View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
7dP5LyDEsv0
วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ภารกิจสำคัญในวันพรุ่งนี้ก็คือการคุมสอบธรรมศึกษา คราวนี้บรรดาท่านที่ไปเป็นกรรมการคุมห้องสอบ อย่าไปเฉย ๆ เราไปทบทวนความรู้ของเราด้วย เพราะว่าข้อสอบของธรรมศึกษานั้น ส่วนใหญ่เขาให้ท่านที่ได้เปรียญธรรมสูง ๆ ซึ่งเป็นกรรมการในกองธรรมสนามหลวงเป็นผู้ออก บางอย่างเขาออกมาจนเราคิดไม่ถึง ดังนั้น..ถ้าหากว่าเราทบทวนอยู่บ่อย ๆ ทุกปี นอกจากตัวเองจะได้ความรู้แล้ว ยังจะเห็นแนวทางด้วยว่าเขาออกข้อสอบกันอย่างไร
หลักการง่าย ๆ เลยก็คือถ้าเป็นวิชาเบญจศีล เบญจธรรม เขาจะออกไล่ตั้งแต่ศีลข้อที่ ๑ ไป ดังนั้น ถ้าหากว่าข้อสอบข้อที่ ๑, ๒, ๓, ๔ เป็นศีลข้อที่ ๑ ข้อที่ ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ อาจจะเป็นศีลข้อที่ ๒ จะไล่ไปตามลำดับแบบนี้ ในส่วนของศีล ๘ - ศีลอุโบสถ ก็คล้ายคลึงกัน กรรมบถ ๑๐ ก็คล้ายคลึงกัน ถ้าหากว่าเราจับเคล็ดได้ ต่อไปก็เหลือแค่การพิจารณา เพียงแต่ว่าข้อสอบเขาค่อนข้างจะโหด ก็คือ ๕๐ ข้อ ๕๐ นาที..!
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าเรามั่นใจคำตอบ สมมติว่าเป็นผู้ทำข้อสอบเอง เจอข้อสอบที่ถูกปุ๊บ กากบาทข้อนั้น หรือไม่ก็ฝนข้อนั้นไปเลย ถ้าอ่านมากเดี๋ยวจะเมา..! แบบเดียวกับที่ท่านอาจารย์พลตรีเฉลิมชัย เสียงใหญ่ ท่านออกข้อสอบ ท่านถามว่า มเหสีของพระเจ้าอชาตศัตรูชื่ออะไร ? ก.พระนางเทเวหิ ข.พระนางเวเทหิ ค.พระนางทเวหิ ง.พระนางวเทหิ
ก็คือเหมือนกันทุกตัวอักษร เพียงแต่จับสลับที่เท่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายไม่มั่นใจ ขืนไปอ่านครบทุกข้อก็เมาไปเลย..!
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น บอกเด็กเขาไปเลยว่า ถ้ามั่นใจข้อไหนให้ลงคำตอบไปเลย อย่าอ่านทั้งหมด นอกจากจะทำให้เสียเวลา ไม่มีเวลาทบทวนแล้ว อ่านมาก ๆ แล้วอาจจะหลงตามเขาไปด้วย
แม้กระทั่งกระผม/อาตมภาพเองก็เคยหลงตามเขาไปแล้ว เพราะเขาถามว่าพระพุทธบิดาชื่ออะไร ? ก. พระเจ้าสุทโธทนะ ข. พระเจ้าสุกโกทนะ ค. สิทธัตถราชกุมาร ง. นันทราชกุมาร
กระผม/อาตมภาพก็ใส่สิทธัตถราชกุมารไปเต็ม ๆ เลย เพราะไปเข้าใจว่า คำว่าพุทธบิดาก็คือบิดาที่เป็นพระพุทธเจ้า โดยที่ไม่ได้คิดว่าเป็นบิดาของพระพุทธเจ้า ก็แสดงว่างานนั้นแปลผิด ผิดเพราะว่าอ่านโจทย์ไม่แตก เป็นต้น
คราวนี้ในส่วนของการสอบจะแบ่งออกเป็นระดับประถมตรี ประถมโท ประถมเอก ซึ่งสมัยก่อนเขาสอบครั้งเดียว รวบยอดทั้งหมด ตอนนี้ต้องบอกว่าสัญญาและปัญญาของคนทรามลงไปเรื่อย วิชาที่เคยสอบครั้งเดียวก็มาซอยออกเป็น ๓ ช่วงแล้วก็สอบ ๓ ครั้ง พูดง่าย ๆ ว่ายิ่งเรียน ความรู้ก็ยิ่งน้อยลง..!
