|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#1
|
|||
|
|||
ประวัติครูบาเหนือชัย โฆสิโต
ครูบาเหนือชัย โฆสิโต วัดถ้ำอาชาทอง ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ชาติภูมินักบุญแห่งขุนเขา นายเสมอ ใจปินตา เป็นชื่อและสกุลเดิมของ "ครูบาเหนือชัย โฆสิโต" เจ้าอาวาสสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๐๕ ปีขาล บิดาชื่อ สามยอด มารดาชื่อ น้อย เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้อง ๓ คน โยมพ่อและโยมแม่พื้นเพเป็นคนเชื้อสายยอง ซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจาก จ.ลำพูน โยมแม่เป็นคนมีลูกยาก จึงไปขอลูกจากพระธาตุดอยตุง เมื่อกลับมาถึงบ้าน คืนหนึ่งโยมแม่ฝันว่ามีม้าสีขาวมารับ แล้วพาท่องไปทั่วจักรวาล หลังจากนั้นก็ได้ตั้งท้อง แล้วให้กำเนิดครูบาเหนือชัยขึ้นมา สมัยเป็นเด็กเลี้ยงยาก ร้องไห้ตลอดเวลา จึงไปหาหมอดูประจำเผ่า ได้รับคำแนะนำว่าให้ใช้ช้างและม้ามารับขวัญ ทำให้โยมพ่อซึ่งขณะนั้นไม่มีเงิน แต่ด้วยความจำเป็น พ่อจึงได้ออกกุศโลบาย นำถ่านที่ใช้หุงต้มมาเขียนเป็นรูปช้างและม้าติดไว้ที่ฝาผนังบ้าน แล้วบอกกับครูบาว่า นี่เป็นช้างกับม้าที่พ่อซื้อมารับขวัญ หลังจากนั้นมาก็กลายเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ครูบาเหนือชัยจบชั้น ป.๗ จากโรงเรียนบ้านแม่คำ และจบชั้น ม.ศ.๕ จากโรงเรียนแม่จันวิทยาคม จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ศึกษาถึงปีที่ ๓ ก็ต้องลาออกเพื่อกลับมาช่วยงานที่บ้าน เนื่องจากบิดาป่วย ในวัยเด็ก ครูบาเหนือชัยมีความสนใจในเรื่องพระพุทธศาสนามาก เพราะเป็นคนที่ชอบใช้ชีวิตอยู่สองแห่ง คือ หากไม่อยู่ที่วัด ก็จะอยู่ตามทุ่งนาเพื่อฝึกสมาธิ ชอบเข้าหาพระธุดงค์และหนาน(ทิด) โดยศึกษาธรรมกับเจ้าอาวาสวัดแม่คำ ขณะเดียวกันก็มีความสนใจและศึกษาศิลปะการป้องกันตัวตามตำรา “อาทมาต” หรือที่รู้จักกันในชื่อการต่อสู้ตามแบบ "กองกำลังจตุรังคบาท" ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกระบี่ กระบอง พลองไทย และแม่ไม้มวยไทย เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๕ ได้อุปสมบท ณ อุโบสถวัดล้านตอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมี ครูบาทองสืบ วิสุทฺธจาโร เจ้าอาวาสวัดล้านตอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาธรรมโดยการออกธุดงค์อยู่ในป่าเขาตามแนวชายแดน และปฏิบัติธรรมอยู่บริเวณถ้ำป่าอาชาทอง จึงได้ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทองขึ้นจนถึงปัจจุบัน
__________________
๑۩۞۩๑ ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่าน ๑۩۞۩๑ ช่วยกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และโปรดหลีกเลี่ยงการนำภาษาพูดมาใช้เป็นภาษาเขียนด้วย ขอเชิญร่วมบุญธรรมทานเว็บไซต์"วัดท่าขนุน"
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-02-2011 เมื่อ 02:27 |
สมาชิก 194 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
|||
|
|||
ปุจฉาวิสัชชนา ครูบาเหนือชัย... “นักบุญแห่งขุนเขา” ภาพ "พระเณรขี่ม้าออกบิณฑบาต" นำโดย "ครูบาเหนือชัย โฆสิโต" นอกจากสร้างความประทับใจต่อพุทธศาสนิกชนไทยแล้ว ยังกระฉ่อนโด่งดังไปทั่วโลก เหตุที่พระ เณร และลูกศิษย์ต้องขี่ม้าบิณฑบาต เนื่องจากสำนักอยู่ห่างไกลจากชุมชน และถนนหนทางยังไม่สะดวก การใช้ม้าจึงมีความสะดวกในการเดินทางมากกว่า ๑๐ ปีของการออกธุดงค์ เผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตามชายแดนไทย-พม่า โดยไม่แบ่งชาติพันธุ์ ในที่สุดท่านก็ได้รับการขนานนามว่า "นักบุญแห่งขุนเขา" นอกจากจะมีชื่อเสียงในรูปแบบ และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว นักบุญแห่งขุนเขา ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของเครื่องรางของขลัง ด้านอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม เกี่ยวกับการค้าขายให้มีความเจริญก้าวหน้าร่ำรวยอีกด้วย จนเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดาชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน ทั้งในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนจะดีเพียงใดนั้น ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์แบบ “คม ชัด ลึก” "คำว่า “นักบุญแห่งขุนเขา” ใครเป็นผู้ตั้งให้ครับ ?" “นักบุญแห่งขุนเขา” ฉายานี้ได้มาจากเจ้าหน้าที่ที่ร่วมงานกันในโครงการ “มิตรมวลชนคนชายแดน” ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังเฉพาะกิจ กองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๗ (ฉก.ร.๑๗ พัน ๓) ตั้งให้ เพราะเห็นว่าเราเป็นพระที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่า เผยแผ่ธรรมะอยู่ในป่า" "การตั้งสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทองมีที่มาที่ไปอย่างไรครับ ?" "ครูบาเผยแผ่ธรรมะอยู่ในป่า มานั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่หน้าถ้ำป่าอาชาทองแห่งนี้ มีชาวบ้านมาถวายภัตตาหารและมาทำบุญบ่อย ๆ ก็เลยมีคนบอกว่าน่าจะตั้งเป็นวัดดีกว่า ประกอบกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน มีดำริให้ดำเนินโครงการ "บวร" พุทธศาสนา อันหมายถึง บ คือ บ้าน ว คือ วัด ร คือ โรงเรียน เป็นการนำหลักธรรมเผยแผ่ให้ครบทั้งสามสถาบัน" "ที่สำนักปฏิบัติธรรมมีพระเณรและเด็กวัดเท่าไรครับ ?" "พระ ๔ รูป สามเณร ๑๗ รูป และมีเด็กในอุปการะอีก ๒๐ คน(ขณะนั้น) เด็กที่รับอุปการะส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เพราะติดคุกเรื่องยาเสพติด บางคนพ่อแม่เสียชีวิตก็เพราะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็เลยรับอุปการะเด็ก ๆ เหล่านี้ไว้ แล้วส่งให้เรียนหนังสือและช่วยทำงานต่าง ๆ ในสถานปฏิบัติธรรม เช่น เลี้ยงม้า ทำความสะอาด รวมถึงหัดแม่ไม้มวยไทยให้เด็ก ๆ ด้วย" "ปัจจัยส่วนใหญ่ได้มาจากไหนครับ ?" "ส่วนใหญ่เป็นเงินรายได้ที่คนมาบูชาเครื่องรางของขลังวัตถุมงคลต่าง ๆ อีกทางหนึ่งได้มาจากการขายปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้จากม้า เด็ก ๆ ก็จะมีรายได้จากการทำงานด้วย วันหยุดเสาร์อาทิตย์เด็ก ๆ จะมีรายได้วันละ ๑๐๐ บาท เอาไว้เป็นเงินค่าขนมตอนไปโรงเรียน" "นอกจากนั้นยังมีการชกมวยทุก ๆ วันเสาร์ การชกมวยไม่เหมือนมวยตู้ ไม่มีการพนัน ชกจบมีค่าขนมให้ทั้งคู่ คนชนะได้ ๗๐๐ บาท คนแพ้ได้ ๓๐๐ บาท เป็นการฝึกให้เด็ก ๆ ออกกำลัง แต่ไม่สนับสนุนให้เด็ก ๆ ชกมวยหาเงินนะ เพราะเป็นการพนัน เด็กจะเสียคน อีกอย่างคือ จะเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของมวยที่ฝึกในวัด คือ มวยคู่แผ่นดิน ใช้สำหรับป้องกันตัว" "ความคิดเรื่องขี่ม้าออกบิณฑบาตมาจากไหนครับ ?" "ครั้งแรกเลยไม่เคยมีความคิดจะใช้ม้าในการออกรับบิณฑบาตหรอก แต่มีชาวบ้านบนขอให้หายป่วย พอหายป่วยก็เอาม้ามาแก้บน ครูบาเห็นว่าเราอยู่ในป่าเขา ใช้ม้าเป็นพาหนะย่อมมีความสะดวกกว่า ม้าไม่ต้องใช้น้ำมันด้วย ก็เลยใช้ม้ามาตั้งแต่ตอนนั้น" "ม้าตัวแรกได้มาจากไหนครับ ?" "ก็ชาวบ้านเอาม้ามาแก้บน เลยต้องเลี้ยงไว้ เพราะเขาเอามาถวาย เราเป็นพระจะไม่รับก็ไม่ได้ การขี่ม้าเพื่อออกบิณฑบาต นั่นก็เพราะแต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างไกลกันมาก ต้องข้ามเขาเป็นลูก ๆ การเดินด้วยเท้าจะลำบาก ยิ่งหน้าฝนด้วยทางเดินจะลื่นมาก การใช้ม้าช่วยให้การออกรับบาตรสะดวกขึ้น และยังช่วยให้การเผยแผ่หลักธรรม ตามหมู่บ้านชาวเขาในแนวชายแดนที่ห่างไกล สะดวกขึ้นด้วย ส่วนความเหมาะสมหรือไม่ที่พระขี่ม้า เห็นว่าน่าจะดูที่การปฏิบัติกิจของสงฆ์มากกว่า ครูบาได้ใช้ม้าเพื่อเผยแผ่ศาสนาในโครงการ "มิตรมวลชนคนชายแดน" ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงรับเป็นองค์สังฆราชูปถัมถ์โครงการนี้ด้วย "การฝึกให้พระเณรขี่ม้านี่ยากไหมครับ ?" "ของแบบนี้ต้องใช้เวลา เริ่มตั้งแต่ให้พระและเณรเลี้ยงม้า เอาหญ้ามาเป็นอาหารของม้า ม้าของพระเณรรูปใด พระเณรรูปนั้นจะต้องเป็นคนดูแลเอง เมื่อทำความคุ้นเคยแล้ว ก็จะเริ่มหัดขี่ม้าได้ไม่ยากหรอก สามเณรที่นี่อายุ ๑๐ ปี ก็ขี่ม้าเป็นแล้ว" "ใครเป็นผู้ตั้งชื่อม้าครับ ?" "ชื่อม้าแต่ละตัวที่เห็นนั้น สมเด็จพระสังฆราชทรงพระเมตตาประทานชื่อให้ ครูบาไม่ได้ตั้งเองหรอก จำได้ทุกตัว ตัวแรกชื่อ เพชรเทวดา อาชาทอง หนุ่ม โพธิ์ชัย อาเธอร์ ส่วนตัวที่เห็นนี่ ชื่อคชสีห์อาชาทอง ปัจจุบันที่นี่มีม้าทั้งหมด ๒๐๐ ตัว ตอนหลัง นอกจากม้า ๒๐๐ ตัวแล้ว ก็ยังมีไก่อีกประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว ช้าง ๙ เชือก วัว ๑๕ ตัว และควายอีก ๑๖ ตัว" "ใช้ม้าออกรับบิณฑบาตแล้ว ชาวบ้านว่าอย่างไรบ้างครับ ?" "ชาวบ้านไม่ว่าอะไรหรอก เขาอยู่ในพื้นที่ เขารู้ เขาเห็น เขาเข้าใจถึงเหตุผล แต่หลังจากที่เป็นอันซีนไทยแลนด์นี่แหละ มีเสียงสะท้อนออกมาทั้งดีบ้างไม่ดีบ้าง บางท่านก็ว่าไม่เหมาะสม" "ครูบาสักยันต์เพื่ออะไรครับ ?" " เหตุที่ครูบาสักยันต์เต็มตัวนี่เพื่อประกาศให้ทุกคนรวมทั้งโยมผู้หญิง(เมีย) รู้ว่าเราได้มอบร่างกายและจิตใจเพื่อพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีคำว่ากลัวตายหรอก ตายไวเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น เพราะถ้ามีชีวิตอยู่ยิ่งนานเท่าไรก็ต้องแบกรับภาระทุกอย่างไว้ เพราะในเมื่อใจเรามุ่งไปในพุทธรรมแล้วก็เหมือนได้ตายจากทางโลก รอยสักที่เห็นตามร่างกายก็คือคำสอนในพุทธศาสนา" "รู้สึกอย่างไรที่ ททท.มาโปรโมตท่านเพื่อการท่องเที่ยว ?" "เรื่องนี้ก็ใช้เวลาคิดอยู่นานเหมือนกัน คือประมาณปี ๒๕๔๕ มีเจ้าหน้าที่จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เขาเข้ามาสำรวจ เขาเห็นว่าแปลกดี ต้องการสนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เราก็ยังไม่ตกลง เพราะเราต้องการความสงบมากกว่า เราไม่อยากดังหรอก" "เพราะอะไรถึงตกลงเข้าร่วมโครงการได้ล่ะครับ ?" "ก็พอดีปี ๒๕๔๕ เขามาสำรวจ เราไม่ตอบตกลง เขาก็ติดต่อมาอีกหลายครั้ง แล้วอีกประมาณ ๒ ปีได้ คือปี ๒๕๔๗ เราก็มานั่งคิดว่า ถ้าต้องการให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เห็นว่าการท่องเที่ยวนี่แหละ ที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เร็วกว่าวิธีอื่น เพราะถ้ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านก็สามารถขายของได้ มันเร็วกว่าที่จะไปทำไร่ทำนา ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นอันซีนไทยแลนด์" "การปฏิบัติธรรมยังเหมือนเดิมหรือเปล่าครับ ?" "เรายังปฏิบัติเหมือนเดิม แต่ก็ต้องเพิ่มเวลาที่ใช้ปฏิบัติธรรมเพิ่ม เพราะเวลาที่มีญาติโยมมาพบก็จะมีเวลาปฏิบัติธรรมน้อยลง" "ที่ว่าใช้เวลาเพิ่มนี่ ครูบาทำอย่างไรครับ ?" "เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติธรรมก็ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เคยใช้เวลาในการปฏิบัติเท่าไรก็ให้เวลาเหมือนเดิม จนบางคืนต้องนอนดึกกว่าปกติ ส่วนพื้นที่ในสถานปฏิบัติธรรมก็ต้องมีการแบ่งเขต เป็นส่วนฆราวาสและส่วนสงฆ์ให้เป็นสัดส่วน" "ครั้งหนึ่งท่านเคยถูกรุมทำร้ายระหว่างเผยแผ่ธรรมจริงหรือเปล่าครับ ?" "เป็นความจริง เหตุเกิดที่บ้านหัวแม่คำ มีคนมาทำร้ายประมาณ ๔๐ คน แต่ก็เอาตัวรอดมาได้" "แสดงว่ามีของขลังเลยรอดมาได้สิครับ ?" "(หัวเราะ) ไม่ใช่ด้วยของขลัง แต่เป็นเพราะมีสติและใช้วิชาความรู้ที่ได้เรียนมา เลยเอาตัวรอด" "วิชาอะไร แล้วครูบาทำอย่างไรครับ ?" "วิชาแม่ไม้มวยไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าครูบาสู้กับคน ๔๐ คนนะ อาศัยว่าวันนั้นกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ เราก็จุดเทียนใช้ตอนกลางคืน เมื่อมีคนเข้ามา เราก็ใช้วิธีดับเทียน ทีนี้มันก็มืดใช่ไหม ? แล้วคนตั้ง ๔๐ คน มองอะไรก็ไม่เห็น เราก็หมอบลงอยู่กับพื้นเฉย ๆ นี่แหละ บางคนก็วิ่งชนกัน ชกกันเอง กลายเป็นพวกเดียวกันจัดการกันเอง ก็เลยกลายเป็นที่เล่าขานกันมาจนทุกวันนี้" "มีเหตุหนักกว่านี้ถึงขนาดมีคนจ้องทำร้าย ถึงขั้นยิง วางยาสั่งกันเลย จริงหรือเปล่าครับ ?" "เรื่องนี้ไม่เคยคุยกับใครเลยนะ รู้มาจากไหน ครูบาเป็นพระป่าอยู่ในพื้นที่นี้ ซึ่งก็ทราบกันดีว่าเป็นพื้นที่ชายแดน และก็ต่อต้านเรื่องยาเสพติดอยู่แล้ว เราก็อาจจะไปขวางทางใครเข้าก็ไม่ทราบเลยโดน ครูบาก็มีครูบาอาจารย์ เขาใช้วิธี ฟัน แทง ยิง ไม่ได้ผล ก็เลยโดนยาสั่งตอนปลายปี ๒๕๔๓ แทบแย่ ตอนนี้ก็ยังรักษาตัวอยู่เลย ร่างกายก็ฟื้นมาได้สัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์" "ครูบาโดนยาสั่งได้อย่างไร และมีอาการอย่างไรบ้างครับ ?" "มีศรัทธามาทำบุญตักบาตร เราก็นำมาฉัน ก็เลยรู้ว่าโดนยาสั่ง เวลาโดนจะอาเจียนออกมา ครั้งนั้นเต็มถังน้ำ อาเจียนจนหมดแรงเลย ก็ต้องใช้วิธีนั่งเข้ากรรมฐานแก้พิษ" "แล้วยาสั่งนี้เขาทำกันอย่างไรครับ ?" "เขาก็จะใช้หมูตัวผู้มาทำยาสั่ง เริ่มด้วยเลี้ยงหมูด้วยพิษจากงู เห็ด ว่านต่าง ๆ หรือคางคก เอาให้กินทีละน้อย ๆ พอโตได้ที่ก็ฆ่า แล้วนำไปย่างไฟแดง ๗ วัน ๗ คืน แล้วนำมาตากน้ำค้างอีก ๗ วัน ๗ คืน เสร็จแล้วนำมาบดให้ละเอียด แล้วก็ปลูกฟักแฟงในป่าช้า เอาเมล็ดออก แล้วนำผงที่ได้จากหมูมายัดใส่แทน จนลูกฟักลูกแตงตาย แล้วจึงเอาลูกฟักลูกแตงไปทำพิธีบนกิ่งไม้ใหญ่ เวลาทำพิธีต้องอยู่เหนือลม เวลานำฟักแตงมากินก็จะเกิดอาการทันที" "เครื่องรางของขลังของครูบาที่สร้างขึ้นมีกี่อย่างครับ ?" "ก็จะมีประเภทอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม ค้าขายรุ่งเรือง ส่วนใหญ่จะนิยมเรื่องอยู่ยงคงกระพัน เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดน" "ของขลังของครูบาดีด้านไหนครับ ?" "เครื่องรางของขลังปลุกเสกขึ้นเพื่อเอาไว้ใช้ป้องกันตัว คนที่นำติดตัวต้องมีพุทธรรมอยู่ในใจจึงจะเกิดผล แต่หากคิดไม่ดี ทำไม่ดี พุทธะไม่อยู่กับตัว และหลักพุทธรรมก็เป็นหลักธรรมที่ใช้เผยแผ่ให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วไป ครูบาจะบอกเสมอว่าพุทธะอยู่ที่ตัวเรา หากกินเหล้าก็เหมือนกับเราเอาเหล้ามารดพระที่อยู่ในตัวเรา หากเราคิดจะฆ่าผู้อื่นก็เหมือนเราคิดจะฆ่าพระในตัวเรา แล้วอย่างนี้พระจะอยู่กับเราได้อย่างไร เครื่องรางจะขลังได้อย่างไร" "เรื่องการสอนศิลปะมวยไทยมีมาตั้งแต่ตอนไหนครับ ?" "เดิมครูบาเผยแผ่ศาสนาให้กับชาวเขาตามแนวตะเข็บชายแดน มีลูกศิษย์มากมาย และได้ออกติดตามครูบาเพื่อช่วยในเผยแผ่ศาสนาในหลายพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่เราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่า เขาคิดอะไรกับเราอย่างไร ซึ่งลูกศิษย์บางคนก็ถูกทำร้ายร่างกายกลับมา ครูบาจึงได้ถ่ายทอดวิชาศิลปะมวยไทย ที่ตนเองได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและอาจารย์อีกหลายท่าน ก่อนที่ครูบาจะบวชเป็นพระ ได้เคยร่ำเรียนมาจากบรรพบุรุษ เป็นวิชาที่สืบทอดมาจากบุคคลที่เป็นทหาร ในการรักษาขาช้างที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงช้างออกไปทำศึก จึงเป็นศิลปะที่มีความแข็งแกร่ง ยากที่จะมีผู้ที่ต่อกรแต่อย่างไร" "ทำไมครูบามีความคิดที่จะฝึกสอนมวยให้กับเด็ก ๆ ครับ ?" "อยากให้เด็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่และเด็กกำพร้าที่รับอุปการะไว้ มีวิชาความรู้เกี่ยวกับแม่ไม้มวยไทย เอาไว้ป้องกันตนเอง ป้องกันประเทศชาติ ก่อนจะฝึกทุกคนต้องบวชก่อน เพื่อจะได้ซึมซับหลักธรรมและมีธรรมะอยู่ในใจ การฝึกเป็นการฝึกแม่ไม้มวยไทยคู่แผ่นดิน ไม่ต้องการให้ฝึกเพื่อไประรานผู้อื่น" ที่มา http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=826
__________________
๑۩۞۩๑ ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่าน ๑۩۞۩๑ ช่วยกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และโปรดหลีกเลี่ยงการนำภาษาพูดมาใช้เป็นภาษาเขียนด้วย ขอเชิญร่วมบุญธรรมทานเว็บไซต์"วัดท่าขนุน"
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-02-2011 เมื่อ 02:40 |
สมาชิก 190 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ทิดตู่ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
|||
|
|||
เบอร์บัญชีสำหรับคนที่จะโอนเงินทำบุญกับท่านครับ เป็นบัญชีของพระเลขาครับ
พระสุทธิพงษ์ ชุติมากุลทวี ธนาคารกรุงเทพ ๗๕๗ ๐๐๐ ๘๐๕๗ สาขาโลตัส อ.แม่จัน จ.เชียงราย (คัดลอกมาจากข้อความของคุณหมูติดยันต์) เมื่อเรายังไม่มีโอกาสไปช่วยเหลือเด็กยากไร้โอกาส ตามตะเข็บชายแดนด้วยตนเอง ก็มาช่วยกันเป็นแรงสนับสนุน ร่วมบุญกับครูบาเหนือชัยท่านกันดีกว่าครับ " ...ขณะใดที่ใจของลูกยังรักษาอภิญญาสมบัติไว้ รักษาปฏิปทาสาธารณะประโยชน์ ขณะนั้นลูกจงภูมิใจว่า พ่ออยู่กับลูกตลอดเวลา ถึงแม้ว่าร่างกายกายาของพ่อสลายไป แต่ใจของพ่อยังอยู่กับใจของลูก ลูกจะไปไหนก็ชื่อว่าพ่อไปด้วย ช่วยลูกทุกประการ... " (คำสอนหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) ขออนุโมทนากับทุก ๆ ท่านครับผม
__________________
ไม่ติดในสุข ไม่กังวลในทุกข์ วางเฉยในร่างกายนี้ ปล่อยวางภาระทั้งปวง ยอมรับกฎของกรรม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คิมหันต์ : 02-07-2009 เมื่อ 14:11 |
สมาชิก 167 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คิมหันต์ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
อีกหนึ่งบทความค่ะ จากเว็บ http://www.paiduaykan.com/76_provinc.../prakeema.html
พระขี่ม้าบิณฑบาต ที่มาของการขี่ม้าบิณฑบาต จากเดิมที่พระครูบาเหนือชัยเดินขึ้นลงเขาเพื่อรับบาตรจากญาติโยม ได้ฉันบ้าง ไม่ได้ฉันบ้าง ด้วยหนทางที่ห่างไกลกว่าท่านจะเดินถึงวัดก็เลยเวลาฉันเพล ชาวบ้านจึงสงสารนำม้ามาถวายเพื่อให้ท่านใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งม้าดังกล่าวเป็นม้าที่มีลักษณะดี ร่างกายกำยำ พระครูบาจึงตั้งชื่อให้ว่า 'ม้าอาชาทอง' และใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อวัดด้วย จึงเป็นที่มาของ 'วัดป่าอาชาทอง' และพระขี่มาบิณฑบาต ซึ่งสร้างความแปลกใจจนกลายเป็นหนึ่งใน 'Unseen Thailand' เมื่อท่านมีม้าเป็นพาหนะจึงทำให้การบิณฑบาตและเดินทางเผยแผ่ธรรมะได้รับความสะดวกมากขึ้น แม้พระครูบาจะต้องขี่ม้าเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า ๕ กิโลเมตรเพื่อรับบาตรจากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา "บางครั้งอาหารที่ได้มาตกหล่นไปกว่าครึ่ง เพราะเวลาม้าควบตะบึงไปตามทาง มันคดโค้ง ขรุขระ ของก็กระเด้งกระดอนหล่นหมด พระครูบาท่านทนร้อนทนหนาวข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่า เพื่อนำอาหารที่เหลือจากฉันไปแจกจ่าย ให้ชาวเขาเพราะพวกนี้ยากจนมาก ท่านก็เผยแผ่ธรรมะไปด้วย ท่านก็ไม่เคยบ่นไม่เคยท้อนะ ท่านอยากให้ชาวบ้าน มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม" สุทธิพงศ์ ชุติมากุลทวี ผู้ประสานงานของวัดป่าอาชาทอง หนึ่งในลูกศิษย์ที่ติด ตามรับใช้พระครูบาเหนือชัยมาตลอด เล่าถึงภารกิจของพระครูบา เนื่องจากชาวเขาส่วนใหญ่นับถือผีและเป็นคริสต์ศาสนิกชนตามคำแนะของฝรั่งที่เข้าไปช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ ชาวบ้านจึงไม่เข้าใจการเผยแผ่ธรรมะของพระครูบาเหนือชัย บางครั้งท่านถูกชาวเขาหลายสิบคนรุมทำร้าย แต่ก็รอดมาได้ด้วยบุญบารมีและวิชาหมัดมวยที่ท่านร่ำเรียนมา ด้วยปณิธานของท่านที่ต้องการดึงชาวเขาที่หลงผิดไปค้ายาและรับจ้างขนยาตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าให้หันมาประกอบสัมมาอาชีพ และเป็นแนวร่วมในการดูแลรักษาผืนแผ่นดินไทย พระครูบาจึงเมตตาให้ความช่วยเหลือทุกคนที่เดือดร้อนไปพร้อม ๆ กับการอบรมธรรมะ "ชาวเขาส่วนใหญ่จะรับจ้างขนยา แล้วพวกนี้ก็เสพยาเองด้วย เด็กอายุแค่ ๑๐ ขวบก็ติดยาแล้ว ติดกันทั้งหมู่บ้าน ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า มีหมด ครูบาท่านมองว่าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ท่านก็พยายามเอาชาวเขามาเรียนหนังสือ มาฝึกอาชีพ สอนมวยไทยให้เด็ก ๆ พอโตหน่อยพวกนี้ก็ไปรับจ้างแสดงในเมือง มีรายได้ขึ้นมา ใครมาวัดก็ให้ข้าวของติดมือกลับไป แล้วก็สอนธรรมะไปด้วย สอนว่ายาเสพติดมันไม่ดี หลัง ๆ ชาวบ้านก็เลิกเสพเลิกค้าไปเยอะจนขุนส่าเริ่มไม่พอใจ ก็มาดูตัว มาคุยกับพระครูบา แต่สุดท้ายราชายาเสพติดอย่างขุนส่าก็ยอมรับในตัวครูบา และขอให้ท่านไปอยู่ที่เมืองยอน ซึ่งเป็นเมืองของพวกว้าแดง เขาจะสร้างวัดให้ แต่ครูบาท่านไม่ไป ท่านบอกท่านเป็นคนไทยจะอยู่และตายบนผืนแผ่นดินไทย" สุทธิพงศ์ เล่าถึงช่วงวิกฤตที่ครูบาเหนือชัยรับมือกับขุนส่า พระครูบาเหนือชัยพยายามดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมในกิจกรรมของวัด โน้มน้าวให้ชาวเขาส่งลูก ๆ มาบวชเรียน มีการมีการสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยท่านเป็นผู้เลี้ยงดูอาหารการกินทั้งหมด ชาวบ้านที่มาเรียนหนังสือ มาฟังธรรมะ หรือช่วยงานวัด นอกจากจะได้รับความรู้และข้อคิดคุณธรรมต่าง ๆ แล้ว ยังได้ข้าวปลาอาหาร รวมถึงข้าวของเครื่องใช้กลับไปบ้านด้วย ข้าวของที่ญาติโยมถวายมานั้นพระครูจะแจกจ่ายให้เกือบหมด เหลือไว้้ให้พระเณรที่วัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากหมู่บ้านใดอยู่ไกล ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาที่วัดท่านและลูกวัดก็จะขี่ม้าข้ามเขานำข้าวของไปให้ ด้วยคุณธรรมของท่านทำให้ผู้มีจิตศรัทธานำข้าวของและม้ามาถวายให้ท่านเป็นจำนวนมาก ด้วยต้องการสนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะของท่าน จากสถานปฏิบัติธรรมเล็ก ๆ ปัจจุบันวัดป่าอาชาทองจึงมีวัดสาขาถึง ๑๐ วัด มีม้าถึง ๑๐๐ กว่าตัว มีโค-กระบือ ๑๐ ตัว มีคนงานชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถึง ๖๐ คน ซึ่งม้าดังกล่าวนั้นครูบาอนุญาตให้้ชาวเขา ข้าราชการครูและตำรวจ-ทหารในพื้นที่หยิบยืมไปใช้ได้ หลังจากที่ข่าวเรื่องพระขี่ม้าบิณฑบาตได้รับการกล่าวขานออกไปแบบปากต่อปากจนเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วไป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงมาขอให้พระครูบาเหนือชัยนำวัดป่าอาชาทองเข้าร่วมในโครงการ 'Unseen Thailand' เพื่อช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวของเชียงราย ซึ่งครูบาเหนือชัยใช้เวลาคิดใคร่ครวญอยู่นานถึง ๓ ปี จึงตัดสินใจตกลงเข้าร่วมโครงการเมื่อปี ๒๕๔๗ เนื่องจากพระครูบารู้ดีว่า เมื่อการท่องเที่ยวย่างกรายเข้ามา วิถีชีวิตอันเงียบสงบของชาวเขาย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป ทุก ๆ เช้า ท่านครูบาเหนือชัยจะออกมารับบิณฑบาตตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๗.๐๐ - ๐๗.๓๐ น. (หรือวันไหนมีคนมาใส่บาตรเยอะ ก็ถึง ๘ โมงเช้า) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 23-08-2009 เมื่อ 10:22 |
สมาชิก 133 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ประวัติพระขี่ม้าบิณฑบาต
'อาชาทอง' ม้าหนุ่มร่างกำยำ ควบตะบึงพา 'พระครูบา' ข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่าเพื่อรับบาตรจากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา และเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ อาหารที่เหลือจากการบิณฑบาตถูกแจกจ่ายให้ชาวเขาผู้ยากไร้ กว่า ๑๓ ปีแล้วที่ 'พระครูบาเหนือชัย' พากเพียรให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน จ.เชียงราย เพื่อเปลี่ยนพวกเขาจากกลุ่มผู้ลักลอบขนยามาเป็นชาวไร่ผู้หวงแหนและร่วมพิทักษ์ผืนแผ่นดินไทย 'พระครูบาเหนือชัยโฆสิโต' เจ้าอาวาส 'วัดป่าอาชาทอง' อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้เปลี่ยนฐานะจาก "นายเสายมอชัย ใจบินตา" หนุ่มวัย ๒๙ ปีที่ชอบวิชาหมัดมวยมาบวชเป็นภิกษุเพื่อศึกษาธรรมะ ท่านตัดใจจากภรรยาและลูกน้อยชาย-หญิงทั้ง ๒ คน หลังจากมีครอบครัวได้เพียง ๘ ปี ด้วยเห็นทุกข์ของชีวิตทางโลก จะบวชเพียง ๗ วัน แต่นับจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า ๑๓ ปีแล้วที่ท่านมุ่งศึกษาและเผยแผ่ธรรมะแก่บรรดาชาวเขาตามแนวตะเข็บชายแดน หลังครองผ้ากาสาวพัสตร์ได้เพียง ๑ วัน ท่านก็ออกธุดงค์เพื่อแสวงหาความสงบ โดยยึดโอวาทจากพระอุปัชฌาย์ว่า 'บวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง' ท่านเดินทางมาจนถึง 'ดอยผาม้า' และเห็นว่าเป็นสถานที่ ๆ เหมาะสมจึงยึดเป็นที่ปฏิบัติธรรม พระครูบานั่งสมาธิ พิจารณาขันธ์ ๕ ด้วยใจมุ่งมั่นที่จะบรรลุธรรม ครั้งหนึ่งท่านนอนหลับและว่า 'หลวงปู่สด' วัดปากน้ำภาษีเจริญ มาสอนวิชาธรรมกาย ให้ท่านทำใจใส ๆ กำหนดองค์พระอยู่ศูนย์กลางกาย ท่านไม่มั่นใจว่าฝันนั้นเป็นจริงหรือไม่ จึงอธิษฐานจิตว่าหากหลวงปู่สดมาพบในฝันจริงขอให้มีญาติโยมนำปัจจัยมาถวาย ๑,๐๐๐ บาท พอรุ่งเช้าก็มีนักข่าวของสถานีวิทยุท้องถิ่นนำปัจจัยมาถวายตามคำอธิษฐาน และขอสมัครเป็นศิษย์ ท่านจึงให้ญาติโยมดังกล่าวพาท่านไปยังวัดปากน้ำ และนำเงิน ๑,๐๐๐ บาทที่ได้ทำบุญกับทางวัด จึงนำคำสอนของหลวงปู่สดมาใช้ในการนั่งสมาธิเรื่อยมา ครั้งหนึ่งท่านนั่งสมาธิบนโขดหินโดยอธิษฐานว่า "จะขอนั่งอยู่ตรงนี้จนกว่าจะบรรลุธรรม แม้ตายก็จะไม่ลุกจากที่นี่" ท่านนั่งนิ่งอยู่ ๑๕ วัน จนผึ้งมาเกาะทำรังตามเนื้อตัว ท่านรู้สึกเจ็บจึงพยายามแยกความรู้สึกของกายออกจากจิต แม้กายจะเจ็บแต่จิตนิ่งใสสว่าง ความเจ็บก็ทุเลาลง ท่านนั่งจนหมดสติไป และในฝันท่านเห็น 'หลวงปู่เกษม' ซึ่งศึกษาฌานสมาบัติอยู่ ณ สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง มาบอกว่า นี่คือการเข้านิโรธสมาบัติ แยกจิตกับกายและให้หมั่นเพียรนั่งสมาธิ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการบรรลุธรรม เมื่อท่านยังเห็นพระซึ่งเป็นครูบาอาจารย์มากมายมารายล้อมและบอกกับท่านว่า "นับแต่นี้จะมีผู้คนมากมายมาสนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะของท่าน" และก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะหลังจากท่านฟื้นขึ้นก็พบว่า มีชาวบ้านเดินทางมากราบไหว้และถวายอาหาร เนื่องจากในช่วงที่พระครูบาเหนือชัยนั่งหลับตาและมีผึ้งมาเกาะนั้น มีชาวบ้านมาพบเข้าและเกิดจิตศรัทธาจึงไปชักชวนชาวบ้านคนอื่น ๆ มากราบไหว้ พร้อมทั้งช่วยกันสร้างที่พักให้ จนกลายเป็น 'วัดป่าอาชาทอง' จนถึงปัจจุบัน ขอขอบคุณเรื่อง จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 11-02-2011 เมื่อ 18:35 |
สมาชิก 130 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
รูปพระขี่ม้า
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 02-07-2009 เมื่อ 14:24 |
สมาชิก 128 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
การเดินทางไปชมพระขี่ม้าบิณฑบาต
๑. ใช้เส้นทางเชียงราย – แม่จัน เลยจากอำเภอแม่จัน ไป ๑ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปดอยแม่สลอง ถนนผ่านหน้าบ้านแม่สลอง สภาพถนนเข้าหมู่บ้านยังไม่สะดวกควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ๒. ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่สาย (ทางหลวงสาย a๑) ระยะทางจากอำเภอเมือง - อำเภอแม่จัน ประมาณ ๒๘ กิโลเมตร จากตัวอำเภอแม่จันประมาณ ๔ - ๕ กิโลเมตร ก็ถึงปากทางไปวัดถ้ำป่าอาชาทอง (ถนนข้างวัดแม่คำหลวง) จะมีป้ายและลูกศรบอกตลอดทาง และเข้าไปอีกประมาณ ๕ - ๗ กิโลเมตร ลักษณะถนนตอนทางขึ้นตั้งแต่สะพานก่อนถึงลานพระแก้ว ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร รถยนต์ส่วนตัวของท่านสามารถขึ้นได้และทิวทัศน์สองข้างทางก็ทำให้สดชื่น (ใช้เส้นทางนี้สะดวกกว่าค่ะ) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย หยาดฝน : 23-08-2009 เมื่อ 10:19 |
