View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗
พิชวัฒน์
24-07-2024, 19:43
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗
F5tAVuIPCWQ
วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ บรรดานาคที่สมัครเพื่ออุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสเจริญพระชนมายุ ๙๒ พรรษา จากยอดที่สมัครมา ๒๓ ท่านด้วยกัน รอบแรกผ่านไปเหลือ ๑๙ ท่าน ปัจจุบันนี้เหลือแค่ ๑๖ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าจาก ๑๙ มา ๑๖ นั้นมีบางคนหนีกลับไปเฉย ๆ..!
หลายท่านเป็นบุคคลที่ตั้งใจจะทำความดีแต่ทนลำบากไม่ได้ เราท่านต้องเข้าใจว่าในโอวาทปาฏิโมกข์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ประโยคแรกเลยก็คือ ขันตี ปรมัง ตะโป ตีติกขา ขันติคือความอดทนอดกลั้นนั้น จึงจัดว่าเป็นตบะที่แท้จริง ของเราแค่กินน้อยนอนน้อยหน่อยเดียว เตลิดเปิดเปิงไม่ยอมสู้กิเลสแล้ว เมื่อไปพูดถึงการที่เราปฏิบัติธรรมด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก คิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ? ก็ย่อมไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะว่าเราพร้อมที่จะถอนตัวอยู่ตลอดเวลาเมื่อเจอความลำบาก
ส่วนหลายท่านก็บวชแล้วบวชอีก ประมาณว่าเก็บคะแนนไปเรื่อย อยากจะบอกว่าท่านทั้งหลายทำถูกแต่ผิด..! เนื่องเพราะว่ากำลังใจของเราพร้อมที่จะสึกอยู่ตลอดเวลา แล้วจะเอากำลังใจที่ไหนไปสู้กิเลส ? ประมาณว่าเปิดโอกาส ๓๖๐ องศา มีปัญหาเมื่อไรกูเผ่นทันที ประเภทนี้แม้แต่หางตากิเลสยังไม่ชายมาไปมองเลย ไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะให้กิเลสเหลียวแลเสียด้วยซ้ำไป..!
ไม่รู้จะยกตัวอย่างใครให้ชัดเจนเท่ากับตัวเอง กระผม/อาตมภาพตั้งใจบวชแค่ ๗ วัน แต่ว่าเงินเก็บทั้งหมดแบ่งให้น้องสองคนเอาไว้เป็นทุนการศึกษา ข้าวของเครื่องใช้ยกให้พี่ชายไปเลย ถ้าสึกออกไปแปลว่าต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แล้วกำลังใจแบบนี้ท่านทั้งหลายกล้าทำหรือไม่ ? ดังนั้น..หลายต่อหลายเรื่องบางทีกระผม/อาตมภาพอยากจะบอกอยากจะกล่าวให้พวกเราทำ แต่พิจารณาแล้วว่าคงจะไม่ไหว เพราะว่ากำลังใจแต่ละคนพร้อมที่จะ "ถอนสมอ" อยู่ตลอดเวลา แม้แต่ความกล้าที่จะสู้กับกิเลสยังไม่มีเลย..!
การบวชนั้นไม่มีคำว่าตรงกลาง ถ้าขึ้นสุดไม่ได้ก็ต้องลงสุดไปเลย..! ถ้าเราวางกำลังใจแบบนี้ได้ถึงจะพอสู้กับกิเลสได้ หลายต่อหลายท่านที่บวชเข้ามาก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะสู้กับกิเลส แต่ว่ามีเหตุผลต่าง ๆ กันไป ประเภทครอบครัวไม่เอาแล้วบ้าง ต้องคดีจนต้องมาชุบตัวใหม่บ้าง สารพัดสารเพเหตุผล แต่ท่านต้องไม่ลืมว่าความเป็นพระคืออุดมเพศ เป็นเพศที่ชาวบ้านเขาเคารพ เป็นเพศที่เรากินเราใช้โดยการอนุเคราะห์สงเคราะห์ของชาวบ้านเขา แล้วเราทำตนอะไรที่สมควรกับการอนุเคราะห์สงเคราะห์ของญาติโยมเขาบ้าง ?
ในเบื้องต้นเลย แค่ศีลทุกสิกขาบทรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ คิดว่าเราทำได้หรือไม่ ? กระผม/อาตมภาพเป็นพระใหม่ ๓ - ๔ พรรษาแรก เปิดหนังสือนวโกวาทจนเปื่อยทั้งเล่ม เพราะว่าศีลพระอยู่ในนั้น
ข้อไหนที่พลาดเมื่อไรขาดความเป็นพระ ก็จะกาดอกจันสีแดงไว้ ๔ ดอกชัด ๆ เลย
ข้อไหนไม่ถึงขนาดขาดความเป็นพระ แต่ว่าแก้ไขยากถ้าต้องอาบัติไป ก็ดอกจันสีแดง ๓ ดอก
ข้อไหนที่โดนแล้วโทษหนักแม้ว่าจะไม่เท่ากับดอกจัน ๔ ดอก หรือว่า ๓ ดอก ก็ใส่ลงไป ๒ ดอก
ถ้าหากว่าเป็นศีลทั่ว ๆ ไปที่ต้องอาศัยสติระมัดระวังก็ดอกจันแดง ๑ ดอก
ส่วนไหนที่เก็บเอาไว้เป็นต้นทุนได้เลย เพราะว่าสมัยนี้ไม่มีศีลอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัจจุบันแล้ว อย่างการสร้างข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่นการตัดเย็บสบงจีวร ทำผ้านิสีทนะคือผ้าปูนั่ง หรือว่าศีลที่เกี่ยวกับภิกษุณี ก็วงกลมสีน้ำเงินไปเลย นี่เป็นต้นทุนที่เราเก็บเอาไว้เพราะว่ากำไรล้วน ๆ ถึงเป็นศีลสมัยนี้ก็ไม่ต้องเสียเวลาไประมัดระวัง แต่ละวันจะเปิดทบทวนอยู่เสมอ และเป็นการทวนที่เร็วมาก ก็คือดูจากของที่พลาดแล้วเราขาดความเป็นพระได้ง่าย แล้วก็ไล่ลงมาจนกระทั่งพลาดได้ยาก และท้ายที่สุดก็คือข้อที่เราไม่พลาดแน่นอน
การที่เราเป็นพระ ใหม่ ๆ ก็จะต้องเครียดกับการรักษาศีลอยู่แล้ว เพราะว่ามีมากกว่าปกติหลายเท่า เราต้องพยายามที่จะทำไปจนสติสมบูรณ์ ขนาดว่าขยับตัวเมื่อไรรู้ทันทีว่าศีลจะขาดหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นถึงจะพอที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
แล้วการที่เราจะทำเช่นนั้นได้ก็แปลว่าเราต้องมีสมาธิทรงตัว สมาธิทรงตัวเมื่อไร สติก็จะว่องไว ปัญญาก็จะแหลมคม และโดยเฉพาะมีกำลังในการหักห้ามตัวเองไม่ให้ละเมิดศีล เอาแค่ใครที่ยังไม่สามารถจะห้ามตนเองให้กินอาหารตอนเย็นได้ ถ้าหากว่าห้ามปากตัวเองได้สำเร็จเมื่อไร สามารถรักษาศีลได้ทุกข้อ เนื่องเพราะว่ากำลังใจในการหักห้ามไม่ให้กินของที่ชอบ กับกำลังใจในการห้ามตนไม่ให้ละเมิดศีล ใช้กำลังใจเท่ากัน
ถ้าหากว่าเราท่านทรงสมาธิเป็นปกติ กำลังใจอยู่กับการภาวนา ร่างกายจะตัดความรู้สึกอื่น ๆ ออกไป จะไม่รู้สึกหิว หรือถ้าทำแล้วเกิดปีติขึ้นมายิ่งดี เพราะว่าเราไปเสวยปีตินั้นแทน ไม่รู้สึกถึงความหิวของร่างกาย
ในเมื่อมาถึงระดับนี้แล้วก็เหลืออยู่อย่างเดียวคือ ทำอย่างไรที่จะใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณา ว่าการบวชของเราที่เสี่ยงต่อการตกนรกอย่างสาหัส เราบวชแล้วจะทำอย่างไรให้ได้กำไรให้มากที่สุด ก็ต้องพยายามพินิจพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของร่างกายนี้ จนกระทั่งสภาพจิตเบื่อหน่ายในความไม่มีแก่นสาร เบื่อหน่ายในความสกปรกโสโครก เบื่อหน่ายในความเป็นรังของโรค
แล้วสภาพจิตของเราค่อย ๆ คลายจากการยึดมั่นถือมั่นได้ออกมาได้ คลายได้น้อยก็กำไรน้อย คลายได้มากก็กำไรมาก ถ้าสามารถตัดละร่างกายของตนเองได้จริง ๆ การตัดละร่างกายคนอื่นก็ง่ายกว่าตั้งเยอะ
ในเมื่อไม่เห็นความดีความงามของร่างกายตนเอง ของร่างกายคนอื่น ความยึดเกาะในโลกนี้ก็ไม่มี เพราะว่าสิ่งที่เรารักมากที่สุดก็คือตัวตนร่างกายของเรานี่เอง เมื่อเห็นชัดว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราว ถึงเวลาก็สร้างทุกข์สร้างโทษให้เราหนักหนาสาหัส เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ สภาพจิตที่เบื่อหน่ายเพราะเห็นจริง ก็จะคลายการยึดการเกาะออกมา ในลักษณะแบบนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ของเราจึงสามารถที่จะส่งผลให้เราพ้นจากกองทุกข์ไปตามลำดับ ตัดละได้มากก็พ้นได้มาก ตัดละได้น้อยก็พ้นได้น้อย
แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องอาศัยความอดกลั้นอดทน เพราะว่าศีลที่ตีกรอบเราเอาไว้จนแทบจะกระดิกตัวไม่ได้ ใหม่ ๆ ถ้ายังไม่เคยชินก็จะอึดอัดขัดข้องมาก สมาธิก็ไม่สามารถจะทรงตัวได้นาน พักเดียวก็โดน รัก โลภ โกรธ หลง ตีกระจาย ไม่ต้องไปกล่าวถึงปัญญาว่าเราจะเข้าถึงได้อย่างไร ถ้าศีลและสมาธิไม่ดี
ความอดทนอดกลั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการประพฤติปฏิบัติตนของเราในความเป็นนักบวช บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็ให้กำลังใจว่าสู้แค่ตาย กระผม/อาตมภาพสู้มาหลายปี ตายฟรีทุกครั้ง..!
การสู้กับกิเลส เราจะสู้แบบโง่ ๆ ไม่ได้ จะต้องมีเทคนิควิธีการอะไรต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง และโดยเฉพาะบางคนกำลังใจไม่เป็นไปตามกองกรรมฐาน กระผม/อาตมภาพตั้งใจที่จะตัดราคะ พยายามใช้กายคตาสติและอสุภกรรมฐานตามตำราบอก ตัดไม่สำเร็จ แต่ว่าไปตัดได้ตรงเมตตาพรหมวิหาร เห็นเขาเหมือนกับคนในครอบครัวเดียวกัน
เราจะเห็นได้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้บางทีเราก็คิดไม่ถึง เนื่องเพราะว่ากรรมฐานทุกกอง ถ้าเราทำถึงที่สุด สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ เพียงแต่ว่าแต่ละกองนั้นจะช่วยให้เราสร้าง ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นได้อย่างไร ? จะต้องมีมุมที่เราหาให้เจอ แต่อันดับแรก หาคำว่า "ธรรมดา" ให้พบก่อน ถ้าสามารถปล่อยวางได้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมดา เราก็สามารถหากินได้ไปตลอดชีวิตแล้ว
สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุ สามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันพุธที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.