ระดับมัธยมก็เป็นมัธยมตรี มัธยมโท มัธยมเอก แล้วสมัยนี้การเขียนกระทู้ก็ง่าย ไม่ต้องจำเอง เพราะว่าเขาจะมีกระทู้รับตัวอย่างมาให้ เพียงแต่ว่าเราถนัดข้อไหนก็ยกข้อนั้นขึ้นมารับ แล้วอธิบายให้สมเหตุสมผล ดังนั้น..พวกเราที่ไปเป็นกรรมการคุมสอบต้องเขียนกระทู้เป็น ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะแนะนำเด็กไม่ถูก เพราะว่าเด็กของเราส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้เรียนวิชาพระพุทธศาสนามาเต็ม ๆ หากแต่เรียนมาบ้างเท่านั้น
แล้ววิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมเป็นวิชาการเทศน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเด็กนักเรียนที่จะไปเทศน์ เขาเขียนได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ถือว่ามีความสามารถพอแล้ว เพราะฉะนั้น..มีโอกาสก็ช่วยแนะนำเขาด้วยว่า รูปแบบของการเขียนเป็นอย่างไร ? ส่วนสำนวนการเขียนก็ปล่อยให้เป็นของเขาเอง
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยถ้าหากว่าเป็นของโรงเรียนอนุบาลทองผาภูมิ มหาจุก (พระมหาอินทรปกรณ์ ฐิตสุโภ ป.ธ. ๔) ก็คงจะจัดไปเอง ถ้าหากว่าทางด้านของโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา เลขาฯ พัฒน์ (พระมหาพัฒน์ ฐิตาจาโร ป.ธ. ๓) จะเป็นคนจัดไป ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกปากกาสี เป็นพวกกาวสำหรับติดหน้าซอง เป็นที่เย็บกระดาษ เพราะว่าถ้าไม่เตรียมไปให้ครบ ไปหวังพึ่งทางโรงเรียน ถ้าเขาไม่ได้ซื้อเอาไว้ก็เป็นอันว่าบรรลัยแน่นอน เพราะฉะนั้น..เกินไว้ดีกว่าขาด..!
แล้วในเรื่องของการสอบธรรมศึกษา ก็เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่า "กลืนไม่เข้า คายไม่ออก" สมมติว่าเด็กเข้าสอบ ๓๐๐ คน เราไม่ได้รับเงินสนับสนุนทั้ง ๓๐๐ คนนะครับ ต้องรอจนกระทั่งผลสอบออกมาแล้ว สอบได้กี่คนเขาก็ให้เงินสนับสนุนแค่นั้น ส่วนที่เหลือก็ถือว่าลงทุนฟรีไป..!
แต่ว่าเป็นเรื่องของการเสียสละ เพราะว่าโรงเรียนแต่ละโรงเรียนก็จะมีวัดที่อยู่ใกล้ชิดคอยดูแลอยู่ เพียงแต่ว่าวัดท่าขนุนของเรานั้นดวงเฮงมาก เพราะว่าโรงเรียนล้อมรอบวัดเลย ที่รับผิดชอบอยู่จึงมีทั้งโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา โรงเรียนอนุบาลทองผาภูมิ โรงเรียนเทศบาลทองผาภูมิ โรงเรียนวัชรวิชญ์
ก่อนหน้านี้มีโรงเรียนบ้านเสาหงษ์ แล้วก็ยังมีเรือนจำจังหวัดทองผาภูมิด้วย มาตอนหลังก็มอบเรือนจำจังหวัดทองผาภูมิให้กับวัดเขื่อนวชิราลงกรณที่เขาอยู่ใกล้ชิดกว่าดูแลไป โรงเรียนบ้านเสาหงษ์ก็ยกให้ทางวัดเสาหงษ์ดูแลไป แต่เราก็ยังมีวัดสาขาที่ต้องช่วยกันอยู่ ก็คือวัดพุทธบริษัท ซึ่งดูแลโรงเรียนบ้านจันเดย์ กับวัดวังปะโท่ที่ดูแลโรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทยอุทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยม แล้วค่อนข้างจะมีเด็กนักเรียนมาก พระวัดวังปะโท่ไม่เพียงพอ ก็ต้องมาขอแบ่งพระจากวัดเราไปดูแลเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว
บางวัดไม่มีโรงรียนที่ต้องรับผิดชอบ เพราะว่าตั้งอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีโรงเรียนอยู่ใกล้เคียง แต่วัดท่าขนุนของเราถือว่าดวงเฮงมาก ต่อให้คุณไม่ต้องการผลงานด้านการศึกษาก็ต้องมีจนได้ เพราะว่าหลายโรงเรียนอยู่รอบวัดของเราเลย ในส่วนหนึ่งก็คือที่กระผม/อาตมภาพแบ่งโรงเรียนอนุบาลทองผาภูมิให้กับปลัดแป๊ะ (พระปลัดวินัย ชาคโร) ไป เพื่อจะได้มีผลงานด้านการศึกษา ในฐานะเจ้าอาวาสวัดพุทธมณฑลอรัญญิกาวาส เนื่องเพราะว่าวัดพุทธมณฑลอรัญญิกาวาสไม่ได้อยู่ใกล้โรงเรียนอะไรเลย
ส่วนโรงเรียนที่เหลือก็อยากที่จะให้เขาสามารถตั้งเป็นสนามสอบของตนเองได้ ไม่อย่างนั้นแล้วก็ยังต้องฝากสอบอยู่กับทางโรงเรียนทองผาภูมิวิทยาบ้าง โรงเรียนอนุบาลทองผาภูมิบ้าง แต่ต้องรอว่ามีใครสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ? เนื่องเพราะว่ากระผม/อาตมภาพเองก็แก่ไปทุกวัน แล้วงานนี้เจ้าคณะจังหวัดท่านก็จะให้ไปร่วมต้อนรับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองธรรมสนามหลวง ที่มาเปิดการสอบที่โรงเรียนวิสุทธรังษี ยังคิดดูว่าถ้าเสี่ยงไปนี่ ท่านทั้งหลายที่ดูแลแทนกระผม/อาตมภาพ จะสามารถแบกภาระไหวไหม !?
ต่อให้แบกภาระไหว จะอยากดูว่าสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ? เหมือนอย่างกับว่าถ้าขาดกระผม/อาตมภาพไปสักคนหนึ่ง ที่เหลือก็ขาดความมั่นใจไปด้วย แต่ไม่ว่าช้าหรือเร็ว ท่านทั้งหลายก็ต้องรับภาระไปจนได้
ดังนั้น..ถ้าเป็นไปได้ก็คือรีบศึกษาหาความรู้เอาไว้ว่า แต่ละครั้งเราต้องทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะการสอบ มีเด็กที่มาสอบเช้าแล้วไม่สอบบ่าย และมีเด็กที่มาสอบบ่ายโดยไม่สอบเช้า ถ้าทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เกิดขึ้น เราต้องดึงชื่อออกหมดเลย ดึงข้อสอบออกด้วย เพราะว่าสอบไม่ครบทุกวิชาเขาไม่ให้ผ่านอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาเขาตรวจสอบรายชื่อ ปรากฏว่าตอนเช้าไม่มีหรือตอนบ่ายไม่มี ก็บรรลัยแล้ว เขาก็จะมาทวงกับเราว่า ใบตอบของเด็กคนนั้นอยู่ที่ไหน ?
ส่วนหนึ่งที่ต้องระมัดระวังเลยก็คือว่า ดูการฝนหมายเลขประจำตัวของเด็กด้วยว่าตรงช่องหรือเปล่า ? เนื่องเพราะว่าเป็นการตรวจด้วยเครื่องอัตโนมัติ จะมีแต่วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมเท่านั้น ที่พวกกรรมการอย่างกระผม/อาตมภาพจะต้องไปตรวจด้วยตนเอง ที่เหลือก็ส่งเข้าเครื่องอัตโนมัติ ถ้าฝนหมายเลขประจำตัวผิด คะแนนก็จะลงให้ผิดคนไปด้วย เพราะว่าเครื่องตรวจอัตโนมัติไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ถึงเวลาลงว่าหมายเลขไหน เขาก็ส่งคะแนนให้หมายเลขนั้นไป แต่ว่าช่วยงานได้มาก
เหตุที่ช่วยได้มากก็เพราะว่าสมัยก่อนกว่าที่จะตรวจครบ ต้องขอแรงนักเรียนมาทีละโรงเรียนเลย โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีของเรานี่ ติด ๑ ใน ๕ ของการสอบธรรมศึกษามากที่สุดในประเทศทุกปี กระผม/อาตมภาพเองก็ยังเป็นเจ้าภาพเครื่องตรวจอัตโนมัติให้กับทางจังหวัดกาญจนบุรี เพราะว่าคณะสงฆ์ภาค ๑๔ มี ๔ จังหวัด แต่ละจังหวัดก็หาเจ้าภาพซื้อเครื่องตรวจอัตโนมัติ มอบให้ทางด้านกองเลขานุการคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ดูแลไว้ ถึงเวลาก็นำมาใช้ในการตรวจ
เครื่องหนึ่งก็ราคาเป็นแสนอยู่เหมือนกัน แต่ว่าช่วยให้งานทุกอย่างสะดวกขึ้น เพราะว่าถ้าเราเรียกเด็กมา ๑๐๐ คน แค่เลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก ก็ไม่รู้ว่าหมดไปเท่าไรแล้ว..! เพราะฉะนั้น..ตัดใจลงทุนครั้งเดียว อย่างน้อยก็ใช้ได้ ๓ ปี ๕ ปี ถ้าดูแลเครื่องดี ๆ ใช้ได้เป็น ๑๐ ปีก็สุดที่จะคุ้ม จึงเป็นเรื่องที่เราท่านทั้งหลายต้องรีบศึกษาทั้งหมด ให้รู้ได้ครบ ถึงเวลาทำให้เป็น
แบบที่กระผม/อาตมภาพช่วงที่เป็นพระใหม่อยู่ ๒ พรรษาแรกกิจนิมนต์ทั้งที่ตัวเองรับ และไปแทนคนอื่น จะไปทั้งหมด ไปจนกระทั่งมั่นใจว่าทุกงาน ไม่ว่าจะมงคลหรืออวมงคล พิธีกรรมขั้นตอนเป็นอย่างไร ? ต้องใช้บทสวดอะไรบ้าง ? รู้ครบถ้วนแล้ว พรรษาที่ ๓ ก็เริ่มให้รุ่นน้องไปแทนบ้าง
ครั้นพอออกมาอยู่ทางด้านนอก ปรากฏว่าเจอวัดอื่นเขามีการกล่าวสัมโมทนียกถาให้กับเจ้าภาพก่อน ที่จะกรวดน้ำหลังถวายภัตตาหารแล้ว ก็ต้องมาฝึกกล่าวสัมโมทนียกถา ของพวกนี้ถ้าหากว่าเราไม่ฝึกไม่หัดเอาไว้ ถึงเวลาไม่สามารถที่จะทำได้ กลายเป็นว่าภาระของคนอื่นก็หนักขึ้น เราก็กลายเป็นตัวถ่วงไป แต่ถ้าหากว่าเราทำได้ แนะนำคนอื่นได้ ทุกอย่างก็กลายเป็นของง่ายทีหลัง
ดังนั้น..เรื่องของการฝึกฝนตนเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะดูกำลังใจของตนเองเวลาทำงาน กระทบกับงานหนัก ๆ เข้า ใกล้วินาทีสุดท้ายแล้วเด็กยังไม่ส่งเสียที เราเครียดหรือเปล่า ? โกรธหรือเปล่า ? ไม่พอใจบ้างไหม ? วิชาที่ ๑ วิชาที่ ๒ สมาธิยังดีอยู่ พอรับไหว วิชาที่ ๓ วิชาที่ ๔ พังบรรลัยแล้วหรือเปล่า !?
ถ้าเป็นลักษณะนั้น แปลว่ากำลังของเรายังไม่พอสู้กับงาน ก็ต้องมาฝึกหัดเพิ่มเติมในเรื่องของสมาธิภาวนา ให้มีความคล่องตัวและยืนระยะได้มากขึ้น เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น..ทุกอย่างอย่าทำงานเฉย ๆ แต่ให้ทำอยู่ในลักษณะที่ขัดเกลาตนเองไปด้วย จะได้ไม่ขาดทุน
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.