PDA

View Full Version : เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗


ตัวเล็ก
30-05-2024, 17:41
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗

5jGEwqTxgwc

เถรี
31-05-2024, 00:53
วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพต้องไปให้หมอซ่อมสุขภาพตามนัด ปรากฏว่างานนี้น่าจะหนักอยู่สักหน่อย จึงทำให้คุณหมอต้องใช้เวลามากกว่าปกติถึง ๓ เท่า กว่าที่จะยอมปล่อยออกมาให้ฉันเพลได้

ต้องบอกว่าสภาพร่างกายก็เฒ่าชะแรแก่ชราไปเรื่อย สุขภาพร่างกายย่อมไม่เหมือนกับสมัยที่ยังหนุ่มอยู่ แม้ว่าถ้าไปนั่งร่วมกับเพื่อนฝูงร่วมรุ่นแล้ว กระผม/อาตมภาพจะดูว่าเด็กกว่าเขามาก แต่นั่นก็เป็นเพียงเปลือกนอกที่หลอกสายตาผู้คนเท่านั้น สภาพร่างกายจริง ๆ แล้วก็คือชายชราอายุ ๖๕ ย่าง ๖๖ ปีนั่นเอง

เรื่องนี้เราท่านทั้งหลายต้องไม่ลืมว่า ชีวิตก้าวเข้าไปหาความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เป็นปัจฉิมวาจาว่า วะยะ ธัมมา สังขารา สังขารนี้มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา และสรุปท้ายว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ขอเธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นการสรุปหลักธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาไว้ในที่เดียว

หลังจากที่ซ่อมสุขภาพและฉันเพลแล้ว ก็ต้องมาปวดหัวจี๊ดกับข่าวที่เกิดขึ้น ก็คือเรื่องของท่านปลัดเจ้าอาวาสรูปหนึ่งแถวเขาใหญ่ ที่สั่งให้พรานล่าสัตว์มาเพื่อใช้เป็นอาหาร เมื่อคณะเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นกุฏิ ก็เจอทั้งเลียงผา อุ้งเท้าหมี ตลอดจนกระทั่งบรรดาซากสัตว์ต่าง ๆ อย่างเช่นว่าหัวกระทิง หัวเก้ง หัวกวาง เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งพิจารณาแล้วยอมให้ท่านประกันตัวก็ดี หรือว่าการที่ท่านหลบหน้าหายจากวัดไปเลย หลังจากได้รับการประกันตัวแล้วก็ดี นั่นไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นก็คือว่า ในความเป็นพระนั้น ท่านยังอยากที่จะฉันเนื้อสัตว์ป่าอยู่อีกหรือ ?

ถ้าหากว่าท่านเป็นบุคคลผู้หนักในเนื้อสัตว์ ซึ่งกระผม/อาตมภาพไม่เคยชินแม้แต่น้อย เวลาเห็นบุคคลรอบตัวอย่างน้องเล็ก (นางสาวจิราพร ซื่อตรงต่อการ) ก็ดี หม่าม้า (นางสาวไพรินทร์ สุวิชชาญพันธุ์) หรือว่าลูกกิฟท์ (นางสาวอันตรา ลักษณะ) ก็ตาม ล้อมวงลุยกระจายกับบรรดาสเต๊ก ไม่ว่าจะเป็นระดับมีเดียม หรือว่าระดับแรร์อะไรก็ตาม

กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่นั่งมองอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ ซึ่งลูกกิฟท์ก็ยังออกปากว่า "พวกหนูเป็นสัตว์กินเนื้อ ไม่ใช่ไพรเมทอย่างหลวงตา" กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่ยิ้มแหย ๆ เนื่องเพราะว่าตนเองฉันเนื้อสัตว์เพราะปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ฉันมังสวิรัติ เพราะว่าญาติโยมจะเดือดร้อน แต่คนที่สังเกตก็จะเห็นว่าหนักไปทางผักหรือผลไม้มากกว่า

เถรี
31-05-2024, 00:55
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้นั้น ถ้าหากว่าท่านพระปลัดเจ้าอาวาสรูปนั้น เป็นสัตว์กินเนื้อประเภทลูกกิฟท์ หรือว่าพรรคพวกก็ตาม พวกหมู พวกไก่ พวกปลา ก็มีเต็มตลาด ไม่มีความจำเป็นที่ท่านจะต้องไปสั่งพรานให้ล่าสัตว์เลย

โดยเฉพาะสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างกระทิง หรือว่าเก้ง กวาง ตลอดจนกระทั่งหมีควาย ก็เป็นเรื่องที่สาหัสแล้ว ยังไปเจอสัตว์ป่าสงวนซึ่งโทษหนักกว่าหลายเท่า อย่างเลียงผาเข้าไปด้วย ก็ได้แต่ขอให้ท่านอยู่รอดปลอดภัยต่อไปก็แล้วกัน..!

เนื่องเพราะว่าการที่ครูบาอาจารย์สักเอาแต่ว่าบวชให้ แล้วไม่มีการพร่ำบ่นสั่งสอน ก็ทำเอาบรรดาลูกศิษย์ออกมาในสภาพแบบนี้ เนื่องเพราะว่าขาดอาหาเรปฏิกูลสัญญายังไม่พอ ยังปล่อยให้ตนเองกินตามใจปากอีกต่างหาก แล้วแบบนี้เราซึ่งอยู่ในฐานะของนักบวช ผู้ละกิเลส ผู้มีบาปอันลอยแล้ว ท่านจะเป็นนักบวชที่ดีได้อย่างไร ? ในเมื่อตนเองยังสอนตนเองไม่ได้ แล้วจะสอนคนอื่นได้เต็มปากเต็มคำได้อย่างไร ?

