กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

กระทู้ถูกปิด
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 05-08-2010, 12:00
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,036 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓

ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัว ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดให้ไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา พร้อมกับคำภาวนาที่เราถนัด

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติธรรมวันแรกของเดือนสิงหาคมของเรา

สำหรับการปฏิบัติของเราทั้งหลายนั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ สิ่งที่ร้อยรัดเราให้อยู่ในกองทุกข์นั้น มีตั้งแต่กิเลสหยาบ ๆ อย่างนิวรณ์ ๕ ประการ ไปจนถึงกิเลสระดับละเอียดอย่างสังโยชน์ ๑๐ เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเราต้องการรู้ว่าสภาพจิตของเรานั้น มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ ให้พิจารณาดูว่า ในขณะนี้ก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในวันนี้ก็ดี ในวันก่อน ๆ นั้นก็ดี สภาพจิตของเราเป็นทาสของนิวรณ์ ๕ หรือไม่ ?

คือ มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสระหว่างเพศหรือไม่ ? มีความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทผู้อื่นอยู่หรือไม่ ? มีความง่วงเหงาหาวนอนขี้เกียจปฏิบัติหรือไม่ ? มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจไม่สงบหรือไม่ ? และท้ายสุดมีความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติบ้างหรือไม่ ?

ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่มี แสดงว่าสภาพจิตของเรานั้นมีคุณภาพอยู่ในระดับที่ใช้ได้ แต่ว่าก็ยังตกเป็นทาสของสังโยชน์ ซึ่งเป็นกิเลสในระดับที่ละเอียดขึ้นไปอีก ดังนั้น..ในวันนี้ เรามาดูหน้าตาของสังโยชน์ คือเครื่องร้อยรัดให้เราติดอยู่กับวัฏฏะนี้ ไม่ยอมให้เราพ้นไปได้นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ?

สังโยชน์มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน ข้อแรก สักกายทิฐิ มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา ถือว่าเป็นสังโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ เพราะว่าโลกนี้ไม่มีอะไรอีกแล้วที่เราจะรักไปกว่าตัวเราเอง

วิธีที่จะแก้ไขสังโยชน์ข้อนี้นั้น อันดับแรก เราต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา เมื่อเกิดมามีร่างกายนี้แล้ว อย่างไรเสียก็ก้าวเข้าไปหาความตายอยู่ตลอดเวลา เมื่อรู้ตัวว่าจะตาย ก็ต้องกำหนดเป้าหมายไว้ว่า "ตายแล้วจะไปไหน ?" ในเมื่อกำหนดแล้วว่าตายแล้วเราจะไปไหนได้ เราจะได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อไปยังสถานที่นั้น

การที่เรากำหนดรู้ในลักษณะว่าเราจะต้องตายนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะสลัดตนเองให้หลุดพ้นจากสังโยชน์ใหญ่ คือ สักกายทิฐินี้ได้ แต่ว่าก็เป็นการหลุดพ้นในเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการร้อยรัดอย่างอื่นในสักกายทิฐิ คือ เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนยังมีอยู่อีกมาก ทำให้เรายึดมั่นถือมั่น กลายเป็นมานะถือตัวถือตน กลายเป็นสังโยชน์ที่ละเอียดขึ้นไปอีก

ดังนั้น ในเบื้องต้นเมื่อเราปฏิบัติแล้ว อย่างน้อยต้องรู้อยู่ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ลมหายใจที่เราตามดูตามรู้อยู่นี้ เมื่อหายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว หรือหายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตายอีกเช่นกัน เมื่อรู้ว่าตนเองจะต้องตาย ก็ต้องขวนขวายปฏิบัติ เพื่อให้ไปอยู่ในภพภูมิที่ดี หรือให้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารเข้าสู่พระนิพพานไปเลย

ดังนั้น เราระลึกถึงความตายก็คือ มรณานุสตินี้ จัดว่าเป็นเครื่องทำลายสังโยชน์ในตัวสักกายทิฐิในจุดแรกเริ่มได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 05-08-2010 เมื่อ 12:41
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 05-08-2010, 12:40
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,036 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

หลังจากนั้นก็มาดูสังโยชน์ตัวสองคือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลการปฏิบัติ ว่าจะเป็นไปอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนหรือไม่

ความจริงพวกเราทั้งหมดนั้น ในตัววิจิกิจฉาถือว่ามีน้อยมากแล้ว เพราะถ้ายังลังเลสงสัยอยู่ เราก็ไม่เข้ามาบวช ไม่เข้ามาปฏิบัติ ในเมื่อท่านที่เป็นนักบวชเข้ามาบวช ท่านที่เป็นนักปฏิบัติเข้ามาปฏิบัติ ก็แปลว่าความลังเลสงสัยนั้นมีน้อยแล้วจึงได้กล้าที่จะก้าวเข้ามา

ในข้อที่สามนั้นคือ สีลัพพตปรามาส คือ การรักษาศีลแบบไม่จริงจัง รักษาศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ การที่เราจะแก้ไขได้ ก็คือต้องเพิ่มความจริงจังด้วยการเห็นคุณของศีล

อย่างที่มีคำกล่าวเอาไว้ในตอนท้ายของการสมาทานศีล สีเลน สุคตึ ยนฺติ ศีลเป็นปัจจัยให้เราไปสู่สุคติได้ สีเลน โภค สมฺปทา ศีลทำให้เราถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติทั้งปวง สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ศีลเป็นเครื่องช่วยให้เราก้าวเข้าสู่พระนิพพาน

ดังนั้น ในเบื้องแรกนั้นสำคัญตรงที่ว่าเราต้องรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อจะได้อาศัยกำลังของศีลทำให้สมาธิของเราทรงตัวตั้งมั่น เมื่อสมาธิทรงตัวแล้วสามารถที่จะใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่สับสนวุ่นวาย

ในเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็จะเห็นว่าสังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั้น สังโยชน์สามข้อแรกเป็นสิ่งเราพึงจะทำลายให้ได้เสียก่อน โดยเฉพาะในส่วนของสักกายทิฐิ คือ เห็นร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา ให้พยายามแยกแยะออกดู ว่าแท้จริงแล้วร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเลย

นอกจากส่วนประกอบของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เมื่อประกอบกันขึ้นมาเป็นหัว เป็นหู เป็นหน้า เป็นตา เรามาอาศัยอยู่ตามแรงบุญแรงกรรมที่ส่งมา เราก็ไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นของเรา

วิจิกิจฉาในส่วนของความลังเลสงสัยนั้น เราก็ทำความเคารพในพระรัตนตรัยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม้จะด้วยกาย วาจา หรือใจก็ตาม

ข้อต่อไปคือ สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลอย่างไม่จริงจัง ก็ให้เราทุ่มเทกับศีลอย่างจริงจัง ชนิดที่ว่าตัวตายดีกว่าศีลขาด ยินดีชนิดเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ตนเองสามารถทรงศีลอยู่ได้ตามปกติ

ถ้าท่านสามารถกระทำในสังโยชน์ทั้งสามข้อนี้ โดยการพยายามตัดละอย่างเต็มความสามารถของท่านแล้ว ความหวังที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าในระดับพระโสดาบันและพระสกทาคามี ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ตามหวังโดยง่าย
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-08-2010 เมื่อ 06:12
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 06-08-2010, 04:35
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,708
ได้รับอนุโมทนา 4,397,036 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

เนื่องจากว่ากำลังของพระโสดาบันและพระสกทาคามีนั้น ในเบื้องต้นก็คือ มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย แต่ว่ามีศีลบริสุทธิ์

ดังนั้น..จึงให้พวกเราทุกคนทบทวนเรื่องของศีลไว้เสมอ ว่าเราเผลอสติบกพร่องบ้างหรือไม่ ? เราเผลอสติลืมตัวลืมตายบ้างหรือไม่ ? ท้ายที่สุดเรายังเห็นร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเราใช่หรือไม่ ?

ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ยังมีอยู่เป็นปกติ ก็พยายามขับไล่ออกไปจากใจของเรา อย่าพยายามให้มาอยู่ในใจของเราอีก ถ้าสามารถทำได้ดังนั้น โอกาสที่เราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าก็อยู่แค่เอื้อมมือถึง

สำหรับในส่วนของพระสกทาคามีนั้น เป็นเรื่องที่ยากกว่านิดหนึ่ง เนื่องจากว่าเป็นเรื่องควบคุมวาจาและใจอยู่ด้วย ปกติของพระโสดาบันในศีลห้านั้น เราแค่ไม่พูดจาโกหกมดเท็จก็ใช้ได้แล้ว

แต่ในส่วนของพระสกทาคามีนั้น นอกจากจะไม่โกหกแล้ว เรายังไม่พูดจาส่อเสียด ไม่พูดจายุยงให้คนอื่นแตกร้าวกัน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดวาจาที่เหลวไหลไร้ประโยชน์ เป็นต้น

ดังนั้น ในส่วนของพระสกทาคามีนั้น กำลังจะต้องสูงกว่า เพื่อที่จะได้ระงับยับยั้งกิเลสต่าง ๆ โดยเฉพาะสังโยชน์ที่วิ่งเข้ามาหาเรา จะไดระงับได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า แม้ว่าในระดับของพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันและพระสกิทาคามีก็ตาม ความสำคัญของสมาธิก็ยังร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มอยู่ เราสามารถสร้างสมาธิให้ยิ่งสูงเท่าไร โอกาสที่จะใช้กำลังในการตัดสังโยชน์ต่าง ๆ ก็มีมากเท่านั้น

เปรียบเหมือนบุคคลที่มีกำลังสูง สามารถทำงานอื่น ๆ ได้ไม่ยาก เพราะว่ากำลังเพียงพอ การที่จะเอากำลังใจนั้นมาตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน

ดังนั้น ในสังโยชน์ ๑๐ วันนี้จะกล่าวแค่สามข้อแรกเท่านั้น คือ สักกายทิฐิ ความยึดมั่นตัวเราว่าเราเป็นของเรา ซึ่งท่านต้องพยายามตัด พยายามละเสียให้ได้ ด้วยการพิจารณาให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย

ในส่วนของข้อที่สอง คือ วิจิกิจฉาซึ่งเรามีอยู่น้อยมากแล้วนั้น ก็พยายามทำความเคารพในพระรัตนตรัยให้แน่นแฟ้น ไม่ล่วงล้ำก้ำเกินด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ

ข้อสุดท้ายเป็นหัวใจของการเป็นพระอริยเจ้าขั้นต้นก็คือ สีลัพพตปรามาส เราละเว้นจากการรักษาศีลไม่จริงไม่จัง มารักษาศีลด้วยความทุ่มเท ตั้งใจว่าถ้าหากจะต้องละเมิดศีลแล้วเรายอมตายเสียดีกว่า ถ้าสามารถตัดใจประพฤติอย่างนี้ได้ เราก็มีสิทธิ์ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันทันที

ลำดับต่อจากนี้ไป ก็ให้ทุกท่านดูลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาของตนเอง ถ้ายังมีลมหายใจให้กำหนดรู้ลมหายใจ ถ้ายังมีคำภาวนาให้กำหนดรู้ในคำภาวนา ถ้าลมหายใจเบาลง คำภาวนาค่อย ๆ หายไป ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง คำภาวนาหายไป พยายามรักษากำลังใจให้ทรงตัวอย่างนี้ไว้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-08-2010 เมื่อ 06:15
สมาชิก 45 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
กระทู้ถูกปิด


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:18



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว