กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ในวาระสำคัญต่าง ๆ

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 23-09-2015, 18:35
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์วันเข้าพรรษา วันศุกร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘

เทศน์วันเข้าพรรษา ปี ๒๕๕๘

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง ติ

ณ บัดนี้อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในสุตกถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ของบรรดาธนิสราทานบดีทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันเข้าพรรษา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้

ญาติโยมทั้งหลาย เทศกาลเข้าพรรษานั้น แต่เดิมไม่ได้มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศพระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไปแล้ว ก็มีกุลบุตรผู้ประกอบไปด้วยศรัทธา พร้อมใจกันบวชเข้ามาเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที แต่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังไม่ได้บัญญัติการเข้าพรรษาให้มีขึ้นมา

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ในหน้าฝนพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็เที่ยวไปในคามนิคมต่าง ๆ เมื่อไปถึง ญาติโยมที่ประกอบไปด้วยจิตศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็ต้องมาต้อนรับขับสู้ ต้องมาถวายภัตตาหาร ถวายน้ำใช้น้ำฉันต่าง ๆ เป็นต้น ทำให้เสียเวลาในการทำมาหากินของเขา เนื่องจากหน้าฝนเป็นเวลาที่ชาวบ้านต้องพากันทำนา พากันปลูกข้าว เป็นต้น เมื่อต้องมาเสียเวลาอยู่กับบรรดาพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะทำมาหากินได้อย่างเต็มที่

เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงมีการกล่าวตำหนิกันในเชิงลบว่า ทำไมพระภิกษุสงฆ์ในบวรพุทธศาสนา ไม่รู้จักอยู่จำพรรษาเหมือนบรรดาปริพาชกบ้าง ? เมื่อความทราบถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้บัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงไตรมาสของฤดูฝน จนเกิดเทศกาลเข้าพรรษาขึ้นมา

อันว่าเทศกาลเข้าพรรษานั้น ประกอบไปด้วยคุณความดีอยู่หลายประการ ประการที่หนึ่ง ในสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ได้จาริกประกาศพระพุทธศาสนาไปทั่วทุกทิศ ไม่ได้อยู่เป็นที่เป็นทาง ถ้าพระท่านจาริกไปที่อื่น ไม่ได้อยู่ใกล้เขตที่อยู่ของตน แม้ว่าบุคคลที่มีศรัทธาเลื่อมใส อยากจะทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม ก็ไม่มีโอกาส

เมื่อเป็นเช่นนั้น พอทราบว่ามีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในสถานที่ใกล้เคียงของตน ก็เป็นโอกาสอันดีของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ที่จักได้กระทำในกองบุญการกุศลให้เต็มที่ มีการทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม เป็นต้น แล้วยังมีการหล่อเทียนพรรษา เพื่อมอบให้พระภิกษุสงฆ์ได้นำไปใช้ ตลอดช่วงไตรมาสในฤดูฝนนั้น ๆ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-09-2015 เมื่อ 19:47
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 24-09-2015, 15:39
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ความดีประการต่อไปก็คือ เมื่อพระภิกษุสามเณรท่านอยู่จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็มักจะเป็นสถานที่ซึ่งมีครูบาอาจารย์ของท่านอยู่ด้วย จึงได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป และสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติ จนกลายเป็นคุณสมบัติเฉพาะตน แล้วนำไปสั่งสอนประชาชนทั้งหลายให้รู้ทั่วถึงธรรมนั้นด้วย

ประการถัดไป ก็คือ ในช่วงเวลาของการเข้าพรรษานั้น พระภิกษุทั้งหลายถ้าจะศึกษาในเรื่องของปริยัติหรือปฏิบัติ ก็จะได้รู้ว่าครูบาอาจารย์ของตนนั้นจำพรรษาอยู่ที่ไหน สามารถไปเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ ร่วมจำพรรษาเพื่อต่อวิชาความรู้ได้โดยง่าย

ในการเข้าพรรษาเมื่อประกอบไปด้วยคุณความดีหลายประการเช่นนี้ พุทธศาสนิกชนจึงได้ยึดถือและปฏิบัติสืบ ๆ กันมา ตามพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือเมื่อถึงฤดูฝน พระภิกษุต้องอยู่จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่ง ขณะเดียวกันญาติโยมก็จะได้ประกอบกองบุญการกุศลในตลอดช่วงพรรษานั้นด้วย

อย่างวัดท่าขนุนของเรา ทุกวันพระในช่วงตลอดการเข้าพรรษา จะเป็นวันพระใหญ่ก็ดี วันพระเล็กก็ดี ทางวัดของเราจะมีการทำบุญใส่บาตร และฟังเทศน์ โดยเฉพาะมีการเทศน์ทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ การเทศน์ภาคเช้าเป็นการเทศน์ในช่วงที่ญาติโยมมาทำบุญวันพระตามปกติ ส่วนการเทศน์ในภาคค่ำนั้น เป็นการเทศน์หลังจากทำวัตรค่ำไปแล้ว ดังนั้น..ถ้าหากว่าญาติโยมทั้งหลายที่อยู่ใกล้วัดท่าขนุน ต้องการที่จะฟังเทศน์ฟังธรรมตลอดทั้งพรรษา ก็สามารถที่จะหาเวลา ปลีกตัวมาฟังเทศน์ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นต้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-09-2015 เมื่อ 17:38
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 24-09-2015, 15:39
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สั่งให้พระภิกษุสงฆ์ประพฤติปฏิบัติ เทศกาลเข้าพรรษาจึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ในการเข้าพรรษานั้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์มีเหตุจำเป็นอันใดอันหนึ่ง ต้องจากสถานที่นั้นไป องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงประทานอนุญาตให้ เรียกว่า สัตตาหกรณียะ คือ ถ้ามีเรื่องด่วน มีเหตุจำเป็น สามารถออกจากสถานที่จำพรรษาไปได้ แต่ต้องกลับมาก่อนครบ ๗ วัน

สาเหตุทั้งหลายเหล่านั้น ในพระวินัยระบุไว้ชัดว่า ๑. พ่อป่วย ๒. แม่ป่วย ๓. พระอุปัชฌายาจารย์ป่วย ทั้ง ๓ ข้อนี้ สามารถที่จะขอลาไปเพื่อรักษาพยาบาลได้ ๔. เพื่อนสหธรรมิกที่อยู่ต่างวัด ต่างสถานที่จะสึก ให้สามารถลาไปเพื่อเกลี้ยกล่อมห้ามปรามไม่ให้สึกได้ ๕. อาคารสถานที่ในวัดพัง สามารถที่จะลาไปเพื่อที่จะหาทัพสัมภาระ มาซ่อมสร้างวัดของตนเองได้

แต่ว่าในสมัยนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าป่าไปหาไม้หาหิน มาเพื่อทำการก่อสร้างเหมือนสมัยก่อน ถึงเวลาเราสามารถโทรศัพท์สั่งร้านวัสดุนำมาส่งให้ถึงวัดได้ พระบรมพุทธานุญาตข้อนี้ จึงไม่สามารถที่จะใช้อ้างได้อีก ข้อสุดท้ายก็คือว่า ถ้าได้รับกิจนิมนต์ สามารถไปเพื่อเจริญศรัทธาได้ อย่างเช่น อาตมาเองต้องไปสอนกรรมฐานและรับสังฆทานที่กรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ต้นเดือน เป็นต้น ก็สามารถใช้ข้ออ้างนี้ลาไปเพื่อเจริญศรัทธาได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-09-2015 เมื่อ 13:59
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 25-09-2015, 12:17
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ถ้ามีเหตุอื่น ๆ จะสามารถไปได้หรือไม่ ? ก็สามารถที่จะไปหรือไปไม่ได้ แล้วแต่ว่าเหตุนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น โดยที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ได้ประทานมหาปเทส คือข้ออ้างใหญ่ทั้ง ๔ ข้อเอาไว้ให้

ซึ่งพระองค์ท่านตรัสเอาไว้ว่า "สิ่งใดที่ไม่สมควร ถ้าพิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร" อย่างเช่นว่า พระภิกษุสงฆ์สามเณรไปเรียนหนังสือ ถ้าเดินทางเป็นระยะไกล ๆ อย่างเช่นทางวัดท่าขนุนนี้ ก็มีพระไปเรียนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ทั้งที่วัดใต้ จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และทั้งที่วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ถ้าเดินทางไปกลับ ก็จะเสียเวลามาก และขณะเดียวกันก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง แต่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับอนุญาตไว้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่การที่เราไปศึกษาในเรื่องของพระไตรปิฎกก็ดี ในวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่สมควรจะศึกษาเอาไว้ เพื่อจะได้สมกับที่บวชเข้ามาในบวรพุทธศาสนา เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่าสมควร เรื่องนั้นย่อมสมควร ก็คือสามารถที่จะใช้สัตตาหกรณียะ ลาไปเพื่อศึกษาเล่าเรียนได้

หรือถ้าพระภิกษุสามเณรนั้น ๆ เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยหนักขึ้นมา จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ต้องไปค้างคืนเพื่อให้รักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อไม่มีพระบรมพุทธานุญาตให้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่พิจารณาดูแล้วว่า เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สามารถที่จะสั่งได้ว่า ต้องป่วยในพรรษาหรือนอกพรรษา เมื่อพิจารณาเช่นนั้นก็จำเป็น สมควรที่จะต้องไปรักษาพยาบาล ดังนั้น..เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่าสมควร ก็สามารถที่จะใช้สัตตาหกรณียะ ลาไปเพื่อรักษาพยาบาลตนเองได้ ดังนี้เป็นต้น

องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ท่านเป็นอัจฉริยมนุษย์ มีความรอบคอบในทุกเรื่อง แม้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ พระองค์ท่านก็ยังมอบมหาปเทส คือข้ออ้างทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อใช้ในการตัดสินพระธรรมวินัยด้วย
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-09-2015 เมื่อ 19:52
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #5  
เก่า 26-09-2015, 11:35
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

สำหรับเทศกาลเข้าพรรษานั้น เมื่อมาถึงประเทศไทยของเรา ก็เป็นเทศกาลสำคัญอย่างหนึ่ง กลายเป็นประเพณีที่บรรดาพุทธศาสนิกชนต่าง ๆ จะได้ร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในวาระเข้าพรรษา ที่สำคัญ ๆ นอกเหนือจากการทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว ก็มีการหล่อเทียนพรรษา เพื่อนำไปถวายให้พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้ใช้ เพื่อการศึกษาร่ำเรียนพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน

ในสมัยนี้แม้ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าก็ตาม เราก็ยังนิยมถวายเทียนพรรษากันเป็นปกติ เพราะถือว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน้น และในปัจจุบันนี้ ประเพณีการถวายเทียนพรรษาหลายแห่ง ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ อย่างเช่น จังหวัดอุบลราชธานี มีประเพณีการแห่เทียนพรรษา มีการประกวดประขันกันในเรื่องของการหล่อเทียนพรรษาก็ดี แกะสลักเทียนพรรษาก็ดี ว่าใครจะมีฝีมือในการกระทำสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นพุทธบูชาได้ดีกว่ากัน เป็นการสร้างประเพณีที่ดีงามขึ้นมา และกลายเป็นแหล่งเงินแหล่งทองในจังหวัดของตน เป็นต้น

สำหรับอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การถวายผ้าอาบน้ำฝนไว้ในบวรพุทธศาสนา เนื่องจากว่าพระภิกษุของเรา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าแค่ ๓ ผืน ก็คือ สบง ผ้านุ่ง ๑ จีวร ผ้าห่ม ๑ และสังฆาฏิ ผ้าซ้อนห่มสำหรับหน้าหนาว ๑ ถ้าหากว่าไม่ใช่หน้าหนาว ไม่ได้ใช้ซ้อนห่ม ก็มักจะพาดบ่าเอาไว้ เพื่อให้ครบไตรจีวร การที่จะใช้ผ้าเกินไปกว่านี้ ก็ต้องให้มีพระบรมพุทธานุญาตเสียก่อน และองค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทานพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาใช้ผ้าอาบน้ำฝนได้ โดยเหตุปรารภของนางวิสาขามหาอุบาสิกา
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-09-2015 เมื่อ 14:51
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #6  
เก่า 26-09-2015, 11:36
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

เนื่องจากว่าในช่วงพรรษา นางวิสาขามหาอุบาสิกาผู้มีจิตศรัทธา ได้ให้คนใช้ไปนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั้งอาราม เพื่อไปฉันภัตตาหารที่บ้าน แต่สาวใช้ไปถึงในขณะที่ฝนกำลังตก พระภิกษุสงฆ์ในสมัยนั้นก็เปลือยกายอาบน้ำฝนกัน การเปลือยกายในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะบรรดานักบวชนิกายต่าง ๆ ที่ไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริง เห็นว่าแม้แต่เสื้อผ้าก็เป็นกิเลส จึงต้องสละผ้าทิ้งทั้งหมด กลายเป็นศาสนาเชนที่มีนักบวชแก้ผ้ากันเป็นปกติ

เมื่อสาวใช้ไปเห็นพระภิกษุกำลังเปลือยกายอาบน้ำกันอยู่ ก็กลับมาบอกกับนางวิสาขาว่า "พระแม่เจ้า ในพระอารามไม่มีพระภิกษุสงฆ์เลย มีแต่บรรดาชีเปลือยกำลังอาบน้ำฝนกันอยู่" นางวิสาขาพอได้ยินเช่นนั้นก็มีความเข้าใจว่า เมื่อฝนตกพระท่านก็ย่อมจะสรงน้ำกันเป็นปกติ จึงรอจนกระทั่งฝนหยุด แล้วค่อยให้สาวใช้ไปใหม่ บอกว่าตอนนี้ไปได้แล้ว พระคุณเจ้าได้กลับไปที่วัดแล้ว เมื่อสาวใช้ไปถึง ก็ได้พบกับพระภิกษุห่มครองจีวรเรียบร้อย จึงนิมนต์ให้ไปฉันที่บ้าน

นางวิสาขาเมื่อได้ทราบเหตุดังนั้นจึงปรารภว่า พระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาของเรา ไม่ควรที่จะกระทำการเหมือนดังนักบวชในศาสนาอื่น จึงได้ขออนุญาตต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำการถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้อาบน้ำฝนกัน จึงกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสืบ ๆ กันมาจนถึงในยุคปัจจุบันนี้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-09-2015 เมื่อ 14:53
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #7  
เก่า 27-09-2015, 18:03
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

แต่ถ้าญาติโยมทั้งหลาย ตั้งใจจะเสาะหาผ้าอาบน้ำฝนมาถวายพระ อาตมภาพขอแนะนำว่า อย่าไปซื้อผ้าอาบน้ำฝนกันเลย เพราะสมัยนี้ส่วนใหญ่แล้ว บรรดาพ่อค้าต่าง ๆ ตั้งใจที่จะทำเพื่อเอากำไรโดยเฉพาะ ถ้าโยมแกะผ้าออกมา แล้วเปรียบกับสบงที่พระท่านใช้นุ่งอยู่ บางทีมีไม่ถึงครึ่งผืน ไม่สามารถที่จะใช้นุ่งในการที่จะอาบน้ำได้ ดังนั้น..ขอให้ญาติโยมซื้อเป็นผ้าสบงไปเลย แล้วนำมาถวายเป็นผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็สามารถที่จะใช้งานได้สมดังความตั้งใจของท่านทั้งหลาย

ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีอื่น ๆ ที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษานั้น ก็มีท่านทั้งหลายส่วนหนึ่ง ตั้งใจที่จะลด ละ เลิกในสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ที่ตนเองได้กระทำเอาไว้ เช่น บางท่านก็อธิษฐาน คือมีความตั้งใจว่า จะเลิกบุหรี่ตลอดพรรษา บางท่านก็ตั้งใจว่าจะเลิกเหล้าตลอดเข้าพรรษา เป็นต้น จึงได้อาศัยเทศกาลสำคัญนี้ อาศัยคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเครื่องค้ำประกันตัวเราว่า ตลอดพรรษานี้ เราตั้งใจที่จะบำเพ็ญคุณความดี ซึ่งเป็นทั้งประโยชน์แก่ตนและครอบครัว ท่านทั้งหลายก็จะได้อาศัยโอกาส ๓ เดือนของการเข้าพรรษา กระทำคุณความดีให้สมกับที่ได้ตั้งใจเอาไว้

แต่อาตมภาพเห็นว่า ถ้าญาติโยมทั้งหลาย ลด ละ เลิก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้ตลอด ๓ เดือนแล้ว ถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะไปแตะไปต้องใหม่ ก็ควรที่จะ ลด ละ เลิก ให้ได้ตลอดชีวิตไปเลย ก็จะเป็นคุณแก่ตน และครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่ตั้งใจจะอาศัยเทศกาลเข้าพรรษาในการลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ นั้น ก็ถือว่าได้ปฏิบัติตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้กล่าวเอาไว้ถึงในเรื่องของปหานปธาน ก็คือการละความชั่วที่มีอยู่ในกายของตน และขณะเดียวกันก็ต้องมีอนุรักขนาปธาน ก็คือรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่คงกับเราไปในระยะเวลาอันยาวนาน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-09-2015 เมื่อ 18:06
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #8  
เก่า 27-09-2015, 18:03
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ส่วนท่านทั้งหลายอีกจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมในบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ที่มีศีล มีภาวนาเป็นปกติ ก็จะฉวยโอกาสนี้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติให้เข้มข้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าท่านทั้งหลายสามารถรักษาการปฏิบัติได้ต่อเนื่องตลอด ๓ เดือนในช่วงเข้าพรรษา อาตมภาพยืนยันว่า ศีล สมาธิ และปัญญา ของท่านทั้งหลาย จะต้องเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อสาวกขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มาบำเพ็ญกุศล ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ก็เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนาเอาไว้ ในขณะเดียวกันท่านใดตั้งใจที่จะ ลด ละ เลิกในสิ่งที่ไม่ดี และท่านใดตั้งใจจะเสริมสร้างความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็ขอให้ความปรารถนาของท่านทั้งหลายนั้นจงสำเร็จ สัมฤทธิ์ผลทุกประการ

ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะเป็นประธาน ขอได้โปรดดลบันดาลให้ญาติโยมทั้งหลาย ประสบความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้งสี่ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ตลอดจนกระทั่งธรรมสารสมบัติอันเป็นที่พึงใจทั้งปวง

รับหน้าที่วิสัชนามาในสุตกถาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลง คงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์วันเข้าพรรษา ณ วัดท่าขนุน
วันศุกร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยหยาดฝน)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-09-2015 เมื่อ 18:07
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:29



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว