กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 15-01-2015, 11:34
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,488
ได้ให้อนุโมทนา: 151,147
ได้รับอนุโมทนา 4,405,238 ครั้ง ใน 34,077 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๘

ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกไว้ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒-๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออกให้หมดก่อน หลังจากนั้นค่อยปล่อยให้ลมหายใจเป็นไปตามปกติของร่างกาย เพียงแต่เราเอาความรู้สึกแนบติดชิดกับลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม การกำหนดลมหายใจนั้น จะเอาสัมผัสจุดเดียว ๓ จุด ๗ จุด หรือว่ารู้ตลอดกองลมก็ได้

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เป็นการปฏิบัติธรรมรับปีใหม่ของเรา ขึ้นชื่อว่าปีใหม่ ก็เป็นความนิยม เป็นค่านิยมอย่างหนึ่ง ว่าควรที่จะทำอะไรใหม่ ๆ หรือว่ากระทำในสิ่งที่ดี ๆ เพื่อความโชคดีมีชัยของเรา การที่เรามาปฏิบัติธรรมนั้น ก็ถือว่าเป็นการกระทำความดี ที่ถือว่าเป็นความดีสูงสุดในพระพุทธศาสนา เนื่องจากว่าระดับของการปฏิบัติธรรมนั้น จัดอยู่ในปรมัตถบารมี

ถ้าเป็นสามัญบารมี จะสามารถให้ทานได้ แต่ว่ารักษาศีลหรือว่าเจริญภาวนาไม่ได้ ถ้าเป็นอุปบารมี สามารถให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่ว่าเจริญภาวนาไม่ได้ ดังนั้น..การที่เรามาปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นการทำความดีสูงสุดในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุอันใหญ่ คือในบุญกิริยาวัตถุ (สิ่งที่เรากระทำแล้วเป็นบุญ) ๑๐ ประการนั้น ท่านยกเอาในเรื่องของทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล และภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา จัดเป็นบุญใหญ่ที่สุดในบุญทั้ง ๑๐ ประการ

คราวนี้พวกเราทั้งหลายนั้น เรื่องของการให้ทานถือว่าทำได้เป็นปกติ ไม่มีความหนักใจในการให้ บางคนถึงขนาดแม้แต่ตัวเองเดือดร้อน ก็ขอให้ได้ทำทาน ขอให้ได้ทำบุญก่อน ซึ่งความจริงการกระทำลักษณะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ เนื่องเพราะว่าการทำบุญนั้น ควรทำในลักษณะที่ไม่ทำให้ทั้งตนเองและคนรอบข้างต้องเดือดร้อน แต่สำหรับบางท่านที่กำลังใจมาในสายของพระโพธิสัตว์ แม้แต่ชีวิตก็สละเป็นทานได้ ก็ถือว่าเป็นกำลังใจที่อยู่ในอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น..ถ้าท่านทั้งหลายเหล่านี้ทำบุญ ในลักษณะที่ทำให้ตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อน เราก็อย่าไปเลียนแบบปฏิปทาเช่นนั้น

ในส่วนของการรักษาศีลนั้น พวกเราส่วนใหญ่ร้อยละเกือบทั้งร้อย สามารถรักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ที่มีขาดตกบกพร่องบ้าง ก็เร่งรัดการปฏิบัติของตนเองให้มากขึ้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ถ้าหากสามารถทำอย่างนี้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำได้แล้ว ก็แปลว่าในส่วนของบุญใหญ่ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง คือการให้ทานกับรักษาศีลนั้น เรามีเป็นปกติแล้ว

ก็เหลือแต่ในส่วนของภาวนามัย คือบุญที่สำเร็จด้วยการภาวนา ซึ่งดู ๆ แล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายที่สุด เพราะว่าไม่ต้องเสียของ ก็คือการให้ทานซึ่งสละเป็นวัตถุ ก็ไม่ต้องระมัดระวังควบคุม กาย วาจา ของตนในการรักษาศีล เราเพียงแต่ควบคุมใจของเรา ให้อยู่ในกรอบของความดีเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่รักษาได้ยากที่สุด ปฏิบัติได้ยากที่สุด เพราะว่าจิตของเรามีสภาพความเร็วมาก เมื่อถึงเวลาคิดชั่ว ชวนร่างกายให้พูดชั่ว ชวนร่างกายให้ทำชั่ว ถ้าสติของเราไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ ก็ไม่สามารถที่จะหักห้ามได้ทัน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2015 เมื่อ 12:08
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 16-01-2015, 10:19
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,488
ได้ให้อนุโมทนา: 151,147
ได้รับอนุโมทนา 4,405,238 ครั้ง ใน 34,077 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

