สิ่งสำคัญภายในวัดท่าขนุน

 

 

๑. พระพุทธรูปรัชกาล ๒ องค์

ขนาดหน้าตัก ๑ ศอก ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภานำมาถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒

 

 

๒. ธรรมาสน์ทรงบุษบก

ฝีมือช่างหลวง สร้างจากไม้แกะสลัก ถอดประกอบได้ทุกชิ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา นำมาถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒

 

 

๓. มณฑปไม้ทรงมอญ

สร้างขึ้นโดยหลวงพ่ออุตตะมะ และหลวงปู่เต๊อะเน็ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นปีแรกที่หลวงพ่ออุตตะมะเข้ามาเมืองไทย เพื่อไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง เมื่อสร้างเสร็จและจัดงานฉลองแล้ว หลวงปู่เต๊อะเน็งก็เดินทางกลับไปประเทศพม่า และไม่ได้กลับมาเมืองไทยจนกระทั่งมรณภาพ

มณฑปได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนมาหมดสภาพ ถูกรื้อทิ้งในสมัยของพระอธิการสมเด็จ วราสโย ครั้นพระครูวิลาศกาญจนธรรมมาเป็นเจ้าอาวาส ได้ใช้เวลาในการเสาะหาช่างฝีมือและไม้เก่าอยู่ ๒ ปี จึงได้บูรณะกลับคืนมาเหมือนเดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ (๘๔ พรรษา)

 

 

๔. สังขารหลวงปู่สาย อคฺควํโส (พระครูสุวรรณเสลาภรณ์)

อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๕ เมื่อเก็บไว้ครบ ๑ ปี จะทำการพระราชทานเพลิงศพ จึงพบว่าสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ทางคณะสงฆ์วัดท่าขนุน นำโดยพระอธิการสมเด็จ วราสโย จึงนำบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้คณะศิษย์ได้กราบไหว้บูชา

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พระครูวิลาศกาญจนธรรม ได้รับคำสั่งจากหลวงพ่อพระราชธรรมโสภณ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ให้มาพัฒนาวัดท่าขนุน จึงได้เปลี่ยนจากโลงแก้วธรรมดา มาเป็นโลงแก้วประดับมุก

เมื่อบรรดาศิษยานุศิษย์มีเรื่องใดที่ต้องการให้สำเร็จ มักจะมาบนบานกับสังขารหลวงปู่ เมื่อได้รับผลแล้วจะแก้บนด้วยพวงมาลัย ๙ พวง จึงมีผู้นำพวงมาลัยมาแก้บนกันทุกวัน มีการเปลี่ยนผ้าครองถวายแก่หลวงปู่ทุกปี

 

 

๕. พระพุทธบาทสี่รอยจำลอง

กว้าง ๕๘ ซ.ม. ยาว ๑๕๕ ซ.ม. หล่อขึ้นมาจากโลหะผสม (สัมฤทธิ์) ฝีมือประณีตงดงามมาก ไม่มีผู้ใดทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด คาดว่าน่าจะมีอายุการสร้างหลายร้อยปี มีรอยผุที่ชายขอบด้านล่าง และธรรมจักรตรงกลางพระบาทซึ่งถอดได้หลุดหายไป

จนกระทั่งวันที่ ๒๖ - ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ พระครูวิลาศกาญจนธรรมและคณะ ได้เดินทางไปประเทศกัมพูชา ได้พบพระพุทธบาทสี่รอยจำลองลักษณะและวัสดุแบบเดียวกับของวัดท่าขนุนทุกอย่าง ตั้งให้สักการบูชาที่มณฑปพระพุทธบาทในพระราชวังเขมรินทร์

มัคคุเทศก์ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นของเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระนคร (นครวัด) เดิมมีอยู่สององค์ แต่สูญหายไปหนึ่งองค์ ไม่สามารถหาพบได้จนทุกวันนี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรมจึงมั่นใจว่า รอยพระพุทธบาทวัดท่าขนุนเป็นรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยนครวัดนั่นเอง

 

 

