#1
|
||||
|
||||
เก็บตกงานกฐิน วันศุกร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์กล่าวว่า "ถ้าญาติโยมติดตามข่าวคราวในวงการสงฆ์ จะเห็นว่าช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีคำสั่งเจ้าคณะใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหนเหนือ หนกลาง หนใต้ หนตะวันออก ตลอดจนกระทั่งเจ้าคณะธรรมยุต และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ออกระเบียบปฏิบัติมาสำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งฟังดูเหมือนกับเข้มงวดมาก แต่ว่าไม่มีประโยชน์สำหรับวัดท่าขนุนเลย เพราะทุกข้อที่ท่านสั่งมา วัดท่าขนุนทำหมดแล้ว แต่วัดไหนที่ปล่อยปละละเลย ไม่ได้ทำมาก่อน เมื่อถึงเวลาโดนกระตุกเชือกตึงขึ้นมา ก็จะลำบากเดือดร้อน
อย่างเช่นว่าห้ามตั้งป้ายโฆษณาวัตถุมงคล ห้ามจำหน่ายวัตถุมงคลในบริเวณโบสถ์ ห้ามภิกษุสามเณรกล่าววิพากษ์วิจารณ์การเมือง ห้ามพระภิกษุสามเณรไปในที่อโคจรซึ่งไม่สมควรต่อสมณสารูป ห้ามพระภิกษุสามเณรใช้สื่อโซเชียลไปในทางที่ไม่สมควร เป็นต้น"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-10-2017 เมื่อ 02:31 |
สมาชิก 144 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
"ในส่วนนี้ญาติโยมทั้งหลายจะเห็นว่า คำสั่งของเจ้าคณะใหญ่ที่ออกมานั้น ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่เคยมีอยู่ แต่ไม่ได้รับการกวดขัน และอาจจะเป็นการสั่งการเพียงบางที่ อย่างเช่น สมัยหลวงพ่อพระสุเมธาธิบดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ท่านมีคำสั่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ห้ามพระปักกลดในเขตกรุงเทพมหานคร ห้ามพระเดินห้าง ห้ามพระบิณฑบาตเกิน ๘ โมงครึ่ง ห้ามพระยืนรับบาตรที่เดียว ฯลฯ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ยังเป็นระเบียบของคณะสงฆ์อยู่ เพราะว่าไม่ได้ยกเลิก แต่ก็ใช้เฉพาะเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น
ส่วนในครั้งนี้เจ้าคณะใหญ่ทุกหนประกาศพร้อมกัน รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย แปลว่าทุกพื้นที่ใช้ระเบียบเดียวกัน ยกเว้นหนใต้ ๓ ภาค ๑๔ จังหวัด เพราะว่าหนใต้นั้นตัดข้อห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัตถุมงคลออกไป อาจจะเป็นเพราะว่าทางด้านปักษ์ใต้ของเรา มีบรรดาพระเกจิอาจารย์มาก ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่เสียหายตรงไหน หนใต้จึงไม่สั่งห้ามตรงนี้ ถือว่ามีพิเศษกว่าเขาอยู่แค่ที่เดียว"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-10-2017 เมื่อ 02:34 |
สมาชิก 145 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
"ดังนั้น...ญาติโยมจะเห็นว่า ถ้าเราเข้มงวดต่อพระภิกษุสงฆ์สามเณรให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้ว คำสั่งอื่น ๆ ของบรรดาเจ้าคณะไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ สั่งมาสำหรับวัดท่าขนุนก็เท่ากับว่าไม่ได้สั่ง เนื่องจากว่าทำครบถ้วนสมบูรณ์ดีแล้ว จึงเป็นเรื่องที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์หรือเจ้าอาวาสทุกวัด ควรที่จะสังวรณ์และแนะนำให้พระภิกษุสามเณรของเรา ยึดมั่นในพระธรรมวินัย ในศีลของพระ ศีลของเณร ในอาจาระคือการประพฤติที่ถูกต้องสมควร
เหตุที่มีคำสั่งออกมาเนื่องจากว่ามีการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ในเรื่องของการปฏิรูปพระพุทธศาสนานั้น คณะกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่แล้วไม่เคยบวช แล้วก็มักจะมีศีรษะเอาไว้คั่นใบหูไม่ให้ติดกันเท่านั้น ไม่ได้ใส่สมองเอาไว้เลย...! จึงมักจะมีข้อกำหนดที่จะออกมาเพื่อบังคับพระ อย่างเช่นว่า ห้ามพระภิกษุรับเงินรับทองอย่างเด็ดขาด เพราะว่าผิดพระธรรมวินัย"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-10-2017 เมื่อ 02:36 |
สมาชิก 139 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
"อาตมายืนยันว่าข้อนี้พระพุทธเจ้าห้ามไว้จริง แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว สมัยอาตมายังเด็ก ๆ พระเข้าร้านอาหารฉันฟรี ขึ้นรถฟรี แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะค่าน้ำค่าไฟ การบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม การศึกษาของคณะสงฆ์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทั้งสิ้น ดังนั้น...ถ้าใครออกกฎหมายข้อนี้ออกมา ขอให้ญาติโยมจดจำเอาไว้ด้วย เมื่อถึงเวลาวัดท่าขนุนมีรายจ่าย อาตมาจะไปลากคอให้บุคคลนั้นมาจ่ายแทน..!
แล้วก็จะมีกติกาว่า ถ้าพระภิกษุสงฆ์สามเณรรูปใดเรียนจบมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว...ห้ามสึก ต้องอยู่เพื่อใช้ความรู้ที่เรียนมาในการอบรมสั่งสอนประชาชน เรื่องนี้อาตมาใช้หัวแม่เท้าข้างซ้ายคิด ยังคิดได้ดีกว่า...! เพราะโบราณบอกมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า ฝนจะตก แดดจะออก พระจะสึก ลูกจะคลอด ขี้จะแตก ห้ามกันไม่ได้ ดังนั้น...บรรดาคณะกรรมการที่พยายามจะปฏิรูปพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยบวช ไม่เคยบวชยังไม่พอ ยังขาดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอีกต่างหาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ามา เป็นการเพ้อฝันอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์คนเดียว ไม่เคยลืมตาขึ้นมาดูความเป็นจริงในโลกว่าไปถึงไหนกันแล้ว"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-10-2017 เมื่อ 02:38 |
สมาชิก 137 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
"อันนี้อาตมาไม่ได้วิจารณ์การเมืองเพราะว่าเจ้านายสั่งห้ามแล้ว แต่ด่าคณะกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนาแทน เรื่องพวกนี้ถ้าญาติโยมเข้าใจก็จะรู้ว่า สิ่งที่เราทำนั้นไม่ใช่เรื่องสนับสนุนให้พระทำผิดพระวินัย หากแต่เป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
อย่างอาตมาเองก็ช่วยเหลือเพื่อนพระหลายวัดด้วยกัน โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาของพระเณร ปีหนึ่งจ่ายไปหลายล้านบาท ถ้าไม่มีปัจจัยส่วนนี้ก็ไม่รู้จะส่งพระส่งเณรเรียนได้อย่างไร วัดวาอารามที่ปรับปรุงจนกระทั่งเห็นสวยงามอยู่นี้ ก็ล้วนแล้วมาจากสิ่งที่ญาติโยมทั้งหลายได้ทำบุญมาทั้งสิ้น สมัยก่อนนั้น ตั้งแต่พุทธกาลเป็นต้นมา ญาติโยมเป็นคนสร้างวัด เป็นคนยกที่ถวายวัด แล้วก็ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง แต่พอมาในยุคประมาณรุ่นปู่ของเรานี่เอง ที่กระแสภาคอุตสาหกรรมเข้ามา ทำให้ทุกคนต้องแข่งขันกัน โดยเฉพาะแข่งขันกันส่งสินค้าออก รุ่นของอาตมาเรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.๔ ต้องมานั่งท่องว่า สินค้าออกสำคัญของบ้านเราก็คือ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ไม้สัก เป็นต้น โยมจะเห็นว่าไม้สักปัจจุบันเป็นไม้หวงห้าม ห้ามส่งออกแล้ว แม้กระทั่งใครจะตัดก็ไม่มีสิทธิ์ ต้องมาตีตราเสียค่าภาคหลวงก่อน"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-10-2017 เมื่อ 02:40 |
สมาชิก 134 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
"ในเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ญาติโยมต้องแข่งขันกันในการทำมาหากิน แม้แต่ผู้หญิงที่เคยเป็นเฉพาะแม่บ้านแม่เรือน ก็ต้องออกไปช่วยทำงานนอกบ้าน ทำให้ญาติโยมไม่มีเวลามาทะนุบำรุงวัด เมื่อถึงเวลาอยากจะทะนุบำรุงวัด ก็นำปัจจัยก้อนหนึ่งไปมอบให้หลวงปู่หลวงพ่อเจ้าอาวาส แล้วแจ้งท่านว่าจะให้ทำอะไรบ้าง ถ้าเป็นของใหม่หลวงปู่หลวงพ่อก็ติดต่อช่างมาเพื่อที่จะสร้าง แต่ถ้าเป็นของเก่าก็ต้องหาช่างมาบูรณะขึ้นใหม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น การที่ญาติโยมเป็นผู้สร้างและมอบให้กับวัด ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นวัดต้องรับผิดชอบในการเสริมสร้างด้วยตนเอง
โดยเฉพาะระเบียบของคณะสงฆ์นั้น พระสังฆาธิการทุกรูป ตั้งแต่ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส เจ้าอาวาส รองเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะหน ทั้งหมด ๑๒ ตำแหน่ง บังคับว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ ๖ ด้านด้วยกัน ก็คือ ๑. ด้านการปกครอง ก็คือการดูแลให้พระภิกษุสามเณรในเขตปกครองของตน อยู่ในระเบียบวินัย ปฏิบัติตนให้สมควรแก่การเป็นพระเป็นเณร อย่างอาตมาเป็นเจ้าคณะตำบลท่าขนุน เขต ๒ ก็มีวัดอยู่ใต้การดูแล ๕ วัดด้วยกัน แล้วยังมีวัดในสังกัดอีกหลายวัด การที่เราจะเดินทางไปตรวจการณ์คณะสงฆ์ ก็ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เดินเท้ากันไปเป็นเดือน ๆ สมัยนี้ไปไหนก็อาศัยรถราไป ต้องจ่ายค่ารถค่าน้ำมัน"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-10-2017 เมื่อ 02:43 |
สมาชิก 129 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
"๒. ด้านการศาสนศึกษา บังคับว่าเจ้าอาวาสต้องส่งพระส่งเณรเรียน ตลอดจนกระทั่งส่งนักเรียนเข้าเรียนเข้าสอบธรรมศึกษา ทุกวัดจะต้องมีโรงเรียนที่ตนเองรับผิดชอบ โดยเฉพาะวัดท่าขนุนรับผิดชอบมากที่สุด ก็คือรับผิดชอบในส่วนของโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา โรงเรียนเทศบาลทองผาภูมิ โรงเรียนอนุบาลทองผาภูมิ โรงเรียนวชิรวิชญ์และโรงเรียนเสาหงษ์ ไม่ได้แปลว่ารับผิดชอบวัดละ ๑ โรงเรียน แต่วัดท่าขนุนรับผิดชอบถึง ๕ โรงเรียนด้วยกัน เพียงแต่ว่าโรงเรียนบ้านเสาหงษ์นั้น ทางเราไม่ได้ส่งพระไปสอน แค่ถึงเวลาสอบ ต้องรับเข้าสนามสอบของวัดท่าขนุน ก็คือสนามสอบโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา
ในส่วนนี้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะพระเณรวัดท่าขนุน อาตมาส่งเรียนถึงปริญญาเอก ปัจจุบันนี้แต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าเดือนไหนค่าเทอมออก ก็จ่ายถึงล้านเศษ ๆ แปลว่าเดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาทนี้จ่ายเป็นประจำ และเดือนละล้านบาทเศษประมาณ ๒ ครั้งต่อปี ถ้าหากว่าไม่มีเงินงานนี้ก็ทำไม่ได้"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-10-2017 เมื่อ 11:24 |
สมาชิก 132 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
"๓. ด้านการเผยแผ่ ก็คือเรื่องของการสั่งสอนญาติโยม ไม่ว่าจะอยู่กับวัดก็ดี หรืออย่างที่อาตมาเดินทางไปเพื่อสอนกรรมฐานที่บ้านเติมบุญก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น โดยเฉพาะการสอนที่บ้านเติมบุญ มีการถ่ายทอดสด การสอนกรรมฐานที่วัดท่าขนุนในช่วงวันสำคัญในพระพุทธศาสนา มีการถ่ายทอดสด ทุกอย่างล้วนแต่ต้องใช้เงิน
๔. ด้านการสาธารณูปการ คือการบูรณปฏิสังขรณ์ภายในของแต่ละวัด แค่ปีที่แล้วปีเดียว อาตมาใช้เงินไปเกือบหนึ่งร้อยล้านบาท ๕. การสาธารณสงเคราะห์ ทางคณะสงฆ์บังคับว่าต้องทำสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ อย่างเช่น ขุดบ่อน้ำ ทำเหมืองฝาย สร้างประปา สร้างสาธารณสุข สร้างพระพุทธรูปประจำโรงเรียน หรือสร้างห้องสมุดอย่างของอาตมา เป็นต้น ๖. การศึกษาสงเคราะห์ ก็คือการให้ทุนการศึกษานักเรียน ปีที่แล้วอาตมาให้ทุนไป ๑๒ โรงเรียน เฉพาะทุนระดับประถม มัธยม เป็นเงิน ๖๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ให้ทุนระดับปริญญาตรีอีก ๙ ทุน ทุนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ๒๗๐,๐๐๐ บาท รวมทุนการศึกษาของพระเณรด้วย ปีหนึ่งก็ให้ทุนการศึกษาหลายล้านบาท ก็แปลว่าในงานคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้านนั้น เป็นงานที่ต้องใช้เงินทั้งสิ้น แต่ว่าบรรดาคณะกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนา ที่อาตมาบอกว่ามีหัวไว้คั่นใบหูเท่านั้นไม่ได้มองตรงนี้ บอกอยู่อย่างเดียวว่า การรับเงินนั้นผิดพระธรรมวินัย พวกนี้สมควรที่จะสูญพันธุ์ เพราะว่าเป็นไดโนเสาร์ที่ปรับตัวไม่เป็น...!"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-10-2017 เมื่อ 03:32 |
สมาชิก 109 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
"พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระเณรรับเงิน เพราะเกรงว่าจะไปติดลาภ แต่ถ้าได้มาเท่าไรไม่พอใช้อย่างอาตมาก็ไม่มีอะไรจะให้ติด...มีแต่หนี้
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ญาติโยมถ้าหากว่ารู้ข่าว...อย่าวางเฉย ทุกวันนี้เรื่องของศาสนาพุทธเราที่โดนบีบมารอบด้านนั้น มีสาเหตุมาจากศาสนาอื่นที่ตั้งใจจะบีบคั้นศาสนาของเรา จะพยายามล้มล้างศาสนาของเราให้ได้ เพื่อเอาศาสนาของเขาขึ้นมาเป็นศาสนาประจำชาติ พระพุทธเจ้าทรงตรัส ฝากอนาคตพระศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แปลว่าญาติโยมทั้งหลายที่อยู่ในส่วนของอุบาสกอุบาสิกานั้น จะวางเฉยไม่ได้ เพราะว่าถ้าวางเฉยเมื่อไร ท่านทั้งหลายเท่ากับมอบประเทศไทยให้เป็นที่ตั้งของศาสนาอื่น ถือว่าท่านทั้งหลายทำตัวเองโดยไม่รู้จักคัดค้าน อาตมาเองไม่ได้เกรงกลัวเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เพราะว่าอยู่ที่ไหนก็พูด ถ้าเจ้านายถามว่าห้ามพูดในเรื่องก่อความแตกแยกแล้วพูดทำไม ? อาตมาขอตอบว่า ไม่ได้พูดก่อความแตกแยก เพียงแต่บอกความจริงให้ญาติโยมได้รู้เท่านั้น เนื่องเพราะว่าในเรื่องของศาสนา ถ้าโยมสังเกตจะเห็นว่าพวกเขาไม่ยินดีสามัคคีกับเราอยู่แล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็แบ่งแยกตัวตนอย่างชัดเจน นั่นแสดงว่าเขาสร้างความแตกแยกขึ้นโดยตัวของเขาเอง ไม่ใช่อาตมาสร้างความแตกแยก เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ที่กล่าวมา ขอให้โยมได้ตระหนักว่า ศาสนาของเราปัจจุบันโดนบีบคั้นมาก โดนเบียดเบียนมาก ถ้าเรายังวางเฉยอยู่ เราไม่มีที่จะอยู่แล้ว เมื่อญาติโยมทั้งหลายทราบแล้ว ควรที่จะทำอย่างไร ก็ให้ตัดสินใจกันเอาเองตามสถานการณ์"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-10-2017 เมื่อ 03:34 |
สมาชิก 114 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
พระอาจารย์กล่าวว่า "ญาติโยมทั้งหลาย กฐินความจริงก็คือสังฆทาน แต่เป็นสังฆทานที่จำกัดด้วยเวลา ปีหนึ่งเรามีโอกาสถวายภายใน ๒๙ วันเท่านั้น ก็คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ นอกเหนือจากนี้แล้วพ้นจากกาลกฐิน ถ้าหากว่าพ้นจากกาลกฐินไปแล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะถวายอีก
ดังนั้น...ในส่วนของกฐินจึงเป็นบุญสังฆทานพิเศษ โดยเฉพาะถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ถ้าพระที่จำพรรษาหลังก็ไม่มีโอกาสรับกฐิน พรรษาหลังคือพระที่ท่านเริ่มจำพรรษาตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๙ แล้วไปออกวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ซึ่งหมดวาระของกฐินพอดี เมื่อเป็นเช่นนั้น บุคคลที่จำพรรษาหลังจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน ในส่วนของกฐินนั้น แบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน ถ้าแบ่งอย่างเป็นทางการ ท่านว่ามีกฐินหลวงกับกฐินราษฎร์ กฐินหลวงยังแบ่งออกเป็นหลายอย่าง ก็คือ กฐินต้นที่ในหลวงเสด็จไปทอดโดยพระองค์เอง กฐินพระราชทานที่ในหลวงมอบให้ผู้แทนพระองค์เป็นผู้ไปถวาย ส่วนกฐินราษฎร์หรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่ากฐินชาวบ้าน ก็ยังแบ่งออกเป็นมหากฐินกับจุลกฐิน"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-10-2017 เมื่อ 05:15 |
สมาชิก 112 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
"จุลกฐินนั้นเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก เนื่องจากว่าต้องทอผ้าในวันนั้น ตัด เย็บ ย้อม เพื่อที่จะถวายให้ทัน เป็นการแสดงออกซึ่งความสามัคคีกลมเกลียวของบุคคลอยู่ในสถานที่เดียวกัน เพราะว่าสมัยก่อนนั้นทุกครอบครัวต้องมีคนที่ทอผ้าเป็น เนื่องจากว่าไม่มีผ้าขายในท้องตลาด นอกจากต้องทอผ้าขึ้นมาใช้งานเอง
ก็จะมีการแบ่งกันทอคนละคืบคนละศอก แล้วนำมาตัดเย็บเป็นจีวร ซึ่งถ้าญาติโยมสังเกตจะเห็นว่า ผ้าจีวรนั้นประกอบขึ้นมาจากผ้าผืนเล็ก ๆ หลายชิ้นด้วยกัน ภาษาบาลีเรียกว่า กุสิ ก็จะเป็นแนวเล็ก ๆ ยาว ๆ เหมือนคันนา อัฑฒกุสิ ก็เป็นแนวสั้น พูดง่าย ๆ ว่าถ้ากุสิเป็นแนวยาว อัฑฒกุสิเป็นแนวขวาง เป็นต้น มณฑล ก็คือช่องจีวรใหญ่ อัฑฒมณฑล ช่องจีวรเล็ก แล้วก็ยังมีอนุวาต ก็คือขอบจีวร ดังนั้น...ก็ต้องแบ่งปันกันว่าใครจะทอส่วนไหน ชิ้นไหน เมื่อได้ขนาดที่ต้องการแล้ว ก็นำมาเย็บต่อกันเป็นจีวรขึ้นมา เมื่อเย็บต่อเป็นจีวรแล้ว ก็ยังต้องย้อมเพื่อให้ได้สีที่ต้องการ ซึ่งจีวรที่พระพุทธเจ้าอนุญาตนั้นมี ๓ สี ก็คือ สีกรักซึ่งส่วนใหญ่จะย้อมจากแก่นขนุน สีเหลืองซึ่งส่วนใหญ่ย้อมด้วยขมิ้น และสีเหลืองเจือแดงเข้ม ที่สมัยก่อนย้อมด้วยดินลูกรัง"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-10-2017 เมื่อ 05:17 |
สมาชิก 112 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
"ในส่วนของจุลกฐินนั้นใช้ผ้าผืนเดียว สมัยนี้ที่จะให้ทันก็มักจะทอเป็นผ้าสบง เพราะว่าใช้ผ้าน้อยหน่อย ส่วนมหากฐินนั้นเป็นกฐินที่มีผ้าไตรครบชุด ก็คือสบง จีวร สังฆาฏิ ฉะนั้น...ในส่วนของกฐินเราจะเห็นว่ามีหลายประเภทด้วยกัน ทั้งกฐินหลวง กฐินราษฎร์ ทั้งจุลกฐิน และมหากฐิน แต่ว่าจะเป็นกฐินแบบไหนก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือผ้าไตรจีวร ไม่ว่าจะเป็นสบงผืนเดียว จีวรผืนเดียว หรือว่าสังฆาฏิผืนเดียวก็ตาม ถ้าหากว่าในส่วนของพระบาลี ผ้าที่กว้างคืบหนึ่ง ยาวคืบหนึ่ง ท่านเรียกว่าจีวรทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้ผ้าเกือบทุกประเภทในสมัยนี้ ถือว่าเป็นส่วนของจีวรทั้งสิ้น
การถวายกฐินเป็นสังฆทานจำกัดเขต จึงมีอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่มาก ยิ่งเป็นจุลกฐินที่ต้องใช้กำลังกาย กำลังใจในการถวายกฐินมากกว่าปกติ เพราะว่าต้องพยายามทอผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า ให้เสร็จเรียบร้อยทันงาน ก็ยิ่งมีอานิสงส์สูงมาก"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-10-2017 เมื่อ 05:18 |
สมาชิก 118 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
"ท่านที่ถวายกฐินแล้ว ถ้ายังไม่เข้าสู่พระนิพพานเพียงใด จะเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ เป็นพระมหากษัตริย์ ๕๐๐ ชาติ เป็นมหาเศรษฐี ๕๐๐ ชาติ ไล่ไปเรื่อย แต่ส่วนใหญ่แล้วยังไม่ทันจะหมดอานิสงส์กฐินก็จะเข้าพระนิพพานไปเสียก่อน
หลวงพ่อฤๅษีวัดท่าซุงท่านบอกไว้ว่า บุคคลใดถ้าได้เป็นเจ้าภาพกฐินสัก ๓ ปีต่อเนื่องกัน ให้สังเกตว่าด้วยอานิสงส์บุญกฐิน จะทำให้เรามีความคล่องตัวในความเป็นอยู่มากกว่าคนอื่น คำว่าเจ้าภาพกฐิน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นประธานในการหากองกฐินนั้นมา เราอาจจะมีผ้าสบงผืนหนึ่ง จีวรผืนหนึ่ง สังฆาฏิผืนหนึ่ง หรืออาจจะเป็นผ้าครบไตรก็ได้ ตั้งใจว่าเราขอเป็นเจ้าภาพทำบุญกฐินกับวัดนั้น ลักษณะอย่างนี้ก็ใช้ได้ ถือว่าเราเป็นประธานกฐินเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของกฐินวัดท่าขนุนนั้นเรียกว่ากฐินสามัคคี ก็คือใครจะเป็นเจ้าภาพรวมกันกี่คนก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าเรื่องของกฐินนั้น แต่ละวัดท่านให้ถวายได้ครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น...ในส่วนของบุญกฐินเมื่อปิดยอดแล้ว ไม่สามารถที่จะรับเพิ่มได้ เพราะว่าถ้ารับเพิ่ม เท่ากับเป็นการรับกฐินครั้งที่ ๒ ซึ่งจะเป็นการผิดพระวินัยทำให้กฐินเดาะ ก็คือไม่ได้อานิสงส์ของกฐินนั้น ๆ"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-10-2017 เมื่อ 10:28 |
สมาชิก 102 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
"ในส่วนของงานกฐินนั้น ที่สำคัญอีกอย่างก็คือผู้ครองผ้ากฐิน ซึ่งถ้าว่ากันโดยพระธรรมวินัยแล้ว ท่านให้บุคคลที่มีจีวรเก่าที่สุดในวัดได้ผ้านั้นไป แต่ว่าระยะหลัง ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเจ้าอาวาสที่เป็นผู้ครองผ้ากฐิน
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า บางท่านถือว่าผู้ครองกฐินจึงมีสิทธิ์ที่จะรับบริวารกฐินทั้งหมด ผู้อื่นไม่มีสิทธิ์รับ เจ้าอาวาสก็เลยมักจะครองกฐินเสียเอง แต่ความจริงแล้วเป็นการเข้าใจผิด เพราะว่าบางวัดมีพระไม่ครบ ๕ รูป ไม่สามารถที่จะรับกฐินได้ ต้องไปยืมพระวัดอื่นมา การไปยืมพระวัดอื่นมานั้น พระวัดอื่นที่มานั้น ไม่มีสิทธิ์ไม่มีส่วนในกฐินนั้นทั้งสิ้น ให้เฉพาะบุคคลที่จำพรรษาในวัดนั้นเท่านั้น ดังนั้น...จึงมีการเข้าใจผิดกันว่า ถ้าไม่ครองกฐินแล้วจะไม่มีโอกาสได้รับบริวารกฐิน ซึ่งก็คือไม่มีสิทธิ์รับเงิน ก็ขอให้เข้าใจให้ถูกเสียใหม่ สำหรับวัดท่าขนุนของเรานั้น ครองกฐินกันไปตามอายุพรรษา ก็คือถ้าปีนี้ไปถึงใคร ปีหน้าท่านถัดไปก็จะรู้เองว่าถึงคิวของตนเองครองกฐินแล้ว สำหรับผู้ครองกฐินนั้นต้องรับภาระหนัก เพราะว่าต้องเป็นผู้รักษาผ้าครองแทนพระทั้งวัด ในเมื่อเป็นผู้รักษาผ้าครองแทนพระทั้งวัด บุคคลที่ได้อานิสงส์กฐินสามารถผ่อนคลายสิกขาบทได้หลายข้อ พูดง่าย ๆ ก็คือ ละเว้นให้ไม่ต้องรักษาศีลหลายข้อ อย่างเช่นว่าการเที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา ซึ่งปกติแล้ววัดท่าขนุนของเราไม่ยอมให้ไปโดยไม่ต้องบอกลา ออกจากวัดไปไหนจะต้องลาทุกคน อานิสงส์กฐินข้อนี้จึงไม่มีประโยชน์สำหรับพระวัดท่าขนุน สามารถฉันคณะโภชนาได้ ก็คือโดยปกติแล้ว ถ้าญาติโยมบอกว่านำอาหารอะไรมาถวายพระ พระไม่สามารถที่จะฉันรวมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปได้ เพราะว่าเป็นการผิดพระวินัย"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-10-2017 เมื่อ 10:34 |
สมาชิก 96 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
||||
|
||||
"สาเหตุมาจากสมัยพุทธกาล เมื่อมหาเศรษฐีท่านบอกว่าจะถวายภัตตาหารอะไร พอเป็นอาหารที่ประณีต มีรสดี บรรดาพระก็แห่กันไปจนเขาเลี้ยงไม่ไหว พระพุทธเจ้าจึงต้องตรัสห้ามไว้ว่า ถ้าเป็นอาหารที่เจ้าภาพออกชื่อ ให้ฉันได้ไม่เกิน ๓ รูปเท่านั้น ถ้าถึงรูปที่ ๔ ขึ้นไปเรียกว่าคณะ ถ้าฉันคณะโภชนาแบบนั้น โดนปรับอาบัติทุกคำที่กลืนลงไป ก็แปลว่าศีลขาดทุกคำที่กลืน แต่หากว่ารับกฐินแล้วสามารถฉันคณะโภชนาได้
ลำดับต่อไป คือ ฉันปรัมปรโภชนาได้ คำว่า ปรัมประ ก็คือฉันจากที่หนึ่งแล้วไปฉันอีกที่หนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ เพราะเกรงว่าจะฉันได้น้อย บางทีเจ้าภาพเขาก็เสียใจ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องมาใช้กับอาตมา เพราะว่าฉันน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว ข้อต่อไปท่านบอกว่า ไปไหนไม่ต้องเอาจีวรไปครบสำรับ เพราะว่ามีผู้ครองกฐินรักษาผ้าแทนเราแล้ว ข้อสุดท้าย ก็คือ จีวรที่เกิดขึ้นไม่ต้องทำวิกัปเป็น ๒ เจ้าของ สามารถที่จะใช้เป็นของตนเองได้เลย"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-10-2017 เมื่อ 10:36 |
สมาชิก 97 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
"ในเมื่ออานิสงส์กฐินสามารถผ่อนคลายสิกขาบทได้หลายข้อ แต่ผู้ที่ครองกฐินจะไม่ได้อานิสงส์นี้ เพราะว่าต้องรักษาผ้ากฐินแทนผู้อื่นทั้งวัด ถ้าทำผ้าขาดครองก็ทำให้ขาดอานิสงส์กฐินทั้งวัดเหมือนกัน
ดังนั้น...ในส่วนของผู้ครองกฐินจึงสำคัญมาก เพราะว่าห้ามเผลออย่างเด็ดขาด และอานิสงส์กฐินนี้จะมีแค่กลางเดือน ๔ เท่านั้น ถ้าท่านจำพรรษาแล้วไม่ได้รับกฐิน ได้รับอานิสงส์ ๑ เดือน ก็คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ถ้าจำพรรษาแล้วได้รับกฐิน ท่านขยายเวลาให้ถึงกลางเดือน ๔ ก็คือเพิ่มขึ้นมาอีก ๔ เดือน แต่อาตมาไม่เคยใช้อานิสงส์กฐิน เพราะว่าอานิสงส์กฐินนั้น ถ้าเผลอเราจะมักง่าย ไปไหนเอาจีวรไปครบไตรก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสจนเกินไป จีวรชุดหนึ่งก็ใช้ได้หลายปี ขณะเดียวกันเรื่องของคณะโภชนา ปรัมปรโภชนานั้น ถ้าเราเผลอตัวเมื่อไร เกินกลางเดือน ๔ ไปก็จะโดนอาบัติ การไปไหนปกติก็ต้องบอกอยู่แล้วว่าไปไหน เพื่อที่เจ้าอาวาสหรือเพื่อนฝูงจะได้รู้ มีอะไรเร่งด่วนจะได้ตามตัวกันได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น อาตมาบวชมา ๓๐ กว่าปีไม่เคยใช้อานิสงส์กฐินเลย พูดง่าย ๆ ว่าไม่ต้องรอให้กฐินเดาะ แต่เป็นคนเดาะกฐินเสียเอง แต่ว่าในส่วนอื่น บุคคลอื่น โดยเฉพาะพระอื่น ๆ ในวัดท่าขนุน อาตมาไม่ได้บังคับ ใครจะใช้อานิสงส์กฐินก็อย่าเผลอ ถ้าใครไม่ใช้อานิสงส์กฐินก็ขออนุโมทนาด้วย เนื่องเพราะว่าในเรื่องของศีลพระนั้น ไม่มีอะไรน่าหนักใจ ๒๒๗ ข้อก็สามารถรักษาได้ ทำไมต้องไปผ่อนใน ๔ - ๕ ข้อเหล่านั้น"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-10-2017 เมื่อ 10:38 |
สมาชิก 95 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
||||
|
||||
"ในเรื่องของการขอกฐิน วัดท่าขนุนจะไม่มีเรื่องนี้ เนื่องเพราะว่าอาตมาจะตั้งกองกฐินขึ้นมาเอง หลังจากนั้นญาติโยมก็มาสมทบ ร่วมเป็นเจ้าภาพกฐินสามัคคีเท่านั้น เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ถ้ามีวัดใดมาขอกฐิน ญาติโยมจะเป็นเจ้าภาพจะเป็นอะไรก็ตาม ให้รู้ว่าบุญกฐินนั้นโยมได้ไปเต็ม ๆ แต่อานิสงส์กฐินสำหรับพระไม่มีใครได้เลย เพราะว่าในพระวินัยท่านห้ามขอกฐิน
ญาติโยมที่อยากจะเป็นเจ้าภาพกฐิน ให้ไปปวารณาตนแจ้งต่อเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่งที่เราจะเอากฐินไปทอด ว่าเราขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ถ้าอย่างนั้นพระในวัดท่านถึงจะได้อานิสงส์กฐินไปเต็ม ๆ ในส่วนของการที่พระไปขอจากญาติโยม ก็คาดว่าเกิดจาก ๒ สาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรก ก็คือ ไม่รู้ว่าในพระบาลีท่านห้ามขอกฐิน อย่างที่ ๒ ก็คือ แกล้งไม่รู้ เพราะว่าอยากได้กฐิน เนื่องจากว่าเจ้าภาพหลายรายมาปวารณากฐินกับอาตมาแล้วถามว่า ต้องการยอดปัจจัยเท่าไร ซึ่งถ้าเป็นวัดอื่น ๆ ก็อาจจะมีการบอกว่าเท่านั้นแสน เท่านี้ล้าน แต่สำหรับวัดท่าขนุน มีโยมถามอยู่ ๒ ปี ปีแรกที่ถาม อาตมาบอกว่าเอามา ๑๖ บาท เป็นเลขมงคลโสฬสสวยดี ปีถัดมาถามอีก บอกว่าเอามา ๙ บาทก็แล้วกัน ก็เป็นอันว่าจบกันแค่นั้น เนื่องจากว่ากฐินอยู่ที่ศรัทธาของโยม ไม่ใช่ว่าพระไปตั้งยอด แล้วให้โยมตะเกียกตะกายหามาด้วยความยากลำบาก"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-10-2017 เมื่อ 10:41 |
สมาชิก 94 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#18
|
||||
|
||||
"เรื่องของพระธรรมวินัยแล้ว ส่วนใหญ่พระเณรสมัยนี้ไม่ค่อยที่จะเข้มงวดกัน อาจจะเป็นเพราะว่าพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านไม่ได้สั่งสอนไว้ ไม่ได้อบรมไว้ หรือไม่ก็ความที่อยากได้ยอดปัจจัยกฐินมาก ๆ ก็เลยต้องไปเที่ยวขอกฐินจากญาติโยมหลาย ๆ คน เพื่อให้มารวมกันทอด
ในส่วนของกฐิน ขอย้ำอีกครั้งว่า อานิสงส์กฐิน สำคัญที่สุดตรงผ้าไตร จะเป็นผืนเดียว หรือครบไตรก็ตาม ถ้าไม่มีผ้าไตรก็ไม่เป็นกฐิน ถ้ามีผ้าไตรแล้วบริวารกฐินอื่นไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เมื่อญาติโยมทราบแล้วจะได้รู้ว่า ในเรื่องของกฐินแต่โบราณมานั้น เขาเน้นกันเรื่องผ้าไตรครองสำหรับพระ แต่ปัจจุบันนี้ผิดเพี้ยนไป กลายเป็นว่าวัดไหนทำยอดเงินได้มาก ก็ถือว่าได้บุญมาก อย่าลืมว่าเงินเป็นแค่บริวารกฐินเท่านั้น ตัวบุญกฐินเต็ม ๆ อยู่ที่ผ้าไตรต่างหาก"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-10-2017 เมื่อ 10:42 |
สมาชิก 93 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#19
|
||||
|
||||
"สำหรับวัดท่าขนุน เราทอดกฐิน ๓ วัด ก็คือ วัดท่าขนุน วัดพุทธบริษัท และสำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษี ก่อนหน้านี้เคยมีวัดถ้ำทะลุอีกแห่งหนึ่ง แต่หลังจากที่ท่านยกวัดถ้ำทะลุให้กับผู้อื่นไปแล้ว อาตมาก็ตัดขาดจากบัญชี ไม่ได้ทอดกฐินให้อีก
ส่วนปีนี้ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ วัดพุทธมณฑลอรัญญิกาวาส หรือ วัดทุ่งสมอ แต่เนื่องจากว่าหลวงพ่อมณฑลท่านยังอยู่ ดังนั้นในเรื่องกฐินอาตมาจะยังไม่ไปยุ่งด้วย เพราะว่าครูบาอาจารย์ระดับนั้น ถ้าเราไปหากฐินให้ท่าน ไม่รู้ว่าจะเป็นการดูถูกหรือหักหน้าท่านหรือเปล่า ? ก็แปลว่าปีนี้เราทอดกฐิน ๓ วัด ก็คือวัดท่าขนุน วัดพุทธบริษัทและสำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษี ปัจจัยที่ได้มาจะหาร ๓ เท่า ๆ กัน แต่ของวัดท่าขนุนจะได้มากกว่านิดหนึ่ง เนื่องจากว่าบางท่านเขียนระบุหน้าซองมาชัด ๆ ว่ากฐินวัดท่าขนุน ส่วนท่านที่บอกว่ากฐินวัดท่าขนุนแต่ไม่ได้ใส่ซองมา โดนหาร ๓ ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าสตางค์หน้าตาเหมือน ๆ กัน...แยกไม่ได้ ไม่ใช่โยมบอกว่าทอดกฐินวัดท่าขนุนแล้ว ธนบัตรใบนั้นจะเปล่งแสงไม่เหมือนใบอื่นจะได้แยกออก เมื่อญาติโยมได้ทราบในเรื่องของกฐิน ตลอดกระทั่งแบบธรรมเนียมในการปวารณาเป็นเจ้าภาพกฐิน หรือว่าในการถวายกฐินแล้ว ต่อไปก็จะได้ปฏิบัติกันได้ถูกต้อง" พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. งานทอดกฐินสามัคคี ณ วัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-10-2017 เมื่อ 10:44 |
สมาชิก 103 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|