#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๒
ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติอยู่เฉพาะหน้า ระบายลมหายใจเข้าออกยาว ๆ สักสามสี่ครั้ง เมื่อลมหยาบหมดไปแล้วให้กำหนดความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าไม่เคยภาวนา....จะไม่ใช้คำภาวนาใดเลยก็ได้ หรือถ้าเคยภาวนาแบบไหนมา ไม่ว่าจะเป็นพุทโธ สัมมาอะระหัง พองหนอยุบหนอ นะมะพะธะ ก็ให้ใช้คำภาวนาที่ตัวเองถนัด
ดูลมหายใจของเราโดยการกำหนดสติตามรู้เข้าไป....ตามรู้ออกมา หายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า ลมหายใจผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง ลมหายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก ให้ความรู้สึกทั้งหมดอยู่เท่านี้ ถ้ามันไปคิดเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงกลับมาอยู่ที่ลมหายใจใหม่ แรก ๆ ก็อาจจะรักษาความรู้สึกให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกได้แค่ไม่กี่ครั้ง แต่พอซ้อมทำบ่อย ๆ นาน ๆ เข้า ก็จะสามารถรักษาความรู้สึกให้มั่นคงอยู่กับลมหายใจได้นานเท่าที่เราต้องการ เมื่อความรู้สึกและลมหายใจเข้าออกมั่นคงดีแล้ว ก็ให้กำหนดจิตแผ่เมตตา ไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นมีความสุข ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นพ้นจากความทุกข์ ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นอย่ามีเวรมีกรรมเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย การแผ่เมตตานั้นจะทำให้จิตของเราชุ่มชื่นเบิกบาน มีกำลังที่จะปฏิบัติความดีของเราต่อไปได้ เมื่อแผ่เมตตาจนเต็มที่ของเราแล้ว เราจะกลับมาภาวนาต่อ หรือมาพิจารณาก็ได้ตามอัธยาศัย สำหรับวันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๒ เป็นวันครบรอบการมรณภาพของหลวงปู่พระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ หรือหลวงปู่มหาอำพัน แห่งวัดเทพศิรินทราวาส ปีที่ ๒๐ พอดี หลวงปู่จากพวกเราไป ๒๐ ปีแล้ว หลวงปู่เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สามารถชำระใจตนเองให้ผ่องใสจากกิเลส จนก้าวล่วงสู่พระนิพพานได้ เรามาคิดดู หลวงปู่ถ้าว่ากันตรง ๆ ก็คือพระอรหันต์ ก็มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และในที่สุดก็มรณภาพลงเช่นกัน เราเองซึ่งความดีไม่เท่าท่าน เราจะพ้นไปได้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ก็หมายความว่าเราเองก็ประกอบไปด้วยความไม่เที่ยง ประกอบไปด้วยความทุกข์ ท้ายสุดร่างกายของเราก็เสื่อมสลายตายพังไปด้วยเช่นกัน แต่ว่าการเสื่อมสลายตายไปอย่างของหลวงปู่ จิตของท่านหลุดพ้นก้าวสู่แดนอมตะคือพระนิพพาน พ้นจากการเกิดแก่เจ็บตายทั้งปวง แต่พวกเราทั้งหลายความดียังไม่ถึงระดับนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องขวนขวาย สร้างเสริมให้มี ให้เกิดขึ้นแก่เราให้ได้ โดยเฉพาะการปฏิบัตินั้น เมื่อเริ่มปฏิบัติภาวนา สิ่งที่ควรคำนึงก็คือต้องรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์ไปด้วย ถ้าหากเรามีศีลทุกข้อบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงให้คนอื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นการละเมิดศีลของคนอื่น ถ้าเป็นดังนี้ก็แปลว่าเรามีคุณสมบัติข้อแรกของการที่จะก้าวล่วงไปสู่การหลุดพ้นได้ ถ้าศีลบริสุทธิ์ กำลังสมาธิของเราก็ทรงตัวได้เร็ว เพราะการจะรักษาศีลนั้นต้องอาศัยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างมากในการระมัดระวัง ไม่ทำศีลให้ขาดด้วยตนเอง ไม่ยุยงให้คนอื่นทำ ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นทำ การมีสติสัมปชัญญะรู้ระมัดระวัง ถ้าทำจนชิน สมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้น..ศีลเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างให้สมาธิมั่นคงทรงตัว เมื่อสมาธิมั่นคงทรงตัว ปัญญาก็จะเกิดได้ง่าย ศีลจึงเป็นปัจจัยสร้างสมาธิโดยตรง และเป็นปัจจัยทางอ้อมในการสร้างปัญญาให้เกิด สมาธิเป็นปัจจัยในการสร้างปัญญาโดยตรง และเป็นปัจจัยทางอ้อมในการรักษาควบคุมศีลให้บริสุทธิ์ ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไปควบคุมศีลให้บริสุทธิ์และพิทักษ์รักษาสมาธิของเราให้ทรงตัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 25-12-2009 เมื่อ 09:32 |
สมาชิก 55 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเรียกว่าไตรสิกขา คือ การศึกษา ๓ อย่างของพระพุทธศาสนานี้ ถือว่าเป็นหลักการปฏิบัติที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าเราตั้งใจจะปฏิบัติเพื่อความสุขในปัจจุบันนี้ หรือเพื่อความสุขในอนาคตข้างหน้า หรือว่าเพื่อทั้งความสุขในปัจจุบัน ในอนาคตเบื้องหน้า และเพื่อประโยชน์สุขสูงสุด คือ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงก็ตาม ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยไตรสิกขาคือการศึกษา ๓ อย่าง ในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง หน้าที่ของเราจึงลงอยู่เฉพาะหน้าว่า ทำอย่างไรจะให้ศีล สมาธิ ปัญญาของเราทรงตัวได้ นั่นก็ต้องอาศัยสมาธิเป็นเกณฑ์เป็นหลัก ถ้าเราดำเนินอยู่ในสมาธิ ศีลทุกสิกขาบทจะบริสุทธิ์โดยอัตโนมัติ ปัญญาจะเกิดเห็นช่องทางว่าทำอย่างไรจะรักษาศีลและสมาธิให้ทรงตัวอยู่ได้
การปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นทุกรูปแบบ ไม่มีใครที่สามารถจะละเว้นศีล สมาธิ ปัญญานี้ได้ นักบวชในศาสนาอื่น ในนิกายอื่น แม้ว่าจะรู้จักศีล สมาธิ ปัญญาเช่นกัน แต่เนื่องจากไม่สามารถประมวลมาเข้าเป็นระบบเดียวกัน ไม่มีระบบในการศึกษาครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนอย่างกับศาสนาพุทธของเรา โดยเฉพาะขาดปัญญาในการพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายโดยเฉพาะร่างกายของเรา ประกอบด้วยความไม่เที่ยงเป็นปกติ ระหว่างดำรงชีวิตอยู่มีความทุกข์เป็นปกติ และท้ายสุดก็ไม่สามารถยึดถือมั่นหมายในตัวตนเราเขาได้ เพราะต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างพังไปทั้งสิ้น เมื่อศาสนาอื่นไม่มีตัวปัญญาต่อท้ายเช่นนี้ จึงไม่สามารถจะหลุดพ้นได้ อย่างดีที่สุดก็ก้าวเข้าสู่ความเป็นพรหม ไม่ว่าจะเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหมก็ตาม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสรู้แล้ว นำเอาธรรมะทั้งหมดมาจำแนก มาแยกแยะ มาบัญญัติ มาก่อตั้ง ประมวลจัดเป็นหมวดเป็นหมู่ เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติ ทำของยากให้เป็นของง่าย สงเคราะห์พวกเราอย่างเต็มที่ เพราะว่าพวกเราทั้งหลายนั้น เมื่อรักในการปฏิบัติ แสดงว่าสร้างบุญสร้างบารมีมาอยู่ในระดับที่เพียงพอแล้ว ถ้าตั้งใจเอาจริงสามารถบรรลุมรรคผลได้ทุกคน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 12-09-2009 เมื่อ 19:02 |
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
องค์หลวงปู่มหาอำพันของเราท่านก้าวล่วงพ้นไปสู่พระนิพพานแล้ว เป็นตัวอย่างให้แก่เราทุกคนได้เห็นแนวทางการเดินของท่าน ก่อนมรณภาพหลวงปู่ได้มอบธรรมะ ให้ทุกคนพิจารณาว่า โลกนี้ไม่มีอะไรได้อย่างใจ ถ้าเราคิดว่าทุกอย่างต้องได้อย่างใจ โทสะก็จะเกิด ให้ทุกคนพิจารณาให้เห็นว่าสภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ไม่มีอะไรดีจริง ไม่มีอะไรสวยจริง ถ้าเราไปหลงว่ามันดี ไปหลงว่ามันสวย ราคะก็จะเกิด ถ้าหากว่าเราขาดปัญญา ไปยึดไปเกาะในร่างกายของตนเอง ไปยึดไปเกาะในร่างกายของผู้อื่น ไปยึดไปเกาะในโลกนี้ ก็ไม่สามารถจะหลุดพ้นได้ ท่านจึงให้พิจารณาว่าทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา ไม่สามารถยึดถือมั่นหมายได้ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น
หลวงปู่แนะนำว่าให้ทุกคนชำระจิตใจของตนเองด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถ้าสามารถชำระใจของตนเองให้สะอาดผ่องใส ท่านใช้คำว่าขาวว่างเหมือนกระดาษ ถ้าทำอย่างนี้ได้ทุกวันหลวงปู่ยืนยันว่าตายแล้วไปนิพพานแน่นอน หลวงปู่ไปนิพพานแล้ว หลักการปฏิบัติเพื่อไปนิพพานท่านก็ทิ้งไว้ให้เรา ก็ขึ้นอยู่กับการขวนขวายของเราทั้งปวง ในเมื่อเราเกิดมา มีความปรารถนาในศีล สมาธิ ปัญญาเป็นปกติ ก็แปลว่าเราสร้างบุญสร้างบารมีมาเพียงพอ เพียงพอต่อการหลุดพ้น เพียงพอต่อการเข้าสู่พระนิพพาน ดังนั้นทุกคนจึงควรปฏิบัติในศีล สมาธิ และปัญญาให้สม่ำเสมอ ทำอยู่เป็นประจำทุกวัน ๆ เอาใจจดจ่อต่อเนื่อง ไม่ละไม่เว้น ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ความดีที่สั่งสมตัวมากเข้า ๆ ปัญญาที่เกิดมากขึ้น ก็จะช่วยกันชำระจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส ท้ายสุดเมื่อขาวสะอาดถึงที่สุด ไม่มีอะไรหลงเหลือให้ยึดเกาะแล้ว ก็ย่อมหลุดพ้นตามไปอย่างที่หลวงปู่ท่านพ้นแล้ว สำหรับตอนนี้ให้ทุกคนนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสั่งสอนหลวงปู่หลวงพ่อเราให้หลุดพ้นก็ได้ หรือจะนึกถึงหลวงปู่หลวงพ่อซึ่งหลุดพ้นไปสู่พระนิพพานแล้วก็ได้ ว่าท่านทั้งหลายพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดไปแล้ว เราขอติดตามไปอยู่สถานที่ที่เดียวกับท่าน เอาใจจดจ่ออยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือหลวงพ่อของเรา ว่าท่านทั้งหลายหลุดพ้นไปแล้ว ตอนนี้ที่เดียวที่ท่านอยู่คือพระนิพพาน เราเห็นท่านเท่ากับเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านเท่ากับเราอยู่บนพระนิพพาน ให้เอาใจจดจ่ออยู่กับภาพพระหรือภาพหลวงปู่หลวงพ่อ หรือจดจ่ออยู่กับพระนิพพานให้นานที่สุดเท่าที่เราทั้งหลายจะนานได้ การที่เราส่งใจไปเกาะพระนิพพานเช่นนี้ เป็นวิปัสสนาญาณในตัวอยู่แล้ว เป็นการละร่างกายของเราอย่างนี้อยู่แล้ว ถ้าสามารถทำได้นานพอ ความหลุดพ้นก็สามารถเกิดขึ้นกับเราได้โดยง่าย ตอนนี้ท่านใดยังมีลมหายใจอยู่ให้กำหนดลมหายใจ มีคำภาวนาอยู่กำหนดรู้คำภาวนาไปด้วย ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลง มันหายใจเบาลงก็ให้รู้ว่ามันหายใจเบาลง ถ้ามันไม่หายใจมันไม่ภาวนา ก็ให้รู้อยู่ว่ามันไม่ภาวนา กำหนดใจสบาย ๆ รักษาอารมณ์เช่นนี้เอาไว้จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์ วันเสาร์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๒
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 13-09-2009 เมื่อ 12:41 |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|