#1
|
||||
|
||||
เทศน์วันมาฆบูชา วันจันทร์ที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
เทศน์วันมาฆบูชา วันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ติฯ ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชชนาในมาฆปูชากถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมีของบรรดาทานิสสราธนบดีทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ญาติโยมทั้งหลาย วันมาฆบูชานั้นจัดว่าเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจากว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้นทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งถ้าหากว่าญาติโยมทั้งหลายซึ่งเป็นบุคคลสมัยใหม่ ไม่ว่าเราจะไปบริหารหน่วยงานก็ดี บริหารบริษัทใดก็ตาม ตลอดจนกระทั่งถ้าหากว่าบริหารราชการในระดับอำเภอ จังหวัด หรือว่าประเทศ เราก็ต้องประกาศนโยบาย เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหลายจะได้ทราบว่า แนวทางของการบริหารองค์กรของเราจะเดินไปในทางไหน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 25-02-2024 เมื่อ 00:41 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นกัน พระองค์ท่านประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ก็เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ในสมัยนั้นทั้งหมดได้ทราบว่า การที่จะออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น เราจะต้องมีแนวทางอย่างไรบ้าง ซึ่งสรุปลงมาเป็นภาษาบาลีดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า
"สพฺพปาปสฺส อกรณํ" เมื่อท่านทั้งหลายจะไปประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อที่ให้เขาทั้งหลายได้ทราบว่าหลักการของพระพุทธศาสนาคืออะไรนั้น เราต้องบอกให้เขาทั้งหลายละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ก็คือไม่ทำความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ "กุสลสฺสูปสมฺปทา" บอกให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นบำเพ็ญคุณงามความดีให้ถึงพร้อม ซึ่งคำว่า "คุณงามความดี" ในที่นี้ภาษาบาลีเรียกว่า "กุศล" ก็คือ ให้เป็นผู้ที่ทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจเช่นกัน ข้อสุดท้ายของหลักการใหญ่ในพระพุทธศาสนา หรือว่าแนวทางในการบริหารองค์กรสงฆ์นั้นก็คือ "สจิตฺตปริโยทปนํ" ว่ากันตามภาษาบาลีแปลว่า ชำระจิตใจให้ผ่องใส ปราศจากกิเลส แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 07-03-2023 เมื่อ 19:05 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
แปลว่าการที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ประกาศหลักการของพระพุทธศาสนาเอาไว้นั้น พระองค์ท่านมุ่งหมายให้พุทธศาสนิกชนทุกรูปทุกนามสามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ ถ้าหากว่าตราบใดที่ยังไม่เข้าสู่พระนิพพาน ก็ต้องเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าบุคคลที่จิตใจจะผ่องใสจากกิเลส ปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง โดยสิ้นเชิงนั้นมีแต่พระอรหันต์เท่านั้น
แล้วหลังจากนั้นพระองค์ท่านก็ประกาศอุดมการณ์ในพระพุทธศาสนาเอาไว้ ซึ่งอุดมการณ์ในพระพุทธศาสนาของเราทั้งหลายนั้น บางท่านก็เห็นว่าทำให้พระพุทธศาสนาของเราอ่อนแอจนเกินไป เนื่องเพราะว่าการประกาศศาสนาอื่นนั้นบางทีก็ใช้กองทัพเข้าไป ปราบปรามฆ่าฟันจนเขาต้องยอมอ่อนน้อมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา แล้วก็เอาศาสนาไปบังคับให้เขายึดถือตาม คนที่พ่ายแพ้โดนบังคับด้วยอาวุธก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดถือตามไป แต่ว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้นเป็นของจริง เป็นของแท้ เป็นของที่บุคคลจะต้องประกอบไปด้วยปัญญาเท่านั้นจึงจะสามารถแลเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องไปบังคับบุคคลอื่นให้กระทำตาม เพราะว่าถ้าเขาทั้งหลายเหล่านั้นสามารถศึกษาและเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วก็ย่อมที่จะทำตามไปเอง เพราะเห็นความดีความงามอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 09-03-2023 เมื่อ 08:15 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ดังนั้น..องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไป นักวิชาการสมัยใหม่บางคนก็ยังบอกว่าทำให้พระพุทธศาสนาอ่อนแอ ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจเสียก่อนว่า คำว่า "อ่อนโยน" นั้นไม่ใช่ "อ่อนแอ" คำว่า "แข็งแรง" ก็ไม่ได้แปลว่า "แข็งกร้าว"
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น..พระพุทธศาสนาของเราจึงต้องอาศัยการพิสูจน์ด้วยการที่ท่านเข้ามาปฏิบัติใน "ไตรสิกขา" คือศีล คือสมาธิ คือปัญญา ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติตามไปได้ก็จะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของดีแท้ มนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนามล้วนแล้วแต่ปรารถนาทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า..เข้าไม่ถึงบ้าง ปัญญาไม่ถึงบ้าง บุญไม่ถึงบ้าง จึงทำให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นไม่สามารถที่จะนับถือพระพุทธศาสนาได้ เนื่องเพราะว่าถ้าไม่เคยสร้างบุญสร้างกุศลร่วมกันมา ต่อให้อยู่ท่ามกลางพระพุทธศาสนาก็คงจะประพฤติปฏิบัติตนแบบ อทินนกปุพพกพราหมณ์ ก็คือ..องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตลอดจนกระทั่งพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเดินผ่านบ้านอยู่ทุกวัน แต่ไม่ใส่บาตร ไม่ทำบุญใด ๆ ทั้งสิ้น คำว่า "อทินนกะ" ก็คือ "ไม่ให้ใคร" "ปุพพกะ" คือ "แต่ปางก่อน" ไม่เคยให้ใครก่อนเลย มีแต่รับอย่างเดียวเท่านั้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 07-03-2023 เมื่อ 19:07 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
เรื่องของพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องสร้างบุญสร้างกุศลมาในอดีต และต้องสร้างมามากเพียงพอจึงจะสั่งสมในศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งทำให้ท่านทั้งหลายเห็นสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ว่า ปฏิบัติไปแล้วดีต่อตนเองอย่างไร ดีต่อครอบครัวอย่างไร ดีต่อสังคมอย่างไร
ดังนั้น..ในการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศอุดมการณ์ในพระพุทธศาสนาว่า พระภิกษุสงฆ์ของเราไม่ควรที่จะเข่นฆ่าใคร ไม่ควรที่จะทำร้ายใคร มีพระนิพพานเป็นที่หมายในชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอในพระพุทธศาสนา เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็สอนให้เราฆ่า แต่ให้ฆ่ากิเลส ให้ฆ่ารัก โลภ โกรธ หลง ดังบาลีที่ว่า "โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ" สามารถฆ่าความโกรธได้ก็จะเป็นผู้มีความสุข เป็นต้น ถ้าหากว่ามาถึงตรงจุดนี้แล้ว บางทีแนวทางก็ยังไม่ชัดเจน พระองค์ท่านจึงประกาศวิธีการเพิ่มเติมว่า จงสอนให้พุทธศาสนิกชนเหล่านั้น.. "อะนูปะวาโท" ไม่ว่าร้ายใคร ถ้าหากว่าเราไม่มีวาจาว่าร้าย กระทบกระทั่งส่อเสียดนินทาว่าคนอื่น สังคมก็จะมีแต่ความสงบสุข "อะนูปะฆาโต" ไม่ให้เข่นฆ่าทำร้ายใคร เพราะว่ามนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนามต่างรักชีวิตของตน เกรงกลัวความตายทั้งสิ้น เราไม่ปรารถนาให้คนอื่นมาเข่นฆ่าทำร้ายเรา เราก็อย่าไปเข่นฆ่าทำร้ายใคร แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 09-03-2023 เมื่อ 08:13 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
"ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร" คือ ให้สำรวมในศีลของตนเอาไว้ พระภิกษุก็รักษาศีลตามสภาพ ๒๒๗ ข้อ สามเณรรักษาศีล ๑๐ ข้อ อุบาสกอุบาสิการักษาศีล ๘ ข้อ ประชาชนชาวบ้านทั่วไปรักษาศีลอย่างน้อย ๕ ข้อ..
เพราะว่าปกติของมนุษย์ทั่วไปไม่อยากให้ใครมาเข่นฆ่าเรา เราก็อย่าไปเข่นฆ่าทำร้ายใคร ไม่อยากให้ใครมาลักขโมย หยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของของเรา เราก็อย่าไปหยิบฉวยช่วงชิง หรือลักขโมยของของใคร คนที่เรารัก ของที่เรารัก ไม่อยากให้คนอื่นมาแย่งชิงไป เราก็อย่าไปแย่งชิงคนรัก แย่งชิงของรักของคนอื่น เราอยากจะฟังแต่ความสัตย์คำจริง เราก็อย่าไปโกหกหลอกลวงใคร เราอยากมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราก็อย่าไปดื่มสุรา อย่าไปเสพยาเสพติดที่ทำให้ขาดสติ ในเมื่อเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ก็แปลว่า ต้องให้ทุกผู้คนมีศีลตามระดับของตนเอง ต่ำสุดก็คือ ศีล ๕ สมบูรณ์บริบูรณ์ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 07-03-2023 เมื่อ 19:21 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
"มัตตัญญุตา จะภัตตัสมิง" พระองค์ท่านสอนว่า ให้ทุกคนรับประทานอาหารแต่พอสมควร ไม่กินล้นกินเกิน ทุกวันนี้พวกเราทั้งหลายเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนใหญ่ก็เกิดจากอาหารที่กินเข้าไป โดยเฉพาะโรคฮิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ไขมัน ความดันอะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่เกิดจากการไม่รู้จักประมาณในการกินทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเรารู้ประมาณในการกิน ร่างกายก็ไม่อึดอัด จะปฏิบัติธรรมอะไรก็สะดวก ไม่ใช่นั่งหลับอยู่ตลอดเวลา
"ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง" วิธีการต่อไป..ท่านบอกว่า ให้นอนให้นั่งในที่อันสงัด ก็คือ..ถ้ารักจะปฏิบัติธรรม ในอันดับแรกต้องปลีกตัวออกจากหมู่ก่อน จะได้ไม่โดนคนอื่นเขารบกวนจนปฏิบัติธรรมไม่ได้ เมื่อเรามีความสามารถมั่นคงแล้ว อยู่ในท่ามกลางคนหมู่มากก็รักษาใจได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วค่อยเลิกในการปลีกตัวออกจากหมู่ "อะธิจิตเต จะ อาโยโค" พระองค์ท่านสอนว่า ให้ทุกคนทำกำลังใจของตนให้มั่นคง คำว่า "มั่นคง" ในที่นี้ อย่างน้อยต้องทรงอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานละเอียดขึ้นไป เพราะว่าปฐมฌานหยาบนั้นยังสามารถเสื่อมสลายคลายตัวลงได้ง่าย เมื่อเราทรงฌานไว้ได้ รัก โลภ โกรธ หลง จะโดนกดดับลงชั่วคราว การเบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็จะหมดไปโดยอัตโนมัติ ก็เหลืออยู่แค่เราเอาสติตามประคององค์สมาธิเอาไว้ ไม่ให้เคลื่อนไม่ให้คลายไปไหน ยิ่งจิตของเราอยู่กับสมาธิมากเท่าไร ความผ่องใสก็มีมากเท่านั้น เราจะเกิดปัญญาญาณ เห็นช่องทางว่าจะดำเนินชีวิตในทางโลกอย่างไร จึงจะอยู่ในศีลกินในธรรมได้โดยที่ไม่กระทบกระทั่งกับคนอื่น เราจะพิจารณาข้อธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร จึงจะเห็นได้ชัดเจนและยอมรับว่าเป็นความจริงตามนั้น แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 09-03-2023 เมื่อ 08:11 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
ดังนั้น..หลักการทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าในการที่สั่งสอนให้พวกเรา..ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลส ไม่เข่นฆ่าคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ตั้งเป้าเอาไว้ว่า..เราทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน
ด้วยวิธีการที่..ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร ระมัดระวังในศีลทุกสิกขาบทของตนเองให้ดี รู้จักกินแต่พอประมาณ รู้จักสรรหาที่สงบระงับเพื่อที่จะระมัดระวัง กาย วาจา ใจของเราให้มั่นคง จนกระทั่งสามารถทรงฌานทรงสมาบัติ กดกิเลสลงได้ชั่วคราว แล้วใช้ปัญญาของเราพินิจพิจารณา ค่อย ๆ ลด ค่อย ๆ ละ จนกระทั่งในที่สุดก็สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เข้าสู่พระนิพพานได้ ดังนั้น..ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ คือ "วันเพ็ญเดือนมาฆะ" นั้น องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการเพื่อชาวโลกทั้งหมด ก็คือ "โอวาทปาฏิโมกข์" สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ผ่านมา ๒,๕๖๖ ปีแล้ว ญาติโยมทั้งหลายยังคงประพฤติปฏิบัติตาม คือ ท่านทั้งหลายเมื่อมาวัดก็มีการทำบุญใส่บาตร ตรงนี้เป็นส่วนของการให้ทาน มีการสมาทานศีล นี่คือการประพฤติปฏิบัติในศีล ตั้งใจฟังธรรมด้วยความเคารพ นี่คือการเพียรพยายามใช้ปัญญาพินิจพิจารณาว่าข้อธรรมคำสอนนั้นมีส่วนใดที่เหมาะสมกับตนเองบ้าง เราจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความดีความงามแก่ตนยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่มาร่วมกันทำบุญที่วัดท่าขนุนวันนี้ จึงเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในไตรสิกขาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืออยู่ในศีล อยู่ในสมาธิ อยู่ในปัญญา ซึ่งถ้าขยายออกก็จะเป็นมรรค ๘ เป็นหนทางที่เราจะก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 07-03-2023 เมื่อ 19:51 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
เทสนาวสาเน..ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนทั้งปวง โดยมีหลวงปู่สาย อคฺควํโส เป็นที่สุด
ได้โปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสุขความเจริญ แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใดที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมแล้ว ขออำนาจแห่งพุทธบารมี ธรรมบารมี สังฆบารมี ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จ สมดังมโนรถปรารถนาจงทุกประการ รับหน้าที่วิสัชชนามาในมาฆปูชากถา ก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระเทศนาลง คงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์วันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 07-03-2023 เมื่อ 19:52 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
ถ่ายทอดสดงานเวียนเทียนวันมาฆบูชา วัดท่าขนุน วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
เชิญรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/live/donna7n6ePw?feature=share แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 09-03-2023 เมื่อ 08:10 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|