#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ก่อนเจริญกรรมฐานว่า พวกเราเสียทีที่นับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่นำเอาหลักธรรมไปใช้ในชีวิตจริงได้น้อยมาก สังเกตจากการขาดความพอดีในแต่ละอย่าง ในแต่ละงาน ในเมื่อเราไม่สามารถนำหลักธรรมที่มีประโยชน์สูงสุดมาใช้งานได้ ก็ต้องบอกว่าเสียทีที่เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมและน้อมนำมาปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมของเรานั้น ยังอยู่ในลักษณะของงู ๆ ปลา ๆ ไม่สามารถที่จะสำเร็จสัมฤทธิ์ผลอย่างจริงจังได้ ซึ่งคำตอบของความไม่สำเร็จนั้นก็คือขาดความตั้งใจจริง บุคคลที่ตั้งใจจริง ที่จะปฏิบัติภาวนานั้น ต้องยอมแลกกันด้วยชีวิต ไม่ใช่ลำบากหน่อยก็ท้อ ลำบากหน่อยก็ไม่เอาแล้ว ถ้าอย่างนั้นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะมีน้อยมาก แม้กระทั่งจะรักษาสภาพจิตของเราให้ผ่องใสในแต่ละวันก็ยาก ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องของมรรคของผลเลย การที่ท่านทั้งหลายมาปฏิบัติธรรม บาลีใช้คำว่า ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คำว่าสมควรแก่ธรรมนี้ควรจะจับอะไรเป็นหลัก ก็ต้องดูบารมี ๑๐ เรามีการให้ทานเป็นปกติหรือไม่ ? รักษาศีลเป็นปกติหรือไม่ ? พยายาม ลด ละ เลิก ละเว้นออกจากกามทั้งหลายหรือไม่ ? ใช้ปัญญาประกอบในการปฏิบัติธรรมหรือไม่ ? มีความพากเพียรเต็มกำลังของเราแล้วหรือไม่ ? มีความอดกลั้นอดทนที่จะต่อสู้ จนกระทั่งประสบความสำเร็จหรือไม่ ? มีความจริงจังจริงใจต่อการปฏิบัติของเราหรือไม่ ? ปักใจมั่นแน่วแน่อยู่กับเป้าหมายของเราไม่คลอนคลายหรือไม่ ? มีความรัก ความสงสาร ความเห็นใจต่อสรรพชีวิตแม้กระทั่งต่อตนเองหรือไม่ ? เมื่อเกินความสามารถของเราที่จะแก้ไขในเรื่องต่าง ๆ แล้ว รู้จักปล่อยวางหรือไม่ ? เราสามารถตรวจสอบได้ทุกวัน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-09-2019 เมื่อ 10:01 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ทุกเช้าเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมา ภาวนาจนกำลังใจทรงตัวแล้ว ให้ตรวจสอบดูว่า ถ้าวันนี้จิตของเราต้องสละ มีความพร้อมที่จะสละหรือไม่ ? วันนี้เราพร้อมที่จะรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เมื่อพิจารณาตั้งแต่ต้นจนปลายแล้ว ก็ไปประกอบหน้าที่การงานของตน เมื่อถึงเวลาหมดวัน อาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินปลา ถ้าร่างกายไม่เหนื่อยไม่เพลียจนเกินไป ก็สวดมนต์ไหว้พระเจริญกรรมฐานก่อน ถ้าเพลียมากไม่ไหวก็นอนภาวนาแทน
แต่ก่อนที่จะหลับก็ให้ทบทวนในบารมี ๑๐ อีกว่า วันนี้มีโอกาสให้ทาน เราได้ให้หรือไม่ ? เรารักษาศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เราพยายามเว้นจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์หรือไม่ ? ไล่ไปจนถึงข้อสุดท้าย รู้จักอุเบกขาปล่อยวางต่อเรื่องราวต่าง ๆ บ้างหรือไม่ ? ก็แปลว่าตื่นนอนและก่อนนอน เราต้องทบทวนอยู่เสมอว่าบารมี ๑๐ ของเราสมบูรณ์บริบูรณ์หรือไม่ ? ถ้าบารมี ๑๐ สมบูรณ์บริบูรณ์ โดยเฉพาะปัญญาบารมี เราก็จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยพอเหมาะพอดี โดยสมควรแก่ธรรมไม่ขาดไม่เกิน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แปลว่าท่านทั้งหลาย ได้ใช้ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมในชีวิตจริงของเรา แต่ถ้าทำไม่ถึงตรงจุดนี้ โอกาสที่จะได้รับผลของการปฏิบัติก็ยาก โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลก็ยิ่งยาก จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายจะต้องพึงสังวรระวัง พยายามใช้ประโยชน์จากหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นหนทางที่พระองค์ท่านค้นพบมา เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ดูความพอเหมาะพอดี ตึงเกินไปก็หย่อนลงนิดหนึ่ง หย่อนเกินไปก็ไขตึงขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ถ้าทำอย่างนี้ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม เราก็จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านบ้านเติมบุญ วันศุกร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทาริกา)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-09-2019 เมื่อ 02:43 |
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|