จงอย่าลืมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ยถาวาที ตถาการี พูดอย่างไร เราก็ต้องทำอย่างนั้น ยถาการี ตถาวาที ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ก็คือไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีหน้าไม่มีหลัง ไม่ใช่ "ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก" เหมือนสุภาษิตไทย แล้วก็ไม่ใช่ว่า "จงทำอย่างที่ข้าพเจ้าบอก แต่อย่าทำอย่างที่ข้าพเจ้าทำ" เพราะว่านั่นเท่ากับว่าท่านเป็นผู้นำที่เลว มีแต่จะพาผู้ตามให้ตกลงในที่ต่ำอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น..!

จะว่าไปแล้ว เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก็เกิดจากบารมีเก่าด้วย เนื่องเพราะมีผู้ปรารภว่า "ทำไมบุคคลสมัยนี้จึงเชื่อเรื่องนอกศาสนาง่ายมาก ?" เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าอันดับแรกเลย ยังถือมงคลตื่นข่าวอยู่ ขาดการปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา เบื้องต้น

ในเมื่อไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา เบื้องต้น ไม่เห็นคุณงามความดีในพระรัตนตรัย ก็ย่อมที่จะเชื่อถือทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองเห็นว่าวิเศษ ประหลาด หรือว่าเป็นที่พึ่งของตนได้ แล้วโดยเฉพาะคนเราไม่ได้เกิดมาชาติเดียว หากแต่ว่าเกิดมาไม่นับ หรือว่าเกิดมานับชาติไม่ถ้วนแล้ว ก็ย่อมต้องมีบุญสัมพันธ์ กรรมสัมพันธ์กับบุคคลบางประเภท ซึ่งอาจจะชักนำให้เราหลงผิดไปก็ได้

เถรี
31-05-2024, 01:03
โดยเฉพาะในส่วนของการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องยาก อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยปรารภอยู่เสมอว่า เมื่อเกิดเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้นในชีวิต ซึ่งแปลว่าเคราะห์กรรมในอดีตตามมาสนอง ท่านก็ต้องเร่งปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มากเข้าไว้ เพื่ออาศัยกุศลใหญ่ตรงนี้ หนีให้ห่างอกุศลกรรมที่ตามมาทัน

แต่ท่านกลับไม่ได้กระทำดังนั้น กลับไปเปลี่ยนชื่อบ้าง ไปสะเดาะเคราะห์บ้าง ไปต่อลายมือบ้าง ซึ่งเรื่องพวกนี้นั้นเป็นเรื่องมักง่ายที่ได้แค่กำลังใจชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ผลในการเกิดความดีอย่างแท้จริง ให้คุณงามความดีมีอยู่กับเราจนห่างจากสิ่งที่ไม่ดีนั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้น

หรือที่มักง่ายยิ่งกว่านั้น ก็จะไปหาบรรดาผู้ทรงเจ้าเข้าผี ตลอดจนกระทั่งบุคคลที่เชื่อว่ามีความวิเศษ แล้วก็ไปโดนเขาหลอกลวง เนื่องเพราะว่าวิธีการแก้ไขแต่ละอย่างนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทองเป็นจำนวนมาก ๆ ทั้งสิ้น..!

แต่ด้วยความที่ท่านขาดความพยายามในการกระทำคุณงามความดีด้วยตนเอง แล้วไปหวังว่าคนอื่นจะช่วยให้ท่านเข้าถึงได้ จึงต้องไปจ่ายเงินให้เขาเป็นจำนวนมาก ๆ กว่าที่จะรู้ตัว บางทีก็บ้านแตกสาแหรกขาด ครอบครัวพังทลาย เนื่องเพราะว่าฝ่ายหนึ่งรู้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งหลง ไม่สามารถที่จะไปต่อกันได้ อยู่ในลักษณะที่ว่ากำลังใจไม่เสมอกัน ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องพวกนี้จะว่าไปแล้วก็มีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ว่ายุคสมัยนี้ ข่าวคราวต่าง ๆ ไปเร็วมาก ดังนั้น..ในเรื่องของบุคคลที่เชื่อผิด หลงผิดก็ดี บุคคลที่รู้ไม่จริงแล้วสอนธรรมก็ตาม จึงเป็นข่าวคราวถึงท่านทั้งหลายได้รวดเร็วมาก แล้วท่านทั้งหลายก็จะตะเกียกตะกายเข้าไปหา กลายเป็นเหยื่อของสื่อโซเชียลโดยไม่รู้ตัว

ต้องบอกว่าบุคคลที่สร้างบุญบารมีเก่าเอาไว้ดี ย่อมพบครูบาอาจารย์ที่ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้กับท่านได้ บุคคลที่สร้างกรรมเก่าเอาไว้มาก ก็ย่อมต้องหลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้ ไปอีกยาวนานจนประมาณไม่ได้ กลายเป็นเรื่องที่จะว่าน่าสงสารก็ใช่ แต่จำเป็นที่จะต้องวางกำลังใจให้เป็นกลาง เพื่อไม่ให้ยินดียินร้ายกับเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ แล้วสร้างความเศร้าหมองให้เกิดแก่จิตของตน จนอาจจะนำพาตนตกลงสู่ที่ต่ำก็เป็นได้..!

สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)