#1
|
||||
|
||||
ธรรมบรรยายในรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม หัวข้อ "ปกิณณกธรรม"
ธรรมบรรยายในรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม หัวข้อ "ปกิณณกธรรม"
โดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๙.๐๐ น. พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ (๒) ประธานชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลท่าขนุน เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรีแห่งที่ ๒๓ (วัดท่าขนุน) บรรยายธรรมในรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม ผ่านระบบซูมมีตติ้งออนไลน์ ณ กุฏิริมป่าช้า วัดอุทยาน ถนนเลียบคลองบางกอกน้อย ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-01-2024 เมื่อ 12:00 |
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ขอถวายความเคารพพระเดชพระคุณพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ ป.ธ.๙) องค์อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตลอดจนกระทั่งพระเถรานุเถระ ที่เข้าร่วมรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรมในวันนี้ และขอเจริญพรปีใหม่ยังญาติโยมฆราวาสทุกท่านที่เข้ามาร่วมรายการในวันนี้ด้วย
เมื่อครู่นี้กระผม/อาตมภาพทดสอบดูว่า ถ้าโผล่หน้าจริงขึ้นมาในรายการแล้วจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าวันนี้เนื่องจากว่าอยู่นอกสถานที่ จึงทำให้ไม่มีไฟส่องทางด้านหน้า หน้าออกมาค่อนข้างจะดำ ๆ จึงขอใช้รูปแทนตัวไปอย่างที่ทุกท่านเห็นอยู่ในขณะนี้ วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ถือว่าเป็นการฟังธรรมและปฏิบัติธรรมรับปีใหม่ ของรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้า เราท่านทั้งหลายก็ได้รับฟังจากพระเดชพระคุณพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. องค์อธิการบดีไปแล้ว ในรอบค่ำนี้ท่านอาจารย์พระมหาไพโรจน์ กนโก ก็ได้นำทุกท่านทำวัตรสวดมนต์ไป แล้วก็ต่อด้วยการฟังกระผม/อาตมภาพบรรยายในช่วงนี้ การทำวัตรสวดมนต์นั้น ความจริงแล้วเป็นการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุด เนื่องเพราะว่าเราท่านทั้งหลายนั้น เท่ากับสร้างสมาธิจิตให้เกิดขึ้นในเบื้องต้น เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า การทำวัตรสวดมนต์นั้นเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุธรรมเลย ถ้าหากว่าเราดูในวิมุตตายตนสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกของเรา จะกล่าวถึงขณะในการบรรลุธรรมของพวกเราเอาไว้ว่า อันดับแรกเลย บรรลุในขณะที่กำลังฟังธรรม ก็คือเมื่อครูบาอาจารย์ได้สาธยายธรรม บรรยายให้แก่พวกเรา พวกเราก็กำหนดใจ เงี่ยหูลงฟัง และพิจารณาเนื้อความ ทำให้สามารถบรรลุธรรมในขณะนั้นได้ ก็คือเมื่อรับเอาหลักธรรมนั้นเข้าไปพินิจพิจารณาแล้ว เห็นว่าเราสามารถที่จะทำได้ เราก็ตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลยว่า "เราจะทำตามนั้น" ซึ่งคำว่าการตัดสินใจนี่แหละ เป็นเคล็ดลับสำคัญที่สุด ในการบรรลุธรรมของทุกรูปทุกนาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกล่าวไว้ในมงคลสูตรว่า กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง การฟังธรรมตามกาลอันสมควร จัดว่าเป็นอุดมมงคลอย่างยิ่ง เนื่องเพราะว่าเราฟังแล้วพินิจพิจารณาตามไป มีโอกาสที่จะบรรลุธรรมได้เลย ถ้าตัดสินใจได้เด็ดขาดและถูกต้อง ขอย้ำกับทุกท่านอีกครั้งหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรมของเรานั้น ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใดก็ตาม จะขาดการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเราขาดการตัดสินใจแล้ว เราไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้เลย ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายศึกษาในพระไตรปิฎก จะเห็นว่าเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนา มีพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี และอุบาสก อุบาสิกา บรรลุธรรมตามนั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีการตัดสินใจตามไปด้วย
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-01-2024 เมื่อ 03:03 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
แต่ว่าพวกเราทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่แล้วขาดการตัดสินใจตรงนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่า อันดับแรกก็คือ กุศลที่เราสั่งสมมาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราบรรลุธรรมอย่างหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ ถึงแม้ว่ากุศลและปัญญาของเราเพียงพอ แต่ว่ากำลังสมาธิไม่พอที่จะใช้ในการตัดทุกอย่างให้เด็ดขาดลงไปได้ จึงทำให้เราไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้
ในปัจจุบันของเรานี้ วันพระซึ่งเป็นวันที่เราเรียกกันแบบง่าย ๆ นั้น ในสมัยก่อนเรียกกันว่าวันธรรมสวนะ คือวันแห่งการฟังธรรม เมื่อมากล่าวถึงตรงนี้ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเคยผ่านไปทางด้านศาลายา จังหวัดนครปฐม จะมีสถานที่อยู่สองแห่ง แห่งแรกก็คือศาลายา แห่งต่อไปคือศาลาธรรมสพน์ คำว่าธรรมสพน์ตัวนี้ก็คือธรรมะ แล้วก็สพน์ก็คือสวนะ ซึ่งเปลี่ยน ว.แหวน เป็น พ.พาน ความจริงคำว่า ศาลาธรรมสพน์ นั้น มาจากการ "ทำศพ" คือจัดการกับซากสังขารที่ตายลงไปจริง ๆ เนื่องเพราะว่าการรักษานั้น เขาจะรักษากันที่ "ศาลายา" ถ้ารักษาแล้วไม่รอด ก็เอาไปจัดการที่ "ศาลาทำศพ" แต่คนโบราณเกรงว่าคำว่าศาลาทำศพ จะทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกไม่ดี เมื่อมาในระยะหลัง จึงเปลี่ยนเป็นคำว่าศาลาธรรมสพน์ ก็คือธรรมสวนะ ศาลาฟังธรรมแทน คราวนี้ย้อนกลับมาถึงขณะในการบรรลุธรรม ตามในวิมุตตายตนสูตร ท่านบอกว่าขณะที่สองก็คือ บรรลุได้ในขณะกำลังแสดงธรรม อย่างเช่นกระผม/อาตมภาพกำลังบรรยายอยู่ในขณะนี้ เรียกว่าเมื่อสอนคนอื่นแล้ว ก็สอนตนเองไปพร้อมกันด้วย เมื่อสอนผู้อื่นไปแล้ว เห็นว่าสามารถทำตรงไหนได้ ก็ตัดสินใจเด็ดขาดลงไปเดี๋ยวนั้นเลย ว่า "เราจะทำแบบนั้นด้วย" ก็สามารถทำให้บรรลุธรรมได้ ในขณะที่กำลังแสดงธรรมแก่ผู้อื่นอยู่ ขณะที่สามก็คือ บรรลุในขณะสาธยายธรรม คำว่าสาธยายในที่นี้ก็คือสวด ท่อง เพื่อที่จะได้จดจำเอาไว้ให้คล่องปาก คล่องใจ ถึงเวลาแล้วจะได้นำขึ้นมาพินิจพิจารณาใหม่ แต่บังเอิญว่าในขณะที่สวดสาธยายไป เราเข้าใจความหมายว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ก็ตัดสินใจไปตามนั้นว่า เราจะปฏิบัติตามนั้นทันที ทำให้สามารถที่จะบรรลุธรรมได้เช่นกันจึง ขณะที่สี่ก็คือบรรลุในขณะพิจารณาธรรม ก็คือยกเอาข้อธรรมคำสอนนั้นขึ้นมาพินิจพิจารณาใหม่ ตอนที่ฟังอยู่อาจจะยังไม่ชัดเจน ตอนที่สวดสาธยายก็ยังเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง จึงต้องนำมาขบคิด จนกระทั่งเกิดความกระจ่างขึ้นกลางใจ ถ้าเป็นภาษาญี่ปุ่น เขาเรียกว่า "ซาโตริ" ก็คือบรรลุฉับพลันในขณะนั้น เนื่องเพราะว่าเมื่อพิจารณาเห็นแจ้งแล้ว ตัดสินใจยอมรับ ปฏิบัติตามนั้น ทำให้สามารถที่จะบรรลุธรรมได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-01-2024 เมื่อ 03:06 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
วิปัสสนาญาณนี้มีเป็นจำนวนมากต่อมากด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาตามแนวอริยสัจ ๔ ก็ดี ตามปฏิจจสมุปบาทก็ตาม หรือว่าพิจารณาในขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้ อายตนะ ๑๒ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บวกกับส่วนที่ออกไปสัมผัส คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ หรือว่าธาตุ ๑๘
ลงไปจนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ตั้งแต่การพิจารณาเห็นการเกิดและดับเป็นปกติ หรือว่าเห็นการดับสิ้นทั้งปวง เห็นความเป็นทุกข์เป็นภัย เห็นเป็นของน่ากลัวในอัตภาพร่างกายนี้ เป็นต้น เมื่อเรายกเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ขึ้นมาพินิจพิจารณา ถ้าหากว่าปัญญาเพียงพอ กำลังสมาธิของเราถึง ก็สามารถที่จะตัดขาดได้ตามนั้น ดังนั้น..เราท่านทั้งหลายจะเห็นว่า ในเรื่องของสมถภาวนา คือการปฏิบัติให้เกิดกำลังสมาธิ และเรื่องของวิปัสสนาภาวนา คือการพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะทิ้งขาดจากกันได้ เพราะว่าในส่วนของสมถภาวนานั้นเป็นการสร้างกำลังให้เกิด วิปัสสนาภาวนานั้น เหมือนอาวุธที่มีความคมกล้า เมื่อเรามีกำลัง สามารถยกอาวุธนั้นขึ้นมาตัดฟันสิ่งใดก็ได้ แต่ถ้าหากว่ากำลังไม่พอ มีอาวุธอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะยกขึ้นมาตัดฟันอะไรได้ หรือว่ามีแต่อาวุธ ขาดกำลังที่จะยกขึ้นมาใช้งาน ก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาจึงเปรียบเสมือนบุคคลที่ผูกขาติดกันอยู่ เมื่อเราก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้า ก้าวจนสุดแล้ว ไม่สามารถที่จะก้าวต่อได้ เราต้องก้าวเท้าอีกข้างหนึ่งตามไป จึงสามารถที่จะได้ระยะทางเพิ่มขึ้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมาแยกการปฏิบัติ เอาแต่สมถภาวนาอย่างเดียว เมื่อกำลังใจของเราทรงสมาธิเต็มที่ที่เราทำได้แล้ว หลายท่านจะรู้สึกชัดเจนว่าเหมือนเดินไปถึงทางตัน แล้วไปต่อไม่ได้ เมื่อถึงในระดับนั้น ก็ขอให้ทุกท่านรีบยกเอาวิปัสสนาภาวนาขึ้นมาพินิจพิจารณา ส่วนที่ง่ายที่สุดก็คือ มองให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ และท้ายที่สุดไม่มีอะไรให้เรายึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ ถ้าหากว่าสภาพจิตยอมรับ กำลังสมาธิเพียงพอ เราจะสามารถตัดกิเลสได้ตามลำดับกำลังของเราที่เข้าถึงได้ แต่ถ้าพินิจพิจารณาไปแล้ว กำลังทุกอย่างยังไม่เพียงพอ สมาธิของท่านที่ทรงอยู่ได้ใช้จนหมดไป การพิจารณานั้นก็จะเลือนลางจืดจางลงไป เราต้องรีบกลับมาหาการภาวนาใหม่ จะเป็น "พองหนอ ยุบหนอ" ก็ได้ เป็น "พุทโธ" ก็ได้ เป็น "สัมมา อะระหัง" ก็ได้ หรือคำภาวนาอื่นใดที่ท่านทั้งหลายชอบใจก็ได้ จนกำลังสมาธิของเรามั่นคงแล้ว ค่อยยกเอาวิปัสสนาญาณขึ้นมาพิจารณาใหม่ ก็คือต้องสลับกันไปสลับกันมาแบบนี้ ถึงจะมีความเจริญก้าวหน้า
