View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๗
พิชวัฒน์
07-09-2024, 19:52
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๗
gJmRHMkMEKk
วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ วันเสาร์ ๕ พวกเราแม้ว่าจะแบ่งสันปันส่วนงานกันขนาดไหนก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้ต้องแก้ไขระหว่างหน้างานกันทั้งนั้น ซึ่งจะเป็นปัญหาที่จะเจอกันทุกงาน มากบ้างน้อยบ้าง
คราวนี้การที่เราทำงานและแก้ไขปัญหาระหว่างหน้างานนั้น ทำอย่างไรที่เราจะรักษาอารมณ์ของตนเองเอาไว้ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือไม่เกิด รัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นมา เนื่องเพราะว่าการรักษาอารมณ์ใจของพวกเราไม่ให้ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด
กระผม/อาตมภาพเองสมัยที่ช่วยงานพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ อยู่ ทั้งตอนเป็นฆราวาสและตอนเป็นพระ อาศัยว่าเป็นคนที่มีความรู้สึกไว รู้ตัวเร็ว แล้วพยายามหาทางแก้ไขเสมอ เนื่องเพราะจากที่ท่านเห็นว่า มีคนจำนวนมากมาร่วมงาน อยู่ในระดับหลายพันคน แต่ยังไม่ได้เศษเสี้ยวของบุคคลที่ไปหาหลวงพ่อวัดท่าซุง เพราะว่าของท่านมาตรฐานก็คือประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คนต่องาน..!
ที่เคยหนักที่สุดก็คือ ช่วงวันเสาร์จัดงานเป่ายันต์เกราะเพชร แล้ววันอาทิตย์เป็นงานประจำปี เพราะว่าบุคคลแทนที่จะกลับก็อยู่รองานกันต่อไป ตอนนั้นศาลา ๑๒ ไร่ยังสร้างไม่เสร็จ ญาติโยมทั้งหลายนอนกันเกลื่อนกลาดไปหมด โดยไม่ได้สนใจว่าสิ่งก่อสร้างนั้นจะสะอาดหรือว่าสกปรก บรรดาชาวบ้านไปเหมาร้านขายของเก่า ซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์มากิโลกรัมละ ๖ สลึง ขายให้เขาปูนอนฉบับละ ๕ บาท..!
แม้ว่าตัวกระผม/อาตมภาพเองจะตั้งใจภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวเต็มที่แล้วก็ตาม แต่เวลาทำงานก็จะมีแรงกระทบอยู่ตลอดเวลา วันนี้หลายท่านก็เจอ เพราะว่าคนก็คือคนวันยันค่ำ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนแต่ฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง ช่วงเช้าก็ยังพอไหว รักษากำลังใจเอาไว้ได้ แต่พอตอนช่วงบ่าย กระผม/อาตมภาพรู้สึกว่าตัวเองเสียงดังขึ้นไปเรื่อย ๆ การเสียงดังแปลว่าเราเครียดแล้ว กำลังใจตกแล้ว เมื่อรู้ตัวก็รีบดึงเพื่อนมาทำหน้าที่ตรงหน้าหลวงพ่อท่านแทน แล้วตัวเองก็ไปห้องน้ำ ไม่ได้ไปหนักไปเบาอะไรกับใคร แต่ไปนั่งภาวนา จนกระทั่งอารมณ์ใจมั่นคงแล้วถึงออกมาสู้กับงานอีกรอบหนึ่ง เพื่อนฝูงก็คงคิดว่าแวะไปหาข้าวกินมา แต่ความจริงเป็นอาหารใจที่สำคัญกว่าอาหารกายหลายเท่า..!
และนั่นเป็นต้นเหตุให้กระผม/อาตมภาพออกธุดงค์ครั้งแรก เพราะพิจารณาแล้วว่าตนเองยังมีเมตตาไม่เสมอกัน พรหมวิหาร ๔ เราต้องทำจนเป็นอัปปมัญญา ก็คือเสมอหน้ากัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง กระผม/อาตมภาพสังเกตว่า ตนเองยังมีการดูว่าคนนี้คนรวย คนนี้คนจน คนนี้สวย คนนี้ไม่สวย ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยทำให้กำลังใจที่จะเมตตาคนอื่นนั้นไม่เท่ากันไปด้วย..!
คราวนี้การฝึกเมตตาพรหมวิหารไม่ใช่ว่าไม่เคยฝึก เคยฝึกถึงขนาดต้องไปขอข้าวรุกขเทวดากิน สรุปก็คืออดมากกว่าได้ เพราะว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านบอกว่าอย่าเพิ่งออกป่า เราต้องขอข้าวเทวดากินได้ก่อนถึงจะประกันความเสี่ยงได้ ท่านให้ขอกับต้นไม้หน้ากุฏินั่นแหละ ถ้าหากว่าขอไม่ได้เราก็ยังมีโรงครัวให้อาศัย ถ้าเข้าป่าไปทีเดียวแล้วขอไม่ได้ก็แปลว่าอด..!
ซักซ้อมอยู่เป็นเวลานานมาก วันแรก ๆ ก็รักษาสภาพจิตเอาไว้ ผ่องใสมาก หมูหมากาไก่ จิ้งจก ตุ๊กแกที่ไหนก็ยิ้มให้ได้หมด พอวันที่ ๒ ก็ทะร่อทะแร่เหมือนนกปีกหัก อย่างกับคนแบกข้าวสารกระสอบละ ๑๐๐ กิโลกรัม
ยังไม่ทันจะวันที่ ๓ เต็มวันก็ตกแอ้ก..! พังเรียบร้อย หลวงพ่อท่านบอกว่า เราต้องแผ่เมตตาให้ได้ต่อเนื่องอย่างน้อย ๓ วันโดยไม่บกพร่อง ถึงจะขอข้าวเทวดากินได้
ในเมื่ออยู่ในสถานที่ของตนเองแล้วฝึกหนักขนาดนั้น ยังไม่สามารถที่จะรักษาอารมณ์ไว้ได้ทั้งวัน ก็เหลือทางเดียวคือออกป่า แต่ปรากฏว่าป่าที่ลาหลวงพ่อท่านไปธุดงค์นั้น เป็นป่าใหญ่ที่ต่อเนื่องระหว่างสุโขทัยกับลำปาง เป็นป่าดงดิบที่ค่อนข้างจะดุมาก เอาแค่ทากอย่างเดียว ขนาดเราวิ่ง ๆ ยังเกาะจนเต็มขา เรื่องสัตว์อื่นไม่ต้องไปพูดถึง มากจนเหมือนอย่างกับคอกวัวคอกควายของเรา..!
ด้วยความที่ป่าดุจนเกินไป แทนที่จะได้ตัวเมตตามา กำลังใจก็เลยกระโดดข้ามขั้น กลายเป็นสังขารุเปกขาญาณแทน ปล่อยวางจนหมดเลย เพราะว่าเดินไปก็มีความรู้สึกเหลืออยู่อย่างเดียวว่า "ตายแน่..ตายแน่" ก็คือพื้นที่ทุกตารางนิ้วมีแต่รอยเท้าสัตว์ เหมือนอย่างกับเวลาเรามองเข้าไปในคอกวัวคอกควาย มีแต่รอยเท้าแน่นไปหมด แบบนั้นเลย
คราวนี้พวกท่านทั้งหลายถ้าหากว่าจะฝึกฝนตรงนี้ ต้องหมั่นสังเกตกำลังใจตัวเอง เวลาเราสั่งหรือว่าดุแล้วญาติโยมไม่ทำตาม อารมณ์ใจเราขุ่นมัวหรือเปล่า ? ไม่ต้องสงสัย..เจ๊งกะบ๊งกันหมด..! ถึงข้างนอกรักษาฟอร์มเอาไว้ได้ก็เจ๊ง ไฟไหม้อยู่ข้างในแล้ว..!
ก็เหลืออยู่ทางเดียวก็คือ ทำอย่างไรที่จะสลัดอารมณ์เหล่านี้ออกจากใจของเราให้ได้เร็วที่สุด ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะว่า ปกติธรรมดาของคนเราก็เป็นเช่นนั้น บุคคลที่กำลังใจต่ำ มากไปด้วยความมืดบอด บอกอะไรก็รับรู้ไม่ได้ หรือว่าฟังไม่รู้เรื่อง เอาแต่กำลังใจหรือว่าความชอบใจของตนเองเป็นใหญ่ พยายามพิจารณาให้เห็นชัดว่า ปกติธรรมดาของเขาเป็นเช่นนั้น
เราเองก็เป็นเช่นนั้นมาก่อน ตอนนี้เราก้าวข้ามไปแล้ว เขาทั้งหลายเป็นผู้มารับช่วงความเลวของเราไป แบก รัก โลภ โกรธ หลง ที่เราเคยแบกเอาไว้แทน ก็แปลว่าเขาเหล่านั้นก็คือทายาท คือผู้รับมรดกไปจากเรา เท่ากับว่าเป็นลูกเป็นหลานของเรานั่นเอง เราเคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน ตอนนี้ลูกหลานเป็นแบบนั้นบ้าง แทนที่เราจะไปโกรธไปเคืองเขา ก็สงสารเขาเถอะ ถ้ามีโอกาสแล้วค่อยชี้แจงให้เขาทราบว่า สิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร
ถ้าหากว่าเราท่านทั้งหลายคิดไม่เป็น ชำระใจของตนให้ รัก โลภ โกรธ หลง หลุดออกไปไม่เป็น ก็จะเกิดประสบการณ์อย่างที่แทบทุกคนเกิด ก็คือ "เก็บกด" ค่อย ๆ สะสมเอาไว้ แล้วความซวยจะไปเกิดกับคนสุดท้ายที่เข้ามาถึง เมื่อเก็บกดมากเข้า ๆ ก็เหมือนกับลูกโป่ง โดนเป่าลมอัดเข้าไปจนเต็มที่แล้ว คนสุดท้ายแค่มาสะกิดนิดเดียว ก็ระเบิดตูมใส่หน้าเขาไปเลย..! คนที่โดนก็จะงงมากว่า "อะไรวะ ? แค่นี้ต้องโกรธขนาดนี้ด้วยหรือ ?" แต่ความจริงบางทีเราเก็บกดมาเป็นเดือน ๆ แล้ว
ดังนั้น..ถ้าหากว่าไม่อยากเกิดอาการจิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก เพราะว่าเก็บกด รัก โลภ โกรธ หลง เอาไว้ ก็ต้องใช้ปัญญาคิดให้เป็น สลัดออกไปให้ได้ ที่บาลีใช้คำว่า จาโคก็คือละออกไป ปฏินิสสัคโคคือสลัดทิ้งไป ถึงจะมุตติ หลุดพ้น อนาลโย ปราศจากความห่วงหาอาลัยอีก
ดังนั้น..การทำงานแต่ละครั้งแต่ละงาน สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องสังเกตเลยคือกำลังใจของเรา งานนี้กำไรหรือว่าขาดทุน เสมอตัวยากมาก ส่วนใหญ่ไม่กำไรก็ขาดทุน ถ้ากำไร ได้มากหรือน้อย ? ถ้าหากว่าขาดทุน เราสามารถยืดระยะได้มากกว่าครั้งที่แล้วหรือว่าน้อยกว่าครั้งที่แล้ว ? ต้องสังเกตให้เป็น ต้องดูให้ออก แล้วค่อย ๆ แก้ไขไป
ถ้าตราบใดที่เราดูใจตัวเองไม่ได้ อ่านใจตัวเองไม่ออก เราจะหาความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมไม่ได้เลย เพราะว่าไปรอคนอื่นเขาบอกก็เป็นเรื่องยาก เนื่องเพราะว่าทุกคนก็รักแต่ตัวเอง กลัวว่าถ้าพูดไปแล้วเราจะโกรธจะเคืองเขา เราก็เลยไม่มีกระจกที่จะมาส่องให้เห็นภาพพจน์ที่น่าเกลียดของตนเอง จึงต้องคอยพินิจพิจารณาดู แล้วก็พยายามที่จะชำระใจให้สะอาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราจะทำงานด้วยความสนุกมาก เพราะจะต้องคอยดูว่า งานนี้เราจะยืนระยะได้มากกว่าครั้งที่แล้วหรือเปล่า ? เจอแรงกระทบแล้ว เราพังง่ายกว่าเดิม หรือยังสามารถที่จะต่อต้านได้ ? แต่ละงานกำไรหรือขาดทุน ? เหล่านี้เป็นต้น ก็แปลว่าในแต่ละงานคือการที่เราสั่งสมประสบการณ์ในการขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของตนเอง อาศัยงานพัฒนาตัวเอง จนกระทั่งท้ายที่สุด เราก็สามารถยืนหยัดต่อสู้ รัก โลภ โกรธ หลง ได้โดยไม่เพลี่ยงพล้ำ ก็เหลืออยู่อย่างเดียวว่าจะสลัดตัดทิ้งไปได้เมื่อไร
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.