#1
|
||||
|
||||
เทศน์วันวิสาขบูชา ปี ๒๕๕๘
เทศน์วันวิสาขบูชา ๒๕๕๘ (วันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๘) นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ อัปปมาเทนะ สัมปาเทถาติ ณ บัดนี้ อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนามาในอัปปมาทกถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ของบรรดาธนิสราทานบดีทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ญาติโยมทั้งหลาย..เนื่องจากว่าปีนี้เป็นปีอธิกมาส คือ มีเดือนเกินมาหนึ่งเดือน ได้แก่ เดือน ๘ หลัง ดังนั้น..วันวิสาขบูชาจึงเลื่อนมาเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ จึงทำให้ล่าช้ามาจนถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อันว่าวันวิสาขบูชานั้น เป็นวันสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เนื่องจากว่าเป็นวันคล้ายวันประสูติ คือ วันเกิด วันคล้ายวันตรัสรู้ คือ วันที่สำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า และ วันปรินิพพาน เรียกง่าย ๆ ว่าวันตายของพระองค์ท่าน ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ประสูติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ที่สวนลุมพินีวัน ก็คือเกิดกลางป่า เป็นพื้นที่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ หลังจากนั้นพอพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระองค์ท่านก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ก็คือออกบวช เพื่อศึกษาค้นคว้าหลักธรรมที่ช่วยให้ความหลุดพ้น พระองค์ท่านทรงทรมานพระวรกายอยู่ถึง ๖ ปีเต็ม ๆ มีการอดอาหาร เป็นต้น จนกระทั่งเห็นว่าไม่ใช่หนทางที่จะหลุดพ้นดังความเชื่อของคนอื่น ๆ ในยุคนั้นสมัยนั้น พระองค์ท่านจึงกลับมาเสวยภัตตาหารใหม่ และตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาในธรรม จนกระทั่งพบเห็นหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือ หนทางสายกลาง อันประกอบไปด้วยหนทาง ๘ สาย เริ่มตั้งแต่สัมมาทิฐิ ไปจนถึงสัมมาสมาธิ เรียกย่อ ๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง เมื่อพระองค์ท่านบรรลุมรรคผลแล้ว ก็ได้เทศนาสั่งสอนประชาชนอยู่ถึง ๔๕ ปีเต็ม ๆ ตลอดทั้ง ๔๕ ปีนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์จะได้นอนเต็มตาอย่างเราสักคืนก็แสนยาก ดังที่ได้สรุปพุทธกิจ ๔๕ พรรษาของพระองค์ท่านเป็นภาษาบาลีว่า ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ แปลว่า เช้าขึ้นมาพระองค์ท่านก็เสด็จออกบิณฑบาต เพื่อโปรดแก่ญาติโยมที่ตั้งใจจะไปสงเคราะห์ กว่าจะไปถึงสถานที่ของเขาบางทีก็ใกล้เพลบ้าง เลยเพลบ้างก็มี เมื่อเขาทั้งหลายเหล่านั้นถวายภัตตาหาร พระองค์ท่านเสวยแล้วก็ทำการอนุโมทนาในส่วนกุศลที่ญาติโยมได้กระทำ ด้วยการเทศนาสั่งสอน ส่วนใหญ่แล้วก็ทำให้บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น เข้าถึงมรรคถึงผลตามส่วนที่ตนจะพึงได้ แล้วพระองค์ท่านก็เสด็จกลับเข้าสู่ที่พัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นเชตวันมหาวิหาร
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-06-2015 เมื่อ 17:39 |
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ก็จะมากระทำกิจในอย่างที่สอง ก็คือ สายณฺเห ธมฺมเทสนํ แปลว่า ในช่วงบ่ายค่อนไปทางเย็น พระองค์ท่านก็แสดงธรรมโปรดแก่ญาติโยมทั้งหลายที่ไปฟังธรรม ลำดับต่อไปเมื่อเทศนาสั่งสอนญาติโยมเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่ต่อไปดังพระบาลีที่ว่า ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ แปลว่า เมื่อค่ำลงก็ให้โอวาทสั่งสอน พระภิกษุ พระภิกษุณี สามเณร สามเณรีต่าง ๆ
จนกระทั่งได้เวลาก็คือเที่ยงคืน พระบาลีกล่าวว่า อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เมื่อเที่ยงคืนแล้วก็ต้องแก้ปัญหาให้แก่พรหม แก่เทวดา ที่มีข้อสงสัยในหลักธรรมก็ดี ในสิ่งต่าง ๆ ก็ดี ได้มารับฟังคำแก้จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ได้รู้ ได้เข้าใจในสิ่งที่ถูกที่ควร ดังที่ได้กล่าวไว้ในมังคลสูตรที่เอ่ยถึง อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น ซึ่งเทวดาทั้งเกิดความสงสัยว่ามงคลนั้นมีอะไรบ้าง ก็ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า ทำให้พระองค์ท่านต้องเสียเวลาไปอย่างน้อย ๆ ก็ประมาณ ๒ ชั่วโมง ก็แปลว่า เที่ยงคืนถึงตีสองพระองค์ท่านจะต้องคอยแก้ปัญหาของพรหม ของเทวดา หลังจากนั้นจึงได้เวลาจำวัด ก็คือนอนพักผ่อน แล้วพุทธกิจสุดท้าย หรือว่าเป็นพุทธกิจแรกก็มาถึงก็คือ ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ เมื่อใกล้รุ่ง ตีเสียว่าตีห้า พระองค์ท่านก็ลุกขึ้นตรวจดูอุปนิสัยสัตว์โลก ว่าบุคคลใดที่เสด็จไปสงเคราะห์แล้วเขาจะได้มรรคได้ผล พระองค์ท่านเมื่อทราบด้วยข่ายคือพระญาณแล้ว ก็ตั้งใจไว้ว่า เราจะเสด็จไปโปรดบุคคลนั้น ก็จะกลับเข้าสู่วงจรการทำงานรอบใหม่ ก็คือ ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เช้าขึ้นมาเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อโปรดแก่ญาติโยมที่ได้เลือกเอาไว้ ก็แปลว่า พระองค์ท่านจะได้จำวัดหรือนอนพักผ่อน ก็ประมาณช่วงตีสองถึงตีห้า วันหนึ่งไม่เกินสามชั่วโมงเท่านั้น ตลอดระยะเวลา ๔๕ ปี จากอายุ ๓๕ ถึง ๘๐ ปี พระองค์ท่านทำอย่างนี้ทุกวันไม่เคยขาด องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถของเราอาจจะทรงงานหนักเกินไป จึงมีอายุขัยแค่ ๘๐ ปีเท่านั้น เพราะว่าพระภิกษุที่ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงไว้หลายรูปนั้นล้วนแต่มีอายุ ๑๒๐ ปี เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงงานหนัก ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ เกินกำลัง ก็ทำให้พระองค์ท่านไม่ได้มีอายุขัยยืนยาวมากไปกว่านั้น องค์สมเด็จพระภควันต์จึงเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา เราจะได้เห็นว่า พระองค์ท่านประสูติ ก็คือเกิดในกลางป่า ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ในแคว้นกาสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ก็แปลว่า รู้จบในป่าเช่นกัน แล้วไปปรินิพพาน ที่สาลวโนทยาน ก็คือป่าต้นสาละ เมืองกุสินารา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพ.ศ. ๑ ปี แปลว่า พระองค์ท่านก็ตายในป่า เกิดก็เกิดกลางป่า เรียนก็เรียนจบกลางป่า ตายก็ตายกลางป่าเช่นกัน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-06-2015 เมื่อ 19:48 |
สมาชิก 54 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงงานหนักตลอด ๔๕ ปี ไม่ได้หวังว่าจะให้คนไปกราบไหว้บูชาพระองค์ท่าน แต่สิ่งที่พระองค์ท่านทำนั้น ล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของเราทั้งหลาย จัดเป็น ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ก็คือประโยชน์ที่เห็นทันตาในปัจจุบัน อย่างเช่น เราท่านทั้งหลาย เมื่อรู้จักให้ทาน รักษาศีล ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ เราเองก็จะเป็นที่รักใคร่ของบุคคลทั่วไป เพราะเห็นว่าเราเป็นคนดี มีน้ำใจ เสียสละ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ใช้คำว่า มีจิตสาธารณะ ชอบช่วยเหลือคนอื่น เป็นต้น แล้วพระองค์ท่านยังหมายประโยชน์สุขในอนาคต เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ ก็คือถ้าหากว่าให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จนกำลังใจมั่นคง เราก็จะมีสุคติเป็นที่ไป คือ ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า หรือเป็นพรหม
ถ้าท่านยังรู้สึกว่าไม่พอ พระองค์ท่านก็มี ปรมัตถประโยชน์ ก็คือประโยชน์สูงสุดเอาไว้รองรับ สำหรับท่านที่มีปัญญาญาณแก่กล้า เห็นสภาพความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ทั้งของตัวเอง ผู้อื่น และโลกนี้ เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หมดความที่อยากจะเกิดอีก ก็หลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพาน องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรากตรำงานหนัก สั่งสอนสัตว์โลกอยู่ ๔๕ ปีเต็ม ๆ ก็หมายเอาประโยชน์ทั้งสามด้านของพวกเราทั้งหลาย ไม่มีประโยชน์ข้อใดข้อหนึ่งที่พระองค์ท่านต้องการเองเลย ก็เรียกว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่ของครู ซึ่งเป็นครูอย่างแท้จริง ทำประโยชน์เพื่อนักเรียนของพระองค์ท่าน ซึ่งก็คือทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดตามที่บุญวาสนาบารมีของแต่ละคนสั่งสมกันมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจัดว่าเป็นบุรพการี คือ ผู้กระทำคุณแก่พวกเราก่อน เมื่อองค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำดังนั้น พวกเราทั้งหลายเห็นคุณแล้ว จึงได้กตเวที คือตอบแทนด้วยการเคารพกราบไหว้ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามธรรมะที่พระองค์ท่านสั่งสอน ดังเช่นที่พวกเราในวันนี้ ได้มาร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลที่วัดท่าขนุน เนื่องในวันวิสาขบูชา ญาติโยมทั้งหลายส่วนหนึ่ง ก็นำข้าวปลาอาหารมาทำบุญใส่บาตร เพื่อถวายเป็นสังฆทานในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ ก่อนที่จะได้ฟังเทศน์ก็ได้สมาทานศีลเสียก่อน ก็แปลว่าเราได้ตั้งใจในการให้ทานด้วยข้าวปลาอาหาร ตั้งใจสละเงินทองเป็นกัณฑ์เทศน์ก็ดี ร่วมในการแจกทุนการศึกษาก็ดี ตลอดจนกระทั่งร่วมการก่อสร้างต่าง ๆ ในวัดท่าขนุนก็ดี อันนี้จัดอยู่ในส่วนของทาน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-06-2015 เมื่อ 09:14 |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจสมาทานศีล รักษาศีล ก็แปลว่าท่านประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีล สมควรตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนไว้ เมื่อถึงเวลาฟังธรรม ทุกคนก็ตั้งใจเงี่ยหูฟัง ว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พอเหมาะพอควร ที่เราจะนำไปประพฤติปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ ก็แปลว่าเราตั้งใจทำสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าสิ่งใดเหมาะ สิ่งใดควร จะได้เลือกสรรไปใช้งานในชีวิต เราจึงปฏิบัติทั้งในทาน ศีล ภาวนา ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมตตาตรัสสอนเอาไว้
พระองค์ท่านลำบากตรากตรำอยู่ตลอด ๔๕ ปีเต็ม ๆ สั่งสอนมา ญาติโยมทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตาม ก็นับว่าไม่เสียทีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยอมเหนื่อยยาก เมื่อเรียนรู้ในชาติต่าง ๆ จนนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็นำเอาธรรมะมาสั่งสอน พวกเราก็พยายามเรียนรู้และปฏิบัติตามด้วยดียิ่ง จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การภาคภูมิใจ ว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้น แม้แต่องค์กร UNESCO ก็ยังยกให้เป็น ศาสนาแห่งสันติ ยกให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เนื่องเพราะเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่เคยเบียดเบียนใคร ขณะเดียวกัน องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็เป็นบุคคลที่ตั้งใจทำคุณประโยชน์เพื่อสหประชาชาติ ก็คือไม่ว่าจะชาติใด ภาษาใดก็ตาม ถ้าตั้งใจนำเอาหลักธรรมของพระองค์ท่านไปใช้งาน ก็สามารถที่จะได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น..พวกเราที่เป็นคนไทยจึงไม่ควรที่จะอยู่ในลักษณะใกล้เกลือกินด่าง ก็คืออยู่ใกล้ของดีแต่ไม่รู้จัก ขอให้ทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติในส่วนของ ทาน ศีล ภาวนา ให้เต็มสติกำลังของตน ให้สมกับที่องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เมตตาสั่งสอนเอาไว้ ถ้าเป็นอย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายไม่ประมาท ตามที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถได้ตรัสเอาไว้ก่อนจะปรินิพพานว่า “วะยะธัมมา สังขารา อัปปามาเทนะ สัมปาเทถะ” ดังที่ได้ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทในเบื้องต้น ซึ่งแปลความว่า สังขารเหล่านี้หาความเที่ยงไม่ได้ ขอท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-06-2015 เมื่อ 12:24 |
สมาชิก 48 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
คำว่า “ไม่ประมาท” ในที่นี้ก็คือ เราต้องตั้งใจรักษา กาย วาจา ใจ ของเราให้ดี อยู่ในลักษณะของ สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง คือ ละเว้นจากการทำชั่ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กุสะลัสสูปะสัมปะทา แปลว่า เราต้องทำความดีให้ถึงพร้อมทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เช่นกัน และ สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ได้แก่ การที่เราชำระจิตใจของตนเองให้ผ่องใส ปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง รู้จักเสียสละ ให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ทั้งคนและสัตว์ เพื่อที่ทำให้เกิดความสามัคคี รักใคร่เมตตาต่อกันนั่นเอง
อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนามาในอัปปมาทกถาก็พอสมควรแก่เวลา ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพตั้งสัตยาธิษฐานอ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นประธาน มีบารมีของหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนเป็นที่สุด ขอได้โปรดดลบันดาลให้ทุกท่านประสบความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้งสี่ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดถึงปฏิภาณและธนสารสมบัติอันเป็นที่พึงใจทั้งปวง รับหน้าที่วิสัชนามาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม เทศน์วันวิสาขบูชา ณ วัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยหยาดฝน)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-06-2015 เมื่อ 12:53 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|