#1
|
||||
|
||||
โอวาทช่วงบวชเนกขัมมะปีใหม่ ๒๕๕๙ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ๓ มกราคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์กล่าวว่า "เพิ่งจะรู้ว่ามีโยมหลายคนมาถวายสังฆทานเพราะชื่อ “วัดท่าขนุน” เขาบอกว่าชื่อดี ว่าอย่างนั้น ตูฟังแล้วจะบ้า..! ต่อไปต้องตั้งชื่อวัดให้ดี ๆ หน่อยนะ อย่างวัดมะขวิดคงไม่มีใครทำบุญแน่เลย เขายุบวัดมะขวิดไปรวมกับวัดทุ่งแก้ว เปลี่ยนเป็นวัดมณีสถิตย์กปิฏฐาราม กปิฏฐะก็แปลว่าต้นมะขวิด มณีก็แปลว่าแก้ว มณีสถิตคือที่อยู่ของแก้ว กปิฎฐารามคืออารามแห่งต้นมะขวิด ตั้งชื่อเสียไพเราะ คนไม่ได้ภาษาบาลีก็แปลไม่ออก
อย่างไรก็สู้พระสิริมังคลาจารย์ไม่ได้ ท่านแปลตำนานจามเทวี มหาเปรียญอย่างพระครูบ่าวก็แย่เหมือนกัน ถ้าไปเจอพระสิริมังคลาจารย์เข้า พระเจ้าแผ่นดินชื่อ ลักขะนคราคัจฉะ แปลได้ไหมครับ ? พระเจ้าแสนเมืองมา ลักขะแปลว่าแสน นครก็เมือง อาคัจฉะแปลว่ามา ท่านแปลได้สุดยอดมากเลย แต่มีชื่อเดียวที่ท่านไม่ยอมแปลเด็ดขาด ก็คือทูตที่ส่งไปอัญเชิญพระนางจามเทวีจากละโว้มาครองหริภุญชัย แกแปลทับศัพท์ว่า ควยัง นามะทูตัง คนก็แปลว่าทูตชื่อนายควาย ไม่ใช่หรอก เพราะคำว่าควายในศัพท์บาลีมีอยู่ ตัวนี้เป็นควายไม่มีสระอา ท่านก็เลยไม่กล้าแปล ก็เลยใช้ทับศัพท์ตรง ๆ ควยัง ถ้าเป็นสมัยนี้เรียกไปเป็นปลัดก็ได้ ไปอ่านหนังสือของพวกบรรดาเซียนบาลีแล้วก็มีอะไรขำ ๆ เหมือนกัน กุมภวาปี บ้านหนองหม้อ ท่านก็แปลได้ตรงดีนะ"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-02-2016 เมื่อ 03:03 |
สมาชิก 83 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
พระอาจารย์กล่าวว่า "สมัยก่อนที่ปฏิบัติธรรมอยู่ ฟังคำครูบาอาจารย์แล้วรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ ก็เลยอยู่ในลักษณะว่า พอฟังสิ่งที่ท่านสอนก็ถือว่าท่านสั่งให้ทำ ฟังดูแปลก ๆ ไหม ? คือท่านสอนอะไรมาก็ถือว่าท่านให้ทำอย่างนั้น คำสอนหมวดแรกที่จับมาแล้วตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติอย่างจริงจังก็คือกสิณ ๑๐ แล้วก็ตามด้วยอนุสติ ๑๐ อสุภกรรมฐานรั้งเอาไว้ก่อน เพราะว่าหาวัสดุยาก ยังโชคดีว่าสมัยนั้นยังมีเผากลางแจ้งกันมาก วัดท่าซุงก็ยังมีเมรุเผากลางแจ้งอยู่ สมัยนี้ส่วนใหญ่เป็นเมรุปลอดมลพิษหมดแล้ว
คราวนี้ในส่วนของการปฏิบัติ ถ้าเราทุ่มเทก็จะเกิดผล เพียงแต่ว่าเกิดผลมากน้อยเท่าไร อาตมาเองปฏิบัติในอนุสติ ๑๐ ตั้งแต่พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณพระธรรม สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ สีลานุสติ ระลึกถึงคุณของศีล จาคานุสติ ระลึกถึงคุณการบริจาคให้ทาน มรณานุสติ นึกถึงความตาย เทวตานุสติ ระลึกถึงความดีของเทวดาว่ามีอะไรบ้าง เทวดานี่หมายถึงพรหมและพระวิสุทธิเทพบนพระนิพพานด้วย กายคตานุสติ ตามดูว่าร่างกายของเรานี้มีสภาพไม่ใช่แท่งทึบ เต็มไปด้วยเครื่องจักรกลต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่น่ารักใคร่ยินดี อุปสมานุสติ ระลึกถึงอารมณ์สงบระงับจากกิเลส ก็คืออารมณ์พระนิพพาน และท้ายสุดคืออานาปานุสติ การตามดูลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นกำลังใหญ่ในการสนับสนุนกองกรรมฐานอื่น ๆ ให้ตั้งมั่นทรงตัวได้ผล"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-02-2016 เมื่อ 03:05 |
สมาชิก 84 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
"ตอนช่วงนั้นอาตมาเริ่มไปบ้านสายลมแล้ว ฝึกกสิณก่อนไปบ้านสายลม จำได้ว่าประมาณปี ๒๕๒๑ เริ่มไปทำบุญกับหลวงพ่อที่บ้านสายลม ก็พยายามทบทวนฝึกซ้อมในอนุสติ ๑๐ อย่าง จนกระทั่งมั่นอกมั่นใจแล้ว จึงไปกราบเรียนรายงานท่านว่า “หลวงพ่อครับ ตอนนี้อนุสติทั้ง ๑๐ ผมสามารถทรงอารมณ์เต็มได้ภายในครึ่งชั่วโมงครับ” แหม...ฟังดูแล้วเท่โคตร..! หลวงพ่อท่านบอกว่า “ยังใช้ไม่ได้ลูก...สมัยที่หลวงพ่อฝึก กรรมฐาน ๔๐ กอง ถ้าใช้เวลาถึง ๒ นาทีถือว่าช้ามากแล้ว” อาตมา "เหวอรับประทาน" ไปเลย ครึ่งชั่วโมงไล่อนุสติเต็ม ก็ว่าเจ๋งพอแล้วนะ ปรากฏว่ายังห่างอยู่แปดหมื่นสี่พันลี้ถ้วน ๆ
ตอนแรกก็คิดว่า “หลวงพ่อพูดอะไรวะ เกินไปหรือเปล่า ?” พอหลังจากที่ประพฤติปฏิบัติมากเข้า ๆ มีความคล่องตัวมากขึ้นแล้วถึงได้รู้ว่า ก่อนหน้านี้อาตมาทำแบบโง่ ๆ ทรงอารมณ์พุทธานุสติเต็มระดับ คลายอารมณ์ลงมา เริ่มต้นในธัมมานุสติใหม่ พอเต็มอารมณ์ก็คลายลงมา เริ่มในสังฆานุสติต่อ เฮ้อ...ดูว่าเราทำคล่องมากเลยนะ ที่แท้โง่ไปหน่อย อารมณ์พอเต็มแล้วไม่ต้องคลายลงมา แค่เปลี่ยนกองกรรมฐานไปเลย เพราะฉะนั้น ๔๐ กองใน ๒ นาทีนี่นานเกินไปจริง ๆ แต่ตอนแรกนั้นไม่เข้าใจ ในเมื่อไม่เข้าใจก็เลยสงสัยว่าสิ่งที่หลวงพ่อท่านพูดมาจริงหรือไม่จริง เราก็ต้องเร่งการค้นคว้าของเราต่อไป คราวนี้ในสิ่งที่เร่งค้นคว้านั้นก็คือ ท่านสอนอะไรมาถือว่าท่านสั่งให้ทำ ในเมื่อท่านสั่งให้ทำก็ต้องตัวหน้าตั้งตาทำไป ก็แปลว่า ๓๐ นาที ๑๐ กองใช้ไม่ได้ ต้อง ๔๐ กองภายใน ๒ นาที เล่นเอาหลายปีเลย ...(หัวเราะ)... แต่กติกาที่มีต่อกันชนิดที่ไม่ต้องเอ่ยปากก็คือว่า “ถ้าบอกไปแล้วเอ็งยังทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาเสนอหน้า”
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-02-2016 เมื่อ 03:08 |
สมาชิก 84 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
"ฉะนั้น..ช่วงที่ท่านบอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ใช้เวลาถึง ๒ นาทีถือว่าช้ามากแล้ว อาตมาก็ถือว่าท่านสั่งว่า ๔๐ กองนี้ต้องทำให้ได้ภายใน ๒ นาที พยายามหาวิธีสารพัด ทำอย่างไรวะ ? กว่าจะเข้าใจก็โน่น...ไปยันกองท้าย ๆ แล้ว อาตมาเก็บเอาพรหมวิหาร ๔ กับอรูปฌาน ๔ ไว้ตอนท้ายแล้ว เพราะว่าเป็นของที่ทำยากมาก ๆ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นจะเห็นว่ายากหรือเปล่า ?
แบบเดียวกันที่อาตมาสอบนักธรรมชั้นตรี โท เอก แล้วว่ากระทู้เป็นวิชาที่ง่ายมาก พุทธประวัติและพระวินัยเป็นวิชาที่ง่ายมาก เพราะเป็นสิ่งที่พระและพุทธศาสนิกชนต้องรู้ แต่ธรรมวิภาคเป็นสิ่งที่ยากเพราะตัดเอาหัวข้อธรรมของพระพุทธเจ้ามาให้ศึกษาในระยะเวลาที่สั้นมาก แต่ปรากฏว่ามาถามเด็กสมัยนี้บอกว่าสอบกระทู้ยากที่สุด อาตมาก็คิดว่า นี่ตกลงว่าตูเพี้ยนจากชาวบ้านเขาหรือเปล่า ? เพราะว่าของเราถือว่ากระทู้เป็นวิชาช่วยชีวิต เขียนอย่างไรก็ได้คะแนน แต่อย่างอื่นถ้าตอบผิดก็อดคะแนนไปเลย จึงไม่รู้เหมือนว่าคนอื่นปฏิบัติในพรหมวิหาร ๔ และอรูปฌานอาจจะถือว่าเป็นของง่ายก็ได้ แต่สำหรับอาตมาแล้ว ๒ อย่างนี้ยาก ก็เลยเขี่ยไปไว้ท้ายสุด ต่อท้ายจากอสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-02-2016 เมื่อ 17:01 |
สมาชิก 75 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
"ของบางอย่างถ้าเรายังทำไม่ถึง ก็เหมือนกับดูสมบัติเศรษฐี เศรษฐีท่านแสดงให้เราดูว่าสมบัติของท่านมีอะไรบ้าง มีบ้าน มีที่ดิน มีรถยนต์ สารพัดสารเพ ของเราเองยังไม่มีสักอย่าง ก็ต้องพยายามหามาให้ได้ เพื่อให้เป็นสมบัติของเราเอง ไม่ใช่สมบัติของเศรษฐี
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ท้าพิสูจน์อยู่แล้ว เอหิปัสสิโก ขอเธอทั้งหลายจงมาดูธรรมนี้เถิด โอปนยิโก น้อมนำแล้วก็อยู่กายนี้เอง ไม่ได้ไปไกลกว่านี้เลย ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูชนผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติแล้วจักรู้ได้ด้วยตนเอง ทำแทนกันไม่ได้ พอ ๆ กับกินข้าวแทนกันไม่ได้ เราต้องใช้พยายามในการไขว่คว้ามาเป็นสมบัติของเราเอง พระเณรจะมีปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ ๑๐ อย่าง มีอยู่ข้อหนึ่งว่า “บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่าคุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ? เพื่อที่จะได้ไม่เก้อเขินเมื่อเพื่อนสหธรรมิกไต่ถาม” คือถ้าเขามีกันทุกคนแล้วเราไม่มีก็จะอายเขา คำว่าเก้อเขินในที่นี้แปลว่าอายเขา ก็เลยเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องไขว่คว้าหามา โดยเฉพาะญาติโยมทั้งหลายอยู่ในสถานะ อยู่ในสภาพของพุทธบริษัท คืออุบาสกบริษัทและอุบาสิกาบริษัท เป็น ๒ ในเสาหลักที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนา ถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงหลักธรรมอย่างแท้จริง เพื่อนำไปอธิบายให้กับคนอื่นที่เขาเข้าใจผิด จนสามารถปรับความเข้าใจเขาให้ถูกได้ ก็แปลว่าเรายังปฏิบัติได้ไม่สมกับเป็นพุทธบริษัทเลย รู้สึกว่าการบ้านข้อนี้ใหญ่เกินไปไหม ? นี่อาตมาแค่พูดให้ฟัง ยังไม่ได้สั่งนะ เพิ่งจะบอกไปว่าสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนมาคือคำสั่งใช่ไหม ? แต่นี่อาตมาไม่ได้สั่ง เพราะฉะนั้น...ให้ทุกคนตั้งอกตั้งใจปฏิบัติก็พอ"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-02-2016 เมื่อ 17:05 |
สมาชิก 72 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
พระอาจารย์กล่าวว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติก็คือ ต้องประคับประคองรักษาอารมณ์การปฏิบัติเอาไว้ ตอนนั้นสมาธิหรืออารมณ์ใจของเราทรงตัวเท่าไร ตอนลุกขึ้นทำงานทำการหรือเดินจงกรม อารมณ์ต้องทรงตัวได้เท่านั้น ไม่ใช่ลุกก็หลุด ลุกก็หล่นหาย ถ้าลักษณะอย่างนั้นจะกลายเป็นทำแล้วเสียเปล่า เป็นคนขยัน...ทำงานทุกวัน แต่ไม่มีผลงานไว้แสดงให้ใครดูได้เลย
เรื่องทั้งหลายนี้ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าเข็ดหรือยังกับการที่จิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก กว่าจะไขว่คว้าคืนมาได้เป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน ถ้าเข็ดแล้วก็พยายามประคับประคองรักษาไว้ ตอนอาตมาฝึกกสิณใหม่ ๆ นึกถึงภาพว่าเรากำลังเลี้ยงลูกแก้วที่อยู่บนปลายเข็ม เผลอหน่อยก็ตกแตกโป๊ะ ทำอย่างไรที่เราประคองไม่ให้ลูกแก้วตกได้ เพราะว่าถ้าเผลอภาพกสิณก็หาย พอภาพกสิณหายเราก็ต้องวิ่งไปหาวัสดุอุปกรณ์มาเริ่มต้นพิจารณาใหม่ เพ่งกันใหม่ แต่ถ้าเราประคับประคองไว้ได้ ก็ไม่ต้องเสียเวลาวิ่งไปหาอุปกรณ์อีก เป็นต้น"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-02-2016 เมื่อ 17:05 |
สมาชิก 74 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
พระอาจารย์กล่าวว่า "เรื่องของกีฬาสมาธิ ที่อาตมาเคยทำมาก็คือ อ่านหนังสือไป มือนับลูกประคำไป ใจหนึ่งภาวนาไป สนุกมาก ใครสามารถทำได้ ชีวิตนี้จะมีรสชาติขึ้นอีกเยอะ แต่...แต่ถ้ารักษาอารมณ์ภาวนาไม่เป็น เราจะภาวนาด้วยแล้วอีกใจหนึ่งฟุ้งได้ด้วย ถ้าใครเจอแบบนั้นก็ตัวใครตัวมัน แต่วิธีแก้ง่ายมากเลย คือให้กลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเราอย่างเดียว ไม่ต้องไปสนใจอย่างอื่น เป็นการซ้อมกีฬาสมาธิอย่างหนึ่ง
อาตมาเองส่วนใหญ่แล้วจะแหกคอกชาวบ้านเขา แต่ก็ไม่ได้ไปไกลนะ คืออะไรที่คนอื่นทำได้เราต้องทำได้ และเราต้องทำให้ได้มากกว่าเขา ก็เลยกลายเป็นอะไรที่ประหลาด ๆ ในสายตาคนอื่น คนที่พยายามเลียนแบบอาตมาด้วยการอ่านหนังสือตอนทำวัตร รับประกันได้ว่าอ่านอย่างเดียว สวดมนต์ไม่ได้ ฉะนั้น...ไม่ต้องเลียนแบบ ยกเว้นว่าจะไปแอบฝึกเอาเอง เรื่องของกีฬาสมาธิถ้าเราฝึกซ้อมเอาไว้บ่อย ๆ จะช่วยได้เยอะตรงที่ว่า ทำให้เราไม่เบื่อง่าย โดยเฉพาะคนฝึกใหม่ ๆ จะเบื่ออะไรง่ายมาก ที่เบื่อง่ายเพราะว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้เราทำอะไรเร็วขึ้น เห็นว่าระบบ ๕G ของการสื่อสารเข้ามาถึงเมื่อไร จะเป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงชนิดพริบตาเดียว คลิกปุ๊บเข้าปั๊บได้เลย ก็จะทำให้เราใจร้อนใจเร็วขึ้นอีกเยอะ เพราะฉะนั้น...สภาพจิตของเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสมาธิเอาไว้ ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะไม่มีหลัก แล้วก็ไหลตามกระแสโลกไป ถ้าโยมช่างสังเกตจะเห็นว่าวัดท่าขนุนไม่มีโทรทัศน์ เพราะโทรทัศน์พาเด็กรุ่นเก่า ๆ เสียมาเยอะแล้ว ตั้งแต่เปลี่ยนการใช้มือบิดมาเป็นการใช้รีโมต ตั้งแต่นั้นมาเด็กทุกคนมีการรับรู้ที่ขาดเป็นชิ้น ๆ ไม่พอใจก็กดเปลี่ยนช่องโน้นช่องนี้ไปเรื่อย ๆ ทำให้ความสนใจไม่ต่อเนื่อง ขาดสมาธิ เป็นโรคสมาธิสั้น ฉะนั้น...เด็กรุ่นเก่าหน่อยที่เสียเพราะรีโมตทำให้สมาธิสั้น ความรู้ความจำไม่ต่อเนื่อง หลุดเป็นชิ้น ๆ เด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อยหนึ่งจะเป็นโรคเบื่อง่าย เพราะถึงเวลาก็ไปนั่งเขี่ยไลน์คุยกับเพื่อน สารพัดเรื่องจะเอามาเม้าท์กัน เพิ่งจะเดินห่างกัน ๓ ก้าวก็ส่งไลน์หากันแล้ว ทำให้สภาพสังคมของเราห่างไกลจากการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-02-2016 เมื่อ 16:54 |
สมาชิก 67 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
พระอาจารย์กล่าวว่า "วันนี้อาตมาแจ้งให้ญาติโยมทราบว่า ได้เตรียมพื้นที่ไว้สำหรับท่านทั้งหลาย ที่มีเจดีย์บรรจุกระดูกอยู่ในวัดท่าขนุน จะโยกย้ายขึ้นมาในพื้นที่ที่เตรียมไว้ให้ก็ได้ หรือว่าจะเอาไว้ที่เดิมก็ได้ แต่ปรากฏว่าเขาไปสื่อกันท่าไหนก็ไม่รู้ ข่าวกลายเป็นว่าอาตมาไล่ที่ไม่ให้ตั้งเจดีย์ ยังดีว่าวันนี้ได้ลงไปดูด้วยตัวเอง ได้อธิบายให้โยมเข้าใจได้ เพราะว่านอกจากความใจร้อนใจเร็วแล้ว การสื่อสารต่าง ๆ ยังมีความผิดพลาดได้ง่ายด้วย
อาตมาเองตอนเป็นทหาร รุ่นนั้นเรียนอยู่ ๑๒๓ คน เขาก็เลยเรียกว่ารุ่น ๑๒๓ ครูฝึกเขาสอบวิชาการสื่อสาร ว่ามีการเพี้ยนขนาดไหน ? โดยครูฝึกกระซิบใส่หูคนแรก และให้กระซิบต่อ ๆ ไปจนถึงคนสุดท้าย ต้องถึงภายใน ๑ นาที พอถึงคนสุดท้ายปั๊บ เพื่อนก็วิ่งเหยาะมาถึงหน้าครูฝึก ชิดเท้าปั๊บ บอกว่า “ขอบคุณครับ” ครูฝึกถามว่าอะไรวะ ? เพื่อนกระซิบว่าครูฝึกให้เงิน ๒๐ ครูฝึกบอกว่า “ไอ้ห่... กูสั่งให้มึงวิดพื้น ๒๐” สั่งลงโทษแท้ ๆ ไปถึงตอนท้ายกลายเป็นได้รางวัลไปได้ นั่นแค่ระยะทางนิดเดียวภายใน ๑ นาที ฉะนั้น...การสื่อสารมีผิดพลาดแน่นอน นอกจากโทษเทคโนโลยีแล้ว ต้องโทษอาตมาด้วยว่าอาจจะพูดไม่รู้เรื่อง เพราะเขามักจะพูดกันว่า พวกเรียนจบปริญญาเอก พูดภาษามนุษย์ไม่ค่อยรู้เรื่องกับเขาหรอก"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-02-2016 เมื่อ 16:58 |
สมาชิก 70 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
พระอาจารย์กล่าวว่า "ใครที่เคยมาวัดท่าขนุนแล้วทำข้าวของหาย ลองมาแจ้งให้พระทราบ ถ้าว่ามีชิ้นไหนบ้างที่ยังอยู่จะได้ส่งคืนให้ อาตมาเคยทำของหายไหม ? เคย...แต่ไม่หาย ตอนนั้นอยู่ที่วัดทองผาภูมิ มีการประชุมเพราะว่าชาวบ้านประมาณ ๔-๕ คน มาประท้วงขับไล่อาตมา โทษฐานที่ไปรื้อหลังคาเก่า ๆ ไปชั่งกิโลขาย แล้วไปสร้างใหม่ให้เขาทั้งหลัง เขาไม่ชอบ อาตมาก็เลยคุยกับเขาเสร็จสรรพเรียบร้อย ในเมื่อพวกเอ็งไม่ต้องการให้ข้าทำให้ ข้าไปก็ได้ ก็กลับมานอนที่วัดท่าขนุน
นอน ๆ อยู่สามทุ่มกว่านึกขึ้นมาได้ อ้าว...ลืมเอาย่ามกลับมา ข้างในมีมีดหมอชาตรีด้ามงา ใบมีด ๗ นิ้วของหลวงพ่อวัดท่าซุงอยู่ด้วย นอน ๆ อยู่เด้งดึ๋งลุกขึ้นมาแล้วก็ล้มลงไปนอนต่อ ถามว่าทำไม ? ก็คือตอนที่ยกหัวขึ้นมาพ้นหมอน นึกขึ้นมาได้ว่า “ถ้าของแค่นี้เอ็งตัดไม่ได้ แล้วร่างกายเอ็งจะตัดได้อย่างไร ?” เพราะฉะนั้น...จึงนอนต่อไป ตราบใดที่ของเป็นของเราก็เป็นของเรา ถ้าไม่ใช่ของเราไม่ช้าก็เร็วต้องหายจนได้ ตอนเช้าบิณฑบาตเสร็จกลับไปดู ย่ามยังอยู่ที่เดิม ไม่มีพระรูปไหนกล้าแตะของอาจารย์เล็ก โชคดีไปอย่างหนึ่งที่ความโหดของอาตมานั้นเป็นที่เลื่องลือ อาตมาก็ลืมได้เหมือนกันถ้างานยุ่งขึ้นมา เรื่องราวเข้ามารอบด้าน มัวแต่สนใจเรื่องเฉพาะหน้า สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ต้องลืมบ้าง"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-02-2016 เมื่อ 17:00 |
สมาชิก 69 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
"วันก่อนไปงานที่เพชรบุรี มีโยมถามหาจะใส่ย่าม อาตมาเลิกพกย่ามมานานแล้ว เพราะพกแล้วเคยหาย บรรดาพระผู้ใหญ่ที่กรุงเทพฯ เวลารับกิจนิมนต์ไปในงาน มีคนมาต้อนรับอย่างดีเลย ช่วยรับย่ามให้ แต่ปรากฏว่าเดินหายไปทางไหนก็ไม่รู้ แล้วท่านก็ใส่ของสำคัญไว้เยอะแยะเลย พวกตีเนียนมารับย่ามเหมือนอย่างกับว่าเป็นเจ้าหน้าที่ต้อนรับ แล้วก็เชิดหายเข้ากลีบเมฆไป
อาตมาไม่ใช้ย่ามด้วย ๒ สาเหตุ สาเหตุแรกก็อย่างที่ว่ามา สาเหตุที่ ๒ คือเวลาใส่ของแล้วหาไม่ค่อยเจอ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในย่ามนั่นแหละ จนกว่าจะเทออกมาหมดแล้วถึงจะหาเจอ ก็เลยเลิกใช้ ที่โยมเห็นใช้อยู่ในวัดนี้เพราะว่า ถึงเวลาแล้วโยมจะใส่ย่าม เปลี่ยนเป็นใส่อย่างอื่นก็ไม่ยอม ก็เลยจำเป็นต้องใช้ ถ้าออกนอกวัดน้อยครั้งที่จะติดย่ามไปด้วย"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-02-2016 เมื่อ 17:02 |
สมาชิก 73 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
พระอาจารย์กล่าวว่า "วันนี้อยากตั้งข้อสังเกตว่า ตอนช่วงเช้าเราปฏิบัติธรรมได้ดีมากเพราะอดนอนมา ทำให้เราต้องตั้งสติมากกว่าปกติ ทำอย่างไรที่เราจะตั้งสติให้ได้แบบนั้น แบบเดียวกับเวลาพระบิณฑบาต พรุ่งนี้ก็จะบิณฑบาตตามปกติ ที่บ้านหังสเนตร ด้านหน้าบ้านของเขาปูกระเบื้องทั้งหมด แล้วเป็นกระเบื้องที่ลื่นมากเพราะไม่ใช่กระเบื้องที่ปูไว้สำหรับเดิน ความจริงเป็นกระเบื้องปูผนังมากกว่า แต่เขาเอามาปูพื้น ถ้าฝนตกพรำ ๆ จะลื่นมาก เวลาพระเดินไปก็ต้องระวังสุดชีวิต ตั้งสติ ค่อย ๆ เดินทีละก้าวเพราะกลัวลื่นล้ม อาตมาเคยปรารภว่า “แล้วทำไมเวลาอื่นไม่ตั้งสติแบบนั้น เพราะจะได้ผลเหมือนกัน” จะได้ผลเท่ากัน ถ้าเราตั้งสติได้
สมัยที่อยู่ที่เกาะพระฤๅษีใหม่ ๆ ตอนนั้นพื้นที่เกาะยังเป็นป่า วัวลงมากินน้ำ อาตมาเห็นแล้วอายวัว เวลาวัวเดินมา ย่างเท้าลงไปทีละก้าว แล้วกด ๆ ๆ จนมั่นใจว่าไม่ยุบแน่แล้ว จึงเดินก้าวที่สองต่อ ค่อย ๆ ลง แตะพื้น ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ สติดีกว่าเราอีก เพราะถ้าวัวติดหล่มก็จะขึ้นไม่ได้ แล้วก็มักจะตาย ทำให้วัวมีสัญชาตญาณ เวลาเดินขึ้นลงบริเวณลำห้วยเพื่อลงไปกินน้ำ ก็จะหยั่งแล้วหยั่งอีก กดแล้วกดอีก ว่าพื้นที่นั้นรับน้ำหนักตัวได้หรือไม่ ? ตอนนั้นอาตมาดูแล้วก็ถอนใจ เพราะฝึกเดินจงกรมมาตั้งหลายปีแล้วสู้วัวยังไม่ได้เลย โชคดีที่เป็นวัว ถ้าเป็นควายจะต้องอายมากกว่านี้...! นี่คือสิ่งที่ตั้งข้อสังเกต ฉะนั้น...ถ้าใครอยากจะปฏิบัติธรรมให้ดี คืนนี้ก็เล่นไลน์ยันสว่างไปเลย พอพรุ่งนี้ง่วงขึ้นมาก็ต้องตั้งสติ ระวังกลัวว่าจะล้ม นี่อาตมาสอนผิดหรือเปล่า...!"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-02-2016 เมื่อ 16:25 |
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
"อยากจะบอกว่านักปฏิบัติจริง ๆ เขาไม่ค่อยนอนกันหรอก เอาเวลาไว้ปฏิบัติมากกว่า กลัวว่ากำลังจะไม่พอสู้กิเลส กลัวว่ากิเลสตีกลับขึ้นมาจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่พวกเรา แต่พวกเราส่วนใหญ่แล้วต้องบอกว่ายังไม่เข็ด ทั้ง ๆ ที่โดนแล้วโดนอีกจนนับครั้งไม่ถ้วน ถึงเวลากิเลสมีกำลังมากกว่าแล้วตีพวกเราหงายท้อง จิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก เจ๊งไป ๒-๓ อาทิตย์บ้าง เดือนหนึ่งสองเดือนบ้าง แต่ไม่เคยเข็ด ถ้าเข็ดจะรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาว่าคราวที่แล้วเราพลาดเพราะอะไร แล้วจะได้ระมัดระวังไม่ให้พลาดอีก
ไม่ใช่แต่โยมหรอก อาตมาเองกว่าจะเข็ดก็โดนมาปีแล้วปีเล่า คราวนี้วันนั้นเบื่อเต็มทีแล้ว ทำไมเจ๊งอยู่เรื่อย ? ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาดูว่าพลาดตรงไหน พอเห็นจุดผิดพลาดแล้วก็แก้ไข กำหนดการภาวนาให้ต่อเนื่องไว้ พอกิเลสแทรกเข้ามาไม่ได้ กำลังใจของเราก็ไม่ตก พอปฏิบัติไป ๆ เราต้องเน้นเข้าหาอารมณ์ของพระโสดาบัน ถ้าท่านทั้งหลายสามารถเกาะติดจริง ๆ ถึงตอนนั้นกำลังใจจะไม่ตก ตกแต่สมาธิ ถ้าสมมติว่าเราพลาด สมาธิตก แต่กำลังใจมั่นคงเหมือนเดิม เหมือนกับเราหล่น แต่คราวนี้สิ่งมารองรับอยู่ แล้วเราก็สามารถตะเกียกตะกายกลับขึ้นไปง่าย สมัยก่อนหล่นแล้วไม่มีอะไรรองรับ ตูมเดียวถึงก้นเหวเลย กว่าจะกลับขึ้นไปก็ยากมาก"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-02-2016 เมื่อ 16:26 |
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
"ท่านทั้งหลายที่มีประสบการณ์สมาธิตก พอปล่อยทิ้งไปนาน ๆ จะเอาคืนยากสุด ๆ หลายรายถึงขนาดออกอาการท้อไปเลย เพราะว่าไปปล่อยให้กิเลสมีกำลังมากกว่า แล้วเจ้าพวกนั้นฉลาดมาก ที่เข็ดก็เพราะว่า ถ้าเปิดโอกาสให้อาตมาแล้ว อาตมาเอากิเลสตายแน่ กิเลสก็เลยชิงเล่นงานเสียก่อน กลายเป็นว่ากิเลสฉลาดกว่าเรามาตลอด แต่เราเองไม่เคยรู้เท่าทันกิเลสเลย ก็ทำให้การปฏิบัติของเราปีแล้วปีเล่าที่ผ่านมา บางคนทำมามากกว่าอายุของบางคนในที่นี้ก็มี แต่ยังไม่ก้าวหน้าเสียที ก็เพราะว่ายังไม่เข็ดจริง ๆ
ถ้าเข็ดจริง ๆ จะรู้จักใช้ปัญญา ใช้ปัญญาในปธาน ๔ คือความเพียร ๔ ประการ มี สังวรปธาน รู้จักระมัดระวังไม่ให้กิเลสเข้ามาในใจของเรา ปหานปธาน พยายามที่จะขับไล่กิเลสในใจของเราออกไป ภาวนาปธาน สร้างความดีให้เกิดขึ้นในใจของเรา อารักขานุปธาน เพียรพยายามรักษาความดีแล้วทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หน้าที่เรามีแค่นี้เอง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็คือ เห็นการหกล้มหกลุกเป็นความมันในชีวิต ถึงได้ไม่เข็ดสักที เรามีเวลาในการทดลองไม่มากนัก เพราะว่าชีวิตเป็นของน้อย ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนิพนธ์ไว้ ชีวิตเป็นของน้อย จะตายลงไปเมื่อไรก็ไม่แน่"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-02-2016 เมื่อ 16:29 |
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
"ถ้าไปดูอารกสูตร ฉกนิบาต อังคุตรนิกาย พระสุตตันปิฎก ศาสดานอกศาสนาชื่อว่าอารกะ ได้เปรียบเอาไว้ว่า
ชีวิตนี้เหมือนต่อมน้ำ คือฟองน้ำที่โผล่ขึ้นมา แล้วก็แตกโป๊ะหายวับไป ชีวิตนี้เหมือนรอยไม้ที่ขีดลงในน้ำ ปรากฏขึ้นวูบเดียวก็หายไปแล้ว ชีวิตนี้เหมือนลำธารไหลลงจากภูเขา มาด้วยความแรงและความเร็ว พรวดเดียวก็เลยไป ชีวิตนี้เหมือนชิ้นเนื้อนาบไฟ รังแต่จะโดนไฟเผาหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว ชีวิตเหมือนก้อนเขฬะที่ปลายลิ้น คือน้ำลาย ซึ่งบุรุษอันมีกำลังจะถ่มทิ้งเสียเหมือนไรก็ไม่แน่ ชีวิตนี้เหมือนวัวที่เขานำไปฆ่า โดนจูงไปหาหลักประหาร ใกล้หลักเข้าไปทุกที ๆ แต่ก็ยังไม่รู้ตัว เรามีเวลาไม่มากนัก ในการที่จะปฏิบัติความดีจนคุ้มค่ากับการเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าตายเสียก่อนแล้วเกาะความดีไม่ได้ เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบอีกนานเหลือเกิน ดังนั้น...จึงควรที่จะเข็ด ควรที่จะใช้ความเพียรพยายามให้ถูกทาง ควรที่จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติและรักษาอารมณ์ใจของเราให้ดีกว่านี้"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-02-2016 เมื่อ 16:30 |
สมาชิก 64 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
||||
|
||||
พระอาจารย์กล่าวว่า "มีคนเดินทางกลับบ้านไปมากแล้ว พวกเรากลับบ้างดีไหม ? กำลังใจที่กลับบ้านนั้น รู้ไหมว่าเหมือนกับกำลังใจที่เราทรงสมาธิ ? บุคคลที่มีความชำนาญในการทรงสมาธิ ตั้งใจเอาไว้ว่าต้องการทรงสมาธิยาวนานแค่ไหน ถ้ายังไม่ครบเวลาสมาธิจะไม่คลายออกมา สามารถไปได้เรื่อย ๆ คนที่กลับบ้านก็เหมือนกัน ถ้าคิดว่าพรุ่งนี้บ่าย ๆ เราจะกลับ วันนี้ก็ไม่ตะเกียกตะกายคิดกลับบ้านหรอก แต่ถ้าเราคิดว่าวันนี้เราจะต้องกลับ คราวนี้อยู่ไม่ได้แล้ว นั่งตูดร้อนอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดก็ต้องกลับ เพราะว่าเราไปตั้งตัวอธิษฐานคือความตั้งใจเอาไว้อย่างนั้น
บางคนอาจจะคิดว่าเป็นคนละเรื่องกัน แต่อาตมาขอยืนยันว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ที่เป็นเรื่องเดียวกันเพราะว่าเป็นความตั้งใจเหมือนกัน อย่างหนึ่งตั้งใจจะเข้าสมาธินานเท่านั้นแล้วถึงจะออก ยังไม่ถึงเวลาก็ไม่ออก อย่างหนึ่งก็ตั้งใจว่าเราจะอยู่วัดจำนวนวันเท่านั้น ถ้าไม่ถึงเวลาก็ไม่กลับ ในเมื่อเป็นความตั้งใจก็แปลว่าเราสามารถกำหนดได้ ในเมื่อเราสามารถกำหนดได้ แล้วทำไมเราไม่กำหนดในสิ่งที่ดีต่อตัวเรา ? แต่ไปกำหนดในสิ่งที่ดีกับคนอื่น"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 28-02-2016 เมื่อ 06:58 |
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
"เอาอย่างนี้ ผู้ที่อยู่ด้านหลังลองขยับมานั่งแถวที่แหว่ง ๆ อยู่ให้เต็มก่อน แถวขวาสุดออกมาก่อน พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ แปลว่าสิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าตรงนี้เป็นที่นั่งของกู ย้ายมาเสียดี ๆ
เมื่อครู่นี้พูดถึงไหนแล้ว ? พูดถึงเรื่องกลับบ้าน...ใช่ไหม ? กับเรื่องของสมาธิว่าเป็นเรื่องเดียวกัน สำคัญอยู่ที่ความตั้งใจ ในเมื่อสำคัญที่ความตั้งใจ ทำอย่างไรที่เราจะซักซ้อมความตั้งใจของเรา ให้มีความมั่นคงและคล่องตัว อาตมาไม่ได้ใช้นาฬิกาปลุกมาเกิน ๒๐ ปีแล้ว เพราะว่าปลุกตัวเองได้ ปลุกตัวเองนี่ไม่ได้หมายความว่าเสกนะ แต่หมายถึงว่าสั่งให้ตื่นได้ เคยทดสอบมาอย่างชนิดที่เรียกว่ากลับถึงวัดตีหนึ่ง แต่ตีสามต้องตื่นไปส่งโยมกลับบ้าน ก็ตื่นได้ไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก ของพวกนี้อยู่ที่พวกเราฝึกซ้อมว่ามีความชำนาญเท่าไร ถ้าสามารถฝึกซ้อมจนมีความชำนาญแล้ว เกิดวสี คือความคล่องตัว ตัวนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าภาษาอังกฤษจะใช้ว่า Skill ได้หรือเปล่า? ก็คือความคล่องตัวในงานนั้น ภาษาไทยเรียกทักษะ ก็ไม่ใช่ไทยหรอก เป็นสันสกฤต เมื่อมีความคล่องตัว เราสั่งให้ใจทำงาน สั่งให้ร่างกายทำงาน สามารถสั่งได้ แต่สำคัญอยู่ที่ว่าตอนฝึกใหม่ ๆ อาจจะไม่มีความคล่องตัว มีผิดมีพลาดได้บ้าง แต่ต้องขยันซักซ้อมเอาไว้"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-02-2016 เมื่อ 02:50 |
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
||||
|
||||
"อย่างที่บอกกล่าวไปเมื่อวานนี้ว่า เรื่องของกีฬาสมาธิเป็นความจำเป็น เพื่อป้องกันความเบื่อหน่ายของตัวเราเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ความสนใจของบรรดาเด็กรุ่นใหม่ ๆ มักจะอยู่กับอะไรได้ไม่นาน ทุกอย่างฮือฮามาพักหนึ่ง แล้วก็สลายหายไปกับสายลม เหมือนอย่างกับเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อเป็นอย่างนั้นก็จำเป็นที่จะต้องสร้างเสริมสมาธิของตัวเราให้มั่นคงยิ่งขึ้น จะได้จดจ่อแน่วแน่อยู่กับบางสิ่งบางอย่างตรงหน้าได้นานขึ้น
แต่ว่าลักษณะของการจดจ่อแน่วแน่กับบางสิ่งบางอย่างตรงหน้า บางทีก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิ อย่างเช่น นั่งเล่นเกมส์ข้ามวันข้ามคืน นั่งแชตกันข้ามวันข้ามคืน เป็นต้น ฉะนั้น...เรื่องของสมาธิจึงสำคัญอยู่ที่คนใช้ ใช้ได้ถูกทางก็ช่วยในการตัดกิเลส ใช้ผิดทางก็เป็นการสร้างเสริมกิเลส หลายท่านเมื่อเจริญกรรมฐานจนกำลังใจทรงตัว พอคลายกำลังใจออกมาแต่ไม่พิจารณาวิปัสสนาญาณ สภาพจิตก็จะเอากำลังที่ฝึกได้ ที่ทำได้ตอนนั่งสมาธิไปฟุ้งซ่านแทน แล้วตอนนี้กิเลสจะมีกำลังมากเป็นพิเศษเพราะได้รับการสนับสนุนจากกำลังสมาธิของเราเอง ก็จะฟุ้งซ่านได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นการเป็นงาน เราทำอย่างไรก็รั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เพราะว่าเราไปสนับสนุนกิเลสเสียเอง หลายท่านที่เคยสงสัย ตอนนี้ก็คงจะหายสงสัยแล้วว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ในขณะเดียวกัน ท่านที่สามารถกดกิเลสได้ชั่วคราว ก็ต้องระมัดระวังอย่าให้กำลังใจเคลื่อนออกมา คลายออกมา เพราะถ้าหากว่ากิเลสตีกลับเมื่อไร ก็จะเกิดอาการ รัก โลภ โกรธ หลง กำเริบมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะอยู่ในลักษณะของการเก็บกดมานาน เรื่องพวกนี้บางทีต้องอาศัยประสบการณ์ หรือไม่ก็อาศัยปัญญาในการปฏิบัติที่จะรู้และเข้าถึง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและการลองผิดลองถูก บางทีก็ทำผิดทำพลาดต่อเนื่องกันมาเป็นปี ๆ เอาไปบอกกล่าวคนอื่นเขาก้าวเดียวก็พ้นไปแล้ว เป็นเพราะว่าเราไม่รู้วิธี กว่าจะศึกษาให้รู้ได้ก็เสียเวลาไปมาก แต่ขณะเดียวกัน บอกกล่าวให้ผู้อื่นก้าวข้ามไปง่าย ๆ หลายคนก็ไม่เชื่ออีก กลายเป็นขอไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แล้วทำให้ตัวเองต้องเหนื่อยยากโดยใช่เหตุ"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-02-2016 เมื่อ 02:52 |
สมาชิก 59 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#18
|
||||
|
||||
ก่อนรับวุฒิบัตร พระอาจารย์กล่าวว่า "ขออนุโมทนากับทุกท่านที่เข้าร่วมปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะมีชื่อหรือไม่มีก็ตาม คนไม่มีชื่อบางทีก็แค่ตอนตรวจสอบรายชื่อแล้วมาไม่ทันเท่านั้น แต่ยังอุตส่าห์มีกำลังใจอยู่ปฏิบัติจนจบได้ ถือว่ามีกำลังใจสูงมาก
ปกติแล้วเขาจะมีพิธีลาศีล ๘ รับศีล ๕ แต่เนื่องจากว่าศีลนั้นจะเป็นศีลหรือไม่อยู่ที่เราตั้งใจงดเว้น ดังนั้น...จึงไม่จำเป็นต้องรับศีล ใครจะรักษาศีล ๕ ก็ลดลงไปรักษาศีล ๕ ของตน แต่ถ้าสามารถรักษาศีล ๘ ได้ ก็จะช่วยเอื้อในการปฏิบัติมากขึ้น เพราะตัดความห่วงใยกังวลไปได้หลายอย่าง ขณะเดียวกัน สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำได้หรือว่าได้ทำในขณะนี้ เมื่อกลับไปให้พยายามระมัดระวังรักษา ประคับประคองเอาไว้ เพื่อที่สภาพจิตของเราจะได้ห่างไกลจากรัก โลภ โกรธ หลง ช่วยให้มีสภาพจิตที่ผ่องใส ไม่ต้องทุกข์ทรมานอยู่กับกระแสกิเลสต่าง ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “บุคคลที่ทรงฌานได้ มารจะมองไม่เห็น” แค่ปฐมฌานเท่านั้นเอง แต่อย่าหลุดนะ...หลุดเมื่อไรมารจะเห็นทันที เหตุที่มารมองไม่เห็นเพราะว่า สภาพจิตที่ทรงฌานได้นั้น รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเสนามาร บริวารของมาร โดนกดดับสนิทลงชั่วคราว ทำให้มารไม่เห็นช่องที่จะทำอันตรายได้ ดังนั้น...เมื่อปฏิบัติจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ท่านทั้งหลายจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องรักษาประคับประคองเอาไว้ จนกระทั่งเราสามารถทรงฌานได้ บุคคลที่ทรงปฐมฌานละเอียดได้มีสิทธิ์ตัดกิเลสในระดับโสดาบันและสกทาคามี ถ้าจะเอาระดับอนาคามีขึ้นไป ต้องทรงฌาน ๔ ละเอียดได้ ไม่อย่างนั้นกำลังไม่พอที่จะละราคะและโทสะลงได้"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-02-2016 เมื่อ 13:21 |
สมาชิก 56 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#19
|
||||
|
||||
"ฌานสมาบัติทุกรูปแบบ แม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของรูปราคะและอรูปราคะก็ตาม นั่นเกิดจากการที่เราใช้ผิด ยึดผิด ถ้าหากว่าทรงฌานทรงสมาบัติได้ ตั้งใจเอามาละกิเลสก็ดี หรือท่านที่สามารถใช้มโนมยิทธิได้ ส่งกำลังใจของเราไปเกาะพระนิพพานไว้ก็ตาม ถือว่าเราไม่ใช่ผู้ที่ติดในรูปราคะและอรูปราคะซึ่งเป็นสังโยชน์ แต่เป็นการใช้สิ่งที่เกิดโทษให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับของสกปรกมีโทษ เราไม่ต้องการ ไม่มีใครต้องการ แต่เราสามารถนำไปเป็นปุ๋ย เพาะให้พืชพันธุ์ต่าง ๆ งอกงามเป็นอาหารได้ เป็นร่มเงาได้ เป็นสิ่งบันเทิงใจให้ความสวยงามได้
ดังนั้น...หน้าที่ของเราทั้งหลาย จริง ๆ แล้วก็คือ ควรที่จะพยายามสร้างฌานสมาบัติให้เกิด แล้วรักษาเอาไว้ให้ได้ และใช้ในการตัดกิเลสให้ถูกทาง พวกเราส่วนใหญ่มาถึงช่วงท้ายแล้ว เพียงแต่คลำไม่ถูกว่าจะไปอย่างไร หลายท่านก็ใช้เวลาหลายสิบปีในการที่พยายามเสาะหาลูบคลำมา อาตมาเองบางทีก็ทำมามากกว่าโยม เพราะว่าเริ่มตั้งแต่เด็ก อายุ ๑๖ ปี ก็ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติอย่างเอาเป็นเอาตาย ชนิดไม่กินไม่นอนก็ได้ ขอให้ได้ปฏิบัติ ตอนนี้อายุ ๕๗ ปี ก็แปลว่าเริ่มเข้าปีที่ ๔๑ แล้ว มากกว่าอายุของญาติโยมหลายคน ถ้าได้อะไรมากกว่าก็ไม่ถือว่าแปลก"
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-02-2016 เมื่อ 13:22 |
สมาชิก 55 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#20
|
||||
|
||||
"แต่ถ้าในระดับของญาติโยมด้วยกัน บางท่านก็ใช้เวลาหลายสิบปี เนื่องเพราะว่าจริตนิสัยอาจจะอยู่ในประเภทสุขาปฏิปทา คือทำอะไรสบาย ๆ ก็เลยไม่ค่อยจะเร่งรัดตัวเอง ขอให้เลิกประมาท เร่งรัดตัวเองได้แล้ว สถานการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ ก็ดี ชีวิตินทรีย์ของเราก็ตาม ไม่แน่ว่าจะเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรมไปได้อีกนานเท่าไร ดังนั้น...เราต้องใช้ความพากเพียรพยายามให้สูงสุด พยายามเข้าถึงในส่วนของธรรมมากที่สุดเท่าที่เราจะพึงมีพึงเป็นได้ เพื่อประกันความเสี่ยงให้กับตัวเราว่า เมื่อถึงเวลาแล้วเราจะได้ไม่พลาดจากสุคติ หรือเป้าหมายสูงสุดของเรา คือหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน
ท้ายสุดนี้อาตมภาพในฐานะพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา ขอตั้งสัตยาธิษฐานอ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะเป็นประธาน ตลอดจนกระทั่งกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติ ที่ท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติในคราครั้งนี้ จงมารวมกันเป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลาย มีความปรารถนาที่สำเร็จสมดั่งมโนรถจงทุกประการ โดยถ้วนหน้ากันทุกท่านทุกคน...เทอญ" พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. งานบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรม รุ่นที่ ๑/๒๕๕๙ สวดมนต์ข้ามปี-ปีใหม่ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ – ๓ มกราคม ๒๕๕๙ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดยรัตนาวุธ)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-03-2016 เมื่อ 17:20 |
สมาชิก 56 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
|
|