๖. อุโบสถวัดท่าขนุน

สร้างโดยพระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงปู่สาย อคฺควํโส) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ตามหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๒ ตอนที่ ๒๐ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

ต่อมาพระอุโบสถได้ทรุดโทรมลง ชายคาด้านใต้พังทรุดลงมา เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๕ พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้รับคำสั่งจากหลวงพ่อพระราชธรรมโสภณ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ให้มาพัฒนาวัดท่าขนุน จึงได้ซ่อมแซมจนคืนดีมาดังเดิม

พระประธานในอุโบสถสร้างโดยครอบครัวเงินสมบูรณ์ แต่เดิมเป็นโลหะหล่อ (สัมฤทธิ์) พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้ทำการปิดทองถวายใหม่ทั้งองค์ เปิดให้บุคคลเข้าสักการบูชาทุกวัน ยกเว้นช่วงบ่ายของวันพระใหญ่ ที่พระภิกษุลงฟังพระปาฏิโมกข์

 

 

๗. สะพานแขวนหลวงปู่สาย

เป็นสะพานไม้ประกอบลวดสลิง หลวงปู่สาย อคฺควํโส สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ข้ามแม่น้ำแควน้อย เชื่อมระหว่างฝั่งวัดท่าขนุนกับฝั่งตลาดทองผาภูมิ ทำให้สามารถร่นเวลาในการเดินทางเข้าสู่ตลาดทองผาภูมิไปได้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันยังใช้งานอยู่เป็นปกติ โดยเฉพาะเป็นเส้นทางบิณฑบาตของพระภิกษุสามเณรวัดท่าขนุน

สะพานแขวนวัดท่าขนุน นับเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอทองผาภูมิ นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันมาก

ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๕ - พ.ศ. ๒๕๕๖ เจ้าหน้าที่โครงการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณตอนล่าง ได้ทำการสำรวจพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ปรากฏว่าสะพานแขวนวัดท่าขนุนจะถูกน้ำท่วมถึง ในการทำประชาพิจารณ์ ทางวัดท่าขนุนและชาวบ้านท่าขนุน ยินดีให้สร้างสะพานใหม่ โดยยกให้สูงพ้นจากน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ยังรอการดำเนินการอยู่

 

 

๘. พระพุทธรูปจตุรทิศพิทักษ์เมืองไทย

สร้างโดยหลวงปู่ดู่ พรฺหมฺปญฺโญ วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพระพุทธรูปคุ้มกันภัยแก่เมืองไทยในทิศทั้งสี่ คณะศิษย์หลวงปู่ดู่ได้อัญเชิญองค์ประจำทิศตะวันตก มาถวายไว้ที่วัดท่าขนุน เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒

 

 

๙. พระพุทธเจติยคีรี

สร้างโดยหลวงปู่สาย อคฺควํโส เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ อยู่บนยอดเขาวัดท่าขนุน อันเป็นจุดชมทิวทัศน์ของอำเภอทองผาภูมิ เป็นพระเจดีย์ศิลปะพม่า มีพระเจดีย์รายองค์เล็กล้อมรอบอยู่อีก ๔ องค์ และยกเป็นซุ้มบรรจุพระพุทธรูปโดยรอบ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

 

 

๑๐. รูปหล่อหลวงปู่พุก - หลวงปู่สาย

ขนาดเท่าองค์จริง พระครูสุชาติกาญจนโกศล (หลวงพ่อมณฑล ชยวฑฺโฒ) วัดพุทธมณฑลอรัญญิกาวาส (ทุ่งสมอ) ได้นำคณะศิษย์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ทางวัดจะนำออกมาให้ญาติโยมได้ปิดทองกันในงานทำบุญประจำปีทุกวันมาฆบูชา และสรงน้ำกันในวันสงกรานต์ของทุกปี

 

 

๑๑. พระเจดีย์ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

คณะศิษย์หลวงปู่สาย อคฺควํโส นำโดยพระอธิการสมเด็จ วราสโย สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา หลวงพ่ออุตตะมะ (พระราชอุดมมงคล) เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

