ลำดับเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน

 

๑. หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล (พ.ศ. ๒๔๗๒ - พ.ศ. ๒๔๘๙)

หลวงปู่พุก พื้นเพเดิมเป็นชาวมอญอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประวัติส่วนอื่นไม่ปรากฏ หลวงปู่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนตั้งแต่เมื่อใด ก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน

 

หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รูปที่ ๑

 

ประวัติหลวงปู่พุกมาปรากฏชัดเจน เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา สองพระราชธิดาในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทูลขอพระราชทานพระพุทธรูปรัชกาล ๒ องค์ และธรรมาสน์ทรงบุษบกฝีมือช่างหลวง ถอดประกอบได้ทุกชิ้น จากในหลวงรัชกาลที่ ๗ มาถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เมื่อปรากฏนามและประวัติในช่วงนี้ ชาวบ้านในชั้นหลังจึงถือว่า หลวงปู่พุกเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดท่าขนุน

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ

 

เมื่อพระครูวิลาศกาญจนธรรมมาเป็นเจ้าอาวาสนั้น ทางวัดท่าขนุนไม่มีรูปถ่ายของหลวงปู่พุกเหลืออยู่เลย จนกระทั่งนายเสนอ หงษาวดี มาแจ้งให้ทราบว่า ทางครอบครัวของตนมีรูปถ่ายของหลวงปู่พุกอยู่ด้วย

พระครูวิลาศกาญจนธรรมจึงได้นำรูปไปสอบถามชาวบ้านเก่าแก่ในอำเภอทองผาภูมิ เพื่อให้ช่วยยืนยันว่า เป็นรูปของหลวงปู่พุกจริงหรือไม่ ?

จึงได้ไปพบรูปถ่ายหลวงปู่พุกรูปเดียวกัน ที่บ้านของของครูมณฑา พัฒนมาศ[๑] และได้รับการยืนยันจากครูมณฑา ว่าเป็นรูปถ่ายของหลวงปู่พุกจริง ๆ

หลวงปู่พุกปกครองวัดท่าขนุนจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็มรณภาพ

 

๒. หลวงปู่เต๊อะเน็ง โอภาโส (พ.ศ. ๒๔๘๙ - พ.ศ. ๒๔๙๔)

เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ของวัดท่าขนุนตามที่ปรากฏประวัติ คือ หลวงปู่เต๊อะเน็งนั้น เป็นเจ้าอาวาสที่มีความเป็นมาลึกลับที่สุด เพราะท่านเป็นพระกะเหรี่ยงนอก เดินทางมาจากประเทศพม่า

 

หลวงปู่เต๊อะเน็ง โอภาโส เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รูปที่ ๒

 

เมื่อหลวงปู่พุกมรณภาพลง หลวงปู่เต๊อะเน็งได้รับนิมนต์จากชาวบ้านท่าขนุน ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน แต่หลวงปู่ท่านอยู่ช่วยพัฒนาวัดเพียง ๕ พรรษาเท่านั้น เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านก็ได้เดินทางกลับประเทศพม่า และไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย

ตามประวัติวัดท่าขนุนที่ ร.ต.ต.บัว สุขเอี่ยม รวบรวมไว้นั้น ได้เรียกหลวงปู่เต๊อะเน็งว่า “หลวงปู่ไตแนม” ในช่วงที่พระครูวิลาศกาญจนธรรมทำการเขียนประวัติของวัดท่าขนุนใหม่ ได้สัมภาษณ์นายวิวัฒน์ ศรีวิเชียร อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลทองผาภูมิได้ยินนายวิวัฒน์เรียกหลวงปู่ไตแนมว่า “หลวงปู่เต๊อะเน็ง” ผิดไปจากคนอื่น ๆ ที่เรียกว่า “หลวงปู่กะเหรี่ยง”

เมื่อสอบถามว่าทำไมเรียกเช่นนั้น นายวิวัฒน์ยืนยันว่า “เตี่ยผมเรียกอย่างนี้มาตลอด” พระครูวิลาศกาญจนธรรมจึงได้ไปเรียนถามถึงเรื่องนี้จากพระครูกาญจนพิสุทธิคุณ[๒] เจ้าอาวาสวัดสะพานลาว ซึ่งท่านมีเชื้อสายกะเหรี่ยง

ท่านพระครูกาญจนพิสุทธิคุณอธิบายว่า สมัยก่อนชาวกะเหรี่ยงจะตั้งชื่อลูกโดยเอาวันเกิดนำหน้าชื่อ อย่างท่านเกิดวันอาทิตย์ ชื่อก็จะนำหน้าด้วยคำว่า “เต๊อะ” ท่านกล่าวว่า หลวงปู่น่าจะเกิดวันอาทิตย์ ชื่อ “เต๊อะเน็ง” จึงเป็นชื่อที่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาษากะเหรี่ยงไม่มีคำว่าไตแนม หรือคำอื่นที่ใกล้เคียงกับคำว่าไตแนมเลย คงจะเป็นคนไทยเรียกชื่อเพี้ยนไปเอง

เมื่อมั่นใจว่าชื่อหลวงปู่เต๊อะเน็งเป็นชื่อที่ถูกต้อง แต่ก็ยังพบปัญหาต่อไปว่า หลวงปู่ท่านมีฉายาว่าอะไร ? และมีรูปถ่ายบ้างหรือไม่ ? เพราะทางวัดท่าขนุนไม่มีรูปถ่ายเก่าใด ๆ ที่พอจะเชื่อได้ว่าเป็นรูปของหลวงปู่เลย

อาจจะเป็นเพราะพระครูวิลาศกาญจนธรรมหมกมุ่นกับเรื่องนี้มากจนเกินไป หรืออาจจะเป็นเพราะหลวงปู่เต๊อะเน็งท่านมรณภาพไปแล้ว มีญาณวิถีเล็งเห็นความยากลำบากของพระลูกพระหลานก็ไม่อาจจะทราบได้ พระครูวิลาศกาญจนธรรมจึงได้ “ฝัน” ถึงเรื่องนี้ว่า

มี “พระ” มาบอกว่า หลวงปู่เต๊อะเน็งท่านมีฉายาว่า “โอภาโส” และไม่เคยถ่ายรูปเอาไว้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่มีรูปของหลวงปู่วัดชุยอูมิน เมืองปินดายะ รัฐฉาน ประเทศพม่า ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับหลวงปู่เต๊อะเน็งมากที่สุด ให้เอามาใช้แทนกันได้

จาก “ความฝัน” นี้ มีที่ตรงกับข้อสันนิษฐานของท่านพระครูกาญจนพิสุทธิคุณ ว่าหลวงปู่เต๊อะเน็งเกิดวันอาทิตย์ก็คือ ฉายา “โอภาโส” นั้นเป็นฉายาของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ เมื่อเป็นดังนั้นจึงเหลือแต่เพียงว่า จะหารูปถ่ายของหลวงปู่วัดชุยอูมินได้จากที่ไหน ?

จะเป็นเพราะว่าพระครูวิลาศกาญจนธรรม เคยไปสร้างวัดในประเทศพม่ามาถึง ๖ ปีเต็มๆ จึงมีเส้นสายอยู่เป็นจำนวนมาก หรือว่าหลวงปู่ท่านมีความศักดิ์สิทธิ์จริงก็ไม่อาจจะทราบได้ เพราะว่าสามารถหารูปหลวงปู่วัดชุยอูมินมาได้โดยง่าย

เมื่อเป็นดังนี้ ประวัติของหลวงปู่เต๊อะเน็งส่วนหนึ่ง จึงเป็นประวัติที่ “พระบอก” ฟังดูแล้วไม่เป็นวิทยาศาสตร์พอๆ กับประวัติประเภท “ผีบอก” เช่นกัน แต่เมื่อไม่มีประวัติใดที่ดีไปกว่านี้ จึงต้องบันทึกเป็นหลักฐานไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ในภายหลัง

หลวงปู่เต๊อะเน็งปกครองวัดท่าขนุนจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็เดินทางกลับพม่า

 

๓. พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (พ.ศ. ๒๔๙๗ - พ.ศ. ๒๕๓๕)

เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดท่าขนุน เป็นบุตรของนายนิ่ม ไกวัลศิลป์[๓] และนางจันทร์ ไกวัลศิลป์ เกิดในวังบ้านดอกไม้ ของนายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๕๗ ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล[๔]

 

พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รูปที่ ๓

 

ในเรื่องนี้พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้พยายามเสาะหาข้อมูลอยู่เป็นเวลาถึง ๓ ปี สัมภาษณ์ศิษย์เก่าของหลวงปู่สายหลายท่าน เช่น แม่ชีชื่น ศรีสองแคว[๕] นายสมใจ มาโนช[๖] ร.ต.ต.บัว สุขเอี่ยม[๗] ร.ต.ต.มนัส เพียรพบ[๘] บรรดาศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่สาย ทราบเพียงแต่ว่าท่านเกิดในวัง แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเกิดในวังอะไร

จนกระทั่งพระครูวิลาศกาญจนธรรม ได้รับกิจนิมนต์ที่บ้านของนายสัจจะ มูลแก้ว เมื่อปรารภเรื่องนี้ขึ้นมา นายสัจจะ มูลแก้ว (ปัจจุบันอายุ ๘๖ ปี) กราบเรียนว่า “ผมเคยถามเรื่องนี้มาแล้ว หลวงปู่บอกว่าท่านเกิดในวังของเสด็จในกรมฯ ที่สร้างทางรถไฟผ่านดงพญาเย็น..” จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่าหลวงปู่เกิดที่วังบ้านดอกไม้ ของเสด็จในกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

เนื่องจากบิดามารดาเป็นข้ารับใช้ในวังบ้านดอกไม้ หลวงปู่สายจึงได้รับการอบรมกิริยามารยาท ตามแบบอย่างของบุคคลในรั้วในวัง และได้รับการศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ พร้อมกับได้รับความไว้วางพระทัย ให้เข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวงสมัยนั้น

 

นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร

กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

 

หลวงปู่สายรับราชการด้วยความขยันขันแข็งและซื่อตรง และได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนมาตามลำดับ จนกระทั่งถึงเงินเดือนขั้นสูงสุด ๓๒ บาท แต่แล้วชีวิตก็หักเห เมื่อท่านมาป่วยด้วยโรคฝีประคำร้อย[๙]

โรคนี้เกินความสามารถของหมอในสมัยนั้นที่จะรักษา จนกระทั่งท่านได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่เดิม วัดหนองโพธิ์[๑๐] จังหวัดนครสวรรค์ ว่าสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกินมือหมอสมัยใหม่ได้ ท่านจึงเดินทางไปกราบขอบารมีหลวงปู่เดิมใช้พุทธาคมช่วยรักษาให้

เมื่อหายจากโรคแล้ว ท่านได้มอบกายถวายชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนา โดยขอบวชและศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เดิม แต่ในช่วงนั้นหลวงปู่เดิมชราภาพมากแล้ว จึงส่งท่านไปบวชกับพระครูนิรันตสีลคุณ (วัน หมีทอง) ที่วัดเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๘[๑๑]

พระอาจารย์น้อย เตชปุญฺโญ[๑๒] วัดหนองโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ไชยา ไม่ทราบฉายา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ บวชแล้วสังกัดวัดหนองโพธิ์ ศึกษานักธรรมตลอดจนวิชาอาคมและพระกรรมฐานกับหลวงปู่เดิมและหลวงปู่น้อย

จนสอบได้นักธรรมเอกแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๑[๑๓] ท่านจึงกราบขออนุญาตหลวงปู่เดิมและหลวงปู่น้อย ธุดงค์ไปยังเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี แล้วเดินมาทางบ้านหมี่ - อินทร์บุรี ผ่านเข้าจังหวัดชัยนาท ทะลุมาทางด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นย้อนกลับไปจำพรรษาที่วัดเขาวงพระจันทร์

ออกพรรษาแล้วท่านกลับไปวัดหนองโพธิ์ กราบพระอุปัชฌาย์อาจารย์เพื่อรายงานผลการปฏิบัติและศึกษาวิชาเพิ่มเติม จากนั้น ธุดงค์มาทางบึงบอระเพ็ด ผ่านตะพานหิน ทับคล้อ เขาทราย ของจังหวัดพิจิตร ออกไปบ้านเจียง อำเภอภักดีชุมพล ผ่านเกษตรสมบูรณ์ ชุมแพ จังหวัดชัยภูมิ ทะลุไปถึงป่าสีฐาน จังหวัดขอนแก่น เข้าป่าหนองบัว จังหวัดอุดรธานี

จากนั้นท่านเดินเข้าจังหวัดหนองคาย ขึ้นไปอำเภอท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ แล้ววกลงมาจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำผาแบน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สายเดินผ่านป่าเชียงคาน เข้าอำเภอท่าลี่ ด่านซ้าย ลงมาอำเภอนครไทย วังทอง จังหวัดพิษณุโลก ได้ทราบเกียรติคุณของหลวงปู่เนื่อง วัดจุฬามณี[๑๔] อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จึงนั่งรถไฟลงมายังสถานีหัวลำโพง แล้วต่อรถไฟสายแม่กลอง ไปกราบขอเรียนกรรมฐานและวิชาอาคมกับหลวงปู่เนื่อง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒

หลวงปู่เนื่องซึ่งเป็นศิษย์สายตรงของหลวงปู่คง วัดบางกะพ้อม ได้เมตตาถ่ายทอดสรรพวิชาต่าง ๆ ให้กับหลวงปู่สายอย่างเต็มที่ หลวงปู่สายได้อยู่เรียนวิชากับหลวงปู่เนื่องเป็น เวลา ๑ เดือน ซักซ้อมจนช่ำชองชำนาญแล้ว ก็กราบลาขึ้นรถไฟย้อนกลับไปยังพิษณุโลก

หลวงปู่สายได้พักเจริญกรรมฐานและทบทวนสรรพวิชาพุทธาคม อยู่ที่บ้านปากพิง เขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ จนถึงวันจันทร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นเวลาถึง ๔ เดือน จึงได้เดินทางกลับมาวัดหนองโพธิ์

เมื่อทำวัตรพระอุปัชฌาย์อาจารย์ สอบถามข้อธรรมที่ติดขัดและศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติมจากหลวงปู่เดิม ที่ไปเป็นประธานสร้างโบสถ์วัดอินทารามประมาณหนึ่งเดือน ท่านก็กราบลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ธุดงค์ขึ้นไปทางพยุหะคีรี ผ่านเขาหน่อ สลกบาตร[๑๕] จังหวัดนครสวรรค์ ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอมฤต ตำบลบ้านลานดอกไม้[๑๖] อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร

ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สายได้ธุดงค์ขึ้นไปจนถึงบ้านระแหง จังหวัดตาก แล้ววกมาทางบ้านนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย จากนั้นไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองตาโชติ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เพื่อศึกษาวิชาอาคมและช่วยหลวงพ่อประเสริฐ[๑๗] สร้างวัดหนองตาโชติ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ จนออกพรรษา

ในช่วงที่หลวงปู่ท่านยังอยู่ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ที่วัดหนองตาโชตินี้เอง หลวงปู่เดิม วัดหนองโพธิ์ ก็ได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ แต่กว่าที่ข่าวจะไปถึงหลวงปู่สาย ก็ต่อเมื่อออกพรรษาไปแล้ว

ยังดีที่ทางวัดหนองโพธิ์ โดยหลวงปู่น้อยและกรรมการวัด ตลอดจนชาวบ้าน ได้ทำบุญถวายหลวงปู่เดิมจนครบ ๑๐๐ วัน แล้วเก็บศพเอาไว้เพื่อรอพระราชทานเพลิง หลวงปู่สายจึงกลับไปทันกราบขอขมาครูบาอาจารย์และร่วมงานพระราชทานเพลิง โดยพักที่วัดหนองโพธิ์จนถึงเดือนพฤษภาคมพ.ศ. ๒๔๙๕

จากนั้นท่านได้กราบลาหลวงปู่น้อย ออกธุดงค์มาทางอำเภอลานสัก ผ่านอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ทะลุมาอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองอีเปาะ อำเภอด่านช้าง จนกระทั่งรับกฐินแล้ว ท่านจึงได้ลาชาวบ้านหนองอีเปาะเพื่อเดินธุดงค์ต่อไป

เส้นทางธุดงค์ของหลวงปู่สายช่วงนี้ ผ่านบ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้างมาทางบ้านหนองขอน อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านบ้านโป่งช้าง เข้าสู่เขตอำเภอศรีสวัสดิ์ที่บ้านท่าลำไย เขาเหล็ก ตีนตก องจุ ปลายนาสวน ด่านแม่แฉลบ ทะลุเข้าเขตอำเภอทองผาภูมิ เมื่อปลายเดือนธันวาคม ๒๔๙๕

หลวงปู่สายได้มาปักกลดเจริญกรรมฐานที่บริเวณวัดท่าขนุน ซึ่งขณะนั้นรกร้าง เนื่องจากหลวงปู่เต๊อะเน็งได้กลับพม่าไปเกือบสองปีแล้ว ชาวบ้านท่าขนุนได้เห็นวัตรปฏิบัติอันมักน้อย สันโดษ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงได้ช่วยกันอุปัฏฐากดูแล หลวงปู่จึงได้อยู่ฉลองศรัทธาญาติโยมชาวท่าขนุนถึงสองเดือน แล้วจึงออกเดินธุดงค์ไปทางวังปะโท่[๑๘]

หลวงปู่สายได้บุกป่าฝ่าดงผ่านบ้านวังกะ ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอสังขละบุรี ข้ามแดนเข้าประเทศพม่าช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ไปถึงบ้านหนองบัว (กะลอหยั่ว) เมื่อต้นเดือนเมษายน แล้วไปร่วมงานทำบุญสงกรานต์ที่บ้านสองแคว (ชองนาคัวะ)

จากนั้น ท่านได้เดินธุดงค์วนเวียนอยู่ตามบ้าน และวัดต่าง ๆ ในเขตเมืองมะละแหม่ง เมืองจะอีน เมืองไจ๊มะยอ[๑๙]และเมืองมุด่ง จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม จึงได้เดินมาทางเมืองตันบวยเซียต ผ่านบ้านแวกะลิ ผาเปี๊ยะ เกริงทอ[๒๐] บุกป่ากลับเข้าประเทศไทยทางบ้านบีคี่ เขตอำเภอสังขละบุรี เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดท่าขนุน

ชาวบ้านท่าขนุนดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่หลวงปู่สายมาอยู่จำพรรษาเพื่ออนุเคราะห์ทุกคน จึงพร้อมใจกันกราบอาราธนาหลวงปู่ให้อยู่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดท่าขนุน หลวงปู่สายได้แจ้งแก่บรรดาญาติโยมว่า ท่านยังมีพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ต้องกราบขออนุญาตก่อน หากต้องการให้ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส จริง ๆ ก็ให้ไปกราบขอตัวท่านกับหลวงปู่น้อย เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สายก็ลาชาวบ้านท่าขนุน เดินทางกลับไปยังวัดหนองโพธิ์ อยู่ปรนนิบัติรับใช้และศึกษาวิชาการต่าง ๆ เพิ่มเติมจากหลวงปู่น้อย เวลาผ่านไปประมาณ ๑ ปี  จนกระทั่งออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ชาวบ้านท่าขนุน นำโดยนายบุญธรรม นกเล็ก ก็ได้เดินทางไปกราบขอตัวหลวงปู่สาย เพื่อให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนตามที่ได้ตั้งใจไว้

เมื่อหลวงปู่น้อยอนุญาต หลวงปู่สายพร้อมกับชาวบ้านท่าขนุน ก็ได้นั่งรถไฟล่องลงมาถึงกรุงเทพฯ แล้วต่อรถไฟมาลงที่สถานีวังโพ ของจังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นลงเรือเดินทางมายังอำเภอทองผาภูมิ ถึงวัดท่าขนุนเมื่อวันพุธที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗

เมื่อมารับหน้าที่เจ้าอาวาส หลวงปู่สายก็ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดในทันที โดยทำการบูรณะมณฑปพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง ศาลาโถง กุฏิเก่าอีก ๒ หลัง พร้อมกับลงมือสร้างอุโบสถอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านท่าขนุนอย่างเต็มที่

เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีในขณะนั้น คือ พระวิสุทธิรังษี (ดี พุทธโชติ) ได้มีหนังสือคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีที่ ๑/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่งตั้งหลวงปู่สายเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนอย่างเป็นทางการ

ส่วนอุโบสถวัดท่าขนุน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๒ ตอนที่ ๒๐ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มีขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๙ เมตร ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

หลวงปู่สายได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดท่าขนุน ดังต่อไปนี้

๑. บูรณะมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง

๒. สร้างอุโบสถ

๓. บูรณะศาลาโถงบริเวณหน้าอุโบสถ[๒๑]

๔. บูรณะกุฏิไม้ ๒ หลัง[๒๒]

๕. บูรณะศาลาไม้หลังเก่าที่หลวงปู่พุกสร้างไว้ และขยายพื้นที่ออกไปเป็นขนาด ๓๐ x ๔๐ เมตร[๒๓]

๖. สร้างกุฏิเจ้าอาวาส (หลังเล็ก)[๒๔]

๗. บูรณะโรงครัวและหอฉัน[๒๕]

๘. สร้างกุฏิเตชะไพบูลย์ มีห้องพักสำหรับพระภิกษุสามเณร ๒๐ ห้อง

๙. สร้างกุฏิประจวบดี มีห้องพักสำหรับพระภิกษุสามเณร ๒๐ ห้อง

๑๐. สร้างห้องน้ำ ๕ ห้อง พร้อมอ่างอาบน้ำรวม ท้ายกุฏิเตชะไพบูลย์

๑๑. สร้างห้องน้ำ ๕ ห้อง ท้ายกุฏิประจวบดี

๑๒. สร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรม (ตึกแดง)

๑๓. สร้างถังน้ำบาดาล (ด้านหลังกุฏิเตชะไพบูลย์)

๑๔. สร้างหอระฆัง[๒๖]

๑๕. สร้างเมรุเผาศพ

๑๖. สร้างศาลาธรรมสังเวช

๑๗. บูรณะศาลาท่าน้ำหลังวัด[๒๗]

๑๘. สร้างสะพานไม้ข้ามห้วย ด้านทิศใต้ของวัด

๑๙. สร้างห้องน้ำใกล้สะพานไม้ข้ามห้วย ๕ ห้อง

๒๐. สร้างห้องน้ำบริเวณฌาปนสถาน ๔ ห้อง

๒๑. สร้างสะพานแขวนข้ามแม่น้ำแควน้อยด้านหลังวัด

๒๒. สร้างพระพุทธเจติยคีรี พร้อมศาลานั่งเล่น บนยอดเขาวัดท่าขนุน

 

ผู้บังคับบัญชาเห็นความเข้มแข็งจริงจังในการพัฒนาวัดท่าขนุนของหลวงปู่ จึงแต่งตั้งให้รับตำแหน่งทางการปกครองต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้

๑. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ตามหนังสือคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี

ที่ ๑/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ลงนามโดยพระวิสุทธิรังสี (ดี พุทธโชติ)

๒. พระกรรมวาจานุสาวนาจารย์ ตามหนังสือคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๒/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ลงนามโดยพระวิสุทธิรังษี (ดี พุทธโชติ)

๓. พระอุปัชฌาย์ ตามหนังสือคำสั่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองที่ ๖๓/๒๕๐๓ ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ลงนามโดยพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)[๒๘]

๔. ผู้ช่วยเจ้าคณะตำบลไทรโยค[๒๙] ตามหนังสือคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๓/๒๕๑๑ ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ลงนามโดยพระมหาไพบูลย์ กตปุญฺโญ[๓๐]

๕. ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรีมีพระราชทินนามที่ พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๑ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโดย จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี

๖. เป็นรักษาการเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ ตามหนังสือคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ที่ ๑๓๔/๒๕๑๓ ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ลงนามโดยพระวิสุทธิรังษี (ไพบูลย์ กตปุญฺโญ)[๓๑]

๗. เจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ ตามหนังสือคำสั่งเจ้าคณะภาค ๑๔ ที่ ๓/๒๕๑๔ ลงวันที่ ๑๕  มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ลงนามโดยพระธรรมสิริชัย (ชิต วิปุโล) เจ้าคณะภาค ๑๔

หลวงปู่สายปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งเด็ดขาด พระภิกษุสามเณรที่อยู่ใต้การปกครองของท่าน จะต้องปฏิบัติตามสีลาจารวัตรของพระเณรอย่างแท้จริง ผู้ใดบกพร่อง ท่านสั่งให้สึกหาลาเพศออกไปชนิดไม่ไว้หน้าใคร จนเป็นที่เลื่องลือกันว่าท่าน “ดุอย่างกับเสือ”

แม้ว่าหลวงปู่สายจะได้รับความไว้วางใจจากเจ้าคณะปกครอง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งถึงเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ แต่ท่านก็มิได้ยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นทางโลก ยังคงใฝ่ใจปฏิบัติในทางธรรมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีโอกาสก็ออกเดินธุดงค์ฝึกฝนกำลังใจตามความชอบเฉพาะตน จนภาระหน้าที่มีมากขึ้น จึงต้องหยุดการธุดงค์ไปโดยปริยาย

แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อความเบื่อในทางโลกเกิดขึ้นจนถึงที่สุด หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิได้ไม่นาน หลวงปู่สายก็ทิ้งภาระทุกอย่าง ออกเดินธุดงค์เข้าป่าไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ นานถึง ๗ ปีเต็ม กว่าที่ญาติโยมจะได้ข่าวและตามไปกราบอ้อนวอน หลวงปู่จึงยอมกลับมายังวัดท่าขนุนอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อกลับมาแล้วหลวงปู่สายก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิของตนเอง และช่วยทำหน้าที่เจ้าคณะอำเภอสังขละบุรีแทน หลวงพ่อเพิ่ม ชินวํโส (พระครูสังขบุรารักษ์) วัดวังปะโท่ ที่สุขภาพไม่ดี และหลวงพ่อเพิ่มท่านใช้คำว่า “ไม่เก่งงาน” จึงต้องขอให้หลวงปู่สายช่วยดูแลการปกครองคณะสงฆ์อำเภอสังขละบุรีให้ด้วย

จากการทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง จนขาดการพักผ่อนที่พอเพียง ทำให้สุขภาพของหลวงปู่ทรุดลง โรคภัยต่าง ๆ จึงรุมเร้าสังขารร่างกายของท่าน จนต้องรักษาพยาบาลเพื่อประทังเอาไว้ แต่ท้ายที่สุดสังขารร่างกายก็ไม่อาจจะฝืนทนอยู่ได้ หลวงปู่จึงได้ถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ โรงพยาบาลเดชา กรุงเทพมหานคร

คณะศิษย์ได้ร่วมกันทำบุญถวายแก่หลวงปู่สาย จนกระทั่งครบปีจึงเปิดโลง เพื่อจะนำสังขารของท่านมาเผาตามประเพณี แต่ปรากฏว่าสังขารของท่านมิได้เน่าเปื่อยแต่ประการใด เพียงแต่แห้งไปเฉย ๆ จึงพร้อมใจกันเก็บสังขารของท่านเอาไว้เป็นมิ่งขวัญแก่ศิษยานุศิษย์สืบมา

พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้ทำการเปลี่ยนผ้าครองถวายแก่หลวงปู่สาย ตั้งแต่ปีแรกมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังได้เปลี่ยนโลงแก้วธรรมดา เป็นโลงแก้วประดับมุกถวายแก่หลวงปู่ จึงได้พบลายมือของหลวงปู่ที่เขียนติดข้างฝากุฏิไว้ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่า “ลำพองอย่าลืมโลงกระจก”[๓๒] แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หลวงปู่ท่านทราบวาระสุดท้ายของท่านล่วงหน้ามานานแล้ว ถึงได้สั่งให้เตรียมโลงแก้วไว้บรรจุศพของท่านด้วย

อุบาสิกาชื่น ศรีสองแคว หัวหน้าแม่ชีวัดท่าขนุนเล่าว่า ช่วงเข้าพรรษาปี ๒๕๓๕ เมื่อพระภิกษุสามเณรทั้งอำเภอมากราบทำวัตร หลวงปู่สายได้นำเอาเหรียญของท่านมาแจกให้ทุกรูป พร้อมกับบอกว่า “แจกเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งสุดท้าย” แต่ทุกรูปก็ไม่ได้เอะใจว่า หลวงปู่ท่านได้บอกเป็นนัยว่า ท่านหมดอายุขัยแล้ว

ทุกวันนี้สังขารร่างกายของหลวงปู่สาย ยังอยู่เป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย ณ วัดท่าขนุน คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดให้มีการทำบุญถวายแก่หลวงปู่ทุกวันที่ ๑๔ ของเดือน และทำบุญใหญ่ประจำปีถวาย ทุกวันที่ ๑๔ กันยายน ติดต่อกันมาทุกปีมิได้ขาด

 

เราไม่กลัวความตาย เพราะเราสร้างกุศล

เราไม่กลัวความจน เพราะเรามีสันโดษ

เราไม่กลัวความโกรธ เพราะเรามีเมตตากรุณา

เราไม่กลัวความริษยา เพราะเรามีมุทิตาจิต

เราไม่กลัวความผิด เพราะเรามีหิริโอตตัปปะ

เราไม่กลัวราคะ เพราะเราไม่ดำริ

เราไม่กลัวมิจฉาทิฏฐิ เพราะเรารู้แจ้ง

เราไม่กลัวความแห้งแล้ง เพราะเราอยู่กับพระนิพพาน

หลวงปู่สายสอนลูกศิษย์ สิงหาคม ๒๕๓๔

พระครูวินัยธรวัดคู่สอง บันทึก

 

๔. พระอธิการสมเด็จ วราสโย (พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๔๑)

เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ของวัดท่าขนุน เป็นบุตรของ ร.ต.ต.ประเสริฐ บุญยงค์ และนางสวน บุญยงค์ อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๐ ณ พัทธสีมาวัดท่าขนุน โดยมีพระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงปู่สาย อคฺควํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูผาสุกิจโกวิท (อดีตเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ วัดหินแหลม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสมุห์นิรันดร์ วัดหินแหลม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

 

พระอธิการสมเด็จ วราสโย เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รูปที่ ๔

 

เมื่อหลวงปู่สายมรณภาพลงในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๕ พระสมเด็จวราสโย เป็นพระภิกษุที่มีอายุกาลพรรษามากที่สุดในวัด คือพรรษาที่ ๖ ทางคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ จึงเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนในช่วงนั้น

เมื่อทำการบรรจุสังขารของหลวงปู่สายไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา แทนการพระราชทานเพลิงแล้ว ทางคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิก็แต่งตั้งพระอธิการสมเด็จ วราสโย ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รูปที่ ๔ พระอธิการสมเด็จได้พัฒนาวัดท่าขนุน ดังต่อไปนี้

๑. ทำการซ่อมแซมและทาสีอุโบสถเสียใหม่

๒. ร่วมกับ พระครูสุชาติกาญจนโกศล (มณฑล ชยวฑฺโฒ) สร้างรูปหล่อหลวงปู่พุก อดีตเจ้าอาวาสรูปแรก และรูปหล่อหลวงปู่สาย อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ไว้ให้คณะศิษย์ได้กราบไหว้บูชา

๓. ขอประทานอนุญาตจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สร้างพระเจดีย์ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระสังฆราช เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระองค์ท่านเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา โดยมีหลวงพ่ออุตตะมะเมตตามาเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์

พระอธิการสมเด็จ วราสโย ปกครองวัดท่าขนุนอยู่ ๖ ปี ก็ลาสิกขา

 

๕. พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต (พ.ศ. ๒๕๔๑ - ๒๕๕๑)

เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดท่าขนุน เป็นบุตรของ ด.ต.บุญนาม มณีรัตน์ และนางประไพ มณีรัตน์ อุปสมบทเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ พัทธสีมาวัดท่าขนุน

 

พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รูปที่ ๕

 

โดยมี พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงปู่สาย อคฺควํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสมจิตร จนฺทปุณฺโณ เจ้าอาวาสวัดท่ามะเดื่อ (ปัจจุบันคือพระครูสุจิณบุญกาญจน์ เจ้าคณะตำบลห้วยเขย่ง) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการประสิทธิ์ กุมาโร วัดไร่ป้า (ปัจจุบันคือพระครูสิทธิกาญจนาภรณ์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อพระอธิการสมเด็จ วราสโย ลาสิกขา ทางคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิได้แต่งตั้งให้พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนแทน และได้ทำการพัฒนาวัดท่าขนุนมาตามลำดับ โดยก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑. สร้างหอฉัน (หลังเก่า) ด้านหลังศาลาการเปรียญหลังเก่า

๒. สร้างห้องน้ำ - ห้องส้วมใหม่ จำนวน ๑๐ ห้อง

๓. สร้างหอฉันหลังใหม่ ชั้นบนใช้เป็นที่พักสำหรับญาติโยม

๔. สร้างสระน้ำและพระอุปคุตกลางสระน้ำ

๕. สร้างแม่ธรณี พร้อมด้วยบ่อน้ำพุรอบแม่ธรณี[๓๓]

๖. สร้างศาลาธรรมสังเวช

๗. สร้างมณฑปสมเด็จองค์ปฐมข้างอุโบสถ

๘. สร้างห้องเก็บพัสดุหลังใหม่บริเวณถังประปาเก่า

๙. สร้างสมเด็จองค์ปฐม ๘ ศอกพร้อมมณฑป บนยอดเขาวัดท่าขนุน

 

เมื่อพระราชธรรมโสภณ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี วัดราษฎร์ประชุมชนาราม (สมณศักดิ์สุดท้ายคือพระเทพเมธากร อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี) ได้ส่งพระครูวิลาศกาญจนธรรม สมัยที่ยังเป็นพระใบฎีกาเล็ก สุธมฺมปญฺโญ มาช่วยพัฒนาวัดท่าขนุน ได้ร่วมกันก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ ดังนี้

๑. บูรณะกุฏิพระครูกาญจนเสลาภรณ์ (เสงี่ยม ฐิตธมฺโม)

๒. บูรณะศาลาการเปรียญและหอฉันหลังเก่า

๓. บูรณะอาคารเรียนพระปริยัติธรรม (ตึกแดง)

๔. บูรณะกุฏิพระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลังเล็กเดิม)

๕. บูรณะกุฏิพระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลังใหญ่ที่สร้างใหม่)

๖. บูรณะอุโบสถใหม่ทั้งหลัง

๗. บูรณะพื้นรอบอุโบสถ (ปูอิฐตัวหนอน)

๘. บูรณะศาลาท่าน้ำ (ปรับเป็นกุฏิเจ้าที่)

๙. บูรณะกุฏิและห้องน้ำในป่าธุดงค์ข้างฌาปนสถาน

๑๐. บูรณะโรงครัวข้างฌาปนสถาน

๑๑. บูรณะสะพานแขวนหลวงปู่สาย

๑๒. บูรณะสะพานไม้หลวงปู่สาย (ข้ามห้วยลึกด้านทางเดินบิณฑบาต)

๑๓. บูรณะห้องน้ำเก่า ๑๐ ห้อง (หลังกุฏิเตชะไพบูลย์และกุฏิประจวบดี)

๑๔. บูรณะพระพุทธเจติยคีรี (ทาสีใหม่และติดตั้งไฟส่องสว่าง)

๑๕. บูรณะพระเจดีย์ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

๑๖. บูรณะฌาปนสถาน

๑๗. สร้างกุฏิเจ้าอาวาส (กุฏิพระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต)

๑๘. สร้างซุ้มประตูใหญ่

๑๙. สร้างป้ายวัดท่าขนุนบริเวณลานหน้าอุโบสถ

๒๐. สร้างกุฏิที่พักสำหรับญาติโยม (กุฏิโรงรถ)

๒๑. สร้างกุฏิที่พักในแดนสงบ ๑๑ หลัง (ปัจจุบันเป็นที่พักสำหรับแม่ชี)

๒๒. สร้างอาคารที่ทำการมูลนิธิพิทักษ์กาญจน์ศูนย์แหลมทอง

๒๓. สร้างห้องน้ำห้องส้วมใหม่ ๑๒ ห้อง (ด้านหลังตึกแดง)

พร้อมทั้งร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิพิทักษ์กาญจน์ศูนย์แหลมทอง เพื่อช่วยบรรเทาสาธารณภัย โดยมีทั้งรถ - เรือกู้ภัย พร้อมเครื่องมือที่จำเป็นทุกชนิด มีสมาชิกอาสาสมัครของมูลนิธิ จำนวน ๗๐ คน ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งจริงจัง ได้รับคำสรรเสริญชมเชยเป็นอย่างมากจากสาธารณชนทั่วไป (ปัจจุบันได้ยุบกิจการแล้ว)

และได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมบาลีวัดท่าขนุน แต่ทำการสอนไปได้รุ่นเดียวก็ต้องปิดกิจการลงเพราะหานักศึกษาใหม่ไม่ได้ จึงส่งพระนักศึกษาเก่าไปเข้าสำนักเรียนวัดปากน้ำภาษีเจริญแทน

จากการทำหน้าที่เจ้าอาวาสวัดท่าขนุนอย่างเข้มแข็ง ทางเจ้าคณะปกครองสงฆ์เห็นความสามารถ จึงได้รับแต่งตั้งจากพระวิสุทธิรังษี รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีในขณะนั้น (พระเทพเมธากร อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี) ให้เป็นฐานานุกรมของท่านที่พระสมุห์ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลท่าขนุน เขต ๑ เมื่อพรรษาที่ ๗ เท่านั้น

พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีมาจนถึงก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงได้ลาสิกขา

 

๖. พระครูวิลาศกาญจนธรรม (พ.ศ. ๒๕๕๑ - ปัจจุบัน)

เจ้าอาวาสวัดท่าขนุนรูปปัจจุบัน อุปสมบทเมื่อ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ พัทธสีมาวัดจันทาราม (ท่าซุง) โดยมีพระครูอุทัยธรรมโกศล (วิสุทฺธาจาโร) เจ้าคณะตำบลน้ำซึมวัดสังกัสรัตนคีรีเป็นพระอุปัชฌาย์ (มรณภาพแล้ว) พระอนันต์ พทฺธญาโณ วัดท่าซุง (ปัจจุบันคือพระภาวนากิจวิมล) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระบัญชา สุขปญฺโญ วัดท่าซุง (พระสมุห์บัญชา สุขปญฺโญ ฐานานุกรมในพระสุธรรมยานเถร ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

 

พระครูวิลาศกาญจนธรรม เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รูปปัจจุบัน

 

เมื่อสอบได้นักธรรมเอกแล้ว ได้รับอนุญาตจากหลวงพ่อวัดท่าซุง ให้ออกธุดงค์เพื่อฝึกฝนกำลังใจ จึงออกธุดงค์มาทางจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยความเลื่อมใสในปฏิปทาปฏิบัติของครูบาอาจารย์ทางด้านนี้ จึงได้กราบขอศึกษาวิชาการต่าง ๆ เพิ่มเติม จาก

๑. พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงปู่สาย อคฺควํโส) วัดท่าขนุน

๒. พระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตะมะ) วัดวังก์วิเวการาม

๓. พระมงคลสิทธิคุณ (หลวงพ่อลำไย) วัดทุ่งลาดหญ้า

ครั้นรู้จักมักคุ้นกับหลวงปู่สายแล้ว เมื่อธุดงค์มาทางทองผาภูมิทุกครั้งก็จะเข้ากราบเพื่อขอวิชาความรู้อยู่เสมอ จนได้รู้จักคุ้นเคยกับพระอธิการสมเด็จ วราสโย อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ และพระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ เป็นอย่างดี

จนกระทั่งสิ้นหลวงพ่อวัดท่าซุง เมื่อจัดงานทำบุญถวายครบ ๑๐๐ วัน และอัญเชิญสังขารของหลวงพ่อวัดท่าซุง ไปบรรจุที่วิหารแก้ว ๑๐๐ เมตรแล้ว พระครูวิลาศกาญจนธรรมก็ได้ย้ายมาสร้างสำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษี ที่ หมู่ที่ ๕ ตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ครั้น พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงพ่อพระวิสุทธิรังษี รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ที่เลื่อนขึ้นเป็นพระราชธรรมโสภณ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ได้ส่งพระครูวิลาศกาญจนธรรม สมัยที่ยังเป็น พระใบฎีกาเล็ก สุธมฺมปญฺโญ มาช่วยพระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต บูรณปฏิสังขรณ์วัดท่าขนุน โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน

ต่อมา เมื่อหลวงพ่อพระราชธรรมโสภณได้ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ได้แต่งตั้งให้พระใบฎีกาเล็กเป็นฐานานุกรมของเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ที่พระครูธรรมธร และแต่งตั้งให้พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เป็นเจ้าคณะตำบลชะแล เขต ๒ และเจ้าอาวาสวัดทองผาภูมิตามลำดับ

ด้วยเหตุที่ตรากตรำงานหนักจนอาการมาลาเรียเรื้อรังกำเริบ พระครูวิลาศกาญจนธรรม จึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบลชะแล เขต ๒ และกลับไปรักษาตัวอยู่ที่สำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษี

เมื่อพระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต ลาสิกขา ทางวัดท่าขนุนนำโดยแม่ชีชื่น ได้ขอร้องให้พระครูวิลาศกาญจนธรรมมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ท่านจึงลาออกจากเจ้าอาวาสวัดทองผาภูมิ มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ มาจนถึงปัจจุบันนี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในวัดท่าขนุน ดังต่อไปนี้

๑. บูรณะกุฏิพระครูกาญจนเสลาภรณ์ (เสงี่ยม ฐิตธมฺโม) ครั้งที่ ๒

๒. บูรณะอาคารเรียนปริยัติธรรม (ตึกแดง) ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓

๓. บูรณะกุฏิพระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลังใหญ่ที่สร้างใหม่) ครั้งที่ ๒

๔. บูรณะห้องน้ำเก่า ๑๐ ห้อง (หลังกุฏิเตชะไพบูลย์-กุฏิประจวบดี)

๕. บูรณะพระพุทธเจติยคีรี (ทาสีใหม่) ครั้งที่ ๒

๖. บูรณะพระเจดีย์ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ครั้งที่ ๒

๗. บูรณะกุฏิเจ้าอาวาส (กุฏิพระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต)

๘. บูรณะซุ้มประตูใหญ่

๙. บูรณะกุฏิที่พักในแดนสงบ ๑๑ หลัง ครั้งที่ ๒

๑๐. บูรณะกุฏิที่พักสำหรับญาติโยม (กุฏิโรงรถ) ครั้งที่ ๒

๑๑. แปลงศาลาเชิงเขาพุทธเจติยคีรีเป็นศาลาทรงไทย

๑๒. แปลงอาคารที่ทำการมูลนิธิพิทักษ์กาญจน์เป็นอาคารทรงไทย และได้ทำการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

๑. สร้างลานธรรมบริเวณอาคารโถงหน้าอุโบสถ

๒. สร้างศาลานั่งเล่นทรงไทย จำนวน ๗ หลัง

๓. สร้างศาลานั่งเล่นทรงกาแล ๕ หลัง

๔. สร้างศาลานั่งเล่นทรงป้อมยาม ๙ หลัง

๕. ซื้อหม้อแปลงขนาด ๒๕๐ KVE และปักเสาขยายเขตการจ่ายไฟฟ้า

๖. สร้างโรงควบคุมไฟฟ้าทรงไทย

๗. สร้างอาคารทรงไทยเพื่อตั้งพระชำระหนี้สงฆ์ หลังที่ ๑

๘. สร้างอาคารทรงไทยเพื่อตั้งพระชำระหนี้สงฆ์ หลังที่ ๒

๙. สร้างพระชำระหนี้สงฆ์ หน้าตัก ๔ ศอก ปิดทองคำแท้ ๓๖ องค์

๑๐. ขยายถนนคอนกรีตเสริมเหล็กด้านฌาปนสถาน ให้กว้างขึ้นอีก ๒ เมตร ยาว ๔๕๕ เมตร

๑๑. สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จากบริเวณหน้ากุฏิศาลเจ้าที่ ไปจนถึงบริเวณสะพานไม้ข้ามห้วยลึก ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒๐ เมตร

๑๒. สร้างอาสน์สงฆ์ด้วยไม้ในอาคารเรียนปริยัติธรรม กว้าง ๒ เมตร ยาว ๒๘ เมตร

๑๓. สร้างป้ายสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรี แห่งที่ ๒๓ จำนวน ๓ ป้าย

๑๔. เทพื้นคอนกรีตทั่วบริเวณกุฏิแม่ชี ๑๑ หลังในแดนสงบ

๑๕. สร้างพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

๑๖. สร้างพระพุทธลีลาประทานพร ๘๔ พรรษาธรรมิกราช

๑๗. สร้างมณฑปพระพุทธบาทสี่รอยใหม่เลียนแบบของเก่าทั้งหลัง

๑๘. สร้างกุฏิพระเคลื่อนที่ ๗ หลัง

๑๙. สร้างพระพุทธรูปฉลอง ๒๖๐๐ ปีพุทธชยันตี หน้าตัก ๒๑ ศอก

๒๐. สร้างห้องสมุดประชาชน ขนาด ๓๐ x ๓๐ เมตร

๒๑. เทคอนกรีตเพื่อสร้างตลาดชุมชนจำนวน ๘,๐๐๐ ตารางเมตร

๒๒. สร้างตู้ขายของสำหรับตลาดชุมชน จำนวน ๒๑ ตู้

๒๓. สร้างห้องน้ำใหม่บริเวณห้องสมุดประชาชน จำนวน ๑๐ ห้อง

๒๔. สร้างมณฑปพระพุทธลีลาประทานพร ๘๔ พรรษาธรรมิกราช

๒๕. สร้างศาลาพิพิธภัณฑ์ ๑๐๐ ปีหลวงปู่สาย

๒๖. สร้างห้องน้ำข้างศาลาพิพิธภัณฑ์ ๑๐๐ ปีหลวงปู่สาย ๒๔ ห้อง

 

พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้รับรางวัลจากการปฏิบัติงาน ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ที่พระครูวิลาศกาญจนธรรม

พ.ศ. ๒๕๕๕ รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

พ.ศ. ๒๕๕๖ รางวัล คนดีศรีสังคมศาสตร์ จาก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๕๗ รางวัล World Peace Award จาก World Peace Foundation

 

ที่มาของข้อมูล : หนังสือประวัติวัดท่าขนุน โดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม

 



[๑] เสียชีวิตเมื่อ พ.. ๒๕๕๖ อายุ ๘๒ ปี.

[๒] พระครูกาญจนพิสุทธิคุณ (อัครชัย วิสุทฺธสีโล นามเดิม เต๊อะเมียะ) อายุ ๕๗ พรรษา ๓๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗).

[๓] ในประวัติวัดท่าขนุนฉบับเก่า รวบรวมโดย ร.ต.ต.บัว สุขเอี่ยม ระบุว่าบิดาชื่อ นายเพิ่ม เมื่อพระครูวิลาศกาญจนธรรมได้ทำการค้นคว้าประวัติเพิ่มเติม จากหนังสือสุทธิที่เขียนด้วยลายมือของหลวงปู่สายเอง จึงทราบว่าบิดาหลวงปู่ชื่อนายนิ่ม.

[๔] แม้แต่ในหนังสือสุทธิที่เขียนด้วยลายมือของหลวงปู่สายเอง ก็ลงไว้ว่า เกิดวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ แต่เมื่อเทียบจากปฏิทิน ๑๐๐ ปีแล้ว ต้องวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๕๗ ถึงจะเป็นวันอาทิตย์.

[๕] อุบาสิกาชื่น ศรีสองแคว หัวหน้าแม่ชีวัดท่าขนุน บวชอยู่กับหลวงปู่สายตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี ปัจจุบันอายุ ๖๕ ปี.

[๖] นายสมใจ มาโนช อดีตกรรมการวัดท่าขนุน ปัจจุบันอายุ ๗๗ ปี เป็นประธานชมรมผู้สูงอายุอำเภอทองผาภูมิ.

[๗] ร.ต.ต.บัว สุขเอี่ยม อดีตมัคคนายกวัดท่าขนุน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว.

[๘] ร.ต.ต.มนัส เพียรพบ อดีตกรรมการวัดท่าขนุน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว.

[๙] โรคเกี่ยวกับต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ต่อมน้ำเหลืองจะบวม ขึ้นเรียงกันเป็นแถว บางทีเรียกว่าวัณโรคต่อมน้ำเหลือง หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง.

[๑๐] “วัดหนองโพธิ์” ใช้ตามตัวสะกดแบบเดิม ของใหม่จะใช้ว่า “วัดหนองโพ”.

[๑๑] ข้อมูลจาก “สมุดบันทึกต่าง ๆ ของ อคฺควํโสภิกฺขุ” เขียนด้วยลายมือหลวงปู่สายเอง แต่ในประวัติวัดท่าขนุน ฉบับที่รวบรวมโดย ร.ต.ต.บัว สุขเอี่ยม ลงว่าบวชปี พ.ศ. ๒๔๘๒.

[๑๒] พระครูนิพันธ์ธรรมคุต (น้อย เตชปุญฺโญ, ชูจันทร์) เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ รูปที่ ๗.

[๑๓] ข้อมูลจาก “สมุดบันทึกต่าง ๆ ของ อคฺควํโสภิกฺขุ” เขียนด้วยลายมือหลวงปู่สายเอง.

[๑๔] พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง โกวิโท) เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี รูปที่ ๘ ลูกศิษย์ของหลวงปู่คง วัดบางกะพ้อม.

[๑๕] ข้อมูลใน “สมุดบันทึกต่าง ๆ ของ อคฺควํโสภิกฺขุ” หลวงปู่สายเขียนว่า “ตลกบาตร์”.

[๑๖] แต่เดิมชื่อ “บ้านร้านดอกไม้” เพราะชาวบ้านตกแต่งร้านดอกไม้เพื่อรับเสด็จพระราชชายา เจ้าดารารัศมีเมื่อครั้งเสด็จกลับนครเชียงใหม่ ต่อมาคนรุ่นหลังไม่ทราบประวัติ จึงเรียกเพี้ยนเป็น “บ้านลานดอกไม้”.

[๑๗] พระครูประโชติสันติธรรม (ประเสริฐ จิตฺตสนฺโต, อินปาน) พระเกจิอาจารย์และนักเทศน์ชื่อดังของจังหวัดสุโขทัย.

[๑๘] ช่วงนั้นการเดินทางขึ้นอำเภอสังขละบุรีหรือด่านพระเจดีย์สามองค์ ยังต้องไปตามทางสายเก่าที่ผ่านบ้านวังปะโท่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ใต้ผืนน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ.

[๑๙] ข้อมูลใน “สมุดบันทึกต่าง ๆ ของ อคฺควํโสภิกฺขุ” หลวงปู่สายเขียนว่า “จะเมียว”.

[๒๐] เป็นภาษามอญ แปลว่า สบห้วย ภาษาพม่าเรียกว่า ชองโส่ง.

[๒๑] สร้างโดยหลวงพ่ออุตตะมะ อยู่มาถึง พ.ศ. ๒๕๕๒ พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้รื้อศาลาเพื่อสร้างลานธรรม.

[๒๒] อยู่มาจนถึงสมัยพระอธิการสมเด็จ วราสโย ก็หมดสภาพการใช้งาน ถูกรื้อทิ้งไปโดยไม่ได้สร้างอะไรทดแทน.

[๒๓] อยู่มาจนถึง พ.ศ. ๒๕๔๕ พระครูวิลาศกาญจนธรรม ได้บูรณะใหม่ รื้อบริเวณห้องพักออก เพื่อใช้เป็นที่นั่งทำวัตรเช้าเย็นของพระภิกษุสามเณร มาถึง พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้รื้อทิ้งทั้งหลัง เพื่อสร้างเป็นศาลาพิพิธภัณฑ์ ๑๐๐ ปีหลวงปู่สาย.

[๒๔] อยู่มาจนถึง พ.ศ. ๒๕๔๕ พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้รื้อออก สร้างหลังใหม่ครอบทับกุฏิเก่าและห้องน้ำเพื่อเป็นที่อยู่ของพระประทีป ถามวโร (รุ่ง) เลขานุการเจ้าอาวาสในขณะนั้น.

[๒๕] อยู่มาจนถึง พ.ศ. ๒๕๔๗ พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต ได้สร้างหอฉันหลังปัจจุบันขึ้นมาแทน.

[๒๖] ของเดิมหลวงปู่พุกสร้างไว้ด้วยไม้ เมื่อหลวงปู่สายขยายศาลาการเปรียญ ได้รื้อออกแล้วไปสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทางท้ายศาลา มาถึง พ.ศ. ๒๕๕๖ พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้รื้อออก เพื่อใช้พื้นที่สร้างศาลาพิพิธภัณฑ์ ๑๐๐ ปีหลวงปู่สาย.

[๒๗] อยู่มาจนถึง พ.ศ. ๒๕๔๕ พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้ดัดแปลงเป็นกุฏิศาลเจ้าที่.

[๒๘] ช่วงนั้นยังใช้ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยสมเด็จพระสังฆราชทรงตรากฎระเบียบต่าง ๆ ผ่านสังฆสภาปกครองคณะสงฆ์ผ่านสังฆมนตรี และตัดสินอธิกรณ์ต่าง ๆ ผ่านคณะวินัยธร.

[๒๙] ตอนนั้นการปกครองของแต่ละตำบลทางลุ่มน้ำแควน้อยกินพื้นที่ไกลมาก หลวงพ่อพระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทฺโธ) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี วัดราษฎร์ประชุมชนาราม เคยเป็นเจ้าคณะตำบลเกาะสำโรง ซึ่งกินพื้นที่อำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรีด้วย  (พื้นที่ของตำบลใหญ่ประมาณครึ่งจังหวัดในปัจจุบัน).

[๓๐] ต่อมาภายหลังคือ พระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญฺโญ ป.ธ.๘) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม.

[๓๑] ตอนนั้นหลวงปู่สายเป็นเจ้าคณะตำบลท่าขนุนแล้ว แต่หาหนังสือคำสั่งแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลท่าขนุนไม่พบ.

[๓๒] นายลำพอง ช่อสะอึก อดีตมัคคนายกวัดท่าขนุน หลวงปู่สายเขียนว่า “ลำพองอย่าลืมโรงกระจก”.

[๓๓] อยู่มาจนถึง พ.ศ. ๒๕๕๔ พระครูวิลาศกาญจนธรรมได้อัญเชิญองค์แม่ธรณีไปไว้ในพระเจดีย์ ๘๔ พรรษา ญสส. รื้อบ่อน้ำพุออก สร้างมณฑปพระพุทธลีลาประทานพร ๘๔ พรรษาธรรมิกราช ไว้แทนที่.