#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล พรุ่งนี้จะเป็นวันวิสาขบูชาแล้ว
ช่วง ๒ วันที่ผ่านมาเป็นเวลาของการซ่อมสุขภาพ ทุกครั้งที่จะต้องสงเคราะห์คนเป็นจำนวนมาก ก็จะต้องโดน "เตะสกัด" คือร่างกายเป็นโทษแก่ตนเอง ภาษาบาลีเขาเรียกว่า ขันธมาร ร่างกายมาขัดขวาง เกิดจากสภาพร่างกายที่เฒ่าชะแรแก่ชราไปตามอายุกาลผ่านวัยอย่างหนึ่ง เกิดจากกรรมเก่าที่ได้กระทำเอาไว้อย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วกรรมเก่าที่จะทำให้มารได้ช่อง แล้วทำการขัดขวางเราได้ ก็คือกรรมจากปาณาติบาต โดยเฉพาะการที่ฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์ใหญ่เอาไว้ เศษกรรมตรงนี้ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นปกติ ยิ่งต้องการจะนำคนจำนวนมากออกจากกองทุกข์ ก็ยิ่งโดนขัดขวางอย่างหนัก แม้กระทั่งเมื่อสักครู่นี้หาเครื่องบันทึกเสียง หูฟังสำหรับบันทึกเสียงที่ปกติจะใส่เอาไว้ในย่าม เดินวนไป ๗ - ๘ รอบ ก็หาไม่เจอ แต่ถ้าหากว่าเลิกใช้งานเมื่อไร สิ่งของทั้งหลายจะอยู่ที่เดิมทุกประการ ตรงนี้ถ้าไม่ใช่กระผม/อาตมภาพที่มั่นใจในความจำของตนเอง ก็จะต้องคิดว่าแก่จนหลงลืม เกิดภาวะ "อัลไซเมอร์" แน่นอน แต่ความจริงแล้วก็คือเกิดจากการปรุงแต่งของมารทั้งนั้น ในส่วนที่เขาขัดขวางเราได้ เขาจะพยายามขวางทุกอย่าง ดังนั้น...การปฏิบัติธรรมของพวกเรา จึงประกอบไปด้วยสารพัดอุปสรรค เราต้องต่อสู้ ฟันฝ่า ทุ่มเทอย่างชนิดที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพราะว่าถ้าเป็นมัจจุมาร คือความตายมาขวาง ก็มักจะเกิดจากการที่เขาเห็นว่า เราจะสามารถพ้นมือไปได้แล้ว ก็จะอาศัยจังหวะช่องทางที่กรรมเก่าให้ผล ทำให้เรารับผลทันทีทันใดในจังหวะนั้นจนถึงแก่ชีวิต เขาถึงได้เรียกว่ามัจจุมาร คือความตายมาขวาง ในส่วนที่กระผม/อาตมภาพโดนอยู่ เขาเรียกว่าขันธมาร ทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ว่าด้วย "ความดื้อ" นี่เรียกกันแบบภาษาชาวบ้านทั่วไป แต่ถ้าหากว่าเป็นลักษณะของผู้ปฏิบัติธรรม ก็ต้องบอกว่าเป็นทั้งขันติบารมี ความอดทนอดกลั้น สัจจบารมี ความจริงจังต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ อธิษฐานบารมี ความปักใจมั่นอยู่ในสิ่งที่ตนเองกระทำ เป็นต้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-05-2022 เมื่อ 12:20 |
สมาชิก 39 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ในเมื่อบารมีเป็นคู่มือหรือว่าคู่ต่อสู้ของมาร เราทั้งหลายจึงต้องเพียรในการสร้างบารมีของเราให้เข้มแข็ง ถ้าสามารถทำได้จนถึงจุดสูงสุดก็ยิ่งดี
การสร้างบารมีนั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายฟังดู มีตั้งแต่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี เป็นต้น ไปจนถึงอุเบกขาบารมี เป็นปริโยสาน ๑๐ ประการด้วยกัน รู้สึกว่าเยอะแยะมากมาย แต่ความจริงแล้วท่านแค่ตั้งหน้าตั้งตากระทำในตัวใดตัวหนึ่ง บารมีอีก ๙ อย่างก็จะตามมาเอง อย่างเช่นว่า ถ้าเราเริ่มต้นด้วยทานบารมี บุคคลที่จะให้ทานได้ ต้องประกอบไปด้วยปัญญา รู้ว่าทานนั้นดีอย่างไร เราถึงให้ ก็แปลว่าเราเป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญาบารมี การจะเสียสละสิ่งของของตนให้แก่ผู้อื่น จิตใจก็ต้องประกอบไปด้วยพรหมวิหาร โดยเฉพาะเมตตากรุณา ก็คือรักเขาเสมอตัวเรา สงสารอยากให้เขาพ้นจากกองทุกข์ ก็แปลว่าเรามีเมตตาบารมีอยู่ด้วย บุคคลที่มีเมตตาบารมี ก็จะเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็แปลว่าเรามีศีลบารมีพร้อมสมบูรณ์อยู่ในนั้น ดังนั้น...ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะเริ่มด้วยบารมีตัวใดก็ตาม อีก ๙ ตัวจะติดตามมาเองโดยอัตโนมัติ จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งบารมี ก็จะเป็นอุเบกขาบารมี ความนี้คำว่า อุเบกขานั้น ไม่ได้ปล่อยวางเฉย ๆ เป็นการปล่อยวางด้วยปัญญา คือเมื่อดิ้นรนจนสิ้นกำลังกาย กำลังใจ กำลังคน กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา ไม่สามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เราถึงยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกินกำลัง ก็จะหยุดการดิ้นรน ยอมรับสภาพนั้นชั่วคราว รอคอยจังหวะความพร้อมกว่านี้มาถึง เราค่อยแก้ไขเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้นใหม่ ก็แปลว่าอุเบกขาบารมี ไม่ใช่ปล่อยวางอย่างเดียว แต่เป็นการปล่อยวางแบบผู้มีปัญญา โดยเฉพาะการปล่อยวางขั้นสูงสุด คือการปล่อยวางในสังขารร่างกาย ตลอดจนกระทั่งจิตสังขาร การปรุงแต่งของใจ ถ้าสามารถทำในสังขารุเปกขาญาณ คือปรีชารู้แจ้งในการวางเฉยด้านการปรุงแต่ง เราก็มีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-05-2022 เมื่อ 03:05 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
แต่ว่าก่อนที่เราจะวางเฉยเป็นสังขารุเปกขาญาณได้ เราต้องถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา โดยเฉพาะสติสัมปชัญญะ เมื่อระลึกรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของดี เราก็ใช้สมาธิหยุดยั้ง
สติเปรียบเหมือนคนสายตาดี มองเห็นว่าเส้นทางเบื้องหน้าเป็นเหว ก็ใช้สมาธิในการยั้งตัวไม่ให้ถลำตกเหวไป หลังจากนั้นก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่าทำอย่างไรที่เราจะเปลี่ยนเส้นทางไม่ให้ตกเหวตกห้วย แล้วค้นหาเส้นทางที่ถูกต้องในการก้าวหน้าต่อไป ดังนั้น...ในเรื่องของสังขารุเปกขาญาณที่ประกอบด้วยอุเบกขาบารมีนั้น เป็นสิ่งที่ต้องถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ก็คือเป็นที่สุดของไตรสิกขาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเราเอาไว้ อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยยกตัวอย่างบ่อย ๆ ว่านี่คือแก้วน้ำ ถ้าหากว่าเราเห็นแค่นี้ก็อันตรายมากแล้ว เพราะจิตปรุงแต่งว่าเป็นแก้วน้ำแล้ว ต้องหยุดให้ทันอยู่แค่นี้ โทษก็จะไม่เกิดขึ้นมาก แต่ถ้าเราไปคิดต่อ อย่างเช่นว่าแก้วน้ำ ได้กาแฟสตาร์บัคส์สักถ้วยก็ดี โลภะเกิดแล้ว เห็นหรือยังว่ากิเลสใหญ่รออยู่ทันทีทันใดที่ใจเราคิดเลย ? วันนั้นไปสตาร์บัคส์ชวนสาวเข้าไปกินด้วย อ้าว..ฉิบหายแล้ว ราคะมาอีก เมื่อกี้โลภะอยู่แท้ ๆ แก้วใบเดียวราคะมาอีกแล้ว แต่ปรากฏว่าอีหนูที่มาเสิร์ฟกาแฟ ไม่รู้โกรธผัวมาหรืออย่างไร ? กระแทกแก้วใส่หน้าเราต่อหน้าแฟน..โกรธเลย..! โทสะมาอีกแล้ว แล้วถ้าหากว่าโลภะ ราคะ โทสะ มาเป็นขบวน จากการที่เราปรุงแต่งแก้วน้ำใบเดียว แล้วโมหะจะไม่มาได้อย่างไร เพราะว่าเป็นต้นเหตุของทั้งหมด ทุกสิ่งที่อย่างที่ตาเราเห็น หูเราได้ยิน จมูกเราได้กลิ่น ลิ้นเราได้รส กายเราสัมผัส ใจเราครุ่นคิด จึงเป็นสิ่งที่สร้างกิเลสใหญ่ให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-05-2022 เมื่อ 03:07 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ดังนั้น...ถ้าหากว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ของเรามีกำลังไม่พอ อันดับแรกเลย ไม่เห็นโทษว่าคิดแล้วจะเกิดโทษอย่างไร อันดับต่อไปก็คือ ไม่เห็นวิธีว่าคิดอย่างไรถึงจะไม่เป็นโทษ แล้วอันดับต่อไปก็คือหยุดคิดไม่เป็น
เรื่องพวกนี้อาจจะเลยความสามารถของญาติโยมไปหน่อยหนึ่ง หน่อยเดียว..ไม่เยอะ แต่ให้รู้เป็นแนวทางคร่าว ๆ เอาไว้ ว่าถ้าเราปฏิบัติธรรมต่อไปในกาลข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเราบ้าง แล้วเราจะมีวิธีรับมือแก้ไขอย่างไร ความจริงหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีครบถ้วนสมบูรณ์แล้วทุกประการ โดยเฉพาะในกรรมฐาน ๔๐ ที่สามารถเป็นคู่ศึกรับมือกับ รัก โลภ โกรธ หลง ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ว่าเราขาดความคล่องตัว ไม่สามารถที่จะทำให้กรรมฐานทั้งหลายเหล่านั้นสำเร็จประโยชน์แก่เราได้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือปัญญาน้อย ไม่สามารถจะยกเอากรรมฐานคู่ศึกขึ้นมาแก้ไขกองกิเลสได้ทันท่วงที ในเมื่อทั้ง ๒ อย่างรวมกันเข้ามาแล้ว จึงโดนกิเลสตีน่วมทุกครั้ง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เข็ด สตาร์บัคส์กันต่อดีไหม ? ๑๒๐ บาทจะกินกาแฟหรือจะกินข้าว ? วันนี้ที่บอกกล่าวยังไม่ได้หวังให้พวกเราทำถึง แต่ให้รู้ไว้ว่าเราคิดอย่างไรแล้วเป็นโทษ และจะแก้ไขอย่างไรถึงจะหมดจากโทษทั้งหลายเหล่านั้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-05-2022 เมื่อ 03:09 |
สมาชิก 38 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
บุคคลที่ตั้งใจจะก้าวพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ถึงวาระสุดท้ายแล้วก็คือ เคารพสมมติทางโลกเป็นอย่างยิ่ง รู้ว่าสิ่งนี้ดีเราก็ทำ รู้ว่าสิ่งนี้ชั่วเราก็ละ แต่ไม่เกาะทั้งดีและชั่ว ในเมื่ออะไรก็ไม่เกาะ ก็ต้องหลุด ไม่มีอะไรให้เกาะแล้วนี่
เพราะฉะนั้น...คาถาบทนี้เก็บเอาไว้ใช้งาน รู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ ไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว ในเมื่อไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว แล้วทำไมยังต้องทำดี ละชั่วอยู่ ? อันดับแรกเลย สิ่งที่ทำดีนั้นจะส่งผลดีต่อเราโดยส่วนเดียวในภายภาคหน้า ถ้าพลาดจากเป้าหมาย เราไปอยู่ในภพภูมิที่ต่ำกว่า ก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งสิ้น ประการที่สอง เราทำความดีเอาไว้ โดยเฉพาะในศีล ในสมาธิ ในปัญญา จะเป็นเนติคือแบบอย่างแก่คนรุ่นหลังที่ได้เลียนแบบและทำตาม ไม่ได้เอาตัวรอดคนเดียว ยังเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วย ส่วนสิ่งทั้งหลายที่เป็นความชั่วนั้น ก็คือมีแต่จะสร้างบาปหาบทุกข์ ก่อให้เกิดความทุกข์ยากนานับประการแก่ชีวิตของเรา ทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป ดังนั้น...เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องละชั่ว ในเมื่อดีก็ทำ ชั่วก็ละ ไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว เราถึงมีโอกาสหลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่พระนิพพานได้ สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-05-2022 เมื่อ 03:10 |
สมาชิก 45 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|