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-01-2024 เมื่อ 03:09 |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
ถ้าหลายท่านเน้นในสมถกรรมฐานอย่างเดียว กระผม/อาตมภาพขอยืนยันว่า "อันตรายมาก" คำว่าอันตรายมากในที่นี้ก็คือ เมื่อเราทำสมาธิจนเต็มที่แล้ว ถ้าไม่ได้เอาไปใช้พิจารณาวิปัสสนาญาณ ท่านทั้งหลายจะโดนกิเลสขโมยเอากำลังนั้นไปใช้งาน เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ความฟุ้งซ่าน รัก โลภ โกรธ หลงที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้ท่านทั้งหลายเดือดร้อนมาก เพราะว่าจะฟุ้งซ่านอย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นงานเป็นการ เนื่องจากได้กำลังจากสมาธิของเราไปใช้ในการฟุ้งซ่านนั้น ๆ
แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติมาในส่วนของวิปัสสนาอย่างเดียว ถ้าหากว่ากำลังไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะอยู่ที่ขณิกสมาธิ หรือว่าอุปจารสมาธิ ก็คือเข้าถึงสมาธิได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เพียงพอต่อการที่จะเอาไปใช้ในการตัดกิเลส ท่านทั้งหลายก็จะโดน รัก โลภ โกรธ หลง กระหน่ำตีอย่างรุนแรงอีกเช่นกัน ก็จะทำให้ท่านทั้งหลายรู้สึกว่า "ทำไมการปฏิบัติธรรมถึงได้ยากเย็นเข็ญใจขนาดนี้ ?" "ทำไมเราเป็นคนมีกิเลสมากขนาดนี้ ?" ความจริงแล้วทุกคนมีกิเลสเหมือน ๆ กัน มีกิเลสเท่ากัน เพียงแต่ว่าวิธีในการจัดการกับกิเลสของท่านทั้งหลายต่างกันเท่านั้นเอง ถ้าเรามีความเข้าใจในตรงนี้ เมื่อภาวนาจนกำลังใจมั่นคงแล้ว ก็ยกเอาวิปัสสนาญาณขึ้นมาพิจารณา ง่ายที่สุดก็คือเห็นความไม่เที่ยงของตัวเรา ว่าเมื่อคลอดออกจากท้องแม่มา ก็เป็นเด็กเล็ก นอนหงายตะกายอากาศ ความเปลี่ยนแปลงปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ พลิกคว่ำ หัดคืบ หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน หัดวิ่ง พูดไม่ได้ก็เพียรพยายามพูดจนได้ เป็นเด็กเล็ก ค่อย ๆ โตขึ้นเป็นเด็กโต เป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว เป็นหนุ่มสาวเต็มตัว ก้าวเข้าสู่วัยกลางคน เป็นคนแก่ ท้ายที่สุด เมื่อหมดอายุขัยก็ตายลงไป ความจริงความตายนั้นมาถึงเราได้ทุกชั่วขณะอายุ แต่ในทีนี้เราว่าไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ในเมื่อเราเห็นชัดว่าร่างกายนี้มีอนิจจัง คือความไม่เที่ยงเป็นปกติ ไม่สามารถที่จะทรงอยู่ในระดับใดระดับหนึ่งอย่างมั่นคงตามที่เราต้องการ เราเองยังอยากได้ใคร่ดีในร่างกายนี้อีกหรือไม่ ? เมื่อเห็นชัดว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เราไม่ต้องการอีกแล้ว ถ้าตัดสินใจลงไปได้เด็ดขาด กำลังสติ สมาธิ และปัญญาเพียงพอ ท่านทั้งหลายก็จะตัดกิเลสในระดับใดระดับหนึ่งลงไปได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-01-2024 เมื่อ 03:11 |
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
หลังจากนั้น ถ้าหากว่าเราพิจารณาแล้วกำลังยังไม่เพียงพอ สมาธิก็เคลื่อนก็คลายลงไปอีก ถ้าไม่รีบวิ่งไปหาการภาวนาใหม่ รัก โลภ โกรธ หลง ก็จะเกิดขึ้นแทน ท่านทั้งหลายจึงต้องรีบวิ่งเข้าไปหาการภาวนาใหม่ เมื่อกำหนดไปจนกำลังใจมั่นคงแล้ว ก็ยกเอาข้อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพิจารณาต่อ ก็คือกำหนดดูว่า "เราเป็นทุกข์อย่างไรบ้าง ?"
ถ้าเอาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เราก็ต้องขดงอก่องอขิงอยู่ในท่าเดียว เป็นระยะเวลาถึง ๙ เดือน ๑๐ เดือน คนเรานั่งนิ่ง ๆ แค่ไม่กี่นาทีก็เมื่อยจะแย่แล้ว นั่นต้องขดอยู่ในท้องแม่ทีหนึ่งเป็นเดือนเป็นปี ปวดเมื่อยขนาดไหนก็ไม่สามารถที่จะบอกคนอื่นได้ อึดอัดร้อนรนขนาดไหน ก็บอกคนอื่นไม่ได้ ดิ้นรนเตะถีบ เพื่อที่จะให้พ้นจากสภาพความทุกข์นั้น ปรากฏว่าคนกลับไปเข้าใจว่าเราแข็งแรงมาก..! ครั้นเมื่อถึงกำหนดแล้ว คลอดเคลื่อนออกจากท้องแม่มา กระทบความร้อนความหนาวของอากาศ แสบร้อนไปทั้งกาย ร้องไห้จ้าขึ้นมา แต่ว่าคนรอบข้างกลับดีอกดีใจ อย่างที่ท่านอาจารย์พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ ผศ.,ดร. ได้กล่าวไว้เมื่อครู่นี้ว่า เรามักไปยินดีกับการเกิด แต่ว่ากลับลืมนึกถึงความตายไป ความทุกข์นั้นท่วมท้นเข้ามาทันดีทันใด ร่างกายสกปรกต้องชำระสะสาง หิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ต้องถ่ายหนักถ่ายเบา เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล ตอนเล็ก ๆ ยังไม่รู้ความ ก็ต้องอาศัยการดูแลของพ่อแม่พี่น้อง เขาเองอาจจะไม่เข้าใจความทุกข์ของเราในตอนนั้น ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที เราก็จมอยู่กับกองทุกข์นั้น ๆ อย่างเช่นว่าถ่ายหนักถ่ายเบา แล้วไม่มีใครอยู่ใกล้ เราก็ต้องทนจมอยู่ในกองมูตรคูถทั้งหลายเหล่านั้นไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง อึดอัดเดือดร้อนจะแย่ แต่บอกใครไม่ได้ ร้องไห้ขึ้นมา บางทีคนก็ยังไม่เข้าใจอีกว่า "ร้องทำไม !?" ค่อย ๆ ที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง ช่วยเหลือตนเอง พยายามหัดพลิกตัว กว่าจะพลิกได้ก็เหนื่อยแทบขาดใจ ความทุกข์มีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ หัดคืบ หัดคลาน หัดยืน หกล้มหกลุกเจ็บปวดเป็นอันมาก ในขณะเดียวกัน คนอื่นก็กลายเป็นกองเชียร์ โดยที่ไม่รู้ว่าเรานั้นเหนื่อยยากลำบากขนาดไหน หิวยังต้องกิน กระหายยังต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ต้องถ่ายหนักถ่ายเบา ร่างกายสกปรกต้องชำระสะสาง เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องรักษาพยาบาล
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-01-2024 เมื่อ 02:14 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
ความทุกข์ทั้งหลายมีเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าเราต้องศึกษาเรียนรู้ พยายามหัดพูด เป็นคำบ้าง ไม่เป็นคำบ้าง กว่าที่จะสื่อสารความในใจให้กับคนอื่นอย่างชัดเจนได้ ก็ใช้เวลาหลายปี แล้วยังต้องเล่าเรียนหนังสือ ต้องลำบากเดือดร้อน ตื่นแต่เช้า ง่วงก็ง่วง เหนื่อยก็เหนื่อย หลับคอพับคออ่อน กว่าที่พ่อแม่จะส่งไปถึงโรงเรียน
ต้องศึกษาเล่าเรียนด้วยความยากลำบาก บางวิชาก็เป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย ถึงเวลาการบ้านก็ไหลมาเทมา ยังต้องกระทบกระทั่งกับเพื่อนอีก เมื่อกลับบ้านมา เหนื่อยยากลำบาก แทบอยากจะสลบไสลลงไป แต่ว่ายังมีการบ้านมากมายให้เราต้องทำ มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เราอาจจะเรียนเก่ง ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่หนักมากนัก แต่พอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นหนุ่มสาว เราก็ไปรักไปชอบเพศตรงข้ามอีก ทันทีที่รักเขาก็ทุกข์แล้ว เพราะเกรงว่าเขาจะไม่รักตอบบ้าง เกรงว่าคนอื่นจะมาแย่งชิงไปบ้าง ต้องคอยติดตาม ต้องคอยสืบข่าว ต้องคอยดูว่าเขาต้องการอะไร ชอบใจสิ่งใด แล้วหามาสนองความต้องการของเขา ถือเสียว่าเราท่านทั้งหลายเป็นคนโชคดี เรียนจบมาโดยไม่ยากลำบากนัก รักใครเขาก็รักตอบ ไม่โดนกีดกันจากผู้ใหญ่ เมื่อถึงเวลาหางานหาการทำเป็นที่มั่นคงได้ เราก็ได้แต่งงานตามที่ปรารถนา แต่คราวนี้ความทุกข์หนักก็ถาโถมเข้ามา ตอนอยู่คนเดียว เราจะไม่กินสักมื้อสองมื้อก็ได้ แต่ตอนนี้มีคู่ครองแล้ว เขาหิวก็เหมือนกับเราหิวด้วย เมื่อถึงเวลาก็ต้องหาให้กิน เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็ต้องห่วงต้องใย ต้องคอยรักษาพยาบาล คอยพาไปหาหมอหายา แล้วยังต้องมีเจ้าตัวเล็ก ๆ ขึ้นมาอีก จากความทุกข์แค่ตัวเอง ก็กลายเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า เพราะว่าถึงเวลาก็ต้องอดตาหลับขับตานอน มาคอยดูแลเจ้าตัวจ้อย คอยเลี้ยงดูจนกว่าจะเติบใหญ่ขึ้นมา ตัวเราเองก็ก้าวเข้าไปสู่ความชราอยู่เรื่อย ๆ ยังคงหิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ต้องถ่ายหนักถ่ายเบา เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องรักษาพยาบาล ร่างกายสกปรก ต้องคอยดูแลชำระสะสางอยู่เสมอ ร่างกายแก่ลงไปทุกวัน ความทุกข์ต่อให้เท่าเดิม ก็เหมือนกับทุกข์มากกว่าเดิม เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะจัดการกับทุกข์ได้ดีเหมือนช่วงที่ยังหนุ่มสาวอยู่ จนกระทั่งท้ายสุด ความทุกข์บีบคั้นถึงที่สุด ร่างกายก็แตกก็ดับไป..! เราจะเห็นว่าตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา จนหลับตาลงไป ไม่มีขณะไหนเลยที่เราเป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะว่าความสุขนั้น ความจริงก็คือความทุกข์ที่โดนบดบังด้วยอารมณ์อื่น ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าสุขเพียงชั่วครั้งช่วงคราวเท่านั้น เมื่อถึงเวลา ความทุกข์ก็กลับมาโถมทับพวกเราตามเดิมอีก
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-01-2024 เมื่อ 02:16 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
เมื่อพินิจพิจารณาไปอย่างนี้ เห็นชัดเจนว่าตัวเราเองก็ดี บุคคลอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี แม้แต่วัตถุธาตุสิ่งของต่าง ๆ ก็ตาม มีแต่ความทุกข์เป็นปกติ สิ่งไม่มีชีวิตทุกข์ ก็คือต้องเสื่อมสลายไปตามสภาพ
สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น ความจริงมีความทุกข์เท่ากับเรา แต่ว่าทุกข์หนักก็คือ ไม่สามารถจะบอกจะกล่าวแก่ผู้ใดได้ จึงทำให้ทุกข์หนักกว่าเราเข้าไปอีก ตัวเราก็เป็นเช่นนี้ คนอื่นก็เป็นเช่นนี้ สัตว์อื่นก็เป็นเช่นนี้ วัตถุธาตุทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้ ขึ้นชื่อว่าเกิดมามีแต่ความทุกข์เช่นนี้ จักไม่มีสำหรับเราอีกแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราปล่อยวาง การที่มีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ เราไม่ปรารถนาอีกแล้ว ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าหากว่าสติ สมาธิ ปัญญา ของท่านทั้งหลายเพียงพอ ก็จะตัดกิเลสได้ในระดับใดระดับหนึ่งตามวาสนาบารมีของตนที่สั่งสมมา แต่ถ้าหากว่ายังไม่เพียงพอ พิจารณาแล้วกำลังเริ่มลดน้อยถอยลง ความจืดจางเลือนลาง ไม่ชัดเจนในข้อธรรมปรากฏขึ้น เราก็กลับมาภาวนาใหม่ จนกระทั่งกำลังใจมั่นคงแล้ว ก็ค่อยยกเอาข้อธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพิจารณาใหม่ เช่น ดู "ความไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา" ก็ได้ เมื่อครู่นี้ท่านอาจารย์พระปลัดสรวิชญ์กล่าวไว้แล้วว่า เราประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ ถ้าหากว่าธาตุลมขาดไป ธาตุไฟก็ดับ เพราะว่าไม่มีลมหนุนเสริมก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อไม่มีธาตุไฟคอยควบคุมอยู่ ธาตุน้ำก็ค่อย ๆ ล้นเกิน ร่างกายนี้ก็จะบวมจะพองขึ้นมา ท้ายที่สุด เมื่อธาตุน้ำล้นเกินมาก ๆ ก็ทำลายธาตุดิน คือกายสังขารนี้ ก็ปริ แตก เน่าเปื่อย มีแต่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ไหลโทรมเป็นปกติ ในเมื่อท่านทั้งหลายจะพินิจพิจารณา เราก็ยกเอามหาภูตรูป ๔ ที่ประกอบเป็นร่างกายนี้ขึ้นมาพินิจพิจารณาทีละส่วน คำว่า มหาภูตรูป ก็คือธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม เรามาดูให้ชัดเจนว่า ส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน จับได้ ต้องได้ คือ ธาตุดิน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก ตลอดจนกระทั่งอวัยวะภายในใหญ่น้อย เช่น ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น เหล่านี้เราลองแยกออกมากองไว้ด้านหนึ่ง
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-01-2024 เมื่อ 02:19 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
ส่วนที่เอิบอาบ ชุ่มชื้น เคร่งตึงอยู่ในร่างกายของเราเป็นธาตุน้ำ ประกอบไปด้วยเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ
ส่วนที่พัดไปมาในร่างกายของเรา หรือว่าอยู่ในช่องว่างในร่างกายของเรา หรือว่าค้างอยู่ในท้อง ในไส้ คือ ธาตุลม ได้แก่ ลมในช่องหู ลมในช่องจมูก ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างในท้องในไส้ ที่เรียกกันว่าแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย ที่เรียกว่าความดันโลหิต แยกเอาไว้อีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่ให้ความอบอุ่นในร่างกายของเรา คือ ธาตุไฟ มีทั้งธาตุไฟที่กระตุ้นให้ร่างกายนี้เจริญเติบโตขึ้น ธาตุไฟที่เผาผลาญทำลายร่างกายนี้ให้ทรุดโทรมลง ธาตุไฟที่ช่วยสันดาปเผาย่อยอาหารเพื่อส่งไปเลี้ยงร่างกาย ธาตุไฟที่ทำให้เรากระวนกระวายยามป่วยไข้ แยกเอาไว้อีกกองหนึ่ง กองนี้คือดิน กองนี้คือน้ำ กองนี้คือลม กองนี้คือไฟ เมื่อแยกออกไปแล้ว ไม่เหลืออะไรเป็นเราเป็นของเราเลย คำว่าตัวตนไม่มีในทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ วัตถุธาตุสิ่งของ เมื่อแยกแยะออกมาแล้ว ก็เป็นส่วนประกอบของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ทั้งสิ้น เราจะเห็นชัดเจนว่าร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย ก็ถอนจิตจากการยึดมั่นถือมั่นนั้นออกมา หรือถ้าจะพิจารณาเพิ่มเติม ก็พิจารณาในส่วนที่ว่า เมื่อธาตุลมขาดไป ธาตุไฟก็ดับ ธาตุน้ำก็ค่อย ๆ ทำลายธาตุดิน เมื่อถึงเวลาผ่านไปวันหนึ่ง ก็เริ่มบวมขึ้นมาเล็กน้อย สองวันสามวันก็อืดพองขึ้นมาทุกที เริ่มมีสีเขียว ๆ ช้ำ ๆ ท้ายที่สุด ผิวหนังก็ทนไม่ไหว ปริแตก น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองไหลโทรม ส่งกลิ่นเหม็นเน่าไปไกล ๆ บรรดาสัตว์กินซากทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหมู่หนอน หมู่แมลง นกแร้ง นกกา หรือว่าสุนัขบ้าน สุนัขป่า สุนัขจิ้งจอก เหี้ย ตะกวด มาฉีก มาทึ้ง มาดึง มาลาก เอาอวัยวะภายนอกภายใน และเลือดเนื้อไปเป็นอาหาร ตีเสียว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นกินอย่างมีมารยาทก็แล้วกัน ทำให้ร่างกายนี้ยังมีโครงกระดูกครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ เพราะว่าร้อยรัดด้วยเส้นเอ็น แต่ขนาดนั้นก็ตาม กลิ่นเหม็นก็ยังคงกระจายไปไกล ๆ ไม่มีใครต้องการแม้แต่เข้าใกล้เลย..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-01-2024 เมื่อ 02:21 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
นี่คือความเป็นจริงแท้ของร่างกายนี้ว่า ที่ทรงอยู่ได้เพราะมีกระดูกเป็นโครงคอยค้ำยันอยู่ มีเส้นเอ็นร้อยรัดเอาไว้ ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ ประกอบด้วยอวัยวะภายในภายนอก เป็นสิ่งที่หลอกตาเราอยู่เท่านั้น ถ้าหากว่าถลกหนังออกไปเท่านั้น ก็ไม่มีใครปรารถนาอีกแล้ว หรือว่าสิ่งสกปรกที่หลั่งไหลออกมาจากทวารต่าง ๆ ในร่างกายของเรา ถ้าหากว่าไม่ชำระสะสางสักสองวันสามวัน แม้แต่ตัวเราเองก็ยังทนไม่ได้..!
