#1
|
|||
|
|||
งานทางกายกับทางใจ
งานทางกายกับทางใจ
หรืองานทางโลกกับงานทางธรรม สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนพระธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปกิณกธรรม หรือพระธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ไว้ มีความสำคัญดังนี้ ๑. “งานอะไรก็ไม่สำคัญเท่างานทางใจ ให้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณางานที่ทำอยู่ว่า เป็นงานทางไหนแน่ อย่าคิดว่ารู้แล้ว ให้ใช้ความละเอียดพิจารณาให้ลึกลงไปอีกที แล้วจักเห็นงานทางโลกและงานทางธรรมอย่างชัดเจน” ๒. “การทำงานแม้จักทำได้พร้อมกันก็จริง แต่พึงใช้ปัญญาแยกงานให้ถูกประเภทด้วย ทำควบคู่กันไป แต่ให้ความสำคัญแก่งานทางใจให้มาก ส่วนใหญ่มักจักให้ความสำคัญแก่งานทางโลกหรือทางกาย ไม่ดูอื่นไกล เช่น การหลงอยู่ในกามคุณ ๕ (ติดอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ซึ่งเป็นงานทางกายทั้งสิ้น ถ้าหากไปหลงติดอยู่ตามนั้น ก็ได้ชื่อว่าติดอยู่ในงานทางกายหรือทางโลก จุดนี้แม้แต่คุณหมอเองก็สมควรรู้จักแยกแยะให้ออกด้วย” ๓. “การปฏิบัติธรรมเวลานี้ ขึ้นอยู่กับความใจเย็นถึงที่สุด จึงจักเห็นอารมณ์ที่หวั่นไหวไปตามกิเลสได้ชัด ยิ่งเป็นฆราวาสถ้าชีวิตทรงอยู่ ยังเข้าไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด ก็พึงอย่าคิดว่าตนเองดีแล้วเป็นอันขาด ให้ใช้สังโยชน์ ๑๐ ประการเป็นหลักสำคัญในการวัดอารมณ์ของตน” ๔. “ให้ทบทวนกรรมฐานที่เคยสอนมาก่อนเก่าให้ครบ จิตของพวกเจ้าเวลานี้ พอจักนำเอามาสรุปเหลือแค่กายกับจิตเท่านั้น (รู้กาย เวทนา จิต ธรรม อยู่ตลอดเวลา ว่ามันเกิดดับ ๆ ไม่เที่ยง มันหาใช่เรา หาใช่ของเรา ตัวเราจริง ๆ คือจิตที่มาอาศัยกายอยู่ชั่วคราว แต่มีอุปทานขันธ์ ๕ คอยเผลอคิดว่ามันเป็นเรา เป็นของเราอยู่เสมอ จึงต้องมีสติกำหนดรู้อารมณ์ของจิตตนเองไว้ตลอดเวลา คือรู้เท่าทันเรื่องของกาย และของจิตใจตามความเป็นจริง) เอามาทบทวนเพื่อการละวางกิเลส ส่วนใดที่จิตยังไปเกาะอยู่ให้พยายามละซึ่งกิเลสส่วนนั้น อย่าท้อใจ เพราะความท้อใจ คืออารมณ์ไม่พอใจ (ปฏิฆะ) เป็นความเศร้าหมองของจิต พึงชำระจิตให้มีความผ่องใสอยู่เสมอ อย่าใจร้อนเป็นอันขาด หากมุ่งเอาดีในพระพุทธศาสนาต้องมีความใจเย็น และมีการพิจารณาธรรมในธรรมอย่างถี่ถ้วนด้วยปัญญา จึงจักได้มรรคผลที่แท้จริง” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-11-2011 เมื่อ 17:46 |
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
|||
|
|||
๕. “การพิจารณาร่างกาย ให้พิจารณาจนเหลือสักแต่ว่า ร่างกายอันเป็นธาตุ ๔ อาการ ๓๒ มีอสุภะเป็นที่ตั้ง และจงอย่าคิดถึงความเน่าเปื่อย เฉพาะในส่วนที่ร่างกายตายแล้วเท่านั้น ความจริงของร่างกายที่ยังไม่ตายอยู่นี้ ก็มีอสุภะไม่สวยไม่งามแฝงอยู่ตลอดเวลา อย่างเหงื่อหรือไคล เป็นต้น (มีขี้ทั้งตัว ตั้งแต่บนหัวลงไปถึงเท้า) ให้หาความจริงตามนี้ แล้วจักเบื่อหน่ายร่างกายด้วยประการทั้งปวง ถ้าหากไม่ดูอยู่ตามนี้ ก็จักเบื่อหน่ายไม่จริง อารมณ์นิพพิทาญาณกับสังขารุเบกขาญาณก็จักไม่เกิด”
๖. “การห่วงขันธ์ ๕ ของตนเองและของผู้อื่นมากเกินไป ก็เป็นโทษเป็นภัยกลับมาทำร้ายจิตตนเองอยู่เสมอ ขาดพรหมวิหาร ๔ ขาดเมตตากรุณาจิตตนเอง เลยไปเบียดเบียนผู้อื่นคือ ร่างกายที่จิตเรามาอาศัยเขาอยู่ชั่วคราว แต่นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมดานะ เพราะพวกเจ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ที่ท่านไม่ห่วงขันธ์ ๕ ของตนเองและของผู้อื่นอย่างจริงใจ ท่านเห็นเป็นของธรรมดาไปหมด เห็นขันธ์ ๕ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นของธรรมดา แม้แต่ร่างกายจักตายก็เป็นของธรรมดา ในระดับจิตของพวกเจ้ายังปลดความกังวลไม่ได้ จึงเป็นเรื่องธรรมดา และก็จงอย่าละความพยายามที่จักพิจารณา และปลดหรือปล่อยวางร่างกายหรือขันธ์ ๕ ให้เหลือแต่แค่ธรรมดา อย่าท้อถอยเสียอย่างเดียว เหนื่อยก็พักจิตอยู่ในสมถะ กำหนดกสิณพระนิพพานเข้าไว้ เมื่อจิตมีกำลังดีแล้วก็เริ่มต้นพิจารณาขันธ์ ๕ ใหม่ ทำอยู่อย่างนี้ไม่ขาดสาย สักวันหนึ่งความหวังที่จักจบกิจก็จักเข้ามาถึงพวกเจ้าได้เอง อย่าท้อใจ อย่าใจร้อนก็แล้วกัน” ๗. “ชีวิตที่อยู่ในโลกนี้มีแต่ทุกข์ ขึ้นชื่อว่าสุขจริง ๆ ไม่มีสำหรับการมีชีวิตอยู่ในโลก ให้พิจารณาไปตามนี้โดยเห็นเป็นปกติธรรม คือให้ลงตัวธรรมดา จิตจักได้ไม่เศร้าหมอง และให้เห็นคุณค่าของการไปพระนิพพาน ถ้าหากละจากโลกนี้เสียได้ขึ้นชื่อว่ามีความสุข (เตสัง วูปะสะโม สุโข) คำว่าละจากโลก มิใช่ว่าตายจากโลกนี้แต่เพียงร่างกาย เพราะถ้าตายอย่างนั้น จิตก็ยังไม่หมดเชื้อของการติดโลก การไปพระนิพพาน จักต้องอาศัยจิตที่ละได้จากโลกนี้จริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขันธโลกที่จิตเราอาศัยอยู่นี้ ดังนั้น จงอย่าห่วงร่างกายของตนเอง และจงอย่าห่วงร่างกายของคนอื่น มีหน้าที่ก็สักแต่ว่าทำ หน้าที่เพียงเท่านั้น เพราะที่สุดร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี สัตว์ก็ดี วัตถุธาตุต่าง ๆ ในโลกก็ดี ต่างก็อนัตตาสลายตัวเหมือนกันหมด และการตายของท่านผู้ที่สามารถจักไปพระนิพพานได้ ก็พึงยินดีกับท่านเพราะท่านมีความสุข” ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙ รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-11-2011 เมื่อ 02:23 |
สมาชิก 36 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|