 

 

๑๒. พระพุทธรูปไพรีพินาศ

ขนาดหน้าตัก ๓๐ นิ้ว หล่อด้วยโลหะผสมปิดทอง คณะศิษย์หลวงปู่สาย อคฺควํโส นำโดยพระอธิการสมเด็จ วราสโย สร้างขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา ตั้งอยู่ในพระเจดีย์ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

 

 

๑๓. พระพุทธรูปหยกขาวพิทักษ์ชายแดนตะวันตก

ขนาดหน้าตักประมาณ ๒๔ นิ้ว น้ำหนักประมาณ ๑ ตัน แกะสลักจากหยกขาว ลักษณะเหมือนพระแก้วมรกตทรงเครื่องฤดูร้อน คณะผู้มีจิตศรัทธาสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำทิศทั้ง ๔ ของประเทศไทย องค์ที่ตั้ง ณ วัดท่าขนุนเป็นองค์ประจำทิศตะวันตก

 

 

๑๔. พระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม ๘ ศอก

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อยู่บนยอดเขาวัดท่าขนุน พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต เป็นประธานสร้าง โดยมีพระประยุทธ์ ฐานรโต เป็นเจ้าภาพ ทำการก่อสร้างค้างอยู่ พระครูวิลาศกาญจนธรรม มาดำเนินการสร้างต่อจนแล้วเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐

 

 

๑๕. พระบรมสารีริกธาตุเขี้ยวแก้ว

พระบรมสารีริกธาตุเขี้ยวแก้ว เป็นเครื่องสักการบูชาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เชื่อกันว่าช่วยป้องกันภยันตรายได้ทุกอย่าง เป็นของบูชาส่วนตัวของพระครูวิลาศกาญจนธรรม จะนำออกมาให้ญาติโยมได้สักการบูชาเฉพาะวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬบูชา มีผู้ถวายทองคำ เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุเขี้ยวแก้วเป็นจำนวนมากทุกครั้ง

 

 

๑๖. พระพุทธรูปงาช้างแกะสลัก

ฝีมือช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ ๗ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว (ฐาน ๓.๔ นิ้ว) ความสูง ๕.๕ นิ้ว เดิมเป็นสมบัติส่วนตัวของพระครูพิมลสรญาณ วัดสุทัศน์เทพวราราม[๑] ได้มอบให้กับพระครูวิลาศกาญจนธรรมเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ช่วยมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร

 

 

๑๗. พระพุทธรูปลีลาประทานพร ๘๔ พรรษาธรรมิกราช

พระพุทธรูปลีลาประทานพร สูงจากฐานถึงยอดพระเกตุมาลา ๒๘๔ เซนติเมตร สร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ (๘๔ พรรษา)

แกะสลักจากหินเขียวแม่น้ำโขง โดยร้านองอาจแกะสลักหิน ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีครอบครัวคุณวิทย์ – คุณกฤษณา – คุณกนกวลี วิริยประไพกิจ เป็นเจ้าภาพ รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นหนึ่งล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน

 

 

๑๘. พระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก ๒๑ ศอก

สร้างขึ้นโดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม ด้วยแม่แบบของพระครูไพโรจน์ภัทรคุณ วัดสระพัง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในวาระฉลอง ๒๖๐๐ ปีพุทธชยันตี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

ใต้ฐานพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม ๒๑ ศอก เป็นห้องสมุดขนาดใหญ่มีความกว้างถึง ๙๐๐ ตารางเมตร ด้านข้างห้องสมุดเป็นซุ้มจำหน่ายสินค้าของตลาดชุมชนวัดท่าขนุน นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาแวะมาสักการบูชาและถ่ายรูปกันทุกวัน

 

 

ที่มาของข้อมูล : หนังสือประวัติวัดท่าขนุน โดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม



[๑] วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับพระราชทานตั้งเป็น พระพุทธมนต์วราจารย์ และ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนเป็น พระราชภัทรญาณ วิ.