่ยงอยู่เยี่ยงนี้เป็นปกติ พิจารณาอายตนะ ๑๒ ให้ครบวงจร
แล้วจงทำความเบื่อหน่ายในอายตนะภายในและภายนอกนั้น
จนในที่สุดจิตจะคลายจากความกำหนัดลงได้ ในเมื่อเห็นสภาพตามความเป็นจริงว่า
อายตนะภายใน คือ ร่างกายของเราเอง อายตนะภายนอก คือ ร่างกายของคนอื่น
ล้วนเป็นของร้อน เพราะไม่เที่ยง ยึดเอามาเป็นสาระแก่นสารไม่ได้"


"เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นสมมุติ จิตยึดติดในสิ่งที่ไม่เที่ยง จึงเป็นจิตที่ติดสมมุติ
ต่อเมื่อจิตพิจารณาจนหลุดพ้นธรรมสมมุติเหล่านี้ไปแล้ว
จิตนั้นก็จะอยู่ในความเที่ยง ไม่รุ่มร้อนไปกับอายตนะ ๑๒ อีกต่อไป
จิตดวงนี้จึงจะเรียกว่า เข้าถึงธรรมวิมุติอย่างแท้จริง"



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
16-11-2009, 17:50
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


สังขารุเบกขาญาณตัวจริงนั้นเป็นอย่างไร

ร่างกายไม่ดี ฝืนไม่ได้ก็จงอย่าฝืน การกำหนดรู้เวทนาเป็นของดี การวางเฉยไม่บ่นในเวทนานั้นก็เป็นของดี แต่จักให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
ก็จงดูอารมณ์ว่า มีความวิตกกังวลกับร่างกายมากน้อยเพียงใด ดูผิวเผินเสมือนหนึ่งไม่มีจิตเกาะเวทนานั้น ๆ
แต่ควรจักมองให้ลึก ๆ เข้าไปถึงอารมณ์ที่ไม่โปร่งของจิต ก็จักเห็นอาการของจิตที่ยังเกาะเวทนานั้นอยู่ ไม่มากก็น้อย
คือ ลักษณะของอารมณ์จิตยังอึดอัดมีการเหมือนอดทนต่อเวทนานั้น
จิตยังมีอาการหนักอึดอัดก็คือ จิตไม่วางอาการเวทนาของร่างกาย

หากเป็นสังขารุเบกขาญาณตัวจริง เวทนาจักสูงสักเพียงใด อารมณ์ของจิตจักไม่หนักใจในอาการนั้น
จิตโปร่งไม่ยึดเกาะอาการเวทนาใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนดั่งในวาระที่ท่านฤๅษีจักละขันธ์ ๕ มาครั้งนั้น
อารมณ์จิตของท่านฤๅษีโปร่งเบา มิได้ขัดเคืองกับทุกขเวทนาของขันธ์ ๕ เลย
นั่นแหละเป็นของจริงแห่งอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ คือ

จิตยอมรับและปล่อยวางร่างกายไปตามสภาพของความเป็นจริง
ยอมรับกฎของกรรม หรือธรรมดาของร่างกายอย่างจริงใจ


อาการหนักของจิต จักต้องดูและรู้ด้วยตาปัญญา คือ อย่าให้กิเลสมันมาบังความจริง
ว่าจิตหามีความหนักไม่ ทั้ง ๆ ที่ยังมีอารมณ์หนักอยู่ เหมือนคนเดินตัวเปล่าก็โปร่งเบา
ซึ่งต่างกับคนเดินแบกสัมภาระย่อมหนัก ฉันใดก็ฉันนั้น หากจิตไม่เกาะเวทนาจริง ๆ
ก็จักมีสภาพตามนี้ สอบจิตดูอารมณ์ไว้ให้ดี ๆ


การจักปลดความหนักของจิตลงได้ ต้องอาศัยพิจารณากฎไตรลักษณญาณ
เห็นเกิด เสื่อม ดับของขันธ์ ๕ ซึ่งยึดถือมาเป็นสารสาระไม่ได้
และยึดสมถะภาวนา ๓ กอง มาเป็นกำลัง คือมรณานัสสติ อสุภะ และกายคตานัสสติ
ทำลายความยึดมั่นถือมั่นลงไปในความเกาะติดว่า ขันธ์ ๕ นี้เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเราและควบคุมอุปสมานัสสติเอาไว้
ขออยู่กับสภาพไม่เที่ยงของขันธ์ ๕ อันมีความเที่ยงของมันอยู่อย่างนั้นเป็นครั้งสุดท้าย

ขันธ์ ๕ นี้ตายลงเมื่อไหร่ ตั้งใจไปพระนิพพานเมื่อนั้น


กรรมฐานเหล่านี้ พวกเจ้าต้องทำควบคู่กันไปตลอดเวลา
จักทำให้บารมี คือ กำลังใจตัดกิเลสทรงตัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป รักษากำลังใจจุดนี้ไว้ให้ดี ๆ
จงจำปฏิปทาของท่านฤๅษีเอาไว้ ท่านทำเพื่อความไม่ประมาทโดยตรง

รักษากำลังใจให้ดี คือ ไม่คิดให้จิตต้องเศร้าหมอง ไม่ว่าในกรณีใด ๆ
ท่านทำมาโดยตลอดจนกระทั่งจิตทรงตัวอยู่ในความดี มีจิตผ่องใสหมดจดจากความประมาทได้ในที่สุด



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
24-11-2009, 15:52
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ทางสายกลางนั้นเป็นอย่างไร

พักผ่อนร่างกายเสียบ้าง หากตรากตรำเกินไปร่างกายเพลีย จิตก็จักทรงสติให้สมบูรณ์ได้ยาก
อย่าลืมพวกเจ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ จึงจักทรงอารมณ์สังขารุเบกขาญาณได้อย่างทรงตัว


พระอรหันต์ แม้แต่ตถาคตเองยังต้องหาเวลาให้ร่างกายได้พักผ่อน ด้วยอยู่สุขวิหารหรือนิโรธสมาบัติ
พวกเจ้าต้องศึกษาตัวนี้เอาไว้ด้วย การเบียดเบียนร่างกายมากเกินไป ก็เป็นอัตตกิลมถานุโยคไม่พึงทำ


สาเหตุมาจากเจ้าพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานจักเป็นทางธรรมหรือทางโลกก็ตาม
ต้องดูกำลังของร่างกายไว้ด้วย เพราะพวกเจ้ายังมีร่างกาย
ร่างกายเป็นของโลก โลกมีเวลา เจ้าก็ควรมีเวลาให้ร่างกายด้วย หาตัวพอดีเหมาะสมของร่างกายในแต่ละสถานการณ์ให้พบ
คือหาธรรมปัจจุบัน อันเป็นมัชฌิมาของร่างกายและของจิตในขณะนั้นให้พบ
และทำให้ได้ตามนั้น ก็จัดได้ว่าเดินสายกลางได้อย่างถูกต้องแท้จริง


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
25-11-2009, 14:09
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ทุกคนในโลกไม่มีทุกข์นั้นไม่มี

จงมองทุกคนในโลก จักเห็นว่าไม่มีทุกข์นั้นไม่มี
ทุกข์ของการมีร่างกาย ทุกข์ของการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ทุกข์ด้วยอารมณ์ของจิตที่เบียดเบียนตนเอง การมีชีวิตทรงอยู่ในโลกจึงเต็มไปด้วยความทุกข์


เมื่อเจ้าเห็นเป็นประการนี้ ก็จงดูชาวโลกุตรชน
จักเห็นความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ในจิตที่สงบของทุกท่านในที่นี้
อย่าว่าแต่เพียงตถาคตหรือพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ หรือพระอรหันต์สาวกเลย แม้พรหม เทวดา นางฟ้า
ผู้ล่วงเข้าสู่โลกุตรชน ก็ทำการตัดกิเลสให้จิตได้สุขสงบตามลำดับแห่งบารมีธรรมของตนเองนั้น ๆ


เพราะฉะนั้น พวกเจ้าก็เช่นกัน วันทั้งวัน คืนทั้งคืน จงหมั่นตัดกิเลสตามกำลังของตน
เพื่อทำให้จิตสุขสงบขึ้นมาตามลำดับเถิด
หากกรรมใดทำแล้ว จิตเศร้าหมองปราศจากความสุขสงบ จงหมั่นหนี เลี่ยงการกระทำนั้น
ทุกอย่างต้องใช้ปัญญาอันเป็นสัมมาทิฏฐิเข้าพิจารณาและใคร่ครวญ
อย่าคิดอย่าทำอะไรที่ขาดสติและนำมาซึ่งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเป็นอันขาด


อยากมานิพพาน จงทำกิจเพื่อพระนิพพานให้เข้มแข็งจริงจังด้วย
ทำกันที่จิตนี่แหละ เป็นประการสำคัญ เพราะการมาพระนิพพานเขาใช้จิตมา มิใช่ใช้ร่างกายมา
ร่างกายเป็นสมบัติของโลก ในที่สุดก็ต้องคืนสู่โลกไป


อย่าห่วงร่างกายให้มาก เพียงแต่ทำให้มันตามหน้าที่ที่มีร่างกายตามความจำเป็นเท่านั้น
เห็นทุกข์ เห็นโทษของการมีร่างกายให้ชัดเจน
เพื่อความเป็นประโยชน์อันจักนำมาซึ่งการตัดร่างกายทิ้งไปได้ในที่สุด
เมื่อถึงวาระของการดับแห่งร่างกายนั้นได้เกิดขึ้น


การทรงอารมณ์สังขารุเบกขาญาณต้องใช้ปัญญารอบรู้ตามความเป็นจริง
รู้ปกติธรรมของร่างกาย ทำทุกอย่างตามปกติธรรมนั้น
ร่างกายมีโรคะเบียดเบียนตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา
จิตของพวกเจ้าต้องไม่เบียดเบียนตนเองตามอาการของร่างกายนั้น ๆ
หิวก็รู้ว่าหิว หาให้กินตามหน้าที่ ร้อนหรือหนาวก็รู้อยู่ ป่วยก็รู้อยู่ หาหยูกหายารักษา
แต่รู้ด้วยความไม่กังวล เห็นปกติธรรมของร่างกายว่ามันเป็นอย่างนี้เอง
รักษาอารมณ์ใจเข้าไว้ ให้ยอมรับกฎของธรรมดา จิตก็จักไม่ดิ้นรน
ฝึกสภาวะของร่างกาย จิตก็จักสุขสงบได้ไม่ยากเย็น


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
26-11-2009, 15:08
คำสอนหลวงปู่บุดดา


คนหลงขันธ์ ๕ อยากให้ขันธ์ ๕ อยู่นาน ๆ

คนหลงขันธ์ ๕ ก็อยากให้ขันธ์ ๕ ทรงอยู่นาน ๆ แต่คนใดหมดความหลงในขันธ์ ๕ แล้ว
ก็หมดความอยากที่จะให้ขันธ์ ๕ อยู่นาน ๆ ยอมรับสภาพตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เห็นปกติธรรมที่เกิดดับของขันธ์ ๕ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครจะฝืนกฎของกรรมได้


เอ็งจงดูความทุกข์ของขันธ์ ๕ เข้าไว้ มันหาความปกติสุขไม่ได้เลย
ไม่ว่าขันธ์ ๕ ของใครหรือขันธ์ ๕ ของเรา
อย่าคิดแสวงหาความสุขของร่างกายเลย เพราะมันไม่จีรังยั่งยืน พยายามแสวงหาความสุขทางใจเข้าไว้
ขันธ์ ๕ มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน เอาพระธรรมเข้ามาทำให้จิตเป็นสุขสงบเยือกเย็นดีกว่า
จิตจักพ้นทุกข์เพราะเข้าถึงธรรมนี้แหละ


อย่าห่วงขันธ์ ๕ ของใคร และอย่าห่วงใจของใครให้มากไปกว่าห่วงใจของเรา
ดูอารมณ์ใจเอาไว้ให้ดี ๆ ว่ามันเบียดเบียนขันธ์ ๕ ตัวเองและผู้อื่นหรือเปล่า
ดูเอาไว้ว่าอารมณ์ใจไปเบียดเบียนจิตตนเองและบุคคลผู้อื่นหรือเปล่า


การเบียดเบียนนั้นต้องไม่มีทางกาย วาจา และใจ
ไม่เบียดเบียนทั้งธรรมภายในและภายนอก จึงจัดว่าเป็นสุขอย่างแท้จริง


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
30-11-2009, 15:28
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


คนฉลาดไม่ฝืนอารมณ์แต่คอยแก้ไขอารมณ์

การที่จักไม่ติดใจในธรรมของโลกทั้ง ๓ นี้
(ทรงหมายถึงสัพเพสังขารา อนิจจา และสัพเพ ธัมมา อนัตตาติ)
เจ้าก็จักต้องทำความเบื่อหน่ายในธรรมอันไม่เที่ยงเหล่านี้เสีย
หมั่นชำระจิตเมื่อธรรมทั้งปวงเหล่านี้ผ่านเข้ามาสู่อายตนะสัมผัส

โดยการกำหนดรู้ ปล่อยวางอย่างรู้เท่าทันในความเป็นจริงแห่งธรรมนั้น ๆ

เห็นทุกข์อันเกิดจากการสนใจในธรรมนั้น ๆ
พิจารณาจนถึงที่สุดแห่งธรรมที่เข้ามากระทบอายตนะสัมผัสในแต่ละครั้ง


คนฉลาดย่อมจักไม่ฝืนอารมณ์ เขาจักแก้ไขอารมณ์ที่เข้ามากระทบแต่ละครั้ง
ตามจริต ๖ ที่ตถาคตและพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงกำหนดแนวทางเอาไว้ให้แก้ไข


คนขลาดย่อมวิ่งหนีอารมณ์ คนเขลาตกเป็นทาสของอารมณ์ แต่คนฉลาดปักหลักสู้กับอารมณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
รู้ศึกษาอารมณ์ตลอดเวลา สู้รบกับอารมณ์ตลอดเวลา สัประยุทธ์ชิงชัยอยู่ภายในเสร็จสรรพ ด้วยกองกำลังของตนเอง
คือโจทย์จิตตนเองเอาไว้
ให้คอยระวังข้าศึก คือกิเลสที่เข้ามารบกวนอารมณ์อยู่ตลอดเวลา
ไม่โทษธรรมที่เข้ามากระทบทางอายตนะสัมผัส
คนเหล่านี้โทษจิตของตนเองที่หวั่นไหวไปตามธรรมนั้น ๆ


โทษจิตแล้วหมั่นแก้ไขอารมณ์ที่ชอบปรุงแต่งให้เกิดอุปาทานอกุศลกรรมนั้น ๆ ด้วยความเพียรไม่ย่อท้อ
คนเหล่านี้เห็นทุกข์อันเกิดจากจิตเสวยอารมณ์ กิเลส ตัณหาอย่างชัดเจน

รักรู้ โลภรู้ โกรธรู้ หลงรู้ ก็คอยตามแก้ไขอารมณ์นั้น ๆ อยู่ร่ำไป

จักแพ้หรือจักชนะอารมณ์ในคราวใดก็รู้
มีจิตกำหนดรู้อยู่เสมอ
คำว่าไม่รู้ จึงจัดว่าเป็นผู้ประมาท จักไม่มีในจิตของคนเหล่านี้เขาเผลอกันน้อยเต็มที
นี่เป็นหนทางของการนำไปสู่ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นำไปสู่ความไม่ประมาทในธรรมทั้งปวงอย่างแท้จริง
ขอให้พวกเจ้าหมั่นปฏิบัติตามนี้เอาไว้ให้ดี ๆ


คำว่าผู้รู้ คือ ผู้แจ้งโลก รู้วาระจิตของตนไม่ติดอยู่ในธรรมอันไม่เที่ยงของโลกนั้น ๆ

จิตตื่นแล้วจากความข้องติด หลับไหลอยู่ในธรรมของโลกทั้งปวง โลกที่จองจำจิตเราได้มากที่สุด คือ ขันธโลก
จักหลงเกิดอยู่ในมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลกก็เป็นผู้หลับไหลมองไม่เห็นสภาวธรรมนั้น ๆ
ต่อเมื่อใช้ความเพียรโจทย์จิตตน จนเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นในขันธโลกไปตลอดจนพรหมโลก เทวโลกแล้ว
ตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการที่รัดรึงจิตลงได้แล้ว ก็ย่อมเป็นผู้เบิกบานอย่างแท้จริง
จิตบุคคลเหล่านี้ก็ถึงธรรมวิมุติ หลุดจากความเศร้าหมองด้วยประการทั้งปวง


อย่าฟังคำตรัสของตถาคตแต่เพียงไพเราะรื่นหู
ขอให้พวกเจ้านำไปคิดพิจารณาใคร่ครวญและปฏิบัติตามด้วย
จักเป็นผลให้พ้นทุกข์ได้



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
03-12-2009, 16:48
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


อาการเสื่อมไปของอิริยาบถก็เป็นทุกข์

กาลเวลาที่ล่วงไป อย่าลืม..ความตายยิ่งใกล้เข้ามา เวลานี้พวกเจ้าโจทย์จิตเรื่องอารมณ์เข้าไว้ให้เต็มที่
กำหนดรู้สภาวธรรมที่เข้ามากระทบจิตให้ชัดเจนแจ่มใส
จักได้ไม่หลง ไม่ไหลไปในสภาวะของธรรมนั้น ๆ
หาความจริงของต้นเหตุแห่งทุกข์ในธรรมนั้น ๆ ให้พบ
แล้วพิจารณาละสังโยชน์อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ในธรรมนั้น ๆ


เจ้าจักเห็นได้ว่า ทุกข์อันเกิดจากโรคะของร่างกาย ที่เข้ามาเบียดเบียนอารมณ์จิตนี้นั้นมีอยู่
ตราบใดที่ยังมีร่างกายอันเต็มไปด้วยรังของโรคนี้ เวทนาอันเกิดจากความเบียดเบียนก็ไม่เที่ยง
บัดเดี๋ยวเกิด บัดเดี๋ยวดับ ร่างกายนี้ไม่ได้สร้างความสุขที่แท้จริงให้กับจิตเลย


ในเมื่อร่างกายเบียดเบียนอารมณ์ของจิตอยู่เยี่ยงนี้ พวกเจ้าก็จงทำความเบื่อหน่ายในการอยากมีร่างกายเยี่ยงนี้ลงเสีย
ด้วยการพิจารณาทุกข์อันเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าทุกข์อันเป็นนิพัทธทุกข์ ทุกข์เนืองนิตย์
เช่น อาการหิว กระหาย ร้อน หนาว ปวดปัสสาวะและอุจจาระเป็นต้น
และทุกข์อันเกิดจากการเสวยอารมณ์แห่งอายตนะ ๑๒ นอกกับใน กระทบกันให้รู้อยู่ตลอดเวลา


อาการเสื่อมไปของอิริยาบถ ก็เป็นทุกข์ที่พึงกำหนดรู้
ให้เห็นว่า นี่ก็เป็นโรคะนิทธังอย่างหนึ่งของร่างกายเช่นกัน
ตลอดอาการ ๓๒ ของร่างกายเป็นโรคทั้งสิ้น พิจารณาไป อย่าให้จิตออกนอกทาง ดูอารมณ์เอาไว้ให้ดี ๆ


จงยอมรับกฎธรรมดา ทำความเบื่อหน่ายร่างกายที่เต็มไปด้วยโรคนี้เสีย
และเห็นความไม่เที่ยง ซึ่งมีแต่การเกิด เสื่อม ดับ ของธรรมแห่งการมีร่างกายนี้
เห็นธรรมใด ๆ ในโลกที่เข้ามากระทบอารมณ์ตามสภาพความเป็นจริง

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
ยึดถือเข้ามาในอารมณ์เมื่อไหร่ ก็ทุกข์บังเกิดขึ้นเมื่อนั้น


จงหมั่นกำหนดรู้ และวางอารมณ์ให้หลุดพ้นจากการเกาะติดในธรรมแห่งโลกนั้น ๆ
ตั้งจิตไว้มั่นคง จับจุดหมายปลายทางแห่งความต้องการที่จักพ้นทุกข์เข้าไว้ ทำกำลังใจให้เต็ม

ใช้ความเพียรรักษาอารมณ์ของจิต ที่จักทำเพื่อพระนิพพานเข้าไว้


การละสังโยชน์เป็นของไม่ยาก หากทำกำลังใจในบารมี ๑๐ ให้เต็มอยู่เสมอ
พร้อมที่จักทำจริงอยู่เสมอ ก้าวเข้าไปใกล้พระนิพพานแล้ว รักษาอารมณ์อย่าให้บังเกิดความท้อแท้เป็นอันขาด
อย่าหมดกำลังใจ การหมดกำลังใจคืออารมณ์หลง จัดเป็นนิวรณ์คือถีนมิทธะ จำเอาไว้ให้ดี
อารมณ์ใดเป็นนิวรณ์ ให้พยายามระงับตัดทิ้งไปเสียจากจิต


พวกเจ้าจักต้องรู้อารมณ์เข้าไว้ทุก ๆ ขณะจิต ต้องหมั่นใช้สติตามกำหนดรู้เข้าไว้
อย่าให้คลาดสายตาของจิต การทรงอานาปานัสสติกรรมฐาน แม้เพียงปฐมฌานก็จักทำให้มีสติมั่นคงได้
ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน ต้องทำตามขั้นตอนนั้น จิตจึงจักทรงตัวอยู่ได้ในการกำหนดรู้อารมณ์นั้น ๆ


การมีศีล สมาธิ ปัญญา จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักปฏิบัติ เพื่อละอารมณ์แห่งทุกข์นั้น ๆ
พวกเจ้าจงหมั่นตรวจตรา อย่าให้ข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ขาดตกบกพร่องไปจากจิตของตนเป็นอันขาด
จึงจักสามารถเป็นกำลังตัดสังโยชน์ให้หมดจดลงได้


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
16-12-2009, 16:38
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


กสิณไฟไม่ใช่ของร้อน


คำว่าไฟย่อมเป็นของร้อน แต่กสิณไม่ร้อนด้วย
ผู้บวชเข้ามาเป็นพระในพระพุทธศาสนา มีศีลเป็นบันไดรองรับขั้นต้น จิตจึงมีความเย็นด้วยศีล
เมื่อปฏิบัติพระกรรมฐาน การทำสมาธิจิตเพ่งกสิณได้ก็เป็นอารมณ์จิตเย็น


บุคคลผู้มีโทสะจริต ใจร้อน สมาธิย่อมเกิดขึ้นได้ยาก การเจริญกสิณกองใด ๆ ก็ไม่เป็นผล
เจ้าจักเห็นได้ว่า บุคคลผู้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าก็จักมีความเยือกเย็นของจิตเพิ่มขึ้นด้วยการทำสมาธิ
มีศีล ปัญญาก็เพิ่มพูนให้จิตสบายขึ้นได้ตามลำดับ ต่างกับบุคคลผู้ทรงฌานโลกีย์ ศีลยังไม่มั่นคง
ใช้กำลังสมาธิจิตไปในทางผิด ๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูเยี่ยงท่านเทวทัตในพุทธกาลนี้
แม้ได้อภิญญาแสดงฤทธิ์ได้ก็ยังเสื่อม เพราะอภิญญาโลกีย์


พระกรรมฐานจักอยู่กับผู้มีอารมณ์จิตเย็นเท่านั้น ตถาคตจึงยืนยันว่า พระกรรมฐานทุกบทเป็นของเย็น
ในบุคคลที่มากด้วยโมหะ โทสะ ราคะ พระกรรมฐานก็จักอยู่ด้วยไม่ได้นาน



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
21-12-2009, 16:15
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


อย่าทะนงตนว่าเป็นผู้รู้เป็นอันขาด เพราะธรรมทั้งหลายที่พวกเจ้ารู้ได้เวลานี้
เป็นการสงเคราะห์ของพระ ยังไม่ใช่ความรู้ธรรมที่แท้จริง
อันซึ่งต้องเกิดจากจิตที่พิจารณาธรรมด้วยปัญญายอมรับนับถือในธรรมทั้งปวง
และจักต้องละกามฉันทะและปฏิฆะได้แล้ว นั่นแหละจึงจักเป็นของจริง


พวกเจ้าจักต้องปรามจิตเอาไว้เสมอ อย่าเผลอกล่าวธรรมเป็นเชิงอวดอ้าง อวดวิเศษทั้ง ๆ ที่ยังปฏิบัติมิได้ผล
ต่อไปนี้ พวกเจ้าไม่ว่าจักคิด จักพูด จักทำอะไร จงให้ศีลสมาธิ ปัญญาควบคุมอยู่ในเวลานั้น อย่าให้บกพร่องแม้แตเรื่องเดียว


ศีล สมาธิ ปัญญา จักละเอียดขึ้นได้ก็อยู่ที่เอามาใคร่ครวญอยู่เสมอ
การพิจารณาในขณะที่จักกระทำกรรมอยู่นั้น เป็นการทำให้ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นในจิตพร้อม ๆ กันทั้ง ๓ สิกขาบท
พวกเจ้าจึงจักมีความก้าวหน้าในอริยมรรค อริยผลยิ่งขึ้น


การใคร่ครวญสมาธิ คือ จิตมีโอกาสพักอยู่ในสมถะภาวนา
แต่ในบางขณะ บุคคลที่มีอารมณ์เผลอ มักจักปล่อยอารมณ์ของจิตให้เคว้งคว้างขาดสติ
อย่างกับคนใจลอยเดินข้ามถนน จนถูกรถชนตายเป็นต้น
จักว่ามีอารมณ์คิดก็ไม่ใช่ จักว่ามีอารมณ์พักก็ไม่เชิง จิตมันเหม่อลอยจนเพลินไป

เพราะฉะนั้น ในบุคคลที่เป็นนักปฏิบัติ จักต้องรู้ว่า เวลานี้จิตต้องการพัก ก็จักใคร่ครวญ
คือตรวจสอบดูว่าอารมณ์ของจิตนั้นจับอยู่ในสมถะภาวนาหรือไม่
หรือว่าเผลอเรอ ปล่อยสมาธิที่กำหนดรู้สมถะภาวนานั้นไปจากจิต



คนฉลาดเขาจักต้องรู้และทำการศึกษาใคร่ครวญ ศีล สมาธิ ปัญญาให้อยู่ในจิตเสมอ ๆ เยี่ยงนี้แหละเจ้า เข้าใจไหม

อย่าทิ้งความเพียรในการกำหนดรู้ศีล สมาธิ ปัญญาในจิตนี้ ทำบ่อย ๆ ใจเย็น ๆ ทำไปเรื่อย ๆ
ในที่สุดจิตจักชิน ศีล สมาธิ ปัญญาก็จักอยู่ในจิตได้ตลอดเวลา


ในเมื่อเข้าใจแล้ว ก็จงหมั่นนำไปปฏิบัติด้วย แต่อย่าสร้างอารมณ์หนักใจให้เกิด
พยายามรักษาอารมณ์จิตให้เบา ๆ แต่เต็มไปด้วยความพร้อมที่จักปฏิบัติเข้าไว้ให้ทุกเมื่อ
ด้วยอารมณ์มัชฌิมาปฏิปทา มรรคผลก็จักเกิดขึ้นได้โดยง่าย


หากความหนักใจในอารมณ์เกิดขึ้น ก็จงกำหนดรู้ว่า อารมณ์นี้ไม่ถูกต้องเสียแล้ว
เพราะเป็นอารมณ์ของความทุกข์ จักต้องหมั่นหาทางแก้ไขอารมณ์นั้นทิ้งไป


การเจริญพระกรรมฐาน มุ่งหวังให้จิตเป็นสุข สงบ เยือกเย็น
ไม่ว่าจักเป็นทางด้านสมถะหรือวิปัสสนา ต้องหมั่นดูผลที่ได้เยี่ยงนี้อยู่ตลอดเวลา
เป็นการตรวจสอบอารมณ์ของจิต อย่าให้เดินมรรคได้ผลผิด ๆ

ป้านุช
22-12-2009, 15:22
ธัมมวิจัยจากคำสอนสมเด็จองค์ปฐม หลวงปู่ หลวงพ่อ(๑)


กรรมทั้ง ๓
คือกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทำให้เกิดอารมณ์ ๓
คือ โมหะ โทสะ ราคะ ทุกองค์เน้นเรื่องศีล สมาธิ ปัญญาทั้งสิ้น

ในการปฏิบัติให้พร้อมอยู่ที่จิตเสมอ
เพราะจิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นใหญ่ ทุกสิ่งสำเร็จได้ที่จิตทั้งสิ้น


ให้ยอมรับกฏของกรรม(ด้วยปัญญา)
ยอมรับกฏธรรมดาของโลก คือ สัจธรรม ๕
(เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความปรารถนาไม่สมหวัง)
หากไม่ยอมรับ จิตจะเกิดอารมณ์ ๒ ขึ้น
คือไม่พอใจ (ปฏิฆะ) กับพอใจ (ราคะหรือโลภะ) เป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน
แล้วสร้างอกุศลกรรมต่อไป คือ ต่อกรรม สร้างกรรมทั้ง ๓ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กรรมจึงไม่มีทางลดลงจากจิต มีผลทำให้จิตต้องมาเกิดเพื่อรับผลของกรรมที่ตนเองทำไว้
จึงมีการเกิดแล้วตาย ๆ ๆ อยู่อย่างนั้น เพราะไม่เข้าใจธรรมในข้อนี้


การเกิดจะหยุดลงได้ก็ต้องยอมรับกฏของกรรม
ซึ่งเป็นอริยสัจขั้นสูงในพระพุทธศาสนา
และมีแต่เฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น
ศาสนาอื่นไม่มีคำสอนหรืออุบายที่ทำจิตให้พ้นจากกรรมทั้ง ๓ ได้อย่างถาวร
คือเอาจิตพ้นภัยไปอยู่แดนพระนิพพาน
เพราะรู้จริงว่าร่างกายไม่มีทางพ้น พ้นได้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
24-12-2009, 13:32
ธัมมวิจัยจากคำสอนสมเด็จองค์ปฐม หลวงปู่ หลวงพ่อ(๒)


พระโสดาบัน พระสกิทาคามียังมีอารมณ์ ๒ อยู่ แต่อยู่ในขอบเขตของอธิศีลและกรรมบท ๑๐
จึงไม่สามารถทรงอารมณ์สังขารุเบกขาญาณให้อยู่กับจิตได้ตลอดเวลา
เหมือนกับพระอนาคามีผลและพระอรหัตผล จิตเจริญระดับไหนก็รู้ธรรมได้ในระดับนั้น


หลวงพ่อฤๅษีท่านแสดงธรรมจุดนี้ในขณะที่ขันธ์ ๕ ยังทรงอยู่
คือ ตอนท่านป่วยหนักครั้งใด อารมณ์จิตของท่านยิ่งสงบเย็นและเป็นสุขมากเท่านั้น
หรือเป็นสุขมากกว่าธรรมดา เพราะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
จิตท่านแยกจากกายได้ตลอดเวลา เวทนาทางกายจึงทำอะไรจิตท่านไม่ได้

ท่านมีมรณาและอุปสมาอยู่กับจิตท่านทุกขณะจิต
และจิตของพระอรหันต์ท่านไม่เคยพลาดจากพระนิพพาน
ท่านเคารพในกฏของกรรม จึงไม่หนีกรรมที่ท่านทำไว้ในอดีต

ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทในความตาย จึงมีมรณาและอุปสมานุสติอยู่ทุกขณะจิต
มีอารมณ์สังขารุเบกขาญาณหรืออารมณ์ช่างมันอยู่อารมณ์เดียวทรงตัว

เพราะมีอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาสมบูรณ์ จึงวางสักกายทิฏฐิได้ถาวร
(สักกายทิฏฐิ พระท่านแปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย)

ท่านจึงไม่มีอารมณ์เกาะกายหรือขันธ์ ๕ อันประกอบด้วยธาตุ ๔
มีอาการ ๓๒ สกปรก ไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ เหมือนต้องติดคุกไปตลอดชีวิต
เหมือนต้องเลี้ยงลูกอ่อนตลอดชีวิต จึงเอาจิตทิ้งกายไปแดนที่ไม่มีการเกิดการตายอีกต่อไปอย่างผู้ฉลาด


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
04-01-2010, 14:55
ธัมมวิจัยจากคำสอนสมเด็จองค์ปฐม หลวงปู่ หลวงพ่อ(๓)


พระอรหันต์ที่จบกิจแล้ว แต่ร่างกายยังทรงอยู่
จิตท่านเป็นสุขก็จริง แต่กายท่านยังต้องรับกรรมที่ท่านทำไว้ในอดีต
(ตามกฎของกรรมที่เที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย)

ท่านเคารพในกฎของกรรม ท่านจึงไม่หนี
ยอมรับความจริงหรือยอมรับกฎของกรรมด้วยความเคารพ
แต่กฎของกรรมก็เล่นงานจิตของท่านไม่ได้
เล่นงานได้แค่ร่างกายที่จิตท่านมาอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น


ดังนั้น เมื่อกายป่วยหนักครั้งใด จิตท่านจึงเป็นสุขมากเท่านั้น
เพราะกำลังจะพ้นจากคุกหรือขันธ์ ๕ อย่างถาวร


หลวงพ่อฤๅษี ท่านเมตตาสงเคราะห์ให้ได้เห็นอารมณ์จิตของท่านในขณะนั้นว่า...
...มันเป็นสุข...โปร่งเบาสบายมากอย่างไร
จิตไม่มีความกังวล หรือเกี่ยวข้องกับสมมติต่าง ๆ ในโลกซึ่งไม่เที่ยงแม้แต่น้อย



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
04-01-2010, 15:19
หลวงพ่อฤๅษีเมตตามาสงเคราะห์สอนเพิ่มเติม (๑)


สบายกว่าปกติ เพราะเห็นหลักชัย พ้นจากเครื่องจองจำจิตอยู่รอมร่อ
อารมณ์มันจึงมีความเฉยในร่างกายที่มันกำลังจะพัง ยิ่งกว่ายามปกติที่เฉยอยู่อีกหลายเท่า


เมื่อเข้าใจ ก็จงรู้เอาไว้ถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษากฎของกรรม
เพื่อตัดกรรมให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง
คือ ความเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์

นี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่าน หลวงปู่ หลวงพ่ออีกหลาย ๆ องค์
เพียรมาสอนกฎของกรรมซ้ำ ๆ ซาก ๆ หลายรูปแบบ
ไม่ว่ากฎของกรรมที่เกิดจากอารมณ์โกรธ อารมณ์รัก หรืออารมณ์หลง
อันซึ่งทำให้มีการเสพกามในรูปแบบต่าง ๆ ก็ดีหรือทำให้มีการอาฆาตพยาบาทก็ดี
ก็เพื่อให้พวกเอ็งเห็นโทษของกฎของกรรมที่ส่งผลให้เกิดกรรมนั้น ๆ ต่อเนื่องกันมา


ศึกษาจุดนี้เอาไว้ให้ดี ๆ อย่างร่างกายของพ่อหรือของหลวงปู่ชาซึ่งโดนกระทำ
ก็เนื่องมาจากกรรมปาณาติบาต อันมีแรงโทสะ อาฆาตพยาบาทเป็นแรงจูงใจให้เขาทำกรรมขึ้นมา
แต่ในลูกของพระพุทธเจ้า ศึกษาธรรมหรือกรรมมาดีแล้ว
ก็ย่อมจะมีความเข้าใจในกฎของกรรมมาตามลำดับ
และยอมรับนับถือกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ
กรรมใด ๆ ถ้าเราไม่เคยทำเอาไว้ก่อน กรรมนั้นจะส่งผลมาให้เราต้องรับนั้น..ไม่มี


ลูกขององค์สมเด็จพระชินสีห์หากเข้าถึงอริยมรรค อริยผลเบื้องสูง
จะมีความเคารพในกฎของกรรมอย่างแรงกล้า
จึงจะมีอภัยทานให้แก่ทุกท่านที่มาทวงหนี้กรรมของเขาคืน
ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ หรือถูกคนหรือสัตว์ทำร้าย
ลูกพระพุทธเจ้าเต็มใจใช้คืนเขาไป
เพื่อให้หมดกรรมตามกล่าวมาแล้ว"



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
05-01-2010, 16:09
หลวงพ่อฤๅษีเมตตามาสงเคราะห์สอนเพิ่มเติม (๒)


อุเบกขาในพรหมวิหาร ๔ เข้มข้นมาก เป็นสังขารุเบกขาญาณ
การยอมรับกฎของกรรม โดยความเข้าใจความเป็นจริงในกฎของกรรมนั้น ๆ
เป็นสาเหตุให้ปล่อยวาง ละอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะได้ในที่สุด


ขอให้พวกเอ็งตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดของการหมดกรรมได้
คือ หมดไปเสียจากการมีร่างกาย หมดไปเสียจากการเกิด จะด้วยอารมณ์โลภ โกรธ หลงก็ตาม

พ่อจะดีใจมากและรอการมาพระนิพพานของพวกเอ็งทุกคน
การปฏิบัติธรรมเป็นสมบัติของพวกเอ็ง ที่จะนำติดตัวมาพบพ่อได้

แต่ไม่ใช่เร่งความตายให้ใกล้เข้ามา
จำไว้ ร่างกายยังมีชีวิตอยู่ จงทำหน้าที่ตอบสนองคุณพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนพระธรรม
จนพ่อนำมาสอนพวกเอ็งให้พ้นทุกข์ได้อย่างเต็มความสามารถ ทำด้วยกำลังใจที่เบิกบาน


อนาคต อะไรที่รออยู่ข้างหน้านั้น ไม่เที่ยง
แต่ความตายของร่างกายของพวกเอ็งนั้นเที่ยงแน่ กฎของกรรมมันก็เที่ยง
เพราะฉะนั้น พวกเอ็งจงอย่าประมาท รีบทำความเพียรเพื่อให้จิตเที่ยง เพื่อมาพระนิพพานดีกว่า
ทำความเพียรอย่างผู้มีสติ คือ ไม่ใช้ความเพียรด้วยอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ
จำไว้ ถ้าทำแล้ว โมหะ โทสะ ราคะเพิ่ม อันนี้ไม่ใช่ความเพียรที่ถูกทาง
ต้องให้ทำแล้ว โมหะ โทสะ ราคะลดลง อันนั้นแหละเป็นความเพียรที่ถูกทาง



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
07-01-2010, 16:07
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


โรคใจอ่อนกับบารมี ๑๐ เป็นธรรมขั้นสูง (๑)

อย่าประมาทเกินไปสำหรับอารมณ์จิตที่คิดสร้างความดี
อย่าพึงคิดพอใจว่าทำอยู่นี้ดีพอแล้ว ก็จักประมาทไม่ทำความดีสืบต่อไปในเบื้องหน้า

ธรรมปฏิบัติที่ทำอยู่ จักต้องรู้อารมณ์จิตของตนเองอยู่เสมอ
ถ้าหากมีความคิดว่าดีพอแล้ว จิตก็จักเกิดความประมาทอย่างแท้จริง

อย่ามองหาความดี จงมองหาแต่ความเลว ไม่จำเป็นต้องหาความดี
เพราะถ้าหากมองจนจิตหาความเลวไม่ได้แล้ว จิตก็จักมีความดีขึ้นมาเอง
ดีในที่นี้หมายถึง จิตหมดกิเลส หลุดจากโมหะ โทสะ ราคะเข้าครอบงำจิต มิใช่ดีอย่างจิตชาวโลกียวิสัย
ซึ่งอิงอยู่ในกามคุณ ๕ ได้รูปสวย เสียง รสดี เป็นต้น อย่างนี้ดีในกามราคะก็ใช้ไม่ได้

เวลานี้หมั่นมองอารมณ์ของจิตอยู่เสมอ
ประหารความชั่วหรือบาปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จักมีกำลังทำได้

ค่อย ๆ ทำไปด้วยความเพียร ด้วยจิตเข้มแข็งไม่ท้อถอยเสียอย่างเดียว
ประหารได้บ้าง ประหารไม่ได้บ้าง ก็ให้รู้ตามวาระที่สัประยุทธ์นั้น ๆ

กล่าวคือมีสติ รู้แพ้ รู้ชนะในอารมณ์ชั่วขณะจิตนั้น ๆ
วาระนี้ แพ้ไป วาระหน้า ที่เคลื่อนเข้ามาเป็นขณะจิตปัจจุบันก็สู้ใหม่ ดูความเคลื่อนไปของอารมณ์
ดูความแพ้หรือชนะของจิตที่มีต่ออารมณ์
หากเข้มแข็งด้วยอานาปานัสสติ จิตก็ย่อมมีกำลังเพียบพร้อมด้วยสติ สัมปชัญญะ
รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบอารมณ์ของจิตในขณะนั้น ๆ


การมีสมาธิ ปัญญาก็มั่นคง สามารถต่อสู้กับกิเลสได้โดยไม่ยากเย็น
สำคัญจักต้องกำหนดรู้ว่าอารมณ์ใด ๆ เกิด และเกิดขึ้นได้อย่างไร
ให้กำหนดรู้ในอารมณ์และต้นเหตุที่เกิดนั้น ๆ ก็จักระงับหรือตัดอารมณ์และต้นเหตุนั้น ๆ ลงได้

และพยายามไม่ไปแก้เหตุที่เกิดภายนอก
ให้แก้ที่เหตุอันเกิดอยู่ภายใน
คือ อารมณ์จิตของตนเองเป็นสำคัญ การปฏิบัติธรรมจึงจักได้ผล


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
11-01-2010, 16:44
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม



โรคใจอ่อนกับบารมี ๑๐ เป็นธรรมขั้นสูง (๒)

การเกิดความสลดใจหรือหดหู่ในชะตากรรมของบุคคลอื่น
เป็นอารมณ์จิตที่ขาดตัวอุเบกขาญาณ
เจ้าต้องกวดขันพรหมวิหาร ๔ ทั้งหมดให้ครบ
อย่าให้บกพร่องอยู่อย่างนี้ร่ำไป จิตจักไม่เป็นสุข
กฎของกรรมใครทำใครได้อย่างแน่นอน
เจ้าหวังพระนิพพานก็จงหมั่นพยายามอย่าทำจิตให้เป็นทุกข์
จงรักษาความผ่องใสเข้าไว้ด้วยปัญญาเห็นธรรมเถิด


เรียกว่าเป็นโรคใจอ่อน หรือไม่มีกำลังใจที่จักรู้เท่าทันความเป็นจริงในกฎของกรรม
จึงไปเที่ยวรับกรรมของบุคคลอื่นมาไว้ในอารมณ์ของจิตตน
สร้างความขาดทุนให้เกิดอย่างนี้ เจ้าช่างเป็นคนไม่ฉลาดเลยนะ


ความโง่ทำร้ายจิตของตนเอง คนทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ไม่ครบก็มักจักเป็นเช่นนี้ทุกราย
เมื่อรู้ตัวก็จงแก้ไขจุดบกพร่องให้มาก ๆ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แก้ไขได้ด้วยตนเอง


บารมี ๑๐ อีกจุดหนึ่ง ห้ามทิ้งเป็นอันขาด ตรวจตราเข้าไว้
ทานบารมีเต็ม ก็ตัดความโลภได้
ศีลบารมีเต็ม ก็ตัดความโกรธได้
เนกขัมมะบารมีเต็ม ก็ตัดกามารมณ์ได้
ปัญญาบารมีเต็ม ก็ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้
วิริยะบารมีเต็ม ความเกียจคร้านย่อหย่อนในธรรมปฏิบัติก็ไม่มี
ขันติบารมีเต็ม ก็อดทนต่อความชั่วที่เข้ามากระทบอารมณ์ได้
สัจจะบารมีเต็ม ก็ตัดความโลเลไม่เอาจริงในผลการปฏิบัติได้
อธิษฐานบารมีเต็ม ก็มีกำลัง คือมีสติกำหนดรู้ในการกระทำ ไม่ว่าทางด้านกาย
วาจา ใจ ว่าเราจักทำเพื่อพระนิพพานอยู่เสมอ ไม่คลอนแคลน
เมตตาบารมีเต็ม ก็ตัดอารมณ์ที่เข้ามาเป็นไฟเผาผลาญจิต รัก สงสารของตนเองเต็มที่แล้ว
ทางโลกไม่มีใครที่รักบ้านตนแล้วจุดไฟเผาบ้านตนเองได้

ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราเมตตาจิตตนเองได้แล้ว
ก็จักไม่จุดไฟโมหะ โทสะ ราคะให้เผาใจตนเองอีก

อุเบกขาบารมีเต็ม ก็จักตัดความทุกข์อันเกิดแก่กายและจิตของตนเองและผู้อื่นลงได้
สำหรับทางร่างกายก็จักเป็นสังขารุเบกขาญาณ วางเฉยในทุกข์ของร่างกายลงได้
สำหรับทางจิตก็จักพ้นทุกข์ คือ ปลอดจากบ่วงกิเลส ตัณหาลงได้อย่างสิ้นเชิง


พวกเจ้าต้องเทียบเคียงอย่างนี้เข้าไว้ให้ดี ๆ
บารมี ๑๐ เป็นธรรมขั้นสูงที่ตัดสังโยชน์ ๑๐ ลงได้เด็ดขาด
ถ้าหากบุคคลผู้นั้นจักมีกำลังใจเต็มแล้วทุกประการ


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
12-01-2010, 16:22
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

สันตติของอารมณ์ ในขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นเป็นอย่างไร (๑)

ขณะเจริญพระกรรมฐาน หากพิจารณาไป จิตเครียดขึ้นมา
ก็จงวางอารมณ์พิจารณา เปลี่ยนมาเป็นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
กำหนดภาพพระเป็นกสิณนิมิตแทนการเห็นอทิสมานกายอยู่เบื้องหน้าพระบนพระนิพพาน

จงทำจิตให้เป็นสุขผ่องใส เพราะอยู่ต่อหน้าพระจอมไตรองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้
กำหนดรู้ไว้ แม้ร่างกายจักตายไปในขณะนั้น จิตก็ย่อมเข้าสู่พระนิพพานแน่นอน

อย่าลืม เวลาใดที่กำหนดภาพพระนิพพานอยู่
เวลานั้นจิตไม่ห่วงร่างกาย ลืมความคิดถึงร่างกายในชั่วขณะนั้น ๆ

ขอให้สังเกตอารมณ์ของจิต
จักเกาะติดหรือคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้แค่อย่างเดียวในขณะจิตนั้น ๆ

แต่เนื่องจากขณะจิตหนึ่งนั้นเร็วมาก
แค่พุทไม่ทันโธ บุคคลผู้มีความประมาทก็ตั้งสติกำหนดรู้ขณะจิตหนึ่งนั้นไม่ทัน

การปล่อยอารมณ์ฟุ้งซ่านถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ จึงรู้สึกว่ามันปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องเป็นราว
จนดูเป็นที่ผันผวนของอารมณ์ยิ่งนัก นี่ก็เป็นสันตติ
เพราะแยกขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นไม่ออก

เรื่องราวทั้งหมดจึงประดังประเดเข้ามาเสมือนกระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลติด ๆ กันมา
สติไม่ทันกำหนดรู้ ก็แยกเหตุที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ในขณะนั้นไม่ถูก
ยิ่งใจร้อน ก็ยิ่งไหวหวั่นไปกับเหตุที่เกิดขึ้นมาก
แต่ถ้าหากใจเย็น มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิตในขณะจิตหนึ่ง ๆ

การกำหนดรู้ก็จักดึงเหตุที่เข้ามากระทบจิตให้ช้าลง
จนสามารถรู้ได้ว่าในขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นจิตกำลังเสวยอารมณ์อะไร


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
13-01-2010, 17:09
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

สันตติของอารมณ์ ในขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นเป็นอย่างไร (๒)

จุดนี้คือ พยายามแยกสันตติ คือ เห็นสันตติของอารมณ์ในขณะจิตหนึ่ง ๆ
จักต้องใจเย็น ๆ จึงจักเห็น
แต่ถ้าใจร้อนก็จักไม่เห็น สันตติของจิตนั้นเกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็ว
จนบุคคลที่ไม่เคยฝึกจิตจักกำหนดรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย
เหตุการณ์เหล่านั้นเกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ในอารมณ์ของจิตกี่ครั้งกี่หนบุคคลผู้นั้นก็ยังไม่รู้
ยังคงทำจิตให้จมปลักอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ จัดว่าเป็นผู้โง่เขลาอย่างแท้จริง

พวกเจ้าทั้งหลายเข้ามาถึงธรรมในธรรม จิตในจิตแล้ว
ตถาคตจึงตรัสแสดงธรรมให้พวกเจ้าได้รู้ว่า

พึงกำหนดรู้อารมณ์ของจิตในขณะหนึ่ง ๆ
ซึ่งเป็นธรรมปัจจุบันที่พึงจำแนกกิเลสให้หลุดพ้นไปจากจิตได้

จุดนี้เป็นการปฏิบัติอันละเอียดอย่างยิ่ง พึงจักกระทำให้ได้
เพื่อความพ้นทุกข์ ในสภาวะธรรมที่ครอบงำจิตนั้น ๆ

แยกสันตติทางอารมณ์ให้ออก จิตจักเสวยทุกขเวทนา
ก็ตัดสันตตินั้นให้ขาดด้วยกรรมฐานแก้จริตนั้น ๆ
จิตจักเสวยสุขเวทนาในทางด้านโลกียวิสัย
ก็ตัดสันตตินั้นให้ขาดด้วยกรรมฐานแก้จริตเช่นกัน
จิตจักเสวยธรรมวิมุติ ก็พึงกำหนดรู้ หาเหตุเพิ่มกำลังให้กับจิต
อันเป็นการส่งเสริมความดีในมรรคปฏิปทาปฏิบัติ
จนได้ผลเข้าถึงธรรมนั้น ๆ ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป


ถึงจุดนี้ พยายามตัดความสนใจในจริยาของคนอื่นให้มาก ๆ
งานฝึกฝนการรู้จิตนั้น จักต้องทำให้ได้ตลอดเวลา
จึงไม่สมควรให้จิตเสียเวลา เพราะเรื่องของคนอื่นให้มากนัก
ยกเว้นการเกี่ยวเนื่องด้วยเหตุที่จำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
18-01-2010, 20:36
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๑)

เรื่องท่านพระใบลานเปล่า ท่านละมานะกิเลสได้ก่อนจึงจะบรรลุมรรคผล
เพราะมานะกิเลสคือตัวยึดมั่นถือมั่น คิดหลงผิดว่าตนเองดีแล้ว
รอบรู้พระไตรปิฎก อารมณ์นี้คือสักกายทิฏฐิ คิดทะนงตนว่ารู้มาก
จึงเสมือนหนึ่งจิตที่ลืมตัวลืมตน คิดว่าตนเองดีแล้ว
จุดนี้แหละที่บดบังความดีให้สูญหาย เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลมิได้

บุคคลผู้ติดในสัญญา คือ ความจำอันเป็นปัญญาทางโลก
มีความประมาทหลงคิดว่ามีปัญญาเป็นเลิศ สัญญาจึงบดบังปัญญา
แต่เมื่อสมเด็จองค์ปัจจุบันทรงสะกิดให้ท่านทราบว่า ความดีของท่านนั้นเป็นเพียงแค่สัญญา
ความจำในพระไตรปิฎก หาใช่ความดีอันเป็นปัญญาในธรรมวิสัยไม่

อาศัยท่านมีสัมมาทิฏฐิอยู่บ้าง กล่าวคือไม่ดัดแปลงพระไตรปิฎก
จึงฉุกคิดถึงข้อเสียแห่งตนได้ เมื่อจิตมุ่งดีตั้งใจหาผู้ช่วยชี้แนะให้ทำลายกิเลส
คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองดีแล้วนั้น จนสักกายทิฏฐิผ่อนคลายลงแล้ว
คือตัวถือดีหายไป จิตมีกำลังแล้ว เณรผู้เป็นพระมหาเถระจึงเทศน์โดยอุปมาอุปไมย

(สอนวิธีจับเหี้ยให้ว่า เหี้ยมันเข้าออกรูอยู่ ๖ รู ถ้าจะจับมัน ให้อุดรูเสีย ๕ รู
เหลือไว้แค่รูเดียวก็จะจับเหี้ยได้ ท่านเคยเก่งปริยัติ ก็เข้าใจในความหมาย
เจริญกรรมฐานที่ทวารใจอย่างเดียว พระพุทธเจ้าก็ทรงสงเคราะห์
โดยทรงส่งฉัพพรรณรังสีมาปรากฏตรงหน้า สอนว่าปิดอายตนะ ๕ เสีย เหลือแต่ทวารใจ
แล้วพิจารณากายคตานุสติ ท่านก็ปฏิบัติตาม จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด)

พระใบลานเปล่าท่านเก่งปริยัติอยู่แล้ว ก็เข้าใจในอรรถนั้น จึงพิจารณาเป็นปัญญาเข้าถึงธรรมวิมุติได้

จุดนี้แหละเจ้า จงอย่าลืมตน หากผู้ปฏิบัติธรรมยังไม่ถึงที่สุดของความดี คือ พระนิพพาน
จงอย่าคิดว่าตนเองมีความดี จักเป็นมานะกิเลส คือ จิตเต็มไปด้วยการยึดในสักกายทิฏฐินั่นเอง


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
19-01-2010, 12:57
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๒)

สันตติมีสองอย่าง คือ สันตติภายนอกกับสันตติภายใน
ขันธ์ ๕ ไม่ว่าของตน ของบุคคล ของสัตว์ วัตถุธาตุใด ๆ นี่จัดว่าเป็นสันตติภายนอก
ซึ่งทำงานสืบเนื่องกันอยู่มิได้ขาดสาย เป็นปกติของธรรมสันตติภายนอกนี้

สำหรับสันตติภายใน คือ อารมณ์ของจิต ซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

เนื่องด้วยปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส ไม่รู้การเกิดดับของอารมณ์
เนื่องด้วยประมาทในอารมณ์ ขาดสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อารมณ์ที่เกิด ๆ ดับ ๆ นั้น
โดยมีความหลงเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องมาจากความประมาทในชีวิต คิดว่าตนเองจักไม่ตาย

คำว่าตายในที่นี้ หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นว่า ร่างกายนี้มีในตน ตนมีในร่างกาย
จึงแยกจิตกับร่างกายให้ออกจากกันมิได้ มีความหลงใฝ่ฝันว่าร่างกายนั้นไม่ตาย และไม่เชื่อในกฎของกรรม
จึงถูกกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมเข้าบงการอยู่ในอารมณ์ของจิต
ยังอารมณ์ของจิตให้เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ในอาการของโมหะ โทสะ ราคะนั้น
ประดุจหนึ่งบุคคลผู้มีร่างกายพลัดตกอยู่ในกระแสน้ำวนนั้น


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
21-01-2010, 15:00
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๓)

สันตติภายนอกนั้นแก้ไขไม่ได้ เป็นธรรมปกติของโลก
แต่สันตติภายในนั้น แก้ไขได้ด้วยการกำหนดรู้ตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต
หรือพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ที่สืบพระพุทธศาสนาต่อ ๆ กันมา
โดยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ให้จิตมีสติสัมปชัญญะระลึกได้อยู่ถึงมรณะสัญญาอยู่เสมอ

รู้ถึงทุกข์อันเกิดมาจากสันตติภายนอก รู้ทุกข์อันจิตเสวยอารมณ์ อันเป็นสันตติภายใน
เห็นอารมณ์ในขณะจิตนั้น ๆ ด้วยฐานอันมีสติสัมปชัญญะที่เกิดจากอานาปานั้น
และรู้ด้วยมีสติสัมปชัญญะที่เกิดจากการพิจารณาสันตติภายนอกนั้น ปัญญาเกิดจากจุดนี้

ที่ว่าปัญญาเกิดจากจุดนี้ กล่าวคือ รู้แยกร่างกายที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาว่าไม่ใช่มีในตน ตนไม่มีในร่างกาย
ความทุกข์จากสันตติภายนอกไม่มีผู้ใดบังคับได้
สันตตินั้นเที่ยงอยู่เยี่ยงนั้นเป็นปกติ เมื่อรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตน ตนไม่มีในร่างกาย
ก็สามารถแยกจิตออกมาโดยปัญญานั้น

จิตนี่แหละที่เป็นตน มีในตน จึงสามารถแยกเวทนาที่เกิดกับจิต
หรือสันตติภายในได้โดยแยบยล เป็นทางลัดตัดตรง
ชำระอารมณ์ของจิตให้ผ่องใส นำให้หลุดจากอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน
เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
28-01-2010, 13:56
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๔)

สันตติภายนอกก็ดี สันตติภายในก็ดี จักต้องอาศัยจิตมีสติสัมปชัญญะ
กำหนดรู้ว่าเหตุใดเป็นปัจจัยให้เกิด เหตุใดเป็นปัจจัยให้ดับ
มิฉะนั้น ก็จักตัดสันตติเหล่านั้นมิได้ อย่างเช่น
การเคลื่อนไหวในอิริยาบถ ๔ เจ้าก็เพิ่งกำหนดรู้ว่า
การเคลื่อนไหวนั้น ๆ จักต้องมีเป็นปกติของอิริยาบถทั้ง ๔
จักยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยอิริยาบถเดียวมิได้
ร่างกายหรือสันตติภายนอก จักต้องทำงานตามสันตติของโลก
หรือเมื่อขันธ์ ๕ คน สัตว์ วัตถุธาตุเกิดขึ้นมาแล้ว
จักห้ามไม่ให้เสื่อม ดับตามสันตติก็ห้ามไม่ได้
ฉันนี้ฉันใด สันตติภายในก็เช่นกัน

ป้านุช
30-01-2010, 16:38
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๕)

หากจิตยังมีการเสวยอารมณ์อยู่ จักต้องรู้เหตุที่ทำให้เสวยอารมณ์นั้น

โมหะ โทสะ ราคะจรเข้ามาในจิต จักต้องกำหนดรู้
และอารมณ์เหล่านั้นย่อมเกิด ๆ ดับ ๆ
หากไม่กำหนดรู้ จิตก็จักทำงานต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย
ความคิดที่จักหยุดยั้งอารมณ์ที่เบียดเบียนจิตอยู่นั้นก็ไม่มี
เพราะไม่รู้เท่าทันกิเลส คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์
จิตจึงทำร้ายตนเองไปในสันตตินั้นอย่างไม่รู้เท่าทัน


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
08-02-2010, 15:23
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๖)


การเจริญอานาปานุสติทำให้จิตมีกำลัง
การกำหนดรู้สภาวะของร่างกายให้อยู่ในมรณสัญญา
กายคตา ธาตุ ๔ หรืออสุภสัญญา
จึงยังให้สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เท่ากับสร้างความไม่ประมาทให้เกิดแก่จิต

เพราะทราบชัดว่าร่างกายนี้ตายแน่ จึงเท่ากับเห็นสันตติภายนอก
และจากการศึกษาโทษของการละเมิดศีล กรรมบถ ๑๐ ประการ
เห็นโทษของกรรม อันเมื่อร่างกายตายแล้ว
กฎของกรรมเหล่านั้นจักส่งผลให้จิตที่เสวยอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะนั้นไปไหน

จุดนี้ตถาคตจักไม่แยกกรรมดีหรือกรรมชั่ว
เพราะอารมณ์ติดดีหรือติดเลว
ก็ล้วนแต่ส่งผลให้จิตต้องโคจรไปตามภพภูมิที่ต้องจุติอยู่เสมอ

กล่าวคือ ไตรภูมินั้นไม่เที่ยง ยังตกอยู่ในสันตติ
คือ เคลื่อนไปมิได้ขาดสาย
จึงจักขอกล่าวรวมเป็นอาการของความไม่รู้เท่าทันในสันตติภายใน
คือ จิตไม่รู้เท่าทันในอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ ที่เกิดดับอยู่ในจิตนี้


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
08-02-2010, 15:29
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๗)

เมื่อบุคคลใดรู้สันตติภายในแล้ว
ก็ย่อมจักกำหนดรู้เหตุที่เกิดและที่ดับแห่งอารมณ์นั้น
ความประมาทย่อมไม่มีหรือมีก็น้อยเต็มที
บุคคลผู้นั้นก็จักทำการระงับหรือตัดข้อต่อแห่งรากเหง้าโมหะ โทสะ ราคะทิ้งไป
จึงจักทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดปราศจากกิเลสได้


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช
16-02-2010, 17:51
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๘)

การเพียรละอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะให้ออกไปจากอารมณ์ของจิต
โดยกำหนดรู้อารมณ์ของจิตในขณะหนึ่ง ๆ นั้น
จัดได้ว่าเป็นการทำสันตติทางธรรมให้เกิดขึ้น
สืบเนื่องให้จิตมีกำลังศีล สมาธิ ปัญญา
ร้อยรัดเป็นลูกโซ่ที่ประติดประต่อกันเข้ามาในอารมณ์ของจิตแทน
จิตนั้นจึงจัดได้ว่าเข้าถึงปัญญาวิมุติทางพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

กล่าวคือ บุคคลนั้นถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา
คือเป็นพระอรหันต์ขีณาสพนั่นเอง



:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
17-02-2010, 15:27
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๙)

การที่มีร่างกายอยู่ก็จักต้องมีสติกำหนดรู้กายว่า
ปกติของร่างกายนั้นเป็นอย่างไร
เห็นคน สัตว์ วัตถุธาตุก็ต้องมีสติกำหนดรู้
แม้แต่จิตจักสัมผัสหรือเห็นพรหม เทวดา นางฟ้า
ก็ต้องมีสติกำหนดรู้ความปกติของสิ่งนั้น ๆ

แต่จิตไม่ปรุงแต่ง
คือ ไม่ให้อกุศลหรือกุศลเกิดขึ้นในอารมณ์ในขณะสัมผัสธรรมนั้น ๆ

รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นเพียงสักแต่ว่าเห็น
ไม่เกาะติดในสภาวธรรมนั้น ๆ เห็นเป็นปกติ
จึงตัดโมหะ โทสะ ราคะไม่ให้เกิดขึ้นในจิต นี่คือจิตในจิต

จุดแรกคือ รู้ธรรมในธรรม
การรู้เท่าทันในสภาวะของจิตก็คือ รู้เวทนาในเวทนา

การรู้เท่าทันในสภาวะของโลกก็คือ รู้เวทนาภายนอก
หรือสันตติภายนอก

การรู้เท่าทันสภาวะของจิต คือรู้เวทนาภายในหรือสันตติภายใน

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
18-02-2010, 17:09
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

พระใบลานเปล่า
กับสันตติภายนอกและสันตติภายใน(๑๐)

ที่สุดของธรรมก็คือ รู้แยกจิต แยกกาย แยกเวทนา แยกธรรม
สรุปรวมเป็นหลักใหญ่ได้ ๒ ประการ
คือ รู้เท่าทันกองสังขารของกายและจิต

ถ้าทำได้เท่านี้ พวกเจ้าก็จบกิจพระพุทธศาสนา
ตัดสันตติทางโลก(ภายนอก)ทิ้งเสียได้

สันตติทางธรรมก็เกิดขึ้นเองเป็นอกาลิโก เอหิปัสสิโก
โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ

เป็นวิญญูชนผู้เจริญเต็มที่แล้วในพระพุทธศาสนานั่นเอง
รู้แล้วต้องจำและนำไปปฏิบัติให้ได้ด้วย

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
25-02-2010, 16:16
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ให้รู้ความสำคัญของอานาปานุสติ

เมื่อเอาเรื่องจริต ๖ มาใคร่ครวญ
ก็พบว่ากรรมฐานทุกกองต้องอาศัยกำลังจากอานาปากองเดียว
ที่เป็นรากฐานสำคัญสุด หากรู้ลมเฉย ๆ ก็เป็นแค่สมถะ (เป็นฌานเป็นสมาธิ)

แต่ถ้ารู้ละเอียดลงไปว่า แม้ลมหายใจนี้ก็ไม่เที่ยง

และเป็นเหตุเกี่ยวเนื่องกับความตายก็เป็นวิปัสสนา
โยงไปสู่ความไม่ประมาทในธรรม ไม่ประมาทในชีวิต

หากร่างกายตายแล้ว (หมดลม) จิตควรมีเป้าหมายไปไหน
สิ่งที่จิตของนักปฏิบัติต้องการก็คือ พระนิพพาน

จึงขอสรุปสั้น ๆ ว่า
"รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน หรือรู้อานาปา รู้มรณา รู้อุปสมานั่นเอง"

ผู้ที่จะรู้ได้ระดับนี้ จะต้องมีสติสัมปชัญญะ
รู้เท่าทันสภาวะของกายและจิตที่ทำงานเป็นสันตติภายนอกและภายในอยู่เป็นปกติ
พิจารณามาถึงจุดนี้ สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า

๑.ให้รู้ความสำคัญของอานาปานุสติ
แต่มิใช่เกาะติดอยู่ในลมหายใจนั้น

คือ รู้ความไม่เที่ยงของลมหายใจ แต่ไม่ให้เกาะติดความไม่เที่ยงนั้น
เท่ากับมีจิตทรงอยู่ในฌานอันเกิดขึ้นได้กับการกำหนดรู้ลมหายใจ
แต่มิใช่หลงใหลใฝ่ฝันในฌาน อันเกิดขึ้นได้กับการกำหนดรู้ลมหายใจนั้น ๆ

เมื่อร่างกายยังอยู่ ก็จำเป็นต้องพึ่งลมหายใจเป็นบันไดให้ก้าวไปสู่พระนิพพาน
ร่างกายพังเมื่อไร ลมหายใจก็หมดความจำเป็นต่อจิตเมื่อนั้น

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
25-02-2010, 16:31
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ให้รู้ความสำคัญของอานาปานุสติ (๒)

๒.รูปฌานหรืออรูปฌานก็เช่นกัน

เพื่อเป็นกำลังให้จิตตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหานแล้ว
ร่างกายพัง จิตก็โคจรเข้าสู่ดินแดนพระนิพพานตั้งมั่นแล้ว
อรูปฌานหรือรูปฌานก็หมดไป เหลือแต่อทิสสมานกายที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ
คือ พระวิสุทธิเทพนั่นเอง


๓.เมื่อยังมีชีวิตอยู่ อย่าทิ้งอานาปานุสติ อย่าทิ้งรูปฌานและอรูปฌาน

ใช้ตามปกติที่ร่างกายยังมีลมหายใจ แต่ไม่หลงใหลติดอยู่ตามนั้น
อาศัยเพียงแค่ให้ร่างกายได้ระงับทุกขเวทนาด้วยกำลังของฌาน
อาศัยฌานเป็นกำลังก้าวไปเพื่อห้ำหั่นกิเลส เป็นบันไดก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
26-02-2010, 16:36
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๑)

ในเมื่อพวกเจ้ายังมีร่างกายอยู่ในโลก
เรื่องที่จักหนีปัญหาต่าง ๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้
ยกเว้นหมดอารมณ์ ๒ ที่ครองใจเมื่อใดนั่นแหละ

มิใช่ว่าปัญหาของโลกจักหมดไป
หากแต่จิตของพวกเจ้าจักยอมรับนับถือว่า
ปัญหาของโลกเหล่านี้มันเป็นเรื่องธรรมดาของโลก

อารมณ์จิตจักไม่ยึดถือปัญหาเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ที่ขุ่นข้องหมองใจ
เห็นแต่ความเป็นธรรมดาของปัญหานั้น ๆ
ดูเป็นปกติธรรมดาของโลกไปในขณะนี้

จิตของพวกเจ้าตัดอารมณ์ ๒ ยังไม่ได้
ก็พึงคิดว่าเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นปัญหานั้นผ่านไปแล้ว
ไม่ควรจักยึดถือ นำมาคิดให้ติดข้องอยู่ในอารมณ์
และอนาคตที่ครุ่นคิดว่าจักมีปัญหาที่เกิดขึ้นมา ก็ยังมาไม่ถึง
จึงไม่ควรจักนำมาครุ่นคิดให้ติดข้องอยู่ในอารมณ์เช่นกัน

เพราะการคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง
โดยยกเหตุแห่งปัญหาขึ้นมาเป็นหลักเกาะยึด

นั่นเป็นความทุกข์ของจิต

ป้านุช
04-03-2010, 17:01
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๒)

ทางที่ดีสมควรจักอยู่ในธรรมปัจจุบัน

ขณะนี้ ปัญหาในธรรมปัจจุบันนั้นยังไม่มี ก็จังรักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุข
สุขอยู่ในธรรมปฏิบัติที่เห็นเป็นการสมควรแก่วาระที่จิตต้องการในขณะนั้น ๆ

ให้อาหารธรรมแก่จิตที่ต้องการความสงบ หรือต้องการอารมณ์คิด

การย้อนพิจารณาถึงปัญหาทางโลกไม่ควรคิด
เพราะจักทำให้จิตเป็นทุกข์
แต่การย้อนพิจารณาถึงหลักธรรมปฏิบัติที่ผ่านมาแล้วนั้นควรทำ

เป็นหลักอนุโลม ปฏิโลม (พักหรือเพียร สมถะหรือวิปัสสนา)ถอยหน้าถอยหลังทบทวนมรรคผล
จุดนี้เพื่อความมั่นคงของจิต จักเห็นได้ง่าย

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
09-03-2010, 16:34
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๓)

ในทางโลก หากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นเป็นที่กระทบกระเทือนใจมาก
จิตก็จักครุ่นคิดแต่เรื่องนั้นระรอกแล้วระลอกเล่า ไม่ยอมปล่อยวาง
จนอารมณ์ของจิตนั้น จดจำเหตุการณ์หรือปัญหานั้นจนขึ้นใจ

จนในบางครั้งร่างกายตายไปแล้ว จิตมันยังมีสภาพจำเหตุการณ์เหล่านั้น
จนนำจิตไปสู่ภพสู่ชาติตามอารมณ์นั้น ก็มีมากในบุคคลชาวโลกทั่ว ๆ ไป

จากกำลังจิตจุดนี้ พวกเจ้าจักนำมาใช้ในทางธรรมปฏิบัติ
ย้อนต้นย้อนปลายเหตุการณ์ ทบทวนคำสอนครุ่นคิดไม่วาง
ระลอกแล้วระลอกเล่า จิตมันก็จักมีสภาพจำในธรรมคำสอนนั้น ๆ

จิตไม่วางพระธรรมก็สามารถทำปัญญาให้เกิดจากสัญญาความจำที่มั่นคงนั้น ๆ

ในที่สุด เมื่อจิตเกิดปัญญามากขึ้น ๆ ตามลำดับ
จนกระทั่งถึงปัญญาวิมุติเกิดขึ้นกับจิต
จิตก็จักมีกำลังตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
12-03-2010, 17:31
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๔)

จิตติดปัญหาทางโลก คิดมากเท่าไหร่ยิ่งโง่มากขึ้นเท่านั้น
เพราะไม่มีใครที่จักเอาปัญญาส่วนตน
ไปแก้ปัญหาของโลกให้ได้หมด

ตถาคตหรือพระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็แก้ปัญหาของโลกให้หมดไปไม่ได้
โลกทั้งโลกตกอยู่ในไตรลักษณญาณเป็นปัญหา
เพราะโลกมีความพร่องอยู่เป็นนิจด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม
ความพอดีของโลกไม่มี
โมหะ โทสะ ราคะครองโลกอยู่
ทำให้ความพอดีไม่เกิดแก่โลก ทุกอย่างมีปัญหาด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นปกติ

บุคคลผู้ฉลาดเป็นบัณฑิต จักยกจิตตนให้พ้นจากปัญหาทางโลก
คิดแต่จักหาธรรมวิมุติ เพื่อยกจิตตนให้พ้นจากโลก
เพิ่มพูนปัญญาให้เกิดในโลกุตรธรรม
แก้ปัญหาส่วนตนเป็นหลัก ไม่ผูกมัดจิต
ให้ตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม
โมหะ โทสะ ราคะมีอำนาจก็ทำร้ายจิตได้น้อยเต็มที


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
13-03-2010, 09:36
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๕)

บุคคลผู้เป็นบัณฑิตย่อมชำระอารมณ์ไม่ให้ตกป็นทาสแห่งกิเลสตัณหานั้น
ทำความพอดีให้เกิดแก่จิตของตนเป็นหลักใหญ่
เมื่อจิตเกิดความพอดีแล้ว
คำว่าโยกคลอนไปในปัญหาของโลกย่อมไม่มี

มิใช่เพียงสักแต่ว่าปัญหาโลกภายนอกจักโยกคลอนจิตของบุคคลผู้นั้นมิได้
แม้แต่ปัญหาโลกภายใน หรือขันธโลกก็มิอาจจักเป็นปัญหาแก่บุคคลผู้นั้นได้

เพราะเนื่องจากความพอดีที่ถึงแล้วในจิตและขนตกแล้ว(หมดความหวั่นไหว)
จากเหตุแห่งปัญหาที่เกิดเป็นปกติในโลกทั้งภายในและภายนอกนั้น

เพราะฉะนั้น พวกเจ้าจงหมั่นรักษาอารมณ์จิตให้อยู่ในธรรมปัจจุบันเป็นดีที่สุด
เห็นธรรมทั้งหลายในโลกที่เข้ามากระทบจิตเป็นเรื่องธรรมดา

เป็นไตรลักษณ์เกิดดับอยู่เป็นปกติ ไม่มีใครหลีกพ้นไปได้
จึงไม่ควรยึดธรรมที่มีความไม่เที่ยง ปรวนแปรอยู่เป็นปกติ

หมั่นพิจารณาธรรมนั้นให้ถึงจุดอนัตตา

จิตจักคลายจากอารมณ์ที่เกาะยึดอยู่ในธรรมของชาวโลกนั้น ๆ
ทำความเบื่อหน่ายและปล่อยวางลงได้ในที่สุด


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
16-03-2010, 17:45
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๖)

ตายแล้วไปไหน จุดนี้ควรจักโจทย์ถามจิตเอาไว้ให้มาก ๆ
เพื่อป้องกันความประมาทในอารมณ์

เมื่อเกิดความฟุ้งซ่านติดในปัญหาของโลก
คิดสรุปเอาตรงที่ ไม่ช้าไม่นาน เมื่อร่างกายนี้ตายแล้ว
ก็จักต้องทิ้งปัญหานี้จากไป แต่ถ้าหากตัดไม่ได้
จิตก็จักนำปัญหานี้เกาะติดไปสู่ภพสู่ชาติ มันดีหรืออย่างนี้

อย่าลืม ความตายเกิดได้ทุกขณะจิต

หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย

การปล่อยอารมณ์จิตให้ติดปัญหาของโลก ล่วงเวลาไปมากเท่าไหร่
เท่ากับประมาทต่อความตายมากขึ้นเท่านั้น
การไม่รับรู้ปัญหาเลยนั้น ก็เป็นไปไม่ได้
อยู่ในโลก ก็จำเป็นต้องรับรู้ แต่รู้ก็ให้เพียงสักแต่ว่ารู้

อย่าผูกจิตให้เกาะติดปัญหานั้นให้มากจนเกินไป
ต้องพยายามทำการระงับ ตัด ปล่อยวางปัญหานั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จักมีกำลังทำได้

ป้านุช
29-03-2010, 16:26
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๗)

อย่าลืม ความตายเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต
หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย

การปล่อยอารมณ์จิตให้ติดปัญหาของโลก
ล่วงเวลามากเท่าไหร่ เท่ากับประมาทต่อความตายมากขึ้นเท่านั้น
การไม่รับรู้ปัญหาเลยนั้นก็เป็นไปไม่ได้
อยู่ในโลกก็จำเป็นต้องรับรู้ แต่รู้ก็ให้เพียงสักแต่ว่ารู้

อย่าผูกจิตให้เกาะติดปัญหานั้นให้มากจนเกินไป
ต้องพยายามทำการระงับ ตัด
ปล่อยวางปัญหานั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จักมีกำลังทำได้


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
30-03-2010, 10:56
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๘)

จุดนี้แหละพึงถามจิตตนเข้าไว้ ตายแล้วจักไปไหน
เกาะอยู่ในโลกตามนั้นไปพระนิพพานได้ไหม
ถามให้บ่อย ๆ จิตจักคลาย ปล่อยปัญหาของโลกไปได้ตามลำดับ

แก้ไขได้ก็แก้ไขไป แก้ไขไม่ได้ก็ช่างมัน
อีกมิช้ามินาน ร่างกายนี้มันก็จักตายไปเสียจากโลกนี้แล้ว
พวกเจ้าก็จักต้องรักษาอารมณ์ของจิตให้ตายไปจากโลกนี้ด้วย

อย่าให้จิตเกาะติดโลกอีก

ไม่ว่าโลกใด ๆ พรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก อบายภูมิ ๔ ตัดเด็ดขาด

มุ่งจิตตรงพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น

คิดไว้ตามนี้ จักได้ไม่หลงลืมปล่อยอารมณ์ให้ฟุ้งซ่านกับปัญหาของโลกจนเกินไป

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
31-03-2010, 15:07
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๙)

สุขทุกข์อันเกิดแก่อารมณ์ บัณฑิตย่อมฉลาดป้อนอาหารธรรม ทำให้จิตเป็นสุขได้
แต่ในบุคคลผู้โง่เขลา ย่อมป้อนยาพิษทำร้ายจิตให้รับทุกข์อยู่เป็นประจำ

ไม่มีใครทำร้ายเราได้มากเท่ากับจิตของเราทำร้ายตัวเราเอง

ขอให้พวกเจ้าคิดดูให้ดี ไม่ต้องโทษใคร
กฎของกรรมมันเป็นอย่างนั้น ปัญหาเป็นเรื่องปกติของโลก
โลกธรรมเป็นเช่นนั้น จักไปยึดถือมาเป็นอารมณ์ทำร้ายจิตเพื่อประโยชน์อันใด

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
05-04-2010, 18:32
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๑๐)

ปัญหาของโลกรวมอยู่ในโลกธรรม ๘ ทั้งสิ้น ไม่ว่าโลกภายนอกหรือโลกภายใน
มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็เพราะร่างกาย
มีเสื่อมลาภ - ยศ มีนินทา - ทุกข์ ก็เพราะร่างกาย

นี่เป็นปกติของปัญหาของโลก เป็นกฎของกรรม เป็นทุกข์ของชาวโลก

ที่กอปรกรรมเหล่านี้ร่วมกันมาแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคตชาติอย่างนับอสงไขยกัปไม่ถ้วน
จึงต้องมีการเสวยผลของกรรมเหล่านี้อย่างหนีไม่พ้น

นี่เป็นความปกติที่ไม่มีใครหนีโลกธรรม ๘ อย่างไปได้พ้น

ตราบใดที่ยังมีร่างกายทรงอยู่ แม้จิตจักวิมุตติแล้ว
แต่ร่างกายยังอยู่ในโลก ก็หนีโลกธรรม ๘ ไปไม่พ้น
ดั่งในพระสูตร พวกเจ้าจักศึกษาได้ว่า
องค์สมเด็จปัจจุบันก็ยังหนีโลกธรรม ๘ ไปไม่พ้น
ทรงถูกด่า นินทา สรรเสริญอยู่เป็นประจำ

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
07-04-2010, 17:33
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๑๑)

การมีลาภเสื่อมลาภ เห็นได้จากบางครั้ง กฎของกรรมชักนำให้ตกอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร
เกิดทุกขภิกขภัย จนได้อาหารน้อยบ้างก็มีอยู่หลายครา
นี้เป็นธรรมดา เพราะยังมีร่างกายอยู่ในโลก หนีกฎธรรมดาของโลกไม่พ้น

แต่สภาวะจิตที่มีอารมณ์สังขารุกเบกขาญาณ ย่อมเห็นธรรมในธรรมนั้น
อารมณ์จิตเป็นสุข อุเบกขาจิตมีกำลังแรงกล้าเหนือเวทนาของร่างกาย
จึงไม่เกิดทุกข์เกิดสุขไปตามสภาวะของร่างกายที่ถูกธรรมมากระทบนั้น

เขาด่า นินทา สรรเสริญได้ เพราะมีร่างกาย
มียศ เสื่อมยศได้ เพราะร่างกาย
มีลาภ เสื่อมลาภได้ เพราะร่างกาย
มีสุข มีทุกข์ได้ เพราะร่างกาย

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
08-04-2010, 14:03
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๑๒)

เมื่อมีสติระลึกได้เสมอว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา
ไม่มีในเรา เราไม่มีในร่างกาย เราไม่ใช่ร่างกาย
ร่างกายมีสภาพเหมือนบ้านเช่าที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว

ซึ่งตามปกติบ้านในโลกทั่ว ๆ ไป ต่อให้สร้างแข็งแรงสักปานใด
มันก็ต้องเสื่อม เรือนร้าว หลังคารั่วอยู่ตามปกติ
ซึ่งเป็นปัญหาให้ผู้อยู่ต้องซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา
ซ่อมไหวก็แค่ระงับความเสื่อมได้ชั่วคราว
คนยังอาศัยอยู่ก็ต้องซ่อมแซมเพื่อแก้ปัญหานั้นให้ลุล่วงไปชั่วคราว

แต่ในที่สุดบ้านเช่านั้นก็พัง ปราสาทหินศิลาแลงที่แข็งแรงในโลก
ก็มีความพังไปในที่สุดเช่นกัน

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
21-04-2010, 11:46
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๑๓)

การมีครอบครัว มีร่างกายต่อเนื่องกับบุคคลที่เป็นญาติเกี่ยวดอง
ก็เหมือนมีบ้านอาศัยอยู่อิงฝาชายคาติดต่อกันไปหลาย ๆ หลัง

บ้านใดบ้านหนึ่งมีปัญหาเรือนร้าว หลังคารั่ว ก็รู้กันหมดทั่ว ๆ ไป
อยู่ร่วมกันก็ต้องซ่อมแซมแก้ไขปัญหานั้น ตามกำลังที่จักช่วยได้
เพราะถ้าปล่อยให้ร้าวอยู่อย่างนั้นก็กระเทือนถึงเรือนที่เราอาศัยอยู่
จักทำให้เรือนนั้นพังเร็วขึ้น เมื่อคนยังอาศัยอยู่ก็ต้องซ่อมแซมแก้ปัญหาร่วมกันไป

แต่ก็กำหนดรู้หลักไตรลักษณ์เข้าไว้ แก้ไขปัญหาได้ชั่วคราว
ไม่ติดใจอยู่ในปัญหานั้น เพราะเห็นตัวธรรมดา กฎของกรรมเป็นเช่นนั้น

เมื่อถึงที่สุดบ้านเช่ามันก็ต้องพังไปตามกาลสมัย
เรือนใดเรือนหนึ่งก็อาจจักพังไปก่อนตามวาระกรรม
แต่ผู้อยู่ในเรือนนั้น หากรู้สภาวะไตรลักษณ์ย่อมตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า

บ้านเช่านั้นพังแน่ ก็จักเตรียมการอพยพออกจากบ้านเช่าอยู่เนือง ๆ
(ทางธรรมปฏิบัติคือ เป็นผู้ไม่ประมาท ซ้อมตายและพร้อมตายอยู่เสมอ
จนจิตชินเป็นฌานแบบง่าย ๆ คือ รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน)

:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช
27-04-2010, 13:05
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๑๔)

บุคคลผู้ฉลาดเป็นบัณฑิตในพุทธศาสนา
ย่อมจักหาบ้านอยู่อย่างถาวรไม่ร่อนเร่

เช่าบ้านหลังแล้วหลังเล่าอีกต่อไป
เป็นจิตที่แสวงหาความสุขอย่างแท้จริง

พร้อมที่จักทิ้งร่างกายของตน
และทิ้งความผูกพันในร่างกายของบุคคลอื่น
เพื่อเข้าสู่ความเป็นพระวิสุทธิเทพ

ในดินแดนอมตะพระนิพพานจุดเดียว
ที่ไม่ต้องเคลื่อนไปจุติอีก

ป้านุช
07-05-2010, 19:26
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหนีปัญหา(๑๕)

ตั้งใจคิดอย่างนี้นะ
ถ้าหากไม่กระจ่างเรื่องโลกธรรม ๘
ให้พวกเจ้าย้อนดูคำสอนของท่านสิม พุทฺธาจาโร ในอดีต

แล้วพวกเจ้าจักเข้าใจในโลกธรรม ๘ ยิ่งขึ้น
เพราะคำสอนนั้นเป็นอริยสัจ ทุกขสัจ
อันเกิดขึ้นกับผู้ที่มีร่างกายอยู่ในโลกทุกคน

สายท่าขนุน
07-05-2010, 21:33
ตั้งใจคิดอย่างนี้นะ
ถ้าหากไม่กระจ่างเรื่องโลกธรรม ๘
ให้พวกเจ้าย้อนดูคำสอนของท่านสิม พุทฺธาจาโร ในอดีต

แล้วพวกเจ้าจักเข้าใจในโลกธรรม ๘ ยิ่งขึ้น
เพราะคำสอนนั้นเป็นอริยสัจ ทุกขสัจ
อันเกิดขึ้นกับผู้ที่มีร่างกายอยู่ในโลกทุกคน


ขออนุญาตแทรกลิงก์กระทู้ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม:onion_love: ไว้เป็นข้อมูล

http://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1101

ป้านุช
11-05-2010, 16:00
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

เจริญวิปัสสนาขาดทุน(๑)

อย่าฝืนสังขาร ถ้าหากร่างกายเพลียจนเกินไป
แม้เป็นเวลาเจริญพระกรรมฐาน ก็ให้ร่างกายได้พัก

แต่กำหนดจิตพักอยู่บนพระนิพพานไปด้วย ปลงมรณานุสติไว้ให้ดี
เพราะหากร่างกายเพลียมาก ยิ่งฝืนเท่าไหร่ อารมณ์กลุ้มก็จักเกิดขึ้นมากขึ้นเท่านั้น
จำจักต้องโอนอ่อนผ่อนตามร่างกายบ้างในบางขณะ
อย่าเบียดเบียนร่างกายจนเกินไป การเจริญพระกรรมฐานจักไม่เป็นผล
เพราะเป็นอัตตกิลมถานุโยค

ป้านุช
14-05-2010, 15:58
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


เจริญวิปัสสนาขาดทุน(๒)

การพักผ่อนไม่พอ แล้วฝืนปฏิบัติธรรมให้ได้ดั่งใจนั้น
ทำคนให้จิตฟั่นเฟือนมามากแล้ว เพราะไม่รู้จักคำว่าพอดี

คำว่าพอดีไม่ใช่ทำมาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงร่างกาย
หากแต่คำว่าพอดี คือ ทำพอสมควรให้สบายทั้งจิตและร่างกาย

ทำน้อยแต่ผลมาก ไม่ใช่ทำมากแต่ได้ผลน้อย
ดูอารมณ์จิตเอาไว้ให้ดี

หากเจริญกรรมฐานแล้วปลอดโปร่งเบาสบายใช้ได้

แต่ถ้าหากทำแล้วอารมณ์จิตเครียด
มีความหนัก กลัดกลุ้มงุ่นง่านอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ต้องวางอารมณ์ให้ถูก

ป้านุช
25-05-2010, 16:13
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


เจริญวิปัสสนาขาดทุน(๓)

หากเจริญสมถะภาวนา รู้ลมเข้าออก
จักได้ฌานใดก็ตาม ให้พอใจตามนั้น

อย่าไปกำหนดว่าจักต้องได้เหมือนกันทุกครั้ง
อารมณ์ฌานย่อมไม่เที่ยง บางวันก็ได้ปฐมฌาน
บางวันตกต่ำลงมาแค่ขณิกสมาธิ บางวันได้ถึงฌาน ๒-๓-๔
จิตจักต้องพอใจในผลที่ได้ในแต่ละครั้งเสมอ
โดยยอมรับความไม่เที่ยง ซึ่งเป็นปกติของฌานอยู่เสมอ
ซึ่งความสันโดษเยี่ยงนี้จักทำให้จิตเป็นสุข
เพราะยอมรับในกฏธรรมดานี้

หรืออย่างวิปัสสนาภาวนา
ยกตัวอย่างเช่นพิจารณากายคตาหรือมรณานุสติกองใดกองหนึ่ง
เห็นทุกข์ของความไม่เที่ยงนั้น
หากจิตเกาะทุกข์ไม่ยอมปล่อย
ก็เท่ากับไม่ยอมรับความปกติของความไม่เที่ยงอันทำให้เกิดทุกข์นั้น
จิตก็จักเกิดความกลัดกลุ้มในการฝืนสภาวธรรมนั้น
อย่างนี้เรียกว่า เจริญวิปัสสนาขาดทุน

ป้านุช
26-05-2010, 15:25
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

เจริญวิปัสสนาขาดทุน(๔)

หากจักให้เป็นสุข ก็คือ เมื่อพิจารณาถึงความไม่เที่ยงที่เป็นทุกข์ของร่างกายแล้ว
จิตคลายความยึดเกาะความทุกข์นั้น

เพราะยอมรับนับถือความเป็นจริงของร่างกายว่า
นอกจากสกปรกและจักต้องตายแล้ว
ร่างกายนี้มันไม่ใช่ของเรา ไม่มีในเรา เราไม่มีในร่างกาย

ร่างกายนี้เมื่อตายแล้ว จิตเราก็จักต้องโคจรจากไป
หากคิดถึงความหวังที่จักพ้นทุกข์เมื่อร่างกายนี้ได้ตายไปแล้ว
ให้ตั้งความหวังไว้ยังพระนิพพานจุดเดียว
พิจารณาตามนี้จิตก็จักเป็นสุข

ป้านุช
27-05-2010, 19:28
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

เจริญวิปัสสนาขาดทุน(๕)

เมื่อร่างกายนี้ยังไม่ตาย ก็ตั้งใจละอารมณ์ชั่วให้ออกจากจิต
ตามคำสอนที่ตรัสมาโดยตลอดอย่างตั้งใจจริง
นี่เป็นวิปัสสนาที่กำไรทุกครั้ง

เจ้าพึงจำหลักสันโดษเข้าไว้
และจำหลักไม่เบียดเบียนร่างกายและจิตเข้าไว้

ปกติร่างกายเบียดเบียนเจ้ามากอยู่แล้ว
อย่าเอาอารมณ์จิตเราไปเบียดเบียนร่างกายและจิตของตนอย่างไม่รู้เท่าทันเลย

หลักมัชฌิมาปฏิปทา จดจำและปฏิบัติกันเอาไว้ให้ดี ๆ

ป้านุช
01-06-2010, 15:05
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

นินทาและสรรเสริญ เหมือนสาดน้ำเข้าใส่กัน

นินทาและสรรเสริญเหมือนสาดน้ำเข้าใส่กันไม่เป็นเรื่อง
เจ้าจักตระหนักถึงธรรมนี้ได้ดีว่าหาสาระมิได้
ใครชมว่าดีแต่จิตเรายังไม่ดี ก็หาได้ดีตามคำชมนั้น
ใครด่าว่าเลว ถ้าเราไม่เลวไปตามเขาด่า ก็มิจำต้องเดือดร้อนแต่ประการใด

การมีร่างกายอยู่ในโลก ย่อมหนีโลกธรรมไปไม่ได้
เขานินทา สรรเสริญเราได้ก็ตรงมีร่างกายนี้
หากเอาจิตไปผูกพันคำติ คำชม ก็เท่ากับหลงยึดมั่นถือมั่นว่า
ร่างกายนี้เป็นเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา

ป้านุช
02-06-2010, 15:16
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

นินทาและสรรเสริญ เหมือนสาดน้ำเข้าใส่กัน(๒)

เวลานี้ซ้อมวางอารมณ์ให้ลงตัวธรรมดาเข้าไว้เสมอ
โดยพิจารณาโทษของอารมณ์ราคะและปฏิฆะ
ซึ่งมีต่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
โดยเอาความปรารถนาที่จักไปพระนิพพานเข้ามาเป็นกำลังของจิต
เพราะศึกษากันมานานแล้ว พอจักเตือนสติให้กำหนดรู้ได้ว่า
การจักไปพระนิพพานได้นั้น จิตจักต้องหมดจากอาสวะกิเลส
อารมณ์ราคะ และปฏิฆะอันมีต่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์นั้นเป็นตัวทำให้เกิด
แต่พระนิพพานต้องการดับ ไม่มีเชื้อเกิด

นิพพานนัง ปรมัง สูญญัง นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง
คือว่างจากอารมณ์ที่เป็นกิเลสทั้งปวง

จึงจักถึงพระนิพพานได้ เจ้าจงเอาจุดนี้เตือนจิตทุกครั้งที่เกิดอารมณ์ราคะและปฏิฆะ

ป้านุช
07-06-2010, 15:47
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

จิตไม่ผ่องใส เพราะจิตยึดเวทนาของกายมากเกินไป
ให้ใช้ปัญญาเป็นตัวปลด การจักทำได้หรือไม่ได้
ให้เอาเวทนาที่เกิดกับกายนี่แหละเป็นตัววัด

การเบื่อนั้นเบื่อได้ แต่ยังเบื่อผสมทุกข์อยู่
เพราะขาดปัญญาจักต้องเบื่อแล้วปล่อยวาง
เห็นเป็นเรื่องธรรมดา จึงจักไม่ทุกข์

ป้านุช
28-06-2010, 16:00
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ทำอานาปานสติกองเดียว
ก็ถึงพระอรหันต์

ที่เจ้าฟังท่านฤๅษีสอนในเทปหมวดอานาปานสติที่ว่า
แม้แต่ในขณะพูดอยู่ก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกได้
จักขาดจริง ๆ แค่คำภาวนาเท่านั้น

แล้วเจ้ามาคิดต่อไปว่า คำพูดคำหนึ่งคือลมหายใจเข้า
เมื่อต่ออีกคำหนึ่งก็คือลมหายใจออกนั้น เป็นการถูกต้อง
เพราะขณะจิตหนึ่งคือลมหายใจเข้า ยังไม่ทันลมหายใจออก
หรือแค่พุท ยังไม่ทันโธ

แล้วที่เจ้าคิดต่อไปว่า ในคนที่พูดรุนแรงรวดเร็วด้วยอารมณ์โทสะ
จักนับว่าคำพูดหนึ่งเท่ากับลมหายใจออกได้ไหม

ตถาคตรับรองว่าได้ เพราะในคนที่กำลังมีโทสะเกิดขึ้นกับจิตนั้น
กำลังไฟเผาผลาญร่างกายให้ทำงานเร็วขึ้น
โลหิตในร่างกายถูกหัวใจสูบฉีดให้ไหลแรงเร็วขึ้น
ลมหายใจก็ถี่ขึ้นตามอารมณ์ที่ถูกกระทบนั้น

เหมือนคนที่วิ่งออกกำลังกายมาเหนื่อย ๆ หัวใจก็เต้นแรงปานกัน
คำพูดที่รัวออกมาจึงเป็นจังหวะของลมหายใจได้เสมอกัน

ป้านุช
28-06-2010, 16:10
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ทำอานาปานสติกองเดียว
ก็ถึงพระอรหันต์ (๒)

แล้วที่เจ้าคิดว่า "เมื่อพระอรหันต์ท่านกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา
การพูดของท่านก็ย่อมรู้ในวาจาที่พูดออกมาตลอดเวลา
เพราะจิตท่านทรงสติสมบูรณ์ด้วยอานาปานั้น จักใช่หรือไม่

ตถาคตก็จักยืนยันว่า ใช่ เพราะฉะนั้น คำว่าเพ้อเจ้อ เหลวไหล
ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ย่อมไม่มีในวาจาของพระอรหันต์อย่างแน่นอน
เพราะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ด้วยการกำหนดรู้อานาปานสติ
ควบมรณานุสติ ควบกายคตาและอสุภกรรมฐาน และกำหนดรู้ในอริยสัจ
หรือกฏของกรรมอย่างมั่นคง
ความหลงไม่ยอมรับนับถือในกฏของกรรมนั้น ไม่มีในพระอรหันต์
และเป็นคำจริงที่เจ้าคิดต่อไปว่า

พระอรหันต์เห็นอะไรที่เกิดขึ้นในโลกนี้เป็นเรื่องธรรมดาหมด

ป้านุช
29-06-2010, 15:06
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ทำอานาปานสติกองเดียว
ก็ถึงพระอรหันต์ (๓)

เจ้าเห็นอิทธิพลของอานาปานสติแล้วหรือยัง
เมื่อเห็นแล้วก็จงจำคำที่ท่านฤๅษีกล่าวว่า
จักต้องทรงอานาปาให้ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตราบใดที่จิตนี้ยังตื่นอยู่

ความนี้เจ้าสำคัญว่าเป็นไฉน
(เข้าใจว่าขณะที่กายหลับ จิตที่ฝึกดีแล้วในอานาปา
สามารถทรงฌานในอานาปาจนชิน ก็จะยังทรงอานาปาอยู่ในขณะหลับได้ด้วย
จึงจัดได้ว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง)

ถูกต้องแล้วเจ้า แต่ถ้าจักให้ดียิ่งขึ้น
อย่าลืมยกอทิสมานกายให้ขึ้นไปอยู่บนพระนิพพานด้วย
และพึงปลงมรณานุสติควบกายคตาและอสุภกรรมฐาน
ตัดกังวลห่วงใยในร่างกายที่นอนอยู่นี้ไปเสียเลย

อย่าคิดว่าหนัก ทำไม่ได้ ที่กล่าวมานี้เจ้าจักต้องฝึกให้เกิดอารมณ์ชินด้วย
ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็พยายามไปเรื่อย ๆ ทำอย่าหยุด
พยายามอย่าขี้เกียจ แล้วผลก็จักบังเกิดแก่เจ้าได้อย่างแท้จริง

ป้านุช
08-07-2010, 16:43
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ทำอานาปานสติกองเดียว
ก็ถึงพระอรหันต์ (๔)

วกกลับมายืนยันอีกครั้ง
การกำหนดรู้อานาปานสติเป็นกำลังให้จิตมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
การฝึกรู้ลมหายใจเข้าออกในขณะกล่าววาจา
ก็จักเกิด "นิสสัมมะ กรณัง เสยโย"ในวาจาที่กล่าวนั้นได้ตามลำดับ

จักทำให้เกิดมีแต่วาจาที่ชอบด้วยปัญญา
มีเนื้อหาสาระอย่างแท้จริง
ใหม่ ๆ อาจจักฝืน กำหนดรู้ไม่ใคร่ได้ทันในวาจาที่กล่าวนั้น ๆ
ต่อเมื่อทำนาน ๆ ไป สติสัมปชัญญะก็จักเกิดขึ้นตามลำดับ
การกลั่นกรองวาจาก็เกิด มีปัญญาตามรู้เท่าทันในคำพูดของตนนั้น ๆ
จนในที่สุดเป็นอัตโนมัติ รู้ด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ว่า

วาจาที่กำลังกล่าวออกไปนั้น ๆ คือ ยังไม่ทันได้กล่าว เป็นเพียงมโนกรรมเกิด
จิตก็จักกลั่นกรองได้ในทันทีทันใดว่า

วาจาเยี่ยงนี้เมื่อกล่าวออกไป มีผลดี มีผลเสียกับผู้ฟังเพียงใด
หรือละเอียดลงไปยิ่งกว่านั้น คือ
มโนกรรมที่คิดนี้ดีหรือไม่ดีแก่ตนเองหรือผู้อื่นอย่างไร

นี่การรู้ลมสำคัญเยี่ยงนี้นะ จึงไม่ผิดหรอกที่ท่านฤๅษีสอนว่า
ทำอานาปานสติกองเดียวก็ถึงพระอรหันต์

ป้านุช
10-07-2010, 14:43
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ทำอานาปานสติกองเดียว
ก็ถึงพระอรหันต์ (๕)

และเป็นไปตามที่ท่านว่า
ถ้าหากจิตเรามีหน้าที่ทำงาน คือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกแล้ว
เรื่องที่จักไปมีอารมณ์ว่างไปสนใจกับจริยาของคนอื่นนั้นก็ไม่มี

หรือจักไปมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลงก็ไม่มี
จิตจักทรงฌานในอานาปานสติจนชิน
แต่จักต้องไม่ลืมควบวิปัสสนาภาวนาในอริยสัจ
ตามสังหารกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานตามที่ท่านสอนไว้ด้วย จึงจักมีผล

ป้านุช
12-07-2010, 17:28
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ทำอานาปานสติกองเดียว
ก็ถึงพระอรหันต์ (๖)

ท่านฤๅษีมาเตือนพวกเจ้าว่า
พวกเจ้ามักลืมตัว เวลาไปคุยกับคนอื่น
มักอ้างว่าหลวงพ่อสอนอย่างโน้น อย่างนี้
ให้บอกว่าหลวงพ่อท่านสอนตามพระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้
เพราะขณะสอนท่านมีพระพุทธเจ้าคุมอยู่

การไปคุยกับบุคคลนอกกลุ่มศิษย์หลวงพ่อจะมีปัญหา
เขาอาจอ้างว่าอาจารย์ของเขาสอนว่าอยางนี้
การขัดแย้งกันก็จะเกิดขึ้น แต่หากอ้างว่าเป็นคำสอน
หรือสอนตามพระพุทธเจ้าแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็จักไม่เกิด
การปรามาสพระรัตนตรัยก็ไม่มี
จุดนี้ก็เกี่ยวกับการใช้ปัญญาในคำพูดเช่นกัน

ป้านุช
16-07-2010, 16:26
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ร่างกายนี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้า

ขันธ์ ๕ ย่อมไม่มีในใครทั้งหมด
ร่างกายไม่ใช่ตถาคต ร่างกายไม่ใช่ท่านสัมภเกสี
ร่างกายนี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ร่างกายนี้ไม่ใช่พระอรหันต์
ปกติของร่างกายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปตามสภาวะธรรมของโลกนั้น ๆ

พระพุทธเจ้าเป็นได้เพราะพระธรรม ตถาคตคือพระธรรม
ท่านสัมภเกสีเป็นพระอรหันต์ได้ก็เพราะพระธรรม

พระธรรมนั้นไม่เกิด ไม่ตาย
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์จึงไม่เกิด ไม่ตายตามสภาวะของธรรมนั้น ๆ

ป้านุช
22-07-2010, 13:57
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ร่างกายนี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้า (๑)

จำได้ไหมที่ตถาคตตรัส ผู้ใดเกาะชายสังฆาฏิของตถาคตอยู่
แต่ไม่ประพฤติในธรรมวินัย ก็เสมือนหนึ่งอยู่ไกลคนละฟากฟ้า
ผู้ใดอยู่ไกลคนละฟากฟ้า แต่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยนี้
ก็เสมือนหนึ่งอยู่ใกล้ เกาะชายสังฆาฏิของตถาคตอยู่

ประการแรก หมายถึงผู้อยู่ใกล้ร่างกายของตถาคต
แต่ไม่สนใจศึกษาปฏิบัติในพระธรรม ก็เสมือนหนึ่งอยู่ไกล

เพราะตถาคตคือจิตที่เข้าถึงพระธรรม

บุคคลผู้ไม่สนใจพระธรรม จึงไม่สามารถเข้าถึงพระพุทธเจ้าได้

ประการหลัง บุคคลใดแม้อยู่ห่างไกลจากร่างกายของตถาคต
แต่ยังเคารพนบนอบปฏิบัติในพระธรรมอยู่เสมอ
จึงได้ชื่อว่ายังจิตให้เข้าถึงพระธรรม
พระธรรมก็ย่อมโยงจิตให้สัมผัสกับจิตของตถาคตได้
จึงเสมือนอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าตลอดไปฉันนั้น