|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#381
|
|||
|
|||
ว่างในสมาธิ ว่างในขั้นอรูปธรรม ว่างอกาลิโก “.. ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เมื่อปัญญาพิจารณารอบคอบแล้วก็ดับไปในขณะนั้น จิตก็ลงสู่ความสงบได้อย่างเต็มที่ ในระยะเช่นนี้จะว่าจิตว่างก็ได้อยู่ แต่ว่างในสมาธิ พอจิตถอยออกมา ความว่างก็หายไป จากนั้นก็พิจารณาไปอีก และพิจารณาต่อไปเรื่อย ๆ จนจิตมีความชำนาญในด้านสมาธิ ขอสรุปความให้ย่อลงเพื่อให้พอดีกับเวลา เมื่อสมาธิมีกำลังทางด้านปัญญา ก็เร่งพิจารณาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจนรู้เห็นชัด และสามารถถอดถอนอุปาทานของกายได้โดยสิ้นเชิง จากนั้นจิตก็จะเริ่มว่าง แต่ยังไม่แสดงความว่างอย่างเต็มที่ ยังมีนิมิตภายในแสดงภาพปรากฏอยู่กับใจ เพราะในระยะนี้ใจว่างจากกายและวัตถุภายนอก แต่ยังไม่ว่างจากนิมิตภายในของตัวเอง จนกว่าจะมีความชำนาญโดยอาศัยการฝึกซ้อมไม่ลดละ นิมิตภายในใจก็นับวันจางไป สุดท้ายก็หมด ไม่ปรากฏนิมิตทั้งภายนอกภายในใจ นั่นท่านเรียกว่าจิตว่าง ว่างชนิดนี้เป็นเรื่องว่างประจำนิสัยของจิต ที่มีภูมิธรรมประจำขั้นแห่งความว่างของตน นี่ไม่ใช่ว่างสมาธิและไม่ใช่ว่างในขณะที่นั่งสมาธิ ขณะที่นั่งสมาธิเป็นความว่างของสมาธิ แต่จิตที่ปล่อยวางจากร่างกายเพราะความรู้รอบด้วยนิมิตภายในก็หมดสิ้นไป เพราะอำนาจของสติปัญญารู้เท่าทันด้วย นี่แลชื่อว่าว่างตามฐานะของจิต เมื่อถึงขั้นนี้แล้วจิตว่างจริง ๆ แม้กายจะปรากฏตัวอยู่ก็สักแต่ความรู้สึกว่ากายมีอยู่เท่านั้น แต่ภาพแห่งกายหาได้ปรากฏเป็นนิมิตภายในจิตไม่ ว่างเช่นนี้แลเรียกว่า ว่างตามภูมิของจิตและมีความว่างอยู่อย่างนี้ประจำ ถ้าว่างเช่นนี้ว่าเป็นนิพพาน ก็เป็นนิพพานของผู้นั้นหรือของจิตนั้นขั้นนั้น แต่ยังไม่ใช่นิพพานว่างของพระพุทธเจ้า ถ้าผู้จะถือสมาธิเป็นความว่างของนิพพาน ในขณะจิตที่ลงสู่สมาธิก็เป็นนิพพานของสมาธิแห่งโยคาวจรผู้ปฏิบัติผู้นั้นเสียเท่านั้น ความว่างทั้งสองประเภทที่กล่าวมานี้.. ไม่ใช่เป็นนิพพานว่างของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุใด ? เพราะจิตที่มีความว่างในสมาธิ จำต้องพอใจและติดในสมาธิ จิตที่มีความว่างตามภูมิของจิต จำต้องมีความดูดดื่มและติดใจในความว่างประเภทนี้ จำต้องถือความว่างนี้เป็นอารมณ์ของใจจนกว่าจะผ่านไปได้ ถ้าผู้ถือความว่างนี้เป็นนิพพาน ก็เรียกว่าผู้นั้นติดนิพพานในความว่างประเภทนี้โดยเจ้าตัวไม่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความว่างประเภทนี้จะจัดว่าเป็นนิพพานได้อย่างไร ถ้าไม่ต้องการนิพพานขั้นนี้ ก็ควรกางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกตรวจตราดูให้ชัดเจนและละเอียดถี่ถ้วน เพราะความว่างที่กล่าวนี้เป็นความว่างของเวทนา คือสุขเวทนามีเต็มอยู่ในความว่างนั้น สัญญาก็หมายว่าง สังขารก็ปรุงแต่เรื่องความว่างเป็นอารมณ์ วิญญาณก็ช่วยรับรู้ทางภายใน ไม่เพียงจะรับรู้ภายนอก.. เลยกลายเป็นนิพพานของอารมณ์ ถ้าพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้ชัดและความว่างให้ชัด โดยเห็นเป็นเรื่องของสังขารธรรม คือสิ่งผสมนั่นแล จะมีช่องทางผ่านไปได้ในวันหนึ่งแน่นอน เมื่อพิจารณาตามที่กล่าวนี้ ขันธ์ทั้งสี่และความว่างซึ่งเป็นสิ่งปิดบังความจริงไว้ ก็จะค่อยเปิดเผยตัวออกมาทีละเล็กละน้อยจนปรากฏได้ชัด จิตย่อมมีทางสลัดตัวออกได้ แม้ฐานที่ตั้งของสังขารธรรมที่เต็มไปด้วยสิ่งผสมนี้ ก็ทนต่อสติปํญญาไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งเกี่ยวโยงกัน สติปัญญาประเภทค้นแร่แปรธาตุจะฟาดฟันเข้าไป เช่นเดียวกับไฟได้เชื้อลุกลามไปไม่หยุด จนกว่าจะขุดรากเหง้าของธรรมผสมนี้ขึ้นได้เสียเมื่อใด.. เมื่อนั้นจึงจะหยุดการรุกการรบ เวลานี้มีอะไรที่เป็นข้าศึกต่อนิพพาน ว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า คือสิ่งที่ติดใจอยู่ในขั้นนี้และขณะนี้แลเป็นข้าศึก สิ่งที่ติดก็ได้แก่ความถือว่าใจของเราว่างบ้าง สบายบ้าง ใสสะอาดบ้าง ถ้าจะเห็นว่าใจมันว่าง แต่มันอยู่กับความไม่ว่าง ใจมันเป็นสุขแต่มันอาศัยอยู่กับทุกข์ ใจใสสะอาดแต่มันอยู่กับความเศร้าหมองโดยไม่รู้สึกตัว ความว่าง ความสุข ความใส.. นั่นแลเป็นธรรมปิดบังตัวเอง เพราะธรรมทั้งนี้คือเครื่องหมายของภพชาติ ผู้ต้องการตัดภพตัดชาติจึงควรพิจารณาให้รู้เท่าทันและปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ อย่าหวงไว้เพื่อก่อไฟเผาตัว ถ้าปัญญาขุดค้นลงตรงที่สามจอมกษัตริย์แห่งภพปรากฏอยู่ นั้นแลจะถูกองค์การใหญ่ของภพชาติและจะขาดกระเด็นออกจากใจทันที ที่ปัญญาหยั่งลงถึงฐานของเขาตั้งอยู่ เมื่อสิ่งทั่งนี้สิ้นไปแล้วเพราะอำนาจของปัญญา นั่นแลเป็นความว่างอันหนึ่ง เครื่ีองหมายของสมมติใด ๆ จะไม่ปรากฏในความว่างนั้นเลย นี่คือความว่างที่ผิดกับความว่างที่ผ่านมาแล้ว ความว่างประเภทนี้ เราจะว่าเป็นความว่างของพระพุทธเจ้าหรือความว่างของใครนั้น ผู้แสดงไม่สามารถจะเรียนให้ทราบได้ว่าจะควรเป็นความว่างของใคร นอกจากจะเป็นความว่างที่รู้เห็นกันอยู่ด้วยสันทิฏฐิโกของผู้บำเพ็ญเท่านั้น ความว่างอันนี้ไม่มีกาลสมัย เป็นอกาลิโกอยู่ตลอดกาล ความว่างในสมาธิมีความเปลี่ยนแปลงไปได้ ทั้งด้านความเจริญและความเสื่อม ความว่างในขั้นอรูปธรรม ซึ่งกำลังเป็นทางเดินก็แปรสภาพหรือผ่านไปได้ แต่ความว่างในตนเองโดยเฉพาะนี้ ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เพราะตนไม่มีอยู่ในความว่างนั้น และไม่ถือความว่างนั้นว่าเป็นตน นอกจากนี้ ยถาภูตัง ญาณทัสสนัง เห็นตามเป็นจริงในหลักธรรมชาติแห่งความว่างนั้น และเห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมที่ผ่านมาเป็นลำดับ และที่มีอยู่ทั่วไปเท่านั้น แม้ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นธรรมเครื่องแก้ไขก็รู้เท่าและปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง ไม่มีสิ่งใดจะเข้าไปแฝงอยู่ในธรรมชาติแห่งความว่างในวาระสุดท้ายนั้นเลย โปรดนำความว่างทั้งสามประเภทนี้ไปพิจารณา และพยายามบำเพ็ญตนให้เข้าถึงความว่างทั้งสามนี้ เฉพาะอย่างยิ่งความว่างในวาระสุดท้ายซึ่งเป็นความว่างในหลักธรรมชาติ ไม่มีผู้ใดและสมมติใด ๆ อาจเอื้อมเข้าไปทำการเกี่ยวข้องได้อีกต่อไป ความสงสัยนับแต่ขั้นต้นแห่งธรรม จนถึงความว่างอย่างยิ่ง จะเป็นปัญหาที่ยุติกันลงได้ ด้วยความรู้ความเห็นของตนเป็นผู้ตัดสินเอง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-10-2017 เมื่อ 01:40 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#382
|
|||
|
|||
พระโมฆราช “... พระพุทธเจ้าทรงสอนพระโมฆราชว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ. ดูก่อนโมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาโลกให้เป็นของสูญเปล่า ว่างเปล่า ถอนอัตตานุทิฏฐิ ที่ถือว่าเป็นเขาเป็นเรา ซึ่งเป็นเหมือนกับก้างขวางคอนี้ออกเสีย จะพึงข้ามพ้นพญามัจจุราชเสียได้ พญามัจจุราชจะตามไม่ทัน มองไม่เห็นผู้พิจารณาโลกเป็นของว่างเปล่าอยู่อย่างนี้ พระโมฆราชก็บรรลุธรรมขึ้นในธรรมบทนี้ละ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-12-2017 เมื่อ 20:18 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#383
|
|||
|
|||
โลกธาตุสะเทือนสะท้าน สลดสังเวชการเวียนว่ายตายเกิด ผลแห่งความพากเพียรปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุดของท่านในคืนนั้น ทำให้เกิดความสลดสังเวชใจในการเวียนว่ายต่ายเกิดของตน ดังนี้ “... จนถึงคืนวันดับนั้นถึงได้ตัดสินใจกันลงได้ด้วยความประจักษ์ใจ... หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่องกิเลสตัณหา อาสวะทุกประเภท ได้ขาดกระเด็นออกไปจากใจในคืนวันนั้น ใจได้เปิดเผยโลกธาตุให้เห็นอย่างชัดเจน เกิดความสลดสังเวช น้ำตาร่วงตลอดคืน ในคืนนั้นไม่ได้หลับนอนเลย เพราะสลดสังเวชความเป็นมาของตน สลดสังเวชเรื่องความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะอำนาจแห่งกิเลสมันวางเชื้อแห่งกองทุกข์ฝังใจไว้ ไปเกิดในภพนั้นชาตินี้ มีแต่แบกกองทุกข์ หามกองทุกข์ ไม่มีเวลาปล่อยวาง จนกระทั่งถึงตายไปแล้วก็แบกอีก ๆ คำว่าแบกก็คือใจเข้าสู่ภพใดชาติใด จะมีสุขมากน้อย.. ทุกข์ต้องเจือปนไปอยู่นั่นแล จึงได้เห็นโทษ เกิดความสลดสังเวช แล้วก็มาเห็นคุณค่าแห่งจิตใจซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคิด ว่าจิตใจจะมีคุณค่ามหัศจรรย์ถึงขนาดนั้น การไม่นอนในคืนนั้นเพราะความเห็นโทษอย่างถึงใจ และความเห็นคุณอย่างถึงจิตถึงธรรม ในตอนท้ายแห่งความละเอียดอ่อนของจิต เราก็เห็นว่าอวิชชาเป็นของดีและประเสริฐไปอย่างสนิทติดจมไปพักหนึ่ง... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-12-2017 เมื่อ 20:20 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#384
|
|||
|
|||
หลงอวิชชาอยู่เป็นเวลา ๘ เดือนไม่เคยลืม เพราะรักสงวนอวิชชาซึ่งเป็นตัวผ่องใส ตัวสง่าผ่าเผย ตัวองอาจกล้าหาญ จึงรักสงวนอยู่นั้นเสีย... ทั้ง ๆ ที่สติปัญญาก็มีเต็มภูมิ แต่ไม่นำมาใช้กับอวิชชาในขณะนั้น เมื่อได้นำสติปัญญาหันกลับมาใช้กับอวิชชาอย่างเต็มภูมิ เรื่องอวิชชาจึงแตกกระจายลงไป ถึงได้เห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาภายในจิตใจนั้นแหละ จึงเป็นความอัศจรรย์อย่างแท้จริง ไม่อัศจรรย์แบบจอมปลอมดังที่เป็นมา...”
โลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหวเกิดขึ้น ในขณะที่ธรรมภายในใจของท่านกระจ่างแจ้งขึ้นมาดังนี้ “... อยัญจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ หมี่นโลกธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ มีความสะเทือนสะท้านทั่วถึงกันหมดเลยไปหมื่นโลกธาตุนี้ อำนาจอานุภาพความสว่างไสวของเทวดาทั้งหลายทั้งแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีอานุภาพของเทวดาตนใดจะเสมอเหมือนอานุภาพแห่งธรรมของพระพุทธเจ้า.. ตรัสรู้แล้วกระจ่างแจ้งขึ้นมาในเวลานั้น แต่เมื่อธรรมนั้นกระจ่างขึ้นมาภายในใจเราซึ่งเป็นธรรมประเภทเดียวกัน.. รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกันแล้วจะไปทูลถามผู้ใดแม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้า พูดแล้ว.. สาธุ ! ไม่กราบทูลหรือไม่ทูลถามท่านให้เสียเวลา เพราะคำว่า สันทิฏฐิโก ที่รู้เองเห็นเองนั้นเป็นธรรมที่ประกาศด้วยความเลิศเลอสุดยอดแล้ว ‘นี่เราก็ไปเจอเข้าแล้วประจักษ์ใจ ประหนึ่งว่าแดนโลกธาตุนี้ไหวไปหมด’ ในขณะที่กิเลสตัวกดถ่วงมาตั้งกัปตั้งกัลป์ ตัวพาให้เกิดให้ตาย เพียงเราคนเดียวนี้ การเกิดตายของเรา หากว่าเอาประเทศไทยเป็นป่าช้าแล้วน่ะ ร่างกายของเราเพียงคนเดียวนี้ ไม่มีที่ใดที่จะเก็บจะวางศพของตัวเอง ‘มากไหม พิจารณาสิ !’ เพราะมันเกิดมันตาย มันเกิดมันตายมาไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย จนกระทั่งคืนวันนั้นเป็นวันตัดสินขาดสะบั้นไป.. ระหว่างป่าช้าคือความเกิดตายกับใจของเราที่บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากความเกิดตาย ‘ใจกระจ่างแจ้งขนาดนั้นแล้ว โลกธาตุจะไม่หวั่นไหวได้ยังไง กิเลสมันหนักขนาดไหน ฟังซิ’ หลังจากนั้นแล้ว ความสว่างจ้าครอบโลกธาตุกลับปรากฏขึ้นในใจดวงเดียวที่เคยมืดบอดมากี่กัปกี่กัลป์ นี่แหละ..ความสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาโดยไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้าเลย เพราะหายสงสัยทุกอย่าง นี้เรียกว่าจิตมีความกระจ่างแจ้งครอบโลกธาตุแล้ว...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-02-2018 เมื่อ 20:14 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#385
|
|||
|
|||
น้ำตาร่วง สลดสังเวชและอัศจรรย์ในธรรม ความรู้เห็นประจักษ์ใจบนดอยธรรมเจดีย์นี่เอง ทำให้ท่านถึงกับน้ำตาร่วงด้วยเหตุผลสองประการ ท่านเล่าไว้ดังนี้ “... ร่วงสองอย่าง ร่วงด้วยความสลดสังเวชภพชาติแห่งความเป็นมาของตนหนึ่ง เพราะความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายที่ท่านหลุดพ้นไปแล้ว ท่านก็เคยเป็นมาอย่างนี้หนึ่ง เราก็เป็นมาอย่างนี้ คราวนี้เป็นความอัศจรรย์ในวาระสุดท้ายได้ทราบชัดเจนประจักษ์ใจ เพราะตัวพยานก็มีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว แต่ก่อนจิตเคยมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับสิ่งใด บัดนี้ไม่มีสิ่งใดจะติดจะพัวพันอีกแล้ว.. เกิดความอัศจรรย์ในธรรมที่ปรากฏขึ้นโดยปราศจากสมมุติใด ๆ เข้าไปเจือปนในจิตดวงนั้น ถึงกับทำให้เกิดความขวนขวายน้อย ไม่คิดจะสอนผู้หนึ่งผู้ใด เพราะคิดในเวลานั้นว่าสอนใครก็ไม่ได้ ถ้าลงธรรมกับใจเป็นของอัศจรรย์เหลือล้นถึงขนาดนี้แล้ว ไม่มีใครที่จะสามารถรู้ได้เห็นได้ในโลกอันนี้ เพราะเหลือกำลังสุดวิสัยที่จะรู้ได้ เบื้องต้นที่เป็น ทั้งนี้เพราะจิตยังไม่ได้คิดในแง่ต่าง ๆ ให้กว้างขวางออกไปถึงปฏิปทาเครื่องดำเนิน จึงได้ย้อนกลับมาพิจารณาทบทวนกันอีก ทั้งฝ่ายเหตุคือปฏิปทา ทั้งฝ่ายผลที่ปรากฏในปัจจุบันว่า ถ้าธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่คนอื่น ๆ จะรู้ได้แล้ว เราทำไมถึงรู้ได้ เราก็เป็นคน ๆ หนึ่งเหมือนกับมนุษย์ทั่ว ๆ ไป เรารู้ได้เพราะเหตุใด ก็ย้อนเข้ามาหาปฏิปทา พิจารณากระจายออกไปจนได้ความชัดเจนว่า ‘ถ้ามีปฏิปทาคือข้อปฏิบัติแล้ว ก็จะต้องได้รู้อย่างนี้’ ท่านผู้ใดบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์เต็มภูมิ ดังที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้แล้ว ธรรมชาตินี้ไม่ต้องมีใครมาบอก จะรู้เองเห็นเองเพราะอำนาจแห่งมัชฌิมาปฏิปทา เป็นเครื่องบุกเบิกทำลายสิ่งที่รกรุงรังพัวพันอยู่ภายในใจ จนแตกกระจายออกไปหมด เหลือแต่ธรรมล้วน ๆ จิตล้วน ๆ ที่เป็นจิตบริสุทธิ์..” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-03-2018 เมื่อ 16:10 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#386
|
|||
|
|||
ดำเนินตามมรรค ๘ พ้นทุกข์ได้จริง ท่านกล่าวแสดงให้เห็นเป็นที่แน่ใจได้ว่า หากยังมีผู้พากเพียรดำเนินตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์ ๘ อย่างจริงจังให้สมบูรณ์เต็มภูมิแล้ว ย่อมประจักษ์ผลเป็นความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ จากการเวียนว่ายตายเกิดได้ด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังนี้ “... ตามธรรมดาร่างกายนี้เมื่อมีกำลังมาก ย่อมส่งเสริมกิเลสได้ดี อย่าว่าส่งเสริมจิตเลย และส่งเสริมกิเลสให้มีกำลังมากขึ้น ราคะก็เริ่มมากขึ้น ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจขี้คร้านก็เริ่มมากขึ้น ๆ โดยลำดับ ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเรื่องของกิเลสมันมากไปตาม ๆ กัน ขึ้นชื่อว่ามารเครื่องทำลายจิตใจแล้วมากไปตาม ๆ กัน อันใดที่ผิดก็ทรงแสดงบอกว่าผิด การฝึกทรมานตนให้ลำบากเปล่า ๆ ก็ไม่ใช่ทาง เพราะกายไม่ใช่จะเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม ใจต่างหากเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม การฝึกการทรมานตนในทางกายโดยไม่มีจิตเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำงานนั้นเลยก็ไม่เกิดประโยชน์ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ทั้งสองประเภทนี้ไม่ใช่ทาง พระองค์ทรงแนะนำสั่งสอนให้ละให้หยุด ... มัชฌิมาปฏิปทา ท่ามกลาง เหมาะสม .. เป็นธรรมที่เหมาะสมตลอดเวลาในการแก้ การปราบกิเลสทุกประเภท .. ถ้าเป็นประเภทโลดโผน มัชฌิมาปฏิปทาก็โลดโผน ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปจนกิเลสหมอบราบ กิเลสประเภทกลาง มัชฌิมาก็ประเภทกลาง หมายถึงสติปัญญาประเภทกลาง เอาให้กิเลสแหลกหมอบราบไป กิเลสส่วนละเอียดจนกระทั่งอวิชชาซึ่งเป็นสิ่งละเอียดสุดในบรรดากิเลส ไม่มีกิเลสตัวใดจะละเอียดอ่อนยิ่งกว่าอวิชชา สติปัญญาก็เป็นมหาสติ มหาปัญญา ทันกัน.. ฟาดฟันหั่นแหลกกันแตกกระจายไปหมด ไม่มีกิเลสตัวใดจะมีอำนาจนอกเหนือมหาสติ มหาปัญญา อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทาละเอียดอ่อนไปได้เลย .. ท่านผู้ใดบำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์เต็มภูมิดังที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้แล้ว ธรรมชาตินี้ไม่ต้องมีใครมาบอก จะรู้เองเห็นเอง เพราะอำนาจแห่งมัชฌิมาปฏิปทาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลาย สิ่งที่รกรุกรังพัวพันอยู่ภายในใจ จะแตกกระจายออกไปหมด เหลือแต่ธรรมล้วน ๆ จิตล้วน ๆ ที่เป็นจิตบริสุทธิ์ จากนั้นจะเอาอะไรมาเป็นภัยต่อจิตใจ แม้สังขารร่างกายจะมีความทุกข์ความลำบากแค่ไหน ก็สักแต่ว่าสังขารร่างกายเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่สามารถที่จะทับถมจิตใจให้บอบช้ำให้ขุ่นมัวได้เลย เพราะธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมุติ ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติล้วน ๆ ธรรมชาตินั้นเป็นวิมุตติ หลุดพ้นจากสิ่งกดขี่ทั้งหลายซึ่งเป็นตัวสมมุติแล้ว แล้วจะเกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องของขันธ์สลายลงไปตามสภาพมันที่ประชุมกันเท่านั้น...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-12-2018 เมื่อ 16:05 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#387
|
|||
|
|||
ไตรโลกธาตุชัดเจนประจักษ์ใจ ท่านนำความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นบนยอดเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ มาสั่งสอนลูกหลานชาวพุทธด้วยความเมตตาห่วงใย ด้วยเกรงจะลืมเนื้อลืมตัว.. ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ว่าเป็นของมีจริง ดังนี้ “... จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงไปจากใจ ไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ก็ประจักษ์กับใจของเรา สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิเลสที่เรารู้ประจักษ์ใจของเราคืออะไร ? คือ นรก เปรต อสุรกาย บุญบาป เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม มีหรือไม่มี.. พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ? ยอมรับ.. กราบอย่างราบเลย หาที่ค้านไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีมากี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วนแล้ว มีมาดั้งเดิม พระพุทธเจ้าพระองค์ใดมาตรัสรู้ ก็มารู้เห็นสิ่งเหล่านี้ นอกจากเห็นกิเลส ฆ่ากิเลสจากพระทัยของท่านแล้ว ก็มารู้เห็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันกับความรู้ที่จะควรรู้ควรเห็นนี้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมสอนธรรมแก่โลก ท่านจึงต้องสอนตามหลักความจริงว่า บาปมี.. เพราะบาปมีมาดั้งเดิม มาแต่กาลไหน ๆ บุญมี.. บุญเคยมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ตั้งแต่กาลไหน ๆ นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี ยอมรับว่ามีมาตั้งแต่กาลไหน ๆ แล้ว เมื่อความรู้ความเห็นซึ่งหยั่งเข้าไปสู่จุดเดียวกันแล้ว เห็นอย่างเดียวกันแล้ว จะเอาอะไรมาค้านกัน เห็นก็เห็นอย่างกระจ่างแจ้ง ไม่สงสัย รู้อย่างกระจ่างแจ้ง อย่างอาจหาญชาญชัยตามความจริงที่มีอยู่นั้น เวลานำมาพูดจะสะทกสะท้านที่ไหน ใครจะเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม ความรู้ความเห็น ความเป็นไปนี้ไม่ได้คลาดเคลื่อนจากหลักความจริงไปเลย เป็นความจริงล้วน ๆ ... ภพภูมิทั้งหลายนี่สำหรับสัตว์ทั้งนั้น ไม่มีช่องว่างที่สัตว์ไม่อยู่ไม่มี หมื่นจักรวาล ฟังซิ แสนจักรวาล กว้างขนาดไหนแสนจักรวาล ? จักรวาลหนึ่งกว้างขนาดไหน ? ตั้งหมื่นตั้งแสนจักรวาลโลกนี้กว้างขนาดไหนสัตว์อยู่หมด แล้วก็หมุนเกิดหมุนตายกันอยู่อย่างนั้นตลอด.. อย่างนรกอย่างนี้ ที่ท่านว่าหลุมที่มหันตทุกข์ ชั่วฟ้าแมบ (ฟ้าแลบ) นี้ไม่มีว่าเป็นความสุข เรียกว่ามหันตทุกข์ อนันตริยทุกข์ ทุกข์ไม่มีระหว่างเลย จะปล่อยช่องว่างไว้เพียงชั่วฟ้าแมบอย่างนี้ ว่าชั่วระยะนี้เป็นความสุขแก่สัตว์ประเภทที่มีกรรมหนาที่สุด ... บาปเราก็ไม่สงสัย บุญไม่สงสัย นรกทุกหลุมไม่สงสัย สวรรค์กี่ชั้นไม่สงสัย ... ตั้งแต่ชั้นแรกจนกระทั่งถึงพรหมโลก ๑๖ ชั้น มีสุทธาวาสเป็นชั้นสุดท้าย ... นิพพานไม่สงสัย ตลอดภพภูมิต่าง ๆ พวกเปรตพวกผี เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ที่อยู่สวรรค์ชั้นนั้น ๆ พรหมโลกชั้นนั้น ๆ ตลอดพวกเปรตพวกผีที่อยู่ตามกำเนิดตามภพชาติของตน ที่เสวยกรรมตามลำดับลำดามา เราก็ไม่สงสัย ได้ประจักษ์แล้วในหัวใจนี้ ... อย่าพากันกล้าหาญต่อบาปนะ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอก ทุก ๆ พระองค์สอนว่าบาปมี อย่าทำบาป บุญมี ให้สร้างคุณงามความดีเพื่อบุญเพื่อกุศล นรกมี อย่ากล้าหาญชาญชัยต่อสู้พระพุทธเจ้า อวดดิบอวดดีเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ไปลบล้างว่านรกไมมี ตายแล้วจะจมลงทันทีทันใด ถ้าใครอาจหาญชาญชัยต่อพระพุทธเจ้า กล้าลบล้างว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี ผู้นั้นแลคือผู้หมดคุณค่าแล้ว ทั้ง ๆ ที่ลมหายใจยังฟอด ๆ อยู่นั้น พอลมหายใจขาดแล้วจะดีดผึงทันที ไม่ได้มีคำว่าใกล้ว่าไกล จากนี้ถึงแดนนรกกี่กิโลกี่เส้นกี่วา ไม่เคยมี พอใจขาด.. ลมหายใจขาดสะบั้นลงไปแล้ว กรรมที่ทำชั่วช้าลามกทั่งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง เป็นกรรมโดยแท้ไม่มีที่ลับที่แจ้ง มันแจ้งขาวดาวกระจ่างอยู่ภายในใจของผู้ทำนั่นแล...” ท่านกล่าวว่า คนตาบอดไม่เชื่อคนตาดีย่อมมีทางตกหลุมตกบ่อได้ฉันใด ผู้มีใจมืดบอดด้วยกิเลสตัณหา.. ไม่เชื่อตาใจของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่าน ย่อมนำความล่มจมมาสู่ตนได้ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านจึงกล่าวย้ำเตือนชาวพุทธผู้ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าว่า “... ความล่มจมจะมีแก่ผู้ไม่เชื่อนั้นแล นี่เรียกว่า สวากขาตธรรม ท่านตรัสไว้ชอบแล้วนี้ประมวลเข้ามา เรายอมรับทุกประเภทที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว ตั้งแต่บาปแต่บุญ นรกสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เทวบุตรเทวดา เปรตผีมี เรายอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ขณะที่กิเลสเปิดจากใจเท่านั้นสว่างจ้าขึ้นมาหมด ไม่เคยคาดเคยคิด เคยรู้เคยเห็น ว่าจะรู้จะเห็นก็เป็นขึ้นมาแบบอัศจรรย์ จึงได้อัศจรรย์ตัวเองว่า ‘เรารู้ได้ยังไง ? เห็นได้อย่างไร ?’ จิตดวงนี้แล ตั้งแต่กิเลสครอบงำอยู่มันก็เหมือนคนตาบอด อะไรจะมีอยู่มากน้อยเพียงไรมันไม่เห็น สีแสงวัตถุต่าง ๆ มองไม่เห็นแต่โดนเอา ๆ นี่จิตที่มืดบอดก็เหมือนกัน มีแต่โดนความทุกข์ความทรมาน โดนบาปโดนกรรมเรื่อยมา แล้วขั้นบำเพ็ญมา ๆ ก็ค่อยหูแจ้งตาสว่างออกไป ๆ สุดท้ายเปิดโล่งหมดทั่วแดนโลกธาตุ สว่างจ้าครอบโลกธาตุ เกิดความอัศจรรย์ในตัวเองว่า ‘เรารู้ได้ยังไง ? เห็นได้อย่างไร ? สิ่งที่ไม่เคยคาดเคยคิดเคยรู้เคยเห็น ก็เห็นก็เป็นขึ้นมาประจักษ์ใจเพราะสิ่งเหล่านั้นมีอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าตาเรามันหลับด้วยกิเลสปิดบังเท่านั้น พอเปิดตา.. คือกิเลสออกจากใจแล้วสว่างจ้าขึ้นมา’ ก็ยอมรับ กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-12-2018 เมื่อ 05:21 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#388
|
|||
|
|||
ฐีติภูตัง พิจารณาปัจจยาการ “... อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขารปัจจยา วิญญาณัง วิญญาณปัจจยา นามรูปัง .. ไปเรื่อย ๆ มันส่งออกมาจากจิตนี้แหละ ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า “ฐีติภูตัง อวิชชาปัจจยา สังขารา ท่านว่า ฐีติภูตัง หมายถึงจิต อวิชชาอาศัยจิตเป็น อวิชชาปัจจยา สังขารา ขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาลงที่นั่น เพราะ อวิชชาปัจจยา สังขารา มันออกมาจากจิต เป็นขึ้นจากจิต มีจิตเป็นที่อาศัยของอวิชชา ไม่มีจิต อวิชชาอาศัยไม่ได้ จึงต้องพิจารณาลงไปที่นั่น ชำระกันที่นั่น ฟาดฟันกันลงไปที่นั่นด้วยสติปัญญาอันทันสมัย อวิชชาขาดกระจายไปหมด อวิชชายเตวว อเสสวิราค นิโรธา สังขารนิโรโธ ... เป็นต้น ทีนี้ก็ดับ ๆ ๆ ๆ เรื่อยไปจนถึง นิโรโธ โหติ นั่น ! ในเบื้องต้นของว่า “สมุทโย โหติ พอกลายเป็น นิโรโธ โหติ อวิชชาดับ อะไร ๆ ที่เกี่ยวโยงกันก็ดับไปหมด กลายเป็นนิโรธดับทุกข์ ดับสมุทัยภายในใจอย่างไม่มีอะไรเหลือเลย ! นี่เป็นขั้นสุดท้ายแห่งการสร้างบ้านสร้างเรือนมา ตั้งแต่คว้าไม้ทั้งต้นมาปลูกบ้านปลูกเรือน มาไสกบลบเหลี่ยม มาเลื่อย มาเจาะ มาสิ่ว ตามความต้องการของนายช่างคือผู้ปฏิบัติ จนกระทั่งสำเร็จขึ้นมาเป็นบ้านหลังอัศจรรย์ มีความสูง สูงพ้นโลก สง่างามขึ้นมาที่จิตใจ ย่อมมีความลำบากเป็นทางเดิน แต่สุดท้ายก็มีความอัศจรรย์อย่างยิ่งจากความลำบากนั้น ความลำบากนั้นจึงเป็นเครื่องสนับสนุนให้ผลนี้เกิดขึ้นเป็นที่พึงพอใจ ดังหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “ทุกขัสสานันตรัง สุขัง” สุขเกิดในลำดับความทุกข์ คือการประกอบงานด้วยความทุกข์เสียก่อน ก่อนจะได้รับความสุข...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-12-2018 เมื่อ 02:46 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#389
|
|||
|
|||
พระอัญญัตรภิกขุ “... พระอัญญัตรภิกขุ ท่านกำลังสงสัยธรรมขั้นละเอียด จะไปทูลถามพระพุทธเจ้า พอไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฏี พอดีฝนตกก็เลยยืนอยู่ที่ใต้ถุนนั้น สังเกตดูน้ำฝนที่ตกมาจากชายคา มากระทบน้ำที่พื้นแล้วเกิดเป็นต่อมฟองขึ้นมา ฟองน้ำตั้งขึ้นมาเท่าไร มันก็ดับไปแตกไป ท่านก็พิจารณาเทียบเคียงกับสิ่งภายใน คือ “สังขาร” ความคิดปรุง เพราะขั้นนี้จิตจะพิจารณาเรื่อง “สังขาร” และ “สัญญา” ความปรุงและความสำคัญต่าง ๆ ของใจมากกว่าอย่างอื่น ในเวลาน้ำตกลงมากระทบนั้น นอกจากมีความกระเพื่อมแล้ว ก็ตั้งเป็นต่อมขึ้นมา เป็นฟองขึ้นมา แล้วดับไป ๆ ท่านก็พิจารณาเทียบเคียงเข้าไปภายใน คือความคิดปรุงของจิต คิดดี คิดชั่ว มีความเกิดความดับเป็นคู่เคียงกันไปเป็นลำดับ ๆ เสร็จแล้วก็กลายลงมาเป็นน้ำตามเดิม สังขารนี้เมื่อคิดปรุงเสร็จแล้วก็ลงไปที่จิตตามเดิม ท่านเลยบรรลุธรรมขั้นสูงสุดในสถานที่นั้นเอง พอบรรลุธรรมแล้วฝนก็หยุด ท่านก็กลับไปกุฏี ไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าอีกเลย เพราะหมดข้อสงสัยแล้ว เป็นสันทิฏฐิโก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 14-12-2018 เมื่อ 03:33 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#390
|
|||
|
|||
พิสูจน์ตายแล้วสูญด้วยจิตภาวนา “... การพิจารณาในอาการต่าง ๆ ของร่างกายด้วยปัญญา ย่อมเห็นตามเป็นจริงไปโดยลำดับ และถอนอุปาทานในร่างกายไปพร้อม ๆ กัน จนถึงขั้นปล่อยวางรูปกายได้ จิตก็นับวันเด่นดวงและเป็นตัวของตัวยิ่งขึ้น เพราะกระแสของจิตรวมเข้าสู่จุดเดียว จำพวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นอาการหนึ่ง ๆ ของจิต ก็พิจารณาในลักษณะเดียวกันกับกาย คือโดยทางไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสามไตรลักษณ์จนเป็นที่เข้าใจด้วยปัญญา ใจย่อมปล่อยวางได้อย่างหายห่วง ตอนนี้แล ผู้ปฏิบัติจะทราบได้ชัด เรื่องรวงรังแห่งภพแห่งชาติ และอุปาทานในขันธ์ได้ถูกถอนไปหมดแล้ว ยังเหลือเฉพาะตัวภพ ที่ติดแนบราวกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ สติปัญญาอัตโนมัติที่แหลมคมทุกด้าน.. ขุดค้นลงที่จุดอันเป็นตัวภพนั้นไม่หยุดยั้งราวกับธรรมจักรหมุนรอบตัว และโค่นตัวภพนั้นลง.. เผาด้วยมหาสติ มหาปัญญา ไม่มีซากสมมุติแม้ปรมาณูเหลืออยู่ภายในใจเลย ท่านผู้นี้รู้แล้ว รื้อแล้วซึ่งรวงรังแห่งภพชาติ ขาดกระเด็นอย่างไม่มีร่องรอยสมมุติเหลืออยู่เลย ด้วยการพิสูจน์โดยทางจิตภาวนา ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกพาดำเนินมา เมื่อถึงที่นี่แล้วเป็นอันว่าพ้นภัยทั้งมวล ไม่มีอะไรกวนใจอีกต่อไปตลอดอนันตกาล ท่านผู้ใดอยากรู้อยากเห็นว่า จิตตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วสูญ กรุณาพิสูจน์ทางด้านจิตภาวนาอันเป็นหนทางให้เข้าถึงความจริง ความจริงมีอย่างไร ! ภายในจิตจะทราบเองด้วยจิตภาวนา ซึ่งถึงขั้นที่ควรรู้ควรเห็น ไม่มีใครและอะไรมาปิดบังไว้ได้ นอกจากกิเลสของตัวปิดบังตัวเองเท่านั้น จะไปตำหนิใครได้ลงคอเล่า ถ้าต้องการรู้ความจริง คือตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วาสูญ ที่มีอยู่กับทุกคน จึงควรค้นคิดด้วยทางจิตภาวนา ไม่ควรฝืนคิดโดยลำพังตัวเอง กลัวจะถูกกิเลสพันหนักเข้าจนกลายเป็นแหพันลิง ลิงตัวคะนองอยู่ไม่เป็นสุข มือคว้าเอาแหเข้ามาทอดลงในน้ำ สุดท้ายลิงตัวคะนองเลยกลายเป็นปลาที่ถูกแหพันตายเปล่า ๆ ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 21-12-2018 เมื่อ 23:09 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#391
|
|||
|
|||
สุญญกัป “... ท่านกล่าวไว้ในธรรมว่า พุทธันดรหรือสุญญกัป ก็หมายถึงความว่างเปล่าจากศาสนา พุทธันดร หมายถึง ระหว่างแห่งพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่จะมาตรัสรู้ นั่นก็ว่างจากศาสนา ... ภัทรกัป แปลว่ากัปที่เจริญ .. กัปหนึ่ง ๆ นั้นมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ทีละองค์บ้าง ทีละสององค์บ้าง สามองค์บ้าง ถ้าเป็นภัทรกัป กัปใหญ่ก็มาตรัสรู้ถึง ๔ – ๕ องค์ ดังภัทรกัปของเราทุกวันนี้ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ คือ พระอริยเมตไตรย เป็นองค์ที่ ๕ นี้เรียกว่ากัปหนึ่ง ๆ พอสิ้นกัปนี้แล้วก็เป็นสุญญกัป ในสุญญกัปนั้นแล เป็นกัปที่สัตว์โลกทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ไม่มีน้ำ ไม่มีเครื่องเยียวยารักษาเลย มีแต่ความทุกข์ความทรมานล้วน ๆ จนกว่าว่ากัปนี้ผ่านไป กัปหน้าผ่านมาแล้วพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ถึงจะได้สร้างคุณงามความดี ถึงจะได้ค่อยรอดพ้นไปได้ บรรดาสัตว์ที่รออยู่แล้วก็เลยรอดพ้น ในเวลาที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์ ๆ นี่ พวกเราทั้งหลายก็ได้เกิดมาอยู่ในภัทรกัป คือกัปของพระพุทธเจ้า พระสมณโคดม จากนี้ไปก็จะเป็นพระอริยเมตไตรยมา...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-12-2018 เมื่อ 03:42 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#392
|
|||
|
|||
ศพคน ๆ เดียว ประเทศไทยไม่พอ เรื่องการเกิดตายของคนแต่ละคน ๆ นี้ ท่านเคยกล่าวอย่างถึงใจให้เห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิด และรีบเร่งขวนขวายสร้างคุณงามความดีใส่ตนให้มาก ดังนี้ “... การเกิดการตายนี้ เกิดตายทับถมกันมานี้ สักเท่าไร ๆ แต่ละศพแต่ละคน ๆ มันรู้ไปหมด เวลามันรู้นะ เอาให้มันจริง ๆ จัง ๆ อย่างนี้เลยนะ มันจึงขยะแขยง ‘โห..มันผ่านของมันออกแล้ว มันก็ยังขยะแขยงอยู่นะ โถ ! แต่เวลามันจมอยู่ มันไม่ขยะแขยงนะ บืนอยู่อย่างนั้น เวลามันผ่านออกมาแล้ว มันถึงได้เห็นโทษของมัน ขยะแขยงนะ’ คนหนึ่งสัตว์ตัวหนึ่ง ๆ นี้ ถ้าไม่มีบุญไม่มีกุศลแล้วไม่มีความหมายเลย วนเวียนตายเกิด ตายสูงตายต่ำ ตายเกิดอยู่อย่างนั้นตลอด ตลอดกี่กัปกี่กัลป์ คนหนึ่ง ๆ นี้เอามากอง.. ประเทศไทยนี้ไม่พอกอง ศพของคนคนหนึ่งที่ตายเกิด ๆ เป็นสัตว์ประเภทใดก็ตามมารวมกันนี้ เพียงคนคนเดียวเท่านั้นทั่วประเทศไทยเรานี้ หาที่กองศพไม่มีเลย นานขนาดไหน กี่กัปกี่กัลป์ที่ตายเกิดตายทับกองกันอยู่นี่น่ะ เรียกว่าตายกองกัน ล้วนแล้วตั้งแต่จิตนี่ออกไปร่างนั้นแล้วเข้าสู่ร่างนี้ เข้าสู่ร่างไหนก็ว่าเกิด ร่างไหนหมดสภาพก็ว่าตาย ๆ ว่าเกิดว่าตาย ๆ มันหากหมุนของมันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา นี่ละวัฏวนวัฏจักร... สิ่งที่มาแก้คืออะไร บุญกุศลเราสร้างมากน้อยเท่าไร ๆ มารวมกัน แล้วค่อยแก้ไปแก้มา แก้มาก ๆ เข้า.. บุญกุศลก็มากเข้า ความหนาแน่นของการแก้ก็หนาแน่นเข้า ๆ อันนี้ก็ค่อยจางไป ๆ ก็สว่างจ้าออก สว่างจ้าก็ดีดผึง ๆ เลย นี่ละพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ มองดูหัวใจสัตว์โลกที่เขาไม่มีศาสนา คือเขาไม่ได้มองดูหัวใจเลย เขาดูแต่วัตถุเท่านั้น...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-12-2018 เมื่อ 20:32 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#393
|
|||
|
|||
จิตวิญญาณมีจริง ท่านกล่าวยืนยันเรื่องจิตวิญญาณว่าเป็นของมีจริงดังนี้ “... จิตวิญญาณอยู่บนฟ้าอากาศเต็มไปหมด เราเห็นได้ที่ไหน เห็นแต่นกมันบินมาบนฟ้าเท่านั้น แต่จิตวิญญาณของสัตว์ที่เต็มยั้วเยี้ย ๆ อยู่ทั้งในน้ำบนบกมีทั่วไปหมด จิตวิญญาณไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค กรรมพาไปไหนไปได้หมด เกิดได้หมดทั้งนั้น เสาะแสวงหาเรื่องบาปเรื่องบุญนี้มันมีอยู่กับใจ บังคับให้ไปเกิดได้หมด... จิตดวงนี้ไม่เคยตาย ไม่เคยฉิบหายแต่ไหนแต่ไรมา ถ้าพูดถึงเรื่องวัตถุต่าง ๆ ในแดนโลกธาตุนี้ว่าอันไหนมากกว่าอะไร ไม่มีอะไรจะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตว์โลก เต็มท้องฟ้ามหาสมุทร ใต้ดิน เหนือดิน มีเต็มหมดเลย อันนี้มากที่สุดคือจิตวิญญาณของสัตว์โลก เพราะมันไม่เคยสูญนั่นเอง มันเต็มอยู่นี่ ครองภพ ครองชาติ อยู่ทุกแห่งทุกหนตามเพศตามภูมิ อย่างที่เราเป็นมนุษย์ก็เห็นกันอยู่ ไม่เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ ก็เห็นกันอยู่อย่างงั้น เป็นไก่ เป็ด นก ปลา เป็นอะไรเราก็เห็นกันอยู่อย่างนั้น ที่ละเอียดกว่านั้นมันก็มี อยู่อย่างเดียวกันนี้เลย ไม่ได้ผิดกัน มันมีอยู่ตามสภาพของตน ๆ เป็นแต่เพียงว่าเราสามารถสัมผัสสัมพันธ์ รู้เห็นได้หรือไม่ได้เท่านั้นเอง นั่นก็เป็นอย่างนั้นละ มันมีภพละเอียด หยาบ.. หยาบต่างกัน อย่างพวกเทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม พวกเปรต พวกผี ก็เหมือนกับเรานี่มีภพมีชาติเป็นกำเนิด.. ที่เกิดของตัวเองด้วยวิบากกรรมดีชั่วเหมือนกันหมด ไม่มีใครแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน สัตว์โลกที่เกิดขึ้นมาด้วยกัน อย่าตำหนิกันด้วยชาติชั้นวรรณะ สถานะสูงต่ำอย่าไปตำหนิกัน ... ตั้งแต่แดนมนุษย์ไปจนกระทั่งถึงสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน นี้เป็นแดนแห่งคนมีบุญ คนมีบาปไปไม่ได้ ในสวรรค์แม้แต่ชั้นจาตุมฯ นี้ก็เหมือนกัน เทวบุตรเทวดาเต็มอยู่ในชั้นจาตุมฯ เพียงชั้นแรกชั้นจาตุมฯ ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี เป็นชั้น ๆ นี้ ไม่ว่าชั้นไหน เข้าไปถามดูตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์นี้ พวกเทพทั้งหลาย เทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม อยู่ด้วยกองกุศลของตนที่ไปเสวยความดีอยู่นั้น เราไปหาค้นดูว่าในสถานที่นี่มีคนชั่วช้า ลามก นรกจกเปรต ไปทำความชั่วช้าให้แก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลายทั่ว ๆ ไป.. ตายแล้วเขาได้มาขึ้นสวรรค์ในที่นี่มีไหม ? ไม่มีแม้รายเดียว .. ในตำราแสดงไว้ว่า นรกนั้นมีถึง ๒๕๖ หลุม ตั้งแต่หลุมที่เป็นมหันตทุกข์หนักที่สุดจนถึงหลุมสุดท้าย นี่เรียกว่านรก ๒๕๖ หลุม ... แล้วปลีกย่อยยังมีอีกเยอะ ส่วนใหญ่มี ๒๕๖ หลุม .. สวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมฯ ขึ้นไปถึงชั้นที่หกคือปรนิมมิตวสวัตดี นี่คือสวรรค์ ๖ ชั้น แล้วพรหมโลกอีก ๑๖ ชั้น จากนั้นก็เป็นนิพพาน เหล่านี้ทรงรู้แจ้งแทงทะลุเห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง จากนั้นก็พวกเปรต ผีประเภทต่าง ๆ สัตว์ทั่วโลกดินแดนในไตรโลกธาตุนี้...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-12-2018 เมื่อ 00:58 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#394
|
|||
|
|||
กิเลสหลอกว่า “ตายแล้วสูญ” มีคนจำนวนมากยังเข้าใจว่า เมื่อสิ้นใจตายไปแล้วก็สูญสิ้นจบกันเท่านั้น แท้จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนย้ำเสมอ ๆ ว่า “... สัตว์ที่ว่าตายเกิด ๆ มันไม่มีที่ไป เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สูญ มันหากหมุนหากเวียนกันออกจากนี้ไปเป็นสัตว์ เป็นเทวบุตรเทวดา ไปเป็นอินทร์ เป็นพรหมก็มี เป็นเปรต เป็นผีก็มี เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนี้ตั้งกัปตั้งกัลป์มาแล้ว จิตวิญญาณดวงนี้ตายไม่เป็น เพราะฉะนั้น คำว่าตายแล้วสูญถึงขัดกันเอาอย่างมากทีเดียว เป็นกลมายาของกิเลสโดยตรงที่หลอกสัตว์โลกให้ทำชั่ว เพราะถ้าว่าตายแล้วสูญแล้วไม่มีเงื่อนไขสืบต่อ อยากทำอะไรก็ทำ ความอยากทำคือทางเดินของกิเลสอยู่แล้ว ก็ทำตามความอยาก ตายลงไปแล้วไม่สูญละซิ ก็เสวยกรรมอยู่นั้น อะไรจะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตว์โลก เต็มอยู่ในโลกอันนี้เพราะมันไม่สูญ.. หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตามอำนาจของกรรม เกิดเป็นนั้นเป็นนี้อยู่อย่างนั้น ตายแล้วก็เกิด ๆ ตายกองกัน พวกนี้พวกตายกองกัน กองทับเขากองทับเราอยู่อย่างนั้น..ไม่มีทางไป เพราะจิตวิญญาณไม่สูญ มีเต็มท้องฟ้าอากาศ ที่ไหนเต็มไปหมด ไม่มีอะไรมากยิ่งกว่าธรรมชาติอันนี้ หนาแน่นที่สุด นี่ละเรียกว่ากรรมของสัตว์ คือพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็มากวาดเอาดวงวิญญาณเหล่านี้ ที่ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเทวบุตรเทวดาแล้ว ก็ถอดออกไป ๆ พ้นไป ๆ ใครจึงให้สร้างความดีซิ ถ้าอยากพ้นไปตามพระพุทธเจ้าให้สร้างความดี มันเปลี่ยนเรื่อยนะ จิตวิญญาณนี่ เปลี่ยนเป็นภพนั้นชาตินี้ตามอำนาจของกรรม หมดกรรมนี้แล้วก็มีกรรมนั้นต่ออีก ภพนั้นสืบภพนี้ไปเรื่อย กรรมหนักกรรมเบามีอยู่เรื่อย ๆ อย่างนั้นละ ... กรรมพาไปไหนไปได้หมด เกิดได้หมดทั้งนั้น เสาะแสวงหาเรื่องบาปเรื่องบุญนี้มันมีอยู่กับใจ บังคับให้ไปเกิดได้หมด เพราะฉะนั้น จึงอย่าพากันกล้าหาญ ไม่มีอะไรจะเป็นอุปสรรคต่อกรรมดีกรรมชั่วได้ กรรมดีกรรมชั่วนี้ไสเข้าไปได้หมดเลย ที่ท่านว่าไม่มีอานุภาพใดเหนืออานุภาพแห่งกรรมดีกรรมชั่วไปได้ คือครอบโลกธาตุ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-12-2018 เมื่อ 03:36 |
#395
|
|||
|
|||
กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ ความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่คืนอัศจรรย์บนวัดดอยธรรมเจดีย์เป็นต้นมา ทำให้ท่านกราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ และกราบยอมรับยืนยันในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตาแสดงไว้ทุกอย่าง ไม่มีที่คัดค้าน ไม่มีอะไรติดข้องภายในใจเลย ท่านกล่าวอย่างเด็ดถึงขนาดว่า “... หากว่าผู้ใดจะมาตัดคอเราถ้าเชื่อตามพระพุทธเจ้าว่า บาปบุญนรกสวรรค์มีแล้วจะตัดคอ.. เรายอมให้ตัดเลย แต่ความเชื่อที่ประจักษ์หัวใจนี้ไม่ยอมตัด เราจะตายทั้ง ๆ ที่คอขาดก็ไม่เสียดาย เพราะเราได้รู้ได้เห็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่แหละศาสนาพุทธ เปิดเผยมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว สอนชาวเราทั้งหลาย กิเลสมันก็ปิดมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว ให้สัตว์ทั้งหลายลุ่มหลงงกงันไปตามมัน ให้ได้รับความเดือดร้อนมากมาย.. ให้เชื่อเถิด..ถ้าไม่อยากจม..ให้เชื่อพระพุทธเจ้านะ ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาชั้นเอก ไม่มีอะไรเหมือนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น เป็นจิตที่บริสุทธิ์.. พุทโธสว่างจ้าครอบโลกธาตุแล้วจึงมองเห็นได้หมด เรียกว่าโลกวิทู เมื่อจิตได้เข้าถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธแล้ว จะสว่างจ้า แม้จะไม่ลึกซึ้งกว้างขวางเหมือนพระพุทธเจ้าก็ตาม พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีใบดก ใบหนาชุ่มเย็น แผ่กระจายกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง แม้ต้นไม้อื่น ๆ จะไม่กระจายกิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวางอย่างต้นไม้ของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ก็เต็มกำลังแห่งกิ่งก้านสาขาของตนที่แผ่กิ่งก้านออกไปนั่นเอง นี่ความรู้ของพระพุทธเจ้า.. เหมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านออกไปสู่แดนโลกธาตุสุดแดนสมมุติ แต่ความรู้ความเห็นของพระสาวกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญยังมีอีก ก็ลดกันลงมา ๆ แต่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย.. กระจ่างแจ้งด้วยกันหมด นอกจากท่านจะพูดหรือท่านไม่พูดเท่านั้น นี่เป็นโอกาสที่ได้มาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ก็เกี่ยวกับเรื่องการช่วยชาติ แต่ก่อนเราไม่เคยพูด รู้ก็รู้ เห็นก็เห็น ประจักษ์มาตั้งแต่ที่กล่าวนั่นแหละ .. วัดดอยธรรมเจดีย์...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-12-2018 เมื่อ 03:02 |
สมาชิก 11 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#396
|
|||
|
|||
มืดเพียงใด พากเพียรไปก็สว่างได้ ความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิตนักบวชของท่านในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากความพากเพียรอุตสาหะอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่เมื่อครั้งเป็นฆราวาสอยู่นั้น ท่านไม่รู้จักเรื่องบุญกรรมมาก่อนแต่อย่างใด แต่ด้วยท่านมีนิสัยรักเคารพในเหตุผลอรรถธรรมเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ชีวิตของท่านจึงเปลี่ยนแปลงไป ท่านกล่าวไว้ดังนี้ “...เราอ่านเรา.. ที่อ่านมาเพื่อเป็นคติสอนพี่น้องทั้งหลาย คือเราอ่านตัวเราเองมาโดยลำดับตั้งแต่เริ่มแรกเลย ไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย มันก็เห็นชัด ๆ ในใจของเรา คือไม่รู้จักบุญจักบาป มีแต่ความอยากได้ สมมุติไปหากินนี้ ไปหาอะไรบ้างที่มันจะได้.. เห็นสัตว์ฆ่าสัตว์ เห็นปลาเอาปลา เห็นไก่เอาไก่ เห็นอะไรเอาทั้งนั้นเพราะอยากได้ มันไม่ได้คำนึงถึงบาปถึงบุญ นั่นละ ดูพื้นฐานของจิต นี่เป็นพื้นฐานของจิตในขั้นนั้น ว่างั้นเถอะ คือว่าไม่ได้สงบเรื่องบาปเรื่องบุญอะไรเลย มีแต่ความอยาก ไปหาอะไรก็อยากได้อันนั้น ไปหากินมันก็ไม่พ้นที่จะฆ่าสัตว์ เห็นสัตว์ตัวใดเอาทั้งนั้นล่ะ จากนั้นก็มาบวชเป็นพระ นี่ละ ความรู้สึกทางด้านจิตใจเริ่มเปลี่ยนแปลงตอนมาบวชเป็นพระนะ แต่ก่อนเป็นธรรมดา แต่อันหนึ่งที่เป็นนิสัยจิตใจอยู่นั่น.. ความเคารพพระ เลื่อมใสพระและเชื่อศาสนา มันฝังอยู่ในจิตเลย เห็นพระคือไม่อยากพบ ไม่อยากเข้าไปหาใกล้ อายท่าน อายกับกลัวเป็นสิ่งอันเดียวกัน ไม่ค่อยจะเข้าไปหาพระ ที่ไม่เข้าไปหาคืออายท่าน ลักษณะอายกับกลัวมันอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่เจอหน้ากันจริง ๆ แล้ว ไม่ค่อยได้พบพระ นอกจากจะไปเจออย่างจัง หลีกไม่ได้ ก็หมอบกราบสักที นี่พื้นใจนะ พื้นของจิตที่มันเป็นของมันในหลักธรรมชาติ ธาตุดั้งเดิมมันเป็นอย่างนั้น ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องบาปเรื่องบุญอะไร นี่เป็นเรื่องความอยาก อยากได้อะไรก็ไปตามความอยาก ไม่ได้สนใจกับคำว่า “บาป” ว่า “บุญ” อะไร ถึงวาระจะบวชล่ะ นี่ก็อ่านมาตลอด นี่ละ คำว่า “สายบุญสายกรรม” มันเป็นที่แน่ใจเจ้าของ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยจนว่ามันจะไปจริง ๆ ก็มีนะ ป่วยบางครั้งหนักมาก แต่สติยังดีอยู่เวลาเป็นไข้หนักนั่นล่ะ ตอนใกล้จะบวช พอหายป่วยแล้วก็ออกบวชปีนั้นล่ะ ป่วยหนักเสียด้วย จากนั้นมาประหวัดเกี่ยวกับเรื่องบวชหนักเข้านะ ‘เอ.. เราจะตายแล้วจริง ๆ เหรอ ? ยังไม่ได้บวชพอมีบุญติดเนื้อติดตัวเลยเหรอ ?’ เป็นคำนึกน้อมในใจว่า ‘ขอให้โรคนี้ หายโรคหายภัย ขอให้ได้บวช..’ แล้วมันก็แปลกนะ โรคนี้มันจะตายอยู่แล้วนะ มันก็หายวันหายคืน ทีนี้ออกมาบวชมันเหมือนกับว่ามีอะไรช่วยนี่ เวลาบวชก็ง่ายมาก ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคเลยเกี่ยวกับเรื่องการบวช อย่างอื่นขัดข้องหมด เกี่ยวกับเรื่องบวชโล่งไปเลย นี่อะไรน่าคิด... เวลาบวชเราก็เป็นนิสัยอันนี้ด้วย จริงจังมาตลอด จะเป็นฆราวาสก็จริงตลอด เป็นพระมีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องประกัน เป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะแล้วมันก็ยิ่งแน่น แม่นยำ ติดแน่นกับหลักธรรมหลักวินัย การอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย การอ่านหนังสือนี้สำคัญมาก เราได้มานำพี่น้องทั้งหมดทุกวันนี้ เพราะหนังสือประวัติพระพุทธเจ้า และประวัติพุทธสาวก อ่านแล้วจิตหมุนติ้ว ปลุกจิตใจได้ถึงขนาดนี้.. นี่เรียนหนังสือไปเรียนไป เอะใจไปเรื่อย เรียนหนังสือธรรมะ เรียนไป ๆ เอะใจเรื่อย ‘เอ๊ะนี่.. ท่านตำหนิว่ายังงั้น เราก็เคยทำอย่างนั้นมาแล้ว เอ๊ะเรื่อย ๆ นะ ให้สะดุ้งเรื่อยไป’ ในเรื่องภาวนาไม่ละนะ นี่อันหนึ่งมันแปลกอยู่ เลื่อมใสพระกรรมฐาน เราอยู่เรียนหนังสือ ถ้าเห็นพระกรรมฐานมาพักในวัดเรานี่ เราจะไปถึงก่อนใครล่ะ ไปคุยกับท่าน ท่านคุยน่าฟังนะ ติดใจ ชอบกรรมฐาน ภาวนาก็ไม่ลดละ ภาวนาอยู่เงียบ ๆ ไม่ให้ใครรู้ ทำอยู่แบบนั้นละ ... นี่อันหนึ่งฝังใจ ฝังนิสัย เรียนหนังสืออยู่กับพวกลิงพวกค่าง เขาไม่รู้ภาษีภาษาอะไร กิริยาท่าทางก็เป็นไปเหมือนเขา แต่ส่วนลึกในหัวใจเรานี้คือ เรื่องภาวนานี้ เราไม่ละ “ธรรม” เป็นหลักใจ ไม่ลดละ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีคำว่าล่วงเกินสิกขาบทวินัยด้วยเจตนาอันลามก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-12-2018 เมื่อ 03:47 |
#397
|
|||
|
|||
คูหาสยัง หทยัง “... จิตนั้นอยู่ตรงกลาง และอยู่ในหัวใจเป็นที่อันหนึ่งของจิต ท่านว่า คูหาสยัง หทยัง ในหัวใจมันอยู่ตรงกลาง ในเวลาจิตสงบ เริ่มจากสงบเข้าไป ๆ มันก็รู้อยู่ภายใน ๆ นี่ไม่ได้มารู้ข้างบนนะ มันเป็นอยู่ข้างในตรงกลาง ๆ นี้ จนกระทั่งถึงความสว่างไสว ไม่ว่าขั้นของสมาธิที่สงบตัวก็อยู่ตรงนี้ ขั้นของปัญญาที่เบิกอะไรต่ออะไรออกก็สว่างไสวอยู่ภายในนี้ ละเอียดเข้าไปขนาดไหนก็อยู่ตรงกลาง ๆ ตลอดเลย ไม่ได้เคยปรากฏว่าอยู่บนสมอง นอกจากเรียน นั่นเห็นได้ชัด(เวลา)เรียน ว่าสมองทำงานจริง ๆ ภาคภาวนานี้ไม่มีขึ้นสมองเลย อยู่ตรงกลาง...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-12-2018 เมื่อ 00:55 |
#398
|
|||
|
|||
พระพุทธเจ้า ๓ ประเภท “...อสงไขย แปลว่านับไม่ได้... ถ้าเราเทียบก็ไปยุติกันที่ล้าน ๆ ทุกวันนี้เอาล้านเป็นประมาณ พอไปถึงล้านก็หนึ่งล้าน สองล้าน สามล้านไปเลย อันนี้ไปถึงนั้นก็เรียกว่าหนึ่งอสงไขย สองอสงไขย สามอสงไขยไปเลย พระพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท... ประเภทแรก ๑๖ อสงไขยแสนมหากัป ประเภทสอง ๘ อสงไขยแสนมหากัป ประเภทสาม ๔ อสงไขยแสนมหากัป พระพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท ความตรัสรู้เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เสมอกันหมด แต่อำนาจวาสนาบุญญาธิสมภารของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามประเภท ประเภทที่หนึ่ง การแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกนี้ได้กว้างขวางมากมายทีเดียว ประเภทที่สองก็ลดลงมา พระพุทธเจ้าเรานี้เป็นประเภทที่สาม ขนสัตว์โลกให้พ้นจากกองทุกข์ได้น้อยกว่าสองประเภทเบื้องต้น ... พระพุทธเจ้าองค์ที่ล่วงมาแล้วจำนวนนับไม่ถ้วนก็มีแบบเดียวกัน ตรัสรู้ธรรมแบบเดียวกัน รู้เห็นธรรมแบบเดียวกัน จึงสอนโลกแบบเดียวกัน ไม่มีศาสดาองค์ใดแหวกแนวที่จะตรัสรู้ต่างกัน และรู้เห็นความจริงทั้งหลายแตกต่างกัน .. ทรงรู้ตามสิ่งนั้น ๆ แบบเดียวกัน การแนะนำสั่งสอนอบรมให้บำเพ็ญคุณงามความดีเพื่อเป็นกำลังปราบปรามความชั่ว หรือโรคร้ายทั้งหลายที่มีอยู่ในจิต ก็ทรงสั่งสอนแบบเดียวกัน ... ที่ต่างกันพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้แล้ว เช่น บางองค์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปีบ้าง ๖๐,๐๐๐ ปีบ้าง พระพุทธเจ้าของเรามีอายุ ๘๐ ปี การลงอุโบสถสังฆกรรมของพระสงฆ์ นับเวลาตั้ง ๗ ปีถึงประชุมสงฆ์ลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์เสียหนหนึ่ง พระพุทธเจ้าบางพระองค์ก็ ๑ ปีหรือ ๖ เดือน ถึงจะลงอุโบสถหนหนึ่ง พระสงฆ์ก็กลมเกลียวกันดี ไม่มีแตกร้าว ไม่มีอธิกรณ์อะไรเกิดขึ้น สำหรับพระพุทธเจ้าของเรา ๑๕ วันลงอุโบสถ คือการประชุมสวดปาฏิโมกข์ท่ามกลางสงฆ์หนหนึ่งเรื่อยมา ... อานุภาพแห่งพระพุทธเจ้ามีแตกต่างกันอยู่บ้างท่านก็แสดงไว้ .. นอกนั้นเหมือนกันหมด สัพพปาปัสสะ อกรณัง การไม่กระทำบาปทั้งปวงหนึ่ง กุสลัสสูปสัมปทา การยังกุศลคือความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง สจิตตปริโยทปนัง การยังจิตของตนให้ผ่องใสจนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์หนึ่ง เอตัง พุทธาน สาสนัง นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านสอนอย่างนี้เหมือนกันหมด จากนั้นท่านก็ขยายความออกไปว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกเข จ สังวโร ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำลายผู้อื่น สำรวมในปาฏิโมกข์ มัตตัญญุตา จ ภัตตัสมิง รู้จักประมาณในการขบการฉัน ปันตัญจะ สยนาสนัง ให้แสวงหาอยู่ในสถานที่วิเวกสงัด เอตัง พุทธานะ สาสนัง อีกเหมือนกัน นี่ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อธิจิตเต จ อาโยโค การกระทำจิตให้ยิ่ง นี่ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย บาปบุญ นรกสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เหล่านี้ ท่านสอนแบบเดียวกันหมด... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-12-2018 เมื่อ 00:57 |
#399
|
|||
|
|||
เป็นพระอรหันต์น้อย ๆ แล้ว ?? “... ผู้บำเพ็ญธรรมจะรู้วิถีจิตของตน เวลาลำบาก ๆ ล้มลุกคลุกคลาน ถึงกาลเวลาที่มันค่อยเป็นค่อยไป มันค่อยเป็นค่อยไปของมัน ต่อจากนั้นก็หมุนไปเองเลย หมุนไปเอง ๆ เริ่มเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ จากนั้นก็สติปัญญาอัตโนมัติ ความเพียรโดยลำพังตัวเองนี้เต็มตัว ๆ อยู่ที่ไหนไม่ขาดเลย ตื่นขึ้นมาปั๊บความเพียรเป็นแล้ว ๆ จนก้าวเข้ามาสู่มหาสติมหาปัญญา กิเลสมองแทบไม่เห็นนะ ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญานี้มองดูกิเลสทั้ง ๆ ที่มีอยู่เหมือนไม่มีนะ เพราะอำนาจของมหาสติมหาปัญญารุนแรงมาก โผล่ไม่ได้...ขาดสะบั้นเลย นั่นเห็นไหม ?...เวลาธรรมมีกำลัง กิเลสโผล่ไม่ได้ ขาดสะบั้นไปเลย แต่เวลากิเลสมีกำลัง.. สติตั้งขึ้นมาปั๊บก็ล้มผล็อยขาดสะบั้น เข้าใจไหม ? สติปัญญาขาดสะบั้น กระแสกิเลสฟาดเอาขาดสะบั้น ทีนี้พอเราฝึกซ้อมจิตใจของเราให้สติดี ความเพียรดีแล้ว เข้าไปถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติแล้ว กิเลสก็ขาดสะบั้น มันแก้กันอย่างนั้น เห็นอยู่ในหัวใจของเรา ยิ่งเป็นมหาสติมหาปัญญาด้วยแล้ว กิเลสมองดูแทบไม่มีนะ มันว่างไปหมด...แทบไม่มี แต่ดีที่ไม่เคยสำคัญตนว่าได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่กิเลสส่วนละเอียดยังมีอยู่ ไม่เคยสำคัญ ถ้ามีอยู่ละเอียดก็ยอมรับว่ามี ๆ อยู่อย่างนั้น บางทีถึงได้คิดขึ้นมาว่า หือ.. มันเป็นยังไงกิเลส มันม้วนเสื่อไปหมดแล้วเหรอ ! ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อย ๆ ขึ้นมาแล้วเหรอ ! ว่าเฉย ๆ แต่ยังไม่ได้สำคัญตนว่าเป็นอรหันต์น้อย เพราะตอนนั้นมันว่าง.. กิเลสไม่โผล่ อำนาจของสติปัญญามันรุนแรง จากนั้นพอกิเลสขาดสะบั้นลงไปจริง ๆ แล้ว สันทิฏฐิโก ขั้นสุดยอดมาพร้อมกันเลย ทีนี้อรหันต์น้อยอรหันต์ใหญ่ไม่ถามถึงเลย อรหันต์น้อยก็ไม่มี อรหันต์ใหญ่ก็ไม่มี มีแต่สันทิฏฐิโกขั้นสุดยอดในจิต นั่นละ..บริสุทธิ์แล้วเป็นธรรมธาตุ ผางขึ้นมาทีเดียวหมดเลย จากนั้นแล้วไม่ได้รบละ จะรบกับกิเลสตัวไหน เป็นสัญญาอารมณ์กับอะไรบ้าง คือธรรมดาจิตนี้จะมีข้าศึกเต็มตัวอยู่ตลอดเวลา จะหมุนของมันอยู่นั้นละ หมุนอยู่นี้คืออะไร ? คือสมุทัย อวิชชา ปัจจยา มันหมุนมันดันออกมาให้คิดเป็นสังขารสัญญาอารมณ์ไปเรื่อย ๆ ทีนี้พอดีเข้าไป ๆ จนกระทั่งกำลังวังชาของอวิชชาอ่อนลง ๆ สัญญาอารมณ์ที่หลอกลวงเบาเข้าไป ๆ แทบไม่มี ๆ สุดท้ายก็ไปมีอยู่ที่จิต มีก็มีอย่างเบาบางที่สุด ทีนี้พอ สันทิฏฐิโก ขั้นสุดท้ายโผล่ขึ้นมาเท่านั้นละ เหล่านี้ขาดสะบั้นไปหมด จากนั้นมาแล้วไม่มีอะไรกวนใจ เห็นได้ชัดเจนว่า โอ๊ะ.. โลกอันนี้วุ่นเพราะกิเลส มีกิเลสเท่านั้นเป็นตัวยุ่ง พอกิเลสขาดจากใจแล้วไม่มีอะไรยุ่งเลย พระอรหันต์ท่านไม่ยุ่ง.. หมด ที่ท่านแสดงไว้ว่า วุสิตัง พรัหมจริยัง กตัง กรณียัง นาปรัง อิตถัตตายาติ พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี ก็คืองานอันใหญ่หลวง งานวัฏวนงานวัฏจักรคืองานฆ่ากิเลส เมื่อกิเลสได้ขาดสะบั้นลงไปแล้วเรียกว่างานอันใหญ่หลวงนี้เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว นี้เป็นงานที่ควรทำ เป็นงานที่ควรชำระให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กตัง กรณียัง กิจที่ควรทำก็คือการถอดถอนกิเลสได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว กิจอื่นที่ยิ่งกว่านี้ไม่มี กิจสำคัญก็คือกิจถอดถอนกิเลส ตั้งแต่นั้นมากิเลสไม่มี พระอรหันต์ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะมาแทรก ตั้งแต่ที่ขาดสะบั้นลงไป เป็นอกุปธรรมทันทีทันใด แล้วก็ไม่มีข้าศึกอีกเลย อดีต.. อนาคต.. ลบหมด อดีตที่เคยเป็นมาให้วิตกวิจารณ์ ดีใจเสียใจเพราะความเป็นมาของตัวเองก็ไม่มี แล้วข้างหน้าเราจะไปเกิดในภพใดชาติใด จะไปได้รับความทุกข์ความทรมานในนรกหลุมไหน ๆ หรือจะไปสวรรค์ชั้นพรหม.. หมด ขาดสะบั้นไปหมด ปัจจุบันก็รู้เท่าหมดแล้วจ้าไป นั่นเรียกว่าสมมุติหมด อดีตอนาคตปัจจุบันเป็นสมมุติทั้งมวลขาดสะบั้นลงไป ท่านทรงแต่บรมสุข.. ที่เรียกว่านิพพานเที่ยง เที่ยงอยู่ที่ใจซึ่งหมดสิ่งรบกวนคือกิเลส ไม่มีอะไรเหลือแล้ว นั่นละนิพพานเที่ยงอยู่ที่ใจของผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ใครขี้เกียจขี้คร้านแล้วแบกแต่กองทุกข์ ผู้ใดมีความขยันหมั่นเพียร ไม่หยุดไม่ถอยจะมีวันเบาบางไปเรื่อย ๆ นะ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-12-2018 เมื่อ 01:02 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#400
|
|||
|
|||
สนทนาธรรมจนลืมเวลา องค์หลวงตาเมตตาเล่าถึงการสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ที่สร้างความรื่นเริงในธรรมถึงกับลืมเวล่ำเวลาดังนี้ “... ศาลาหลังเล็ก ๆ มาสร้างวัดที่แรก ศาลาหลังเล็ก ๆ ท่านสิงห์ทองก็มาด้วยกันนี่แหละ มาสร้างวัดด้วยกันที่แรก ทีนี้ท่านสิงห์ทองก็ลาไปเที่ยว ไปเที่ยวกลับมา กลับมาแล้วก็มานั่งศาลาเล็กหลังนั้นละ คุยกันกับท่านสิงห์ทอง นี่เรียกว่ามันเพลิน ลืมตัวนะ สององค์เท่านั้นละ สองทุ่มเราลงมาศาลานี้ ท่านสิงห์ทองก็มาคุยกันตั้งแต่สองทุ่ม ฟาดเสียตีสี่..นานไหม ? มันเพลินอะไรก็ไม่รู้ พูดถึงเรื่องภูเขา พูดถึงเรื่องจิตตภาวนา มันเพลินเอา ตอนนี้ละตอนภาวนา ท่านสิงห์ทองก็เล่าเรื่องของท่านให้ฟัง สิ่งใดที่รับกันมันก็ออกรับกัน ๆ เรื่อยจนเพลินนะ ตั้งแต่สองทุ่มจนกระทั่งตีสี่ นานหรือไม่นาน นี่ละว่าเพลิน เพลินอย่างนี้ละธรรม ลืมเวล่ำเวลา จนกระทั่งมันจะรู้สึกอะไรของมัน มาดู ‘เอ้า.. มันดึกแล้วนี่นะ’ มาดูนาฬิกา ‘โอ๊ย..นี่มันตีสี่แล้วนะ เอา.. เลิก ๆ’ ลุกเลยนะ พอว่าตีสี่มันจะสว่างแล้วนี่ เดือนมิถุนายนพอดี ตีห้ามันสว่างแล้ว นี่มันตีสี่มันจะสว่างแล้วนี่นะ เลิกกันก็ลุกเลย เราก็ไป ทีนี้ไปแล้วมันอะไรก็ไม่รู้นะ พอไปถึงกุฏิเรามันหลังเล็ก ๆ นี่ เข้าไปแล้วเอาย่ามวางปุ๊บแล้วดัดเส้นเสียก่อน จะไม่นอนนั่นแหละก็มันเลยเวลาแล้ว ดัดเส้นแล้วถึงจะลงไปเดินจงกรม เราว่างั้นนะ คิดเอาไว้เรียบร้อย แล้วก็มาแผ่สองสลึง ฟาดเสียมันเต็มบาทเลย แผ่สองสลึงแผ่เลยทีเดียว.. หลับ จนกระทั่งท่านสิงห์ทองไปบิณฑบาตในบ้านกลับมา มาสะกิดนิ้วเท้าเราตอนเราหลับเพลินอยู่ ท่านสิงห์ทองท่านไม่นอน ท่านไปบิณฑบาตกลับมา ถึงเวลาแล้วมาสะกิดเรา เรายังหลับครอก ๆ ‘เอ้า.. พอบิณฑบาตแล้วหรือ ?’ ‘พอบิณฑบาตที่ไหน บิณฑบาตมาแล้ว’ ‘หือ’ นั่นเห็นไหมบทเวลามันเพลิน เพลินทั้งสองอย่าง เพลินคุยธรรมะกัน เวลาเพลินเราก็ไม่รู้ จนกระทั่งท่านสิงห์ทองไปบิณฑบาต ท่านสิงห์ทองไม่นอน บิณฑบาตกลับมาก็ไปสะกิดเท้าเรา คึกคักตื่นมา เอ้า.. พอบิณฑบาตแล้วหรือ ? พออะไร ไปบิณฑบาตกลับมาแล้วอย่างนั้นก็มี มันเพลินแบบไหน นั่นฟังซิ..” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-12-2018 เมื่อ 01:04 |
สมาชิก 11 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 4 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 4 คน ) | |
|
|