ครั้นโครงกระดูกนี้โดนแดดเผา โดนฝนชะ โดนลมพัดโกรก ก็ค่อย ๆ เก่าลง ๆ เส้นเอ็นเปื่อยสลายไป กะโหลกศีรษะกลิ้งไปทางหนึ่ง กระดูกกรามหลุดไปทางหนึ่ง กระดูกฟันทั้งหลายหลุดเรี่ยรายไป กระดูกต้นคอที่เป็นข้อ ๆ หลุดไป กระดูกไหปลาร้าที่เหมือนสามเหลี่ยมสองอันหลุดไป กระดูกหัวไหล่ กระดูกต้นแขน กระดูกข้อศอก กระดูกท่อนแขน กระดูกข้อมือ กระดูกฝ่ามือ กระดูกนิ้วมือเป็นข้อ ๆ ตลอดจนเล็บมือ ก็หลุดกระจัดกระจายไป กระดูกสันหลัง ซึ่งโดนโยงติดกับกระดูกหน้าอกด้วยซี่โครง ในส่วนนั้นก็หลุดกลิ้งเป็นวง ๆ ไป กระดูกบั้นเอวที่ทำให้เราก้ม ๆ เงย ๆ ได้ก็หลุดเป็นข้อ ๆ ไป กระดูกเชิงกรานที่เป็นเบ้าใหญ่ เป็นส่วนประกอบของก้นกบ ตลอดจนกระทั่งกระดูกต้นขาก็หลุดไป เมื่อมาถึงกระดูกต้นขา กระดูกหัวเข่า กระดูกหน้าแข้ง กระดูกข้อเท้า กระดูกส้นเท้า กระดูกฝ่าเท้า กระดูกนิ้วเท้า ตลอดจนเล็บเท้า ก็กระจัดกระจายไป ผ่านกาลเวลา โดนแดดเผา โดนฝนซัด โดนลมโกรก ค่อย ๆ เก่าลง ๆ ค่อย ๆ เปื่อย ผุ พัง ท้ายสุดก็จมดินหายไป ไม่เหลืออะไรเป็นเราเป็นของเราแม้แต่น้อยหนึ่งเลย..! เมื่อเห็นชัดเจนเช่นนี้ ก็ให้ถอนความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ออกมา ถ้า สติ สมาธิ ปัญญา เพียงพอ ท่านทั้งหลายก็จะตัดกิเลสได้ในระดับใดระดับหนึ่ง สามารถที่จะก้าวเข้าใกล้พระนิพพาน หรือถ้าตัดได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ก็จะล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานไปเลย แต่ว่าท่านทั้งหลายเมื่อพิจารณาแล้วเป็นการกระจายออก บางท่านก็ทำผิดวิธี ก็คือปล่อยทิ้งกายสังขารนี้ ไม่ดูไม่แลไปเลย เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-01-2024 เมื่อ 02:24 |
สมาชิก 20 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
ท่านทั้งหลายจะต้องใช้ปัญญา พินิจพิจารณาว่า ตราบใดที่อายุขัยยังมาไม่ถึง เราก็ต้องอาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ในเมื่อเราอาศัยอยู่ ก็จงอาศัยอยู่แบบผู้มีปัญญา ก็คือพยายามที่จะดูแลรักษาไปตามกำลังของเรา ให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ ที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วคราว ถึงเวลาก็ต้องส่งคืนให้กับโลกไป มารยาทในการยืมสิ่งของมาจากผู้ใด ก็ต้องรักษาให้ดีที่สุด ถึงเวลาก็ส่งคืนเขาไปในลักษณะที่ดีที่สุด
ก็แปลว่าถ้าตราบใดที่ชีวิตยังไม่สิ้น เราก็ต้องดูแล หาข้าวปลาอาหารให้ร่างกายนี้กินเป็นปกติ รักษาพยาบาลเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นปกติ ชำระสะสางเมื่อสกปรกโสโครกเป็นปกติ เพื่อรักษาประคองร่างกายนี้ไว้ปฏิบัติธรรมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะได้มาก ถ้าหลุดพ้นไปได้เลยก็ยิ่งดี เรายังอาศัยร่างกายนี้อยู่ตราบใด เราก็แค่เอาสติจดจ่อให้รู้ ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ขึ้นชื่อว่าความต้องการในร่างกายนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เมื่อประคับประคองรักษาร่างกายแบบนี้ไว้ แล้วพยายามปฏิบัติในสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สลับกันไปสลับกันมาในลักษณะนี้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็จะมีขึ้น และถ้าหากว่าบุญพาวาสนาช่วย กำลังบารมีที่สั่งสมมาเพียงพอให้เข้าถึงได้ ท่านทั้งหลายก็อาจจะเป็นตั้งแต่พระโสดาปฏิมรรค ไปจนกระทั่งถึงพระอรหัตผล ผู้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-01-2024 เมื่อ 02:25 |
สมาชิก 21 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
สำหรับวันนี้ ได้บรรยายมาพอสมควรแก่เวลา ระยะเวลาที่เหลืออยู่เล็กน้อยนี้ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถ้าหากว่ามีปัญหาที่จะสอบถาม สามารถที่จะไต่ถามเข้ามาได้
ถาม : กราบนมัสการสอบถามหลวงพ่อครับ หลวงพ่อมีความคิดเห็นอย่างไร กับการที่คนสมัยใหม่นิยมการทำศัลยกรรม การเสริมความงามต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ? ตอบ : ความจริงคำถามนี้ ถ้าหากว่ากล่าวกันในลักษณะของผู้ปฏิบัติธรรม ก็อาจจะเหมือนประณามกัน ก็คือยังเป็นบุคคลที่หลงตนเองอยู่..! แต่ว่าจะขอกล่าวในลักษณะที่ว่า เรื่องของรูปธรรมนามธรรมที่คนโบราณกล่าวกันมานั้น เกิดจากการที่เราสร้างสมมาด้วยตนเอง ลักษณะที่ชัดเจนที่สุดก็คือ มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละอย่างนั้นล้วนเกิดจากกุศลบารมีที่พระองค์ท่านได้สั่งสมมาชาติแล้วชาติเล่า เป็นอเนกชาติ จึงทำให้ท้ายที่สุดพระองค์ท่านเป็นบุคคลที่มีรูปลักษณะสมบูรณ์ที่สุด เท่าที่มนุษย์จะพึงมีได้ ท่านทั้งหลายที่ไปทำศัลยกรรมต่าง ๆ นั้น ถ้าหากทำในสิ่งที่เสริมให้ตนเองดีขึ้น เราท่านทั้งหลายต้องพินิจพิจารณาด้วยว่า กำลังบุญ กำลังบารมีที่เราทำมานั้น สมควรกับสิ่งนั้นหรือไม่ ? ถ้าหากว่าบุญไม่ถึง แต่ไปทำให้ดีเกินบุญของตนเอง กระผม/อาตมภาพเจอมาเองว่า หลายต่อหลายท่านเดือดร้อนกันมามากแล้ว เคยเจอบางท่าน ลักษณะโหงวเฮ้งตามตำราจีนดีมาก ก็คือมีจมูกใหญ่แบบที่เรียกว่าจมูกสิงห์โต แต่ว่าไปผ่าตัดเป็นจมูกแบบสมัยใหม่ที่นิยมกัน ก็คือไปตัดปีกจมูกของตนเองออก ปรากฏว่าบุคคลผู้นั้น ก่อนหน้านั้นเป็นเถ้าแก่ มีลูกน้องอยู่ใต้บังคับบัญชา ๔๐ - ๕๐ คน การงานทุกอย่างราบรื่น เพราะว่าผู้ใต้บังคับบัญชาให้ความเกรงใจ เมื่อไปทำศัลยกรรมมา ปรากฏว่าโหงวเฮ้งหรือนรลักษณ์ของตนเองนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นบุคคลที่ควบคุมลูกน้องไม่ได้ จึงทำให้กิจการของตนเองประสบอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะบรรดาผู้ใต้บังคับบัญชา ลาออกบ้าง หนีหายไปเฉย ๆ บ้าง..! เรื่องพวกนี้ ถ้าหากว่าจะว่ากันไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของ "ปุพเพกตปุญญตา" ที่เราสั่งสมมานั่นเอง แต่เราไปฝืนกรรม ด้วยการทำในสิ่งที่คิดว่าทำให้เกิดความสบายใจ แต่อาจจะไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ซึ่งโอกาสที่จะดีขึ้นนั้นมีน้อย มีแต่จะลำบากเสียมากกว่า..!
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2024 เมื่อ 02:42 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อครับ การเกิดเป็นทุกข์ แต่ถ้าไม่เกิดเลย ประเทศชาติก็จะเป็นทุกข์เหมือนกันเจ้าค่ะ จะต้องทำอย่างไรคะ ?
ตอบ : เรื่องของการเกิดนั้น เป็นไปตามวงจรของสังสารวัฏ ก็คือตราบใดที่ยังมีกิเลส เราก็ต้องสร้างกรรม ในเมื่อเราสร้างกรรม เราก็ต้องรับผลของกรรมที่เรียกว่าวิบาก ก็เป็นการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในลักษณะแบบนี้ไปไม่รู้จบ บุคคลต่อให้สามารถที่จะฟังธรรม แล้วน้อมนำไปปฏิบัติ โอกาสที่จะหลุดพ้นโดยไม่เกิดนั้นน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ในบาลีท่านเปรียบว่า บุคคลที่หลุดพ้นได้เหมือนกับเขาวัว ส่วนบุคคลที่ปฏิบัติแล้วไม่ประสบความสำเร็จ มีมากเหมือนกับขนวัว วัวตัวหนึ่งมีเขาแค่ ๒ ข้าง แต่มีขนเป็นหมื่นเป็นแสนเส้น..! ดังนั้น..เรื่องนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องไปกังวลเลยว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศชาติของเรา เพราะว่าบุคคลที่หลุดพ้นการเกิดไปได้นั้นน้อยมาก แต่ว่าการปฏิบัตินั้น จะช่วยให้ทางเดินในวัฏสงสารของเราสั้นลง หรือว่าสามารถที่จะสิ้นสุดหนทางได้เลยก็ยิ่งดี การที่เราสั่งสมความดีมากขึ้น ๆ หนทางในวัฏสงสารสั้นลงเท่าไร เราก็ต้องเกิดมาทุกข์น้อยลงเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรที่จะขวนขวายเพื่อตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปห่วงใยกังวลผู้อื่น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศชาติถึงขนาดนั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา แปลว่าท่านเป็นพลเมืองดีของชาติ และเป็นพลเมืองที่ดีอย่างยิ่งด้วย มีแต่จะทำให้ประเทศชาติของเราเจริญมากขึ้น ขอเจริญพร
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2024 เมื่อ 02:43 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
ถาม : ถ้าเกิดใหม่ เกิดมาเป็นพระสงฆ์ แล้วมีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถือว่าเป็นประโยชน์ใช่ไหมครับ ?
ตอบ: ในส่วนของการที่เกิดมาเป็นพระสงฆ์ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า ถ้าท่านใดศึกษาในพระไตรปิฎก จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ก็คือ อันดับแรกก็คือ การเกิดมาเป็นมนุษย์ อันดับที่สอง การทรงชีวิตอยู่ จนกระทั่งได้พบพระพุทธศาสนา อันดับต่อไปก็คือ การได้ฟังธรรมแล้วน้อมนำไปปฏิบัติ ที่ยากกว่านั้นก็คือ เกิดมาแล้วได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในจุดนี้ท่านทั้งหลายต้องสั่งสมบารมีมานับกัปกัลป์อนันตชาติ กว่าที่จะท่านทั้งหลายจะมีวิสัยของการถือศีล แล้วต่อด้วยการปฏิบัติธรรม เรียกว่าเกิด ๆ ตาย ๆ กันจนไม่รู้จบ กว่าที่ท่านทั้งหลายจะมีแนวความคิดว่า การบวชเพื่อพ้นจากกองทุกข์นั้นเป็นความดีแท้ ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่มาบวชนั้น ไม่ว่าท่านจะมีวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม ถ้าหากว่าท่านเข้ามาบวชก็ถือว่าเป็นทายาท ผู้สืบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดได้ยาก เพราะว่าต้องอยู่ในสมัย ได้โอกาส เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นบุรุษ มีอาการครบ ๓๒ อยู่ในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อบวชปฏิบัติไปแล้ว ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะได้อย่างใจของตนเอง ก็ยังมีการสึกหาลาเพศออกมาอีกนับไม่ถ้วน เรื่องที่ท่านทั้งหลายกล่าวเอาไว้ว่า ถ้าหากว่าเกิดมาแล้ว สามารถที่จะเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กระผม/อาตมภาพเห็นว่า ดูท่าจะหายากกว่าเขาวัวเสียอีก..! ขอเจริญพร
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2024 เมื่อ 02:45 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
||||
|
||||
ถาม : เคยฟังข้อธรรมจากหลาย ๆ หลวงพ่อเรื่องความโกรธ เวลาเราถูกพูดถึง กระทบ แล้วทำให้เราโกรธ พยายามจะทำแต่ก็ทำไม่ได้ ควรจะแก้จริต หรือจะต้องทำอย่างไรครับ ?
ตอบ : จริตไม่สามารถจะแก้ได้ แต่เราปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ในเรื่องของความโกรธนั้น หลวงปู่หลวงพ่อท่านบอกมาถูกทั้งหมด แต่ท่านบอกมาแบบช้าง ก็คือช้างที่สามารถแบกข้าวสารหนึ่งกระสอบ ๑๐๐ กิโลกรัมได้แบบสบาย ๆ "ทำอย่างนี้สิลูก" แต่หนูโดนทับตายตั้งแต่ ๒ กิโลกรัมแล้ว..! ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อกระทบอารมณ์ ขอให้นึกถึงคำสอนส่วนหนึ่งของหลวงปู่หล้า เขมปฺปตฺโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่กระผม/อาตมภาพนับถืออย่างยิ่ง หลวงปู่ท่านบอกว่า "อย่ามัวแต่เป็นนักรบ ให้รู้จักเป็นนักหลบเสียบ้าง" ถ้ารบไปแล้วแพ้ แต่ยังพยายามรบอยู่ ถือว่าโง่..! ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าท่านกระทบอารมณ์แล้วยังไม่สามารถที่จะแก้ไขป้องกันให้อยู่ในด้านที่ดีได้ อันดับแรก ให้ดึงตัวเองออกจากจุดนั้นไปก่อน ในเมื่อพ้นจากตรงนั้นไปแล้ว เราค่อยมาฝึกฝนตัวเอง ก็คือหัดนั่งสมาธิ ภาวนา แผ่เมตตา อันดับแรก ๆ ก็แผ่เมตตาต่อบุคคลที่เรารักก่อน โดยเฉพาะตัวเอง ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมตามรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม จะพบบ่อย ๆ ก็คือ อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข ทำไมเราต้องเริ่มจากตนเอง ? ก็เพราะว่าเรารักตัวเองมากที่สุด เมื่อแผ่เมตตาไปแล้ว จิตใจสามารถกระทำได้โดยง่าย หลังจากนั้นแล้ว ก็แผ่เมตตาให้บุคคลอื่นที่เรารัก เมื่อทำจนคล่องตัวแล้ว ค่อยให้คนที่ไม่รักไม่เกลียด แล้วก็ให้คนที่เกลียดน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะให้คนที่เกลียดมากได้ แต่ว่าถึงขนาดให้คนที่เกลียดมากได้แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเราจะตัดความโกรธได้ จนกว่าเราจะพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษ ว่าความโกรธนั้นก่อให้เกิดทุกข์แก่เรามานับชาติไม่ถ้วนแล้ว ขึ้นชื่อว่าความโกรธเช่นนี้ เราไม่ปรารถนาอีก ถอนใจออกมาจากจุดนั้นได้ ก็จะทำให้ท่านทั้งหลายสามารถที่จะตัดความโกรธนั้นลงได้ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ก็คือการที่ท่านทั้งหลาย สามารถที่จะสงบ ระงับ ในเบื้องต้น พินิจพิจารณาจนเห็นทุกข์เห็นโทษ แล้วค่อย ๆ ถอยห่างออกมา จนกระทั่งท้ายที่สุด ห่างออกไปจนกระทั่งความโกรธนั้นตามมาไม่ถึง ซึ่งจะเป็นไปตามลำดับ ๆ ไป ไม่ใช่ครูบาอาจารย์บอกว่าให้อภัย ๆ แล้วเราจะให้อภัยได้ แต่ว่าเราต้องค่อย ๆ ไปทีละระดับตามกำลังของตน..ขอเจริญพร
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2024 เมื่อ 02:47 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
ถาม : การที่มีการเอาการ์ตูนชินจัง มาทำเป็นรูปเหมือนพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นการปรามาสพระพุทธเจ้าหรือไม่ครับ ?
ตอบ : อันดับแรก ตอบตรง ๆ เลยว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย คำว่า ปรามาส ในที่นี้ ก็คือเป็นบุคคลที่ไม่เคารพ ถ้าหากว่าแปลตามศัพท์บาลีคือ เข้าถึงแค่ลูบ ๆ คลำ ๆ เท่านั้น อาจจะเป็นพุทธศาสนิกชนแค่ทะเบียนบ้านก็ได้..! แต่เราท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า บุคคลที่เกิดมานั้น สร้างบารมีมามากน้อยต่างกัน และต่อให้สร้างบารมีมามาก ถ้าหากว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ ก็อาจจะกระทำผิดได้เช่นกัน ดังนั้น..ในเมื่อเขาทั้งหลายเหล่านั้นเห็นว่า ถ้านำเอาการ์ตูนชินจังมาทำเป็นรูปคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า แล้วสามารถขายดีขึ้น นี่คือความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ว่าโดนความโลภบดบังอยู่ ถ้าตั้งใจทำเพื่อที่จะสร้างฐานะความร่ำรวยให้กับตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงในเรื่องของการปรามาสพระรัตนตรัยหรือเปล่า เรื่องเหล่านั้นก็ต้องบอกว่า กรรมใครกรรมมัน..!ขอเจริญพร
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2024 เมื่อ 02:48 |
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
||||
|
||||
ถาม : ทำอย่างไรที่จะกำหนดจิตให้ไวที่สุด ควรเจริญอะไรดีครับ ?
ตอบ : การเจริญกรรมฐาน ไม่ว่าอะไรก็ตาม เราจะขาดอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกไม่ได้ การกำหนดจิตให้ไวหรือไม่ไวนั้น เวลามีน้อย ให้ท่านทั้งหลายไปศึกษาในวสี ๕ ประการ โดยเฉพาะในส่วนของสมาปัชชนวสี ก็คือการเข้าสมาธิด้วยความคล่องตัว ซึ่งต้องเกิดจากการซักซ้อมบ่อย ๆ ยิ่งบ่อยเท่าไรก็สามารถที่จะเข้าสมาธิได้เร็วเท่านั้น หลายท่านยังไม่ทันจะ "พุท" เลย ไปไม่ถึง "โธ" สมาธิก็ทรงตัวแล้ว ถ้าหากว่ามีการซักซ้อมบ่อย ๆ ในลักษณะนี้ ท่านสามารถเข้าสมาธิได้ทันทีทันใดตามต้องการทุกครั้งไป ขอเจริญพร
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2024 เมื่อ 02:50 |
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#18
|
||||
|
||||
ถาม : ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ กราบขอหลวงพ่อช่วยอวยพรให้กับผู้ร่วมรายการของเราด้วยครับ ?
ตอบ : กราบขอโอกาสพระเถรานุเถระทุกรูปครับ ในวาระขึ้นปีใหม่ แม้ว่าจะห่างเหินมาหลายวันแล้วก็ตาม ถือว่าเราปฏิบัติธรรมรับปีใหม่เป็นครั้งแรกของรายการนี้ กระผม/อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธัมมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ เป็นประธาน ตลอดจนคุณงามความดีที่ท่านทั้งหลายได้สั่งสมมาตั้งแต่ต้น จวบจนการปฏิบัติธรรมตามรายการในวันนี้ จงมารวมกันเป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสุขความเจริญ มีความปรารถนาที่สมหวังทุกประการ สิ่งใดที่ปรารถนาแล้วเป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมแล้วไซร้ ขอความปรารถนาของท่านทั้งหลาย จงสำเร็จสัมฤทธิ์ผล ตลอดทั้งปีนี้และปีต่อ ๆ ไปด้วยเทอญ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. ธรรมบรรยายในรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาอาศรม หัวข้อ "ปกิณณกธรรม" วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
สมาชิก 22 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|