กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ในวาระสำคัญต่าง ๆ

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 08-03-2015, 11:31
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์วันมาฆบูชา วันพุธที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๘

เทศน์วันมาฆบูชา ๒๕๕๘

(วันพุธที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘)





นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนนฺ ติฯ


ณ บัดนี้อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในโอวาทปาฏิโมกขกถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญราศีแก่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้

ญาติโยมทั้งหลาย วันมาฆบูชานี้เป็น ๑ ใน ๔ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของเรา ที่ประกอบไปด้วย วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ หรือถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส คือปีที่มีเดือนเกินมา ได้แก่ เดือน ๘ สองหน ก็จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ อย่างเช่นปีนี้ เป็นต้น

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ วันอัฐมีบูชาตรงกับวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ และวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ซึ่งถ้าในปีที่เป็นอธิกมาสนั้น วันวิสาขบูชาก็จะเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ วันอัฐมีบูชาตรงกับวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๗ และวันอาสาฬหบูชาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หลัง ดังนี้

สำหรับวันมาฆบูชานั้น เพิ่งจะมีปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ของเรานั้น พระองค์ท่านบวชอยู่เป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๗ พรรษา ในระหว่างนั้นก็ทรงค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาจนแตกฉานช่ำชองเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ท่านทรงเห็นว่า วันมาฆบูชานั้นควรที่จะเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาได้ เนื่องจากเป็นวันที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๔ ซึ่งเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “จาตุรงคสันนิบาต” มี ๔ สิ่งสำคัญที่ปรากฏพร้อมกันในวันนั้นก็คือ

๑. เป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ก็คือขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓
๒. มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์มารวมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดนั้น เป็นผู้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานการบวชให้ด้วยพระองค์เอง เรียกว่า การบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔. พระสงฆ์ทั้งนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นผู้ที่หมดสิ้นกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพิจารณาดังนั้นแล้ว เห็นว่าวันมาฆบูชานั้นควรที่จะจัดให้เป็นประเพณี เพราะเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา จึงได้ดำเนินการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ฟังธรรมขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ท่าน หลังจากนั้นก็นิยมจัดกันต่อเนื่องสืบ มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นประเพณีวันมาฆบูชาจึงมีมาทีหลังสุด หลังจากวันวิสาขบูชา วันอัฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา แต่ว่าวันมาฆบูชาก็ได้รับความสำคัญในระดับเดียวกัน กับวันวิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา

ยกเว้นวันอัฐมีบูชาซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระในวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ ซึ่งห่างจากวันวิสาขบูชาแค่ ๗ วันเท่านั้น หลายแห่งจึงไม่สะดวกที่จะจัดงานติด ๆ กัน ทำให้ความสำคัญของวันอัฐมีบูชาลดน้อยถอยลง ปัจจุบันนี้ในประเทศไทย ก็มีแค่ ๓ – ๔ แห่งเท่านั้น ที่จัดให้มีงานวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ที่เรียกว่า วันอัฐมีบูชา นอกนั้นก็ไม่ได้จัด

ดังนั้น..วันมาฆบูชาแม้ว่าจะมาทีหลัง แต่ว่าได้รับความสำคัญพอ ๆ กับวันวิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา ส่วนวันอัฐมีบูชาที่ได้รับการยอมรับกันมาตั้งแต่ต้นกลับไม่นิยมจัดกัน จนกระทั่งเลือนหายไป ทำให้บางท่านพอได้ยินว่าวันอัฐมีบูชา ก็ยังสงสัยว่าเป็นวันอะไรกันแน่
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 08-03-2015 เมื่อ 11:33
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 84 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 09-03-2015, 17:21
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

สำหรับวันมาฆบูชานั้น เนื่องจากว่าเป็นวันสำคัญที่ประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ดังที่กล่าวมาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วเห็นว่าเป็นวาระสำคัญ จึงได้ทำการประชุมสงฆ์ ประกาศอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในพระพุทธศาสนาของเรา แก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดว่า ถ้าหากเธอทั้งหลายออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ขอให้นำอุดมการณ์ ๔ ข้อ หลักการ ๓ ข้อ และวิธีการ ๖ ข้อ ไปใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็จะไม่สอนผิดไปจากหลักธรรมของพระองค์ท่าน ดังที่ได้ตรัสเอาไว้เป็นภาษาบาลีว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
นหิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ


นี่คืออุดมการณ์ ๔ ข้อในพระพุทธศาสนา ซึ่งค้านกับอุดมการณ์ของศาสนาอื่น ๆ ในยุคนั้นโดยสิ้นเชิง พระองค์ท่านตรัสว่า ขันติจัดเป็นตบะอย่างยิ่งของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ซึ่งในสมัยนั้นเขานิยมกันว่า การบำเพ็ญตบะต้องทรมานตนเป็นอย่างยิ่ง ทรมานอย่างชนิดที่บางทีก็ไม่กินอะไรเลยเป็นเดือน ๆ บุคคลในสมัยนั้นเชื่อว่า ถ้าทรมานตนมาก ๆ จะได้รับความโปรดปรานจากบรรดาเทพเจ้าเหล่าเทวาทั้งหลาย แล้วรับเอาดวงจิตไปอยู่รวมกับปรมาตมัน ก็คือดวงจิตยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมธรรมชาติทั้งหมดตามความเชื่อของเขา

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่ การบำเพ็ญตบะที่แท้จริงนั้นคือ ต้องเป็นผู้อดทนอดกลั้น ไม่ว่าจะเป็นความอดทนทางร่างกาย เช่น อดทนต่อความหิว ความร้อน ความหนาว ความกระหาย ตลอดจนกระทั่งความเจ็บไข้ได้ป่วย ความอดทนทางวาจา คือ เว้นจากการว่าร้าย กล่าวร้ายคนอื่นเขา พยายามพูดแต่ในสิ่งที่ดี ๆ ความอดทนทางใจ ก็คือ การอดทนอดกลั้นต่อสู้กับกิเลส ไม่ยอมไหลตามกำลังของกิเลสไปสู่ในทางต่ำ แต่พยายามที่จะฝืนตนเองเอาไว้ เพื่อที่จะปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา นำตนให้ก้าวขึ้นสู่ภพภูมิที่สูงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้หลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ดังนั้น..พระองค์ท่านจึงประกาศอุดมการณ์ข้อแรกว่า ความอดทนอดกลั้นจึงจัดเป็นตบะอย่างยิ่งของผู้ปฏิบัติธรรม

ข้อที่สอง พระองค์ท่านตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ผู้รู้ทั้งหลายล้วนแต่กล่าวถึงพระนิพพานว่าเป็นที่สุดแห่งธรรม ไม่ใช่การไปอยู่รวมกับพระเจ้า ไม่ใช่การไปอยู่รวมกับปรมาตมันอันยิ่งใหญ่ แต่การหลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้ นั่นจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็นสิ่งที่ค้านกับศาสดาทั้งหลายที่ได้กล่าวไว้มาตั้งแต่ต้น

ญาติโยมทั้งหลายจะเห็นได้ว่า องค์สมเด็จพระทศพลของเรานั้น ประกอบไปด้วยความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง กล้าเพราะพระองค์ท่านรู้แจ้งเห็นจริง พระองค์ท่านกล่าวว่าพระองค์ท่านตรัสรู้ ไม่มีใครคัดค้านได้ว่าไม่ตรัสรู้ พระองค์ท่านสอนธรรมให้ล่วงพ้นจากกองทุกข์ ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า ธรรมะของพระองค์ท่านทำให้บุคคลไม่สามารถก้าวล่วงจากกองทุกข์ เป็นต้น

ดังนั้น..ในกระแสสังคมที่นิยมการทรมานตนเองอย่างหนึ่ง ที่กล่าวถึงปรมาตมัน คือการหลุดพ้นไปอยู่รวมกันจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง พระองค์ท่านบอกว่าไม่ใช่ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นทางผิด การบำเพ็ญตบะที่แท้จริง คือการอดทนอดกลั้น ทั้งกาย ทั้งวาจา และใจ การจะล่วงพ้นจากกองทุกข์ได้มีพระนิพพานที่เดียวเท่านั้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-03-2015 เมื่อ 18:35
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 72 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 10-03-2015, 18:32
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

อุดมการณ์ข้อที่สาม พระองค์ท่านตรัสว่า นหิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ถ้ายังฆ่าผู้อื่นอยู่ไม่ถือว่าเป็นบรรพชิต คือผู้ที่งดเว้นจากบาปทั้งปวงแล้ว เนื่องเพราะนักบวชในสมัยนั้น นิยมการฆ่าสัตว์บูชายัญ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ญาติโยมบางท่านก็อาจจะได้เห็นข่าวต่างประเทศ มีการฆ่าสัตว์บูชายัญกันที่ประเทศเนปาลถึง ๕๐๐,๐๐๐ ตัว พระองค์ท่านจึงกล่าวคัดค้านว่า ถ้าหากยังฆ่าผู้อื่นอยู่ไม่ถือว่าเป็นบรรพชิต ปัพพชิตะ แปลว่า ผู้ชนะมาตั้งแต่ต้น คือผู้ชนะกิเลส ชนะด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ไม่ใช่การชนะด้วยการเอาชีวิตผู้อื่นไปบูชายัญ

อุดมการณ์ข้อสุดท้าย พระองค์ท่านกล่าวว่า สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ เนื่องเพราะในสมัยนั้นมีการแข่งขันการทางพระศาสนาสูงมาก จึงทำให้บรรดานักบวชต่าง ๆ พยายามที่จะเบียดเบียน กดข่มศาสนาอื่น ๆ เพื่อยกตัวเองให้เด่นขึ้นมา จึงมีการเบียดเบียนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจเป็นปกติ แม้กระทั่งให้ร้ายใส่ร้ายด้วยวิธีการต่าง ๆ

อย่างเช่น ฆ่านางสุนทรีปริพาชิกา แล้วกล่าวหาว่าพระสมณโคดม คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ฆ่า การให้นางจิญจมาณวิกาปลอมเป็นผู้หญิงท้อง แล้วกล่าวหาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ท้อง เป็นต้น เรื่องการเบียดเบียนกดข่มศาสนาอื่น จนเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น พระองค์ท่านจึงประกาศอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาข้อสุดท้ายว่า ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ คือเป็นผู้มีบาปอันลอยไปแล้ว ล่วงพ้นจากบาปทั้งปวงแล้ว

หลังจากนั้นพระองค์ท่านก็ประกาศให้บรรดาพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ทราบต่อไปว่า หลักการสำคัญในพระพุทธศาสนา ๓ อย่าง ได้แก่

สพฺพปาปสฺส อกรณํ........การละเว้นจากความชั่วทั้งปวง
กุสลสฺสูปสมฺปทา............การทำความดีให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ............การชำระจิตของตนให้ผ่องใสจากกิเลส


นี่คือหลักการในพระพุทธศาสนาของเรา การที่จะละเว้นจากความชั่วทั้งปวงนั้น คือ เว้นจากกายทุจริต ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น เว้นจากวจีทุจริต คือ การไม่โกหก การไม่พูดคำหยาบ การไม่ยุยงให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน และการไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์ เว้นจากมโนทุจริต คือ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดอาฆาตพยาบาทจองเวรผู้อื่น มีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นตรงต่อหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าพระองค์ท่านตรัสสอนไว้ดีแล้ว ถูกแล้ว เรายินดีที่จะปฏิบัติตาม

ส่วนการทำความดีให้ถึงพร้อมนั้น ก็เป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับหลักการเมื่อครู่นี้ ก็คือ ให้ประพฤติในกายสุจริต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการดื่มสุราเมรัย ประพฤติในวจีสุจริต ก็คือ ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดยุให้คนอื่นแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์ ประพฤติในมโนสุจริต คือ เป็นผู้ที่ไม่คิดอาฆาตพยาบาทผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น มีความคิดเห็นเป็นสัมมาทิฐิ ตรงต่อพระรัตนตรัย เป็นต้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-03-2015 เมื่อ 19:04
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 51 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 11-03-2015, 18:46
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ส่วนการชำระจิตของตนให้ผ่องใสจากกิเลสนั้น ต้องเริ่มจากการรักษาศีล ระมัดระวังศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีลแล้ว เมื่อเราตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังอย่างนั้น สมาธิจิตก็จะทรงตัวได้ง่าย ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา เมื่อสมาธิทรงตัวแล้ว กิเลสหยาบต่าง ๆ จะโดนกดให้สงบนิ่งลงไปชั่วคราว สภาพจิตมีความผ่องใส ก็จะเห็นว่า รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในใจของเรานั้น จะสามารถชำระสะสางได้อย่างไร

ในเรื่องของราคะ สามารถชำระสะสางจากจิตจากใจของเราได้ ด้วยกรรมฐานคู่ศึก ได้แก่ กายคตานุสติ คือการระลึกเห็นความจริงในร่างกายนี้ ว่ามีสภาพสกปรกโสโครกเป็นปกติ เต็มไปด้วยเครื่องจักรกล อวัยวะภายนอกภายในใหญ่น้อยต่าง ๆ ซึ่งเป็นของน่าเกลียด ไม่ได้น่ารักน่าใคร่ ถ้าหนักไปกว่านั้นก็ปฏิบัติในอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาซากศพต่าง ๆ แล้วเปรียบเทียบว่า ร่างกายคนกับศพก็เหมือนกัน ทุกคนพอตายแล้วก็มีสภาพน่าเกลียดเน่าเหม็นเช่นนี้ จึงหมดความอยาก หมดความต้องการในกามราคะ

ในส่วนของโลภะคือความโลภ ให้แก้ไขด้วยการบริจาคให้ทาน ค่อย ๆ สละออกทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งกำลังใจของเราเข้มแข็งสูงขึ้น ก็สามารถสละออกได้มากขึ้น ในส่วนของโทสะนั้น พระองค์ท่านให้แก้ด้วยการเจริญพรหมวิหาร ๔ หมั่นแผ่เมตตาต่อผู้อื่น และใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า คนทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้ว่า กาย วาจา ใจ ของตนนั้นเป็นโทษต่อผู้อื่นอย่างไร จึงได้กระทำในสิ่งที่ทำให้เราโกรธ ทำให้เราไม่พอใจ ในเมื่อเขาไม่รู้แล้วกระทำไป เขาก็ไม่ใช่บุคคลที่น่าโกรธ หากแต่เป็นบุคคลที่น่าสงสารมากกว่า ถ้าเราตั้งใจแผ่เมตตาและรู้จักใช้ปัญญาคิดพิจารณาดังนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขในเรื่องของโทสะได้

หรือถ้าหากกำลังใจของเราเข้มแข็งกว่านั้น ก็ให้ปฏิบัติในกสิณ ๔ ก็คือ การเพ่งสีเขียว สีแดง สีขาว หรือสีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ากำลังใจทรงตัวมั่นคง ก็สามารถกดความโกรธให้นิ่งสนิทไปได้ สำหรับในความหลงนั้น พระองค์ท่านให้พิจารณาให้เห็นจริงว่า สภาพร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม รวมกันเป็นเรือนร่างให้เราได้อาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลาก็เสื่อมสลาย ตายพังไป ไม่มีใครดำรงขันธ์อยู่ได้ ถ้าหากว่าเราประพฤติในศีล สมาธิ ปัญญาเช่นนี้ สภาพจิตของเราก็จะมีความผ่องใสจากกิเลสทั้งปวง สามารถก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

แล้วพระองค์ท่านก็ตรัสถึงวิธีการอีก ๖ ข้อ ว่า

อนูปวาโท เราต้องเป็นผู้ไม่ว่าร้ายใคร คือจะพูดอะไรถึงผู้อื่น ก็พูดแต่ในสิ่งที่ดีที่งาม มีปิยวาจา เป็นที่น่ารักน่าใคร่แก่ผู้อื่น ไม่นินทาว่าร้ายใคร

อนูปฆาโต เป็นผู้ที่ไม่ฆ่าใคร ไม่ทำร้ายใคร ถ้าเราเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การดำเนินชีวิตของเราก็จะมีแต่ความสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่า จะมีศัตรูมาทำร้ายเมื่อไร
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-03-2015 เมื่อ 19:28
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #5  
เก่า 12-03-2015, 18:42
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ปาติโมกฺเข จ สํวโร วิธีการข้อที่ ๓ ให้เราสำรวมในศีลของตน ฆราวาสทั่วไปก็ตั้งใจรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ อุบาสกอุบาสิกาก็ตั้งใจรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ สามเณรก็รักษาศีล ๑๐ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ พระภิกษุสงฆ์ก็รักษาศีล ๒๒๗ ข้อให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ นี่จึงเป็นวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ แปลว่า พึงรับประทานอาหารแต่พอสมควร ไม่มากจนเกินไป ไม่น้อยจนเกินไป การรับประทานอาหารมากจนเกินไป ร่างกายก็ง่วงซึม การปฏิบัติธรรมก็เป็นไปได้ยาก การรับประทานอาหารน้อยเกินไป ร่างกายได้รับทุกข์รับทรมาน จิตใจก็สงบลำบาก ดังนั้น..จึงต้องมีมัชฌิมาปฏิปทา คือรับประทานอาหารแต่เพียงพอกับธาตุขันธ์ของตนเอง อย่างเช่น พระปฏิบัติก็อาจจะฉันมื้อเดียว หรือเต็มที่ก็สองมื้อ ขณะเดียวกันชีวิตฆราวาสของเรา ต้องทำหน้าที่การงานต่าง ๆ หนักมาก ร่างกายต้องการธาตุอาหารจำนวนมากเพื่อเอาไปใช้งาน ก็ต้องกิน ๓ มื้อ เป็นต้น

วิธีการข้อต่อไป พระองค์ท่านตรัสว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ คือ รู้จักนั่ง รู้จักนอนในที่อันสงัด ผู้ที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ในระยะแรก ๆ กำลังใจยังไม่ทรงตัว ก็ต้องแยกออกจากหมู่ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมของเราให้เกิดผล ข้อสุดท้ายพระองค์ท่านตรัสวิธีการว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค แปลว่า เราจะต้องหมั่นฝึกปฏิบัติทางจิต เพื่อการก้าวล่วงจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพาน

ดังนั้น..ในวันมาฆบูชานั้น จึงเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ ก็คือ อุดมการณ์ ๔ ข้อ หลักการ ๓ ข้อ และวิธีการอีก ๖ ข้อของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย นำไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นแนวทางเดียวกัน โดยยึดหลักตามโอวาทปาฏิโมกข์นี้ จักได้ไม่ไปคนละทิศคนละทาง แล้วทำให้บางคนเขาสงสัย ว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทำไมจึงสอนไม่เหมือนกัน

ในขณะเดียวกัน องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แสดงซึ่งความกล้าหาญอย่างยิ่ง ดังที่บาลีกล่าวว่า สีหนาทํ นทนฺเต เต ปริสาสุ วิสารทา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมในท่ามกลางพุทธบริษัท ประดุจราชสีห์บันลือสีหนาท ก็คือพระองค์ท่านตรัสในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งที่เป็นจริงและปฏิบัติตามได้ แม้ว่าจะคัดค้านกับหลักการของศาสนาอื่นก็ไม่ได้หวั่นไหว ไม่ได้กลัวเกรง เพราะพระองค์ถือว่ากำลังแนะนำในสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์แก่เขาทั้งหลาย

องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู พระองค์รู้ว่าในเวลาไหนควรจะตรัสในเรื่องอะไร ที่เหมาะสมกับกาละคือเวลา และเทศะคือสถานที่นั้น ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านมีพร้อม ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติตาม ก็ต้องรู้จักระมัดระวังในสิ่งที่เราพูด ในสิ่งที่เราทำ ว่าเหมาะสมกับกาลเทศะหรือไม่ เป็นต้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-03-2015 เมื่อ 20:25
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #6  
เก่า 13-03-2015, 19:14
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

สำหรับวันมาฆบูชานั้น วัดท่าขนุนของเราก็มีการฟังเทศน์ฟังธรรม ถวายภัตตาหารสังฆทาน ตลอดจนการบวชพระ ตามประทีป เวียนเทียนและลอยโคม เป็นต้น ซึ่งญาติโยมทั้งหลายที่ได้ตั้งใจมาบำเพ็ญกุศล ถือว่าได้ปฏิบัติตามในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ก็คือประพฤติปฏิบัติอยู่ในมรรค ๘ ได้แก่ หนทางที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ๘ ประการ ย่อลงมาแล้วก็เหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ดังนั้น..ญาติโยมทั้งหลายซึ่งปฏิบัติตามองค์สมเด็จพระประทีปแก้วของเรานั้น แปลว่าทุกท่านเป็นผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ตรงกับอุดมการณ์ ๔ หลักการ ๓ และวิธีการ ๖ ที่พระองค์ท่านได้ตรัสเอาไว้ในวันมาฆบูชา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แสดงว่า ญาติโยมทั้งหลายเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ซึ่งความดีเหล่านี้เมื่อรวมกันขึ้นมา ก็จะเป็นปฏิพรย้อนสนองกลับไป ให้ท่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะประพฤติปฏิบัติในสิ่งใดก็ตาม ย่อมอยู่ในกรอบของศีล ของสมาธิ ของปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความดี ทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ ซึ่งจะนำพาตนให้ล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ และจะเป็นตัวอย่างให้แก่บุคคลอื่นได้ประพฤติปฏิบัติตามไปด้วย

อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนามาในโอวาทปาฏิโมกข์กถาก็พอสมควรแก่เวลา ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนเป็นที่สุด ขอได้โปรดดลบันดาลให้ญาติโยมทั้งหลาย ถึงพร้อมด้วยความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้งสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดจนกระทั่งปฏิภาณและธรรมสารสมบัติอันเป็นที่พึงใจทั้งปวง

รับหน้าที่วิสัชนามาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์วันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุน
วันพุธที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยหยาดฝน)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-03-2015 เมื่อ 19:18
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:03



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว