กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะ เรื่องราวในอดีต และสรรพวิชา > เรื่องราวในอดีต และสรรพวิชา

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 24-02-2009, 14:29
ทิดตู่ ทิดตู่ is offline
สมาชิกยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 168
ได้ให้อนุโมทนา: 27,852
ได้รับอนุโมทนา 47,493 ครั้ง ใน 1,464 โพสต์
ทิดตู่ is on a distinguished road
Default กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา


พระราชประวัติกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา เป็นพระราชภาดาร่วมพระราชชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุน พ.ศ. ๒๒๘๖ ได้ทรงรับราชการตำแหน่งนายสุจินดามหาดเล็กหุ้มแพร ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ ครั้งกรุงเก่าเสียแก่พม่าแล้ว ก็เสด็จหลบหนีออกไปอาศัยอยู่ ณ เมืองชลบุรี จนทรงทราบว่าเจ้าตาก (สิน) ออกไปตั้งอยู่เมืองจันทบุรีแล้ว จึงเสด็จพาพรรคพวกดำเนินทางบกไปเข้าด้วย เหตุทรงคุ้นเคยกันมาแต่ครั้งรับราชการกรุงเก่า

ครั้นเจ้าตากยกจากจันทบุรีเข้าตีพม่าซึ่งตั้งรักษากรุงเก่าอยู่นั้นแตกไปแล้ว ก็เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงธนบุรีในปีชวด สัมฤทธิศก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาททรงรับบรรดาศักดิ์เป็นพระมหามนตรีเจ้ากรมตำรวจในเวลานั้น ทรงรับราชการสงครามมีความชอบยิ่งๆ ขึ้น ได้ทรงรับบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอนุชิตราชาและพระยายมราชตามลำดับ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปปราบเจ้าพระฝางในปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ นั้น โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (เมื่อเป็นพระยายมราช) คุมทัพบกไปทางฟากตะวันออกก่อนทัพหลวง ครั้นปราบเจ้าพระฝางแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราชเป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก ทรงบังคับบัญชาการป้องกันพระราชอาณาจักรอยู่ทางฝ่ายเหนือแต่นั้นมา พระเดชานุภาพเลื่องลือจนพม่าเรียกพระนามว่า พระยาเสือ ในครั้งนั้น


ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมหากษัตริย์ศึก พระองค์ทรงระงับการแผ่นดินที่วิปริตผันแปรในกรุงธนบุรีราบคาบแล้ว ก็โปรดให้มีตราให้หากองทัพทุกๆกองกลับมาจากกรุงกัมพูชา และได้เริ่มการย้ายพระมหานครขามฟากมาจากเมืองธนบุรีฟากตะวันตกมาสร้างกรุงเทพรัตนโกสินทร์พระมหานครทางข้างตะวันออกแต่ฝั่งเดียว ตั้งพระราชพิธียกหลักเมือง ณ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก พฤษภาคม แรม ๙ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ รุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือนหก แรม ๑๐ ค่ำ จัดการตั้งพระราชวังใหม่ที่กรุงเทพมหานคร ณ ฝั่งฟากตะวันออก

ถึง ณ วันจันทร์ เดือนแปด กรกฎาคม ขึ้นค่ำหนึ่ง ปฐมาสาฒ ขึ้น ๔ ค่ำ เพลารุ่งแล้วสี่บาท(๑ บาท ประมาณ ๖ นาที) เสด็จทรงเรือพระที่นั่งข้ามมหาคงคามา ณ พระราชวังกรุงเทพมหานครฝั่งฟากตะวันออก เสด็จสถิตเหนือพระภัทรบิฐอันกั้นบวรเศวตราชาฉัตร์ พระราชครูปุโรหิตาจารย์ก็กราบบังคมทูลถวายไอศูรย์ราชสมบัติ และเครื่องเบ็ญจพิตรราชกุกุกภัณฑ์พระแสงอัษฎาวุธ อัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเสวยสวรรยาธิปัตย์ ถวัลย์ราชเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหากษัตราธิราช เจ้าแผ่นดินปกครองสยามประเทศสืบไป (ต่อเมื่อถึงรัชกาลที่ ๓ ถวายพระนามเรียกว่า”พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”)

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์มายุได้ ๔๖ พรรษา ได้มีพระราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ดำรัสให้พระอนุชา (บุญมา) ซึ่งมีพระชนม์มายุได้ ๓๘ พรรษา เสด็จเถลิงราชมไหศวรรย์ ณ ที่พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รับพระราชบัณฑูรประทับ ณ พระราชวังบวร (วังหน้า) ทรงอำนาจว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง เรียกพระนามว่า “สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา” ที่ชนในสมัยนั้นเรียกเป็นคำสามัญว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหน้า” หรือมีอีกพระนามหนึ่งที่เรียกกันก็คือ “พระเจ้าเสือ”

สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ทรงสร้างพระราชวังหน้าขึ้นเป็นพระราชวังที่ประทับใกล้ชิดกับพระราชวังหลวง มีป้อม มีโรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลัง เป็นต้น เรียกได้ว่าสิ่งใดที่มีปรากฏอยู่ในพระราชวังหลวงแล้วก็คงมีที่พระราชวังบวรซึ่งเป็นวังหน้านั้นดุจกัน

ฝ่ายตำแหน่งขุนนางข้าราชการข้างวังหน้านั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา ก็มีพระบัณฑูรโปรดแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง โดยควรแก่ความชอบตามลำดับฐานานุศักดิ์ ครบตามตำแหน่งในพระราชวังหน้าดุจวังหลวงทั้งสิ้น และโปรดให้สร้างพระตำหนักหมู่หนึ่งขึ้นในพระราชวังหน้า ยกหลังคาเป็น ๒ ชั้นคล้ายพระวิมาน เป็นที่ประทับของเจ้าศิริรจนาผู้เป็นเอกอรรคชายาเดิมของพระองค์ แล้วสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่วังหลวง


กบฏเมืองกัมปอช รับพระสนม

ฝ่ายพระยาปังกลิมา เจ้าเมืองกัมปอช รู้ข่าวว่าแคว้นไทยผลัดแผ่นดินใหม่ ก็คิดกบฏแข็งเมือง พระยาราชาเศรษฐีครองเมืองผะไทมาศอันขึ้นกับกรุงเทพพระมหานครได้ทราบ ก็ได้มีใบบอกเข้ามากราบทูลให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงมีพระราชดำรัสให้มีตราตอบออกไป ให้พระยาราชาเศรษฐีคิดอ่านจับตัวพระยาปังกลิมาส่งเข้ามา พระยาราชาเศรษฐีจึงยกทัพจากเมืองผะไทมาศ มา ณ เมืองกัมปอช จับเอาตัวพระยาปังกลิมา ส่งเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงมีพระราชดำรัสปรึกษาโทษพระยาปังกลิมา โดยรับสั่งให้เอาตัวไปตัดเท้าแล้วผูกขึ้นแขวนห้อยศรีษะลงมาเบื้องต่ำ กระทำประจานไว้ที่ป่าช้าวัดโพธิ์นอกพระนครด้านตะวันออกจนถึงแก่ความตาย

ฝ่ายข้างกัมพูชาประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปตั้งพระยายมราชเขมร ผู้มีความชอบซึ่งภักดีตั้งกองล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์(จุ้ย) ให้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ครองกรุงกัมพูชาธิบดี แล้วให้ส่งเจ้าเขมร ๔ องค์ ของนักพระอุไทยราชาเข้ามา ณ กรุงเทพพระมหานคร มีนักพระองเอง ๑ นักพระนางมิน ๑ นักพระนางอี ๑นักพระนางเภา ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงนักพระองเองเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ส่วนนักพระนางมินถึงแก่พิราลัย นักพระนางอีกับนักพระนางเภาทั้งสอง สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ขอพระราชทานไปเลี้ยงไว้เป็นพระสนมอยู่ในพระราชวังหน้า


กบฏอ้ายบัณฑิต พ.ศ. ๒๓๒๖

ลุปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ ฝ่ายข้างกรุงเทพพระมหานครได้เกิดกบฏขึ้น โดยมีอ้ายบัณฑิต ๒ คน อวดอ้างตนว่าเป็นผู้วิเศษล่องหนหายตัวได้ ล่อลวงให้คนเชื่อถือนอบน้อม ซ่องสุมสมัครพรรคพวกมาตีเมืองนครนายก แล้วเลยเข้ามา ณ กรุงเทพฯ คบคิดกับขุนนางหลายคน มีพระยาอภัยรณฤทธิ์ เป็นต้นกับพวกผู้หญิงวิเสทปากบาตรพระราชวังหน้า คบคิดกันวางอุบายก่อการกบฏ

ครั้นถึง ณ วันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนห้า เมษายน พ.ศ.๒๓๒๖ เพลาเช้า พวกหญิงวิเสทในวังหน้า ขนกระบุงข้าวใส่บาตรเข้าไปทางประตูดินวังหน้า เอี้ยงสาวผู้เป็นนายวิเสทปากบาตรและเป็นบุตรีของพระยาอภัยรณฤทธิ์ ได้บังอาจพาอ้ายบัณฑิตทั้ง ๒ คน นุ่งผ้าห่มปลอมตัวอย่างหญิง ถือดาบซ่อนในผ้าห่มอุกอาจเข้าไปในพระราชวังหน้า แล้วขึ้นไปแอบอยู่ ๒ ข้างพระทวารพระราชมนเฑียร ซึ่งเป็นทวารมุขทางที่จะเสด็จลงมาทรงใส่บาตร คอยลอบจะทำร้ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา แต่ด้วยเดชะพระบารมีเพลานั้นหาได้เสด็จลงมาทรงบาตรทางทวารมุขนั้นไม่ เทพยดาทรงดลพระทัยให้ทรงพระดำริจะลงมาเฝ้า ณ พระราชวังหลวง ก็เสด็จออกอีกทางพระทวารหนึ่ง แล้วเสด็จลงมาทางพระราชวังหลวง อ้ายบัณฑิตทั้งสองหาได้กาสจะทำร้ายไม่ พอนางพนักงานเฝ้าที่มาพบเข้า ก็ตกใจร้องอื้ออึงลงมาว่าผู้ชาย ๒ คนถือดาบมาอยู่ที่พระทวารบน อ้ายบัณฑิตเห็นดั่งนั้นก็สลัดผ้า กวัดแกว่งคมดาบไล่กวดนางเฝ้า ตามฟันลงมาติดๆ ขณะนั้นขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่ง คุมไพร่เข้าไปก่อถนนที่พระราชวังหน้า เห็นผู้ร้ายไล่ตามฟันนางเฝ้า จึงเข้าไปปะทะกั้นขวางไว้ อ้ายบัณฑิตก็เอาดาบฟันขุนหมื่นนั้นศรีษะขาดล้มลงตายอยู่กับที่ พวกเจ้าจอมข้างใน และจ่าโขลนต่างพากันตกใจร้องอื้ออึงวิ่งออกมาบอกข้าราชการข้างหน้า ข้าราชการทั้งปวงก็กรูกันเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ไล่ล้อมจับอ้ายบัณฑิตกบฏทั้ง ๒ เอาไม้พลองบ้าง อิฐบ้างทุบตี ขว้างใส่เป็นอลหม่าน บางส่วนวิ่งมาที่พระราชวังหลวง กราบทูลให้ทรงทราบเหตุการณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทราบ จึงดำรัสให้ข้าราชการทั้งวังหลวงวังหน้า เร่งช่วยกันไปจับอ้ายบัณฑิตกบฏ ช่วยกันทุบตีล้มลงจับตัวได้มัดไว้แล้วจำครบตบติดไม้เฆี่ยนถาม ให้การซัดพวกเพื่อนซึ่งร่วมคิดกบฏด้วยกันเป็นอันมาก ได้คนสำคัญที่เป็นตัวการ คือ พระยาอภัยรณฤทธิ์กับภรรยา สาวเอี้ยงและสาวจุ้ยบุตรหญิงพระยาอภัยรณฤทธิ์ เกษบุตรบุตรชาย กับทั้งพวกหญิงวิเสทปากบาตรทั้งนายทั้งไพร่ มีพระบัณฑูรให้เฆี่ยนสอบกับอ้ายบัณฑิตกบฏ ทุกคนรับเป็นสัตย์ จึงดำรัสให้ประหารชีวิตอ้ายบัณฑิต และพวกพระยาอภัยรณฤทธิ์พ่อแม่ลูกเมีย พร้อมกันกับพวกเพื่อนชายหญิงนายไพร่ทั้งสิ้นพร้อมสรรพ


บูรณะวัดมหาธาตุ

ในปีเถาะศกนั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา ดำรัสให้จัดการก่อกำแพงพระราชวังหน้า แล้วให้สถาปนาพระราชมณเฑียร ทั้งข้างหน้าข้างในสำเร็จบริบูรณ์ พร้อมกันคราวเดียวกับที่พระองค์ได้ให้ทรงปฏิสังขรณ์วัดสลัก ได้กระทำอุโบสถพระวิหารการเปรียญและพระมณฑปขึ้นใหม่ แล้วก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในพระมณฑป ก่อพระระเบียงล้อมรอบ และสร้างกุฎีเสนาสนะฝากระดานถวายสงฆ์ และให้ก่อตึก ๓ หลังถวายพระวันรัตน์ผู้เป็นเจ้าอารม ได้ก่อกำแพงแก้วล้อมรอบพระอาราม แล้วตั้งนามใหม่ว่า”วัดนิพพานาราม” (วัดสลักที่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดนิพพานารามนี้ ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๑ เปลี่ยนนามใหม่อีกว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ ครั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตแล้ว จึงเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่าวัดมหาธาตุ เรียกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้)


อัญเชิญพระแก้วมรกตสู่ฝั่งพระนคร

ณ วันจันทร์ เดือนสี่ ปีมะโรง แรม ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตจากโรงในวังเก่าฟากตะวันตก ซึ่งเป็นพระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นขบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวังกรุงเทพพระมหานครฟากตะวันออก อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ แล้วได้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมกระทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธเสมาในวันนั้น เมื่อการพระอารามนั้นสำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงทรงตั้งพระนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือวัดพระแก้วนั่นเอง)


พระราชทานนามวัดสระเกศ แลกรุงเทพมหานคร

ณ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงเปลี่ยนนามวัดสะแกในกรุงเทพพระมหานคร พระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกศ (หรือ วัดสระเกศ ภูเขาทองในปัจจุบัน) และให้ก่อเชิงเทินและป้อมทำประตูใหญ่น้อยเป็นอันมากรอบพระนคร ครั้นการสถาปนาพระนครใหม่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีงานสมโภชพระนคร ครบ ๓ วันเป็นกำหนด พระราชทานนามพระนครที่สร้างใหม่ว่า

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ทิดตู่ : 25-02-2009 เมื่อ 16:25
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 88 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 24-02-2009, 15:22
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

ขอเพิ่มเติมข้อมูลนะครับ

พระแสงอัษฏาวุธ ได้แก่

๑. พระแสงดาบเชลย
๒. พระแสงจักร
๓. พระแสงตรีศูล
๔. พระแสงธนู
๕. พระแสงดาบเขน
๖. พระแสงหอกชัย
๗. พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง
๘. พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย

โดยที่ องค์ที่ ๗ และ องค์ที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการให้จำลองขึ้นมาใหม่ เพราะองค์จริง สูญหายไปเสียแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกครั้งที่ ๒ ครับ

น่าสังเกตุว่า พระแสงปืนนั้น เป็นลักษณะแบบคาบชุด (MATCHLOCK) นะครับ แต่เราอาจจะเคยได้ผ่านตามาว่า เป็นแบบ คาบศิลา (FlintLock) แทน ปืนสองแบบนี้ต่างกันตรงระบบจุดชนวนครับ

สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ เองเมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ทรงรับตำแหน่งเป็น นายสุดจินดา หุ้มแพรมหาดเล็ก ซึ่งมีหน้าที่ดูแล พระตะกรุด และ พระพิสมร

อนึ่ง ตำแหน่งหุ้มแพรนั้น เทียบเท่านายร้อยเอก(ปัจจุบัน) มีจำนวนทั้งหมด ๒๐ ตำแหน่ง แต่ที่สำคัญอยู่ ๔ ตำแหน่งเรียกว่า หุ้มแพรต้นเชือก มีลำดับอยู่หน้าหุ้มแพรทั้งหลายใน ๔ เวร คือ นายกวด หุ้มแพร นายขัน หุ้มแพร นายฉันหุ้มแพร และนายชิด หุ้มแพร หุ้มแพรต้นเชือกนี้จะมีศักดินาสูงกว่าหุ้มแพรอีก ๑๖ ตำแหน่งที่กระจายกันอยู่ในเวรทั้ง ๔

ที่มา : หนังสือ ตำนานมหาดเล็ก

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ทิดตู่ : 25-02-2009 เมื่อ 15:26
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 24-02-2009, 15:38
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ tidtou อ่านข้อความ
ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์


ฝ่ายตำแหน่งขุนนางข้าราชการข้างวังหน้านั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา ก็มีพระราชบัณฑูรโปรดแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง
สำหรับ คำศัพท์ที่เรียก คำสั่งของพระมหาอุปราช หรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

นั้น คงเรียกเพียงแต่ "..พระบัณฑูร.." เท่านั้น นะครับ

ซึ่ง จะมีกรณีพิเศษ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงพระราชทานให้กับเจ้านายพระองค์อื่น เช่น กรณีพระราชทานให้กับ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลังพระองค์เดียวในกรุงรัตนโกสินทร์ : เป็นพระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ครับ)

โดยจะใช้คำว่า "..พระบัณฑูรน้อย.." แทน และ จะใช้ "..พระบัณฑูรใหญ่.." ในกรณีเป็นคำสั่งของ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ครับ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 24-02-2009 เมื่อ 15:40
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 61 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 24-02-2009, 16:41
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

ผมขอแก้ไขข้อมูลที่ผมลงไป ยังไม่ครบถ้วนอีกนิดนะครับ

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) นั้น ถ้าได้รับการสถาปนาพระเกียรติยศเสมอเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่งนั้น จะใช้คำว่า "..รับพระราชโองการ..." แทนคำว่า "..รับพระบัณฑูร..." นะครับ

ตัวอย่างเช่น ในสมัยอยุธยา จะมีกรณีของ สมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งจะทรง "...รับพระราชโองการ.." (ตัดคำว่า ...บรม... ออกนะครับ และใช้คำว่า รับ แทนคำว่า มี : )


ส่วนกรณี ของ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยุครัตนโกสินทร์ ก็จะทรงใช้ "...รับพระราชโองการ..." เหมือนกรณีของ สมเด็จพระเอกาทศรถ นะครับ

สรุป

กรุงศรีอยุธยา มี "วังหน้า รับพระบัณฑูร" เป็นพระมหาอุปราช ๑๑ พระองค์
และมี "วังหน้า รับพระราชโองการ" เสมอพระเจ้าแผ่นดิน ๑ พระองค์

กรุงรัตนโกสินทร์ มี "วังหน้ารับพระบัณฑูร" เป็นพระมหาอุปราช ๔ พระองค์
และมี "วังหน้ารับ (บวร) ราชโองการ" เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ เสมอกับพระองค์


ต้องกราบขออภัย ที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนนะครับ

ที่มา : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "ราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช"

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 24-02-2009 เมื่อ 16:43
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #5  
เก่า 24-02-2009, 17:02
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ สายท่าขนุน อ่านข้อความ
นับถือจริง เล่าเอง ใช้ศัพท์เอง ทักท้วงแก้ไขกันเอง มีความสามารถยิ่ง
เพิ่งได้ยินคนกล่าวถึงสมเด็จวังหน้าพระองค์นี้ เมื่อไม่กี่วันมานี่ จำได้ว่ารู้สีกคุ้นนัก
พอจะมีใครให้ข้อมูลเรื่องเล่า ของพระอาจารย์ท่านใด ที่สืบเนื่องกับพระองค์ได้หรือไม่
เห็นเขาลือกันว่า สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างเองนะครับ (ถ้าผมจำไม่ผิดนะ) หรือไม่ก็อาจจะเป็น วังหน้าพระองค์สุดท้าย คือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรพิชัยชาญ ทรงสร้างครับ

โดยเฉพาะ กรมพระราชวังบวรพิชัยชาญ เขาลือกันเป็นตำนานว่า พระองค์ทรงเป็นศิษย์ของ พระครูโลกอุดร ครับ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #6  
เก่า 24-02-2009, 18:11
ทิดตู่ ทิดตู่ is offline
สมาชิกยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 168
ได้ให้อนุโมทนา: 27,852
ได้รับอนุโมทนา 47,493 ครั้ง ใน 1,464 โพสต์
ทิดตู่ is on a distinguished road
Default

เรื่องราวต่อไป ผมจะพิมพ์เพิ่ม ๆ เข้าไว้ที่กระทู้แรกนะครับ จะได้อ่านได้อย่างต่อเนื่อง หากท่านผู้รู้ท่านใดมีใจกรุณานำข้อมูลมาเพิ่มเติมก็โพสท์ไว้ด้านล่างต่อ ๆ กันไปนะครับ เพื่อที่สมาชิกท่านอื่น ๆ เข้ามาอ่านข้อความเบื้องต้น แล้วก็จะได้มาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกทางด้านล่างประกอบกันไป เป็นการเสริมข้อมูลให้กว้างขวางและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้ที่เข้ามาอ่านใหม่จะได้ไม่สับสนและอ่านเข้าใจได้ง่าย ขอบพระคุณทุกท่านไว้ก่อนเลยนะครับ สำหรับข้อมูลที่นำมาบอกเล่ากัน

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ทิดตู่ : 23-05-2009 เมื่อ 13:45
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #7  
เก่า 25-02-2009, 10:39
คนเก่า's Avatar
คนเก่า คนเก่า is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: ชมพูทวีป
ข้อความ: 189
ได้ให้อนุโมทนา: 21,727
ได้รับอนุโมทนา 55,275 ครั้ง ใน 1,402 โพสต์
คนเก่า is on a distinguished road
Default

วังหน้าทรงพระปรีชาในการทหารยิ่ง
ทรงสถานะเป็นขุนศึกคู่บัลลังก์ถึง ๒ แผ่นดิน
มีคำกล่าวยกย่องว่า พระยาช้างอยู่ทางเหนือ พระยาเสืออยู่ทางใต้
โดยพระยาช้างก็คือพระเจ้ากาวิละ ผู้เป็นพี่เมียของพระยาเสือ

พระชายาซึ่งเป็นกุลสตรีชาวเหนือผู้สูงศักดิ์ของวังหน้า นอกจากจะเลื่องลือ
ในด้านความงามแล้ว ยังปรากฎจารึกวีระประวัติอันหาญกล้าเกินหญิง
สมเป็นน้องพระยาช้าง สมเป็นเมียพระยาเสือ

ปลายแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนฯ ขณะสมเด็จเจ้าพระยาฯและเจ้าพระยาสุรสีห์
อยู่ระหว่างเดินทางไปราชการสงครามทางเขมร เกิดกบฎพระสรรค์ มีกองกำลัง
ไม่ทราบฝ่ายเข้าล้อมเผาบ้านพระยาสุริยอภัย(ต่อมาคือวังหลัง) อย่างกะไม่ให้
มีใครเหลือรอดออกไปแม้แต่คนเดียว เจ้าครอกศรีอโนชา(ศรีรจจา)ภรรยาของ
เจ้าพระยาสุรสีห์ถึงกับคุมกำลังมาด้วยตนเอง เข้าแก้ไขช่วยพระยาสุริยอภัยออกมาได้

สมเป็นยอดหญิง เมียแก้วของพระยาเสือนัก

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 25-05-2009 เมื่อ 14:37 เหตุผล: แก้เป็นเลขไทย
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 62 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #8  
เก่า 25-02-2009, 12:08
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ คนเก่า อ่านข้อความ
มีกองกำลัง
ไม่ทราบฝ่ายเข้าล้อมเผาบ้านพระยาสุริยอภัย(ต่อมาคือวังหลัง) อย่างกะไม่ให้
มีใครเหลือรอดออกไปแม้แต่คนเดียว

เป็นกองกำลังของฝ่ายพระยาสรรค์ครับ นำโดย พระยารัตนจักร ซึ่งเป็นหัวหน้ามอญเก่า (จักรีมอญ) ส่วนทางของ ฝ่ายเจ้าครอกศรีอโนชา ได้นำกำลังมอญใหม่ ภายใต้การนำของ พระยาเจ่ง มาช่วยรบครับ ต่อมา พระยาเจ่ง ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น เจ้าพระยามหาโยธา ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครับ และได้ตำแหน่งจักรีมอญเดิมของ พระยารัตนจักร แทนครับ

นอกจาก พระยารัตนจักร ที่เป็นมอญแล้ว ถ้าจำไม่ผิด ผู้ที่ร่วมบัญชาการอีกท่านก็คือ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม พระเจ้าหลานเธอ ของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครับ ซึ่งพระยาสรรค์ตอนได้ได้จำไว้ แต่ตอนหลังเห็นว่า การณ์ไม่เป็นดังที่คาดไว้ (พระยาสรรค์จะนั่งเมืองเสียเอง) ก็เลย ต้องทูลเชิญ (เกลี้ยกล่อม) ให้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม เสด็จออกมาช่วยรบครับ

กรมขุนอนุรักษ์สงครามพระองค์นี้ ได้โดยเสด็จฯ ในงานพระราชการสงครามอยู่หลายครั้งครับ

สำหรับพระยาเจ่ง หรือ เจ้าพระยามหาโยธานี้ เป็นต้นสกุล คชเสนีย์ ครับ สัญลักษณ์ประจำตระกูลคือ ตรารูปช้างใช้งวงถือดาบ ครับ ซึ่ง ชาวรามัญ (มอญ) ในประเทศไทย ถือว่า เชื้อสายของพระยาเจ่งนี้ คือ กษัตริย์มอญกลาย ๆ

เพราะว่า ก่อนที่พระยาเจ่งจะอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น พระยาเจ่ง เคยได้เป็นเจ้าเมืองตะเกิง (รัฐมอญ) มาก่อน ภายหลังเกิดผิดใจกับ พระเจ้ามังระ ถึงกับมีการจับคนในตระกูลของพระยาเจ่งจะไปประหารเสียหมด พระยาเจ่งจึง ได้ไปดักตีชิงครอบครัวของตนเอง และ อพยพมอญในสังกัดทั้งหมดเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครับ

กรณีพระยาเจ่งมาสวามิภักดิ์นี้ ก็เหมือนกับ กรณีของ พระเจ้ากาวิละ และ พระยาจ่าบ้าน(บุญมา) ที่มาสวามิภักดิ์กับ ทางสยามครับ (เล่าแล้วจะยาว ขอไม่เล่าแล้วกันนะครับ ยกเว้นเปิดกระทู้ใหม่)

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 25-02-2009 เมื่อ 12:18
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #9  
เก่า 25-02-2009, 12:42
คนเก่า's Avatar
คนเก่า คนเก่า is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: ชมพูทวีป
ข้อความ: 189
ได้ให้อนุโมทนา: 21,727
ได้รับอนุโมทนา 55,275 ครั้ง ใน 1,402 โพสต์
คนเก่า is on a distinguished road
Default

เพลงยาวนิราศ
พระนิพนธ์ใน สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งเสด็จไป ตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๖
(ตอนต้นสูญหายไป)

..........
..........
..........
..........
……ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร
ทุกถิ่นฐานบริบูรณ์เป็นหนักหนา
อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา
เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี
ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน
รวยรื่นเป็นสุขเกษมศรี
ไม่เห็นเช่นว่าจะเป็นเหมือนเช่นนี้
มาเยินยับอัปรีย์ศักดิ์ศรีคลาย

ทั้งถนนหนทางอารามราช
มาวินาศสิ้นสุดสูญหาย
สารพัดย่อยยับกลับกลาย
อันตรายไปจนพื้นปัถพี

เมื่อพระกาฬมาผลาญดังทำนาย
แสนเสียดายภูมิพื้นกรุงศรี
บริเวณอื้ออึงด้วยชลธี
ประดุจเกาะอสุรีลงกา

เป็นคันขอบชอบกลถึงเพียงนี้
มาเสียสูญไพรีอนาถา
ผู้ใดใครเห็นไม่นำพา
อยุธยาอาภัพลับไป
เห็นจะสิ้นอายุพระนคร
ให้อาวรณ์ผู้รักษาหามีไม่
เป็นป่าหญ้ารกดังพงไพร
แต่จะสาบสูญไปทุกทิวา






คิดมาก็เป็นน่าอนิจจัง
ด้วยกรุงเป็นที่ตั้งพระศาสนา
ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา
ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ
ก็ทลายยับยุ่ยเป็นผุยผง
เหมือนพระองค์เสด็จดับสังขาร
ยังไม่สิ้นศาสนามาอรธาน
ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป


เสียดายพระนิเวศน์บุรีวัง
พระที่นั่งทั้งสามงามไสว
ดั้งระเบียบชั้นเป็นหลั่นไป
อำไพวิจิตรรจนา
มุขโถงมุขเด็จมุขกระสัน
เป็นเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา
เพดานในไว้ดวงดารา
ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน
ที่ตั้งบัลลังก์แก้วทุกองค์
ทวารลงอัฒน์จันทร์หน้าฉาน
ปราบพื้นรื่นราบดังพระลาน
มีโรงคชาธารตระการตา
ทิมดาบคดลดพื้นกำแพงแก้ว
เป็นถ่องแถวยืดยาวกันหนักหนา
เป็นที่แขกเฝ้าเข้าวันทา
ดังเทวานฤมิตประดิษฐ์ไว้
สืบทรงวงศ์กษัตริย์มาช้านาน
แต่บุราณแล้วไม่นับพระองค์ได้
พระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่ข้างใน
มีสระชลาลัยชลธี
ชื่อที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
ที่ประพาสมัจฉาในสระศรี
ทางเสด็จเสร็จสิ้นสารพันมี
เป็นที่กษัตริย์สืบมา
ก็สูญสิ้นศรีมลายหายหมด
จะปรากฏสักสิ่งไม่มีว่า
อันถนนหนทางมรรคา
คิดมาก็เสียดายทุกสิ่งอัน
ร้านเรียบเป็นระเบียบด้วยรุกขา
ขายของนานาทุกสิ่งสรรพ์
ทั้งพิธีปีเดือนทุกคืนวัน
สารพันจะมีอยู่อัตรา
ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมสุข
แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา
ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา
อยุธยาจะสาบสูญไป
จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว
ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส
นับวันแต่จะยับนับไป
ที่ไหนจะคงคืนมา
ไป่ปรากฏเหตุเสียเหมือนครั้งนี้
มีแต่บรมสุขา
ครั้งนี้มีแต่พื้นพสุธา
อนิจจาสังเวชทนาใจ
ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ
จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไท
เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ
ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา
จะตั้งแต่งเสนาธิบดี
ไม่ควรจะให้อัครฐาน
จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี
จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา


เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ
เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
เสียทั้งตระกูลนานา
เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร


สารพัดจะเสียสิ้นสุด
ทั้งการยุทธ์ก็ไม่เตรียมฝึกสอน
จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร
เหมือนหนอนเบียนให้ประจำกรรม
อันจะเป็นเสนาธิบดี
ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์
ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น
ป้องกันปัจจาอย่าให้มี
นี่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่
เหมือนไพร่ชั่วช้ากระทาสี
เหตุภัยใกล้กรายร้ายดี
ไม่มีที่รู้สักประการ
ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที
มิได้มีเหตุจึงแตกฉาน
ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน
เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป
ถึงเพียงนี้ไม่มีที่จะกริ่งเลย
ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้
ศึกมาชิงล่าเลิกกลับไป
มิได้เห็นจะฝืนคืนมา
จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่
ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา
ครั้นทัพเขายกกลับมา
จะองอาจอาสาก็ไม่มี
แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ
จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่
ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี
เมืองยับอัปรีย์จนทุกวันฯ
เหตุเสียกรุงศรีอยุธยา
เหมือนคำที่ว่าไม่เสกสรรค์
ชะล่าใจเคยได้แต่ครั้งนั้น
จึงประชิดติดพันแต่นั้นมา
แตกยับกลับไปก็หลายหน
คิดกลจะลวงให้หลงหา
แต่งคนให้ถือหนังสือมา
เจรจาความเมืองเป็นไมตรี
ทำไว้แต่พอให้รอรั้ง
ขยับยกเข้ามาตั้งตะนาวศรี
จะเดินมั่นกันติดทางตี
ทำนองทีจะคิดให้ชิดไว้
เห็นจะผ่อนโยธาอาหาร
มันคิดการมิให้ใครสงสัย
จะนิ่งอยู่ดูเบาเอาใจ
เห็นเหตุเภทภัยจะเกิดการมา
จะเร่งรัดตัดคิดมันเสียก่อน
บั่นรอนอย่าให้ทันแน่นหนา
จำจะคิดให้ผิดแต่ก่อนมา
เป็นทัพหน้านาวายกไป

ตามทางทะเลไปสงขลา
จะขุดพสุธาเป็นคลองใหญ่
ให้เรือรบออกประจบเอาเมืองไทร
ปากใต้ฝ่ายทะเลให้พร้อมกัน
จึงจะยกไปตีเอามะริด
จะปิดปากน้ำเสียให้มั่น
ทัพเรือมันจะพลอยเข้าช่วยกัน
จะตีบั่นเกยทัพให้ยับไป


รบไหนจะให้ยับลงที่นั่น
แต่กึ่งวันไม่ให้ทนทานได้
จะทำการครั้งนี้ให้มีชัย
จะไว้เกียรติให้สืบทั้งแผ่นดิน
ทำเมืองเราก่อนเท่าใด
จะทดแทนมันให้หมดสิ้น
มันจิตอาหังการ์ทามิฬ
จะล้างให้สุดสิ้นอย่าสงกา


การเสร็จสำเร็จลงเมื่อใด
ซึ่งคิดไว้ขอให้สมปรารถนา
แม้นมิได้ก็ไม่กลับคืนมา
จะเห็นเมืองพม่าในครั้งนี้
เกรงกริ่งอยู่แต่ข้างทัพบก
จะไม่ยกหักได้ให้ถึงที่
เกลือกมันกั้นตัดทางตี
จะตัดที่เสบียงอาหารไว้
ไม่สมคะเนให้เรรวน
ทำป่วนไม่หักเอามันได้
เท่านี้ดอกที่วิตกใจ
จะทำให้เสียการเหมือนทะวาย
เมื่อชนะแล้วกลับแพ้ให้แชไป
จึงเสียชัยเสียเชิงไม่สมหมาย
พากันหนีแต่ไม่มีอันตราย
ถ้าเสียหายอย่างอื่นไม่เป็นไร

อันกรุงรัตนะอังวะครั้งนี้ฤา
จะพ้นเนื้อมืออย่าสงสัย
พม่าจะมาเป็นข้าไทย
จะได้ใช้สร้างกรุงอยุธยา


แม้นสมดังจิตไม่ผิดหมาย
จะเสี่ยงทายตามบุพเพวาสนา
จะได้ชูกู้ยกนัครา
สมดังปรารถนาทุกสิ่งอัน
ถ้าเสร็จการอังวะลงตราบใด
จะพาใจเป็นสุขเกษมสันต์

อ้ายชาติพม่ามันอาธรรม์
เที่ยวล้างขอบขันฑ์ทุกพารา
แต่ก่อนก็มิให้มีความสุข
รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา
แต่บ้านร้างเมืองเซทั้งวัดวา
ยับเยินเป็นป่าทุกตำบล
มันไม่คิดบาปกรรมอ้ายลำบาก
แต่พลัดพรากจากกันทุกแห่งหน
มันเหล่าอาสัตย์ทรชน
ครั้งนี้จะป่นเป็นธุลี

เพราะเหตุบาปกรรมมาซ้ำเติม
จะพูนเพิ่มให้ระยำยับยี่
ด้วยทำนายว่าไว้แต่ก่อนมี
เหมือนครั้งมอญไปตีเอานัครา
คือหงส์ลงมากินน้ำหนอง
เหตุต้องเมืองมอญหงสา
ตัวนายอองไจยคือพรานป่า
คิดฆ่าหงส์ตายจึงได้ดี
คือพม่ามาตีเอามอญได้
ก็สมในทำนายเป็นถ้วนถี่
ยังแต่พยัคฆ์เรืองฤทธี
จะกินพรานที่ยิงหงส์ตาย
บัดนี้ก็ถึงแก่กำหนด
จะปรากฏโดยเหตุเป็นกฎหมาย
ทัพเราเข้าต้องคำทำนาย
คือเสือร้ายอันแรงฤทธา
จะไปกินพรานป่าที่ฆ่าหงส์
ให้ปลดปลงม้วยชีพสังขาร์
แล้วมีคำทำนายบุราณมา
ว่าพม่าจะสิ้นซึ่งรูปกาย
ถ้าผู้ใดใครเห็นให้เขียนไว้
จึงจะได้ประจักษ์สืบสาย
เห็นเป็นเหตุต้องเหมือนคำทำนาย
อังวะจะฉิบหายในครั้งนี้
ถ้าพร้อมใจพร้อมจิตช่วยคิดการ
จะสำราญทั่วโลกเกษมศรี
นี่จนใจสิ่งไรก็ไม่มี
เห็นทีจะตะกายไปตามจน
จะไปได้ฤามิได้ยังไม่รู้
จะเสือกสู้ไปตามขัดสน
ถ้าสุดคิดผิดหมายที่ผ่อนปรน
ก็จะบนบวงสรวงแก่เทวา
เดชะเทเวศน์ช่วยอวยชัย
ที่คิดไว้ขอให้สมปรารถนา
ตั้งแต่สวรรค์ชั้นกามา
ตลอดจนมหาอัครพรหม
ขอจงมาช่วยอวยพรชัย
ที่มาดไว้ให้ได้ดังประสงค์
จงดลใจไทยกรุงให้นิยม
ช่วยระดมกันให้สิ้นศึกเอย ฯ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 25-02-2009 เมื่อ 13:03
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #10  
เก่า 25-02-2009, 13:07
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

อ้างอิง:
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ ahhaboy อ่านข้อความ
โอ้...กำลังมันส์เลยพะยะค่ะ
ถ้างั้นก็รีบเปิดกระทู้ใหม่เลยครับ...เดี๋ยวผมจะไปหาข้าวโพดคั่วมานั่งรอ...
ให้ท่านทิดเปิดกระทู้ดีกว่าครับ ผมขอแจมแล้วกันครับ..จะช่วยได้เท่าที่กำลังสติปัญญาพอจะมีนะครับ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #11  
เก่า 25-02-2009, 13:17
ทิดตู่ ทิดตู่ is offline
สมาชิกยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 168
ได้ให้อนุโมทนา: 27,852
ได้รับอนุโมทนา 47,493 ครั้ง ใน 1,464 โพสต์
ทิดตู่ is on a distinguished road
Default

กระผมจะเพิ่มเติมที่กระทู้แรกเรื่อย ๆ ครับ หากพี่น้องท่านใดมีความรู้ข้อมูลใดมาเพิ่มเติม ขยายความ ให้คำแนะนำ เพื่อประโยชน์อันจะพึงมีมากยิ่งขึ้น ขอโมทนาด้วยครับ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ทิดตู่ : 23-05-2009 เมื่อ 13:44
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #12  
เก่า 25-02-2009, 13:18
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

เนื้อเรื่องเดิม ท่านทิดเขียนไว้ละเอียดแล้ว กรณี กบฏบัณฑิต นะครับ ผมขอขยายความบางส่วนแทนแล้วกันนะครับ

------------
ขยายความ

พนักงานวิเสท ปกติ คือ กุ๊กประจำวังนั่นหละครับ มีหน้าที่ทำอาหารทูลเกล้าถวาย หรือ ทูลถวาย พระบรมวงศ์ครับ

สำหรับ กรณีของ อ้ายเอี้ยง นี้ ก็คือ เจ้าพนักงานที่จะคอยถวายการรับใช้ เมื่อ สมเด็จฯ จะลงทรงบาตรครับ โดยที่ ปกติแล้ว เครื่องใช้ส่วนพระองค์ ที่จะวางรองบาตรนั้น สมเด็จฯ ทรงประดิษฐ์เป็นรูปม้า ครับ เป็นม้าทั้งตัวเลย และ จะมีที่วางบาตรอยู่ครับ อ้ายเอี้ยง จะรออยู่ตรงนี้หละครับ

ไว้จะลองไปหารูปม้าตัวที่ว่า มาให้ดูนะครับ (ไม่รับประกันว่าจะหามาได้ไหม) ถ้าสนใจอยากจะดูม้าตัวที่ว่านี้ ก็ขอเชิญได้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร กทม .ครับ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 25-02-2009 เมื่อ 13:40
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #13  
เก่า 25-02-2009, 13:28
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

เรื่องสนุก ๆ อีกเรื่อง (หมดสต๊อกพอดีครับ..อิ ๆ )

ก็คือ ตำนานพระแสงดาบส่วนพระองค์ ที่ได้ทรงใช้ในการพระราชสงครามมาตลอด สมเด็จฯ ได้ทรงถวายทำต่างราวเทียน ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งในอดีตเคยอยู่ในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราษฏร์รังสฤษฏ์ กทม. ครับ

แต่ได้สูญหายไปเสีย ตั้งแต่มี การบูรณะพระอุโบสถเมื่อครั้ง ฉลองกรุงครบ ๒๐๐ ปีครับ ( พ.ศ. ๒๕๒๕ )

เห็นในวงการค้าของเก่าลือ ๆ กันว่า อยู่ในมือของร้านสะสมของเก่าร้านหนึ่ง (ไม่ยืนยันนะครับ)

และก็ยังไม่แน่ใจว่า พระแสงดาบองค์นี้ จะมีสัณฐานเป็นอย่างไร บางกระแสก็ว่า เป็นดาบหัวปลาหลด ซึ่งเป็นรูปแบบการตีดาบที่ได้รับความนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายครับ

นอกจากนี้ จากที่ผมได้เคยคุยกับ พี่ ๆ ที่อยู่ในแวดวงนี้มาก็ได้ทราบว่า ของในวังหลวงเอง ก็สูญหายไปไม่น้อยเมื่อมีการบูรณะพระบรมมหาราชวัง นั่นหละครับ ในระดับ กรุแตก เลยหละครับ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #14  
เก่า 25-02-2009, 13:39
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

อ้าว ต้องขออภัย คุณทิด ด้วยครับ ไม่ได้อ่านหน้าแรกก่อนเดี๋ยวผมลบความเห็นก่อนนะครับ ขออภัยอย่างสูงครับ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #15  
เก่า 25-02-2009, 13:45
คนเก่า's Avatar
คนเก่า คนเก่า is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: ชมพูทวีป
ข้อความ: 189
ได้ให้อนุโมทนา: 21,727
ได้รับอนุโมทนา 55,275 ครั้ง ใน 1,402 โพสต์
คนเก่า is on a distinguished road
Default



ดูเหมือนมาจากหนังสือโครงกระดูกในตู้ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเข้าใจว่าคัดลอกมาจากหนังสือสมุดไทยชื่ออภินิหารบรรพบุรุษอีกต่อหนึ่ง มีความตอนหนึ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของดวงตราอุณาโลม เครื่องหมายหน้าหมวกของกองทัพบก ว่า

ครั้งมีข่าวความเคลื่อนไหวของกองทัพพม่าประชิดชายแดนในครั้งสงครามเก้าทัพ

ล้นเกล้า ร.๑ โปรดฯให้ระดมพลเตรียมรับศึก ขณะประชุมทัพอยู่นั้น เหล่าทหารเกิดลองของจนบานปลายตีกันนัว เรรวนไปทั้งกองทัพ จึงโปรดให้ริบของมาจำเริญโดยไฟเสียทั้งหมด จากนั้นล้นเกล้า ร.๑ และวังหน้าก็เข้าไปทำพิธีพุทธาภิเษกผ้ายันต์อุณาโลมในพระอุโบสถวัดพระแก้วที่พึ่งสร้างเสร็จ แล้วมอบให้ทหารผูกศรีษะทุกคน บังเกิดเป็นความพร้อมเพรียง เป็นขวัญและกำลังใจ มีชัยชนะต่อทัพข้าศึกมหาศาลที่มีจำนวนมากกว่าเป็นเท่าตัวอย่างอัศจรรย์

ครั้นเสด็จกลับจากราชการสงครามเก้าทัพ จึงโปรดฯ ให้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นใหม่ในพระอุโบสถวัดพระแก้ว และโปรดฯให้ใช้ดวงตราอุณาโลมเป็นพระราชลัญจรประจำรัชกาลตั้งแต่นั้นมา และต่อมาก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของกองทัพบก

...ตั้งใจจะอุปถัมภก
ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขันธสีมา
รักษาประชาชนและมนตรี....

(จาก นิราศท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้า ร.๑)
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #16  
เก่า 25-02-2009, 16:26
ทิดตู่ ทิดตู่ is offline
สมาชิกยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 168
ได้ให้อนุโมทนา: 27,852
ได้รับอนุโมทนา 47,493 ครั้ง ใน 1,464 โพสต์
ทิดตู่ is on a distinguished road
Default

ขอมาต่อที่กระทู้ด้านล่างนี้นะครับ เนื่องด้วยกระทู้แรกยาวไปน่ะครับ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #17  
เก่า 25-02-2009, 16:27
ทิดตู่ ทิดตู่ is offline
สมาชิกยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 168
ได้ให้อนุโมทนา: 27,852
ได้รับอนุโมทนา 47,493 ครั้ง ใน 1,464 โพสต์
ทิดตู่ is on a distinguished road
Default