สมาชิก 126 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ หยาดฝน ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
ไปมาเมื่อประมาณปีสองปีก่อน ช่วงขึ้นเขาก่อนถึงวัด ท่านปรับปรุงถนนทำเป็นคอนกรีตเฉพาะแนวล้อ อำนวยความสะดวกให้รถเก๋งสามารถขึ้นถึงวัดได้
ระหว่างทางมีรีสอร์ตสภาพพอพักได้ในราคาไม่แพง คืนละ ๔-๕๐๐ บาท แต่สำหรับผู้ที่รสนิยมหรูหราขึ้นมาอีกหน่อย ขอแนะนำระเบียงจันรีสอร์ต ซึ่งเมื่อวิ่งรถในเขตตัวอำเภอแม่จันเลยสามแยก(เลี้ยวซ้าย)ไปท่าตอน มาอีกเล็กน้อยก็จะเจอสี่แยกไฟแดง ที่เลี้ยวซ้ายเข้าตัวอำเภอแม่จัน เลี้ยวขวาไปบ้านหนองแว่น(มีไปรษณีย์และเสาติดตั้งจานไมโครเวฟที่มุมสี่แยก) ให้เลี้ยวขวาไปทางหนองแว่น ไปอีกประมาณ ๑-๒ กิโล ก็จะพบป้ายที่สามแยกให้เลี้ยวขวาไประเบียงจันรีสอร์ต ไปอีกเพียงประมาณ ๕๐ เมตร จะพบระเบียงจันรีสอร์ตอยู่ซ้ายมือ ราคาคืนละ ๑,๐๐๐ บาทรวมอาหารเช้าแสนอร่อยในบรรยากาศสวนสวรรค์อันสงบเงียบสำหรับช่วง Low ส่วนช่วง High สนนราคาที่ ๑,๕๐๐ บาทต่อคืน ปากทางมีห้างโลตัสด้วย สามารถซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภคไปใส่บาตรทำบุญได้โดยสะดวกตามอัธยาศัย |
สมาชิก 129 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
|||
|
|||
การเป็นหนอนคลุกอยู่กับอาจม
กับการเป็นเหยี่ยวที่บินอยู่บนฟากฟ้า ช่างต่างกัน บริบทของเรื่องราวง่าย ๆ ธรรมดา คนเรามองต่างกัน ตอนที่"ครูบาเหนือชัยฯ"อยู่กับวัตรปฏิบัติแต่แรก ๆ มีแต่คนมองว่า ....."ตุ๊เหมอ" บ้า.................... แต่สิ่งที่ท่านทำมาโดยตลอด กลับการเป็นผู้จุดประกายไฟในดวงตา...... ดวงตาที่เห็นธรรม................... ดวงตาที่เจิดจ้าด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ แม้แต่โรงเรียนที่ยากกันดาร ท่านก็ยังเคยมอบม้าให้ไปเป็นพาหนะสำหรับนักเรียน และยังมีกิจกรรมอีกหลากหลายที่ท่านทำไว้ เราควรขอบคุณใคร................................. "โกมินทร์ เสือภูเขา"ผู้จุดประกายเรื่องราวเหล่านี้ "สุเวช ภูมิรัตน์ "นายกเทศมนตรี เทศบาล ต.แม่คำ ที่ระดมทรัพยากรทุกอย่าง เพื่อสร้างสรรค์สนับสนุน วัดป่าอาชาทอง ในฐานะคนรู้จักคุ้นเคย ครูบาฯ มานาน "สื่อมวลชน"ทุกแขนง ที่ช่วยกันโหมกระพือแสงสว่างของ"วัดป่าอาชาทอง" หรือศรัทธาของพี่น้องชาวพุทธ ที่โหยหาพระนักปฏิบัติมากกว่า"สีสันของวงการสงฆ์" ตัวอย่างการเป็นผู้นำในการปฏิบัติธรรม เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมมีดังนี้ ปมบุกยิงเจ้าอาวาสวัด "พระขี่ม้า อันซีนไทยแลนด์" เผยตั้งสำนักปฏิบัติธรรม และเสนอโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติขวางฮุบที่ป่า ๑๐๐ ไร่ จนกลุ่มผู้เสียประโยชน์เกิดความแค้น ก่อนหน้านี้ได้มีกลุ่มนายทุนบุกรุก และแผ้วถางพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อเตรียมนำไปขาย แต่เมื่อเกิดสำนักปฏิบัติธรรม และโครงการปลูกป่า ทำให้นายทุนไม่สามารถขายที่ดินได้ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ พระครูบาเหนือชัย ตกเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง แต่คราวนี้กลับเป็นข่าวร้าย เมื่อพระรูปดังกล่าวถูก "มือมืด" มาดักยิงถึงวัด โชคดีที่กระสุนด้านเสียก่อนเลยรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด !!! รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ ๐๑.๓๐ น. วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ มีคนร้ายเป็นชาย ๑ คน ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาในสำนักปฏิบัติธรรม ก่อนจะเดินไปยังกุฏิของพระครูบาเหนือชัย ขณะนั้นพระครูบาได้ตื่นขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจประจำวันตามปกติ และเข้าห้องน้ำ ซึ่งแยกจากตัวกุฏิ เมื่อได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์มาจอดใกล้กับกุฏิ พระครูบาเหนือชัย จึงตะโกนถามว่าใคร แต่ไม่มีเสียงตอบ เกรงว่าจะมีคนมาลอบทำร้าย จึงส่งสัญญาณเป็นรหัสลับเฉพาะคนใกล้ชิด แต่ก็ยังเงียบอีก ก่อนจะได้ยินเสียงลั่นไกปืนดังขึ้นถึง ๓ ครั้ง แต่กระสุนด้าน ยิงไม่ออก ชายลึกลับพยายามเรียกให้พระครูบาออกมา แต่ไม่เป็นผล จึงขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไปในเวลา ๐๒.๐๐ น. ต่อมา มีกระแสข่าวว่า ผู้ก่อเหตุ คือ "อดีตกำนัน" คนหนึ่งใน อ.แม่จัน เนื่องจากเข้าใจว่า พระครูบาเหนือชัย แจ้งให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาตรวจสอบกรณีพื้นที่ป่า ถูกกลุ่มนายทุนแผ้วถางเพื่อนำไปขาย จากนั้นอดีตกำนันคนดังกล่าวได้เข้าพบกับตำรวจ และยอมรับว่า เป็นคนที่บุกเข้าไปในวัด และมีความขัดแย้งกับทางวัดบ้าง แต่ไม่ได้มีความพยายามที่จะฆ่าพระครูบาเหนือชัย??? ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ "เมาสุรา" เท่านั้น และยินยอมที่จะยุติเรื่องราวทั้งหมด !? ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระเณรภายในสำนักปฏิบัติธรรมต่างพากันหวาดผวาอย่างหนัก เพราะในช่วงตี ๒ ของทุกวัน ปกติจะต้องตื่นขึ้นมาปฏิบัติธรรม และออกบิณฑบาตในตอนเช้า แต่วันนี้พระหลายรูปไม่กล้าที่จะออกบิณฑบาต เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ลูกศิษย์วัดรายหนึ่ง ลำดับเส้นทางขัดแย้งที่นำมาสู่เหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ชนวนความขัดแย้งทั้งหมดเกิดจาก "ที่ดิน" เนื้อที่กว่า ๑๐๐ ไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของสำนักปฏิบัติธรรม และป่าต้นน้ำโดยรอบ ต่อมา สำนักบริหารจัดการพื้นที่ป่าที่ ๑๕ จ.เชียงราย ได้จำแนกให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ใด ๆ ได้ และป่าต้นน้ำในส่วนนี้มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า ๔๐๐ ไร่ จากนั้นพื้นที่ทั้งหมดถูกกำหนดให้เข้าอยู่ใน "โครงการปลูกป่าโพธิ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ครบ ๖๐ ปี" จึงทำให้นายทุนบางกลุ่มเสียประโยชน์ ก่อนหน้านี้ได้มีกลุ่มนายทุนบุกรุก และแผ้วถางพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อเตรียมนำไปขาย แต่เมื่อเกิดสำนักปฏิบัติธรรม และโครงการปลูกป่าทำให้นายทุนไม่สามารถขายที่ดินได้ จึงบังคับขายที่ดินที่มิใช่ของตัวเองให้แก่สำนักปฏิบัติธรรมในราคาไร่ละ ๓๕,๐๐๐ บาท รวมมูลค่า ๓.๕ ล้านบาท แต่เมื่อพระครูบาเหนือชัยไม่ยินยอม จึงเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง !?!? นอกจากนี้ ลูกศิษย์วัดคนเดิมก็บอกด้วยว่า การกระทำครั้งนี้ของอดีตกำนันไม่ใช่ครั้งแรก!!! เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเมาสุราก็มักจะเข้ามาอาละอาด และข่มขู่พระในวัดเป็นประจำ แต่ก็ไม่มีใครกล้ายุ่ง ขณะที่ พ.ต.อ.วันชัย สุวรรณศิริเขต ผกก.สภ.อ.แม่จัน ระบุว่า มีความขัดแย้งในที่ดินผืนดังกล่าวจริง เพราะพระครูบาเหนือชัยเข้าไปสร้างสำนักปฏิบัติธรรมทับที่ของนายทุนที่บุกรุกป่า ความคืบหน้าของคดีล่าสุด อดีตกำนันคนดังกล่าวรับปากว่าจะยุติเรื่องทั้งหมดแล้ว ??? กระนั้น การดำเนินคดีของตำรวจก็ไม่ได้ทำให้พระในวัดสบายใจขึ้นแม้แต่น้อย เพราะนอกจากอดีตกำนันคนดังกล่าวแล้ว ยังมีนายทุนอีกสองรายที่เสียประโยชน์เช่นกัน นับเป็นเรื่องน่าแปลกที่พฤติกรรมการบุกรุกทำลายป่าถือเป็นความผิดขั้นพื้นฐานของนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลของรัฐบาล แต่ในความเป็นจริง กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังลอยนวล แถมยังอยู่อย่างสุขสบายบนความพินาศของสาธารณสมบัติของชาติต่างหาก จากรูปการณ์ที่เห็น และเป็นอยู่ ณ ปัจจุบันจึงนับว่า สถานการณ์การบุกรุก และทำลายทรัพยากรธรรมชาติของเมืองไทยมิได้ลดลงแม้แต่น้อย แต่ที่ไม่ค่อยปรากฏข่าวมากนักก็เพราะอำนาจบารมีของ "ผู้มีอิทธิพล" ที่ยังคงมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ และชีวิตของนักอนุรักษ์ หรือแม้กระทั่ง "พระนักอนุรักษ์" ก็ยังคงเสี่ยงต่อการคุกคามด้วยอำนาจเถื่อนอยู่ทุกวัน ดังเช่นคดีสังหาร นายเจริญ วัดอักษร แกนนำนักอนุรักษ์หินกรูด-บ่อนอก หรือคดีสังหาร พระสุพจน์ สุวจโน พระนักอนุรักษ์ป่าแห่งสำนักปฏิบัติธรรมเมตตาธรรม ใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ส่วนบทบาทของพระครูบาเหนือชัย นอกจากจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีบทบาทของการเป็น "นักอนุรักษ์" เช่นกัน แต่โชคยังดีอยู่บ้างที่ยังรักษาชีวิตตัวเองเอาไว้ได้ !!! แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุดใจ : 11-02-2011 เมื่อ 19:23 |
สมาชิก 127 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุดใจ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
|||
|
|||
ตอนนี้ถนนขึ้นไปที่วัด ทำให้สะดวก รถวิ่งสวนกันได้แล้ว
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 20-01-2010 เมื่อ 08:43 |
สมาชิก 70 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
ผมมีโอกาสพบพระครูบาเหนือชัยหลายครั้ง รู้สึกประทับใจและไม่คิดว่าท่านจะเป็นพระนักปฏิบัติ เพราะภาพที่ผมเคยเห็นท่านตามสารคดีต่าง ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ท่านน่าจะเป็นพระนักพัฒนามากกว่า เนื่องจากท่านต้องรับภาระหนักหลายด้าน ทั้งงานดูแลวัดสาขาเกิน ๑๐ สาขาตามแนวตะเข็บชายแดน งานต่อต้านยาเสพติด งานด้านการศึกษาและงานสาธารณประโยชน์อื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วพระครูบาท่านให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมมากดังที่หลวงพ่อเล็กท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า
“ครูบาเหนือชัยท่านบวชมาเพื่อปฏิบัติ แต่ทำไปทำมาไม่ก้าวหน้า ท่านเลยตัดสินใจว่า นั่งสมาธิให้มันตายไปเลยดีกว่า..! คนตัดอาลัยในร่างกายได้ มักจะมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้น พอถึงวันที่ ๗ หลวงพ่อฤๅษีก็มาชี้แนะหนทางการปฏิบัติให้ ต่อมาหลวงพ่อสดวัดปากน้ำก็มาสอนในสมาธิอีก" เพราะฉะนั้นพระครูบาท่านจึงเป็นพระที่ทรงความดีอย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย พิชัยสงคราม : 15-02-2010 เมื่อ 22:49 |
สมาชิก 103 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชัยสงคราม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
ขณะนี้ทางวัดถ้ำป่าอาชาทองได้จัดสร้างเว็บขึ้นมาแล้วครับและสามารถเข้าชมได้ที่ http://archathong.com/
|
สมาชิก 80 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พระดาบสน้อย ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
แนวทางการปฏิบัติของพระครูบา
พระครูบาท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านสนใจศึกษาพระธรรม ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นฆราวาสโดยได้ยึดแนวทางปฏิบัติของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง ตอนอายุ ๑๕ ท่านได้บวชเณรกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดศรีค้ำโดยอาศัยการภาวนาแบบ "สัมมาอะระหัง" จากนั้นก็ยึดถือปฏิบัติมาตลอด นอกจากนี้ในสมัยที่เป็นนักศึกษาท่านได้มีโอกาสอ่านหนังสือของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จากรุ่นพี่และได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อฤๅษีลิงดำที่บ้านซอยสายลม จากนั้นเป็นต้นมาเมื่อมีโอกาสท่านก็จะไปวัดปากน้ำและบ้านซอยสายลมเสมอมา แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย พิชัยสงคราม : 17-02-2010 เมื่อ 19:56 |
สมาชิก 101 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชัยสงคราม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ท่านนั่งสมาธิบนโขดหินโดยอธิษฐานว่า "จะขอนั่งอยู่ตรงนี้จนกว่าจะบรรลุธรรม แม้ตายก็จะไม่ลุกจากที่นี่" ท่านนั่งนิ่งอยู่ ๑๕ วัน จนผึ้งมาเกาะทำรังตามเนื้อตัว ท่านรู้สึกเจ็บจึงพยายามแยกความรู้สึกของกายออกจากจิต แม้กายจะเจ็บแต่จิตนิ่งใสสว่าง ความเจ็บก็ทุเลาลง ท่านเห็น หลวงปู่เกษม ณ สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง มาบอกว่า นี่คือการเข้านิโรธสมาบัติ แยกจิตกับกายและให้หมั่นเพียรนั่งสมาธิ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการบรรลุธรรม
|
สมาชิก 98 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชัยสงคราม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
||||
|
||||
ท่านเล่าให้ฟังอีกว่า
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ในขณะที่ออกธุดงค์ท่านเป็นไข้ป่าแต่ก็มิได้เว้นว่างจากการปฏิบัติ ท่านได้กำหนดวงแก้วตลอดระยะเวลาที่ป่วย หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้มาหาและพูดกับท่านว่า "หลับให้สบายเถอะลูก พ่อจะรักษาลูกแก้วไว้ให้" แล้วท่านก็หลับไปด้วยพิษไข้ เมื่อตื่นขึ้นมาก็หายจากอาการป่วย ในเช้าวันนั้นก็ได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ได้ละสังขารเมื่อวานนี้เอง |
สมาชิก 105 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชัยสงคราม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
ผมมีโอกาสได้พบกับพระครูบาท่านครั้งแรกที่บ้านของคุณสมหมาย ที่จังหวัดราชบุรี ภาพแรกที่ได้เห็นคือ พระที่สักยันต์เต็มตัวนั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้กลางห้องรับแขก ท่านดูเป็นพระที่เข้มขลังเต็มไปด้วยความน่าเกรงขาม แต่พอได้สัมผัสการพูดคุยของท่าน ทำให้พบว่าท่านเป็นพระที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาอย่างที่สุด ท่านมีลีลาการเทศน์ที่หลากหลาย ที่สำคัญคำสอนของท่านยังฟังแล้วเข้าใจง่ายและยังสอดแทรกมุกที่ทำให้หัวเราะได้ตลอด
พระครูบาท่านเป็นพระที่อุทิศตนเพื่องานสาธารณประโยชน์ ตามรอยที่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสอนไว้ ท่านเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนท่านได้ศึกษาธรรมโดยการออกธุดงค์อยู่ในป่าเขาตามแนวชายแดน ปฏิบัติธรรมเผยแผ่ธรรมะอยู่ในป่า จนวันหนึ่งท่านได้มานั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่หน้าถ้ำป่าอาชาทอง มีชาวบ้านมาถวายภัตตาหารและมาทำบุญบ่อย ๆ เลยมีคนบอกว่าน่าจะตั้งเป็นวัดดีกว่า ประกอบกับสมเด็จสังฆราช มีดำริให้ดำเนินโครงการ "บวร" พุทธศาสนา อันหมายถึง บ คือ บ้าน ว คือ วัด ร คือ โรงเรียน เป็นการนำหลักธรรมเผยแผ่ให้ครบทั้งสามสถาบัน พระครูบาท่านได้มองเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและพระศาสนา เพราะในตอนนั้นชาวเขาส่วนใหญ่จะรับจ้างขนยาเสพติดและเสพยาเองด้วย ท่านบอกว่าในตอนนั้นติดกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า พระครูบาเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ท่านจึงได้เริ่มตั้งสำนักสงฆ์ถ้ำป่าอาชาทองนับตั้งแต่นั้นมา...... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 20-02-2010 เมื่อ 14:55 |
สมาชิก 97 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชัยสงคราม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
||||
|
||||
พระครูบาท่านได้สนองพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช โดยท่านได้เริ่มจัดตั้งโครงการซึ่งได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระสังฆราช ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการ และทรงประทานชื่อโครงการว่า “โครงการมิตรมวลชนคนชายแดน” เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๒ นับแต่นั้นมาพระครูบาเหนือชัยท่านก็ได้ดำเนินโครงการ โดยมีกิจกรรมที่แยกออกมาหลากหลายกิจกรรม เช่น
กิจกรรมการฝึกอบรมเยาวชนชัยยุทธ์ เพื่อฝึกอบรมประชาชนและเยาวชน ให้มีความพร้อมทั้งร่างกายสติปัญญาและคุณธรรม โดยใช้มวยไทยเป็นแนวหลัก เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ความรักและหวงแหนมรดกของชาติไทย กิจกรรมมิตรมวลชนนิมนต์พระนำธรรมะสู่ชายแดน เป็นความร่วมมือกันระหว่างทหารกับพระสงฆ์ โดยออกเยี่ยมเยียนบรรยายธรรมะประกอบศาสนกิจและปฏิบัติธุดงควัตร จาริกไปตามเส้นทางที่ทุรกันดาร ที่มีอันตรายและมีปัญหาภัยคุกคามสูง เพื่อเผยแผ่ธรรมะสู่ประชาชนในพื้นที่ชายแดน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจในอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน เพื่อต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่…. แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย พิชัยสงคราม : 09-02-2011 เมื่อ 21:52 |
สมาชิก 108 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ พิชัยสงคราม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|