|
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนมกราคม ๒๕๖๕ เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนมกราคม ๒๕๖๕ |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๕
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ มีการประชุมคณะสงฆ์ในเขตปกครองอำเภอทองผาภูมิ จึงทำให้ทราบว่าเพื่อนพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่ง ก็คือท่านพระครูกิตติกาญจนธรรม (ทักษิณ กิตฺติญาโณ) อดีตเจ้าคณะตำบลปิล็อก ท่านออกธุดงค์ โดยที่จะเดินจากเชียงรายลงมากาญจนบุรี
ในเรื่องของการธุดงค์นั้น ถ้าหากว่าญาติโยมทั้งหลายศึกษาในธุตังคนิเทสของวิสุทธิมรรค ก็จะเห็นระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ธุคงควัตรนั้นมีอยู่ ๑๓ ประการด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเข้าป่าก็ทำได้ อย่างเช่นว่าการบิณฑบาตเป็นวัตร การใช้ผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร การฉันมื้อเดียว หรือที่บ้านเรานิยมก็คือฉันในบาตรเป็นวัตร เป็นต้น แต่ว่าการธุดงค์ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เดินในป่า หากแต่ว่าเป็นการเดินในเมือง โดยเฉพาะเดินตามถนนที่มีรถยนต์วิ่ง ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เลยทำให้ความวิเวกจากการธุดงค์ที่แท้จริงไม่เกิดขึ้น เพราะว่าสับสนวุ่นวายไปหมด ถ้าเป็นการธุดงค์ที่เป็นการเดินในป่าจริง ๆ นั้น ความไม่เคยชินอย่างหนึ่ง สัตว์ร้ายอย่างหนึ่ง อันตรายจากธรรมชาติอย่างหนึ่ง ภูติผีปิศาจอย่างหนึ่ง หรือเหล่าเจ้าที่เจ้าทางอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีการทดสอบเราอยู่ตลอดเวลา จะทำให้จิตใจของเราสงบเร็วมาก เนื่องเพราะว่าไม่มีอะไรให้เรายึดเกาะ นอกจากคุณพระรัตนตรัย การธุดงค์นั้น ถ้าหากว่าเคร่งครัดจริง ๆ แม้แต่มีดโกนก็ไม่เอาไป เพราะว่าสำหรับคนรุ่นเก่าแล้ว มีดโกนเท่ากับเป็นอาวุธร้ายได้เลย เพราะว่าเป็นรุ่นที่ใบมีด ด้ามมีด และฝักมีดเป็นชิ้นเดียวกัน ใช้ลับด้วยการสะบัดกับแผ่นหนัง เป็นอาวุธที่บรรดาทหารเรือสมัยก่อนพกติดตัว พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าหากว่าลงมือกันแล้ว ถ้าหนังไม่ดีก็มีแต่ตายกับตายเท่านั้น ดังนั้น...พระธุดงค์บางรูปออกจากป่ามา หมาวัดจำไม่ได้ เพราะว่าผมเผ้ายาวลากดินมาเลย อันนี้ก็เปรียบเทียบจนเกินไป ก็คือผมยาวเหมือนกับฆราวาส แม้กระทั่งมีดที่จะใช้งานก็ต้องตัดปลาย หรือหักปลายทิ้ง เพื่อที่จะไม่ให้เป็นอาวุธ ในเมื่อไม่มีที่พึ่ง ไม่มีอาวุธ ก็เหลืออยู่อย่างเดียวก็คือ คุณพระรัตนตรัยที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเราได้ ก็จะทำให้จิตสงบเร็วมาก
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-01-2022 เมื่อ 03:01 |
สมาชิก 34 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
กระผม/อาตมภาพเองมีประสบการณ์ตรงนี้ เพราะว่าพอเข้าป่าไปแล้วไม่มีที่พึ่ง สภาพจิตก็จะเกาะพระอย่างแนบแน่น ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในป่า กำลังใจทรงตัวเป็นสมาธิอัตโนมัติโดยไม่ต้องภาวนาเลย แต่ว่าทันทีทันใดที่หลุดพ้นจากป่าออกมา สมาธิก็คลายตัวทันทีเหมือนกัน เพราะเกิดความประมาทว่า เราเข้ามาอยู่ในเขตเมืองแล้ว ปลอดภัยแล้ว
ดังนั้น...ในเรื่องของการธุดงค์ ครูบาอาจารย์สมัยเก่า ๆ จึงมักจะดำเนินชีวิตอยู่ในป่าไปเลย ต่อให้อยู่ใกล้บ้านคน ก็ต้องใกล้ประมาณในการเดินประมาณ ๓ - ๔ ชั่วโมง หรือถ้าหากว่าอย่างในพระวินัยกำหนดเอาไว้ ก็คือต้องห่างจากบ้านประมาณชั่ว ๕๐๐ คันธนู เพราะว่าธนูในสมัยเก่านั้น ใช้ในการศึกการสงคราม สามารถยิงได้รุนแรงเท่าไร โอกาสที่จะทำลายข้าศึกได้ก็มีมากเท่านั้น ดังนั้น...คันธนูจึงต้องทั้งแข็งแรงแล้วก็ยาว ๕๐๐ ชั่วคันธนูนั้น อยู่ที่ประมาณครึ่งกิโลเมตรเป็นอย่างน้อย ในเมื่ออยู่ในลักษณะอย่างนั้น โอกาสที่จะใกล้บ้านที่สุดก็คือครึ่งกิโลเมตร แต่ว่าพระที่ท่านเคร่งครัดจริง ๆ บางทีก็ต้องเดินเกือบครึ่งวันกว่าจะถึงบ้านคน แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะว่าท่านฉันมื้อเดียว เมื่อบิณฑบาตได้อาหารมา ระยะเวลาก็เกือบเพล หรือไม่ก็เพลแล้ว หาที่เหมาะ ๆ ได้ก็ปูผ้าลง นั่งทำภัตกิจ ฉันอาหารอะไรเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ก็ค่อยกลับสู่ที่พักของตน บางท่านก็ ๔ วัน ๕ วันออกมาบิณฑบาตครั้งหนึ่ง แบบนั้นก็ไม่ใช่ฉันมื้อเดียวแล้ว หากแต่ว่าเป็น ๔ - ๕ วันฉันมื้อหนึ่ง หรือว่า ๑๐ วัน ๑๕ วัน ฉันมื้อหนึ่ง แล้วแต่ความเข้มข้น เข้มงวดของแต่ละคนที่มีต่อตัวเอง แต่ว่าจากประสบการณ์ที่เคยธุดงค์อยู่หลายปีทำให้เห็นว่า สมัยนี้นั้นการธุดงค์นั้นมีผลน้อย เหตุที่มีผลน้อย เพราะว่าอันดับแรกเลย บุคคลสมัยนี้ที่ออกธุดงค์ น้อยคนที่ปฏิบัติเพื่อหวังความหลุดพ้น ส่วนใหญ่ที่กระผม/อาตมภาพไปเจอนั้น ก็คือ ท่านที่ออกธุดงค์สมัยนี้ มักจะเป็นพวกที่แปลกแยก เข้ากับสังคมไม่ได้ ไม่ยอมปรับตัวเอง ไม่ยอมแก้ไขนิสัยตัวเอง ก็เลยอยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ จึงต้องออกป่า ขนาดไปอยู่ป่าแล้ว เจอเพื่อนพระธุดงค์ด้วยกัน ก็ยังมีการแสดงออกซึ่งจริตนิสัยไม่น่ารัก ไม่น่าคบ และโดยเฉพาะหลายท่าน เมื่อไปแล้วพบที่เหมาะใจ ก็ไปสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมา ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต่าง ๆ ต้องปวดหัวเป็นอย่างยิ่ง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 26-01-2022 เมื่อ 07:22 |
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
โดยเฉพาะการที่เดินตามถนน ก็มีการโบกรถขออาศัยไปบ้าง ขอน้ำบ้าง ที่แย่กว่านั้นก็คือขอค่าเดินทาง ซึ่งโดยปกติแล้วพระธุดงค์ ถ้าเข้าป่ากันจริง ๆ เขาห้ามพกเงินไปด้วย เพราะถือว่าเป็นอาบัติ ก็คือศีลขาด
การที่ศีลไม่บริสุทธิ์ ไม่มีกำลังของศีลคุ้มครองตัวเอง ออกป่าแล้วโอกาสตายมีมากกว่ารอด เพราะว่าป่าสมัยนั้นดุมาก ซึ่งไม่ต้องถึงขนาดสมัยก่อน แค่สมัยกระผม/อาตมภาพออกธุดงค์ ตั้งแต่พ้นพรรษาที่ ๔ พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า "แกจบนักธรรมชั้นเอกแล้ว ความรู้ถือว่าพอคุ้มตัวได้ อนุญาตให้ออกธุดงค์ได้" แต่ขนาดนั้นก็ตาม เมื่อกระผม/อาตมภาพบอกว่าจะไปที่ไหน เพื่อนพระพี่น้องก็ถอนตัวกันหมด เพราะทุกคนคิดว่าไปหาที่ตายชัด ๆ..! ตรงจุดนี้ท่านทั้งหลายที่คิดว่าบ้านเราเมืองเราไม่มีป่าให้ธุดงค์แล้ว ก็เลยต้องเดินกันในเมือง กระผม/อาตมภาพขอยืนยันว่า บ้านเรายังมีป่าเยอะมาก แต่เป็นสถานที่ซึ่งพวกท่านไปแล้วต้องเอาชีวิตเข้าไปแลก เพราะว่าบางทีเดิน ๑๐ กว่าวัน ไม่เจอบ้านคนเลย อาหารการกิน ถ้าหากว่าไม่สามารถบิณฑบาตจากต้นไม้ได้ ก็ต้องทนอดเอา เรื่องพวกนี้ท่านที่ทนความลำบากไม่ได้ จึงไม่ยอมเข้าป่าที่เป็นป่าจริง ๆ แต่กระผม/อาตมภาพที่เป็นมือใหม่หัดขับ ออกป่าครั้งแรกก็เป็นป่าใหญ่ไพรสูง ที่เต็มไปด้วยสัตว์เหมือนอย่างกับเขาเลี้ยงไว้ในคอก ในเมื่อเป็นเช่นนั้น กำลังใจจึงต้องยึดเกาะพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแบบสุดชีวิต เพราะไม่รู้ว่าอันตรายจะมาถึงตัวเมื่อไร ตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทุกคนต้องการ เพราะว่ากฎเกณฑ์กติกาความเป็นพระอริยเจ้าของเรานั้น ข้อแรกเลยก็คือต้องเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง ๆ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ท่านที่ออกธุดงค์ไม่มีอาวุธ นอกจากบารมีคุณพระศรีรัตนตรัยที่อาราธนาไปปกป้องคุ้มครองตนเอง เมื่อผ่านพ้นอันตรายต่าง ๆ ไปได้หลาย ๆ ครั้งเข้า ก็จะเกิดความเชื่อมั่นและเคารพในคุณพระรัตนตรัยแบบสุดจิตสุดใจ ทำให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก้าวเข้าใกล้ความเป็นพระอริยเจ้าได้ง่าย ก็แค่มาทบทวนศีลทุกสิกขาบทของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ตั้งใจว่า ถ้าหากว่าเราตายลงไปเมื่อไร เราขอมีพระนิพพานเป็นที่ไปอย่างเดียว แค่นี้เราก็เหยียบประตูความเป็นพระโสดาปัตติมรรคแล้ว สำคัญแค่ว่าเราสามารถก้าวเข้าประตูนั้นได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ?
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-01-2022 เมื่อ 03:09 |
สมาชิก 33 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ดังนั้น...การธุดงค์ในปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าเดินอย่างที่เห็นกัน เป็นความลำบากแก่ตัวเสียเปล่า ๆ เพราะว่ากระผม/อาตมภาพขนาดเดินอยู่ในป่าใหญ่ไพรทึบ เมื่อถึงเวลาประมาณเที่ยงถึงบ่ายสองโมงก็ยังต้องหยุดพัก เนื่องจากอากาศร้อนมาก เดินไม่ไหว ยิ่งถ้าหากว่าเป็นป่าดิบชื้น ในช่วงนั้นอากาศจะอบอ้าว ตะครั่นตะครอ เหงื่อไหลเป็นน้ำ ถ้าหากว่าไม่พัก เดินต่อไปเรื่อย ๆ อาจจะตะคริวกินได้ แต่ว่าท่านทั้งหลายที่เดินอยู่บนทางลูกรัง เดินอยู่บนทางลาดยาง เดินอยู่บนทางคอนกรีต ท่านสามารถเดินได้ทั้ง ๆ ที่แดดเปรี้ยง ๆ กระผม/อาตมภาพขอบอกว่ายอมแพ้
เพียงแต่ว่าสิ่งที่ท่านทั้งหลายทำนั้น โอกาสที่จะได้ดีก็มีน้อย เพราะว่ากล่นเกลื่อนวุ่นวายไปด้วยรถและชาวบ้าน ความวิเวกที่แท้จริงไม่มี ถ้าหากว่าไม่ใช่บุคคลที่ภาวนาจนกำลังใจทรงตัวตั้งแต่แรกแล้ว การออกธุดงค์แบบนั้น ก็อาจจะพาให้เสียมากกว่าดี อันดับแรกเลยก็คือ ผิดพระวินัยอยู่ตลอดเวลา เนื่องเพราะไม่ได้อยู่ห่างจากบ้านคนในระยะที่พระวินัยกำหนดเอาไว้ อันดับที่สอง บุคคลมักจะเห็นว่าพระธุดงค์นั้นขลัง ก็จะมาขอหวยบ้าง ขอน้ำมนต์บ้าง ขอวัตถุมงคลบ้าง ในเมื่อขอแล้วก็มีการตอบแทน เช่น ถวายเป็นข้าวของเงินทอง ซึ่งเป็นภาระที่รุงรังเปล่า ๆ กลายเป็นเครื่องถ่วงให้ท่านเดินทางได้ช้าไปด้วย ข้อสุดท้าย อันตรายที่สุด ใกล้หมู่บ้านก็ใกล้ผู้หญิง บรรดาผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็ช่างกระไร มักจะเห็นว่าพระธุดงค์นั้นน่าเคารพ น่านับถือ ก็อยากได้เอาไปกราบไหว้บูชาเฉพาะตนที่บ้าน ไม่ยอมแบ่งปันให้คนอื่น ถ้าหากว่าเจอแบบนั้นเข้า ส่วนใหญ่ก็ไปไม่รอด เพราะว่ากำลังใจของท่านทั้งหลายเหล่านั้นยังอ่อนอยู่ เป็นต้น วันนี้เมื่อได้ข่าวคราวว่าเพื่อนฝูงออกธุดงค์ ก็ยังเป็นห่วงอยู่ เพราะว่าระยะทางที่ท่านเดินนั้นไกลมาก ก็คือจากเชียงรายกลับมากาญจนบุรี ท่านนั่งรถไปที่เชียงราย แล้วก็จะเดินย้อนกลับมา ก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้ท่านปลอดภัย แล้วก็ถ้าหากว่าหวังเข้าถึงธรรมในส่วนไหน ก็ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าถึงธรรมตามที่ตนปรารถนาเถิด จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-01-2022 เมื่อ 03:12 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|