#1
|
||||
|
||||
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนเอง ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เราถนัดมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่จะกล่าวถึงในวันนี้คือเรื่องของการทรงฌาน เนื่องจากว่าพวกเราทั้งหลายส่วนใหญ่แล้ว เมื่อทรงอารมณ์สมาธิหรือว่าฌานสมาบัติขั้นใดขั้นหนึ่งได้ เมื่อถึงเวลาเลิกแล้วก็มักจะทิ้งไปเลย จึงกลายเป็นบุคคลที่สามารถทรงฌานได้เฉพาะเวลาที่นั่งปฏิบัติเท่านั้น ส่วนในเวลาอื่น ๆ ซึ่งเป็นเวลาจำเป็นที่เราต้องใช้กำลังฌานในการกดกิเลส ใช้กำลังฌานในการสร้างสติ สร้างปัญญาของเรา เรากลับไม่ได้ทรงฌานเหล่านั้นไว้ ผลในการปฏิบัติธรรมของเราจึงมีน้อยมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากที่เราเจริญสมาธิภาวนาในแต่ละครั้ง เมื่อเลิกแล้วอย่าทิ้งการภาวนา แต่ให้ประคับประคองรักษาอารมณ์ในการภาวนาของเราเอาไว้ ใหม่ ๆ อาจจะได้แค่นาที สองนาที ก็พังไปแล้ว แต่ถ้าหากเรามีความเพียรพยายามไม่ย่อท้อ ก็จะได้ระยะเวลาที่นานขึ้น เป็นห้านาที สิบนาที สิบห้านาที ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง ยิ่งทำไปกำลังใจที่ห่างไกลจากกิเลส ทำให้เรามีความสุขความเยือกเย็น คราวนี้เราก็จะรู้แล้วว่า การทรงฌานนั้นมีประโยชน์อย่างไร ก็จะตั้งหน้าตั้งตาประคับประคองมากยิ่งขึ้น ความชำนาญที่มีมากขึ้นตามระยะเวลา ก็จะทำให้เราสามารถประคองรักษาอารมณ์ที่ได้จากการปฏิบัติไว้เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง ครึ่งวัน หนึ่งวัน สองวัน สามวัน ห้าวัน เจ็ดวัน สิบห้าวัน หนึ่งเดือน ถ้าบุคคลที่คล่องตัวมาก ๆ สามารถทรงฌานได้ตลอดเวลาทั้งหลับและตื่น เมื่อเวลาหลับก็รู้อยู่ว่าตนเองนั้นหลับ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-11-2016 เมื่อ 20:48 |
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ถามว่ารู้ได้อย่างไร ? เพราะว่าสภาพที่หลับเป็นสภาพของร่างกาย สภาพจิตนั้นตื่นอยู่เสมอ เมื่อมีอะไรมากระทบ ก็ค่อย ๆ รับรู้ด้วยความระมัดระวัง ถ้าหากว่ามีความจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์ด้วย หรือต้องแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ คลายสมาธิออกมาด้วยความระมัดระวัง ให้อยู่ในระดับที่ตนเองสามารถเคลื่อนไหวได้ แล้วก็ไปกระทำการนั้น ๆ ไปแก้ไขเหตุการณ์นั้น ๆ เมื่อจบแล้วก็กลับเข้าสู้สมาธิของตนเองตามเดิม ท่านทั้งหลายเหล่านี้ แม้ว่าหลับอยู่ก็รู้ว่าตัวเองหลับ หลายครั้งได้ยินเสียงตนเองกรนด้วย
เมื่อจะตื่นก็ต้องกำหนดใจว่าพร้อมที่จะตื่นแล้ว ความรู้สึกก็จะขยายออกจากส่วนรวมไปยังปลายมือปลายเท้า เมื่อความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้น ก็จะบอกว่าให้ลืมตา ให้ลุก ให้นั่ง ให้ยืน ให้เดิน เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ความจริงเกิดขึ้นเร็วมาก แต่เมื่อเวลาอธิบายจะรู้สึกว่าใช้ระยะเวลาที่นาน ความจริงแล้วถ้าเป็นบุคคลอื่นจะเห็นว่า บุคคลที่ทรงฌานแล้วหลับอยู่นั้น ลืมตาพลิกตัวขึ้นลุกนั่งแล้วเดินไปเลย แต่ด้วยสภาพจิตที่ละเอียดจะเห็นว่าทุกขั้นตอนช้ามาก จุดสังเกตที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ บุคคลทั้งหลายเหล่านี้จะไม่มีอาการงัวเงียง่วงเหงาหาวนอน คือพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆได้ทันทีที่ตื่นขึ้นมา
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-11-2016 เมื่อ 20:50 |
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
เมื่อเป็นเช่นนี้ การประคับประคองอารมณ์ใจของเราที่ทำได้ในขณะที่นั่งสมาธิภาวนา จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดซึ่งพวกเราทุกคนจะละเว้นไม่ได้ เนื่องเพราะว่าการปฏิบัติธรรมของเราเป็นการทวนกระแสโลก เหมือนการว่ายทวนน้ำ ถ้าเราไม่พยายามว่ายอยู่เสมอ ก็จะไหลตามกระแสน้ำไป ทำให้หาความก้าวหน้าในการปฏิบัติไม่ได้
ดังนั้น...ทุกท่านควรจะฝึกหัดในการภาวนาขณะที่เดินจงกรมบ้าง ขณะทำหน้าที่อย่างอื่นบ้าง เพื่อให้สภาพจิตเคยชินกับการทรงสมาธิภาวนาในเวลาที่เคลื่อนไหว เมื่อถึงเวลาลุกจากการปฏิบัติธรรมไปทำหน้าที่อื่น ๆ สมาธิจะได้ทรงตัว ไม่คลายตัวเร็วเกินไปนัก ถ้าเราสามารถซักซ้อมทำอย่างนี้ได้นาน ๆ ระยะเวลาที่จิตปราศจากกิเลส ความผ่องใสมีมากขึ้นเท่าไร เราก็จะเห็นช่องทางในการละกิเลสต่าง ๆ เพื่อพิจารณารวบรัดตัดตรงเข้าหาพระนิพพานได้มากเท่านั้น ลำดับต่อไปให้ทุกท่านภาวนาพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญานบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันเสาร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-11-2016 เมื่อ 17:42 |
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|