|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#441
|
|||
|
|||
ภวังคจิต “... ภวังคจิต คำว่าจิตตกภวังค์ บางท่านอาจไม่เข้าใจ จึงขออธิบายไว้บ้างเล็กน้อย คำว่า ภวังค์ แปลอย่างป่า ๆ ตามนิสัยที่ถนัด จึงขอแปลว่า องค์แห่งภพ หรือเรือนพักเรือนนอนของอวิชชามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แสนกัปนับไม่ถ้วน คำว่า จิตตกภวังค์ คืออวิชชารวมตัวเข้าไปอยู่ในที่แห่งเดียว ไม่ทำงานและไม่ใช้สมุนให้ออกเที่ยวล่าเมืองขึ้นตามสายทางต่าง ๆ นั่นแล ทางออกทางเข้าของสมุนอวิชชาคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมืองขึ้นของอวิชชา คือรูปร้อยแปด เสียงร้อยแปด กลิ่นร้อยแปด รสร้อยแปด เครื่องสัมผัสร้อยแปด ซึ่งล้วนเป็นที่รักชอบของอวิชชาทั้งสิ้น สมุนของอวิชชา คือราคะตัณหาโดยอาศัยสัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ เป็นเครื่องมือช่วยจัดการงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความหวัง ขณะที่จิตตกภวังค์ด้วยกำลังของสมาธิ อวิชชาก็พักงานไปชั่วระยะหนึ่ง พอจิตถอนขึ้นมาก็เริ่มทำงานอีกตามหน้าที่ของตน แต่ไม่รุนแรงเหมือนที่ยังไม่ถูกหักแข้งหักขาจากสมาธิภาวนา ดังนั้น สมาธิภาวนาจึงเป็นเครื่องมือตัดกำลังของอวิชชาได้ดี เพื่อปัญญาจะได้ทำการกวาดล้างไปโดยลำดับ จนไม่มีอวิชชาเหลืออยู่ภายในใจ คำว่าภวังคจิตนี้ เริ่มทราบได้จากการภาวนาเมื่อจิตรวมสงบตัวลงไป พอถอนออกมาเรียกว่า จิตออกจากภวังค์ และเริ่มยุ่งไปกับเรื่องร้อยแปดที่อวิชชาเป็นผู้บงการ ไม่มีวันสำเร็จเสร็จสิ้นลงไป ฉะนั้น จึงไม่มีงานใดจะยืดยาวจนสืบสาวราวเรื่องหาเหตุผลต้นปลายไม่ได้เหมือนงานของอวิชชาที่แผ่กระจายไปทุกแห่งหนตำบลหมู่บ้านตลอดโลกสงสาร และกล้าได้กล้าเสียต่องานของตน... ภวังคจิตจะสูญสิ้นไปได้เมื่อไร ภวังคจิตไม่มีวันสูญสิ้นไปโดยลำพัง เพราะเป็นแหล่งสร้างภพสร้างชาติ สร้างกิเลสตัณหามานาน และทางเดินของอวิชชาคือ การสร้างภพชาติบนหัวใจสัตว์โลกอยู่ตลอดไป .. ถ้าต้องการหลุดพ้น ก็ต้องสร้างสติปัญญาขึ้นกับใจจนคล่องแคล่วแกล้วกล้า สามารถทำลายภวังคจิตอันเป็นตัวภพชาตินั้นเสีย ภวังคจิตก็สลายหายซากไปเอง ผู้จะทราบภวังคจิตได้ต้องเป็นผู้มีสมาธิอันมั่นคงและมีสติปัญญาอันแหลมหลัก เข้าเขตข่ายแห่งมหาสติมหาปัญญานั่นแล นอกนั้นไม่สามารถทราบได้ แม้เรียนจบพระไตรปิฏก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-06-2020 เมื่อ 02:18 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#442
|
|||
|
|||
พระอรหันต์ตื่นตลอดเวลาแล้วนอนหลับได้อย่างไร ? “... เวลานี้ศาสนานับวันมีสิ่งที่เป็นภัย สิ่งที่เป็นข้าศึกหนาแน่นขึ้นโดยลำดับ แม้ในวงชาวพุทธของเราเองโดยไม่มีเจตนาจะทำลายหรือจะขัดแย้งมันก็ยังมีได้ เพราะสิ่งที่ขัดแย้งที่ทำลายนั้นไม่ขึ้นกับเจตนา มันก็ขัดได้แย้งได้ ทำลายได้ นี่คือภาคแห่งความจำ ภาคแห่งความคาดคะเน จะไปตรงกับความจริงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นเขาออกเป็นหนังสือว่า “ถ้าผู้ใดหรือพระองค์ใดยังมีการนอนหลับอยู่แล้ว พระองค์นั้นไม่ใช่พระอรหันต์” นั่น ! พระอรหันต์แท้ไม่ได้หลับ เพียงพักผ่อนธาตุขันธ์เท่านั้น ส่วนจิตใจของท่านตื่นอยู่ตลอดเวลา คือหมายเอา ชาครธรรม ที่มีอยู่ประจำจิตที่บริสุทธิ์ของท่านนั้นน่ะ แต่เวลาเอานำออกมาพูดด้วยความจำ ด้วยความคาดคะเนจึงผิดกันไปคนละโลก หาเข้าใกล้ชิดกับความจริงนั้นแม้แต่น้อยไม่ เลยกลายเป็นคนละเรื่องขึ้นมา การหลับนอนเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ก็ทราบด้วยดีอยู่แล้ว แล้วผู้รู้อันบริสุทธิ์ซึ่งครองร่างอยู่นั้นคืออะไร คือชาคร หมายถึงธรรมชาติที่ตื่นอยู่ นอกจากวงสมมุติทั้งปวงมีขันธ์เป็นต้น อาการแห่งความทราบในวงขันธ์ จะเป็นอาการใดก็ตามเป็นเรื่องของขันธ์ เป็นเรื่องของสมมุติ อาการเหล่านี้ระงับตัวลงไปก็เรียกว่าขันธ์ระงับ ธรรมชาตินั้นเป็นชาคร อยู่นอกสมมุติคือขันธ์อันนี้ ไม่ได้อยู่ในวงสมมุติคือขันธ์อันนี้ แม้จะอยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์ก็ตาม ชาครนั้นคือ ชาคร เมื่อหลับก็เป็นเรื่องของขันธ์นี้ระงับตัวลงไป ไม่ใช้อาการทุกส่วนของขันธ์ของสมมุติที่มีอยู่ในขันธ์นี้ ส่วน ชาคร นั้นขันธ์จะตื่นไม่ตื่นจากหลับก็ตาม ชาคร ก็คือ ชาคร อยู่นั้นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหลับและตื่น นั่น นี้เอามาคาดซิ เลยกลายเป็นเรื่อง.. พระอรหันต์นอนหลับอยู่แล้วไม่ใช่พระอรหันต์ นี่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความคาดความหมาย ความจดความจำ กับความจริงมันต่างกันอย่างไร ต่างกันอยู่มากทีเดียวหรือต่างกันเอามาก อาการทั้งหมดที่แสดงในขันธ์ล้วนเป็นสมมุติด้วยกันทั้งนั้น เพราะขันธ์เป็นรากฐานของสมมุติอยู่แล้ว ขันธ์กระดิกอะไรออกมาก็เป็นสมมุติทั้งหมด พอขันธ์ระงับตัวลงไป สมมุติในวงขันธ์นี้ก็ระงับตัวไปด้วย แล้วชาครนั้นจะมามีส่วนได้ส่วนเสียกับขันธ์นี้อย่างไร เพราะไม่ใช่ฐานะที่จะมาเกี่ยวข้องกันได้ หรือมาสัมผัสสัมพันธ์กันเหมือนโลกทั่ว ๆ ไปได้ ต่างอันต่างเป็นหลักธรรมชาติของตัวอยู่เช่นนั้น ความรู้ที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้น เราจะนำมาพูดเกี่ยวกับเรื่องความรู้ เช่นเดียวกับความรู้ในขันธ์นี้พูดไม่ได้ อันนี้มันหยาบ ๆ นี่ รู้เด่นอยู่ในขันธ์อันนี้ก็เป็นเรื่องสมมุติอันหนึ่ง นั่น ไม่ต้องพูดถึงว่ารู้ด้วยการคิดการปรุง รู้ด้วยการรับทราบสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์กับขันธ์ทุกอายตนะ แม้แต่ความรู้อยู่ธรรมดาโดยลำพังตนเอง ที่เด่น ๆ นี้ก็เป็นเรื่องสมมุติอันหนึ่ง นั่น ที่นอกจากนี้ไปคืออะไร นั่นพูดไม่ได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่รู้ แต่ไม่รู้แบบที่รู้อยู่ในวงขันธ์.. อันนี้เป็นเรื่องอาการของสมมุติทั้งมวล จะเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ที่ไหนได้เพราะเป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด จะเอาไปใช้ในวิมุติได้เหรอ.. ใช้ไม่ได้ ธรรมชาติที่เป็นวิมุติ ที่เป็นความรู้ของวิมุติอย่างแท้จริงแล้วพูดไม่ได้นี่ เพราะไม่ใช่สิ่งนี้ทั้งนั้น นั่น ถ้าไม่รู้สิ่งนั้นเราก็เหมือนว่าสิ่งนั้นไม่มี จะมีแต่ความรู้ที่เด่น ๆ อยู่ในขันธ์เห็น ๆ ชัด ๆ กันอยู่นี้เท่านั้นว่าเป็นความรู้ที่วิเศษวิโสอะไรไป มันวิเศษอะไรความรู้เหล่านี้ สิ่งที่ว่าวิเศษนั้นไม่ได้พูดว่าวิเศษ ไม่ได้พูดว่าเลว ไม่ได้พูดว่าอะไร บรรดาที่เป็นสมมุตินั้นต่างหาก แม้อยู่ในขันธ์ก็ไม่ใช่ขันธ์ ลองปฏิบัติดูซิ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-06-2020 เมื่อ 14:04 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#443
|
|||
|
|||
พระอรหันต์ถ้าไม่บวชจะตายใน ๗ วัน จริงหรือ ? “... อันหนึ่งในหนังสือก็มี ดูเหมือนจะหลายเล่มอยู่นะ ที่ว่า “ผู้ที่สำเร็จพระอรหันต์แล้วต้องบวชภายใน ๗ วัน ถ้าไม่ได้บวชภายใน ๗ วันแล้วต้องตาย” ว่างั้น นี่อันหนึ่ง ในหลักธรรมชาติแล้ว ผู้นั้นจะรู้ตัวเองในหลักธรรมชาติ อะไรจะต้องมีขีดมีคั่น มีบังคับบัญชากัน กดกันถึงขนาดว่า ถ้าไม่ได้บวชแล้วเลย ๗ วันไปแล้วตาย คือจะอยู่ได้ภายใน ๗ วัน ผู้สิ้นกิเลสแล้วถ้าไม่บวชเลย ๗ วันไป.. ตาย นี่นะในหนังสือนี่ ผมก็เห็น ไม่ใช่คุยเฉย ๆ เราเห็นจริง ๆ นี่นะ นี่ก็ดี แต่ผมไม่ได้ใช้ความพิจารณาอะไรมากนักแต่ก่อน ก็เหมือนที่ว่าพระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน นี่อันหนึ่ง ที่ว่าผู้สำเร็จอรหันตภูมิแล้วต้องบวชภายใน ๗ วัน ถ้าไม่บวช.. ตาย นี่ก็เห็น ทีนี้ก็มาทำให้อดคิดไม่ได้นะ ทุกวันนี้ให้คิดเหมือนกัน อันหนึ่งที่ว่า ถ้าสำเร็จธรรมชั้นสูงสุดคืออรหันตภูมิแล้ว ถ้าไม่ได้บวชจะตายภายใน ๗ วันนี้ก็เหมือนัน ทำให้คิดเหมือนกันนะ วิสุทธิธรรมหรือวิสุทธิจิตนี้เป็นเพชฌฆาตฆ่าขันธ์ ๕ เชียวเหรอ นั่น อันนี้ไม่ใช่เป็นเพชฌฆาตนี่นะ สิ่งใดที่ควรไม่ควร พระอรหันต์ท่านจะรู้ของท่านเอง ถึงขั้นนี้แล้วจะไม่มีใครมาบอกก็ตาม.. ท่านจะรู้วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องขันธ์ของท่าน เหตุใดจะต้องไปตายภายใน ๗ วันวะ นี่อันหนึ่ง จะว่าบ้าก็บ้าแล้วผม เอ้า มันเกินเหตุเกินผลก็ต้องอย่างนั้นซิ วิธีการจดจารึกนี่สำคัญอยู่นะ เอาแต่ความจำล้วน ๆ อะไรมาก็อาจจะจำสุ่มสี่สุ่มห้า จดมาเรื่อย ๆ อย่างนั้นก็ได้ เราก็ไม่ได้ประมาท เราอาจเป็นทางสันนิษฐาน อะไร ๆ ก็จดมาเรื่อย จารึกมาเรื่อยด้วยความจำ ๆ ไม่มีความจริงเข้าไปแทรกกันบ้างแล้วก็ลำบากเหมือนกันนะ มีความจริงคือตัวไปจดจารึกนั้นน่ะ ถ้ามีความจริงภายในจิตใจ มีภูมิจิตภูมิธรรมแล้ว จะได้ธรรมะละเอียดมามากมาย จะไม่มีแต่ความจำล้วน ๆ มา..” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-06-2020 เมื่อ 01:36 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#444
|
|||
|
|||
ศาสนาเชน “... เรื่องศาสนาเชน เราพิจารณาแล้วเราไม่สงสัย ศาสนาเชนก็เรียกว่าศาสนาพุทธ เราอ่านหมดแล้วเรื่องศาสนาเชน อ่านเต็มกำลังเลย ศาสนานี้ท่านแสดงถึงธรรมฝ่ายสูง ธรรมขั้นสูง ศาสนาเชนให้ใช้ปัญญา ๆ ผู้ที่เป็นเชน ผู้ที่บรรลุธรรมผ่านเข้าไปจนถึงกับได้ตั้งศาสนาเชนขึ้นมา นั่นผ่านไปแล้ว ก็คือจากพุทธศาสนานั่นเอง พวกนี้ก็มาตั้งอันหนึ่งขึ้นมาเป็นเนื้อหนังของตัวเอง ว่าเป็นศาสนาเชน ความจริงศาสนาเชน คือภาคปฏิบัติ เอาอย่างนี้เลยให้มันเห็นชัด ๆ เทียบกันได้ทันที ภาคปฏิบัติขั้นปัญญา ก้าวเข้าถึงขั้นปัญญาอัตโนมัติ อะไร ๆ จะเป็นปัญญาทั้งหมด มองเห็นอะไร ได้ยินอะไรก็ตาม ไม่เห็นก็ตาม สติปัญญานี้จะก้าวเดินไปตลอดเวลาเป็นอัตโนมัติ จากนั้นก็บรรลุธรรม พอบรรลุธรรมแล้ว.. เขาเลยเอาสติปัญญาขั้นนี้เป็นศาสนาของเขาไปเสีย เขาหาได้รู้ไม่ว่า ศาสนธรรมขั้นละเอียดนี้มาจากพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าแสดงศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม.. ขึ้นศีล สมาธิ ออกจากสมาธิก็ปัญญา ปัญญานี้.. ปัญญาขั้นละเอียดเข้าถึงที่ว่าสติปัญญาอัตโนมัติ แล้วบรรลุธรรมไปเลย เขาเลยเอาจุดนี้มาเป็นศาสนาของเขา เป็นศาสนาเชน ความจริงเป็นกิ่งก้านของพุทธศาสนาตอนปลาย ตอนยอดที่จะถึงที่สุด เข้าใจไหม นี่เราพิจารณาแล้ว อ๋อ.. เขาเอาอันนี้เองไปเป็นศาสนาเชน ก็มันยันกันอยู่นี้ในหัวใจนี่ เราจะสงสัยไปไหน เราผ่านมาหมดแล้ว อันนั้นผ่านไปก่อนก็ตาม เราผ่านทีหลังมันก็เหมือนกันแล้ว แล้วไปเถียงกันทะเลาะกันหาอะไร เข้าใจไหมล่ะ อ๋อ.. อันนี้เอง ที่ว่าเป็นศาสนาเชน คือธรรมะส่วนละเอียดของพระพุทธเจ้าที่จวนจะบรรลุธรรม จนกระทั่งถึงขั้นบรรลุธรรม คือจุดนี้ แล้วเขาเอาจุดนี้เป็นจุดสุดยอดของเขาไปเลย เขาไม่สนใจ เขาไม่ทราบว่าจุดนี้มาจากอะไร มาจากปัญญา มาจากสมาธิ มาจากศีล เข้าไปเรื่อย ๆ เข้าใจเหรอล่ะ นี่เราพิจารณาหายสงสัย อ๋อ.. ศาสนาเชนไปตรงนี้เอง ก็มีสองเท่านั้นที่เชื่อได้อยู่เวลานี้ ตายใจได้เลย แต่ศาสนาเชนใช้ปัญญา ทีนี้ผู้ถือศาสนาเชนตั้งแต่ ก.ไก่ ก.กา ไป ก็ได้โดดใส่ด็อกเตอร์ ด็อกเตอร์คือขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ ท่านไปถึงขั้นด็อกเตอร์แล้วบรรลุธรรม ทีนี้พวกนั้นมาไม่ต้องเรียน ก.ไก่ ก.กา ล่ะ ฟาดใส่ด็อกเตอร์เลย มันก็เลยเป็นด็อกหมาไปละซิ ผู้นั้นท่านเดินตามนั้น ไอ้เราไม่รู้เรื่องจะเอาอันนั้นไปปฏิบัติ ทีนี้ใครมาถือศาสนานี้.. ต้องใช้ปัญญาทั้งนั้น ๆ ใช้ถึงวันตายมันก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ขั้นของปัญญาขั้นนั้น ก.ไก่ ก.กา ยังไม่ได้ ไปฟาดเอาด็อกเตอร์ ใครเชื่อถือได้ยังไง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-06-2020 เมื่อ 17:00 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#445
|
|||
|
|||
“อาจารย์ของเราก็มีสอง เราชี้นิ้วได้เลย อาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาก็... หลวงปู่มั่น อาจารย์ทางฝ่ายปริยัติก็... สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สององค์นี้แหละ อยู่บนหัวใจเรา”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-06-2020 เมื่อ 17:00 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#446
|
|||
|
|||
๗. บ่มเพาะแม่ทัพธรรม ภายหลังการพิจารณาธรรมขั้นละเอียดสุดจบสิ้นลงบนหลังเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร กิจควรทำในพระพุทธศาสนาขององค์หลวงตาเป็นอันสิ้นสุด การบำเพ็ญบารมีเพื่อประโยชน์ตนสมบูรณ์แล้วโดยประการทั้งปวง ข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทา และความเด็ดเดี่ยวจริงจังของท่าน ดึงดูดพระเณร และนักปฏิบัติให้เข้ามาศึกษาอบรมด้วย ทำให้มีแม่ทัพธรรมที่ได้รับการอบรมจากท่านเกิดขึ้นในวงกรรมฐานจำนวนมาก แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-06-2020 เมื่อ 03:01 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#447
|
|||
|
|||
เปิดวิมุตติธรรม หลังจากผ่านเหตุการณ์ในยามดึกของคืนฟ้าดินถล่มบนเขาวัดดอยธรรมเจดีย์แล้ว รุ่งเช้าวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๘๓) องค์หลวงตาก็ลงจากวัดดอยธรรมเจดีย์มาถึงวัดป่าสุทธาวาส เพื่อเข้ากราบบูชาสังเวชนียสถาน ระลึกบุญคุณพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่นผู้มีพระคุณสูงสุดของท่าน พอดีในวันนั้นมีกล้องถ่ายภาพ ท่านพระอาจารย์มหาทองสุกจึงมีเมตตากุลีกุจอจัดการให้ท่านถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ดังนี้ “... ท่านอาจารย์มหาทองสุกท่านเอาพัดมาใส่ให้เลย ท่านถามว่า ‘เป็นยังไง เรียนหนังสือมาแทบล้มแทบตาย ได้เคยเห็นพัดมหาไหมล่ะ’ คือเราไม่เคยสนใจกับสิ่งเหล่านี้ จึงเรียนท่านว่า ‘อู๊ย ! กระผมไม่เคยสนใจกับมัน’ พอว่างั้น ท่านก็ปุ๊บปั๊บวิ่งเข้าไปเอาพัดในห้องท่านมาตั้งกึ๊ก ‘มหาบัว มาถ่ายรูป มหาทั้งคนไม่มีพัดยศติดบ้างมันมีอย่างหรือ เรียนมาแทบเป็นแทบตาย ต้องเป็นเครื่องหมายของทางโลกทางธรรมบ้าง’ ท่านว่าของท่านเอง แล้วกุลีกุจอจัดการของท่านเอง ช่างเขามาที่นั่น ถ่ายรูปเดี๋ยวนั้นเลย ‘เอ้า ! นั่งตรงนี้ นั่งให้เราถ่ายรูป ตั้งพัดยศไว้ข้างหลัง’ เราก็เฉย..ทำตามท่าน นี่เป็นพัดยศท่านอาจารย์ทองสุก เอามาให้เราถ่ายรูป...” ที่วัดป่าสุทธาวาสแห่งนี้ ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับท่าน คือเป็นสถานที่เปิดเผยความรู้ธรรม เห็นธรรมภายในใจแก่พระผู้ร่วมบำเพ็ญสมณธรรมมาด้วยกันตั้งแต่ครั้งอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ดังนี้ “ท่านเพ็งนี้เอง คือผู้ที่เราบอกเป็นคนแรก เมื่อเราพ้นจากสมมุติทั้งปวงแล้ว” ที่ท่านให้ความเมตตาต่อพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เช่นนี้ก็เนื่องจากติดสอยห้อยตามมานาน และในระยะที่หลวงปู่มั่นยังมีชีวิตอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็งยังเป็นสามเณรอยู่ มีความขยันขันแข็ง อดทนและใส่ใจในการงานดี ท่านจึงคิดสงสารว่า “หากมีโอกาสได้ฟังธรรมอัศจรรย์ครั้งนี้ จะเป็นกำลังใจให้ขันแข็งในการบำเพ็ญเพียรยิ่งขึ้น และจะเป็นที่แน่ใจตายใจว่า มรรคผลนิพพานนั้นมีจริง” ด้วยเมตตาเช่นนี้ ท่านจึงเรียกมาแล้วค่อยเปิดเรื่องว่า “นี่ ! จะเล่าอันหนึ่งให้ฟังนะ ท่านเคยติดสอยห้อยตามผมมาเป็นเวลานานแล้ว แล้วคำที่ผมจะพูดเวลานี้ ท่านเคยได้ยินได้ฟังไหม ?” จากนั้นท่านก็เล่าเรื่องบนวัดดอยธรรมเจดีย์ในคืน ๑๕ ค่ำให้ฟังจนจบ แล้วจึงพูดขึ้นว่า “พอฟังแล้วเป็นยังไงคำนี้ ท่านเคยอยู่กับผมมาเป็นเวลานาน เคยได้ยินไหม ? ผมเคยพูดให้ฟังไหม ?” พระอาจารย์บุญเพ็งตอบด้วยความตื่นเต้นปิติในใจเป็นล้นพ้นว่า “โห กระผมไม่เคยฟังอย่างนี้มาก่อนเลย” จากนั้นท่านเมตตาสอนพระอาจารย์บุญเพ็งต่อไปว่า “นั่นละ ให้ตั้งใจหนา อย่างนี้ละ ธรรมพระพุทธเจ้าเป็น อกาลิโก มีเป็นพื้นฐานประจำตลอดเวลา เป็นปัจจุบัน เอาให้จริงนะ นี่ได้เห็นเสียแล้ว.. หายสงสัยทุกอย่าง หายสงสัยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หายหมดเลย เป็นอันเดียวกันหมด แล้วเราว่าอย่างนี้ เราไม่สงสัยพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน ๆ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ตรงไหน จิตกับธรรมนี้เป็นอันเดียวกันแล้ว กับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอันเดียวกันแล้ว ไม่แยก ไม่มีแยก เป็นอันเดียวกัน" ต่อมาภายหลัง พระอาจารย์บุญเพ็งผู้ฟังธรรมครั้งสำคัญ เปิดเผยถึงความรู้สึกในอดีต ขณะที่ฟังนั้นว่า “ตั้งใจรับฟังด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าในระยะนั้นจะยังไม่เข้าใจในอรรถธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดลออได้ตลอดก็ตามที แต่ก็ได้เก็บคำสอนที่ออกมาจากเมตตาธรรมของท่านไว้เป็นข้อระลึก และเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างมิรู้ลืมตลอดมา” หลังจากพักวัดป่าสุทธาวาสกับพระอาจารย์มหาทองสุกได้ ๒ คืน ท่านกับพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ก็ออกเดินทางไปถ้ำ อำเภอวาริชภูมิ บ้านนาเชือก ทุ่งเชือก ตั้งใจว่าจะเข้าอยู่จำพรรษาในถ้ำแห่งนี้ต่อไป แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-06-2020 เมื่อ 03:03 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#448
|
|||
|
|||
ย้อนกลับวัดป่าบ้านหนองผือ เมื่อองค์หลวงตาและท่านพระอาจารย์บุญเพ็งเดินทางมาถึงถ้ำอำเภอวาริชภูมิ บ้านนาเชือก ทุ่งเชือก เพื่อเตรียมตัวเข้าจำพรรษาเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อได้พบโยมคนหนึ่งถึงกับทำให้ท่านต้องเปลี่ยนใจ ดังนี้ “... เผอิญผู้เฒ่าทิดผาน คนบ้านหนองกุง แกเคยไปหาเราที่วัดบ้านหนองผือบ่อย ๆ ทราบว่าเรามา แกจึงขึ้นไปหาเราที่ภูเขาอำเภอวาริชภูมิ ก็ไปเล่าสภาพของวัดป่าหนองผือให้ฟังว่า ‘โอ๋ย ! น่าสลดสังเวช ดูสภาพหนองผือเหมือนบ้านร้าง วัดร้าง แต่ก่อนพระเณรเหลืองอร่าม ๆ เต็มวัดตลอด มีหลวงปู่มั่นเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ประชาชนญาติโยมยิ้มแย้มแจ่มใส ทำบุญใส่บาตรเหมือนแดนสวรรค์อยู่ในบ้านหนองผือ พอท่านหลวงปู่มั่นล่วงไปแล้ว เวลานี้เหมือนวัดร้าง ซบเซาหมดเลย ยังเหลืออยู่แต่พระหลวงตา ๒-๓ องค์’ ฟังแล้วเราสะดุดใจอย่างแรง.. ไม่ถามไม่ตอบเลยพอแกพูดอย่างนั้น แกก็เล่าธรรมดา แกไม่รู้ว่าเราเอาจริงเอาจัง ไปสะดุดเราอย่างไรบ้าง พอแกไปแล้ว ก็พิจารณาเต็มเม็ดเต็มหน่วยถึงบุญถึงคุณของบ้านหนองผือ เวลานี้จะกลายเป็นวัดร้าง ยังไงกันนี่ พอตอนเช้า ฉันเสร็จแล้ว ตัดสินใจบอกท่านเพ็งว่า ‘ไป กลับหนองผือ’ ‘เอ้า กลับไปยังไงอีก’ ท่านเพ็งนิสัยอย่างนั้น ‘ท่าน.. ไม่ได้ยินหรือ ? เมื่อวานนี้เฒ่าทิดผานมาเล่าให้ฟังนั่นน่ะ’ เราเล่าให้ฟังเหตุผล ท่านก็เข้าใจทันทีเพราะนั่งอยู่ด้วยกันในถ้ำ นี่ละเหตุที่ตัดสินใจกลับไป จวนเข้าพรรษา พอไปถึงหนองผือตรงกับเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ก็ประชุมเข้าพรรษา พอเห็นเราเข้าไปเรื่องก็กระจายออกไปข้างนอก พระเณรจึงพากันหลั่งไหลเข้าไป ปีนั้นจำพรรษาร่วม ๓๐ รูป ไล่เลี่ยกับปีพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นอยู่ ๓๕-๓๖ รูป พระเณรแน่นหนามั่นคง ดูเหมือน ๒๘ หรือ ๒๙ องค์นั่นละ ถึงกลับมาเพื่อสนองคุณชาวบ้านหนองผือ ...” ผู้เฒ่าทิดผานเป็นลูกศิษย์วัดป่าบ้านหนองผือ ได้เล่าความเปลี่ยนแปลงไปของวัด ถึงกับทำให้ท่านเกิดความรู้สึกสลดหดหู่ใจอย่างมาก จึงคิดตัดสินใจกลับคืนในทันทีด้วยเหตุผลต่อไปนี้ “วัดหนองผือเป็นวัดที่ท่านอาจารย์มั่นจำพรรษาในวาระสุดท้ายของชีวิต และบ้านหนองผือเองก็เป็นบ้านที่มีบุญมีคุณต่อพระกรรมฐานมากมาย พระเณรมาเท่าไร ๆ สามารถเลี้ยงพระได้ทั่วถึงหมด ทั้ง ๆ ที่มีบ้านเพียง ๗๐ หลังคาเรือนเท่านั้น บัดนี้จะกลายเป็นวัดร้าง เหมือนไม่มีใครเหลียวแล คล้ายกับว่าบ้านนี้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว มันสมควรแล้วเหรอ ? ดูมันเกินเหตุเกินผลไป” องค์ท่านจึงตัดสินใจย้อนกลับมาจำพรรษาที่นี่อีก.. ทั้งที่เหลือเพียง ๗ วันจะเข้าพรรษาแล้ว บรรดาหมู่เพื่อนพระเณรที่หวังพึ่งพาอาศัย หวังได้รับคำแนะนำอรรถธรรม ข้อวัตรปฏิบัติจากท่าน ก็เลยต่างย้อนกลับมาจำพรรษาที่นี่ด้วยกันจำนวนมาก เลยกลายเป็นว่าในพรรษานั้นมีพระเณรอยู่ด้วยกันถึง ๒๘ องค์ เป็นที่อบอุ่นเย็นใจแก่ชาวบ้านหนองผือเช่นเดิม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-06-2020 เมื่อ 14:07 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#449
|
|||
|
|||
พ่อตาย พ่อยัง ย้อนมากล่าวถึงคุณยายผู้มีญาณหยั่งรู้ ที่มักมาสนทนาธรรมกับหลวงปู่มั่นบ่อย ๆ ที่บ้านหนองผือแห่งนี้ แกยังคงมีชีวิตอยู่แต่ก็ชราภาพมากแล้ว เวลามาวัด แกจะค้ำด้วยไม้เท้า มาครั้งหนึ่ง ๆ ต้องพักถึง ๕ หน ทั้ง ๆ ที่บ้านของคุณยายก็อยู่ไม่ไกลจากวัดนัก คือราว ๑๐ เส้นกว่า คุณยายแกสงสารหลานชาย (ชื่อพุด) ซึ่งเคยอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมาก่อน เกรงว่าจะไม่ทราบถึงคุณธรรมของท่าน (หมายถึงองค์หลวงตา) และอาจปรนนิบัติรับใช้ท่านไม่ดีเท่าที่ควร แกเลยแอบกระซิบหลานชายว่า “ไอ้พุด ! นี่น่ะ กูจะบอกให้มึงรู้ มึงอย่าพูดให้ใครฟังนะ มึงต้องรู้นะ มึงรู้แล้วยังว่าวัดหนองผือนี้ พ่อตายแล้วพ่อยัง ? มึงรู้ไหม.. พ่อตายแล้วพ่อยัง ?” จากนั้นแกก็ชี้ไปที่องค์หลวงตา แกเรียกท่านว่า “ท่านมหา” แกกระซิบหลานต่อว่า “ท่านมหาบัว มาจำพรรษาที่นี่แล้ว องค์นี้กับญาท่านมั่นเป็นอันเดียวกันนะ ให้มึงรู้เสีย ตั้งแต่นี้ต่อไปให้มึงรู้ ท่านมหาบัวครองวัดแทน ครองธรรมแทนแล้ว ครองทุกอย่างสมบูรณ์เต็มที่แล้วนะ ให้มึงเคารพเหมือนกันกับหลวงปู่มั่นนะ มึงอย่าปล่อยอย่าวางนะ ให้มึงคอยแอบปฏิบัติ อุปถัมภ์อุปัฏฐากท่านให้ดีเหมือนหลวงปู่มั่นนะ คุณธรรมอันเดียวกันเลย ไม่มีใครรู้ละ กูกระซิบให้มึง มึงอย่าไปบอกใครนะ” พระเณรที่วัดป่าบ้านหนองผือระยะนั้นต่างเห็นว่า คุณยายแกออกมาหาหลวงปู่มั่นอย่างไร แกก็ออกมาหาท่านแบบเดียวกัน เหมือนกับสมัยที่หลวงปู่มั่นยังคงมีชีวิตอยู่ไม่ผิดกัน ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า “... หลวงปู่มั่นเสียไปแล้ว เราไปจำพรรษาที่นั่น แกก็ออกมาจากบ้านมาหาเราตอนเช้า จึงถามแกว่า 'มานี่ พักกี่หน ?’ แกตอบว่า ‘๕ หน’ ‘แล้วมาทำไม ?’ ‘ก็มันอยากมานี่’ แกพูดอย่างนั้นแหละ นิสัยแกพูดอย่างตรงไปตรงมา ‘มาอะไร ?’ เราว่า ‘ก็มันอยากมานี่ ก็มาแหละ’ แกมาเรื่อย มาหาเรา... แกก็เข้ามาหาเราพร้อมกับหลาน แต่ไม่คุยอะไรกับเรามาก.. เหมือนกับที่เคยคุยกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น... พอฉันเสร็จแล้วแกก็มา ขึ้นมาคุยธรรมะลั่นเลย สนุกนะ.. แกพูดธรรมะ พูดด้วยความรู้ คนไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน หนังสือตัวเดียวก็ไม่ได้นี่ แกพูดนี้ร่าเริงมาก พระเณรนี้รุมเลย เวลาแกพูดมันน่าฟังทั้งนั้นนี่ พูดด้วยความรู้ออกในแง่ต่าง ๆ รู้พวกอินทร์ พวกพรหม พวกเทวบุตร เทวดา...” ด้วยนิสัยของหลานชายที่ปิดความลับไว้ไม่อยู่ คำกระซิบของคุณยายจึงเป็นที่รู้กันแม้กระทั่งตัวท่านเอง ดังนี้ “ไอ้หลานก็มากระซิบเราอีก เราถึงขบขันจะตาย แกกระซิบหลาน.. มึงอย่าบอกใครนะ ไม่บอกใครแต่ไปบอกหลวงตาบัวเสียเอง” (หัวเราะ) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-06-2020 เมื่อ 02:56 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#450
|
|||
|
|||
ตาย ๙๙ % ในพรรษานี้ วันหนึ่งมีโยมมาจากในเมืองได้นำยาถ่ายท้องมาถวายให้พระเณรในวัดฉัน จะด้วยเหตุผลใดนั้นท่านลืมเลือนไปเสีย พระเณรองค์อื่น ๆ เมื่อได้ฉันยานี้ แล้วต่างก็ถ่ายท้องกันแบบปกติตามฤทธิ์ยาถ่ายทั่วไปที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ จึงไม่มีอะไรผิดแปลก แต่สำหรับท่านเอง หลังจากฉันไปได้ไม่นาน ผลปรากฏว่า ท่านต้องถ่ายท้องอย่างหนักถึง ๒๕ ครั้ง อาเจียน ๒ ครั้ง ความรุนแรงถึงขนาดที่ว่า เศษอาหารนี้พุ่งออกมาติดข้างฝาเลยทีเดียว จนร่างกายอ่อนลง ๆ อย่างรวดเร็ว แม้ว่าท่านจะฉันยาแก้กันแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแก้ฤทธิ์ยาขนานนี้ได้ ดังนี้ “... มีคนนำยามาขาย ยาขวดแบบนั้น เราก็ไม่เคยเห็นมาก่อน คนขายเขาว่า เขาอยู่กรมการแพทย์ โรงพยาบาลนครพนม บอกจนกระทั่งห้อง ๗ นี่ละ เวลาเป็นเหตุแล้วมันไม่ลืมนะ วันที่เขามา เราก็ปัดกวาดไปถึงศาลา พอดีเขาก็มาถึงนั้น เราปัดกวาดพอดีเสร็จเรียบร้อย แล้วก็เอาไม้กวาดไปวางไว้แล้ว ก็เลยขึ้นไปศาลา พอขึ้นไปเห็นเขาเปิดหีบออกมา กระเป๋าของเขานั่นละ มียาหลายประเภท แต่ยาขวดนั้นมองไปปั๊บ มันสะเทือนใจทันทีทันใด ‘โอ๊ย ! ยาขวดนี้ฉันไม่ได้นะ ใครฉันตายนะ’ เราว่างี้นะ รู้สึกเสียมารยาท เขาหน้าซีดแห้งไปหมดละ ที่เราไปว่าเขาอย่างนั้น จากนั้นแล้วเราค่อยพลิกใหม่ ‘ยาขวดนี้ เป็นยาแก้อะไร’ เราถาม ‘ยาถ่าย ไม่เป็นอะไรละครับ พวกผมมียาห้าม’ พวกขายยามันกล่อมคนเก่ง เราจึงฉัน ก็ฉันธรรมดา พระองค์ละช้อน ๆ ๆ พระท่านถ่ายธรรมดา พอถึงสองทุ่ม เขาเอายาห้ามมาห้าม พระท่านก็หาย ไอ้เราก็ฉันเท่ากันกับเขา เวลายาห้ามมามันไม่ยอมหายซิ ถ่ายเสียจนตั้งแต่นั้นจนกระทั่งถึง ๘ โมงเช้า ... เรานั่งอยู่เขียงส้วม ถ่ายท้อง ๒๕ หน เกิดอาเจียนอย่างรุนแรง ๒ หน ความแรงของมัน ทำให้เศษอาหารพุ่งจากนี้ไปติดฝาโน่น ร่างกายอ่อนลงทันที มันจะตายอย่างเห็นได้ชัด อ่อนลง ๆ อย่างรวดเร็ว แน่ะ.. มันสนุกพิจารณากันสบายเลย ตอนมันจะไปจริง ๆ แล้วความรับผิดชอบของร่างกายส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวของเรานี้มันหดมาพร้อม ๆ กัน ข้างล่างก็หดขึ้นมาอยู่กลางหัวใจนี่ ข้างบนก็หดลงไป ข้างซ้ายข้างขวาหดเข้ามาพร้อมกันเลย ลงไปตรงกลาง ความรับผิดชอบของจิตที่ซ่านออกไปตามร่างกายส่วนต่าง ๆ นี้.. หดตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วทีเดียว ตายไป ๙๙% เหลือเพียงเปอร์เซ็นต์เดียว แต่มันแปลกอยู่นะที่ไม่ล้ม จากนั้นมาก็ปล่อยเลย.. หมด ร่างกายก็หมดความหมาย คือร่างกายเป็นเหมือนท่อนไม้ ท่อนฟืนไปแล้ว หูนี้เลยหนวก ไม่ใช่หนวก ไม่ใช่บอดเสียแล้ว เลยนั้นไปแล้ว เป็นท่อนไม้ ท่อนฟืน ... ประสาทส่วนต่าง ๆ ดับหมด เป็นเหมือนท่อนไม้ไปหมด เวทนาของกายที่มันเป็นอย่างสาหัสนั้น ก็พลันดับวูบ ไม่มีอะไรเหลือ พอกายหมดความหมาย ทุกขเวทนาก็หมดความหมาย ทุกขเวทนาก็ดับหมด นี่จึงได้เชื่ออย่างแน่ใจว่า คนเราเวลาจะตาย ถ้ามีสติทราบเรื่องของตัวเองอยู่อย่างชัดเจนแล้ว ขณะจะตายนั้นเวทนาต้องดับหมด อันนี้มันดับ ขณะที่เวทนาดับหมด... ยังเหลือแต่ความรู้อันเดียวเท่านั้น ความรู้นั้น.. เราก็พูดไม่ถูกนะ คือตอนที่มันผ่องใส เราก็รู้ว่ามันผ่องใส แต่ก่อนรู้กันทุกระยะ ๆ แต่ตอนนั้นคำว่า “ผ่องใส” หรือ “เศร้าหมอง” มันไม่มี ... ทั้ง ๆ ที่ทุกขเวทนาอย่างสาหัส พอถึงขั้นจะไปจริง ๆ แล้ว ความรับผิดชอบในความรู้สึกนี้มันหดตัวเข้ามา วูบเดียวเท่านั้นพร้อมกันหมดเลย เข้าไปอยู่ตรงกลางนี้ ตรงกลางนี้ก็สักแต่ว่ารู้นะ จะว่าเป็นจุดเป็นต่อมแห่งผู้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี พูดได้แต่ว่า “สักแต่ว่ารู้” เท่านั้น แล้วทุกขเวทนาดับ อะไรดับ ร่างกายดับหมดจากความรู้สึกของกายเอง และความรู้สึกของทางประสาท จิตก็เป็นจิต ทุกขเวทนาก็ดับพร้อมกันเลย ... พอมันมี “สักแต่ว่ารู้” เท่านั้น สังขารมันยังใช้ได้อยู่นะ ความปรุงของจิตยังใช้ได้อยู่ทั้ง ๆ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กายทุกส่วน.. มันหมดความหมายกลายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืนไปหมด แต่ทำไมสังขารนี้อยู่ในวงขันธ์มันปรุงได้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามันปรุงได้ แต่ความปรุงอันนี้หรือมันเกี่ยวกับจิต เพราะปรุงออกมามันก็ออกมาจากจิต สัญญาก็ออกมาจากจิต ตอนมันหดเข้ามาแล้ว เรียบร้อยหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนยังเหลือเปอร์เซ็นต์เดียว เรียกว่า ๙๙% ก้าวเข้ามาถึง ๙๙% พอ ๑๐๐% ก็ดีดพั้บออกเลย ประโยคหลังประโยคสุดท้ายก็จิตเคลื่อนออก แต่นี้ยังไม่เคลื่อน แต่มันปรุงได้ทั้ง ๆ ที่มีแต่ความรู้ที่สักแต่ว่ารู้ แล้วมีอันหนึ่งปรุงถามขึ้นมาว่า ‘หือ ! จะไปเดี๋ยวนี้เชียวหรือ ?’ มันปรุงตอบว่า ‘เอ้า ! ไปก็ไป’ พอกำหนดจิตลงเหมือนกับว่าจะเสริมให้มันไป จะช่วยให้มันไปเลย ‘เอ้า ! จะไปก็ไป’ มันก็ตั้งท่าไป ตั้งหน้าไป แต่แล้วมันกลับไปสนับสนุนกัน มันก็เลยเป็นพลังอันหนึ่ง พอจ่อจิตเข้าไปตั้งท่าจะไป จ่ออยู่กับผู้รู้เท่านั้น ความรับผิดชอบของจิตนี้ซ่านออกไปอีก แทนที่มันจะไปกลับไม่ไป .. ด้วยอำนาจพลังของจิตที่กำหนดจะไปนี้ เลยเป็นพลังทำให้จิตมันซ่านออกไปอีก ให้รับรู้ในสิ่งต่าง ๆ ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ... ทางนี้ก็ขึ้นมา ทางนั้นก็ลงไปข้างล่าง ลงไปทั่วสรรพางค์ ออกทั่วสรรพางค์ร่างกายอย่างรวดเร็วเลย ‘หือ ? ไม่ไปหรือ ? ไม่ไปก็อยู่ซิ’ ว่างั้น มันไม่เห็นเสียดายหึงหวงอะไรเลย เอ ! มันก็คิดได้นี่นะ มันแปลกอยู่นะ สังขารนี้มันปรุงได้ แน่ะ เป็นอย่างนั้นไม่ลืมนะ ความรู้สึกของเจ้าของเป็นอย่างนั้นจริง ๆ คิดอย่างนั้นด้วยเวลาจะไป ‘จะไปจริง ๆ เหรอ เอ้า ไปก็ไปซิ’ กำหนดปั๊บเพื่อจะช่วยให้มันไปเสีย คือไปอย่างหายห่วงพูดง่าย ๆ ไม่ได้สงสัยอะไรนี่ ระยะนั้นเราก็ไม่ได้สงสัยอะไรแล้ว .. หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พูดตามความจริง เวลานั้นมันจะมาประกาศความจริงให้เราเห็นอยู่ซิ ตอนจะตายนี่ ก็ไม่เห็นมันจะกลัวอะไร มันตามรู้กันทุกระยะ ๆ จนกระทั่งถึงว่า หมดทุกขเวทนาที่เป็นอย่างสาหัสขนาดถึงขั้นจะตาย มันก็รู้ของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่พลั้งไม่เผลอ จนทุกขเวทนาในร่างกายนี้ที่เป็นสาหัส.. ดับจนหมด เพราะความรับผิดชอบของจิตมันหดตัวเข้ามา วูบเดียวเท่านั้น ทุกขเวทนาก็เป็นอันว่าดับไปพร้อมกันกับความรับผิดชอบทางด้านร่างกาย ‘เอ้า จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ ? เอ้า ไปก็ไป’ ยังเหลือแต่ความรู้เท่านั้น กำหนดปั๊บเข้าจุดความรู้นั้น ไม่ถึงนาทีนะ.. มันซ่านออกไปอีก พอความรู้นี่มันซ่านออกไปทั่วสรรพางค์ร่างกายแล้ว หูก็เริ่มรู้เริ่มได้ยินเสียง ตาฝ้าฟางก็เหมือนกับมองเห็น ความรู้สึกทางส่วนร่างกายก็รู้ พอความรับผิดชอบมันออกไปสู่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ประสาทส่วนต่าง ๆ มันก็รับทราบของมัน ... ทีนี้ทุกขเวทนาก็เริ่มขึ้น ก็สาหัสเหมือนอย่างที่เคยเป็น สาหัสมันก็สาหัสในส่วนร่างกายต่างหาก ไม่ได้สาหัสในจิต ไม่ได้เข้าถึงจิต จิตเป็นปกติอยู่อย่างนั้นธรรมดา ๆ ... นี่ก็ทำให้คิดเหมือนกันว่า คนเราถ้ามีสติดี ๆ จะทราบเวลาตาย คนเวลาจะตายจริง ๆ เวทนาจะดับหมด เวทนาไม่มีเหลือ จิตถึงจะเคลื่อนตัวออก...” จากนั้นอาการป่วยของท่านก็ค่อยทุเลาลง ๆ กำลังวังชาก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ และกลับคืนจนเป็นปกติในที่สุด แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-06-2020 เมื่อ 17:45 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#451
|
|||
|
|||
หลวงปู่ศรี ติดตามธุดงค์ หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม จังหวัดร้อยเอ็ด ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ในตอนหนึ่งของประวัติว่า “... ปลายปี ๒๔๙๓-๒๔๙๔ เราได้ติดตามท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ธุดงค์ท่องเที่ยวกรรมฐาน เดินทั้งวันจนค่ำ แต่ว่าท่านไม่ได้สะพายของหนัก เราสะพายช่วยท่าน แม้ลำบากแต่ก็เต็มใจเพราะคิดว่า ‘เรามาสู้สงคราม สงครามโลกแต่ไม่ใช่โลกข้างนอก โลกในตัวเรา ขันธโลก คือโลกขันธ์ ๕ ถ้าผู้ใดชนะตน ท่านเรียกว่าดีกว่าชนะสงครามภายนอกหลายเท่า โลกที่เขาใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ฆ่ากันเป็นอีกพวกหนึ่ง แต่ปัญหาของเราโลกอันนี้.. ขันธโลกสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำที่มันดึงเราลงไปทางต่ำ ภาษาธรรมะท่านเรียกว่ากิเลส’ ในสมัยครั้งกระโน้นสมัยเมื่อไปอยู่ป่าอยู่เขา เราจะไปอาศัยอะไร ๆ มันก็แสนจะยาก ต้องเอากระบอกไม้ไผ่แทนถ้วยแก้วและกาน้ำ ไปมาสะดวกดี ไม่ต้องระมัดระวัง.. เพียงแต่รักษาเครื่องอัฐบริขารเท่านั้น อย่างอื่นไม่ต้องเกี่ยว หมายความว่าไปอย่างง่าย ๆ ไม่ต้องกังวลในเรื่องอื่น ๆ มาพิจารณาถึงตัวเรา นึกถึงใจเราให้มากขึ้น ถ้าเรามีสติจดจ่ออยู่ตลอด ไม่นานก็จะเกิดความสงบได้สติง่าย ในระยะนี้จำเป็นเหลือเกินที่เราจะพยายามให้มันเกิดขึ้น รู้จักเรื่องของตัวเอง จึงจะมีความเมตตาสงสารตัวเองเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ถ้าจิตใจรู้รสของธรรมะสักอย่างหนึ่ง พอคิดถึงการกระทำซึ่งเราได้กระทำมา ตั้งแต่เรารู้เดียงสามาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้.. จะเกิดสงสารตัวเองจนน้ำตาไหล ว่าการกระทำมาหรือความคิดความเห็นมาแต่ก่อน ‘โอย ! .. น่าสลด น่าสังเวช ห่างกันเหมือนฟ้ากับดิน’ เมื่อเราดำเนินจิตไปสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นความเหลวแหลกของจิตใจที่มันเป็นมาแล้วแต่หนหลัง จิตใจก็หยั่งไปสู่ถึงคุณธรรมได้อย่างดูดดื่ม มีธรรมะมากเท่าไหร่ จิตใจก็ยิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องมากขึ้นเท่านั้น ... เราได้ติดตามท่านอาจารย์มหาบัวธุดงค์ไปทางบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม* และได้อยู่จำพรรษา ๑ พรรษา...” =========================== * อำเภอคำชะอียังขึ้นอยู่กับจังหวัดนครพนม ระยะนั้นยังไม่มีจังหวัดมุกดาหาร แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 12:34 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#452
|
|||
|
|||
กรรมฐานยุคห้วยทราย ภายหลังหลวงปู่มั่นเข้าสู่นิพพาน องค์หลวงตาได้เข้าจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือได้ ๑ พรรษา จากนั้นท่านก็ไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร อยู่ถึง ๔ ปี พระเณรก็หลั่งไหลติดตามไปอยู่ด้วยมากมายตามบ้านเล็กบ้านน้อยแถบนั้น แต่ที่อยู่ในสำนักของท่านจริง ๆ มีประมาณ ๑๐ กว่าองค์ องค์หลวงตากล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า “เราไปอยู่ห้วยทรายถึง ๔ ปี ห้วยทรายสงัดดี อยู่ตีนเขา บ้านห้วยทรายอยู่ทางด้านตะวันออก ภูเขาอยู่ทางด้านตะวันตก วัดอยู่ทางทิศเหนือของภูเขา จำพรรษาปีแรก เราขึ้นไปจำพรรษาบนเขากับเณรภูบาล (ต่อมาศึกษาจบมหาเปรียญ) ให้หมู่เพื่อนอยู่ข้างล่าง เราขึ้นไปอยู่บนภูเขามันใกล้ ๆ กัน พอถึงเวลาที่จะประชุมก็ลงจากภูเขาไปประชุมที่วัดตีนเขา เราเป็นผู้เทศน์แหละ อาจารย์มหาบุญมี ท่านอยู่วัดข้างล่าง เราอยู่ข้างบน .. ทางผ่านแต่ก่อนไม่มี ลงจากภูเขาก็เข้าวัดตีนเขา..” องค์หลวงตาสงเคราะห์พระเณรด้วยการเทศนาอบรม สั่งสอนด้วยความเอาใจใส่จริงจัง เข้มงวดทั้งธรรมวินัย ทั้งข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ และเทศน์ให้กำลังใจในการบำเพ็ญเพียร จนพระเณรหลายต่อหลายรูปรวมทั้งฆราวาสเกิดผลภาวนาประจักษ์ใจขึ้นเป็นลำดับ หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอีกรูปหนึ่ง ที่จำพรรษาอยู่ในช่วงเวลานั้น ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือประวัติว่า “... ท่านอาจารย์มหาบัว ท่านอยู่ในวัยหนุ่ม ร่างกายแข็งแรง ปราดเปรียว ทำความเพียรเป็นแบบอย่างในทุกอิริยาบถ เป็นที่พึ่งอันมั่นคงของพระเณร เหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งลาก่อนปีที่ท่านจะนิพพานว่า ‘เมื่อเราตาย ให้หมู่เพื่อนพึ่งมหาบัว’ ในสมัยนั้น สมถะสันโดษมาก กระโถนใช้กระบอกไม้ไผ่ เสนาสนะกุฏิกั้นด้วยใบตองและฟาง แม้กุฏิท่านอาจารย์มหาบัวเอง ก็ยังเป็นฟากมุงด้วยหญ้าคา ประตูหน้าต่างทำเป็นงวงฝาแถบตองผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา ข้อปฏิบัติที่ท่านถือเคร่งในยุคนั้นคือ ปฏิบัติอย่างหยาบ ๆ ห้ามนอนก่อน ๔ ทุ่ม ถ้าใครนอนก่อน ๔ ทุ่ม ต้องตื่นขึ้นมาทำความเพียรก่อนตี ๔ ถ้าผิดจากนี้ ได้ตักเตือนถึงสามครั้ง ถ้าทำไม่ได้ท่านจะไล่หนีจากวัดทันที พระกรรมฐานยุคห้วยทรายโดยท่านอาจารย์มหาบัวเป็นผู้นำ ปฏิปทาถอดแบบมาจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ยุคหนองผือทุกอย่าง ท่านตีและเข่นพระเณร โดยมิเห็นแก่หน้า พากเพียรเป็นอย่างมาก วันคืนที่ผ่านไปล้วนแต่ประกอบจิตภาวนาในอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ประกอบความพากเพียรด้วยสติปัญญาตลอด มองไปทางด้านใด เห็นพระเณรต่างเร่งความเพียร เหมือนว่าจะสิ้นกิเลสกันไปหมดทุกคน กิริยาแห่งความขี้เกียจขี้คร้านไม่มีให้เห็น ทุกรูปทุกนามต่างก็เร่งความเพียร เหมือนจะสิ้นกิเลสในวันนี้หรือพรุ่งนี้...” การแสดงธรรมภาคจิตภาวนาขององค์หลวงตาในช่วง ๔ ปีที่ห้วยทรายนี้ นอกจากท่านจะแสดงธรรมอบรมพระเณรที่อยู่จำพรรษาร่วมกับท่านแล้ว ยังเปิดโอกาสให้พระเณรที่อยู่บริเวณโดยรอบเข้ามาร่วมฟังธรรมด้วย หนึ่งในนั้นคือ ท่านพระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร ซึ่งองค์หลวงตากล่าวยกย่องคุณธรรมของท่านไว้ว่า “อาจารย์มหาบุญมีนี้ ท่านไปอยู่ห้วยทรายกับเรา ท่านแก่พรรษากว่าเรา ดูเหมือน ๒ พรรษา ท่านเรียนเป็นเปรียญหลังเรา แล้วก็ออกปฏิบัติหลังเรา เราออกก่อน ท่านมาก็มาอยู่กับเราที่ห้วยทราย ท่านออกมาทีแรก.. ท่านมาฝึกหัดทางด้านภาวนา ‘ทีนี้จะออกภาวนาแล้ว’ ท่านว่าอย่างนั้น ท่านออกมาอยู่ห้วยทราย เราอยู่บนเขากับเณรหนึ่ง ให้ท่านอยู่กับพวกพระ อยู่ทางตีนเขาทางนู้น ท่านเป็นตุ๊กตาเลยนะ ท่านไม่ถือเนื้อถือตัว ท่านหมอบให้เราหมด ท่านบอกว่า ท่านเป็นพระอาคันตุกะ เพียงมาอาศัยเท่านั้น มาอาศัยก็มาอาศัยท่านอาจารย์ บอกตรง ๆ เลย มาอาศัยท่านอาจารย์เพื่อจะอบรมทางด้านจิตภาวนา ท่านเอาจริง ๆ ... คุ้นกันมากกับเรานะ เพราะท่านเคยอยู่กับเราแล้ว จะเรียกตามหลักธรรมชาติ.. อย่างพระโปฏฐิละกับเณรนั้นก็ไม่ผิด ท่านถือเราเป็นอย่างนั้น ท่านเคารพมาก แต่ท่านเป็นอาวุโส ท่านเคารพในทางด้านธรรมะธัมโม ทางพระวินัยเราเคารพท่าน เพราะพระวินัยมีอาวุโสภันเต ธรรมะไม่มี.. ถือคุณธรรมเป็นสำคัญ ท่านนับถือมากทีเดียว แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 12:37 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#453
|
|||
|
|||
เข่นหนัก ด้วยอรรถธรรม ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จังหวัดสกลนคร เป็นองค์หนึ่งที่ได้อยู่จำพรรษาในระยะนี้ หนังสือประวัติย่อของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ได้กล่าวถึงความจริงจังขององค์หลวงตาต่อพระเณรยุคบ้านห้วยทรายว่า “.. ท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรที่ไปปฏิบัติกับท่านมาก ยามค่ำคืนท่านอาจารย์มหาบัวจะลงเดินตรวจพระเณรในวัดโดยไม่ใช้ไฟฉาย ว่าพระเณรองค์ไหนทำความเพียรอยู่หรือเปล่า ถ้ามองเห็นจุดไฟอยู่ท่านก็จะไม่เข้าไป ถ้าองค์ไหนดับไฟท่านจะเข้าไป เข้าไปจนใต้ถุนกุฏิแล้วฟังเสียงว่าจะนอนหลับหรือเปล่า หรือนั่งภาวนา เพราะคนที่นอนหลับส่วนมากเสียงลมหายใจจะแรงกว่าธรรมดาที่ไม่หลับ ถ้าหากว่าองค์ไหนนอนหลับก่อน ๔ ทุ่มแล้ว พอตอนเช้าประมาณตี ๔ ท่านจะเดินตรงไปที่กุฏิองค์นั้นแหละและถ้ายังไม่ตื่น ตอนเช้าลงศาลาจะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเทศน์ว่าให้พระเณรองค์นั้น ถ้าท่านได้เตือนถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น ท่านจะขับไล่ออกจากวัด ให้ไปอยู่วัดอื่นโดยพูดว่า ‘ผมสอนท่านไม่ได้แล้ว นิมนต์ออกไปจากวัดเสีย’ ฉะนั้น พระเณรยุคบ้านห้วยทราย ภายใต้การนำของท่านจึงมีความพากเพียร.. ในด้านการทำสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก ต่างองค์ต่างลักกัน (แอบปฏิบัติ) คือบางองค์เวลาหมู่เดินจงกรม จะขึ้นกุฏิแล้วไม่จุดไฟ ทำท่าเหมือนกับว่านอนแต่ความจริงนั่งภาวนา เวลาหมู่ขึ้นจากจงกรมหมดแล้ว จึงค่อยลงเดินก็มี ท่านอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่าพระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมามองไปเห็นแต่แสงไฟ.. โคมสว่างไสวตามกุฏิของพระเณรเหมือนกับไม่นอนกัน เรื่องอาหารการกิน เขามีกบหรือเขียดตัวเดียวอย่างนี้ เขาก็แบ่งใส่บาตรได้ ๔ บาตร ๔ องค์ก็มี ในคราวที่อดอยาก มะเขือลูกเดียวอย่างนี้ เขาจะผ่าใส่บาตรได้ ๔ องค์ ทั้งนี้เนื่องจากทางอีสานนั้นกันดารน้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้งบางแห่งต้องได้กินน้ำในสระ พร้อมทั้งไปตักเอาไกลด้วยเป็น ๒-๓ กิโลเมตรก็มี เพราะขุดบ่อไม่มีน้ำ ถึงจะมีบางแห่งน้ำก็เค็ม กินไม่ได้และสิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ ความอดอยากเรื่องอาหารการกิน อาศัยแก่นไม้ รากไม้ ใบไม้มาต้มฉัน นาน ๆ จะมีน้ำอ้อยก้อนทีหนึ่ง ... ก้อนเดียวแบ่งกันฉัน ๓-๔ องค์ก็ยังพอ .. บางปีพระเณรป่วยเป็นไข้มาลาเรียเกือบหมดทั้งวัด ยังเหลือแค่ท่านพระอาจารย์มหาบัวและพระอีกองค์หนึ่งก็มีเป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ปัดกวาดลาดวัด และตักน้ำใช้น้ำฉัน...” หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร เป็นอีกรูปหนึ่งที่อยู่ร่วมจำพรรษาด้วย หลวงปู่หล้าเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนเข้าห้วยทราย และบรรยากาศในยุคบ้านห้วยทรายไว้อย่างน่าประทับใจ ดังนี้ “... (ข้าพเจ้า) พักอยู่วัดโพธิสมภรณ์คืนหนึ่ง แล้วท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ส่งขึ้นรถยนต์มาลงสกลนคร พักอยู่สุทธาวาส ๑ คืน ก็เดินทางด้วยฝีเท้ามาพักวัดป่าบ้านโคกกับพระอาจารย์อุ่นหนึ่งคืน แล้วไปพักวัดดอยธรรมเจดีย์ประมาณ ๗ วัน เอาฟืนช่วยหลวงปู่กงมาอยู่บ้าง ลาออกจากนั้นก็ไปพักวัดป่าบ้านนาโสกอยู่ประมาณ ๗ วัน มีเณรโส บ้านนาโสก อยากจะไปห้วยทรายด้วย จึงพูดกับเณรว่า ‘ถ้าเณรอยากไปจงไปทีหลัง อย่าได้ไปพร้อมกัน เพราะจะทับถมข้า คล้ายกับข้ามายักยอกเอาเณรไปด้วย’ เณรกล่าว ‘อยากจะไปศึกษากับพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าห้วยทราย ได้ยินแต่กิตติศัพท์มาหลายปีแล้ว อยากเห็น อยากรู้’.. ตื่นขึ้นเป็นวันใหม่ ฉันเสร็จเรียบร้อยก็กราบลาหลวงพ่อเตรียมเดินทาง ... แล้วโยมก็ไปส่งสองคน ไปส่งถึงแจ้งตะวัน (แจ้งตะวันเป็นชื่อสถานที่) แล้วก็กลับ ต่อแต่นั้นก็ตั้งหน้าเดินตรงข้ามบ้านโพนแดง ข้ามบ้านดงมอนก้านเหลือง ข้ามห้วยบางทราย ไปพักใกล้บ้านสงเปือย ที่ทุ่งนาแห่งหนึ่ง อยู่กลางดง มีเถียงนาว่าง ๆ อยู่หลังหนึ่งก็พอดีกับค่ำ พักนอนที่นั่น .. ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตั้งหน้าภาวนา เดินข้ามบ้านนำคำ บ้านตากแดดเข้าบ้านหนองเอี่ยนทุ่ง แล้วเดินทางตามทางหลวง พอถึงห้วยทรายก็มืดพอดี.. จุดไฟ องค์หลวงปู่มหาก็อยู่ในศาลากำลังเทศน์พระและแม่ชีอยู่ ท่านทักว่า ‘ท่านหล้ามาแล้ว’ ท่านประกาศว่า ‘นี่แหละ..เขียงเช็ดเท้าพระอาจารย์ใหญ่มั่นองค์หนึ่ง’ กราบนมัสการแล้วองค์ท่านก็ถามไถ่ทุกประการ ตกลงได้นอนอยู่ที่ศาลาเพราะกุฏิเต็ม.. พอข้าพเจ้ามาพักวัดป่าสุทธาวาส คุณเพ็ง คุณสีหา พอได้รับทราบข่าวว่า ข้าพเจ้ามาถึงวัดป่าสุทธาวาสจะไปหาพระอาจารย์มหาบัว ขณะนั้นคุณเพ็งคงอยู่กับหลวงปู่มั่น คุณสีหาคงอยู่กับพระอาจารย์วัน ก็พากันชวนกันไปหาพระอาจารย์มหาบัว เพื่อจะได้จำพรรษารวมกันหมู่เก่าอีก เพราะเคยได้อยู่ร่วมกันมาแล้วในยุคหนองผือ รู้จักนิสัยใจคอกันแล้วจะปฏิบัติสะดวก สมัยนั้นเป็นเวลาฤดูเดือนพฤษภาคมข้างแรม หลังวิสาขบูชา ๒๔๙๖ แล้ว พระอาจารย์มหาได้ปรารภลับหลังกับหมู่ว่า ‘ผมไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เสนาสนะเต็มหมด องค์ท่านได้พาหมู่ทำกุฏิให้ผมอยู่ มาบัดนี้ ผมจะได้ทำกุฏิให้ท่านหล้าอยู่ละ ผมเป็นเวรกับองค์หลวงปู่ในตอนนี้อีกแล้ว ใช้เวรไปเสีย’ แล้วได้รีบทำกุฏิมุงหญ้า ปูฟากอีกหลังก็เสร็จไปโดยเร็ว ได้ให้อาจารย์สิงห์ทองไปอยู่ แล้วได้สับเปลี่ยนหลังอื่นให้ข้าพเจ้าไปอยู่ แต่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศเหนือนั้น กุฏิที่ปลูกใหม่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศใต้ สามเณรโสให้อยู่ข้างใกล้โรงไฟ ปีนั้นมีพระ ๑๑ รูป สามเณร ๔ องค์ คือ ๑. พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า (อาจารย์มหาบัว) ๒. พระอาจารย์สม ๓. พระอาจารย์สิงห์ทอง ๔. พระอาจารย์นิล ๕. ข้าพเจ้า ๖. คุณเพียร ๗.คุณสุพัฒน์ ๘. คุณเพ็ง ๙.คุณสีหา ๑๐.คุณสี ๑๑. คุณสวาส ๑๒. เณรน้อย ๑๓. เณรน้อยอีก ๑๔. เณรบุญยัง ๑๕. เณรโส ปฏิปทาของหลวงปู่มหา.. พาทำเหมือนสมัยยุคหนองผือหลวงปู่มั่น เพราะสมัยห้วยทรายแขกโยมยังไม่มาก ประวัติยุคห้วยทราย ก็เป็นยุคที่พระอาจารย์มหาตีและเข่นพระเณรโดยมิได้เลือกหน้าเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าสมัยบ้านห้วยทรายในยุคนั้น ในศาลาโรงฉันยังได้ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้านอยู่นะ แม้อยู่ตามกุฏิเป็นส่วนมากก็เหมือนกัน น้ำมันก๊าดก็มีเพียงปีละสองปีบ ผ้าที่จะทำไตรจีวรก็เหลืออยู่หมดวัดเพียงปีละไม้สองไม้เท่านั้น มูลค่าในวัดทั้งหมดรวมกันในวัด บางทีก็ร้อยสองร้อยเท่านั้น ปรารภไว้เพื่อให้กุลบุตรสุดท้ายคำนึง จะได้ไม่ลืมตัวในสมัยวัตถุนิยมหรูหรา เพราะเกรงกิเลสจะหรูหราขึ้น ด้านเสนาสนะก็กั้นใบตองและฟางเป็นส่วนมาก พระอาจารย์มหาก็ยังอยู่กุฏิฟางและมุ่งหญ้า ประตูหน้าต่างก็ทำเป็นวงฝาแถบตองผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา ด้านทำความเพียรมีเวลามากกว่าทุกวันนี้ คราวหนุ่มอยู่.. หลวงปู่มหายิ่งประเปรียวกว่านี้มาก พวกลูกศิษย์ที่ได้ไปหุ้ม (รุมล้อม) หลวงปู่บ้านตาดในยุคปัจจุบันนั้น องค์ท่านอนุโลมที่สุด อย่าว่าองค์ท่านดุเลย...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 12:42 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#454
|
|||
|
|||
อัศจรรย์.. ความเด็ดเดี่ยวองค์หลวงปู่มหา ด้วยเหตุที่หลวงปู่หล้าท่านเห็นถึงปฏิปทาความจริงจังขององค์หลวงตา ตั้งแต่สมัยที่ปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส กระทั่งถึงระยะที่เป็นครูบาอาจารย์ สอนสั่งพระเณรหลายรุ่นต่อหลายรุ่นด้วยกันมานี้ ดังนั้น เมื่อหลวงปู่หล้าท่านตั้งวัดภูจ้อก้อขึ้นมา มีพระเณรเข้ามาอยู่ศึกษากับท่าน เพื่อให้พระเณรลูกหลานที่อยู่ในการปกครอง ได้เห็นคติแบบฉบับอันงดงาม.. การแสดงธรรมของท่านจึงมักต้องได้กล่าวถึงองค์หลวงตาอยู่เสมอ ๆ ดังบันทึกฉบับหนึ่ง ที่หลวงปู่หล้าท่านเขียนเป็นจดหมายไว้เป็นอุบายสอนพระ ดังนี้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 12:42 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#455
|
|||
|
|||
โปรดคุณแม่ชีแก้ว ที่บ้านห้วยทรายแห่งนี้ มีนักปฏิบัติธรรมหญิงท่านหนึ่งนามว่า คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เวลาภาวนามักจะมีความรู้แปลกพิสดารมาก เมื่อท่านมาจำพรรษาที่บ้านนี้ จึงมีโอกาสได้สนทนาซักถามพร้อมกับให้อุบายทางจิตภาวนาแบบเด็ด จนสามารถพลิกภาวะจิตของคุณแม่ชีแก้วได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนี้ “.. แม่ชีแก้วที่อยู่บ้านห้วยทรายนี้ เป็นลูกศิษย์ดั้งเดิมของท่านอาจารย์มั่นมาตั้งแต่เป็นสาวโน่นนะ แกภาวนาเป็นตั้งแต่เป็นสาวโน่น ถ้าวันไหนภาวนาแปลก ๆ พอท่านอาจารย์มั่นบิณฑบาตมาถึงนั้น ท่านจะว่า ‘วันนี้ ออกไปวัดนะ’ เพราะท่านหยั่งทราบทุกอย่าง .. ทีนี้พอท่านจะจากที่นั่นไป ท่านก็บอกตรง ๆ เลย บอกว่า ‘นี่ถ้าเป็นผู้ชายแล้ว เราจะเอาไปบวชเป็นเณรด้วย’ อายุตอนนั้นราว ๑๖-๑๗ ปี ‘นี่เป็นผู้หญิง มันลำบากลำบน ไม่เอาไปแหละ อยู่นี่แหละ จะเป็นบ้าครอบครัวเหมือนโลกเขาก็แล้วแต่เถอะ’ ว่าดังนี้แล้วท่านก็ไป ก่อนจะไปท่านสั่งว่า ‘แต่อย่าภาวนานะ’ นี่สำคัญ ท่านสั่งไว้จุดนี้แหละ คือนิสัยแกผาดโผนมาก เรื่องภาวนานี้.. นิสัยผาดโผนมากจริง ๆ เพราะเหินเดินฟ้าดำดิน บินบนในหัวใจ มันออกรู้ออกเห็นหมด เทวบุตรเทวดา อินทร์พรหม เปรต ผีนี้ มันไปรู้ไปหมดนั่นซิ ทีนี้เวลาไม่มีครูมีอาจารย์คอยแนะ คอยบอก กลัวมันจะเสีย ท่านจึงห้ามไม่ให้ภาวนา ‘เราไปนี้ไม่ต้องภาวนา ต่อไปมันก็จะมีครูมีอาจารย์สอนเหมือนกันนั่นแหละ’ ท่านว่าอย่างนี้ ท่านว่าผ่าน ๆ ไปอย่างนี้แหละ .. ทีนี้นานเข้า ๆ หนักเข้ามันอดไม่ได้ มันอยากภาวนาอยู่ตลอด แกก็เลยภาวนา ก็พอดีเป็นจังหวะที่เราไปที่นั่น พอเหมาะดีเลยเทียว พอเราไปถึง แกก็มาเล่าให้ฟัง ตอนที่เราไปนั้น เราไปจำพรรษาบนภูเขา ให้หมู่เพื่อนจำพรรษาข้างล่าง เรากับเณรหนึ่งไปจำพรรษาอยู่บนภูเขา บ้านห้วยทรายนั่นแหละ พอวันพระหนึ่ง ๆ พวกเขาจะไป ไปพร้อมกัน ไปละไปทั้งวัดเขาเลยแหละ พวกแม่ชีแม่ขาวหลั่งไหลกันไป ขึ้นบนภูเขาหาเราตอนบ่าย ๔ โมง ๔ โมงเย็นเขาก็ไป ตอนจวน ๖ โมงเย็นเขาก็กลับลงมา พอไปถึงแกก็เล่าให้ฟัง ขึ้นต้นก็น่าฟังเลยนะ พอแกขึ้นต้นก็น่าฟังทันที ‘นี่ก็ไม่ได้ภาวนา เพิ่งเริ่มภาวนานี่แหละ ญาท่านมั่น.. ท่านไม่ให้ภาวนา’ แกว่าอย่างนั้น ‘ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา’ เราก็สะดุดใจกึ๊ก มันต้องมีอันหนึ่งแน่นอน ลงหลวงปู่มั่นห้าม ไม่ให้ภาวนานี้ต้องมีอันหนึ่งแน่นอน จากนั้นแกก็เล่าภาวนาให้ฟังนี้ โถ.. ไม่ใช่เล่น ๆ พิสดารเกินคาดเกินหมาย เราก็จับได้เลยทันที ‘อ๋อ..อันนี้เอง ที่ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา’ พอไปอยู่กับเรา..ไปหาเราก็ภาวนา พูดตั้งแต่เรื่องความรู้ความเห็น ไปโปรดเปรต โปรดผี โปรดอะไรต่ออะไร นรก สวรรค์ แกไปได้หมด รู้หมด แกรู้ ทีนี้เวลาภาวนา มันก็เพลินแต่ชมสิ่งเหล่านี้ ครั้นไปหาเรานานเข้า ๆ เราก็ค่อยห้ามเข้า หักเข้ามาเป็นลำดับลำดานี่แหละ เอากันตอนนี้ ทีแรกให้ออกได้ ‘ให้ออกก็ได้ ไม่ออกก็ได้ .. ได้ไหมเอาไปภาวนาดู ?’ ครั้นต่อมา ‘ไม่ให้ออก’ ต่อมาตัดเลย เด็ดเลย ‘ห้ามไม่ให้ออกเป็นอันขาด’ นั่นเอาขนาดนั้นนะ ทีนี้ให้แกรู้ภายใน อันนั้นเป็นรู้ภายนอก ไม่ใช่รู้ภายใน ไม่ใช่รู้เรื่องแก้กิเลส จะให้แกเข้ามารู้ภายในเพื่อจะแก้กิเลส แกไม่ยอมเข้า เถียงกัน แกก็ว่าแกรู้ แกก็เถียงกันกับเรานี่แหละ ตอนมันสำคัญนะ พอมาเถียงกับอาจารย์ อาจารย์ก็ไล่ลงภูเขา ร้องไห้ลงภูเขาเลย ‘ไป..จะไปที่ไหน..ไป สถานที่นี้ไม่มีบัณฑิต นักปราชญ์ มีแต่คนพาลนะ ใครเป็นบัณฑิต นักปราชญ์ให้ไป..ลงไป..’ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 12:45 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#456
|
|||
|
|||
ไล่ลงเดี๋ยวนั้น ร้องไห้ลงไปเลย.. เราก็เฉย น้ำตานี่ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร เราเอาตรงนั้น ไล่ลงไป ‘อย่าขึ้นมานะ แต่นี้ต่อไปห้าม’ ตัดเด็ดกันเลย ไปได้ ๔-๕ วัน โผล่ขึ้นมาอีก ‘.. ขึ้นมาทำอะไร !!!..’
‘เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน’ แกว่า ‘มันอะไรกัน นักปราชญ์ใหญ่’ เราว่าอย่างนั้นนะ ว่านักปราชญ์ใหญ่ แกว่า ‘เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน ๆ’ แกจึงเล่าให้ฟัง คือไปมันหมดหวัง.. แกก็หวังจะพึ่งก็พูดเปิดอกเสียเลย แกหวังว่า ‘จะพึ่งอาจารย์องค์นี้ ชีวิตจิตใจมอบไว้หมดแล้ว.. ไม่มีอะไร แล้วก็ถูกท่านไล่ลงจากภูเขา เราจะพึ่งที่ไหน ? แล้วเหตุที่ท่านไล่ ท่านก็มีเหตุมีผลของท่านว่าเราไม่ฟังคำท่าน ท่านไล่ นี่ถ้าหากว่าเราจะถือท่านเป็นครูบาอาจารย์แล้ว ทำไมจึงไม่ฟังคำของท่าน เพราะเราอวดดีแล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร ทีนี้ก็เลยเอาคำของท่านมาสอนมาปฏิบัติ มันจะเป็นยังไง ? เอาว่าซิ มันจะจมก็จมไปซิ’ คราวนี้แกเอาคำของเราไป สอนบังคับไม่ให้ออกอย่างว่านั่นแหละ แต่ก่อนมีแต่ออก ๆ ห้ามขนาดถึงว่าไล่ลงภูเขา แกไม่ยอมเข้า มีแต่ออกรู้อย่างเดียว พอไปหมดท่าหมดทาง หมดที่พึ่งที่เกาะแล้ว ก็มาเห็นโทษตัวเอง ‘ถ้าว่าเราถือท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ ทำไมไม่ฟังคำท่าน ฟังคำท่านซิ ทำลงไปแล้วเป็นยังไงให้รู้สิ’ ... ทีนี้ก็มีแต่บังคับให้อยู่ละ คราวนี้เพราะมันชินพอ พอบังคับให้อยู่ พอแน่วลงอยู่นี้ก็สว่างจ้าขึ้น แล้วก็ปรากฏเป็นนิมิต เรานี้แหละมา.. ถือมีด เรียกว่าอะไรไม่รู้ มีดก็มีดคมกริบ แสงออกแพรวพราว ๆ ทีนี้ให้พิจารณาอย่างนี้นะ การทำลายกายทำลายอย่างนี้ จุดตะเกียงเจ้าพายุมาด้วยนะ หิ้วตะเกียงเจ้าพายุมาด้วยแกว่า.. หิ้วตะเกียงเจ้าพายุมาแล้วก็ฟันเลย ฟันตัวแกนั่นแหละในนิมิตภาวนา ฟันพออันนี้ขาดตก อันโน้นขาดตก ฟันนี้ ๆ ทำอย่างนี้ ๆ แยกกายแยกอย่างนี้ ฟันฟาดมันแหลกไปเลยนะ ฟันแล้ว เขี่ย ๆ เขี่ยออก ‘นี่ ๆ ดูเอา ๆ แล้วแยกออกไป อันไหนเป็นสัตว์ อันไหนเป็นบุคคล อันไหนเป็นหญิง อันไหนเป็นชาย เอ้า.. ดูเทียบดู อันไหนสวย อันไหนงาม เอ้า.. ดู’ ฟันออกจนแหลก ทางนี้ก็ดู เกิดความสลดสังเวชภายในจิตใจ มันเป็นนิมิตอันหนึ่ง.. ออกแต่เป็นธรรม พออันนี้แตกกระจัดกระจายไปจนกระทั่งว่าเกิดความสลดสังเวชตัวเอง พอคราวนี้พึ่บลงอีก คราวหลังนี้เงียบเลย พูดไม่ถูกคราวนี้ จะว่าอัศจรรย์ขนาดไหนพูดไม่ถูก ทีนี้พอจิตถอนขึ้น จากนั้นก็หมอบกราบไปทางภูเขาเลยแกว่า .. พอทำตามนั้นมันก็เปิดโล่งภายในซิ ทีนี้จำขึ้นเลยเชียว .. นี่แหละที่กลับขึ้นมา กลับขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ทีนี้ได้รู้อย่างนั้น ๆ ละ ทีนี้รู้ตามที่เราสอนนะ ‘เออ เอาละ ทีนี้ขยำลงไปนะตรงนี้ ทีนี้อย่าออก อย่ายุ่ง ยุ่งมานานแล้วไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร เหมือนเราดูดินฟ้าอากาศ ดูสิ่งเหล่านั้นน่ะ ดูเปรต ดูผี ดูเทวบุตรเทวดา มันก็เหมือนตาเนื้อเราดู สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ถอนกิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้ นี่ตรงนี้.. ตรงถอนกิเลส’ เราก็ว่าอย่างนี้ ‘เอ้า ดูตรงนี้นะ’ แกก็ขยำใหญ่เลย เอาใหญ่เลย ลงใจไม่นานนะก็ผ่านไป แกบอกแกผ่านมานานนะ ... พ.ศ. ๒๔๙๔ เราไปจำพรรษาที่ห้วยทรายในราวสัก ๒๔๙๔ ละมัง แกก็ผ่าน...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 12:47 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#457
|
|||
|
|||
หลวงปู่คำดีนิมิตรู้ องค์หลวงตาจะมาพบ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ องค์หลวงตาหาอุบายหลบหลีกหมู่เพื่อนไปเยี่ยมหลวงปู่คำดี ที่วัดศรีฐาน จังหวัดขอนแก่น องค์ท่านจึงปิดเงียบ ไม่บอกกล่าวให้ผู้ใดทราบเลย แต่ถึงอย่างนั้น หลวงปู่คำดีก็สามารถรับรู้ได้ล่วงหน้า ดังนี้ “... นิมิตท่านสำคัญมาก ปรากฏในภาวนาไม่ผิดพลาดนะ ที่อยู่วัดศรีฐาน.. แต่ก่อนเป็นวัดป่าจริง ๆ เขาเรียกสามเหลี่ยมไปขอนแก่นนั่นน่ะ ที่แยกไปทางชุมแพ แยกไปทางโคราช แยกไปทางไหน สามเหลี่ยมใหญ่นั่นนะ แต่ก่อนเป็นดงทั้งหมด วัดป่าศรีฐานอยู่ตรงนั้นแหละ เราไป.. เรายังจำได้ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ขโมยหนีจากหมู่เพื่อนไป หาอุบายมาเยี่ยมโยมแม่ เพราะรำคาญพระเณรรุม หาอุบายมาเยี่ยมโยมแม่ ก็มาพักอยู่กับโยมแม่เพียงสองคืนเท่านั้นเอง เราเปิดไปขอนแก่นคนเดียว ทีนี้ท่านได้นิมิต .. ตอนนั้นมันบันดลบันดาลยังไงก็ไม่รู้ แทบจะทุกครั้งเรื่องมันรับกันได้พอดี ๆ อันนี้ท่านนิมิตในภาวนาของท่าน ท่านบอกท่านฝัน ถ้าพูดนอก ๆ ท่านก็บอกว่าฝัน.. จริง ๆ ก็คือฝันภาวนานั่นเอง เป็นไรไปท่านฝันในของท่าน นักภาวนารู้กัน วันนั้นภาวนาอยู่มันเกิดเรื่องราวขึ้นมา พอตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็รีบสั่งพระเลย ‘เอ้อ.. เมื่อคืนนี้ผมได้นิมิตแปลกประหลาดมาก จะมีพระองค์สำคัญ แต่ว่าองค์ไหนท่านก็ไม่ได้บอก จะมีพระองค์สำคัญมาวัดเราในเร็ว ๆ นี้ ถ้ามีพระกรรมฐานมาจากที่ไหนก็ตาม อย่างไรขอให้ได้พบกับเราเสียก่อน’ ท่านจัดพระมาเลยนะ จัดพระมาเฝ้าศาลา ศาลาวัดป่าศรีฐานเป็นป่าจริง ๆ ไม่ให้ไปไหน คือท่านสั่งไว้ว่า ถ้าพระกรรมฐานมาไม่ว่าองค์ใดก็ตาม แก่หรือหนุ่มก็ตามถ้าเป็นพระกรรมฐาน นอกนั้นท่านไม่พูด แล้วมานี้อย่างไรก็ขอให้พบผมเสียก่อน.. ก่อนที่ท่านจะผ่านไปให้ได้พบผมเสียก่อน ผมจะได้พบพระองค์สำคัญเร็ว ๆ นี้ นี้นะ ท่านว่างั้น ท่านจึงจัดพระให้มาอยู่มาเฝ้าศาลา ครั้นเวลาพระมาเฝ้าศาลา พอดีเราไปที่นั่นองค์เดียว ขโมยหนีนี่ ตีตั๋วก็ไม่ให้ใครทราบ มาเยี่ยมมารดา ๒ คืน นี่ละต้นเหตุที่จากหมู่เพื่อนได้ ถ้าว่าไปเที่ยววิเวก โอ๋ย.. ไม่ได้นะ แหลกเลย รุม..เข้าใจไหม นี่จะไปเยี่ยมมารดาจะไปได้ยังไง จะไปหาที่สงัดยังไง ฟังแต่ว่าไปเยี่ยมแม่เป็นไรล่ะ มันก็หาทางออกได้ เราก็มาพักอยู่กับแม่ ๒ คืน ต่อจากนั้นก็ออก ออกไปไม่ให้ใครทราบ ให้น้องไปตีตั๋วสถานีรถไฟคำกลิ้งนี่ละ ไปลงขอนแก่นแล้วจะไปเข้าในภูเขา ความคิดว่าอย่างนั้น อำเภอภูเวียง พอตีตั๋วแล้วก็ขึ้นรถไฟไปคนเดียว มันก็บันดลบันดาลไปเจอเอาโยมคนหนึ่ง โยมคนนั้นก็คุ้นกับเรา คุ้นมหา.. คุ้นว่างั้นเถอะ แล้วคุ้นกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ อุปัชฌาย์เราด้วย พอไปเจอเราบนรถไฟ ‘เอ้ย ท่านอาจารย์มายังไง..ขึ้นเลย’ ‘เป็นบ้าหรือไง’ เราว่างั้น หมดละทีนี้ ความขลังของกู หมดละทีนี้ เป็นบ้าเรอะเราว่างั้น.. มันโมโห มันหมดแล้วความขลังของเรา เขาลบลายหมดแล้ว ไปนี้มันก็จะไปบอกท่านเจ้าคุณว่าเราไปทางไหน ๆ นี่ ท่านจะลงไหน ตีปากเอานะ บอกเท่านั้นพอ ไม่พูดมากนะ ทีแรกถามเราก็ว่าเป็นบ้าเหรอ ‘แล้วท่านอาจารย์จะตีตั๋วลงไหน’ ‘นี่ฟาดปากเอานะ’ เลยนิ่งเลย ทีนี้มันไม่อยู่เฉย ๆ ซิ มันคอยแอบดูเรา เวลาเราจะลงสถานีรถไฟ มันจะไปโคราช เราไปลงขอนแก่น ปั๊บลง..มันเห็นแล้วนะนั่น พอกลับไปก็ไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ละซิ แว้ด ๆ โอ๋ย.. อยากฟาดปากมันอีก มันโมโห หมดขลัง ไปอยู่ไม่ได้นาน.. ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ให้คนไปตามบอก ‘จะพาไปกรุงเทพฯ’ อย่างนั้นละ..เรื่องราวนะ พอลงรถไฟก็ไปวัดท่านอาจารย์คำดี ไปองค์เดียว สะพายบาตรไปองค์เดียว พระก็ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร พระองค์นั้นท่านเล่าละเอียดลออตามที่ท่านอาจารย์คำดีสั่งนะ ‘ผมมาอยู่ที่นี่ เพราะท่านอาจารย์คำดีสั่งให้ผมมา มาเฝ้าวัดอยู่ที่นี่ คือท่านบอกว่า ท่านได้เหตุว่าจะมีพระองค์สำคัญมาวัดเราเร็ว ๆ นี้ แล้วท่านก็สั่งเอาไว้ว่า ถ้าเป็นพระกรรมฐาน ไม่ว่าหนุ่มว่าแก่ อย่าด่วนให้ท่านไปไหน ให้พบกับท่านเสียก่อน เพราะฉะนั้น ท่านถึงได้สั่งให้ผมมาพักอยู่ที่ศาลา คอยต้อนรับพระ สังเกตพระที่ควรจะได้พบหรือไม่ได้พบ ผมจึงได้มาอยู่นี้’ ก็เลยมาเฝ้าตามท่านสั่ง แกก็เล่าสะเปะสะปะไป แล้วก็ไม่รู้ใครเป็นใคร เราเป็นใคร เราก็มีแต่คอยหลบคอยซ่อนตลอด จะเปิดง่าย ๆ ได้เหรอ ท่านก็พูดสะเปะสะปะไปตามภาษาของแก เป็นพระบวชใหม่ได้สองพรรษา .. เราก็ถาม ตอนนั้นพระไม่รู้เรานะ พระองค์นั้นไม่รู้ เราก็เลยถามว่า ‘ท่านให้มาอยู่ได้กี่คืนแล้ว ได้ ๒ คืนนี้แหละ’ ว่างั้นนะ จำได้จนกระทั้งชื่อ ชื่อท่านชื่อพระฮวด อย่างนี้ละ ถ้ามีเหตุมันไม่ได้ลืมนะเรา มันจับปั๊บเลย ที่นี้พอนั่งอยู่นั้น เราดูไปที่ไหน ๆ ท่านก็ว่ามาเฝ้าศาลาเฝ้าอะไร มีสาระอะไรบ้างบนศาลา มีที่ไหนมันก็ไม่มี มีแต่กระบอกไม้ไผ่ตัดเป็นกระโถน แต่ก่อนกระโถนไม่มี ถ้วยดินครอบไว้มุมเสา ๆ แล้วกระโถนนั่นก็คือไม้ไผ่ตัดครึ่ง เอาเป็นกระโถนแทน เราดูก็ไม่เห็นมีอะไร ที่ท่านสั่งไว้นั้นน่าจะเป็นความจริง เราก็คิด ต่อไปท่านก็ถามชื่อ ‘ท่านอาจารย์ชื่อว่ายังไง?’ ... ‘ถามไปทำไม’ ‘คือเวลามีพระกรรมฐานมาอย่างนี้แล้ว เวลาไปกราบเรียนท่าน ท่านถามชื่อถามนามก็จะได้กราบเรียนให้ท่านทราบ’ นั่นซิ..เราก็เลยบอกว่า ‘บัว’ ‘เหอ ๆ อาจารย์มหาบัวเหรอ !!!’ ‘อาจารย์อะไรก็จะเป็นไร’ เราว่างี้ ดุเลย ต่อจากนั้นก็รู้ล่ะซิ ‘โอ๊ย.. ท่านอาจารย์พูดถึงท่านอาจารย์อยู่ตลอดเวลา เทศน์สอนพระนี้ เอาท่านอาจารย์มาขนาบพระอยู่เรื่อย’ ที่นี้พอเราไปนั้น พระยังไม่รู้จักเรานี่ พอตกกลางคืนมาก็คุยธรรมะกัน ตอนเช้าตอนมาฉันจังหัน พระยังไม่รู้เรานี่ รู้เฉพาะท่าน เพราะเราไปอยู่กุฏิข้าง ๆ ท่าน ไปคุยกับท่านตอนกลางคืนแล้วกลับมานอนกุฏิ ตอนเช้าออกบิณฑบาต พอมาแล้วอันนี้ตอนสำคัญนะ คือท่านนั่งองค์หัวหน้า พอดีเราก็เป็นองค์ที่สองนั่งอยู่ข้าง ๆ ท่าน แล้วพระเณรก็นั่งเป็นแถว ทีนี้เวลาพระเณรแจกอาหารไปใกล้ ๆ ท่าน พอจัดอาหารถวายท่าน ท่านกระซิบ ‘นั่นรู้ไหม..เสือ ?’ ท่านว่าอย่างนั้นนะ ท่านพูดเบา ๆ ให้รู้เฉพาะพระองค์นั้น แต่เราหูดีก็ได้ยินอยู่ตลอด องค์ไหนก็ตามพอเข้าไปหาท่านใกล้ชิดท่าน ‘ให้รู้นะ..เสือ..ระวังนะ’ .. พระเณรกิริยาท่าทางก็เป็นธรรมดาของพระเณร ที่ท่านไม่ดุ..ว่างั้นเถอะ มันก็อาจเป็นไปอย่างนั้นละ ทีนี้พอท่านกระซิบต่อไปแล้ว องค์ใดผ่านท่านจะกระซิบทั้งนั้นละ เราได้ยินตลอด ๆ เลย แต่เราก็เฉยเหมือนไม่ได้ยิน .. พอวันหลังมาพระเณรเรียบหมด แปลกอยู่ หลังจากนั้นแล้วเรียบหมด คงรู้กันหมดทั้งวัด นี่ละองค์ที่ท่านเอามาขนาบพวกเราอยู่ทุกวัน คือองค์นี้เอง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 12:52 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#458
|
|||
|
|||
ธุดงค์จันทบุรี อีกคราวหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ องค์ท่านหลบหลีกหมู่เพื่อน แวะไปเที่ยววิเวกทางจังหวัดจันทบุรี ซึ่งท่านได้เล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ ดังนี้ “... เราขโมยหนีจากหมู่เพื่อน จากห้วยทราย มุกดาหาร มาจันทบุรี พ.ศ. ๒๔๙๕ มาหลบภาวนาอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง ... ที่ขโมยหนีหมู่เพื่อนไปนะ เพราะลำบาก รำคาญ หาอุบายมาเยี่ยมโยมแม่..จะไปยังไง..ไปเยี่ยมโยมแม่.. มันหาความสงัดที่ไหน มานั่นพระรู้หมดแล้วแหละ ยังไงก็จะเผ่น ที่ไหนแหละ มานี้ปั๊บ มาเยี่ยมโยมแม่สองคืน ปั๊บลงจันทบุรี หนีไปนู้นแหละ ไม่ให้ใครทราบนะไปจันทบุรีก็ไม่ให้ใครทราบเหมือนกัน ไปพักอาศัยอยู่กับอาจารย์เฟื่อง*” ... เมื่อเรามาถึงแล้วก็บอกท่านอาจารย์เฟื่อง (โชติโก) ว่า ‘ผมไม่ไปฉันในที่ไหน ๆ ขออย่าให้ผมเกี่ยวข้องกับอะไรต่าง ๆ ส่วนเรื่องการนิมนต์ออกไปฉันที่นั่นที่นี่ตามงานต่าง ๆ ขออย่าให้ผมเกี่ยวข้องเลย ผมมาพักผ่อนภาวนา สบาย ๆ ของผมต่างหาก’ ในตอนนั้น พระวัดป่าคลองกุ้งก็ไม่มาก วัดยังเป็นป่าเป็นดง ส่วนในเรื่องการบิณฑบาต ก็บิณฑบาตกับชาวสวนที่อยู่ในถิ่นแถวนั้น ไม่ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมือง อาจารย์เฟื่องท่านก็พาเราไปบิณฑบาตตามบ้านชาวสวน ส่วนพวกพระเข้าไปบิณฑบาตในเมือง ... อาจารย์เฟื่องเป็นคู่กับอาจารย์เจี๊ยะ อยู่นั่นสบาย คือการถูกนิมนต์ไปฉันที่นั่นที่นี่..ไม่ให้ไปยุ่งเลย ... เราสั่งขาดเลย พอไปอยู่ที่นั่น เราก็เลยเป็นผู้มีพรรษาแก่กว่าท่าน เราก็มอบให้ท่านหมด เราไม่ไปเลยจริง ๆ ท่านดูเหมือนไปแทบทุกวัน เดี๋ยวร้านนั้นนิมนต์ ร้านนี้นิมนต์ไปฉัน เราอยู่ที่นั่นสบาย เป็นป่าล้วน ๆ เรียกว่าวัดป่าคลองกุ้ง ถูกต้อง..มีเท่านั้น นอกนั้นเป็นป่าหมดเลย นั่นแหละเป็นครั้งแรกที่เราไป ไปคนเดียวนั่นแหละ ไปอยู่สบาย ๆ .. เรากับอาจารย์เฟื่องเคยอยู่ด้วยกันที่วัดป่าหนองผือ สกลนคร ส่วนอาจารย์เจี๊ยะ (จุนโท) กับเราก็เคยอยู่ด้วยกันที่วัดบ้านโคกนามน สกลนคร จำพรรษาด้วยกันที่นั่น ก็เลยคุ้นกันมาตั้งแต่อยู่ร่วมสมัยหลวงปู่มั่นโน้น เพราะฉะนั้น เราถึงมาหลบซ่อนตัวอยู่ทางจันทบุรีนี้ เพราะเราทราบแล้วว่าอาจารย์เจี๊ยะกับอาจารย์เฟื่องอยู่ที่นี่ คุ้นกับท่านมานานมาก เราจากหมู่เพื่อนมาหลบอยู่จันทบุรี เนื่องจากหมู่เพื่อนรุมตั้งแต่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมรณภาพลง รุมมากจนกระทั่งไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ เราจึงได้เกี่ยวกับหมู่เพื่อนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คือตั้งแต่ปีหลวงปู่มั่นมรณภาพ ๒๔๙๒ ถวายเพลิงท่านปี ๒๔๙๓ พอเดือนกุมภาพันธ์ หมู่เพื่อนวิ่งตามเรา..ไปไหนตามเกาะอยู่ตลอด พออยู่จันทบุรีพอสมควรแล้วจึงย้อนกลับไปห้วยทราย มุกดาหาร ตามเดิม...” =============================== * เกิดในสกุล เชื้อสาย เมื่อวันอังคาร ที่ ๖ แรม ๖ ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่บ้านน้ำฉู่ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พ.ศ. ๒๔๗๘ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ พ.ศ. ๒๔๘๐ พบพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธัมมธโร) และได้ญัตติเข้าคณะธรรมยุติ, พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต, วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ มรณภาพที่ประเทศฮ่องกง, วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ บรรจุพระศพ ณ สถูปญาณวิศิษฏ์ รวมสิริชนมายุได้ ๗๑ ปี พรรษา ๔๙ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-06-2020 เมื่อ 17:11 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#459
|
|||
|
|||
นิมิตอัศจรรย์ “สรงน้ำพระพุทธรูปทองคำ” หยั่งรู้อนาคต ในคืนหนึ่งที่ห้วยทราย มีนิมิตอัศจรรย์ปรากฏขึ้นมา ให้ท่านได้ทราบถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้ “... เหตุที่จะบวชโยมแม่มันก็มีต้นเหตุ นู่น.. อยู่ห้วยทราย มันไปเจอทางนู้นแล้ว เป็นขึ้นทางนู้นแล้ว มาก็ได้เล่าให้หมู่เพื่อนฟัง ‘เอ้อ.. ไอ้เรานี้นึกว่าจะไปสะดวกสบาย นี่มันจะไม่สะดวกสบายนะ’ มาพิจารณา คืนนี้ปรากฏเรื่องเกี่ยวกับโยมแม่มาเกี่ยวกับเรา ตลอดถึงเรื่องของโลกนี้ก็มาเกี่ยวกับเรา คือคำว่าโลกมาเกี่ยวกับเรา ได้แก่วันนั้น.. เวลามันแสดงขึ้นภายในจิตใจนี้ เหมือนว่าเรานี่จะขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้ามากต่อมาก ... เป็นแท่นที่สูงประมาณสัก ๑ เมตร ๓๐ ความสูงนะ เป็นแท่นใหญ่ เราขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นิมิตแสดงออก ครั้นเวลาก้าวขึ้นไปแล้ว เป็นพระพุทธเจ้ารูปทองคำทั้งแท่ง ๆ เท่าองค์ของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ไปเลย อยู่บนแท่น น้ำที่เรานำไปก็มีน้ำหอม น้ำอะไรที่เป็นน้ำเคารพนับถือนั่นแหละ ขึ้นไปก็ประพรมท่านด้วยความเคารพ เรื่องของในนิมิตมันก็ไม่นาน พระพุทธเจ้าที่อยู่บนแท่น พระเป็นทองคำทั้งแท่ง ไปประพรมท่านด้วยความเคารพ ๆ ๆ ทั่วถึงไปหมด ฟังซิว่าทั่วถึงไปหมดในเวลาไม่เนิ่นนาน พอก้าวออกจากนั้นมา ดูประชาชนนี้แน่นหมดเลย อ้าว.. นี่มันนิมิตยังไงอีก แต่มันก็รู้ของมันเอง ลงมานี้เขารอรับน้ำพุทธมนต์อยู่ รับน้ำสรงน้ำพุทธมนต์จากเราเต็มไปหมดเลย พอลงจากแท่นพระพุทธรูปแล้ว ก็ลงมาประพรมน้ำมนต์ให้ประชาชน ไม่ใช่เป็นน้ำอบน้ำหอมที่เราขึ้นประพรมสรงพระพุทธเจ้านะ อันนั้นขึ้นด้วยนิมิต มันขึ้นพอเหมาะพอดีด้วยความเคารพ ภาชนะอะไรที่จะไปสรงน้ำท่านก็เหมาะสมทุกอย่าง ในนิมิตมันพูดไม่ได้มันหากพร้อมกัน พอสรงน้ำไม่เนิ่นนานนักก็ทั่วถึงหมดเลย เรามาพิจารณาตรองตามเรื่องนี้ ‘เอ๊.. โยมแม่กับเรานี้ ถ้าไม่เอาโยมแม่บวชเห็นจะไม่ได้ มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้’ พิจารณา ผมก็เข้าใจ ๆ ไปตามลำดับของนิมิตที่เป็นเครื่องเทียบเคียง โยมแม่เราก็เอามาบวชตั้งแต่โน้น ส่วนที่รดน้ำประชาชนนี้ เกี่ยวกับการสั่งสอนประชาชนนั้น เราก็เข้าใจ ส่วนเรื่องสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งหลาย เราไม่พูดเท่านั้น เรื่องนิมิตมันก็แปลก มองไปทางนี้ประชาชนแน่นหมด รอบหมดเลย นี่มันอะไรกันอีก แล้วมันก็เข้าใจ ลงไปทีนี้ประพรมเหมือนกับว่าน้ำพุทธมนต์ให้ประชาชน พอออกจากนี้ไปแล้วก็มีแต่ประชาชน เรื่องพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าหาย ผ่านไปแล้วหายเงียบเลย ทีนี้มีแต่ประชาชนเต็มหมดเลย มองไปไหนสุดสายหูสายตา ฟากจากนั้นไปอีกพักหนึ่งลงต่ำไป มันต่ำกว่ากันประมาณสักวากว่า ๆ เราก็ลงจากฟากนั้นลงไป ทีนี้เวลาประพรมน้ำมนต์ให้ประชาชน รดน้ำมนต์ประชาชนนี้ มันออกจากนิ้วมือออกจากฝ่ามือ พอมือเราสาดน้ำนี้แตกกระจายไปเลย แตกกระจายนี้ทั่วถึงอย่างรวดเร็ว มันก็ชัดเหมือนกันพอส่ายนิ้วมือนี้ ช่า ๆ ๆ ไปหมด น้ำนี้ออกจากนิ้วมือ มันก็ใม่นาน มันทั่วถึงหมดนะ มาก ๆ นั่นน่ะ เพราะมันเป็นในนิมิตให้รู้เรื่องราว พอส่ายมือไปนี้น้ำอันนี้จะออกจากปลายมือ ๆ นี้ ช่า ๆ ๆ สาดนู้นสาดนี้จนรอบหมดในเวลาไม่นานเลย พอจากนั้นปั๊บลงไปแล้ว อ้าว.. จะลงจากที่ประพรมน้ำมนต์ให้ประชาชน จากนั้นมาเกี่ยวกับโยมแม่ เห็นโยมแม่มาข้างล่าง ตอนนั้นเรายังเหาะอยู่ ประชาชนนั่งอยู่นี้ เหมือนเราเหาะอยู่บนประชาชน น้ำส่ายมือไปนี้ น้ำออกปั๊บ ๆ กำลังก้าวลงไป โยมแม่อีกแล้ว อ้าว.. โยมแม่มาคอยอยู่นั้น ‘อ้าว.. นี่จะไปไหนอีกล่ะ’ ‘ไม่ไปไหนแหละ’ ‘จะไปแล้วเหรอ จะไม่กลับเหรอ’ ลักษณะว่างั้น ‘อ๋อ.. ไปทำประโยชน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะกลับมา’ คือเวลาจะลงมาเห็นอย่างนั้น พอว่างั้นก็เลยลงไป ตอนนี้ยังมัว ๆ นิดหน่อย ดูว่าเวลาจะขึ้นนะ โยมแม่มารออยู่นี่ จะขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้าและประชาชนทั้งหลาย โยมแม่ว่า ‘เหอ จะไปแล้วเหรอ จะไม่กลับมาแล้วเหรอ’ ว่างั้นนะ เราบอกว่า ‘จะกลับ คือเราจะไปทำธุระ เรียบร้อยแล้วจะกลับมาหาโยมแม่ รออยู่นี่แหละ’ เราว่างั้น รออยู่นี่ หมายถึงรออยู่บ้านโยมแม่ พอว่าอย่างนั้นแล้วเราก็ผ่านขึ้น สรงน้ำเสร็จแล้ว โยมแม่ปูเสื่อเอาไว้ ก็มีบ้านหลังหนึ่งเล็ก ๆ หลังในนิมิต ปูเสื่อไว้ก็มีน้องชายคนหนึ่ง นั่งอยู่นั้น คอยอยู่ เราก็เหาะลงไปหน้าบ้านขึ้นไปนั่ง พอลงไปแล้วเราก็ไปนั่งเสื่อ โยมแม่ก็นั่งอยู่นี้ น้องชายนั่งอยู่คนหนึ่ง เหมือนกับจะสอนโยมแม่อะไร ๆ นี่แหละ พอดีรู้สึกตัวเสีย พอไปถึงอันนี้ยังไม่ได้สอนว่าไงนะ มันก็รู้ในจิตทันทีเลย ทีนี้จิตมันก็ถอยออกมา เรื่องราวก็เลยหมดไป มันก็เข้าใจทันที แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-06-2020 เมื่อ 16:36 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#460
|
|||
|
|||
‘เอ้อ.. เรานี้จะไปไหนไม่พ้นละนะ โยมแม่มาเกี่ยวกันแล้ว ไอ้เด็กน้องชายนี่ มันมีอะไรอีกนะ มันมีอะไรมาเกี่ยวพันกับเราอีกนะ’
จากนั้นไปแล้ว เราจึงได้พิจารณา จึงได้กลับมาบวชโยมแม่ ไปไหนไม่ได้นะ เกี่ยวกับโยมแม่แล้ว ออกมาก็มาบวชโยมแม่ได้อย่างคล่องตัว ไม่มีอุปสรรคขัดข้องประการใดเลย แล้วไอ้น้องชายนั้นก็มีธุระ เราไปเปลื้องเหตุผลกลไกอะไรทุกอย่าง.. ให้ผ่านไปได้เรียบร้อย แน่ะ..มันก็มาเกี่ยวข้องกับเรา เรื่องราวสงบเรียบร้อยไป จากเราเป็นผู้ไประงับเหตุการณ์ต่าง ๆ ทีนี้ก็มาพิจารณานี้ เราพูดจริง ๆ อ้าว.. ทีนี้จะเปิดนะ เรื่องที่ขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้านี้ พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ เต็มไปหมดเลยอยู่บนแท่น ขึ้นไปแล้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งแท่ง ๆ นี้ มันก็วิ่งถึงกันนี่แหละ ที่ว่าจิตขอให้ได้ถึงวิมุติเถอะน่ะ พอมันจ้าขึ้น.. เท่านี้มันจะถึงกันหมด บรรดาพระพุทธเจ้าไม่ต้องถามกัน เป็นอันเดียวกันหมดเลย ครอบไปหมดเลย ถึงหมด นี่เราแยกออกนะ พออันนี้มันผางเข้าไปจุดนั้นแล้ว มันจะทั่วถึงกันหมด บรรดาพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากน้อยทั่วถึงกันหมด เป็นอันเดียวกันเลย ดังที่เคยพูดแล้วเหมือนน้ำมหาสมุทร ทีนี้ออกจากนี้ไปมันเกี่ยวข้องอะไรอีก นี่ก็มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการแนะนำสั่งสอนประชาชนอย่างทุกวันนี้ เห็นไหมล่ะ มันก็พอเป็นพยานได้แล้วมิใช่เหรอ สอนประชาชนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย.. สอนไม่หยุดไม่ถอย กว้างขวางออกไปจนออกทั่วโลก นี่ที่ว่าเอามือส่ายไปอย่างนี้ มันก็เข้ากันได้ เอาโยมแม่มาบวช แนะนำสั่งสอนโยมแม่ เรื่องราวจึงจบลงไป มันก็เดินตามนั้นไม่เห็นผิด นี่ได้ออกปากพูดจริง ๆ ให้กับหมู่เพื่อนฟังเรื่องเฉพาะโยมแม่นี่ เรามาพิจารณาตรองตามเรื่องนี้ ‘ผมไปไหนไม่รอดนะ โยมแม่มีมาเกี่ยวข้องแล้ว จะต้องได้เกี่ยวข้องกับโยมแม่ ถ้าไม่เอาโยมแม่บวช.. เห็นจะไม่ได้ มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้’ พิจารณาผมก็เข้าใจ ๆ ไปตามลำดับของนิมิตที่เป็นเครื่องเทียบเคียง โยมแม่เราก็เอามาบวชตั้งแต่โน้น เรื่องโลก เรื่องสงสารมันก็เกี่ยวพันมา ดังที่แนะนำสั่งสอน มันไม่ได้เป็นไปด้วยความเสความแสร้งอะไรนะ มันเป็นไปโดยหลักธรรมชาติ ส่วนที่รดน้ำประชาชนนี้ เกี่ยวกับการสั่งสอนประชาชนนั้น เราก็เข้าใจ ส่วนเรื่องสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งหลาย เราไม่พูดเท่านั้น เรื่องนิมิตมันก็แปลก ส่วนที่ขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้านี้ เราก็ไม่เคยคาดเคยคิด ไม่อาจไม่เอื้อมว่าจะเป็นอย่างนั้น ขึ้นมาแล้วจะได้พูดอย่างนี้ขึ้นมา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-06-2020 เมื่อ 16:49 |
สมาชิก 11 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|