การที่เราจะสร้างสติของเราให้สมบูรณ์บริบูรณ์นั้น ต้องเน้นตรงสมาธิภาวนา การที่เราระมัดระวังรักษาศีลทุกสิกขาบท เป็นการสร้างสมาธิอยู่แล้ว ดังนั้น..ผู้ใดที่รักษาศีลให้ทรงตัวได้ จะเจริญสมาธิได้ง่ายมาก แต่ว่าเมื่อสมาธิทรงตัวแล้ว สติของเราจะรู้รอบ ขยับตัวก็รู้ว่าศีลจะขาดหรือไม่ ขยับปากจะพูดก็รู้ว่าศีลจะขาดหรือไม่

และเมื่อจิตของเราสงบนิ่งด้วยอำนาจของสมาธิ ก็จะเกิดปัญญา รู้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายที่เราทำนั้น เป็นประโยชน์หรือไม่ใช่ประโยชน์ เป็นโทษหรือไม่ใช่โทษ แล้วเราก็มาละเว้นในสิ่งที่เป็นโทษ กระทำ กาย วาจา ใจ ของเรา ให้คิด ให้พูด ให้ทำ ในส่วนที่เป็นประโยชน์เท่านั้น

แล้วใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเรานี้ก้าวไปสู่ความตายเป็นปกติ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ ก็ต้องลำบากทุกข์ยากเพราะร่างกายสารพัด หิวต้องหาให้ร่างกายนี้กิน กระหายต้องหาให้ร่างกายนี้ดื่ม เจ็บไข้ได้ป่วยต้องคอยดูแลรักษาพยาบาล ร้อนต้องหาเครื่องบรรเทาให้ เย็นเกินไปก็ต้องหาเครื่องทำความอบอุ่นให้ สกปรกโสโครกก็ต้องคอยชำระล้างอยู่ทุกวัน วันละหลายเวลา ถ้าปัญญาเรารู้เห็นลักษณะนี้ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายนี้ ในเมื่อเบื่อหน่ายในร่างกายนี้ ไม่พึงปรารถนาที่จะเกิดมาในร่างกายนี้อีก ก็แปลว่าเราไม่ปรารถนาจะมาเกิดในโลกนี้อีก

ดังนั้น..จึงต้องทำความเข้าใจต่อไปว่า แม้จะเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า หรือเป็นพรหมก็ตาม เราก็พ้นทุกข์แค่ชั่วคราว ถ้าหมดบุญก็จะต้องลงมาเกิด ลำบากทุกข์ยากในโลกนี้ต่อไป หรือว่าถ้าอาการหนัก พลาดตกลงสู่อบายภูมิ ถ้าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังดี หนักกว่านั้นก็ต้องไปทุกข์ทรมานในสภาพของอสุรกาย ของเปรต หรือว่าต้องลำบาก โดนจำกัดเขต โดนลงโทษอยู่ตลอดเวลา ด้วยความร้อนหรือว่าอาวุธ อย่างเช่นนรก เป็นต้น

เมื่อเห็นดังนั้นเราก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย หมดอยาก ไม่มีความปรารถนาทั้งในร่างกายของตนเอง ทั้งในร่างกายของผู้อื่น แม้กระทั่งการเกิดมาในโลกนี้หรือโลกอื่น ๆ เราก็เอาสภาพจิตของเรา เกาะพระนิพพานเอาไว้ ตั้งใจนึกถึงภาพพระพุทธนิมิตองค์ใดองค์หนึ่ง จะเป็นพระพุทธรูปแบบใดแบบหนึ่งที่เราชอบก็ได้ เช่น สมเด็จองค์ปฐมก็ได้ พระวิสุทธิเทพก็ได้ พระแก้วมรกตก็ได้ พระพุทธชินราชก็ได้ เป็นต้น หรือว่ามีพระเครื่องที่ติดตัวของเรา ในรูปของพระพุทธเจ้าแบบใดแบบหนึ่ง เราก็นึกถึงพระเครื่องของเรา ที่เรารักเราชอบมากที่สุด ว่านั่นคือองค์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ตั้งใจว่าถ้าหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตลงไปก็ตาม เราขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น

หลังจากนั้นก็ให้ดูว่า เรายังมีลมหายใจเข้าออก หรือมีคำภาวนาอยู่หรือไม่ ? ถ้าลมหายใจเบาลง หรือว่าหายไป คำภาวนาหายไป ก็กำหนดใจรับรู้ไว้เฉย ๆ อย่าไปตกใจแล้วเริ่มหายใจใหม่ หรืออย่าพยายามตะเกียกตะกายเพื่อให้เข้าสู่สภาพการไม่หายใจ การไม่ภาวนา เรามีหน้าที่กำหนดดู กำหนดรู้ไปเท่านั้น สภาพร่างกาย ตลอดจนกระทั่งการภาวนาจะมีหรือไม่มี เรามีหน้าที่ตามรู้อย่างเดียว จะเป็นหรือไม่เป็นก็ช่าง ให้ทุกคนรักษาสภาพใจเอาไว้อย่างนี้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๘

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-01-2015 เมื่อ 16:52
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:32



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว