#1
|
||||
|
||||
โอวาทงานบวชเนกขัมมะ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖
พระอาจารย์กล่าวให้โอวาทก่อนมอบวุฒิบัตรผู้ปฏิบัติธรรมบวชเนกขัมมะ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เรื่องของทานวันนี้เราได้แน่ ๆ ทำกันเหลือล้น แต่ในส่วนของศีลและสมาธิ เราต้องมาทบทวนกันอีกทีหนึ่ง การปฏิบัติของเรา ถ้ายังรักษาอารมณ์ต่อเนื่องไม่เป็น โอกาสที่จะได้ดีนั้นยากมาก ดังนั้น..ถ้ากิเลสกินใจเราเสียก่อน โอกาสที่เราจะชนะก็ยาก กำลังใจของเราอาตมาเปรียบอยู่เสมอว่า เหมือนกับเก้าอี้ที่นั่งเดียว ถ้าความดีนั่งอยู่ความชั่วก็เข้าไม่ได้ ถ้าความชั่วนั่งไปก่อน ความดีก็เข้าไม่ได้เช่นกัน ถ้าเราทิ้งให้ความชั่วยึดกำลังใจเราไปก่อน ก็จะทำให้ท่านทั้งหลายจะต้องลำบาก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเรายัง "ไม่เข็ด" อาตมาขอใช้คำนี้นะจ๊ะ เราก็จะทำแล้วทิ้ง ทำแล้วทิ้งอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ สมัยที่อาตมาปฏิบัติใหม่ ๆ ก็เหมือนกัน กำลังใจหกล้มหกลุกอยู่ทุกวัน เพราะไม่เข้าใจว่าถ้าเราเปิดโอกาสเมื่อไรกิเลสก็ตีกลับเมื่อนั้น คิดว่านั่งกรรมฐานจนเต็มที่แล้ว สมาธิก็ทรงฌานได้แล้ว ทำไมเลิกปฏิบัติแล้วกิเลสท่วมหัวเหมือนเดิม อาจจะมากกว่าเดิมด้วย กว่าจะรู้ว่ากิเลสมีเท่าเดิม แต่ว่าเราใช้อำนาจของสมาธิกดกิเลสเอาไว้ พอถึงเวลาแล้วเราไปปล่อยให้กิเลสงอกงามใหม่ แล้วการงอกงามของกิเลสนั้น ก็อาศัยกำลังของสมาธิเรานี่แหละไปใช้งาน ปกติถ้าเราคิดอะไรโดยไม่มีกำลังสมาธิสนับสนุน เราก็จะคิดได้ไม่นาน คิดได้ไม่ชัดเจนแจ่มใส ในเมื่อเราภาวนาจนกำลังใจทรงตัวแล้วเราไปทิ้งให้ความฟุ้งซ่านเข้ามาได้ ความฟุ้งซ่านจะเอากำลังที่เราภาวนานี่แหละไปฟุ้ง แล้วคราวนี้จะฟุ้งอย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นงานเป็นการ ฟุ้งได้เด็ดขาดมาก ฟุ้งชนิดเอาไม่อยู่ เพราะเราไปเพิ่มกำลังให้เขาเอง ฉะนั้น..การปฏิบัติที่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องทำให้ต่อเนื่องตามกัน ทุกลมหายใจเข้าออกได้ยิ่งดี สิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้ อาตมาต้องบอกว่ายังไม่พอกิน แต่ดีกว่าไม่ทำเสียเลย ภาษิตจีนเขาบอกว่า “คนอื่นขี่ม้า เราขี่ลาอย่าเพิ่งน้อยใจ” ม้าวิ่งเร็วกว่าไปแน่บแล้ว ลาค่อย ๆ เดินก๊อก ๆ ไปเรื่อย ตีเท่าไรก็ไม่ยอมวิ่ง แต่ถ้าหันไปดูคนเดินเท้าอีกเพียบเลย แล้วพวกที่ยังนั่งเพลิดเพลินเจริญใจอยู่ ไม่เดินก็มี ที่แย่กว่านั้นก็คือนอนหลับทับสิทธิ์ ไม่ทำอะไรเลยก็ยิ่งเยอะ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-08-2013 เมื่อ 02:07 |
สมาชิก 126 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ดังนั้น..เมื่อเราค่อย ๆ สั่งสมความดีไปทีละเล็กละน้อยแบบนี้ จะบอกว่าไม่มีผลก็ไม่ใช่ ความดีที่เราสั่งสมไม่ได้ไปไหน จะสั่งสมตัวเหมือนกับน้ำทีละหยด รวมกันเดี๋ยวก็ได้เป็นโอ่งเป็นไห แต่ว่าก่อนที่เราจะได้เห็นต้นทุนของตัวเอง ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ มักจะกินใจของเราเสียก่อน ในเมื่อความฟุ้งซ่านกินใจของเราเสียก่อน โอกาสที่ความดีจะเข้ามาก็กลายเป็นเรื่องยาก
แล้วพวกเราเองตั้งใจปฏิบัติเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ถ้าสมมติเราหาของขวัญไปเพื่อถวายในหลวงหรือพระราชินี ก็แปลว่าอีหลุปุปะดูไม่ได้เลย ถ้าจะถวายของขวัญแด่พระองค์ท่าน ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ให้เป็นของขวัญที่หน้าตาดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นประเภทผักชีโรยหน้าก็ยังดี โรยไปเยอะ ๆ ก็แล้วกัน ในการปฏิบัติของเรา ถ้าหวังความก้าวหน้า เลิกปฏิบัติไปแล้วอย่าทิ้ง ให้พยายามประคับประคองรักษาอารมณ์ของเราให้ต่อเนื่องเข้าไว้ เรามาดูว่าวันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง เราให้เวลากับการภาวนากี่ชั่วโมง ? ถ้าเช้าครึ่งชั่วโมง เย็นครึ่งชั่วโมง อีก ๒๓ ชั่วโมงเราขาดทุนตลอด ถ้าได้เช้าชั่วโมงหนึ่ง เย็นชั่วโมงหนึ่ง ก็ขาดทุน ๒๒ ชั่วโมง เราลองนึกว่าถ้าเราว่ายน้ำทวนมา ๒ ชั่วโมง แล้วเราปล่อยไหลไป ๒๒ ชั่วโมง โอกาสที่จะได้ระยะทางที่เป็นที่พอใจจะมีหรือไม่ ? ความสำเร็จจะมีหรือไม่ ? นี่คือสิ่งที่อยากฝากไว้เป็นข้อคิดแก่พวกเรา พระพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องของ ทาน ศีล ภาวนา ว่าเป็นของที่ต้องทำ ทาน...ถ้าเราเกิดชาติใหม่จะมีความร่ำรวย ศีล...เกิดใหม่จะส่งผลให้เป็นผู้มีรูปสวย มีจิตใจที่ดีงาม ภาวนา...ทำให้เราเป็นผู้มีปัญญามาก เกิดอุปสรรคทางโลกก็แก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยง่าย มีปัญหาทางธรรมก็สามารถที่จะพิจารณาหาทางแก้ไขให้ผ่านพ้นไปโดยง่ายเช่นกัน ในเรื่องของทาน ท่านเปรียบไว้ว่าทำหนึ่งได้ผลเป็นร้อย เพราะบางท่านใช้คำว่า ทานทำด้วยกายอย่างเดียวก็ได้ ในเรื่องของศีลทำหนึ่งมีผลเป็นหมื่น เพราะว่าศีลต้องควบคุมกายและวาจาให้เรียบร้อยอยู่ในกรอบ เรื่องของภาวนาทำหนึ่งได้เป็นล้าน เพราะต้องควบคุมทั้งกาย วาจา และใจโดยพร้อมเพรียงกัน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-08-2013 เมื่อ 02:10 |
สมาชิก 121 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
เมื่อเป็นเช่นนั้น การภาวนาจึงเป็นสิ่งที่สมควรทำให้มากเข้าไว้ คำว่ามากเข้าไว้เชื่อว่าสมัยนี้คงไม่มีใครเป็นอย่างท่านโสณโกฬิวิสเถระ นั่นเป็นรายเดียวในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในพระไตรปิฏกว่า พระพุทธเจ้าต้องขอให้ท่านลดความเพียรลง ท่านเพียรมากจนเกินไป เดินจงกรมจนเท้าแตก เดินต่อไม่ได้ก็คลาน คลานจนหัวเข่ากับฝ่ามือแตก ไปต่อไม่ได้ก็นอนแล้วก็เอาคางเกาะพื้นไป เป็นเราจะไหวไหม ? ท่านอึดได้ขนาดนั้น
มีอรรถาธิบายว่า เลือดเปื้อนทางจงกรมเหมือนอย่างกับใครไปเชือดโคทิ้งไว้ ไม่ตายเสียก่อนก็บุญแล้ว นั่นท่านอยากบรรลุมรรคผลมาก เพียรพยายามมากเกินไป ปัจจุบันนี้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ไม่มีใครเพียรพยายามมากเกินไป มีแต่ขาด การสร้างบารมีของเราเพื่อบรรลุมรรคผลนั้น ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขาทั้งหลายเหล่านี้ จะต้องมีครบครันทุกตัว แต่ในปัจจุบันของเราที่บกพร่องอยู่ ส่วนใหญ่แล้วก็คือขันติ ความอดทน วิริยะ ความพากเพียร และปัญญาในการผ่อนหนักผ่อนเบา เราจะขาดตรงจุดนี้ ทำให้เราหาช่องทางเอาชนะกิเลสได้ยาก อาตมาเองในสมัยที่ต่อสู้กับเขา บางวันกิเลสกินหนักมากชนิดที่อย่างไรเสียเราก็สู้ไม่ได้ แต่ก็ไม่ยอมแพ้ ในเมื่อฟุ้งจนทำอะไรไม่ได้ แต่ไม่ยอมแพ้จะทำอย่างไร ก็ไปนั่งอยู่ตรงหน้าพระประธานองค์ในโบสถ์ นั่งมองพระ อย่างน้อย ๆ เราคิดชั่วได้ อาจจะปากด่าด้วย แต่กายทำชั่วไม่ได้ เพราะตานั่งมองพระอยู่ ก็แปลว่าชั่วด้วยใจ ชั่วด้วยวาจาได้ แต่ชั่วด้วยกายไม่ได้ เพราะกายโดนบังคับให้นั่งนิ่งอยู่ ถึงแพ้...ก็ให้แพ้แบบชนะใจคนดู คืออย่างไรเสียก็ไม่ยอมแพ้ทั้งหมด เก็บได้นิดหนึ่งก็เอา หน่อยหนึ่งก็เอา ได้ลมหายใจครึ่งคู่ก็เอา ไม่ครบคู่ก็ขอให้ได้ภาวนา บางที "พุท" ไม่ทันจะ "โธ" ก็ฟุ้งแล้ว ก็ให้ฟุ้งไป อย่างน้อยเราได้พุทมาครึ่งคำ ถ้าทุกคนตั้งใจต่อสู้ในลักษณะอย่างนี้ เชื่อว่าจะต้องประสบความสำเร็จในที่สุด
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-08-2013 เมื่อ 20:27 |
สมาชิก 90 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ตั้งใจมาปฏิบัติ เวลาหยุดยาวแทนที่จะไปเที่ยวหาความสนุกสนานใส่ตัว พวกเราก็มาสร้างสมความดีให้กับตัวเอง และท้ายที่สุดก็ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กุศลผลบุญที่เราค่อย ๆ สร้างทั้งหมดนี้จะค่อย ๆ รวมตัวกัน เมื่อมีจำนวนมากเพียงพอ เราต้องการอะไรก็จะได้อย่างนั้น อย่างที่ภาษาบาลีว่า มโนมยา คือสำเร็จด้วยใจ
แต่ก่อนที่จะสำเร็จอย่างนั้น เราก็ต้องยอมลำบากก่อน ที่โบราณเขาบอกว่า “เป็นผู้น้อยค่อยก้มประนมกร ลำบากก่อนแล้วสบายเมื่อปลายมือ” ถ้ายอมลำบากแล้วจะไม่มีอะไรลำบากสำหรับพวกเราอีก ท้ายสุดนี้ อาตมภาพในฐานะภิกษุสงฆ์ของพุทธศาสนา ขอตั้งสัตยาธิษฐานอ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ เป็นประธาน โดยมีหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนนี้เป็นที่สุด กุศลบารมีใดที่ท่านทั้งหลายได้เสริมสร้างมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ตลอดจนกุศลที่ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญแล้วในครั้งนี้ จงมารวมกันเป็นตบะเดชะพลวปัจจัย บันดาลให้ท่านทั้งหลายมีความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม แม้นว่าประสงค์สิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมวินัย ถ้าไม่เกินวิสัยแล้วไซร้ ขอความประสงค์ของท่านทั้งหลายจงพลันสำเร็จ จงทุกประการด้วยเทอญ พระครูวิลาศกาญจนธรรม โอวาทก่อนปิดการบวชเนกขัมมะ รุ่นที่ ๗/๒๕๕๖ ณ วัดท่าขนุน ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-08-2013 เมื่อ 20:31 |
สมาชิก 101 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|