เปิดมหาสงคราม ๙ ทัพ

ฝ่ายข้างแผ่นดินพุกามประเทศซึ่งมีเมืองอังวะเป็นราชธานีนั้น บังเกิดจลาจลวุ่นวายผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระเจ้าประดุงราชบุตรที่ ๔ ของพระเจ้าอลองพญาได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ คิดจะแผ่ราชอาณาจักรให้กว้างขวางยิ่งกว่ารัชกาลพม่าแต่ก่อนๆ จึงยกกองทัพไปตีมณีปุระทางฝ่ายเหนือ(อยู่ในเขตของประเทศอินเดีย) และประเทศยะไข่ทางตะวันตก(ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันตกของสหภาพพม่า)ได้ทั้งสองประเทศ ก็มีใจกำเริบคิดจะเข้ามาตีเมืองไทยแผ่กฤษฎาภินิหารให้มีเกียรติยศสูงเสมอมหาราชแต่ปางก่อน เฉกเช่น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ประกอบด้วยขณะนั้นพระเจ้าปะดุงมีรี้พลบริบูรณ์ และดำรงชัยชนะมาทุกแห่ง พลทหารกำลังร่าเริงฮึกห้าวในการสงคราม เพราะได้ทราบข่าวว่ากรุงไทยกำลังผลัดเปลี่ยนแผ่นดินและย้ายสร้างราชธานีใหม่ พระเจ้าปะดุงแห่งกรุงอังวะเห็นว่าเป็นโอกาสอันงามดียิ่ง การแผ่นดินแห่งกรุงสยามคงจะระส่ำระสายไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยคงจะตีเอาชนะได้ไม่ลำบาก สมกับที่คิดจะแผ่พระราชอภินิหารและพระราชอาณาเขตพุกามให้กว้างใหญ่ไพศาลออกไป อีกทั้งได้เป็นพระมหาเกียรติยศอันบรมโยโสโลภะแห่งพระองค์ จึงมีพระราชดำรัสให้เตรียมมหาพยุหแสนยากรขึ้นเป็นการใหญ่ เกณฑ์ทั้งคนในเมืองหลวงและหัวเมืองขึ้น ตลอดจนเมืองประเทศราชหลากหลายชาติทุกภาษาทั่วทิศทุกมณฑล มีพลพม่า เงี้ยว เตลง ทวาย มอญ เม็ง ยะไข่ และพลลาวเขมรสมทบกัน รวมจำนวนพล ๑๔๔,๐๐๐ เตรียมยกเข้ามาตีเมืองไทย

ครั้นแล้วพระเจ้าปะดุง รวมกำลังพล ๑๔๔,๐๐๐ แบ่งกองทัพยกเข้ามาตีเมืองไทยเป็นหลายแพรกหลายทาง ตรัสให้แมงญีแมงข่องกะยอ(ในพงศาวดารพม่าเรียกชื่อว่า เมงฆ้องกะโย) ยกลงไปตั้ง ณ เมืองเมาะตะมะ เมื่อวันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ เมื่อรวบรวมเกณฑ์เรือบรรทุก และช้างม้าพาหนะ หาเสบียงอาหารไว้ได้พอแก่ราชการแล้ว พระเจ้าปะดุงแห่งกรุงอังวะ ก็ทรงจัดทัพที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพพระมหานคร เป็นกระบวนทัพ ๙ ทัพ ตามแผนราวีของจอมทัพพม่า ดังนี้ คือ

ทัพที่ ๑ ให้เกงหวุ่นแมงยีมหาสีหะสุระ อรรคมหาเสนาบดี เป็นแม่ทัพ ยกทั้งทัพบกและทัพเรือ มีทหารจำนวน ๑๐,๐๐๐ เรือกำปั่นรบ ๑๕ ลำ ลงมาตั้งที่เมืองมะริด ให้ยกทัพบกมาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนถึงเมืองสงขลา ส่วนทัพเรือนั้นให้ตีหัวเมืองทางฝ่ายทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่าลงไปจนถึงเมืองถลาง

ทัพที่ ๒ ให้อนอกแผกคินหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๐,๐๐๐ ลงมาตั้งที่เมืองทวาย ให้เดินเข้าทางด่านบ้องตี้ มาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ลงไปประจบกองทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร

ทัพที่ ๓ ให้หวุ่นคญีสะโดะมหาสิริยอุจนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกมาทางเมืองเชียงแสน ให้ลงมาตีเมืองนครลำปาง และหัวเมืองทางริมแม่น้ำแควใหญ่และน้ำยม ตั้งแต่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย ลงมาจบกับกองทัพหลวงที่กรุงเทพฯ

ทัพที่ ๔ ให้เมี้ยนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ ยกลงมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๕ ให้เมี้ยนเมหวุ่น เป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหนุนทัพที่ ๔

ทัพที่ ๖ ให้ตะแคงกามะราชบุตรที่ ๓ เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๒,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าที่ ๒ ของทัพหลวง ที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๗ ให้ตะแคงจักกุราชบุตรที่ ๒ เป็นแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เป็นทัพหน้าที่ ๑ ของทัพหลวง

ทัพที่ ๘ เป็นกองทัพหลวง จำนวนพล ๕๐,๐๐๐ ของพระเจ้าปะดุงกษัตริย์อังวะ เสด็จเป็นจอมพลเอง

ทัพที่ ๙ ให้จอข่องนรธา เป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แขวงเมืองตาก มาตีหัวเมืองเหนือทางริมแม่น้ำพิง ตั้งแต่เมืองตาก เมืองกำแพงเพชร ลงมาประจบกองทัพหลวงของพระเจ้าปะดุงที่กรุงเทพฯ

(สรุป การยกทัพมาของพม่าในครั้งนี้ ไล่ตีมาจากเหนือลงไป จากใต้ขึ้นมา โดยมีทัพใหญ่ไปตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ เข้ามาตีกรุงเทพฯทางด่านเจดีย์สามองค์ มีกำหนดให้ยกเข้ามาตีเมืองไทย ในเดือนอ้าย ธันวาคม ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘ พร้อมกันทุกทัพ คือ มีทัพที่ตั้งอยู่เมืองเมาะตะมะ ๕ ทัพ จำนวนพล ๘๙,๐๐๐ เข้ามาตีกรุงเทพฯโดยตรง มาจากทางฝ่ายเหนือ ๒ ทัพ จำนวนพล ๒๕,๐๐๐ มีทัพที่ตีขึ้นมาจากปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ๒ ทัพ จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ รวมทั้งสิ้น ๙ ทัพ จำนวนพลทั้งหมด ๑๔๔,๐๐๐ นาย นับว่าเป็นศึกใหญ่หลวงยิ่งกว่าศึกพม่าที่เคยมีมาแต่ครั้งก่อนๆ รี้พลมากมายสรรพด้วยช้างมาสรรพศาสตราอาวุธพร้อมบริบูรณ์ ยกเข้ามาทุกทิศทุกทาง)

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ทิดตู่ : 25-03-2009 เมื่อ 15:32
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #18  
เก่า 25-02-2009, 16:32
ทิดตู่ ทิดตู่ is offline
สมาชิกยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 168
ได้ให้อนุโมทนา: 27,852
ได้รับอนุโมทนา 47,493 ครั้ง ใน 1,464 โพสต์
ทิดตู่ is on a distinguished road
Default

มหาศึกใหญ่ที่เป็นการประกาศพระศักดานุภาพแห่งพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์(โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระราชวังบวร)กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วครับ ทหารพม่า ๑๔๔,๐๐๐ กับทหารไทยประมาณ ๗๐,๐๐๐ เศษ ต่างกันครึ่งต่อครึ่ง ไทยจะรักษาความเป็นไทในสถานการณ์นี้อย่างไร โปรดติดตามอ่านกันต่อไปนะครับ
ป.ล.พี่น้องท่านใดมีความรู้เข้ามาเสริมก็ช่วย ๆ กันนะครับ ขอบพระคุณครับ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ทิดตู่ : 23-05-2009 เมื่อ 13:43
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #19  
เก่า 26-02-2009, 07:52
เด็กเมื่อวานซืน เด็กเมื่อวานซืน is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 92
ได้ให้อนุโมทนา: 7,974
ได้รับอนุโมทนา 32,426 ครั้ง ใน 1,052 โพสต์
เด็กเมื่อวานซืน is on a distinguished road
Default

ขออนุญาติ เล่าพื้นเพเดิมของ พระเจ้าปดุง ก่อนแล้วกันนะครับ

ก่อนพระเจ้าปดุงจะขึ้นครองราชย์นี่ รัชกาลก่อนหน้านั้นจะเป็นพระนัดดาของพระองค์เอง (หลาน) ซึ่งชื่อภาษาไทยออกพระนามว่า พระเจ้าจิงKuจา

พระเจ้าจิงkuจานี้ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามังระ ครับ ภายหลังพระราชบิดาสวรรคต ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมาครับ และ ได้บุตรสาวของ อะตองหวุ่น ขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเป็นพระชายา

วันหนึ่ง พระเจ้าจิงkuจา เสวยน้ำจัณฑ์ (ก็สุรานั่นหละครับ) มากเกินไป ประกอบกับโดนยุยง ทำให้ทรงถอดบุตรสาวของ อะตองหวุ่นเสีย ถอดไม่พอ ยังทรงรับสั่งให้ประหารชีวิตเสียอีกด้วย นำมาซึ่งความโกรธแค้น แก่ อะตองหวุ่น เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ในต้นรัชกาลของพระเจ้าจิงKuจา เมื่อขึ้นครองราชย์ ได้ทรงเรียกกองทัพพม่าทั้งหมดกลับไปยัง อังวะปุระ ซึ่งทัพพม่าขณะนั้น กำลังทำสงครามศึกเมืองพระพิษณุโลกอยู่ โดยการนำของ อะแซหวุ่นกี้ (ที่มีการนัดดูตัว เจ้าพระยาจักรี นั่นหละครับ) เพราะเชื่อกันว่า พระเจ้าจิงkuจาเอง ไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย กลัวขุนนางผู้ใหญ่จะก่อการครับ เมื่อเรียก อะแซหวุ่นกี้กลับมาแล้ว ก็ทรงปลดออกจากตำแหน่ง แล้ว ส่งไปอยู่หัวเมืองแทน นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งครับ

ภายหลัง พระเจ้าปดุง รวบรวมสมัครพรรคพวกได้มากขึ้น ซึ่งก็รวมทั้ง อะตองหวุ่น และ อะแซหวุ่นกี้ จึงยกพลเข้าชิงราชสมบัติจากพระเจ้าจิงKuจา ครับ ซึ่งก็การสำเร็จได้โดยง่ายครับ

จากนั้น พระเจ้าปดุง ก็ทรงรวบรวมหัวเมือง มอญ ,พม่า ,ไทใหญ่, ล้านนา, ฯลฯ เข้ามาอยู่ใต้ขอบขัณฑสีมาของ อังวะปุระ อีกรอบนะครับ


-------------------------------------------

ปล.. ท่านทิดครับ ยะไข่ จริง ๆ แล้วไม่ใช่รัฐมอญนะครับ รัฐมอญจะอยู่ด้านใต้ ตั้งแต่ หงสาวดี(พะโค) ลงมาจนถึง ทวาย มะริด นะครับ ยะไข่ จะเป็นชนอีกพวกหนึ่งครับ ปัจจุบัน นี้ ยะไข่ โดนวางยาโดยอังกฤษอพยพ แขกบังกลาเทศ เข้าไปอยู่ เลยมีชนเผ่า โรฮิงยา ที่เรารู้จักกันนั่นหละครับ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ทิดตู่ : 26-02-2009 เมื่อ 11:13
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เด็กเมื่อวานซืน ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #20  
เก่า 27-02-2009, 11:56
คนเก่า's Avatar
คนเก่า คนเก่า is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: ชมพูทวีป
ข้อความ: 189
ได้ให้อนุโมทนา: 21,727
ได้รับอนุโมทนา 55,275 ครั้ง ใน 1,402 โพสต์
คนเก่า is on a distinguished road
Default

หลังเสียกรุงครั้งที่สอง ปรากฏผู้มีความสามารถออกมารับราชการรับใช้แผ่นดิน
มีผลงานเป็นที่โดดเด่นจำนวนมาก ประหนึ่งน้ำป่าหลากทำลายภูมิประเทศเดิม
พ้นผ่านไปก็ผุดรัตนชาติออกเกลื่อนกลาด

หนึ่งในเอกบุรุษที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกชื่อไว้ คือเจ้าพระยาพระคลัง(หน)

ขณะบ้านเมืองมีศึกสงครามก็รับใช้แผ่นดินในด้านการทหาร ครั้นบ้านเมืองสงบ
ก็แสดงอัจฉริยภาพในด้านบุ๋น ไม่ว่าจะเป็นงานหนังสือ งานประพันธ์ทั้งร้อยแก้ว
และร้อยกรอง หากก้าวหน้าในราชการอย่างที่สุดในด้านงานคลัง ดูจากบรรดาศักดิ์
สุดท้าย คงต้องเป็นมือวางอันดับหนึ่งของแผ่นดินในด้านเศรษฐกิจเลยเชียว

ดูเหมือนจะเป็นหนังสือสามกรุงของ น.ม.ส. ที่เล่าถึงอัจริยภาพเกินมนุษย์ของ
ท่านเจ้าพระยาว่า ครั้งหนึ่งในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขณะที่เจ้าพระยาฯ
ยังดำรงตำแหน่งอาลักษณ์ รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท

มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาฯ (ขณะนั้นคงจะยังเป็นคุณหลวง หรือคุณพระ)
ร่างหนังสือราชการ เจ้าพระยาฯ บังเอิญลืมไปกระทั่ง ๒-๓ วันให้หลัง ล้นเกล้าฯ
ทวงถาม ด้วยความเกรงพระอาญาฯ เจ้าพระยาฯ จึงทำเป็นเปิดหนังสืออ่านถวาย

พอจบคำ ก็มีพระราชวินิจฉัยว่า ดี แต่ดูเหมือนมีที่ไม่ถูกพระทัยเล็กน้อย ตรัสแล้ว
ก็ดึงหนังสือจากมือเจ้าพระยาฯ ไปเพื่อจะทอดพระเนตร ทรงเห็นเป็นกระดาษเปล่า
ก็ยกทั้งสมุดฟาดศีรษะเจ้าพระยาฯ คืนมา พร้อมคาดโทษให้ไปร่างมาให้เหมือนปากพูด
มิฉะนั้นจะโดนลงอาญา เจ้าพระยาก็สามารถร่างหนังสือถวาย รอดพ้นโทษไปได้

นี่แหละครับคือหนึ่งในคนดีศรีอยุธยา กำลังสำคัญที่ช่วยกู้บ้านกู้เมืองคืนมา
ให้ไทยยังคงเป็นไทยกระทั่งทุกวันนี้

ในบั้นปลาย ท่านเป็นแม่งานก่อสร้างเขามอวัดราชคฤห์ แล้วเขียนกลอน
เป็นอนุสรณ์ไว้ ชอบใจที่สุดคือตอนท้ายที่ท่านอธิษฐานเอาอานิสงส์
คงจะโดนใจอีกหลายคน

.......

ขอตั้งปรารถนาศิวาลัย
แม้ยังไป่ล่วงลุแก่มรรคผล
จะเที่ยวท่องอยู่ในท้องชเลวน
จงอย่าพ้นสมบัติสองประการ

กำเนิดภพมนุษย์ให้ไพบูลย์
ในตระกูลกษัตริย์มหาศาล
เป็นชายชาตินักปราญช์อันปรีชาญ
อนึ่งให้พานพบพุทธพยากรณ์

แม้อุบัติในสวรรค์ชั้นใดใด
จงเป็นอธิปไตยอดิศร
ให้รู้รสธรรมาในอาวรณ์
เป็นที่อมรเทพอัญชลี

หนึ่งแม้นจะเวียนวนในชนชาติ
ให้นิราศอบายทุกข์ทั้งสี่
กว่าจะเสร็จศิวโมกข์โมลี
บุรีรัตน์มหานิพพานเอย ฯ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 25-05-2009 เมื่อ 14:28
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:14



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว