|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#21
|
||||
|
||||
เริ่มออกเดิน.....
ขณะเดิน ทอดสายตาลงประมาณเห็นไกลแค่ ๔ ศอกเป็นอย่างมาก หรือมองเพียงปลายเท้าของเราที่กำลังก้าวเดินไปนั้น แต่ถ้ามองปลายเท้ารู้สึกขัดข้องเพราะยังไม่ชำนิชำนาญ ก็มองไกลออกไปเท่าที่ไม่ขัดข้อง คือมองไกลไม่เกิน ๔ ศอก แต่ให้หาที่ทอดสายตาลงพอเหมาะกับระยะสายตาตนเอง วิธีเดิน..... อย่าก้าวเดินให้ไวนัก เร็วนัก ช้านัก ก้าวยาวนัก สั้นนัก อย่าเผลอสติปล่อยมือเดินแกว่งไกวแขน หรือเอามือไพล่หลัง เอามือยกขึ้นกอดอก ห้ามเผลอไผลเดินเหลียวหน้าไปมองทางโน้น มองทางนี้ คำภาวนา..... ถ้าประสงค์จะภาวนาคำว่า "พุทโธ" เมื่อก้าวขาไปข้างหนึ่ง ให้ภาวนาว่า "พุท" สืบขาก้าวต่อไปให้ภาวนาว่า "โธ" บริกรรมไปเรื่อย ๆ ตามจังหวะการก้าวขาอันไม่ช้าไม่เร็ว คำภาวนาต้องให้อยู่ในระหว่างก้าวแต่ละก้าว อย่าภาวนาทอดยาวจนทับซ้อนกับก้าวต่อ ๆ ไป อย่าสั้นจนกลายเป็นห้วน เมื่อเดินไปถึงสุดปลายทางเดินจงกรม อย่าด่วนหมุนตัวย้อนเดินกลับเร็วนัก ให้ค่อย ๆ หมุนตัวเวียนไปทางขวามือ หรือจะหยุดยืนกำหนดรำพึงที่หัวทางเดินจงกรมสักครู่เล็ก ๆ ก็ได้ การหยุดยืนกำหนด..... การหยุดยืนกำหนดพิจารณาธรรมนั้น จะยืนกลางเส้นทางเดินจงกรม ยักเยื้องไปทางซ้าย - ขวา ไม่เป็นกฎข้อบังคับใด ๆ แล้วแต่สะดวก เนื่องจากธรรมที่ผุดขึ้นมาในใจขณะนั้น ย่อมมีความตื้นลึกหนาบางแตกต่างกัน แล้วแต่กรณีอันควรอนุโลมตามความเหมาะสม เมื่อหยุดรำพึงจนเข้าใจแจ่มแจ้งก็เริ่มเดินจงกรมต่อไป กำหนดเวลาเดินจงกรม..... การเดินจงกรม ให้กำหนดระยะเวลาเอาเองตามที่ใจปรารถนา ถือเอาความยินดีพอใจเป็นเกณฑ์ เพราะการเดินจงกรมคือการเจริญสมาธิอีกแบบหนึ่งนั่นเอง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นเดิน เพื่อผ่อนคลายทุกขเวทนาอันเกิดขึ้นจากการนั่ง นั่งเจริญสมาธิจะเมื่อยขบเมื่อนั่งไปนาน ๆ การเดินจงกรมเพื่อยืดเส้นยืดสายให้หย่อนผ่อนคลาย เป็นการถนอมอัตภาพร่างกายเอาไว้เพื่อบำเพ็ญเพียรได้เนิ่นนาน ไม่ชำรุดทรุดโทรมจนกลายเป็นคนกะปลกกะเปลี้ย และถ้าเดินจงกรมมากเข้าจนเมื่อยล้า ให้เปลี่ยนกลับไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาตามเดิม ถ้านั่งมากจนเกิดความเมื่อยขบ สามารถนอนเจริญสมาธิได้ไม่ผิด หรือยืนนิ่งอยู่กับที่เพื่อเจริญสมาธิก็ได้ไม่ผิดอีกเช่นกัน การนอนสมาธิ..... ห้ามนอนท่าอื่น เช่น นอนหงาย นอนตะแคงซ้าย นอนคว่ำหน้า ให้นอนท่าสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงขวา เอาขาทับซ้อน เหลื่อมล้ำคู้เหยียด ให้ดูเป็นท่าสำรวมระวัง ใช้ฝ่ามือขวาแบไว้ แนบใบหน้าไปกับฝ่ามือ กำหนดจิตตลอดเวลาที่อยู่ในท่านอน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 06-01-2010 เมื่อ 22:47 |
สมาชิก 128 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#22
|
||||
|
||||
สรุป.....
การนั่งสมาธิ เดินจงกรม ยืนเจริญสมาธิ นอนเจริญสมาธิ สรุปรวมทั้งหมดถูกควรทั้งสิ้น แยกทำไปตามความเหมาะสม เจริญสมาธิในท่าใดอิริยาบถไหนมีความเมื่อยล้า ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ให้ปรับเปลี่ยนทันทีอย่ารีรอชักช้า เพราะถ้าหากอัตภาพร่างกายไม่เป็นสุข จิตก็พลอยไม่เป็นสุข สมาธิจะย่อหย่อนหรือไม่มีสมาธิไปเลย แต่ก็หาใช่ว่าเปลี่ยนตามความพอใจง่าย ๆ เช่น นึกจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนทั้งที่ยังไม่มีอุปสรรคขัดข้องเนื่องจากการนั่ง นอน ยืน เดิน เจริญสมาธิคือการกลั่นกรองหาสาระประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ในตัวเราเอง เพื่อเอาชนะกิเลสตัณหาอวิชชา ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แนะสั่งสอนไว้ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ผู้สืบทอดพระศาสนาก็นำมาถ่ายทอดอบรมแก่เราอีกต่อหนึ่ง ความเหมาะสม..... อย่าหักโหมเพราะมุ่งหวังให้เกิดคุณวิเศษขึ้นในตนเร่งด่วนเกินไป เพราะจะกลายเป็นว่า "สักแต่ว่าทำ" ฉะนั้นจะต้องไม่ร้อนรน ไม่มุ่งหมายว่าจะได้อะไร เพราะการมุ่งหวัง มาดหมาย จะไม่ได้อะไรเลยสักนิดเดียว ดูสภาพธาตุขันธ์ตนเองว่าสมบุกสมบันได้เช่นผู้อื่นหรือเปล่า ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง คือเป็นผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นผู้สุขภาพอ่อนแอ การนอนเจริญสมาธิให้มากกว่าการนั่ง ยืน เดิน เจริญสมาธิ จะมีผลดีเพียงส่วนเดียวไม่มีผลเสีย สำหรับผู้สุขภาพร่างกายแข็งแกร่ง สามารถบุกบั่นกับงานเจริญภาวนาครบทุกอิริยาบถ อย่าเบื่อหน่ายรำคาญ ให้เจริญสมาธิเสมอกัน ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน หรือสุดแท้แต่สภาวะในขณะนั้นจะบอกให้ทราบเองโดยอัตโนมัติ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 07-01-2010 เมื่อ 22:36 |
สมาชิก 123 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#23
|
||||
|
||||
ผลเสีย.....
การหักโหมเจริญสมาธิบำเพ็ญเพียร คือแนวทางสุดโต่งเหมือนพวกฤๅษี โยคี ดาบส ไม่มีทางบรรลุถึงจุดประสงค์สูงสุดของการบำเพ็ญเพียร ตัดกิเลสไม่ขาดแม้แต่กองเดียว กิเลสเคยมีอยู่เท่าใดก็มีอยู่เท่านั้น เผลอ ๆ อาจหลงทาง กลายเป็นพวกนอกลัทธิไปเลยก็มี พึงทำใจไว้ตั้งแต่แรกว่าปรารถนาจะเป็นผู้หมดกิเลส ต่อจากนั้นไม่ต้องเพ่งจิตอยากได้อะไรอีก ตรงกับคำที่ว่า "ไม่อยากคืออยาก" อยากเองโดยการทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่อยาก อุปมากับการหุงข้าว เมื่อซาวข้าว ก่อกองไฟ ยกหม้อข้าวขึ้นไปตั้งบนกองไฟแล้ว ไม่ต้องไปอยากให้ข้าวมันสุก ประเดี๋ยวมันก็สุกไปเองกระนั้นแหละ พระภิกษุลึกลับสาธยายวิธีเจริญสมาธิเดินจงกรมให้สามเณรน้อยฟังอย่างละเอียดลออ สามเณรกองแก้วก้มลงกราบนมัสการพระภิกษุผู้ลึกลับด้วยความเคารพเลื่อมใส เมื่อท่านมีเมตตาอบรมสั่งสอนแนวทางการปฏิบัติอันแจ่มแจ้งชัดเจนให้ พระภิกษุรูปนั้นเมื่อพิจารณาว่าสามเณรน้อยเข้าใจข้อชี้แนะถ่องแท้แล้ว จึงจาริกธุดงค์ต่อไป มีสามเณรกองแก้วนั่งทบทวนความรู้ไปเพียงลำพังที่โคนไม้ใหญ่ต้นนั้น สามเณรระลึกถึงคุณของพระภิกษุลึกลับ แต่เรื่องเกี่ยวกับ "เสือเย็น" ก็หาเลือนไปจากความทรงจำแม้แต่น้อย จำได้ติดหูติดตาว่าเสือตัวเท่าควายเปลี่ยว โถมทะยานฝ่าอากาศเหมือนมัจจุราชมาทวงเอาชีวิต แค่กระโจนตะครุบพลาดเป้าหมาย แทนที่เสือร้ายจะวกกลับมาขบกัดเณรน้อยผู้นอนแอ้งแม้งอยู่บนพื้นดิน กลับอันตรธานเหมือนละลายกลายเป็นอากาศว่างเปล่า ไม่ได้ยินเสียงเผ่นโผนหายไปไหน ไม่มีเสียงกู่ก้องร้องคำรามใด ๆ อีก การรอดพ้นจากความตายคราวนั้นประดุจปาฏิหาริย์ เกิดขึ้นด้วยอำนาจสิ่งใดก็สุดที่สามเณรน้อยจะคาดคะเน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 08-01-2010 เมื่อ 21:56 |
สมาชิก 126 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#24
|
||||
|
||||
ชาวบ้านป่าวัยกลางคนตักเตือนให้ระวังจะถูกเสือเย็นคาบไปกิน เสือเย็นเกิดจาก "ตุ๊เจ้า" ลึกลับผู้ฝึกวิชานอกรีตจนบังเกิดความเข้มขลัง เมื่อร้อนวิชาจนกระทั่งจำแลงแปลงกายเป็นเสือเย็น ซึ่งเป็นเสือทรงพลังอำนาจยิ่งใหญ่เสียกว่า "เสือสมิง" เป็นสิบเท่า
เสือเย็นจวนจะได้เขมือบกินสามเณรน้อยอยู่รอมมะร่อ เปรียบเสมือนขบหัวไว้แล้วในปาก จู่ ๆ มันกลับวิ่งหายสาบสูญไปในอากาศ เมื่อตัดใจยอมตายให้เสือกิน เดินแกะรอยตามเสือมาจนถึงโคนไม้ กลับพบพระภิกษุวัยกลางคนผู้ลึกลับนั่งรอแทนที่จะเป็นเสือ ไม่อยากจะคิดเลยว่าพระภิกษุผู้ลึกลับ คือตุ๊เจ้าลึกลับผู้ร้อนวิชา แต่เหตุการณ์มันคล้องจองเสียเหลือประมาณ ปัญหาที่ขบไม่แตกคือถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดตุ๊เจ้าผู้กลายเป็นเสือเย็น เคยจับควายไปกินหลายตัว ยังเคยกินคนในหมู่บ้านกลางป่าไปแล้ว ตุ๊เจ้าเสือเย็นทำไมไม่จับสามเณรกินเสียด้วย ? ตุ๊เจ้ายังอบรมพร่ำสอนหลักธรรมอันถูกต้อง แนวทางที่ตกทอดกันมาแต่ยุคโบร่ำโบราณ คิดอย่างไรก็เดาไม่ออกบอกไม่ถูก ถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ถ้าได้วิชาความรู้ชั้นสูงจากเสือเย็นอันน่าสะพรึงกลัว เนิ่นนานปีต่อมา..... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 11-01-2010 เมื่อ 19:10 |
สมาชิก 123 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#25
|
||||
|
||||
ตอนสามเณรกองแก้ว อาวุโสสูงเป็น "หลวงปู่ครูบาธรรมชัย" ท่านได้กล่าวกับศิษย์ใกล้ชิดว่า
"ธรรมชาติของเสือเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นภักษาหาร เมื่อมันเจอสัตว์หรือมนุษย์ก็ตาม ธรรมชาติจะบงการให้มันโจนทะยานเข้าตะปบกินทันที เพราะสัตว์และมนุษย์คือเหยื่อของมัน เหมือนนกเจอหนอนแมลง นกก็จับกินเป็นอาหาร เพราะเป็นกติกาของธรรมชาติสัตว์ใหญ่ต้องกินสัตว์เล็ก" สาเหตุที่เสือไม่จับพระธุดงค์กินเป็นภักษาหาร หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ชี้แจงว่า มีด้วยเหตุ ๓ ประการ ๑. เทพยดาผู้มีหน้าที่อารักษ์อยู่ในป่าเขาลำเนาไพร บันดาลดลใจให้เสือร้ายเข้ามาทดสอบกำลังจิตของพระธุดงค์ คอยควบคุมไม่ได้เกิดการทำร้ายแม้แต่เท่ารอยแมวข่วน ๒. เทพยดาเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ เทพยดาจึงนิรมิตอัตภาพร่างกาย จำแลงเป็นเสือร้ายมาทดสอบกำลังใจของพระธุดงค์ และไม่ใช่จำแลงแปลงกายเป็นเสือได้อย่างเดียว จะจำแลงเป็นภูติผีปิศาจอันน่าสะพรึงกลัวมาให้เห็นก็ได้ ทดสอบว่าพระธุดงค์ยังมีความสะดุ้งกลัวต่อสิ่งลี้ลับหรือไม่ หากยังเสียวสะดุ้งตกใจแสดงว่ายังห่างไกลต่อการบรรลุธรรมชั้นสูงประการใดประการหนึ่ง หรือยังเป็นผู้ไม่บรรลุธรรมใด ๆ เลย ๓. เสือจริงที่กินเนื้อเป็นภักษาหาร คือเป็นเสือจริง ๆ ตามธรรมชาติที่มีอยู่ในป่า เมื่อเจอพระธุดงค์เท่ากับเจออาหารเดินไปมา จึงต้องจับกินเป็นอาหาร เทพยดาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้เป็นผู้ดลใจเสือ แต่เมื่อเสือเดินเข้ามาใกล้รัศมีพลังจิตของพระธุดงค์ผู้เจริญธรรมสมาธิจนแก่กล้า เกิดเป็นกระแสแห่งเมตตาแผ่ออกไปเองจากร่างพระธุดงค์ กระแสนี้ทรงอำนาจประหลาดล้ำสามารถแผ่เข้าไปถึงจิตที่อยู่ภายในกายของเสือ เสือร้ายจะคลายความกระหายเลือด รู้สึกเป็นมิตรต่อกันกับพระธุดงค์ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 12-01-2010 เมื่อ 18:56 |
สมาชิก 131 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#26
|
||||
|
||||
อุปมาเหมือนมหาโจรที่มนุษย์ผู้หนึ่งชุบเลี้ยงด้วยความรักใคร่เอ็นดูแต่น้อยจวบใหญ่ มหาโจรจะดุดันเพียงใด หากเจอท่านผู้อุปการะเลี้ยงดูด้วยความเมตตารักใคร่ มหาโจรก็จะตรงเข้าไปกราบแทบเท้า เพราะระลึกถึงบุญคุณท่านผู้นั้น เรื่องมีความคิดเป็นศัตรูไม่มีเลย
ส่วนที่มีข่าวปรากฏบ่อย ๆ ว่า เคยมีพระธุดงค์ถูกเสือคาบไปกินหรือเสียชีวิตอย่างน่าสังเวชอยู่กลางป่าดงดิบเพราะถูกสัตว์ทำร้าย อาจเป็นเพราะเป็นผู้ไม่สำรวมระวัง เป็นผู้ไม่มีศีลครบถ้วนบริบูรณ์ ฯลฯ อุปมาเหมือนผู้ไม่เคยมีคุณงามความดีอันใดกับมหาโจรเลย อยู่ ๆ ก็พกพาสมบัติติดตัวเข้าไปหาถึงกลางซ่องโจร พวกมหาโจรย่อมมองดูเหมือนเหยื่ออันโอชะเดินเข้ามาหาเองถึงปากเสือ เสือจะไม่ขบหัวก็ดูกระไรอยู่..... สามเณรกองแก้วบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าห้วยน้ำดิบสามเดือน จิตเข้าถึงสมาธิน่าพึงพอใจ ความหวาดกลัวเมื่อผ่านการเผชิญหน้ากับเสือเย็นไปแล้ว ทุเลาเบาบางลงจนเกือบไม่เหลืออยู่เลย มีความมั่นคงทางกำลังใจถึงระดับหนึ่ง สามเณรจึงเดินทางกลับเข้าสู่วัด แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 13-01-2010 เมื่อ 22:21 |
สมาชิก 120 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#27
|
||||
|
||||
อายุ ๑๙ ปี สอบได้นักธรรมตรี จึงไปเรียนต่อนักธรรมโทที่วัด "มหาวัน" ได้นักธรรมโทเมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ปีเดียวกันนั้น สามเณรน้อยเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ฉายาทางธรรมว่า "ธมฺมชโย" ณ พัทธสีมา วัดหนองหล่ม ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้าอาวาสคำมูล ธมฺมวํโส วัดแม่สารป่าตอง เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดสันป่าสัก ได้รับแต่งตั้งเป็น "ผู้ช่วยเจ้าอาวาส"
ต่อมาเป็นครูสอนนักธรรมที่สำนักวัด "สันป่าสัก" และวัด "น้ำพุ" ตำบลเดียวกัน ยังสอนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลนานถึง ๖ ปี ในระหว่างที่สอนอยู่นี้ เวลาว่างได้เดินทางไปเรากราบนมัสการ "ครูบาศรีวิชัย" ซึ่งมีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่วทั้งแผ่นดินไทยในสมัยนั้น ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัยในคราวเดียวกัน พ.ศ. ๒๔๘๑ รับนิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัด "อินทะขิลใหม่" ตำบลอินทะขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้บูรณะซ่อมแซมเสนาสนะที่วัดนั้นนาน ๙ ปี อบรมพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่วภาคเหนือว่าเป็นพระนักสร้าง นักพัฒนาวัดวาอาราม สมกับเป็นศิษย์สำคัญรูปหนึ่งของครูบาศรีวิชัย ระหว่างเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทะขิลใหม่ ครูบาธรรมชัยนอกจากไปกราบนมัสการครูบาศรีวิชัยอยู่เนือง ๆ ยังออกเที่ยวเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ผู้เรืองพุทธาคม และเก่งกาจสามารถในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ขณะเดียวกันก็ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับตำรายาแพทย์โบราณไปด้วย ระยะนี้ครูบาธรรมชัยจึงเป็นผู้เรืองพุทธาคมเข้มขลังองค์หนึ่งมีฌานสมาบัติกล้าแกร่ง และช่ำชองในศาสตร์แพทย์โบราณ ออกสงเคราะห์ศรัทธาญาติโยมด้วยวิชาดีหลายประการที่มีอยู่ในตัวตน เป็นที่เคารพเลื่อมใสมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วในสมัยนั้น หลังจากเป็นพระนักสร้าง พระนักพัฒนานาน ๙ ปีเต็ม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 14-01-2010 เมื่อ 22:02 |
สมาชิก 116 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#28
|
||||
|
||||
พ.ศ. ๒๔๙๐ ปลายปี ครูบาธรรมชัยอำลาวัดอินทะขิลใหม่ และคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านออกป่าจาริกท่องธุดงค์ปลีกวิเวกบำเพ็ญเพียรตามจริตนิสัย ให้สมกับที่เฝ้ารอการเจริญรอยตามหลวงปู่หลวงพ่อผู้สำเร็จเป็นองค์อริยะไปเพราะการเดินธุดงค์ ฝากชีวิตตนไว้กับหนทางทุรกันดารในดงดิบ
ออกจากประตูวัดอินทะขิลใหม่ ครูบาธรรมชัยจาริกธุดงค์ผ่านป่าดงพงพี ก้าวเดินเรื่อย ๆ ไปอำเภอฝาง แล้วแวะเข้านมัสการพระที่ถ้ำ "ตับเตา" คืนหนึ่ง เพิ่งอาทิตย์ตกดินไปไม่นานเท่าใด ขณะที่ครูบาธรรมชัยเดินจงกรมพิจารณาธาตุธรรมอยู่บริเวณหน้าถ้ำตับเตา บรรยากาศวิเวกวังเวงผิดปกติ ไม่มีเสียงสัตว์ชนิดใดเคลื่อนไหวในราวป่า พลันโสตประสาทได้สดับรับรู้ถึงเสียงจ้าวป่าคำรามกระหึ่มมาแต่ไกล การท่องธุดงค์ไปในกลางป่าเปลี่ยว เรื่องสัตว์ร้าย เช่น เสือ สิงห์ กระทิง แรด เป็นธรรมดาที่ต้องเผชิญหน้ากันสม่ำเสมอ แต่เสียงจ้าวป่าลึกลับตัวนี้ผิดแผกแตกต่างจากเสียงที่เคยสดับสุ้มเสียงและได้เคยผจญมา สัตว์ป่าทุกชนิดเมื่อสดับถึงสรรพสำเนียงต่างหวาดกลัวจนหัวหดหุบปากนิ่งสนิท แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 15-01-2010 เมื่อ 21:09 |
สมาชิก 115 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#29
|
||||
|
||||
การก้าวย่ำมาบนพื้นดิน หนักหน่วงจนเศษกิ่งไม้ใบแห้งไหวกระเพื่อม เหมือนมีลูกตุ้มเหล็กขนาดยักษ์หล่นกระแทกพื้น จนเศษกิ่งไม้ใบหญ้ากระดอนขึ้น เสือเย็นผู้น่าพรั่นสะพรึงยามเดินไม่มีเสียงฝีเท้าอย่างมหัศจรรย์ แต่เสือลึกลับก้าวเดินแต่ละก้าวย่าง แผ่นดินสะเทือนไหวน้อย ๆ อย่างไม่น่าเป็นไปได้
เสียงคำรามในลำคอดัง "มาว มาว มาว" ละม้ายแมวอย่างพิลึกพิกล ฟังแล้วชวนขนลุกชันเอาง่าย ๆ ครูบาธรรมชัยไม่ไยดีกับเสียงเดินและเสียงขู่คำรามอันพิสดาร คงเดินจงกรมด้วยก้าวเป็นปกติ ไม่เร่งร้อน ไม่ผ่อนช้า เสียงก้าวย่างของเสือลึกลับ ซึ่งทำให้แผ่นดินสะเทือนยังดังอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งมาหยุดอยู่ในระยะใกล้ ห่างจากทางเดินจงกรมราวสองวา เบื้องหน้าของครูบาธรรมชัย เห็นหัวเสือใหญ่ราวครกตำข้าวของชาวชนบท คือ ใหญ่ประมาณร่วมหนึ่งโอบ ตัวใหญ่ขนาดม้าพ่วงพีอันองอาจกำยำ ท่ามกลางความมืดทะมึน ยังเห็นนัยน์ตาเสือมหึมา ลุกแดงวาวโรจน์ราวกับมีกองเพลิงเข้าไปสุมอยู่ มันกำลังทำท่าย่อหมอบคู้ขาคู่หน้า เพื่อเผ่นโผนกระโจนเข้าตะครุบแค่ครั้งเดียวไม่มีพลาด ครูบาธรรมชัยจึงหยุดก้าวเดินบนทางจงกรม เพ่งสายตามองสบกับนัยน์ตาอันวาวโรจน์น่าหวาดสยองของจ้าวป่าร่างยักษ์ ขนาดไม่ย่อมไปกว่า เสือเย็น แม้แต่นิดเดียว ขณะสบตากัน ครูบาธรรมชัยมีจิตสงบนิ่งดุจน้ำในบ่อโบราณอันเย็นสนิทไม่ไหวกระเพื่อม แผ่กระแสเมตตาอันเย็นฉ่ำไปถึงจิตของเสือผู้เตรียมกระโดดขย้ำ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 17-01-2010 เมื่อ 22:28 |
สมาชิก 109 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#30
|
||||
|
||||
"อาตมากำลังบำเพ็ญเพียรเพื่อละทุกข์ทั้งปวง เสือเองก็อยู่เย็นเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยโดยความสวัสดีเถิด"
แผ่เมตตาให้เสือมหึมาแล้ว ท่านยังเปิดโอกาสให้เสือร้ายได้กินเป็นภักษาหาร คือไม่ปิดกั้น "อาตมาหากเคยมีเวรานุเวรกับเสือนี้ เมื่อเสือยังจองเวรอันเคยทำกันมาแต่ชาติปางก่อน เสือจงสบายใจกระโดดเข้ามาจับอาตมากินให้คลายความขุ่นแค้นเสียเถิด" สิ่งประหลาดน่าพิศวงอุบัติขึ้นในฉับพลัน..... เสือใหญ่มหึมากระโจนพรวดย้อนกลับไปทางเดิม เผ่นโผนโจนทะยานขึ้นไปบนภูเขา ก่อนจะลับหายไปในความมืดของรัตติกาล "หลวงปู่ครูบาธรรมชัย" เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดรู้ในภายหลังว่า เสือใหญ่ตัวนี้คือเทพยดาจำแลงแปลงกายมาทดสอบกำลังจิตของท่าน แต่ถ้ามีจิตหวาดเสียวแม้แต่สักนิด จะโดนข่มขวัญจนขนพองสยองเกล้าทีเดียว เรื่องความลี้ลับมหัศจรรย์ในป่าดงดิบสมัยกว่า ๖๐ ปีที่แล้ว เมืองไทยเราแค่ก้าวออกจากหมู่บ้าน คืบก็ป่า ศอกก็ป่า ทั้งสัตว์ดุร้าย และสัตว์อาถรรพ์ ตลอดจนภูตผีปีศาจ เป็นสิ่งที่ผู้เดินเข้าสู่ป่าจำต้องระมัดระวังตนเองตลอดเวลา เพราะสามารถหาเหตุเดือดร้อนใส่ตัวได้ง่าย ๆ แค่ปัสสาวะรดจอมปลวก รดโคนไม้ใหญ่อายุเป็น ๑๐๐ ปี ครั้นกลับถึงบ้านล้มป่วยด้วยโรคลึกลับหาสาเหตุไม่ได้ว่าป่วยเป็นอะไร กว่าจะคืนสู่สภาพเดิมนานนับเดือน เผลอ ๆ ล้มตายไปในที่สุด ด้วยเหตุจากความเลินเล่อประมาทกับสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั่นเอง วันหนึ่ง ครูบาธรรมชัยในวัยกลางคนออกจาริกธุดงค์ไปยังถ้ำเชียงดาว เส้นทางที่จำเป็นต้องผ่านไปในป่าชาวบ้านเรียกว่า "ป่าปางหก" ซึ่งเป็นดงดิบ เต็มไปด้วยงูเงี้ยวเขี้ยวขอเลื้อยเพ่นพ่านยั้วเยี้ยไปหมด มีที่เลื้อยอยู่ตามซอกหลืบของต้นไม้ใหญ่ หรือบนคาคบไม้ซึ่งขึ้นไปม้วนพันตัวอยู่ สัตว์หรือมนุษย์พลัดหลงเข้าทาง จะทิ้งตัวลงมารัดทันที เป็นมหาภัยของคนย่านนั้น หากไม่จำเป็นขั้นสุดขีดไม่มีใครอยากเดินผ่านป่าปางหก เพลานั้นใกล้มืดค่ำลงเต็มที ครูบาธรรมชัยจำเป็นจะต้องรีบเดินตัดป่าปางหกไปให้ถึง "บ้านปาง" อำเภอเชียงดาว ให้ได้ จึงไม่ปักกลดพักค้างแรมก่อนจะถึงดงงู แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 18-01-2010 เมื่อ 15:11 |
สมาชิก 111 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#31
|
||||
|
||||
ป่าปางหกตอนพลบค่ำ ป่าทั้งป่าจะมืดเหมือนหลับตาเดิน เนื่องจากต้นไม้ใบหญ้าไม่มีผู้คนเข้าไปรบกวน เพราะหวาดกลัวพวกงูเงี้ยวเขี้ยวขอ ยามกลางคืนยังสลัวลางมองแทบไม่เห็นพื้นดิน กิ่งไม้ใบไม้หนาทึบ เหมือนกางร่มกันแสงแดดไม่ให้สาดส่องลงมาถึงพื้นเบื้องล่าง
ครูบาธรรมชัยเดินตัดผ่านเข้าไปในป่าปางหกตอนมืดค่ำเพียงครู่เดียว ก็เหยียบเอางูแมวเซาเข้าไปโดยไม่เจตนา จึงลองเอาไฟฉาย ฉายดูไปรอบด้าน พบด้วยความตื่นตาตื่นใจว่ามีงูแมวเซาจำนวนถึง ๑๖ ตัว ขดพันกันยั้วเยี้ยอยู่รอบ ๆ ตัวท่าน ประหลาดที่มันไม่ได้แสดงอาการดุร้ายหมายทำอันตรายท่านแต่อย่างใด ผ่านจากกลุ่มงูแมวเซาไปอีกสักระยะหนึ่ง ครูบาธรรมชัยสะดุดเอาขอนไม้ลื่น ๆ เข้าเต็มแรง จึงเอาไฟฉาย ฉายดูอีกครั้ง สิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตาคืองูเหลือมขนาดยักษ์ นอนขดเป็นวงกลมอยู่กลางด่านสัตว์ที่ท่านอาศัยเดิน เจตนาคือจะรอดักจับสัตว์กินเป็นอาหาร ครูบาธรรมชัยก้าวจากวงนอกเข้าไปอยู่ใจกลางวง ในที่ที่มันม้วนขดอยู่โดยบังเอิญ..! ธรรมดางูเหลือมยักษ์ต้องม้วนขนดขดตัว อย่างฉับพลันทันใด รวดเร็วเหมือนมีสปริงดีด เพื่อม้วนรัดเหยื่อให้กระดูกทั้งร่างแหลกเหลวก่อนจะกลืนเข้าปากลงกระเพาะตามวิสัยของมัน ต่อให้สัตว์ทรงพลังแข็งแรงมีความแคล่วคล่องว่องไวอย่างเสือผู้เป็นจ้าวป่า ก็อย่าหวังว่าจะรอดเมื่อตกเข้าไปอยู่ในใจกลางวงที่เป็นลำตัวงูเหลือม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 19-01-2010 เมื่อ 13:19 |
สมาชิก 113 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#32
|
||||
|
||||
ปรากฏเป็นที่น่าพิศวงว่ามันนอนขดอยู่เหมือนทองไม่รู้ร้อนไม่มีกิริยาจะทำร้ายท่านสักนิดเดียว เท่าที่เห็นคือนอนสงบนิ่งเฉย ช้อนตามองดูท่านด้วยท่าทางเฉยเมย
ท่านจึงก้าวข้ามออกจากวงตัวงูเดินต่อไป เมื่อผ่านพ้นออกไปจากป่าปางหก จึงพ้นแหล่งชุมนุมของพวกงูไปได้ เรื่องเจองูนี้ ท่านยังมีประสบการณ์ยิ่งกว่าในป่าปางหก คือที่ถ้ำเชียงดาว เพราะที่นั่นท่านพบพญางูยักษ์คือ พญานาค...! แต่ก่อนจะนำเรื่องเกี่ยวข้องกับพญานาคราชมากล่าวถึง ยังมีเรื่องที่ครูบาธรรมชัยพบความลี้ลับพิสดารในดงดิบอยู่อีก จะข้ามเลยสิ่งแปลกประหลาดอันเหลือเชื่อไปถึงเรื่องพญานาคเสียเลยทีเดียวก็ดูจะกระไรอยู่ เพราะเกี่ยวพันไปถึงอำนาจจิตอันฝึกมาดีแล้วของท่านเช่นกัน ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ครูบาธรรมชัยพอมีเวลาว่างจากศาสนกิจ สามารถปลีกวิเวกไปจาริกธุดงค์ตามป่าเขาเถื่อนถ้ำ ที่ท่านยึดเป็นหลักสำคัญในการเจริญสมาธิให้มีความก้าวหน้าในทางธรรม ครูบาธรรมชัยจึงท่องธุดงค์ไปทางเชียงใหม่ ขึ้นไปกราบนมัสการพระบรมธาตุแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ดอยสุเทพ หลังจากที่ท่านเคยร่วมงานสร้างเส้นทางตัดขึ้นดอยสุเทพกับครูบาศรีวิชัยมาแล้ว ตอนนั้นท่านเคยพบว่าป่าใหญ่หลังดอยสุเทพ บริเวณ "ถ้ำฤๅษี" เป็นสถานที่สงัดวิเวกมีธรรมชาติงดงามเจริญหูเจริญตา เหมาะสมกับการพำนักเพื่อบำเพ็ญตบะธรรมให้แก่กล้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนั้น เมื่อขึ้นไปกราบถวายสักการะแด่พระบรมสารีริกธาตุ แห่งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ครูบาธรรมชัยจึงเดินทางต่อไปสู่ถ้ำฤๅษี ขณะเดินไปถึงลำห้วย "แม่งาไซ" ซึ่งอยู่ในป่าด้านหลังดอยสุเทพอันเป็นป่าใหญ่ในสมัยนั้น ยังไม่มีผู้ใดไปหักร้างถางพง มีต้นไม้ใหญ่สลับด้วยกอไผ่อันกินบริเวณกว้างขวางร่มรื่น ระหว่างเส้นทางที่ก้าวเดิน ราวป่าข้างหนึ่งปรากฏเสียงโผงผางตึงตังเหมือนมีใครมาตัดไม้อยู่ เข้าใจในตอนแรกว่าเป็นชาวบ้านใกล้ป่ามาตัดไม้ไปทำฟืนหุงต้ม หรืออีกทีคือพวกมาตัดหน่อไม้กำลังฝ่าดงไผ่ด้วยคมมีด ท่านจึงไม่ทันได้เหลียวมอง แต่แล้วสังหรณ์อย่างไรไม่ทราบได้ ปรายตาไปมองทางนั้นนิดหนึ่งปรากฏว่าที่คิดว่าเป็นชาวบ้านป่ามาหาฟืนหรือหาหน่อไม้ แท้ที่จริงคือหมีควายร่างใหญ่ทะมึน ขณะยืนสองขาความสูงเหนือหัวมนุษย์เป็นศอก มันกำลังหักต้นไผ่หาหน่อไม้กินอย่างหงุดหงิดรำคาญใจเป็นกำลัง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 20-01-2010 เมื่อ 13:15 |
สมาชิก 103 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#33
|
||||
|
||||
หมีควายเหลียวหน้ามา เห็นพระภิกษุในจีวรเหลืองหม่นสะดุดตา ความเดือดดาลที่มันเอาหน่อไม้ไปกินได้ยากเย็น เกิดโทสะอันหาที่ระบายไม่ได้ จึงเดินสองขา ก้าวโงนเงนงุ่มง่ามออกจากราวป่าไผ่ ตรงเข้าหาครูบาธรรมชัยทันที
ธรรมชาติของหมีควายยามที่เดินสองขา คล้ายกับงุ่มง่ามเชื่องช้า ถ้าผู้เผชิญหน้าตกอกตกใจเผ่นหนี หมีควายจะลงวิ่ง ๔ ขา รวดเร็วเกือบเท่าม้าวิ่ง คนมีเพียง ๒ ขา ไม่มีทางหนีพ้นการไล่ล่าของมันไปได้เลย ครูบาธรรมชัยล่วงรู้ธรรมชาติของหมีควายดี ท่านไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจแต่อย่างใด คงยืนแน่วนิ่งอยู่กับที่ เจริญเมตตาแผ่ไปให้มัน "สัพเพ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรัน ตุ" "สัตว์โลกทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย กันทั้งหมดทั้งสิ้น อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย" "จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งสิ้นเถิด" ขณะที่เพิ่งเริ่มกำหนดจิตแผ่เมตตาให้ เจ้าหมีโทสะเดินย่างสามขุมเข้ามา ยืนห่างไปเพียงศอกเศษ เงือดเงื้อกรงเล็บขึ้นสุดล้า เตรียมจะตบลงมาด้วยเรี่ยวแรงอันมหาศาล ลมหายใจฟืดฟาดแสดงถึงโทสะอันร้อนแรง ดังเพลิงเผาผลาญจนใกล้จะคลุ้มคลั่ง บทแผ่เมตตาสร้างกระแสด้วยพลังจิตมหัศจรรย์ของครูบาธรรมชัย หมีดุตัวนั้นเงื้อแขนชะงักค้างกลางอากาศ กรงเล็บหาได้ตะปบลงมาดังที่มันตั้งใจ คล้ายกับโดนมนต์สะกด แท้ที่จริงคือมันรับกระแสแห่งมหาเมตตา ผ่านตรงเข้าไปถึงจิตใจของมันแล้ว แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 21-01-2010 เมื่อ 20:30 |
สมาชิก 105 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#34
|
||||
|
||||
บารมีธรรมย่อมชนะได้ทุกสรรพสิ่ง เป็นความลี้ลับน่าอัศจรรย์เหนือธรรมชาติ เจ้าหมีควายร่างยักษ์เกิดมิตรจิตมิตรใจขึ้นทันที ล้มเลิกการมีโทสะกับครูบาธรรมชัยผู้ไม่ปองร้าย ไม่ต่อสู้ ไม่หนี ไม่หวาดกลัวต่อภยันตรายใด ๆ ที่พึงมีในโลก
ครู่ต่อมา หมีควายหันหลังเดินกลับไปที่ป่าไผ่ หาหน่อไม้อันขุดได้ยากแค้นแสนเข็ญเพื่อกินเป็นอาหารต่อไป ครูบาธรรมชัยก้าวเดินไปตามทางของท่าน ยุติกรณีพิพาทกับหมีไว้เพียงแค่นั้น ผู้ไม่กลัวตาย ถึงคราวตายย่อมต้องตายเป็นธรรมดา แต่ถ้าไม่มีเวรกรรมสืบเนื่องกันมาแต่ชาติปางก่อน ผู้ไม่กลัวตายจะไม่มีวันตายเพราะอุบัติเหตุเภทภัย และการจู่โจมโดยไร้เจตนาของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งต้องหมายความด้วยว่า ผู้ไม่กลัวตายมีเหตุเนื่องเพราะจิตที่ฝึกมาดีแล้วจึงไม่หวาดเสียว ไม่กลัวตาย ผ่านจากหมีจอมโทสะ..... อีกคราวหนึ่ง ครูบาธรรมชัยท่องธุดงค์ผ่านป่าสักงาม "ดอยสะเก็ด" ตอนเวลาจวนเจียนจะมืด อาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า เป็นเวลาสมควรหยุดพักปักกลดในที่อันเหมาะควร ท่านเพิ่งเห็นสถานที่ร่มรื่นแห่งหนึ่ง แต่ก็เห็นสิ่งมีชีวิตอีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ท่านต้องหยุดการเคลื่อนไหวใด ๆ ในทันที งูจงอางสีดำละเลื่อมราวกับเคลือบด้วยสีดำสะท้อนแสงจำนวน ๑๒ ตัว ขนาดเท่าท่อนแขนผู้ใหญ่ตัวล่ำ ๆ ทยอยกันเลื้อยปราด ๆ ออกมาจากจอมปลวกข้างทาง ชูคอแผ่แม่เบี้ยขวางทางท่านไว้ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 22-01-2010 เมื่อ 17:55 |
สมาชิก 98 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#35
|
||||
|
||||
มองไปเบื้องหน้าเหมือนระลอกคลื่นสีดำนิลไหวไปมาตามการโยกคอหลอกล่อของจงอาง ทำท่าจะฉกกัดทันทีที่เห็นการเคลื่อนไหวผิดปกติจากฝ่ายมนุษย์ งูจงอางใหญ่ขนาดนี้เพียงตัวเดียวที่ฉกใส่ พิษอันร้ายกาจเกินพอในการทำลายชีวิตหนึ่งให้สิ้นสุดยุติลงได้อย่างง่ายดาย พวกมันยังแห่กันออกมาจากข้างทางถึง ๑๒ ตัว จะข่มขวัญผู้ที่พบเห็นถึงปานไหน
ครูบาธรรมชัยยืนนิ่งสงบแต่ไม่ประหวั่นกับพวกงูจงอาง เห็นพวกมันเป็นเพียงสัตว์โลกผู้เวียนว่ายตายเกิดอันน่าสมเพช หมุนเวียนเปลี่ยนอัตภาพจากมนุษย์ไปเป็นสัตว์ จากสัตว์ชนิดน่าสะพรึงกลัวไปเป็นสัตว์อื่นอีก หมุนเวียนเปลี่ยนไปโดยไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเอง จึงเป็นสัตว์ดุร้ายผู้ควรค่าแก่ความเมตตาสงสารอย่างยิ่ง ท่านดำริเช่นนั้นแล้ว กำหนดจิตแผ่เมตตาอันไม่มีประมาณ ให้แก่ปวงงูจงอางที่เลื้อยออกมารายล้อมรอบบริเวณที่ท่านยืนอยู่ งูจงอางปกติจะไม่สยบต่ออำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งพญาช้างสารมันยังกล้าแผ่แม่เบี้ยเข้าฉกกัดต่อสู้ แต่เมื่อดวงจิตอันกล้าไปด้วยตบะธรรมของครูบาธรรมชัย แผ่อำนาจเมตตาอันชุ่มเย็นไปถึงดวงจิตของพวกมัน งูจงอางผู้ดุร้ายทั้ง ๑๒ ตัว ค่อย ๆ ทยอยหุบแม่เบี้ยละความดุที่เป็นธรรมชาติวิสัย ค่อย ๆ เลื้อยกลับไปยังที่อยู่ของตนจนหมดสิ้น ครูบาธรรมชัยปักกลดอยู่ตรงบริเวณนั้น ใกล้กับจอมปลวกที่พวกงูจงอางอาศัยอยู่ ท่านจาริกธุดงค์กระทั่งศรัทธาในพระสัทธรรมขององค์พระบรมศาสดาอย่างแน่นแฟ้น เชื่อแน่ว่าผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบอยู่ที่แห่งใดก็ปลอดภัยในทุกประการ อยู่กลางป่าย่อมต้องเจอสัตว์นานาชนิดเป็นเรี่องธรรมดา ถ้าเจอสัตว์ดุร้ายแล้วนึกสะดุ้งหวาดเสียว จะท่องธุดงค์รอดได้อย่างไร อีกคราวหนึ่ง..... ครูบาธรรมชัยท่องธุดงค์ไปทางป่าเชียงดาว เมื่อไปถึง "ขุนห้วยแม่ตาด" ซึ่งเป็นต้นกำเนิด "แม่น้ำตาด" นั้น เวลาเย็นแดดผีตากผ้าอ้อมทอแสงเหลืองอร่ามจับผืนฟ้า เมื่อแดดผีตากผ้าอ้อมเลือนลับไปจากท้องฟ้า ราตรีกาลอันมืดทะมึนจะมาเยือนทั่วผืนป่า แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 23-01-2010 เมื่อ 12:07 |
สมาชิก 95 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#36
|
||||
|
||||
ท่านตกลงใจปักกลดที่ริมฝั่งห้วย แล้วลงไปสรงน้ำในลำห้วย เพื่อความสดชื่นของร่างกาย สามารถปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิได้กระปรี้กระเปร่า
ทันใดนั้นเอง..... ช้างป่าโขลงหนึ่งเดินเหยาะย่างพ้นราวป่าออกมา ทุกเชือกสูงใหญ่พ่วงพีราวกับภูเขาย่อม ๆ เคลื่อนที่ได้ ในจำนวน ๘ เชือก มีที่งายาวงาม ๓-๔ เชือก พวกช้างสารเหล่านั้นกำลังมุ่งตรงลงมาหาน้ำดื่ม ในจุดที่ห่างครูบาธรรมชัยไม่ถึง ๓ วา เมื่อพวกมันเห็นท่านกำลังสรงน้ำอยู่เช่นนั้น มีอาการโกรธเกรี้ยวเฉียวฉุนในทันใด ต่างทำท่าจะควบตะลุยโลดแล่นเข้าใส่ไม่รอช้า ท่ามกลางความคับขันชีวิตเหมือนแขวนอยู่บนปากเหว จ่าโขลงของช้างทั้งปวงชูงวงขึ้นสูง แผดเสียงแปร๋แปร๋นขึ้น ๓ ครั้ง ๓ ครา เป็นสัญญาณห้ามลูกโขลงไม่ให้ทำอันตรายพระธุดงค์ ลูกโขลงเหมือนถูกติดเบรกท่าวิ่งชะงักค้าง จ่าโขลงจึงนำลูกโขลงย้ายทำเลออกไปหาน้ำดื่มไกลจากที่ท่านสรงน้ำไม่รบกวนไม่ทำอันตรายใด ๆ หลวงปู่คูรบาธรรมชัย เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังในภายหลังว่า โขลงช้างไม่ทำอันตรายท่าน เป็นด้วยบารมีธรรมของท่านที่แผ่เมตตาก่อนลงสรงน้ำในห้วยนั่นเอง..... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 01-02-2010 เมื่อ 19:38 |
สมาชิก 97 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#37
|
||||
|
||||
ป่าภาคเหนือเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีมาแล้ว มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเกือบ ๙ ใน ๑๐ ของแผ่นดินล้านนาไทย
ครั้งหนึ่ง ครูบาธรรมชัยไปนั่งสมาธิเจริญกรรมฐานอยู่ในป่าช้า "สันปูเลย" ใกล้กับวัด "ทุ่งหลวง" อำเภอแม่แตง อยู่ห่างจากตัวเมืองไม่มากเท่าไหร่ เขตชุมชนหนาแน่นในสมัยนั้นก็ยังเป็นป่ารกชัฏ บรรยากาศยามค่ำคืนวิเวกวังเวงใจ โดยเฉพาะป่าช้า "สันปูเลย" เป็นป่าช้าที่น่าหวาดหวั่นของคนทั่วไป มีผีดิบปรากฏอยู่เสมอ คอยหลอกหลอนจนชาวบ้านขวัญหนีดีฝ่อไปตาม ๆ กัน ตกเย็นยังไม่ถึงกับมืดค่ำ ไม่มีแม้แต่สักคนเดียวที่กล้าเฉียดเข้าไปใกล้ป่าช้าแห่งนี้ สัปเหร่อของวัดไม่มีวิชาดีพอที่จะคุ้มครองตัวเองก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน แม้แต่ในเวลากลางวัน ถ้าไม่มีกิจธุระจำเป็น ชาวบ้านจะไม่ยอมเดินผ่านเข้าไปในป่าช้าเด็ดขาด เพราะเหล่าผีดิบไม่ละเว้นที่จะสำแดงเดช ป่าช้าสันปูเลยจึงเสมือนเขตหวงห้ามโดยไม่ต้องมีใครบังคับ ครูบาธรรมชัยเข้าไปปักกลดบำเพ็ญเพียรในสถานที่อย่างนี้ พวกชาวบ้านจึงวิตกกังวลแทน เกรงว่าท่านจะได้รับความตกอกตกใจ บำเพ็ญสมณธรรมไปไม่ตลอดรอดฝั่ง ท่านก็ไม่ฟังคำห้ามปรามของศรัทธาญาติโยม ระหว่างนั้น พ่อเลี้ยงคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้าน "ปางทางปางกว้าง" อำเภอแม่แตง ได้มีช้างตกมันอยู่เชือกหนึ่งแตกปลอก ออกอาละวาด ช้างตกมันจะดุร้ายเหมือนช้างวิปลาสคุ้มคลั่ง ไม่ฟังคำสอนของควาญช้าง แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 02-02-2010 เมื่อ 18:58 |
สมาชิก 94 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#38
|
||||
|
||||
ควาญช้างพยายามออกติดตาม พบเข้าก็ปลอบโยนตามวิธีที่เคยใช้ได้ผล แต่เที่ยวนี้ช้างไม่ฟังคำหวานใด ๆ ไล่กระทืบควาญช้างดุเดือดเผ่นหนีแทบไม่ทัน จากนั้นไล่ทำร้ายชาวบ้านไม่เลือกหน้า ทำลายไร่นา สวนผลไม้แหลกราญกินบริเวณกว้างขวาง
ชาวบ้านเห็นเส้นทางการบุกตะลุยของช้างตกมัน แน่ใจว่าต้องบุกมาทางป่าช้า "สันปูเลย" เป็นแน่ เกรงว่าครูบาธรรมชัยจะได้รับอันตรายจากช้างคลุ้มคลั่งอาละวาด รีบเสี่ยงกับความกลัวผีดิบมานิมนต์ท่านให้ถอนกลดหลบหนีช้างไปเสียก่อน ครูบาธรรมชัยไม่ประหวั่นกับความตาย ชี้แจงให้พวกชาวบ้านทราบว่า เมื่อปักกลดก็ตั้งสัตย์อธิษฐานไว้ว่าจะมาบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าช้า จะถอนกลดกลางคันไม่ได้ ไม่ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น ท่านจะอยู่ในป่าช้าไม่ไปไหน ถ้าเวรกรรมมีอยู่กับช้าง ก็ขอยอมสละสังขารอยู่ในป่าช้าแห่งนี้ อ้อนวอนกันอยู่เป็นนาน กระทั่งเห็นว่าท่านตั้งใจเด็ดเดี่ยวอยู่รอเผชิญหน้ากับช้างคลุ้มคลั่งอาละวาด พวกช้าวบ้านผู้หวังดีจึงนมัสการอำลากลับไปอย่างผิดหวัง และวิตกกังวลแทนครูบาธรรมชัยเป็นอย่างยิ่ง ปรากฏว่าช้างตกมันจนสติแปรปรวนเชือกนั้น อาละวาดละเรื่อยมาตามรายทาง กำลังบ่ายโฉมหน้าวิ่งควบป่าแตกมาทางป่าช้า "สันปูเลย" จริงดังที่ชาวบ้านคาดคะเน ป่าช้าผีดิบพินาศยับเยินไปเป็นแถบ ด้วยอานุภาพของช้างสารตัวหวิดเท่าภูเขาย่อม ๆ เมื่อเห็นกลดของครูบาธรรมชัยปักอยู่ ช้างตกมันบ้าคลั่งจึงตรงรี่เข้าไปเพื่อรื้อถอนให้ยับเยินสมกับความวิปริตของมัน แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 03-02-2010 เมื่อ 23:14 |
สมาชิก 92 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#39
|
||||
|
||||
บริเวณกลดของครูบาธรรมชัยมีด้ายสายสิญจน์ขึงไว้รอบปริมณฑลป้องกันสัตว์ร้ายและหมู่มารไม่ให้เข้ามารบกวนการบำเพ็ญภาวนา
ช้างตกมันวิ่งปรี่เข้าถึงเส้นด้ายสีขาวบริสุทธิ์เหมือนใยแมงมุมในสายตาของมัน สิ่งแปลกประหลาดพลันอุบัติขึ้น ปรากฏว่าช้างคลุ้มคลั่งดุร้าย ปราศจากความกลัวเกรงในทุกสรรพสิ่ง เมื่อเจอด้ายสายสิญจน์ที่วงล้อมกลดเอาไว้กลับชะงักกึก มีทีท่าลังเลรี ๆ รอ ๆ ไม่กล้าก้าวข้ามด้ายสายสิญจน์ ทำหันรีหันขวางเหมือนตัดสินใจเด็ดขาดไม่ได้ งุ่นง่านขุ่นเคืองจนแผดเสียงแปร๋แปร๋นนานเป็นครู่ใหญ่ จากนั้นหันตัวเดินไปหักกิ่งไม้ต้นไม้และถอนหญ้ากินอยู่แถวกลดของครูบาธรรมชัยไม่ยอมไปไหน ท่าทางยังคลุ้มคลั่งไม่เสื่อมคลายแม้แต่นิดเดียว รอแค่ว่าครูบาธรรมชัยก้าวออกมาพ้นด้ายสายสิญจน์ที่วงไว้เมื่อไร เป็นไม่ยอมรอช้า ต้องวิ่งเข้าใส่เพื่อทำร้ายท่านทันที ครูบาธรรมชัยเดินออกมานอกกลด และเดินจงกรมไปมาอยู่ในวงล้อมของสายสิญจน์เป็นปกติ ไม่หวาดกลัวช้างสารผู้โหดเหี้ยมดุร้ายที่ชายหูชายตามองท่านอยู่ไม่ว่างเว้น เมื่อเดินพอเหมาะพอควรแล้วท่านก็นั่งขัดสมาธิเจริญกรรมฐานต่อที่หน้ากลดบ้าง อยู่ข้างในกลดบ้าง ช้างดุร้ายตกมันไม่ยอมไปไหน เฝ้าคุมเชิงท่านอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน เดินป้วนเปี้ยนไปมาอยู่แต่แถวนั้น เที่ยวรื้อถอนทุกสรรพสิ่งจนป่าช้า "สันปูเลย" ราบเป็นหน้ากลอง สภาพรกชัฏที่น่าพรั่นพรึงกลายเป็นพื้นดินกว้างขวางโล่งแจ้งไปกว่าครึ่งค่อน ลดความน่าหวาดกลัวเรื่องผีดิบลงไปไม่น้อย พวกชาวบ้านห่วงใยกังวลในความปลอดภัยของครูบาธรรมชัยมากกว่ากลัวผีกลัวช้าง เป็นทุกข์อยู่แต่ว่าช้างจะคลั่งถึงขีดสุด เผ่นโผนเข้ากระทืบกลดทำร้ายท่านถึงแก่ชีวิต แต่ชาวบ้านก็คร้ามเกรงอำนาจดุร้ายของช้าง ไม่กล้าทำสิ่งใดลงไปสักอย่างเดียว แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 07-02-2010 เมื่อ 20:20 |
สมาชิก 88 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#40
|
||||
|
||||
ควาญช้างมาถึง ยอมเสี่ยงอันตรายไปหลอกล่อมันด้วยประการต่าง ๆ โดนช้างเอางวงไล่ฟาดจนเผ่นออกมาแทบไม่ทันตามเคย
ผู้เฒ่าผู้แก่พากันร้องไห้ระงม กลัวครูบาธรรมชัยพลาดท่าเสียทีช้างร้าย จะนำข้าวปลาอาหารไปถวายท่านก็ไม่ได้ เนื่องจากช้างบ้าคลั่งตัวนี้ทำพิกลไม่ยอมไปไหนทั้งสิ้น ผูกใจอยู่แต่กลดและครูบาท่าน จ้องรอคอยอยู่แต่ว่าด้ายสายสิญจน์ขาดสะบั้นลงเมื่อไรหรืออันตรธานไปในเวลาใด จะวิ่งเข้าหากลดเพื่อกระชากมาเหยียบกระทืบเสียให้หนำใจ เวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า ท่ามกลางการคุมเชิงของช้างตกมัน ครูบาธรรมชัยไม่ได้ฉันอาหารใด ๆ แม้แต่น้ำสักหยด นานเท่าจำนวนวันที่ช้างตกมันเฝ้าคุมเชิงอยู่ มันเที่ยวเดินวนเวียนหาหญ้ากินจนสบายท้องแล้วก็เวียนมาทางกลดอีก เป็นอยู่เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าน่าเบื่อหน่ายและน่าระทึกใจ เนื่องจากยิ่งนานเท่าไร ครูบาท่านก็จะยิ่งแย่เท่านั้น ๑๐ วันผ่านไปอย่างเหลือเชื่อ..... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 08-02-2010 เมื่อ 20:41 |
สมาชิก 92 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
Tags |
ครูบาธรรมชัย |
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|