#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ช่วงเช้ากระผม/อาตมภาพได้ไปบรรยายให้บรรดาพระวิปัสสนาจารย์ที่เข้ากรรมฐานตามโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดดอน ยานนาวา
วัดนี้ชื่ออย่างเป็นทางการคือ วัดบรมสถล บรม ก็คือ ปรมะ คือ ยิ่งกว่า สถล ก็คือพื้นดิน คราวนี้ทำไมถึงยิ่งกว่าพื้นดินแล้วเป็นดอน ? สมัยก่อนกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่ม หาที่ดอนยากมาก ดอนเมืองเขาเอาไว้สร้างสนามบิน เพื่อป้องกันน้ำท่วม คราวนี้พอมาดอนที่ยานนาวานี่ เขาเอาไว้สร้างวัด การบรรยายให้กับพระวิปัสสนาจารย์มีทั้งดีและไม่ดี คำว่าดีก็คือกำลังใจของทุกคนไปในด้านเดียวกัน กระผม/อาตมภาพก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นการเทศน์ การกล่าวสัมโมทนียกถา หรือว่าการบรรยายธรรม มีอยู่ส่วนหนึ่งก็คือ ต้องดึงกำลังใจคนฟังให้มาอยู่กับเราให้ได้ แล้วถ้าหากว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนใจฟัง คนพูดจะเหนื่อยมากเป็นพิเศษ คราวนี้ในเมื่อคณะพระวิปัสสนาจารย์ท่านเคยชินกับการปฏิบัติธรรม ก็ทำให้สะดวก ก็คือใช้กำลังน้อย สามารถบรรยายแบบสบาย ๆ ได้ แต่ว่าไม่ดีตรงจุดที่ว่า ทุกคนเป็นนักปฏิบัติธรรม หลายรูปพรรษามากกว่ากระผม/อาตมภาพอีก รู้สึกจะมีอยู่ ๒ หรือ ๓ รูปที่พรรษามากกว่าผม ครั้งแรกที่เลขานุการรุ่นขอให้ทุกคนกราบผู้บรรยายธรรม ปรากฏว่า ๒ แถวแรกนั่งหัวโด่กันหมด ก็ประมาณว่า "มึงมีดีอะไรจะให้กูกราบ ? ต่อให้กูพรรษาน้อยกว่ากูก็ไม่สน..!" เมื่อว่าไปจนจบ ๔๕ นาที รับไทยธรรมแล้ว ปรากฏว่าคราวนี้ทั้งหมดกราบด้วยกัน ยกเว้นอยู่ ๒ รูปที่พรรษาท่านมากกว่าจริง ๆ เท่านั้น ก็แปลว่า ถ้าเราไม่มีดีจริง ที่จะเอาไปให้ท่านได้รู้ได้เห็น ท่านก็จะแบกกิเลสเอาไว้ ก็คือแบกสักกายทิฏฐิ ตัวกูของกู ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วคนที่แบกกิเลสอยู่ ก็ไม่รู้ว่าตัวเองแบกกิเลสอยู่ โดยเฉพาะความยึดมั่นถือมั่นว่ากูดีกว่า ของพระเราไม่เท่าไร เพราะว่าอยู่ในฐานะของปูชนียบุคคล ชาวบ้านเขาให้ความเคารพนับถือ ต่อให้เป็นนักปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าดีกว่าก็ยังพอทน เพราะว่าชาวบ้านเขาก็ยกให้ แต่ฆราวาสด้วยกันจะลำบาก เพราะว่าทันทีที่รู้สึกว่าตัวเองดีกว่า จะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะฟังใครแล้ว ถ้าไม่ใช่ครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือจริง ๆ แล้วมักจะเอาไม่อยู่ คนอื่นเตือนไม่ได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-07-2022 เมื่อ 03:08 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนั้น เราจะไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเลย เพราะคิดว่าที่ตัวเองทำอยู่นั้นดีแล้ว ถูกแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับการขึ้นบันได ก้าวขึ้นไปเป็นขั้น ๆ พอกำลังของเราสะสมเพียงพอ ศีล สมาธิ ปัญญา ทรงตัว มีการทะลุทะลวงผ่านระดับที่เราอยู่ขึ้นไป เมื่อมองย้อนกลับมาก็จะเห็นว่า อ้าว...ที่ผ่านมายังไม่ดีจริงนี่หว่า..!? ยังมีที่ดีกว่านั้น ที่ถูกกว่านั้น แต่ก็จะมายึดไอ้จุดที่ตัวเองเพิ่งจะก้าวไปถึง ว่าตรงนี้ดีแล้วถูกแล้วอีก
ดังนั้น...ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน คนเราอดไม่ได้ที่จะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ต่อให้ปฏิบัติถูกต้องก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าแบกสังโยชน์ใหญ่เอาไว้ ก็คือสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู แล้วก็มานะ ความถือตัวถือตน ส่วนใหญ่ก็ถือว่าดีกว่า พอไปเจอคนเก่งเข้า รายนี้เก่งเท่ากับเรา ก็ถือตัวว่าเสมอกัน พอไปเจอบุคคลที่ปฏิบัติได้น้อยกว่า ก็..ไอ้นั่นสู้กูไม่ได้ สรุปแล้วเป็นมานะทั้งหมดเลย ดีกว่าก็ไม่ได้ เสมอกันก็ไม่ได้ ต่ำกว่าก็ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับนักปฏิบัติธรรม แต่ว่าก็ไม่เกินความสามารถ เพราะว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถ้าตั้งหน้าตั้งตาทำจริง ๆ ด้วยความอดทนอดกลั้น เดี๋ยวบรรดานาคทั้งหลายก็จะรู้ว่านรกมีจริง เพราะว่าพวกท่านทั้งหลาย ถึงเวลาอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เพราะชีวิตฆราวาสข้อห้ามมีน้อย แค่เราไม่ละเมิดศีล ๕ ก็พอแล้ว แต่พอเป็นพระขึ้นมา ในส่วนที่เราอยากทำ ส่วนใหญ่แล้วจะทำไม่ได้ เพราะว่าโดนตีกรอบ กระผม/อาตมภาพเคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ชีวิตฆราวาสเหมือนเอาเราไปปล่อยไว้ในป่ากับเสือตัวหนึ่ง บางทีเดินทั้งปีก็ไม่เจอเสือตัวนั้นหรอก แต่ในชีวิตของความเป็นพระเป็นเณร เขาเอาเสือตัวนั้นยัดไว้ในกรงกับเรา กรงนั่นก็คือศีล ๒๒๗ ของพระ ศีล ๑๐ ของเณร อะไรที่เคยทำได้ ทำไม่ได้ทั้งหมด จะอกแตกตาย เพราะกิเลสฟัดเราอยู่ทุกวัน ถึงตอนนั้น สติ สมาธิ ปัญญามีเท่าไร ต้องทุ่มเทเพื่อต่อต้านอำนาจกิเลส เพื่อที่เราจะต้องอยู่ให้ได้ครบพรรษาตามที่ต้องการ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-07-2022 เมื่อ 02:57 |
สมาชิก 34 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
กระผม/อาตมภาพเคยเรียนถวายพระภิกษุสามเณรไปแล้ว แต่ก็ขอบอกกับนาคทั้งหลายให้ฟังอีกรอบว่า พรรษาแรก ๆ นี่ กระผม/อาตมภาพอยากสึกวันหนึ่งเป็นร้อย ๆ ครั้ง..! ไอ้ที่ไม่สึก ทนอยู่มาได้ ก็เพราะอยากเอาชนะ เพราะว่าหลวงพ่อวิรัช (พระปลัดวิรัช โอภาโส) ปัจจุบันก็คือเจ้าอาวาสวัดธรรมยาน ท่านเป็นหมอดูชั้นยอดเลย โดยเฉพาะเป็นกึ่งนักวิชาการ ก็คือดูหมอใครก็เก็บสถิติเอาไว้ด้วย ท่านมีลายมือของลูกค้าเป็นพัน ๆ คน ทำนายอะไรไว้บ้างท่านจดเอาไว้หมด
ท่านดูลายมือของกระผม/อาตมภาพ แล้วบอกว่าวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น จะต้องสึกแน่นอน กระผม/อาตมภาพถามว่า "ถ้าผมไม่สึกล่ะ ?" ท่านบอกว่า ท่านยอมเผาตำราทิ้ง..! เพราะฉะนั้น..ไอ้ที่อยู่มาได้ทุกวันนี้ อยู่เพราะอยากจะเอาชนะพี่เขาเท่านั้น แล้วพอพ้นจากตรงนั้นมา ก็ไม่มีความรู้สึกที่อยากจะสึกอีก หลังจากที่พี่เขาออกจากวัดตามหลังมาก็ไปสร้างวัดธรรมยาน มาขออนุญาตว่า "ขอกลับคำพูด ขอเอาตำรามาใช้ใหม่ เพราะว่าจำเป็นต้องหาเงินเพื่อสร้างวัด" ถ้าใครเคยไปวัดธรรมยาน จะเห็นว่าที่พี่เขาสร้างไป ถ้าตีเป็นมูลค่านี่เป็นพันล้านไปแล้ว นั่นเกิดจากการดูหมอล้วน ๆ แต่กระผม/อาตมภาพเองจำเป็นที่จะต้องเลิกดูหมอ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วหมอดูจะโดนรบกวนไม่เป็นเวล่ำเวลา คนที่มามักจะเอาแต่เรื่องตัวเอง ขนาดฉันเพลอยู่ ยังบอกว่า "ไม่เป็นไรค่ะ ขอเวลา ๕ นาทีเท่านั้น" ต้องด่าเตลิดเปิดเปิงไปเลย "ไม่เป็นไรของมึง แต่กูกำลังแด..อยู่..!" ท้ายสุดจึงต้องเลิกไป ดังนั้น...เราจะเห็นว่าในส่วนของการเป็นพระเป็นเณร เป็นเรื่องที่เป็นกันยากมาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ถึงสิ่งที่ยากที่สุดก็คือ กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์นั้นยากหนักหนา ท่านเปรียบเหมือนกับว่าเอาเต่าตาบอดตัวหนึ่ง โยนไว้ในทะเลที่เต็มไปด้วยคลื่นลม แล้วก็มีแอกเล็ก ๆ ที่พอสวมคอเต่านั้นได้ไว้ด้วย ๑๐๐ ปีให้เต่าตัวนั้นโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำครั้งหนึ่ง ๑๐๐ ปีโผล่ขึ้นมาครั้งหนึ่ง ถ้าหัวสวมแอกได้พอดีเมื่อไร คน ๆ นั้นถึงจะมีสิทธิ์เกิดครั้งหนึ่ง ยากขนาดนั้นเลย..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-07-2022 เมื่อ 03:00 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ การดำรงชีวิตให้อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง พวกเรามีโอกาสตายได้ทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ไม่หายใจออกก็ตายแล้ว หายใจออก..ไม่หายใจเข้าก็ตายแล้ว
คราวนี้ก็เหลืออยู่ที่สามัญสำนึกของเราว่า ก่อนจะตาย จะสร้างความดีให้โลกลือ หรือว่าจะสร้างความชั่วให้โลกลือ..!? จะให้เขาสรรเสริญเจริญพรตามหลังไป ห่วงหาอาลัยคิดถึงเราตลอดเวลา หรือจะให้เขาด่าไป ๗ ชั่วโคตร..! ก็เชิญเลือกเอาได้เลย กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ ของที่ยากยิ่งประการที่ ๓ คือการได้ฟังธรรม เพราะว่าพระพุทธเจ้ากว่าที่จะตรัสรู้ได้ ใช้ระยะเวลาเนิ่นนานเหลือเกิน พวกเราส่วนใหญ่เกิดกันมานับชาติไม่ถ้วนแล้ว ชาติที่ได้ฟังธรรมนั้นยากแค่ไหน เพราะว่าส่วนใหญ่ไปเกิดในช่วงที่ว่างจากศาสนาเสียมาก ท้ายที่สุด กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท พระพุทธเจ้านั้นเกิดยากที่สุด ต่ำสุดชนิดที่เป็นปัญญาธิกะ เลิศด้วยปัญญา ยังใช้เวลาถึง ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป ถ้าถามว่านานแค่ไหน ? ก็ลองไปดูที่อรรถกถาจารย์ท่านอธิบายไว้ว่า ๑ รอบอันตรกัป เริ่มแต่ตั้งเลข ๑ ขึ้นมา แล้วต่อด้วยเลข ๐ จำนวน ๑๔๐ ตัว นับเป็นปีได้ไหม ? ท่านเปรียบง่าย ๆ ว่า เหมือนกับมีภูเขาที่เป็นเนื้อหินล้วน ๑ ลูก กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ คือด้านละ ๑๖ กิโลเมตร ระยะเวลา ๑๐๐ ปี เทวดาเอาผ้าเนื้ออ่อนเหมือนสำลีมาเช็ดครั้งหนึ่ง ๑๐๐ ปีมาเช็ดครั้งหนึ่ง ท่านบอกว่าภูเขาลูกนั้นสึกเสมอพื้นแล้ว ระยะเวลา ๑ กัปยังนานกว่า คราวนี้ ๑ กัปที่ว่านี่ไม่ใช่มหากัป เป็นอันตรกัป เช็ดภูเขาสูง ๑๖ กิโลเมตรสึกเสมอพื้นไปลูกหนึ่ง ยังไม่ใช่มหากัป..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-07-2022 เมื่อ 03:03 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
ท่านบอกว่า ๖๔ รอบอันตรกัปเป็น ๑ อสงไขยกัป ภูเขาสึกไป ๖๔ ลูก เท่ากับ ๑ อสงไขยกัป ๔ อสงไขยกัปเท่ากับ ๑ มหากัป แปลว่า ๑ มหากัป คุณต้องเช็ดภูเขา ๒๕๖ ลูกให้สึกเสมอพื้น..! แล้วพระพุทธเจ้าท่านต้องสร้างบารมีต่ำสุด ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป นานจนไม่ต้องนับกันเลย
แต่คราวนี้ต้องบอกว่าพวกเราทั้งหลายอยู่ในช่วงจังหวะที่ดีมาก เพราะว่าได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมแล้วน้อมนำมาปฏิบัติ อยู่ในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ถึงเวลาแล้วก็สนใจ ใฝ่รู้ ใฝ่ธรรม เข้าวัดเข้าวา จนกระทั่งเตรียมบรรพชาอุปสมบท เราทำสิ่งที่แสนจะยากทั้งหมดได้แล้ว ก็เหลืออยู่อย่างเดียวว่า บวชเข้าไปแล้วเราจะทำตัวอย่างไร ? เพราะว่าอานิสงส์ได้เต็มทันทีที่คู่สวดประกาศว่า "อุปะสัมปันโน สังเฆนะ" บัดนี้ได้ยกท่านทั้งหลายขึ้นสู่หมู่สงฆ์แล้ว จะสึกตอนนั้นก็ไม่ว่า บุญเต็มแล้ว คราวนี้อยู่ต่อก็สำคัญตรงที่ว่า ถ้าทำดีก็บวกเข้าไป แต่ถ้าทำชั่วก็ลบออก แต่คราวนี้ต้นทุนของพระมาก ถึงเวลาจึงขาดทุนมาก ถ้าหากว่าชาวบ้านศีล ๕ ข้อ สมมติว่าลงทุนไป ๕ ล้าน ถ้าได้กำไรก็ประมาณว่า ๕ ล้านลงทุนเท่าไรก็ได้แค่นั้น แต่พระลงทุนไป ๒๒๗ ล้าน ถ้าได้กำไรนี่มากกว่าชาวบ้านกี่เท่า ? แต่ถ้าขาดทุนก็สาหัสกว่าชาวบ้านหลายเท่า..! ดังนั้น..จะกำไรหรือขาดทุนอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของพวกเรา โดยเฉพาะต่อให้มีความรู้มากเท่าไร มีความสามารถมากเท่าไร ท่านบวชเข้ามาก็คือพระใหม่ ในสังคมพระ เขาปกครองกันตามลำดับอาวุโส ต่อให้บวชชุดเดียวกัน คนที่คู่สวดออกชื่อก่อนก็เป็นพี่
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-07-2022 เมื่อ 03:05 |
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
ดังนั้น..ท่านทั้งหลายจึงต้องพยายามที่จะประคับประคอง รักษาต้นทุนของตนเองเอาไว้ แล้วก็ทำให้พอกพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่าให้ขาดทุน เพราะว่ามีบุคคลเขาคอยมาฉกฉวยกำไรของเราไป ก็คือญาติโยมทั้งหลายที่ให้การอุปถัมภ์ค้ำจุน ใส่บาตรให้กิน สนับสนุนด้วยปัจจัย ๔ อานิสงส์ที่เราทำได้ ต้องถ่ายเทแบ่งปันให้ญาติโยมเขาไป ถ้าทำน้อยก็อาจจะขาดทุนอีก..!
ดังนั้น...เรื่องของการเป็นพระจึงอยู่ยาก โดยเฉพาะถ้าอยู่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะว่าต้องฝึกฝนจนกระทั่งเป็นครูคนอื่นเขา คราวนี้การเป็นครูนั้นจะผิดแบบไม่ได้ ผิดเมื่อไร ลูกศิษย์ผิดตามทันที วันนี้ที่บรรยายให้ท่านทั้งหลายฟัง จึงได้เตือนนักเตือนหนาว่า ถ้าคุณความดีของเรายังไม่เพียงพอ ไม่มั่นใจว่าปฏิบัติถูกแน่นอน ให้ยึดคำสอนครูบาอาจารย์ ให้ยึดวิสุทธิมรรค ให้ยึดพระไตรปิฎกเป็นหลัก สอนตามนั้น อย่าเอาความรู้ตัวเองแทรกเข้าไป เพราะว่าจะพาชาวบ้านหลงทางได้ง่าย สำหรับวันนี้ ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมทั้งหลายแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-07-2022 เมื่อ 03:06 |
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|